Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ทุกข์ทำไม (ชยสาโร ภิกขุ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 15 ธ.ค.2006, 4:19 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ทุกข์ทำไม
โดย ชยสาโร ภิกขุ


อริยสัจสี่ เป็นสัจจะความจริงที่ประเสริฐ เพราะนำปุถุชนผู้หนาด้วยกิเลสไปสู่ความประเสริฐได้ เราต้องการอะไรจากชีวิต ? หากประสงค์ หรือมุ่งมาดปรารถนาต่อชีวิตที่เป็นอริยะคือ ชีวิตที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว ความอิจฉาพยาบาท ความซึมเศร้า ความวิตกกังวล และสิ่งเศร้าหมองทั้งหลาย ถ้าเราเห็นว่า ความเป็นอิสระภายใน ความเมตตากรุณาและปัญญา เป็นสิ่งที่น่าพัฒนาเราควรเอาใจใส่เรื่อง อริยสัจ

พระพุทธเจ้าตรัสว่าอริยสัจข้อแรกคือ ทุกข์ เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ การที่พระองค์สอนอย่างนั้นก็เพราะว่าโดยสัญชาติญาณเราไม่อยากทำ (กำหนดรู้) ความทุกข์เกิดขึ้นแล้วเราชอบปฏิเสธบ้าง เอาหัวมุดลงไปในทรายเหมือนนกกระจอกเทศบ้าง หาความสุขทางเนื้อหนังมากลบเกลื่อนความทุกข์เอาไว้บ้าง แต่หนีไม่พ้น ตราบใดที่เรายังไม่รู้ธรรมชาติของทุกข์ก็เหมือนเราหลงในเขาวงกต ถึงจะนั่งพักในที่ร่มเย็นชั่วคราวก็ยังหลงอยู่ดี

ก่อนจะอธิบายเรื่องอริยสัจ ขอทำความเข้าใจเรื่องภาษาสักเล็กน้อย ในภาษาบาลีคำว่า ทุกข์ มีความหายที่กว้างขวางกว่าและลึกซึ้งกว่าในภาษาไทย มีสองแง่หลักคือ

หนึ่ง ความทุกข์ที่เป็นอาการหรือเป็นลักษณะของสิ่งทั้งปวง (ทุกข์ในไตรลักษณ์) และ สอง ความทุกข์ที่เกี่ยวกับหรือเป็นเรื่องของมนุษย์โดยเฉพาะ (ทุกข์ในอริยสัจ)

ขอเปรียบเทียบกับคำว่า ร้อน ความร้อนที่เป็นอาการของธรรมชาติก็อย่างหนึ่ง ความร้อนในใจที่ไม่สบายก็อีกอย่างหนึ่ง ข้อแรกกว้างกว่า และไม่ต้องขึ้นอยู่กับคน

พระองค์ตรัสว่า “สัพเพ สังขารา ทุกขา” สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ เราอาจจะสงสัย เอ...ต้นไม้เป็นทุกข์ได้หรือ ? ก้อนหินเป็นทุกข์ได้หรือ ? แก้วน้ำเป็นทุกข์ได้หรือ ?...ได้ แต่เป็นทุกข์ในความหมายแรกคือ มันทนอยู่ในสภาพเดิมของมันไม่ได้ มีอะไรบีบให้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาหรือว่าพูดอีกนัยหนึ่งว่าสิ่งทั้งหลาย “ขาดเสถียรภาพ”

เพราะฉะนั้น การกล่าวว่าสิ่งที่ไม่มีชีวิตเป็นทุกข์หมายถึงการขาดเสถียรภาพของมัน ท่านให้เราพิจารณาเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเป็นหน่วยรวมของเหตุปัจจัยและส่วนประกอบ เช่น ต้นไม้มีราก แก่น เปลือก กิ่งก้าน ดอกผล เป็นส่วนประกอบ มีดิน แดด ฝน เป็นต้น เป็นปัจจัยภายนอก แมลงกินผลก็กระทบต่อต้นไม้นั้นทั้งต้น ฝนไม่ตกต้นไม้อาจเหี่ยว ลมพัดแรงๆ ต้นไม้นั้นอาจจะล้ม

เมื่อเหตุปัจจัยล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยง สิ่งที่เป็นหน่วยรวมของสิ่งที่ไม่เที่ยงหลายๆ อย่างนั้นก็พลอยไม่เที่ยงไปด้วย และภาวะที่ขาดความมั่นคงหรือขาดเสถียรภาพ ท่านเรียกว่า “ทุกข์” แกงกระหรี่เป็นทุกข์ เพราะพอตักใส่จานแล้วมันพร้อมที่จะเสื่อม สิ่งแรกที่เสื่อมคือความร้อนของมัน ทิ้งไว้ชั่วโมงหนึ่งก็เย็นไม่ค่อยน่าทานเสียแล้ว ถ้าทิ้งไว้วันสองวันมันจะบูด ต้องทิ้ง

ความร้อน ความหอม ฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนประกอบไม่คงทน ทำให้ตัวแกงไม่คงทน ท่านเรียกความจริงนี้ว่า ทุกข์ พระตถาคตจะบังเกิดขึ้นในโลกก็ตาม จะไม่บังเกิดขึ้นในโลกก็ตาม สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันเป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติยังไม่เป็นปัญหา หากทุกข์ในอริยสัจคือความทุกข์ของมนุษย์โดยเฉพาะ ไม่เหมือนทุกข์ในไตรลักษณ์ แต่สืบต่อจากความทุกข์นั้น คือขันธ์ห้าของมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ต้องเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ แต่มนุษย์เราแปลกตรงที่ว่ามีสิ่งที่เรียกว่า อวิชชา ห่อหุ้มจิตไว้ ทำให้เกิดความผิดปกติที่ท่านให้ชื่อว่า ทุกข์ เหมือนกัน แต่เป็น ทุกขอริยสัจ

ท่านแยกความทุกข์นี้ออกมาต่างหากเพราะมีเหตุที่ระงับได้และมีจุดจบซึ่งพระองค์ให้ชื่อว่า นิโรธ ทุกข์ในอริยสัจหมดแล้วมีแต่ทุกข์ในไตรลักษณ์สำหรับชีวิตที่ยังเหลืออยู่ คือ ทุกขเวทนาทางกาย ความแก่ ความเจ็บ และความตาย สำหรับผู้ที่เข้าถึงธรรมแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์แต่ไม่เป็นปัญหา เป็นแค่รสชาติของไตรลักษณ์ที่ทุกคนในโลกรวมทั้งพระอรหันต์ต้องเสวย

ทุกข์ที่เป็นอริยสัจเกิดเพราะจิตที่มี อวิชชา ย่อมกระสับกระส่ายด้วยความทะเยอทะยานอยาก คือ ตัณหา เราจะแปลอวิชชาว่า “ความไม่รู้” อย่างเดียวไม่ได้เพราะอวิชชารวมถึงการ “รู้ผิด” ด้วยคนเราจะอยู่เฉยๆ โดยไม่รู้หรือไม่คิดอะไรเลยไม่ได้ เมื่อเรารู้ไม่จริง อวิชชาจึงหมายถึง ไม่รู้ความจริงและรู้ไม่จริง เมื่อความรู้สึกนึกคิด ค่านิยมที่มีต่อชีวิตของตน โลกทัศน์ ความเชื่อถือ หรือแนวความคิดไม่ลงรอยกับความเป็นจริง ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นปรากฏในลักษณะของความอยากได้ อยากมี อยากเป็นต่างๆ มีผลคือความทุกข์

ความทุกข์ที่เกิดจากอวิชชา เกิดจากการไม่รู้จริง ความทุกข์จากการรู้ไม่จริงเป็นทุกข์ที่แก้ได้ แต่ความทุกข์ที่เป็นไตรลักษณ์ซึ่งเป็นความทุกข์ของสิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ นักปราชญ์ผู้มีปัญญาคือผู้รู้ว่าสิ่งไหนอยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขได้ สิ่งไหนไม่อยู่ในวิสัยที่จะแก้ได้ เพราะถ้าเราแยกไม่ถูก เดี๋ยวเราจะเสียเวลาเหนื่อยกับการพยายามแก้สิ่งที่เราแก้ไม่ได้ ส่วนสิ่งที่แก้ได้กลับไม่มีเวลาแก้หรือไม่คิดที่จะแก้ อะไรคือสิ่งที่เราแก้ไม่ได้ ? ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อาจจะพอบรรเทาได้บ้าง ยืดอายุออกไปบ้าง แต่ในที่สุดแล้วจะต้องยอมรับ



(มีต่อ 1)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 15 ธ.ค.2006, 4:30 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระพุทธศาสนาจึงสอนให้เรายอมดู ยอมรับรู้ ให้เราคอยฝึกเผชิญหน้ากับความจริงของชีวิตโดยเฉพาะกับสิ่งที่เราไม่ต้องการหรือไม่ชอบ ผู้ที่ไม่เข้าใจอาจจะกลัวว่าจะทำให้เรากลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายหรือเปล่า ไม่ใช่...เจตนาของเราคือต้องการมองโลกอย่างรอบคอบ แบบลืมหูลืมตา ดูทุกแง่ดูทุกมุม ไม่ใช่รับรู้เฉพาะแง่มุมที่ถูกใจ หรือที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย ต้องกล้า ไม่อย่างนั้นจะเป็นเหยื่อของความคิดผิดและจะเป็นทุกข์ได้ง่าย เช่นในโรงพยาบาลในต่างประเทศหรือแม้ในเมืองไทยบางแห่ง มีการมองความตายว่าเป็นศัตรู เป็นสิ่งทีต้องสู้ต้องชนะ ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครชนะได้เลย

ในเมืองนอก ใครตายจากมะเร็ง เขามักเขียนประวัติเขาว่า “He lost his battle with cancer หรือ after two years fight with cancer he died” เหมือนกับมะเร็งเป็นศัตรูที่ได้เข้าไปรุกรานเขาอย่างไร้ยุติธรรม ที่เขาได้สู้จนถึงที่สุดแล้วแพ้ไปอย่างวีระบุรุษ นี่คือความคิดผิดที่เกิดจาก การไม่เข้าใจธรรมชาติ หรือการไม่ยอมเข้าใจเกี่ยวกับความตาย หรือความทุกข์ในไตรลักษณ์ จึงกลายเป็นฐานของทุกข์ในอริยสัจ

หลวงพ่อชาเคยสอนศิษย์ของท่านอยู่เสมอว่า แก้วน้ำที่เราใช้ทุกวันแตกแล้ว ให้พิจารณาอย่างนี้บ่อยๆ ฝึกให้เห็นอย่างนี้แล้ว เมื่อมันแตกจริงๆ จิตใจเราจะไม่หวั่นไหว ร่างกายนี้เรายืมธรรมชาติมาใช้ชั่วคราวเท่านั้น ต้องมองว่ามันแตกแล้วเหมือนแก้วน้ำ เราจึงจะไม่ประมาท พวกเราไม่เข้าใจเรื่องนี้ก็ยังไม่รู้อีโหน่อีเหน่

ไปอเมริกาจะเห็นคนแก่อายุ ๖๐ หรือ ๗๐ แต่งตัวเหมือนคนอายุ ๓๐ หรือ ๔๐ ท่อนบนโป๊ใส่กางเกงสั้นก็มี เดินเกี่ยวก้อยกันในที่สาธารณะก็เคยเห็น เขาพยายามพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า เขาไม่แก่ เขาไม่เป็นภาระแก่ใคร เพราะอะไร ? เพราะในสังคมตะวันตกที่เน้นเรื่องกามและงาน คนแก่ดูเหมือนจะเป็นส่วนเกิน สังคมยกย่องความเป็นหนุ่มสาว เพราะฉะนั้นคนแก่จึงต้องพยายามพิสูจน์ว่าฉันไม่แก่จริง นี่คืออาการของวัฒนธรรมที่ยังอ่อนปัญญา ที่ยังไม่ยอมรับเรื่อง ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย

โยมแม่ของอาตมาเองอายุ ๖๐ กว่าแล้ว ไม่เคยเห็นคนตาย ไม่เคยเห็นซากศพ โยมแม่อาตนาอาจจะสิ้นชีวิตลงโดยไม่เคยมีโอกาสจะได้เห็นเว้นแต่ในหนัง เพราะสังคมที่ท่านอยู่ไม่อยากจะรับรู้ต่อความตายในโลกจริง แต่ชอบดูการฆ่าอย่างสยดสยองในโรงหนัง อาตมาก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน

วัฒนธรรมพุทธสอนให้เราอยู่กับความจริง เช่นที่วัดป่านานาชาติของเรา วันไหนมีการเผาศพ ผู้ใหญ่ต้องจูงเด็กเล็กๆ อายุ ๓-๔-๕ ขวบขึ้นไปดูศพบนเชิงตะกอนก่อนเผา เพื่อจะได้รู้ว่าความตายมันเป็นอย่างนี้เอง มันเป็นเรื่องธรรมดา หลวงพ่อชา ท่านย้ำในเรื่องนี้มาก คือท่านบอกว่าก่อนที่เราจะดับความทุกข์ เราต้องรู้จักความทุกข์เสียก่อน เหมือนแม่ทัพต้องรู้จักศัตรูดีก่อนจะได้วางแผนชนะมันได้ ให้เรารู้จักโฉมหน้าของความทุกข์ ความทุกข์อยู่ที่ตรงไหนก็ต้องดับความทุกข์ที่ตรงนั้น ท่านบอกว่าไฟไหม้ตรงไหนก็ต้องดับตรงนั้น อย่าไปดับที่อื่น อย่าพึงอ้างว่าที่นี้ดับไม่ได้หรอก มันร้อนเกินไป ขอดับที่อุ่นๆ ก่อน อย่างนี้เอาตัวไม่รอด วอดวายเลย การปฏิบัติไม่ใช่ยากล่อมใจเพื่อจะได้ลืมสิ่งท่ำกำลังทำให้เราเป็นทุกข์อยู่

เราไม่ได้ภาวนาเพื่อจะหนีจากปัญหา หรือเพื่อเก็บกดปัญหา ตรงกันข้าม เราฝึกให้จิตรู้จักภาวะที่รู้ ตื่นและเบิกบานกับลมหายใจ เป็นต้น เพื่อให้จิตใจมีความสงบสุข เข้มแข็งมั่นคงพอที่จะดูปัญหา คือจิตจะปล่อยวางความยินดียินร้าย หรือความยึดมั่นว่ามีเราหรือของเราตราบใด ก็สามารถเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ตราบนั้น เข้าใจปัญหา รู้ขอบเขตของปัญหา สามารถเห็นเหตุปัจจัยของปัญหาอย่าแท้จริงแล้วคอยแก้ไข ปัญหาภายนอกก็แก้อย่างหนึ่ง ปัญหาภายในก็อีกอย่างหนึ่ง

คนที่ยังไม่มีปัญญามักปฏิเสธว่า “ฉันไม่มีปัญหา” ขั้นต่อไปก็คือ “ฉันมีปัญหา” ขั้นต่อไปก็คือ “ฉันคือปัญหา” ในที่สุดแล้วไม่มีปัญหาจริงๆ แต่การไม่มีปัญหาอย่างคนทั่วไปนี้ไม่ใช่ ต้องพัฒนาให้เห็นปัญหา ยอมรับปัญหา จนกระทั่งเห็นว่าความยึดมั่นถือมั่นในตัวฉันนั่นแหละคือตัวปัญหา ไม่ใช่ว่าฉันมีปัญหา ตอนเรานั่งสมาธิภาวนาแล้วไม่สงบทำอย่างไร อดทน ! อย่าใจร้อน อย่าท้อแท้ เป็นทุกข์บ้างก็ช่างมัน ไม่เป็นไร ในระยะยาวมันคุ้มอยู่หรอก เรากำลังทำงานอยู่ กำลังได้รู้จักกับความทุกข์ของตัวเอง กำลังได้รู้จักสาเหตุของปัญหา เรียกว่าได้กำไร เพียงแต่ว่ายังไม่ค่อยสนุกเท่านั้นเอง เงินเดือนยังไม่ออก ทำไปเรื่อยๆ เอาความทุกข์เป็นบทศึกษาได้ ใจก็ไม่ขุ่นมัว

ในการอบรมลูกศิษย์ลูกหา หลวงพ่อชาท่านมีความสามารถสูง สำหรับชาวต่างประเทศ ท่านเมตตาเลือกคำพูดที่ง่ายๆ สอนผู้ที่ยังพูดภาษาไทยไม่ได้หรือยังพูดได้ไม่กี่คำ คำหนึ่งที่ท่านชอบให้กับพวกพระฝรั่งเรา อาตมาก็ยังจำได้ตราบเท่าทุกวันนี้ คือท่านย้ำเหลือเกินว่า “ทุกข์เพราะคิดผิด” คำนี้ผู้ที่เริ่มเรียนภาษาไทยก็ยังพอเข้าใจ

เราจะรู้อย่างไรว่าเรากำลังคิดผิดหรือคิดถูก เราต้องรู้จักหยุดแล้วดู ในการภาวนา สมถะ คือ หยุด วิปัสสนา คือ ดู การภาวนาต้องการสองสิ่งนี้ คือทั้ง “หยุด” ทั้ง “ดู” ถ้าไม่หยุดก็ดูไม่ชัด เหมือนเราอยากจะดูทิวทัศน์ นั่งในรถที่กำลังวิ่งเร็วก็ดูไม่ชัด ภูเขาทะเลก็เบลอไปหมด ต้องจอดรถเสียก่อนแล้วลงจากรถไปชมวิว

เหมือนกับจิตใจของเรามันกำลังวิ่งก็ดูอะไรไม่ชัด จำเป็นต้องหยุดด้วยพลังสมาธิ เพื่อระงับความคิดฟุ้งซ่านวุ่นวาย ระงับนิวรณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ครอบงำจิตทำให้ดูอะไรไม่ออก หรือดูผิดเพี้ยนจากความจริง มีแต่สมาธิเท่านั้นที่จะระงับนิวรณ์ได้ ทีนี้เราเคยอยู่กับนิวรณ์มานานแล้ว อยู่กับกิเลสตั้งแต่เกิด ถ้าไม่ทำสมาธิ ไม่ฝึกให้จิตพอใจและแน่วแน่อยู่ในปัจจุบัน เราไม่มีทางเข้าใจความหมายของคำว่า กิเลส ว่าเป็น “เครื่องเศร้าหมองแห่งจิต” เพราะไม่มีโอกาสสัมผัสจิตไม่เศร้าหมองเหมือนกับว่าเราเคยอยู่ในแหล่งแออัดตั้งแต่เกิด เลยหลงผิดว่าโลกทั้งโลกเป็นอย่างนี้เอง



(มีต่อ 2)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 15 ธ.ค.2006, 4:47 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า กิเลสไม่ใช่ของตายตัว ไม่ได้อยู่ในจำพวกสิ่งที่ต้องยอมรับ แต่เป็นสิ่งที่จรเข้ามาในใจรา เพราะความประมาทไม่ทำสมาธิจะไม่เข้าใจ หรืออาจจะเข้าใจในระดับสมองระดับความจำ แต่ไม่เห็น ถ้าอบรมจิตจนถึงจุดสงบระงับ เข้าถึงที่วิเวก สงัดจากอารมณ์ สงัดจากการก่อกวนของอารมณ์ เราจึงได้รู้ว่า โอ้ ! นิวรณ์มันเศร้าหมองจริงๆ เหมือนเราเดินขึ้นเขาสูดอากาศบริสุทธิ์เป็นครั้งแรกในชีวิต จึงได้รู้ว่าบ้านที่ตนอยู่แออัดขนาดไหน แต่ก่อนไม่เคยคิดเพราะไม่มีเครื่องวัด ไม่มีสิ่งเปรียบเทียบ แต่ก่อนเราก็ล่มจมอยู่ในอารมณ์ มองไม่เห็นทางออก เพราะไม่รู้จักสิ่งที่ดีกว่า สมาธิ ความสงบทางจิตเป็นเครื่องวัดอารมณ์ เมื่อเราได้ความสงบเป็นมาตรฐาน เราได้เครื่องเปรียบเทียบเราก็รู้จักหยุด หยุดความคิด หยุดการปรุงแต่ง แล้วก็สามารถดู ดูอะไร ? ก็ดูสิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ให้เห็นตามความเป็นจริง

ความทุกข์ทางกาย ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เกิดขึ้นแล้วเราพยายามแก้ไขด้วยยา ทานยาไปตามหน้าที่ แต่ไม่กังวลจนเกินไป ไม่กลัว ไม่น้อยใจ เพราะรู้ดีว่าความเจ็บไข้เป็นเรื่องธรรมดาของสังขาร แม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ยังมีเวทนาทางกาย ตอนพระพุทธองค์ชนมมายุ ๘๐ พรรษา บางครั้งท่านนั่งพิงเสาเหมือนกัน ปวดหลัง บางครั้งพระองค์เอวังให้พระอานนท์เทศน์ต่อ เพราะพระองค์เมื่อยล้า ต้องการพักผ่อน แม้แต่พระตถาคตเองก็ไม่ได้พ้นจากความปวดหลัง ปวดขา ปวดเมื่อย พระองค์ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของสังขาร ส่วนทุกข์ทางใจ ให้เรารู้ทันทีเลยว่า “ทุกข์เพราะคิดผิด” คือทุกข์นี้ก็เรื่องธรรมดาเหมือนกัน แต่เป็นธรรมดาของจิตที่คิดผิด ซึ่งเราแก้ได้ ถ้าเราจำคำว่า “ทุกข์เพราะคิดผิด” นี้ได้ก็จะได้ที่พึ่งทางใจอย่าแท้จริง จะช่วยให้เราได้หยุด แล้วให้เราได้ดูว่าคิดผิดอย่างไร

พูดอีกนัยหนึ่งว่าเราทุกข์เพราะกำลังอยากอะไรอยู่ ไม่อยากก็ไม่ทุกข์ เขาด่าเรา เราเป็นทุกข์ไหม ? เป็นทุกข์เพราะอะไร เป็นทุกข์เพราะเขาด่าเราไหม ? เปล่า...เราเป็นทุกข์เพราะไม่อยากให้เขาด่าเราต่างหาก เมื่อมีความไม่อยากอยู่หรือว่าอยากไม่ให้เป็นอย่างนี้ ไม่อยากที่จะต้องเป็นอย่างนี้ หรืออยากได้อะไรสักอย่าง อยากได้ของที่เราชอบ เมื่อเราไม่ได้ มันเป็นอย่างไรไหม...ทุกข์ใช่ไหม ? ถ้าเราทำใจว่า อะไรก็ได้ มันก็ไม่ทุกข์

เหมือนกับการทานอาหาร คนขี้ทุกข์คิดแต่ว่าอาหารต้องถูกปากฉัน ส่วนผู้มีปัญญาท่านทานด้วยสติ ระลึกถึงผู้ที่ได้อุตส่าห์ทำให้เราด้วยความกตัญญู พยายามทำปากให้ถูกอาหาร อย่างน้อยถึงจะไม่อร่อยก็ไม่ทุกข์เท่านั้น...มันง่ายๆ

ทุกข์เพราะคิดผิดให้จำไว้อย่าลืม เวลาเริ่มจะเป็นทุกข์แทนที่จะไปว่าเขาจะไปโกรธเขาหรือจะไปหงุดหงิดกับเขา ทบทวนที่จิต ถ้าหากว่าจิตใจของเราอยู่กับธรรม เป็นทุกข์ไม่ได้ เป็นทุกข์ไม่เป็น ไม่มีสิ่งใด หรือไม่มีคนใดจะบังคับให้เราเป็นทุกข์ทางใจได้ มันไม่อยู่ในวิสัยของใครที่จะบังคับให้ใครเป็นทุกข์ได้ ถ้าเราไม่ยอมเป็นทุกข์ มีคุณธรรมพอที่จะปกป้องตัวเอง หรือรักษาความทรงตัวของจิตตนไว้ได้

ทีนี้ถ้าเราวิ่งตามกระแสของความอยาก เราก็จะไม่เห็นกระแส แต่จะฝืนกระแสมันก็ไม่อยากฝืน มันลำบาก ดีที่สุดคือ มีกัลยาณมิตรช่วยเราฝืนกระแส หลวงพ่อชาท่านทำหน้าที่นี้ตลอด คือท่านเมตตาให้สิ่งที่เราไม่อยากได้ และไม่ให้สิ่งที่เราอยากได้ เพื่อเราจะได้เห็นจิตใจของตัวเอง และโทษของความคิดผิด

ตอนที่อาตมาไปอยู่กับท่านใหม่ๆ พยายามจะอยู่ใกล้ชิดท่านที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่มีอุปสรรคเรื่องภาษา ก็ดีเหมือนกันทำให้ขยันในการเรียนภาษา ไปอยู่แรกๆ มีปัญหาว่าพระเณรที่เป็นเพื่อนพูดภาษากลางไม่ถนัด ทุกองค์ชอบพูดภาษาอีสาน อาตมาจึงต้องพยายามพูดอีสาน อยากเรียนภาษากลางก็ไม่มีใครสอน เลยสับสนระหว่าง ซ โซ่ กับ ช ช้าง ตั้งนาน พูดภาษาอีสานได้บ้าง ก็ได้รับรางวัลคือหลวงพ่อท่านชม

วันหนึ่งอาตมานั่งถวายการพัด มีชาวบ้านหรือใครมา หลวงพ่อท่านชี้ที่ตัวอาตมา แล้วพูดว่า “องค์นี้บ่เป็นพระฝรั่งเด้...พระลาวเด้...พูดภาษาลาวเก่ง แม่นบ่” อาตมาตอบ “โดยข้าน้อย” “นั่น !...เห็นบ่ล่ะ” โยมทำท่าว่าทึ่ง...แหม ! อาตมาปลื้ม ภาคภูมิใจที่สุดเลย...มีความสุขมาก

แต่พอโยมเค้ากลับไปแล้วนี่ หลวงพ่อเอาฟันปลอมออกมา แล้วก็สั่งอะไรม่รู้ว่า “ช้อน...ซ..ซ..ซ” ฟังไม่รู้เรื่องเลย งงๆ หลวงพ่อใส่ฟัน “ใช้ไม่ได้ สั่งงานอะไรก็ไม่รู้เรื่อง” เราก็ทุกข์ใจ เมื่อกี๊ก็ยกย่องว่าเราเก่ง ทีนี้ก็ว่าเราใช้ไม่ได้ ภายในเวลาไม่กี่นาที

ตอนไปอยู่กับท่านใหม่ๆ ทั้งๆ ที่เราเป็นลูกศิษย์ใหม่ ไม่มีโอกาสพูดกับท่านมาก แต่ในใจรู้สึกใกล้ชิดพอสมควร ท่านพูดคำสองคำเราก็พอใจมีความสุขทั้งวัน แล้วท่านรู้ปีแรกที่ไปจำพรรษาที่วัดนานาชาติ วันหนึ่งเจ้าอาวาสก็พาเราไปกราบหลวงพ่อ คณะสงฆ์วัดนานาชาติปีนั้นมีสัก ๑๐ กว่ารูป ปีนั้นไม่มากเท่าไหร่ หลวงพ่อท่านต้อนรับอยู่ใต้ถุนกุฏิ ทุกองค์ตื่นเต้นมากที่จะได้กราบหลวงพ่อ อาตมาไม่เห็นท่านตั้งเดือนกว่าก็คิดว่าเราจะได้ความอบอุ่น จะได้รับอะไรจากท่านเช่นเคย ท่านก็เริ่มถามเจ้าอาวาส “ชาคโร เป็นอย่างไรการปฏิบัติ” ถามแล้วก็ถามรองเจ้าอาวาสไปตามแถว ถามทุกคนที่อยู่ที่นั่น เว้นแต่เราคนเดียว...แม้แต่มองก็ไม่ได้มองทางเราเลย ไม่ใช่ไม่เห็นนะ...ทุกข์ ๒๐ ปีต่อมาก็ยังช้ำนิดๆ ท่านชอบทำอย่างนี้ คือไม่ให้สิ่งที่เราอยากได้ แต่กลับให้สิ่งที่เราไม่อยากได้ คือให้ดูใจ

หลวงพ่อท่านไม่ต้องการมีบริวารมากๆ ถ้าท่านเห็นพระองค์ไหนติดตัวท่าน...ไม่ให้อยู่แล้ว ส่งไปอยู่ตามสาขา ไม่ใช่อาทิตย์สองอาทิตย์นะ บางทีเป็นปี เรียกว่ารักษาศิษย์ป่วยด้วยยาขม

ตอนหน้าหนาว ทำงานกัน สมัยนั้นไม่ใช่ว่าจะได้ฉันน้ำร้อน (น้ำปานะ) ทุกวันนะ ถ้าเป็นวันพระจึงจะได้ นอกจากนั้นจะได้เฉพาะเวลาทำงาน ได้ยินเสียงตีระฆังทำงานนั้น จิตใจมีความขัดแย้ง ใจหนึ่งไม่อยากทำงาน อยากนั่งสมาธิมากกว่า ใจหนึ่งก็รู้ว่าการทำงานคือการปฏิบัติเหมือนกัน กิเลสบอกว่า...“ไม่เป็นไร เสร็จแล้วจะได้ฉันน้ำร้อนแก้หนาว”

แล้วก็มีอยู่ช่วงหนึ่งปีนั้นเราก็กำลังยกก้อนหินใหญ่ๆ มาวางเป็นแนว เป็นแถว เป็นงานหนักพอสมควร วันหนึ่งทำหลายชั่วโมง แล้วก็พอถึงเวลาที่เคยเลิกฉันน้ำหู sensitive มาก คือได้ยินเสียงสามเณรถือกาน้ำมา กลั๊กๆ (เสียงกระทบของกาน้ำ) แต่ไกลเลย ห้าสิบเมตรก็ได้ยินนะ



(มีต่อ 3)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 15 ธ.ค.2006, 5:01 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

วันนั้นสามเณรก็วางกาไว้ อากาศหนาวมาก เห็นไอออกจากกา “เดี๋ยวจะได้ฉันน้ำร้อนแล้ว...” พระเณรทุกรูปเริ่มชลอแต่หลวงพ่อทำไม่รู้ไม่ชี้ ท่านยกไม้เท้าขึ้นชี้ทำอย่างงั้น ทำอย่างนี้ เราคิดว่าแป๊บเดียวก็เสร็จ แล้วก็จะได้ฉันน้ำร้อน ห้านาที...สิบนาที...ชักสงสัย เอ๊ะ ! ท่านไม่ทราบว่ากามาแล้วหรือเปล่า เอ๊ะแล้วถ้าเราบอกท่านจะเป็นการบังอาจมั๊ย ?...ไม่ ไม่ดีกว่า ก็เลยทำงานต่อ ทีนี้มันก็รู้สึกทรมานใจ เพราะว่า แหม! มันก็เย็นลง เย็นลง แล้วท่านก็ไม่สนใจเลย ท่านก็มองมาทางนี้ มองทุกทิศ เว้นแต่ตรงที่มีกาน้ำ ก็ซักชั่วโมง ชั่วโมงครึ่ง ท่านก็ “โอ๊ะ ! น้ำร้อนมาแล้ว นิมนต์ นิมนต์” มันก็ค้านอยู่ในใจ น้ำร้อนที่ไหนกันล่ะ มันเย็นมานานแล้ว แล้วใจหนึ่งมันก็อยากประท้วง ไม่ฉันหรอกกลับกุฏิเลยดีกว่า ใจหนึ่งก็บอก อย่า ยังดีกว่าไม่ได้ฉันอะไรเลย

หลวงพ่อท่านรู้ ท่านใช้วิธีฝึกคนด้วยการทรมาน ทรมานไม่ใช่เรื่องการให้เป็นทุกข์เปล่าๆ หรอก ท่านต้องการให้เราเห็น อริยสัจ ต้องการให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างทุกข์กับสมุทัย ถ้าเราไม่เชื่อมั่นว่าท่านทำด้วยความเมตตากรุณา เราก็คงไม่ไหวเหมือนกัน แต่เรารู้เราเชื่อว่าที่ท่านทำอย่างนี้เพื่อให้เราเห็นใจตัวเอง เพื่อที่จะได้เข้าใจ

ถ้าเราวางใจถูกตั้งแต่แรกเลย ตอนที่ได้ยินสามเณรถือกาน้ำมา วางใจว่า ฉันก็ดีไม่ฉันก็ดี ก็ไม่มีปัญหา จะทำงานเท่าไหร่ก็ไม่มีทุกข์ใช่มั้ย แต่พอได้ยินเสียงกาน้ำแล้วจิตก็เริ่มปรุงแต่ง เมื่อไหร่จะได้ทาน ก็เพราะเราคิดว่า “เมื่อไหร่จะ” นี่จิตก็ไม่สงบแล้ว ไม่ได้อยู่ในปัจจุบันแล้ว อยู่ในอนาคตพอจิตมันหลุดออกจากปัจจุบันเมื่อไหร่จะเป็นทุกข์ทันที ก็ถ้าหลวงพ่อท่านจะเทศน์ให้เราฟัง เทศน์ทฤษฎีให้เราฟังเรื่องอริยสัจสี่ เราก็คงจะซาบซึ้งในระดับหนึ่ง แต่มันไม่เหมือนการเจอเหตุการณ์อย่างนี้ มันถึงใจจริงๆ นะ

ญาติโยมชอบสงสัยว่า เอ๊ะ...พระฝรั่งไปอยู่กับหลวงพ่อชาใหม่ๆ ไม่พูดภาษาไทย ท่านสอนอย่างไร คำถามนี้เกิดจากความเข้าใจว่าการสอนคือการพูด ที่จริงการพูดก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการสอน

ปีแรกหลวงพ่อชาท่านสอนอย่างไร ? ขอตอบว่าท่านทรมาน...เราอยากได้อะไรท่านไม่ให้ หรือเมื่อเราไม่อยากได้ท่านก็จะให้ อาตมาก็โดนอยู่เรื่อง “ช้อน...” (ชื่อเดิมอาตามคือ ฌอน (Shaun) ท่านชอบเรียกอาตมาว่า ช้อน)

“ช้อน...อยากบวชมั้ย”

“อยากบวชครับ”

“อยากบวชก็ไม่ต้องบวช อยากมันไม่ดีหรอก”

ต่อมาท่านก็ถามอีก “ช้อน...ช้อน...” ท่านยิ้มน้อยๆ นะ เหมือนนายพราน

“ช้อน...อยากบวชมั้ย”

“ไม่เป็นไรครับ”

“เอ่อ...ไม่อยากบวชก็ไม่ต้องบวช”

ในที่สุดเราก็ได้ปัญญา ได้ศัพท์ ศัพท์ที่ยอดเยี่ยมเลย นึกออกมั้ยคำว่าอะไร

“ช้อน...อยากบวชมั้ย”

อาตมาตอบว่า “แล้วแต่ หลวงพ่อครับ”

อื่อ ! ท่านก็ยิ้มพอใจ ลูกศิษย์เข้าใจ ต่อมาก็ใช้คำนี้เป็นประจำเลย อะไรๆ ก็แล้วแต่ครับ แล้วแต่หลวงพ่อครับ นี่ก็เป็นแค่คำพูด แต่ถ้าเราทำใจได้ตามคำพูด อะไรๆ ก็แล้วแต่ แล้วแต่ นี่พระเราก็ใช้กับโยมเหมือนกัน “ท่านอาจารย์อยากได้นั่นมั้ย อยากได้นี่มั้ย” ลูกศิษย์จะถวาย “แล้วแต่ แล้วแต่” คำนี้เป็นคำที่เหมาะกับพระมาก “แล้วแต่โยม” ท่านก็ไม่ให้

พระเราเป็นผู้ระบุ โยมจะทำบุญไม่ใช่หน้าที่พระเราที่จะต้องไปชักชวนให้ทำบุญมากๆ เพื่อจะได้ขึ้นสวรรค์ หรือจะได้สิ่งตอบแทนต่างๆ หน้าที่ของพระคืออนุโมทนานะ แล้วบริโภคสิ่งที่ได้รับด้วยสติ เพื่อประโยชน์แกการประพฤติปฏิบัติ โยมจะทำบุญเท่าไหร่อย่างไรก็แล้วแต่ แล้วแต่โยม โยมทำแล้วพระก็อนุโมทนา

เราต้องกล้าในการปฏิบัติ เราต้องเป็นผู้กล้า กล้าดูความทุกข์เพราะความทุกข์มีเหตุมีปัจจัย ดูความทุกข์วิเคราะห์ความทุกข์ เราจะได้รู้ว่าส่วนไหนต้องแก้ไข วนไหนต้องยอมรับ ส่วนไหนเป็นความทุกข์ทางธรรมชาติ ส่วนไหนเป็นความทุกข์ที่เกิดจากความคิดผิดความถือผิด จงระวังคำว่า “น่าจะ” “ไม่น่าจะ” คนเราจะเป็นทุกข์กับคำนี้บ่อยๆ เพราะเมื่อเราวาดภาพแล้วอย่างนี้ถูก เรามีทิฐิหรือมีความเห็นว่าอะไรมันจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อมันไม่เป็นอย่างที่เราคิดว่ามันน่าจะเป็น...ทุกข์ ถ้าเรามีความแน่ใจว่าเราถูกเขาทำผิด อันนี้ยิ่งเป็นทุกข์ใหญ่ ทำอย่างนั้นผิด

ผู้ที่แน่ใจว่าตัวเองเป็นคนถูกจะเป็นอันตราย อันตรายต่อตัวเอง อันตรายต่อคนอื่น เขามองไม่เห็นตัวเอง เหมือนกับถือว่ามีสิทธิ์ที่จะโกรธคนทำผิด หรือคนชั่ว ไม่น่าจะบาปเหมือนโกรธคนดี บางคนทำความดีแล้วเขายึดมั่นในความดีนั้น เลยไม่ดี บางคนเคยสูบบุหรี่ เลิกสูบบุหรี่แล้วเห็นคนสูบบุหรี่เมื่อไหร่แล้วก็...อื่อ ! มันใช้ไม่ได้ น่าเกลียด หรือถ้าเรามีความหวังดีต่อสถาบัน และมีคนกำลังทำสิ่งที่เสียหายต่อสถาบันนี้ทนไม่ได้ เป็นทุกข์ใช่มั้ย

เราจะต้องรู้ว่าอันนี้มันเป็นตามเหตุ ตามปัจจัย การมองว่าอะไรๆ เป็นว่าตามเหตุตามปัจจัยนั้น ไม่ใช่ว่าปัดไปเฉยๆ นะแต่เป็นอุบายวิธีเพื่อช่วยให้เราได้หยุด หยุดแล้วดูว่าที่มันเป็นอย่างนี้มันเป็นเพราะอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย อะไรบ้างที่อยู่เบื้องหลัง

จิตที่ปกติจะรอบคอบ จิตเร่าร้อน ถึงจะร้อนกับความหวังดีและเป็นห่วงต่อสิ่งที่ดี ก็พร้อมที่จะพลั้งพลาด ผู้ปกครองหรือผู้บริหารต้องระลึกอยู่ในหลักนี้อยู่เป็นประจำ อย่างเช่นระหว่างการเข้ากรรมฐานนี้อาตมาสั่งไม่ให้พูดคุยกัน หากเห็นคนพูดอาตมาจะทำยังไง ก่อนอื่นอาตมาต้องทำใจเย็น มองว่าเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย อย่างเช่น เขามี หิริโอตัปปะ แค่นั้น เขามีสติแค่นั้น เขามีศรัทธาแค่นั้น ความตั้งใจในข้อปฏิบัติมีแค่นั้น อย่างนี้เรียกว่าเห็นตามเหตุตามปัจจัย อารมณ์ก็เลยไม่แปรเปลี่ยนไปในทางอกุศล ไม่คิดน้อยใจว่า “แหม...แค่นี้เขาก็ยังทำไม่ได้ ช่างไม่เคารพครูบาอาจารย์ ไม่เกรงใจเพื่อนเลย” จิตใจจึงรักษาความทรงตัวของมันไว้ได้

การเป็นผู้ปกครอง ต้องมีลูกน้องทำตามคำสั่งบ้าง ไม่ทำตามบ้างใช่ไหม ลูกน้องที่ทำตามคำสั่งทุกอย่างก็หาได้ยากมาก ผู้ใหญ่จึงมักเป็นโรครำคาญและหงุดหงิดบ่อย แล้วก็เสียหลักในการปกครอง ที่ถูกคือมองว่าเป็นไปตามเหตุปัจจัยอะไรบ้าง แล้วพยายามแก้ที่เหตุปัจจัยด้วยจิตใจที่ยอมรับในความอ่อนแอของมนุษย์เรา



(มีต่อ 4)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 15 ธ.ค.2006, 5:03 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ในการปฏิบัติธรรมคือการบริหารตัวเองก็เช่นเดียวกัน อย่างเช่นสติไม่ดี ไม่ดีเพราะอะไร เพราะขาดวิริยะ ขาดศรัทธา มีศรัทธามีวิริยะสมบูรณ์ สติก็จะสมบูรณ์ จึงต้องหาวิธีในการปลูกฝังศรัทธาในคุณค่าของการงดพูดคุยให้มากขึ้น

สติ คืออะไร สติคือความระลึกได้ คือความสามารถระลึกสิ่งที่ควรระลึกในแต่ละกรณี ในแต่ละเหตุการณ์ ส่วนในการทำภาวนา สิ่งที่สติต้องระลึกคือ ระลึกอารมณ์กรรมฐานอยู่ในปัจจุบัน คือผูกจิตไว้กับลมหายใจเป็นต้น ไม่ให้ลืม ไม่ให้เผลอ สติคือไม่ลืม ไม่ลืมอารมณ์กรรมฐาน อีกนัยหนึ่งของสติคือ เรายังต้องระลึกในคำสอน หรือสิ่งที่เราได้สั่งตัวเองไว้ตอนเริ่มภาวนา ต้องระลึกอยู่ในอุบายต่างๆ ที่จะแก้จิตให้ละวางการภาวนา มีการระลึกสิ่งที่เราเคยปลูกฝังไว้ หรือสิ่งที่เราเคยเรียนรู้มาจากอดีต สติจึงระลึกสิ่งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันหนึ่ง กับสิ่งที่เกี่ยวข้องที่เคยเรียนรู้เกี่ยวกับการภาวนาหนึ่ง

สติในลักษณะหรือในแง่ของการระลึกได้นั้นจะอยู่ที่การได้ปลูกฝังหรือการได้ให้ข้อมูลเพื่อสติ คือการยึดข้อมูลมาใช้ทันเหตุการณ์ ในบางครั้งที่เราลืม มันไม่ใช่ว่าบกพร่องอยู่ที่การระลึก แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเราไม่ได้ฝากข้อมูลเอาไว้ตั้งแต่แรก ยกตัวอย่างเช่น หาแว่นตาไม่เจออีกแล้วก็ว่าตัว “แหม ! สติเราแย่มาก”

แต่ที่จริงมันไม่ใช่ปัญหาอยู่ในปัจจุบันนะว่าสติบกพร่อง ปัญหาเกิดตั้งแต่ขณะที่เราวางแว่นไว้ใช่มั้ย ในขณะที่เราวางแว่นไว้อาจกำลังพูดกับคนอื่น สนใจเรื่องอื่นแล้วไม่มีการใส่ใจกับการวางแว่นว่าวางตรงไหน เพราะฉะนั้นเมื่อเราพยายามนึกว่า เอ๊ะ ! เราวางไว้ตรงไหนนะ ก็จำไม่ได้ เพราะไม่มีข้อมูลที่จะดึงมาได้ เราจะดึงข้อมูลได้เพราะว่าฝากข้อมูลไว้ก่อน ถ้าไม่ฝากข้อมูลไว้แล้วสติจะดีขนาดไหนมันก็มีที่จะหยิบมาได้

ฉะนั้น ในปัญหาการขาดสติหรือการมีสติไม่ดี หลงลืมหรือลืมของบ่อย ต้องมาดูที่เหตุปัจจัย เหตุปัจจัยก็คือ ไม่ได้ฝากข้อมูลไว้ หรือข้อมูลไม่ชัดเจน สติจึงระลึกไม่ได้ เมื่อเราทุกข์อย่างไรก็ตามให้เรารู้จักวิเคราะห์ หยุด แล้วเผชิญหน้ากับความทุกข์ ให้ดูความทุกข์ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ คือ “ผู้รู้” ดูความทุกข์ แล้วเหตุปัจจัยของความทุกข์จะค่อยๆ คลี่คลายออกมาให้เราเห็น

เรื่องปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ต้องเข้าใจว่าปัญหาบางอย่างใช้ความคิดก็ได้ผล แต่หลายๆ ปัญหา หยุดคิดถึงจะได้ผล ดูจากประวัติของนักวิทยาศาสตร์ต่างๆ ก็ได้ ส่วนมากทฤษฎีต่างๆ ของเขาจะเกิดเมื่อเขาหยุดคิด อยู่ที่ห้องทดลองและอยู่ทีมหาวิทยาลัย คิด คิด คิด ไม่ออก เหนื่อยกลับบ้านดีกว่า ขึ้นรถเมล์กลับบ้าน อื่อ ! นึกได้

นักวิทยาศาสตร์ชื่อ อาร์คิมิดิซ แช่อยู่ในอ่างแล้วก็ร้องขึ้นมาว่า “ยูริก้า !” ลุกขึ้นวิ่งเปลือยกายไปตามถนน ร้องตะโกน “ได้แล้ว...ได้แล้ว” ดีอกดีใจที่นึกได้ในขณะที่ไม่คิด ทุกวันนี้เราให้คุณค่า ให้ความสำคัญกับความคิดมากเกินไป มองข้ามหรือประมาทในพลังของการไม่คิด คือถ้าจิตเป็นสมาธิแล้วปัญญาก็จะเกิดขึ้นได้

โดยปกติแล้วปัญญาของเรามันก็มีอยู่แล้ว แต่ความคิดผิวเผินทับถมเอาไว้ พอเราเขี่ยๆ ออก เขี่ยๆ ความคิดฟุ้งซ่าน ความคิดผิวเผินออกมา จิตสะอาดขึ้นและความคิดลึกซึ้ง ความคิดที่เข้าถึงความจริงของปัญหามันจะโผล่ขึ้นมาได้ แต่ก่อนปัญญามันขึ้นไม่ได้เพราะมันมีอะไรมาปิดบังเอาไว้

เพราะฉะนั้น ในหลายกรณีที่มีปัญหา คิด คิด คิด จะแก้ คิดไม่ออกนั่นแหละปัญหาไม่ได้อยู่ในวิสัยของความคิดสามัญที่จะแก้ปัญหาได้ ทำจิตใจให้สงบซะ หยุด ! หยุดคิดแล้วก็ดำรงอยู่ด้วยสติ ในภาวะที่หยุดคิดแล้ว เพียงแต่ว่าเพ่งอยู่ที่ปัญหาด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ความคิดสร้างสรรค์มันก็จะเกิดขึ้นของมันเอง...ปัญญาที่เกิดจากสมาธิ

อย่างไรก็ตาม อาตมาไม่ได้ชวนให้ประมาทในประโยชน์ของความคิด มันมีบทบาทสำคัญในชีวิตเรามากทั้งทางโลกและทางธรรม อย่างเช่นเรื่องความอยาก ถ้าเราดูตั้งแต่แรกเลยความทุกข์ทิ่มแทงจิตใจในขณะที่เราอยากได้อะไร ความทุกข์ในการแสวงหา ความวิตกกังวลว่าจะไม่ได้ ความกลัวที่จะไม่ได้ การอิจฉาคนที่ได้แล้ว ถ้าเรามาพิจารณาถึงความทุกข์ในการแสวงหาและความทุกข์ในการรักษาสิ่งที่ได้ ตลอดจนความเศร้าโศกเมื่อเราต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เราได้มา เทียบกับความสุขจากการได้สิ่งที่ต้องการแล้ว มันคงจะช่วยลดความมัวเมาหรือหลงใหลในสิ่งนั้นได้บ้าง ไม่ถึงกับขั้นที่ว่า ไม่ต้องการอะไรเลย แต่อย่างน้อยก็ทำให้การแสวงหาของเราอยู่ในขอบเขตขอบข่ายของศีลธรรมไม่หลงใหลจนเกินไป

การภาวนาเราก็คอยคิดอย่างนี้เรื่อย (คิดหาข้อบกพร่องในสิ่งที่ชวนให้หลงใหล) แต่บางทีเวลาไม่ควรคิด ก็ฝืนคิดวกวน บางทีควรคิดกลับไม่อยากคิด ในกรณีนี้จงพยายามคิด เช่น เรื่องอาหาร เป็นต้น เราก็ไม่ค่อยคิดว่าเมื่อทานลงไปแล้วอาหารมันจะเป็นอาไร ไม่อยากจะคิด แค่ใส่ลงไปในปาก เคี้ยวสองสามครั้งแล้วเอาออกมาดู...แหยะ ! ยิ่งกว่านี้อีกไม่กี่ชั่วโมงอาหารโอชารสนี้มันจะกลายเป็นอะไร

การทบทวนเรื่องนี้มันก็จะช่วยลดความอยากในเรื่องอาหารลงได้ แต่ก่อนเราเห็นอาหารอันนั้นก็น่าอร่อยจัง ไขมันเยอะก็จริง หมอห้าม แต่ชิ้นเดียวคงไม่เป็นไร มาตอนนี้หยุดแล้วบอกว่า นี่นะ ! ขี้ TO BE...ไม่นาน พอเห็นน้ำก็อิ่ม...น้ำนี่ดีนะ เดี๋ยวๆ ก็เป็น...น้ำเยี่ยว จะช่วยแกความรู้สึกหลงใหลเหล่านี้

มันก็ทำให้จิตใจมันคิดอีกแง่หนึ่ง แทนที่จะมองแต่สิ่งที่มันดีงามมันสวย มาคิดกลับกันก็เพื่อให้จิตใจกลับมาสู่ทางสายกลาง หยุดคิด หยุดปรุงแต่งมันจะได้เกิดอะไรอย่างนี้ขึ้นมา มองไม่เหมือนคนอื่นเขามอง กำหนดรู้ความทุกข์ ละความคิดผิด เพื่อทำนิพพานคือ การปลอดทุกข์ให้แจ้งด้วยการเจริญมรรค ด้วยการปฏิบัติตามหลักศีล สมาธิ ปัญญา

โดยสรุปแล้ว่า อริยสัจสี่ มีทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค หน้าที่ก็คือ กำหนดรู้ความทุกข์ ละสมุทัยคือความคิดผิด ทำนิพพาน ความหลุดพ้นให้แจ้ง คือให้เข้าถึง โดยการเจริญมรรค คือการปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์แปดตามหลักไตรสิกขานั่นเอง



>>>>> จบ >>>>>
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง