วันเวลาปัจจุบัน 24 เม.ย. 2024, 05:05  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 พ.ย. 2016, 15:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อจากหัวข้อ เบญจศีล (ศีล ๕)

viewtopic.php?f=1&t=53341



การจะรักษาเบญจศีลได้ดี ต้องมีเบญจธรรมประจำใจ



เบญจศีลนี้ จะบริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่ได้หรือคนเราจะสามารถปฏิบัติรักษาได้ ก็ด้วยมีหลักธรรมบางประการคอยสนับสนุน คอยประคับประคอง หรือคอยกระตุ้นใจของคนเราให้งดเว้นเวรภัยนั้นๆ ผู้มีหลักธรรมข้อนั้นๆ ประจำใจแล้วจะสามารถรักษาเบญจศีลอยู่ได้ตลอดเวลา

หลักธรรมดังกล่าวนี้ เรียกว่า กัลยาณธรรม ๕ หรือ เบญจกัลยาณธรรม แปลว่า ธรรมที่เป็นความประพฤติดีงาม ๕ ประการ หมายถึง กุศลธรรมที่มีลักษณะเป็นความประพฤติดีงาม เป็นข้อปฏิบัติที่อุกฤษฏ์ คือ สูงยิ่งกว่าศีล เป็นเครื่องอุดหนุนเบญจศีลให้ผ่องใส คือ บริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่งขึ้น คือ ไม่มีลักษณะเป็นการฝืนทำ ฝืนรักษา หรือฝืนปฏิบัติ

เบญจกัลยาณธรรม นั้น เมื่อเรียกคู่กัน กับ เบญจศีล จึงเรียกง่ายๆว่า เบญจธรรม ประกอบด้วยองค์ธรรม ๕ ประการ คือ

๑) เมตตากรุณา ความรักความปรารถนาดีต่อผู้อื่นและคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ เป็นธรรมเกื้อกูลเบญจศีลข้อที่ ๑ ที่ผู้มีศีลจะพึงแสดงเป็นพิเศษในการเผื่อแผ่ให้ความสุขและช่วยปลดเปลื้อง ทุกข์ของผู้อื่นสัตว์อื่น

คุณธรรมข้อนี้แหละ ที่จะทำให้คนเราเลิกอาฆาตพยาบาทจองเวรและล้างผลาญกันได้ เป็นเหตุให้เบียดเบียนกันไม่ลง การรบราฆ่าฟันทำร้ายล้างชีวิตกัน หรือการทำทารุณกรรมกันต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น

๒) สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ หมายถึงความขยันหมั่นเพียร ประกอบการงานหาเลี้ยงชีพในทางสุจริต เป็นธรรมเกื้อกูลเบญจศีลข้อที่ ๒ ที่ผู้มีศีลจะพึงปฏิบัติในการประกอบอาชีพอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ด้วยไม่ลักขโมย ปล้นจี้เขากิน

คุณธรรมข้อนี้เป็นเหตุให้คนเราละเว้นมิจฉาชีพ การหาเลี้ยงชีพในทางทุจริต ประพฤติมิชอบ โดยมาคำนึงถึงคุณภาพศักดิ์ศรีความเป็นคนของตน ซึ่งจะสามารถขจัดความบีบคั้นทางใจอันเกิดจากความยากจนข้นแค้นทางเศรษฐกิจลงได้


๓) กามสังวร ความสำรวมในกาม เป็นธรรมเกื้อกูลเบญจศีลข้อที่ ๓ ที่ผู้มีศีลจะพึงปฏิบัติเคร่งครัดใน สทารสันโดษ คือ ความยินดีทางกามารมณ์เฉพาะกับภรรยาของตนสำหรับชาย และในปติวัตร คือ ความประพฤติจงรักซื่อสัตย์เฉพาะต่อสามีของตนสำหรับหญิง

คุณธรรมข้อนี้ เป็นเหตุให้มนุษย์ไม่หมกมุ่นอยู่ในกามารมณ์ จนถึงทำลายน้ำใจผู้อื่น ส่งเสริมให้เป็นคนซื้อสัตย์ไม่ประพฤตินอกใจคู่ครองของตน


๔) สัจจะ ความซื่อสัตย์ คือกิริยาที่ประพฤติตนเป็นคนซื่อตรง ดำรงสัจจะเป็นธรรมเกื้อกูลเบญจศีลข้อที่ ๔ ที่ผู้มีศีล จะพึงปฏิบัติโดยอาการ ๔ อย่าง คือ

(๑) มีความเที่ยงธรรม ซื่อตรงในหน้าที่การงาน
(๒) มีความซื่อตรงต่อมิตร
(๓) มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อเจ้านายหรือผู้บังคับบัญชาของตน และ
(๔) มีความกตัญญูในท่านผู้มีบุญคุณแก่ตน

คุณธรรมข้อนี้เป็นเครื่องสนับสนุนให้คนเรามีความเที่ยงธรรม ซื่อตรง มีความจริงใจต่อผู้อื่น และมีความซื่อสัตว์ต่อเจ้านายของตน ตลอดทั้งมีความซื่อสัตว์กตัญญูกตเวทีต่อบุพการี และผู้มีพระคุณ เช่น บิดามารดา ครูอาจารย์ อันเป็นเหตุให้คนเรามีพฤติกรรมเป็นคนตรงไปตรงมา รักความยุติธรรม ไม่เป็นคนโกหกชอบพูดปดมดเท็จ หลอกลวง หรือทำลายประโยชน์ของบุคคลอื่นๆ ที่ตนเกี่ยวข้อง


๕) สติสัมปชัญญะ ความระลึกได้ และความรู้ตัว หรือความมีสติรอบคอบ คือ มีสติกำกับจิตควบคุมพฤติกรรมของตน ไม่เลินเล่อเผลอตัวทำชั่วทำผิดในทุกสถานการณ์ พฤติกรรมที่เด่นชัดของผู้มีสติสัมปชัญญะ เช่น พิจารณาด้วยปัญญาแล้วบริโภคอาหาร รู้จักประมาณ รู้จักคุณและโทษของอาหารที่จะบริโภค ไม่พลั้งเผลอในการทำงาน มีความรอบคอบ ระวังหน้าระวังหลังในการทำกิจการต่างๆ เป็นต้น

คุณธรรมข้อนี้ เป็นเหตุให้คนเราพิจารณาสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะสิ่งเสพติดให้โทษด้วยความรอบคอบ สามารถเห็นโทษร้ายที่จะพึงมีพึงเกิดแก่ตัวเอง แก่การงาน และแก่ทรัพย์สินจากสิ่งเสพติดมึนเมาเหล่านั้น อันเป็นเหตุให้คนเรางดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย และการเสพสารเสพติดให้โทษได้ จึงเป็นคุณธรรมเกื้อกูลเบญจสีลข้อที่ ๕ ที่ผู้มีศีลจะพึงปฏิบัติโดยอาการ ๔ อย่าง คือ

(๑) รู้จักประมาณในอาหารที่จะพึงบริโภค
(๒) ความไม่เลินเล่อในการงาน
(๓) ความมีสัมปชัญญะในการประพฤติตัว และ
(๔) ความไม่ประมาทในกุศลธรรม คือ หมั่นบำเพ็ญคุณความดีอยู่เสมอ

คนที่ละเมิดเบญจศีลอยู่เสมอๆ ก็เพราะขาดกัลยาณธรรมที่เกื้อกุลทั้ง ๕ ข้อนี้

ถ้าหากมีกัลยาณธรรมทั้ง ๕ นี้ประจำใจอยู่แล้ว การละเมิดศีลจะน้อยลง หรืออาจจะไม่มีการละเมิดเลยก็ได้ ซึ่งเท่ากับว่ามีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่เสมอนั่นเอง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 04 พ.ย. 2016, 16:33, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 พ.ย. 2016, 16:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สรุป: ศีล มีลักษณะเป็นการงดเว้น เป็นการสำรวมระวัง การมีระเบียบวินัย และการมีกิริยามารยาทงดงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เน้นถึงศีลในระดับการไม่เบียดเบียน หรือการอยู่ร่วมกันด้วยดีโดยสงบสุขของคนในสังคม (ศีล ๕) กล่าวคือ

- การไม่ประทุษร้ายทำลายชีวิตร่างกายกันและกัน

- การไม่ละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของกันและกัน

- การไม่ละเมิดของรักของหวงโดยไม่ลบหลู่เกียรติศักดิ์ศรีทำลายตระกูลวงศ์ของ กันและกัน

- การไม่ลิดรอนผลประโยชน์กันด้วยวิธีประทุษร้ายทำลายกันทางวาจา และ

- การไม่ซ้ำเติมตนเองให้เดือดร้อนระทมตรมทุกข์ด้วยสิ่งเสพติดให้โทษ ซึ่งทำให้สภาพร่างกายเสื่อมโทรมเป็นเหตุให้ขาดสติสัมปชัญญะที่คอยเหนี่ยวรั้ง ไม่ให้ประพฤติชั่วก่อความผิดพลาดเสียหายและคุ้มครองตนไว้ในคุณความดี

อนึ่ง พึงทราบความแตกต่างกันระหว่างศีล กับ ธรรม ดังนี้

ศีล อยู่ที่ตัวของเรา ที่สามารถมองเห็นได้ คือ ตัวของเราที่แสดงพฤติกรรมออกมาภายนอกทางกาย และทางวาจา

ถ้าแสดงพฤติกรรมทางกาย ก็เป็นกายกรรม ถ้าเป็นด้านวาจาคือคำพูด ก็เป็นวจีกรรม แม้ว่าพฤติกรรมทั้งหมดนั้น จะออกมาจากใจ คือ เจตนา

กล่าวง่ายๆ ก็คือ ศีลมีลักษณะเป็นข้อห้าม จัดเป็นข้อที่ ๑ แห่งโอวาทปาฏิโมกข์ของพระพุทธเจ้า หรือประมวลหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ ๓ คือ ข้อคำสอนที่ว่า การไม่ทำบาปทั้งปวง

ส่วนคำว่า ธรรม ในที่นี้ มุ่งเฉพาะกัลยาณธรรม ๕ ประการดังกล่าวมา ซึ่งมีลักษณะเป็นคุณความดีที่ควรอบรมให้เกิดมีขึ้นในใจ จัดลงในโอวาทปาฏิโมกข์ ๓ ข้อที่ ๒ คือ การทำความดีให้ถึงพร้อม และข้อที่ ๓ คือ การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว โดยอนุโลม

ความจริง เมื่อกล่าวในขั้นที่ละเอียดแล้ว ศีลนั้น เป็นส่วนหนึ่งของธรรม หรือเป็นธรรมอย่างหนึ่ง

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการศึกษาเรื่องหลักเบญจศีล - เบญจธรรมนี้ จึงควรกำหนดว่า ศีล กับ ธรรม มีความแตกต่างกันดังกล่าว

เมื่อกล่าวโดยสรุป เบญจกัลยาณธรรม ก็คือข้อปฏิบัติพิเศษที่ยิ่งขึ้นไปกว่าเบญจศีล และเป็นสิ่งคู่กัน กับ เบญจศีล โดยเหตุที่ผู้เว้นจากข้อห้ามหรือศีลทั้ง ๕ ข้อ ได้ชื่อว่าผู้มีศีล
แต่
ผู้มีศีลจะชื่อว่า มีกัลยาณธรรมก็หามิได้ คือ บางคนก็มีแต่ศีล ไม่มีกัลยาณธรรม

บางคนมีทั้งศีล มีทั้งกัลยาณธรรม

ตัวอย่าง เช่น

ชายผู้หนึ่งเป็นคนมีศีล เดินทางข้ามทะเลโดยทางเรือ พบเรือล่มมีคนกำลังว่ายน้ำอยู่ ซึ่งตนสามารถที่จะช่วยคนที่กำลังว่ายน้ำอยู่นั้นได้ แต่แล้วเขาก็ไม่ช่วย ปล่อยให้คนจมน้ำตายไปต่อหน้าต่อตา ในกรณีนี้ ถึงแม้ศีลของเขาไม่ขาดก็จริง แต่เขาชื่อว่า เป็นผู้ที่ปราศจากคุณธรรม คือ เมตตากรุณา ยังไม่จัดว่ามีกัลยาณธรรม แต่มีเพียงศีล ไม่มีกัลยาณธรรม
ในทางตรงข้าม
ถ้าเขา ซึ่งเป็นผู้เคร่งครัดในศีลพบเห็นคนกำลังจมน้ำ ซึ่งตนสามารถช่วยได้ แล้วมีเมตตากรุณา ช่วยให้คนรอดพ้นจากการจมน้ำตาย เช่นนี้ จึงชื่อว่าเป็นผู้มีทั้งศีล และกัลยาณธรรมอย่างแท้จริง

ดังนั้น คนที่มีเบญจศีล และกัลยาณธรรมคู่กัน ท่านจึงนับว่าเป็นสาธุชนคนดีในพระพุทธศาสนา ซึ่งตรงกับพระบาลีพุทธพจน์ที่แสดงคุณลักษณะของกัลยาณชน (คนดี) ว่า สีลวา โหติ กลฺยาณธมฺโม แปลว่า เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม คือจะชื่อว่าคนดีต้องมีทั้งเบญจศีล และเบญจธรรมควบคู่กัน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 พ.ย. 2016, 17:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คุณค่าของเบญจศีล


เบญจศีล เป็นหลักสำหรับควบคุมความประพฤติเบื้องต้นของมนุษย์ เป็นหลักเบื้องต้นสำหรับให้มนุษย์ตั้งอยู่ในคุณธรรม เพื่อให้ประพฤติความดียิ่งๆขึ้น เหมือนคนเราจะเขียนหนังสือได้ดี และตรงสวยงาม เริ่มแรกจำต้องอาศัยเส้นบรรทัดเป็นหลัก เขียนไปตามเส้นนั้นก่อน ตัวอักษรที่ปรากฏจะตรงดีและเรียบร้อย หาไม่ก็จะคดเคี้ยวขาดความสวยงาม ต่อเมื่อชำนาญดีแล้ว ก็สามารถเขียนให้ตรงโดยไม่อาศัยเส้นบรรทัดได้บ้าง แม้การประพฤติธรรม ประพฤติความดี ก็ฉันนั้น

เริ่มแรกจำต้องอาศัยอะไรสักอย่างเป็นหลัก เพื่อให้เกิดความมั่นคงและเป็นพื้นฐาน เบญจศีลสามารถเป็นหลักเช่นนั้นได้ หาไม่แล้วใจอาจไม่มั่นคง และคอยแต่จะเอนเอียงเข้าหาทุจริตได้ ต่อเมื่อประพฤติเบญจศีลจนเป็นปกติวิสัยแล้ว ก็อาจประพฤติธรรมความดีอื่นๆ ได้ดี และยั่งยืน ไม่ผันแปร

เบญจศีล เป็นข้อกำหนดความประพฤติอย่างต่ำที่สุดในหมู่มนุษย์ เป็นข้อกำหนดเท่าที่จำเป็นพอที่จะให้สังคมมนุษย์อยู่กันได้โดยปกติสุข มีชีวิตและทรัพย์สินปลอดภัยตามสมควร สังคมที่ปราศจากเบญจศีล จะมากไปด้วยทุกข์และเวรภัย มากไปด้วยการก่อคดีอาญา การสังหารผลาญชีวิต การเอารัดเอาเปรียบกัน การปล้นกัน การแย่งที่กันทำกิน แย่งถิ่นกันอยู่ แย่งคู่กันพิศวาส การประพฤติผิดทางเพศ การข่มขืน การหลอกลวง การเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก การติดสุราสิ่งเสพติดมึนเมา การเป็นทาสของอบายมุขต่างๆ นอกจากนั้น

ยังมีปัญหาสังคมสืบเนื่องมาอีก คือ อุบัติเหตุต่างๆ อันเนื่องมาจากของมึนเมา สิ่งเสพติดเหล่านั้น ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินจะหมดไป จะอยู่หรือไปที่ใด จะเต็มไปด้วยความหวาดระแวงวิตกกังวล เพราะไม่แน่ใจความปลอดภัย มีความหวาดระแวงตลอดเวลา ท้ายที่สุดก็จะอยู่กันอย่างไม่อบอุ่น คืออยู่อย่างมีสุขภาพจิตเสีย เมื่อเป็นดังนี้ ก็ยากที่จะพัฒนาคุณภาพจิต และสมรรถนะของจิตใจให้ดีขึ้นได้ และ

สังคมนั้นๆ ก็จะกลายเป็นสังคมที่มีสิ่งแวดล้อม ไม่เกื้อกุลสำหรับการสร้างสรรค์ความดีงามให้สูงขึ้นไป สติปัญญาก็ดี วัตถุปัจจัยต่างๆที่พอจะหาได้ในสังคมก็ดี กำลังผู้คนที่ปรารถนาดีต่อสังคมก็ดี จะถูกใช้จ่ายให้หมดไปเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้เป็นส่วนมาก โอกาสที่จะช่วยสร้างสังคมให้ก้าวหน้าน้อยลง สังคมก็มีแต่ทรงกับทรุดเท่านั้น

ปัญหาดังกล่าวมานี้ เราสามารถแก้ได้ด้วยการพัฒนาบุคคลให้ประพฤติอยู่ในหลักเบญจศีลโดยทั่วกันเท่านั้น มิใช่ทางอื่นเลย

เบญจศีล เป็นบทบัญญัติทางสังคมที่มนุษย์ยุคก่อน ได้วางไว้เป็นหลักปฏิบัติสำหรับปกครองหมู่คณะ เพื่อให้หมู่คณะ ดำรงชีวิตและเป็นอยู่ร่วมกันด้วยสันติสุข ไม่เบียดเบียนกันและกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกันและกัน

ต่อมา ได้กำหนดกันว่าเบญจศีลนี้เป็นเครื่องมือสำหรับวัดความเป็นมนุษย์ เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ผู้นั้น มีความเป็นมนุษย์สมบูรณ์หรือไม่ โดยเรียกว่าเป็น มนุษยธรรม หมายถึง ธรรมที่เป็นเครื่องกำหนดความประพฤติของมนุษย์ หรือธรรมสำหรับวัดความเป็นมนุษย์ของคนเรา

ทั้งนี้ เพราะศีลแต่ละข้อนั้น ท่านวางจุดประสงค์หรือความมุ่งหมายไว้ก็เพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ในแต่ละทาง

กล่าวคือ

เบญจศีลข้อที่ ๑ ท่านวางจุดประสงค์ไว้ เพื่อให้มนุษย์มีเมตตาธรรมต่อกัน ไม่เบียดเบียนกัน สามารถมีชีวิตอยู่ด้วยความปลอดภัย ไม่ต้องหวาดระแวงกันและกัน สามารถประพฤติธรรม ประกอบกิจการงาน และช่วยเหลือเกื้อกุลกันได้ตลอดไป โดยอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และกำจัดเวรภัยทั้งปัจจุบันและอนาคตต่อกันลงได้

เบญจศีลข้อที่ ๒ ท่านวางจุดประสงค์ไว้ เพื่อให้มนุษย์ประกอบอาชีพโดยซื่อสัตย์สุจริต รักและเคารพเกียรติของตนเอง มีความเคารพกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น มีความมั่นใจในทรัพย์สินอันเป็นสมบัติของตนเอง ไม่ต้องวิตกกังวล โดยอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และกำจัดเวรภัยทั้งปัจจุบันและอนาคตต่อกันลงได้

เบญจศีลข้อที่ ๓ ท่านวางจุดประสงค์ไว้ เพื่อให้มนุษย์มีความซื่อสัตย์ จริงใจต่อกัน ไว้วางใจกันได้ตลอดที่ตลอดเวลา ให้มีความเคารพในสิทธิความเป็นสามีเป็นภรรยาของกันและกัน สามารถประพฤติธรรม ประกอบกิจการงาน และช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ตลอดเวลา โดยอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และกำจัดเวรภัยทั้งปัจจุบันและอนาคตต่อกันลงได้

เบญจศีลข้อที่ ๔ ท่านวางจุดประสงค์ไว้ เพื่อให้มนุษย์มีความซื่อสัตย์ จริงใจและไว้วางใจกันได้ สร้างความรักความสามัคคีในหมู่คณะ ป้องกันผลประโยชน์ของกันและกันไว้ สามารถใช้วาจาประสานประโยชน์ของกันและกัน ไม่ทำลายกันด้วยคำพูด โดยอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และกำจัดเวรภัยทั้งปัจจุบันและอนาคตต่อกันลงได้

เบญจศีลข้อที่ ๕ ท่านวางจุดประสงค์ไว้ เพื่อสนับสนุนการรักษาศีล ๔ ข้อ ข้างต้นให้เกิดมีขึ้นและรักษาไว้ด้วยดี และเพื่อให้มนุษย์มีสติมั่นคง สามารถควบคุมจิตใจตัวเองได้ ป้องกันมิให้เกิดการทะเลาะวิวาทและทำร้ายกัน ป้องกันสุขภาพทางกายและสุขภาพจิตมิให้เสื่อม ป้องกันอาชญากรรม มิจฉาชีพ หรือการทำทุจริตต่างๆ และกำจัดเวรภัยทั้งปัจจุบันและอนาคตต่อกันลงได้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 46 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร