วันเวลาปัจจุบัน 24 เม.ย. 2024, 13:33  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ม.ค. 2009, 21:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


โอวาทธรรม หลวงปู่ ชา สุภัทโท

http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6753

นิวรณ์ คือธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณความดี พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่ามี ๕ ประการ คือ

๑. กามฉันทะ ความพอใจในกาม
๒. พยาบาท ความคิดร้าย ขัดเคืองใจ
๓. ถีนมิทธะ ความหดหู่และเซื่องซึม
๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านกระวนกระวาย กลุ้มใจร้อนใจ
๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย

หลวงพ่อท่านให้ภาวนาตั้งท่าทีทัศนะต่อนิวรณ์ที่กำลังรุมเร้ารบกวนจิตใจอยู่ว่า เป็นครูบาอาจารย์หรือเครื่องทดสอบสติปัญญาของตน มากกว่าที่จะมองเห็นนิวรณ์เป็นตัวศัตรูที่น่าเกลียด อันอาจทำให้เกิดความตึงเครียดเป็น วิภวตัณหา ซึ่งเป็นเหตุให้ความไม่อยากให้นิวรณ์นั้นอยู่ในใจของตนทุกข์เพิ่มทวี อีกวิธีการหนึ่งที่หลวงพ่อสอนสำหรับแก้องค์นิวรณ์ คือคำว่า “ไม่แน่”

“เมื่อมันเกิดอะไรขึ้นมาในใจของเรานี่ มันเกิดเป็นอารมณ์ขึ้นมา ที่เราชอบใจก็ตาม เราเห็นว่ามันผิดมันถูกก็ตามเถอะ ให้เราตัดมันไปเลยว่า อันนั้นมันไม่แน่ จะเกิดอะไรขึ้นมาก็ช่างมันเถอะ สับมันลงไป ไม่แน่ ไม่แน่ อย่างเดียว ขวานเล่มเดียวสับลงไป ไม่แน่ทั้งนั้นแหละ มันแน่ตรงที่ไหนล่ะ ถ้าเห็นว่ามันไม่แน่ ทุกสิ่งทุกอย่าง ราคามันก็น้อยลง อารมณ์ทั้งหลายมันเป็นของที่ไม่มีราคาแล้ว ของที่ไม่มีราคาแล้วเราจะเอาไปทำไม”

นอกจากนี้หลวงพ่อยังได้พูดถึงนิวรณ์แต่ละอย่างไว้ด้วย คือ

๑. กามฉันทะ

การบรรเทาความใคร่ในกามให้เบาบางลง ต้องใช้หลายวิธีด้วยกัน เพื่อควบคุมการคึกคะนองของจิต สิ่งที่หลวงพ่อเน้นอยู่เสมอ คือการกินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ความเป็นผู้มีอินทรีย์สังวร การเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค และใช้อสุภกรรมฐานเป็นอุบายเครื่องแก้

ท่านบอกว่า กามราคะจะบรรเทาลงได้ ด้วยการพิจารณาไตร่ตรองถึงความน่าเกลียดโสโครก การหลงติดอยู่ในรูปกายเป็นสุดโต่งข้างหนึ่ง ซึ่งเราต้องมองให้เห็นสิ่งตรงข้าม จงพิจารณาร่างกายเหมือนซากศพและเห็นการเปลี่ยนแปลงเปื่อยเน่า หรือพิจารณาอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ปอด ม้าม ไขมัน อุจจาระ และอื่นๆ จำอันนี้ไว้แล้วพิจารณาให้เห็นจริงถึงความน่าเกลียดโสโครกของร่างกาย เมื่อมีกามเกิดขึ้น ก็ช่วยให้เอาชนะกามราคะได้ เห็นเมื่อใดก็เท่ากับมองซากศพ เห็นผู้หญิงก็ซากศพ เห็นผู้ชายก็ซากศพ ตัวเราเองก็เป็นซากศพด้วยเหมือนกัน พยายามเจริญให้มาก บำเพ็ญให้อยู่ในใจนี้มากขึ้นอีก ท่านบอกว่ามันสนุกจริงๆ ถ้าเราทำ แต่ถ้ามัวอ่านแต่ตำราอยู่มันยาก ต้องทำเอาจริงๆ ทำให้มีกรรมฐานในใจเรา

๒. พยาบาท

ต่อเรื่องนี้ มีพระลูกศิษย์ผู้มีโทสจริตรูปหนึ่ง กราบเรียนถามหลวงพ่อว่า

“เมื่อผมโกรธควรจะทำอย่างไรครับ”

“ท่านต้องแผ่เมตตา ถ้าท่านมีโทสะในขณะภาวนาให้แก้ด้วยการแผ่เมตตา ถ้าใครทำไม่ดีหรือโกรธก็อย่าโกรธตอบ ถ้าท่านโกรธตอบท่านจะโง่ยิ่งกว่าเขา จงเป็นคนฉลาด สงสารเห็นใจเขา เพราะว่าเขากำลังได้ทุกข์ จงมีเมตตาเต็มเปี่ยมเหมือนหนึ่งว่าเขาเป็นน้องชายที่รักยิ่งของท่าน เพ่งอารมณ์เมตตาเป็นอารมณ์ภาวนา แผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลก เมตตาเท่านั้นที่จะเอาชนะโทสะและความเกลียดได้”

บางครั้งนิวรณ์ตัวนี้เกิดขึ้นในลักษณะความไม่พอใจ หรือขัดเคืองกับการปฏิบัติของตัวเอง หลวงพ่ออธิบายว่า

“ใจวุ่นวาย ทำไมจึงวุ่นวาย เพราะมีตัณหา ไม่อยากให้คิด ไม่อยากให้มีอารมณ์ ความไม่อยากนี่แหละตัวอยาก คือวิภวตัณหา ยิ่งไม่อยากเท่าไรมันยิ่งชวนกันมา เราไม่อยากมันทำไมจึงมา ? ไม่อยากให้มันเป็นทำไมมันเป็น ? นั่นแหละเราอยากให้มันเป็นเพราะเราไม่รู้จักใจเจ้าของ (ตัวเอง)”

๓. ถีนมิทธะ

พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบการถูกถีนมิทธนิวรณ์ครอบงำจิตว่า เสมือนการถูกกักขังไว้ในเรือนจำ มืดมิดอึดอัด ไม่เป็นอิสระ นิวรณ์ตัวนี้ทำให้นักปฏิบัติจำนวนไม่น้อยต้องหนักอกหนักใจ แต่อุบายในการแก้ไขความง่วงมีอยู่มากมายหลายวิธี หลวงพ่อกล่าวว่า

“มีวิธีเอาชนะความง่วงได้หลายวิธี ถ้านั่งอยู่ในที่มืด ย้ายไปอยู่ที่สว่าง ลืมตาขึ้น ลุกไปล้างหน้า

ตบหน้าตนเอง หรือไปอาบน้ำ ถ้ายังง่วงอยู่อีก ให้เปลี่ยนอิริยาบถ เดินให้มากหรือเดินถอยหลัง ความกลัวว่าจะเดินไปชนเอาอะไรเข้าจะทำให้หายง่วง ถ้ายังง่วงอยู่จงยืนนิ่งๆ ทำใจให้สดชื่น และสมมติว่าขณะนั้นสว่างเป็นกลางวัน หรือนั่งบนหน้าผาสูงหรือบ่อลึก จะไม่กล้าหลับ ถ้าทำอย่างๆ ก็ไม่หายง่วง ก็จงนอนเสีย เอนกายลงอย่างสำรวมระวัง และรู้ตัวอยู่จนกระทั่งหลับไป เมื่อรู้สึกตัวตื่นจงลุกขึ้นทันที อย่ามองดูนาฬิกาแล้วพลิกไปพลิกมา เริ่มต้นมีสติ ระลึกรู้ทันทีที่ตื่น

ถ้าง่วงนอนอยู่ทุกวัน ลองฉันอาหารน้อยลง สำรวจตัวเอง ถ้าอีก ๕ คำจะอิ่ม หยุดแล้วดื่มน้ำจนอิ่มพอดี แล้วกลับไปนั่งดูต่ออีก เฝ้าดูความง่วงและความหิว กะฉันอาหารให้อิ่มพอดี เมื่อฝึกปฏิบัติต่อไปอีก จะรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นและฉันน้อยลง ต้องปรับตัวเองให้ได้”

๔. อุทธัจจกุกกุจจะ

หลวงพ่อบอกว่า เวลาฟุ้งซ่านให้ตามดูว่าจิตของเรามันฟุ้งไปที่ไหน

“...ถ้ามันแวบไปแวบมา ก็ว่ามันแวบไปแวบมา ถ้ามันนิ่งเฉยๆ ก็ว่านิ่งเฉยๆ จะเอาอะไรล่ะ ให้รู้เท่าทันมันทั้งสองอย่าง วันนี้มันมีความสงบก็คิดว่า มันมาให้ปัญญาเกิด แต่บางคนเห็นว่าสงบนี่ดีนะ ชอบ ดีใจ วันนี้ฉันทำสมาธิมันสงบดีเหลือเกิน แน่ะ อย่างนี้ เมื่อวันที่สองมาไม่ได้เรื่องเลย วุ่นวายทั้งนั้นแหละ แน่ะ วันนี้ไม่ดีเหลือเกิน

เรื่องดีไม่ดีมันมีราคาเท่ากัน เรื่องดีมันก็ไม่เที่ยง เรื่องไม่ดีมันก็ไม่เที่ยง จะไปหมายมั่นมันทำไม ? มันฟุ้งซ่านก็ดูมันฟุ้งซ่านไปซิ มันสงบก็ดูมันสงบซิ อย่างนี้ให้ปัญญามันเกิด มันเป็นเรื่องของมันจะเป็นอย่างนี้ เป็นอาการของจิตมันเป็นอย่างนั้น เราอย่าไปยุ่งกับมันมากซิ ลักษณะอันนั้นอย่างเราเห็นลิงตัวหนึ่งนะ มันไม่นิ่งใช่ไหม โยมก็ไม่สบายใจเพราะลิงมันไม่นิ่ง มันจะนิ่งเมื่อไร โยมจะให้มันนิ่งโยมถึงจะสบายใจ มันจะได้เรื่องของลิงนะ ลิงมันเป็นเช่นนี้ ลิงที่กรุงเทพฯ มันก็เหมือนลิงตัวนี้แหละ ลิงที่อุบลราชธานีก็เหมือนลิงที่กรุงเทพฯ นั่นแหละ ลิงมันเป็นอย่างนั้นของมันเอง ก็หมดปัญหาเท่านั้นแหละ เอาอย่างนี้แหละจะได้หมดปัญหาของมันไป อันนี้ลิงก็ไม่นิ่ง เราก็เป็นทุกข์อยู่เสมอ อย่างนั้นก็ตายเท่านั้นแหละ เราเป็นลิงยิ่งกว่าลิงเสียแล้วกระมัง”

๕. วิจิกิจฉา

ความลังเลสงสัย เป็นนิวรณ์ที่มักเป็นอุปสรรคสำคัญของนักปฏิบัติ ที่มีการศึกษาในระดับสูง เพราะการศึกษาทางโลกทำให้คนคิดมากขึ้น รู้จักเปรียบเทียบ วิเคราะห์วิจัย ใช้เหตุผล ซึ่งมีประโยชน์มากในชีวิตประจำวัน แต่โทษที่อาจเกิดขึ้นก็คือ ผู้รู้มากมักสงสัยมาก นักปฏิบัติพวกนี้ตกเป็นเหยื่อของนิวรณ์ตัวนี้ จึงเป็นนักภาวนาจับจด ไม่เอาจริงเอาจัง หลวงพ่อเปรียบเทียบเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าฟัง คือ

“ผลไม้หนึ่งผล รสผลไม้มันหวาน เราก็รู้จัก มันหอมเราก็รู้จัก รู้จักทุกอย่าง แต่ว่ามันขาดอยู่อย่างหนึ่ง คือไม่รู้จักชื่อของผลไม้ว่าชื่ออะไร สิ่งนี้ก็เหมือนกัน ไม่ใช่ของจำเป็นอะไรหรอก ถ้าเรารู้จักว่าผลไม้ชื่ออะไร มันก็ไม่เพิ่มความหวานขึ้นมาอีก รสชาติก็ยังเหมือนเดิมอยู่ สิ่งนี้ชี้ให้เห็นถึงเหตุที่ควรจะรู้ก็ให้รู้ เหตุที่ไม่ควรจะรู้ก็ไม่ต้องรู้ ไม่รู้ชื่อของมันก็ไม่เป็นไร รสของมันเรารู้แล้ว...เรื่องชื่อก็ไม่จำเป็นเท่าไร ถ้ามีใครมาบอกก็รับไว้ แต่ถ้าไม่มีใครมาบอกก็อย่าเดือดร้อน”

..................................

วิสัชชนาธรรม เกี่ยวกับ วิจิกิจฉา อีกจุดหนึ่ง
เผื่อใครยังไม่เคยอ่าน

โอวาทธรรม หลวงปู่ ชา สุภัทโท

ปุจฉา ผมควรจะทำอย่างไรครับเมื่อผมสงสัย บางวันผมวุ่นวายใจด้วยความสงสัยในเรื่องการปฏิบัติ หรือในความคืบหน้าของผม หรือ ในอาจารย์

วิสัชชนา ความสงสัยนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทุกคนเริ่มต้นด้วยความสงสัย ท่านอาจได้เรียนรู้อย่างมากมายจากความสงสัยนั้น

ที่สำคัญก็คือ ท่านอย่าถือเอาความสงสัยนั้นเป็นตัวเป็นตน
นั่นคือ อย่าตกเป็นเหยื่อของความสงสัย ซึ่งจะทำให้จิตใจของท่านหมุนวนเป็นวัฏฏะอันไม่มีที่สิ้นสุด

แทนที่จะเป็นเช่นนั้น
จงเฝ้าดูกระบวนการเกิดดับของความสงสัยของความฉงนสนเท่ห์ดูว่าใครคือผู้ที่สงสัย ดูว่าความสงสัยนั้นเกิดขึ้นและดับไปอย่างไร แล้วท่านจะไม่ตกเป็นเหยื่อของความสงสัยอีกต่อไป ท่านจะหลุดพ้นออกจากความสงสัย และจิตของท่านก็จะสงบ ท่านจะเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นและดับไปอย่างไร

จงปล่อยวางสิ่งต่างๆที่ท่านยึดมั่นอยู่ ปล่อยวางความสงสัยของท่าน และ เพียงแต่เฝ้าดู
นี่คือที่สิ้นสุดของความสงสัย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ม.ค. 2009, 21:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


โพชฌงคสังยุตต์ - ๑. ปัพพตวรรค - กายสูตร

พระไตรปิฎก ฉบับธรรมทาน

กายสูตร
อาหารของนิวรณ์ ๕

[๓๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายนี้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร
ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด นิวรณ์ ๕ ก็มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๓๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหาร ให้กามฉันท์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
หรือที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ศุภนิมิตมีอยู่ การกระทำให้มากซึ่ง อโยนิโสมนสิการในศุภนิมิตนั้น นี้เป็นอาหารให้กามฉันท์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น.

[๓๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้พยาบาทที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือ
ที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิฆนิมิตมีอยู่ การกระทำให้มากซึ่ง
อโยนิโสมนสิการในปฏิฆนิมิตนั้น นี้เป็นอาหารให้พยาบาทที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น.

[๓๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้ถิ่นมิทธะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
หรือที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไม่ยินดี ความเกียจคร้าน ความบิดขี้เกียจ ความเมาอาหาร ความที่ใจหดหู่ มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในสิ่งเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น.

[๓๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
หรือที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไม่สงบใจมีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในความไม่สงบใจนั้น นี้เป็นอาหารให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นหรือที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น.

[๓๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือ
ที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งวิจิกิจฉามีอยู่การกระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นหรือที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น.

[๓๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายนี้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร
ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด นิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ก็มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ม.ค. 2009, 21:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


จาก อวิชชาสูตร


ความไม่มีสติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่สำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์

การไม่สำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังทุจริต ๓ ให้บริบูรณ์

ทุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังนิวรณ์ ๕ ให้บริบูรณ์

นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังอวิชชาให้บริบูรณ์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ม.ค. 2009, 21:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


นำมาจากหนังสือ พุทธธรรม หน้า 879



สนามปฏิบัติการทางปัญญา


คำว่า สนามปฏิบัติการทางปัญญาในที่นี้ หมายถึงหลักธรรมชุดที่เรียกว่า โพชฌงค์


โพชฌงค์ เป็นทั้งธรรมเกื้อหนุนในการเจริญสมาธิ และ เป็นที่ใช้สมาธิเพื่อประโยชน์ที่สูงขึ้นไปจนบรรลุจุดหมายสูงสุดคือ วิชชาและ วิมุตติ

โพชฌงค์มี 7 ข้อ คือ สติ ธรรมวิจัย วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ-(= ความ ผ่อนคลายสงบเย็นกาย -เย็นใจ กายปัสสัทธิ-จิตตปัสสัทธิ) สมาธิ และอุเบกขา


มีพุทธพจน์จำกัดความหมายของโพชฌงค์ไว้สั้นๆ ว่า

“เพราะเป็นไปเพื่อโพธะ (ความตรัสรู้) ฉะนั้นจึงเรียกว่า โพชฌงค์”

(สํ.ม. 16/390/104; 435/120)

ส่วน พระอรรถกถาจารย์วินิจฉัยตามรูปศัพท์และแปลว่า องค์คุณของผู้ตรัสรู้ หรือผู้จะตรัสรู้บ้าง องค์ประกอบของการตรัสรู้บ้าง

(วิสุทธิ.3/329; สํ.อ.3/220)


ว่าโดยหลักการ โพชฌงค์ เป็นธรรมฝ่ายตรงข้ามกับนิวรณ์ 5

จะเห็นได้ ว่า พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องโพชฌงค์ไว้ควบคู่ไปด้วยกันกับนิวรณ์ เป็นส่วนมาก โดยฐานทำหน้าที่ตรงข้ามกัน-(สํ.ม.19/463-640/129-178 ฯลฯ)

แม้คำบรรยายคุณลักษณะของโพชฌงค์ ก็เป็นข้อความตรงข้าม กับคำบรรยายลักษณะของนิวรณ์นั่นเอง ดังเช่น

“ภิกษุทั้งหลาย

โพชฌงค์ 7 ประการเหล่านี้ ไม่เป็นเครื่องปิดกั้น ไม่เป็นนิวรณ์ ไม่เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
เมื่อเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผลคือวิชชาและวิมุตติ”-

(สํ.ม.19/478/131 ฯลฯ)


“ภิกษุทั้งหลาย
โพชฌงค์ 7 ประการเหล่านี้ เป็นธรรมทำให้มีจักษุ ทำให้มีญาณ ส่งเสริมความเจริญแห่งปัญญา ไม่เป็นข้างความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพาน”- (สํ.ม.19/502/137)


นิวรณ์เป็นสิ่งทำลายคุณภาพจิต หรือทำให้จิตเสียคุณภาพ
ลักษณะนี้น่าจะใช้เป็นเครื่องวัดความเสื่อมเสียสุขภาพจิตได้ด้วย

ส่วนโพชฌงค์ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามก็เป็นธรรมที่ส่งเสริมคุณภาพจิต
และช่วยให้มีสุขภาพจิตดี เป็นเครื่องบำรุงและวัดสุขภาพจิต


แก้ไขล่าสุดโดย ตรงประเด็น เมื่อ 04 ม.ค. 2009, 21:23, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ม.ค. 2009, 21:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว





ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน.

นีวรณบรรพ.

[๑๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่อย่างไรเล่า?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ นิวรณ์ ๕
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ นิวรณ์๕ อย่างไรเล่า?

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกามฉันทะมีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า กามฉันทะมีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อกามฉันทะไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า กามฉันทะไม่มีอยู่
ณ ภายในจิตของเรา
อนึ่ง กามฉันทะที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย กามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้วจะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย กามฉันทะที่ละ
ได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย

อีกอย่างหนึ่ง เมื่อพยาบาทมีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า พยาบาทมีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อพยาบาทไม่มีอยู่ ณภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า พยาบาทไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา
อนึ่ง พยาบาทที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัด ประการนั้นด้วย พยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย พยาบาทที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย

อีกอย่างหนึ่ง เมื่อถีนมิทธะมีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า ถีนมิทธะมีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อถีนมิทธะไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าถีนมิทธะไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา
อนึ่ง ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใดย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ถีนมิทธะที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย

อีกอย่างหนึ่ง เมื่ออุทธัจจกุกกุจจะมีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า อุทธัจจกุกกุจจะมีอยู่ ณ ภายในจิตของเราหรือเมื่ออุทธัจจกุกกุจจะไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า อุทธัจจกุกกุจจะไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา
อนึ่ง อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วยอุทธัจจกุกกุจจะที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย

อีกอย่างหนึ่ง เมื่อวิจิกิจฉามีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า วิจิกิจฉามีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อวิจิกิจฉาไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า วิจิกิจฉาไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา
อนึ่ง วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย วิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย วิจิกิจฉาที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย

ดังพรรณนามาฉะนี้
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมบ้าง ย่อมอยู่

อนึ่ง สติของเธอตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า
พิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ นิวรณ์ ๕ อยู่.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ม.ค. 2009, 21:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


ท่านผู้รู้ ท่านเคยสอนเอาไว้ว่า

นิวรณ์จะระงับ เมื่อจิตเป็นสมาธิขั้นแน่วแน่
แต่ นิวรณ์จะระงับอยู่เฉพาะช่วงที่จิตทรงตัวอยู่ในอารมณ์แห่งสมาธิเท่านั้น

ดังนั้น ประโยชน์ที่แท้จริงของสมาธิในการภาวนา คือ การที่นิวรณ์ระงับ บังเกิดแต่วิเวก สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม และ จิตนุ่มนวลควรแก่การงาน(สมาหิโต) เอื้อต่อการเจริญปัญญา. และ ใช้ประโยชน์จากสภาวะจิตเช่นนั้น มาสนับสนุนการเจริญปัญญา

ถ้าหากแต่ว่า จิตสงบเฉยๆแล้วไม่นำมาใช้ประโยชน์ในการเจริญปัญญา ก็ยังจัดว่าไม่ได้ประโยชน์อย่างที่ควรจากการเจริญสมาธิภาวนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ม.ค. 2009, 11:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 พ.ค. 2008, 14:14
โพสต์: 3835

อายุ: 12
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
อาทิ สีลํ ปติฏฺฐา จ กลฺยาณานญฺจ มาตุกํ
ปมุขํ สพฺพธมฺมานํ ตสฺมา สีลํ วิโสธเย
ศีลเป็นที่พึ่งเบื้องต้น เป็นมารดาของกัลยาณธรรมทั้งหลาย
เป็นประมุขของธรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้นควรชำระศีลให้บริสุทธิ์
....................................

"หากเป็นคนฉลาดก็มีแต่จะทำให้คนอื่นรักตนเท่านั้น-วาทะคุณกุหลาบสีชา"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ม.ค. 2009, 10:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 เม.ย. 2008, 13:18
โพสต์: 1367

ที่อยู่: bangkok

 ข้อมูลส่วนตัว


อ่านกระทู้คุณหมอทีไร :b23: :b23: :b23: ทุกทีเลย....แต่ก็ดีมากๆครับ เตือนให้ระลึกอะไรๆได้มากมายครับ ขอบพระคุณครับ

.....................................................
ตั้งสติไว้ มองความจริงตามความเป็นจริง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ม.ค. 2009, 17:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ธ.ค. 2008, 13:10
โพสต์: 43


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: สาธุ ขออนุโมทนาครับ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 60 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร