วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 12:22  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ต.ค. 2016, 15:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ศีลกับเจตนารมณ์ทางสังคม


คำสอนและหลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสังคม และสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของพระพุทธศาสนา ในด้านความสัมพันธ์ทางสังคมได้มากที่สุด ก็คือ คำสอนและหลักปฏิบัติในขั้นศีล เพราะศีลเป็นระบบการควบคุมชีวิตด้านนอก เกี่ยวด้วยการแสดงออกทางกาย วาจา เป็นระเบียบว่าด้วยความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน

การดำเนินกิจการต่างๆของหมู่ชน การจัดสภาพความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อม ให้เรียบร้อยและเกื้อกูลแก่การดำรงอยู่ด้วยดีของหมู่ชนนั้น และแก่ความผาสุกแห่งสมาชิกทั้งปวงของหมู่ชน อันจะเอื้ออำนวยได้ทุกคนสามารถบำเพ็ญกิจกรณีย์ที่ดีงามยิ่งๆขึ้นไป เพื่อบรรลุความหมายสูงสุดของชีวิตตามความตกลงนับถือของพวกตน หรือเพื่อถึงประโยชน์และความดีงามสูงสุดตามอุดมการณ์ของหมู่ชนนั้น ตลอดจนเกื้อกูลแก่การที่หมู่ชนนั้น จะเผยแพร่อุดมการณ์ กิจการ และประโยชน์สุขความดีงามของตนให้แผ่ขยายกว้างขวางออกไป

ศีลพื้นฐาน หรือขั้นต้นที่สุด ก็คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ว่าด้วยกาย หรือวาจา และการไม่ทำลายสติ - สัมปชัญญะที่เป็นตัวคุ้มศีลของตน ศีลขั้นต้นสุดนี้ นิยมเรียกว่า ศีล ๕

เรื่องศีลกับสังคม หรือคำสอนในพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับสังคมนั้น เป็นเรื่องใหญ่ มีขอบเขตกว้าง ฯลฯ ในที่นี้พูดเป็นเรื่องแทรก

.....

อธิบายวินัยที่

viewtopic.php?f=1&t=53268&p=400503#p400503

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ต.ค. 2016, 16:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ความสำคัญของชุดศีล: ศีล วินัย สิกขาบท

เบื้องต้น จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับถ้อยคำเล็กน้อย คือ คำว่า “ศีล” นี้ เราพูดอย่างชาวบ้านว่าเป็นคำพระคำหนึ่ง และคำพระแทบทุกคำก็มาจากภาษาบาลี

บรรดาคำเหล่านี้ แต่เดิม ในภาษาบาลีเอง หลายคำมีความหมายแยกไปได้หลายนัย ซับซ้อนอยู่แล้ว

พอนำมาใช้ในภาษาไทย พูดต่อๆกันไป ความหมายที่เข้าใจก็ผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนไปต่างๆ บางคำถึงกับมีความหมายกลายเป็นตรงข้ามจากเดิมก็มี จึงต้องคอยซักซ้อมทบทวนกันไว้ให้ดี

“ศีล” ที่แปลง่ายๆ ว่า ความประพฤติที่ดีนี้ มีคำในชุดเดียวกันที่สำคัญ ซึ่งควรเข้าใจให้ชัด และแยกกันให้ถูก รวม ๓ คำ คือ ศีล วินัย และ สิกขาบท

ทั้ง ๓ คำนี้ ในภาษาบาลีเดิม มีความหมายแยกต่างกันชัดเจน แต่บางครั้ง ก็มีการใช้แบบหลวมๆ หรือแบบภาษาชาวบ้าน โดยในบางโอกาสก็ใช้แทนกันบ้าง

แต่ถ้าพูดเป็นงานเป็นการ อย่างที่เรียกว่าเป็นวิชาการ ก็ใช้ในความหมายที่เคร่งครัด แยกกันออกไป ไม่ให้สับสนปนเป


ส่วนในภาษาไทย คำพระจากภาษาบาลีเหล่านี้ ได้ใช้ปนและผิดเพี้ยนไปไม่น้อยแล้ว คงแก้ไม่ไหว ผู้ที่ศึกษาควรรู้ตระหนักไว้ และใช้อย่างรู้เท่าทัน โดยมีความเข้าใจในความหมายที่แท้ชัดแจ้งอยู่ภายในของตน


ในที่นี้ เมื่อเป็นเรื่องแทรก ก็ไม่ควรใช้เวลากับเรื่องนี้มาก ขอแสดงความหมายที่แท้ของคำทั้ง ๓ ดังนี้


ศีล” (บาลี สีล) ความประพฤติดีงามสุจริต ที่แสดงออกทางกายและวาจา เป็นคุณสมบัติของคนที่ประพฤติอย่างนั้น เป็นคำรวมๆ เพราะฉะนั้น ตามปกติ จึงใช้เป็นคำเอกพจน์ (ไม่เป็นข้อๆ)

วินัย” (บาลี วินย) คือ ระเบียบ หรือแบบแผนความประพฤติ ความเป็นอยู่ และการประกอบกิจดำเนินการต่างๆ ซึ่งตั้งวางไว้โดยเป็นประมวลแห่งข้อบัญญัติ ข้อปฏิบัติ ข้อกำหนด กฎน้อยใหญ่ สำหรับฝึกฝนควบคุมกำกับความประพฤติและการปฏิบัติ ให้เป็นไปในแนวทางอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่จะเกิดความเรียบร้อยดีงาม และความเจริญงอกงามสัมฤทธิ์ความมุ่งหมาย วินัยนี้เป็นคำรวมๆ จึงใช้เป็นคำเอกพจน์

สิกขาบท” (บาลี สิกขาปท = ข้อศึกษา, ข้อฝึกความประพฤติ) คือ ข้อบัญญัติ โดยเฉพาะข้อที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เป็นข้อปฏิบัติ ที่จะต้องทำหรือต้องเว้นการใดๆ ตามที่บัญญัติไว้นั้น เพื่อให้มีความประพฤติและการปฏิบัติที่ถูกต้องดีงาม จะเห็นว่า สิกขาบทเป็นข้อๆ เมื่อพูดถึงหลายข้อ ก็เป็นพหูพจน์



ตามที่ว่านี้ สิกขาบททั้งหลายทั้งหมด รวมกันเป็นวินัย การปฏิบัติตามสิกขาบททั้งหลาย คือ ตั้งอยู่ในวินัย (หรือความประพฤติที่ถูกต้องตามสิกขาบท เป็นไปตามวินัย) ก็เป็นศีล เช่นว่า

สิกขาบท ๒๒๗ ข้อ เรียกรวมกันว่า วินัยของภิกษุ
ภิกษุที่ตั้งอยู่ในวินัยของภิกษุ (ประพฤติถูกต้องตามสิกขาบทสำหรับภิกษุ) ก็เป็นผู้มีศีล

สิกขาบท ๓๑๑ ข้อ เรียกรวมกันว่า วินัยของภิกษุณี
ภิกษุณีที่ตั้งอยู่ในวินัยของภิกษุณี (ประพฤติถูกต้องตามสิกขาบทสำหรับภิกษุณี) ก็เป็นผู้มีศีล

สิกขาบท ๕ ข้อ สำหรับคฤหัสถ์ คือ ชาวบ้านทั้งหลาย มีเว้นจากปาณาติบาท เป็นต้น (ปัญจสิกขาบท หรือเบญจสิกขาบท)
เมื่อคฤหัสถ์ ประพฤติถูกต้องตามสิกขาบท ๕ นี้ ก็เป็นผู้มีศีล (บางทีเรียกเป็นศัพท์ว่า เบญจสิกขาบทศีล) *

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ต.ค. 2016, 16:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ที่อ้างอิงข้างบน *

สิกขาบทสำหรับคฤหัสถ์ ๕ ข้อ เป็นหลักปฏิบัติที่ถือกันมาในสังคมสืบต่อแต่โบราณ พระพุทธศาสนารับตามนั้น และก็มิได้มีข้อบัญญัติมากหลายที่จะประมวลขึ้นเป็นวินัย ดังนั้น ตามปกติ จึงไม่พูดถึงวินัยของคฤหัสถ์ (เหมือนรู้กันว่าก็คือศีล ๕ นั่นแหละ)

แต่บางที พระอรรถกถาจารย์บางท่าน จัดหลักธรรมบางชุดให้เรียกว่า เป็นวินัยของคฤหัสถ์ ดังที่คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี้บอกว่า สิงคาลกสูตร เป็นคิหิวินัย คือวินัยของคฤหัสถ์ (ที.อ. 3/151) และปรมัตถโชติกาจัดให้ว่า การเว้นจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ นั้น เป็นอาคาริยวินัย คือ วินัยของผู้ครองเรือน (ขุททก.อ.117)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ต.ค. 2016, 15:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ที่ว่ามานี้ เป็นความหมายหลัก หรือเป็นการใช้คำอย่างเคร่งครัด แต่ดังที่กล่าวแล้วว่า มีการใช้คำเหล่านี้อย่างหลวมๆด้วย คือ บางทีเรียกแทนกันได้ ที่คุ้นกันดี ก็ได้แก่ สิกขาบท ๕ หรือเบญจสิกขาบท ซึ่งนิยมเรียกกันว่าศีล ๕ หรือเบญจศีล


ในพระไตรปิฎกมีเรียกว่า ศีล ๕ หรือเบญจศีล น้อยอย่างยิ่ง เหตุที่เรียก คงเป็นเพราะคำว่าเบญจสิกขาบทยาว เรียกยาก เวลาพูดอย่างไม่เคร่งครัด โดยเฉพาะในคาถา ซึ่งต้องการคำสั้นๆ ก็เลยเรียกเป็นเบญจศีล แต่ในสมัยอรรถกถา เรียกเบญจศีล (ปญฺจสีล) มากมาย

ครั้นมาเมืองไทย คนทั่วไปเรียกสิกขาบท ๕ นั้น ตามนิยมของยุคหลังนี้ว่า ศีล ๕ หรือเบญจศีล จนไปๆมาๆ แทบไม่รู้จักคำว่า สิกขาบท (แต่เวลาสมาทาน ถ้าสังเกต จะเห็นชัด)


เมื่อศีล ๕ มาแทนสิกขาบท ศีลก็เลยกลายเป็นตัวข้อปฏิบัติแต่ละอย่าง เป็นข้อๆได้ ใช้เป็นพหูพจน์ได้ ไม่ใช่แค่เป็นคุณสมบัติของคน ไม่ใช่แค่เป็นภาวะของคนที่ประพฤติถูกต้องตามวินัย เป็นไปตามสิกขาบท

ส่วนวินัยนั้น ในภาษาบาลีเดิม เป็นคำใหญ่มาก และมีความหมายกว้างขวางมากหลายนัย เช่นเป็นระบบใหญ่คู่กับธรรม ในคำว่า “ธรรมวินัย” ความหมายหลายอย่างของวินัยอยู่นอกชุด ๓ ที่รวมกับศีลและสิกขาบทนั้น พอเข้ามาในภาษาไทย เพราะเป็นคำที่มีความหมายกว้างอย่างที่ว่า และในชุดนี้เอง ก็เป็นคำที่อยู่กลาง ระหว่างศีล กับ สิกขาบท


ในเมื่อคำเหล่านี้ เวลาใช้อย่างหลวมๆ ก็พอแทนกันได้อยู่แล้ว คนจับที่คำต้นคือศีล กับคำท้าย คือ สิกขาบท คงรู้สึกว่าพอแล้ว ก็เลยหยุดเอาแค่นี้ คำว่าวินัยก็เลยมีความหมายค่อนข้างพร่าๆคลุมๆ

ยิ่งกว่านั้น ขณะที่ในวัดหรือในพระศาสนา วินัยใช้กันในความหมายแบบกว้างๆคลุมๆ และพร่าด้วย คำนี้กลับออกไปเป็นคำที่ใช้มากในสังคมของชาวบ้านชาวเมือง ตลอดจนในวงงานกิจการสมัยใหม่ แต่มีความหมายแคบลงไปมาก กลายเป็นเรื่องของการควบคุมตัวและควบคุมกันให้อยู่ในระเบียบ ให้ทำตามข้อบังคับ ให้เป็นไปตามกติกา เช่น วินัยจราจร และแถมว่า ในแง่หนึ่ง วินัยมีความหมายกลายเป็นคุณสมบัติของคน คือความเข้มแข็งที่สามารถบังคับควบคุมตนให้อยู่ให้ทำได้ตามหลักการ ตามกฎกติกา (ตรงนี้ก็สับสนกับศีลด้วย)

ถึงตอนนี้ เหมือนมีการแบ่งแยกกันออกไป คือ ทางฝ่ายวัด หรือทางพระศาสนา ใช้คำว่า “ศีล”


ส่วนทางฝ่ายคนนอกวัด หรือทางบ้านเมือง และสังคมภายนอก ใช้คำว่า “วินัย” ดังที่ว่า เวลาพูดคำว่าศีลขึ้นมา คนไทยทั่วไปก็จะนึกว่า เป็นเรื่องไปที่วัด หรือทางศาสนา ทั้งที่ว่า ทั้งศีลและวินัย เป็นคำสำคัญทั้งคู่ในพระพุทธศาสนา

ทีนี้ เรื่องมิใช่แค่นั้น หันกลับมาดูที่วัด เมื่อคน (รวมทั้งพระ) ห่างเหินเนื้อหาสาระของพระธรรมวินัยออกไปๆ


ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับถ้อยคำทางธรรมวินัยนั้น ก็รางเลือนลงๆ แม้แต่สามคำในชุดที่พูดถึงนี้ ก็เสื่อมถอยจากวิถีชีวิตลงไปอีก
กล่าวคือใน ๓ คำนั้น จะเห็นว่า คำแรกคือศีล ที่เป็นคุณสมบัติในตัวคน หรือเป็นภาวะของคนนั้น ก็คือเป็นจุดหมายของ ๒ คำหลัง เพราะที่ฝึกบุคคลด้วยสิกขาบท โดยควบคุมตรวจสอบให้เป็นไปพร้อมด้วยวินัยนั้น เพื่อให้เขาเป็นคนมีศีล หรือเพื่อให้ศีลเกิดขึ้นในตัวคน ไปๆมาๆ


ในที่สุด คำว่า ศีล คำเดียว กลายเป็นใช้แทนได้หมด ทั้งแทนสิกขาบทก็ได้ แทนวินัยก็ได้ เลยเหลือแต่ศีลคำเดียว วินัยกับสิกขาบท เหมือนอยู่แค่หลังฉาก แต่พร้อมกับที่ศีลมีความหมายคลุมหมด ก็เลยพร่ามัวไปด้วย

แล้วเรื่องก็ไม่ใช่เท่านั้นอีก ที่ว่าศีลเป็นจุดหมายนั้น หมายถึงเป็นจุดหมายในการพัฒนาคน ดังที่ในหลักการศึกษา คือไตรสิกขา มีศีลเป็นข้อต้นในชุด คือ ศีล สมาธิ และปัญญา เรียกให้เต็มว่า อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิศีลสิกขา แปลง่ายๆรวบรัดว่า ศึกษาคือฝึกฝนพัฒนาให้มีศีลยิ่งขึ้นไป ให้จิตใจมีคุณภาพยิ่งขึ้นไป และให้มีปัญญายิ่งขึ้นไป


ตรงนี้เป็นเรื่องของการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องของคน ที่ว่าชีวิตคนจะดีได้ โลกมนุษย์จะดีได้ ก็ต้องพัฒนาคนให้ดี ให้สมบูรณ์ ให้มีคุณภาพสูงสุด อย่างน้อยคนก็เป็นผู้ไปทำกิจกรรมแม้แต่ในสังคม ศีลก็จัดมาอยู่ที่ตัวคน แล้วก็แยกเป็นแต่ละบุคคล

แต่มองย้อนออกไปดูในกระบวนการฝึกคนนั้น จะเห็นชัดว่า ในการพัฒนาคนแม้แต่ละคนๆให้เจริญงอกงามนั้น ต้องมีการรู้จักอยู่ร่วมสัมพันธ์กับคนอื่นๆในสังคม มีการทำกิจกรรมในสังคม ทั้งแต่ละคนและร่วมกัน


ตั้งแต่กิจกรรมเพื่อเจริญกาย จนถึงกิจกรรมเพื่อเจริญปัญญา มีการจัดสภาพแวดล้อม การจัดสรรแบ่งปันปัจจัยสี่และสรรพอามิส การกินอยู่ การประกอบอาชีพ การปกครอง ฯลฯ สารพัด นี่คือ วินัย

แม้ว่าวินัยจะเพื่อศีล อยู่ในชุดร่วมกับศีลก็ตาม แต่วินัย ก็มีขอบข่ายเขตแดนแตกต่างจากศีล มิใช่เป็นเพียงคำที่ใช้แทนกันได้ หรือสับสนปนเป หรือพร่ามัว อย่างที่ความเข้าใจของคนได้เสื่อมลงไป

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ต.ค. 2016, 15:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ได้อธิบายมาเพียงเท่านี้ พอให้เข้าใจความหมายของถ้อยคำที่สำคัญ เพื่อเป็นฐานของการที่จะพูดเรื่องศีลกันต่อไป

ในด้านหนึ่ง ก็จะได้รู้เข้าใจความหมายที่แท้จริงให้ชัดเจน แต่พร้อมกันนั้น ในอีกด้านหนึ่ง ก็จะได้ตระหนักถึงสภาพปัจจุบัน ที่ได้มีความเข้าใจความหมายของถ้อยคำเหล่านี้ไม่เพียงพอ โดยมองเห็นว่าความหมายได้คับแคบคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนไปอย่างไร แล้วศึกษาอย่างรู้เท่าทันที่จะให้ได้ผลตามที่มุ่งหมาย

ขอแทรกเล็กน้อยว่า ในเรื่องวินัย ในความหมายเชิงสังคมนั้น ได้กล่าวไว้ในบทที่ว่าด้วยเรื่องกรรมบ้างแล้ว ควรจะศึกษาอย่างโยงถึงกันด้วย


เมื่อทำความเข้าใจกันอย่างนี้แล้ว ก็จะพูดถึงเรื่องศีลในเชิงสังคม โดยถือความหมายของคำตามที่เข้าใจกันแบคลุมๆ ในปัจจุบัน เช่น เป็นคำที่ใช้แทนกันได้ และใช้ปนกันไปกับคำในชุดเดียวกัน ครั้นแล้ว พร้อมด้วยความรู้เท่าทันนั้น ก็ศึกษาจับสาระของเรื่องราวให้ชัดเจน ดังที่จะกล่าวต่อไป

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 60 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร