Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พุทธศาสนากับทางออกจากบริโภคนิยม (พระไพศาล วิสาโล) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 17 ธ.ค.2006, 8:24 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

พุทธศาสนากับทางออกจากบริโภคนิยม
โดย พระไพศาล วิสาโล

บริโภคนิยมเป็นอุดมการณ์ที่ทรงพลังอย่างยิ่งในโลกปัจจุบัน ชนิดที่สามารถแทรกซึมไปในวิถีชีวิตของคนทุกชาติ ทุกศาสนา ทุกผิวสี และทุกระบอบการเมือง อย่างไม่มีอุดมการณ์ใดจะเทียบเท่าได้ การที่บริโภคนิยมแพร่หลายไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เพียงเพราะมันให้ความสะดวกสบายทางกายและปรนเปรอประสาททั้งห้าเท่านั้น หากยังเป็นเพราะผู้คนเชื่อว่ามันสามารถตอบสนองความต้องการทางจิตใจของเขาได้ นั่นคือสร้างความมั่นคงให้แก่จิตใจ บริโภคนิยมนั้นสัญญาว่าจะให้ความมั่นคงแก่จิตใจหลายระดับ

ระดับพื้นๆ ก็คือ การมีวัตถุที่ช่วยเป็นหลักประกันให้แก่ชีวิต ทำให้รู้สึกมั่นใจในการดำเนินชีวิต เช่น มั่นใจในตนเองมากขึ้นเมื่อได้ใส่นาฬิกาโรเล็กซ์ สวมเสื้อเวอร์ซาเช่ หรือขับรถเบนซ์ ระดับต่อมาก็คือ ทำให้ชีวิตมีคุณค่าและจุดมุ่งหมาย คนเราย่อมรู้สึกไร้ค่า เคว้งคว้าง หากไม่มีจุดมุ่งหมายในชีวิต บริโภคนิยมก้าวมาทำหน้าที่นี้ โดยทำให้ผู้คนถือเอาเงินและวัตถุเป็นจุดหมายของชีวิต เช่น ชีวิตนี้จะต้องรวยให้ได้ เมื่อเรียนจบจะต้องออกรถคันใหม่ และมีบ้านของตัวเองเมื่ออายุครบ 30 ปี เป็นต้น

ความมั่นคงทางจิตใจในระดับที่ลึกลงไป ก็คือการมีตัวตนใหม่ที่พึงปรารถนา มนุษย์ทุกคนย่อมถูกผลักดันด้วยภวตัณหา คือปรารถนาภพใหม่หรือตัวตนที่พึงปรารถนา บริโภคนิยมสนองความต้องการดังกล่าวด้วยการทำให้เชื่อว่า เราสามารถมีตัวตนใหม่ที่พึงปรารถนาได้โดยเพียงแต่เลือกบริโภคให้ถูกเท่านั้น ซึ่งง่ายกว่าการลงแรงฝึกหัดขัดเกลาตน หรือปฏิบัติธรรมตามแนวทางศาสนา

ความมั่นคงในจิตใจระดับที่ลึกที่สุดก็คือ ความต้องการมีตัวตนที่มั่นคงและยั่งยืน ในอดีตความเชื่อเรื่องชาติหน้าหรือการไปอยู่กับพระเจ้าหลังตายแล้ว สามารถสนองความต้องการดังกล่าวได้ และดังนั้นจึงทำให้คนไม่กลัวตายเพราะรู้ว่าตายแล้วก็ยังมีตัวตนสืบเนื่อง แม้ต่อมาผู้คนจะไม่เชื่อว่ามีชาติหน้าหรือพระเจ้า แต่ลัทธิชาตินิยมก็มาทำหน้าที่นี้แทน คือทำให้เราเชื่อว่า แม้จะตายไป แต่ตัวตนของเรายังไม่ขาดสูญ เพราะมีประเทศชาติมาทำหน้าที่สืบต่อตัวตนของเรา ด้วยเหตุนี้ผู้คนจึงยอมตายเพื่อประเทศชาติได้

การมีอนุสาวรีย์ให้แก่คนที่ตายเพื่อชาติ ก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่า "ตัวตายแต่ชื่อยัง" ชื่อเสียงจึงเป็นเสมือนตัวแทนของตัวตนที่สืบเนื่องต่อไปแม้ชีวิตจะหาไม่ แต่เมื่อความเชื่อดังกล่าวเสื่อมคลายลง บริโภคนิยมก็เข้ามาแทนที่ ด้วยการทำให้เราเชื่อว่าตัวตนจะมั่นคงและสืบเนื่องได้ หากเอาตัวตนไปผูกติดกับวัตถุ เพราะวัตถุมีลักษณะอาการที่มั่นคงและยั่งยืน ยิ่งมีคฤหาสน์ ทรัพย์สินมหาศาล ก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวตนมั่นคงยิ่งขึ้น

ความต้องการดังกล่าวเป็นความปรารถนาส่วนลึก ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นความต้องการทางจิตวิญญาณ ศาสนาทุกศาสนาทำหน้าที่นี้มาตลอด โดยเฉพาะการสร้างความมั่นคงให้แก่จิตใจ เริ่มจากการนับถือพระเจ้าหรือรับเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ต่อมาก็ให้ทำความดี สร้างบุญกุศล เพื่อเกิดความมั่นใจว่าจะแคล้วคลาดจากอันตราย ขั้นต่อมาก็คือการมีสวรรค์ พระเจ้า หรือนิพพานเป็นจุดหมายชีวิต รวมทั้งการฝึกหัดขัดเกลาหรือปฏิบัติธรรมเพื่อยกระดับตัวตนให้สูงขึ้น ยิ่งพุทธศาสนาด้วยแล้ว ก้าวไปถึงขั้นที่พ้นจากเรื่องตัวตน เพราะตัวตนนั้นแท้จริงหามีไม่ ผู้ที่เข้าถึงความจริงขั้นสูงสุด ย่อมหมดสิ้นความปรารถนาที่จะมีตัวตนที่มั่นคงและยั่งยืนอีกต่อไป

การที่บริโภคนิยมแพร่หลายอย่างกว้างขวาง อาจได้กล่าวได้ว่าเป็นเพราะมันเข้ามาทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณ แทนศาสนาต่างๆ ที่เคยมีบทบาทในอดีต รวมทั้งพุทธศาสนาในปัจจุบัน มองในแง่นี้บริโภคนิยมก็คือศาสนาอย่างหนึ่งนั่นเอง ซึ่งมีองค์ประกอบอีกหลายอย่างคล้ายศาสนาทั้งหลาย เช่น มีพิธีกรรม (เที่ยวห้างทุกวันอาทิตย์ ซื้อของขวัญวันปีใหม่) มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (เสื้อผ้าที่มีลายเซ็นดารา หรือของใช้ของนักร้องดัง) มีประสบการณ์ทางศาสนา ที่ทำให้ลืมตัวตน (โดยเฉพาะเมื่ออยู่ท่ามกลางฝูงชนในงานคอนเสิร์ตของนักร้องยอดนิยม) อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้วมันก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้อย่างแท้จริง เป็นเพียงบำบัดความต้องการได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แม้กระนั้นวิธีการที่ง่าย สะดวกสบาย และถูกกับจริตของผู้คนก็เป็นเสน่ห์ดึงดูดใจให้คนทั้งโลกลุ่มหลงศาสนานี้

พุทธศาสนาจะดึงผู้คนออกจากบริโภคนิยมได้ ก็ต่อเมื่อสามารถทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณของผู้คนได้ หรือทำให้ผู้คนเชื่อมั่นว่าพุทธศาสนาเป็นทางเลือกที่ดีกว่าบริโภคนิยมในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าพุทธศาสนาในปัจจุบันไม่ได้ทำหน้าที่ดังกล่าวเท่าที่ควร เพราะคำสอนของพุทธศาสนาที่เผยแผ่ในปัจจุบันนอกจากจะถูกปฏิรูปให้เป็นวิทยาศาสตร์ จนละเลยมิติด้านจิตวิญญาณ โดยเฉพาะในระดับปรมัตถธรรมแล้ว ยังเดินตามบริโภคนิยมด้วยการเน้นเรื่องวัตถุ เช่น การแข่งกันสร้างถาวรวัตถุเพื่อเป็นที่เชิดหน้าชูตาของวัดวาอารามต่างๆ หรือแข่งกันสร้างวัตถุมงคลเพื่อตอบสนองความอยากมั่งมีเป็นเศรษฐี รวมทั้งสอนให้คนสนใจแต่ชีวิตที่ร่ำรวย ขณะที่พระภิกษุสงฆ์ที่เป็นตัวอย่างความเรียบง่าย สันโดษ ก็มีน้อยลง จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ถูกครอบงำด้วยบริโภคนิยมไม่ต่างจากฆราวาส

พุทธศาสนาจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าบริโภคนิยมได้ ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการที่สถาบันสงฆ์หลุดพ้นจากการครอบงำของบริโภคนิยม แทนที่จะเน้นการสร้างถาวรวัตถุ ควรให้ความสำคัญมากขึ้นกับการสร้างคน โดยเริ่มต้นจากภิกษุ สามเณร ให้เข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนา ทั้งโดยปริยัติศึกษาและปฏิบัติศึกษา สมาธิภาวนาที่ถูกละเลยมานาน ควรรื้อฟื้นกลับขึ้นมาใหม่ให้สมสมัย เพื่อให้ภิกษุสามเณรมีความสุขกับเนกขัมมปฏิปทา และเจริญมั่นคงในชีวิตพรหมจรรย์ การปกครองคณะสงฆ์จะต้องเอื้อต่อการจัดวางการศึกษาตามนัยนี้ด้วย มิใช่สนับสนุนพระสงฆ์ที่มีผลงานด้านก่อสร้าง หรือมุ่งใช้อำนาจในการควบคุมพระภิกษุสงฆ์อย่างเดียว

ขณะเดียวกัน สถาบันสงฆ์ก็ควรเข้าไปมีบทบาทช่วยเหลือชุมชน โดยเฉพาะการร่วมกับชุมชนแก้ไขปัญหาศีลธรรมที่กำลังกลายเป็นวิกฤตทั่วประเทศ บทบาทดังกล่าวจะช่วยฟื้นพลังทางศีลธรรมของพระสงฆ์ ให้กลับคืนมา จนสามารถเป็นแรงบันดาลใจในทางคุณงามความดี ยิ่งพระสงฆ์มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย เปี่ยมด้วยเมตตากรุณา และมีความสุขกับชีวิตพรหมจรรย์ ก็ยิ่งจะทำให้ท่านเป็นพลังในทางศาสนธรรม ที่แม้จะเพียงแค่อยู่เฉยๆ ก็สามารถเป็นแบบอย่างที่ชักนำให้ผู้คนตระหนักถึงคุณค่าของความสุขภายใน และเห็นถึงข้อจำกัดหรือความตื้นเขินของความสุขจากวัตถุหรืออามิสสุขมากขึ้น

พลังในทางศาสนธรรมดังกล่าวจะเพิ่มมากขึ้นหากท่านสามารถนำสมาธิภาวนาไปให้ผู้คนได้รู้จักและสัมผัสถึงอานิสงส์ในทางความสงบ ความสงบใจจากสมาธิภาวนาจะช่วยระงับอาการโหยหาความสุขจากวัตถุ และตอบสนองความต้องการในส่วนลึกของจิตใจ ชีวิตที่เข้าถึงความสุขจากภายในและการได้ทำความดี จะช่วยให้ผู้คนตระหนักว่าจุดหมายของชีวิตที่ดีงามนั้น คือ "สงบเย็นและเป็นประโยชน์" หาใช่การสั่งสมวัตถุและสิ่งเสพไม่ ความสุขดังกล่าวยังทำให้จิตใจมีความมั่นคงยิ่งกว่าเดิม ยิ่งสมาธิภาวนานั้นนำไปสู่ปัญญา คือความเข้าใจในสัจธรรมของโลก จิตใจไม่หวั่นไหวหวาดกลัวต่อความผันผวนปรวนแปรหรือความพลัดพรากสูญเสีย เป็นความมั่นคงที่ไม่ต้องอิงอาศัยวัตถุสิ่งเสพหรือทรัพย์สมบัติอีกต่อไป

ถึงที่สุดแล้วปัญญาจากสมาธิภาวนาในพุทธศาสนา สามารถจะทำให้บุคคลก้าวข้ามปัญหาตัวตนไปได้ ความต้องการตัวตนที่มั่นคงและยั่งยืน ซึ่งคอยรบกวนจิตใจอยู่เสมอ และผลักดันให้เอาใจไปอิงแอบวัตถุ ด้วยความสำคัญว่าเป็น "ตัวกู ของกู" ก็จะลดน้อยถอยลง

เพราะตระหนักดีว่า นั่นเป็นการปรุงแต่งของจิต ตัวกู ของกู หรือสิ่งที่เรียกว่า ตัวตน นั้นแท้จริงหามีไม่ ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงไม่มีอะไรที่จะเป็นตัวตนให้ยึดถือได้ การประจักษ์ชัดซึ่งความจริงดังกล่าว ทำให้หลุดพ้นจากเรื่องตัวตน บังเกิดความอิสระอย่างแท้จริง

นี้คือคำตอบที่พุทธศาสนาสามารถให้แก่ผู้คนเพื่อตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณอย่างถึงที่สุด เป็นกุญแจที่สามารถไขไปสู่ความเป็นอิสระจากบริโภคนิยมได้ อย่างไรก็ตาม ศักยภาพดังกล่าวของพุทธศาสนาจะปรากฏเป็นจริงได้ ก็ต่อเมื่อมีการปฏิรูปพุทธศาสนาอย่างจริงจัง โดยไม่ควรจำกัดที่สถาบันสงฆ์เท่านั้น แม้ฝ่ายฆราวาสก็ควรได้รับการปฏิรูปเช่นกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในทางพุทธศาสนา และนำพุทธธรรมมาชี้นำกำกับชีวิตได้ รวมทั้งเป็นเข็มทิศในการช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์



............................................................

หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
คอลัมน์ มองอย่างพุทธ โดย พระไพศาล วิสาโล
วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10508
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 18 ธ.ค.2006, 6:34 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อนุโมทนาบุญค่ะ...คุณ TU

เจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไปนะคะ

ธรรมะสวัสดีค่ะ


ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง