ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

คำว่า "ปฏิบัติธรรม" หลัก "ปฏิบัติธรรม"
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=53242
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 11 ต.ค. 2016, 09:08 ]
หัวข้อกระทู้:  คำว่า "ปฏิบัติธรรม" หลัก "ปฏิบัติธรรม"

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม นายณรงค์เดช ชัยเนตร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยว่า นายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการ พศ. มอบนโยบายให้ข้าราชการในสังกัด พศ.ที่เลื่อนขึ้นตำแหน่งในระดับต่างๆ เข้ารับการอบรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม (หลักสูตรวิปัสสนากรรมฐาน) เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้เป็นผู้ยึดมั่นในความถูกต้อง มีความซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบต่อประชาชน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ นายพนมได้มอบให้กองส่งเสริมฯ นำข้าราชการที่จะเตรียมขึ้นตำแหน่งผู้บริหาร ระดับอำนวยการต้นและสูง จำนวน 57 คน เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรวิปัสสนากรรมฐาน ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพฯ เป็นเวลา 5 วัน

นายณรงค์เดชกล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา พศ.ได้ดำเนินการอบรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้กับข้าราชการทุกคนที่จะเลื่อนขึ้นเป็นผู้บริหารในทุกระดับ ซึ่งถือว่าเป็นอัตลักษณ์ของข้าราชการ พศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน อุปถัมภ์ และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ การเปิดโอกาสให้ข้าราชการที่จะเตรียมเป็นผู้บริหารหน่วยงานในระดับต่างๆ เข้ารับการอบรมตามหลักสูตรดังกล่าว ถือเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานได้อย่างมีผลสัมฤทธิ์ และนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่สังคมและประเทศชาติ

http://www.matichon.co.th/news/316135

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 15 ต.ค. 2016, 05:56 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พศ.เตรียมติวเข้ม ขรก.ส่งปฏิบัติธรรมก่อนขึ้นตำแหน่งผู้บริ

พระพุทธศาสนามีคำสอนมากมายหลายแง่หลายด้าน พอแบ่งให้เห็นภาพคำสอนหน่อย ก็มีทั้งที่เป็นโลกียธรรม คือคำสอนชาวบ้านทั่วๆไป เช่น สอนให้ขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้าน กตัญญูรู้คุณต่อผู้พระคุณ เป็นต้น ทั้งที่เป็นโลกุตรธรรม คือคำสอนระดับปัญญาซึ่งเหนือกว่าโลกียธรรม ซึ่งต่างจากลัทธิศาสนาอื่น ที่มีคำสอนพื้นๆคือหลักศรัทธา ศาสนิกของเขาจึงมีจุดมุ่งไปจุดเดียวกัน...ซึ่งต่างจากพุทธศาสนิกเราเหตุมีคำสอนมากมายดังว่าแล้ว พุทธศาสนิกบ้างก็จับคำสอนเอาแง่นั้นบ้างแง่นี้บ้าง บ้างก็ติดคิดอยู่แง่มุมเดียว ทิ้งแง่มุมอื่น บ้างก็จะเอาแต่โลกุตรธรรมซึ่งเป็นคำสอนด้านปัญญาขั้นสูงอย่างเดียว :b32: ข้ามโลกียธรรมซึ่งเป็นคำสอนพื้นๆสัมผัสได้ จิตใจเลยเคว้งคว้าง จับจุดไม่ถูก

นำหลักให้ดูนิดหน่อย

ความหมายที่แท้ คำว่า “ปฏิบัติธรรม” ได้แก่การนำเอาธรรมะไปใช้ในการดำเนินชีวิต หรือการดำเนินชีวิตตามธรรม แต่ปัจจุบัน มักเข้าใจคำนี้ไปในความหมายว่า เป็นการฝึกอบรมทางจิตปัญญาขั้นหนึ่งระดับหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปแบบ และทำไปตามแบบแผนที่ได้กำหนดวางไว้

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 15 ต.ค. 2016, 06:08 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พศ.เตรียมติวเข้ม ขรก.ส่งปฏิบัติธรรมก่อนขึ้นตำแหน่งผู้บริ

ทีนี้ให้ดูตัวอย่าง ผู้คิดระดับโลกุตรธรรม ซึ่งส่วนมากยังจับหลักปฏิบัติไม่ได้ บ้างก็เข้าใจถ้อยคำพุทธธรรมผิดไป พิจารณาดู


อาไม่ได้เข้ามาเสียนาน หายไปวุ่นวายกับชีวิต เรียนจบทำงานทำการ เจอกับชีวิตที่ต่างออกไป พาใจเศร้าหมอง

โลกโซเชียลก็ไปไวเหลือเกิน วิ่งตามทุกวันจนเหนื่อย โลกเปลี่ยนไปทุกวินาทีจริงๆ


อยากจะเรียนถามท่านๆทั้งหลาย...ว่ามีวิธีปฏิบัติธรรมกันอย่างไร ทำสมาธิภาวนาอย่างไรกันบ้างคะ

เพราะต้องบอกตรงๆว่า อ่านตามตำราหรือหนังสือต่างๆ เข้าใจยากพอสมควร ทั้งคำศัพท์เฉพาะมากมายที่ถาโถมเข้ามาอีก

ทุกวันนี้ พยายามทำได้แค่ตามที่โรงเรียนเคยสอน คือ นั่งหลับตา หายใจเข้าพุทธ หายใจออกโธ นั่งอยู่ซักพักจนใจเตลิดนั่งไม่ไหวจึงจะหยุดเจ้าค่ะ

เวลาหลับตา จะคอยนับลมหายใจเข้าออก แต่ทั้งๆที่นับอยู่ ใจมันจะคอยไพล่ไปคิดเรื่องอื่นเรื่อยๆไม่เคยอยู่นิ่ง เราควรทำเช่นไรคะ? ดูไปเรื่อยๆ ให้มันวิ่งไปเรื่อยๆ?

ถ้าจะมีใครสามารถอธิบายง่ายๆแบบสอนเด็กสิบขวบได้เลยยิ่งดีค่ะ เราหัวช้า 555




ปล.การที่เราจะบอกว่าอยากหลุดพ้นจากชาติภพทั้งหลายในชาตินี้ เป็นการเพ้อฝันไปมั้ยคะ ทั้งๆที่เราทำบาปมามากมายเหลือเกิน จิตใจก็มัวหมองไปด้วยกิเลส

อยากได้ อยากมี อยากเป็น ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น วนเวียนไปมา <= (นึกถึงท่านอโศกะเลย :b1: )

ยิ่งเราโตขึ้น ชีวิตยิ่งมีแต่ความทุกข์มากมายเหลือเกิน ทั้งปัญหามากมาย ทั้งการสูญเสียจากลา

ต่างกันแค่ เราทำตัวอ่อนแอแบบสมัยเด็กๆไม่ได้อีกแล้ว เราเหนื่อยและหนักมากค่ะ รู้สึกว่าชีวิตนี้เป็นภาระอันยิ่งใหญ่

เราตามหาความสุขสงบไม่เจอมานานเหลือเกินค่ะ

อยากจะพ้นไปจากสภาพนี้ ไม่อยากเกิดอีกแล้ว การมีชีวิตเป็นทุกข์ และการที่จะต้องไปเวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อยๆโดยไม่รู้อนาคตนั้นก็น่ากลัวจริงๆ

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 15 ต.ค. 2016, 08:15 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พศ.เตรียมติวเข้ม ขรก.ส่งปฏิบัติธรรมก่อนขึ้นตำแหน่งผู้บริ

อ้างคำพูด:
ทุกวันนี้ พยายามทำได้แค่ตามที่โรงเรียนเคยสอน คือ นั่งหลับตา หายใจเข้าพุทธ หายใจออกโธ นั่งอยู่ซักพักจนใจเตลิดนั่งไม่ไหวจึงจะหยุดเจ้าค่ะ

เวลาหลับตา จะคอยนับลมหายใจเข้าออก แต่ทั้งๆที่นับอยู่ ใจมันจะคอยไพล่ไปคิดเรื่องอื่นเรื่อยๆไม่เคยอยู่นิ่ง เราควรทำเช่นไรคะ? ดูไปเรื่อยๆ ให้มันวิ่งไปเรื่อยๆ?



รูปภาพ


1. กายานุปัสสนา
2.เวทนานุปัสสนา
3.จิตตานุปัสสนา
4.ธัมมานุปัสสนา

ผู้บำเพ็ญเพียรจะ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด ... อยู่ตรงนี้ตรงนั้นตรงไหน ธรรมะหรือหลักสติปัฏฐาน เกิดอยู่ทุกขณะ แต่ผู้ปฏิบัติมองข้าม บางทีก็ท่องจำได้คล่องเลย กาย เวทนา จิต ธรรม :b1: เอาเข้าจริงๆคิดไม่ถึง

ก็มันคิดนี่ ก็จับความคิด (จิต) หลักข้อ 3 กำหนดรู้จักมันไปซี่ คิด (หนอๆๆ) ก็มันคิดนี่ นั่นแหละจิตตานุปัสสนา (ตามรูทันความคิด= จิต) ที่่ตั้งของสติ ปักความรู้สึกลงไปตรงหัวใจใต้ราวนมข้างซ้าย สักสามสี่ครั้งแล้ว ก็เกาะจับตามลมเข้าออกไปใหม่อีก รู้สึกยังไง เป็นยังไงอีก ก็วาง ลมเข้า-ออก (หรือพอง-ยุบ) ก่อน กำหนดดูรู้ทันตามที่รู้สึก ตามที่เป็นอีก ฝึกทำนองนี้แหละทำไป


เราอยู่ในขั้นฝึกหัดพัฒนาจิตก็ยังงี้แหละนะ ไม่ใช่จิตสำเร็จรูปมาแล้วตั้งแต่เกิด :b32: จึงต้องฝึกฝนกันไป ใหม่ๆก็ท้อบ้างเป็นธรรมดา เอาใหม่

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 15 ต.ค. 2016, 08:28 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พศ.เตรียมติวเข้ม ขรก.ส่งปฏิบัติธรรมก่อนขึ้นตำแหน่งผู้บริ

ฝึกจิตต้องใจเย็นๆหมั่นสังเกต นำตัวอย่างที่เคยอ้างบ่อยๆให้ดูอีก

อ้างคำพูด:
"ในการนั่งสมาธิครั้งนี้ ผมสามารถรับรู้ลมหายใจได้ตลอดสายเป็นเวลานาน"


http://larndham.org/index.php?/topic/27 ... ntry393770

ที่ขีดเสั้นใต้นั่นแหละจิตเกิดสมาธิแล้ว แต่กว่าจิตจะเชื่องเกาะอยู่กรรมฐาน (ลมหายใจเข้า-ออก - พอง-ยุบเป็นต้น) ได้นานๆ ก็ไม่ใช่ง่ายๆ ดูที่เขาฝึกเขาทำ



เมื่อจิตดำเนินแน่วอยู่กับกัมมัฏฐานได้นานๆ นิวรณ์ก็สงบระงับไป ความสุขก็เกิด ดูต่อ

อ้างคำพูด:
ความรู้สึกของเราเหมือนจุ่มอยู่ในปีติ มีแต่ความสุขไปหมด จากนั้นผมก็คิดขึ้นมาว่า "มีความสุขขนาดนี้ในโลกด้วยหรือ ความสุขนี้ดีกว่าความสุขในโลกที่เราเคยพบมาทั้งหมด โอ ความสุขนี้แค่นั่งก็ได้แล้ว คนทั้งโลก มัวแต่วุ่นวายทำอะไรกันอยู่ บางคนทำทุจริตต่างๆเพื่อหาเงินมาสนองความสุขตน ทำไปทำไมนะ มันเทียบกับความสุขที่เกิดจากความสงบนี้ไม่ได้เลย ความสุขนี้ไม่ต้องไขว่คว้ามาก อยู่กับตัวเองแท้ๆ คนในโลกกลับไม่รู้"



ถึงขั้นนี้ เนื้อตัวลมหายใจจะบางเบาละเอียด ดูต่อ

อ้างคำพูด:
...ลมหายใจตอนนี้มันละเอียดมาก ถึงค่อยเข้าใจคำว่าลมหายใจหยาบลมหายใจละเอียดว่าเป็นยังไง ก่อนหน้านี้เข้าใจว่าคือลมหายใจแรงๆเบาๆซะอีก


เมื่อความสุขความสงบเกิดแล้ว จิตใจยังยินดีปรีดากับมันก็ร่วง ดูต่อ



.
อ้างคำพูด:
...รู้สึกจิตเวลานี้ไม่มีนิวรณ์เลย คือมีความรู้พร้อมอยู่ จากนั้นผมก็รู้สึกยินดีกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคิดไปเรื่อยว่า "นี่คือปฐมฌานหรือเปล่านี่ ปฐมฌานเกิดกับเราหรือ" จนจิตเริ่มไม่เป็นสมาธิ เริ่มปั่นป่วน หลังจากนั้นก็ได้ยินเสียงห้องข้างๆตะโกนเสียงดัง ก็เลยหลุดออกมาจากสภาวะนั้น

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 15 ต.ค. 2016, 08:48 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พศ.เตรียมติวเข้ม ขรก.ส่งปฏิบัติธรรมก่อนขึ้นตำแหน่งผู้บริ

วางหลักให้ดู จับหลักวิธีฝึกให้ได้

กระบวนการปฏิบัติ

๑. องค์ประกอบ หรือสิ่งที่ร่วมอยู่ในกระบวนการปฏิบัติ นี้ มี ๒ ฝ่ายคือ ฝ่ายที่ทำ (ตัวการที่คอยสังเกตตามดูรู้ทัน) กับ ฝ่ายที่ถูกทำ (สิ่งที่ถูกสังเกตตามดูรู้ทัน)

ก. องค์ประกอบฝ่ายที่ถูกทำ คือ สภาวะ ที่ถูกมองหรือถูกตามดูรู้ทัน ได้แก่ สิ่งธรรมดาสามัญ คือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่กับตัวของทุกคนนั่นเอง เช่น ร่างกาย การเคลื่อนไหวของร่างกาย ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เป็นปัจจุบันคือกำลังเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ

ข. องค์ประกอบฝ่ายที่ทำ คือ องค์ธรรมที่ถึงที่ทันอยู่ต่อหน้ากับสิ่งนั้นๆ ไม่คลาดคลา ไม่ทิ้งไป คอยตามดูรู้ทัน เป็นองค์ธรรมของสติปัฏฐาน ได้แก่ สติ กับ สัมปชัญญะ


สติเป็นตัวดึงตัวเกาะจับสิ่งที่จะมองจะดูจะรู้เอาไว้ สัมปชัญญะ คือปัญญา ที่รู้ชัดต่อสิ่งหรืออาการ ที่ถูกมอง หรือตามดูนั้น โดยตระหนักว่า คืออะไร เป็นอย่างไร มีความมุ่งหมายอย่างไร เช่น ขณะ เดิน ก็มีสติให้ใจอยู่พร้อมหน้ากับการเดิน และมีสัมปชัญญะที่ รู้พร้อมอยู่กับตัวว่า กำลังเดินไปไหน อย่างไร เพื่ออะไร รู้ตระหนักภาวะและสภาพของผู้เดิน และสิ่งที่เกี่ยวข้องในการเดินนั้น เป็นต้น เข้าใจสิ่งนั้นหรือการกระทำนั้นตามความเป็นจริง โดยไม่เอาความรู้สึกชอบใจหรือไม่ชอบใจ เป็นต้น ของตนเข้าไปปะปนหรือปรุงแต่ง

.........


มีข้อควรระวังที่ควรย้ำไว้ เกี่ยวกับความเข้าใจผิดที่อาจเป็นเหตุให้ปฏิบัติผิดพลาดเสียผลได้ กล่าวคือ บางคนเข้าใจความหมายของคำแปล “สติ” ที่ว่าระลึกได้ และ “สัมปชัญญะ” ที่ว่ารู้ตัว ผิดพลาดไป โดยเอาสติมากำหนดนึกถึงตนเอง และรู้สึกตัวว่า ฉันกำลังทำนั่นทำนี่ กลายเป็นการสร้างภาพตัวตนขึ้นมา แล้วจิตก็ไปจดจ่ออยู่กับภาพตัวตนอันนั้น เกิดความเกร็งตัวขึ้นมา หรืออย่างน้อยจิตก็ไม่ได้อยู่ที่งาน ทำให้งานที่กำลังทำนั้น แทนที่จะได้ผลดี ก็กลับกลายเป็นเสียไป


สำหรับคนที่เข้าใจผิดเช่นนั้น พึงมองความหมายของสติในแง่ว่า การนึกไว้ การคุมจิตไว้กับอารมณ์ การคุมจิตไว้กับกิจที่กำลังกระทำ หรือคุมจิตไว้ในกระแสของการทำกิจ
และ
มองความหมายของสัมปชัญญะในแง่ว่า การรู้ชัดสิ่งที่นึกไว้หรือรู้ชัดสิ่งที่กำลังกระทำ
กล่าวคือ
มิใช่เอาสติมากำหนดตัวตน (ว่าเราทำนั่นทำนี่) ให้นึกถึงงาน (สิ่งที่ทำ) ไม่ใช่นึกถึงตัวตน (ผู้ทำ) ให้สติดึงใจไว้ให้ใจอยู่กับสิ่งที่กำลังทำ หรือกำลังเป็นไปจนไม่มีโอกาสนึกถึงตัวเองหรือตัวผู้ทำเลย คือใจอยู่กับสิ่งที่ทำนั้น จนกระทั่งความรู้สึกว่าตัวฉัน หรือความรู้สึกต่อตัวผู้ทำ ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เลย

..........


(ดูรู้ทันตามที่มันเป็น ไม่ใช่เราไปทำให้มันเป็นเพื่อจะดู เช่น สูดลมหายใจให้ยาวให้สั้น เป็นต้น ไม่ใช่ๆ)

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 15 ต.ค. 2016, 17:07 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พศ.เตรียมติวเข้ม ขรก.ส่งปฏิบัติธรรมก่อนขึ้นตำแหน่งผู้บริ

(หนังสือคู่มือพุทธศาสนิกชน ) น่าจะเขาใจง่ายหน่อยก็เช่น

หลักการปฏิบัติธรรม

หลักการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา คือ การนำหลักธรรมที่เป็นส่วนปฏิบัติ ซึ่งเรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ มาลงมือปฏิบัติเชิงบูรณาการเป็นแนวทางดำเนินชีวิตให้บรรลุถึงจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา กระบวนการนำหลักอริยมรรคมาลงมือปฏิบัติเชิงบูรณาการตามลำดับขั้นตอนที่ชัดเจนที่สุด เรียกว่า

ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งจัดเป็นตัวแท้ของการปฏิบัติ เป็นกระบวนการศึกษาปฏิบัติธรรมทั้งหมดในพระพุทธศาสนา โดยสามารถนำหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นมาย่นย่อลงมือบูรณาการปฏิบัติครอบคุลมได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ในการเข้าสู่กระบวนการศึกษาปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา ซึ่งเรียกว่า ปฏิบัติธรรม นั้น มีรูปแบบหรือลักษณะการปฏิบัติอยู่ ๒ รูปแบบด้วยกัน คือ

๑) ปฏิบัติธรรมแบบกว้างๆ (สามัญธรรมปฏิบัติ)

๒) ปฏิบัติธรรมแบบเข้มข้น (วิสามัญธรรมปฏิบัติ)

การปฏิบัติธรรมทั้งสองรูปแบบนี้มีคำจำกัดความ และความมุ่งหมายที่กว้าง และแคบต่างกัน ดังนี้


๑) ปฏิบัติธรรมแบบกว้างๆ (สามัญธรรมปฏิบัติ: General Dhamma Practice) หมายถึง การนำเอาหลักธรรมในระดับศีลธรรมหรือหลักจริยธรรมขั้นพื้นฐานที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนไว้มาเป็นหลักหรือแนวทางในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยสามารถยึดเป็นหลักธรรมประจำใจ เช่น

การที่คนเรามีสติสัมปชัญญะในการทำกิจการต่างๆ การมีหิริโอตตัปปะไม่กล้าทำบาปทุจริตทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เพราะกลัวผลของบาปทุจริตที่จะได้รับในภายหลัง การมีขันติและโสรัจจะ คือ ความอดกลั้น สงบเสงี่ยมต่อสภาวะบีบคั้นกดดันต่างๆ ที่เผชิญอยู่ การมีความกตัญญูกตเวที คือ รู้คุณของผู้อื่นที่ทำแก่ตนแล้วตอบแทนคุณนั้นให้เหมาะสม หรือการรักษาศีล ๕ ศีล ๘ เป็นต้น

การมีหลักธรรมประจำใจในการดำรงชีวิตประจำวันดังกล่าวมานี้ ชื่อว่าการปฏิบัติธรรมแบบกว้างๆ ในที่นี้

กล่าวอีกนัยหนึ่ง บุคคลใดก็ตามที่น้อมนำหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนไว้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นหลักธรรมที่มีอุปการะมาก คือสติสัมปชัญญะ หลักธรรมที่คุ้มครองโลก คือหิริโอตตัปปะ หลักพรหมวิหารธรรม ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรือหลักศีลธรรมอื่นๆ ก็ตาม บุคคลผู้นั้น ชื่อว่าปฏิบัติธรรมทั้งนั้น

การปฏิบัติธรรมตามลักษณะนี้ จึงกินความกว้างมาก สุดแต่ว่าใครจะสามารถนำเอาหลักธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิต หรือในการทำกิจหน้าที่นั้นๆ ให้ได้ผลแค่ไหน เพียงไร ซึ่งการปฏิบัติธรรมตามรูปแบบนี้ เราชาวพุทธทั้งหลายได้ใช้อยู่ตลอดเวลา โดยเมื่อปฏิบัติกิจ หรือกระทำต่อสิ่งใดๆ อย่างถูกต้อง ก็เรียกว่า เป็นการปฏิบัติธรรม

ไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพใด มีหน้าที่การงานอย่างไร เมื่อปฏิบัติตนหรือปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องเหมาะสมแก่สถานภาพหรือหน้าที่การงานนั้นๆ ก็ชื่อว่าปฏิบัติธรรม เช่น ในการทำงาน เมื่อนำหลักธรรมที่อำนวยให้ประสบผลสำเร็จ คืออิทธิบาท ๔ อันได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา มาใช้ในการทำงาน ก็เป็นการปฏิบัติธรรม

แม้แต่การออกไปที่ท้องถนนหรือการขับรถ ถ้าขับโดยเคารพวินัยจราจร รักษากฎจราจรอย่างเคร่งครัด เช่น เมาไม่ขับ ไม่ตัดหน้า ไม่ฝ่าไฟแดง หรือง่วงนอนหาวนอนก็ไม่ขับ ขับรถไปด้วยความเรียบร้อยดีโดยไม่ประมาท มีความสุภาพ หรือลงลึกเข้าไปแม้กระทั่งว่า ทำจิตใจให้สงบ สบาย ไม่เครียด มีความผ่องใส สบายใจ ในเวลาที่ขับรถอยู่กลางถนนนั้น ท่ามกลางรถรามากมาย เช่นนี้ ก็เป็นการปฏิบัติธรรม

นอกจากนี้ บุคคลผู้เป็นข้าราชการ/เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติราชการ ถ้าปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างถูกต้อง ซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม ขยันหมั่นเพียร มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงานการบริการที่ดี ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จผล ก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน สังคม และประเทศชาติ ก็ชื่อว่าปฏิบัติธรรม หรือ

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ข้าราชการผู้ใดก็ตามปฏิบัติราชการโดยนำหลักพุทธธรรมมาปรับใช้ในชีวิตราชการ เช่น

นำหลักอิทธิบาท ๔ โดยมีฉันทะ ยินดีพอใจในการเป็นข้าราชการ รักอาชีพราชการ มีวิริยะ มุ่งมั่นขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยทุ่มเท สู้งาน ไม่หวั่นย่อท้อต่อปัญหาอุปสรรคของการปฏิบัติงาน มีจิตตะ เอาใจใส่สนใจรับผิดชอบต่อการปฏิบัติงานทุกขั้นตอน และมีวิมังสา คอยหมั่นไตร่ตรอง ตรวจสอบ ติดตามประเมินผลในการปฏิบัติงานเพื่อให้ได้ผลดีอยู่เสมอ
เมื่อปฏิบัติเช่นนี้ จะโดยรู้ตัวว่านำหลักพุทธธรรม คือ อิทธิบาท ๔ มาใช้หรือไม่รู้ตัวก็ตาม ข้าราชการผู้นั้น ก็ชื่อว่าได้ปฏิบัติธรรม แต่เป็นการปฏิบัติธรรมแบบกว้างๆ


๒) ปฏิบัติธรรมแบบเข้มข้น (วิสามัญธรรมปฏิบัติ: Intensive Dhamma Practice) หมายถึง การเน้นนำหลักธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติโดยตรง หรือหลักธรรมในระดับที่สูงกว่าขั้นศีลธรรมมาฝึกอบรมจิต และพัฒนาปัญญา ที่เรียกว่า ปฏิบัติธรรมด้วยวิธีภาวนา หรือบำเพ็ญกัมมัฏฐาน โดยการปลีกตัวออกไปจากสังคม หามุมสงบประคบประหงมจิต เช่น ไปปฏิบัติบำเพ็ญอยู่ที่วัด หรือสำนักปฏิบัติธรรม หรือไปหาสถานที่ที่สงบอื่นๆ เพื่อลงมือปฏิบัติฝึกหัดทดลองควบคุมจิตใจ เมื่อประสบสิ่งที่ใจไม่ปรารถนา ซึ่งวิธีที่จะควบคุมจิตใจได้ดีที่สุด ก็คือความใส่ใจใฝ่ฝึกศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาแล้วนำมาปฏิบัติโดยการฝึกสมาธิ เจริญวิปัสสนาในวัด หรือสำนักปฏิบัติธรรมต่างๆ ที่มีพระภิกษุผู้มุ่งวิปัสสนาธุระเป็นพระวิปัสสนาจารย์สอนวิชากัมมัฏฐานทั้งสายสมถะและวิปัสสนาโดยตรง
ดังนั้น การปฏิบัติธรรมด้วยการปลีกตัวไปฝึกสมาธิ เจริญวิปัสสนา จึงจัดเป็นการปฏิบัติธรรมแบบเข้มข้นเน้นหรือลงลึกเฉพาะเรื่อง โดยมุ่งฝึกฝนพัฒนาจิตใจ อย่างมีระบบ กำหนดเป็นหลักสูตรเพื่อให้ได้รับปฏิเวธ คือผลจากการฝึกปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 15 ต.ค. 2016, 17:46 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พศ.เตรียมติวเข้ม ขรก.ส่งปฏิบัติธรรมก่อนขึ้นตำแหน่งผู้บริ

หลักการหรือคำสอนใดก็ตาม ที่เป็นเพียงการคิดค้นหาเหตุผลในเรื่องความจริงเพื่อสนองความต้องการทางปัญญา โดยมิได้มุ่งหมาย และมิได้แสดงแนวทางสำหรับประพฤติปฏิบัติในชีวิตจริง อันนั้น ให้ถือว่าไม่ใช่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างที่ถือว่าเป็นคำสอนเดิมแท้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งในที่นี้เรียกว่า พุทธธรรม

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/