วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 20:44  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 19 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2009, 21:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


จาก มหานิทานสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปฏิจสมุบาทนี้ลึกซึ้งสุดประมาณ และปรากฏเป็นของลึก ก็แหละถึงจะเป็นเช่นนั้น ก็ยังปรากฏแก่ข้าพระองค์ เหมือนเป็นของตื้นนัก ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธออย่าพูดอย่างนั้น อานนท์ เธออย่าพูดอย่างนั้นอานนท์ ปฏิจสมุบาทนี้ ลึกซึ้งสุดประมาณและปรากฏเป็นของลึก ดูกรอานนท์ เพราะไม่รู้จริง เพราะไม่แทงตลอด ซึ่งธรรมอันนี้ หมู่สัตว์นี้ จึงเกิดเป็นผู้ยุ่งประดุจด้ายของช่างหูก เกิดเป็นปมประหนึ่งกระจุกด้าย เป็นผู้เกิดมาเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง จึงไม่พ้นอุบาย ทุคติ วินิบาต สงสาร ...

ดูกรอานนท์ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงเกิดสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงเกิดวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงเกิดนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงเกิดผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงเกิดชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงเกิด ชรามรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส ฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมมีด้วยประการฉะนี้ ฯ



ปฏิจจสมุปบาทนี้ เป็นธรรมที่สำคัญ ปรากฏอยู่ตลอดเวลา ทั้งวันทั้งคืน
เรียกได้ว่า ตั้งแต่ปฏิสนธิจิตแรกในชีวิต ยันไปจนถึงจุติจิตสุดท้ายในชีวิตนี้ และ ถ้าเหตุปัจจัยยังไม่สิ้น ก็จะเป็นแรงผลักดันให้มีการเกิดใหม่อีกในชีวิตหน้า


ปัจจุบัน จะมีการเสวนากันมากในเรื่องที่ว่า ปฏิจจสมุปบาท นั้น

1.อธิบายเฉพาะเหตุแห่งทุกข์ในชีวิตประจำวัน หรือ
2.อธิบายเฉพาะเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพชาติ หรือ
3.ทั้งอธิบายเหตุแห่งทุกข์ในชีวิตประจำวัน และ อธิบายเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพชาติ


ตัวอย่างปฏิจจสมุปบาทที่แสดงในชีวิตประจำวัน

"แฟนของฉัน"ทิ้งฉันไป ฉันจึงเป็นทุกข์...

ชาติ ชรา มรณะ แห่ง อุปาทานขันธ์๕ ที่แสดงตนในปัจจุบันขณะ สำหรับกรณีนี้ คือเหตุการณ์ใด


ลองพิจารณา มรณะ ดูก่อนน่ะครับ

"แฟนของฉัน"ทิ้งฉันไป ...
ทั้งๆที่ร่างกายของแฟนฉัน ยังไม่แตกดับ.... แต่ฉันเป็นทุกข์แล้ว ใช่ไหม?
ดังนั้นจะไปจำกัด มรณะ เอาไว้เพียง การแตกดับร่างกายของแฟนฉัน คงไม่ได้
มรณะ ในปฏิจจสมุปบาทที่แสดงตนอยู่ในปัจจุบันขณะ สำหรับกรณีนี้ หมายถึง ตัวตนที่เป็นแฟนฉัน(อุปาทานขันธ์๕) ตายในใจฉัน หรือ แฟนทิ้งฉันไปนั่นเอง

"แฟนของฉัน"เกิดเมื่อไร...

ถ้าบอกว่าการเกิดแห่ง"แฟนของฉัน"จำกัดเฉพาะในเวลาที่แฟนของฉันลืมตามาดูโลกเท่านั้น....
แล้วทำไม ตอนที่ฉันเด็กๆยังไม่รู้จัก หรือยังไม่หลงรักแฟน ฉันถึงไม่ทุกข์ตั้งแต่ตอนนั้น... ร่างกายธาตุขันธ์ที่เป็นแฟนฉันก็เกิดมาแล้วนี้???

ชาติ การเกิดของ"แฟนของฉัน" ในปฏิจจสมุปบาทที่แสดงตนอยู่ในปัจจุบันขณะ สำหรับกรณีนี้ หมายถึง ตัวตนที่เป็นแฟนฉัน(อุปาทานขันธ์๕)แสดงตนเต็มที่ในใจฉัน ..... ก็คือ วินาที่ที่ ฉันรู้สึกว่า"นี่ล่ะ คนนี้ล่ะ แฟนฉัน"

ดังนั้น
ถ้ายึดมั่นถือมั่น ว่าเป็น เรา หรือ ของเรา มาก ....ก็ทุกข์มาก เมื่ออุปาทานขันธ์นั้น ปรวนแปร วิบัติพลัดพราก
ถ้ายึดมั่นถือมั่น ว่าเป็น เรา หรือ ของเรา น้อย ....ก็ทุกข์น้อย
ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็น เรา หรือ ของเรา เลย ....ก็สิ้นทุกข์

นี่เป็นลักษณะปฏิจจสมุปบาทที่แสดงตนครบทั้ง11ปัจจัย 12องค์ธรรมเลยในปัจจุบัน

(ปล...ในหนังสือพุทธธรรม ท่านเจ้าคุณๆจะอธิบายเรื่องนี้ละเอียดมากๆ แนะนำผู้สนใจอ่านครับ)



แต่ ก็หาใช่ว่า ปฏิจจสมุปบาทจะไม่เกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพชาติแบบเป็นคนเป็นสัตว์. ที่ปรากฏชัดๆ ก็มีหลายพระสูตร เช่น นิทานสูตร กุตุหลสาลสูตร(ที่ตรัสถึงอุปาทานเป็นเหตุให้เกิดใหม่หลังทำกาละ;คือ คน-สัตว์ตายจริงๆในชีวิตนี้ แล้วไปเกิดใหม่จริงๆในชีวิตหน้า) และ ๆลๆ


ปฏิจจสมุปบาทจึงเป็นธรรมที่ลึกซึ้ง ด้วยเหตุนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2009, 21:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


อธิบายเพิ่มจากข้างบน


อกหัก เป็นทุกข์
กับ ปฏิจจสมุปบาท ที่แสดงตนอยู่ในปัจจุบัน

ชาติ การเกิดของ"แฟนของฉัน" ในปฏิจจสมุปบาทที่แสดงตนอยู่ในปัจจุบันขณะ สำหรับกรณีนี้ หมายถึง ตัวตนที่เป็นแฟนของฉัน(อุปาทานขันธ์๕)แสดงตนเต็มที่ในใจฉัน .....
ก็คือ วินาที่ที่ ฉันรู้สึกว่า"นี่ล่ะ คนนี้ล่ะ แฟนฉัน"


อุปาทาน คือ อาการที่จิตยึดมั่นถือมั่น(ฉันทราคะ)ในขันธ์๕

ขันธ์๕ ในกรณีนี้ คือ มนุษย์ผู้หญิงคนนั้น

ภพ คือ จุดที่ อุปาทาน มีปฏิสัมพันธ์กับ ขันธ์๕ (อุปาทาน+ขันธ์๕)

ชาติ คือ จุดที่มี"แฟนของฉัน"(อุปาทานขันธ์๕)ปรากฏขึ้นในโลก

ชรา คือ "แฟนของฉัน"ลดความรักที่มีต่อฉัน

มรณะ คือ"แฟนของฉัน"สิ้นรักต่อฉัน



แม้นว่า ร่างกายของ"แฟนของฉัน"ยังไม่แก่ หรือ แตกดับทำกาละ

แต่ ทุกข์ เนื่องด้วย ชาติ ชรา มรณะ แห่งอุปาทานขันธ์๕(แฟนของฉัน) ก็ปรากฏได้ .... เมื่อ แฟนของฉันแปรไปเป็นอื่นไป



น้ำตาจะไม่ไหลนอง


http://www.dhammajak.net/board/viewtopi ... 807c1181bb

เพราะมี”ข้า” จึงมี ที่ทุกข์ขัง
ด้วยคาดหวัง ผิดไป ให้หม่นหมอง
มี”ของข้า” น้ำตา จึงไหลนอง
ทุกข์ก่ายกอง ท่วมใจ ไม่เบิกบาน

เมื่อหมด”ข้า” จึงหมด ซึ่งทุกข์ขัง
หมดรัก-ชัง เหตุทุกข์ใจ ไม่สืบสาน
สิ้น”ของข้า” ดับเย็น เห็นนิพพาน
แสนสำราญ ผ่องผุด วิมุติพลัน

น้ำตาจะ ไม่ไหลนอง เพื่อนผองเอ๋ย
จิตวางเลย เหนือโลก ไร้โศกศัลย์
สุญญตา เห็นจริง ทุกสิ่งอัน
พ้นทุกข์ทัณฑ์ แช่มชื่น ร่มรื่นใจ ๆลๆ

ตรงประเด็น



ปล..ข้า-ของข้า เป็นภาษาที่นิ่มนวลกว่า
แต่ ตัวกู-ของกู แบบที่ท่านพุทธทาสใช้ เป็นภาษาที่นิ่มนวลน้อยกว่า แต่ ชัดเจนกว่า


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2009, 21:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


ชาติ ชรา มรณะ ที่เป็นไปในปัจจุบันขณะ


จาก หนังสือพุทธธรรม ฉบับ ปรับปรุงและขยายความ พศ ๒๕๓๘

หน้า๑๔๕


บันทึกที่2 เกิดและตายแบบปัจจุบัน

ผู้ต้องการสืบความในบาลี เกี่ยวกับ สังสารวัฎฎ์ หรือ การเวียนว่ายตายเกิด แบบที่เป็นไปในปัจจุบันภายในชาตินี้ อาจศึกษาพระสูตรตอนหนึ่งต่อไปนี้ เป็นตัวอย่าง

"ความสำคัญตนที่เป็นกิเลสหมักหมม ย่อมไม่เป็นไปแก่บุคคลผู้ดำรงอยู่ในธรรมสี่ประการ (คือ ปัญญา สัจจะ จาคะ อุปสมะ), เมื่อไม่มีความสำคัญตนที่เป็นกิเลสหมักหมมเป็นไป ย่อมเรียกได้ว่า เป็นมุนีผู้สงบ"

ข้อความที่กล่าวไว้ดังนี้นั้น เราได้กล่าวโดยอาศัยเหตุผลอะไร?(ชี้แจงว่า) ความสำคัญตนย่อมมีว่า เราเป็นบ้าง เราไม่เป็นบ้าง เราจักเป็นบ้าง เราจักไม่เป็นบ้าง เราจักเป็นผู้มีรูปบ้าง เราจักเป็นผู้ไม่มีรูปบ้าง เราจักเป็นผู้มีสัญญาบ้าง เราจักเป็นผู้ไม่มีสัญญาบ้าง เราจักเป็นเนวสัญญานาสัญญีบ้าง ;

ดูกร ภิกษุ ความสำคัญตน เป็นโรคร้าย เป็นฝีร้าย เป็นศรร้าย ,

เพราะ ก้าวล่วงความสำคัญตน (ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้)ทั้งหมดได้ จึงจะเรียกว่า เป็นมุนีผู้สงบ;

ดูกรภิกษุ มุนีผู้สงบ ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่วุ่นใจ ย่อมไม่ใฝ่ทะยาน ,
สิ่งอันเป็นเหตุที่เขาจะเกิดย่อมไม่มี ,
เมื่อไม่เกิด จักแก่ได้อย่างไร,
เมื่อไม่แก่ จักตายได้อย่างไร,
เมื่อไม่ตาย จักวุ่นใจได้อย่างไร,
เมื่อไม่วุ่นใจ จักใฝ่ทะยานได้อย่างไร,

"ความสำคัญตนที่เป็นกิเลสหมักหมม ย่อมไม่เป็นไปแก่บุคคลผู้ดำรงอยู่ในธรรมสี่
ประการ .....ๆลๆ


ท่านเจ้าคุณๆ ท่านกล่าวชัดเจนครับ
ว่านี่เป็นหลักฐานในชั้นพระสูตร(บาลี) ที่กล่าวถึง "เกิดและตายแบบปัจจุบัน" หรือ "การเวียนว่ายตายเกิด แบบที่เป็นไปในปัจจุบันภายในชาตินี้"



ความเห็นส่วนตัว
ผมเห็นว่า ปฏิจจสมุปบาทที่แสดงอยู่ในชีวิตประจำวันนี้มีความสำคัญมาก เพราะ เป็นสันทิฐิโกที่เห็นกันได้ประจักษ์ทุกเมื่อเชื่อวัน
แต่ หากไปถึงขั้นปฏิเสธเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพชาติแบบเป็นคนเป็นสัตว์ในกำเนิด๔ ก็จะเป็นการปฏิเสธสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสแสดงไว้ในระดับพระสูตร

อยากขอเสนอให้อ่าน บทความของ ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ในเรื่องนี้ดู

ท่านกล่าวเกี่ยวกับเรื่อง ชาตินี้-ชาติหน้า เอาไว้ครับ


ถาม - มีผู้ร่วมงานคนหนึ่ง สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาและเชื่อยึดมั่นในคำสั่งสอนของอาจารย์ท่านหนึ่งว่า ให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบในชาตินี้ ย่อมได้รับผลในชาตินี้เอง ไม่ต้องมุ่งหวังในชาติหน้าภพหน้า (เขาเชื่อว่าไม่มีชาติหน้าภพหน้า) เป็นความเห็นถูกต้องหรือไม่อย่างไร ในฐานะที่เราเป็นกัลยาณมิตรของเขา เราควรวางตัวอย่างไร

ตอบ - การพูดแต่เรื่องชาตินี้ถ้ามองในแง่เป็นจุดเน้นก็ใช้ได้ แต่ถ้าจะเอาไปปิดกั้นปฏิเสธชาติหน้าเสียเลย ก็เลยเถิดไป เป็นจุดที่ต้องระวัง คือในแง่จุดเน้นนั้นจริง เพราะชาติหน้าเรามองไม่เห็น แล้วที่สำคัญก็คือว่า ตามกฎเกณฑ์แห่งเหตุปัจจัย ชาติหน้าเป็นฝ่ายผลที่สืบเนื่องจากปัจจุบัน เพราะฉะนั้นตามหลักเหตุปัจจัยนี้ สิ่งที่เราต้องทำก็คือเหตุ เมื่อเราทำปัจจุบันที่เป็นเหตุให้ดีแล้วก็ไม่ต้องห่วงผลซึ่งเป็นอนาคต เพราะเรามั่นใจในความจริงข้อนี้ว่าผลเกิดจากเหตุเพราะฉะนั้น หน้าที่ของเราจึงอยู่ที่การทำความดีซึ่งเป็นเหตุในปัจจุบัน จุดเน้นอยู่ที่ปัจจุบัน เมื่อทำเหตุ(ปัจจุบัน) ดีแล้ว ผล(อนาคต)ก็ย่อมจะดี

การกระทำอย่างนี้ นอกจากเป็นการปฏิบัติตาามหลักความจริงของกฎธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยแล้ว เราก็เกิดความมั่นใจตามหลักเหตุปัจจัยนั้นด้วยว่า เรื่องภพหน้าเราไม่ต้องเป็นห่วงอย่างนี้ถูกเหมือนอย่างพุทธภาษิตที่ว่า ธมฺเม ฐิโต ปรโลกํ น ภาเย (สํ.ส.15/208/59) แปลว่า ตั้งอยู่ในธรรมแล้ว ไม่ต้องกลัวปรโลก นี้เป็นภาษิตบทหนึ่งที่บอกให้มั่นใจว่า เมื่อเราทำเหตุดีในชาตินี้แล้วจะต้องหวาดกลัวอะไรกับชาติหน้าเล่า

แม้ในกาลามสูตรก็บอกทำนองนี้ว่า คนที่ทำดีในปัจจุบันชาตินี้แล้ว ก็มีความมั่นใจได้ว่า ฉันไม่กลัวชาติหน้าหรอก ชาติหน้ามีหรือไม่มีฉันไม่ต้องหวั่น เพราะฉันทำความดีจนมั่นใจตนเองแล้วถ้าชาติหน้ามีฉันก็ไปดีแน่

แต่ทีนี้ การที่จะเลยไปถึงจุดที่ปฏิเสธชาติหน้าเสียเลย ก็ล้ำเส้นเกินไป

วิธีปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับปุถุชน ซึ่งยังไม่รู้แจ้งโลกและชีวิต เมื่อจะต้องพูดถึงชาติหน้าในแง่ว่ามีจริงหรือไม่มี จะออกมาในทำนองว่า เรื่องชาติหน้านั้นฉันยังไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่มี แต่ฉันก็รู้วิธีที่จะไม่ต้องหวั่นกลัวชาติหน้า เพราะว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย และเพราะเหตุที่ฉันไม่รู้นี่แหละ ฉันจึงต้องปลอดภัยไว้ก่อน ด้วยการทำดีไว้ เมื่อทำความดีแล้ว ชาตินี้ก็สบายใจชาติหน้าก็มั่นใจไม่ต้องหวั่นต้องกลัว ฉะนั้น คนที่ทำดีในปัจจุบันจึงได้ผลทั้งสองอย่าง คือในปัจจุบันก็ดีสบายไปข้างหน้าก็มั่นใจไม่ต้องกลัวด้วย ก็หมดปัญหา แต่เราไม่ต้องปฏิเสธชาติหน้า เพราะเรายังไม่รู้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2009, 21:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


ปฏิจจสมุปบาท นัยยะที่แสดงตนในปัจจุบันขณะ ทั้ง11ปัจจัย 12องค์ธรรม เป็นเรื่องสำคัญ

ทุกข์จากอกหักรักคุด ก็ไม่ออกไปจากเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้




ขอเสนอ ธรรมเทศนา ที่แสดงถึง ปฏิจจสมุปบาทที่แสดงตนในปัจจุบันขณะ โดยพระสุปฏิปันโน

นำมาจาก " กุญแจภาวนา "

โดย หลวงปู่ ชา สุภัทโท



ปฏิจจสมุปบาท แบบคนตกต้นไม้

....มันจะเกิดยินร้ายก็เป็นสังขาร มันอยากจะไปโน่นไปนี่ก็เป็นสังขาร ถ้าไม่รู้เท่าสังขารก็วิ่งตามมันไป เป็นไปตามมัน เมื่อจิตเคลื่อนเมื่อใดก็เป็นสมมติสังขารเมื่อนั้น ท่านจึงให้พิจารณาสังขารคือจิตมันเคลื่อนไหวนั่นเอง

เมื่อมันเคลื่อนออกไปก็เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ท่านให้พิจารณาอันนี้ ท่านจึงให้รับทราบสิ่งเหล่านี้ไว้ ให้พิจารณาสังขารเหล่านี้ ปฏิจจสมุปบาทธรรมก็เหมือนกัน....

อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร

สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญ-ญาณ

วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปฯลฯ

เราเคยเล่าเรียนมาศึกษามาก็เป็นจริงคือท่านแยกเป็นส่วนๆไปเพื่อให้นักศึกษารู้ แต่เมื่อมันเกิดมาจริง ๆ แล้วท่านมหานับไม่ทันหรอก

อุปมาเหมือนเราตกจากยอดไม้ก็ตุ๊บถึงดินโน่น ไม่รู้ว่ามันผ่านกิ่งไหนบ้าง
จิตเมื่อถูกอารมณ์ปุ๊บขึ้นมาถ้าชอบใจก็ถึงดีโน่น อันที่ติดต่อกันเราไม่รู้
มันไปตามที่ปริยัติรู้นั่นเอง แต่มันก็ไปนอกปริยัติ ด้วย .....มันไม่บอกว่าตรงนี้เป็นอวิชชาตรงนี้เป็นสังขารตรงนี้เป็นวิญญาณตรงนี้เป็นนามรูป มันไม่ได้ให้ท่านมหาอ่านอย่างนั้นหรอก....

เหมือนกับการตกจากต้นไม้ ท่านพูดถึงขณะจิตอย่างเต็มที่ของมันจริงๆ
อาตมาจึงมีหลักเทียบว่าเหมือนกับการตกจากต้นไม้ ท่านพูดถึงขณะจิตอย่างเต็มที่ของมันจริงๆ

อาตมาจึงมีหลักเทียบว่าเหมือนกับการตกจากต้นไม้ เมื่อมันพลาดจากต้นไม้ไปปุ๊บมิได้คณนาว่ามันกี่นิ้วกี่ฟุต....เห็นแต่มันตูม ถึงดินเจ็บแล้ว

ทางนี้ก็เหมือนกัน
เมื่อมันเป็นขึ้นมาเห็นแต่ทุกข์โสกะปริเทวะทุกข์โน่นเลย
มันเกิดมาจากไหนมันไม่ได้อ่านหรอกมันไม่มี ปริยัติที่ท่านเอาสิ่งละเอียดนี่ขึ้นมาพูด แต่ก็ผ่านไปทางเส้นเดียวกัน แต่นักปริยัติเอาไม่ทัน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 19 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 49 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร