วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 04:13  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ย. 2009, 19:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


วันหนึ่ง ๆ "บัญญัติ" ปิดบัง "ลักษณะของปรมัตถธรรม"

ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ.


จึงทำให้ไม่รู้ ลักษณะของ ปรมัตถธรรม

คือ ลักษณะของสถาพธรรมตามความเป็นจริง.


เช่น

สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทางตา

ความจริงแล้ว ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน

แต่เป็น สีสัน วัณณะ

คือ รูปธรรม ประเภทหนึ่ง

ซึ่งปรากฏได้ เมื่อมีการกระทบกับจักขุปสาท เท่านั้น.


เมื่อใดที่ "ปัญญา" เจริญขึ้น

จนสามารถ รู้ ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

ในขณะที่กำลังเห็น

ก็จะสามารถละคลาย "ความยึดถือ" ในสภาพธรรม

ที่กำลังปรากฏทางตา

ว่าเป็น สัตว์ บุคคล ตัวตน.


และ รู้ "ความต่างกัน"

ของขณะที่เป็น ปรมัตถอารมณ์

และ บัญญัติอารมณ์ ได้ทุกทาง

(ทั้ง ๖ ทวาร)


.


ขณะที่กำลังฝัน.....มีอะไร เป็นอารมณ์.?


ทุกคนมีขณะที่ฝันแน่นอน

เพราะว่า ผู้ที่ไม่ฝันเลย คือ พระอรหันต์.!


ในเมื่อทุกคนฝัน และ เมื่อตื่นขึ้นมา

ก็บอกว่า เห็นญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือ สิ่งต่าง ๆ ฯลฯ


ฝันเห็นบัญญัติ หรือ ฝันเห็นปรมัตถธรรม.?


ถ้าไม่พิจารณา ก็จะไม่รู้เลย....เพราะเสมือนว่า เห็น.!

แต่ ความจริงนั้น....เมื่อถามว่า เห็นอะไร.?

ก็ตอบว่า เห็นคน สัตว์ สิ่งของ ฯลฯ


นั่นคือ การฝันเห็น เรื่องราว คือ "บัญญัติ"


เพราะว่า

ขณะนั้น จักขุทวารวิถีจิต ไม่ได้เกิดขึ้นเลย

เพราะว่า กำลังหลับ.


แต่

มโนทวารวิถีจิต เกิดขึ้น

และ คิดนึกถึงเรื่องราวของบัญญัติ

จากสิ่งที่เคยเห็น หรือ เคยได้ยิน

เป็นต้น.


เช่น

ท่านที่เคยอ่านหนังสือพิมพ์

ซึ่งมีเรื่องราวต่าง ๆ และ มีรูปภาพประกอบด้วย

ขณะที่กำลังรู้เรื่องราว และ เห็นภาพต่าง ๆ นั้น

ล้วนเป็นขณะที่คิดนึกถึง "บัญญัติ" ทั้งสิ้น.


.


ฉะนั้น

ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด....ชีวิตปกติ ในวันหนึ่ง ๆ

จึงไม่รู้ลักษณะของ ปรมัตถ์ ว่าต่างกับ บัญญัติ อย่างไร.!


เพราะไม่ว่าจะเห็นทางตา อ่านหนังสือ ฯลฯ

หรือทำกิจการงานอยู่ที่ไหน ขณะใด

ก็คิดนึกถึง "บัญญัติ" ทั้งนั้น.!


ฯลฯ


.


สภาพปรมัตถธรรมในชีวิตประจำวัน

ถูกปกปิดไว้ด้วย "อวิชชา" คือ ความไม่รู้

คือ ไม่รู้ ความต่างกัน

ของ ปรมัตถธรรม และ บัญญัติ.


ฉะนั้น

จึงไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ซึ่งไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน นั้น.....เป็นอย่างไร.!


.


ด้วยเหตุนี้

การศึกษาเรื่องของจิต เจตสิก รูป โดยละเอียด

จึงเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ "ปัญญาในขั้นการฟัง" เจริญขึ้น

เป็นสังขารขันธ์ เกื้อกูล

ปรุงแต่งให้เกิดสติ ระลึก รู้ ลักษณะของ ปรมัตถธรรม

ซึ่งทำให้ ละคลายความยึดมั่น ใน "นิมิต-อนุพยัญชนะ"

ซึ่งเป็น "อาการปรากฏของบัญญัติ"



.


ถาม.


บัญญัติ เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ไหม.?


ตอบ.


ไม่ได้.!

ปรมัตถธรรม เท่านั้น

ที่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน ได้.


เช่น

ขณะที่รับประทานอาหาร

ในขณะที่ รส เกิด-ปรากฏ โดยกระทบกับชิวหาปสาท

เป็นปัจจัยให้ จิตเกิดขึ้น รู้รสนั้น ทางชิวหาทวารวิถีจิต.


เริ่มตั้งแต่ ชิวหาทวาราวัชชนจิต-ชิวหาวิญญาณ-สัมปฏิจฉันนจิต-

สันตีรณจิต-โวฏฐัพพนจิต-ชวนจิต-ตทาลัมพนจิต

แล้ว รสนั้น ดับไป.

จึงไม่มี บัญญัติที่เป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ข้าว ปลา อาหาร เป็นต้น


เพราะว่า รส ที่ปรากฏ คือ ปรมัตถธรรม.

แต่เมื่อ (รูปต่าง ๆ) รวมกันแล้ว คิดว่า เป็น อาหารชนิดต่าง ๆ

ขณะนั้น จิต รู้ บัญญัติ.!


ขณะที่เป็นสติปัฏฐาน

จึงหมายถึง

ขณะที่สติ ระลึก ตรงลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ

ซึ่งเป็น ปรมัตถธรรม.

และ มีการพิจารณา สังเกต รู้ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้น

ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน หรือ วัตถุสิ่งต่าง ๆ


ขณะที่สติปัฏฐานไม่เกิด

ก็จะไม่มีการแยก ลักษณะของปรมัตถธรรม ออกจาก บัญญัติ

จึง มีความเห็นผิด

คือ ยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน

หรือ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด อยู่ตลอดเวลา.

ฯลฯ


เริ่มตั้งแต่ ขณะนี้เลย.!

เช่น กำลังได้ยินเสียง....มีบัญญัติไหม.?


เสียง เป็น ปรมัตถธรรม.


ขณะที่จิตรู้ความหมายของเสียงนั้น

คือ ขณะที่จิตรู้บัญญัติ ทางมโนทวารวิถีจิต

เป็นขณะที่จิตเกิดขึ้น นึก เป็น คำ ๆ

ถ้าสติปัฏฐานเกิด ระลึก ได้

ก็ระลึก รู้ ว่า ขณะนั้น เป็น "จิตประเภทหนึ่ง"

เป็น จิต ที่กำลัง รู้คำ ทีละคำ.


ถาม.


สติปัฏฐาน ระลึกรู้ ปรมัตถธรรม

แต่ไม่ระลึกรู้ บัญญัติ.

อย่างนี้แสดงว่า สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก

ทางลิ้น ทางกาย จะพ้นจากมโนทวาร ไม่ได้เลย ใช่ไหม.....?

เช่น เมื่อเห็นทางตา สภาพที่เห็นเกิดขึ้น มีภวังคจิต คั่น

แล้วจึงรู้ต่อ ทางมโนทวาร.?


ตอบ.


วิถีจิต ทางมโนทวาร

จะต้องรู้อารมณ์เดียวกันกับอารมณ์ที่วิถีจิตทางปัญจทวาร รู้.!


หมายความว่า

ถ้า ชวนจิตทางปัญจทวาร เป็น โลภมูลจิต

ชวนจิต ทางมโนทวาร "วาระแรก"

ก็เป็น โลภมูลจิต ประเภทเดียวกัน.


จักขุทวารวิถีจิต กับ มโนทวารวิถีจิต

(แม้มีภวังคจิตเกิดคั่นหลายขณะ)

เกิดสืบต่อกันอย่างรวดเร็วมาก.!


อุปมาเหมือนนก ที่บินไปเกาะที่กิ่งไม้

ทันทีที่นกเกาะกิ่งไม้

เงาของนกก็ปรากฏที่พื้นดิน ฉันใด

เมื่อ อารมณ์ปรากฏทางปัญจทวาร

ก็ปรากฏต่อทางมโนทวารทันที

หลังจากที่ภวังคจิต เกิดคั่นหลายขณะ อย่างรวดเร็วที่สุด

ฉันนั้น.


ฉะนั้น

จึงทำให้ไม่รู้ ว่า รูปารมณ์ที่ปรากฏทางตา

เป็นเพียงปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง

ซึ่งปรากฏ เมื่อกระทบกับจักขุปสาท.


ถาม.


ขณะที่เห็น ว่า เป็นปากกา

ก็แสดงว่า คำ ว่า ปากกา เป็นการรู้บัญญัติทางมโนทวารแล้ว.?


ตอบ.


ยังไม่ได้คิดถึง คำ ว่า ปากกา

ก็มี บัญญัติ เป็นอารมณ์ก่อนแล้ว.!

ฉะนั้น

บัญญัติ จึงไม่ได้หมายเฉพาะแต่ สัททบัญญัติ หรือ นามบัญญัติ

ซึ่งหมายถึง เสียง หรือ คำ.


ถาม.


ขณะที่เห็น แล้วจำได้

ขณะนั้น เป็น บัญญัติ แล้วใช่ไหม.?


ตอบ.


ที่ชื่อว่า "บัญญัติ" เพราะรู้ได้ ด้วยประการนั้น ๆ


ถาม.


นั่นหมายความว่า ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

ต้องผ่านทางมโนทวารด้วย ใช่ไหม.?


ตอบ.


อารมณ์ทั้ง ๕ คือ

รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์

เป็นอารมณ์ที่จิตสามารถรู้ได้ ๒ ทาง

คือ ทางปัญจทวาร (เฉพาะทางของตน ๆ แต่ละทวาร)

และ ทางมโนทวาร

โดยมี ภวังคจิต เกิดคั่น การรู้อารมณ์

ระหว่าง ทางปัญจทวาร และ ทางมโนทวาร.


ถาม.


สมมติว่า รับประทานส้มเปรี้ยว

ขณะที่เปรี้ยว เป็นบัญญัติแล้ว ใช่ไหม.?


ตอบ.


รสเปรี้ยว เป็น ปรมัตถธรรม

ขณะคิดนึกถึง รสเปรี้ยว เป็น จิตคิดนึกถึงบัญญัติ

คำ ที่เรียกว่า รสเปรี้ยว เป็น สัททบัญญัติ

ขณะตั้งชื่อ เรียกชื่อว่า รสเปรี้ยว เป็น นามบัญญัติ.


ถ้าไม่มีเสียง ไม่มีคำ ไม่มีความหมาย

เรื่องราวต่าง ๆ ก็จะไม่มีมากมาย เหมือนอย่างที่เป็นอยู่นี้.!


เมื่อเสียง เป็นอารมณ์แก่ โสตทวารวิถีจิต ดับไปแล้ว

ก็เป็นอารมณ์ของจิตที่เกิดสืบต่อรู้อารมณ์ คือ เสียงที่ดับไปแล้วนั้น

ทางมโนทวารวิถีจิต วาระแรก ด้วย

หลังจากที่ภวังคจิต เกิดคั่นแล้วหลายวาระ.


"สัญญา" ที่กระทำกิจ จำ เสียงต่าง ๆ

เป็นปัจจัยให้นึกถึง คำต่าง ๆ หรือ ชื่อต่าง ๆ


ฯลฯ

.


ถ้าไม่มีสภาพธรรม "ชื่อ" ก็ไม่มี

แต่เมื่อมีสภาพธรรมแล้ว...ที่ไม่มีชื่อ มีไหม.?


ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถา มีว่า


ธรรมทั้งหมดแล ชื่อว่า "อธิวจนปถธรรม"

คือ

"ธรรม เป็นเหตุของชื่อ"


สภาพธรรมบางอย่าง ที่ยังไม่มีชื่อ เช่นต้นไม้

ก็ยังเรียกว่า ต้นไม่มีชื่อ หรือ บอกว่า ต้นไม้นี้ ไม่รู้จักชื่อ

เป็นต้น.


ฉะนั้น

ทุกอย่าง จึงมีชื่อที่จะให้รู้ได้

ด้วยเหตุนี้

จึงไม่มีธรรมใดเลย ที่จะไม่เป็นเหตุของ "ชื่อ"


.


ถ้าไม่มีชื่อ

ก็ไม่สะดวกที่จะทำให้เข้าใจกันได้.


ฉะนั้น

แม้ว่าจะเป็น ปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง

แต่ก็ยังไม่พ้นจากชื่อ.


ซึ่งพระผู้มีพระภาคฯ

ทรงบัญญัติตามลักษณะของสภาพธรรมนั้น ๆ

คือ

ขันธบัญญัติ ๕

อายตนบัญญัติ ๑๒

ธาตุบัญญัติ ๑๘

สัจจบัญญัติ ๔

อินทรียบัญญัติ ๒๒

บุคคลบัญญัติ หลายจำพวก.


แสดงให้เห็นว่า

แม้พระธรรมที่ทรงแสดง

ก็ไม่พ้นจาก "ชื่อ"

หรือ "นามบัญญัติ" ต่าง ๆ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 442

๓. สุตสูตร

ว่าด้วยสิ่งที่ควรกล่าวและไม่ควรกล่าว

[๑๘๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหาร-

เวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล วัสสการ-

พราหมณ์ผู้เป็นมหาอำมาตย์ในแคว้นมคธ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่

ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึก

ถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระ-

ภาคเจ้าว่า พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ผู้ใด

ผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนเห็นว่า เราเห็นอย่างนี้ โทษแต่การพูดนั้นไม่มี ผู้ใด

ผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนได้ฟังมาว่า เราได้ฟังมาอย่างนี้ โทษแต่การพูดนั้น

ไม่มี ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนทราบ (ทางจมูก ลิ้น กาย) ว่า เราทราบ

อย่างนี้ โทษแต่การพูดนั้นไม่มี ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนรู้แจ้ง (ทางใจ)

ว่า เรารู้แจ้งอย่างนี้ โทษแต่การพูดนั้นไม่มี.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ เราไม่กล่าวสิ่งที่เห็น

ทั้งหมดว่า ควรกล่าว และไม่กล่าวสิ่งที่เห็นทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว เราไม่

กล่าวสิ่งที่ได้ฟังทั้งหมดว่า ควรกล่าว และไม่กล่าวสิ่งที่ได้ฟังทั้งหมดว่า ไม่

ควรกล่าว เราไม่กล่าวสิ่งที่ทราบทั้งหมดว่า ควรกล่าว และไม่กล่าวสิ่งที่

ทราบทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว เราไม่กล่าวสิ่งที่รู้แจ้งทั้งหมดว่า ควรกล่าว

และไม่กล่าวสิ่งที่รู้แจ้งทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว ดูก่อนพราหมณ์ แท้จริง

เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้เห็นอันใด ทำให้อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรม

เสื่อมไป เรากล่าวสิ่งที่ได้เห็น เห็นปานนั้นว่า ไม่ควรกล่าว แต่เมื่อบุคคล

กล่าวสิ่งที่ได้เห็นอันใด ทำให้อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น เรา

กล่าวสิ่งที่ได้เห็น เห็นปานนั้นว่า ควรกล่าว ดูก่อนพราหมณ์ เมื่อบุคคลกล่าว

สิ่งที่ได้ฟังมาอันใด... สิ่งที่ได้ทราบอันใด ... สิ่งที่รู้แจ้งมาอันใดทำให้อกุศล

ธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป เรากล่าวสิ่งที่ได้ฟังมาเห็นปานนั้น ...

สิ่งที่ได้ทราบมาเห็นปานนั้น . . . สิ่งที่รู้แจ้งเห็นปานนั้นว่า ไม่ควรกล่าว แต่

เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้ฟังมาอันใด... สิ่งที่ได้ทราบมาอันใด. . . สิ่งที่รู้แจ้ง

อันใด ทำให้อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น เรากล่าวสิ่งที่ได้ฟังมา

เห็นปานนั้น ... สิ่งที่ได้ทราบมาเห็นปานนั้น . . . สิ่งที่รู้แจ้งเห็นปานนั้นว่า

ควรกล่าว. ครั้งนั้นแล วัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์ในแคว้นมคธ ชื่นชม

อนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ลุกจากอาสนะแล้วหลีกไป.

จบสุตสูตรที่ ๓


ควรพูดตามหลักวาจาสุภาษิต ดังนี้

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 439

๘. วาจาสูตร

ว่าด้วยองค์แห่งวาจาสุภาษิต ๕ ประการ

[๑๙๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ

เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต และเป็นวาจาไม่มีโทษ วิญญูชนไม่

ติเตียนองค์ ๕ ประการเป็นไฉน ? คือวาจานั้นย่อมเป็นวาจาที่กล่าวถูก

กาล ๑ เป็นวาจาที่กล่าวเป็นสัจ ๑ เป็นวาจาที่กล่าวอ่อนหวาน ๑ เป็น

วาจาที่กล่าวประกอบด้วยประโยชน์ ๑ เป็นวาจาที่กล่าวด้วยเมตตาจิต ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการนี้แล เป็นวาจา

สุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต และเป็นวาจาไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน.

จบวาจาสูตรที่ ๘

ถ้าพูดตามหลักวาจาสุภาษิตนี้แล้ว ถ้าเขายังโกรธ ก็คงไปทำอะไรเขาไม่ได้



พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 319

[๖๖๐] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงกล่าววาทะลับหลัง ไม่พึงกล่าว

คำล่วงเกินต่อหน้า นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในประการแรกนั้น พึงรู้วาทะลับหลังใด ไม่เป็นจริง

ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่พึงกล่าววาทะลับหลังนั้นเป็นอันขาด

แม้รู้วาทะลับหลังใดจริงแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็พึงสำเหนียกเพื่อ

จะไม่กล่าววาทะลับหลังนั้น และรู้วาทะลับหลังใด จริง แท้ ประกอบด้วย

ประโยชน์ ในเรื่องนั้นพึงเป็นผู้รู้จักกาล เพื่อจะกล่าววาทะลับหลังนั้น .

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในประการหลังนั้น พึงรู้คำล่วงเกินต่อหน้าใด ไม่เป็นจริง

ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้นเป็นอันขาด

แม้รู้คำล่วงเกินต่อหน้าใด จริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็พึงสำเหนียก

เพื่อจะไม่กล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้น และรู้คำล่วงเกินต่อหน้าใด จริง แท้

ประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่องนั้น พึงเป็นผู้รู้จักกาลเพื่อจะกล่าวคำล่วงเกินต่อ

หน้านั้น ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงกล่าววาทะลับหลัง ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อ

หน้า นั่น เราอาศัยเนื้อความนี้ กล่าวแล้ว.


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 91 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร