ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

ศัพท์ภาษาทางธรรม อักษร ศ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=52959
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 29 ก.ค. 2016, 15:54 ]
หัวข้อกระทู้:  ศัพท์ภาษาทางธรรม อักษร ศ

ศึกษา การเรียน, การฝึกฝนปฏิบัติ, การเล่าเรียนให้รู้เข้าใจ และฝึกหัดปฏิบัติให้เป็นคุณสมบัติที่เกิดมีขึ้นในตนหรือให้ทำได้ทำเป็น ตลอดจนแก้ไขปรับหรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปจนกว่าจะสมบูรณ์,

ในการศึกษาทางพระธรรมวินัย นิยมใช้รูปที่เขียนอย่างบาลี คือ "สิกขา"


สิกขา การศึกษา, การสำเหนียก, การเรียน, การฝึกฝนปฏิบัติ, การเล่าเรียนให้รู้เข้าใจ และการฝึกหัดปฏิบัติให้เป็นคุณสมบัติที่เกิดมีขึ้นในตนหรือให้ทำได้ทำเป็น ตลอดจนแก้ไขปรับหรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปจนถึงความสมบูรณ์, ข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมพัฒนาบุคคล


สิกขา ๓ คือ


๑. อธิสีลสิกขา สิกขาคือศีลอันยิ่ง, อธิศีลอันเป็นข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อปฏิบัติเพื่อการฝึกอบรมพัฒนาศีลอย่างสูง

(ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ เป็นศีล ปาฏิโมกขสังวรศีล เป็นอธิศีล ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ที่รักษาด้วยความเข้าใจ ให้เป็นเครื่องหนุนนำออกจากวัฏฏะ ก็เป็นอธิศีล)


๒. อธิจิตตสิกขา สิกขาคือจิตอันยิ่ง, อธิจิตอันเป็นข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อปฏิบัติเพื่อการฝึกอบรมพัฒนาจิตใจให้มีสมาธิ เป็นต้น อย่างสูง

(กุศลจิตทั้งหลาย จนถึงสมาบัติ ๘ เป็นจิต, ฌานสมาบัติที่เป็นบาทแห่งวิปัสสนา เป็นอธิจิต, แต่สมาบัติ ๘ นั้นแหละ ถ้าปฏิบัติด้วยความเข้าใจ มุ่งให้เป็นเครื่องหนุนนำออจากวัฏฏะ ก็เป็นอธิจิต)


๓. อธิปัญญาสิกขา สิกขาคือปัญญาอันยิ่ง, อธิปัญญาอันเป็นข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อปฏิบัติเพื่อการฝึกอบรมพัฒนาปัญญาอย่างสูง

(ความรู้เข้าใจหลักเหตุผลถูกต้องอย่างสามัญ อันเป็นกัมมัสสกตาญาณ คือ ความรู้จักว่าทุกคนเป็นเจ้าของแห่งกรรมของตน เป็นปัญญา, วิปัสสนาปัญญาที่กำหนดรู้ความจริงแห่งไตรลักษณ์ เป็นอธิปัญญา

แต่โดยนัยอย่างเพลา กัมมัสสกตาปัญญาที่โยงไปให้มองเห็นทุกข์ที่เนื่องด้วยวัฏฏะ หรือแม้แต่กระทั่งความรู้ความเขาใจที่ถูกต้องในการระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ก้าวไปในมรรค ก็เป็นอธิปัญญา

สิกขา ๓ นี้ นิยมเรียกว่า ไตรสิกขา และเรียกข้อย่อยทั้งสามง่ายๆ สั้นๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 29 ก.ค. 2016, 16:00 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ศัพท์ภาษาทางธรรม อักษร ศ

ศัพท์ เสียง, คำ, คำยากที่ต้องแปล, คำยากที่ต้องอธิบาย


ศรัทธา ความเชื่อ, ความเชื่อถือ


สัทธา ความเชื่อ, ความเชื่อถือ, ในทางธรรม หมายถึง เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ, ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล, ความเชื่อมั่นในสิ่งที่ดีงาม, ความเลื่อมใสซาบซึ้งชื่นใจสนิทใจ เชื่อมั่น มีใจโน้มน้อมมุ่งแล่นไปตาม ไปรับคุณความดีในบุคคลหรือสิ่งนั้นๆ, ความมั่นใจในความจริง ความดี สิ่งดีงาม และในการทำความดี ไม่ลู่ไหลตื่นตูมไปตามลักษณะอาการภายนอก

(ข้อ ๑ ในอินทรีย์ ๕ ข้อ ๑ ในพละ ๕ ข้อ ๑ เวสารัชชกรณธรรม ๕ ข้อ ๑ ในอริยวัฑฒิ ๕ ข้อ ๑ ในสัทธรรม ๗ ข้อ ๑ ในอริยทรัพย์ ๗)

เขียนอย่างสันสกฤตเป็น ศรัทธา


ศรัทธาไทย ของที่เขาถวายด้วยศรัทธา “ทำศรัทธาไทยให้ตกไป” คือทำให้ของที่เขาถวายด้วยศรัทธาเสื่อมเสียคุณค่าหรือหมดความหมายไป หมายความว่า ปฏิบัติต่อสิ่งที่เขาถวายด้วยศรัทธา โดยไม่สมควรแก่ศรัทธาของเขา หรือโดยไม่เห็นความสำคัญแห่งศรัทธาของเขา เช่น ภิกษุเอาอาหารบิณฑบาตที่เขาถวายโดยตั้งใจทำบุญ ไปทิ้งเสีย หรือไปให้แก่คฤหัสถ์โดยยังมิได้ฉันด้วยตนเองก่อน

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 29 ก.ค. 2016, 16:46 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ศัพท์ภาษาทางธรรม อักษร ศ

ศิลปะ ฝีมือ, ความฉลาดในฝีมือ, ฝีมือทางการช่าง, การแสดงออกมาให้ปรากฏอย่างงดงามน่าชม, วิชาที่ใช้ฝีมือ, วิชาชีพต่างๆ


ศิลปวิทยา ศิลปะและวิยาการ


ศาสตร์ ตำรา, วิชา

ศิลปศาสตร์ ตำราว่าด้วยวิชาความรู้ต่างๆ มี ๑๘ ประการ เช่น ตำราว่าด้วยการคำนวณ ตำรายิงธนู เป็นต้น อันได้มีการเรียนการสอนกันมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล , ๑๘ ประการนั้นมีหลายแบบ ยกมาดูแบบหนึ่งจากคัมภีร์โลกนิติ และธรรมนิติ ได้แก่

๑. สุติ - ความรู้ทั่วไป

๒. สัมมุติ - ความรู้กฎธรรมเนียม

๓. สังขยา - วิชาคำนวณ

๔. โยคา - การช่าง การยนตร์

๕. นีติ - วิชาปกครอง (คือ ความหมายเดิมของ นิติศาสตร์ ในชมพูทวีป)

๖. วิเสสิกา - ความรู้การอันให้เกิดมงคล

๗. คันธัพพา - วิชาร้องรำ

๘. คณิกา - วิชาบริหารร่างกาย

๙. ธนุพเพธา - วิชายิงธนู (ธนุพเพทา ก็ว่า )

๑๐. ปูรณา - วิชาบูรณะ

๑๑. ติกิจฉา - วิชาบำบัดโรค (แพทย์ศาสตร์)

๑๒. อิติหาสา - ตำนานหรือประวิติศาสตร์

๑๓. โชติ - ความรู้เรื่องสิ่งส่องสว่างในท้องฟ้า (ดาราศาสตร์)

๑๔. มายา - ตำราพิชัยสงคราม

๑๕. ฉันทสา - วิชาประพันธ์

๑๖. เกตุ - วิชาพูด

๑๗. มันตา - วิชาเวทมนตร์

๑๘. สัททา - วิชาหลักภาษาหรือไวยากรณ์

ทั้ง ๑๘ อย่างนี้ โบราณเรียกรวมว่า สิปปะ หรือศิลปะ

ไทย แปลออกเป็น ศิลปศาสตร์ (ตำราว่าด้วยศิลปะต่างๆ)

แต่ในสมัยปัจจุบัน ได้แยกความหมาย ศิลปะ กับ ศาสตร์ ออกจากกัน คือ ศิลปะ หมายถึง วิทยาการที่มีวัตถุประสงค์ตรงความงาม เช่น ดุริยางค์ศิลป์ นาฏศิลป์ และจิตรกรรม เป็นต้น

ศาสตร์ หมายถึง วิทยาการที่มีวัตถุประสงค์ตรงความจริง เช่น คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 29 ก.ค. 2016, 20:41 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ศัพท์ภาษาทางธรรม อักษร ศ

ศีลอุโบสถ คือ ศีล ๘ ที่สมาทานรักษาพิเศษในวันอุโบสถ


อุโบสถศีล ศีลที่รักษาเป็นอุโบสถ หรือศีลที่รักษาในวันอุโบสถ ได้แก่ ศีล ๘ ที่อุบาสกอุบาสิกาสมาทานรักษาเป็นการจำศีลในวันพระ คือ ขึ้นและแรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ (แรม ๑๔ ค่ำ ในเดือนขาด)


ศีลธรรม ความประพฤติที่ดีงามทางกายวาจา, ความประพฤติที่ดีที่ชอบ, ความสุจริตทางกายวาจา และอาชีวะ,

โดยทางศัพท์ ศีลธรรม แปลว่า "ธรรมคือศีล" หมายถึงธรรมขั้นศีล หรือธรรมในระดับศีล เพราะศีลเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ในบรรดาธรรมภาคปฏิบัติ ๓ อย่างคือ ศีล สมาธิ และปัญญา
ดังนั้น ต่อจากธรรมขั้นศีล จึงมีธรรมขั้นสมาธิ และธรรมขั้นปัญญา ,

ได้มีผู้พยายามแปล ศีลธรรม อีกอย่างหนึ่งว่า "ศีลและธรรม"

(ถ้าแปลให้ถูกต้องจริง ต้องว่า ศีลและธรรมอื่นๆ นอกจากศีล เช่น สมาธิ และปัญญา เพราะศีลก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง) ถ้าแปลอย่างนี้ จะต้องเข้าใจว่าศีลธรรม มิใช่เป็นเพียงความประพฤติดีงามเท่านั้น แต่รวมถึงสมถะวิปัสสนา ขันธ์ ๕ ปฏิจจสมุปบาท ไตรลักษณ์ เป็นต้นด้วย,

เทียบ จริยธรรม


จริยธรรม "ธรรมคือความประพฤติ" "ธรรมคือการดำเนินชีวิต" หลักความประพฤติ, หลักการดำเนินชีวิต

๑. ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม หรือกฎศีลธรรม

(ความหมายตามบัญญัติสมัยปัจจุบัน ซึ่งกำหนดให้ จริยธรรม เป็นคำแปลสำหรับคำภาษาอังกฤษว่า ethics)

๒. จริยะ (หรือจริยธรรม) อันประเสริฐ เรียกว่า พรหมจริยะ (พรหมจริยธรรม หรือ พรหมจรรย์) แปลว่า "ความประพฤติอันประเสริฐ" หรือ การดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐ หมายถึง มรรคมีองค์ ๘ หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 29 ก.ค. 2016, 20:49 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ศัพท์ภาษาทางธรรม อักษร ศ

ศีลวัตร, ศีลพรต ศีลและวัตร, ศีลและพรต,

ข้อที่จะต้องสำรวมระวังไม่ล่วงละเมิด ชื่อว่า ศีล

ข้อที่พึงถือปฏิบัติชื่อว่า วัตร

หลักความประพฤติทั่วไปอันจะต้องรักษาเป็นพื้นฐานเสมอกัน ชื่อว่า ศีล

ข้อปฏิบัติพิเศษเพื่อฝึกฝนตนให้ยิ่งขึ้นไป ชื่อว่า วัตร



โศกศัลย์ ลูกศรคือความโศก, เป็นทุกข์เดือดร้อนเหมือนถูกลูกศรทิ่มแทง


โศก ความเศร้า, ความมีใจหม่นไหม้, ความแห้งใจ, ความรู้สึกหมองไหม้ใจแห้งผาก เพราะประสบความพลัดพรากหรือสูญเสียอย่างใดอย่างหนึ่ง (บาลี โสก, สันสกฤต โศก)



ศักดินา อำนาจปกครองที่นา หมายความว่าพระมหากษัตริย์พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้านาย และขุนนาง เป็นต้น ถือนาได้ มีกำหนดจำนวนไร่เป็นเรือนหมื่นเรือนพันตามฐานานุรูป การพระราชทานให้ถือศักดินานั้น เป็นเครื่องเทียบยศ และเป็นเครื่องปรับผู้ก่ำเกิน หรือเป็นเครื่องปรับผู้ถือศักดินานั่นเอง เมื่อทำผิด


ศูทร ชื่อวรรณะที่สี่ ในวรรณะสี่ของคนในชมพูทวีป ตามหลักศาสนาพราหมณ์จัดเป็นชนชั้นต่ำ ได้แก่ พวกทาสและกรรมกร

ดู วรรณะ


วรรณะ ผิว, สี, เพศ, ชนิด, พวก, เหล่า, หนังสือ, คุณความดี, ความยกย่องสรรเสริญ,

ชนชั้นที่จัดแบ่งออกไปตามหลักศาสนาพราหมณ์ เรียกว่า วรรณะ ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 19 ก.พ. 2017, 14:23 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ศัพท์ภาษาทางธรรม อักษร ศ

ศิวาราตรี พิธีลอยบาปของพราหมณ์ ทำในวันเพ็ญเดือน ๓ เป็นประจำปี วิธีทำคือ ลงอาบน้ำในแม่น้ำ สระเกล้า ชำระกายให้สะอาดหมดจด เท่านี้ถือว่าได้ลอยบาปไปตามกระแสน้ำแล้ว เป็นอันสิ้นบาปกันคราวหนึ่ง ถึงปีก็ทำใหม่ (คำสันสกฤตเดิมเป็น ศิวราตริ แปลว่า ราตรีของพระศิวะ พจนานุกรมสันสกฤตว่า ตรงกับแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๓)


ศาสดา ผู้อบรมสั่งสอน, เป็นพระนามอย่างหนึ่งที่ใช้เรียกพระพุทธเจ้า, ปัจจุบันใช้เรียกผู้ตั้งศาสนาโดยทั่วไป,
ในพุทธกาล ครูทั้ง ๖ คือ ปูรณกัสสป มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร และนิครนถนาฏบุตร ถ้าเรียกตามบาลี ก็เป็นศาสดา ๖


ศาสนา คำสอน, คำสั่งสอน, ปัจจุบันใช้หมายถึงลัทธิความเชื่อถือย่างหนึ่งๆ พร้อมด้วยหลักคำสอน ลัทธิ พิธี องค์การและกิจการทั่วไปของหมู่ชนผู้นับถือลัทธิความเชื่อถืออย่างนั้นๆ ทั้งหมด


ศาสนูปถัมภก ผู้ทะนุบำรุงศาสนา

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 19 ก.พ. 2017, 14:59 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ศัพท์ภาษาทางธรรม อักษร ศ

ศีล ความประพฤติดีทางกายและวาจา, การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย, ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม, การรักษาปกติตามระเบียบวินัย, ปกติมารยาทที่ปราศจากโทษ, ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาและอาชีพ, มักใช้เป็นคำเรียกอย่างง่ายสำหรับคำว่า อธิศีลสิกขา


ศีล ๕ สำหรับทุกคน


ศีล ๘ สำหรับฝึกตนให้ยิ่งขึ้นไปโดยรักษาในบางโอกาส หรือมีศรัทธาจะรักษาประจำก็ได้ เช่น แม่ชีมักรักษาประจำ หัวข้อเหมือนศีล ๕ แต่เปลี่ยนข้อ ๓ และ เติมข้อ ๖, ๗, ๘ คือ ๓ เว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์ คือเว้นจากการร่วมประเวณี ๖. เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือเที่ยงแล้วไป ๗. เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ การทัดทรงดอกไม้ ของหอมและเครื่องลูบไล้ ซึ่งใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง ๘. เว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่หรูหราฟุ่มเฟือย


ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร แต่ผู้ใดจะรักษาก็ได้


ศีล ๒๒๗ ศีลสำหรับพระภิกษุ มีในภิกขุปาฎิโมกข์


ศีล ๓๑๑ ศีลสำหรับพระภิกษุณี มีในภิกขุณีปาฎิโมกข์

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 19 ก.พ. 2017, 15:01 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ศัพท์ภาษาทางธรรม อักษร ศ

ศากยะ ชื่อกษัตริย์พวกหนึ่ง ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าโอกกากราช ซึ่งเป็นผู้สร้างและครองกรุงกบิลพัสดุ์ พระพุทธเจ้าก็เป็นกษัตริย์วงศ์นี้ ศากยะ เป็นคำ สันสกฤต เรียกอย่างบาลีเป็น สักกะ บ้าง สักยะ บ้าง สากิยะ บ้าง ศากยะ หรือ สักกะ นี้ ใช้เป็นคำเรียกชื่อถิ่นหรือแคว้นของพวกเจ้าศากยะด้วย


ศรีอารยเมตไตรย พระนามของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ซึ่งจะอุบัติขึ้นในภายหน้า หลังจากสิ้นศาสนาพระโคดมแล้ว ในคราวที่มนุษย์มีอายุยืน ๘๐,๐๐๐ ปี นับเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๕ แห่งภัทรกัปนี้, เรียกว่า พระศรีอริยเมตไตรย หรือเรียกสั้นๆว่า พระศรีอารย์ บ้าง, พระนามเดิมในภาษาบาลีว่า "เมตฺเตยฺย"

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 19 ก.พ. 2017, 15:25 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ศัพท์ภาษาทางธรรม อักษร ศ

ศักดิ์ อำนาจ, ความสามารถ, กำลัง, ฐานะ


ศักดิ์สิทธิ์ มีอำนาจ (ศักดิ์) ให้สำเร็จ (สิทธิ์) , ขลัง, มีกำลังอำนาจที่จะทำให้เป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ หรือให้สำเร็จผลได้จริง


ศราทธ์ การทำบุญให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว (ต่างจาก สารท)


ศราทธพรต พิธีทำบุญอุทิศแก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว, ศราทธพรตคาถา หรือ คาถาศราทธพรต หมายถึงคาถาหมวดหนึ่ง (มีร้อยแก้วนำเล็กน้อย) ที่พระสงฆ์ใช้สวดรับเทศน์ ในงานพระราชพิธีเผาศพในประเทศไทย แต่บัดนี้ใช้กันกว้างออกไปแม้ในพิธีราษฎร์ที่จะจัดให้เป็นการใหญ่


ศรี มิ่งขวัญ, ราศี, อาการที่น่านิยม


(พอเท่านี้)

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 20 ก.พ. 2017, 17:52 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ศัพท์ภาษาทางธรรม อักษร ศ

ศักดิ์สิทธิ์ มีอำนาจ (ศักดิ์) ให้สำเร็จ (สิทธิ์) , ขลัง, มีกำลังอำนาจที่จะทำให้เป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ หรือให้สำเร็จผลได้จริง


อ้างคำพูด:
พลิกเชียงใหม่ล่า ผู้ต้องหายาเสพติด-พยายามฆ่า หลังสะเดาะกุญแจหนีออกจากโรงพยาบาล


https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_226122


ศักดิ์สิทธิ์ เหมือนบังรอนราชายาเสพติด ก็สะเดาะกุญแจหลบหนีจากห้องขังไปได้ ไม่ได้ข่าวคราวอีกเลยจนบัดนี้

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/