วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 05:19  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2016, 17:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ชีวิตเป็นไปอย่างไร

กรรม ในฐานะหลักธรรมที่เนื่องอยู่ในปฏิจจสมุปบาท

ความนำ

หลักธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะมีชื่อใดๆ ล้วนสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งสิ้น เพราะแสดงถึงหรือสืบเนื่องมาจากสัจธรรมเดียวกัน และเป็นไปเพื่อจุดหมายเดียวกัน แต่นำมาแสดงในชื่อต่างๆ กัน โดยชี้ความจริงเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งคนละส่วนละตอนกัน บ้าง
เป็นความจริงอันเดียวกัน แต่แสดงคนละรูปละแนว เพื่อวัตถุประสงค์คนละอย่าง บ้าง

ด้วยเหตุนี้ หลักธรรมบางข้อจึงเป็นเพียงส่วนย่อยของหลักใหญ่ บางข้อเป็นหลักใหญ่ด้วยกัน ครอบคลุมความหมายของกันและกัน แต่มีแนวหรือรูปแบบการแสดง และความมุ่งหมายจำเพาะในการแสดงต่างกัน

ปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักธรรมใหญ่ที่แสดงความเป็นไปของชีวิตไว้ทั้งหมด มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมหลักธรรมปลีกย่อยในระดับต่างๆ อย่างทั่วถึง เรียกได้ว่าเป็นกระบวนการแห่งชีวิต หรือกระบวนธรรมเบ็ดเสร็จ

ถ้าเข้าใจปฏิจจสมุปบาทแล้ว ก็ชื่อว่าเข้าใจชีวิต หรือเข้าใจพระพุทธศาสนาทั้งหมด ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม(ม.มู. ๑๒/๓๔๖/๓๕๙)

หลักธรรมส่วนย่อยของปฏิจจสมุปบาท ที่นิยมอธิบายกันมากที่สุด คงจะได้แก่ หลักกรรม การนำหลักกรรมมาอธิบาย อาจมองได้ทั้งในแง่ที่ว่า กรรมเป็นเรื่องน่าสนใจในตัวของมันเอง และในแง่ที่ว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับกรรมนั้น เป็นบันไดสำคัญที่จะก้าวสู่ความความเข้าใจหลักปฏิจจสมุปบาท

ว่าที่จริง การอธิบายหลักกรรมตามเนื้อหาอย่างตลอดสาย ก็คือ วิธีการที่ง่ายขึ้นอย่างหนึ่ง ในการอธิบายหลักปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง


กรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเห็นได้ชัด เมื่อแยกส่วนในกระบวนการนั้นออกเป็น ๓ วัฏฏะ (วน,วังวน) คือ กิเลส กรรม และวิบาก
หลักปฏิจจสมุปบาทแสดงถึงกระบวนการทำกรรม และการให้ผลของกรรมทั้งหมด ตั้งต้นแต่กิเลสที่เป็นเหตุให้ทำกรรม จนถึงวิบากอันเป็นผลที่จะได้รับ เมื่อเข้าใจปฏิจจสมุปบาทดีแล้ว ก็เป็นอันเข้าใจหลักกรรมชัดเจนไปด้วย

อย่างไรก็ดี การอธิบายตามแนวปฏิจจสมุปบาทนั้น เป็นการพิจารณาในแง่ของกระบวนการธรรมชาติ ว่าด้วยตัวกฎหรือสภาวะล้วนๆ และเป็นการมองอย่างกว้างๆ ตลอดทั้งกระบวนการ ไม่เน้นที่จุดใดจุดหนึ่งโดยเฉพาะ

แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อมองในแง่ความเป็นไปในชีวิตจริง จะเห็นว่าส่วนของปฏิจจสมุปบาทที่ปรากฎเด่นชัดออกมาในการดำเนินชีวิตประจำ วัน เป็นเรื่องของการแสดงออก และเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของคนโดยตรง ก็คือส่วนที่เรียกว่า กรรม
ถ้าเพ่งในทางปฏิบัตินี้ ก็อาจยกเอากรรมขึ้นเป็นจุดเน้นและเป็นบทตั้งแล้วเอาส่วนอื่นๆ ของปฏิจจสมุปบาท เป็นตัวประกอบสำหรับสืบสาวราวเรื่องต่อไป

ถ้าทำอย่างนี้ ปฏิจจสมุปบาทก็จะปรากฏในรูปร่างที่นิยมเรียกกันว่า "กฎแห่งกรรม" * และจะมีเรื่องราวในแง่อื่นๆ ที่น่าสนใจเข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นอีก นับว่าเป็นแนวการอธิบายที่น่าศึกษา
ดังปรากฏว่า ในสมัยหลังๆ นี้ ก็นิยมพูดถึงกฎแห่งกรรมกันมากกว่าจะพูดถึงปฏิจจสมุปบาท เพราะการพูดถึงกรรม เป็นการพูดถึงกิริยาอาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่หยาบ ปรากฏชัด เห็นง่าย เกี่ยวข้องอยู่เฉพาะหน้าทุกขณะทุกเวลา เหมาะที่จะถือเอาเป็นจุดเริ่มต้นของการพิจารณา


ยิ่งกว่านั้น การอธิบายเรื่องกรรม อาจทำได้หลายระดับ คือ จะอธิบายอย่างง่ายๆ ในระดับผิวเผิน พอให้เห็นเหตุเห็นผลในสายตาของชาวบ้านก็ได้ จะยกเอาเหตุการณ์หรือบทบาทของคนทั้งหลายขึ้นมาเป็นตัวอย่างก็ทำได้สะดวก หรือจะอธิบายลึกลงไปถึงกระบวนการธรรมภายในจิต จนต้องใช้หลักปฏิจจสมุปบาทเต็มรูปก็ได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ จึงจะได้เสนอคำอธิบายหลักกรรม หรือกฎแห่งกรรม ไว้ ณ ที่นี้ด้วย พอเป็นแนวสำหรับทำความเข้าใจ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2016, 17:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อ้างอิงที่ * ข้างบน

* ตัวอย่างพุทธพจน์แห่งหนึ่งที่เชื่อมปฏิจจสมุปบาท กับ กฎแห่งกรรมสนิทกันเป็นอย่างดี คือ ที่ตรัสว่า "บัณฑิตผู้เห็นปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในกรรม และวิบาก ย่อมมองกรรมตามเป็นจริง"
(ม.ม.๑๓/๗๐๗/๖๔๘...)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2016, 18:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขั้นหน่อย

ผลกรรม :b1:

https://www.youtube.com/watch?v=D4jv-B1K39k


รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2016, 18:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับกรรม

กรรม ในฐานะกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง

พระพุทธศาสนาสอนหลักความจริงว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของ เป็นรูปธรรม หรือนามธรรม เป็นวัตถุ หรือเป็นเรื่องจิตใจ ไม่ว่าชีวิต หรือโลกที่แวดล้อมอยู่ก็ตาม (หมายถึงสังขตธรรมทั้งหมด) ทั้งหมดล้วนเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย เป็นเรื่องของปัจจัยสัมพันธ์

ธรรมดาที่ว่านี้ มองด้วยสายตาของมนุษย์ เรียกว่า กฎธรรมชาติ เรียกในภาษาบาลีว่า "นิยาม" แปลว่า กำหนดอันแน่นอน ทำนอง หรือแนวทางที่แน่นอน หรือความเป็นไปอันมีระเบียบแน่นอน เพราะปรากฏให้เห็นว่า เมื่อมีเหตุปัจจัยอย่างนั้นๆ แล้ว ก็จะมีความเป็นไปอย่างนั้นๆ แน่นอน


กฎธรรมชาติ หรือนิยามนั้น แม้จะมีลักษณะทั่วไปอย่างเดียวกันทั้งหมด คือ ความเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย

แต่ก็อาจแยกประเภทออกไปได้ตามลักษณะอาการจำเพาะที่เป็นแนวทางหรือเป็นแบบ หนึ่งๆ ของ ความสัมพันธ์ อันจะช่วยให้กำหนดศึกษาได้ง่ายขึ้น

เมื่อว่าตามสายความคิดของพระพุทธศาสนา พระอรรถกถาจารย์แสดงกฎธรรมชาติหรือนิยามไว้ ๕ อย่าง คือ

๑. อุตุนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับปรากฎการณ์ฝ่ายวัตถุ โดยเฉพาะความเป็นไปของธรรมชาติแวดล้อมและความเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ เช่น เรื่องลมฟ้าอากาศ ฤดูกาล ฝนตกฟ้าร้อง การที่ดอกบัวบานกลางวันหุบกลางคืน การที่ดินน้ำปุ๋ยช่วยให้ต้นไม้งาม การที่คนไอหรือจาม การที่สิ่งทั้งหลายผุพังเน่าเปื่อย เป็นต้น แนวความคิดของท่านมุ่งเอาความผันแปรที่เนื่องด้วยความร้อนหรืออุณหภูมิ

๒. พืชนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพันธ์ หรือที่เรียกกันว่าพันธุกรรม เช่น หลักความจริงที่ว่า พืชเช่นใด ก็ให้ผลเช่นนั้น พืชมะม่วงก็ออกผลเป็นมะม่วง เป็นต้น

๓. จิตตนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต เช่น เมื่ออารมณ์ (สิ่งเร้า) กระทบประสาท จะมีการรับรู้เกิดขึ้น จิตจะทำงานอย่างไร คือ มีการไหวแห่งภวังคจิต ภวังคจิตขาดตอน แล้วก็อาวัชชนะ แล้วมีการเห็น การได้ยิน ฯลฯ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ ฯลฯ หรือเมื่อจิตมีคุณสมบัติอย่างนี้เกิดขึ้น จะมีเจตสิกอะไรบ้างประกอบได้ หรือประกอบไม่ได้ เป็นต้น

๔. กรรมนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ คือกระบวนการก่อการกระทำและการให้ผลของการกระทำ หรือพูดให้จำเพาะลงไปอีกว่า กระบวนการแห่งเจตจำนง หรือความคิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ต่างๆ พร้อมทั้งผลที่สืบเนื่องออกไปอันสอดคล้องสมกัน เช่น ทำกรรมดี มีผลดี ทำกรรมชั่ว มีผลชั่ว เป็นต้น

๕. ธรรมนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ และอาการที่เป็นเหตุเป็นผลแก่กันของสิ่งทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างที่เรียกกันว่า ความเป็นไปตามธรรมดา เช่นว่า สิ่งทั้งหลายมีความเกิดขึ้น ตั้ง อยู่ และดับไป เป็นธรรมดา คนย่อมมีความเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา ธรรมดาของคนยุคนี้มีอายุขัยประมาณร้อยปี ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ย่อมเป็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลายที่เป็นสภาพไม่เที่ยง ถูกปัจจัยบีบคั้น และไม่เป็นอัตตา ดังนี้เป็นต้น

(แต่ละข้อๆมีความหมายภาษาปะกิตด้วยแต่ไม่พิมพ์ล่ะ)

ความจริง กฎ ๔ อย่างแรก ย่อมรวมลงในกฎที่ ๕ คือ ธรรมนิยาม ทั้งหมด หรือจำแนกออกไปจากธรรมนิยามนั่นเอง หมายความว่า ธรรมนิยามมีความหมายครอบคลุมกฎธรรมชาติหมดทั้ง ๕ ข้อ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 06 ก.ค. 2016, 07:32, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ค. 2016, 07:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

เมื่อเป็นเช่นนั้น อาจมีผู้สงสัยว่า ธรรมนิยามเป็นกฎใหญ่ เมื่อเอามากระจายเป็นกฎย่อย ก็น่าจะกระจายออกไปให้หมด เหตุไร เมื่อแจงเป็นกฎย่อยแล้ว ยังมีธรรมนิยามอยู่ในรายชื่อกฎย่อยอีกด้วยเล่า


คำตอบสำหรับความข้อนี้ พึงทราบด้วยอุปมาว่า เหมือนคนทั้งหมดในประเทศไทยนี้ บางทีมีผู้พูดจำแนกออกว่า รัฐบาล ข้าราชการ พอค้า และประชาชนบ้าง ว่าตำรวจ ทหาร ข้าราชการ นักศึกษา และประชาชนบ้าง ว่า อย่างอื่นอีกบ้าง

ความจริง คำว่า “ประชาชน” ย่อมครอบคลุมคนทุกหมู่เหล่าในประเทศ ข้าราชาการพลเรือน ทหาร พ่อค้า นักศึกษา ก็ล้วนเป็นประชาชนด้วยกันทั้งสิ้น แต่ที่พูดแยกออกไปก็เพราะว่า คนเหล่านั้น นอกจากจะมีลักษณะหน้าที่โดยทั่วไปในฐานะประชาชนเหมือนคนอื่นๆ แล้ว ยังมีลักษณะหน้าที่จำเพาะพิเศษต่างหากออกไปอีกส่วนหนึ่งด้วย

ส่วนคนที่ไม่มีลักษณะหรือหน้าที่จำเพาะพิเศษแปลกออกไป ก็รวมอยู่ในคำว่า ประชาชน

อนึ่ง การจำแนกนั้น อาจแตกต่างกันออกไปตามวัตถุประสงค์จำเพาะของการจำแนกครั้งนั้นๆ แต่ทุกครั้งก็จะมีคำว่า ประชาชน หรือราษฎร หรือคำที่มีความหมายกว้างทำนองนั้นไว้เป็นที่รวมเข้าของคนทั้งหมดที่เหลือ ซึ่งไม่ต้องจำแนกออกไปต่างหากตามวัตถุประสงค์จำเพราะคราวนั้น

เรื่องนิยาม ๕ ก็พึงเข้าใจความทำนองเดียวกันนี้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ค. 2016, 07:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ


การจำแนกกฎธรรมชาติเป็น ๕ อย่างนี้ จะเป็นการแบ่งแยกที่ครบจำนวนหรือไม่ ควรจะมีกฎอย่างไรอื่นนอกจากนี้หรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาในที่นี้ เพราะท่านได้กฎ เด่นๆ ที่ท่านต้องการพอแก่การใช้ตามวัตถุประสงค์ของท่านแล้ว และกฎที่เหลือ ย่อมรวมลงในกฎที่ ๕ คือ ธรรมนิยาม โดยนัยที่กล่าวมาแล้ว
แต่สิ่งสำคัญที่พึงเข้าใจก็ คือ สาระที่มุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ของการแสดงนิยามทั้ง ๕ นี้ อันเป็นข้อที่ควรสังเกต จะขอเน้นในทางอย่างดังนี้

ประการแรก เป็นการย้ำเน้นแนวคิดแบบพุทธ ที่มองเห็นความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย หรือของโลกและชีวิต ตามธรรมดาของเหตุปัจจัย ให้หนักแน่นชัดเจนยิ่งขึ้น แม้จะแยกกฎให้ละเอียดออกไป ก็มองเห็นแต่ความเป็นไปตามธรรมดา หรือสภาวะปัจจัยสัมพันธ์เท่านั้น เป็นอันจะได้เรียนรู้ เป็นอยู่ และปฏิบัติด้วยความเข้าใจเท่าทันธรรมดานี้แน่นอนไป ไม่ต้องมัวห่วงกังวลถึงท่านผู้สร้างผู้บันดาลที่จะมาผันแปรกระแสธรรมดา ให้ผิดเพี้ยน (นอกจากจะเข้ามาร่วมเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในธรรมดานั้นเอง)

หากจะมีผู้ท้วงว่า ถ้าไม่มีผู้วางกฎ กฎธรรมชาติจะมีขึ้นได้อย่างไร ก็ไม่พึงต้องมัวยุ่งคิดกับคำถาม อำพรางตนเองของมนุษย์ข้อนี้ ลองมองอย่างง่ายๆว่า ถ้าปล่อยให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปของมันเอง มันก็ต้องเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง และมันก็ได้เป็นมาเป็นไปแล้วอย่างนี้แหละ เพราะมันไม่มีทางจะเป็นไปอย่างอื่นนอกจากเป็นไปตามตามเหตุปัจจัยสัมพันธ์ มนุษย์เราสังเกตและเรียนรู้เอาความเป็นไปอย่างนี้มาซึมทราบในความคิดของ ตน แล้วก็เรียกมันว่าเป็นกฎ จะเรียกหรือไม่เลือก มันก็เป็นของมันอย่างนั้น

ถ้าขืนมีผู้สร้างผู้ตั้งกฎธรรมชาติ ก็ จะยิ่งยุ่งที่จะสืบลึกต่อไปอีกว่า ท่านผู้ตั้งกฎนั้น ดำรงอยู่ด้วยกฎอะไร มีใครสร้างกฎให้ท่าน หรือคุมท่านไว้ ถ้าขืนไม่คุม ท่านสร้างกฎได้ตามชอบใจ ท่านก็ย่อมเปลี่ยนกฎได้ตามชอบใจอยู่ วัดดีคืนดี ท่านอาจจะเปลี่ยนกฎธรรมชาติให้มนุษย์อลหม่านกันหมดก็ได้ (ความจริงถ้ามีผู้สร้างกฎ และท่านมีกรุณา ท่านก็คงช่วยเปลี่ยนกฎ ช่วยสัตว์โลกไปแล้วหลายกฎย่อย เช่น ไม่ให้มีคนเกิดมาพิการ ง่อยเปลี้ยอวัยวะบกพร่อง ไร้ปัญญา เป็นต้น)

ประการที่สอง เมื่อแยกแยะออกเป็นกฎย่อยๆ หลายกฎแล้ว ก็อย่าเผลอพลอยแยกปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เป็นผลให้เป็นเรื่องเฉพาะกฎๆ ต่างหากกันไปเด็ดขาด ความจริงปรากฏการณ์อย่างเดียวกัน อาจเกิดจากเหตุปัจจัยที่เป็นไปต่างๆ หรือเนื่องด้วยหลายกฎร่วมกันก็ได้ เช่น การที่ดอกบัวบานกลางวันและหุบกลางคืน ก็มิใช่เพราะอุตุนิยามอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องเนื่องจากพืชนิยามด้วย การที่คนน้ำตาไหล อาจเป็นเพราะจิตตนิยาม เป็นตัวเด่น เช่น ดีใจ เสียใจ ก็ได้

แต่อาจเป็นเพราะอุตุนิยาม เช่น ถูกควันรมตา ก็ได้ คนเหงื่อออก อาจเป็นเพราะอุตุนิยาม เช่น อากาศร้อน ก็ได้ หรือเป็นเพราะจิตตนิยาม และกรรมนิยาม เช่น หวาดกลัว หรือคิดหวั่นความผิด เป็นต้น ก็ได้ คนปวดหัว อาจเป็นเพราะอุตุนิยาม เช่น อากาศร้อนอบอ้าว ที่อุดอู้ทึบ อากาศไม่พอ ก็ได้ หรือ
เพราะพืชนิยาม เช่น ความบกพร่องของอวัยวะภายใน หรือกรรมนิยามบวกจิตตนิยาม เช่น คิดกลัดกลุ้มกังวลเดือดร้อนใจ เป็นต้น ก็ได้

ประการที่สาม และสำคัญที่สุด คือ ท่านแสดงให้เห็นว่า ในบรรดากฎธรรมชาติทั้งหลายนั้น มีกฎแห่งกรรม หรือกรรมนิยาม รวมอยู่เป็นข้อหนึ่งด้วย


เมื่อมองในแง่ของมนุษย์ กรรมนิยามเป็นกฎสำคัญที่สุด เพราะเป็นเรื่องของมนุษย์โดยตรง มนุษย์เป็นผู้เสกสรรปรุงแต่งกรรม และกรรมก็เป็นเครื่องปรุงแต่งวิถีชีวิตโชคชะตาของมนุษย์

ถ้าแบ่งขอบเขตอำนาจในโลกตามอย่างที่คนปัจจุบันนิยม คือ แบ่งเป็นเขตแดนหรือวิสัยของธรรมชาติ กับ เขตแดนหรือวิสัยของมนุษย์ ก็จะเห็นว่า กรรมนิยามเป็นเขตแดนของมนุษย์ ส่วนกฎหรือนิยามข้ออื่นๆทั้งหมดเป็นเขตแดนของธรรมชาติ

มนุษย์เกิดจากธรรมชาติ และเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่มนุษย์ก็มีวิสัยส่วนหนึ่งที่เป็นของตนเอง กล่าวคือกรรมนิยามนี้ ซึ่งได้สร้างสังคมและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ของมนุษย์ขึ้น เป็นดุจอีกโลกหนึ่งต่างหากจากโลกธรรมชาติ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 111 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร