วันเวลาปัจจุบัน 18 เม.ย. 2024, 20:12  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.ค. 2016, 04:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


"เมตตาของเด็ก ๆ"

" .. เช่นรายที่เคยเล่าว่าครั้งหนึ่งชอบยิงนกตกปลามาก เดี๋ยวนี้เลิกแล้ว...
เลิกตั้งแต่วันหนึ่งถือปืนไปเที่ยวยิงนกกับลูกชายน้อย ๆ

พอยิงนกตกลงตัวหนึ่งก็สั่งให้ลูกชายไปเก็บ คิดว่าลูกชายคงจะตื่นเต้นดีใจตามประสาเด็ก
ที่เห็นนกซึ่งกำลังบินอยู่กลางอากาศร่วงลงดิน

แต่ลูกชายกลับมีสีหน้าพิศวงสงสัย และถามเขาซื่อ ๆ ว่า
"นกตัวนี้มันทำอะไรพ่อหรือ ? พ่อจึงยิงมัน"

คำถามที่ซื่อแสนซื่อของเด็กชายเล็ก ๆ ที่ถือร่างไร้ชีวิตของนกอยู่ในมือ
ทำให้ตั้งแต่วันนั้นมาเขาไม่เคยยิงนกตกปลาอีกเลย

นกปลาเหล่านั้นมันทำอะไรให้ ?
นี่คือคำถามที่จะนำไปสู่ความมีเมตตาได้แน่นอน

ทุกคนต้องการความเมตตาทั้งนั้น เราก็ต้องการเขาก็ต้องการ
เราจึงไม่ควรจะเป็นผู้รับฝ่ายเดียว ควรเป็นผู้ให้ด้วย และควรให้อย่างเสมอ
คือมีเมตตาให้เสมอให้ไม่มีขอบเขต .. "

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก






"..ให้กลับความรักที่มีอยู่ ให้กลายเป็นความรักสากล
ให้กลายเป็น ความรักที่มีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย
รักเหมือน แม่รักลูก พ่อรักลูก
แม้ผมอยู่กับพวกท่าน ผมก็รักท่านเหมือนเป็นลูกเป็นหลาน

ให้ล้างความใคร่ ออกจากความรัก เหมือนหัวกลอย
ต้องแล่เอาพิษออกจึงกินได้ ความรักก็เช่นเดียวกัน

ต้องพิจารณา มองให้เห็นทุกข์ของมัน
ค่อยๆ ล้วงเอาเชื้อแห่งความมัวเมาออกเพื่อให้เหลือแต่
ความรักล้วนๆ เหมือนครูบาอาจารย์รักศิษย์.."

หลวงปู่ชา สุภัทโท







กรรมอันเป็นสมบัติแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย ตายซ้อนซ้ำซากจำเจเป็นวัฏฏะ
กรรมอันใดทำแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง กรรมนี้นเป็นกรรมดีเป็นกรรมที่สรรพบุรุษชื่นชมยกย่อง
กรรมอันใดทำแล้วเดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นเป็นกรรมชั่ว เป็นของเผ็ดร้อนมีทุกข์มาก
กรรมอันนำไปสู่ มรรค นิโรธ ความดับทุกข์ กรรมนั้นเป็นกรรมเหนือกรรม
เอวัง ก็มีด้วยประการ ณ.ฉะนี้

พระธรรมเทศนาครั้งสุดท้าย...ของ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี






เลือกทางเดิน...

โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ

จิตของคนเราตามธรรมดาสามัญนั้น มันมีทางของมันเองอยู่ทางหนึ่ง เป็นทางของกิเลสตามธรรมชาติ คือว่าเมื่อมีการกระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นผัสสะแล้วมันไม่หยุดอยู่แค่ผัสสะ มันย่อมปรุงแต่งเป็นเวทนา รู้สึกพอใจ ไม่พอใจ อย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา

พอมันเป็นเวทนาขึ้นมาแล้ว มันไม่หยุดแค่เวทนา มันปรุงเป็นตัณหา คืออยากอย่างนั้นอย่างนี้ ตามที่รู้สึกต่ออารมณ์นั้นอย่างไร เช่น ดี สวย ก็อยากได้ ไม่ดีก็อยากตีให้ตาย ครั้นมีตัณหาแล้ว มันต้องมีความรู้สึกว่าตัวเรา คือตัวข้าพเจ้าเป็นผู้อยาก และมีสิ่งที่เป็นของข้าพเจ้าตามความอยาก มันจึงมีตัวกู ของกูอย่างรุนแรงขึ้นมา นี่เรียกว่าเป็นอุปาทาน

ตัณหาย่อมทำให้เกิดอุปาทาน มันแสดงออกมาทางทวารของใจเป็นมโนกรรมที่เด่นชัดเจนขึ้น เป็นการสมบูรณ์ที่ทำให้เห็นเป็นกรณีหนึ่งแล้วเรียกว่า "ภพ" เมื่อมันแสดง ออกมาให้เห็นโดยชัดเจนคือเป็นตัวกู ของกู อย่างสมบูรณ์ สำเร็จที่สุดในการยึดมั่นถือมั่นต่ออารมณ์นั้นๆ เป็นไปตามความรู้สึกว่าตัวกู ของกูโดยสมบูรณ์แล้วเรียกว่า "ชาติ"

ชาติหรือความเกิด แล้วมีทุกข์เพราะความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นๆ ตามแบบของมันโดยเฉพาะเป็นกรณีๆไป ทางนี้อาจสรุปได้ว่าจากผัสสะเป็นเวทนา จากเวทนาเป็นตัณหา จากตัณหาเป็นอุปาทาน จากอุปาทานเป็นภพ จากภพเป็นชาติ จากชาติเป็นทุกข์ เป็นทางสายใหญ่ที่จิตของสัตว์โลกเดินอยู่เป็นนิจสายหนึ่ง เพื่อไปสู่ความทุกข์อยู่เป็นประจำตามวัฏสงสาร

ส่วนทางอริยมรรคนั้น หมายความว่า พอกระทบเป็นผัสสะแล้ว สามารถวกมาเสียทางสติปัญญา คือมีสติสัมปชัญญะทันท่วงที ที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร คือไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์นั้นๆว่าเป็นเราของเรานั่นเอง

ถ้าวกไม่ทันในระยะผัสสะ ก็วกให้ทันในระยะของเวทนาอย่าให้ปรุงเป็นตัณหา เป็นอุปาทานขึ้นมาได้ แต่ให้วกมาทางสติปัญญาว่า ไม่มีอะไรที่จะเป็นตัวกูของกู หรือยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวกูของกู แล้วจิตจะไม่ปรุงเป็นกิเลสตัณหาได้ แต่จะเป็นสติปัญญาชนิดหนึ่งที่จะรู้ว่า ควรจัดการอย่างไรกับสิ่งที่มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูกทางลิ้น ทางกาย ทางใจดังนี้เสมอไป

และมันจะไม่เป็นทุกข์เพราะการที่จะต้องจัดการทำอย่างใดอย่างหนึ่งกับสิ่งที่มากระทบนั้นต่อไป นี่เรียกว่าเดินมาตามทางของอริยมรรคอย่างนี้ อย่าเดินไปตามทางของปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายที่ทำให้เกิดทุกข์อย่างนั้น

คนโบราณเขาผูกเป็นคำสั้นๆไว้ว่า "ทางใหญ่อย่าพึงจร" นี่ก็คือ อย่าปล่อยกระแสจิตมันไหลไปตามทางใหญ่ที่มันลื่นแล้ว ที่เดินกันมากี่กัปป์กี่กัลป์แล้ว คนทั้งหมดนั้นล้วนเดินไปสู่ทางทุกข์ทั้งนั้น จงวกมาหาทางอริยมรรค ซึ่งเป็นทางพิเศษเฉพาะผู้มีปัญญา คือสาวกของพระพุทธเจ้า การเดินทางนั้นไม่เป็นไปในทางทุกข์ แต่ไปสู่ที่สุดทุกข์ ซึ่งเรียกว่า "นิพพาน"





"นั่งอยู่ดีดีตายก็มี นอนอยู่ดีดีตายก็เยอะ
เดินไปไหนมาไหน เกิดภัยพิบัติตายได้ทุกเวลา

ยิ่งสมัยยวดยานพาหนะ หรือสมัยที่มนุษย์เหี้ยมโหด
มีศาตราอาวุธ ประหัดประหารกัน
ยิ่งมีภัยอันตราย เรียกว่า ตายได้ทุกลมหายใจ

ฉะนั้น อย่าประมาท จงพากันเร่งรีบ รีบเร่ง
คำว่าเร่ง ก็คือว่า ตั้งใจไม่ให้ตกอยู่ในความประมาท
ทุกลมหายใจเข้า ทุกลมหายใจออก ประมาทไม่ได้

ใครประมาท ผู้นั้นชื่อว่าตาย
ศีล 5, ศีล 8, ศีล 10 , 227 ไม่รักษา
ไม่ภาวนาไว้ คือว่า ประมาท

ประมาทเลินเล่อ เผลอเลอ
ปล่อยให้ชีวิตความเป็นอยู่ มันหมดไป
หมดไป ตามวัน คืน เดือน ปี"

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร





"สังขารความเสื่อม เป็นอย่างไร
เปรียบให้ฟัง เหมือนก้อนน้ำแข็ง แต่ก่อนมันเป็นน้ำ
เขาเอามาทำ ให้เป็นก้อน แต่มันอยู่ไม่กี่วันหรอก
มันก็เสื่อมไป เอาก้อนน้ำแข็งก้อนใหญ่ๆ
ไปวางไว้กลางแจ้ง จะดูความเสื่อมของก้อนน้ำแข็ง
ก็เหมือนสังขารนี้ มันจะเสื่อมทีละน้อยทีละน้อย
ไม่กี่นาที ไม่กี่ชั่วโมง ก้อนน้ำแข็งก็หมดไป
ละลายกลายเป็นน้ำไป นี่เรียกว่าเป็น ขัยยะวัยยัง
ความสิ้นไป ความเสื่อมไป แห่งสังขารทั้งหลาย
เป็นมานานแล้ว ตั้งแต่มีโลกขึ้นมา เราเกิดมา
เราเก็บเอาสิ่งเหล่านี้มาด้วย ไม่ใช่ว่าเราทิ้งไปไหน
พอเกิด เราเก็บเอาความเจ็บ ความแก่ ความตาย มาพร้อมกัน"

หลวงปู่ชา สุภทฺโท


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 46 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร