ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

จิตจับ(เพ่ง)ที่ลมหายใจมากเกิน ในเวลาที่ไม่ได้เจริญภาวนา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=51718
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  nipana [ 05 ม.ค. 2016, 11:15 ]
หัวข้อกระทู้:  จิตจับ(เพ่ง)ที่ลมหายใจมากเกิน ในเวลาที่ไม่ได้เจริญภาวนา

จิตจับ(เพ่ง)ที่ลมหายใจมากเกิน ในเวลาที่ไม่ได้เจริญภาวนา อึดอัด ปวดหัว นอนลำบาก มีผลกระทบต่อชีวิต ผู้รู้ช่วยแนะนำด้วยครับ

ผมฝึกเริ่มฝึกอานาปานสติ แล้วมีอาการ อึดอัด ปวดหัว ใจเต้นแรง(ร่างกายเกร็งในบางครั้ง)
ผมจึงพยายามหาข้อมูล จากข้อมูลที่ได้ ผมคิดว่าผมมีอาการ"คล้าย" กับเรื่องปกติที่ผู้ที่ฝึกเจริญอานาปานสติมีโอกาสเป็น
คือ จิตไปจับที่ลมหายใจมากเกินไป แล้วเค้น เกร็ง บังคับลมหายใจ ทำให้เกิดอาการดังกล่าว

ที่บอกว่า"คล้าย" ก็เพราะปัญหาก็คือ ผมเป็นอาการดังกล่าวในเวลาที่ไม่ได้เจริญภาวนา
คือเป็นในเวลาปกติ เป็นใน"ชีวิตประจำวัน"

หากกำลังทำหรือโฟกัสอย่างอื่น จะไม่เป็นอะไร
แต่ถ้าอยู่เฉยๆเมื่อไหร่ จิตก็มักจะไปจับกับลมหายใจ ทำให้หายใจเร็วขึ้น อึดอัด ปวดหัว และเป็นแบบนี้เกือบตลอดวัน
(ถ้าเป็นแล้วเดิน โดยพยายามให้จิตไปจับที่การเดินอาการจะดีขึ้น)
(ถ้าเป็นแล้วสามารถเปลี่ยนจุดโฟกัสของจิตได้ อาการก็จะดีขึ้น)

โดยเฉพาะเวลาที่กำลังเข้านอน จิตก็มักจะไปจับกับลมหายใจ
ทำให้อึดอัด ต้องพยายามคิดเรื่องอื่น หรือเปลี่ยนจุดโฟกัสของจิต
แต่มันก็มักจะกลับมาที่ลมหายใจเหมือนเดิม กว่าจะนอนหลับก็ใช้เวลานาน บางครั้งเป็นชั่วโมง

นอกจากนี้ ผมเข้าใจเรื่องหลักการ การปล่อยวาง, การพิจารณาอาการที่เกิด, การดูเฉยๆ(ปล่อยให้มันเกิด ไม่ต้องสนใจ),การปล่อยใจสบายๆ
แต่กลับเป็นว่า ยิ่งผมพยายามพิจารณา หรือดู มันกลายเป็นยิ่งเพ่ง ยิ่งจับแน่นมากขึ้น

ตอนนี้วิธีที่ผมพอจะเอาตัวรอดได้ก็มีเพียง ในทุกครั้งที่รู้ตัวว่าจิตมาจับที่ลมหายใจ ก็จะพยายามเปลี่ยนจุดสนใจ

ผมไม่แน่ใจว่าอาการที่เกิดขึ้นกับผมเกิดจากอะไร แต่สิ่งที่เป็นส่งผลกระทบต่อชีวิตผมมากๆ
(อาการที่เล่าให้ฟังนี่คือดีขึ้นมากแล้ว ผมเป็นมาเกิน 1 เดือนแล้ว ช่วงแรกเป็นหนักกว่านี้มาก มีทั้งใจเต้นแรง รู้สึกวูบที่หน้าอก ไปจนถึงจิตหดหู่อย่างรุนแรง และมีอาการดังกล่าวเป็นชั่วโมง)

ผมจึงอยากได้คำแนะนำ ว่าควรทำอย่างไร ทุกอย่างถึงจะดีขึ้น
(หรือใครมีคำแนะนำที่ครูบาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องแบบนี้เคยแนะนำเอาไว้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมากๆเลยครับ)

ขอบคุณล่วงหน้าสำหรับคำแนะนำครับ

เจ้าของ:  student [ 05 ม.ค. 2016, 13:25 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: จิตจับ(เพ่ง)ที่ลมหายใจมากเกิน ในเวลาที่ไม่ได้เจริญภาวนา

ผมเองใช้วิธีถอนหายใจครับ

เวลากำหนดลมหายใจ ผมกำหนดที่ยุบหนอพองหนอครับ คือไปรู้อาการยุบพอง ไม่ไปรู้การหายใจเข้าออก

ส่วนการละ เป็นเรื่องของความเห็นครับ การตั้งจิตเป็นเรื่องของสมาธิและสติ

นอกจากเราจะฝึกอานาปานสติแล้ว ต้องฝึกอย่างอื่นด้วยครับ เช่นการก้าว เหยียดแขนขา และอื่นๆเพื่อสร้างพลังของสติให้สมดุล

เจ้าของ:  นิรินธน์ [ 05 ม.ค. 2016, 13:41 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: จิตจับ(เพ่ง)ที่ลมหายใจมากเกิน ในเวลาที่ไม่ได้เจริญภาวนา

ขออนุญาตค่ะ

ลองยิ้มน้อยๆ บนใบหน้า เหมือนเรามองดูเด็กน้อยหัดเดิน
การยิ้ม เป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ คลายความตึงเครียด
และมองดูตนเอง ผู้เดิน-ผู้นั่งสมาธิ ด้วยความเมตตา เอ็นดู
เหมือนเราเมตตา เอ็นดู เด็กน้อยๆ ที่หัดเดิน

ลองดูค่ะ
ขอให้เจริญในธรรมค่ะ
:b8:

เจ้าของ:  สัมมาทิฏฐิ [ 05 ม.ค. 2016, 14:55 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: จิตจับ(เพ่ง)ที่ลมหายใจมากเกิน ในเวลาที่ไม่ได้เจริญภาวนา

ผมมีประสบการณ์แบบเดียวกับท่านเจ้าของกระทู้มาก่อนครับ เช่น บางครั้งอึดอัด
บางครั้งแน่นหน้าอก บางครั้งหายใจติดขัด บางครั้งร่างกายโคลงไปมา ฯลฯ

เป็นสภาวะที่ ร่างกาย กับ จิต ไม่อยู่ในสภาพสมดุล

วิธีแก้ไข คือ ผมปรับด้วยการ อบรมกาย อบรมจิต ให้สมดุลกันก่อนครับ
ด้วยการเดิน เป็นการเดินแบบทางไกล คล้ายพระธุดงค์เดิน คือ เดินไปเรื่อย ๆ
ไม่ใช่เดินจงกรมนะครับ

แบ่งขั้นตอนการเดินได้ดังนี้

ขั้นที่หนึ่ง เดินแบบสบาย ๆ ไม่เร็ว หรือ ช้า ให้เดินในความรู้สึกที่ปลอดโปร่ง สบาย ๆ
ในการเดินครั้งแรก ผมกำหนดสติอยู่ที่ อานาปานสติ พบว่าไม่เหมาะสม

ขั้นที่สอง การกำหนดสติในการเดิน ให้กำหนดสติ อยู่ที่ อิริยาบถ คือ ......เดิน
โดยกำหนดจิตให้จดจ่ออยู่กับการก้าวเท้าเดิน คือ ซ้าย ขวา ไปเรื่อย ๆ ไม่ใช้
คำภาวนาใด ๆ ทั้งสิ้น

ขั้นที่สาม ในการเดินช่วงแรก จิตจะฟุ้งซ่าน ไปเรื่อย ให้พยายามกำหนดจิต ให้จดจ่อ
อยู่กับการก้าวเท้าเดิน คือ ซ้าย ขวา ไปเรื่อย ๆ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ขั้นที่สี่ จิตไม่ฟุ้งซ่าน และ จิต พิจารณาการก้าวเดินของกาย

เป็นการแก้ไขปัญหาสมดุลด้วยการ อบรมกาย อบรมจิต ในเบื้องต้น

เป็นกำลังใจให้และอนุโมทนาในความตั้งใจของคุณนะครับ ./

เจ้าของ:  SOAMUSA [ 05 ม.ค. 2016, 16:44 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: จิตจับ(เพ่ง)ที่ลมหายใจมากเกิน ในเวลาที่ไม่ได้เจริญภาวนา

nipana เขียน:
จิตจับ(เพ่ง)ที่ลมหายใจมากเกิน ในเวลาที่ไม่ได้เจริญภาวนา อึดอัด ปวดหัว นอนลำบาก มีผลกระทบต่อชีวิต ผู้รู้ช่วยแนะนำด้วยครับ

ผมฝึกเริ่มฝึกอานาปานสติ แล้วมีอาการ อึดอัด ปวดหัว ใจเต้นแรง(ร่างกายเกร็งในบางครั้ง)
ผมจึงพยายามหาข้อมูล จากข้อมูลที่ได้ ผมคิดว่าผมมีอาการ"คล้าย" กับเรื่องปกติที่ผู้ที่ฝึกเจริญอานาปานสติมีโอกาสเป็น
คือ จิตไปจับที่ลมหายใจมากเกินไป แล้วเค้น เกร็ง บังคับลมหายใจ ทำให้เกิดอาการดังกล่าว

ที่บอกว่า"คล้าย" ก็เพราะปัญหาก็คือ ผมเป็นอาการดังกล่าวในเวลาที่ไม่ได้เจริญภาวนา
คือเป็นในเวลาปกติ เป็นใน"ชีวิตประจำวัน"

หากกำลังทำหรือโฟกัสอย่างอื่น จะไม่เป็นอะไร
แต่ถ้าอยู่เฉยๆเมื่อไหร่ จิตก็มักจะไปจับกับลมหายใจ ทำให้หายใจเร็วขึ้น อึดอัด ปวดหัว และเป็นแบบนี้เกือบตลอดวัน
(ถ้าเป็นแล้วเดิน โดยพยายามให้จิตไปจับที่การเดินอาการจะดีขึ้น)
(ถ้าเป็นแล้วสามารถเปลี่ยนจุดโฟกัสของจิตได้ อาการก็จะดีขึ้น)

โดยเฉพาะเวลาที่กำลังเข้านอน จิตก็มักจะไปจับกับลมหายใจ
ทำให้อึดอัด ต้องพยายามคิดเรื่องอื่น หรือเปลี่ยนจุดโฟกัสของจิต
แต่มันก็มักจะกลับมาที่ลมหายใจเหมือนเดิม กว่าจะนอนหลับก็ใช้เวลานาน บางครั้งเป็นชั่วโมง

นอกจากนี้ ผมเข้าใจเรื่องหลักการ การปล่อยวาง, การพิจารณาอาการที่เกิด, การดูเฉยๆ(ปล่อยให้มันเกิด ไม่ต้องสนใจ),การปล่อยใจสบายๆ
แต่กลับเป็นว่า ยิ่งผมพยายามพิจารณา หรือดู มันกลายเป็นยิ่งเพ่ง ยิ่งจับแน่นมากขึ้น

ตอนนี้วิธีที่ผมพอจะเอาตัวรอดได้ก็มีเพียง ในทุกครั้งที่รู้ตัวว่าจิตมาจับที่ลมหายใจ ก็จะพยายามเปลี่ยนจุดสนใจ

ผมไม่แน่ใจว่าอาการที่เกิดขึ้นกับผมเกิดจากอะไร แต่สิ่งที่เป็นส่งผลกระทบต่อชีวิตผมมากๆ
(อาการที่เล่าให้ฟังนี่คือดีขึ้นมากแล้ว ผมเป็นมาเกิน 1 เดือนแล้ว ช่วงแรกเป็นหนักกว่านี้มาก มีทั้งใจเต้นแรง รู้สึกวูบที่หน้าอก ไปจนถึงจิตหดหู่อย่างรุนแรง และมีอาการดังกล่าวเป็นชั่วโมง)

ผมจึงอยากได้คำแนะนำ ว่าควรทำอย่างไร ทุกอย่างถึงจะดีขึ้น
(หรือใครมีคำแนะนำที่ครูบาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องแบบนี้เคยแนะนำเอาไว้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมากๆเลยครับ)

ขอบคุณล่วงหน้าสำหรับคำแนะนำครับ


สวัสดีค่ะ

จริงๆ แล้วคุณควรไปหาพระวิปัสสนาจารย์ ท่านจะแนะนำได้อย่างถูกต้อง เพราะปล่อยไว้ การแน่นอึดอัด อาจจะมีอาการตัวแข็งเกิดขึ้นตามมา จะใช้เวลาแก้ไขกันนานค่ะ

คงต้องดูก่อนว่าคุณทำอานาปาฯ อย่างไร ถ้ามีสติที่จุดกระทบบริเวณจมูกถึงจะถูกต้องในการทำอานาปาฯค่ะ

และเคยฟังจากพระอาจารย์มานพ อุปสโม ท่านเคยแก้ไขให้คนที่เจริญอานาปาแล้วตัวแข็ง ท่านใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะแก้ได้ค่ะ

ขอแนะนำแบบพอจะแนะนำได้ก่อนนะคะว่า คุณต้องทำกุศลก่อนทำกรรมฐาน เช่น ตามสถานปฏิบัตินั้น จะมีการให้ผู้ปฏิบัติใส่บาตรตอนเช้า ถ้าคุณทำอยู่ก็ดีแล้วค่ะ นอกจากการทำกรรมฐานแล้วคุณจะต้องเป็นผู้ทำกุศลอื่นอย่างสม่ำเสมอ คือการให้ทาน การรักษาศีลให้ดีค่ะ

ก่อนทำกรรมฐานต้องสมาทานศีล สวดมนต์ไม่ต้องมาก และแผ่เมตตาให้เจ้ากรรมนายเวรก่อนทำกรรมฐาน หลังจากทำกรรมฐานก็แผ่เมตตาและอุทิศส่วนบุญให้ท่านเจ้ากรรมนายเวรอีกค่ะ

ถ้าที่แนะนำมานี้คุณได้ทำอยู่แล้วก็ขออนุโมทนบุญด้วยค่ะ ดีแล้วค่ะ

ช่วงนี้คุณน่าจะใช้วิธีเดินจงกรมจะดีกว่านะคะ อย่าเพิ่งนั่งสมาธิ หรือหยุดปฏิบัติไปก่อนเพราะการเดินจงกรมก็ทำให้ตัวแข็งได้ค่ะ ขณะปฏิบัติและระหว่างวันเมื่อมีอะไรเกิดขึ้นให้มีสติไว้ ฝึกให้มีสติไว้บ่อยๆ เนืองๆ ตลอดวันเท่านั้นพอ ไม่ต้องทำอะไรต่อ เอาแค่ฝึกสติพอค่ะ

ดิฉันก็เคยเป็นที่การปฏิบัติมีผลต่อชีวิตประจำวัน ของดิฉัน อาจารย์ท่านให้หยุดทำสมาธิ ให้ขึ้นวิปัสสนาต่ออย่างเดียวค่ะ เวลาจิตสงบจะมีอาการค่ะ

ที่สำคัญที่สุดคือ คุณควรไปพบกับพระวิปัสสนาจารย์ที่ท่านมีความรู้ด้านปริยัติค่ะ

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 05 ม.ค. 2016, 18:33 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: จิตจับ(เพ่ง)ที่ลมหายใจมากเกิน ในเวลาที่ไม่ได้เจริญภาวนา

มันหนทางที่ไม่เหมาะกับเราลองค้นหาวิธีดูใหม่นะครับ
เพราะการเจริญกรรมฐานมีต้อง ๔๐ วิธีเลือกเอาที่ปฎิบัติแล้วสบายๆ

เจ้าของ:  ปลีกวิเวก [ 06 ม.ค. 2016, 08:17 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: จิตจับ(เพ่ง)ที่ลมหายใจมากเกิน ในเวลาที่ไม่ได้เจริญภาวนา

สวัสดี คุณจขกท

อาการแบบนี้เชื่อว่าผู้ที่เจริญอานาปานสติเคยเป็นเกือบทุกคน เกิดจากการพยายามบังคับลมหายใจ
หรือเพ่งจ้องไปที่ลมเข้าออกมากเกินไป เพราะโดยธรรมชาติลมหายใจเข้าออกยาวสั้น ละเอียด หยาบ ไม่เท่ากันซึ่งขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยเช่นเราอยู่ในภาวะโกรธ จะหายใจเร็วสั้น แต่ถ้าเข้าสู่ภาวะความสงบจะหายใจยาวและละเอียดขึ้น เป็นต้น ดังนั้้นอย่าพยามบังคับ จับจ้องหรือเพ่ง ให้พิจารณาที่ลักษณะของลมแทน
เข้าออกสั้นยาว ละเอียดหรือหยาบ ลมเข้าออกร้อนหรือเย็น ซึ่งพิจารณาให้เห็นว่าเขาเป็นไปตามเหตุปัจจัย เราควบคุมเขาไม่ได้ ถ้าเริ่มรู้สึกอึดอัด ให้กำหนดในใจว่าอึดอัดหนอๆ ไปเรื่อยๆ แบบสบายๆ ไม่ใช่กำหนดแล้วอยากให้หายอึดอัด จะยิ่งไปเพิ่มความอึดอัดเข้าไปอีก แล้วอาการจะค่อยๆคลี่คลายไปเอง...

เจริญในธรรม

เจ้าของ:  บ้านสวนสุขใจ [ 09 ม.ค. 2016, 19:26 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: จิตจับ(เพ่ง)ที่ลมหายใจมากเกิน ในเวลาที่ไม่ได้เจริญภาวนา

จากอาการที่คุณเล่ามา ผมไม่แน่ใจว่าคำตอบจะใช้ได้หรือไม่ เพราะแต่ละคนอาจแตกต่างกัน สถานการณ์ต่างกัน แต่อย่างไรก็ลองพิจารณาเทียบเคียงเอานะครับ เพราะบางครั้งเหตุที่เกิดกับผมอาจเหมือน หรือต่างกับคุณก็ได้

อาการหายใจแล้วอึดอัด ลองพิจารณาดูว่าคุณบังคับลมหายใจมากเกินไปหรือไม่ เช่นพยายามบังคับให้หายใจยาว ถ้าบังคับชั่วครู่ก็มีผลทำให้เกิดความอึดอัดแน่นหน้าอกได้เช่นกัน โดยปกติแล้วเมื่อเราฝึกสมาธิ การหายใจมันจะเป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อจิตเริ่มสงบลมหายใจจะผ่อนคลาย ละเอียดขึ้น หายใจยาวขึ้นเป็นไปเองโดยไม่ต้องบังคับ แต่ถ้าจิตยังกังวลถึง กิเลส กังวลในกามคุณอยู่ จิตจะไม่สงบ ฟุ้งซ่านง่าย หายใจแรง หายใจหยาบ ลองปล่อยการหายใจให้เป็นตามธรรมชาติของเรา แล้วให้มีสติรู้ตัวว่าหายใจเข้า หายใจออก น่าจะดีขึ้น

อาการเกร็งของร่างกาย อาจจเกิดจากการบังคับร่างกายมากไป เช่นบางคนนั่งขัดสมาธิไม่ได้ ต้องฝืนนั่งมากทำให้ต้องเกร็งตัวมาก ทำให้จิตสนใจที่การเกร็งตัวจึงไม่เกิดสมาธิ อีกกรณีหนึ่งอาจเกิดจากการที่จิตมีความมุ่งมั่นมากเกินไป (ไม่ใช่ความตั้งใจมั่นนะครับ) ร่างกายก็อาจเกร็งขึ้นมาได้โดยที่ตนเองอาจรู้สึก หรือไม่รู้สึกก็ได้ เพราะบางครั้งเป็นอาการเกร็งที่ไม่มาก ระหว่างฝึกสมาธิถ้ารู้สึกตัวว่าร่างกายเกร็งให้ลองผ่อนคลายแล้วเริ่มต้นใหม่

ขอให้แก้ปัญหาได้ไว ๆ นะครับ

เจ้าของ:  muisun [ 15 ม.ค. 2016, 19:49 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: จิตจับ(เพ่ง)ที่ลมหายใจมากเกิน ในเวลาที่ไม่ได้เจริญภาวนา

พระพุทธเจ้าสอนว่าธรรมอันใดแลย่อมเกิดแต่เหตุ พระองค์ทรงสอนให้รู้จักเหตุแห่งธรรมเหล่าเหล่านั้น ให้รู้ถึงความเกิด ความดับ แห่งธรรมเหล่านั้น ต้นเหตุก็คือตัว "จะ" จะปวดหนอๆ จะคิดหนอๆ จะแน่นหนอๆ สังเกตตัวจะให้ไวกว่าความคิด แล้วจะแก้สภาวะที่เปลี่ยนแปลงอย่างคล่องแคล่ว เป็นการแก้สภาวะได้อย่างเฉียบพลันด้วยการรู้ทันปัจจุบันเหตุ

จากสายสืบสั่งสอนนิสัยศาสตร์

เจ้าของ:  หนวดเต่า [ 19 ม.ค. 2016, 21:58 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: จิตจับ(เพ่ง)ที่ลมหายใจมากเกิน ในเวลาที่ไม่ได้เจริญภาวนา

ถ้ารู้ว่าปฏิบัติผิดแล้ว ขอให้เลิกทันที หมายถึงการกำหนดลมหายใจแบบนั้น แต่ถ้ายังฝืนทำ มันก็ลำบาก ใครก็ช่วยไม่ได้ จงปล่อยให้ใจเป็นอิสระแต่ก็มีขอบเขตพอประมาณ อย่าไปกำหนดกฏเกณฑ์ให้กับมัน ความอึดอัด ชื่อก็บอกอยู่แล้ว คือเราไปอัดกระแสความรู้สึกจนเคยชิน โดยเข้าใจว่านั่นคือการปฏิบัติธรรม การเพ่ง และความเพลิน คือสายพิณที่ขึงตึงและหย่อนยาน จงสังเกตมองให้เห็นความพอดีในตัวเอง เพียงเราไม่เริ่มกระแสความรู้สึกใดๆขึ้นมาตั้งแต่แรก ความยุ่งยากก็จะไม่เกิดขึ้น ปล่อยลมหายใจ ให้เป็นไปตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น อย่ากักขังหน่วงเหนี่ยวอารมณ์ จงตระหนักและตื่นรู้ในตัวเอง มีใจให้เหมือนกับอากาศ แผ่กว้างไร้ขอบเขต ไม่ติดแจอยู่กับสิ่งใด เป็นอิสระในการพัดพาในท่ามกลางเคหะวัตถุทั้งหลาย ไม่มีสิ่งใดติดมันได้ และมันก็ไม่ติดในสิ่งใด ใจจริงแท้ ก็เป็นเช่นนั้น แต่ที่ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเรายังไม่รู้จักใจทึ่แท้จริง เราหลงไปเอาเจตนาและความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นใจ เราจึงต้องติดหลงเรื่อยไป

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/