Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ตายแล้วเกิดก็ไม่ใช่ ตายแล้วสูญก็ไม่ใช่ (พระครูเกษมธรรมทัต) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 23 ธ.ค.2006, 1:25 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตายแล้วเกิดก็ไม่ใช่ ตายแล้วสูญก็ไม่ใช่
พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)

สำนักปฏิบัติกรรมฐาน วัดมเหยงคณ์
ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา



นมตฺถุ รตนตฺตยสฺส ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ขอความผาสุขความเจริญในธรรม จงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ต่อไปนี้จะได้ปรารภธรรมตามหลักคำสอนในทางพุทธศาสนา ขอให้ท่านทั้งหลายได้ตั้งใจฟังด้วยดี

การที่เราต้องปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะการทำกรรมฐานนี่ ก็เพื่อที่จะให้เกิดความรู้แจ้งตามความเป็นจริง เพื่อจะได้ดับทุกข์ ที่จะต้องปฏิบัติธรรมทำกรรมฐานเจริญภาวนา ก็เพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงในชีวิตในสังขารของตนเองหรือของผู้อื่นก็ตาม เมื่อรู้จักตนเองก็รู้จักผู้อื่นด้วย การรู้แจ้งตามความเป็นจริง จึงจะถ่ายถอนกิเลส หรือว่า จึงจะประหารกิเลสได้ ถ้าประหารกิเลสได้ ละกิเลสหมดสิ้นไปจากจิตใจแล้ว จิตใจก็หมดทุกข์ ดับทุกข์ได้ ฉะนั้นการปฏิบัตินี่ ต้องทำให้เกิดปัญญาคือความรู้แจ้งเห็นจริง ที่เรียกว่า วิปัสสนา ซึ่งแปลว่า ความรู้แจ้ง รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงนี่ ตามธรรมดาปุถุชน คือผู้ที่ยังหนาแน่นด้วยกิเลส เรียกว่าเป็นปุถุชนเนี่ย จะไม่รู้ตามความเป็นจริง จะหลงผิดอยู่ เห็นผิด ยึดผิด เรียกว่า เกิดมีวิปลาส วิปลาส แปลว่า ความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ก็ลองดูซิว่า เรามีความเห็นอย่างนี้มั๊ย

๑. มีความเห็นว่าชีวิตเนี่ย ที่มาประกอบเป็นสังขาร ร่างกาย จิตใจ เห็นว่าเป็นของเที่ยง มีความเห็นว่ามันเที่ยง ไม่เห็นมันเปลี่ยนแปลง ไม่เห็นมันเกิดดับเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เห็นตาก็คงที่ หู จมูก ลิ้น อวัยวะ ในร่างกาย จิตใจก็ดี ไม่เห็นเปลี่ยนแปลงตรงไหน เห็นว่าเป็นของเที่ยง อย่างนี้คือความเห็นที่คลาดเคลื่อน

จริงอยู่แม้นว่าเราจะบอกตัวเองว่า มันไม่เที่ยง ร่างกายนี้ เดี๋ยวมันก็แก่ เจ็บ ตาย เพราะว่าผมมันก็หงอก ฟันก็หัก หนังเหี่ยวไม่จีรังยั่งยืนเราบอกว่า เออ...เรารู้แล้วว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง การเห็นอย่างนี้มันยังไม่ใช่เห็นจริง ยังไม่ได้รู้จริงเห็นแจ้ง มันเห็นแบบระยะยาว คือประมวลเอาอดีต อนาคตมาสรุปว่ามันไม่เที่ยง แต่ในปัจจุบันนี้มันต้องเห็นปัจจุบันทุกขณะว่า มันเปลี่ยนแปลงอยู่ ที่นั่งอยู่ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงอยู่ ยืน เดิน นั่ง นอน เห็นความเปลี่ยนแปลง อันนี้เห็นมั๊ยในปัจจุบัน เห็นในขณะปัจจุบันเนี่ย เห็นความเปลี่ยนแปลงมั๊ย ร่างกายมันเปลี่ยนแปลงมั๊ย ไม่เห็นหรอกถ้าไม่มีวิปัสสนาญาณเกิดขึ้น ก็ได้แต่จำเอา ได้แต่รู้แบบฟังมา สรุปเอาเองว่ามันไม่เที่ยง แต่ในใจจริงๆ ก็ยังไม่เห็นหรอก ถ้าไม่ได้เจริญวิปัสสนา

การเห็นที่ว่าไม่เที่ยงนี่ ต้องเห็นเฉพาะปัจจุบัน เห็นเป็นขณะๆ เห็นมันเปลี่ยนแปลงๆๆ อยู่ทุกขณะ ทีละขณะๆ ถึงจะเรียกว่าแห็นแจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง

๒. อีกประการหนึ่ง ก็มีความเห็นว่าเป็นสุข เรียกว่า สุขวิปลาส เห็นว่ามันเป็นสุข เห็นคลาดเคลื่อนว่าเป็นสุข ชีวิตนี้เป็นสุขมั๊ย คนส่วนใหญ่ก็ยังเห็นว่าเป็นสุขอยู่ ญาติโยมก็อาจจะบอกว่า ฉันเห็นแล้ว ฉันรู้แล้วว่ามันเป็นทุกข์ เพราะว่าอายุมากแล้ว ก็เห็นว่ามันเป็นทุกข์ อ้อ...ร่างกายนี้ป่วยเจ็บทรมาน เดี๋ยวปวดตา เดี๋ยวปวดหลัง ปวดขา แน่นอก มันทุกข์ทรมานทุกระยะ อย่างนี้มันก็ยังไม่ได้เห็นทุกข์จริง มันเห็นเพียงแค่ทุกขเวทนา เห็นแค่ทุกขเวทนาว่ามันปวดเจ็บ แต่เห็นแบบผ่านๆ ไป ไม่ได้ใส่ใจดูจริงๆ ก็ยังไม่เชื่อว่าเห็นทุกข์ที่แท้จริง

การเห็นทุกข์ที่แท้จริงนั้น ต้องเห็นไปในปัจจุบันๆ ทุกขณะๆ เห็นทุกข์อยู่ทุกขณะ ทุกข์อีกความหมายหนึ่งี่สำคัญคือ ทุกขสภาวะ หรือทุกขลักษณะ คือความทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ หมายถึงว่ามันเกิดขึ้นแล้ว มันก็ต้องดับไปตั้งอยู่ไม่ได้ ทนอยู่ไม่ได้นะ เห็นมั๊ย เห็นทุกข์อย่างนี้มั๊ย เห็นสภาพที่มันเกิดแล้วก็ต้องดับไป พูดง่ายๆ เห็นความเกิดดับ เห็นสังขารร่างกายจิตใจมีความเกิดดับปรากฎแล้วก็ต้องดับไป เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับไปทุกขณะๆ อยู่นี้ อาการที่มันต้องดับไป อาการที่มันต้องดับไปเนี่ย มันเป็นทุกข์ ตรงนั้นนะ ฉะนั้นทุกข์ที่ว่านี้คือ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ถ้าไม่เห็นตรงนี้เรียกว่ายังไม่เห็นทุกข์ ยังไม่เห็นความเป็นทุกข์ ยังไม่เห็นสังขาร ไม่เห็นชีวิตนี้เป็นทุกข์ ฉะนั้นจะเห็นว่าทุกข์มันก็มาจากความไม่เที่ยงนั่นเองที่มันเกิดดับเนี่ย มันก็คือความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง มันเกิดมันแปรไปๆ ถ้ามันไม่แปร มันก็ไม่ดับ ของอะไรที่มันเกิดแล้ว มันคงอยู่อย่างนั้น มันไม่แปรเปลี่ยนมันก็ไม่ดับ แล้วที่มันเกิดดับ มันจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงนั้นก็คือลักษณะที่ไม่เที่ยง ฉะนั้นไม่เที่ยงเป็นทุกข์มันก็คืออยู่ในที่เดียวกัน

๓. อนัตตา อนัตลักษณะ ความไม่ใช่ตัวตน สภาพที่บังคับบัญชาไม่ได้ เห็นมั๊ย เห็นสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนมั๊ย เห็นสภาพที่บังคับบัญชาไม่ได้มั๊ย อันนี้ตัวสำคัญ ถ้าปุถุชน ก็จะเห็นว่าเป็นตัวตน เห็นว่าชีวิตนี้เป็นตัวตนหรือที่เรียกว่าเรา เรียกว่าเป็นตัวตน คือ มีความรู้สึกว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา ก็ลองตรวจสอบดูว่า มีความรู้สึกอย่างนี้มั๊ย มีความเห็นอย่างนี้มั๊ย มีความรู้สึกว่าเป็นเรามั๊ย ตาของเรา หูเของเรา จมูกของเรา ลิ้นของเรา กาย อวัยวะร่างกายนี้คือของเรา ความปวด ความเจ็บ ความสบาย ไม่สบาย คือเรา นี้คือ อัตตวิปลาส ความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไป เห็นว่าเป็นตัวเรา คือความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เป็นความเห็นผิดอยู่นะ ปุถุชนจะมีความเห็นอย่างนี้ บางท่านก็อาจจะบอกว่า เอ้ ! ฉันรู้แล้วว่าไม่ใช่ตัวตนอะไร แล้วชีวิตนี้ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีเราของเรา เกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้วบังคับบัญชาอะไรไม่ได้ อย่างนั้นมันก็ยังไม่ได้เห็นจริง มันเป็นความคิดนึกเอา เป็นการนึกคิด เป็นการสรุปเอาความ การเห็นอัตตา ความเห็นไม่ใช่ตัวตน ต้องเห็นในปัจจุบัน เห็นเป็นปัจจุบัน ทีละขณะๆๆ เห็นมันบังคับบัญชาไม่ได้ เห็นไม่มีแก่นสาระแห่งความเป็นเราเป็นของเรา อนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน ก็มาจากความเกิดดับ มันก็คือความเกิดดับหรือทุกข์ มาจากทุกข์มันเกิดและมันดับไป บังคับไม่ให้มันเกิดมันก็ยังเกิด บังคับจะไม่ให้มันดับมันก็ดับ ความเกิดความดับมันบังคับไม่ได้ เห็นมั๊ย คืออนัตตา


(มีต่อ 1)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 23 ธ.ค.2006, 1:33 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อนัตตา ก็คือทุกข์นั่นแหละ ทุกข์ก็คือไม่เที่ยงรวมความว่า ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นสิ่งที่อยู่ในที่เดียวกัน เป็นสิ่งที่อยู่ในสิ่งเดียวกัน สิ่งนั้นก็คือ รูปธรรม นามธรรม นั่นเอง

รูปธรรม นามธรรม นั้นนะที่มันเปลี่ยนแปลงไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลงก็คือ มันเกิดมันดับ เรียกว่าเป็นทุกข์ มันเกิดมันดับก็คือ บังคับมันไม่ได้ เป็นอนัตตาสิ่งที่บังคับบัญชาไม่ได้เนี่ยมันก็จะยึดเป็นตัวเราเป็นของเราไม่ได้ รูป นาม เป็นของไม่เที่ยง รูป นาม เป็นทุกข์ รูป นาม เป็นอนัตตา ที่เราสวดกันนะ "รูปัง อนิจจัง" รูปไม่เที่ยง หรือ "นามรูปัง อนิจจัง" นามรูปไม่เที่ยง "นามรูปัง ทุกขัง" นาม รูป เป็นทุกข์ คือทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ "นามรูปัง อนัตตา" นาม รูป เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เราเห็นไหมสิ่งเหล่านี้

บางคนอาจจะเข้าไปเห็นลักษณะความเปลี่ยนแปลงเรียกว่า เห็นอนิจลักษณะเป็นจุดยืนอยู่ บางคนก็เห็นในแง่ของความทุกข์ คือ เกิดดับ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้เป็นทุกข์ปรากฏแล้วดับไป บางคนก็เห็นในแง่ของอนัตตา บังคับไม่ได้

ฉะนั้นสิ่งเดียวกัน รูป นาม อันเดียวกัน มีความเกิดขึ้น มีความเปลี่ยนแปลง มีความเกิดดับนี่ บังคับบัญชาไม่ได้ นี่แหละคือสิ่งที่จะต้องให้เห็นนะ การปฏิบัติธรรม การเจริญกรรมฐาน ก็เพื่อให้เข้าไปเห็น รูป นาม มีลักษณะเปลี่ยนแปลงอยู่เฉพาะหน้าเป็นปัจจุบัน เห็น รูป นาม เป็นทุกข์ คือเกิดดับอยู่ เห็น รูป นาม เป็นอนัตตาบังคับไม่ได้ถ้าเห็นอย่างนี้ ถึงจะเรียกว่าเห็นจริงเห็นแจ้งตามความเป็นจริง ที่เป็นวิปัสสนาอันเป็นตัวปัญญา เห็นอย่างนี้เรียกว่าเป็นปัญญาเห็นรูป เห็นนาม เห็นความเกิดดับเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่คือเรียกว่าปัญญา คำว่าปัญญาก็คือ ความรู้ ความรู้ในที่นี้คือรู้อย่างนี้ เข้าไปเห็นรูป เห็นนาม เกิดดับไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเรียกปัญญา

ต้องเห็นเฉพาะหน้าเรียกว่าเป็นปัจจุบัน อนัตตากำลังเกิดกำลังดับอยู่ต่อหน้าต่อตาอยู่อย่างนี้ทีละขณะๆ ไป จึงเรียกว่าเป็น ภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นจากการเจริญภาวนา เจริญสติติดต่อ ต่อเนื่อง แล้วก็เกิดขึ้น โดยเหตุปัจจัยที่สมควรมันก็เกิด ไม่ได้เกิดจากการนึกคิดเอาเอง

เราก็สามารถนึกคิดเอาเองได้ว่ามันไม่เที่ยงมันเป็นทุกข์มันเป็นอนัตตา คิดเอาเองก็ได้ คิดว่าชีวิตนี้ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไป เป็นทุกข์เป็นอนัตตา บังคับอะไรมันไม่ได้ แต่ว่าไม่มีสติสัมปชัญญะส่อองรู้ ในรูปในนามที่กำลังปรากฏ แต่นั่งคิดนึกเอาอย่างนี้ ไม่ใช่เห็นจริง หรือไม่ใช่ปัญญาแท้ ไม่ใช่เป็นภาวนามยปัญญา เริ่มเป็นจินตามยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการนึกคิด คิดนึกเอา มันก็เป็นปัญญาเหมือนกันนะ คนที่ปฏิบัติไปก็คิดเก่ง มีธรรมขึ้นในใจ คิดทะลุปรุโปร่งเป็นฉากๆ ไปหมด อันนั้นนะไม่ใช่ปัญญาแท้ มันไปเอาเรื่องราว เอาสมมุติ เอาอดีตอนาคต จริงอยู่แม้นจะเข้าไปรับรูปรมัตถ์ รู้รูป นามบ้าง แต่พอรับรู้แล้ว มันก็เอามาคิดนึก ขณะที่คิดนึกนั้นก็ไม่เห็นรูป นาม มันก็มานึกถึง รูป นาม ที่ผ่านไปแล้วดับไปแล้ว เป็นอดีตอนาคต อย่างนี้มันเป็นการนึกคิดเอา ไม่ใช่ภาวนามยปัญญา

หรืออย่างที่เราฟังขณะนี้ เราก็เออ...เข้าใจขึ้นว่า เออ...รูป นามที่ว่าปัญญานั้น ต้องเห็น รูป นาม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ฟังแล้วเข้าใจ ก็เป็นปัญญาเหมือนกัน แต่มันไม่ใช่ปัญญาแท้มันเป็นปัญญาจากการฟัง จากการศึกษาเอา จากการได้เรียนรู้ จากการได้ยินได้ฟัง จากการอ่านอย่างนี้ เขาเรียกว่า สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง อย่างนี้ไม่ใช่รู้จริง ไม่ใช่รู้แจ้ง ละกิเลสไม่ได้ ปัญญาที่เกิดจากการนึกคิด ก็ละกิเลสตัดกิเลสขาดไม่ได้ ต้องเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่คำว่า อัตโนมัติ ไม่ใช่มันบังเอิญขึ้นนะ ไม่ใช่มันบังเอิญ มันต้องประกอบด้วยเหตุปัจจัยที่สมควร คือ ต้องมีสติระลึกรู้อยู่ตรงต่อรูป นาม มีความเพียรสม่ำเสมอพอเหมาะ มีสมาธิพอดีกัน มีความเหมาะสมในการเข้าไปรับรู้ ถูกต้องเป็นกลาง จึงจะเกิดปัญญาชนิดนี้ขึ้น ก็ต้องดำเนินการไปอย่างถูกต้อง อันนี้เราก็ฟังให้เข้าใจ เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้ อ๋อ...ปัญญาที่เป็นความรู้แจ้ง มันไม่ใช่คิดเอานะ

การปฏิบัติก็อย่ามัวไปนั่งคิดเอา ยิ่งคิดไปเท่าไหร่ ก็ยิ่งไกลต่อความเป็นจริงมาก ความจริงกำลังปรากฏอยู่ แต่เราไม่เห็นเลย รูป นาม กำลังปรากฏอยู่ ถ้าคิดแล้วมันก็คือ มองข้ามไปเลยเหมือนกับเรานั่งคุยกับคนอยู่ตรงหน้าแต่เราไม่ได้ดูเขา เราคิดไปถึงคนโน้นๆ คนไหนๆ เราก็ไม่เห็นคนตรงหน้า เหมือนกัน รูป นาม มันเกิดดับอยู่เฉพาะหน้า เป็นปัจจุบัน แต่ไม่ได้ใส่ใจ ไม่ได้สังเกต จิตไปใฝ่ฝันไปคิดอดีตอนาคต มันก็ไม่เห็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า สิ่งทั้งหลายยังคงอยู่ตรงนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมก็คือ หยิบเอาสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าที่ใกล้ๆ คำว่าหยิบในที่นี้ก็คือ การระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ การปฏิบัติธรรมบางทีหาสภาวะไม่เจอ บางคนปฏิบัติไปแล้วไม่มี หาสภาวะไม่เจอ หารูปนามไม่เจอ เอ้...รูป นาม ไปไหน ทั้งๆ ที่มันมีอยู่ตรงหน้า เหมือนกับคนมาอยู่ตรงหน่าใกล้ๆ แต่หาไม่เจอ เพราะเรามองเลยไปที่อื่น

การปฏิบัติธรรมที่ไม่เห็นสภาวะ เพราะว่าไม่รู้ใกล้ ไม่รู้สิ่งที่ปรากฏอยู่ใกล้ ที่ปรากฏอยู่ปัจจุบัน ฉะนั้นสติต้องระลึกรู้สิ่งที่ใกล้ๆ ที่ปรากฏอยู่ คว้าเอาสิ่งที่ใกล้ๆ ถ้าหากว่าเราเข้าใจว่าการปฏิบัติที่จะเข้าถึงความดับทุกข์ จะต้องให้มีปัญญาที่แท้คือ วิปัสสนา ปัญญาที่เห็นรูป นาม เกิดดับเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่คิดไม่ใช่นึกเอา เป็นการรู้เห็นเฉพาะหน้า ที่กำลังเป็นไปอยู่เฉพาะหน้า คำว่าเฉพาะหน้านี้ ก็ไม่ใช่มันมาอยู่ตรงหน้า ไม่ใช่อย่างนั้นนะ เดี๋ยวจะเอาตาไปเที่ยวมองตรงหน้าอยู่ คำว่าเฉพาะหน้า คือมันกำลังปรากฏอยู่ ให้รู้อยู่ กำลังปรากฏ ถ้ามันผ่านไปแล้ว ก็คือคล้ายๆ มันไม่ได้อยู่ตรงหน้าแล้ว ไม่ได้อยู่กับการรับรู้อยู่

อันนี้เมื่อมีปัญญารู้เห็นอย่างนี้ ถ้าเข้าใจก็จะถ่ายถอนการเห็นผิดยึดผิด ที่ยึดว่าเที่ยงมันเป็นสุข มันเป็นอัตตา ตัวตน จิตที่มันรู้แจ้งเข้าใจแล้ว จิตมันก็ถ่ายถอนความยึดถือ ไม่ก่อเหตุปัจจัยที่จะสร้างสรรค์ ประดิษฐ์ให้สืบต่อกันต่อไป มันขาดตอน ที่ชีวิตมันสืบต่อ ที่เราว่า เวียนว่ายตายเกิด เกิดตาย ตายเกิด กันอยู่นี้ คือมันยังเป็นเหตุสืบต่อกันอยู่ เป็นเหตุเป็นปัจจัยสืบต่อกันอยู่ เป็นพืชที่ยังมียางสืบต่อกันไป อันนี้ตัวปัญญาที่เข้าไปรู้แจ้ง จะเป็นตัวตัดขาด ตัดเหตุปัจจัย ตัดตัณหา อันเป็นเหตุให้ขาดลง ทุกข์ก็ดับ คือไม่มีผล ไม่มีรูป นาม ที่จะสืบต่อๆ ไป รูป นาม มันไม่อุบัติสืบต่อๆ ไป ทุกข์ทั้งหลายมันก็ดับลงหมด

เพราะว่าทุกข์มันก็อยู่ที่ตัวรูป นาม รูป นาม มันเกิดขึ้นมาแล้ว ก็เป็นทุกข์ ถ้ารูป นาม มันไม่มี แสดงว่ามันก็ไม่รู้จะทุกข์ตรงไหน เหมือนกับมันไม่มีบ้าน ความเสื่อมของบ้าน ความพังของบ้านมันก็ไม่มี ถ้ามีบ้านขึ้นมา เดี๋ยวมันก็เสื่อม เดี๋ยวมันก็พัง เป็นอย่างนั้น ความที่มันเสื่อมมันพังก็คือความทุกข์ เรียกว่าความทุกข์ของบ้าน ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เหมือนกัน ที่มันเป็นทุกข์ ก็เพราะว่ามันมีชีวิตขึ้น ที่ปวดเข่าก็เพราะมันมีเข่า ที่ปวดหัวก็เพราะมันมีหัว ถ้าจะหายปวดหัวโดยเด็ดขาด จะต้องไม่มีหัวนะ มีหัวเมื่อไรก็ต้องปวดหัว เรียกว่า ทุกข์มันก็อยู่ที่ตัวรูป นาม นี้ ตราบใดที่มันยังมีรูปมีนามอยู่นี่ มันก็เป็นทุกข์ แต่รูป นาม นี่มันก็ไม่ใช่เที่ยงแท้นะ ไม่ใช่ว่ามันตั้งอยู่คงอยู่


(มีต่อ 2)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 23 ธ.ค.2006, 1:41 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ที่เราบอกว่าตายแล้วก็เกิด ความจริงถ้าว่าโดยเนื้อแท้ โดยสภาวะแล้วก็ไม่มีคนตายคนเกิด ไม่มีสัตว์ตายสัตว์เกิด ถ้าอย่างนั้นก็ตายแล้วสูญหรือ ? คนตายแล้วสูญยังไง ? ก็ไม่ใช่อีก สูญก็ไม่ใช่ เกิดก็ไม่ใช่นะ ถ้าเราไปยึดว่าชีวิตนี้เวลาที่ตายลงมันมีสิ่งไม่ตาย เช่นมันมีวิญญาณไม่ตาย วิญญาณก็ออกจากร่างไปหาร่างใหม่ ไปก่อร่างขึ้นใหม่ อย่างเนี้ยเป็นความเห็นที่เรียกว่า เป็นสัตตทิฐิ เป็นความเห็นผิด ว่ามันเที่ยง เห็นจิตวิญญาณเที่ยงแท้ถาวร เป็นของไม่ตาย ว่าร่างกาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย อวัยวะแตกดับอยู่ตลอดเวลา คำว่าแตกดับ ไม่ใช่ว่ามันเที่ยงอยู่แล้วมันติดดับๆ เหมือนกับหลอดไฟ ที่มันเที่ยงแท้ แล้วเดี๋ยวมันก็สว่างเดี๋ยวมันก็ดับ เดี๋ยวมันก็ติด แต่ยังมีหลอดไฟอย่างนี้ มันไม่ใช่อย่างนั้น ที่ว่าดับก็คือมันดับ มันก็หมดสภาพไปเลย เรียกว่า ตาย ตายก็หมด คำว่าตายก็คือ หมดไปเลย สิ้นสุด ที่ว่ามันเกิดก็คือว่าเกิดใหม่ อันใหม่ แล้วก็ดับ ก็คือตายหมดไป หมายถึงว่า จิตเวลามันเกิดขึ้น แล้วตั้งอยู่นิดหนึ่งแล้วก็ดับ ก็หมดไปเลย จิตดวงนั้นก็หมดไปเลย แล้วก็มีจิตอันใหม่เกิดขึ้น ตั้งอยู่นิด ดับ ก็คือหมดไปเลย แล้วก็มีจิตอันใหม่เกิดขึ้นอีก มันเกิดแล้วก็หมดไป เกิดขึ้นแล้วก็หมดไปนี่ ถี่มาก เกิดดับถี่มาก เรียกว่า สันตติ ไม่ได้เที่ยงเลย มันเกิดมันหมดไป เกิดแล้วหมดไปๆๆ

ฉะนั้นขณะที่มีชีวิตอยู่มันอยู่ไม่เที่ยง แล้วเวลาตาย ที่เรียกว่า สัตว์ตายแล้ววิญญาณไม่ตาย มันยังเป็นไป ยิ่งไม่ได้ใหญ่ ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่มันยังตายอยู่ทุกขณะ เกิดตายๆ อยู่ ถ้าคำว่าดับ คือความตาย เกิดตายๆ อยู่ แต่ว่ามันยังเกิดตายอยู่ในรูปนี้ จิตวิญญาณยังเกิด ยังตายอยู่ในรูปนี้ยังอาศัยหทัยวัตถุ ยังอาศัยรูปหัวใจอยู่ในนี้ อันที่ ๑ เกิดดับไป อันที่ ๒ เกิดดับไป อันที่ ๓ เกิดดับไป อันที่ ๔...แต่มันยังอยู่ในนี้ มันยังอาศัยหทัยวัตถุ ยังอาศัยร่างนี้อยู่ แต่มันก็ไม่ใช่อันเดียวกัน เกิดดับๆ สืบต่อๆ กันอย่างนี้

เวลาที่สัตว์ทั้งหลายตายก็คือ พลจิตดวงสุดท้ายมันเกิดแล้วดับลงอันต่อไปมันไม่เกิดที่หัวใจนี้เสียแล้ว มันปุ๊บไปหัวใจอันใหม่ เกิดใหม่แล้วก็ไปเกิดดับๆ ในหัวใจอันใหม่ เป็นชีวิตคนละภพออกไป แต่ก็ไม่เที่ยง เกิดใหม่ก็ไม่เที่ยง ก็ยังเกิดดับๆ อยู่ ส่วนของรูป ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ก็เกิดดับไปด้วยกัน รูปหัวใจก็เกิดดับไม่เที่ยง เวลาที่สัตว์ทั้งหลายตายรูปหัวใจนี้ก็ตายเหมือนกัน รูปหัวใจเกิดจากกรรมเนี่ย มันก็แตกดับ หมดสภาพ จิตวิญญาณมันก็อาศัยต่อไปไม่ได้มันก็จะเกิดดับตรงนี้ไม่ได้ เพราะหัวใจหมดสภาพ แล้วมันก็ไปมีหัวใจอันใหม่ ที่เกิดจากกรรม

ฉะนั้นมันไม่ได้เที่ยง ไม่ได้เที่ยงแท้ แต่มันก็ไม่ได้ขาดสูญ ถึงแม้นว่ามันจะดับหมดสภาพไป มีอันใหม่เกิดขึ้น มันถ่ายเชื้อ ถ่ายทอดกรรมกิเลสส่งต่อกันไป มันจึงไม่ได้เรียกว่าขาดสูญ แม้นมันจะคนละอันกัน จิตคนละจิต รูปคนละรูป แต่มันถ่ายทอดกันไป

เหมือนกับเมล็ดพืช ที่มันคนละเมล็ด แต่มันก็มีเชื้อของชนิดนั้นเหมือนกัน อย่างเราเอาเมล็ดพืช เมล็ดส้มไปปลูก หรือว่าเอาเมล็ดมะม่วงไปปลูก เวลามันขึ้นต้นออกผลมา มันก็คนละอันกันนะ ผลที่ยอด มันคนละอันกับที่ไปเพาะไว้ในดิน แต่มันก็มีเชื้อเป็นพืชชนิดนั้นเหมือนกัน ผลที่ยอด ถ้าเอาไปเพาะลงในดิน มันก็ออกมาเป็นพืชชนิดนั้น แต่มันก็คนละอัน อันนี้เป็นข้ออุปมา เป็นอุปมาส่วนรูปธรรม ส่วนจิตวิญญาณเนี่ยมันไม่ได้มีเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นวัตถุอย่างนั้น มันไม่มีรูปร่างไม่มีสัณฐานอะไร อุปมาเทียบเคียงอย่างนั้น แม้นว่ามันจะดับลง แต่มันก็ถ่ายเชื้อกิเลสที่สะสมนิสัยปัจจัยไป ติดตัวนั้นไป

คนที่เกิดมานิสัยจิตใจไม่เหมือนกัน เพราะว่าภูมิหลังที่สะสมมาไม่เหมือนกัน บางคนเขาก็พัฒนามาเยอะแล้ว เขาก็มีนิสัยจิตใจที่ดีงาม บางคนภูมิหลังไม่ดี ยังไม่ได้พัฒนาอะไรแค่ไหน มันก็นิสัยจิตใจเลวทรามไปตามอำนาจภูมิหลัง มาใหม่ก็มาสะสมอันใหม่อีก จะสะสมอะไรลงไป จะสะสมกิเลสอะไรเพิ่มเติม หรือจะสะสมสมมติปัญญาลงไป ก็ขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิต ว่าจะดำเนินชีวิตถูกต้องไม่ถูกต้องอย่างไร สะสมหนาแน่นลงไป กลายเป็นนิสัย เป็นอุปนิสัย ไปเป็นวาสนาสืบต่อในสันดาน ในขันธสันดาน

คำว่า วาสนา เนี่ยจึงไม่ใช่เป็นคำว่า คนนั้นมีบุญมีกุศล ตามประสาชาวบ้านนะ ชาวบ้านจะเข้าใจว่า ถ้าคนไหนได้ดิบได้ดี เรียกว่าคนนั้นมีวาสนานะ ถ้าอย่างนั้น เรียกว่าเอาภาษาธรรมไปใช้ผิด คำว่าวาสนา หมายถึง สิ่งที่ทำไว้เคยชิน สิ่งที่สะสมไว้ทำจนเคยชิน ติดตัวไปอย่างนั้น แล้วก็แก้ไขไม่ได้ สะสมติดไป อย่างที่เคยเกิด อย่างพระสารีบุตร เคยเกิดเป็นลิงมาหลายร้อยชาติ ธรรมดาลิงก็มีนิสัยกระโดดโลดเต้น ท่านมาบวชแล้วเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านก็อดกระโดดไม่ได้ เวลาไปเจอร่องน้ำร่องอะไรเหมาะใจ ท่านก็โดด อย่างนี้เขาเรียกว่า วาสนา คือสิ่งที่ทำมาจนเคยชินแล้ว

พระอรหันต์ทั้งหมด ยกเว้นพระพุทธเจ้า ละวาสนาไม่ได้ ละกิเลสได้ แต่ละวาสนาไม่ได้ มีพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้น ที่ละทั้งกิเลสและวาสนา ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงเรียบร้อยดีงามทั้งหมดนะ

คำว่า วาสนา ให้เข้าใจว่า คือสิ่งที่ทำไว้จนเคยชินติดมา เรียกว่า วาสนา มันก็มีทั้งดีและไม่ดี วาสนาในทางดีก็มี ในทางไม่ดีก็มี ที่ทำจนเคยชินมา

ส่วนคำว่า ขันธสันดาน คือความสืบต่อกัน ที่มันอยู่ระหว่างจิต ที่มันเกิดดับดวงหนึ่ง แล้วก็มีดวงใหม่ เกิดรูปก็ดี มันเชื่อมต่อกันไปเนี่ย นั่นแหละ มันแฝงเข้ามาในความสืบต่อกันไป รูปเรียกว่า ขันธ์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่มันสืบต่อกันไปเนี่ย มันก็มีตัวเหตุปัจจัย กิเลส กามกิเลส เหล่านี้ เชื่อมสืบต่อไป แม้นว่ามันจะดับไปแล้ว มันก็ส่งต่อ เขาเรียกว่า ในขันธสันดาน อันนั้นให้เข้าใจว่า ชีวิตนี่เป็นสภาพธรรมชาติที่แตกดับไม่เที่ยง

พูดโดยธรรมจริงๆ แล้ว จึงไม่มีคนเกิดคนตายนะ ถ้าเข้าใจว่าจิตวิญญาณนี้ไม่ตาย ไปที่เกิดใหม่นี้ มันเป็นความเห็นสัตตทิฐิ เป็นความเห็นว่าเที่ยง หรือคนบางคนเห็นว่า เออ...ชีวิตนี้ก็แค่นั้น ตายแล้วก็หมดกันไป ที่เกิดใหม่ คนเกิดมาจากท้องแม่ มันก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยของพ่อแม่ คลอดมาก็เป็นอีกคนหนึ่ง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิเลสอะไรในภูมิหลัง ในอดีตแต่อย่างใด ตายแล้วสูญ อย่างนี้ก็เป็นความเห็นผิด ถ้าเห็นว่าตายแล้วเที่ยงแท้ เกิดอย่างนี้ก็เป็นความเห็นผิดว่าเที่ยง

ถ้าจะให้เข้าใจว่าเห็นถูกต้องก็คือ เห็นว่าชีวิตนี้มันก็มีความแตกดับเปลี่ยนแปลง มันยังมีกรรม มีกิเลส มันก็อุบัติขึ้นมาอีก มันก็ไม่ใช่สัตว์ เป็นบุคคลอะไร มันก็เป็นธรรมชาติเหมือนกันแล้วก็ไม่เที่ยง เกิดดับสืบต่อไปๆ จนหมดระยะของภพนั้น มันก็แตกดับมันยังมีกรรม มีกิเลส มีเชื้อ เหตุปัจจัยมันก็ก่อขึ้นมาอีก แล้วก็เกิดดับๆ ต่อๆ ไป อย่างนี้เรียกว่า ความเห็นที่ถูกต้อง


(มีต่อ 3)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 23 ธ.ค.2006, 1:52 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ที่นี้ถ้าหากว่าเรามาพูดโดยสมมุติ พูดโดยบุคลาธิษฐาน พูดแบบเป็นสัตว์เป็นบุคคลเราก็พูดได้ว่า เออ...คนเราเมื่อทำบุญ คือเราพูดเป็นคนนะ เป็นคนเป็นสัตว์ คนเรา บุคคลเรา ทำบุญอย่างนี้ ทำบาปอย่างนี้ ตายแล้วก็ไปเกิดที่นั่นที่นี่ ได้เสวยผลอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้เราพูดแบบ บุคลาธิษฐาน พูดแบบเป็นสัตว์เป็นบุคคล แต่ถ้าพูดเป็นธรรมาธิษฐาน พูดโดยปรมัตถ์ พูดโดยสภาวะแท้ๆ นั้น ไม่มีคนตายคนเกิด ไม่มีสัตว์ตายสัตว์เกิด มีแต่ธรรมชาติ ที่มันประกอบมันประชุม มันแตกดับ มันเป็นปัจจัยสืบต่อกันไปไหลกันไป เปลี่ยนแปลงกันไป แม้นที่มีชีวิตอยู่นี้มันก็ไม่มีคนมีสัตว์ มันเป็นธรรมชาติประกอบขึ้นมา เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นไฟ เป็นลม เป็นอากาศ เป็นวิญญาณ เป็นเหตุเป็นปัจจัย แตกดับเปลี่ยนแปลง อันนี้เรารู้แบบฟัง เข้าใจแบบการฟัง เข้าใจแบบการคิดเอา แต่ยังไม่เห็นจริง มันก็เลยยังละกิเลสไม่ได้ จะให้เห็นจริง ก็ต้องลงมือปฏิบัติ เจริญสติวิปัสสนาลงไป พิสูจน์กันในขณะที่มันกำลังเกิด มันกำลังดับ ในปัจจุบันนี้นะ ก็จะเข้าใจในสิ่งที่กำลังเกิดดับเป็นปัจจุบันนี้ เราก็จะเข้าใจทั้งหมดนั้นนะ

เข้าใจปัจจุบัน มันก็เข้าใจอดีต อนาคต เออ...ปัจจุบันเป็นอย่างนี้ๆ ถ้าปัจจุบันเหตุปัจจัยเหล่านี้ยังมี มันก็เป็นไปต่อไปในอนาคต ไม่ต้องถามเรื่องอนาคต แล้วสิ่งปัจจุบันนี้มันมีมาได้อย่างไร ก็ต้องมีเหตุปัจจัยในอดีต ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยในอดีต มันก็มีผลอย่างนี้มาไม่ได้ มันก็จะล่วงไปรู้อดีต ปัจจุบัน อนาคต โดยการรู้แจ้งในปัจจุบัน เข้าใจรู้จริงในปัจจุบัน

ในเมื่อความเป็นจริงของชีวิตนี้ ไม่ได้เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นตัวตนเราเขา เวลาลงมือปฏิบัติ ก็จะต้องทำให้ถูกต้อง เจริญสติสัมปชัญญะเข้าไปอย่างถูกต้อง จะไประลึกเป็นคนเป็นสัตว์ไม่ได้ จะไประลึกเป็นตัวเป็นตนไม่ได้ จะต้องระลึกไปของแท้ๆ ของสภาพธรรมแท้ๆ เนื้อแท้จริงๆ ที่กำลังปรากฏด้วย แล้วก็ตัวสติสัมปชัญญะ ตัวปัญญานี้ มันก็เป็นธรรมชาติเหมือนกัน มันก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราเหมือนกัน ก็อย่าไปหลงว่า เรากำลังปฏิบัติอยู่ เรากำลังเจริญสติอยู่ เรากำลังมีสมาธิอยู่ ต้องให้เห็นอีกว่า เออ...ตัวที่ระลึกนั้น ก็ไม่ใช่เราเหมือนกัน มันเป็นสักแต่ว่าธรรมชาติ ความสงบไม่สงบนั้น ก็ไม่ใช่เราอีกเหมือนกัน เป็นธรรมชาติ จะลด จะละ จะถอน ความเป็นเราของเราได้ ก็ต้องกำหนดรู้ ต้องเห็นอีกเหมือนกัน ต้องพิจารณาเห็นตัวลักษณะของสติ ของปัญญาของสมาธิ ของความสงบ หรือสภาวะอื่นๆ ก็ดี ต้องพิจารณาเห็นตรงตัวของสิ่งเหล่านี้ จึงจะได้พบว่า อ้อ...มันก็ไม่ใช่เราเหมือนกัน แล้วก็จะพบว่าสิ่งเหล่านี้ก็มีความเกิดดับเหมือนกัน

ความไม่ใช่เรา ดังที่กล่าวแล้ว มันก็มาจากความเกิดดับ มาจากไม่เที่ยง อนัตตา มันก็มาจากความเกิดดับ หรือมันอยู่ที่ความเกิดดับนั้นนะ ความไม่ใช่ตัวตน มันก็อยู่ที่ความเกิดดับ ความบังคับบัญชาไม่ได้ก็อยู่ที่ความเกิดดับ อยู่ที่ความทุกข์ ความเกิดดับก็คือความทุกข์ ทุกข์อยู่ที่ความเปลี่ยนแปลง หรืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็เลยเป็นสิ่งที่อยู่ที่เดียวกันจะเห็นมันเกิดดับ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ต้องให้กำหนดให้ตรงตัว ตรงรูป ตรงนามจริงๆ ถ้าไม่ตรงรูปตรงนามมันก็ไม่เห็น ความเกิดดับมันอยู่ที่ตัวรูปตัวนาม คือรูป นามนี้มันเกิดดับอยู่ตลอดเวลา จิตก็ดี เจตสิกก็ดี รูปก็ดี เวทนา สัญญา สังขาร รวมความก็คือ รูป นาม มันเกิดมันดับอยู่ ถ้ากำหนดระลึกเข้าไปตรงตัวมันบ่อยๆ เนืองๆ ก็ค่อยๆ เห็นมันเกิดดับ

ทีนี้ปัญหาอยู่ที่ว่า หาเจอมั๊ย หารูปหานามเจอไหม กำหนดไปหาไปว่ามันอยู่ที่ไหน รูป นาม มันก็อยู่ในตัวนี้ เวลาหาต้องหาในตัวนี้ก่อนอื่นอย่าปล่อยจิตให้ลอยออกไปข้างนอก ไปคิดภายนอก อย่างนี้หาไม่เจอแน่เอาจิตออกไปข้างนอก ไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไปอะไรต่างๆ อย่างนี้หาไม่เจอแน่ รูป นาม มันประกอบอยู่เป็นชีวิต ที่ว่าเป็นตัวเราเนี่ยมันอยู่ที่นี่

ฉะนั้นต้องพยายามน้อม โอปะนะยิโก พึงน้อมเข้ามาใส่ตน เอาสติสัมปชัญญะเข้ามาคอยรับรู้เข้ามา มันก็จะคอยจะออกไป จิตมันชอบโคจรออกไป ทั้งๆ ที่มันก็อยู่ที่นี่แหละ จิตที่จริงมันไม่ได้ไปไหนหรอก จิตมันก็เกิดดับอยู่ในหัวใจนี้ ในหทัยวัตถุ ในร่างกายนี้ แต่ว่ามันไม่ยอมรับรู้ภายใน มันส่งขยายออกไปภายนอก จิตนี้มันเป็นธรรมชาติที่พิเศษ ตัวมันเองอยู่ในหัวใจ แต่มันไปรับรู้ข้างนอกได้ ไปนึกถึงคนนั้นคนนี้ เรื่องราวอดีต อนาคต มันไปนึก แต่ตัวมันไม่ได้ไปหรอก ตัวมันก็อยู่ที่หัวใจเกิดดับ เกิดดับอยู่ มันมีกระแสแล่นไปอย่างนั้น แต่ตัวมันไม่ได้ไป

ทีนี้เราลดกระแส เราพยายามน้อมกระแสของจิตให้มันกลับเข้ามาภายใน ให้มันมาสัมผัส มาศึกษาพิจารณาในสังขารในร่างกายนี้ ทีนี้เวลามันน้อมกลับเข้ามาแล้วมันก็ไม่ตรงก็ได้ ไม่ตรงรูป ตรงนาม ดูเข้ามาในตัวนี่ อาจจะดูไม่ตรงนามก็ได้ เราไปดูเป็นแขนเป็นขาเป็นท่าทาง เป็นรูปทรงสัณฐาน เป็นความหมายว่า ยืน เดิน นั่ง นอน ไป มา เข้า ออก ใหญ่ เล็ก อย่างนี้ มันก็ไม่ตรงนะ ไม่ตรงตัวรูป นาม แต่มันก็ยังใกล้เข้ามาหน่อย ยังใกล้เข้ามา มานึกถึงแขนถึงขา ถึงท่าทางของกายถึงความหมายว่า ยืน เดิน นั่ง นอน เรียกว่ายังใกล้เข้ามา ใกล้ปรมัตถ์อยู่ แต่มันยังไม่ตรงตัวปรมัตถ์ทีเดียว ยังไม่ตรงรูป นาม นะ

ฉะนั้นถ้าจะให้มันตรง ก็อย่าไปนึก อย่าไปใช้แบบการนึกเอาจะต้องใช้การระลึกเรียกว่า สติ

สติเป็นตัวระลึก ระลึกกับ นึกมันคนละอย่าง นึกนี่มันไขว่คว้า ใฝ่ฝันในสิ่งของภายนอกก็ได้ อดีตก็ได้ อนาคตก็ได้ เข้าไปรู้กันตรงๆ รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ฉะนั้นเวลาปฏิบัติที่จะให้มันตรงรูปตรงนามอย่าไปนึกเอา ใส่ใจระลึกสัมผัสเข้ามาที่กายนี่ ทีนี้บางทีมันนึกเข้าไปโดยไม่รู้ตัว เพราะว่าจิตเรามันชินต่อการนึก มันมีสัญญาความจำ มันชำนาญในการนึก ที่เห็นเป็นรูปร่าง แขนขา ท่าทาง ร่างกาย มันนึกมาเสียมากแล้ว มันจำมา พอน้อมมา จิตมันก็นึกแป๊บเดียว มันก็สร้างประดิษฐ์ได้ทันทีนะ ที่มันเห็นเป็นแขนขา เป็นท่าทาง เป็นรูปร่าง เป็นความหมาย ยืน เดิน นั่ง นอน นั่นนะขบวนการของการนึก มันสำเร็จแล้ว ความจำก็ดี การปรุงแต่ง ตรึกนึก ประดิษฐ์สร้างสมมุติขึ้นมาได้ทันที เรียกว่า จากสิ่งไม่มี สร้างให้มันมีขึ้นมาได้ แล้วก็เกิดความหลง เกิดความความหลงว่าเป็นจริง หลงว่าเป็นจริงขึ้นมา มันเลยต่อไป ก็กลายเป็นตัวเราขึ้นมา เป็นขาของเรา เป็นแขนของเรา เป็นของเที่ยงแท้ไป เป็นสัตว์เป็นบุคคลไปใหญ่

ฉะนั้นจะต้องการให้มารู้แจ้ง ละความเป็นตัวตนต้องเข้าไปสัมผัสของแท้ๆ ของจริงๆ เพราะฉะนั้น เวลาปฏิบัติ อย่าไปนึก ให้ระลึกนะให้ระลึกรู้เท่าทันที่ปรากฏ ให้เข้าใจว่าถ้ามันเป็นภาพ เป็นรูปร่างของกายอย่างนั้นเรียกว่าเป็นมโนภาพแล้ว มันอาจจะไม่ได้เห็นชัดเจน อาจจะเป็นเพียงเงาๆ ของอขน ของมือ ของร่างกาย อย่างนี้นั้น ก็เป็นสมมุติแล้ว ถ้ากำหนดปรมัตถ์แล้ว ต้องไม่เห็นเลย กำหนดมาที่กายนี้ ไม่เห็นว่าร่างกายตนเองนั่งอยู่ ไม่เห็นเป็นแขนขา ท่าทางไม่บอกว่านั่ง แต่ก็ไม่ใช่มันว่าง ไม่ใช่ว่างเปล่า ว่างเปล่าก็เป็นสมมุติอีกเหมือนกัน ต้องมีสภาวะ คือมีความจริงมีธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา ไม่มีการว่างเว้นสักวินาทีเดียว ไม่ใช่ว่าเรานั่งไปแล้วคอยดูว่า เออ...เดี๋ยวมันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ นานๆ ทีก็ เออ...เห็นทีมันไม่ใช่อย่างนั้น มันเกิดอยู่ตลอดเวลา มันเกิดดับของมันตลอดเวลา แต่หาไม่เจอ ก็เพราะว่าเรามองข้างไปข้ามมา รูป นาม ที่อยู่ตรงหน้าอยู่ใกล้ๆ มองไม่เห็น

ฉะนั้นต้องมีความฉลาด ต้องมีความสังเกต มีความฉลาดในการปฏิบัติ มันถึงจะเห็นสภาวะ อย่างเช่นว่า มันนิ่งๆ ไป มันสงบไป ร่างกายแขนขาไม่มี แขนขา รูปร่าง ท่าทางมันไม่มี สมมุติแห่งความเป็นรูปร่างไม่มี เป็นความหมายว่านั่งก็ไม่มี แต่มันไปมีสมมุติอีกอย่างคือ ว่างๆ ไม่มีอะไรเลย เราก็ต้องฉลาด ต้องสังเกตุ ดังที่กล่าวแล้วว่า รู้ตรงที่มันใกล้ๆ ที่มันอยู่เฉพาะหน้า ในความว่าง แต่มันก็มีสภาพรู้อยู่ สภาพรู้ก็คือของจริง เป็นปรมัตถ์

อย่างที่ไปรู้ว่าง และในสภาพรู้นั้น ก็มีอาการสงบ มีสงบบ้าง มีสบายบ้าง มีอิ่มเอิบบ้าง มีความตั้งมั่นบ้าง อย่างนี้คือสภาวะ มันอยู่ใกล้ๆ มันอยู่ที่ตัวมัน อยู่ที่ตัวหานั่นนะ แต่ว่าไม่เจอ เพราะไม่ได้หาที่ตัวของมันมันก็เลยไม่เห็นอะไร หรือแม้แต่ร่างกาย แม้ว่ามันจะไม่มีรูปร่างแขนขาท่าทางแล้ว แต่มันก็ยังมีความรู้สึก อาจจะมีรู้สึกตึงๆ ไหวๆ เบาๆ มีความกระเพื่อมๆ แม้ว่ามันจะเล็กๆ น้อยๆ บางๆ เบาๆ นั่นนะก็เป็นสภาวะให้ระลึกรู้

ไม่ใช่ว่า ไปสงสัยว่าแขนไปไหน ร่างกายไปไหน พอไม่มี ก็เที่ยวไปค้นหา อย่างนี้ก็ถือว่า เราจะกลับเข้าไปสู่สมมุติอย่างเก่า นึกว่าเราจะต้องนั่งให้เห็นเป็นตัวเองนั่งอยู่ พอมันไม่มี ก็เลยเที่ยวไปค้นหา บางคนก็ตกใจ บางคนก็กลัวเนี่ย เพราะว่าไม่เข้าใจ คือเราไม่ทำความเข้าใจว่า ปรมัตถ์จริงๆ รูป นาม ที่แท้จริงเนี่ย มันคือสภาพที่ไม่ใช่เป็นรูปร่าง แขนขา หน้าตาอะไร พูดแบบรวมๆ ก็คือ ความรู้สึกมันเป็นความรู้สึกอยู่ ในความไม่มีรูปร่างสัณฐาน แต่มันมีความรู้สึก ไหวๆ มีปวด มีเจ็บ มีตึง มีสบาย มีคิด มีนึก มีรับรู้ มีสงบไม่สงบ มีความจำได้หมายรู้ ล้วนคือปรมัตถ์ ให้ระบึกรู้ โดยไม่ต้องให้เห็นเป็นแขนขา หน้าตา รูปร่าง สิ่งที่มันเป็นจริง มันมีอยู่แล้ว มันก็น่าจะง่าย เพราะมันไม่ต้องไปนึกอะไรขึ้นมา อย่างเรานึกถึงสมมุติ เราจะต้องพยายามนึกต้องประดิษฐ์ ต้องสร้างขึ้นมา ต้องคิด แต่วิปัสสนานี่ มันง่ายตรงที่ว่า มันไม่ได้ทำอะไร เพียงคอยระลึกสิ่งที่มันมีอยู่นั้นน่ะ มีอยู่เฉพาะหน้า สิ่งที่กำลังปรากฏ ดูไปๆๆ รู้ไปอยู่มรสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ได้ไปล้วงเอาสิ่งที่ไม่มี แต่ดูในสิ่งที่มันกำลังมี กำลังเป็นอยู่นั้นนะ ที่มันกลับยากก็ตรงที่ว่า เราไม่เข้าใจว่าตัวปรมัตถ์จริงๆ มันเป็นอย่างไร มันก็มองข้าม มองข้ามไปข้ามมา ก็เลยไม่เกิดปัญญาอะไร

ฉะนั้น ความสำคัญคือ ต้องทำความเข้าใจเรื่องปรมัตถ์ เรื่องรูป เรื่องนาม เรื่องสภาวะที่เป็นปรมัตถ์ ว่าที่เป็นรูปเป็นนามจริงๆ มันเป็นอย่างไร เราฟังอย่างนี้ก็ยังไม่รู้ ฟังแล้วก็ยังไม่รู้เรื่อง เพราะว่าแค่ฟังนั้นไม่รู้หรอก มันต้องปฏิบัติ พอเราฟังเราจำ แล้วเราก็ลองสังเกตสังกาดู ฟังทบทวนบ่อยๆ เพราะหากไม่ได้ฟังอีก เดี๋ยวมันก็ลืม ฟังไปศึกษาไปพอเข้าใจแล้ว มันก็จะจับหลักถูกเอง

วันนี้คงจะให้ธรรมะเป็นข้อคิดมาพอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขความเจริญในธรรมจงมีแก่ทุกท่านเทอญ

รู้ แล้ว ละ คืออิสระที่สุด



>>>>> จบ >>>>>
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง