วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 23:15  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ต.ค. 2008, 10:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 มิ.ย. 2007, 21:13
โพสต์: 2631

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


ในภาคการปฏิบัติสมาธิภาวนาจริงๆ นั้น

สมาธิเป็นตัวปิดกั้นปัญญาจริงหรือไม่

ขอความคิดเห็นจากท่านที่มีประสพการณ์ปฏิบัติมาแล้วครับ

สำหรับผมใช้อานาปานสติของท่านพุทธทาสในการทำสมาธิตามหลักสติปัฏฐาน 4

สมาธิมีตั้งแต่น้อยไปหามาก หรือตั้งแต่ฟุ้งซ่านจนถึงกึ่งหลับ

สมมุติฐานของผมมนุษย์ทุกคนต้องมีสติสมาธิ

สมาธิเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของมนุษย์ที่จิตปกติอยู่แล้ว

จะมีมากมีน้อยแล้วแต่บุคคล

การทำสมถะนั้นคือการฝึกสมาธิเพื่อนำไปใช้งาน

เหมือนการเตรียมร่างกายของนักกีฬา

การฝึกสมาธิปบ่อยๆ จนชำนาญช่วยให้ในการปฏิบัติสมาธิภาวนาได้ยาวขึ้น

จิตไม่ล้าง่าย เป็นบาทของการวิปัสสนา

จิตเมื่อฝึกให้สมารถถึงขั้นสมาธิที่สูงช่วยให้การวิปัสสนาได้พุ่งเป้าไม่ฟุ้งซ่านง่าย

หากไม่ฝึกสมถะ การวิปัสสนาก็อาจกลายเป็นเรื่องที่คิดเรื่อยเปลื่อย

การฝึกสมถะจึงเป็นความแตกต่างของการคิดธรรมดา กับโยนิโสมนสิการซึงมี 10 แบบดังนี้

โยนิโสมนสิการเท่าที่พบในบาลี พอประมวลเป็นแบบใหญ่ๆ ได้ ดังนี้

1. วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย
2. วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ
3. วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์ หรือ วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา
4. วิธีคิดแบบอริยสัจจ์ หรือ คิดแบบแก้ปัญหา
5. วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์
6. วิธีคิดแบบคุณโทษและทางออก
7. วิธีคิดแบบคุณค่าแท้-คุณค่าเทียม
8. วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม
9. วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในขณะปัจจุบัน
10. วิธีคิดแบบวิภัชชวาทะ

ซึงต้องอาศัยสมาธิเป็นฐานทั้งสิ้น

จึงเป็นไปไม่ได้ที่สมาธิจะปิดกั้นปัญญา
ตรงข้าม หากไม่มีสมาธิเราจะไม่สามารถโยนิโสมนสิการได้เลย

ท่านทั้งหลายมีความคิดเช่นใดครับ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ต.ค. 2008, 11:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 พ.ค. 2008, 14:14
โพสต์: 3836

อายุ: 12
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


ตามที่เคยฟังๆมา ไม่ใช่ประสบการณ์ตรงนะครับ

ถ้าไม่เจริญสมาธิจนถึงขึ้นอัปปนาสมาธิ
มันจะไม่เกิดองค์ประกอบที่จะเอื้อให้เกิดกระบวนการวิปัสนาเพื่อให้ได้ปัญญาได้เลย

ดังนั้น ไม่ใช่ว่าสมาธิขั้นต้นๆ จะปิดกั้นปัญญา
แต่มันเป็นเพราะ สมาธิแบบนั้นมันยังไม่มีคุณภาพเพียงพอที่จะนำไปใช้

อย่างสมาธิขั้นกลางที่มีแต่นิมิตต่างๆนาๆ
มีพระพุทธเจ้ามาหวักมือเรียกก้มี ไม่เป็นฌานสักที ไม่เป้นสัมมาสมาธิสักที
ไปเที่ยวนรกสวรรค์ก็ไปกันตอนสมาธิขั้นกลางนี้ แล้วเพลิน ไม่อยากเลิก
เจ้าตัวนี้แหละปิดกั้นปัญญาของแท้

เมื่อมีสัมมาสมาธิแล้ว (อัปปนาสมาธิ สืบต่อไปเป้นฌาน)
กระบวนการวิปัสสนาจึงจะเกิดได้ ปัญญาจึงจะเกิดได้
แล้วจึงพัฒนาต่อไป

ผมจำเขามาอย่างนั้นนะคับ

.....................................................
อาทิ สีลํ ปติฏฺฐา จ กลฺยาณานญฺจ มาตุกํ
ปมุขํ สพฺพธมฺมานํ ตสฺมา สีลํ วิโสธเย
ศีลเป็นที่พึ่งเบื้องต้น เป็นมารดาของกัลยาณธรรมทั้งหลาย
เป็นประมุขของธรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้นควรชำระศีลให้บริสุทธิ์
....................................

"หากเป็นคนฉลาดก็มีแต่จะทำให้คนอื่นรักตนเท่านั้น-วาทะคุณกุหลาบสีชา"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ต.ค. 2008, 12:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 ก.ค. 2008, 14:47
โพสต์: 1562

อายุ: 0
ที่อยู่: หิมพานต์

 ข้อมูลส่วนตัว www


ผมเพิ่งเริ่มปฏิบัติครับ ออกมาหนับหนุนครับว่า
สมาธิทำให้เกิดปัญญาครับแต่ต้องเป็นสัมมาสมาธินะครับ ไม่นั่งหลับ นั่งโยก
สมดั่งท่านกล่าวว่า..

"สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาตีติ" (องฺ ปญฺจก ๒๓/๒๕-๒๖)

แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอควรเจริญสมาธิเถิด เพราะบุคคลผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ทั่วถึงตามความเป็นจริง...

.....................................................
อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจจะชามิฯ
ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าขอมอบกายถวายชีวิต แด่พระพุทธเจ้า แด่พระธรรม แด่พระสงฆ์ นับแต่บัดนี้ตราบจนเข้าสู่พระนิพพาน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 พ.ย. 2008, 06:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


ประเด็น ที่สำคัญมาก ในเรื่อง สมถะ
คือ ต่างกลุ่มคนจะเข้าใจ สมถะ กันคนล่ะความหมาย


คำว่า "สมถะ" ในความหมายที่ชาวไทยพุทธในปัจจุบันกล่าวกันนั้น ครอบคลุมความหมายต่างๆ ดังนี้

๑ องค์ธรรมที่ไม่ใช่สมถะ หรือ สมาธิ แต่ถูกเข้าใจว่าเป็นสมาธิ
เช่น อาการตื้อตันมึนงงเวลาภาวนา(นิวรณ์ประเภทถีนมิทธะ)
การตั้งใจมากเกินไปในการภาวนา(วิริยะทางใจแรงไป)

๒ มิจฉาสมาธิ
เช่น การติดสุขจากสมาธิ
หรือ การหลงในนิมิต หรือ ญาณทัศนะ ต่างๆ

๓ เป็นสมาธิ... ที่ไม่ใช่มิจฉาสมาธิ แต่ยังไม่ถึงขั้นของ สัมมาสมาธิ ...
คือ มาถูกทางแล้ว แต่ ยังไม่ถึงจุดหมาย

๔ สัมมาสมาธิ หรือ สมาธิสัมโพชฌงค์ หรือ โลกุตรฌาน หรือ สมถะในอริยมรรคสมังคี อันเป็นจุดหมายที่แท้จริงของสมถะ


อนึ่ง คำว่า สมถะ ที่ปรากฏในพระสูตรต่างๆนั้น ผมเห็นว่าสมควรนับเพียงเฉพาะในข้อ๓ และ ข้อ๔ เท่านั้น....



ช่วงหลัง เราจะได้ยินคำกล่าวที่ว่า
"เวลาภาวนา เราต้องระวังไม่ให้จิตเป็นสมถะ"
กันบ่อยๆ

ซึ่ง ถ้าเป็นสมถะในความหมายที่1 และ 2 ....คำกล่าวนี้ ก็ไม่ผิดน่ะครับ

แต่ ถ้าคำกล่าวนี้ไปกล่าวว่า ให้ระวัง ไม่ให้เกิด สมถะในความหมายที่3และ4.... ก็คงไม่ถูกน่ะครับ
เพราะผมยังไม่เคยได้พบพระสูตรใด ที่ตรัสตำหนิ สมถะในความหมายที่3และ4 เลย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 พ.ย. 2008, 06:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อตอนผมศึกษาใหม่ๆ มักจะมีคนเล่าให้ฟัง เกี่ยวกับการตรัสรู้ ของพระพุทธองค์ ว่า

"พระพุทธเจ้าฝึกสมถะอยู่นานจนสำเร็จฌานชั้นสูงกับมหาฤาษี เทียบเท่ามหาฤาษีแล้ว แต่ไม่ตรัสรู้...
ต่อมาจึง ละทิ้งสมถะ หันมาเจริญวิปัสสนา จึงตรัสรู้"


เมื่อก่อน ผมไม่ได้อ่านรายละเอียดในพระสูตร ผมก็เชื่อว่า
"ต้องทิ้งสมถะ แล้ว หันมาเจริญวิปัสสนา จึงจะพ้นทุกข์"
โดยไม่ได้ย้อนไปตรวจสอบ กับพระสูตร


ความจริงแล้ว
เหตุการณ์ตั้งแต่ เสด็จออกบรรพชา ไปฝึกอรูปฌานแบบฤาษี แล้ว มาทรมานตน จนถึง ย้อนกลับมาเจริญอานาปนสติ และ ตรัสรู้นั้น

มีปรากฏในพระสูตร



สคารวสูตร


http://larndham.net/cgi-bin/tread.pl?st ... yte=906254

[๗๕๒] ดูกรภารทวาชะ เรานั้นมีความคิดเห็นว่า
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีต ได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้า เผ็ดร้อนที่เกิดเพราะความเพียร อย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ ไม่ยิ่งไปกว่านี้ แม้สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคต จักเสวยทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อนที่เกิดเพราะความเพียร อย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ ไม่ยิ่งไปกว่านี้. ถึงสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในบัดนี้ ได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อนที่เกิดเพราะความเพียรอย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ ไม่ยิ่งไปกว่านี้. ถึงเช่นนั้น เราก็ไม่ได้บรรลุญาณทัศนะอันวิเศษของพระอริยะอย่างสามารถ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วยทุกกรกิริยาอันเผ็ดร้อนนี้
จะพึงมีทางอื่นเพื่อความตรัสรู้กระมังหนอ.
เรามีความคิดเห็นว่า ก็เราจำได้อยู่ ในงานของท้าวศากยะผู้พระบิดาเรานั่งอยู่ที่ร่มไม้หว้ามีเงาอันเย็น สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌานอันมีวิตก วิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ทางนี้กระมังหนอ จะพึงเป็นทางเพื่อความตรัสรู้. เราได้มีวิญญาณอันแล่นไปตามสติว่า ทางนี้แหละเป็นทางเพื่อความตรัสรู้.
เรามีความคิดเห็นว่า เรากลัวต่อสุขอันเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรมนั้นหรือ? จึงมีความคิดเห็นว่า เราไม่กลัวต่อสุขอันเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม.

[๗๕๓] ดูกรภารทวาชะ เรานั้นมีความคิดเห็นว่า อันบุคคลผู้มีกายอันถึงความซูบผอม
เหลือทนอย่างนี้ จะบรรลุถึงความสุขนั้นไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงกินอาหารหยาบ คือ ข้าวสุก ขนมกุมมาสเถิด. เราจึงกินอาหารหยาบ คือ ข้าวสุก ขนมกุมมาส. สมัยนั้น ภิกษุ(ปัญจวัคคีย์) ๕ รูป บำรุงเราอยู่ด้วยหวังใจว่า พระสมณโคดมจักบรรลุธรรมใด จักบอกธรรมนั้นแก่เราทั้งหลาย. แต่เมื่อเรากินอาหารหยาบ คือ ข้าวสุกและขนมกุมมาส. พวกภิกษุ (ปัญจวัคคีย์) ๕ รูปนั้น เบื่อหน่ายเราหลีกไปด้วยความเข้าใจว่า พระสมณโคดมเป็นผู้มักมาก คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก.

ฌาน ๔
[๗๕๔] ดูกรภารทวาชะ ครั้นเรากินอาหารหยาบมีกำลังดีแล้ว
จึงสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌานอันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
บรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
เรามีอุมีเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกายเพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขามีสติอยู่เป็นสุข
เราบรรลุจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่.

ญาณ ๓
[๗๕๕] เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส
อ่อนควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ๆลๆ





พระสูตรนี้ เป็นการตรัสเล่าถึง การแสวงหาโมกขธรรมของพระพุทธองค์
เริ่มตั้งแต่ต้น จนตรัสรู้....

มีที่น่าสนใจ คือ พระองค์เองเคยไปฝึกบำเพ็ญอรูปสมาบัติ
คือ อากิญจัญญายตน กับ ท่านอาฬารดาบส
และ เนวสัญญานาสัญญายตน กับ อุทกดาบสมาแล้ว
แต่พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า ไม่ใช่ทางตรสรู้ จึงหลีกออกมา
และ ไปบำเพ็ญทุกรกิริยา จนเกือบสิ้นพระชนม์.... แต่ ก็ไม่บรรลุพระโพธิญาณ

จึงทรงหวลระลึก ถึงรูปฌานที่๑ ที่พระพุทธองค์เคยบำเพ็ญได้ตอนยังเป็นเจ้าชายสิตทัตถะ ดังที่ตรัสว่า

"....เรามีความคิดเห็นว่า ก็เราจำได้อยู่ ในงานของท้าวศากยะผู้พระบิดา
เรานั่งอยู่ที่ร่มไม้หว้ามีเงาอันเย็น สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌานอันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ทางนี้กระมังหนอ จะพึงเป็นทางเพื่อความตรัสรู้. เราได้มีวิญญาณอันแล่นไปตามสติว่า ทางนี้แหละเป็นทางเพื่อความตรัสรู้.
เรามีความคิดเห็นว่า เรากลัวต่อสุขอันเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรมนั้นหรือ? จึงมีความคิดเห็นว่า เราไม่กลัวต่อสุขอันเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม....."




ดังนั้น จากพระสูตรนี้

1.พระพุทธเจ้า ใช้สมาธิเป็นบาทในการเจริญญาณ3 ในคืนนั้น.. ไม่ได้ละทิ้งสมถะ แล้วหันมาเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว อย่างที่มีการเข้าใจกัน

2.สมาธิที่พระพุทธองค์ใช้ในคืนวันตรัสรู้ เป็นวิธีแห่งอานาปานสติที่พระพุทธองค์เคยบำเพ็ญได้ ในตอนเป็นเจ้าชายสิตทัตถะ.... ไม่ได้ใช้ สมาธิแบบฤาษี

3.ในพระสูตรนี้ และ มีอีกบางพระสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "ไม่กลัวต่อสุขอันเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม".....
แต่ ก็ทรงสอนไม่ให้ยึดติดในสุขนี้ เพราะมีวิมุติสุข ที่ยิ่งกว่านี้อีก

เป็น ลักษณะ

ทรงสอนให้รู้จักใช้ประโยชน์ ของสมาธิ (ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา) อย่างที่ควรเป็น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 พ.ย. 2008, 06:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


ไทยเรา รับเอาแนวทางวิปัสสนาล้วนๆ มาเผยแผ่ในช่วงหลัง

จะได้ยิน คำกล่าวที่ว่า "เจริญวิปัสสนา โดยต้องระวังไม่ให้สมถะเกิดขึ้น ก่อนที่จะบังเกิดปัญญาญาณ"
(อาจตรงกับ ที่ท่าน จขกท กล่าวถึง สมาธิปิดกั้นปัญญา)
เพราะเชื่อว่า สมถะนั้นๆ ถ้าไม่มีปัญญาญาณ(สัมมาญาณะ)เสียก่อน สมาธินั้นต้องเป็นมิจฉาสมาธิทั้งสิ้น

ดัง ปรากฏวิปัสสนาจารย์ ท่านหนึ่ง กล่าวไว้ดังนี้


อ้างคำพูด:
ที่ ห้ามไม่ให้ทำให้จิตสงบ เพราะอะไร

เพราะจิตที่เป็นสมาธินี้น่ะ ถ้าผู้ที่ยังไม่เกิดปัญญาแล้ว ต้องเป็นที่อาศัยของตัณหาและทิฏฐิ ต้องเป็นที่อาศัยของกิเลสแน่นอน เมื่อกิเลสเข้าอาศัยความสงบนั้นแล้ว ก็ต้องปิดบังความจริง



ก็เลยเป็นที่มาของแนวคิด "ห้ามไม่ให้เกิดสมาธิ ก่อนปัญญาเกิด" ขึ้นมา

ซึ่ง คงต้องเปรียบเทียบกับ ในมหาจัตตารีสกสูตร ที่ตรัสว่า
เพราะมีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณะจึงพอเหมาะ
ซึ่ง ในระดับพระสูตร กล่าวว่า มีสัมมาสมาธิเป็นเหตุนำ และ สัมมาญาณะ(ปัญยาญาณ)เป็นผลตาม


และ มีคำกล่าวของวิปัสสนาจารย์ท่านอื่น ในแนวทางเดียวกัน ดังนี้อีก

อ้างคำพูด:
หลักของ สมาธิ นั้น ถ้าความรู้ใน เหตุผล ยิ่งน้อยลงไปเท่าใด สมาธิ ก็จะมีกำลังมากขึ้นเท่านั้น หรือ สมาธิ ยิ่งมีกำลังมากขึ้นเท่าใด ความรู้ในเหตุผลก็ยิ่งลดน้อยลงไปเท่านั้น จนเกือบจะไม่มีความรู้สึกอะไรเลย

นี่คือ หลักของ สมถะ หรือ สมาธิ



นี่คือ ท่านกำลังกล่าวถึง คำจำกัดความของ มิจฉาสมาธิ (สมาธิที่ปิดกั้นปัญญา หรือ ไม่ เอื้อต่อการเกิดปัญญา)อยู่..
และ ท่านกำลังใช้คำจำกัดความของมิจฉาสมาธิ มาเป็นเหตุผลในการไม่ให้เจริญสมาธิภาวนา...

โดยไม่แยกแยะ ให้ชัดเจน ระหว่าง
มิจฉาสมาธิที่พึงหลีกเลี่ยง
และ
สัมมาสมาธิที่พึงเจริญ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 พ.ย. 2008, 06:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


เคยได้รับทราบความเห็น มาว่า

ศาสนาพุทธ สอนให้กลัวความสุขที่เกิดจาก สมาธิ ...
เพราะ ถ้าบังเกิดขึ้นแล้วจะต้องติดทุกคน และ ไม่มีทางที่จะเจริญวิปัสสนาได้เลย
(ทั้งๆที่ ปัสสัทธิ เป็นองค์แห่งโพชฌงค์ เสียด้วยซ้ำ)



ความจริงแล้ว พระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้สอนให้กลัวความสุขที่เว้นจากกาม
แต่ ทรงสอนไม่ให้ยึดติด แม้นแต่ในสุขนั้นๆ เพราะมีสุขที่เหนือกว่านั้นอีก ต่างหาก




ผมขอเสนอ บทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไว้ให้พิจารณาครับ
บางท่าน อาจไม่เคยอ่านบทความนี้



(จากพุทธธรรมหน้า 529)



ความสุข มีความสำคัญมากในการปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนา
อาจกล่าว ได้ว่า พุทธจริยธรรมไม่แยกต่างหากจากความสุข
เริ่มแต่ขั้นต้น ในการทำ ความดีหรือกรรมดีทั่วๆไปที่เรียกว่า บุญ
ก็มีพุทธพจน์ตรัสว่า “บุญเป็นชื่อของความสุข”
(ขุ.อิติ. 25/200/240 ฯลฯ)

ในการบำเพ็ญเพียรทางจิตหรือเจริญภาวนา ความสุขก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เกิดสมาธิ ดังพุทธพจน์ว่า “ผู้มีสุข จิตย่อมตั้งมั่น (เป็นสมาธิ)”
(ที.ปา.11/455/329 ฯลฯ)

และเมื่อจิตเป็นสมาธิบรรลุฌานแล้ว ความสุขก็เป็นองค์ประกอบของฌาน
ดังที่เรียกว่าองค์ฌานต่อไปอีกจนถึงฌานที่ 3 -
(ที.ปา.11/232/233 ฯลฯ)

ฌานสมาบัติที่สูงกว่านั้นขึ้นไป แม้จะไม่มีสุขเป็นองค์ฌานแต่ก็กลับเป็นสุขที่
ประณีตยิ่งขึ้นไปอีก

จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือ นิพพาน ก็เป็น
ความสุข และเป็นบรมสุข คือ สุขสูงสุดด้วย – (ม.มฺ. 13/287/281 ฯลฯ )


นอกจากนั้น
จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาที่เป็นบรมสุข หรือโพธินั้น ก็พึง
บรรลุได้ด้วยความสุข หรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข ไม่ใช่บรรลุด้วย
ความทุกข์ หรือ ด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์ *
(ม.มู.12/425-6/457-8 ฯลฯ)


ๆลๆ

พวกนิครนถ์มีความเห็นว่า “ความสุขจะพึงลุถึงด้วยความสุขไม่ได้ ความสุขจะพึงลุถึงได้ด้วยความทุกข์”
ดังนั้น พวกนิครนถ์จึง บำเพ็ญตบะ กระทำอัตตกิลมถานุโยค คือ ทรมานตน-
(ม.มู.12/220/187)
พระพุทธเจ้าเมื่อก่อนตรัสรู้ ก็เคยทรงเข้าพระทัยอย่างนั้น จึงได้ ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาเสียเวลาไปยาวนาน

(ม.ม.13/489/443)



ๆลๆ


พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ได้ทรงบรรลุถึงความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม และความสุขอย่างอื่นที่ประณีตยิ่งไปกว่า นั้นแล้ว

จึงทรงยืนยันได้ว่าจะไม่ทรงเวียนกลับมาหากามอีก


แต่ถ้าพระองค์ยังไม่ทรงประสบความสุขที่ประณีตเช่นนั้นแล้ว ก็จะไม่ทรงสามารถยืนยันได้ว่า พระองค์จะไม่ทรงเวียนกลับมาหากามอีก

พร้อมกันนั้นก็ได้ตรัสทำนองเตือนผู้ปฏิบัติธรรมให้ระลึกไว้ว่า

ถึงหาก อริยสาวกจะมองเห็นอย่างชัดเจนตามความเป็นจริงด้วยสัมมาปัญญาว่า กามทั้งหลายมีความหวานชื่นน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้มากยิ่งนัก
แต่ถ้าอริยสาวกนั้นยังไม่ประสบ ยังไม่รู้จักปีติและความสุขที่ไม่ต้องอาศัย กาม หรือความสุขที่ประณีตยิ่งไปกว่านั้น ก็ยังวางใจไม่ได้ว่าเธอจะไม่วก วียนกลับมาหากามอีก- (ม.มู. 12/211/180)


และตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายไว้โดยจำเพาะในทำนองเดียวกันว่า ถ้าผู้บวช แล้ว ยังมิได้ประสบปีติและความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม หรือความสุขที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น กิเลสทั้งหลายเช่น อภิชฌา พยาบาท ความฟุ้งซ่าน กียจคร้าน เบื่อหน่าย ก็จะเข้าครอบงำจิตได้- (ม.มู. 13/196/205)

หมายความว่า ก็จะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ หรือ ทนประพฤติพรหมจรรย์อยู่ไม่ได้


ความที่ยกมาอ้างเหล่านี้
นอกจากจะแสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาถือ ความสุขเป็นเรื่องสำคัญ
แล้วยังให้ข้อสังเกตต่อไปอีกว่า การที่อริยสาวก ละกามนั้น มิใช่เพราะกามไม่มีความสุข หรือเพราะพระพุทธศาสนาสอนให้ ละเว้นความสุข

พระพุทธศาสนายอมรับความสุขตามที่เป็นจริง สอนให้ปฏิบัติเพื่อบรรลุความสุข และยอมรับว่ากามมีความสุข
แต่อริยสาวกละกามเพราะเห็นว่ากามมีความสุขก็จริง แต่ยังปะปนด้วยทุกข์มาก
และข้อสำคัญก็คือ ยังมีความ สุขอย่างอื่นที่สุขกว่า ลึกซึ้งประณีตกว่าสุขที่เกิดจากกาม หรือความสุขที่ เกิดจากการเสพรสอร่อยของโลกอย่างสามัญชน
อริยสาวกละกามก็เพราะได้ประสบความสุขที่ประณีตกว่านั้น

ความข้อนี้แสดงว่า
ความสุขมีแตกต่างกันเป็นขั้นเป็นระดับ
สิ่งที่ควรศึกษา ในตอนนี้ก็คือว่า พระพุทธศาสนา จัดแบ่งความสุขออกเป็นขั้น หรือ ระดับอย่างไร

ๆลๆ

ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต
ท่านจำแนกความสุขออกไปทั้งโดยประเภท และโดยระดับเป็นคู่ๆ มากมายหลายคู่ เช่น
สุขของคฤหัสถ์กับสุขของบรรพชิต
กามสุขกับเนกขัมมสุข
โลกียสุขกับโลกุตรสุข
สุขของพระอริยะกับสุขของปุถุชน เป็นต้น

แต่วิธีแบ่งที่เป็นลำดับขั้นชัดเจน ละเอียด และดูง่ายไม่ซับซ้อน น่าจะได้แก่วิธีแบ่งเป็น 10 ขั้น หรือความสุข 10 ขั้น ซึ่งมีที่มาหลายแห่ง แบ่งดังนี้
(ม.ม. 13/100/96 ฯลฯ)

1. กามสุข - สุขเนื่องด้วยกาม ได้แก่ ความสุขโสมนัสที่เกิดขึ้นด้วยอาศัยกามคุณ 5

2. ปฐมฌานสุข - สุขเนื่องด้วยปฐมฌาน ซึ่งสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย ประกอบด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา

3. ทุติยฌานสุข - สุขเนื่องด้วยทุติยฌาน ซึ่งประกอบด้วย ปีติ สุข และเอกัคคตา

4. ตติยฌานสุข - สุขเนื่องด้วยตติยฌาน ซึ่งประกอบด้วย สุข และเอกัคคตา

5. จตุตถฌานสุข - สุขเนื่องด้วยจตุตถฌาน ซึ่งประกอบด้วย อุเบกขา
และเอกัคคตา

6. อากาสานัญจายตนสมาปัตติสุข- สุขเนื่องด้วยอากาสานัญจายตนสมาบัติ ซึ่งล่วงพ้นรูปสัญญาได้โดยสิ้นเชิง ปฏิฆสัญญาล่วงลับไปหมด ไม่มนสิการ
นานัตตสัญญา นึกถึงแต่อวกาศอันอนันต์เป็นอารมณ์

7. วิญญาณัญจายตนสมาปัตติสุข- สุขเนื่องด้วยวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ซึ่งคำนึงวิญญาณอันอนันต์เป็นอารมณ์

8. อากิญจัญญายตนสมาปัตติสุข- สุขเนื่องด้วยอากิญจัญญายตนสมาบัติ ซึ่งคำนึงภาวะที่ไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์

9. เนวสัญญานาสัญญายตนสมาปัตติสุข- สุขเนื่องด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ อันถึงภาวะที่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่

10. สัญญาเวทยิตนิโรธสมาปัตติสุข- สุขเนื่องด้วยสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ อันถึงภาวะที่ดับสัญญาและเวทนาทั้งหมด


ถ้าจะจัดให้ย่อเข้า สุข 10 ข้อนี้ ก็รวมเข้าได้เป็น 3 ระดับ คือ

1. กามสุข - สุขเนื่องด้วยกาม

2. ฌานสุข หรือ (อัฏฐ) สมาปัตติสุข -สุขเนื่องด้วยฌาน หรือ สุขเนื่องด้วยสมาบัติ 8 แยกเป็น 2 ระดับย่อย

2.1 สุขในรูปฌาน หรือสุขเนื่องด้วยรูปฌาน 4

2.2 สุขในอรูปฌาน หรือสุขเนื่องด้วยอรูปฌาน 4

3. นิโรธสมาปัตติสุข สุขเนื่องด้วยนิโรธสมาบัติ


สุขทั้ง 10 ขั้นนี้ ท่านยอมรับว่าเป็นความสุขทั้งนั้น
หากแต่เป็นความสุขที่ดีกว่าประณีตลึกซึ้งยิ่งกว่ากันขึ้นไปตามลำดับขั้น เพราะความสุขขั้นต้นๆมีส่วนเสียหรือแง่ที่เป็นทุกข์แทรกอยู่ด้วยมาก เมื่อเป็นสุขขั้นสูงขึ้นไป ก็ยิ่งประณีตบริสุทธิ์มากขึ้น

ท่านสอนให้มองความสุขเหล่านั้นตามความเป็นจริง ทั้งด้านที่เป็นสุขและด้านที่มี ทุกข์เข้ามาปน คือมองทั้งส่วนดีและส่วนเสีย หรือทั้งแง่ที่เป็นคุณและแง่ที่เป็นโทษ- (เรียกเป็นศัพท์ว่าทั้ง อัสสาทะ และ อาทีนวะ)

นอกจากนั้นยังให้รู้จักทางออก ทางรอดพ้นหรือภาวะเป็นอิสระที่ดีกว่าซึ่งไม่ขึ้นต่อส่วนดี ส่วนเสียนั้นด้วย - (เรียกเป็นศัพท์ว่า นิสสรณะ)

เมื่อเห็นโทษของสุขที่หยาบ ก็จะหน่ายหายติด และโน้มใจไปหาสุขที่ประณีตยิ่งกว่า
เมื่อรู้จัก และได้ประสบความสุขที่ประณีตประจักษ์กับตัวแล้ว ก็จะละความสุขที่หยาบกว่าเสียได้ มุ่งบรรลุสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไปตามลำดับ

อย่างน้อยก็จะไม่มัวเมาหมกมุ่นในสุขที่หยาบนั้นจนเกินไป

เมื่อใดจิตหลุดพ้นเด็ดขาดแล้วตัดเยื่อใยได้สิ้น ก็จะไม่วกเวียนกลับมาหาความสุขที่หยาบอีกต่อไป
คงเสวยแต่สุขที่ประณีตสำหรับจิตที่เป็นอิสระอย่างเดียว

ข้อนี้ก็เป็นลักษณะด้านหนึ่งของความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม

ๆลๆ



จะเห็นได้ในตอนต้นๆแล้วว่า
ผู้ได้สุขในฌานสมาบัติที่วกเวียนกลับมาหากามสุขอีก มีตัวอย่างเป็นอันมาก และหลายท่านได้สุขในฌานสมาบัติทั้งที่ยังอยู่ครองเรือน จึงเสพเสวยสุขทั้งสองอย่างไปด้วยกัน

อย่างไรก็ดี ท่านเหล่านี้ทั้งสองพวกย่อมมีพื้นความพร้อมมากกว่าคนทั่วไป ที่จะสลัดกามสุขและเดินหน้าในการปฏิบัติธรรมที่สูงขึ้นไป


ๆลๆ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 51 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร