ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

การดูจิต
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=20618
หน้า 3 จากทั้งหมด 3

เจ้าของ:  เดช อันเตวาสิก [ 18 ก.พ. 2009, 13:03 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: การดูจิต

ความหมายของการดูจิต
คำว่า การดูจิต เป็นคำที่นักปฏิบัติกลุ่มหนึ่ง
บัญญัติขึ้นเพื่อใช้สื่อความหมายกันเองภายในกลุ่ม
หมายถึงการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน(ทุกบรรพ)
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน(ทุกบรรพ)
รวมถึงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน(บางอย่างที่เป็นฝ่ายนามธรรม)
กล่าวอย่างย่อ ก็คือการเจริญวิปัสสนาด้วยอารมณ์ฝ่ายนามธรรม
ได้แก่การรู้จิตและเจตสิกนั่นเอง


วิธีการเจริญวิปัสสนา(ดูจิต)
การเจริญวิปัสสนาทุกประเภท รวมทั้งการดูจิต ไม่มีอะไรมาก เพียงแต่ให้ผู้ปฏิบัติ
"รู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่เป็นกลางเท่านั้น"
แต่จะรู้ได้ถูกต้อง ก็ต้อง (1) มีจิตที่มีคุณภาพ
และ (2) มีอารมณ์กรรมฐานที่ถูกต้อง เท่านั้น

ซึ่งจิตที่มีคุณภาพสำหรับการทำสติปัฏฐานหรือวิปัสสนา
ได้แก่จิตที่มีสติ(สัมมาสติ) สัมปชัญญะ(สัมมาทิฏฐิ) และสัมมาสมาธิ
ส่วนอารมณ์กรรมฐานที่ถูกต้อง คืออารมณ์ที่มีตัวจริงที่สามารถแสดงไตรลักษณ์ได้
หรือที่นักปฏิบัติมักจะเรียกว่าสภาวะ และนักปริยัติเรียกว่าอารมณ์ปรมัตถ์

เมื่อจะลงมือปฏิบัติ ก็ให้ (1) มีสติเฝ้ารู้ให้ทัน (มีสัมมาสติ)
(2) ถึงอารมณ์หรือสภาวธรรมที่กำลังปรากฏ (มีอารมณ์ปรมัตถ์)
(3) ด้วยจิตที่ตั้งมั่น ไม่เผลอส่งส่ายไปที่อื่น และไม่เพ่งจ้องบังคับจิต (มีสัมมาสมาธิ)
แล้ว (4) จิตจะรู้สภาวธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริง (มีสัมปชัญญะ/สัมมาทิฏฐิ)

การมีสติเฝ้ารู้ให้ทัน หมายถึงสิ่งใดเกิดขึ้น ตั้งอยู่ หรือดับไป ก็ให้รู้เท่าทัน
เช่นขณะนั้นรู้สึกมีความสุข ก็ให้รู้ว่ามีความสุข
เมื่อความสุขดับไป ก็ให้รู้ว่าความสุขดับไป
มีความโกรธก็รู้ว่ามีความโกรธ
เมื่อความโกรธดับไปก็รู้ว่าความโกรธดับไป
เมื่อจิตมีความทะยานอยากอันเป็นแรงผลักดัน
ให้ออกยึดอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ก็ให้รู้ว่ามีแรงทะยานอยาก เป็นต้น

อารมณ์หรือสภาวธรรมที่กำลังปรากฏ
ต้องเป็นอารมณ์ของจริง ไม่ใช่ของสมมุติ
โดยผู้ปฏิบัติจะต้องจำแนกให้ออกว่า
อันใดเป็นของจริง หรือปรมัตถธรรม
อันใดเป็นของสมมุติ หรือบัญญัติธรรม

เช่นเมื่อจิตมีความสุข ก็ต้องมีสติรู้ตรงเข้าไปที่ความรู้สึกสุขจริงๆ
เมื่อจิตมีความโกรธ ก็ต้องรู้ตรงเข้าไปที่สภาวะของความโกรธจริงๆ
เมื่อมีความลังเลสงสัย ก็ต้องรู้ตรงเข้าไปที่สภาวะของความลังเลสงสัยจริงๆ ฯลฯ
และเมื่อหัดรู้มากเข้าจะพบว่า นามธรรมจำนวนมากผุดขึ้นที่อก หรือหทยรูป
แต่ผู้ปฏิบัติไม่ต้องเที่ยวควานหาหทยรูป
หากกิเลสเกิดที่ไหน และดับลงที่ไหน ก็รู้ที่นั้นก็แล้วกันครับ
ถ้าเอาสติไปตั้งจ่อดูผิดที่เกิด ก็จะไม่เห็นของจริง
เช่นเอาสติไปจ่ออยู่เหนือสะดือสองนิ้ว
จะไม่เห็นกิเลสอะไร นอกจากเห็นนิมิต เป็นต้น

และการมีสติรู้ของจริง ก็ไม่ใช่การคิดถามตนเอง หรือคะเนเอาว่า
ตอนนี้สุขหรือทุกข์ โกรธหรือไม่โกรธ สงสัยหรือไม่สงสัย อยากหรือไม่อยาก
ตรงจุดนี้สำคัญมากนะครับ ที่จะต้องรู้สภาวธรรม หรือปรมัตถธรรมให้ได้
เพราะมันคือ พยานหรือแบบเรียนที่จิตจะได้เรียนรู้
ถึงความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของมันจริงๆ
ไม่ใช่แค่คิดๆ เอาว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

เมื่อมีสติรู้สภาวธรรมหรือปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏแล้ว
ผู้ปฏิบัติจะต้องมีจิตที่รู้ตัว ตั้งมั่น
ไม่เผลอไปตามความคิดซึ่งจะเกิดตามหลังการรู้สภาวธรรม
เช่นเมื่อเกิดสภาวะบางอย่างขึ้นในจิต อันนี้เป็นปรมัตถธรรม
ถัดจากนั้นก็จะเกิดสมมุติบัญญัติว่า นี้เรียกว่าราคะ
สมมุติตรงนี้ห้ามไม่ได้ เพราะจิตเขามีธรรมชาติเป็นนักจำและนักคิด
ผู้ปฏิบัติจึงไม่ต้องไปห้ามหรือปฏิเสธสมมุติบัญญัติ
เพียงรู้ให้ทัน อย่าได้เผลอหรือหลงเพลินไปตามความคิดนึกปรุงแต่งนั้น
หรือแม้แต่การหลงไปคิดนึกเรื่องอื่นๆ ด้วย
แล้วให้เฝ้ารู้สภาวะ(ที่สมมุติเรียกว่าราคะนั้น)ต่อไป ในฐานะผู้สังเกตการณ์
จึงจะเห็นไตรลักษณ์ของสภาวะอันนั้นได้

ในทางกลับกัน ผู้ปฏิบัติที่ไปรู้สภาวะที่กำลังปรากฏ
จะต้องไม่เพ่งใส่สภาวะนั้นด้วย
เพราะถ้าเพ่ง จิตจะกระด้างและเจริญปัญญาไม่ได้
แต่จิตจะ "จำ และจับ" สภาวะอันนั้นมาเป็นอารมณ์นิ่งๆ แทนการรู้สภาวะจริงๆ
พึงให้จิตเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ เหมือนคนดูละคร ที่ไม่โดดเข้าไปเล่นละครเสียเอง
จิตที่ทรงตัวตั้งมั่น นุ่มนวล อ่อนโยน ควรแก่การงาน
โดยไม่เผลอและไม่เพ่งนี้แหละ คือสัมมาสมาธิ
เป็นจิตที่พร้อมที่จะเปิดทางให้แก่การเจริญปัญญาอย่างแท้จริง

คือเมื่อจิตมีสติ รู้ปรมัตถธรรม ด้วยความตั้งมั่น ไม่เผลอและไม่เพ่ง
จิตจะได้เรียนรู้ความจริงของปรมัตถธรรมอันนั้นๆ 4 ประการ
คือ (1) รู้สภาวะของมันที่ปรากฏขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป (รู้ตัวสภาวะ)
(2) รู้ว่าเมื่อสภาวะอันนั้นเกิดขึ้นแล้ว
มันมีบทบาทและหน้าที่อย่างไร (รู้บทบาทของสภาวะ)
(3) รู้ว่าถ้ามันแสดงบทบาทของมันแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น (รู้ผลของสภาวะ)
และเมื่อชำนาญมากเข้า เห็นสภาวะอันนั้นบ่อยครั้งเข้า
ก็จะ (4) รู้ว่า เพราะสิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว
จึงกระตุ้นให้สภาวะอันนั้นเกิดตามมา (รู้เหตุใกล้ของสภาวะ)
การที่จิตเป็นผู้สังเกตการณ์และเรียนรู้ หรือวิจัยธรรม (ธรรมวิจัย)
อันนี้เองคือการเจริญปัญญาของจิต หรือสัมปชัญญะ หรือสัมมาทิฏฐิ

ตัวอย่างเช่นในขณะที่มองไปเห็นภาพๆ หนึ่งปรากฏตรงหน้า
จิตเกิดจำได้หมายรู้ว่า นั่นเป็นภาพสาวงาม
แล้วสภาวธรรมบางอย่างก็เกิดขึ้นในจิต (ซึ่งเมื่อบัญญัติทีหลังก็เรียกว่า ราคะ)
การรู้สภาวะที่แปลกปลอมขึ้นในจิตนั่นแหละคือการรู้ตัวสภาวะของมัน
แล้วก็รู้ว่ามันมีบทบาทหรืออิทธิพลดึงดูด
ให้จิตหลงเพลินพอใจไปกับภาพที่เห็นนั้น
ผลก็คือ จิตถูกราคะครอบงำ
ให้คิด ให้ทำ ให้อยาก ไปตามอำนาจบงการของราคะ
และเมื่อรู้ทันราคะมากเข้า ก็จะรู้ว่า
การเห็นภาพที่สวยงาม เป็นเหตุใกล้ให้เกิดราคะ
จึงจำเป็นจะต้องคอยเฝ้าระวังสังเกต ขณะที่ตากระทบรูปให้มากขึ้น เป็นต้น

ในส่วนตัวสภาวะของราคะเอง เมื่อผู้ปฏิบัติมีสติรู้อยู่นั้น
มันจะแสดงความไม่เที่ยงให้เห็นทันที คือระดับความเข้มของราคะจะไม่คงที่
มันตั้งอยู่ไม่นาน เมื่อหมดกำลังเพราะเราไม่ได้หาเหตุใหม่มาเพิ่มให้มัน (ย้อนไปมองสาว)
มันก็ดับไป แสดงถึงความเป็นทุกข์ของมัน
และมันจะเกิดขึ้นก็ตาม ตั้งอยู่ก็ตาม ดับไปก็ตาม
ล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัยกำหนด ไม่ใช่ตามที่เราอยากจะให้เป็น
นอกจากนี้ มันยังเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเรา
เหล่านี้ล้วนแสดงความเป็นอนัตตาของสภาวะราคะทั้งสิ้น


ผลของการดูจิต และข้อสรุป
จิตที่อบรมปัญญามากเข้าๆ ถึงจุดหนึ่งก็จะรู้แจ้งเห็นจริงว่า
ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจิต เจตสิก กระทั่งรูป ล้วนแต่เกิดขึ้นแล้วดับไปทั้งสิ้น
ถ้าจิตเข้าไปอยาก เข้าไปยึด จิตจะต้องเป็นทุกข์
ปัญญาเช่นนี้แหละ จะทำให้จิตคลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกูลง
ความทุกข์ก็จะเบาบางลงจากจิต เพราะจิตฉลาด
ไม่ไปส่ายแส่หาความทุกข์มาใส่ตัวเอง
(แต่ลำพังคิดๆ เอา ในเรื่องความไม่มีตัวกูของกู
ย่อมไม่สามารถดับ ความเห็นและความยึด ว่าจิตเป็นตัวกูของกูได้
จะทำได้ก็แค่ "กู ไม่ใช่ตัวกูของกู" คือจิตยังยึดอยู่
ส่วนการที่จะลดละได้จริง ต้องเจริญสติปัฏฐานจริงๆ เท่านั้นครับ)

สรุปแล้ว การดูจิตที่ชาวลานธรรมพูดถึงกันนั้น ไม่ใช่การดูจิตจริงๆ
เพราะจิตนั้นแหละ คือผู้รู้ ผู้ดู ผู้ยึดถือ อารมณ์
แต่การดูจิต หมายถึงการเจริญวิปัสสนา โดยเริ่มต้นจากการรู้นามธรรม
ซึ่งเมื่อชำนิชำนาญแล้ว ก็จะรู้ครบสติปัฏฐานทั้งสี่นั่นเอง
ดังนั้น ถ้าไม่ชอบคำว่า ดูจิต ซึ่งนักปฏิบัติส่วนหนึ่งชอบใช้คำนี้เพราะรู้เรื่องกันเอง
จะใช้คำว่าการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
+ การเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
+ การเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ได้ครับ

แต่การที่นักปฏิบัติบางส่วนชอบพูดถึงคำว่า "การดูจิต" ก็มีประโยชน์อยู่เหมือนกัน
คือเป็นการเน้นให้ทราบว่า จิตใจนั้นเป็นใหญ่ เป็นประธานในธรรมทั้งปวง
และเป็นการกระตุ้นเตือนให้หมั่นสังเกตพฤติกรรมของจิตเมื่อมันไปรู้อารมณ์เข้า
เพราะถ้ารู้จิตชัด ก็จะรู้รูปชัด รู้เวทนาชัด รู้กิเลสตัณหาชัดไปด้วย
เนื่องจากจิตจะตั้งมั่น และเป็นกลางต่ออารมณ์ทั้งปวง
ในทางกลับกัน ถ้าจิตไม่มีคุณภาพ คือไม่มีสัมมาสมาธิ สัมมาสติ และสัมมาทิฏฐิ
แม้จะพยายามไปรู้ปรมัตถ์ ก็ไม่สามารถจะรู้ปรมัตถ์ตัวจริงได้
นอกจากจะเป็นเพียงการคิดถึงปรมัตถ์เท่านั้น

ถ้าเข้าใจจิตใจตนเองให้กระจ่างชัดแล้ว การเจริญสติปัฏฐานก็จะทำได้ง่าย
ถ้าไม่เข้าใจจิตใจตนเอง ก็อาจจะเกิดความหลงผิดได้หลายอย่างในระหว่างการปฏิบัติ
เช่นหลงเพ่ง โดยไม่รู้ว่าเพ่ง อันเป็นการหลงทำสมถะ แล้วคิดว่ากำลังทำวิปัสสนาอยู่
พอเกิดนิมิตต่างๆ ก็เลยหลงว่าเกิดวิปัสสนาญาณ
หรือหลงเผลอ ไปตามอารมณ์ โดยไม่รู้ว่ากำลังเผลอ
หรือหลงยินดียินร้ายไปตามอารมณ์
หรือหลงคิดนึกปรุงแต่ง อันเป็นเรื่องสมมุติบัญญัติ
แล้วคิดว่ากำลังรู้ปรมัตถ์หรือสภาวะที่กำลังปรากฏ เป็นต้น
ถ้าเข้าใจจิตตนเองได้ดีพอประมาณ ก็จะไม่เกิดความหลงผิดเหล่านี้ขึ้น

ข้อดีที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการดูจิตก็คือ
การดูจิตเป็นวิปัสสนาชนิดเดียวที่ทำได้ทั้ง 3 โลก
คือในกาม(สุคติ)ภูมิ รูปภูมิ(ส่วนมาก) และอรูปภูมิ
แม้แต่ในเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ อันเป็นภวัคคภูมิหรือสุดยอดภูมิของอรูปภูมิ
ก็ต้องอาศัยการดูจิตนี้เอง เป็นเครื่องเจริญวิปัสสนาต่อไปได้จนถึงนิพพาน

อันที่จริงสิ่งที่เรียกว่าการดูจิตนั้น แม้จะเริ่มจากการรู้นามธรรมก็จริง
แต่เมื่อลงมือทำไปสักระยะหนึ่ง ก็จะสามารถเจริญสติปัฏฐานได้ทั้ง 4 อย่าง
โดยจิตจะมีสติสัมปชัญญะต่อเนื่องอยู่ในชีวิตประจำวันนี่เอง
เพียงก้าวเดินก้าวเดียว ก็เกิดการเจริญสติปัฏฐานได้ตั้งหลายอย่างแล้ว

คือเมื่อเท้ากระทบพื้น ก็จะรู้รูป ได้แก่ธาตุดินคือความแข็งภายในกาย (รูปภายใน)
และธาตุดินคือความแข็งของพื้นที่เท้าเหยียบลงไป (รูปภายนอก)
อันนี้ก็คือการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว
และรู้ถึงความเย็น ความร้อนคือธาตุไฟของพื้นที่เท้าเหยียบลงไป เป็นต้น

ขณะที่เหยียบพื้นนั้น ถ้าสติรู้เข้าไปที่ความรู้สึกอันเกิดจากการที่เท้ากระทบพื้น
เช่นความเจ็บเท้า ความสบายเท้า
ก็คือการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว

ขณะที่เหยียบพื้นนั้น ถ้าพื้นขรุขระ เจ็บเท้า ก็สังเกตเห็นความขัดใจ ไม่ชอบใจ
หรือถ้าเหยียบไปบนพรมนุ่มๆ สบายๆ เท้า ก็สังเกตเห็นความพอใจ
อันนี้ก็เป็นการเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว

ขณะที่เหยียบนั้น ถ้ารู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ ก็จะเห็นกายเป็นส่วนหนึ่ง
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นแต่ละส่วนๆ
หรือรู้ถึงความทะยานอยากของจิตที่ส่งหลงเข้าไปที่เท้า
หรือรู้อาการส่งส่ายของจิต ตามแรงผลักของตัณหาคือความอยาก
แล้วหนีไปเที่ยวทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
หรือรู้ถึงความเป็นตัวกูของกูที่เกิดขึ้นในจิต
หรือรู้ถึงนิวรณ์ที่กำลังปรากฏขึ้น แต่ยังไม่พัฒนาไปเป็นกิเลสเข้ามาครอบงำจิต
หรือรู้ชัดถึงความมีสติ มีสัมปชัญญะ มีความเพียร มีปีติ มีความสงบระงับฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งสิ้น

ที่เล่ามายืดยาวนี้ เพื่อนใหม่ที่ไม่เคยลงมือเจริญสติสัมปชัญญะจริงๆ มาก่อน
อาจจะเข้าใจยากสักหน่อยครับ
ดังนั้น ถ้าอ่านแล้วเกิดความสงสัยมากขึ้น
ก็ลองย้อนมารู้เข้าไปที่ ความรู้สึกสงสัยในจิต เลยทีเดียว
ก็จะทราบได้ว่า ความสงสัยมันมีสภาวะของมันอยู่
(ไม่ใช่ไปรู้เรื่องที่สงสัยนะครับ แต่ให้รู้สภาวะหรือปรมัตถธรรมของความสงสัย)
เมื่อรู้แล้วก็จะเห็นว่า เมื่อความสงสัยเกิดขึ้น มันจะยั่วจิตให้คิดหาคำตอบ
แล้วลืมที่จะรู้เข้าไปที่สภาวะความสงสัยนั้น
เอาแต่หลงคิดหาเหตุหาผลฟุ้งซ่านไปเลย
พอรู้ทันมากเข้าๆ ก็จะเข้าใจได้ว่า ความสงสัยนั้นมันตามหลังความคิดมา
เป็นการรู้เท่าทันถึงเหตุใกล้ หรือสาเหตุที่ยั่วยุให้เกิดความสงสัยนั่นเอง

เมื่อรู้ที่ สภาวะของความสงสัย ก็จะเห็นสภาวะนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
มันเกิดขึ้นเพราะความคิด พอรู้โดยไม่คิด มันก็ดับไปเอง

หัดรู้อยู่ในจิตใจตนเองอย่างนี้ก็ได้ครับ แล้วต่อไปก็จะทำสติปัฏฐาน 4 ได้ในที่สุด
เพราะจะสามารถจำแนกได้ชัดว่า อะไรเป็นจิต อะไรเป็นอารมณ์
อะไรเป็นอารมณ์ของจริง
และอะไรเป็นเพียงความคิดนึกปรุงแต่งหรือสมมุติบัญญัติที่แปลกปลอมเข้ามา
รวมทั้งจำแนกได้ด้วยว่า อันใดเป็นรูป อันใดเป็นจิต อันใดเป็นเจตสิก

ขอย้ำแถมท้ายอีกนิดหนึ่งนะครับว่า
การดูจิต ไม่ใช่วิธีการปฏิบัติธรรมที่ดีที่สุดเสมอไป
เพราะในความเป็นจริง ไม่มีวิธีการปฏิบัติธรรมที่ดีที่สุดในโลก
มีแต่ "วิธีปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุด" เฉพาะของแต่ละบุคคลเท่านั้น
ดังนั้น ถ้าถนัดจะเจริญสติปัฏฐาน อย่างใดก่อน ก็ทำไปเถิดครับ
ถ้าทำถูกแล้ว ในที่สุดก็จะทำสติปัฏฐานหมวดอื่นๆ ได้ด้วย

(คัดลอกจากคุณสันตินันนท์)

เจ้าของ:  ชาติสยาม [ 18 ก.พ. 2009, 13:29 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: การดูจิต

เผื่อทุกคนไม่ทราบนะครับ

ท่านสันตินันท์ คือหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนจะบวช
ก่อนบวชท่านก็สำเร็จในระดับที่ไม่น้อยแล้ว

หลวงพ่อพุทธ ฐานิโย กับท่าน เป้นสหายธรรมกัน แต่หลวงพ่อนับถือหลวงพ่อพุทธเป็นอาจารย์
ท่านสองคนสัญญากันว่าใครสามารถทำลายจิตผู้รู้ได้ก่อน ก็ให้มาบอกกัน
มาดูกันว่า หลวงพ่อพุทธ กับ หลวงพ่อปราโมทย์ มีภูมิถึงไหนกันแล้ว
แล้วหลวงปู่ดุลย์มาเกี่ยวข้องอย่างไร

อ้างคำพูด:
http://www.bangkokmap.com/pm/content/view/27/36/

วันรุ่งขึ้นผู้เขียน(สันตินันท์)แวะไปกราบหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ที่วัดป่าสาลวัน โคราช.
อันเป็นสิ่งที่ปฏิบัติตลอดมาเมื่อไปกราบหลวงปู่ดูลย์ที่สุรินทร์.

เมื่อหลวงพ่อ(พุทธ ฐานิโย)เห็นผู้เขียนก็ร้องทักว่า "เอ้าว่าอย่างไรนักปฏิบัติ คราวนี้หลวงปู่สอนอะไรให้อีกล่ะ".
ก็กราบเรียนว่า หลวงปู่สอนว่า" พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้. "




หลวงพ่อพุธทวนคำสอนของหลวงปู่ว่า.
"อือ พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ อันนี้เป็นสุดยอดของกรรมฐานแล้ว. เมื่อไม่กี่วันนี้หลวงพ่อไปกราบหลวงปู่.
ท่านก็กล่าวกับหลวงพ่อว่า..เจ้าคุณ การปฏิบัติจะยากอะไร พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ ก็เพียงเท่านี้เอง
".

แล้วหลวงพ่อก็ขยายความให้ฟังว่า "การทำลายผู้รู้ ก็คือการไม่ยึดมั่นในตัวผู้รู้".
จากนั้นท่านก็แสดงธรรมเรื่องอื่นๆ ต่อไป.


ก่อนที่ผู้เขียนจะลากลับ ท่านได้มอบหมายงานให้เรื่องหนึ่ง.
คือสั่งว่า "หลวงพ่ออยากให้คุณเขียนประสบการณ์การปฏิบัติของคุณเองออกเผยแพร่.
ท่านให้เหตุผลว่า "หลวงพ่อเป็นพระ ติดด้วยพระวินัย จะกล่าวธรรมที่ลุ่มลึกนักก็ไม่ได้.
คนที่เขามีจริตนิสัยแบบคุณ และเป็นผู้มีอุปนิสัยยังมีอยู่. ถ้าเขาได้ฟังแล้ว เขาอาจจะทำตามได้ต่อไป".


หลายปีต่อมาผู้เขียนจึงเข้าใจได้ว่า.
ถ้าไม่เคยฟังธรรมเรื่องการทำลายผู้รู้มาก่อน.
ผู้เขียนคงไม่มีปัญญาผ่านด่านสุดท้ายที่พระอนาคามีพากันไปติดอยู่ได้.

สิ่งที่หลวงปู่สอนไว้นั้น เป็นมรดกธรรมที่จะต้องเอาไว้ใช้ในอนาคต.
ไม่ใช่ธรรมที่จะสามารถปฏิบัติได้ในขณะนั้น.
นับเป็นความเมตตา และความละเอียดรอบคอบของครูบาอาจารย์อย่างยิ่ง.
ที่มอบมรดกธรรมชิ้นนี้ไว้ให้ในนาทีสุดท้ายที่จะลาจากท่าน และไม่ได้พบกันอีกแล้วในสังสารวัฏนี้.
(12 มิถุนายน 2542)




ใครอยากรู้ชีวประวัติท่านก้ให้ไปอ่านที่นี่ครับ
http://www.bangkokmap.com/pm/mos/Frontpage/

เจ้าของ:  jojam [ 19 ก.พ. 2009, 02:08 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: การดูจิต

เอาครูบาอาจารย์สายพระป่ามาขายกิน อีกละ อย่าทำแบบนี้เลย .. ตำหนิแต่ธรรมเป็นอยู่อย่างเดียว แค่สอนผิดบิดเบียนธรรมก็มากพอแล้ว.. ปรับปรุงธรรมด้นเดาแก้ไขกันไป เมื่อใดจะหยุดพอได้เล่า

เจ้าของ:  ชาติสยาม [ 19 ก.พ. 2009, 08:28 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: การดูจิต

ผมจะไม่ต่อล้อต่อเถียงด้วยนะ เพราะคุณไม่รู้ตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่
ไม่รู้ตัวเองว่าจะเดือดร้อนทีหลัง
หยุดนะหยุด เราทั้งคู่หยุดแค่นี้

เจ้าของ:  jojam [ 19 ก.พ. 2009, 20:14 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: การดูจิต

เหตุทำให้คนว่ายาก 16 อย่าง (ทุพพจการณธรรม)

ความใฝ่ต่ำ1 ยกตัว1 เดือดดาล1 ผูกโกรธ1
รังเกียจเหยียดหยาม1 คิดต่อว่าต่อขาน1 คิดแย้ง1 คิดตะเพิด1
คิดย้อน1 คิดกลบเกลื่อน1 คิดนอกเรื่อง1 คิดปิดบัง1
ลบหลู่-ตีเสมอ1 ริษยา-ตระหนี่1 โอ้อวด-เจ้าเลห์1 กระด้าง-หัวรั้น1

** สาธุ เจริญในธรรม ขอรับ ^ ^

เจ้าของ:  แมวขาวมณี [ 22 ก.พ. 2009, 18:24 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: การดูจิต

:b8: สวัสดีค่ะ
มีของฝากค่ะคุณ 0.wan

อ้างคำพูด:
ลักษณะของจิต
จิตมีความหมายเข้าใจสับสนกันอยู่ ปุถุชนส่วนมากเข้าใจว่าเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง
สิงสถิตย์อยู่ในร่างกายของคนและสัตว์ คืออยู่ที่หัวใจ
หรือบางท่านก็ว่าอยู่ที่มันสมอง ไม่เกิดไม่ดับคงสภาพอยู่ ดังนั้นเป็นนิตย์นิรันดร
เมื่อเกิดขึ้นครั้งแรกนั้นบริสุทธิ์ผุดผ่องประภัสสร ไม่มีมลทินมัวหมอง
ต่อ ๆ มาจึงมีกิเลสตัณหา เข้าครอบงำเป็นเหตุให้เศร้าหมองหมกหมุนอยู่ในโลภโกรธหลง
ทำให้วนเวียนอยู่ในวัฏฏะสงสาร (ผู้ที่ยังต้องเกิดอีก)
เที่ยวล่องลอยไปเพื่อหาโอกาสที่จะเกิดหรือปฏิสนธิใหม่
เหมือนดังบุคคลที่สละทิ้งบ้านเก่าท่องเที่ยวไปหาบ้านใหม่อยู่ฉะนั้น
นี้เป็นความเข้าใจของปุถุชนเป็นส่วนมาก
ซึ่งเป็นความเข้าใจห่างไกลจากความแท้จริงของสภาวธรรมที่เรียกว่าจิต

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า จิตเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง
ไม่มีรูปร่าง ไม่ใช่รูปธรรม คือไม่สามารถที่จะมองเห็นได้ด้วยตา
หรือสัมผัสถูกต้องได้ด้วยกาย จึงเป็นเรื่องที่ปุถุชนเข้าใจได้ยากอยู่เอง
เพราะไม่มีลักษณะที่จะหยิบยกจับถูกต้องมองเห็นได้
แต่ถึงกระนั้นก็ดี ก็ยังมีลักษณะที่จะ รู้จักจิตได้ในทางอาการที่แสดงออก
เช่นเมื่อตาสัมผัสกับรูป จิตก็รู้คือเห็นและรู้ว่าสวยงามดีไม่ดีเหล่านี้
และเป็นอาการของจิต จิตมีคุณลักษณะ รู้ซึ่งอารมณ์ที่มากระทบ
"อารมฺมณวิชานนลกฺขณํ" รู้ในเมื่อขณะกระทบอารมณ์ คือ รูปารมณ์ (รูป)
กระทบจักขุปสาท รู้ "เห็น" สัททารมณ์ (เสียง) กระทบโสตปสาท รู้ "ได้ยิน"
คันธารมณ์ (กลิ่น) กระทบฆานปสาท รู้ "กลิ่น"
รสารมณ์ (รส) กระทบชิวหาปสาท รู้ "รส"
โผฏฐัพพารมณ์ (สัมผัสถูกต้อง) กระทบกายปสาท รู้ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง
ธรรมารมณ์ (เรื่องราว) กระทบใจ รู้ "คิดนึก"
ธรรมชาติที่รู้หรือธาตุรู้นี้แหละเรียกว่า จิต



พอจะรู้จักแล้วเนอะ

เจ้าของ:  แมวขาวมณี [ 22 ก.พ. 2009, 18:30 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: การดูจิต

.....
อ้างคำพูด:
สรรพรูปธรรมนามธรรมเมื่อกล่าวโดยปรมัตถธรรม
แยกออกได้เป็น 4 ประการ คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน

มีลักษณะโดยย่อดังต่อไปนี้ คือ

สภาวะของจิต มีการรู้ซึ่งอารมณ์แต่อย่างเดียว เป็นสาระสำคัญเป็นลักษณะ
จิตเมื่อว่าโดยลักษณะ ไม่สามารถไปทำกิจการอื่นใดนอกจากการรู้ซึ่งอารมณ์เท่านั้น
และไม่ว่าเป็นจิตของมนุษย์ เทวดา พรหม หรือของสัตว์เดรัจฉาน
ย่อมมีลักษณะรู้ซึ่งอารมณ์อย่างเดียวเหมือนกันหมด ไม่ผิดแผกแตกต่างกันเลย
ถ้าอารมณ์ไม่มี จิตก็ไม่เกิด เพราะไม่มีที่ยึดหน่วง สภาวะรู้ซึ่งอารมณ์นั้น เรียกว่า จิต

สภาวะของเจตสิก คือ เป็นธรรมอันบังเกิดในจิต ประพฤติเนื่องด้วยจิต
อาศัยจิตเกิดขึ้นเป็นลักษณะ เจตสิกจะเกิดขึ้นโดยลำพังหรืออาศัยสิ่งอื่นเกิดหาได้ไม่

สภาวะของรูป คือ มีการแตกสลายแปรปรวนไปเป็นลักษณะ รูปจะยืนยงคงทนถาวรอยู่หาได้ไม่

สภาวะของนิพพาน คือ มีการสงบจากรูปนาม สังขาร ทั้งปวงเป็นลักษณะ
กล่าวคือ ไม่ยึดในรูปนามเป็นอารมณ์.


ถ้ามีเวลาอยากเชิญให้ไปอ่านค่ะ เพิ่งเริ่มทำเองค่ะ http://mahalaph.spaces.live.com/

หน้า 3 จากทั้งหมด 3 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/