ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

ชีวิต 3 ด้านของคนเราที่พัฒนาไปด้วยกัน
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=52462
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 28 พ.ค. 2016, 17:16 ]
หัวข้อกระทู้:  ชีวิต 3 ด้านของคนเราที่พัฒนาไปด้วยกัน

เรื่องของชีวิตคน ซึ่งมีแค่ ๓ ด้าน หรือ ๓ แดน เป็นองค์ประกอบหรือองค์ร่วม ๓ อย่าง ที่รวมกันเป็นชีวิต ซึ่งพากันดำเนินเดินหน้าพัฒนาไปด้วยกัน

รูปภาพ

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 28 พ.ค. 2016, 17:18 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ชีวิต 3 ด้านของคนที่พัฒนาไปด้วย

ชีวิต 3 ด้าน ของคนเรานี้ ที่พัฒนาไปด้วยกัน มีอะไรบ้าง ? ก็แยกเป็น

1. ด้านสื่อกับโลก ได้แก่ การรับรู้ติดต่อสื่อสารสัมพันธ์ พฤติกรรม ความประพฤติ และการ แสดงออกต่อหรือกับเพื่อนมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆผ่านทวาร (ช่องทาง ประตู) 2 ชุด คือ

ก. ผัสสทวาร (ทางรับรู้) คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย (รวมทั้งชุมทาง คือ ใจ เป็น 6)

ข. กรรมทวาร (ทางทำกรรม) คือ กาย วาจา (รวมชุมทาง คือ ใจ ด้วย เป็น 3)

ด้านนี้ พูดง่ายๆว่า แดนหรือด้านที่สื่อกับโลก เรียกสั้นๆคำเดียวว่า ศีล

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 28 พ.ค. 2016, 17:21 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ชีวิต 3 ด้านของคนที่พัฒนาไปด้วย

2. ด้านจิตใจ ได้แก่ การทำงานของจิตใจ ซึ่งมีองค์ประกอบและคุณสมบัติที่เกี่ยวข้องมากมาย เริ่มแต่ต้องมีเจตนา หรือ เจตจำนง ความจงใจ ตั้งใจ มีแรงจูงใจอย่างใดอย่างหนึ่ง มีความดี-ความชั่ว ความสามารถหรือความอ่อนด้อย พร้อมทั้งความรู้สึก สุข-ทุกข์ สบาย-ไม่สบาย หรือเฉยๆ เพลินๆและปฏิกิริยาต่อจากสุข-ทุกข์นั้น เช่น ชอบใจ หรือไม่ชอบใจ อยากจะได้ อยากจะเอา หรืออยากจะหนี หรืออยาก จะทำลาย ที่ควบคุมชักนำการรับรู้และพฤติกรรมทั้งหลาย เช่น ว่า จะให้ดูอะไร หรือไม่ดูอะไร จะพูดอะไร จะพูดกับใครว่าอย่างไร ด้านนี้ เรียกสั้นๆว่า จิต หรือแดนของ สมาธิ

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 28 พ.ค. 2016, 17:25 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ชีวิต 3 ด้านของคนที่พัฒนาไปด้วย

3. ด้านปัญญา ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจ ตั้งแต่สุตะ คือ ความรู้ที่ได้เรียนสดับ หรือ ข่าวสารข้อมูล จนถึงการพัฒนาทุกอย่าง ในจินตาวิสัย และญาณวิสัย เช่น แนวคิด ทิฏฐิ ความเชื่อถือ ทัศนคติ ค่านิยม ความยึดถือตามความรู้ ความคิด ความเข้าใจ แง่มุมในการมอง ในการพิจารณา อย่างใดอย่างหนึ่ง ด้านนี้ เรียกสั้นๆตรงๆว่า ปัญญา

องค์ประกอบของชีวิต 3 ด้าน นี้ ทำงานไปด้วยกัน ประสานกันไป และเป็นเหตุปัจจัยแก่กัน ไม่แยกต่างหากจากกัน

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 28 พ.ค. 2016, 17:57 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ชีวิต 3 ด้านของคนที่พัฒนาไปด้วย

องค์ประกอบของชีวิต 3 ด้าน นี้ ทำงานไปด้วย กัน ประสานกันไป และเป็นเหตุปัจจัยแก่กัน ไม่แยกต่างหากจากกัน
ขออธิยายเพียงสั้นๆ พอให้เห็นเป็นแนว

การสัมพันธ์กับโลกด้วยอินทรีย์ คือ ผัสสทวาร และด้วยพฤติกรรมทางกายวาจา (ด้านที่ 1) จะเป็นไปอย่างไร ก็ขึ้นต่อเจตนา ขึ้นต่อสภาพความรู้สึก ภาวะ และคุณสมบัติต่างๆของจิตใจ (ด้านที่ 2) และทั้งหมดนั้น ทำได้เท่าที่ปัญญาชี้ช่องส่องทางให้ รู้แค่ไหน ก็คิด และทำได้แค่นั้น คือภายในขอบเขตของปัญญา (ด้านที่ 3)

ความตั้งใจ และความต้องการ เป็นต้น ของจิตใจ (ด้านที่ 2) ต้องอาศัยการสื่อทางอินทรีย์ และพฤติกรรมกายวาจาเป็น เครื่องสนอง (ด้านที่ 1) ต้องถูกกำหนด และจำกัดขอบเขตตลอดจนปรับเปลี่ยนโดยความเชื่อถือความคิดเห็น และความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่ และที่เพิ่มหรือเปลี่ยนไป (ด้านที่ 3)

ปัญญา จะทำงานและจะพัฒนาได้ดีหรือไม่ (ด้านที่ 3) ต้องอาศัยอินทรีย์ เช่น ดู ฟัง อาศัยกายเคลื่อนไหว เช่น เดินไป จับจัดค้น ฯลฯ ใช้วาจาสื่อสารไถ่ถามตามทักษะเท่าที่มี (ด้านที่ 1) ต้องอาศัยภาวะและคุณสมบัติของจิตใจ เช่น ความสนใจใฝ่ใจความมีใจเข้มแข็งสู้ปัญหาความขยันอดทน ความรอบคอบ มีสติความมีใจสงบแน่วแน่ มีสมาธิหรือไม่เพียงใด เป็นต้น (ด้านที่ 2)

นี่คือการดำเนินไปของชีวิตที่องค์ประกอบ 3 ด้าน ทำงานไปด้วยกัน อาศัยกันประสานกันเป็นปัจจัยแก่กัน ซึ่งเป็นความจริงของชีวิตนั้น ตามธรรมดาของมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ และจึงเป็นเหตุผลที่บอกอยู่ในตัวว่า ทำไมจะต้องแยกชีวิตหรือการดำเนินชีวิตเป็น 3 ด้านจะแบ่งมากหรือน้อยกว่านี้ไม่ได้

เมื่อชีวิตดำเนินไปมี 3 ด้านนี้ การศึกษาที่ฝึกคนให้ดำเนินชีวิตได้ดี ก็ต้องฝึกฝนพัฒนาที่ 3 ด้านของชีวิตนั้น

ดังนั้น การฝึกหรือศึกษา คือ สิกขา จึงแยกเป็น 3 ส่วน ดังที่เรียกว่า ไตรสิกขา เพื่อฝีกฝนพัฒนา 3 ด้านของชีวิตนั้น ให้ตรงให้ครบตามธรรมดาแห่งธรรมชาติของมัน โดยเป็นการ พัฒนาพร้อมไปด้วยกัน อย่างประสานเป็นระบบสัมพันธ์อันหนึ่งอันเดียว

เวลา ดูอย่างกว้างๆหยาบ ๆ ก็จะมองเห็นเหมือนอย่างที่บางทีท่านพูดแยกออกเป็นขั้นตอนใหญ่ๆ ว่า ขั้นศีล ขั้นสมาธิ และขั้นปัญญา เหมือนจะให้ฝึกอบรมพัฒนาเป็นคนละ ส่วนคนละตอน ทีละขั้น ตามลำดับ คือ ฝึกอบรมศีลดีแล้ว จึงเจริญสมาธิ แล้วจึงพัฒนาปัญญา

เมื่อมอง ไตรสิกขาแบบนี้ ก็จะเห็นเป็นภาพรวมที่เป็นระบบใหญ่ของการฝึก ซึ่งมีองค์ 3 นั้นเด่นขึ้นมาทีละอย่าง จากหยาบแล้วละเอียดประณีตขึ้นไปเป็นช่วงๆ หรือ เป็นขั้นๆตามลำดับ คือ

ช่วงแรก เด่นออกมาข้างนอก ที่อินทรีย์ (ผัสสทวาร) และกาย วาจา ก็เป็นขั้น ศีล

ช่วงที่สอง เด่นด้านภายใน ที่จิตใจ ก็เป็นขั้น สมาธิ

ช่วงที่สาม เด่นที่ความรู้ความคิดเข้าใจ ก็เป็นขั้น ปัญญา

แต่ในทุกขั้นนั้นเอง องค์อีก 2 อย่าง ก็ทำงานร่วมอยู่ด้วยโดยตลอด

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 28 พ.ค. 2016, 19:46 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ชีวิต 3 ด้านของคนเราที่พัฒนาไปด้วยกัน

ต่อ


เป็นอันว่า นั่น คือการมองอย่างภาพรวม จับเอางานส่วนที่เด่นในขั้นนั้น ขึ้นมาเน้นทีละอย่างๆ เขยิบสูงขึ้นไปในการฝึกอบรมพัฒนาตามลำดับ เพื่อให้ส่วนที่หยาบกว่าพร้อม ที่จะรองรับเป็นฐานให้แก่การเจริญงอกงาม หรือทำงานออกผลของส่วนที่ประณีตละเอียดอ่อน

เหมือนที่พูดว่า อ๋อ จะตัดไม้ใหญ่ต้นนี้หรือ ก็หนึ่ง ต้องจัดบริเวณทำพื้นที่เหยีอบยันให้สะดวกขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้คล่อง ปลอดภัย และแน่นหนามั่นคง (ศีล) + สอง ต้องเต รี ยมกำลังให้แข็งแรง ใจสู้ เอาจริง จับมีดหรือขวานให้ถนัดมั่น มีสติดี ใจมุ่งแน่ว ไม่วอกแวก (สมาธิ) + แล้วก็สาม ต้อง มีอุปกรณ์ คือ มีดหรือขวานที่ใช้ตัดที่ได้ขนาด มีคุณภาพดี และลับไว้คม กริบ (ปัญญา) จึงจะสัมฤทธิ์ผล คือ ตัดไม้ได้สำเร็จสมปรารถนา

แต่ ในชีวิตที่เป็นอยู่ดำเนินไปอยู่ตลอดเวลานี้ เมื่อวิเคราะห์ละเอียดลงไป ก็จะเห็นว่าองค์ประกอบทั้ง ๓ ด้านของชีวิต ทำงานประสานสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยเกื้อกูลหนุนเสริมกันและกันอยู่ทุกเมื่อ ทุกเวลา ดังจะเห็นว่า ในการศึกษาเมือจะให้คนพัฒนาฝึกตนได้ผลจริง ก็ควรให้เขาฝึกด้วยความตระหนักรู้องค์ประกอบทั้ง ๓ ด้านนั้น ที่จะให้พัฒนาพร้อมไปด้วยกัน โดยเอาโยนิโสมนสิการมาโยงให้เกิดความตระหนักรู้และมีสติที่จะช่วยให้การฝีก ฝนพัฒนาได้ผลสมบูรณ์ตามที่มันควรจะเป็น

พูดในเชิงปฏิบัติว่า ในการกระทำทุกครั้งทุกอย่าง ไม่ว่าจะแสดงพฤติกรรมอะไร หรือมีกิจกรรมใดๆ ก็ตาม เราสามารถ ฝึกฝนพัฒนาตนและสำรวจตรวจสอบตนเองตามหลักไตรสิกขานี้ ให้มีการศึกษาครบ ทั้ง ๓ อย่าง ทั้ง ศีล สมาธิ และปัญญา พร้อมกันไปทุกครั้งทุกคราว คือ

เมื่อทำอะไร ก็พิจารณาดูว่า พฤติกรรม หรือการกระทำของเราครั้งนี้ จะเป็นการ เบียดเบียน ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ใครหรือไม่ จะก่อให้เกิดความ เสื่อมโทรมเสียหายอะไรๆ บ้างไหม หรือว่าเป็นไปเพื่อความเกื้อกูล ช่วยเหลือ ส่ง เสริม และสร้างสรรค์ (ศีล)

ในเวลาที่จะทำการนี้ จิตใจของ เราเป็นอย่างไร เราทำด้วยจิตใจที่เห็นแก่ตัว มุ่งร้ายต่อใคร ทำ ด้วยความโลภ โกรธ หลง หรือไม่ หรือทำด้วยเมตตา มีความปรารถนา ดี ทำด้วยศรัทธา ทำด้วยสติ มีความเพียร มีความรับผิดชอบ เป็นต้น และในขณะที่ทำ สภาพจิตใจของเราเป็น อย่างไร เร่าร้อน กระวนกระวาย ขุ่นมัว เศร้าหมอง หรือว่ามีจิต ใจที่สงบ ร่าเริง เบิกบาน เป็นสุข เอิบอิ่ม ผ่องใส (สมาธิ)

เรื่อง ที่ทำครั้งนี้ เราทำด้วยความรู้ความเข้าใจชัดเจนดีแล้วหรือไม่ เรามองเห็นเหตุผล รู้เข้าใจหลักเกณฑ์และความมุ่งหมาย มองเห็นผลดีผลเสียที่อาจจะเกิด ขึ้น และหนทางแก้ไขปรับปรุงพร้อมดีแล้วหรือไม่ (ปัญญา)

ด้วยวิธีปฏิบัติอย่างนี้ คนที่ฉลาดจึงสามารถฝึกศึกษาพัฒนาตน และสำรวจตรวจสอบวัดผลการพัฒนาตนได้เสมอตลอดทุกครั้งทุกเวลา เป็นการ บำเพ็ญไตรสิกขาในระดับรอบเล็ก (คือ ครบสิกขาทั้งสาม ในพฤติกรรม เดียว หรือ กิจกรรมเดียว)

พร้อมกันนั้น การศึกษาของไตรสิกขาใน ระดับขั้นตอนใหญ่ ก็ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นไปทีละส่วนอย่างเป็นไปเองด้วย ซึ่งเมื่อมองดูภายนอก ก็เหมือน ศึกษาไปตามลำดับทีละอย่างทีละขั้น โดยที่ในเวลาเดียวกัน นั้น ไตรสิกขาในระดับรอบเล็กนี้ก็จะช่วยให้การฝีกศึกษาไตรสิกขาในระดับ ขั้นตอนใหญ่ยิ่งก้าวหน้าไปด้วยดีมากขึ้น

ผู้ที่ศึกษาลงไปในราย ละเอียดของการปฏิบัติ ก็จะรู้ถึงหลักความจริงที่ว่า ในขณะแห่งการ ตรัสรู้ หรือ ในขณะบรรลุมรรคผลนิพพานนั้น องค์มรรคทั้งหมด ที่ จัดเป็นกลุ่ม คือ ศีล สมาธิ และปัญญานี้ จะพัฒนาบริบูรณ์ และทำงานพร้อมเป็นหนึ่งเดียวกันในการกำจัดกิเลสและให้สำเร็จผล

ที่พูดนี้ คือสิกขา หรือ การศึกษา ซึ่งเป็นระบบการพัฒนาชีวิตของมนุษย์ตาม เงื่อนไขแห่งความจริงของธรรมชาติ เป็นไปตามระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุ ปัจจัย ตามกฎธรรมดาของธรรมชาตินั้น ซึ่งชีวิตเป็นองค์รวม ที่มีองค์ประกอบ หรือ องค์ รวม ๓ อย่าง คือ ศีล จิต และปัญญา ซึ่งทำงานประสานเป็นเหตุปัจจัยแก่กัน ในการที่ชีวิตนั้นดำเนินอยู่ หรือ พัฒนายิ่งขึ้นไป ดังที่เรียกว่าหลัก ไตรสิกขา

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/