วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 08:19  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 35 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2009, 12:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 09:55
โพสต์: 405


 ข้อมูลส่วนตัว


######################################
ว่าด้วยโยนิโสมนสิการ เป็นปัญญาเจตสิก หรือมนสิการเจตสิก
######################################

โยนิโสมนสิการ อรรถกถาจารย์ให้ความหมายไว้ว่า ได้แก่ “การทำไว้ในใจโดยถูกอุบาย, การทำไว้ในใจโดยถูกทาง, การนึก, การน้อมนึก, การผูกใจ,การใฝ่ใจ, การทำไว้ในใจ ซึ่งจิตในอนิจจลักษณะเป็นต้น โดยนัยเป็นต้นว่า ไม่เที่ยง หรือโดยสัจจานุโลมิกญาณ นี้เรียกว่า โยนิโสมนสิการ”

โยนิโสมนสิการ หากกล่าวถึงสภาวะเวลาปฏิบัติจริงๆ แล้ว จะหมายถึง "การใช้ความคิดนำทางเพื่อให้ปัญญาทำงาน" ขออธิบายจากสภาวะที่เกิดขึ้นพอเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้

ขั้นที่ ๑ : เวลาที่เรารับรู้สิ่งใดๆ ก็ตามทางอายตนะ เราก็มีสติระลึกรู้ทันท่วงทีว่าได้เกิดการรับรู้ขึ้นแล้ว.....ตรงนี้เป็น "สัมมาสติ" หรือ "การเจริญสมถะ"

ขั้นที่ ๒ : จากนั้นก็น้อมนึก กระทำไว้ในใจโดยแยบคายเพื่อให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์อย่างไร ด้วยวิธีการคิดอันเหมาะสม......ตรงนี้เป็น "สัมมาสังกัปปะ" หรือ "การเจริญปัญญา" (แต่ยังไม่ใช่ตัวปัญญา) หรือ "การเจริญวิปัสสนา" (แต่ยังไม่ใช่ตัววิปัสสนา)

ขั้นที่ ๓ : ต่อไปจากนั้น ขณะที่กำลังพิจารณา หรือพิจารณาไปแล้วนิดหน่อย หรือพิจารณาไปปานกลาง หรือพิจารณาไปเสร็จ หรือพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีก ปัญญาจะค่อยๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่ไปด้วย ปัญญาจะเกิดขึ้นเร็วหรือช้าแค่ไหนขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน บางคนใหม่ๆ พิจารณาไปจนเสร็จปัญญาถึงจะเกิด บางคนพิจารณายังไม่ทันเสร็จปัญญาเกิด บางคนชำนาญแล้วพิจารณาไปเอง ปัญญาเกิดตามมาเองโดยไม่ต้องฝืนหรือใช้ความพยายามอะไร (หากผู้ปฏิบัติดีเป็นญาณแล้วไม่ต้องพิจารณาอะไรเลย เพราะมีปัญญาอยู่ตลอดจากการอบรมพิจารณามาจนถึงที่สุด) แล้วขณะที่ปัญญาเกิดขึ้นเรื่อยๆ อกุศลธรรม อันมาจากความไม่รู้จะค่อยๆ ลดลงไป เรื่อยๆ เหมือนกัน แล้วถูกตัดขาด ทำให้หมดสิ้นไปในที่สุด (ตรงนี้ผู้ปฏิบัติใหม่จะเป็นการหมดสิ้นแบบชั่วคราวเท่านั้น) นี่แหละเป็นการทำงานของปัญญา........ตรงนี้เรียกว่า "สัมมาทิฐิเกิด", "ปัญญาเกิด", "วิปัสสนาเกิด"

เราจะเห็นว่า โยนิโสมนสิการเวลานำไปปฏิบัติจริงๆ จะมีสภาวะเกิดขึ้น ๓ ขั้นตอนอย่างนี้ แต่ทั้ง ๓ ขั้นตอนนี้เกิดขึ้นรวดเร็ว และเกิดขึ้นซับซ้อนกัน สนับสนุนส่งเสริมกัน ถึงขนาดปะปนกัน ไม่แยกจากกันเลยทีเดียว วนรอบกันไปกันมาอยู่เรื่อยๆ เป็นต้นว่า ขณะอยู่ขั้นที่ ๒ กำลังคิดยู่ สติก็จะมีอยู่คลออยู่ ทำให้ถูกเกิดขึ้นอยู่ไปด้วยไม่ใช่สติเกิดในขั้นที่ ๑ เพียงขั้นเดียว แม้ขั้นที่ ๓ ก็จะมีสติเกิดอยู่ด้วย เป็นปัญญาหล่อเลี่ยงสติเอาไว้ เพียงแต่สติไม่ใช่ตัวเด่นออกโรงทำงานเท่านั้น

ที่ว่าถึงขนาดปะปนกัน ไม่แยกจากกันเลยทีเดียวนั้น เนื่องจากว่า ขณะที่กำลังโยนิโสมนสิการอยู่นั้น จะมีวิญญาณ เวทนา สัญญา ปัญญาเกิดขึ้น วิญญาณทางอายตนะนั้นๆ จะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาที่ดำเนินโยนิโสมนสิการ วิญญาณรู้แจ้งสิ่งใด เวทนาก็มีในสิ่งนั้น สัญญาเก่าก็ถูกนำมาใช้ในสิ่งนั้นๆ พร้อมกันไปด้วย ปัญญาก็จะเกิดขึ้นไปด้วยอยู่ตลอดเวลาในลักษณะนี้

คราวนี้มาดูถึงเรื่องเจตสิก ว่าโยนิโสมนสิการเป็นปัญญาเจตสิกหรือมนสิการเจตสิก ตามการปฏิบัติจริงเป็นได้ทั้งมนสิการเจตสิก กับปัญญาเจตสิก ขึ้นอยู่กับเรากำลังพูดถึงโยนิโสมนสิการในขั้นตอนไหน หากพูดถึงโยนิโสมนสิการในขั้นตอนที่ ๒ จะเป็น มนสิการเจตสิก เป็นส่วนของเหตุ เพราะตอนนี้มีการใส่ใจพิจารณาอยู่นั่นเอง แต่หากพูดถึงโยนิโสมนสิการในขั้นตอนที่ ๓ จะเป็นปัญญาเจตสิก เป็นส่วนของผล เพราะตอนนี้มีปัญญาอยู่นั่นเอง

ขอให้เจริญในธรรม


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2009, 12:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ค. 2008, 14:07
โพสต์: 285

อายุ: 0
ที่อยู่: ประเทศไทย

 ข้อมูลส่วนตัว


ยากจัง อ่านแล้วเข้าใจยาก

.....................................................
"ใครเกิดมา ไม่พบพระพุทธศาสนา ไม่เลื่อมใส ไม่ปฎิบัติ ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย เป็นโมฆะตลอด ตั้งแต่วันเกิดจนวันตาย"

"ให้พากันหมั่นให้ทาน รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา"

พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
http://www.luangta.com/

"ทำสมาธิมากเนิ่นช้า คิดพิจารณามากฟุ้งซ่าน หัวใจของการปฏิบัติคือการมีสติในชีวิตประจำวัน"
หลวงปู่มั่น

"ดูจิต...ด้วยความรู้สึกตัว"
หลวงพ่อปราโมทย์ สวนสันติธรรม ชลบุรี
http://www.wimutti.net


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2009, 14:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 26 พ.ค. 2009, 20:54
โพสต์: 282


 ข้อมูลส่วนตัว


:b16: โยนิโส ความเฝ้าดู เฝ้าสังเกต พิจารณา ค้นหาเหตุผล เป็นปัญญินทรีย์เจตสิก 2 ตัว คือ สัมมาทิฐิ กับ สัมมาสังกัปปะ ซึ่งทั้ง 2 ตัวนี้จะทำงานร่วมกันไปเป็นคู่ เสมอ ได้สัดส่วนกันไป เหมือนวัวเทียมเกวียน จึงจะเป็นปัญญาที่สมบูรณ์
มนสิการ ความตั้งใจ ความใส่ใจ ไม่ทอดทิ้งธุระ เป็นสตินทรีย์เจตสิก และ วิริยินทรีย์เจตสิก
ร่วมกันทำงาน
เมื่อ มีโยนิโสมนสิการดี สติ สมาธิ ปัญญา จะมาร่วมกันทำงานสนับสนุนซึ่งกันและกันทำงาน เป็นการทำให่ สติปัฏฐาน 4 มรรคมีองค์ 8 เจริญก้าวหน้า พัฒนาตนเองไปอย่างไม่หยุดยั้ง จนถึงที่หมายปลายทางคือ นิพพาน :b19:

.....................................................
เมตตาธรรม ค้ำจุนโลก


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2009, 14:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 09:55
โพสต์: 405


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นของคุณ kritsadakorn และคุณอโศกะมากครับ

###############################
โยนิโสมนสิการเป็นอุปการะมากแก่การบรรลุนิพพาน
###############################

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

๖. เสขสูตรที่ ๑

[๑๙๔] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระ
ผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุผู้เป็นเสขะยังไม่บรรลุอรหัตผล ปรารถนาความ
เกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่ เราไม่พิจารณาเห็นแม้เหตุอันหนึ่งอย่างอื่น กระทำ
เหตุที่มี ณ ภายในว่ามีอุปการะมาก เหมือนโยนิโสมนสิการนี้เลย ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุมนสิการโดยแยบคาย ย่อมละอกุศลเสียได้ ย่อมเจริญกุศล
ให้เกิดมี ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาค
ตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

ธรรมอย่างอื่นอันมีอุปการะมาก เพื่อบรรลุประโยชน์อันสูงสุด
แห่งภิกษุผู้เป็นพระเสขะ เหมือนโยนิโสมนสิการ ไม่มี
เลย ภิกษุเริ่มตั้งไว้ซึ่งมนสิการโดยแยบคาย พึงบรรลุนิพพาน
อันเป็นที่สิ้นไปแห่งทุกข์ได้ ฯ

เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว
ฉะนี้แล ฯ

จบสูตรที่ ๖


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2009, 14:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 09:55
โพสต์: 405


 ข้อมูลส่วนตัว


จากความเห็นของคุณอโศกะ

อ้างคำพูด:
โยนิโส ความเฝ้าดู เฝ้าสังเกต พิจารณา ค้นหาเหตุผล เป็นปัญญินทรีย์เจตสิก 2 ตัว คือ สัมมาทิฐิ กับ สัมมาสังกัปปะ ซึ่งทั้ง 2 ตัวนี้จะทำงานร่วมกันไปเป็นคู่ เสมอ ได้สัดส่วนกันไป เหมือนวัวเทียมเกวียน จึงจะเป็นปัญญาที่สมบูรณ์
มนสิการ ความตั้งใจ ความใส่ใจ ไม่ทอดทิ้งธุระ เป็นสตินทรีย์เจตสิก และ วิริยินทรีย์เจตสิก
ร่วมกันทำงาน
เมื่อ มีโยนิโสมนสิการดี สติ สมาธิ ปัญญา จะมาร่วมกันทำงานสนับสนุนซึ่งกันและกันทำงาน เป็นการทำให่ สติปัฏฐาน 4 มรรคมีองค์ 8 เจริญก้าวหน้า พัฒนาตนเองไปอย่างไม่หยุดยั้ง จนถึงที่หมายปลายทางคือ นิพพาน


ที่ผมนำมาตอบ ผมตอบจากความรู้และประสบการณ์ ซึ่งเมื่อได้อ่านของคุณอโศกะถือว่าเป็นประโยชน์มากครับ ทำให้เห็นว่าโยนิโสมนสิการนี้มีหลายอย่างจริงๆ ร่วมอยู่ในนั้นครับ พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสว่ามีอุปการะมากแก่การบรรลุนิพพาน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2009, 14:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ค. 2008, 21:56
โพสต์: 3925

ชื่อเล่น: เช่นนั้น
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


นามขันธ์ 1 ขณะ มีจิต และเจตสิก สัมปยุตต์กัน
วิญญาณขันธ์ เป็นจิต
เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ เป็นเจตสิก

อกุศลจิต ไม่มีปัญญาเจตสิกสัมปยุตต์

การโยนิโสมนสิการ จะเกิดได้ก็แต่ในกุศลจิตขึ้นไป และต้องประกอบด้วยญาณสัมปยุตต์จิต

มนสิการโดยแยบคาย การทำไว้ในใจโดยเหตุตรงกับผล โดยมรรค ผล โดยสัจจ์4

การรับรู้ผัสสะทางอายตนะ ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของมนสิการเจตสิก แต่เป็นหน้าที่ของผัสสะเจตสิก
ผัสสะ ก็ไม่ได้เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสติ
สัมมาสติ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นเหตุเป็นปัจจัย ไม่ใช่ ผัสสะ

ศรัทธา เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด โยนิโสมนสิการ

โยนิโสมนสิการ ประกอบด้วย สมถะเจตสิก และวิปัสสนาเจตสิก กล่าวคือ
ปัญญินทรีย์เจตสิก และ วิริยินทรีย์เจตสิก อันเป็นฝ่ายวิปัสสนา
สตินทรีย์เจตสิก และ สมาธินทรีย์เจตสิก อันเป็นฝ่ายสมถะ

ดีครับที่นำเอาโยนิโสมสนิการ มาเสวนากัน อนุโมทนาครับ

เจริญธรรม


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2009, 20:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 พ.ค. 2008, 14:14
โพสต์: 3835

อายุ: 12
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


kritsadakorn เขียน:
ยากจัง อ่านแล้วเข้าใจยาก


ธรรมะนี่นะ

ทำให้มันยากน่ะ....แสนง่าย...
ทำให้มันง่ายน่ะ...แสนยาก

:b32:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2009, 21:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 09:55
โพสต์: 405


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอบคุณคำตอบของคุณเช่นนั้น

ได้มุมมองเจตสิกที่อิงอาศัยอยู่ภายในเวลาเจริญโยนิโสมนสิการมากขึ้นอีกแล้วครับ หากเป็นไปได้ มีแหล่งที่มาอ้างอิงด้วยว่ามาจากตำราไหนก็จะดีไม่น้อยนะครับ จะได้เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้นครับ

โยนิโสมนสิการเป็นอะไรที่ทำให้มรรคเดินไปได้อย่างสะดวก จึงเป็นธรรมดาที่มีกุศลอะไรๆ อยู่ในนั้นมากมาย

***********************

ขอบคุณความเห็นของคุณชาติสยามมากครับ

เป็นคำที่คมคายมากจริงๆ ครับ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2009, 21:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 พ.ค. 2009, 06:55
โพสต์: 43

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อโศกะ เขียน:
...


คุณอโศกครับ... :b4: :b4: :b4:
ผมชอบสไตล์คุณแบบลูกทุ่ง ๆ น่ะครับ... :b4: :b4: :b4:
อย่าลืมจัดสรรธรรมสไตล์ลูกทุ่ง ๆ เผื่อผมด้วยนะครับ...

:b4: :b4: :b4:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 มิ.ย. 2009, 07:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 12 พ.ค. 2008, 09:39
โพสต์: 219


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอร่วมเสวนาธรรมกับหลาย ๆ ท่านในที่นี้ เพื่อให้เกิดความรู้เกิดปัญญา..
ดังคำว่า "สนทนาด้วยดี ย่อมทำให้เกิดปัญญา"

เอาความรู้ความเข้าใจของตนเองมาเล่า ไม่มีหนังสืออ้างอิง
ให้ทุกท่านพิจารณาด้วยปัญญาของตัวเองให้มาก

ในกาลามสูตร มีอยู่ข้อหนึ่ง
- ไม่ให้เชื่อตำรา เชื่อคำภีร์ เพราะเดียวนี้ ฆารวาสเขียนหนังสือแข่ง กับพระก็มี แถมได้รับความนิยม
ชมเชย จนนำไปหลักฐานอ้างอิงแทนพระไตรปิฏก ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าที่เดียว..


โยนิโสมนสิการ คือ การทำไว้ในใจโดยแยบคาย
อย่างไร ? เรียกว่าแยบคาย
"การคิด การพิจารณาโดยใช้เหตุผลประกอบ การใคร่ครวญไตร่ตรอง ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คิดบ่อย ๆ พิจารณาบ่อย ๆ ใคร่ครวญบ่อย ๆ จนเกิดปัญญา เกิดความเข้าใจ หายสงสัย หากปัญญายังไม่เกิด ก็เรียกว่า ยังไม่แยบคาย ยังไม่ช่โยนิโสมนสิการ"

ปัญญาเกิด เกิดอย่างไร ?
"เกิดความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) เกิดความเข้าใจ หายสงสัย เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง
รู้เห็นความจริงในสัจจะธรรม คือ ไตรลักษณ์ อันมี อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นตัวตัดสิน"

มนสิการ กับ ปัญญาต่างกันอย่างไร ?
มนสิการ มี ความอุตสาหะ จับไว้ ถือไว้ เป็นลักษณะ
ปัญญา มีการตัด เป็นลักษณะ


เหมือนคนเกี่ยวข้าว มือหนึ่งจับกอข้าว อีกมือหนึ่งจับเคียว ตัดกอข้าว
เหมือนพระโยคาวจรเจ้า ใช้มนสิการ(ถือไว้)ซึ่งกิเลสอันมีในใจของตนแล้ว(เช่น การนำเอาอารมณ์ของ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ขึ้นมาคิดมาพิจารณา)จนเกิดความเข้าใจ หายสงสัย ตัดกิเลสนั้นด้วยปัญญา ฉันนั้น..


เมื่อดูลักษณะของทั้งสองอย่างนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า โยนิโสมนสิการก็อย่างหนึ่ง ปัญญาก็อีกอย่างหนึ่ง
เหตุนั้น โยนิโสมนสิการจึงได้แก่ มนสิการเจตสิก ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก

เจริญธรรม

:b8: :b12:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 มิ.ย. 2009, 09:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 มิ.ย. 2007, 21:13
โพสต์: 2631

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


จากหนังสือพุทธธรรมหน้า๖๗๒
ในด้านการหยั่งรู้สภาวธรรม โยนิโสมนสิการไม่ใช่ตัวปัญญาเอง แต่เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา คือให้เกิดสัมมาทิฐิ คัมภีร์มิลินทปัญหาแสดง ความแตกต่างระหว่างโยนิโสมนสิการกับปํญญา ว่าประการแรก สัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายเช่น แพะ แกะ วัว ควาย อูฐ ลา มีมนสิการ (มนสิการแต่ไม่เป็นโยนิโส) แต่ไม่มีปัญญา ประการที่๒ มนสิการมีลักษณะคำนึงพิจารณา ส่วนปัญญามีลักษณะตัดขาด มนสิการรวบจัดความคิดมาเสนอทำให้ปัญญาทำงานกำจัดกิเลสได้ เหมือนมือซ้ายรวบจับเอาราวข้าวไว้ ให้มือขวาถือเคียวตัดเกี่ยวได้สำเร็จ ถ้ามองในแง่นี้ โยนิโสมนสิการก็คือ มนสิการชนิดให้เกิดปัญญาพร้อมกับทำให้ปัญญานั้นเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 มิ.ย. 2009, 10:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 09:55
โพสต์: 405


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นของคุณมิตรตัวน้อย

สำหรับความเห็นของผมแล้ว เรื่องโยนิโสมนสิการนี้เป็นเจตสิกอะไร ถือเป็นเรื่องละเอียดครับ หากคุณมองเฉพาะในแง่มนสิการแล้วล่ะก็เป็น "มนสิการเจตสิก" อย่างที่คุณกล่าวไปจริงๆ แต่หากมองให้ครบถ้วนทั้งกระบวนความ "การปฏิบัติของโยนิโสมนสิการ" ไม่ใช่มีแต่มนสิการเจตสิกเท่านั้น เพราะครบถ้วนกระบวนการของโยนิโสมนสิการจะมีทั้ง มนสิการ ที่เป็นตัวเหตุ และ ปัญญา ที่เป็นตัวผลเกิดสนับสนุนกันไป หากเราศึกษาพุทธพจน์แล้วเวลาดำเนินโยนิโสมนสิการจะสามารถทำให้อริยมรรคต่างๆ จะเกิดได้พร้อมกัน พัฒนาเดินหน้าไปพร้อมกันสนับสนุนส่งเสริมซึ่งกันและกันไปจนกระทั่งถึงที่สุดได้ นี่พูดถึงตอนขณะกำหนดพิจารณาสภาวะธรรมนะครับ ไม่ว่าจะนั่งสมาธิอยู่ หรือเดินจงกรม หรืออิริยาบถอื่นๆ ครับ แต่หากพูดถึงตัวเด่นๆ ที่จะทำงานออกหน้าจริงๆ จะเป็นอย่างที่ผมบอกไปข้างต้นนั่นแหละครับ อย่างไรลองอ่านที่ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาพร ป.อ.ปยุตฺโตกล่าวเอาไว้แล้วเทียบเคียงดูแล้วกันครับ

**************************
ความดำริหรือความนึกคิดที่เอนเอียง ทัศนคติที่บิดเบนและถูกเคลือบ
แฝงเช่นนี้ เกิดขึ้นก็เพราะการขาดโยนิโสมนสิการแต่ต้น คือ มองสิ่งต่างๆ
อย่างผิวเผิน รับรู้อารมณ์เข้ามาทั้งดุ้น โดยขาดสติสัมปชัญญะ แล้วปล่อย
ความนึกคิดให้แล่นไปตามความรู้สึก หรือตามเหตุผลที่มีความชอบใจ ไม่
ชอบใจเป็นตัวนำ ไม่ได้ใช้ความคิดวิเคราะห์แยกแยะส่วนประกอบและความ
คิดสืบสาวสอบค้นเหตุปัจจัย ตามหลักโยนิโสมนสิการ
โดยนัยนี้ มิจฉาทิฏฐิ คือ ความเข้าใจผิดพลาด ไม่มองเห็นสิ่งทั้ง
หลายตามความเป็นจริง จึงทำให้เกิด มิจฉาสังกัปปะ คือ ดำริ นึกคิด และมี
ทัศนคติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างผิดพลาดบิดเบือน และมิจฉาสังกัปปะนี้ก็ส่งผล
สะท้อนให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ เข้าใจและมองเห็นสิ่งทั้งหลายอย่างผิดพลาดบิด
เบือนต่อไปหรือยิ่งขึ้นไปอีก องค์ประกอบทั้งสอง คือ มิจฉาทิฏฐิ และมิจฉา-
สังกัปปะจึงส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน


ในทางตรงข้าม การที่จะมองเห็นสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามที่มันเป็นของ
มันเองได้ ต้องใช้โยนิโสมนสิการ ซึ่งหมายความว่า ขณะนั้นความนึกคิด
ความดำริต่างๆ จะต้องปลอดโปร่ง เป็นอิสระ ไม่มีทั้งความชอบใจ ความยึด
ติด พัวพัน และความไม่ชอบใจ ผลัก แย้ง เป็นปฏิปักษ์ต่างๆ ด้วย ข้อนี้มี
ความหมายว่า จะต้องมีสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ และองค์ประกอบทั้ง
สองอย่างนี้ส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน เช่นเดียวกับในฝ่ายมิจฉานั่นเอง
โดยนัยนี้ ด้วยการมีโยนิโสมนสิการ ผู้นั้นก็มีสัมมาทิฏฐิ คือ มองเห็น
และเข้าใจสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง เมื่อมองเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็น
จริง จึงมีสัมมาสังกัปปะ คือ ดำริ นึกคิด และตั้งทัศนคติต่อสิ่งเหล่านั้นอย่าง
ถูกต้อง ไม่เอนเอียง ยึดติด ขัด ผลัก หรือเป็นปฏิปักษ์ เมื่อมีความดำรินึก
คิดที่เป็นอิสระจากความชอบใจ ไม่ชอบใจ เป็นกลางเช่นนี้ จึงทำให้มองเห็น
สิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง คือ เสริมสัมมาทิฏฐิให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น จากนั้น
องค์ประกอบทั้งสองก็สนับสนุนกันและกันหมุนเวียนต่อไป


ในภาวะจิตที่มีโยนิโสมนสิการ จึงมีความดำริซึ่งปลอดโปร่ง เป็นอิสระ
ปราศจากความเอนเอียง ทั้งในทางติดคล้อยเข้าข้าง และในทางเป็นปฏิปักษ์
ผลักเบือนหนี ตรงข้ามกับมิจฉาสังกัปปะ เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ มี ๓ อย่าง
เช่นเดียวกัน คือ
๑. เนกขัมมสังกัปป์ หรือ เนกขัมมวิตก คือ ความดำริที่ปลอดโลภะ
หรือประกอบด้วยอโลภะ ความนึกคิดที่ปลอดโปร่งจากกาม ไม่
หมกมุ่นพัวพันติดใคร่ในสิ่งเสพสนองความอยากต่างๆ ความคิดที่
ปราศจากความเห็นแก่ตัว ความคิดเสียสละ และความคิดที่เป็นคุณ
หรือเป็นกุศลทุกอย่าง จัดเป็นความนึกคิดที่ปลอดราคะหรือโลภะ
๒. อพยาบาทสังกัปป์ หรือ อพยาบาทวิตก คือ ความดำริที่ไม่มี
ความเคียดแค้น ชิงชัง ขัดเคือง หรือการเพ่งมองในแง่ร้ายต่างๆ
โดยเฉพาะมุ่งเอาธรรมที่ตรงข้าม คือ เมตตา ซึ่งหมายถึงความ
ปรารถนาดี ความมีไมตรี ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข จัดเป็น
ความคิดที่ปลอดโทสะ
๓. อวิหิงสาสังกัปป์ หรือ อวิหิงสาวิตก คือ ความดำริที่ปลอดจาก
การเบียดเบียน ปราศจากความคิดที่จะก่อทุกข์แก่ผู้อื่น โดยเฉพาะ
มุ่งเอาธรรมที่ตรงข้ามคือ กรุณา ซึ่งหมายถึงความคิดช่วยเหลือผู้
อื่นให้พ้นจากความทุกข์ เป็นความคิดที่ปลอดโทสะเช่นเดียวกัน

ข้อสังเกต และเหตุผลในการใช้คำเชิงปฏิเสธ
มีข้อสังเกตอย่างหนึ่ง ที่อาจมีผู้ยกขึ้นอ้าง ซึ่งขอชี้แจงไว้ ณ ที่นี้ด้วย
ครั้งหนึ่งก่อน คือเรื่องธรรมฝ่ายดีหรือกุศล ซึ่งตรงข้ามกับฝ่ายชั่วหรืออกุศล
ในพุทธธรรมแทนที่จะใช้ศัพท์ตรงข้าม มักใช้แต่เพียงแค่ศัพท์ปฏิเสธ ทำให้มี
ผู้คิดเห็นไปว่าพุทธธรรมเป็นคำสอนแบบนิเสธ (negative) และเฉยเฉื่อย
(passive) เพียงแต่ไม่ทำความชั่ว อยู่เฉยๆ ก็เป็นความดีเสียแล้ว
อย่างที่นี้ ตรงข้ามกับพยาบาทสังกัปป์ในฝ่ายมิจฉาสังกัปป์ ฝ่าย
สัมมาสังกัปป์แทนที่จะเป็นเมตตา กลับเป็นเพียงอพยาบาทสังกัปป์ คือ
ปฏิเสธฝ่ายมิจฉาเท่านั้น
ความเข้าใจเช่นนี้ผิดพลาดอย่างไร จะได้ชี้แจงต่อๆ ไปตามโอกาส แต่
เฉพาะเรื่องนี้ จะชี้แจงเหตุผลแก้ความเข้าใจผิด เพียงสั้นๆ ก่อน
การที่ธรรมฝ่ายกุศล (ในกรณีอย่างนี้) ใช้ถ้อยคำที่(เหมือน)เป็นเพียง
ปฏิเสธธรรมฝ่ายอกุศลเท่านั้น เช่น เปลี่ยนจาก “วิหิงสา” เป็น “อวิหิงสา”
มีเหตุผลดังนี้
๑. โดยธรรมดาแห่งระบบการพัฒนาของชีวิต หรือโดยความเป็น
จริงแห่งการพัฒนาของชีวิตที่เป็นระบบของธรรมชาติ
อย่างที่กล่าวแล้วว่า มรรคเป็นทางสายเดียว แต่มีองค์ประกอบ ๘
การที่ชีวิตเจริญงอกงามก้าวหน้าไปในมรรค ก็หมายถึงการที่องค์ทั้ง ๘ ของ
มรรคนั้น เป็นปัจจัยหนุนกันและพัฒนาพร้อมไปด้วยกัน ถ้าใช้คำนิยมของยุค
สมัยก็ว่า พัฒนาอย่างบูรณาการเป็นองค์รวม
ไม่เฉพาะมองเป็นช่วงเวลา แม้แต่ในทุกๆ ขณะ องค์ทั้ง ๘ ของมรรค
ก็ทำหน้าที่ของตนๆ อย่างประสานซึ่งกันและกัน ความเจริญก้าวไปในมรรค
ก็คือ การพัฒนาของชีวิต ที่องค์มรรคทั้ง ๘ ก้าวประสานไปด้วยกันทั้งระบบ
ครบทุกส่วน


จากหนังสือพุทธธรรม นำมาจากพระไตรปิฏกฉบับธรรมทาน

***********************
ในความเห็นของผม เปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ ก็เหมือนกับผู้ที่เข้าใจไปว่า คำว่า "วิปัสสนาล้วนๆ" ที่อรรถกถาจารย์ใช้ได้แก่การเจริญวิปัสสนาอย่างเดียวโดยไม่มีสมถะ หรือสมาธิอยู่ในนั้นเลย แต่ความเป็นจริงแล้ว ก็มีการอาศัยสมถะหรือสมาธิด้วยเท่าที่จำเป็น และเมื่อได้ทำการปฏิบัติไปเรื่อยๆ แล้วทั้งวิปัสสนากับสมถะก็จะได้รับการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน แต่วิปัสสนานี้ออกหน้าเป็นตัวเด่นครับ

ผิดหรือถูกอย่างไร พิจารณาดู ยินดีแลกเปลี่ยน และรับคำชี้แนะครับ

ขอให้เจริญในธรรม


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 มิ.ย. 2009, 10:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 มิ.ย. 2007, 21:13
โพสต์: 2631

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ
วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ ก็คือการเอาโยนิโสมนสิการมาใช้ในทางปฏิบัติ หรือโยนิโสมนสิการภาคปฏิบัติ วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ หรือเรียกสั้นๆว่าวิธีโยนิโสมนสิการนี้ แม้จะมีหลายอย่างหลายวี แต่เมื่อว่าโดยหลักการ ก็มี๒แบบคือ โยนิโสมนสิการที่มุ่งสกัดหรือกำจัดอวิชชาโดยตรง โยนิโสมนสิการที่มุ่งเพื่อสกัดหรือบรรเทาตัญหา โยนิโสมนสิการที่มุ่งกำจัดอวิชชาโดยตรงนั้น ตามปกติเป็นแบบที่ต้องใช้ในการปฏิบัติธรรมจนถึงที่สุด เพราะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจตามความจริง สิ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการตรัสรู้ ส่วนโยนิโสมนสิการแบบสกัดหรือบรรเทาตัญหา มักเป็นข้อปฏิบัติขั้นต้นๆซึ่งมุ่งเตรียมพื้นฐาน หรือพัฒนาตนเองในด้านคุณธรรมให้เป็นผู้พร้อมสำหรับการปฏิบัติขั้นสูงขึ้นไปเพราะเป็นเพียงขั้นขัดเกลากิเลส แต่โยนิโสมนสิการหลายวิธีใช้ประโยชน์ได้ทั้งสองอย่าง คือทั้งกำจัดกิเลส และบรรเทาตัญหาไปพร้อมกัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 มิ.ย. 2009, 10:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 12 พ.ค. 2008, 09:39
โพสต์: 219


 ข้อมูลส่วนตัว


เจริญธรรมครับ คุณศิรัสพล คุณmes

(เป็นความเห็นของตัวเองล้วน ๆ เลยนะครับ)

"โยนิโสมนสิการ" หากแยกได้ก็จะเป็น "โยนิโส" ตัวหนึ่ง "มนสิการ" ตัวหนึ่ง
โยนิโส = แยบคาย คือ การใช้ปัญญา ใช้ความคิดหาเหตุหาผล เพื่อให้เกิดความเข้าใจ หายสงสัย ในเรื่องใด ๆ ที่คิดอยู่พิจารณาอยู่

มนสิการ = ยกไว้ ถือไว้ จับไว้ เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นเวลาพอสมควร โดยไม่วอกแวก ส่ายแส่ ในเรื่องอื่น ๆ เพื่อให้ปัญญา(โยนิโส)พิจารณาให้ท่องแท้ ให้เข้าใจในเรื่องนั้น (มนสิการนี้น่า เทียบได้กับสมาธิตั้งใจมั่น=อุปจารสมาธิ)


ปัญญาที่เกิดเพราะ "โยนิโสมนสิการ" นี้เรียกว่า "วิปัสสนาปัญญาหรือภาวนามยปัญญา"
ปัญญาตัวนี้แหละ ที่ละได้ ปล่อยได้ วางได้

ผิดถูกอย่างไร ขอให้ใช่วิจารณญาณด้วยนะครับ

เจริญธรรม

:b8: :b12:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 มิ.ย. 2009, 11:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 มิ.ย. 2007, 21:13
โพสต์: 2631

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


วิธีโยนิโสมนสิการเท่าที่พบในบาลี พอประมวลเป็นแบบใหญ่ๆได้ดังนี้
๑.วีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย คือพิจารณาปรากฎการณ์ที่เป็นผล ให้รู้สภาวะที่เป็นจริง หรือพิจารณาปัญหา หาหนทางแก้ไข ด้วยการค้นหาสาเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่สัมพันธ์ส่งผลสืบทอดกันมา อาจเรียกว่า วิธีคิดแบบอิทัปปัจจยตา หรือคิดตามหลักปฏิจจสมุปบาท จัดเป็นวิธีโยนิโสมนสิกาอย่างพื้นฐาน ดังจะเห็นว่าบางครั้งท่านใช้บรรยายการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า วิธีนี้กล่าวตามบาลีพบแนวปฏิบัติดังนี้
ก.คิดแบบปัจจัยสัมพันธ์ โดยอริยสาวกโยนิโสมนสิการที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดพรั่งพร้อมว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น, เมิ่สิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ”
ข.คิดแบบสอบสวน หรือตั้งคำถาม เช่นพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาว่า “เรานั้นได้มีความคิดว่าเมื่ออะไรมีอยู่หนอ อุปาทานจึงมี อุปาทานมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย? ลำดับนั้นเพราะเราโยนิโสมนสิการจึงรู้ได้ด้วยปัญญาว่า เมื่อตัญหามีอยู่อุปาทานจึงมี อุปาทานมีเพราะตัญหาเป็นปัจจัย; ลำดับนั้นเราได้มีความคิดว่า เมื่ออะไรมีอยู่หนอ ตัญหาจึงมี ตัยหามีเพราะอะไรเป็นปัจจัย? ลำดับนั้นเพราะเราโยนิโสมนสิการ จึงรู้ได้ด้วยปัญญาว่า เมื่อเวทนามียู่ ตัญหาจึงมี ตัญหามีเพราะเวทนาเป็นปัจจัย ฯลฯ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 35 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 124 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร