วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 02:35  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ค. 2012, 00:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 พ.ค. 2004, 12:30
โพสต์: 147


 ข้อมูลส่วนตัว www


๑. มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นของมีชีวิตที่อยู่ในโลกนี้ เจ้ากำหนดรู้ความเป็นไปของตนเองกันว่าเช่นไร เนื้ออยู่บนเขียงรอแต่จะให้มีดสับเพื่อความป่นปี้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์สัตว์ก็ขึ้นเขียงรอความเจ็บป่วย ทุกข์โศก แก่ชรา แตกดับ ตายไป นับตนเองอยู่ตลอดเวลาอย่างนั้นเหมือนกัน ผู้ฉลาดควรพาตนออกไปจากเขียงนั้นเสีย

๒. ในโลกนี้ย่อมไม่มีผู้ใดอยู่ได้นานนัก ตามความนึกคิดของเขาทั้งหลาย เพราะสังขารย่อมเดินไปตามทางของมันอยู่นานเข้าก็แก่ แล้วก็ตายหายไปจากโลกต้องเป็นอยู่อย่างนี้แน่นอนและตลอดไป ฉะนั้นไม่ควรหลงใหลกับสิ่งต่างๆ ในโลกให้มากนัก ควรมองโลกนี้เสียให้ชัดให้แจ้ง ให้จริง พาจิตใจและอารมณ์ให้ออกห่างจากโลกนี้เลย

๓. กาลเวลาอันยาวนานนั้นมีอยู่ในโลก แต่จะมีประโยชน์อะไรกับเราทั้งหลาย ที่เกิดมาเพราะเราตั้งอยู่ไม่นานเลย

๔. ผู้ที่ห่วงใยชีวิตอย่างที่สุด ผู้นั้นก็ชื่อว่าห่วงใยทุกข์อยู่อย่างที่สุดเช่นกัน

๕. จะเอาจองจริงแท้แน่นอนได้ที่ไหนในสังขาร มีไหมเล่าหาดูเอาซิ ถ้ามีก็ให้เอา หากไม่มีควรหยุดการสนใจเสีย

๖. คนย่อมติดโลก อยู่ด้วยความพอใจในสิ่งต่างๆ เหมือนกับต้นไม้ที่ติดแผ่นดินอยู่ด้วยราก

๗. ผู้ใดยังรักตนพอใจในตนอยู่ ผู้นั้นย่อมรักได้ในผู้อื่นอีก หากผู้ใดไม่รักไม่เอาในตนเองเสียแล้ว เรื่องจะรักจะเอาในผู้อื่นอีกเป็นไม่มี

๘. การทำตนให้พ้นไปจากทุกข์ทั้งปวง นั่นแหละเป็นการกระทำที่ประเสริฐกว่าการกระทำต่าง ๆ ทั้งหลาย

๙. เกิดเป็นคนจะงามและมีความสุขที่สุดนั้น งามที่เมื่อเกิดมาแล้วในโลก และได้ทำสิ่งต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ให้เกิดขึ้นมาแล้วในโลก และได้ทำสิ่งต่าง ๆ อันจะยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นในภายหน้า ในโลกนี้อันมากไปด้วยความทุกข์นั้นแหละคือความบริสุทธิ์ที่ไร้มลทิน มิใช่ว่าเมื่อเกิดมามีสังขารแล้วจะจ้องแต่หาความสุขในการเสพกามคุณในสังขารร่างกายของฝ่ายตรงข้าม แล้วไปคิดว่านั้นแหละคือความสุข ที่จะขาดเสียมิได้เมื่อเกิดมา การคิดอย่างนั้นมันเป็นเรื่องของคนไม่มีปัญญาตกเป็นทาสของตัณหา ชอบเกลือกกลั้วกับของเหม็นของเน่า แล้วจะเอาความสุขบริสุทธิ์ที่แท้จริงจากไหน กับสิ่งเหล่านั้น

๑๐. ใครเล่าจะห้ามความตายได้ ใครเล่าจะทำตัวเองให้ดีกว่าเก่า ใครเล่าจะทำสิ่งที่ยังไม่รู้ให้รู้ขึ้นมา

๑๑. การศึกษาที่สูงที่สุด คือการศึกษาตัวเอง

๑๒. คนโง่ย่อมหวังอยู่แต่ในสิ่งต่าง ๆ ที่มันเป็นไปไม่ได้ส่วนคนที่ฉลาดแล้ว เขาจะไม่เป็นไปเช่นนั้นเลย

๑๓. สิ่งใดที่เรายังไม่รู้ คนฉลาดควรเชื่อผู้อื่นบ้าง แต่หากรู้หมดจดถูกต้องจริงแล้ว ไม่ต้องเชื่อตามใครก็ได้

๑๔. ความจริง ความถูกต้องทั้งหลาย ที่ผู้รู้ตั้งไว้สั่งสอนจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยสำหรับผู้ทำตนฉลาดไปกว่าท่าน

๑๕. ผู้ที่ไม่ยอมรับความดีของผู้อื่นที่มีอยู่ ก็เหมือนกับเขากำลังทำลายความเจริญของเขาเอง อยู่เช่นกัน

๑๖. อันจิตที่ยังไม่ได้หัด มักจะไปกับความหลงมากกว่าความจริง

๑๗. หากอารมณ์ไม่อาลัยสังขารเกิดขึ้นทุกสิ่งทุกอย่างก็แจ้งสว่างและง่ายไปหมด

๑๘. พวกมีโน่นมีนี่เขาเรียกว่าพวกตายยากพวกไม่มีโน่นมีนี่เขาเรียกว่าพวกเงียบเป็น

๑๙. คนกินมากเขาเรียกว่า คนชอบขี้ คนที่อยากเกิดบ่อย ๆ เขาเรียกว่า คนชอบผี

๒๐. อะไร ๆ ก็หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง แต่คนนั้นหนึ่งบวกหนึ่งเป็นไปหลายกว่านั้น

๒๑. จงนำตัวออกจากสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ถูกต้องด้วยปัญญา

๒๒. ผู้มีปัญญาย่อมทำตนให้ดีได้

๒๓. เมื่อมีจงให้ หากอยากได้จงทำก่อน

๒๔. ทุกสิ่งในโลกนี้มีธรรมอยู่อย่างเด่นชัด แต่เรามองไม่เห็นเองต่างหาก

๒๕. หากคิดว่าจะหยุดเสียแล้ว ก็ไม่ควรที่จะเกินต่อไปเลย

๒๖. เมื่อคิดว่าจะไม่สร้างบ้านเรือนแล้ว ก็ควรหยุดการสะสมซึ่งไม้เสีย

๒๗. ไฟย่อมร้อนในผู้อยู่ชิด ผู้อยู่ห่างต่างทิศ ไฟจะมีพิษเข้าได้อย่างไร

๒๘. คนกลัวหนาม ย่อมไม่เข้าป่าหนาม และหนามก็ปักเขาไม่ได้เป็นธรรมดา คนไม่กลัวหนามย่อมเข้าป่าหนาม และหนามก็ต้องปักเขาเป็นธรรมดา

๒๙. การจากสิ่งที่ตนรักเป็นเรื่องจริงของสัตว์ทั้งปวง

๓๐. เมื่อเกิดก็เกิดมาเพื่อตาย ทำไมจึงอยากเกิด ความเกิดขึ้นคือความทุกข์ ความอยากคือสิ่งทำให้ทุกข์

๓๑. เมื่อความอยากสิ่งต่างๆ ในโลกนี้มีได้ อันความไม่อยากในสิ่งนั้นๆ ในโลกก็มีได้เช่นกัน

๓๒. คนจริงย่อมไม่ยุ่งเกี่ยวกับของเล่น คนชอบเล่นย่อมไม่รู้จักความจริง

๓๓. ผู้สำรวมแล้ว ย่อมรู้จักความวุ่นวาย ของผู้อื่น

๓๔. สิ่งใดในโลกนี้ที่ว่าอัศจรรย์ ก็อัศจรรย์เถิด แต่คนที่เกิดมาในโลกแล้ว ไม่มีกิเลศเลยนั้นแหละอัศจรรย์นัก

๓๕. ของใดที่ไม่เที่ยงตรง เป็นไปต่างๆ ไม่ได้ดังใจเราของนั้นๆ ล้วนเป็นของหลอกนะ ควรพาใจและอารมณ์ออกจากสิ่งนั้นๆ เสีย

๓๖. การบวชเป็นสิ่งที่จะทำให้พ้นทุกข์ได้ หากว่าบวชกันแล้วแต่ไม่ยอมปฏิบัติให้ถึงซึ่งความพ้นทุกข์ อันเป็นของที่ทำได้ผู้นั้นก็เปรียบเหมือนนักแสดงการละเล่นต่าง ๆ อยู่เท่านั้น

๓๗. ความสุขของสังขารไม่เคยขาดความทุกข์

๓๘. จิตแจ้งแล้วก็หาย ปัญญาแจ้งแล้วจึงสบาย

๓๙. คนที่ชื่อว่าผู้รู้ย่อมทำตนให้พ้นทุกข์ได้ ส่วนคนที่ว่ารู้โน่นรู้นี่ รู้อะไรๆ มากมาย แต่ยังปรุงแต่งเหตุให้ตนเองทุกข์อยู่ ที่ว่ารู้ๆ รู้อะไร

๔๐. ต้นตาลย่อมไม่ยุ่งยากเหมือนกอไผ่ฉันใด คนที่มีกิเลสตัณหาความปรุงแต่งน้อย ก็ไม่ยุ่งยากเหมือนคนทำตัวเป็นเศรษฐี ฉันนั้น


แก้ไขล่าสุดโดย jojam เมื่อ 29 พ.ค. 2012, 00:08, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ค. 2012, 00:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 พ.ค. 2004, 12:30
โพสต์: 147


 ข้อมูลส่วนตัว www


๔๑. การที่เราจะจับช้างใส่รูปูนั้นเป็นของยาก และก็เป็นไปไม่ได้ด้วย อันนี้ฉันใด การที่จะสอนคนที่มีกิเลสตัณหาความปรุงแต่งอันมากมายให้เห็นนิพานนั้น ก็ยากยิ่งดุจเดียวกัน

๔๒. ทุกคนย่อมมีเหตุผลของตนเอง แต่เหตุผลจะไปในรูปไหนทางใด นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

๔๓. มนุษย์และสัตว์ในโลกนี้อยู่แล้วกับคนใบ้ ตัวเขาเองนั้นเป็นคนบ้า โลกเขาไม่เคยศึกษาเราเลย เรานั่นแหละเป็นผู้ศึกษาฝ่ายเดียว

๔๔. ผู้รู้ไม่มีในโลก ผู้ที่มีในโลก เป็นแต่ผู้อื่นต่างหาก

๔๕. ที่ว่ารู้ ๆ กันนั้นมีสองอย่าง คือ รู้จักความหลงและรู้จักนิพพาน

๔๖. ในโลกนี้มนุษย์จะสร้างอะไรทำอะไรต่างๆ ขึ้นมาก็ได้ตามปัญญาความคิดเห็นเป็นไปของเขา แต่การรับผิดชอบต่อสิ่งต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นนั้นมีน้อยนัก หรือว่าแทบไม่มีเลย เพราะสิ่งที่มนุษย์สร้างและปรุงแต่งอยู่ เขาไม่รู้ว่าอันสภาพความเป็นจริงนั้นควรเป็นอย่างไร

๔๗. ที่ว่าหลง หลงนั้นก็มาจากรู้นั่นเอง ที่ว่ารู้ รู้นั้นก็มาจากหลงไปแล้วนั่นเอง อะไร ๆ ก็เอาเป็นอะไรไม่ได้ หากจะบอกว่าโลกนี้ไม่มีอะไรเลย ก็ยังไม่รู้จักกันอีก

๔๘. การรู้เห็นของคนทั้งหลายในไข่ไก่ไข่เป็ด ถ้าจะเห็นก็เห็นว่าเปลือกไข่หุ้มล้อมและปิดบังไข่ขาวอยู่ ไข่ขาวก็ปิดล้อมและบังไข่แดงอยู่ แต่จะเห็นไปอีกว่า ไข่แดงนั้นก็ยังบังตัวเองอยู่อีกนั้น จะเห็นได้ไม่ง่ายเลย

๔๙. การดูจิตของตนเอง ย่อมเห็นไปหลายอย่างตามภูมิจิตของตน ผู้นั้นจะมีความสงสัยบ้างว่า จิตที่มั่นคงและดีกว่าจิตทั้งหลาย จะเป็นจิตเช่นไร ก็ความไม่มีทุกข์เลยตลอดเวลามีอยู่ที่ใด ที่นั้นแหละเป็นที่ยิ่งกว่าที่ยิ่งทั้งหลาย

๕๐. เรื่องจิตนั้น หากจะเรียกว่าจิตดีต้องให้สุขทุกข์หายไปก่อน
๕๑. การจะทิ้งสังขารนั้นทิ้งง่าย เพราะรู้อยู่เมื่อแตกดับแล้วก็จะหายไป แต่การจะทิ้งจิตนั้นทิ้งยากนัก หากไม่รู้จักว่ามันมีอยู่เพราะเหตุใด มันจะไม่มีเพราะเราทำแบบไหน หากไม่รู้และทำตามนี้แล้วจะทิ้งจิตได้เป็นไม่มี

๕๒. หากคนไม่เดินจะเอารอยเท้ามาจากไหนหากคนไม่สร้างสัญญาขึ้นจะมีสิ่งต่างๆ ได้อย่างไร

๕๓. พระพุทธองค์นั้น ท่านรู้อย่างหนึ่ง และสอนเราอีกอย่างหนึ่ง ท่านรู้สุญญตา คือความว่างเปล่า แต่สอนเราว่ามีโน่นมีนี่ เพราะอะไร เพราะเราถนัดกันแต่ความมีนั่นเอง

๕๔. ผู้รู้แจ้งเห็นจริงถึงที่สุดแล้ว ย่อมเห็นรู้และเข้าใจว่าโลกนี้สงบยิ่งนัก แต่ผู้ไม่รู้จริงหรือจะพูดไปตามโลกก็จะพูดว่าโลกนี้ยุ่งยากมากมาย

๕๕. พระองค์ผู้รู้จึงบอกเราว่าธรรมจริงต้องรู้ด้วยตนเองแต่ให้รู้อยู่ในหลักเหตุผล และเป็นสิ่งที่เป็นได้ อย่าได้ทะเลาะกัน เรื่องธรรมเลย เพราะไม่มีที่สิ้นสุด

๕๖. ผู้รู้หมดจดแล้วย่อมเป็นอยู่ในสิ่งต่าง ๆ เพียงการพิจารณาเท่านั้น

๕๗. ความกึ่งไม่มีเลยในโลก เช่น ความดีก็ไม่กึ่งกับความไม่ดี ความหยาบก็ไม่กึ่งกับความละเอียด ความมีก็ไม่กึ่งกับความไม่มี

๕๘. มนุษย์ย่อมคิดว่าโลกนี้เป็นของเขา ส่วนสัตว์ทั้งหลาย เขาก็ว่าโลกนี้เป็นของเขาเหมือนกัน เพราะอะไรจึงเป็นอย่างนั้น เพราะว่ามีแต่พวกบ้าอยู่ด้วยกันนั่นเอง

๕๙. พระนิพพานคือหมดอาลัยหมดหลง หมดทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยมี และทำตนให้หายไป

๖๐. ผู้ที่คิดว่าตนปฏิบัติธรรมถึงที่สุดแล้ว คือพ้นทุกข์และมีความคิดอยู่ว่า สติก็ดี ปัญญา สมาธิ จิต และวิญญาณ นี้แหละเป็นองค์ของนิพพาน ต้องมีอยู่ในนั้น จะขาดเสียมิได้ ถ้าคิดอย่างนั้นเขายังไม่รู้จักนิพพานเลย

๖๑. ใครเล่าไปตั้ง วัน เดือน ปี เกิด ให้ลม ฟ้า อากาศ เขาเป็นอยู่กันอย่างไร เขาเคยพูดกับท่านบ้างไหม และท่านไปรู้จักเข้าได้อย่างไร

๖๒. ที่จริงโลกนี้ ไม่ใช่ที่ศึกษา ไม่ใช่ของศึกษา เพราะศึกษาอย่างไร ทำอย่างไร โลกก็เป็นไปตามโลกนั่นเอง ควรแยกใจเสียว่าโลกนั่นเองเป็นอย่างนั้นๆ นอกจากโลกแล้วก็ไม่มีอะไร

๖๓. การกล่าวธรรมนั้นไม่ว่ากล่าวไปมากมายสักเท่าใดก็จะกล่าว แต่ในกลาง ๆ ของธรรมเท่านั้น ไม่มีอะไรที่จะกล่าวต้นธรรมและคำสุดท้ายของธรรมได้

๖๔. โลกุตตรธรรมนั้นไม่มีเลยในพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกก็เป็นพระไตรปิฎกนั่นเอง แต่หากไม่รู้จักพระไตรปิฎกก็ไม่เข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องเหมือนกัน โลกุตตรธรรมนั้นไม่มีเลยในธรรมที่จะให้คนศึกษา เพราะว่าหากเป็นโลกุตตระแล้วจะศึกษาอะไรกันอีก เมื่อยังต้องศึกษาอยู่ เป็นแต่โลกียธรรมทั้งหมด

๖๕. พระนิพพานนั้นแท้จริงแล้วมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น คือ สุญญตา หากจะพูดเป็นสองว่ามีบ้างไม่มีบ้าง ก็เพียงเป็นแต่พอจะพูดได้เท่านั้น แต่จะให้มีน้ำหนักไปว่า นิพพานมีอะไรอยู่นั้นไม่มีเลย

๖๖. หากไม่มีอะไรแล้ว จะมีอะไรหากไม่มีทุกข์ ทุกข์ที่ไหนจะมี หากไม่มีอะไรแล้ว อะไรที่ไหนจะมีอีก

๖๗. สิ่งใดที่รู้ได้ พูดได้ เข้าใจได้ อยู่ทุกสิ่งล้วนแต่สมมุติทุกข์ สุข บาป บุญ สวรรค์ นิพพาน ก็เป็นไปตามที่สมมุติรู้ สมมุติเข้าใจก็คนว่ามันมี มันจึงมี ถ้าหากว่าไม่มี มันจะมีมาจากไหน พูดได้ทำได้ เรียกว่ากายสมมุติ คิดได้รู้ได้เรียกว่าใจสมมุติ แต่นิพพานนั้นก็พ้นได้จริง ตามความเป็นไปของจิตสัตว์ ส่วน ทุกข์ สุข บาป บุญ ก็มีอยู่จริง ตามอุปาทานสมมุติของสมมุติสัตว์

๖๘. หากท่านจะว่าความสมมุติไม่มีถึงขนาดนั้น ท่านควรเข้าใจและรู้เห็นความจริงในโลกนี้ให้ถูกต้องเสีย ลมหรือฟ้า หรือโลกนี้ พระอาทิตย์ เดือน ดาว ภูเขา แมกไม้ สิ่งเหล่านี้หรือบอกกับท่านว่ามนุษย์ทั้งหลาย ท่านจงตั้งชื่ออย่างนี้ให้เรานะเขาบอกท่านอย่างนี้บ้างไหม ในตัวเรานี้มีเนื้อ มีกระดูก มีเลือด มีลมนี้ เขาก็บอกให้ท่านตั้งให้เขาหรือ ถ้าท่านจะตอบให้ถูกก็ต้องเงียบ คือไม่มีอะไร เขาเหล่านั้นล้วนไม่มีท่าน แล้วท่านจะมีด้วยอะไร

๖๙. การจะกล่าวธรรมใด ๆ ก็ตาม หากจะให้พ้นไปจากสมมุตินั้นไม่มีเลย หากยังพูดได้ทำได้รู้ได้ คิดได้ เข้าใจได้อยู่ล้วนแต่เป็นสมมุติทั้งนั้น เหมือนขว้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นบนฟ้าแล้วตกลงมาหาโลกอีก จะให้พ้นไปจากนั้นไม่มีเลย สมมุติต่าง ๆ ก็เหมือนกัน

๗๐. ความตั้งอยู่ ตั้งขึ้น มีขึ้น ของสิ่งต่างๆ ทั้งหมดย่อมเป็นไปด้วยเหตุสองอย่าง
๑. มีของที่ตั้งอยู่ ๒. มีสิ่งรองรับให้ตั้งอยู่ได้

๗๑. เดินมากก็มีรอยมาก เดินน้อยก็มีรอยน้อย หากไม่เดินเลยก็ไม่มีรอยเลย คบคนมากก็มีเพื่อนมาก คบคนน้อยก็มีเพื่อนน้อย ไม่คบคนเลยก็ไม่มีเพื่อนเลย ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ก็เหมือนกัน เราว่ากันว่าต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ ต้องอย่างโน้น ปรุงไปมากมาย หลายอย่าง มันจึงมีอะไร ๆ ขึ้นมาได้ หากเราไม่เกี่ยวพันกับสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมด แล้วจะมีอะไรได้ที่ไหน

๗๒. หากโลกนี้ไม่มีเสียแล้ว เมื่อฝนตกลงมาจะถูกโลกไปไม่ได้ หากผู้ใดมาทำตัวให้ว่างเปล่าหายไปได้จริงๆ แล้วทุกข์ต่างๆ จะถูกเข้าได้อย่างไร เหมือนกับฝนตกมาถูกโลกไม่ได้ก็ฉันนั้น

๗๓. บาตรรั่วเพราะสนิมกัดกร่อนฉันใด คนปล่อยกิเลสตัณหาตั้งบ้านเรือนอยู่ในใจได้ ก็ต้องทุกข์อยู่เช่นนั้นเหมือนกัน

๗๔. จงรู้จักความว่างความเบา ความไม่ขัดข้องในทุกสิ่งให้รู้จักความเฉย ๆ อยู่ของจิต หาสุขและทุกข์ไม่มีในนั้นแม้ความเฉยๆ นั้น ก็ให้เลือนไปเสีย

๗๕. การปฏิบัติตนนั้น หากเราถามจิตว่า มีอะไรบ้างที่ยังเกี่ยวกันท่านอยู่ หากเขาบอกว่ามีอยู่บ้าง แม้ที่เขาบอกนั้นเพียงเล็กน้อย นั้นชื่อว่าการงานยังมีอยู่ หากถามเขาเมื่อไหร่ ยามใด เขาไม่มีสิ่งตอบเราเลย เหมือนกับถามคนใบ้นั้น จงรู้เถิดการงานต่างๆ หมดสิ้นแล้ว

๗๖. หากทำโลกนี้ให้หาย ความตายก็ไม่มี หากมีความพอใจ อยู่ที่ไหนก็เป็นสุข

๗๗. คนไม่รู้จักธรรม อยู่ด้วยกันคุยกัน สนทนากันเป็นการเพิ่มความบ้าให้มากขึ้น

๗๘. ผู้รู้ธรรมแม้ไม่เกี่ยวข้องกับใครเลย ความสว่างย่อมเต็มเปี่ยมในตัวเขาเอง

๗๙. ไม่ควรประมาทสิ่งต่างๆ ที่เรายังไม่รู้จัก

๘๐. ท่านทั้งหลาย หากทุกสิ่งในโลกนี้ แม้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่อาจมาเป็นนายของท่านได้ ฉันใด ท่านก็จะเป็นนายของสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นเช่นกัน

๘๑. ผู้ปฏิบัติธรรมที่อยากพ้นทุกข์ ต้องให้เน่าเสียก่อนจึงดี

๘๒. ว่าไม่มีก็มีอยู่ ว่ามีก็หาไม่เห็น ว่ามีก็ไม่ถูก ว่าไม่มีก็ไม่ถูก

๘๓. หากคนรู้ว่าใต้ดินนั้นมีทองคำฝังอยู่ตรงไหน เขาจะต้องขุดเอาทองคำนั้นขึ้นมาทันที หากคนทั้งหลายรู้ว่านิพพานเป็นอย่างไรจริงๆ แล้ว เขาจะไม่ทำตัวกันอยู่อย่างเก่าเลย

๘๔. คนจะพ้นทุกข์ต้องรู้จักหมดจด แผลต่างๆ เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมมีแผลเป็น หากได้ทำแผลเป็นให้ไม่มีได้ ผู้นั้นจะพ้นทุกข์

๘๕. หากคนจะหาผลมะม่วง จากต้นมะม่วงในเวลาไม่ใช่ฤดูมีผล เขาจะไม่เห็นไม่ได้มะม่วงเลย หากจะหาความจริงจังให้ได้ให้เห็น ให้มีขึ้นในคน ก็จะมีจะเห็นไปไม่ได้ เหมือนกับหามะม่วงแล้วไม่ได้มะม่วง หาความจริงจังจากคน ก็จะไม่มีไม่ได้เลยเช่นกัน

๘๖. หากจิตท่านยังไม่ตรึงแท้ ย่อมอ่อนไหวไปตามแรงลม

๘๗. อริยสัจจ์สี่ คือก่อไฟดับไฟๆ ก่อขึ้นได้จริงและก็ร้อนได้จริง ดับก็ดับได้จริง และก็เย็นได้จริง ฉันใดความทุกข์ย่อมมีได้จริงกับสัตว์โลกทั้งหลาย แล้วก็ไม่มีได้จริงๆ อีกด้วยเช่นกัน

๘๘. จุดมุ่งหมายของธรรมอันเป็นที่สุด คือจะแยกน้ำออกจากบ่อ แยกน้ำออกจากโอ่ง แยกต้นไม้ออกจากแผ่นดิน และทำของที่มีให้ไม่มี

๘๙. เสน่ห์ของหญิงย่อมซึมเข้าไปอยู่ในใจของชาย เสน่ห์ของชายก็ย่อมซึมเข้าไปในใจของหญิง เหมือนกับน้ำที่ซึมอยู่ในไม้สดฉะนั้น

๙๐. การจะเอาอะไรมาเปรียบนิพพานนั้น ไม่มีสิ่งใดที่จะเหมือนและให้เข้าใจชัดได้เลย แม้แต่สุญญตาที่ว่าหมดจดแล้วก็ยังหยาบนัก สำหรับพระนิพพาน

๙๑. ความเป็นไปต่าง ๆ ของโลกคือความหลง กับการพ้นจากความหลงแล้ว คือรู้จักพระนิพพาน นั้นเป็นของที่ต่างกันมากนัก หากจะเปรียบก็เหมือนกับกลางวันและกลางคืนทีเดียวหากว่าผู้รู้จักนิพพานแล้ว จะมีทุกข์ได้อีก ก็เป็นว่ากลางวันและกลางคืนเป็นอันเดียวกัน หากกลางวันและกลางคืนไม่เป็นอันเดียวกันแล้ว ผู้รู้จักนิพพาน จะมีทุกข์ได้ด้วยอย่างไร

๙๒. การกล่าวธรรม ต้องกล่าวไปตามชั้นนั้น ๆ ของธรรมหยาบบ้างละเอียดบ้าง จะกล่าวเหมือนกันไปหมดไม่ได้ เหมือนกับเราเดินไปที่สูง เราก็ว่าที่สูง เดินไปที่ต่ำเราก็ว่าที่ต่ำ เดินไปที่รกเราก็ว่าที่รก เดินไปที่เตียนเราก็ว่าที่เตียน หากเดินไปที่รกเราไปว่าที่เตียนมันไม่ถูกนะ

๙๓. หากเราเข้าถึงสิ่งเราไม่เข้าใจ อันความตายเป็นอันวิ่งหนีไปแล้ว

๙๔. ที่ว่ารู้ ๆ กันนั้นจะรู้อะไร ๆ ก็ชั่ง แท้จริงเป็นแต่ความหลงทั้งหมด สิ่งที่ว่ารู้นั้น ก็เหมือนสิ่งที่ยืมเขามาพูด หากจะหาดูจริงก็ไม่รู้อีกว่าใครเป็นผู้ยืม ใครเป็นผู้พูด ก็แต่ที่พูดอยู่ทั้งหมดนี้ก็เป็นแต่เพียงความบ้าอย่างเดียวตลอดถึงคำสุดท้าย

๙๕. เห็นอนิจจัง ได้โสดา เห็นทุกขังอ่อนๆ ได้สกิทาคา เห็นทุกขังชัดได้อนาคา เห็นอนัตตาได้อรหันต์ คือ หมดอนิจจังทุกขัง

๙๖. หากใครหาเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา บ้างเป็นส่วน ๆ ความมัวเมาในโลกนี้ จะจางไปมากทีเดียว

๙๗. การอยู่โดยสงบไม่มีทุกข์ใด ๆ คือการถึงแล้วแห่งที่สุดของการปฏิบัติ

๙๘. หากทำความเข้าใจในธรรมได้ถูกต้องแล้ว ก็เท่ากับว่าจบหลักสูตรแล้วของการเกิดขึ้นในโลก

๙๙. จิตรกรผู้ชำนาญ ย่อมเขียนภาพต่างๆ ได้อย่างวิจิตรพิสดารมากมาย จิตของสัตว์โลกทั้งปวง ก็เหมือนแก้วสารพัดนึก ย่อมกำหนดสิ่งต่างๆ ขึ้นเป็นสัญญาได้สารพัดสิ้นแล้วเข้าอาศัยเป็นไปกับสิ่งต่าง ๆ ที่ตนสร้างขึ้น

๑๐๐. หากใครรู้ว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีขึ้น อันอยู่ในจิตของเขานั้น เกิดขึ้นมีขึ้นมาได้ด้วยอย่างไร เขาจะรู้จักจิตที่ว่างเปล่าอันหมดจดที่ถูกต้องได้อย่างแน่นอน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ค. 2012, 00:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 พ.ค. 2004, 12:30
โพสต์: 147


 ข้อมูลส่วนตัว www


๑๐๑. สมองบังคับกาย จิตบังคับสมอง นิพพานบังคับจิต นิพพานคืออะไร คือ การหมดไปของตัวมันเอง สิ่งใดที่อยู่เหนือกาย ทำให้กายให้เป็นไป สิ่งนั้นเรียกว่าสมอง สิ่งใดอยู่เหนือสมองทำสมองให้เป็นไป สิ่งนั้นเรียกว่าจิต การเป็นไปของจิต อันเข้าถึงความหมด หยุดแล้ว เพราะเหตุนั้น การขาดจากการเป็นตัวของมัน คือ จิตจึงได้มีขึ้น

๑๐๒. หากไม่มีต้นไม้ จะมีอะไรไหว ยามลมพัด

๑๐๓. หากสอนคนให้ไปสวรรค์ได้หมื่นคนแสนคน ก็สู้สอนคนๆ เดียวให้รู้จักนิพพานไม่ได้

๑๐๔. สุขแท้จริงจะเกิดได้ หากเราทำความทุกข์ให้หมดไป

๑๐๕. คนเราในโลกนี้จะพูดแต่เรื่องตัวเองนั่นแหละมากที่สุดผู้ที่พูดเรื่องผู้อื่นมีน้อย

๑๐๖. สุขทุกข์นั้นแหละเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นที่เกิดของบาปบุญต่างๆ ทั้งหลาย

๑๐๗. เกิดมาแล้วควรทำความดี เอาไว้เป็นตัวอย่างในโลกนี้บ้าง แม้แต่ไส้เดือน ยังมีคนชมว่าเขาช่วยทำให้ดินดี

๑๐๘. ปลาหนองเดียวกันไม่ว่าปลาเล็กปลาใหญ่ ปลาอะไรก็ชั่ง เมื่อน้ำแห้งย่อมตายหมดเสมอกัน เวลายังอยู่ด้วยกันอย่าขัดข้องกันนักเลย จงทำตัวให้พอเหมาะพอสม และอยู่ด้วยกันอย่างเป็นสุข สงบเถิด

๑๐๙. กลางวันย่อมทำตัวเองให้เป็นกลางวัน คือมีความแจ้ง กลางคืนย่อมทำตัวเองให้เป็นกลางคืน คือมีความมืดคนมีกิเลสอยู่ก็เหมือนกัน ย่อมทำตัวไปในสิ่งต่างๆ ด้วยความมืดมัวตามฐานะของตนที่ตั้งอยู่

๑๑๐. ผู้ใดรู้ความไม่ใช่ตน ไม่ใช่ตัวชัดจริงๆ จนหายสงสัยในสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว ผู้นั้นจะรู้ความพ้นทุกข์อันแท้จริงไปได้อย่างแน่นอน

๑๑๑. คนฉลาดย่อมไม่ทำตนเองให้ตกไปอยู่ในทุกข์ทั้งปวง

๑๑๒. จงรู้จักความว่างเปล่าให้ชำนาญชัดเจนจนหายสงสัยในสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่

๑๑๓. อันโลกนี้มองให้มีมันก็มี มองให้ว่างมันก็ว่าง

๑๑๔. คำของผู้รู้ที่กล่าวไว้กับการเข้าใจของคนที่ศึกษาภายหลัง จะไปกันละทางเสียเป็นส่วนมาก ผู้ปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดเดียวกัน จึงเป็นไปหลายแบบ

๑๑๕. การยิ้มผู้เดียวที่ถูกต้องย่อมเป็นอาการของผู้รู้ที่หมดสิ่งปิดบังแล้ว

๑๑๖. ความมีไม่มีจะมาจากไหน เพราะไม่มีอะไรเลยที่รู้จักตัวเอง

๑๑๗. การงานในโลกนี้มีมาก แต่งานคือการหาความพ้นทุกข์ เป็นงานที่ควรพิจารณาอย่างยิ่ง

๑๑๘. อันธาตุสี่นั้น หากจะดูกันอย่างธรรมดาก็จะมีสี่อย่าง คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ หากจะดูกันให้ชัดถูกต้องกันเข้าไปก็จะมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น

๑๑๙. ไข่ย่อมเกิดก่อนไข่ แต่ไม่ใช่ไข่ออกมาจากไก่นะ ไก่ทำไข่มาได้อย่างไร ไข่ก็ทำตัวเองมาได้อย่างนั้นเหมือนกัน

๑๒๐. ธาตุเกิดย่อมมีอยู่เต็มไปหมดในโลก ทั้งบนบกในน้ำทั้งในที่มืดที่แจ้ง ทั้งที่หยาบละเอียดเหมือนกับผลไม้ที่ดกอยู่เต็มต้นนั่นแหละ

๑๒๑. สุข ทุกข์ บาป บุญ เป็นของปลอม สำหรับพระอริยเจ้า แต่เป็นของจริงแท้สำหรับปุถุชน คนธรรมดาทั้งหลายเหมือนกับเพชร ทอง ของมีค่า ย่อมเป็นของปลอม สำหรับเป็ด ไก่ ช้าง ม้า วัว ควาย คือ เห็นแล้วก็ไม่สนใจเลย แต่เป็นของจริงสำหรับมนุษย์ทั้งหลาย

๑๒๒. เขาว่ากันว่าเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง ส่วนคนเราทั้งหลายไม่ชอบเลยในขี้ แต่กลับไปชอบเอายอดขี้

๑๒๓. มีหนึ่งเหมือนไม่มี หากมีสองกลับเป็นสาม

๑๒๔. อนิจจัง คือ โลกแท้ ทุกขัง คือโลกปลอมๆ อนัตตาไม่มีใครรู้เลยว่าเป็นอะไร

๑๒๕. งูลอกคราบ ต้นไม้ผลัดใบ ไก่ถ่ายขน ก็คนควรนำความไม่ดีไม่ถูกต้องออกจากตนอย่างนั้นบ้างเหมือนกัน

๑๒๖. ในโลกจักรวาล ในความเห็น ความเป็น ความมี ความเข้าใจในสิ่งไหน ๆ ใดๆ ทั้งหมด ทุกสิ่งทุกอย่างที่ว่ากันว่ามีอยู่ในโลก หากจะว่ามีแล้ว ก็มีอยู่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น สิ่งเดียวที่ว่าคือความมีอยู่นั่นเอง สิ่งที่มีไปแปรไปเป็นไปต่างๆ ทั้งหลาย เป็นเพียงแต่อาการของสิ่งที่มีอยู่ก่อนเท่านั้น เปรียบเหมือนกับหินหรือปูนที่เขาย่อยเขาทำให้ละเอียด แล้วเอามาทำเป็นนั้นเป็นนี้ เช่น สร้างโบสถ์ก็เป็นโบสถ์ สร้างศาลาก็เป็นศาลากุฎีวิหารบ้านเรือน ก็เป็นไปได้ทุกอย่างตามที่ทำนั้น

๑๒๗. กรรมย่อมเป็นใหญ่กว่าสิ่งทั้งปวง ในการควบคุมการเป็นไปของสิ่งต่างๆ เหมือนกับคนที่มีความเป็นอยู่ด้วยลมลักษณะของตัวกรรมที่คนเราเรียกก็คือ การกระทำนั่นเอง แต่ตัวกรรมแท้ๆ ที่มีอยู่ เป็นอยู่ของเขา คือการเป็นอย่างโน่นบ้าง อย่างนี้บ้าง ตามเหตุตามปัจจัย ที่พอจะเป็นอย่างไรได้ ก็เป็นอย่างนั้นทันที ควบคุมสิ่งต่างๆ ที่ไม่อยู่คงที่เอาไว้ตลอดเวลาโลกนี้มีความไม่คงที่เป็นลักษณะโลกนี้จึงพ้นจากกรรมไปไม่ได้เลย

๑๒๘. โลกมีความไม่อยู่คงที่เป็นลักษณะ ที่เห็นมีการเกิดการตายกันอยู่ตลอดมานั้น จะเรียกว่า เป็นของคงที่ไม่ได้ นั่นเป็นเพียงอาการอย่างหนึ่งที่จะให้เราหลงไปตามต่างหาก แท้จริงทุกสิ่งทุกอย่างมีเกิดขึ้นจุดใด ก็ผ่านจุดนั้นไปทันทีหมดไป ดับไปจากลักษณะนั้นทันที เช่น เหมือนตอนคนเราแรกเกิดใหม่ตอนอยู่ในท้องเป็นของเล็กมาก เล็กจนหารูปร่างลักษณะไม่ได้ ไม่เห็น พออยู่นานเข้าก็มีลักษณะใหม่ คือ มีรูปร่างตัวตนแขน ขา ศีรษะ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ย่อมทิ้งลักษณะเก่าที่เคยมีอยู่ไปเสีย และมีลักษณะใหม่มาแทน พร้อมกับสิ่งเก่าก็หมดไปด้วยเช่นกัน เหมือนกับเมื่อมีต้นไม้เกิดขึ้น ย่อมผ่านเมล็ดมาแล้ว เมื่อต้นไม้ใหญ่ขึ้น ย่อมผ่านต้นเล็กไปแล้ว เมื่อกิ่งไม้ใบไม้ดกหนาดีย่อมผ่านความมีใบมีกิ่งอันน้อยไปแล้ว

๑๒๙. หากผู้ใดมีอารมณ์เพ่งอยู่ในธรรม สอดส่องดูความเป็นไปของสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่เห็นอยู่ในโลก เขาควรพิจารณาดูที่เมฆ ให้เห็นไปตามความเป็นจริง ตามเหตุตามปัจจัยหากเห็นในเมฆไปตามความจริงอย่างถูกต้องแล้ว อย่างที่ว่าจะรู้ได้เข้าใจได้ในความเป็นมาของโลก ของจักรวาล และทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมดที่มีขึ้นมาได้ อย่างไร แบบไหน เพราะเมฆนั้นเป็นจุดรวม เอาความเป็นไปของสิ่งต่างๆ ไว้แล้วทั้งหมด

๑๓๐. มนุษย์ย่อมมองข้ามตนเองไปว่า ความจริงเราเป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งเท่านั้น เรื่องต่างๆ ทั้งหลายจึงมีออกไปมากมาย

๑๓๑. ความมีไม่มีเป็นเรื่องของโลกทั้งหมดส่วนนิพพานท่านว่า จะไปว่ามีหรือไม่มีก็ไม่ถูก เป็นของที่ต้องรู้เองเห็นเองและหมดเรื่องไปเอง

๑๓๒. หากไม่มีทิศตะวันตกตะวันออก ทิศเหนือ ทิศใต้แล้วก็ไม่ต้องกำหนดกันว่า ยาวเท่านั้นสั้นเท่านี้ ไกลเท่าโน้นกว้างเท่านั้น หากไม่มีอย่างว่านี้ ความว่างเปล่าก็ควรเกิดขึ้น หากไม่มีคำว่าอันนั้นหยาบ อันนั้นละเอียด เช่นเห็นโลกนี้ โลกอื่น ก็ว่าหยาบ เห็นอากาศเห็นลมก็ว่าละเอียด หากการกำหนดอย่างว่านี้ไม่มีเสีย ความว่างเปล่าก็ควรเกิดขึ้น หากไม่มีคำว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือดิน น้ำ ลม ไฟ เสียแล้ว ความว่างเปล่าอันเป็นธรรมดาย่อมเป็นไปเองของเขา

๑๓๓. คนตาบอดย่อมมองไม่เห็นสิ่งต่างๆ ได้ฉันใด คนไม่มีปัญญาก็ย่อมมองไม่เห็นธรรมอันประเสริฐที่มีอยู่ฉันนั้น

๑๓๔. แต่งกายนอก กายในหลง แต่งกายใน กายนอกไม่พอใจ

๑๓๕. เพราะความหลงมีมาก่อน สิ่งเรียกว่าทุกข์จึงเกิดมีขึ้น หากพ้นจากความหลงได้แล้วก็หมดเรื่องกันไป ไม่ต้องไปว่าจะมีอะไร หรือไม่มีอะไรที่ไหน ๆ อีก

๑๓๖. จิตไม่ใช่เรา วิญญาณไม่ใช่เรา สติ สมาธิ ปัญญา อวิชชา วิชชา ความหลง ความรู้อะไรๆ ก็ไม่ใช่เราทั้งนั้นแต่การว่าอย่างนั้นๆ มีขึ้น สิ่งนั้นๆ ก็เกิดขึ้น

๑๓๗. อันมนุษย์นั้นหากยังไม่รู้ด้วยตนเองแล้ว ก็ไม่วายจะสงสัยผู้อื่นอยู่เรื่อยไป

๑๓๘. ผู้ใดรู้จักความหมดไปของสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้องแล้ว ผู้นั้นจะไม่สงสัยพระนิพพานเลยว่าเป็นอย่างไร

๑๓๙. สิ่งใดแม้รู้ได้ว่ามีอยู่ แต่หากรู้ความไม่ใช่ตนแล้วจะไปว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้มีได้อย่างไร

๑๔๐. ความเป็นไปต่างๆ ของมนุษย์ และสิ่งต่างๆ ทั้งหลายทั้งหมดในโลก ในจักรวาลนี้ เป็นแต่เพียงธรรมชาติเขาแปรสภาพตัวเขาเองไปเท่านั้น

๑๔๑. พุทธัง คือ ตัวเองรู้ตัวเอง ธัมมัง คือ ตัวเองปรากฏชัด สังฆัง คือ ตัวเองย่อมเป็นไป

๑๔๒. หากเรารู้จักความทุกข์ว่าทุกข์อยู่ แต่ก็ยังปล่อยตัวเองให้เป็นไปอยู่อย่างนั้น ไม่ทำความจบให้เกิดขึ้นเสีย นั่นเป็นการต่ออายุทุกข์ให้ยาวออกไปอีก

๑๔๓. การที่จะเข้าถึงความว่าง โดยการเอาอัตตาตัวตนหรือการกำหนดแม้อย่างใดก็ตามทุกประการ นั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย และการที่จะเอาความว่างให้เข้าถึงความว่างนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และก็เป็นไปไม่ได้ เช่นกัน

๑๔๔. ไม่มีสิ่งใดเลยทั้งหมดที่บางกว่าอวิชชาไม่มีสิ่งใดเลยอีกเช่นกันทั้งหมดที่หนาไปกว่าอวิชชา เหมือนกับโลกที่ตั้งอยู่ในความว่าง

๑๔๕. ถ้ามีเหตุ ก็มีผล เพราะมีเหตุจึงมีตน หากไม่มีเหตุก็ไม่มีอะไร

๑๔๖. การเอาไม่เอาหรือว่ามีไม่มี ก็ไม่ดีทั้งนั้น ผู้ปฏิบัติควรรู้จักสายกลางอย่างแท้จริงเสีย

๑๔๗. ใช่ถ้าภาวะสิ้นไปของกิเลสปรากฏขึ้น ภาวะนั้นย่อมผ่องใส แต่ก็มิใช่ของใครผู้ใด

๑๔๘. ธรรมอันเป็นที่สุดทุกข์ของสัตว์ทั้งหลายนั้น มันไม่อยู่ในที่ใดๆ ทั้งหมด เมื่อยังหากันอยู่ในสิ่งนั้น นั่นมันเป็นสิ่งตรงข้ามไปแล้ว

๑๔๙. เมื่อมีการดำเนินไปกับสิ่งต่าง ๆ อยู่ และทุกข์เกิดขึ้นเรียกได้ว่ามีกิเลส มีจิต เมื่อเป็นไปกับสิ่งต่าง ๆ แล้ว ทุกข์ไม่เกิดขึ้นเอง นั้นไม่มีกิเลส ไม่มีจิต

๑๕๐. รูปขันธ์ทั้งปวง มีการรวมกันเข้าของธาตุเป็นที่ตั้งการตั้งอยู่ของสัตว์ทั้งปวง มีอุปาทานเป็นที่ตั้ง

๑๕๑. ไม่มีสิ่งใดเลยทั้งหมดที่มีเจ้าของ แต่เมื่อมีผู้ถือเอาก็มีเจ้าของ

๑๕๒. ธรรม คือ ความรู้ หากรู้แล้วละก็เป็นธรรม อันเป็นที่สุด หากรู้แล้วไม่ละก็เป็นธรรมที่ไปเรื่อยๆ

๑๕๓. หากสัตว์ทั้งหลายมีศีลจริง ๆ เขาก็ไม่ตั้งอยู่ในโลกแล้วทุกขณะ เพราะสัตว์ทั้งหลายไม่มีศีลจริง ๆ เขาจึงตั้งอยู่ในโลกแล้วทุกขณะ

๑๕๔. เมื่อมีสิ่งหนึ่งตั้งขึ้น สิ่งต่างๆ ก็มีออกไปอีก หากเรารู้จักการหมดไปของสิ่งหนึ่งนั้นอย่างถูกต้องแล้ว การปรากฏหรือกำหนดใดๆ ก็ไม่มีได้โดยทุกประการ

๑๕๕. สิ่งใดเอาไม่ได้ไม่ควรเอา หากเราเอาในสิ่งที่เอาไม่ได้เป็นการมีความเห็นผิด เมื่อมีความเห็นผิด ก็เข้าถึงความจริงไม่ได้

๑๕๖. ไม่อยากแข็ง อย่าเป็นของหยาบ ไม่อยากอ่อนอย่าเป็นของละเอียด ไม่อยากทุกข์อย่ามี

๑๕๗. จงทิ้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้ลืม รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสถูกต้อง และความรู้ ความเข้าใจอะไร ๆ ทั้งหมด

๑๕๘. คาถาล้างโลก สนใจ ตื่นตัวกลัวทุกข์ ทำความเข้าใจโลกนี้เสียให้ถูกต้อง ว่าเป็นอย่างไรกันแน่

๑๕๙. การบวชเป็นที่ร้อนรุ่ม สำหรับผู้วุ่นวายแต่เป็นที่สบายสำหรับผู้สงบ

๑๖๐. อันพันธุ์ไม้นานาย่อมมีดอกมีลูกเป็นผล ส่วนพระสัทธรรมอันที่บริสุทธิ์ ก็มีผลเช่นกัน คือความสุขสงบและอมตะ

๑๖๑. สัตว์ทั้งหลายทุกตัวตน มีทุกข์อันเป็นสมบัติตายตัวอยู่แล้วด้วยกันทุกตน คือ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เพราะอย่างนั้น ไม่ควรทำความทุกข์ในกันและกันอีก

๑๖๒. ผู้ใดเห็นสิ่งต่าง ๆ และมีการกำหนดขึ้นว่า ทำไมเป็นอย่างนั้นทำไมเป็นอย่างนี้ เพราะอะไรเป็นไปได้อย่างไร หากมีความเห็นไปอย่างนั้น เขาเหล่านั้นจัดได้ว่าเป็นคนปัญญาอ่อนหรือจะว่าไปอีกมันไม่ควรเลย ที่เขาจะมีความคิดไปอย่างนั้น

๑๖๓. สมองเป็นกายละเอียดของกายหยาบ สมองเป็นกายหยาบของจิต

๑๖๔. หากรู้จักสมาธิอันเป็นที่สุดก็เท่ากับว่ารู้จักจิตรู้จักโลกรู้จักธรรมทั้งปวง

๑๖๕. ผู้เข้าใจธรรมถึงที่สุดแล้ว การเป็นอยู่ของท่านถ้าจะว่าอยู่ดูโลก ถ้าจะว่าไม่อยู่ดูอะไรเลย ก็ไม่อยู่ดูอะไรเลย

๑๖๖. บาปบุญ คือ อนิจจัง สัตว์โลกทั้งหลายเมื่ออุบัติขึ้นมาแล้ว ก็ถือเอาอนิจจัง ก็มีบาป มีบุญ ตลอดกาล

๑๖๗. หากจะเดินทางโดยมากก็ชอบเดินทางเตียน แต่การดำเนินชีวิตของมนุษย์ในโลก จะเป็นไปแต่ทางรกเสีย เป็นส่วนมาก ทั้ง ๆ ที่ทางดีก็มีอยู่

๑๖๘. เมื่อใดบุคคลทำจิตให้ไม่มีกังวลได้ เมื่อนั้นย่อมเกิดสมาธิ แล้วย่อมเกิดปัญญา แล้วย่อมเกิดความรู้เห็นตามความเป็นจริง ย่อมหลุดพ้นจากสิ่งทั้งปวงด้วยความรู้นั้น

๑๖๙. อะไรเป็นกิ่ง อะไรเป็นใบ อะไรเป็นดอก อะไรเป็นผล อะไรเป็นต้น อะไรเล่าเป็นอะไรทั้งหมด

๑๗๐. การพูด ทำ คิด สิ่งใด ๆ ลงไป ความโง่ย่อมวิ่งออกไปก่อนแล้วเสมอ

๑๗๑. ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่แล้วตลอดเวลา แล้วแต่ใครจะรู้จักเอาไม่รู้จักเอาเท่านั้น

๑๗๒. เวลาโง่อยู่ไม่อยากโลภ ก็โลภ ไม่อยากหลงก็หลง ไม่อยากโกรธก็โกรธ ไม่อยากทุกข์ก็ทุกข์ เมื่อรู้แล้วอยากโลภก็ไม่โลภ อยากโกรธก็ไม่โกรธ อยากหลงก็ไม่หลง อยากทุกข์ก็ไม่ทุกข์ เหมือนอยากให้หน้าหนาวเป็นร้อน ก็ไม่เป็นนะ

๑๗๓. ความทุกข์ คือ ความโง่ ความฉลาดหากฉลาดไม่จริงก็ทุกข์อีก ต้องฉลาดให้เลยทุกข์ จึงพ้นทุกข์

๑๗๔. โลกนี้ไม่ดีเลย มีแต่ความแก่ ชรา ทรุดโทรม พลัดพราก แตกดับ สารพัดไปด้วยทุกข์ทั้งปวง เมื่อยึดถือการเดินทางไกลนำของหนักไป ยิ่งเป็นไปเพื่อลำบาก หากนำไปด้วยตลอดก็เป็นเพื่อทุกข์ส่วนเดียว ทิ้งเสียได้เมื่อไหร่จึงหมดความขัดข้องทั้งปวง

๑๗๕. ผู้รู้อยู่ก็เหมือนไม่อยู่ ไม่อยู่ก็เหมือนอยู่ มีก็เหมือนไม่มี ไม่มีก็เหมือนมี ทั้งจะว่ามีหรือไม่มีก็ไม่ใช่ อย่างนี้แหละจึงเป็นความอัศจรรย์ยิ่งนักในความเป็นอยู่ของท่าน

๑๗๖. ศีลมีทุกเวลาที่ไม่ทำผิด สมาธิมีทุกเวลาที่ไม่วุ่นวาย ปัญญามีทุกเวลาที่เข้าใจถูกต้อง วิมุตติมีทุกเวลาที่ไม่พัวพันในสิ่งใด ๆ ทั้งหมด

๑๗๗. เราต้องพิจารณาในทุกสิ่งที่เราเกี่ยวข้อง เพราะหากเรายังไม่รู้จริงทุกสิ่งจะชวนให้เราติด หากเรารู้เท่าทันตามความจริงแล้วก็ไม่มีอะไรติดอะไรไปเอง เพราะไม่มีของติดไม่ใช่ของมีไม่ใช่อย่างนั้น

๑๗๘. บุญทำให้ความเป็นอยู่ของโลกเหมาะสมปลอดโปร่ง บาปทำให้การเป็นอยู่ของโลกขัดข้องเกะกะ บาปและบุญเป็นเรื่องของการน้อมใจไปยึดถือด้วยความหลง จึงมีขึ้นมาและมีอยู่จริง ๆ ตามสภาพที่หลงนั้น ๆ ตามความสมมติ

๑๗๙. การกำหนดว่ามีนั้น มีนี้ ไม่น่าจะมีได้ เช่นว่า โกรธกันรักกัน ดีกว่ากัน ไม่ดีกว่ากัน อันนั้นตาย อันนั้นเกิด สุขทุกข์และอะไร ๆ อีกก็ไม่ควรมีได้ ถ้าจะว่าไปแล้วสิ่งต่าง ๆ มีหลายอย่างในโลกนี้ แต่ก็เหมือนไม่มี เพราะเขาไม่รู้จักกันและกันเลยมีแต่สิ่งนี้แหละว่าอย่างนั้นว่าอย่างนี้ได้อย่างไร คือที่กำหนดว่าเป็นตนเป็นตัวกันแต่ที่จริงไม่ควรเป็นได้ คือไม่ควรเป็นตนมีตนได้ เพราะว่าที่เป็นตนเป็นมีที่ว่านี้ อันที่จริงแล้วก็คือส่วนหนึ่งอันมีอยู่ในโลกเหมือนอย่างอื่นที่ว่าไว้ก่อนนั้น เมื่อเป็นส่วนเดียวกัน ส่วนก่อนนั้นไม่ปรุงแต่งสิ่งใด หรือรู้จักใครอะไรที่ไหนส่วนที่ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ๆ จะเป็นได้อย่างไร เอาอะไรมาเป็นที่ว่าสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้มีอยู่มากมายด้วยกัน แต่ไม่มีอะไรรู้จักกันเข้าใจกันเลย และว่าตนๆ นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งอย่างเดียวกันนั้นจึงแท้จริงแล้วไม่ควรผิดหรือต่างกันออกไปเป็นอะไรๆ ได้ ถ้าจะดูกันให้สุดเกลี้ยงจริงๆ แล้ว ความจริงทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่มีอะไรเลยที่รู้จักตัวเอง

๑๘๐. โลกนี้ไม่ใช่เรานะ ไม่ใช่เราแน่ ๆ ใช่ไหม คราวนี้โลกนั่นพร่องอยู่เพราะยังไม่เต็ม ที่ไม่เต็มเพราะเราไปแยก เอาโลกมาเป็นของเรา ๆ ต้องเอาโลกที่ถือว่าเป็นเรานี้ อันเป็นส่วนของเขาเอาไปคืนของเขาตามเดิมให้เต็มของเขาเสีย คราวนี้ก็เข้าใจเองว่าอะไรเป็นอะไร

๑๘๑. หากจนอยู่ต้องทำงาน เมื่อมีขึ้นมาบ้างจะไปว่ารวยแล้วก็ไม่ได้ หากยังมียังเอาอยู่ เป็นแต่ความจนทั้งหมด

๑๘๒. การปฏิบัติที่ถูกต้องตรงต่อความพ้นทุกข์เพียงอย่างเดียวคือทำตัวให้เหมาะสมในทุกสิ่ง ไม่ให้ความขัดข้องเกิดขึ้นได้ โดยประการทั้งปวง

๑๘๓. การที่คนยึดถือตัวตน ก็เพราะไม่รู้จะไปยึดถืออะไรความคิดอย่างนั้นมีอยู่ การที่เขาจะไม่ยึดถืออะไรเลยก็ไม่ใช่เรื่องจะเป็นไปไม่ได้

๑๘๔. หากไม่เอาสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ทั้งหมดแล้ว สิ่งดีก็จะได้ขึ้นมาเองเหมือนไม่เอาการเดินไปเดินมา อันเป็นความเหนื่อย ความสบาย คือการนั่งอยู่ก็มีขึ้นแน่นอน นี่เป็นหลักธรรมดา

๑๘๕. ความรู้เห็นของคนนั้นต่างกัน คำพูดจึงต่างกันความเข้าใจจึงต่างกัน เพราะอะไรก็เพราะความต่างกันนั่นเอง

๑๘๖. ท่านอย่าสนใจเรื่องมีไม่มีเลย หากความทุกข์ในใจของท่านมีอยู่จริงๆ แล้ว ควรสนใจนิพพานเถิดว่าเป็นอย่างไรกันแน่

๑๘๗. ธรรมที่ว่าเป็นสัตว์บ้างเป็นคนบ้าง เป็นเทวดาอินทร์พรหม และที่เรียกจิตวิญญาณ สติ สมาธิ ปัญญา วิชชา อวิชชา หรืออะไร ๆ ทั้งหมด ที่เขาว่ากันอย่างนั้น ตั้งชื่อกันอย่างนั้น หากว่าเราจะว่า จะเรียก เราจะว่าเพียงว่า คือความมีอยู่ที่เป็นไปเปรียบเหมือนกายมีอยู่ อาการของการที่เป็นไปนั่นคือการเป็นไป จิตวิญญาณ จะว่าคือของมีอยู่ก็ได้ สติ สมาธิ ปัญญา หรืออะไรอื่น ก็คืออาการของจิตที่เป็นไป ก็จิตนั้นมีขึ้นได้เพราะสมมุติเกิดขึ้นก่อนเท่านั้น หากไม่เข้าไปตั้งในสมมุติเป็นสมมุติรู้พ้นไปจากสมมุติแล้ว จิตจะมีอยู่ที่ไหน อะไรๆ จะมีอยู่ที่ไหนจึงไม่มีอะไรที่ไหน ๆ เลย จึงไม่ตายไม่เกิด และไม่มีอะไรๆ เป็นอะไรทั้งหมด ไม่ขาด ไม่สุญ ไม่มี

๑๘๘. โลกนี้ย่อมเกะกะไปด้วยกิเลส ความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน เปรียบเหมือนฟ้าที่เต็มไปด้วยเมฆหมอกและหมู่ดาวเดือนอันทำให้ไม่ปลอดโปร่ง หากสัตว์โลกทั้งหลายมากมายเท่าใดก็ตาม ได้รู้จักนิพพานแล้ว โลกนี้ก็ว่างเปล่าสิ้น เหมือนฟ้าไม่มีเมฆหมอก ดาวเดือน พระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งอยู่นั้น แม้แต่ฟ้านั้นก็ไม่มีอยู่เลยอีกด้วย

๑๘๙. หากท่านจะเป็นเจ้าของชีวิตท่านก็โง่นักแล้วที่ปล่อยให้ตัวเองต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องป่วย แตกดับตายไป เมื่อไม่คิดว่าตนเองมีอย่างนั้นในนั้น แล้วท่านจะเข้าใจอย่างไรอีก

๑๙๐. เราก็เป็นสัตว์โลกผู้หนึ่ง หรือว่าเราเป็นธรรมชาติจุดหนึ่งก็ได้ เมื่อมีอะไรต่ออะไรอยู่นั้นก็เป็นอย่างนั้นๆ เราก็หลงว่าดีมีความชอบไปในสิ่งนั้นๆ ก็เพราะความอย่างนั้นที่จะรู้ความวิเศษอันยิ่งกว่านั้น ให้เกิดขึ้นแก่ตนก็มีขึ้นไม่ได้เลยหากเรายังอยู่ในภาวะเก่า เมื่อธรรมชาติขุ่น เริ่มสงบหยุดนิ่ง มีความใสขึ้นความต่างจึงมีออกไปอีก และจะเปรียบเทียบกันไม่ได้เลยในของสองสิ่ง คือ เก่ากับใหม่ อันมีความเป็นมาจากสิ่งเดียวกัน

๑๙๑. เรื่องสังขารนั้น ดูให้ดีว่าอะไร มันมีเรามีเขาได้อย่างไร มันใช่อย่างนั้นจริง ๆ ไหม ที่ถูกต้องแล้วมันควรจะเป็นอย่างไร

๑๙๒. ปัญหาต่างๆ จะหมดไปสิ้น เมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้องในความไม่ใช่ตน

๑๙๓. อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กิเลส และอื่น ๆ อีกมากมายอันเป็นของไม่ดี มีขึ้นได้เพราะการยึดถือตัวตนเพียงอย่างเดียว

๑๙๔. ทุกอย่างเป็นแต่ผู้อื่นทั้งหมด เขาเป็นอย่างนั้น ๆ เขานั้นไม่ใช่เราด้วย เราจะมีอยู่ที่ไหน เมื่อไม่มีเรา (เรา) จะทุกข์ได้อย่างไร ด้วยอย่างนี้จึงหมดสภาพเก่า แล้วเข้าถึงอสังขตธรรม อันไม่ปรุงแต่งใด ๆ ทั้งหมด จึงเป็นอมตะด้วยอย่างนี้

๑๙๕. วัว ฝูงหนึ่งเลี้ยงอยู่ในทุ่งกว้าง หากไม่มีกำแพงใหญ่ล้อมรอบ วัวนั้นอาจสูญหายได้ วัวฝูงนั้นเลี้ยงในที่เช่นนั้นหากมีกำแพงล้อมรอบความสูญหายจะไม่มีเลย

๑๙๖. เพราะน้ำไหลตามคลองจึงทำสองฝั่งให้ทลาย เพราะปล่อยอารมณ์ออกไป ความสุขความทุกข์จึงเกิดขึ้น

๑๙๗. การทำความเป็นอันเดียวกับสังขารให้ขาดลง นั้นแหละ คือความรู้อันถูกต้องหมดจด เป็นภาวะของความไม่ตายอันยอดเยี่ยม

๑๙๘. ทุกข์เพราะความปรุง ปรุงเพราะความหลง หลงเพราะไม่รู้ความต้องออกไปจากนั้น

๑๙๙. พระพุทธเจ้าสอนให้เราไม่เป็นอันเดียวกับสิ่งที่มีอยู่ก่อนทั้งหมด ทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็นได้ รู้เข้าใจได้ คือ สิ่งที่มีอยู่ก่อนทั้งหมด สิ่งนั้น ๆ ย่อมเป็นสิ่งนั้น ๆ เอง ไม่มีอะไรเป็นอะไรเพราะไม่เข้าใจความเป็นไปอย่างนั้น ๆ เอง ไม่มีอะไรเป็นอะไรเพราะไม่เข้าใจความเป็นไปอย่างนั้น ๆ จึงว่าตน ๆ ขึ้นมา ที่ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ รู้นั้นรู้นี้นั้น ก็เพราะความหลงนั่นเอง หากเห็นไปตามสภาพความเป็นจริงได้แล้ว การจะไปว่าตัวตนก็ไม่มีและสิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายที่ว่ามีอยู่อย่างนั้น เมื่อรู้จักความไม่มีตัวตนแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่มีไปด้วยจึงถูก สุดทั้งสองส่วนไม่มีเราและไม่มีอย่างอื่น

๒๐๐. คนเขาจะฆ่าหมู เขาก็เลี้ยงหมูนั้นให้อ้วนสมบูรณ์ดีเสียก่อน ฉันใด กิเลสตัณหา อันจะทำให้เราหลงติดอยู่ เขาก็มีมารยาสารพัด ทำให้เราหลงนั่นชอบนี่ติดโน่น และเมื่อหลงเขาแล้วก็ไม่มีทางพ้นทุกข์ไปได้

๒๐๑. ความทุกข์ของสัตว์โลกทั้งหลาย มีเพราะทรัพย์สมบัติบ้านเรือน อาหาร บุตรหลาน ญาติมิตร และตัวเอง เพราะมีเพราะเอาสิ่งนั้น ๆ จึงทุกข์ ต้องทิ้งไปเสียทั้งหมด

๒๐๒. อันกายนี้ เขามีมาอย่างใดก็ไม่รู้ไม่เข้าใจ ยังไปว่าตัวเราของเราอีก หากเป็นเราก็ต้องรู้ว่ามีมาแต่ไหน อย่างไรนี่ก็ไม่รู้จักกันเลยจริง ๆ แล้วไปเอาอะไรมาว่าเป็นนั่นเป็นนี่

๒๐๓. ถ้าท่านรู้จักความไม่มีตัวตน ท่านก็ไม่ตายแล้วเพราะความไม่มีตัวตนจะตายได้อย่างไร เอาอะไรที่ไหนตายการที่จะไม่มีตัวตน ก็ต้องไม่ยึดถือในสิ่งใด ๆ ทั้งหมด การไม่ยึดถือในสิ่งใด ๆ ทั้งหมด ก็ต้องเห็นไปตามความจริงว่า ไม่มีตัวตนของเราในที่ไหน ๆ ใด ๆ เลย

๒๐๔. อิสรเสรีนั่นแหละ คือความร่ำรวยพอเพียง พร้อมพรั่ง ไม่อับจนเลยโดยประการทั้งปวง อย่างนั้นบุคคลควรเข้าถึงอิสระเสรีอย่างถูกต้องกันเสียโดยอย่างเดียว

๒๐๕. ความยุ่งยากเราเป็นผู้ทำขึ้นเองนะ ทางไม่อยากเป็นเศรษฐีแต่งความทุกข์ ก็ต้องหยุดมี หยุดเอาเสียทั้งหมด

๒๐๖. เห็นเศรษฐีทำงาน อย่าไปว่าเศรษฐีจน คนจนไม่ทำงานนั่นแหละจะอดตาย

๒๐๗. ของละเอียดรวมกันเข้าก็เป็นของหยาบ เมื่อของหยาบกระจายออกไปก็เป็นของละเอียดอีก ถ้าจะว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็มีแค่นี้ไม่เห็นต้องพูดหรือกำหนดอะไร ๆ กันมากมายและของละเอียดหรือของหยาบนั้น ก็เพราะมีการเข้าไปตั้งไปว่า ไปกำหนด จึงมีขึ้น เป็นไป

๒๐๘. น้ำขุ่นย่อมทำลายความใสของตนเสีย น้ำใสก็ทำลายความขุ่นของตนเช่นกัน ผู้วุ่นวายขัดข้องไปในสิ่งต่าง ๆ เขาก็ทำลายสิ่งควรได้ควรถึง คือความสุขสงบอันแสนวิเศษเสียแล้ว ก็ผู้ใดหาความขัดข้องไม่มีเลยในทุกสิ่ง ผู้นั้นถึงแล้วในความได้ที่ถูกต้องอันสมบูรณ์

๒๐๙. ถ้าจะเปรียบโลกียะโลกุตตระ เหมือนกับการนับหนึ่งถึงร้อย ก็ต้องเปรียบว่าโลกียะ เหมือนกับการนับหนึ่งไปถึงไหนก็ชั่ง หากยังไม่ถึงร้อยก็ยังเป็นโลกียะทั้งหมด การนับหนึ่งถึงร้อย แล้วเรียกว่าโลกุตตระ ไม่ถึงร้อยก็ไม่ใช่ร้อยนั้นก็ไม่ใช่ไม่ถึงร้อย เรียกว่ายังปรุงอยู่ ร้อยนั้นคือ การเฉยอยู่ เป็นการลวงอย่างลึกลับที่พูดไม่ได้

๒๑๐. มดหามช้างไม่ไหว คนโง่เป็นอันมากจะรู้ธรรมได้อย่างไร

๒๑๑. เราจงช่วยกันทุกวิถีทาง จะได้เกิดความสุขรวมกัน

๒๑๒. ความดีนี้เกี่ยงกัน ความชั่วนั้นแย่งกันเอา

๒๑๓. ทำทุกสิ่งด้วยจริงใจคงได้ผล จะไม่จนหากขยันหมั่นทำการ

๒๑๔. จงดำรงชีวิตอยู่โดยความบริสุทธิ์ เหมือนปุยเมฆยามขาวฟ่องอยู่เต็มฟ้า

๒๑๕. ไม่มีสิ่งใดเลยทั้งหมดที่รู้จักตัวเอง เพราะอย่างนั้นไม่มีอะไรเป็นเอกลักษณ์ เป็นส่วนเป็นใหญ่อยู่โดยเฉพาะโดยลำพังอันเป็นตัวเองไม่มีเลย อย่างนี้แหละพระพุทธองค์จึงเห็นสุญญตา คือ ที่จริงนั้นเป็นความว่างเปล่าอยู่แท้ ๆ ความรู้จักนิพพาน จึงเกิดขึ้น และพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่างได้โดยแท้จริงตามความรู้เห็นนั้น

๒๑๖. เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องตายแน่ ๆ ชีวิตไม่ใช่ของคงที่เป็นของน่ากลัวมาก เป็นเรื่องใหญ่ที่ควรทำความเข้าใจอย่างเร่งรีบ

๒๑๗. หากความรู้เห็นตามความเป็นจริง ยังไม่เกิดขึ้น ความโง่ ความหลง ความทุกข์ ก็มีอยู่ด้วยตลอดกาล เหมือนกับผ้าเปียกน้ำอยู่ หากยังไม่แห้งจริงก็ยังเปียกอยู่นั่นเอง

๒๑๘. โลกนี้ก็มีแต่โลกนี้ จะมีสิ่งอื่นก็หามิได้ สิ่งอื่นก็สิ่งอื่นจะมีโลกนี้ด้วยก็หามิได้ ผู้รู้สิ่งอื่นจึงไม่มีโลกเกี่ยวข้องเลย แต่การจะรู้สิ่งอื่น ก็ต้องรู้โลกนี้ให้หมดเสียก่อน หากรู้โลกนี้ยังไม่ตลอดก็ยังเกี่ยวข้องกับโลก เป็นอันเดียวกับโลกอยู่อีกเหมือนคนอยู่ในบ้านอยู่ จึงจะอยู่ตอนไหนที่ใด ก็เป็นอันยังอยู่ในบ้านนั่นเอง

๒๑๙. ความสุขสงบมีอยู่ตลอดเวลาในผู้เพ่งธรรมอันวิเวกเงียบสงบไม่วุ่นวายใดๆ อยู่

๒๒๐. สังขตธรรม คือ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก คำว่าโลกนั้นย่อมหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มี ที่เห็น ที่รู้ ๆ ได้ เข้าใจได้ทั้งหมด ส่วนอสังขตธรรม คือ ธรรมที่ไม่ปรุงแต่งนั้น ตรงกันข้ามกับโลกทั้งหมด ผู้เข้าถึงจึงหมดสภาพเดิม เพราะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน หากเรารู้จักโลก คือ ส่วนสังขตธรรมที่ปรุงแต่งอย่างถูกต้องเต็มส่วนแล้ว เราจะรู้จักธรรมชาติอันไม่ปรุงแต่งอันเป็นสังขตธรรมนั้นขึ้นมาทันที

๒๒๑. อยู่ที่ไหนให้มีใจหนักแน่นเหมือนแผ่นดินเป็นที่ตั้งจะทำประโยชน์อันจะเกิดความผาสุกต่อกันให้เกิดขึ้นจงได้ จะไม่มีการขัดข้องต่อสิ่งใด ๆ โดยประการทั้งปวง

๒๒๒. สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยงหาที่ตั้งตัวตนไม่ได้ ธรรมะเป็นของอัศจรรย์มากตามที่ผู้รู้กล่าวกันมาก และเป็นของที่จะรู้เข้าใจได้ด้วยตนเอง มิใช่สิ่งปิดบังซ่อนเร้นใด ๆ ทุกคนที่เกิดมาแล้วเมื่อจะถึงซึ่งความตายด้วยกันทั้งหมด เวลายังอยู่น้อยมากก็ตามควรทำความเข้าใจในธรรมให้มากที่สุด หรือรู้เห็นเข้าใจหมดสิ้น

๒๒๓. การว่าอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นที่เกิดขึ้นของสิ่งต่าง ๆ ทั้งปวง การไม่ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นที่หมดไปของสิ่งของต่าง ๆ ทั้งปวง

๒๒๔. น่าสงสารผู้ศึกษาจิตมากๆ แต่ปัญญาเข้าไม่รู้จริงเขาย่อมได้ความทุกข์เพราะจิตของเขานั้น เหมือนคนแบกของหลายอย่าง เขาก็หนักในของ ๆ เขาที่มีอยู่นั่นเอง

๒๒๕. ชีวิตเป็นของน่าศึกษาแท้ ทั้งเวลาเป็นอยู่ และเวลาตายไปแล้ว การศึกษาชีวิตก็เหมือนกับห้วงน้ำวน หรือต้นไม้ที่มีความเป็นไปหลายอย่าง เช่น มีเมล็ด มีต้น มีดอก มีผล มีอะไร ๆ อีกหลายอย่าง แล้วก็เป็นอย่างนั้นอย่างนั้น

๒๒๖. อนิจจังเหมือนเมฆที่หนาบ้างบางบ้าง ทุกขังคือการเป็นอย่างนั้น ๆ ของอนิจจัง อนัตตาคือความไม่มีจุดที่จะเป็นอะไรแน่ลงไป

๒๒๗. ความทุกข์ย่อมแฝงอยู่ในความสุข เหมือนความหนักที่มีอยู่ในเหล็กในหิน หากผู้ใดไม่ติดในสุข ถือเอาในสุขความทุกข์ก็จะมีกับเขาไม่ได้เลยเช่นกัน

๒๒๘. ในโลกนี้มีคนอยู่สองพวก คือโง่และฉลาดแต่จะฉลาดหรือโง่ก็ตาม หากยังมีทุกข์อยู่เพียงใด ก็เป็นพวกเดียวกันทั้งหมด

๒๒๙. การเอาของอร่อยออกจากปากคนตะกละย่อมไม่ถูกใจเขาเลยฉันใด การบอกคนชอบทำชั่ว บาปกรรมให้หยุดเสียเด็ดขาดจะถูกใจเขาที่ไหนเล่า

๒๓๐. สัญชาติแมลงวันจะไปรู้ไปสนใจอะไรกับกลิ่นดอกไม้คนโง่หมกมุ่นอยู่แต่ในบาปกรรม จะรู้จักความถูกต้องดีงามได้อย่างไร

๒๓๑. พระนิพพานเป็นอมตะ เป็นเครื่องอยู่ที่รู้แล้วไม่แปรผัน มิใช่สัญญา เป็นธรรมชาติ ที่กล่าวให้รู้ไม่ได้โดยสมมุติ

๒๓๒. นิพพานที่มีการปลงสังขาร หรือมีการกำหนดสถานที่นิพพานหรืออะไร ๆ อีก เป็นนิพพานที่น่าสงสัย เหมือนกับคนที่พูดเรื่องมนุษย์ต่างดาว โดยที่เขายังไม่เคยรู้จัก

๒๓๓. จิตคือสมมุตินั่นเอง เมื่อรู้พ้นสมมุติแล้วก็หมดจิตเหมือนว่ามีสิ่งหนึ่งเพราะเหตุนั้นจึงมีสิ่งหนึ่ง หากว่าหมดสิ่งหนึ่ง เสียก็ไม่มีสิ่งใดอีก

๒๓๔. จิตคือการเริ่มต้น จิตเป็นต้นแห่งพลังงาน

๒๓๕. เร็วที่สุดก็จิต ช้าที่สุดก็จิต หยุดอยู่เฉย ๆ ก็จิตเหมือนรถวิ่งเร็วที่สุดก็เรียกว่ารถ วิ่งช้าที่สุดก็เรียกว่ารถ หยุดอยู่เฉยก็เรียกว่ารถ

๒๓๖. เรื่องเข้านิโรธนั้นจะว่าเข้าก็ว่าได้ แต่ว่าไม่มีผู้เข้าหรือว่าสิ่งใดอยู่ในนั้น

๒๓๗. สังขารุเปกขาญาณนิโรธที่สุดโลก อัพยากฤตเป็นสิ่งเดียวกัน สังขารุเปกขาญาณเป็นนิโรธ อ่อน ๆ ที่เริ่มเข้าสู่ภาวะของนิโรธใหม่ๆ คือเริ่มรู้อารมณ์ของนิโรธใหม่ ๆ แล้วก็แวบไปเข้าถึงการหมดของตัวมันเองทันที

๒๓๘. ความจริงเรื่องทุกข์นั้นมีบ้างไม่มีบ้าง เหมือนคนร้อยคน พันคน ก็คนเหมือนกัน แต่หน้าตาไม่เหมือนกัน เรื่องนี้แหละ เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจให้ดี

๒๓๙. ความโง่ทำให้คนหลงบุญ หลงบาป เลี้ยงตัวเองไว้ให้ทุกข์นานๆ ด้วยการเวียนว่ายตายเกิด เปรียบเหมือนฟืนที่เลี้ยงไฟไว้เผาตัวมันเอง

๒๔๐. สติทำให้ญาณก้าวหน้าทำให้ปัญญาเจริญ

๒๔๑. ของอร่อยเป็นพิษ ทำจิตและอารมณ์ให้เน่า

๒๔๒. ความมีอยู่ นิ่งอยู่ เฉยอยู่ เป็นอัพยากตาธรรม

๒๔๓. ความขยับเขยื้อนเคลื่อนออกไปมา เป็นกุสลาและอกุสลาธรรม

๒๔๔. หากจะมีสิ่งใดที่ไม่ดีแล้ว สู้ไม่มีเลยดีกว่า

๒๔๕. หากจะหาตน จงหาตนที่ไม่ใช่ตน

๒๔๖. การไม่เอาสิ่งใด ๆ เลย เป็นความรวยอย่างอัศจรรย์

๒๔๗. ชีวิตนั้นเหมือนของตกหล่นหาเจ้าของไม่ได้ อันของตกหล่นนั้นผู้ใดเห็นก็เก็บเอาเสีย ชีวิตก็เหมือนกันหาเจ้าของไม่ได้อย่างว่า จึงถูกความแก่เก็บเอาบ้าง ความเจ็บป่วยเก็บเอาบ้าง ความทุกข์ความตายเก็บเอาบ้าง ใคร ๆ จะเก็บก็ได้ทั้งนั้น เพราะความไม่มีเจ้าของ

๒๔๘. ทุกข์ต่าง ๆ ย่อมมาจากความรัก หากหยุดความรักเสียได้ ทุกข์จะมีมาแต่ไหน

๒๔๙. ความเงียบสงบไม่วุ่นวายใด ๆ เป็นที่สุดของสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมด

๒๕๐. ควรทำอดีตอนาคตให้เป็นแต่เพียงปัจจุบันเสียและทำปัจจุบันนั้นให้หายไปอีก

๒๕๑. ทุกข์มีอยู่เพียงใด ความพ้นทุกข์ก็มีอยู่เพียงนั้นเพราะความพ้นทุกข์คือความไม่ทุกข์

๒๕๒. คนที่เกิดมาแล้วจะมีความสุขที่สุดนั้น คือ คนทำตนให้ไม่มีบาปเลย ทำความดีต่อผู้อื่นให้มากที่สุด ไม่หวังผูกพันเกี่ยวข้องต่อใคร และสิ่งใด ๆ ทั้งหมด หมายความว่า แม้การเข้าใจตั้งไว้ว่า ตนของตนก็ไม่มี

๒๕๓. สิ่งที่สัตว์โลกควรทำอย่างที่สุดเลย คือการรักษาโรค เกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้หายขาด

๒๕๔. ไฟที่ดับดีแล้วย่อมไม่มีความร้อนอีก ผู้หมดกิเลสแล้วก็ไม่แสดงกิเลสออกมาอีก และไม่เป็นไปในสิ่งต่าง ๆ เหมือนเช่นผู้ที่ยังไม่ดับ

๒๕๕. กาลเวลาย่อมเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ได้เสมอ ทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน

๒๕๖. เพราะปัจจุบันนั้นเองจึงมีอดีต อนาคต แต่การมีขึ้นได้ของปัจจุบัน ก็เป็นไปด้วยความหลง ผู้รู้ความเป็นไปอย่างนั้นตามสภาพอย่างถูกต้องแล้ว ก็รู้เห็นได้ตามความเป็นจริง

๒๕๗. มืดคู่กับสว่าง ตายคู่กับเกิดอยู่ มีคู่กับไม่มีฉันใด นิพพานก็คู่กับสมมุติฉันนั้น

๒๕๘. ผู้ใดหมดภาวะแห่งความยึดถือว่าตัวเองตนเองในสิ่งใด ๆ ทั้งหมดแล้ว ผู้นั้นพ้นแล้วจากเขียงเขาไม่ต้องใช้มีด คือ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย สับตัวเองได้อีกต่อไป

๒๕๙. จงอย่าวุ่นวายยุ่งยากไปในสิ่งต่าง ๆ เพราะการยุ่งยากวุ่นวายนั้นเป็นทุกข์ จงอย่าเอาสิ่งที่ไม่ดี สิ่งใดที่มีความแตกสลายไป ไม่ตั้งอยู่ได้สิ่งนั้นไม่ดี

๒๖๐. แน่ใจหรือชีวิตนี้เป็นของเรา ควรเร่งเข้าให้ถึงถิ่นไม่มีภัย

๒๖๑. หากคนหลงติดตัวเองใหญ่บ้างเล็กบ้าง อย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้าง ปรุงตัวเองไปทั่วไม่อยู่คงที่ ผู้นั้นเหมือนกับส่วนหนึ่งของต้นไม้ ที่ว่าตัวเองไม่ใช่ต้นไม้

๒๖๒. วิญญาณ คือ สัญญา สัญญา คือ การยึดถือ ๆ คือมีนั่นมีนี่ เพราะความมีนั่นมีนี่ จึงเข้าถึงความจริงไม่ได้

๒๖๓. คนนอนหลับแต่เช้าถึงเย็น วันนั้นเขาจะไม่ได้งานอะไรเลยเป็นแน่ คนเกิดมาแล้วไม่ทำความดีใส่ตัวชาตินั้น ก็ชื่อว่าเขานอนหลับจากสิ่งที่ควรจะได้ไปเสียแล้วอย่างช่วยไม่ได้

๒๖๔. ไม่ใช่เรื่องไป ไม่ใช่เรื่องมา ไม่ใช่เรื่องมี เรื่องอะไรหรือเรื่องอะไร ๆ ไหน ๆ ทั้งหมด เพราะอย่างนั้นจึงเป็นอย่างนั้น

๒๖๕. ปรมัตถธรรม ไม่มีแจ้ง ไม่มีมืด ใหญ่ เล็ก ยาว สั้น ต่ำ สูง หยาบ ละเอียด ร้อน หนาว รูป เสียง สีสันต่าง ๆ แม้แต่ชื่อของตัวเองก็สักแต่ว่าเป็นไปตามคำพูดเท่านั้น

๒๖๖. ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเครื่องใช้ของโลกเป็นเครื่องมีอยู่ของโลก และเป็นเครื่องเป็นไปของโลก

๒๖๗. ความโลภเป็นภาชนะที่ใหญ่แท้ใส่สิ่งต่าง ๆ ลงไปก็ไม่อาจให้เต็มได้เลย

๒๖๘. คนเราที่ทุกข์กันอยู่ทุกวัน ๆ ก็เพราะไปชอบของไม่ดีเท่านั้น เรื่องอื่นนอกจากนั้นไม่มีเลย

๒๖๙. บาปกรรมต่าง ๆ ย่อมไหลเข้าสู่ใจของผู้เปิดช่องให้มันอยู่เสมอ เปรียบเหมือนน้ำที่ไหนตามคลอง มีคลองไปถึงไหนน้ำก็ไหลไปถึงนั่น

๒๗๐. อันธรรมนั้นผู้ไม่ได้ศึกษาอย่างทั่วถึงแล้วย่อมเข้าถึงและรู้จักนิพพานไม่ได้ และเข้าถึงหรือรู้จักโลกอย่างถูกต้องแท้จริงก็ไม่ได้อีกด้วย

๒๗๑. ไฟย่อมไม่ร้อนในตัวเองฉันใด ผู้พ้นจริง ๆ แล้วย่อมไม่พัวพันเกี่ยวข้องกับอารมณ์ต่าง ๆ ของตนที่แสดงออกมาเลยเช่นกัน

๒๗๒. จงให้กาลเวลาและสิ่งเกี่ยวข้องต่าง ๆ ช่วยแก้ความโง่ของตน

๒๗๓. หมาหลงเงาเข้าใจผิด คิดว่าดีไม่มีเลย เห็นดินเป็นฟ้าแล้วจะเป็นฟ้าได้อย่างไร เห็นทุกข์เป็นสุขแล้วจะเป็นสุขได้อย่างไร

๒๗๔. โรคที่ร้ายแรงและหายยากที่สุด แต่ไม่ค่อยมีใครรักษา คือโรค เกิด แก่ เจ็บ ตาย

๒๗๕. เมื่อใดบุคคลรู้จักของปลอม รู้จักผู้อื่น เมื่อนั้นเขาชื่อว่ามีภาวะใหม่แล้ว

๒๗๖. การตัดสิ่งใดตัดตรงไหน ก็ขาดตรงนั้น หากต่อสิ่งใดตรงไหน ก็ติดตรงนั้น ท่านว่าวัฏฏสงสารก็เช่นกัน

๒๗๗. จงทำคลองให้ตรงเสียก่อนแล้วน้ำจะไหลคดไปไม่ได้

๒๗๘. แววตาใดที่ยังไม่หยุด แววใจนั้นก็ยังไม่หยุดด้วย ผู้มีแววตาอันหยุดนิ่งแล้ว ความพัวพันในสิ่งต่าง ๆ ทางใจต่อสิ่งใด ๆ ก็ไม่มีอีก

๒๗๙. ใช้โรคค้นหายา ใช้การไม่ยึดถือ ค้นหานิพพาน แต่ควรพิจารณาให้ดี ในการไม่ยึดนั้น

๒๘๐. ความเงียบสงบไม่วุ่นวายใด ๆ มันเป็นธรรมอยู่ในตัวของมันแล้ว การเสกสรรปั้นแต่งอะไร ๆ ออกไปมากมายคือการวิ่งหนีจุดหมาย อย่างหากันไม่เห็นทีเดียว

๒๘๑. การทำบุญทำความดีทุกอย่าง ไม่มีเสียหาย แต่หากเรายังมัวโง่เซ่ออยู่ไม่ทำความเข้าใจให้ดี จะเป็นการช้าไปในการเข้าถึงนิพพาน เหมือนคนเดินทางมัวหยุดพักผ่อนอย่างนั้นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ การจะถึงจุดหมายของเขาก็ไม่ปกติ

๒๘๒. ความสุขอันสูงสุดของกายใจที่อยู่ร่วมกันในโลกนั้นมีแน่ หากทำให้เป็นไปได้จริงจังถูกต้อง เหมือนก้อนหินที่กองรวมกันอยู่ย่อมเข้ากันไม่ได้ดี หากว่าหินนั้นเป็นเหลี่ยมเป็นรูปที่เหมาะสมกันแล้ว จะเข้ากันได้อย่างสนิททีเดียว

๒๘๓. พระภิกษุสามเณรผู้ประเสริฐ ต้องประเสริฐจริงปฏิบัติธรรมจริง ทุกตัวตนแห่งหน ต้องมีระเบียบแบบแผนตามธรรมวินัยอย่างแจ่มชัดถูกต้อง ผู้อยู่ที่ไม่ยอมทำตัวดีทำดีไม่ได้ ต้องสึกไปเสียหรือให้สึกให้หมด มีของน้อยแต่มีราคาดีกว่ามีของมากที่ไม่เป็นประโยชน์

๒๘๔. ความทุกข์ทั้งปวง บางทีก็เป็นความสุขของคนบางคน โดยการชอบในสิ่งนั้นของเขา อยู่กับสิ่งใดให้เข้าใจในสิ่งนั้นว่าดีหรือไม่กันแน่ ถ้าตั้งไว้เป็นสิ่งพิจารณาอย่างนี้ประจำจะเห็นสุขอันแท้จริงที่เฝ้าแสวงหาในวันหนึ่ง

๒๘๕. หากมีเรามีเขาก็เข้าถึงการเป็นหนึ่งไม่ได้ หากเป็นหนึ่งอยู่อย่างนั้น ก็ถึงการหมดไม่ได้

๒๘๖. ลักษณะพระแท้ต้องสำรวมในทุกสิ่ง ทำตนเองให้สงบตั้งมั่น ไม่ให้กิเลสตัณหาความยึดถือใด ๆ อยู่ด้วยได้ ไม่มีความขัดข้อง ต่อสิ่งใด ๆ ทั้งหมด ปฏิบัติตนเองให้ถึงซึ่งความจริง อันเป็นแก่นสาร คือการรู้จักภาวะหาทุกข์ ไม่ได้ คือ ไม่มีทุกข์เลย ที่เรียกว่านิพพาน แล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตามตนอันเป็นความเมตตา และเป็นหน้าที่โดยตรงของอริยะ

๒๘๗. ลักษณะพระปลอม บวชแล้วตามใจตัว ไม่ทรงธรรมวินัย พอใจแต่ความสุขสบาย และลาภสักการะ อาศัยความสบายในฐานะสร้างแต่กิเลส อันความดีที่จะมีกับตน แต่ไหนอย่างใดไม่กำหนด

๒๘๘. เธอทั้งหลายผู้มีปัญญา ในกายนี้มีอะไรหรือเป็นแก่นสาร เมื่อไม่มีแก่นสารจะเพ้อฝันไปทำไม ควรสนใจศึกษาธรรมให้รู้แจ้งเสียเถิด จะได้มีบริวารที่บริสุทธิ์

๒๘๙. เธอจะให้เราอยู่นาน ๆ ได้อย่างไร เพราะกายนี้ประกอบขึ้นด้วยสิ่งที่ไม่คงทนนัก แม้แต่เหล็ก หินก็ถึงกาลเสื่อมสลาย

๒๙๐. มีผู้สอนมีผู้เรียน และยึดถือกันด้วยนี่โลกสมมุติเต็มที่ มีผู้สอนมีผู้เรียนแต่ไม่ยึดถือกัน นี่รู้ตามไม่มีผู้สอนไม่มีผู้เรียน นี่รู้เอง

๒๙๑. วิสัยแห่งพุทธะ ย่อมรำพึงอยู่ว่า รู้สิ่งใดอยู่สิ่งนั้นย่อมมีวิสัยที่รู้ตามย่อมรำพึงอยู่ว่า ถึงมีอยู่ไม่ไปยึดก็แล้วกัน

๒๙๒. กรรมคือความเป็นไป คืออนิจจัง เป็นได้ทุกอย่าง คือ ความเกี่ยวข้องของธาตุ

๒๙๓. ความเป็นไปในภาวะนั้น ๆ ของมันเอง ทำให้สิ่งที่เรียกว่ายึดถือเกิดขึ้น

๒๙๔. สิ่งใดที่หมดไปแล้ว สิ่งนั้นย่อมไม่มีอีกในที่ไหน ๆ

๒๙๕. สุขเช่นใดกำหนดรู้ได้ว่าไม่มีทุกข์ สุขเช่นนั้นแหละที่พระพุทธเจ้ากำหนดนิพพาน

๒๙๖. การต่อสู้แพ้ชนะผู้แพ้ก็ต้องเสียใจ ผู้มีความละเอียดจริง จึงไม่อยากชนะใคร เพราะเหตุนั้นการแพ้ของเขาก็ไม่มีอีกตลอด
กาล

๒๙๗. การตรัสรู้ของพุทธะนั้น ไม่ได้อยู่นอกสังขารนี้ หรือในสังขารนี้ ความเข้าใจให้ถูกต้องในเรื่องนี้ ถ้าจะดูอย่างธรรมดาก็หาคำตอบไม่ได้เลย จึงต้องควรพิจารณาดี ๆ เพราะเป็นเรื่องเข้าใจยากมาก

๒๙๘. หากจะหาความสุขไม่ต้องไปหาสิ่งใด ๆ ทั้งหมดเพราะสิ่งนั้น ๆ ก็คือสิ่งนั้น ๆ นั่นเอง

๒๙๙. สิ่งที่กำลังอัดให้เกิดขึ้นได้ เป็นกำลังแสงมีความเป็นไปเหนือแสง สิ่งนั้นภาษาสมมุติเรียกว่า จิต โลกก็ดี สัตว์ทั้งหลายก็ดี รูปร่างลักษณะทั้งหลายทั้งหมดสิ้นเกิดขึ้นเพราะกำลังอัดนี้ทั้งนั้น มันสร้างขึ้นและควบคุมไปด้วยมันเป็นต้นแห่งพลังงาน และเป็นการทรงไว้ของจักรวาลนั่นเอง

๓๐๐. สถานที่ใด ไม่มีสสาร พลังงาน สถานที่นั้นเรียกได้ว่า นิพพานโดยสมบูรณ์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ค. 2012, 00:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 พ.ค. 2004, 12:30
โพสต์: 147


 ข้อมูลส่วนตัว www


ขออนุญาต เกริ่น ให้คุณ ฝึกจิต พิจารณา ดู น่าจะได้ประโยชน์ เฉพาะ 236 น่าจะมีอยู่หลายข้อ ที่น่าพิจารณา ...

** ส่วนคนอื่น ผ่านกระทู้นี้ไปเลย ก็ได้ขอรับ หากคิดว่า ไร้ประโยชน์ - อนุญาต huh


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ค. 2012, 06:45 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 เม.ย. 2009, 02:43
โพสต์: 12232


 ข้อมูลส่วนตัว


น่าเสียดายโดยแท้....

จิตส่งออก...อยู่

แต่ไม่พิจารณา...

:b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ค. 2012, 17:06 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ธ.ค. 2011, 21:40
โพสต์: 952


 ข้อมูลส่วนตัว


jojam เขียน:
ขออนุญาต เกริ่น ให้คุณ ฝึกจิต พิจารณา ดู น่าจะได้ประโยชน์ เฉพาะ 236 น่าจะมีอยู่หลายข้อ ที่น่าพิจารณา ...

** ส่วนคนอื่น ผ่านกระทู้นี้ไปเลย ก็ได้ขอรับ หากคิดว่า ไร้ประโยชน์ - อนุญาต huh


ออกความคิดเห็นหน่อยนะครับ
มันยาวมากเลยครับท่านเลยอ่านไม่กี่ขอเอง โทษที่นะครับ
ส่วนเรื่องนิโรธ จนสู่ นิพพาน นั้น เป็นสภาวะหนึ่งทางธรรมชาติ ที่ไม่สามารถบ่งบอกจากโลกสมมุติได้จริงแท้ เพราะเมื่อไหร่ที่พูดออกมาแสดงออกมามันก็กลายเป็นสมมุติ เพี่ยงอาจจะกล่าวไว้แค่ใกล้เคี่ยงไว้อ้างอิงได้บ้าง
ส่วนที่ว่าไม่มีผู้ใดนั้น คงเป็นเช่นนั้นแล หากเข้าใจ เรื่องของกฏอิทัป..แล้วจะเห็นว่า ไม่มีผู้ใดเลย มันเป็นแค่การประชุมกันของเหตุและปัจจัย ที่ก่อให้เกิดสิ่งเหล่านั้น เท่านั้น รวมทั้งชีวิต
สมมุติว่า เราคือ จิต หากตายไปแล้ว เหลือ จิต ท่านเข้าใจมั้ยว่า จิต เองก็ยังมีส่วนประกอบ หรือ การประชุมกันของเหตุปัจจัย จนเกิด จิต แต่สภาวะนิพพาน นั้นเป็น กระจายสู่ธรรมชาติหมด รวมทั้งจิต (ในส่วนประกอบนั้นก็ยังมีส่วนประกอบอีกเป็นชั้นๆ) พระองค์จึงไม่กล่าวเบื้องต้นและเบื้องปลาย ของสภาวะธรรมนี้ได้อีก เพราะเข้าสู่ โลกุตรธรรม ไปแล้ว สมมติไม่ได้แล้ว
แค่นี้ก่อนนะครับ
อีกนิดนึง
หากมีการยังลงขันธื5 แล้วนั้น กระแส ปฏิจจสมุปบาท ก็เกิดขึ้นแล้ว คงจะพ้นได้ด้วยความเพียร ใน มรรค8 เท่านั้น สภาวะต่างๆมากมายจะใช้ได้จากสัญญา ขันธ์นั้น ได้แค่ระดับนึงเท่านั้น จะพ้นได้คงต้องลงจิตลงใจจนปล่อยวางขันธ์5 ได้จริง ทำจนเป็นวิสัย โดยแท้

เป็นแค่มุมมองผมเอง อย่าลืม อะไรๆมันก็ไม่แน่ :b12:
:b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ค. 2012, 20:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 พ.ค. 2004, 12:30
โพสต์: 147


 ข้อมูลส่วนตัว www


huh


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ค. 2012, 20:17 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 เม.ย. 2009, 02:43
โพสต์: 12232


 ข้อมูลส่วนตัว


huh


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 92 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร