ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

รางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา ประจำปี 2552
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=20851
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 01 มี.ค. 2009, 13:52 ]
หัวข้อกระทู้:  รางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา ประจำปี 2552

รูปภาพ
ภิกษุณีพูลสิริวรา, ภิกษุณีปัญญาวตี
ภิกษุณีโช่ววี้, แม่ชีบริจิทท์ สโครเท็นบั๊คเค่อร์



รางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา
ประจำปีพุทธศักราช 2552


“รางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา” เป็นรางวัลเกียรติยศที่มอบให้แด่สตรีผู้อุทิศตนทำคุณประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนาเป็นประจำทุกปี เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลแห่งสหประชาชาติ จัดโดยมูลนิธิส่งเสริมพลังสร้างสรรค์ของสตรี ซึ่งมี ดร.สุธีรา วิจิตรตรานนท์ เป็นประธาน และ ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัตน์ เป็นเลขาธิการ รางวัลนี้เริ่มขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 โดยได้มอบให้แก่สตรีทั้งที่เป็นภิกษุณี แม่ชี ชีพราหมณ์ และอุบาสิกา ทุกเชื้อชาติจากทุกมุมโลกไปแล้วกว่าร้อยคน ผลของโครงการนี้ทำให้สตรีชาวพุทธทั่วโลกสามารถสานต่อความสัมพันธ์ สร้างเครือข่ายช่วยเหลือกันทางสังคม และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางศาสนาอย่างกว้างขวาง

สำหรับปีนี้ คณะกรรมการรางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา กำหนดพิธีมอบรางวัลขึ้นในวันที่ 6 มีนาคม 2552 ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. ที่สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี (We-Train) เลขที่ 501/1 หมู่ 3 ถ.เดชะตุงคะ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 02-929-2301-7 ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (ดูแผนที่และรายละเอียดได้ที่ http://www.we-train.co.th หรือ http://www.apsw-thailand.org) ผู้รับรางวัลในปีนี้มีทั้งหมด 19 ท่าน ดังต่อไปนี้


ภิกษุณีพูลสิริวรา (ไทย/อเมริกัน) เกิดที่ประเทศไทย แต่ใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกานานกว่า 20 ปี สร้าง “ศูนย์สวนสิริธรรม” ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อฝึกสมาธิให้แก่เยาวชน ท่านเชื่อว่า “สตรีก็ทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้หลากหลายวิธี หากสตรีสามารถก้าวข้ามค่านิยมทางวัฒนธรรมเข้าสู่ความเสมอภาค”

รูปภาพ
ภิกษุณีนันทญาณี


ภิกษุณีนันทญาณี (ไทย) ริเริ่มโครงการสิ่งแวดล้อมสตรี เพื่อยกฐานะของสตรีทางภาคเหนือให้หลุดพ้นจากการค้าประเวณี ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดนิโรธาราม จังหวัดเชียงใหม่ และมุ่งมั่นในการอบรมสั่งสอนศิษย์เพื่อพัฒนาภิกษุณีและสามเณรีให้เร่งรุดในธรรม

ภิกษุณีปัญญาวตี (ไทย) มีความรู้ในพระพุทธศาสนาทุกนิกายและทุกศาสนา ท่านได้จัดตั้งที่พักสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ท่านเป็นพลังสำคัญสนับสนุนสิทธิมนุษยชนเด็กและสตรี โดยเรียกร้องความเสมอภาคของนักบวชหญิง และเรียกร้องให้เลิกการทารุณมนุษย์ในสังคมอเมริกัน

ภิกษุณีโช่ววี้ (พม่า/ไต้หวัน) เกิดที่พม่าแต่ไปเติบโตในไต้หวัน ท่านต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้แก่นักบวชสตรีวัชรยานที่ต้องการอุปสมบทเป็นภิกษุณีในไต้หวันจนสำเร็จ ทำให้นักบวชหญิงในธรรมเนียมทิเบตสามารถเข้าร่วมสังฆกรรมในไต้หวันได้ นับเป็นการสานต่อวงศ์ของภิกษุณีให้สืบสายต่อๆ กันไป

แม่ชีชูใจ ปทุมนันท์ (ไทย) บริหารศูนย์การศึกษาเด็กปฐมวัยวัดบุญศรีมุนีกรณ์ ศูนย์พัฒนาเยาวชนแห่งสถาบันแม่ชีบุรีรัมย์ วิทยากรส่งเสริมอาชีพกลุ่มแม่บ้านและเยาวชน ท่านได้อุทิศตนเป็นเวลากว่า 25 ปีแล้ว ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสศูนย์ปฏิบัติธรรมรัตนไพบูลย์

รูปภาพ
แม่ชีนลินรัตน์ สุทธิธรรมวิชญ์


แม่ชีนลินรัตน์ สุทธิธรรมวิชญ์ (ไทย) เชื่อว่า “ความดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องแห่งพระพุทธศาสนาคือเป้าหมายแห่งชีวิต” ท่านจึงอุทิศตนเพื่อพัฒนาจิตมนุษย์ ด้วยการสนับสนุนผู้ที่ต้องการบวชเป็นภิกษุ ภิกษุณี แม่ชี หรือชีพราหมณ์ โดยดำเนินการมากว่า 38 ปีแล้ว

แม่ชีบริจิทท์ สโครเท็นบั๊คเค่อร์ (ออสเตรเลีย) ปฏิบัติสมาธิเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ท่านบวชเป็นแม่ชีจนเชี่ยวชาญวิปัสสนา ท่านบิณฑบาตเพื่อเกื้อกูลแม่ชีอีก 60 รูป และเผยแผ่สมาธิวิปัสสนาแก่ชาวโลก ท่านสงเคราะห์คนยากจน ผู้ติดยาเสพติด ผู้ติดเชื้อเอดส์ และผู้ประสบภัยในประเทศไทย

มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย (ไทย) สร้างขึ้นจากแนวคิดของแม่ชีคุณหญิงขนิษฐา วิเชียรเจริญ เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาพระพุทธศาสนาสำหรับสตรี โดยเปิดโอกาสให้แม่ชี ชีพราหมณ์ และอุบาสิกาได้ศึกษาธรรมะเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยมีองค์กรพุทธศาสนาและกระทรวงศึกษาธิการให้การรับรองคุณวุฒิ

โครงการธรรมโมลี (เนปาล) ดำเนินงานโดยภิกษุณี ดร.ธรรมวิชัย และภิกษุณี ดร.โมลินี ท่านทั้งสองช่วยเหลือเด็กหญิงเนปาลีที่ถูกพ่อแม่นำไปขายเป็นโสเภณีเพราะความยากจน และเยียวยาจิตใจของเด็ก รวมทั้งให้การศึกษาและฝึกอบรมอาชีพให้ในโรงเรียนของสามเณรีที่กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล

รูปภาพ
กฤษดาวรรณ หงส์ลดารมภ์

รูปภาพ
รสนา โตสิตระกูล, อดดอม แวน ซีวอน,
โจแอน โฮเจทสุ โฮเบอริทส์



กฤษดาวรรณ หงส์ลดารมภ์ (ไทย) อดีตอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ก่อตั้งมูลนิธิพันดาราและศูนย์วัฒนธรรมทิเบต เพื่อเผยแพร่ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมแบบทิเบต และกำลังก่อสร้างศานติตารามหาสถูป เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมแบบทิเบตแห่งแรก ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

รสนา โตสิตระกูล (ไทย) เชื่อว่าวิถีพุทธหมายถึงความเมตตากรุณาที่จริงใจ นอกจากแปลหนังสือพุทธศาสนาแล้ว ท่านประยุกต์แนวคิดพุทธศาสนากับการพัฒนาสังคม เพื่อผลักดันสถานะและบทบาทของสตรีไทย เพื่อแก้ไขปัญหาทางเพศที่บุรุษผูกขาดอำนาจเหนือสตรีไทยมาโดยตลอด

ซูซาน เพมโบร์ค (อเมริกัน) ส่งเสริมภิกษุณีไทยทั้งด้านการศึกษาและกิจกรรมทางศาสนา ท่านก่อตั้ง “สหพันธ์ภิกษุณีแห่งโลก” ขึ้น เพื่อเป็นตัวกลางกระชับความสัมพันธ์ของเหล่าธรรมาจารย์ ที่อุทิศตนช่วยเหลือสังคมและเผยแผ่ธรรมะ ทั้งในวัฒนธรรมไทยและในสังคมโลก

รินเช็น คอนโด โชเคียว (อินเดีย) เกิดในทิเบต แต่ปัจจุบันพำนักอยู่ในอินเดีย ท่านอุทิศตนช่วยเหลือนักบวชสตรี คนชรา และคนยากจนชาวทิเบตที่อพยพลี้ภัยอยู่ในอินเดีย จัดตั้งโครงการนักบวชสตรีเพื่อศึกษาและอนุรักษ์พระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมแบบทิเบตไว้

อดดอม แวน ซีวอน (กัมพูชา) ขับเคลื่อนสังคมการเมืองกัมพูชาตามวิถีพุทธในรูปแบบธรรมยาตรา สอนสมาธิแนวพุทธให้แก่สตรีและเยาวชน เปิดอบรมความรู้เรื่องสันติวิธีแก่เด็กและสตรี และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงในกัมพูชา

โจแอน โฮเจทสุ โฮเบอริทส์ (อเมริกัน) เป็นนักธุรกิจมาก่อนที่จะอุทิศตนเผยแผ่ธรรมะในวิถีเซนแบบญี่ปุ่น ท่านเป็นผู้นำชาวพุทธนิกายเซนในเมืองริชวูด รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา และเป็นผู้ก่อตั้งโครงการรักษาสุขภาพใจโดยใช้วิธีการรักษาแบบเซนในศรีลังกาอีกด้วย

รูปภาพ
ชาริกา มาราสิงหละ, จาเนซ วิลลีส


ชาริกา มาราสิงหละ (ศรีลังกา) จบปริญญาเอกกฎหมายจากอังกฤษ ท่านเชี่ยวชาญและทำงานด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติมากว่า 22 ปี ปัจจุบันท่านยังคงอุทิศตนช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่คนยากจน และช่วยคุ้มครองสิทธิของเด็กและเยาวชนในศรีลังกา

จาเนซ วิลลีส (อเมริกัน) เป็นนักเขียนและสอนเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแบบทิเบตที่มหาวิทยาลัยเวสเลียนมากว่า 32 ปี ท่านเป็นผู้นำทางด้านจิตวิญญาณและจิตปัญญาที่สังคมชาวพุทธอเมริกันให้ความสำคัญมากคนหนึ่ง

แครอล กันโช โอด์ดาวน์ (อเมริกัน) มีสมญาทางศาสนาว่า “กันโช” ท่านเป็นชีพราหมณ์ที่มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว สามารถนำพาชาวเอเชียในสหรัฐอเมริการ่วมกันสวดมนต์พุทธในโบสถ์คริสต์ ท่านก่อตั้ง “สมาคมสตรีชาวพุทธ” ทำให้ชาวตะวันตกสนใจและเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนามากขึ้น

อัลลิโอเน (อเมริกัน) อาจารย์สอนธรรมะและสมาธิแบบทิเบต มีประสบการณ์ชีวิตทางธรรมแบบทิเบตมาหลายสิบปี ท่านเขียนบทความ สารคดี และหนังสือธรรมะ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ทางธรรมให้ผู้สนใจได้ศึกษา

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
ผู้ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา ประจำปีพุทธศักราช 2552
โดยพิธีมอบรางวัลจัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2552
ณ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี (We-Train) เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ


:b8: :b8: :b8: หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน หน้า 6
คอลัมน์ หน้าต่างศาสนา โดย น้ำทิพย์ ศรีจันทร์
วันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11313


• ประวัติและปฏิปทา
ภิกษุณีนันทญาณี (อดีตแม่ชีรุ้งเดือน สุวรรณ)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=35661

• กรณี...ภิกษุณีนันทญาณี (อดีตแม่ชีรุ้งเดือน สุวรรณ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=36106

• ดับทุกข์-ทุกข์ดับ ที่...“อารามแห่งความดับทุกข์”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=21468

• แผนที่สำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=808

เจ้าของ:  คนไร้สาระ [ 04 มี.ค. 2009, 05:06 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: รางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา ประจำปี 2552

:b8: :b8: :b8: อนุโมทนา....สาธุ..
:b41: คนไร้สาระ :b41:

เจ้าของ:  AAAA [ 12 มี.ค. 2009, 17:44 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: รางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา ประจำปี 2552

:b8: :b8: :b8:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/