วันเวลาปัจจุบัน 24 เม.ย. 2024, 02:24  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 35 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2016, 10:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วิปัสสนูปกิเลส อุปกิเลสของวิปัสสนา, สภาวะที่ทำให้วิปัสสนามัวหมองข้องขัด, สภาพน่าชื่นชม ซึ่งเกิดแก่ผู้เจริญวิปัสสนาในขั้นที่เป็นวิปัสสนาอย่างอ่อน (ตรุณวิปัสสนา) แต่กลายเป็นโทษเครื่องเศร้าหมองแห่งวิปัสสนา โดยทำให้เข้าใจผิดว่าตนบรรลุมรรคผลแล้ว จึงชะงักหยุดเสีย ไม่ดำเนินก้าวหน้าต่อไปในวิปัสสนา

มี ๑๐ อย่าง คือ

๑. โอภาส แสงสว่าง ซึ่งรู้สึกงามเจิดจ้าแผ่ซ่านไปสว่างไสวอย่างไม่เคยมีมาก่อน

๒. ปีติ ความเอิบอิ่มใจ รู้สึกเต็มเปี่ยมไปทั่วทั้งตัว

๓. ญาณ ความหยั่งรู้ที่เฉียบแหลมคมกล้า รู้สึกเหมือนว่าจะพิจารณาอะไรเป็นไปไม่มีติดขัด

๔. ปัสสัทธิ ความสงบเย็น เกิดความรู้สึกว่าทั้งกายและใจสงบสนิท เบา นุ่มนวล คล่องแคล่ว แจ่มใสเหลือเกิน ไม่มีความกระวนกระวาย ความกระด้าง หนัก ความไม่สบาย หรือความรำคาญขัดขืนใดๆเลย

๕. สุข มีความสุขที่ประณีตละเอียดอ่อนลึกซึ้งอย่างยิ่งแผ่ไปทั่วทั้งตัว

๖. อธิโมกข์ เกิดศรัทธาอย่างแรงกล้าประกอบเข้ากับวิปัสสนา ทำให้จิตใจมีความผ่องใสอย่างเหลือเกิน

๗. ปัคคาหะ ความเพียรที่ประกอบกับวิปัสสนา ซึ่งพอเหมาะพอดี เดินเรียบ ไม่หย่อนไม่ตึง

๘. อุปัฏฐาน สติที่กำกับชัด มั่นคง ไม่สั่นไหว จะนึกถึงอะไร ก็รู้สึกว่าระลึกได้คล่องแคล่วชัดเจน เหมือนดังแล่นไหลไปถึงหมด

๙. อุเบกขา ภาวะจิตที่ราบเรียบ เที่ยง เป็นกลางในสังขารทั้งปวง

๑๐. นิกันติ ความพอใจติดใจที่สร้างความอาลัยในวิปัสสนา มีอาการสงบ สุขุม ซึ่งความจริงเป็นตัณหาที่ละเอียด แต่ผู้ปฏิบัติไม่สามารถกำหนดจับได้ว่าเป็นกิเลส


ธรรมทั้งหมดนี้ (เว้นแต่นิกันติ ซึ่งเป็นตัณหาอย่างสุขุม) โดยตัวมันเอง มิใช่เป็นสิ่งเสียหาย มิใช่เป็นอกุศล แต่เพราะเป็นประสบการณ์ประณีตล้ำเลิศที่ไม่เคยเกิดมีแก่ตนมาก่อน จึงเกิดโทษเนื่องจากผู้ปฏิบัติไปหลงสำคัญผิดเสียเอง ว่าเป็นการบรรลุมรรคผล


วิปัสสนูปกิเลสนี้ ไม่เกิดขึ้นแก่ท่านที่บรรลุมรรคผลแล้ว ไม่เกิดขึ้นแก่บุคคลที่ปฏิบัติผิดทาง และ ไม่เกิดขึ้นแก่คนขี้เกียจผู้ทอดทิ้งกรรมฐาน แต่เกิดขึ้นเฉพาะแก่ผู้ที่เจริญวิปัสสนามาอย่างถูกต้อง เท่านั้น

ในพระไตรปิฎก เรียกอาการฟุ้งซ่านที่เกิดจากความสำคัญผิด เอาโอภาส เป็นต้น นั้นเป็นมรรคผลนิพพาน ว่า "ธัมมุทธัจจะ" (ธรรมุธัจจ์ ก็เขียน) แต่ท่านระบุชื่อโอภาส เป็นต้น นั้นทีละอย่าง โดยไม่มีชื่อเรียกรวม, "วิปัสสนูปกิเลส" เป็นคำที่ใช้ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา

(พูดสั้นๆ ธรรมุธัจจ์ ก็ คือ ความฟุ้งซ่านที่เกิดจากความสำคัญผิดต่อวิปัสสนูปกิเลส)


เมื่อวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติที่มีปัญญาน้อย จะฟุ้งซ่านเขวไป และเกิดกิเลสอื่นๆ ตามมาด้วย, ผู้ปฏิบัติที่มีปัญญาปานกลาง ก็ฟุ้งซ่านไป แม้จะไม่เกิดกิเลสอื่นๆ แต่จะสำคัญผิด, ผู้ปฏิบัติที่มีปัญญาคมกล้า ถึงจะฟุ้งซ่านเขวไป แต่จะละความสำคัญผิดได้ และเจริญวิปัสสนาต่อไป, ส่วนผู้ปฏิบัติที่มีปัญญาคมกล้ามาก จะฟุ้งไม่ซ่านเขวไปเลย แต่จะเจริญวิปัสสนาก้าวต่อไป


วิธีปฏิบัติต่อเรื่องนี้ คือ เมื่อวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้นแล้ว พึงรู้เท่าทันด้วยปัญญาตามเป็นจริงว่า สภาวะนี้ (เช่นว่า โอภาส) เกิดขึ้นแล้วแก่เรา มันเป็นของไม่เที่ยง เกิดมีขึ้นตามเหตุปัจจัย แล้วก็จะต้องดับสิ้นไป ฯลฯ เมื่อรู้เท่าทัน ก็ไม่หวั่นไหว ไม่ฟุ้งไปตามมัน คือกำหนดได้ว่ามันไม่ใช่มรรคไม่ใช่ทาง แต่วิปัสสนาที่พ้นจากวิปัสสนูปกิเลสเหล่านี้ ซึ่งดำเนินไปตามวิถีนั่นแหละเป็นมรรคเป็นทางที่ถูกต้อง

นี่คือเป็นญาณที่รู้แยกได้ว่ามรรค และมิใช่มรรค นับเป็นวิสุทธิข้อที่ ๕ คือ มัคคามัคคญาณทัสสนาวิสุทธิ

วิปัสสนา ตั้งแต่ญาณเริ่มแรก (คือ นามรูปปริจเฉทญาณ) จนถึงมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินี้ ท่านจัดเป็นวิปัสสนาอย่างอ่อน (ตรุณวิปัสสนา)

ส่วนวิปัสสนา ตั้งแต่พ้นจากวิปัสสนูปกิเลสเหล่านี้ไปแล้ว (จนถึงสังขารุเปกขาญาณ) จัดเป็นวิปัสสนาที่มีกำลัง ที่แรงกล้า หรืออย่างเข้ม (พลววิปัสสนา)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2016, 10:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วิภวตัณหา ความอยากในวิภพ คือ ความทะยานอยากในความไม่มีไม่เป็น อยากไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ อยากตายเสีย อยากขาดสูญ อยากพรากพ้นไปจากภาวะที่ตนเกลียดชังไม่ปรารถนา, ความทะยานอยากที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิ หรืออุจเฉททิฏฐิ (ข้อ ๓ ในตัณหา ๓)

วิมังสา การสอบสวนทดลอง, การตรวจสอบ, การหมั่นตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น (ข้อ ๔ ในอิทธิบาท ๔)

วิมุตติ ความหลุดพ้น, ความพ้นจากกิเลสมี ๕ อย่างคือ

๑. ตทังควิมุตติ พ้นด้วยธรรมคู่ปรับหรือพ้นชั่วคราว

๒. วิกขัมภนวิมุตติ พ้นด้วยข่มหรือสะกดไว้

๓. สมุจเฉทวิมุตติ พ้นด้วยตัดขาด

๔. ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ พ้นด้วยสงบ

๕. นิสสรณวิมุตติ พ้นด้วยออกไป


๒ อย่างแรก เป็น โลกิยวิมุตติ ๓ อย่างหลัง เป็น โลกุตรวิมุตติ


วิมุตติญาณทัสสนะ ความรู้เห็นในวิมุตติ, ความรู้เห็นว่าจิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย


วิมุตติญาณทัสสนกถา ถ้อยคำชักนำให้เกิดความรู้เห็นในความที่ใจพ้นจากกิเลส (ข้อ ๑๐ ในกถาวัตถุ ๑๐)

วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ กองวิมุตติญาณทัสสนะ, หมวดธรรมว่าด้วยคามรู้ความเห็นว่าจิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวะ เช่น ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ (ข้อ ๕ ในธรรมขันธ์ ๕)

วิมุตติสุข สุขเกิดแต่ความหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะและปวงทุกข์, พระพุทธเจ้าภายหลังตรัสรู้แล้วใหม่ๆ ได้เสวยวิมุตติสุข ๗ สัปดาห์ตามลำดับ

วิมุตติขันธ์ กองวิมุตติ, หมวดธรรมว่าด้วยวิมุตติ คือการทำจิตให้พ้นจากอาสวะ เช่น ปหานะ การละ, สัจฉิกิริยา การทำให้แจ้ง (ข้อ ๔ ในธรรมขันธ์ ๕)

(สังเกตความหมาย – ขันธ์ ที่วิมุตติขันธ์ แปลว่า กอง, หมวด เป็นอาทิ แม้แต่ขันธ์ที่พูดบ่อยๆ เช่นที่ ขันธ์ ๕ มีรูปขันธ์ เป็นต้น ก็หมายถึง กอง หมายถึง หมวด กองแห่งรูป หมวดแห่งรูป...คือว่า ท่านจัดเป็นหมวดๆ เป็นกองๆ เป็นส่วนๆไป เพื่อง่ายต่อการศึกษาแยกแยะทำความเข้าใจ)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2016, 07:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วิโมกข์ ความหลุดพ้นจากกิเลส มี ๓ ประเภท คือ ๑. สุญญตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยเห็นอนัตตาแล้วถอนความยึดมั่นได้

๒. อนิมิตตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยเห็นอนิจจัง

๓. อัปปณิหิต วิโมกข์ หลุดพ้นด้วยเห็นทุกข์ แล้วถอนความปรารถนาได้


วิรัติ ความเว้น, งดเว้น, เจตนาที่งดเว้นจากความชั่ว, วิรัติ ๓ คือ ๑. สัมปัตตวิรัติ เว้นได้ซึ่งสิ่งที่ประจวบเข้า

๒. สมาทานวิรัติ เว้นด้วยการสมาทาน

๓. สมุจเฉทวิรัติ เว้นได้โดยเด็ดขาด


วิราคะ ความสิ้นกำหนัด, ธรรมเป็นที่สิ้นราคะ ความคลายออกได้หายติด เป็นไวพจน์ของนิพพาน


วิราคสัญญา กำหนดหมายธรรมที่เป็นที่สิ้นราคะ หรือภาวะปราศจากราคะว่าเป็นธรรมละเอียด (ข้อ ๖ ในสัญญา ๑๐)

วิริยะ ความเพียร, ความบากบั่น, ความเพียรเพื่อจะละความชั่ว ประพฤติความดี, ความพยายามทำกิจ ไม่ท้อถอย (ข้อ ๒ ในอิทธิบาท ๔ ข้อ ๒ ในอินทรีย์ ๕ ข้อ ๒ ในพละ ๕ ข้อ ๓ ในโพชฌงค์ ๗ ข้อ ๕ ในบารมี ๑๐)

วิวัฏฏ์, วิวัฏฏะ ปราศจากวัฏฏะ, ภาวะพ้นจากวัฏฏะ ได้แก่ นิพพาน

วิเวก ความสงัด มี ๓ คือ อยู่ในที่สงัดเป็น กายวิเวก จิตสงบเป็น จิตตวิเวก หมดกิเลสเป็น อุปธิวิเวก

วิสังขาร ธรรมที่ปราศจากการปรุงแต่ง, ธรรมอันมิใช่สังขาร คือ พระนิพพาน


วัตร กิจพึงกระทำ, หน้าที่, ธรรมเนียม, ความประพฤติ, ข้อปฏิบัติ จำแนกออกเป็น

๑. กิจวัตร ว่าด้วยกิจที่ควรทำ (เช่น อุปัชฌายวัตร สัทธิวิหาริกวัตร อาคันตุกวัตร)

๒. จริยาวัตร ว่าด้วยมารยาทอันควรประพฤติ (เช่น ไม่ทิ้งขยะทางหน้าต่างหรือทิ้งลงนอกฝานอกกำแพง)

๓. วิธีวัตร ว่าด้วยแบบอย่างที่พึงกระทำ (เช่น วิธีเก็บบาตร วิธีพับจีวร วิธีเปิดหน้าต่างตามฤดู วิธีเดินเป็นหมู่)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2016, 07:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วิสุทธิ ความบริสุทธิ์, ความหมดจด, การชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์ด้วยการบำเพ็ญไตรสิกขาให้บริบูรณ์เป็นขั้นๆ ไปโดยลำดับ จนบรรลุจุดหมาย คือ พระนิพพาน มี ๗ ขั้น (ในที่นี้ ได้ระบุธรรมที่มีที่ได้เป็นความหมายของแต่ละขั้น ตามที่แสดงไว้ในอภิธัมมัตถสงคหะ) คือ

๑. สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล (นักบวช ได้แก่ ปาริสุทธิศีล ๔ ฆราวาส เบญจศีล)

๒. จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิตต์ (ได้แก่ สมาธิ ๒ คือ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ)

๓. ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ (ได้แก่ นามรูปปริคคหญาณ)

๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย (ได้แก่ ปัจจัยปริคคหญาณ)

๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องรู้เห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง (ได้แก่ ต่อสัมมสนญาณ ขึ้นสู่อุทยัพพยญาณ เป็นตรุณวิปัสสนา เกิดวิปัสสนูปกิเลส แล้วรู้เท่าทันว่า อะไรใช่ทาง อะไรมิใช่ทาง)

๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน (ได้แก่ วิปัสสนาญาณ ๙ นับแต่อุทยัพพยญาณที่ผ่านพ้นวิปัสสนูปกิเลสแล้ว เกิดเป็นพลววิปัสสนา เป็นต้นไป จนถึงอนุโลมญาณ)

๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ (ได้แก่ มรรคญาณ ๔ มีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น แต่ละขั้น)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ค. 2016, 08:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เวทนา ความเสวยอารมณ์, ความรู้สึก, ความรู้สึกสุขทุกข์ มี ๓ อย่าง คือ ๑. สุขเวทนา ความรู้สึกสุขสบาย

๒. ทุกขเวทนา ความรู้สึกไม่สบาย

๓. อทุกขมสุขเวทนา ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ คือ เฉยๆ เรียกอีกอย่างหนึ่ง อุเบกขาเวทนา

อีกหมวดหนึ่งจัดเป็นเวทนา ๕ คือ ๑. สุข สบายกาย

๒. ทุกข์ ไม่สบายกาย

๓. โสมนัส สบายใจ

๔. โทมนัส ไม่สบายใจ

๕. อุเบกขา เฉยๆ

ในภาษาไทย ใช้หมายความว่า เจ็บปวดบ้าง สงสารบ้าง ก็มี


เวทนาขันธ์ กองเวทนา (ข้อ ๒ ในขันธ์ ๕)


เวทนานุปัสสนา สติตามดูเวทนา คือ ความรู้สึกสุขทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นอารมณ์โดยรู้เท่าทันว่า เวทนานี้ก็สักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา (ข้อ ๒ ในสติปัฏฐาน ๔)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 18 ก.พ. 2017, 21:45, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ค. 2016, 08:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วิถีจิต "จิตในวิถี" คือ จิตในวิถีแห่งการรับรู้เสพอารมณ์, จิตซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปในวิถี คือพ้นจากภวังค์ หรือพ้นจากภาวะที่เป็นภวังคจิต (และมิใช่เป็นปฏิสนธิจิต หรือจุติจิต)

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า จิต ๑๑ ชื่อ ซึ่งทำกิจ ๑๑ อย่าง นอกจากปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ และจุติกิจ, "วิถีจิต" เป็นคำรวม เรียกจิตทั้งหลาย ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวารทั้ง ๖ (คำบาลีว่า วิถีจิตฺต) อธิบายอย่างง่าย พอให้เข้าใจเป็นพื้นฐานว่า

สัตว์ทั้งหลาย หลังจากเกิดปฏิสนธิแล้ว จนถึงก่อนตายคือจุติ ระหว่างนั้น ชีวิตเป็นอยู่โดยมีจิตที่เป็นพื้น เรียกว่า ภวังคจิต (จิตที่เป็นองค์แห่งภพ หรือจิตในภาวะที่เป็นองค์แห่งภพ) ซึ่งเกิดดับสืบเนื่องต่อกันไปตลอดเวลา (มักเรียกว่า ภวังคโสต คือ กระแสแห่งภวังค์)

ทีนี้ ถ้าจิตอยู่ในภาวะภวังค์ เป็นภวังคจิต และเกิดดับสืบต่อไปเป็นภวังค์โสตเท่านั้น ก็เพียงแค่ยังมีชีวิตอยู่ เหมือนหลับอยู่ตลอดเวลา แต่ชีวิตนั้น เป็นอยู่ดำเนินไป โดยมีการรับรู้ และทำกรรมทางทวารต่างๆ เช่น เห็น ได้ยิน ดู ฟัง เคลื่อนไหว พูดจา ตลอดจนคิดการต่างๆ จิตจึงมิใช่แค่เป็นองค์แห่งภพไว้เท่านั้น แต่ต้องมีการรับรู้เสพอารมณ์ทำกรรมทางทวารทั้งหลายด้วย ดังนั้น

เมื่อมีอารมณ์ คือ รูป เสียง ฯลฯ มาปรากฎแก่ทวาร (มาสู่คลองในทวาร) คือ ตา หู ฯลฯ ก็จะมีการรับรู้ โดยภวังคจิตที่กำลังเกิดดับสืบต่อกระแสภพกันอยู่นั้น แทนที่ว่า

ภวังคจิต หนึ่งดับไป จะเกิดเป็นภวังคจิตใหม่ขึ้นมา ก็กลายเป็นว่า ภวังคจิตหนึ่งดับไป แต่เกิดเป็นจิตหนึ่งที่เข้ามาอยู่ในวิถี แห่งการรับรู้เกิดขึ้นมา (ตอนนี้ พูดอย่างภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่ายว่า จิตออกจากภวังค์ หรือจิตขึ้นสู่วิถี) แล้ว ก็จะมีจิตที่เรียกชื่อต่างๆ เกิดขึ้นมาทำหน้าที่ต่อๆกันไป ในวิถีแห่งการรับรู้เสพอารมณ์นั้น จนครบกระบวนจบวิถีไปรอบหนึ่ง แล้วก็เกิดเป็นภวังคจิตขึ้นมาอีก (พูดอย่างภาษาชาวบ้านว่า ตกภวังค์),

จิต ทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นมาทำหน้าที่ แต่ละขณะในวิถีแห่งการรับรู้เสพอารมณ์นั้น จนจบกระบวน เรียกว่า "วิถีจิต" และจิตแต่ละขณะในวิถีนั้น มีชื่อเรียกเฉพาะของมัน ตามกิจ คืองาน หรือหน้าที่มันทำ, เมือตกภวังค์อย่างที่ว่านั้นแล้ว ภวังคจิตเกิดดับต่อกันไป แล้วก็เปลี่ยน (เรียกว่า ตัดกระแสภวังค์) เกิดเป็นวิถีจิตขึ้นมารับรู้เสพอารมณ์อีก แล้วพอจบกระบวน ก็ตกภวังค์ เป็นภวังคจิตขึ้นอีก สลับกันหมุนเวียนไป โดยนัยนี้

ชีวิตที่ดำเนินไป แม้ในกิจกรรมเล็กน้อยหนึ่งๆ จึงเป็นการสลับหมุนเวียนไปของกระแสภวังคจิต (ภวังคโสตะ) กับกระบวนวิถีจิต (วิถีจิตตปวัตติ) ที่เกิดดับสืบต่อไป มากมายไม่อาจนับได้

ในการรับรู้เสพอารมณ์ทำกรรมครั้งหนึ่งๆ ที่เป็นการเปลี่ยนจากภังคจิต มาเป็นวิถีจิต จนกระทั่งกลับมาเป็นภังคจิตอีกนั้น แยกแยะให้เห็นลำดับขั้นตอนแห่งความเป็นไป พอให้ได้ความเข้าใจคร่าวๆ (ในที่นี้ จะพูดถึงเฉพาะปัญจทวารวิถี คือการรับรู้ทางทวาร ๕ ่ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ในกรณีที่รับอารมณ์ที่มีกำลังมาก คืออติมหันตารมณ์ เป็นหลัก) ดังนี้


ก. ช่วงภังคจิต (เนื่องจากเมื่อจบวิถี ก็จะกลับเป็นภวังค์อีก ตามปกติจึงเรียกภวังคจิตที่เอาเป็นจุดเริ่มต้นว่า "อตีตภวังค์" คือภวังค์ที่ล่วงแล้ว หรือภวังค์ ก่อน) มี ๓ ขณะ ได้แก่

๑. อตีตภวังค์ (ภวังคจิตที่สืบต่อมาจากก่อน)

๒. ภวังคจลนะ (ภวังค์ไหวตัวจากอารมณ์ใหม่ที่กระทบ)

๓. ภวังคุปัจเฉท (ภวังค์ขาดจากอารมณ์)


ข. ช่วงวิถีจิต มี ๑๔ ขณะ ได้แก่

๑. ปัญจทวาราวัชชนะ (การคำนึงอารมณ์ใหม่ทางทวารนั้นๆ ในทวารทั้ง ๕)

๒. ปัญจวิญญาณ (การรู้อารมณ์นั้นๆ ในอารมณ์ทั้ง ๕ คือ เป็นจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ หรือฆานวิญญาณ หรือชีวหาวิญญาณ หรือกายวิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง)

๓. สัมปฏิจฉนะ (สัมปฏิจฉันนะ ก็เรียก, การรับอารมณ์จากปัญจวิญญาณ เพื่อเสนอแก่สันตีรณะ)

๔. สันตีรณะ (การพิจารณาไต่สวนอารมณ์)

๕. โวฏฐัพพนะ (ตัดสินอารมณ์)

๖ - ๑๒ ชวนะ (การแล่นไปในอารมณ์ คือ รับรู้เสพทำต่ออารมณ์ เป็นช่วงที่ทำกรรม โดยเป็นกุศลชวนะหรืออกุศลชวนะ หรือไม่ก็กิริยา) ติอต่อกัน ๗ ขณะ

๑๓ - ๑๔ ตทารมณ์ (ตทาลัมพณะ หรือตทาลัมพนะ ก็เรียก, "มีอารมณ์นั้น" คือมีอารมณ์เดียวกับชวนะ ได้แก่ การเกิดเป็นวิปากจิตที่ได้รับอารมณ์ต่อจากชวนะ เหมือนได้รับผลประมวลจากชวนะมาบันทึกเก็บไว้ ก่อนตกภวังค์) ต่อกัน ๒ ขณะ แล้วก็สิ้นสุดวิถี คือ จบกระบวนของวิถีจิต เกิดเป็นภวังคจิตขึ้นใหม่ (ตกภวังค์) เมื่อนับตลอดหมดทั้งสองช่วง คือตั้งแต่อตีตภวังค์จุดเริ่ม มาจนจบวิถี ก็มี ๑๗ ขณะจิต


ในส่วนรายละเอียด วิถีจิตมีความเป็นไปแตกต่างกันหลายแบบ เช่น ในปัญจทวารวิถี ที่พูดมาข้างต้นนั้น เป็นกรณีที่รับอารมณ์ซึ่งมีกำลังเด่นชัดมาก (อติมหันตารมณ์)


แต่ ถ้าอารมณ์ที่ปรากฎเข้ามามีกำลังไม่มากนัก (เป็นแค่มหันตารมณ์) ภวังค์จะยังไม่ไหวตัว จนถึงภวังคจิตขณะที่ ๓ หรือขณะที่ ๔ จึงจะไหวตัวเป็นภวังคจลนะ ในกรณีอย่างนี้

ก็จะมีอตีตภวังค์ ๒ หรือ ๓ ขณะ และเมื่อขึ้นสู่วิถี ก็จะไปจบแค่ชวนะที่ ๗ ดับ แล้วก็ตกภวังค์ โดยไม่มีตทารมณ์เกิดขึ้น, ยิ่งกว่านั้น ถ้าอารมณ์ที่ปรากฎมีกำลังน้อย (เป็นปริตตารมณ์) ก็จะผ่านอตีตภวังค์ไปหลายขณะ (ตั้งแต่ ๔ ถึง ๙ ขณะ) จึงเป็นภวังคจลนะ และเมื่อขึ้นสู่วิถีแล้ว วิถีนั้นก็ไปสิ้นสุดลงแค่โวฏฐัพพนะ ไม่ทันเกิดชวนจิต ก็ตกภวังค์ไปเลย,

และถ้าอารมณ์ที่ปรากฎนั้นอ่อนกำลังเกินไป (เป็นอติปริตตารมณ์) ก็จะผ่านอตีตภวังค์ไปมากหลายขณะ จนในที่สุดเกิดภวังคจลนะขึ้นมาได้ ๒ ขณะ ก็กลับเป็นภวังค์ตามเดิม คือภวังค์ไม่ขาด (ไม่มีภวังคุปัจเฉท) และไม่มีวิถีจิตเกิดขึ้นเลย จึงเรียกว่าเป็นโมฆวาระ, ส่วนในมโนทวารวิถี

เมื่อภวังค์ไหวตัว (ภวังคจลนะ) และภวังค์ขาด (ภวังคุปัจเฉท) แล้ว ขึ้นสู่วิถี จะมีเพียงมโนทวาราวัชชนะ (การคำนึงอารมณ์ใหม่ทางมโนทวาร) และเกิดเป็นชวนจิต ๗ ขณะต่อไปเลย (ไม่มีสัมปฏิจฉนจิต เป็นต้น) เมื่อชวนะครบ ๗ แล้ว ในกรณีที่อารมณ์ที่ปรากฎเด่นชัด (วิภูตารมณ์) ก็จะเกิดตทารมณ์ ๒ ขณะ แล้วตกภวังค์ แต่ถ้าอารมณ์อ่อนแรงไม่เด่นชัด (อวิภูตารมณ์) พอครบ ๗ ชวนะแล้ว ก็ตกภวังค์ไปเลย โดยไม่มีตทารมณ์เกิดขึ้น, อนึ่ง ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น

เป็นวิถีจิตในกามภูมิทั้งสิ้น ยังมีวิถีจิตในภูมิที่สูงขึ้นไปอีก ในฝ่ายมโนทวารวิถี (จิตในปัญจทวารวิถี อยู่ในกามภูมิอย่างเดียว) ซึ่งเป็นจิตที่เป็นสมาธิขั้นอัปปนา และมีความเป็นไปที่แตกต่างจากวิถีจิตในกามภูมิ เช่น ชวนะไม่จำกัดเพียงแค่ ๗ ขณะ เมื่อเข้าฌานแล้ว ตราบใดยังอยู่ในฌาน ก็มีชวนจิต เกิด ดับ สืบต่อกันไปตลอด นับจำนวนไม่ได้ โดยไม่ตกภวังค์เลย

ถ้าเกิดเป็นภวังคจิตขึ้นเมื่อใด ก็คือออกจากฌาน ดังนี้ เป็นต้น รายละเอียดของวิถีจิตระดับนี้ จะไม่กล่าวในที่นี้.

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ค. 2016, 17:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูป ๑. สิ่งที่ต้องสลายไปเพราะปัจจัยต่างๆอันขัดแย้งกัน, สิ่งที่มีรูปร่างพร้อมทั้งลักษณะของมัน, ส่วนร่างกาย จำแนกเป็น ๒๘ คือ มหาภูต หรือ ธาตุ ๔ และ อุปาทายรูป ๒๔ (= รูปขันธ์ ในขันธ์ ๕)

๒. อารมณ์ที่รู้ได้ด้วยจักษุ, สิ่งที่ปรากฏแก่ตา (ข้อ ๑ ในอารมณ์ ๖ หรือในอายตนะภายนอก ๖)

๓. ลักษณะนามใช้เรียกพระภิกษุสามเณร เช่น ภิกษุรูปหนึ่ง สามเณร ๕ รูป ในภาษาพูดบางแห่งนิยมใช้องค์


นาม ธรรมที่รู้จักกันด้วยชื่อ กำหนดรู้ด้วยใจเป็นเรื่องของจิตใจ, สิ่งที่ไม่มีรูปร่าง ไม่ใช่รูปแต่น้อมมาเป็นอารมณ์ของจิตได้,

๑. ในที่ทั่วไปหมายถึงรูปขันธ์ ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

๒. บางแห่งหมายถึงอรูปขันธ์ ๔ นั่น และ นิพพาน (รวมทั้งโลกุตรธรรมอื่นๆ)

๓. บางแห่งเช่นในปฏิจจสมุปบาท บางกรณีหมายเฉพาะเจตสิกธรรมทั้งหลาย,

เทียบ รูป


นามธรรม สภาวะที่น้อมไปหาอารมณ์, ใจและอารมณ์ที่เกิดกับใจ คือ จิต และเจตสิก, สิ่งของที่ไม่มีรูป คือรู้ไม่ได้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่รู้ได้ทางใจ



นามรูป นามธรรม และรูปธรรม นามธรรม หมายถึง สิ่งที่ไม่มีรูป คือรู้ไม่ได้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่รู้ได้ด้วยใจ ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

รูปธรรม หมายถึง สิ่งที่มีรูป สิ่งที่เป็นรูป ได้แก่ รูปขันธ์ ทั้งหมด


จิต, จิตต์ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์, สภาพที่นึกคิด, ความคิด, ใจ, ตามหลักฝ่ายอภิธรรม จำแนกจิตเป็น ๘๙ (หรือ พิสดารเป็น ๑๒๑)



เจตสิก ธรรมที่ประกอบกับจิต, อาการหรือคุณสมบัติต่างๆของจิต เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ศรัทธา เมตตา สติ ปัญญา เป็นต้น มี ๕๐ อย่าง จัดเป็น อัญญสมานเจตสิก ๑๓ อกุศลเจตสิก ๑๔ โสภณเจตสิก ๒๕,
ถ้าจัดโดยขันธ์ ๕ เจตสิก ก็คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ นั่นเอง

สติ ความระลึกได้, นึกได้, ความไม่เผลอ, การคุมใจไว้กับกิจ หรือกุมจิตไว้กับสิ่งที่เกี่ยวข้อง, จำการที่ทำและคำที่พูดแล้วแม้นานได้

(ข้อ ๑ ในธรรมมีอุปการะมาก ๒ ข้อ ๑ ในโพชฌงค์ ๗ ข้อ ๓ ในอินทรีย์ ๕ ข้อ ๓ ในพละ ๕ ข้อ ๖ ในสัทธรรม ๗, ข้อ ๙ ในนาถกรณะธรรม ๑๐)


สัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อม, ความรู้ตระหนัก, ความรู้ชัดเข้าใจชัด ซึ่งสิ่งที่นึกได้, มักมาคู่กับสติ (ข้อ ๒ ในธรรมมีอุปการะมาก ๒)

สัมปชัญญะ ๔ ได้แก่

๑. สาตถกสัมปชัญญะ - รู้ชัดว่ามีประโยชน์ หรือตระหนักว่าตรงตามจุดหมาย

๒. สัปปายสัมปชัญญะ - รู้ชัดว่าเป็นสัปปายะ หรือตระหนักว่าเกื้อกูลเหมาะกัน

๓. โคจรสัมปชัญญะ - รู้ชัดว่าเป็นโคจร หรือตระหนัก

๔. อสัมโมหสัมปชัญญะ - รู้ชัดว่าไม่หลง หรือตระหนักในตัวสภาวะ ไม่หลงใหล ไม่สับสนฟั่นเฟือน


ปัญญา ความรู้ทั่ว, ปรีชาหยั่งรู้เหตุผล, ความรู้เข้าใจชัดเจน, ความรู้เข้าใจหยั่งแยกได้ในเหตุผล ดีชั่ว คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น และรู้ที่จะจัดแจง จัดสรร จัดการ ดำเนินการ ทำให้ลุผล ล่วงพ้นปัญหา, ความรู้รอบในกองสังขารมองเห็นตามเป็นจริง

(ข้อ ๓ ในไตรสิกขา, ข้อ ๑ ในอธิษฐานธรรม ๔, ข้อ ๕ ในอินทรีย์ ๕, ข้อ ๕ ในพละ ๕ ข้อ ๕ ในเวสารัชชกรณธรรม ๕ ข้อ ๗ ในสัทธรรม ๗, ข้อ ๗ ในอริยทรัพย์ ๗ ข้อ ๔ ในบารมี ๑๐)

ปัญญาขันธ์ กองปัญญา, หมวดธรรมว่าด้วยปัญญา เช่น ธรรมวิจยะ การเลือกเฟ้นธรรม กัมมัสสกตาญาณ ความรู้ว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตัวเป็นต้น (ข้อ ๓ ในธรรมขันธ์ ๕)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ม.ค. 2017, 16:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วรรณะ ผิว, สี, เพศ, ชนิด, พวก, เหล่า, หนังสือ, คุณความดี, ความยกย่องสรรเสริญ,, ชนชั้นที่จัดแบ่งออกไปตามหลักศาสนาพราหมณ์ เรียกว่า วรรณะ ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร

เรื่องชาติชั้นวรรณะ นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ในชมพูทวีป จึงมีพุทธพจน์ตรัสย้ำเรื่องนี้บ่อยๆ ดังตัวอย่าง เป็นคำสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้า กับ พราหมณ์ชื่อเอสุการี บางตอน เช่น

พราหมณ์: ท่านพระโคดมผู้เจริญ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ไว้ ๔ อย่าง...คือ บัญญัติการภิกขาจาร ให้เป็นทรัพย์ประจำตัวของพราหมณ์...บัญญัติธนูกับแล่ง ให้เป็นทรัพย์ประจำตัวของกษัตริย์...บัญญัติกสิกรรมและการเลี้ยงโค ให้เป็นทรัพย์ประจำของแพศย์...บัญญัติเคียวและไม้คาน ให้เป็นทรัพย์ประจำตัวของศูทร...พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ไว้ ๕ อย่างดังนี้ ท่านพระโคดมผู้เจริญ จะตรัสว่ากระไรในเรื่องนี้ ?

พระพุทธเจ้า: แน่ะพราหมณ์ ชาวโลกทั้งหมด พร้อมใจกันอนุญาตข้อตกลงนี้ไว้แก่พราหมณ์ทั้งหลายว่า ขอพราหมณ์ทั้งหลาย จงบัญญัติทรัพย์ ๔ ประการเหล่านี้เถิด ดังนี้หรือ ?

พราหมณ์: มิใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม

พระพุทธเจ้า: แน่ะพราหมณ์ เปรียบเหมือนบุรุษยากไร้ ไม่มีอะไรเป็นของคน เป็นผู้ขัดสน คนพวกหนึ่ง เอาก้อนเนื้อขึ้นแขวนให้แก่เขา ผู้ไม่มีความปรารถนาเลย โดยบอกว่า นี่แน่ะพ่อมหาจำเริญ เธอกินเนื้อนี้เสีย และจ่ายเงินค่าเนื้อมา ดังนี้ ฉันใด พวกพราหมณ์ ก็ฉันนั้น บัญญัติทรัพย์ ๔ อย่างเหล่านี้ แก่สมณพราหมณ์ทั้งหลายเหล่านี้ โดยไม่ได้รับความยินยอม

"แน่ะพราหมณ์ ท่านจะเห็นเป็นประการใด (สมมติว่า) ขัตติยราช ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว รับสั่งให้บุรุษชาติต่างๆ กัน ๑๐๐ คน มาประชุมกันว่า มาเถิดท่านทั้งหลาย ในบรรดาท่านทั้งหลายนั้น ผู้ใดเกิดจากตระกูลกษัตริย์ จากตระกูลพราหมณ์ จากตระกูลเจ้า ผู้นั้น จงเอาไม้สัก ไม้สาละ ไม้สน ไม้จันทร์ หรือไม้ทับทิม มาทำเป็นไม้สีไฟ จงก่อไฟ ให้ความร้อนปรากฏ มาเถิดท่านทั้งหลาย ในบรรดาท่านทั้งหลายนั้น ผู้ใด เกิดจากตระกูลจัณฑาล จากตระกูลพราน จากตระกูลช่างสาน จากตระกูลช่างรถ จากตระกูลคนเทขยะ ผู้นั้น จงเอาไม้รางสุนัข ไม้รางสุกร ไม้รางย้อมผ้า หรือไม้ละหุ่ง มาทำเป็นไม้สีไฟ จงก่อไฟ ให้ความร้อนปรากฏ นี่แน่ะพราหมณ์ ท่านเห็นเป็นประการใด ไฟที่เกิดจากตระกูลกษัตริย์ จากตระกูลพราหมณ์ จากตระกูลเจ้า เอา ไม้สัก ไม้สาละ ไม้สน ไม้จันทร์ หรือไม้ทับทิม มาทำเป็นไม้สีไฟ ก่อขึ้น ให้มีความร้อนปรากฏ ไฟนั้นเท่านั้นหรือ จึงมีเปลว มีสี มีแสง และสามารถใช้ทำกิจที่พึงทำด้วยไฟได้ ส่วนไฟที่คนผู้เกิดจากตระกูลจัณฑาล จากตระกูลพราน จากตระกูลช่างสาน จากตระกูลช่างรถ จากตระกูลคนเทขยะ เอาไม้รางสุนัข ไม้รางสุกร ไม้รางย้อมผ้า หรือไม้ละหุ่ง มาทำเป็นไม้สีไฟ ก่อขึ้น ให้มีความร้อนปรากฏ ไม่มีเปลว ไม่มีสี ไม่มีแสง ไม่สามารถใช้ทำกิจที่พึงทำด้วยไฟได้ อย่างนั้นหรือ?


พราหมณ์: มิใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดมผู้เจริญ...ไฟทั้งหมดนั่นแหละ มีเปลว มีสี มีแสง และไฟทั้งหมด ใช้ทำกิจที่พึงทำด้วยไฟได้


พระพุทธเจ้า: ฉันนั้น เหมือนกันและ ท่านพราหมณ์ บุคคลแม้หากออกบวชเป็นอนาคาริก จากตระกูลกษัตริย์ และ เขาอาศัยธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว เป็นผู้...มีสัมมาทิฏฐิ ก็ย่อมเป็นผู้ยังกุศลธรรมที่เป็นทางรอดพ้นให้สำเร็จได้ แม้หากออกบวชเป็นอนาคาริก จากตระกูลพราหมณ์...จากตระกูลแพศย์...จากตระกูลศูทร และเขาอาศัยธรรมวินัย ที่ตถาคตประกาศแล้ว เป็นผู้...มีสัมมาทิฏฐิ ก็ย่อมเป็นผู้ยังกุศลธรรมที่เป็นทางรอดพ้นให้สำเร็จได้"

(เอสุการีสูตร ม.ม.13/665-670/614-622)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ม.ค. 2017, 16:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เวปุลละ ความไพบูลย์, ความเต็มเปี่ยม, ความเจริญเต็มที่ มี ๒ อย่าง คือ

๑. อามิสเวปุลละ อามิสไพบูลย์ หรือความไพบูลย์แห่งอามิส หมายถึง ความมากมายพรั่งพร้อมด้วยปัจจัย ๔ ตลอดจนวัตถุอำนวยความสุขความสะดวกสบายต่างๆ

๒. ธัมมเวปุลละ ธรรมไพบูลย์ หรือความไพบูลย์แห่งธรรม หมายถึง ความมากมายพรั่งพร้อมแห่งธรรม ด้วยการฝึกอบรมปลูกฝังให้มีในตนจนเต็มบริบูรณ์ หรือด้วยการประพฤติปฏิบัติกันในสังคมจนแพร่หลายทั่วไปทั้งหมด

วินัย ระเบียบแบบแผนสำหรับฝึกฝนควบคุมความประพฤติของบุคคลให้มีชีวิตที่ดีงามเจริญ ก้าวหน้าและควบคุมหมู่ชนให้อยู่ร่วมกันด้วยความสงบเรียบร้อยดีงาม, ประมวลบทบัญญัติข้อกำหนดสำหรับควบคุมความประพฤติ ไม่ให้เสื่อมเสีย และฝึกฝนให้ประพฤติดีงามเป็นคุณเกื้อกูลยิ่งขึ้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ม.ค. 2017, 16:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เวสารัชชกรณธรรม ธรรมทำความกล้าหาญ, ธรรมเป็นเหตุให้กล้าหาญ, คุณธรรมที่ทำให้เกิดความแกล้วกล้า มี ๕ อย่าง คือ

๑.ศรัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ

๒. ศีล มีความประพฤติดีงาม

๓.พาหุสัจจะ ได้สดับหรือศึกษามาก

๔. วิริยารัมภะ เพียรทำกิจอยู่อย่างจริงจัง

๕. ปัญญา รู้รอบและรู้ชัดเจนในสิ่งที่ควรรู้


เวร ความแค้นเคือง, ความปองร้ายกัน, ความคิดร้ายตอบแก่ผู้ทำร้าย, ในภาษาไทยใช้อีกความหมายหนึ่งด้วยว่าคราว, รอบ, การผลัดกันเป็นคราวๆ, ตรงกับวาร หรือวาระ ในภาษาบาลี

โวทาน ความบริสุทธิ์, ความผ่องแผ้ว, การชำระล้าง, การทำให้สะอาด, ธรรมที่อยู่ในวิเสสภาค คือ ในฝ่ายข้างวิเศษ ได้แก่ ธรรมจำพวกที่ทำให้เจริญงอกงามดียิ่งขึ้นไปจนปลอดพ้นจากประดาสิ่งมัวหมองบริสุทธิ์บริบูรณ์ เช่น โยนิโสมนสิการ กุศลมูล สมถะและวิปัสสนา ตลอดถึงนิพพาน ตรงข้ามกับสังกิเลส


โวหาร ถ้อยคำ, สำนวนพูด, ชั้นเชิงหรือกระบวนแต่งหนังสือ หรือพูด

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ม.ค. 2017, 16:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตันติ ๑. แบบแผน เช่น ตันติธรรม (ธรรมที่เป็นแบบแผน) ตันติประเพณี (แนวทางที่ยึดถือปฏิบัติสืบกันมาเป็นแบบแผน) เช่น ภิกษุทั้งหลายควรสืบต่อตันติประเพณีแห่งการเล่าเรียนพระธรรมวินัย และเที่ยวจาริกไปแสดงธรรม โดยดำรงอิริยาบถอันน่าเลื่อมใส ๒. เส้น, สาย เช่น สายพิณ

ตันติภาษา ภาษาที่มีแบบแผน คือมีหลักภาษา มีไวยากรณ์ เป็นระเบียบ เป็นมาตรฐาน, เมื่อพระพุทธโฆษาจารย์แปลอรรถกถาจากภาษาสิงหล ท่านกล่าวว่า ยกขึ้นสู่ตันติภาษา คำว่า “ตันติภาษา” ในที่นี้หมายถึง ภาษาบาลี (บาลี ตนฺติภาสา)

บาลี ๑. “ภาษาอันรักษาไว้ซึ่งพุทธพจน์” ภาษาที่ใช้ทรงจำและจารึกรักษาพุทธพจน์แต่เดิมมา อันเป็นหลักในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ถือกันว่าได้แก่ ภาษามคธ ๒. พระพุทธวจนะ ซึ่งพระสังคีติกาจารย์รวบรวมไว้ คือ พระธรรมวินัยที่พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ประชุมกันรวบรวมจัดสรรให้เป็นหมวดหมู่ในคราวปฐมสังคายนา และรักษาไว้ด้วยภาษาบาลี สืบต่อกันมาในรูปที่เรียกว่า พระไตรปิฎก อันเป็นคัมภีร์พระพุทธศาสนาต้นเดิม ที่เป็นหลักของพระพุทธศาสนาเถรวาท, พุทธพจน์, ข้อความที่มาในพระไตรปิฎก,

ในการศึกษาพระพุทธศาสนา มีประเพณีที่ปฏิบัติกันมาในเมืองไทย ให้แยกคำว่า “บาลี”


ในความหมาย ๒ อย่างนี้ ด้วยการเรียกให้ต่างกัน คือ ถ้าหมายถึงบาลีในความหมายที่ ๑. ให้ใช้คำว่า ภาษาบาลี (หรือ ศัพท์บาลี คำบาลีหรือบาลี) แต่ถ้าหมายถึงบาลีในความหมายที่ ๒. ให้ใช้คำว่า พระบาลี

มคธภาษา ภาษาของชนชาวมคธ, ภาษาของชนผู้อยู่ในแคว้นมคธ

มคธ ๑. ชื่อแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นใหญ่แห่งชมพูทวีปครั้งพุทธกาล ตั้งอยู่ฝั่งใต้ของแม่น้ำคงคาตอนกลาง เป็นแคว้นที่มีอำนาจมากแข่งกันกับแคว้นโกศล และเป็นที่พระพุทธเจ้าทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล มคธมีนครหลวงชื่อ ราชคฤห์ ราชาผู้ปกครองพระนามว่า พิมพิสาร


ตอนปลายพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสารถูกพระโอรสชื่อ อชาตศัตรู ปลงพระชนม์ และขึ้นครองราชย์สืบแทน

ต่อมาในสมัยพระเจ้ากาลาโศก หรือก่อนนั้น เมืองหลวงของมคธ ย้ายไปตั้งที่เมืองปาฏลีบุตร บนฝั่งแม่น้ำคงคา เหนือเมืองราชคฤห์ขึ้นไป มคธรุ่งเรืองถึงที่สุดในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งแคว้นใหญ่อื่นทั้งหมดได้รวมเข้าอยู่ภายในมหาอาณาจักรของพระองค์ทั้งหมดแล้ว

บัดนี้ บริเวณที่เคยเป็นแคว้นมคธในสมัยพุทธกาล เรียกว่า แคว้นพิหาร ๒. เรียกภาษาที่ใช้พูดในแคว้นมคธ หรือภาษาของชาวแคว้นมคธว่า ภาษามคธ และถือกันว่าภาษาบาลีที่ใช้รักษาพระพุทธพจน์สืบมาจนบัดนี้ คือ ภาษามคธ


รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ก.พ. 2017, 16:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วาชเปยะ, วาชไปยะ “วาจาดูดดื่มใจ” “น้ำคำควรดื่ม” ความรู้จักพูด คือ รู้จักทักทายปราศรัย ใช้วาจาสุภาพนุ่มนวล ประกอบด้วยเหตุผล มีประโยชน์ เป็นทางแห่งสามัคคี ทำให้เกิดความเข้าใจอันดี ความเชื่อถือและความนิยมนับถือ


วานปรัสถ์ ผู้อยู่ป่า, เป็นธรรมเนียมของพราหมณ์ ผู้ที่ครองเรือน มีครอบครัวเป็นหลักฐาน ครั้นลูกหลานเติบโตก็จัดแจงให้มีครอบครัว ตนเองชราลง ก็เข้าป่าจำศีลถือพรตบำเพ็ญตบะต่อไป เขียน วนปรัสถะ บ้างก็มี


อาศรม ที่อยู่ของนักพรต, ตามลัทธิของพราหมณ์ ในยุคที่กลายเป็นฮินดูแล้ว ได้วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของชาวฮินดูวรรณะสูง โดยเฉพาะวรรณะพราหมณ์ โดยแบ่งเป็นขั้นหรือช่วงระยะ ๔ ขั้น หรือ ๔ ช่วง เรียกว่า อาศรม ๔ กำหนดว่าชาวฮินดูวรรณะพราหมณ์ทุกคนจะต้องครองชีวิตให้ครบทั้ง ๔ อาศรมตามลำดับ (แต่ในทางปฏิบัติ น้อยคนนักได้ปฏิบัติเช่นนั้น โดยเฉพาะปัจจุบันไม่ได้ถือกันแล้ว) คือ

๑. พรหมจารี เป็นนักเรียนศึกษาพระเวท ถือพรหมจรรย์

๒. คฤหัสถ์ เป็นผู้ครองเรือน มีภรรยาและมีบุตร

๓. วานปรัสถ์ ออกอยู่ป่าเมื่อเห็นบุตรของบุตร

๔. สันยาสี (เขียนเต็มเป็นสันนยาสี) เป็นผู้สละโลก มีผ้านุ่งผืนเดียว ถือภาชนะขออาหารและหม้อน้ำเป็นสมบัติ จาริกภิกขาจารเรื่อยไปไม่ยุ่งเกี่ยวกับชาวโลก (ปราชญ์บางท่านว่าพราหมณ์ได้ความคิดจากพระพุทธศาสนาไปปรับปรุงจัดวางระบบของตนขึ้น เช่น สันยาสี ตรงกับภิกษุ แต่หาเหมือนกันจริงไม่)


ราชสังคหวัตถุ สังคหวัตถุของพระราชา, หลักการสงเคราะห์ประชาชนของนักปกครอง มี ๔ คือ

๑. สัสสเมธะ ฉลาดบำรุงธัญญาหาร

๒. ปุริสเมธะ ฉลาดบำรุงข้าราชการ

๓. สัมมาปาสะ ผูกประสานรวมใจประชา (ด้วยส่งเสริมสัมมาชีพให้คนจนตั้งตัวได้)

๔. วาชไปยะ มีวาทะดูดดื่มใจ

ปกครอง คุ้มครอง,ดูแล, รักษา, ควบคุม

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.พ. 2017, 20:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วิเวก ความสงัด มี ๓ คือ

อยู่ในที่สงัดเป็น กายวิเวก

จิตสงบเป็น จิตตวิเวก

หมดกิเลสเป็น อุปธิวิเวก


อาวาหะ การแต่งงาน, การสมรส, การพาหญิงมาบ้านตัว


วิวาหะ การแต่งงาน, การสมรส

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.พ. 2017, 21:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วิสสาสะ 1. ความคุ้นเคย, ความสนิทสนม การถือว่าเป็นกันเอง, ในทางพระวินัย การถือเอาของของผู้อื่นที่จัดว่าเป็นการถือวิสสาสะ มี ๓ คือ


๑. เคยเห็นกันมา เคยคบกันมา หรือได้พูดกันไว้

๒. เจ้าของยังมีชีวิตอยู่

๓. รู้ว่าของ เราถือเอาแล้วเขาจักพอใจ, บัดนี้นิยมเขียน วิสาสะ

2. ความนอนใจ ดังพุทธพจน์ว่า “ภิกษุเธอยังไม่ถึงความสิ้นอาสวะแล้วอย่าได้ถึง วิสสาสะ (ความนอนใจ)"

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.พ. 2017, 20:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วณิพก คนขอทานโดยร้องเพลงขอ คือ ขับร้องพรรณนาคุณแห่งการให้ทานและสรรเสริญผู้ให้ทาน ที่เรียกว่าเพลงขอทาน


ยาจก ผู้ขอ, คนขอทาน, คนขอทานโดยไม่มีอะไรแลกเปลี่ยน


วทัญญู “ผู้รู้ถ้อยคำ” คือใจดี เอื้ออารี ยอมรับฟังความทุกข์ยากเดือดร้อนและความต้องการของผู้อื่น เข้าใจคำพูดของเขาได้ดี


วรรณนา คำพรรณนา, คำชี้แจงความหมายอธิบายความ คล้ายกับคำว่า อรรถกถา (อฏฺฐกถา) บางทีก็ใช้เสริมกัน หรือแทนกันบ้าง (เช่น ที.อ.3/360/267 นิฏฺฐิตา จ ปาฏิกวคฺคสฺส วณฺณนาติ. ปฏิกวคฺคฏฺฐกถา นิฏฺฐิตา) แต่คำว่า อรรถกถา มักใช้ หมายถึงทั้งคัมภีร์ ส่วน วรรณนา มักใช้ แก่คำอธิบายเฉพาะตอนๆ (คำเต็มรูปที่มักใช้แทนหรือใช้แสดงความหมายของ อรรถกถา ได้แก่ อรรถสังวรรณนา (คำบาลีว่า อตฺถสํวณฺณนา))

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 35 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 68 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร