วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 20:33  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 28 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ย. 2010, 06:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มี.ค. 2010, 21:53
โพสต์: 126

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


นะโม วิมุตตานัง นะโมวิมุตติยา
ขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นทังหลาย ขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรม


ปฏิปทา วัตรปฏิบัติ และหลวงปู่สอนศิษย์จากหนังสือพุทโธ
หลวงปู่ผู้พูดน้อย

ปฏิปทาหลวงปู่นั้นท่านไม่พูดอะไรมาก แม้กระทั่งประวัติส่วนองค์ท่าน ท่านก็เล่าเพียงสั้นๆเท่านั้น ส่วนใหญ่ท่านจะปฏิบัติให้เห็นมากกว่าการเอ่ยด้วยถ้อยคำ หากจะสอนสิ่งใดก็เพียงปรารภอุบายธรรมสั้นๆพอให้ตรงกับอุปนิสัยของผู้นั้น โดยท่านปรารภทีเดียวเท่านั้น แล้วแต่ผู้ฟังจะนำไปพิจารณาทางปํญญาได้มากน้อยเพียงใด เช่น " ไปอยู่กรุงเทพ เดี๋ยวหลงแสง หลงสี กินแต่ของดี ขี้เหม็น" เพื่อเตือนสติพระผู้ติดตาม สมัยหลวงปู่ท่านเข้ารับการรักษาอาพาธที่กรุงเทพมหานคร


เป็นพระยากที่สุด

หลวงปู่ท่านอยู่อย่างพระภิกษุผู้ยากจน ไม่ขอไม่ร้องในเหตุเกินควรแก่ฐานะพระภิกษุสงฆ์ ท่านไม่เคยขอร้อง ไม่เคยออกปากอยากได้ อยากมี อยากเป็นอะไรๆ กับใคร แม้แต่กับญาติพี่น้อง ท่านมีความเป็นอยู่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องอย่างสม่ำเสมอ นับแต่ปี ๒๔๗๘ ที่ได้บวชมา อาหารบิณฑบาต ๑ มื้อ ก็เพียงพอต่อสังขารร่างกายของท่าน ให้อยู่ปฏิบัติธรรมต่อไปได้อย่างบริบูรณ์ยิ่ง

บริขารก็เช่นกัน ท่านอาศัยเพียงผ้า ๓ ผืนฉันในบาตร อยู่ในอาสนะพอควร หนักแน่นด้วยธรรมปฏิบัติ เจริญศีล เจริญภาวนา ครั้งหนึ่งท่านเคยปรารภว่า

"พระพุทธเจ้าท่านเป็นพระมหากษัตริย์ ท่านยังสละออกป่า อนาถานอนกลางดิน กินของชาวบ้าน จนสำเร็จมรรคผลนิพพาน นั่น... นี่เราเป็นคนด้อยวาสนา เป็นชาวนา จะเอาอะไรให้มากกว่านี้ พระนั้นมิใช่ว่าจะเป็นได้ง่ายๆ บวชเข้ามาเป็นผีเฉยๆก็มาก ลงนรกก็แยะไป เออ...เป็นพระน่ะมันยากที่สุด ไม่ใช่ว่าใครจะคิด จะทำ จะนึก เอาตามใจตัวเองนั้นไม่ได้หรอก บวชแล้วลืมตัวว่าเป็นพระก็ลงนรก เพราะยังพกเอาความหลงมาทำให้พระศาสนาสกปรก"


แก้ไขล่าสุดโดย ภัทรพงศ์ เมื่อ 02 พ.ย. 2010, 08:04, แก้ไขแล้ว 3 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ย. 2010, 06:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มี.ค. 2010, 21:53
โพสต์: 126

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


การบิณฑบาต


หลวงปู่อ่อนสา สุขกาโร ท่านเป็นพระที่เคารพและหนักแน่นต่อการบิณฑบาตเลี้ยงชีพ อันเป้นสิกขาบทสำคัญข้อหนึ่งของพระภิกษุที่จะต้องดำเนินตามรอยแห่งพระอริยะ ประเภณีที่สืบต่อกันมา

แม้ว่าวัยสังขารของท่านจะย่างเข้าสู่ปัจจิมวัยแล้ว ขณะที่ท่านยังสามารถพูดออกเสียงได้ แม้จะเจ็บไข้ หากพอไปได้ ท่างก็จะออกรับบิณฑบาตทุกวัน แม้ท่านไม่สามสรเดินได้เอง ท่านยังให้รถมารับท่านไปถึงแม้ว่าจะมีลูกศิษย์เป็นห่วงขอนิมนต์ท่านไว้เพียง ไร จนแม้กระทั่งที่ท่านไม่สามารถฉันได้เอง อันเป็นผลเนื่องมาจากโรคเส้นโรหิตในสมองตีบท่านก็ยังสื่อสารให้รับรู้ว่า ท่านจะออกรับบิณฑบาต วันหนึ่ง ท่านมีอาการเหนื่อยและมีฝนตกโปรย จึงขอนิมนต์หลวงปู่ไว้ว่า
ถาม "หลวงปู่ไม่เหื่อยหรือครับ ?"
หลวงปู่ตอบ "เหนื่อย"
ถาม "ถ้าอย่างนั้้น นิมนต์หลวงปู่ไม่ต้อองออกไปบิณฑบาตนะครับเพราะว่าฝนตก จะทำให้ไม่สบายได้"

แม้จะพยายามขอนิมนต์ห้ามหลวงปู่ไว้ หลวงปู่ก็ยังบอกให้ไปเอารถมารับ และ กล่าวต่อท้ายว่า "ไปใกล้ๆ พอได้กิน"

เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ก็ไม่เคยต้านทานหลวงปู่ท่านอีกเลย ยิ่งเมื่อย้อนกลับไปศึกษาปฏิปทาเกี่ยวกับการออกรับบิณทบาตของท่านจากลูก ศิษย์เก่าๆแล้วยิ่งต้องยอมท่าน เพราะสมัยก่อนนั้นท่านจะเคร่งครัดเรื่องการบิณฑบาตมากดังเรื่องที่จะยกมาให้ ท่านผู้อ่านได้พิจารณากัน คือ

สมัยเมื่อท่านมาพักจำพรรษาที่วัดประชาชุมพลพัฒนารามปีแรกนั้นหลวงปู่ท่านก็ ได้เข้าไปบิณฑบาตโปรดญาติโยมในกองบิน ๒๓ ซึ่งอยู่ไม่ห่งจากวัดมากนัก และยังไม่มีใครรู้จังหลวงปู่มาก่อน เพราะเป็นพระรูปแรกที่เข้าไปบิณฑบาทที่นั่น จึงทำให้ไม่มีใครเตรียมตัวใส่บาตรให้ท่าน

ด้วยอุบายภายในของหลวงปู่ องค์ท่านจะเมตตาโยมผู้หนึ่ง ซึ่งไม่เคยใส่บาตรท่านเลย แม้ท่านจะไปหยุดยืนรออยู่ที่หน้าบ้านทุกวันก็ตาม วันหนึ่ง เมื่อหลวงปู่บิณฑบาตมาถึงบ้านหลังนี้อีก หลวงปู่ก็ได้เดินขึ้นไปบนบ้านโดยเจ้าของบ้านไม่ทันตั้งตัว แล้วหลวงปู่ก็ถามว่า

"มีหมากเขียบกินบ่?" (มีน้อยหน่ากินมั้ย?)

เมื่อเจ้าของบ้านตอบว่าไม่มี หลวงปู่ก็กลับออกมา แล้วกลับมาใหม่ในวันรุ่งขึ้น สะพายบาตรพร้อมกับถือถุงน้อยหน่ามาด้วย เพื่อที่จะนำมาให้กับเจ้าของบ้านหลังนี้นั่นเอง(สมัยก่อนนั้นในวัดหลวงปู่ ปลูกต้นน้อยหน่า จำนวนมาก)ได้เคยถามเรื่องนี้กับหลวงปู่ หลวงปู่ก็จะหัวเราะพร้อมกับบอกว่า
"เฮ็ดปานนั้น จำเป็นก็ต้องใส่บาตรเฮาตั้ว!"
(ทำขนาดนั้น จำเป็นก็ต้องใส่บาตรให้เราสิ)

หลังจากวันนั้นเจ้าของบ้านหลังนั้นก้ใส่บาตรหลวงปู่เรื่อยมา

อีกเรื่อง สมัยที่หลวงปู่ท่านไปผ่าตัดกระจกตาที่ร.พ. จักษุรัตนิน ลูกศิษย์ที่ดูแลท่านเล่าให้ฟังว่า หลังจากวันรุ่งขึ้นที่หลวงปู่ผ่าตัดเสร็จหลวงปู่ก็นำผ้าที่ปิดตาออกแล้วลุก ขึ้นทำท่าเหมือนจะไปทางไหน ลูกศิษย์จึงถามท่านว่า
"หลวงปู่จะไปไหน?"
ท่านว่า
"จะไปบิณฑบาตร"
ทำให้ลูกศิษย์เตรียมตัวแทบไม่ทัน พร้อมทั้งยังสงสัยว่าทำไมหลวงปู่ท่านจึงไม่มีอาการอะไรเลย เพราะเพิ่งผ่าตัดกระจกตาไปเพียงคืนเดียวเท่านั้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ย. 2010, 06:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มี.ค. 2010, 21:53
โพสต์: 126

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ไม่ลาสิกขาให้ใคร

เกี่ยวกับการลาสิกขาของพระเณร หลวงปู่ท่านไม่เคยทำพิธีลาสิกขาให้ใคร ตรงกันข้ามท่านมักจะบอกให้บวชเสียมากกว่า แต่ถ้าใครมาลาสิกขา ท่านก็บอกให้ไปลาสิกขากับท่านองค์นั้นองค์นี้แทน แม้ในหนังสือสวดมนต์หลวงปู่ท่านว่า

"ไม่ควรมีบทลาสิกขา ถ้าจะมีให้ลงพิธีบวชถึงจะถูกต้อง บทลาสิกขาไม่ต้องเอามาลงไว้ มันไม่ใช่แนวทาง"

ในวันออกพรรษาปี ๒๕๔๕ หลวงปู่ท่านได้ให้โอวาทแก่พระเณรว่า

"ออกพรรษาแล้วผู้ได๋ซิสิกก็สิก ผู้ได๋ซิอยู่ก็อยู่ อยู่ตายคาผ้าเหลืองนำกันนี่ล่ะ" (ออกพรรษาแล้ว ใครจะสึกก็สึก ใครจะอยู่ก็อยู่ อยู่ตายคาผ้าเหลืองด้วยกันนี่ล่ะ)


มั่นคงต่อพระวินัย รักสะอาดและประหยัด

เรื่องแรกที่จะขอยกขึ้นมา ณ ที่นี้ คือ ประมาณตันปี พ.ศ.๒๕๔๖ หลวงปู่มีอาการอาพาธต้องเข้ารับการรักษาทีั่่โรงพยาบาล ทำการตรวจเลือดพบว่า ความเข้มข้นเลือดของหลวงปู่ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ต้องหาสาเหตุว่ามีแผลในระบบทางเดินอาหารหรือไม่ โดยส่องกล้องตรวจ เบื้องต้นให้ฉันยาระบายเพื่อขับถ่ายของเสียในระบบทางเดินอาหาร แต่องค์ท่านไม่สามารถขับถ่ายได้ จึงต้องใช้วิธีสวนร่วมด้วย ในขณะที่ท่านมีอาการอ่อนเพลียอยู่นั้น ผู้ล้วงช่วยก็กำลังตั้งใจมาก จึงบอกให้ท่านเบ่ง หลวงปู่จึงพูดออกมาทั้งๆที่มีเวทนาขณะนั้นว่า "ในพระวินัย เพิ่นบ่ให้เบ่งเด้อ" (ในพระวินัยของพระห้ามมิให้ออกแรงเบ่งในขณะขับถ่าย)

อีกเรื่องหนึ่ง คือในช่วงเวลาที่หลวงปู่ยังแข็งแรงอยู่นั้น องค์ท่านจะนั่งรถกอล์ฟเพื่อตรวจดูบริเวณวัด ตรวจกุฏิหลังนั้นหลังนี้ หากพบว่ากุฏิหลังใดไม่มีพระอยู่ แต่เปิดประตูหน้าต่างทิ้งไว้ ท่านก็จะบอกคนขับรถลงไปปิดให้เรียบร้อยเสียก่อนที่ท่านจะผ่านไป ซึ่งในธรรมวินัยนั้น "หากภิกษุจะออกจากกุฏิไปสู่อาวาส อื่น ต้องทำความสะอาดปิดประตูหน้าต่างให้เรียบร้อย เพื่อเป็นการรักษาสมบัติของสงฆ์ มิให้ชำรุดทรุดโทรมหรือเสียหายก่อนเวลาอันควร"

สำหรับเรื่องความรักสะอาดของหลวงปู่นั้น ท่านจะเน้นมากแต่ท่านไม่พูดมาก นานๆท่านจึงจะพูดออกมา ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการถูพื้นกุฏิ เรื่องมีอยู่ว่า ที่พื้นห้องของหลวงปู่จะเป็นไม้ เวลามีผู้เข้ามากราบนมัสการท่านจะทิ้งรอยนั่ง รอยเท้าหรือรอยมือไว้ หลวงปู่ก็จะบอกให้เอาผ้ามาถูตามบริเวณพื้น ซึ่งท่านก็พูดครั้งเดียว แต่ก็แสดงให้รับรู้ว่า ท่านเป็นพระที่รักความสะอาดและรักความเรียบร้อย ไม่ว่าเรื่องใดหากท่านเห็นว่า สิ่งใดวางไม่อยู่ที่เดิมท่านก็จะบอกให้จัดการทันที หรือตู้ที่แง้มฝาไว้ ลิ้นชักที่ปิดไม่สนิท ท่านจะมองและให้แก้ไขทุกครั้งไป

หลวงปู่ท่านสอนต่อว่า "ไปอยู่ที่ไหนวัดไหน ให้ทำความสะอาดที่นั่น กวาดใต้กุฏิให้มันแปลน(สะอาด) อย่าขี้เกียจ"

เวลามีงานพิธีสำคัญภายในวัด หลวงปู่ท่านมีเมตตาออกดูลูกศิษย์ที่เตรียมงานอยู่เสมอๆ ท่านจะชอบมองดูคนทำงาน หรือเวลาท่านนอนท่านก็จะชอบมองดูพระเณรที่ทำความสะอาดทำข้อวัตรอยู่ในขณะ นั้นโดยไม่ละสายตาเลย พระรูปใดทำอย่างไรท่านจะสังเกตหมด ถ้าไม่ทำอะไรท่านก็ไม่ว่าอะไร แต่ท่านจำไว้ แล้วคอยเล่าให้คนใกล้ชิดฟังว่า พระรูปใดเป็นแบบไหนคนนั้นเป็นแบบนั้นแบบนี้ และท่านจำไม่ลืม แม้นานเป็นปีหากได้ทำผิดพลาดให้เห็นแล้วไม่ลืม ที่สำคัญ ท่านเล่าให้คนอื่นฟังบ่อยด้วย...

ส่วนเรื่องความประหยัด จะขอยกตัวอย่างเรื่องการประหยัดไฟ หากท่านพิจารณาเห็นว่า หลอดไฟจุดใดในวัดไม่ได้ปิดไว้หรือเปิดไดยไม่จำเป็น ท่านก็จะบอกให้ไปปิดทันที บางครั้งท่านไม่ได้ออกไปตรวจนอกกุฏิ ท่านก็ยังรู้ว่า จุดนั้นจุดนี้ยังไม่ได้้ปิดไฟไว้ ท่านก็จะบอก แต่ท่านไม่ได้บอกบ่อยนักเพราะเมื่อท่านพูดแล้ว พระเณรต่างก็ระมัดระวังมากขึ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ย. 2010, 06:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มี.ค. 2010, 21:53
โพสต์: 126

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วัตรปฏิบัติเดินจงกรม

ตลอดช่วงเวลาที่พระรูปหนึ่งได้มีโอกาสมาอยู่จำพรรษากับหลวงปู่พบว่า ทุกคืนองค์ท่านจะลุกขึ้นมาเดินจงกรมจับราวภายในกุฏิของท่านแม้ท่านจะชราภาพ มากเดินไม่ไหว แต่ท่านก็ไม่มีอาการหวั่นไหวกลับมีความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวเหมือนไม่มีอะไร เกิดขึ้นกับองค์ท่านเลย โดยจะให้คนที่เฝ้าท่านพาท่านลงจากเตียงไปยังทางเดินจงกรม บางคืนท่านก็เดินได้มาก บางคืนท่านก็เดินได้น้อย จนกระทั่งคืนหนึ่ง...

เรื่องมีอยุ่ว่า ช่วงประมาณต้นปี ๒๕๔๖ ท่านเริมฉันอาหารน้อยลงบางวันฉันเพียง ๕ คำ ทำให้ท่านไม่ค่อยแข็งแรงเท่าที่ควร คืนหนึ่งเวลาประมาณสองนาฬิกา ท่านให้พาท่านนั่งรถเข็นไปเข้าทางเดินจงกรมเช่นเคย พอเดินได้สองรอบท่านก็หยุดนั่งรถเข็นและจะขึ้นเตียง ขณะที่จะนำท่าน ขึ้นจากรถเข็นนั้นหลวงปู่ก็มีอาการก้มหน้าแล้วหน้าท่านก็ฟุบลงบนบ่าของพระ ที่ดูแลท่านมีน้ำลายไหลออกเป็นทาง มีเม็ดเหงื่อออกท่วมตัว จึงได้จับท่านเงยหน้าขึ้นท่านก็ไม่ตอบสนองอันใด สังเกตว่าขณะนั้นท่านมีอาการตาลอย จึงรีบบีบคั้นตัวท่าน แล้วน้ำท่นขึ้นเตียงเช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำหมาดๆ ทายาหม่องยาลม จนกระทั่งท่านรู้สึกตัวท่านก็หลับด้วยอาการอันอ่อนเพลีย

พอรุ่งเช้า คณะลูกศิษย์ก็นิมนต์หลวงปู่เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อตรวจร่างกาย หลังจากนำเลือดไปตรวจ พบว่าความเข็มข้นของเลือกต่ำ เป็นสาเหตุทำให้ท่านซึมลงพร้อมกับหมดสติดังกล่าว


พรากของเขียว

สำหรับเรื่อง การพรากของเขียว นั้น ในพระธรรมวินัยท่านห้ามไว้มิให้พระภิกษุพรากของเขียวให้หลุดออกจากที่มีการ เด็ดใบไม้เป็นต้นถ้าละเมิดท่านปรับเป็นอาบัติปาจิตตีย์ แต่แล้วก็มีเหตุท่านเมตตาสอนจนได้ เรื่องมีอยู่ว่า ในบริเวณวัดของหลวงปู่ซึ่งก็มีพื้นที่ไม่มากนักทางพระเณรได้ทำการปลูกต้นไม้ ยืนต้นไว้ตามที่ต่างๆ และต้องคอยดูแลตัดหญ้าไม่ให้ขึ้นปรกคลุมต้นไม้ที่ปลูกประมาณสองถึงสามปีจึง ปล่อยได้

วันหนึ่งพระสองรูปเห้นว่าหญ้าขึ้นท่วมกล้าไม้แล้วไม่มีคนตัดลำพังสามเณรรูป เดียวคงทำไม่ไหว จึงพากันลงมือตัดเองเพราะหลวงปู่ยังไม่ทันกลับเข้าวัด จนถึงเวลาค่ำจึงพากันเข้าหาหลวงปู่ที่กุฏิ องค์ท่านถามทันที่ว่า"ใครตัดหญ้า" ก็ได้ตอบท่านตามจริง ใจหนึ่งก็กลัวแต่อีกใจหนึ่งกลับดีใจเพราะท่านรู้ทุกอย่างได้แม้ไม่ได้อยู่ วัดในขณะนั้น สังครูหนึ่งองค์ท่านก็เมตตาเตือนสติว่า "อย่าไปหาตัดเอง ให้โยมเขามาตัดให้ บางคนเข้าวัดเแฉยๆมีแต่เอา ให้ใช้เขาตัดนะ ถ้าไม่มีคนตัดก้ปล่อยมันรกอยู่อย่างนั้นแหละ" คืนนั้นทั้งคืนรู้สึกสุขใจที่ท่านเมตตาเตือนสติ เพราะปกติแล้ว องค์ท่านจะไม่พูดหรือไม่สนใจจะสอนใครง่ายๆ นัก


ชอบทดสอบความรอบครอบไหวพริบปฏิภาณ


หลวงปู่มีอุบายที่จะถามพระอยู่เรื่อยๆว่า อุปัชฌาย์ชื่ออะไร?อยู่วัดไหน? ใครเป็นพระกรรมวาจาจารย์? เมื่อมีพระอาคันตุกะมาพพักที่วัดก็จะามพระเณรว่า พระที่มาพักนั้นชื่ออะไร? ฉายาอะไร? มาจากวัดไหน? ให้พักกุฏิหลังไหน? ถ้าตอบชื่อท่านไม่ได้ท่านจะว่า "คนอะไรไม่มีชื่อ " ถ้าตอบได้ ท่านก็จะถามไล่เอาผู้ตอบจนมุม เช่นว้า พระที่มาพักนั้นเป็นคนบ้านไหน? อายุเท่าไหร่?่ เขาบวชที่ไหน? เป็นต้น ที่เป็นเช่นนี้หากพิจจารณาตามปัญญาที่น้อยนิดนี้ออกเป็นสองกรณี กรณีแรก หล่วงปู่ต้องการทราบว่า พระที่มาพักนั้น เป็นพระแท้มีสังกัดหรือไม่ อยู่ในความปกครองของใครจะได้ไม่ถูกหลอก เพราะสมัยนี้มีพระปลอมคอยเข้ามาทำลายพระพุทธศาสนาไม่น้อย ส่วนกรณีหลังพิจจารณาได้ว่า หลวงปู่ท่านต้องการทดสอบสติปัญญาของผู้ถูกถามว่ามีปฏิภาณไหวพริมมากน้อย เพียงใด ได้พูดคุยต้อนรับพระอาคันตุกะหรืไม่ แต่สำหรับหลวงปู่แล้วท่านไม่เคยติดขัดอะไรเลยเวลามีคนมาถามท่าน ท่านจะตอบได้หมดทุกคำถาม


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ย. 2010, 06:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มี.ค. 2010, 21:53
โพสต์: 126

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


มรณสติ

เคยมีพระถามหลวงปู่ถึงวิธีภาวนาว่า ทำอย่างไรสมาธิถึงจะเกิดเพราะลองปฏิบัติแล้วแต่จิตยังไม่อยู่นิ่งเป็นสมาธิ หลวงปู่ก็เมตตาสอนว่า "ให้นับหนึ่งถึงสิบ ถ้าไม่อยู่ให้นับถึงยี่สิบ ถ้ายังไม่อยู่อีกให้นับถึงร้อยแต่ถ้ายังไม่อยู่อีก คราวนี้ให้บริกรรม ตายๆๆๆๆ"


รวมเรื่องเล่าถึงหลวงปู่


เคยสอบถาม "หลวงตาแตงอ่อน กลฺยาณธมฺโม" วัดป่าโชคไพศาลว่าสมัยที่ท่านอยู่วัดหนองผือ(นาใน) หลวงปู่อ่อนสาท่านเป็นอย่างไรบ้าง หลวงตาแตงอ่อนท่านเมตตาเล่าให้ฟังว่า

"กุฏิ ของหลวงปู่อ่อนสาในครั้งนั้นเป็นกุฏิใบมะพร้าว ข้างกุฏืมีกกบากใหญ่(ต้นพวง) อยู่ทางฟากโพน(เนินดิน) ทิศใต้กุฏิหลวงตาแตงอ่อน ท่านไม่ค่อยพูดค่อยจากับใคร ไม่คลุกคลีกับใครอยู่เรียบๆเฉยๆ ต่างคนต่างทำความเพียรของใครของมัน ตัวหลวงปู่อ่อนสาเอง ท่านก็เป็นครูบาไม่ได้มาเอาวัตรใกล้ชิดกับหลวงปู่มั่น ปล่อยให้พระหนุ่มน้อยทำวัตรกับหลวงปู่มั่นไป โดยท่านคอยดูอยู่ห่างๆ"


วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ เวลาบ่ายสองโมง หลวงปู่ผ่าน ปญฺญาปทีโป และหลวงปู่บุญหนาได้มาเยี่ยมหลวงปู่ที่โรงพยาบาล หลวงปู่บุญหนาเมตตาเล่าให้ฟังว่า
"สมัยตอนเป็นเณร หลวงปู่อ่อนสา ท่านมักจะหยอกท่านด้วยการล็อคคอ และเอารอยสักที่แขนซ้าย(รูปผู้หญิง) มาถูที่หน้าเรา"

ท่านเล่าไปพลางหัวเราะพลาง ภายหลังเมื่อหลวงปู่บุญหนาได้ญัตติเป็นพระแล้ว ก็ได้หลวงปู่อ่อนสาเป็นผู้พาพินทุผ้าและอธิษฐานผ้าทุกอย่าง หลวงปู่บุญหนาก็สงสัยว่า "แล้วกรดต้องอธิษฐานด้วยหรือเปล่า?"

หลวงปู่อ่อนสาท่านจึงตอบว่า "อธิษฐานทำไม กางออกใช้เลย"

หลวงปู่บุญหนาเล่าต่อว่า สมัยก่อนไม่มีองค์ไหนเทศน์ มีอาจารย์เดียวคือหลวงปู่มั่น หลวงตามหาบัวก็เงียบ หลวงปู่อ่อนสา นี่ยิ่งเงียบมาก สมัยนั้นทุกองค์เงียบมาก เลาจะคุยกันต้องกระซิบ ส่วนใหญ่เวลาท่านมาพบกัน มักจะถามกันว่า "เป็นจั๋งได๋ ภาวนาเป็นจั๋งได๋" (เป็นอย่างไร ภาวนาเป็นอย่างไร) ไม่เหมือนสมัยนี้ พอมาพบกันก็ถามกันว่า "เป็นจั๋งได๋ ศาลาสร้างไปถึงไหนแล้ว?"

หลวงตาบุญเลิง วัดป่าบ้านหนองผือ (อดีตเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านหนองผือ)เล่าให้ฟังว่า

"ครั้ง หนึ่งหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ว่า "ถ้าใครกลัวตายจะไม่ได้อะไรกับเขา" ทำให้ครั้งนั้นพระที่จำพรรษากับหลวงปู่มั่น ต่างพากันออกวิเวกกัน ตัวหลวงปู่อ่อนสาเองครั้งนั้นท่านก็ไปวิเวกบ้านอุ่นโคก เมื่อถึงเวลากาลเข้าพรรษาท่านก็กลับมาจำพรรษาที่วัดป่าหนองผือแห่งนี้"

มีพระรูปหนึ่งเคยบวชเป็นสามเณรน้อยอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี เคยเห็นหลวงปู่เดินเข้ามาที่วัดนี้บ่อยๆ ซึ่งสมัยก่อนหลวงปู่ท่านมักจะเดินเท้ามาจากวัดของท่าน ถนนหนทางไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน พระรูปนี้เล่าให้ฟังว่า "แค่ หลวงปู่เดินเข้าประตูวัดเท่านั้น สามเณรจะพากันหนีเข้ากุฏิเงียบหมดเลย เพราะว่าเกรงกลัวหลวงปู่มาก และหลวงปู่ท่านดุมากนะสมัยนั้น"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 พ.ย. 2010, 19:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 พ.ค. 2008, 14:14
โพสต์: 3835

อายุ: 12
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


ขอนุโมทนานะครับ (รออ่านต่ออยู่นะครับ) :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 พ.ย. 2010, 12:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มี.ค. 2010, 21:53
โพสต์: 126

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


บางเรื่องที่หายไป

เรื่องราวประวัติความเป็แมาของหลวงปู่อ่อนสา สุขกาโร นั้นดูจะไม่เป็นที่กล่าวถึงกันนัก ทั้งที่หลวงปู่เองก็ถือได้ว่าเป็นศิษย์องค์สำคัญรูปหนึ่งของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่แห่งกองทัพธรรมภาคอีสาน หลวงปู่ได้เคยร่วมจำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่าหนองผือนาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในช่วงปีพ.ศ. ๒๔๘๘ - ๒๔๙๒ จวบจนท่านพระอาจารย์ใหญ่ละสังขาร

ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านเองก็มีความสนิทสนมกับหลวงปู่มาก ยังเว้นที่จะกล่าวถ฿ง ด้วยว่าท่านคงจะเข้าใจในปฏิปทาที่ถือความวิเวกชอบอยู่องค์เดียวไม่คลุกคลี กับหมู่คณะของหลวงปู่ จึงไม่พบเรื่องราวของหลวงปู่อ่อนสาในข้อเขียนใดๆในหนังสือของท่านพระอาจารย์ มหาบัว

ในหนังสือ "อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (พระอาจารย์วัน อุตตโม) แห่ง วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม อ.ส่องดาว จ.สกลนคร" ซึ่งท่านได้บันทึกประวัติของท่านด้วยลายมือของท่านเองว่า

"(หน้าที่ ๓๔)...พ.ศ. ๒๔๘๘ ข้าพเจ้าพักจำพรรษาอยู่ด้วยท่านอาจารย์ใหญ่ ที่วัดป่าภูริทัตถิราวาส บ้านหนองผือ ในการอยู่ของข้าพเจ้านั้นก็อยู่ด้วยความหวั่นวิตกในตนอยู่เสมอ จนแทบจะหายใจไม่อิ่มเหมือนกันเพราะความกลัวในท่านมากเหลือที่สุด ไม่ทราบว่าท่านจะขับให้ออกหนีในวันไหน ครั้นต่อมา "ท่านครูบาอ่อนสา" ก็เข้ามาเป็นเพื่อนร่วมหวั่นวิตกอีก...

(หน้า ๓๕)...ระหว่างก่อนเข้าพรรษานั้น มีพระเณรเข้ามาหาท่านไม่ค่อยขาดแทบทุกวัน เมื่อร่วมกันมากๆหน่อย เดี๋ยวก็ถูกท่านให้ขยายออกไป เหตุการณ์ย่อมเป็นอยู่อย่างนี้เสมอ ข้าพเจ้าคิดแต่ว่าถ้าเราไม่มีความผิดและไม่มีทิฐิมานะเข้าไปรบกวนวาระจิตของ ท่านก็คงจะไม่ถูกส่งตัวออกไปเป็นแน่ แต่ความร้อนๆหนาวๆก็มีอยู่อย่างนั้นเสมอ พอได้เข้าไปปรับทุกข์กันกับ "ครูบาอ่อนสา" เท่านั้น เพราะท่านก็เป็นเช่นเดียวกันกับข้าพเจ้า..."

(หน้า ๓๖)...ปีนั้นที่อยู่จำพรรษาด้วยท่านคือ ท่านอาจารย์หลุย ๑ ท่านอาจารย์มนู ๑ พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ๑ ครูบาอ่อนสา ๑ ครูบาเนตร กันตสีโล ๑ กับข้าพเจ้าและเณรดวง ผ้าขาวเถิง เมื่อถึงเข้าพรรษาพอได้อธิษฐานพรรษาแล้วเท่านั้น ก็เกิดความอุ่นใจขึ้นมาเป็นอันมากโดยคิดว่าถ้าเราไม่มีความผิดพลาดอย่างร้าย แรงท่านก็คงจะไม่ขับออกจากสำนักเป็นแน่ แม้ "ครูบาอ่อนสา" ก็เช่นเดียวกันกับข้าพเจ้า

และในหนังสือที่พิมพ์แจกในงาน พระราชทานเพลิงศพของ "พระอาจารย์ผั่น ปาเรสโก" วัดป่าหนองไคร้ จ.ยโสธร ในช่วงพรรษาที่ ๑๐ ของท่านในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ที่ได้อยู่ปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่นว่า

(หน้า ๙๗) "...ในพรรษานี้มีพระภิกษุ-สามเณร ดังรายนามต่อไปนี้
๑.) พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พรรษา ๕๕
๒.) พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน พรรษา ๑๓
๓.) พระอาจารย์อ่อนสา สุขกาโร พรรษา ๑๒
๔.) พระอาจารย์เนตร กันตสีโล พรรษา ๑๐
๕.) พระอาจารย์สอ สุมังคโล พรรษา ๑๐
๖.) พระอาจารย์ผั่น ปาเรสโก พรรษา ๑๐
๗.) พระวัน อุตตโม พรรษา ๕
๘.) พระมหาปทีป โชติโก พรรษา ๔
๙.) พระจวน กุลเชฏโฐ พรรษา ๔
๑๐.) พระทองคำ ญาโณภาโส พรรษา ๓
๑๑.) พระบัว จิตธัมโม พรรษา ๓
๑๒.) พระทองสา พุทธญาโณ พรรษา ๒
๑๓.) พระหล้า เขมปัตโต พรรษา ๒
สามเณร ๕ รูป
๑.) สามเณร เพ็ง
๒.) สามเณร ลี
๓.) สามเณร มณี
๔.) สามเณร ไสว
๕.) สามเณร ปะไมย์..."


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 พ.ย. 2010, 12:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มี.ค. 2010, 21:53
โพสต์: 126

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ลงรูปไม่เป็น หากไม่เป็นการรบกวนถ้าสมาชิกท่านใดจะกรุณานำรูปหลวงปู่ลงให้เป็นระยะขอขอบคุณมากเลยครับ (เห็นรูปองค์ท่านในเน็ตเยอะอยู่ครับ) tongue tongue tongue


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 พ.ย. 2010, 12:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มี.ค. 2010, 21:53
โพสต์: 126

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


และจาก หนังสือประวัติและพระธรรมเทศนาของ "หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป" วัดป่าปทีปปุญญาราม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร ช่วงพรรษาแรกของท่าน ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ที่ท่านได้เข้าไปศึกษากับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต มีข้อความว่า

"(หน้า ๑๔)...ในครั้งนั้นมีพระเณร ๑๐-๒๐องค์ อาทิ พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน (ปัจจุบันอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี) , พระอาจารย์อ่อนสา สุขกาโร (ปัจจุบันอยู่ที่วัดประชาชุมพลพัฒนาราม จ.อุดรธานี) , พระอาจารย์วัน อุตตโม (วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม จ.สกลนคร-มรณภาพแล้ว) , พระอาจารย์หลุย จันทสาโร (มรณภาพแล้ว) , พระอาจารย์คำพอง ติสโส (ปัจจุบันอยู่วัดถ้ำกกดู่ จ.อุดรธานี) , พระอาจารย์หล้า เขมปัตโต (วัดภูจ้อก้อ จ.มุกดาหาร-มรณภาพแล้ว) , พระอาจารย์จันทร์โสม กิตติกาโร (ปัจจุบันอยู่ที่วัดป่าบ้านนาสีดา จ.อุดรธานี) , สามเณรบุญเพ็ง (ปัจจุบันคือ พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู)...

ถือได้ว่าหลวงปู่อ่อนสา สุขกาโร ท่านเป็นพระอาจารย์รุ่นใหญ่รูปหนึ่งในสายกรรมฐานของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แต่ด้วยความที่ท่านชอบอยู่องค์เดียว ไม่คลุกคลีกับหมู่คณะ จึงทำให้น้อยคนที่จะรู้จักและกล่าวถึงท่านนอกเสียจากพระอาจารย์ในรุ่นราว คราวเดียวกัน จึงจะรู้จักและเข้าใจในปฏิปทาของหลวงปู่

หากไม่มีรูปที่ท่านได้ถ่ายร่วมกับครูบาอาจารย์รุ่นใหญ่ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ณ ใต้ต้นโพธิ์ วัดโพธิสมภรณ์ ทั้งหมด ๙ รูป อันได้แก่

๑.) ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี
๒.) หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.อุดรธานี
๓.) หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร
๔.) หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม จ.อุดรธานี
๕.) พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
๖.) พระอาจารย์จันทร์ เขมปัตโต วัดจันทราราม จ.หนองคาย
๗.) พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร
๘.) พระอาจารย์บัว สิริปุณโณ วัดป่าหนองแซง จ.อุดรธานี
๙.) พระอาจารย์อ่อนสา สุขกาโร วัดประชาชุมพลพัฒนาราม จ.อุดรธานี

เราทั้งหลายก็คงไม่มีโอกาสได้รู้จักศิษย์ผู้ยิ่งยงรูปหนึ่งของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่ง เป็นเพียงภาพถ่ายเดียวที่ท่านได้ถ่ายไว้ในสมัยนั้นที่ยืนยัน ถึงความเป็นพระกรรมฐานและครูบาอาจารย์รุ่นใหญ่ของท่าน ซึ่งในปัจจุบันเหลืออยู่เพียงไม่กี่รูปที่ยังเป็นเนื้อนาบุญอันสมบูรณ์ สมดังคำว่า
"ปุญญํ เขตตํ" ให้เหล่าศิษยานุศิษย์ได้กราบไหว้กัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 พ.ย. 2010, 12:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มี.ค. 2010, 21:53
โพสต์: 126

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


มาเฮ็ดหยัง

ลูกศิษย์คนหนึ่งของหลวงปู่เล่าว่า ครั้งแรกที่รู้จักหลวงปู่ เนื่องจากได้เห็นรูปพระอาจารย์ต่างๆในสายปฏิปทา ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จำนวน ๙ รูปได้ถ่ายรูปร่วมกันใต้ต้นโพธิ์ ณ วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ อาทิ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ , หลวงปู่ขาว อนาลโย , หลวงปู่ฝั้น อาจาโร , หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เป็นต้น ซึ่งต่างก็ละสังขารกันไปเกือบหมดแล้ว จะเหลือเพียง ๒ รูปเท่านั้น คือ พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด และอีกรูปหนึ่งคือ พระอาจารย์อ่อนสา สุขกาโร แต่ไม่ทราบว่าท่านอยู่ที่ไหนและยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า จึงได้ไปกราบเรียนถามท่านพระอาจารย์มหาบัว วัดป่าบ้านตาดว่า หลวงปู่อ่อนสาท่านยังมีชีวิตอยู่หรือไม่และท่านอยู่ที่ไหน ได้รับคำตอบว่า ท่านยังมีชีวิตอยู่และอยู่ ณ วัดป่าสีทน (วัด เก่าหลวงปู่) จึงรีบรุดไปหาท่าน เมื่อไปถึงถามพระที่วัดก็ชี้ไปที่กุฏิไม้มุงด้วยใบตองหลังหนึ่ง มีพระแก่ๆรูปหนึ่งนั่งอยู่ดูแล้วน่าจะเป็นหลวงปู่จึงเข้าไปกราบหลวงปู่ถาม ว่า

"มากันแต่ทางได๋?" (มาจากไหนกัน?)
"มาจากขอนแก่นครับ"
"มาเฮ็ดหยัง?" (มาทำไม?)
"มากราบหลวงปู่ครับ"
"พระอยู่ขอนแก่นบ่มีให้กราบแล้วบ่?" (พระที่ขอนแก่นไม่มีให้กราบแล้วเหรอ?)
"มีครับ แต่อยากมากราบหลวงปู่"
"กราบแล้ว ก็กลับซะ" หลวงปู่ตอบ


ตดใส่ผ้าเหลือง

ทิดสึกใหม่มากราบนมัสการหลวงปู่ ท่านคงจะสังเกตเห็นว่าเพิ่งจะสึกเนื่องจากเส้นผมบนศรีษะพึ่งจะเริ่มขึ้น หลวงปู่จึงถามว่า

"บวชโด่นป่านได๋?" (บวชนานแค่ไหน?)
ทิดหนุ่มคนนั้นก็ตอบท่านว่า
"บวช ๑๕ วันครับ หลวงปู่"
แล้วหลวงปู่ก็พูดขึ้นว่า
"เฮ้ย! ซุ่มนี่ มาหาตดใส่ผ้าเหลืองซือๆตั้ว" (เฮ้ย! พวกนี้ มาหาตดใส่ผ้าเหลืองเฉยๆนี่)

ซึ่งหลวงปู่ท่านหมายความว่ามาบวชได้ไม่นาน ยังไม่ทันที่จะได้เรียนรู้และเข้าใจธรรมะอะไร ก็สึกซะแล้ว "หลวงปู่ท่านจะให้ความสำคัญในการบวชเพื่อปฏิบัติภาวนาให้เห็นภัยในวัฏฏสงสารเป็นอย่างมาก"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 พ.ย. 2010, 00:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มี.ค. 2010, 21:53
โพสต์: 126

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ใกล้เกลือ

ได้มีคณะนายทหารอากาศจากกองบิน ๒๓ จังหวัดอุดรธานี ไปกราบนมัสการ ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ที่วัดป่าบ้านตาดท่านก็ถามว่า

"มาจากที่ไหนกัน?"
คณะนายทหารจึงตอบว่า
"มาจากกองบิน ๒๓ ครับ"
ท่านพระอาจารย์มหาบัวก็พูดว่า
"พวกนี้ทำไมโง่นัก พระอรหันต์อยู่ข้างกองบินก็ไม่รู้จักไปหา ฉลาดมากด้วย ข้ามมาบ้านตาดทำไม?"

คณะนายทหารกลุ่มนั้น เพิ่งจะทราบภายหลังว่าวัดที่อยู่ข้างกองบิน ที่ท่านพระอาจารย์มหาบัวพูดถึงนั้น คือ "วัดประชาชุมพลพัฒนาราม"


รอยสัก


วันหนึ่งพระอาคันตุกะมากราบเยี่ยมคารวะหลวงปู่ ดูจากลักษณะท่าทางของพระอาคันตุกะรูปนั้นแล้ว ในสมัยก่อนบวชคงจะเอาเรื่องอยู่ไม่ใช่น้อย เนื่องจากตามตัวของท่านมีรอยสักเต็มตัว เมื่อพระอาคันตุกะรูปนั้นก้มลงกราบหลวงปู่ หลวงปู่ท่านได้เห็นรอยสักบนศรีษะของพระรูปนั้น ท่านจึงเอ่ยถามขึ้นว่า

"แม่นหยังนี่?"
(อะไรนี่?)
พระรูปนั้นก็ตอบว่า "รอยสักครับ"
หลวงปู่ "บ่อายเขาบ่?" (ไม่อายเขาหรือ?)
พระรูปนั้น "ก็อายอยู่ครับ"

แล้วหลวงปู่ท่านก็รื้อผ้าจีวรขึ้นและชี้ที่แขนซ้ายของท่านซึ่งมีรอยสักรูป ผู้หญิงที่ท่านสักไว้เมื่อครั้งยังเป็นหนุ่มก่อนที่จะเข้ามาบวช พร้อมกับพูดว่า

"เฮาก็มีคือกัน" (เราก็มีเหมือนกัน)

หลวงปู่ท่านคงจะต้องการบอกกับพระอาคันตุกะรูปนั้นว่า "อดีตที่ผ่านไปแล้วก็ให้ผ่านไป อย่าเอามาเป็นอารมณ์จะทำให้จิตใจเศร้าหมอง"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 พ.ย. 2010, 00:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มี.ค. 2010, 21:53
โพสต์: 126

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


แจกซูกัส

ในงานฉลองอายุครบ ๗๘ ปี เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ของหลวงปู่ ในปีนี้ทางคณะลูกศิษย์ได้ขออนุญาตจากหลวงปู่จัดสร้างรูปเหมือนลอยองค์ขนาด เล็ก เพื่อให้หลวงปู่แจกแก่บรรดาญาติโยมที่มาร่วมในงาน แต่เนื่องจากมีบรรดาญาติโยมจำนวนมากมาย หลวงปู่ท่านเกรงว่าจะมารุมที่ท่านกันหมด ท่านจึงกำหว่านแจกกันกลางศาลา เหล่าลูกศิษย์ลูกหาต่างก็กรูกันเข้าไปเก็บ ได้กันไปบ้างไม่ได้กันบ้าง บางคนที่ยังไม่ได้ก็ตระโกนบอกว่า

"หลวงปู่แจกอีก ผมยังไม่ได้เลย"

หลวงปู่ท่านก็หว่านแจกอีกครั้ง บรรดาลูกศิษย์ผู้ที่ได้แล้วและยังไม่ได้ต่างก็กรูกันเข้าไปเก็บอีก แล้วก็มีเสียงตะโนขึ้นว่า
"หลวงปู่นี่มันซูกัสนี่"

เนื่องจากครั้งนี้หลวงปู่ท่านกำซูกัสหว่านแจกแทนรูปเหมือนของท่าน แล้วท่านก็หัวเราะตามแบบฉบับของท่าน อารมณ์ขันในทำนองนี้ของหลวงปู่มีให้ลูกศิษย์ใกล้ชิดได้พบเห็นอยู่เสมอๆ


ธรรมนอกธรรมใน


ท่านครูบาบุญชุ่ม ญาณสังวโร แห่งวัดพระธาติดอนเรือง ประเทศพม่า ท่านเป็นพระที่ทีปฏิปทาน่าเคารพเลื่อมใสมากรูปหนึ่ง ทุกปีในระหว่างเข้าพรรษา ท่านจะเข้าปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานอยู่ในถ้ำ ไม่ออกจากถ้ำตลอดพรรษา ท่านเคยเล่าว่า ในพรรษาหนึ่งขณะที่ภาวนราอยู่ในถ้ำนั้น ได้นิมิตเห็นพระผู้เฒ่ารูปหนึ่งมาสอนในสมาธิ เรื่องของการพิจารณาตามหลักไตรลักษณ์ ว่าด้วยเรื่องของการเกิดขึ้น การตั้งอยู่และการดับไป อันเป็นธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งมาก และท่านก็จดจำลักษณะของพระผู้เฒ่ารูปนั้นได้อย่างแม่นยำ

วันหนึ่งท่านครูบาชุ่ม มีกิจนิมนต์ที่บ้านท่าน พลอากาศเอกวรนาถ อภิจารี และท่านได้เห็นรูปพระผู้เฒ่ารูปหนึ่งเข้า จึงสอบถามว่า

"หลวงปู่องค์นี้ท่านชื่ออะไร? อยู่ที่ไหน?
มีผู้ตอบท่านว่า
"ท่านชื่อหลวงปู่อ่อนสา อยู่ที่จังหวัดอุดรธานี ขอรับ"
ท่านครูบาบุญชุ่มจึงพูดต่อว่า
"หลวงปู่องค์นี้แหละ ท่านมาสอนอาตมาในสมาธิ ขณะที่เข้าปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานอยู่ในถ้ำที่พม่า"

ท่านครูบาบุญชุ่ม ท่านบอกกับลูกศิษย์เสมอๆว่า "ให้หาโอกาสมากราบนมัสการ หลวงปู่อ่อนสา ที่จังหวัดอุดรธานีให้ได้"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 พ.ย. 2010, 00:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มี.ค. 2010, 21:53
โพสต์: 126

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


นับถือจริงหรือ

ลูกศิษย์ท่านหนึ่งของหลวงปู่เล่าให้ฟังว่า ได้รับรูปเหมือนขนาดบูชาจากเพื่อนสนิทคนหนึ่ง แต่ตัวเองก็ไม่เคยมีโอกาสมากราบนมัสการหลวงปู่เลย และเมื่อได้รับรูปเหมือนของหลวงปู่แล้วก็ตั้งบูชาอยู่ที่บ้าน

วันหนึ่งมีโอกาสมากราบนมัสการหลวงปู่ เมื่อกราบท่านเสร็จก็บอกกับท่านว่า

"เคารพและนับถือหลวงปู่มาก ตั้งใจจะมากราบหลวงปู่หลายครั้งแล้ว แต่ไม่มีโอกาสเลยสักที่"

หลวงปู่ท่านกลับตอบว่า
"นับถือเฮาจั่งได๋? คือปล่อยให้รูปเฮาคว่ำหน้าอยู่" (นับถือเรายังไง? จึงปล่อยให้รูปเราคว่ำหน้าอยู่)

ลูกศิษย์คนนั้นก็งงเหมือนกันกับคำตอบของท่าน แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านจึงทราบว่า รูปเหมือนของหลวงปู่ที่ได้รับจากเพื่อนสนืทนั้น ตกลงมาคว่ำหน้าอยู่ ถึงกับขนลุกและขอขมาหลวงปู่ จากนั้นความเคารพนับถือที่มีในองค์ท่าน ก็มีมากขึ้นอย่างไม่มีข้อสงสัย


อานิสงค์ภายหน้า


ในงานกฐินหรือผ้าป่าครั้งหนึ่ง คณะญาติโยมก็ได้กล่าวคำถวายและร่วมกันอธิษฐานว่า

"....ขอให้พ้นทุกข์ในชาติหน้าภพหน้าเทอญ...."
หลวงปู่ท่านได้ยินจึงพูดออกไมโครโฟนว่า

"สิเอาเฮ็ดหยังข้างหน้า มันสิหน้าไปเรื่อย เอามันมื่อนี่พ้นมันเดี๋ยวนี่ล่ะ" (จะไปเอาทำไมข้างหน้า มันก็จะหน้าไปเรื่อย เอามันวันนี้พ้นมันเดี๋ยวนี่ล่ะ)

นี่แหละ "ปัจจุบันธรรม" ที่หลวงปู่ได้สอนศิษย์ทั้งหลาย "ให้ พากันพิจารณาธรรมในปัจจุบัน ทำปัจจุบันทุกๆขณะจิตให้ดีที่สุด อย่าส่งจิตออกนอกไปยึดติดกับอดีตที่ผ่านมาแล้วหรืออนาคตที่ยังมาไม่ถึง" เหมือนกับที่ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ แห่งวัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่ ท่านกล่าวไว้ว่า

"อดีตก็ธรรมเมา อนาคตก็ธรรมเมา เฮามีแต่ปัจจุบันธรรมเท่านั้น"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 พ.ย. 2010, 00:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มี.ค. 2010, 21:53
โพสต์: 126

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เสร็จตั้งนานแล้ว

ในช่วงประมาณปี ฑ.ศ. ๒๕๒๗-๒๕๒๘ มีการก่อสร้างกำแพงล้อมวัดขึ้น ทางคณะลูกศิษย์ที่ดำเนินงาน ได้จัดทำรูปถ่ายของพระอาจารย์ในสายกัมมัฏฐานของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ทั้งหมด ๙ องค์ที่ถ่ายร่วมกันใต้ต้นโพธิ์ ณ วัดโพธิสมภรณ์ ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ มอบให้แก่ผู้ร่วมสร้างเจดีย์หนึ่งช่อง และนำมาขออนุญาตให้หลวงปู่อธิษฐานจิตให้

"หลวงปู่ครับ โปรดอธิษฐานจิตให้ด้วยนะครับ"
"เอ้อ เอาวางไว้นั่นแหละ" หลวงปู่ตอบ

จากนั้นท่านก็พูดคุยกับลูกศิษย์ลูหาตามปกติ สักพักทางลูกศิษย์เห็นว่าพอสมควรแก่เวลาแล้ว จึงจะลากลับและได้กราบเรียนขอความเมตตาให้หลวงปู่อธิษฐานจิตให้อีกครั้ง

"หลวงปู่..อธิษฐานรูปให้ด้วยครับ"

หลวงปู่ท่านกลับตอบว่า

"ฮ่วย..แล้วแต่โด่นแล้ว" (อ้าว..เสร็จตั้งนานแล้ว)

คณะลูกศิษย์กลุ่มนั้น ต่างพากันมองหน้ากันโดยที่ไม่ทราบว่าหลวงปู่ท่านอธิษฐานจิตให้ตั้งแต่เมื่อไหร่?


หลงสมมติ

ครั้งหนึ่งมีลูกศิษย์ได้ขออนุญาตจากหลวงปู่จัดสร้างเหรียญเพื่อแจกในงานฉลอง อายุครบ ๘๔ พรรษา ของหลวงปู่ จึงได้กราบเรียนให้ท่านทราบว่า
"จะจัดสร้างเป็นเหรียญเนื้อทองคำ , เนื้อเงิน , ...."
ยังไม่ทันที่จะพูดจบ หลวงปู่ท่านก็พูดสวนกลับออกมาว่า

"เอาหยังเฮ็ด ก็คือกัน"
(เอาอะไรทำ ก็เหมือนกัน)

แสดงว่าหลวงปู่ท่านไม่ได้ยึดถือหรือสนใจกับสิ่งเหล่านี้ "ท่านพ้นจากสมมติในโลกไปแล้ว ไม่ยึดถือว่าอะไรจะดีกว่ากัน มีแต่เราๆนี่แหละที่ยังหลงสมมติกันอยู่ว่า อย่างนั้นอย่างนี้ดีกว่า"


หูกับใจ

หลวงปู่กอง
ท่านเป็นพระผู้เฒ่ารูปหนึ่ง เป็นสหธรรมิกของหลวงปู่อ่อนสา อยู่แถวภูพานคำ จังหวัดขอนแก่น (ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) หลวงปู่ท่านมักจะฝากของใช้จำเป็นให้ลูกศิษย์นำไปถวายหลวงปู่กองอยู่เสมอๆ และเนื่องจากหลวงปู่กองท่านชราภาพมากจึงทำให้การได้ยินของท่านมีปัญหา ลูกศิษย์ที่เคยไปกราบหลวงปู่กอง ได้กลับมาพูดคุยกับหลวงปู่ว่า
"หลวงปู่ครับ หลวงปู่กองหูท่านไม่ได้ยินก็ดีนะครับ จะได้ไม่มีกิเลส"
หลวงปู่กลับตอบว่า

"หูบ่ได้ยิน ใจก็ได้ยินคือเก่าล่ะ" ( หูไม่ได้ยิน ใจก็ได้ยินเหมือนเดิมล่ะ)

หลวงปู่ท่านคงจะต้องการสอนว่า "ใจต่างหากที่เป็นตัวปรุงแต่งให้เกิดกิเลสพาให้เราลุ่มหลงยินดี มีสุขมีทุกข์ และติดข้องอยู่ในโลก"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 พ.ย. 2010, 13:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มี.ค. 2010, 21:53
โพสต์: 126

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปหลวงปู่มั่น

มีลูกศิษย์คนหนึ่งนำรูปถ่ายของหลวงปู่ มาให้ท่านอธิษฐานจิตให้จำนวนหลายสิบใบ และในนั้นมีรูปของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แทรกอยู่ด้วย โดยที่รูปทุกใบนั้นมีขนาดเท่ากันและคว่ำหน้าอยู่ หลวงปู่ท่านก็เมตตาเอามือวางข้างหลังภาพทีละใบ พร้อมทั้งพูดคุยกับลูกศิษย์คนนั้นตามปกติ พอถึงรูปหนึ่งท่านกลับยกมือออกและพูดขึ้นว่า

"รูปอาจารย์เฮาตั้วนี่.. ไผเอามาไว้นำ?" (รูปอาจารย์เรานี่นา.. ใครเอามาไว้ด้วย?)

แล้วท่านก็หยิบรูปของท่านพระอาจารย์มั่นออกด้วยความเคารพ ไม่ทราบว่าหลวงปู่ท่านทราบได้อย่างไร? ในเมื่อรูปทั้งหมดนั้นคว่ำหน้าอยู่


ทางสายกลาง

เคยมีลูกศิษย์มาเล่าให้หลงปู่ฟังว่า ครูบาอาจารย์บางสำนักท่านก็สนับสนุนให้ลูกศิษย์ของท่านอดอาหาร เพื่อเป็นการทรมานกิเลสของตนซึ่งจะทำให้เกิดความก้าวหน้าในการปฏิบัติภาวนา อย่างมาก เมื่อหลวงปู่ได้ฟังจึงตอบกลับไปว่า

"ต้องเบิ่งจริตเจ้าของตั้ว คั้นอดแล้วภาวนาดีก็อดไป คั้นอดแล้วภาวนาบ่ได้เรื่อง สิไปอดหาอีหยัง"
(ต้องดูจริตตัวเองสิ ถ้าอดแล้วภาวนาดีก็อดไป ถ้าอดแล้วภาวนาไม่ได้เรื่อง จะไปอดหาอะไร)

หลวงปู่ท่านเน้นในเรื่องของ การดำเนินปฏิปทาในสายกลางหรือ "มัชฌิมาปฏิปทา" มากกว่า อันเป็นสายทางแห่งความร่มเย็นจนถึงที่สุดแห่งทุกข์


ทำไม? ไม่พูดภาษากลาง


วันหนึ่งมีคณะศรัทธาญาติโยมจากกรุงเทพฯ มากราบนมัสการหลวงปู่ท่านก็ปฏิสันฐานกับญาติโยมด้วยภาษาอีสานตามแบบฉบับของ ท่าน ซึ่งทำให้คณะศรัทธาญาติโยมจากกรุงเทพฯ นั้น ฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แล้วก็มีโยมคนหนึ่งอดรนทนไม่ไหวจึงถามหลวงปู่ว่า

"หลวงปู่ครับ ทำไมหลวงปู่ไม่พูดภาษากลางล่ะครับ? พวกกระผมฟังไม่รู้เรื่อง"
หลวงปู่จึงตอบว่า

"ซุมไทกรุงเทพฯมาอีสาน คือบ่เว้าอีสานแน?" (พวกคนกรุงเทพฯมาอีสาน ทำไมไม่พูดอีสานบ้าง)

สรุปแล้วคณะศรัทธาจากกรุงเทพฯ ก็เลยต้องฟังหลวงปู่ท่านพูดภาษาอีสานตามเดิม


เลขเด็ด

ตอนเช้าขณะที่หลวงปู่ท่านฉันจังหัน (ภัตตราหารเช้า) อยู่ที่ศาลานั้นได้มีญาติโยมจากที่ไหนก็ไม่ทราบมากราบหลวงปู่ ซึ่งคงจะหวังในโชคลาภและเลขเด็ดจากหลวงปู่ จึงถามท่านว่า

"หลวงปู่รู้จักเลขมั๊ย เจ้าค่ะ?"
หลวงปู่ก็ตอบว่า
"ฮู้...เป็นหยังสิบ่ฮู้ เฮาก็เฮียนมาอยู่แม้" (รู้...ทำไมจะไม่รู้ เราก็เรียนมาอยู่นี่)

คำตอบของท่านเล่นเอาโยมคนนั้นอึ้งไปเลยไม่รู้จะถามอะไรท่านต่อ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 28 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 49 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร