วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 20:23  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 09:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


ความทุกข์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้



ถ้าตัดเหตุที่ให้เกิดทุกข์ขาดไปจากใจได้ ก็เท่ากับตัดกระแสของวัฏฏะ หรือความหมุนเวียนให้หมดไป



การพิจารณาวัตถุแต่ละอย่างให้ลงสู่หลักสัจธรรม คือ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา การพิจารณาทุกข์เกี่ยวกับวัตถุ ก็ให้ดูจิตที่มีความยึดถือในวัตถุนั้นในหลักความจริง ให้พิจารณาว่าวัตถุนั้น ไม่มีอะไรเป็นของของเราที่แน่นอน



ถ้าเรามีความยินดี จิตมีความผูกพันในวัตถุนั้นมากเกินไป เมื่อวัตถุนั้นหายไป ฉิบหายไปด้วยวิธีใด ความทุกข์ใจที่มีความอาลัยในวัตถุนั้น ๆ ก็จะเกิดความพิไรรำพันร้องไห้ เกิดความเสียใจทุกข์ใจ เป็นลมล้มไปโดยไม่มีสติรู้ตัว นี้ก็เป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากผู้ไม่เคยพิจารณาให้จิตได้รู้ได้เห็นตามหลักความจริง



ใช้สติปัญญาหยั่งลงสู่หลักสัจธรรม เพื่อลบล้างความเข้าใจเดิมที่มีความผูกพันอยู่ในกาม ถอนความยึดมั่นของจิตที่หลงผิดติดอยู่ในวัตถุกาม กิเลสกาม ด้วยความพยายามเต็มที่ ให้จิตมีความรู้เห็นโทษ รู้เห็นทุกข์ รู้เห็นภัย ให้รู้เห็นความเสียใจ ที่เกิดขึ้นจากกามคุณอย่างชัดเจน



ปัญญาพิจารณาได้มากน้อยเท่าไรนั้น คือเป็นปัญญาของเราโดยตรง ความรู้ความฉลาด ความเฉียบแหลม ความรู้รอบในสรรพกิเลสทั้งหลายที่มีอยู่ในใจ ก็จะใช้ปัญญาที่เราสร้างขึ้นมานี้เอง เป็นอาวุธเพื่อสังหารกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจ



เหตุปัจจัยที่มีการหมุนเวียนอยู่ในภพทั้งสาม ก็เนื่องจากตัณหาคือความอยากตัวนี้เป็นเหตุ ถ้าดับเหตุนี้ได้แล้ว ภพทั้งสามก็หมดปัญหาไป


การเกิดเป็นมนุษย์นี้ยาก



การเกิดเป็นมนุษย์นี้ยาก แสนยากลำบากเหลือเกิน กว่าจะเกิดได้ เพราะภพชาติอื่น ๆ มันมีมาก



สัตว์เขาเกิด เขาตายเหมือนกันกับเรา แต่เขาไม่ประเสริฐ ก็เพราะเขาไม่ได้คิดในทางดีของเขา



เพราะการเกิดเป็นมนุษย์มันเกิดยากลำบากแสนเข็ญ กว่าจะเกิดได้ เมื่อเกิดมาแล้ว ก็อย่าให้ชีวิตของตัวมันหมดไปเปล่า รีบกระทำบำเพ็ญคุณงามความดีเอาไว้ ส่วนใดที่ควรจะทำรีบกระทำเอา



ถ้าเราทุกคนชำระสะสางจิตใจของตน สังวรระวังไม่ให้ชั่วต่าง ๆ เข้ามาครอบงำจิตใจ จิตใจสว่างไสว จิตใจเย็นสงบ ผู้นั้นอยู่ในโลกอันนี้ก็มีความสุขความสบายตามอัตภาพของเขา เมื่อจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้า เมื่อกิเลสตัณหายังไม่หมด เขาเหล่านั้นก็จะได้ไม่เสียใจ สมหวังในการไปของเขา ส่วนคนที่ชำระสะสางกิเลสตัณหาหลุดล่วงออกไปจากใจ มีความบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่ทุกกาลทุกสมัย พร้อมที่จะไปจะอยู่ ถ้าพูดถึงจะไป ใจของท่านบริสุทธิ์ประเสริฐอย่างนั้น ท่านไม่มีอะไรที่จะเสียจิตเสียใจ ไม่มีอะไรที่จะตำหนิติตนว่าเกิดมาเป็นคน ไม่ได้สะสมอะไร ท่านจนถึงที่สุด จนจิตเป็นวิมุตติแล้ว ท่านสะดวกสบายในการตายการอยู่ของท่าน ฉะนั้น พวกเราท่านทุกคนมีสิทธิที่จะประพฤติปฏิบัติได้ รีบเร่งขวนขวายกระทำบำเพ็ญให้เห็น ให้รู้ ให้เย็น ให้สงบ อย่าไปอ้างกาลอ้างเวลา



(คัดจาก หนังสือรวมคำสอนจากพระป่า)

หลวงพ่อพระมงคลเทพมุนี

(หลวงพ่อสด จนฺทสโร)



จิตของตัวที่เดิมอาบในลูกที่เกิดในอกของตนนั่นแหละ จำได้รสชาติใจนั้นแน่ เอาใจดวงนั้นแหละ เอาไปรักใคร่เข้าในบุคคลอื่นทุกคน เหมือนกับลูกของตน ให้มีรสมีชาติอย่างนั้น ถ้ามีรสมีชาติอย่างนั้นละ เมตตาพรหมวิหารของตนเองป็นแล้ว เมื่อเมตตาพรหมวิหรเป็นขึ้นเช่นนี้ แล้วอัศจรรย์นัก ไม่ใช่พอดีพอร้ายให้ใช้อย่างนี้ ใช้จิตของตนให้เอิบอาบ ถ้าว่าทำจิตไม่เป็น ก็แผ่ได้ยาก ไม่ใช่แผ่ได้ง่าย แต่ลูกของตนแผ่ได้ ลูกออกใหม่ ๆ น่ะ เอิบอาบ ซึมซาบ รักใคร่ ถนอมกล่อมเกลี้ยงบุตรของตนกระฉับกระเฉงแน่นแฟ้นเพียงใด ให้เอาจิตดวงนั้นแหละมาใช้เรียกว่า เมตตาพรหมวิหาร เอาไปใช้ในคนอื่นเข้าก็รักใคร่อย่างนั้นแหละ เมตตรารักใคร่อย่างนั้นแหละ เมตตารักใคร่อย่างบุตรน่ะ



พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บุคคลที่เข้าถึงแล้ว ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถึงพระพุทธเจ้า ก็ถึงตัวธรรมกาย ถึงตัวธรรมกายก็เหมือนถึงพระพุทธเจ้า ถึงธรรมกายได้ธรรมกาย ไปกับธรรมกายได้ ไปนรก สวรรค์ ไปนิพพานได้ ผู้เข้าถึงไตรสรณคมน์ ถึงพุทธรัตนเช่นนี้ละ ก็จะรู้จักคุณพุทธรัตนว่า ให้ความสุขแก่ตัวแค่ไหน บุคคลใดเข้าถึงแล้วก็ปราบปลื้มเอิบอิ่มตื้นเต็ม สบายอกสบายใจ เพราะพุทธรัตนบันดาลสุขให้แล้ว ส่งความสุขให้แล้ว ถึงว่าจะให้ความสุขเท่าไร มากน้อยเท่าไร ตามความปรารถนา สุขกายสบายใจ เรามีอายุยืนเจริญหนักเข้า มีอายุยืน ทำหนักเข้า ทำชำนาญหนักเข้า ในพุทธรัตนมีคุณเอนก เวลาเจ็บก็ไม่อาดูรไปตามกาย เวลาจะตาย ก็นั่งยิ้มสบายอกสบายใจ เห็นแล้วว่าละจากกายนี้ มันจะไปอยู่โน้น เห็นที่อยู่ มีความปรารถนา นี่คุณของพุทธรัตนพรรณาไม่ไหวนี้เรียกคุณพระพุทธเจ้า คือ ธรรมกาย



เราตั้งใจแบบเดียวกับพระพุทธเจ้า ท่านตั้งอย่างไร ท่านทำอย่างไร ท่านสอนอย่างไร ท่านก็สอนว่า ท่านสอนพวกเราให้อดใจ ให้อดทนคืออดใจ อดใจเวลาโลภหรืออภิชฌาเกิดขึ้น หยุดนิ่งเสีย รู้นี่รสชาติอภิชฌา อยากจะได้สมบัติของคนอื่นเป็นของ ๆ ตน อยากกว้างขวาง ใหญ่โตไปข้างหน้า ต้องหยุดเสีย อดทนหรืออดใจเสีย ประเดี๋ยวก็ดับไป ดับไปด้วยอะไร ด้วยความอดทน คืออดใจนั่นแหละ ความโกรธประทุษร้ายเกิดขึ้น นิ่งเสีย อดเสีย ไม่ให้คนได้ยิน ไม่ให้คนอื่นรู้กิริยาท่าทางทีเดียว ไม่แสดงกิริยามารยาทให้ทะเลิกทะลัก แปลกประหลาดอย่างผีเข้าทีเดียว ไม่รู้ทีเดียว นิ่งเสีย ประเดี๋ยวหนึ่ง ความโกรธประทุษร้ายหายไป ดับไป พยาบาทนั้นหายไป มิจฉาทิฏฐิเกิดขึ้น มิจฉาทิฏฐินั้นแปลว่าเห็นผิดละ รู้อะไรไม่จริงสักอย่าง เลอะ ๆ เทอะ ๆ เกิดขึ้น หยุดเสีย ไม่ช้าประเดี๋ยวดับไป



นั่นแหละความโลภเกิดขึ้น อภิชฌาให้ดับไปได้ อภิชฌาเกิดขึ้นชั่วขณะ อดเสียให้ดับไปได้ ฆ่าอภิชฌาตายครั้งหนึ่ง นั่นเป็นนิพพานปัจจัยเชียว จะถึงพระนิพพานโดยตรงทีเดียว ความพยาบาทเกิดขึ้นให้ดับลงไปเสียได้ ไม่ให้ออก ไม่ให้ทะลุทะลวงออกมาทางกาย ทางวาจาให้ดับไปเสียทางใจนั่นดับไปได้คราวใด คราวนั้นได้ชื่อว่าเป็นนิพพานปัจจัยเชียวหนา สูงนัก กุศลนี้สูง จะบำเพ็ญกุศลอื่นสู้ไม่ได้ทีเดียว หยุดนิ่งเสีย ไม่ช้าเท่าไร ประเดี๋ยวเท่านั้น ความเห็นผิดดับไป นั่นเป็นนิพพานปัจจัยทีเดียว นี่ติดอยู่กับขอบนิพพานเชียวหนา



ถ้าให้ทาน ให้ได้ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ของชอบไม่ให้ เก็บเสียซ่อนเสีย ของไม่ดีที่ไม่เสมอใจให้เสีย ให้อย่างนี้มันเลือกได้ ให้ของไม่ดีเป็นทาน เป็นทาสทาน จัดว่ายังเข้าไม่ถึงสหายทาน เป็นทาสทานแท้ ๆ เพราะเลือกให้ หากว่ามีมะม่วงสักสามใบตั้งขึ้น ก็จะให้ใบเล็กเท่านั้นแหละ เอามะม่วงสามใบเท่า ๆ กัน ก็จะให้ใบที่ไม่ชอบใจนั่นแหละ เอามะม่วงสามใบเสมอกัน ก็จะเลือกเอาอีกแหละ ลูกที่ไม่ชอบใจจึงให้ ลูกที่ชอบไม่ให้ หรือมันใกล้จะสุกแล้วไม่ให้ ให้ที่อ่อนไปอย่างนี้ อย่างนี้เป็นทาสทานไม่ใช่สหายทาน



ถ้าให้สหายทานจริงแล้ว ก็ตัวบริโภคใช้สอยอย่างไร อย่างนั้นเป็นสหายทาน ถ้าว่าสามีทานละก็ เลือกหัวกระเด็นให้ ถ้าเลือกหัวกระเด็นให้เช่นนี้ละก็เป็นสามีทาน ลักษณะโพธิสัตว์เจ้าให้ทานนะ ให้สามีทาน ให้สหายทานให้สามีทานทีเดียว ทาสทานไม่ให้ นี้เราสามัญสัตว์ ชอบให้แต่ของที่ไม่ประณีต ไม่เป็นของที่ชอบเนื้อเจริญใจละก็ให้มันเป็นทาสทานไป เสมอที่ตนใช้สอยมันก็เป็นสหายทานไป แต่ว่าพวกเราที่บัดนี้เป็นสามีทานอยู่ก็มี เช่นเลี้ยงพระสงฆ์องค์เจ้า ตบแต่งสูปพยัญชนะเกินกว่าบริโภคทุกวัน ๆ ที่เกินใช้สอย เช่นนี้เป็นสามีทานประณีตบรรจงแล้วจึงให้ อย่างนีเรียกว่าเป็นสามีทาน



แต่ว่าบารมีหนึ่ง ๆ กว่าจะได้เป็นบารมีนะ ไม่ใช่เป็นของง่าย ทานบารมีเต็มดวงนะ ดวงบุญที่เกิดจากการบำเพ็ญทานได้เป็นดวงบุญ ดวงบุญใหญ่โตเล็กเท่าไหร่ไม่ว่า สร้างไปเถอะ ทำไปเถอะ แล้วเอาดวงบุญนั้นมากลั่นเป็นบารมี ดวงบุญมากลั่นเป็นบารมีนะ บุญมีคืบหนึ่งเต็มเปี่ยมเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทีเดียว เอามากลั่นเป็นบารมีได้นิ้วเดียว เท่านั้นเองกลมรอบตัวเท่านั้นแหละ กลั่นไปอย่างนี้ทุกบารมีไปจนกว่าบารมีนั้นจะเต็มส่วน แล้วก็บารมีที่จะเป็นอุปบารมี เอาบารมีนั้นแหละ คืบหนึ่งเต็มส่วนเอามากลั่นเป็นอุปบารมีได้นิ้วเดียว แล้วเอาอุปบารมีนั้นแหละ คืบหนึ่งกลมรอบตัวเอามากลั่นเป็นปรมัตถบารมีได้นิ้วเดียว



ขั้นสมถะนี่ กายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพหรม กายรูปพรหมละเอียด นี่มันขั้นสมถะ แต่รูปฌานเท่านั้น เลยไปไม่ได้ พอถึงกายธรรมมันขึ้นวิปัสสนา ตาพระพุทธเจ้าท่านก็เห็นเบญจขันธ์ทั้งห้าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แท้ ๆ เห็นจริง ๆ จัง ๆ อย่างนั้นละ เห็นแท้ทีเดียว เห็นชัด ๆ ไม่ได้เห็นด้วยตากายในภพ เห็นด้วยตาธรรมกาย รู้ด้วยญาณธรรมกาย เห็นอย่างนี้แหละเห็นด้วยตาของพระตถาคตเจ้า รู้ด้วยญาณของพระตถาคตเจ้า ธรรมกายนั้นเป็นตัวของพระตถาคตเจ้าทีเดียว ไม่ใช่อื่น เห็นชัดอย่างนี้นี่แหละ เห็นอย่างนี้แหละเขาเรียกวิปัสสนา เห็นเบญจขันธ์ห้าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา



เห็นเป็นอนิจจังน่ะเห็นอย่างไร เห็นตั้งแต่กายมนุษย์เกิด กายมนุษย์เกิดไม่อยู่ที่ เกิดไปเรื่อย ๆ เกิดริบ ๆ เหมือนไฟจุดอยู่ มีไส้ มีน้ำมัน มีตะเกียง จุดมันก็ลุกโพลง เราเข้าใจว่าไปดวงนั้นเป็นอย่างนั้นแหละ ไอ้กายมนุษย์มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ แต่ตาธรรมกายไม่เห็นอย่างนั้น เห็นไฟเก่าหมดไปไฟใหม่เดินเรื่อยขึ้นมา ไฟเก่าหมดไปไฟหม่เดินเรื่อยขึ้นมา แล้วก็เอามือคลำดูข้างบนก็รู้ ร้อนวูบ ๆ ๆ ไป อ้อไฟใหม่เกิดเรื่อย กายมนุษย์นี้ก็เช่นเดียวกัน ไอ้เก่าตายไปไอ้ใหม่เกิดเรื่อย หนุนไม่ได้หยุดเหมือนไฟ เหมือนดวงไฟอย่างนั้นแหละ ไม่ขาดสาย มันเกิดหนุนอย่างนั้น นั่นเห็นขนาดนั้น เห็นเกิด เห็นตายเรื่อย เกิดแล้วก็ตายไป เกิดแล้วก็ตายไป ไม่มีหยุดละ เหมือนกันหมดทั้งโลก เห็นทีเดียวว่ามีแต่เกิดกับดับ



ยงฺกิญจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ สิ่งทั้งปวงมีความเกิดเป็นธรรมดา ย่อมมีความเกิดเสมอ สิ่งทั้งปวงมีเกิดเสมอ มีความดับเสมอ มีเกิดกับดับสองอย่างเท่ากันหมดทั้งสากลโลก เห็นด้วยตาธรรมกาย รู้ด้วยญาณธรรมกายจริง ๆ อย่างนี้ ทำเป็นวิปัสสนาเห็นจริงเห็นจังอย่างนี้ ฯ



(คัดย่อมาจาก หนังสืออมตวาทะ ของ พระมงคลเทพมุนี)

เรื่อง ความตาย



ควรพวกเราทั้งหลายคิดดูให้เห็นโทษ และคุณแห่งความตายเสียให้ชัดใจ



ผู้มีปัญญาไม่ควรประมาทความตาย ให้เห็นว่าเป็นสมบัติสำหรับตัวเรา เราจะต้องตายในกาลอันสมควร คือความตายมาถึงเราสมัยใด สมัยนั้นแหละชื่อว่ากาลอันสมควร ไม่ควรจะเกลียดไม่ควรจะกลัว



สังขารทั้งหลาย คือสัตว์ที่เกิดมาในไตรภพ จะหลีกหลบให้พ้นจากความตายไม่มีเลย



เมื่อมีความเกิดเป็นเบื้องต้นแล้ว ย่อมมีความตายเป็นเบื้องปลายทุกคน



นัยหนึ่งให้เอาความเกิด ความตาย ซึ่งมีประจำอยู่ทุกวันเป็นเครื่องหมาย



เมื่อพิจารณาถึงความตาย ก็ต้องพิจารณาถึงความป่วยไข้และความแก่ความชรา เพราะเป็นเหตุเป็นผลกัน ให้พิจารณาถึงพยาธิความป่วยไข้ว่า พยาธิ ธมฺโมมฺหิ พยาธิ อนตีโต เรามีความป่วยไข้เป็นธรรมดา จะข้ามล่วงพ้นไปจากความป่วยไข้หาได้ไม่



ถ้าแลพิจารณาเห็นความชราอันเป็นปัจจุบันได้ก็ยิ่งประเสริฐ



ความระงับสังขารทั้งหลายนั้น ท่านมิได้หมายความตาย ท่านหมายวิปัสสนาญาณและอาสวักขยญาณ คือปัญญารู้เท่าสังขาร รู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะ เป็นชื่อของพระนิพพาน เป็นยอดแห่งความสุข



(คัดจาก หนังสือรวมคำสอนจากพระป่า)

(จากหนังสือรวมคำสอนพระสุปฏิปันโน เล่ม 1)

ธรรมกถาปฏิบัติ



สมบัติเป็นของไม่มีสาระดังกล่าวแล้ว เราได้ทำให้เป็นของมีสาระ ด้วยการแบ่งปันให้แก่คนอื่นด้วยจิตเมตตา สมบัติอันนั้นกลับเข้ามาอยู่ในใจของตน คือความอิ่มใจพอใจที่ตนแบ่งปันไปแล้วนั้น หรือที่เรียกว่า บุญ



เปลือกของศาสนาคือทาน ศีล และศาสนพิธีต่าง ๆ ถ้าทำถูกแล้วจะกลายเป็นกะพี้ คือทำจิตใจให้เบิกบาน ยิ้มแย้มแจ่มใส จนเกิดปีติอิ่มใจ ทานศีลนั้นจะเข้ามาภายในใจ หล่อเลี้ยงน้ำใจให้แช่มชื่นอยู่เป็นนิจ นี่ได้ชื่อว่าทำเปลือกให้เป็นกะพี้ เมื่อพิจารณาไปถึงความอิ่มและความแช่มชื่นเบิกบานของใจ ก็เห็นเป็นแต่ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากปัจจัย คือความพอใจเป็นเหตุ เมื่อความพอใจหายไป สิ่งเหล่านี้นดับไปเป็นของไม่เที่ยงเป็นธรรมดา เราจะยึดเอาไว้เป็นของตัวตนไม่ได้ เป็นอนัตตา ไม่มีใครเป็นใหญ่ เป็นอิสระ แล้วก็ปล่อยวาง เห็นเป็นสภาพตามความเป็นจริง เมื่อพิจารณาถูกอย่างนี้ ได้ชื่อว่าทำกะพี้ให้เป็นแก่นสาร



คนเกิดมามีแต่กลัวความตาย แต่หาได้กลัวต้นเหตุ คือความเกิดไม่



พระพุทธองค์จึงสอนให้แก้ตรงจุดเดิม คือ ผู้เป็นเหตุให้นำมาเกิด ได้แก่จิตที่ยังหุ้มห่อด้วยสรรพกิเลสทั้งปวงให้ใสสะอาด ไม่มีมลทินนั้นแล จึงจะหมด เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ต้องวุ่นวายอีกต่อไป พระพุทธองค์สอนให้เข้าถึงต้นเหตุให้เกิด คือใจ และสรรพกิเลสทั้งปวงอันปรุงให้จิตคิดนึกส่งส่ายต่าง ๆ แล้วทำให้จิตเศร้าหมองมืดมิด จึงไม่รู้จักผิดถูกดีชั่วตามเป็นจริง พระองค์สอนให้ทำจิตนั้นให้ใสสะอาด ปราศจากความมัวหมองซึ่งกองกิเลสทั้งปวง มีปัญญาสว่างรู้แจ้งแทงตลอด กิเลสที่เป็นอดีต อนาคต มารวมลงปัจจุบัน เป็นปัจจัตตัง อย่างไม่มีอะไรปกปิดแล้ว จึงจะหมดกิเลสพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ต้องวุ่นวายอีกต่อไป

ทุกข์และการแก้ทุกข์



เรื่องของจิตนี้เป็นเรื่องสลับซับซ้อน เมื่อพูดตามความรู้สึกของคน จิตที่มันรู้ จิตที่มันไม่รู้ มันสลับซับซ้อน เรื่องจิตนี้ถ้าพูดกันง่าย ๆ มันก็มีแต่ว่าเรื่องที่มันเกิดทุกข์ กับเรื่องที่มันดับทุกข์เท่านั้นเอง



เรื่องจิตนี้ ตามธรรมชาติของมันแท้ มันไม่มีอะไร ถ้าหากว่ามันเข้าใจในตัวมันเองแล้ว มันเข้าใจในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ของมันแล้วก็ไม่มีอะไร มันก็มีแต่เรื่องเกิดแล้วดับไป เรื่องทั้งหลายซึ่งมันจะสำคัญมั่นหมายนั้น คล้าย ๆ กับก้อนหินก้อนหนึ่งที่มันวางอยู่ข้างหน้าเรา มันจะหนักเป็นตันก็ช่างมันเถิด แม้น้ำหนักมันมี แต่เมื่อเราไม่ไปยกมันก็ไม่หนัก จะหนักก็หนักเฉพาะเรื่องทุกอย่าง อารมณ์ทุกอย่าง มันก็เหมือนกัน ดีหรือชั่วก็ปล่อยไปตามเรื่องของมัน มันไม่รู้เรื่องของมัน เหมือนกับก้อนหินที่มันหนัก มันจะหนักกี่ตัน กี่กิโลกรัมก็ช่างมัน ถ้าเราไม่ยกมันก็ไม่หนัก แต่ว่ามันยังมีน้ำหนักของมันอยู่ แต่มันไม่ทำให้มนุษย์หนัก อารมณ์ทั้งหลายนี้ก็เหมือนกันฉันนั้นแหละ



มันก็เป็นอย่างเดียวเท่านั้น คือเป็นอารมณ์เท่านั้น มันจะดีหรือชั่วมานั้นก็เพราะเราเข้าไปหมายมั่นว่ามันดีมันชั่ว ก็เท่ากับเข้าไปแบกมัน เมื่อไปแบกมัน มันก็หนัก ถ้าปล่อยวางมันก็ไม่หนัก ความเป็นจริงนั้น มันมีความสำคัญมั่นหมายเฉพาะตัวเรา อารมณ์ต่าง ๆ มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น เป็นธรรมชาติของมัน เกิดแล้วก็ดับไป ไม่มีดีมีชั่ว



โลกนี้มันก็สม่ำเสมอดีอยู่หรอก ที่มันไม่สม่ำเสมอนั้น เพราะจิตของเราหลงไปอุปาทานมั่นหมายมันเสีย



ของสมมติก็เช่นกัน เอามาใช้แล้วก็วางไว้ ท่านให้วาง ลาภก็ดี ยศสรรเสริญก็ดี สุขก็ดีมีอยู่ แต่ท่านให้วาง เอามาใช้เป็นเวลา แล้วก็วางไว้ ถ้าทำถูกเรื่องดังนี้ก็ไม่มีอะไร



ถ้าเราไม่รู้จักโลก เราก็เป็นทุกข์ ถ้าเรารู้จักโลก แจ้งโลกแล้วก็ไม่มีอะไร ไม่ให้ไปรู้ธรรมะที่ไหน แต่ให้รู้ว่าโลกที่เราอยู่นี่มันคืออะไร สมมตินี้มันก็อยู่ที่สมมตินี้ แต่เรารู้จักสมมตินี้ให้มันเป็นวิมุตติ



ถ้ามีสมมติก็ต้องมีวิมุตติอยู่ในโลกอันนี้อย่างให้รู้เท่าทัน



ถึงแม้โลกมันจะวุ่นวายก็ยิ่งได้ศึกษามาก เมื่อมีความทุกข์ขึ้นมานั่นแหละ ได้ศึกษาอารมณ์อยู่ กำลังศึกษาธรรมะอยู่ เมื่อทุกข์เกิดขึ้นมาเมื่อไหร่ มันต้องให้คิด เมื่อคิดมันก็เกิดปัญญา รู้จักแก้ปัญหาในอารมณ์อันนั้นได้ สมกับที่พระพุทธเจ้าท่านทรงเรียกว่า ทุกข์สัจจ์ ทุกข์เป็นสัจธรรมอันหนึ่งเหมือนกัน ท่านจึงสอนมนุษย์ ให้รู้จักทุกข์ ถ้าไม่รู้จักทุกข์ มันก็ทุกข์ ถ้ารู้จักทุกข์ มันก็ไม่ทุกข์



พระพุทธเจ้าทรงสอนเรา ไม่ให้หลบหลีกเหตุการณ์ ถ้าทุกข์แสดงให้เราพิจารณาเอาทุกข์นั้นมาศึกษา



ถ้าเรามีสติอยู่ มีสัมปชัญญอยู่ มีความรู้ตัวอยู่เสมอแล้ว ก็คือเราได้ประพฤติ ปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดกาลตลอดเวลา ดังนั้น ไม่ควรคิดว่าธรรมะอยู่ไกล ถ้าเราเห็นสิ่งเหล่านี้ สักแต่ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เท่านี้ปัญญามันก็เกิด ถ้าอารมณ์สุขขึ้นมา ทุกข์ขึ้นมา ชอบใจขึ้นมา ไม่ชอบใจขึ้นมา เรานึกเห็นมันทุกอย่างว่า มันก็เท่านั้นแหละ



สติ



สตินี่ ทำให้มันมีกำลังดีแล้วจิตมันจึงจะล่วง เพราะสติคุ้มครองจิต ตัวสติก็คือจิตนั่นแหละ แต่ว่าลุ่มลึกกว่า



สตินั่นอบรมจิต ครั้นอบรมจนขั้นจิตรู้เท่าตามความเป็นจริงแล้ว มันจึงหายความหลง พบความสว่าง ความหลงนั้นก็คือไม่มีสติ ครั้งมีสติคุ้มครองหัดไปจนแน่วแน่แล้ว ให้มันแม่นยำ ให้มันสำเหนียกแล้ว มันจะรู้แจ้งทุกสิ่งทุกอย่าง



สติแก่กล้าจิตย่อมทนไม่ได้ เมื่อทนไม่ได้ก็สงบลง ครั้งสงบลงแล้วมันก็รู้ เดี๋ยวนี้มันไม่มีปัญญา มันก็ส่ายไปมาเพราะมันไปหลายทาง จิตไปหลายทางเพราะเป็นอาการของมัน



เมื่อผู้วางภาระ คือว่าง ไม่ยึดถือว่าขันธ์ห้านี้เป็นตัวเป็นตนแล้ว ไม่ยึดถือแล้วปลงเป็นผู้วางภาระก็มีความสุข จะยืน เดิน นั่ง ก็มีความสุข ไม่ยึดถือเพราะรู้ตามความเป็นจริงของมันแล้ว ไม่ถือเอา ไม่ยึดเอา ได้ชื่อว่าเป็นผู้ขุดตัณหาขึ้นได้ทั้งราก เป็นผู้เที่ยงแล้ว เที่ยงว่าจะเขาสู่ความสุข ตามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เที่ยงแล้ว เมื่อจิตมันรวมมันก็รู้ตามความเป็นจริง มันจะวางขันธ์นี้ เมื่อมันรวมนั้นแหละ ถ้าจิตรวมแล้วมันก็วาง วางแล้วก็มีแต่ว่าง ๆ แล้วค้นหาตัวก็ไม่มี เมื่อค้นหาตัวไม่มีแล้ว ก็อันนั้นแหละ จิตพอสงบลงแล้วปัญญาก็เกิดขึ้นเองน่ะแหละ ถึงตอนนั้น แม้จิตมันฟุ้งขึ้นมาแล้วมันก็ไป มันไม่มีอันใด แม้แสงสว่างหมดทั้งโลกก็ตาม มันไม่ไปยึด
การต่อสู้กามกิเลสเป็นสงครามอันยิ่งใหญ่ กามกิเลสนี้ร้ายนัก มันมาทุกทิศทาง ความพอใจก็คือกิเลส ความไม่พอใจก็คือกามกิเลส กามกิเลสนี้อุปมาเหมือนแม่น้ำ ธารน้ำน้อยใหญ่ไม่มีประมาณ ไหลลงสู่ทะเล ไม่มีที่เต็ม ฉันใดก็ดี กามตัณหาที่ไม่พอดี ภวตัณหา วิภวตัณหา เป็นแหล่งก่อทุกข์ ก่อความเดือดร้อนไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งหมดอยู่ที่ใจ สุขก็อยู่ที่ใจ ทุกข์ก็อยู่ที่ใจ ใจนี่แหละคือตัวเหตุ ทำความพอใจให้อยู่ที่ใจนี่



กามตัณหา เปรียบเหมือนแม่น้ำไหลไปสู่ทะเล ไม่รู้จักเต็มสักที อันนี้ฉันใด ความอยากของตัณหามันไม่พอ ต้องทำความพอจึงจะดี เราจะต้องทำใจให้ผ่องใส ตั้งอยู่ในศีล ตั้งอยู่ในทาน ตั้งอยู่ในธรรม ตั้งอยู่ในสมาธิก็ดี ทุกอย่างเราทำความพอดี ความพอใจก็นำออกเสีย ความไม่พอใจก็นำออกเสีย เวลานี้เราจะพักจิต ทำกายของเรา ทำใจของเราให้รู้แจ้งในกายในใจของเรานี้ รู้ความเป็นมา วางให้หมด วางอารมณ์ วางอดีตอนาคตทั้งปวงที่ใจนี่แหละ






อรรถของอุทกูปมสูตร

อุทก คือ น้ำ

อุทกูปม คือ อุปมาดังน้ำ

อุทกูปมสูตร คือ พระสูตรที่เปรียบเทียบบุคคลประเภทต่างๆ ด้วยน้ำ



ความหมายของห้วงน้ำ

ห้วงน้ำ คือ อกุศลธรรม ตามนัยของพระสูตร มีดังนี้คือ

นิยตมิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดดิ่ง มีกำลัง เช่นเดียวกับพวกเดียรถีย์

สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส (สังโยชน์ ๓ คือ เครื่องร้อยรัดไว้ในภพ) ที่

พระโสดาบันละได้

ราคะ โทสะ โมหะ อย่างหยาบที่พระสกทาคามีละได้

โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ที่พระอนาคามีละได้ ได้แก่ กามราคะ ปฏิฆะ รวมกับ

สังโยชน์ ๓ ข้างต้น

อาสวะทั้งสิ้น ที่พระอรหันต์ละได้

(อาสวะ คือ อกุศลธรรมที่หมักดอง ซึมซาบ ไหลไป ๕ ทาง คือ ทางตา หู จมูก

ลิ้น กาย ใจ ได้แก่ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ เช่น ทันทีที่เห็นเกิด

ก็ติดข้องทันที แม้ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร เพราะเบาบางเล็กน้อย ไม่รู้ตัว ซึ่งไม่เหมือน

โทสะที่มีกำลังให้รู้ได้)



เอาบุญมาฝากจะถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ สักการะพระธาตุ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาทสร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย ฟังธรรม
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ ให้อาหารสัตว์เป็นทานเป็นประจำ กรวดน้ำอุทิศบุญ อนุโมทนากับพ่อแม่ญาติพี่น้องที่รักษาศีล ฟังธรรม ให้ทาน อนุโมทนากับน้องคนหนึ่งและเพื่อนๆของน้องที่รักษาศีล ศึกษาการรักษาโรค ให้ยานพาหนะเป็นทาน ให้ที่อยู่อาศัยเป็นทาน
ที่ผ่านมาได้รักษาอาการป่วยของบิดามารดา
วันนี้ได้สักการะพระนอนและพระต่างๆที่วัดนพคุณทอง อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี
และตั้งใจว่าจะสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอให้อนุโมทนาบุญด้วย


ขอเชิญถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน สักการะพระธาตุ ฟังธรรม สวดมนต์ ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาท
สร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย กรวดน้ำอุทิศบุญ ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สนทนาธรรม
ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น รักษาอาการป่วยของผู้อื่น รักษาอาการป่วยของบิดามารดา
ปิดทอง สักการะพระธาตุ กราบอดีตสังขารเจ้าอาวาสที่ไม่เน่าเปื่อย ที่วัดแจ้ง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี
สักการะพระนอนและพระต่างๆที่วัดนพคุณทอง อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี
และสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอเชิญร่วมบุญกุศลร่วมกันนะครับ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 119 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร