วันเวลาปัจจุบัน 16 เม.ย. 2024, 22:38  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 พ.ย. 2016, 09:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อจากหัวข้อนี้

viewtopic.php?f=1&t=53380

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 พ.ย. 2016, 09:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กิเลสที่สืบเนื่องจากตัณหา ได้แก่ อุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น) ซึ่งมี ๔ อย่าง คือ

๑. กามุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในกาม * (clinging to sensuality) เมื่ออยากได้ ดิ้นรนแส่หา ก็ยึดมั่นติดพันในสิ่งที่อยากได้นั้น
เมื่อได้แล้วก็ยึดมั่น เพราะอยากสนองความต้องการให้ยิ่งๆขึ้นไป และกลัวหลุดลอยพรากไปเสีย

ถ้าแม้ผิดหวังหรือพรากไป ก็ยิ่งปักใจมั่นด้วยความผูกใจอาลัย ความยึดมั่นแน่นแฟ้นขึ้นเพราะสิ่งสนองความต้องการต่างๆ ไม่ให้ภาวะเต็มอิ่ม หรือสนองความต้องการได้ขีดที่อยากจริงๆ ในคราวหนึ่งๆ จึงพยายามเพื่อเข้าถึงขีดที่เต็มอยากนั้นด้วยการกระทำอีกๆ และเพราะสิ่งเหล่านั้น ไม่ใช่ของของตนแท้จริง จึงต้องยึดมั่นไว้ด้วยรู้สึกจูงใจตนเองว่าเป็นของตนในแง่ใดแง่หนึ่งให้ได้
ความคิดจิตใจของปุถุชนจึงไปยึดติดผูกพันข้องอยู่กับสิ่งสนองความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เสมอ ปลอดโปร่ง เป็นอิสระและเป็นกลางได้ยาก


๒. ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นในทฤษฎีหรือทิฐิต่างๆ (clinging to views) ความอยากให้เป็นหรือไม่ให้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ตนต้องการ ย่อมทำให้เกิดความเอนเอียงที่จะยึดมั่นในทิฐิ ทฤษฎี หรือหลักปรัชญาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เข้ากับความต้องการของตน ความอยากได้สิ่งสนองความต้องการของตน ก็ทำให้ยึดมั่นในหลักการ แนวคิดความเห็น ลัทธิ ความเชื่อถือ หลักคำสอนที่สนองหรือเป็นไปเพื่อสนองความต้องการของตน

เมื่อความยึดถือความเห็นหรือหลักความคิดอันใดอันหนึ่งว่าเป็นของตนแล้ว ก็ผนวกเอาความเห็นหรือหลักความคิดนั้น เป็นตัวตนของตนไปด้วย จึงนอกจากจะคิดนึกและกระทำการต่างๆ ไปตามความเห็นนั้นๆแล้ว เมื่อมีทฤษฎีหรือความเห็นอื่นๆ ที่ขัดแย้งกับความเห็นที่ยึดไว้นั้น ก็รู้สึกว่าเป็นการคุกคามต่อตัวตนของตนด้วยเป็นการเข้ามาบีบคั้นหรือจะทำลาย ตัวตนให้เสื่อม ด้อย พร่องลง หรือสลายตัวไป อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงต้องต่อสู้รักษาความเห็นนั้นไว้เพื่อศักดิ์ศรีเป็นต้นของตัวตน
จึงเกิดการขัดแย้งที่แสดงออกภายนอก เกิดการผูกมัดตัวให้คับแคบ สร้างอุปสรรค กักปัญญาของตนเอง ความคิดเห็นต่างๆ ไม่เกิดประโยชน์ตามความหมายและวัตถุประสงค์แท้ๆ ของมัน ทำให้ไม่สามารถถือเอาประโยชน์จากความรู้ และไม่สามารถรับความรู้ต่างๆได้เท่าที่ควรจะเป็น


๓. สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในศีลและพรต (clinging to mere rule and ritual) ความอยากได้ อยากเป็นอยู่ ความกลัวต่อความสูญสลายของตัวตน โดยไม่เข้าใจกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยในธรรมชาติ ผสมกับความยึดมั่นในทิฐิอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้ประพฤติปฏิบัติไปตามๆ กันอย่างงมง่าย ในสิ่งที่นิยมว่าขลัง ว่าศักดิ์สิทธิ์ ที่จะสนองความอยากของตนได้ ทั้งที่ไม่มองเห็นความสัมพันธ์โดยทางเหตุผล

ความอยากให้ตัวตนคงอยู่ มีอยู่ และความยึดมั่นในตัวตน แสดงออกมาภายนอก หรือทางสังคม ในรูปของความยึดมั่น ในแบบแผนพฤติกรรมต่างๆ การทำสืบๆกันมา ระเบียบวิธี ขนมธรรมเนียมประเพณี ลัทธิพิธีตลอดจนสถาบันต่างๆ ที่แน่นอนตายตัว ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ โดยไม่ตระหนักรู้ในความหมาย คุณค่าวัตถุประสงค์ และความสัมพันธ์โดยเหตุผล
กลายเป็นว่า มนุษย์สร้างสิ่งต่างๆ เหล่านี้ขึ้นมาเพื่อกีดกั้น ปิดล้อมตัวเอง และทำให้แข็งทื่อ ยากแก่การปรับปรุงตัวและการที่จะได้รับประโยชน์จากสิ่งทั้งหลายที่ตนเข้าไป สัมพันธ์

ในเรื่องสีลัพพตุปาทานนี้ มีคำอธิบายของท่านพุทธทาสภิกขุ ตอนหนึ่ง ที่เห็นว่าจะช่วยให้ความหมายชัดเจนขึ้นอีก ดังนี้

“เมื่อมาประพฤติศีล หรือธรรมะข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ไม่ทราบความมุ่งหมาย ไม่คำนึงถึงเหตุผล ได้แต่ลงสันนิษฐานเอาเสียว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เมื่อลงได้ปฏิบัติของศักดิ์สิทธิ์แล้ว ย่อมต้องได้รับผลดีเอง ฉะนั้น
คนเหล่านี้จึงสมาทานศีล หรือประพฤติธรรมะ แต่เพียงตามแบบฉบับตามตัวอักษร ตามประเพณี ตามตัวอย่าง ที่สืบปรัมปรากันมาเท่านั้น ไม่เข้าถึงเหตุผลของสิ่งนั้นๆ แต่เพราะอาศัยการประพฤติกระทำมาจนชิน การยึดถือจึงเหนียวแน่น เป็นอุปาทานชนิดแก้ไขยาก ...ต่างจากอุปาทานข้อที่สองข้างต้น ซึ่งหมายถึงการถือในตัวทิฐิ หรือความคิดความเห็นที่ผิด
ส่วนข้อนี้ เป็นการยึดถือในตัวการปฏิบัติ หรือการกระทำทางภายนอก” * (* พระอริยนัททมุนี หลักพระพุทธศาสนา –สุวิชานน์ 2499) หน้า 60


๔. อัตตวาทุปาทาน ความ ยึดมั่นในวาทะว่าตัวตน (clinging to the ego-belief) ความรู้สึกว่ามีตัวตนที่แท้จริงนั้น เป็นความหลงผิดที่มีเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว และ
ยังมีปัจจัยอื่นๆที่ช่วยเสริมความรู้สึกนี้อีก เช่น ภาษาอันเป็นถ้อยคำสมมติสำหรับสื่อความหมาย ที่ชวนให้มนุษย์ผู้ติดบัญญัติมองเห็นสิ่งต่างๆ แยกออกจากกันเป็นตัวที่คงที่ แต่ความรู้สึกนี้กลายเป็นความยึดมั่นเพราะตัณหาเป็นปัจจัย กล่าวคือ
เมื่ออยากได้ ก็ยึดมั่นว่ามีตัวตนที่เป็นผู้รับและเสวยสิ่งที่อยากนั้น มีตัวตนที่เป็นเจ้าของสิ่งที่ได้นั้น
เมื่ออยากเป็นอยู่ ก็อยากให้มีตัวตนอันใดอันหนึ่งเป็นอยู่
เมื่อยากไม่เป็นอยู่ ก็ ยึดในตัวตนอันใดอันหนึ่งที่จะให้สูญสลายไป
เมื่อกลัวว่าตัวตนจะสูญสลายไป ก็ยิ่งตะเกียกตะกายย้ำความรู้สึกในตัวตนให้แน่นแฟ้นหนักขึ้นไปอีก


ที่สำคัญคือ ความอยากนั้นสัมพันธ์กับความรู้สึกว่ามีเจ้าของผู้มีอำนาจควบคุม คือ มีตัวตนที่เป็นนายบังคับบัญชาสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปอย่างที่อยากให้เป็นได้ และก็ปรากฏว่ามีการบังคับบัญชาได้สมปรารถนาบ้างเหมือนกัน จึงหลงผิดไปว่า มีตัวฉัน หรือตัวตนของฉันที่เป็นเจ้าของ เป็นนายบังคับสิ่งเหล่านั้นได้ แต่ความจริง มีอยู่ว่า การบังคับบัญชานั้น เป็นไปได้เพียงบางส่วนและชั่วคราวเท่านั้น เพราะสิ่งที่ยึดว่าเป็นตัวตนนั้น ก็เป็นเพียงปัจจัยอย่างหนึ่งในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ไม่สามารถบังคับบัญชาได้อยู่บ้าง แต่ไม่เต็มสมบูรณ์จริงๆ เช่นนี้ กลับเป็นการย้ำความหมายมั่น และตะเกียกตะกายเสริมความรู้สึกว่าตัวตนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไปอีก


เมื่อยึดมั่นในตัวตนด้วยอุปาทาน ก็ไม่รู้จักที่จะจัดการสิ่งต่างๆ ตามเหตุปัจจัยที่จะให้มันเป็นไปอย่างนั้นๆ กลับหลงมองความสัมพันธ์ผิด ยกเอาตัวตนขึ้นยึดไว้ในฐานะเจ้าของ ที่จะบังคับควบคุมสิ่งเหล่านั้นตามความปรารถนา เมื่อไม่ทำตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย และสิ่งเหล่านั้น ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ตัวตนก็ถูกบีบคั้นด้วยความพร่องเสื่อมด้อย และความสูญสลาย ความยึดมั่นตัวตนนี้นับว่าเป็นข้อสำคัญ เป็นพื้นฐานของความยึดมั่นข้ออื่นๆทั้งหมด

..........

(ที่อ้างอิง * กาม = สิ่งสนองความต้องการทางประสาททั้ง ๕ และความใคร่ในสิ่งสนองความต้องการเหล่านั้น)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 พ.ย. 2016, 09:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

ความหมายง่ายๆ แง่หนึ่งสำหรับแสดงความสัมพันธ์ภายในวงจรปฏิจจสมุปบาทช่วงนี้ เช่น

เมื่อประสบสิ่งใด ได้รับเวทนาอันอร่อย ก็เกิดตัณหาชอบใจอยากได้สิ่งนั้น แล้วเกิด กามุปาทาน ยึดติดในสิ่งที่อยากได้นั้นว่า จะต้องเอาต้องเสพต้องครอบครองสิ่งนั้นให้ได้ เกิดทิฏฐุปาทาน ยึดถือมั่นว่า ต้องอย่างนี้จึงจะดี ได้อย่างนี้จึงจะเป็นสุข ต้องได้เสพเสวยครอบครองสิ่งนี้ หรือประเภทนี้ ชีวิตจึงจะมีความหมาย หลักการหรือคำสอนอะไรๆจะต้องส่งเสริมการแสวงหาและได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้ จึงจะถูกต้อง เกิดสีลัพพตุปาทาน

เมื่อจะประพฤติปฏิบัติศีลพรต ขนบธรรมเนียม ระเบียบ แบบแผนอย่างใดๆ ก็มองในแง่เป็นวิธีการที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งที่อยากได้นั้น หรือจะต้องเป็นเครื่องมือให้ได้มาซึ่งสิ่งที่อยากได้นั้น จึงจะยอม หรือคิดหายกขึ้นมาประพฤติปฏิบัติ และเกิด อัตตวาทุปาทาน ยึดติดถือมั่นในตัวตนที่จะได้จะเสพจะครอบครองสิ่งที่อยากได้นั้น

ว่าโดยสรุป อุปาทานทำให้มนุษย์ปุถุชนมีจิตใจไม่ปลอดโปร่งผ่องใส ความคิดไม่แล่นคล่องไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ไม่สามารถแปลความหมาย ตัดสิน และกระทำการต่างๆไปตามแนวทางแห่งเหตุปัจจัยตามที่มันควรจะเป็น โดยเหตุผลบริสุทธิ์
แต่มีความติดข้อง ความเอนเอียง ความคับแคบ ความขัดแย้ง และความรู้สึกถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา


ความบีบคั้น เกิดขึ้นเพราะความยึดว่าเป็นตัวเรา ของเรา เมื่อเป็นตัวเรา ของเรา ก็ต้องเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น แต่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เป็นไปตามที่เราอยากให้เป็น
เมื่อมันไม่อยู่ในบังคับ ความอยากกลับเป็นอย่างอื่นไปจากที่อยากให้เป็น ตัวเราก็ถูกขัดแย้งกระทบกระแทกบีบคั้น
สิ่งที่ยึดถูกกระทบเมื่อใด ตัวเราก็ถูกกระทบเมื่อนั้น

สิ่งที่ยึดไว้มีจำนวนเท่าใด ตัวเราแผ่ไปถึงไหน ยึดไว้ด้วยความแรงเท่าใด ตัวเราที่ถูกกระทบ ขอบเขตที่ถูกกระทบ และความแรงของการกระทบ ก็มีมากเท่านั้น และผลที่เกิดขึ้น มิใช่แต่เพียงความทุกข์เท่านั้น แต่หมายถึงชีวิตที่เป็นอยู่ และกระทำการต่างๆ ตามอำนาจความยึดความอยาก ไม่ใช่เป็นอยู่และทำการด้วยปัญญาตามเหตุปัจจัย*


ต่อจากอุปาทาน กระบวนการดำเนินต่อไปถึงขั้น ภพ ชาติ ชรามรณะ จนถึงโสกะ ปริเทวะ เป็นต้น ตามแนวที่อธิบายแล้ว เมื่อเกิดโสกะ ปริเทวะ เป็นต้นแล้ว
บุคคล ย่อมหาทางออกด้วยการคิด ตัดสินใจ และ กระทำการต่างๆตามความเคยชิน ความโน้มเอียง ความเข้าใจ และความคิดเห็นที่ยึดมั่นสะสมไว้อีก โดยไม่มองเห็นภาวะที่ประสบในขณะนั้นๆ ตามที่มันเป็นของมันจริงๆ วงจรจึงเริ่มขึ้นที่อวิชชา แล้วหมุนต่อไปอย่างเดิม


แม้อวิชชาจะเป็นกิเลสพื้นฐาน เป็นที่ก่อตัวของกิเลสอื่นๆ แต่ในขั้นแสดงออกเป็นพฤติกรรมต่างๆ ตัณหาย่อมเป็นตัวชักจูง เป็นตัวบงการและแสดงบทบาทที่ใกล้ชิดเห็นได้ชัดเจนกว่า

ดังนั้น ในทางปฏิบัติ เช่น ในอริยสัจ ๔ จึงกำหนดว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์


เมื่ออวิชชา เป็นไปอย่างมืดบอดเลื่อนลอย ตัณหาไม่มีหลัก ไม่ถูกควบคุม เป็นไปสุดแต่จะให้สนองความต้องการให้ได้สำเร็จ ย่อมมีทางให้เกิดกรรมฝ่ายชั่วมากกว่าฝ่ายดี

แต่เมื่ออวิชชาถูกปรุงดัดแปลงด้วยความเชื่อถือในทางที่ดีงาม ความคิดที่ถูกต้อง ความเชื่อความเข้าใจที่มีเหตุผล ตัณหาถูกชักจูงให้เบนไปสู่เป้าหมายที่ดีงาม ถูกควบคุมขัดเกลา และขับให้พุ่งไปอย่างมีจุดหมาย ก็ย่อมให้เกิดกรรมฝ่ายดี และเป็นประโยชน์ได้อย่างมาก และถ้าได้รับการชักนำอย่างถูกต้อง ก็จะเป็นเครื่องอุปถัมภ์ สำหรับกำจัดอวิชชาและตัณหาได้ต่อไปด้วย

วิถีอย่างแรก เป็นวิถีแห่งความชั่ว แห่งบาปอกุศล

อย่างหลังเป็นวิถีแห่งความดี แห่งบุญกุศล คนดีและคนชั่ว ต่างก็ยังมีทุกข์อยู่ตามแบบของตนๆ แต่

วิถีฝ่ายดีเท่านั้นที่สามารถนำไปสู่ความสิ้นทุกข์ ความหลุดพ้น และความเป็นอิสระได้


ตัณหาที่ถูกใช้ในทางที่เป็นปะโยชน์นั้น มีตัวอย่างถึงขั้นสูงสุด เช่น

“ดูกรน้องหญิง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้ยินว่า ภิกษุชื่อนี้ กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ ฯลฯ เธอจึงมีความดำริว่า เมื่อไรหนอ เราจักกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ฯลฯ บ้าง สมัยต่อมา เธออาศัยตัณหาแล้วละตัณหาเสียได้ ข้อที่เรากล่าวว่า กายนี้เกิดจากตัณหา พึงอาศัยตัณหาละตัณหานี้เสีย เราอาศัยความข้อนี้เองกล่าว”

ถ้าไม่สามารถทำอย่างอื่น นอกจากเลือกเอาในระหว่างตัณหาด้วยกัน พึงเลือกเอาตัณหาในทางที่ดีเป็นแรงชักจูงในการกระทำ
แต่ถ้าทำได้ พึงเว้นตัณหาทั้งฝ่ายชั่วฝ่ายดี เลือกเอาวิถีแห่งปัญญา อันเป็นวิถีที่บริสุทธิ์อิสระ และไร้ทุกข์

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 32 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร