ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

การเจริญกายคตาสติและอานิสงส์ของกายคตาสติ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=41317
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  พุทธวจนะ [ 27 ก.พ. 2012, 16:06 ]
หัวข้อกระทู้:  การเจริญกายคตาสติและอานิสงส์ของกายคตาสติ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กายคตาสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก
มีอานิสงส์มาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดีอยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ตั้งกายตรงดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า เธอนั้น มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า“เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง
หายใจเข้าว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า“เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่
หายใจเข้า”,ว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ หายใจออก
เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่ อย่างนี้ ย่อมละความดำริที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำรินั้นได้จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายใน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ
(ความดำริในที่นี้หมายความว่าดำริที่น้อมไปในทางกาม เจริญกายคตาสติ มีแต่ที่จะให้น้อมไปในทางเนกขัมม).เนกขัมมแปลว่าออกจากกาม
[๒๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเดินอยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังเดินหรือยืนอยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังยืน หรือนั่งอยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังนั่ง หรือนอนอยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังนอนอยู่ เธอตั้งกายไว้ด้วยอาการอย่างใดๆ ย่อมรู้ทั่วถึงกายนั้น ด้วยอาการอย่างนั้นๆ.เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่ อย่างนี้ย่อมละความดำริที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำรินั้นได้จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ
[๒๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีกภิกษุย่อมเป็นผู้มีปกติ ทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการก้าวไปข้างหน้า ในการถอยกลับข้างหลัง.เป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการแลดู ในการเหลียวดู เป็นผู้มีปกติความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการคู้ ในการเหยียด(อวัยวะ).เป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการทรงสังฆาฏิ บาตร จีวรเป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการกิน การดื่ม การเคี้ยวการลิ้ม เป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ. เป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการไป การหยุดการนั่ง การนอน การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง.เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่ อย่างนี้ย่อมละความดำริที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำรินั้นได้จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ
[๒๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลายประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้แล จากพื้นเท้าขึ้นไปสู่เบื้องบน จากปลายผมลงมาในเบื้องต่ำอันมีหนังหุ้ม อยู่โดยรอบเต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆว่า
ในกายนี้มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ ลำไส้สุด อาหารในกระเพาะอุจจาระ น้ำดี เสลด หนอง โลหิต เหงื่อ มัน น้ำตา น้ำเหลือง
น้ำลาย น้ำเมือก น้ำหล่อข้อ น้ำมูตรดังนี้;ดูกรภิกษุทั้งหลายเปรียบเหมือนกับไถ้มีปากสองข้าง เต็มไปด้วยธัญญพืชมีอย่างต่างๆคือ ข้าว สาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วราชมาส งา ข้าวสาร.บุรุษผู้มีตาดี แก้ไถ้นั้นออกแล้ว พิจารณาเห็นได้ว่า พวกนี้ข้าวสาลีพวกนี้ข้าวเปลือก พวกนี้ถั่วเขียว พวกนี้ถั่วราชมาส พวกนี้งา พวกนี้ข้าวสารฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแลภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้แล จากพื้นเท้าขึ้นไปสู่เบื้องบน จากปลายผมลงมาในเบื้องต่ำ อันมีหนังหุ้ม อยู่โดยรอบเต็มไปด้วยของไม่
สะอาดมีประการต่างๆว่า ในกายนี้มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อเอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ลำไส้สุด อาหารในกระเพาะ อุจจาระ น้ำดี เสลด หนอง โลหิต
เหงื่อ มัน น้ำตา น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำเมือก น้ำหล่อข้อ น้ำมูตรเมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่ อย่างนี้ย่อมละความดำริที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำรินั้นได้
จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายใน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ
[๒๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีกภิกษุย่อม พิจารณาเห็นกายอันตั้งอยู่ดำรงอยู่ ตามปกตินี้แล โดยความเป็นธาตุ ว่า“ในกายนี้ มีปฐวีธาตุ(ธาตุดิน) อาโปธาตุ(ธาตุน้ำ) เตโชธาตุ(ธาตุไฟ)
วาโยธาตุ(ธาตุลม)” ดังนี้; เช่นเดียวกับคนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ชำนาญ ฆ่าโคแล้วนั่งแบ่งออกเป็นส่วนๆ ที่หนทางสี่แยกฉันใดดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุย่อม พิจารณาเห็น
กายอันตั้งอยู่ดำรงอยู่ ตามปกตินี้แล โดยความเป็นธาตุ ว่า “ในกายนี้ มีปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ”เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่ อย่างนี้ย่อมละความดำริที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำรินั้นได้จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายใน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ
[๒๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีกภิกษุพึง เห็นซากศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าที่ทิ้งศพ ตายแล้ววันหนึ่งบ้าง ตายแล้วสองวันบ้างตายแล้วสามวันบ้างกำลังขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด มีหนองไหลน่าเกลียด ฉันใด, เธอพึงน้อมเข้าไปเปรียบกับกายนี้ฉันนั้นว่า “แม้กายนี้แล ก็มีธรรมดาเป็นอย่างนี้ มีภาวะเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้” ดังนี้.
เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่ อย่างนี้ย่อมละความดำริที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำรินั้นได้จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายใน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ
[๓๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีกภิกษุพึง เห็นซากศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าที่ทิ้งศพ อันฝูงกาบ้าง เจาะกินอยู่, อันฝูงนกตะกรุมบ้าง จิกกินอยู่, อันฝูงแร้งบ้าง เจาะกินอยู่, อัยฝูงสุนัขบ้างกัดกินอยู่, อันฝูงสุนัขจิ้งจอกบ้าง กัดกินอยู่, อันหมู่หนอนต่างชนิดบ้าง บ่อนกินอยู่ ฉันใด, เธอก็พึงน้อมเข้าไปเปรียบกับกายนี้ ฉันนั้นว่า “แม้กายนี้แล ก็มีธรรมดาเป็นอย่างนี้ มีภาวะเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้” ดังนี้.
เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่ อย่างนี้ย่อมละความดำริที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำรินั้นได้จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายใน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๔
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
หน้าที่ ๑๖๒/๔๑๓หัวข้อที่ ๒๙๒- ๓๐๖
[b]อานิสงส์ของการเจริญกายคตาสติ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันภิกษุเสพแล้วโดยมากเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นยานแล้ว ทำให้เป็นพื้นที่ตั้งแล้วให้ดำรงอยู่เนืองๆ แล้ว อบรมแล้วปรารภสม่ำเสมอดีแล้ว
พึงหวังอานิสงส์ ๑๐ ประการนี้ คือ
(๑) อดกลั้นต่อความไม่ยินดีและความยินดีได้ ไม่ถูกความไม่ยินดีครอบงำ ย่อมครอบงำความไม่ยินดีที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ด้วย ฯ
(๒) อดกลั้นต่อภัยและความหวาดกลัวได้ ไม่ถูกภัยและความหวาดกลัวครอบงำ ย่อมครอบงำภัยและความหวาดกลัว ที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ด้วย ฯ
(๓) อดทน คือเป็นผู้มีปรกติอดกลั้นต่อความหนาว ความร้อนความหิว ความกระหายต่อสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน ต่อทำนองคำพูดที่กล่าวร้าย ใส่ร้ายต่อเวทนาประจำ
สรีระที่เกิดขึ้นแล้ว อันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบไม่ใช่ความสำราญ ไม่เป็นที่ชอบใจพอจะสังหารชีวิตได้ ฯ
(๔) เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันเกิดมีในมหัคคตจิต เครื่องอยู่สบายในปัจจุบันตามความปรารถนา ไม่ยาก ไม่ลำบาก
(๕) ย่อมแสดงฤทธิ์ได้เป็นอเนกประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ปรากฏตัวหรือหายตัวไปนอกฝา นอกกำแพง นอก ภูเขาได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ทำ
การผุดขึ้นและดำลงในแผ่นดิน เหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศ โดยบัลลังก์เหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์และพระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากปาน
ฉะนี้ ด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้ ฯ
(๖) ย่อมฟังเสียงทั้งสอง คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่ไกลและที่ใกล้ได้ด้วยทิพยโสตธาตุ อันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ ฯ
(๗) ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น และบุคคลอื่นได้ ด้วยใจ คือจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิต
ปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่จิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่านจิตเป็นมหัคคตะก็รู้ว่าเป็นมหัคคตะหรือจิตไม่เป็น มหัคคตะก็รู้ว่าจิต
ไม่เป็นมหัคคตะ จิตยังมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตยังมีจิตอื่นยิ่งกว่าหรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตตั้งมั่นก็รู้ว่าจิตตั้งมั่นหรือ จิตไม่ตั้งมั่นก็รู้ว่าจิตไม่ตั้งมั่น จิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น
แล้ว หรือจิตยังไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตยังไม่หลุดพ้น ฯ
(๘) ย่อมระลึกถึงขันธ์ ที่อยู่อาศัยในชาติก่อนได้เป็นอเนกประการ คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติ บ้าง ยี่สิบชาติบ้างสามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้างหลายสังวัฏกัปบ้าง หลายวิวัฏกัปบ้าง หลายสังวัฏ วิวัฏกัปบ้าง ว่าในชาติโน้น เรามีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขและทุกข์อย่างนี้ มีกำหนดอายุเท่านี้ เรานั้นเคลื่อนจากชาตินั้นแล้ว บังเกิดในชาติโน้น แม้ในชาตินั้น เราก็มีชื่ออย่างนี้มีโคตรอย่างนี้มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขและทุกข์อย่างนี้ มีกำหนดอายุเท่านี้เรานั้นเคลื่อนจากชาตินั้นแล้ว จึงเข้าถึงในชาตินี้ ย่อมระลึกขันธ์ที่อยู่อาศัยในชาติก่อนได้เป็นอเนกประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ เช่นนี้ ฯ
(๙) ย่อมมองเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีตมีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ฯลฯ ย่อมมองเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติกำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดีมีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมทราบชัดหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม เช่นนี้ ฯ
(๑๐) ย่อมเข้าถึงเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ทำให้แจ้งเพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบันอยู่ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันภิกษุเสพแล้วโดยมากเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นยานแล้ว ทำให้เป็นพื้นที่ตั้งแล้ว ให้ดำรงอยู่เนืองๆ แล้วอบรมแล้ว ปรารภสม่ำเสมอดีแล้ว พึงหวัง
อานิสงส์ ๑๐ ประการได้ ดังนี้แล ฯ
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๔
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
หน้าที่ ๑๖๙/๔๑๓หัวข้อที่ ๓๑๕ - ๓๑๗
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กุศลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นไปในส่วนวิชชา ย่อมหยั่งลงในภายในของภิกษุนั้น เปรียบเหมือนมหาสมุทรอันผู้ใดผู้หนึ่งถูกต้องด้วยใจแล้วแม่น้ำน้อยสายใดสายหนึ่งซึ่งไหลไปสู่สมุทร ย่อมหยั่งลงในภายในของผู้นั้นฉะนั้น
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วเป็นไปเพื่อความสังเวชมาก เป็นไปเพื่อประโยชน์มาก เป็นไปเพื่อความเกษมจากโยคะมาก เป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะ เป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน เป็นไปเพื่อทำให้แจ้งซึ่งผล คือวิชชาและวิมุตติ
ธรรมข้อหนึ่ง คืออะไร คือ กายคตาสติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ธรรมข้อหนึ่งนี้แลอันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสังเวชมากย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์มาก ย่อมเป็นไปเพื่อความเกษมจากโยคะมากย่อมเป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชาและวิมุตติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วแม้กายก็สงบ แม้จิตก็สงบ แม้วิตกวิจารก็สงบ ธรรมที่เป็นไปในส่วนแห่งวิชชาแม้ทั้งสิ้น ก็ถึงความเจริญบริบูรณ์ ธรรมข้อหนึ่ง คืออะไร คือ กายคตาสติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมข้อหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วแม้กายก็สงบ แม้จิตก็สงบ แม้วิตกวิจารก็สงบ ธรรมที่เป็นไปในส่วนแห่งวิชชาแม้ทั้งสิ้นก็ถึงความเจริญบริบูรณ์
ดูก่อนภิกษุท. ! ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้นได้เลย และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละเสียได้ ธรรมข้อหนึ่ง คืออะไร คือ กายคตาสติ
ดูก่อนภิกษุ ท. !ธรรมข้อหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้นได้เลย และอกุศลธรรมขึ้นแล้ว ย่อมละเสียได้
ดูก่อนภิกษุท. ! ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ ไพบูลย์ยิ่ง ธรรมข้อหนึ่ง คืออะไร คือกายคตาสติ
ดูก่อนภิกษุท. !ธรรมข้อหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด
ย่อมเกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ ไพบูลย์ยิ่ง
ดูก่อนภิกษุ ท. ! ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วย่อมละอวิชชาเสียได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น ย่อมละอัส๎มิมานะเสียได้ อนุสัยย่อมถึงความเพิกถอน ย่อมละสังโยชน์เสียได้ ธรรมข้อหนึ่งคืออะไร คือกายคตาสติ
ดูก่อนภิกษุท. ! ธรรมข้อหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วย่อมละอวิชชาเสียได้วิชชาย่อมเกิดขึ้น ย่อมละอัส๎มิมานะเสียได้ อนุสัยย่อมถึงความเพิกถอน ย่อมละสังโยชน์เสียได้
ดูก่อนภิกษุท. ! ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความแตกฉานแห่งปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่ออนุปาทาปรินิพพานธรรมข้อหนึ่งคืออะไร คือ กายคตาสติ
ดูก่อนภิกษุ ท. ! ธรรมข้อหนึ่งนี้แลอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความแตกฉานแห่งปัญญาย่อมเป็นไปเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน
ดูก่อนภิกษุท. ! ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วย่อมมีการแทงตลอดธาตุมากหลาย ย่อมมีการแทงตลอดธาตุต่างๆ ย่อมมีความแตกฉานในธาตุมากหลาย ธรรมข้อหนึ่งคืออะไร คือ กายคตาสติ
ดูก่อนภิกษุท. ! ธรรมข้อหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วย่อมมีการแทงตลอดธาตุมากหลาย ย่อมมีการแทงตลอดธาตุต่างๆ ย่อมมีความแตกฉานในธาตุมากหลาย
ดูก่อนภิกษุ ท. ! ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้งย่อมเป็นไปเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำอรหัตตผลให้แจ้งธรรมข้อหนึ่งคืออะไร คือ กายคตาสติ
ดูก่อนภิกษุท. ! ธรรมข้อหนึ่งนี้แลอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้งย่อมเป็นไปเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง
ย่อมเป็นไปเพื่อทำอรหัตตผลให้แจ้ง
ดูก่อนภิกษุท. ! ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่อความไพบูลย์แห่งปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาใหญ่ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญามาก ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาไพบูลย์
ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาลึกซึ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาสามารถยิ่ง ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญากว้างขวาง ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มากด้วยปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาว่องไว ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเร็ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาร่าเริง
ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาแล่น ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาคมย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาชำแรกกิเลส ธรรมข้อหนึ่งคืออะไร คือกายคตาสติ
ดูก่อนภิกษุท. ! ธรรมข้อหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาชำแรกกิเลส
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๐
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
หน้าที่ ๔๒/๒๙๐หัวข้อที่ ๒๒๕ - ๒๓๗[/b]

เจ้าของ:  กบนอกกะลา [ 27 ก.พ. 2012, 17:31 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: การเจริญกายคตาสติและอานิสงส์ของกายคตาสติ

:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  tonnk [ 27 ก.พ. 2012, 20:20 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: การเจริญกายคตาสติและอานิสงส์ของกายคตาสติ

ผมสนับสนุนนะ วัดนาป่าพงของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์น่ะ ผมติดตามท่านมาระยะหนึ่งแล้ว.

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/