Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 อสุภะกรรมฐานที่ยังให้เข้าถึงพระอนาคามีเป็นอย่างแน่นอน อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
med_med
บัวพ้นดิน
บัวพ้นดิน


เข้าร่วม: 29 ต.ค. 2006
ตอบ: 52

ตอบตอบเมื่อ: 08 ธ.ค.2006, 9:11 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อสุภะกรรมฐาน
ที่ยังให้เข้าถึงพระอนาคามีเป็นอย่างแน่นอน


ถอดเทปหลวงพ่อครับ เรื่องอสุภกรรมฐาน ม้วน 2 หน้า B ชอบครับ เลยถอดเทปเอง


ท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย บัดนี้ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานศีลสมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อไปก็ได้โปรดตั้งใจสดับเรื่องอสุภกรรมฐาน สำหรับอสุภกรรมฐานวันนี้เป็นวันจบ

เมื่อวันที่แล้วมาได้แนะนำท่านทั้งหลาย ให้พยายามใช้การพิจารณาอสุภกรรมฐานให้เป็นกสิณ ถ้าบังเอิญใครเขาจะมาพูดว่าอสุภกรรมฐานเป็นกสิณไม่ได้ ก็จงอย่าเถียงกับเขา ทั้งนี้ก็

แสดงว่าท่านผู้นั้นไม่เคยเจริญอสุภกรรมฐานเป็นฌานเลยเป็นเรื่องของเขา ทีนี้การเจริญอสุภกรรมฐานให้เป็นกสิณ คำว่าอสุภกรรมฐานนี้ แปลว่า จิตตั้งอยู่ในอารมณ์ที่เห็นว่าทุกสิ่ง

ทุกอย่างไม่สวยไม่งาม แล้วก็จงจำภาพของคนตาย ภาพของสัตว์ตายที่มีสภาพเน่าเละให้ปรากฏ แต่ความจริงลักษณะของอสุภกรรมฐานนี้มี ๑๐ อย่าง จะมีอะไรบ้างนั้นของท่านทั้งหลายไปตรวจค้นเอาตามตำราเพราะว่าตำรามีครบแล้ว ชอบแบบไหน ทำแบบนั้น ทำจนกระทั้งให้จิตใจของเราเห็นสภาวะความจำของรูปอสุภคือคนตาย มีสภาพติดใจอยู่เป็นปกติ

แต่เพียงว่าติดใจเท่านี้ยังถือว่าใช้ไม่ได้ ถ้าจะใช้ได้จริงๆ จนกระทั่งมีความรู้สึกว่าเห็นคนก็ดีเห็นสัตว์ก็ดีให้มีสภาพมีความรู้สึกว่าเหมือนสภาพกับศพที่เราเห็น แม้แต่มาพิจารณาตัวเราเองนึกถึงตัวเราเองก็เช่นเดียวกัน มีสภาพเหมือนกับศพที่เราเคยเห็นมา มันเป็นภาระที่น่าเกลียดที่สุด ไม่มีอะไรจะน่ารัก ความรู้สึกแบบนี้ให้เกิดขึ้นทุกขณะจิตที่เรานึกถึงรูป

คือรูปคนหรือว่ารูปสัตว์ หรือว่าเห็นคนหรือว่าเห็นสัตว์ อย่างนี้ชื่อว่ามีอสุภกรรมฐานเป็นฌานทรงตัว และคำว่าทรงตัวนี้ให้มีความรู้สึกอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ว่าคนก็ดีสัตว์ก็ดีไม่มีสภาพจะน่ารักในขันธ์ห้าแต่ประการใด แต่ว่าเราจะรักเขาได้เพราะอาศัยที่มีจิตเมตตาปรานีมีความสงเคราะห์ ปรารถนาสงเคราะห์จะให้เขาเป็นสุขนี่มันด้านหนึ่งคือเป็นธรรมะ ตัวนี้เรารักได้ แต่ว่าเราไม่รักขันธ์ห้าของเขา คิดแต่เพียงว่าในเมื่อเขามีขันธ์ห้าเรามีขันธ์ห้า คำว่าขันธ์ห้าก็คือร่างกาย ในเมื่อสภาวะของร่างกายมีสภาวะเป็นซากศพ แต่ทว่าชีวิตินทรีย์ของเขายังมีอยู่ ความสุขความทุกข์มันยังมีแก่ขันธ์ห้าฉันใด ความปรารถนารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด เรามีความรักความเมตตาสงสารเขาได้ แต่ว่าเราไม่ติดใจในรูปขันธ์ห้าของเขา เห็นขันธ์ห้าของเขาขันธ์ห้าของเรามันเน่าเละไปหมด เมื่อมีอารมณ์จิตเป็นฌานอย่างนี้ การเจริญอสุภกรรมฐาน ถ้าท่านผู้ใดเจริญอสุภกรรมฐานจนมีอารมณ์จิตเป็นฌานอย่างนี้ แล้วก็

อารมณ์จิตของท่านตั้งอยู่ในพระโสดาฯ หรือพระสกิทาฯ ถ้าไปเจริญด้านวิปัสสนาญาณ อย่างนี้ขอพูดตรงๆว่าคนนั้นห่วยเต็มที นี่ภาษาศัพท์พระกรรมฐานเขาไม่พูดกันนะแต่อัตมาพูด ว่าเลวเต็มที ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะอสุภกรรมฐานนี่ถ้าทำจิตเป็นฌาน จนกระทั่งสภาพอารมณ์เป็นอย่างนั้น ถ้าเราน้อมจิตเข้าไปในด้านของวิปัสสนาญาณ อารมณ์แรกที่มันจะเข้าถึง

ก็คือพระอนาคามี นี่เป็นอารมณ์แรกเบื้องต้นนะ โดยมากเขาไม่อยู่กันหรอก ส่วนใหญ่แล้วไม่มีใครตั้งอยู่ในพระอนาคามี ที่มันจะพึงได้จริงๆก็คืออรหัตผล นี่ถือว่าเป็นอารมณ์เล็กจริงๆ แต่ถึงแม้ว่าจะจิตตั้งอยู่ในอารมณ์เล็กคืออนาคามีก็ยังน่าสรรเสริญ ขอได้โปรดจำไว้ว่าถ้าบุคคลใดเจริญอสุภกรรมฐานเป็นฌานแล้ว จนกระทั่งจิตใจมองเห็นคน มองเห็นหรือว่านึกถึง ยิ่งแต่งตัวสวยเท่าไร เก๋เท่าไรก็นึกสงสารมากเท่านั้น รู้สึกว่าเขาเอาอาภรณ์มาพอกสิ่งที่มันเน่าเฟะอยู่ตลอดเวลา เห็นคน เห็นหน้า เห็นผิว ไม่มีความรู้สึกในความยินดีว่ามันสวยงาม เพราะมีสภาพเป็นซากศพ อารมณ์อย่างนี้มันเป็นตัวตัดกามฉันทะเสียแล้ว ความรู้สึกพอใจในเพศไม่มี แต่ว่าจงระวัง ถ้าเอาจิตเป็นฌานโลกีย์ประเดี๋ยวเถอะมันก็โผล่ เผลอไม่ได้ เผลอกิเลสคือกามฉันทะมันโผล่ ฉะนั้นเมื่อท่านทรงจิตเป็นฌาน ฌานนี้ถ้ามันทรงขึ้นมาแล้วปัญญามันดี เอาปัญญาไปใช้อะไรล่ะ ตอนนี้ก็ต้องใช้แบบพระพุทธเจ้า

อย่าถือว่าสูงเกินไปนะ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนใครว่าสูงว่าต่ำ แบบของท่านเป็นแบบสากล จะใช้ได้กับคนทุกคน ท่านไม่ได้ทำมาโดยเฉพาะของท่าน หากว่าท่านทำมาเพื่อของท่านแล้วละก็ ท่านไม่สอนชาวบ้านหรอก คือแบบของพระพุทธเจ้าคืออย่างไรก็คือ 1 ว่าพิจารณาว่าร่างกายของคนนี้มันสกปรก มันมีสภาพเป็นซากศพ เมื่อยังไม่สิ้นลมปราณมันก็สกปรก อย่างนี้เป็นกายคตานุสติกรรมฐาน ร่างกายของคนทุกคนสกปรกทั้งภายในและภายนอก อุจจาระที่อยู่ภายในก็สกปรก ปัสสาวะ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนองทุกอย่างมันสกปรก

แต่ถ้าสิ้นลมปราณแล้วสภาพมันก็เน่าอืดน้ำเหลืองไหลแบบนี้สิ่งที่หลั่งไหลออกมานี้มันมีสภาพสกปรก นี่ว่ากันเรื่องสกปรก ในเมื่อมันสกปรกอย่างนี้การทรงตัวของขันธ์ห้าที่มีอยู่มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถามตัวเองดูซิ จะได้รู้ใจตัวเองว่าใจโง่หรือว่าใจฉลาด การปวดอุจจาระเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ความหิว ความกระหาย หนาวเกินไป ร้อนเกินไป ต้องเหน็ดเหนื่อยในการงานเพื่อหวังจะเลี้ยงชีพเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การมีสามีภรรยา มีเพื่อความโง่หรือมีเพื่อความฉลาด การมีสามีภรรยาเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุขหรือความทุกข์ ถามใจมันเอง ความเจ็บปวดที่เกิดมาในระหว่างร่างกายเกิดขึ้น มีร่างกายประกอบไปด้วยโรค โรคภัยไข้เจ็บ ความแก่เข้ามาถึงตัว ดูความทรุดโทรมของร่างกาย การเคลื่อนไหว การกระทบกับอารมณ์ที่ชอบใจบ้างไม่ชอบใจบ้างมันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถามใจมันดู จะได้รู้ว่าโง่หรือฉลาด ถ้าชาวบ้านที่เขามีความฉลาดและคนที่มีอารมณ์จิตเป็นฌาน ไม่ต้องมานั่งพิจารณาไล่เบี้ยอย่างนี้หรอก อาการทุกอย่างที่มีการเคลื่อนไหวเมื่อทรงกายอยู่มันเต็มไปด้วยความทุกข์ทุกอย่าง อยู่คนเดียวก็ทุกข์ อยู่สองคนก็ทุกข์ อยู่มากคนก็ทุกข์ มากเท่าไรทุกข์เท่านั้น

เพราะว่านิพัทธทุกข์ ความหิวความกระหายมันเป็นทุกข์ ถ้าอยากได้ผัวอยากได้เมียนี่เขาเรียกว่าอยากได้ทุกข์ ทุกข์ที่มันไม่มีที่สิ้นสุด มันจะก้าวขึ้นไปสู่ทุกข์ที่สูงขึ้นตามลำดับ เพราะอะไร ได้ผัวมาคนนึง ได้เมียมาคนนึง ก็ได้คนมาอีกฝูงหนึ่ง การต้องเอาอกเอาใจกับคนอีกฝูงหนึ่งคนก็เพิ่มความทุกข์ขึ้นเป็นฝูงๆ และมีลูกมีหลานมีเหลนออกมามันก็เพิ่มความทุกข์ ไอ้ตัวแก่ามันก็ทุกข์ ความป่วยไข้ไม่สบายมันก็ทุกข์ ความตายที่จะเข้ามาถึงมันก็ทุกข์ เฮ้อ! เลิกกัน ถ้าทุกข์เสียแล้วก็ต้องลาโรง

ในเมื่อสิ่งใดก็ตามถ้ามันหาทุกข์มาให้เรา เราจะปรารถนามันเพื่ออะไร ที่มันมีทุกข์อยู่เพราะอะไร มีทุกข์เพราะร่างกายคือขันธห้า ถ้าเราไม่เกิดมาเป็นคนเสียอย่างเดียวสภาพอย่างนี้มันจะมีกับเราได้ไหม นี่ก็มาลองพิจารณาว่าทำไมมันจึงทุกข์

ทุกข์เพราะตัณหา พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างนั้น ไอ้ตัณหานี่แปลว่าอยาก อยากอะไร อยากมีทุกข์ อยากมีทุกข์มันมาจากไหน ชาติปิทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์ เราอยากเกิด ชราปิทุกขา ความแก่เป็นทุกข์เพราะเราอยากแก่ มรณัมปิทุกขัง ความตายเป็นทุกข์เพราะเราอยากตาย ทำไมจึงอยากเกิด อยากแก่ อยากเจ็บ อยากตาย ก็เพราะว่าเราอยากหาอารมณ์ที่เป็นอกุศล เป็นบ่อเกิดของความเกิด

คือ หนึ่งโลภะความโลภ เราอยากโลภ ตะเกียกตะกายหาที่สิ้นสุดมิได้ ไม่ได้มองดูสภาพของตนว่าไอ้ความโลภที่เราหามาได้ มันจะรวยแสนรวยขนาดไหน มันได้มาจากความทุกข์ แล้วคนที่ตายใครเขาแบกทรัพย์สินไปได้บ้าง แต่ในเมื่อขันธ์ห้าคือร่างกายมันยังทรงอยู่ก็มีความจำเป็น มีความจำเป็นจริงๆที่มันจะต้องหา เมื่อหามาแล้วก็ต้องมีความรู้สึกว่าหาเพื่อประทังชีวิต เป็นการบรรเทาทุกขเวทนา ไม่ใช่ว่ามีเงินตั้งหมื่นล้านแสนล้านแล้วยังไม่รู้จักพอ นั่นแหละตัวบรมโง่ที่สุด เราหามาแล้วทำงานตามหน้าที่ มีสามี มีภรรยา มีบุตร มีธิดา มีหลานมีเหลนมีลูก มันมีขึ้นมาแล้วก็แล้วกันไป เพราะว่ามันมีขึ้นมาได้เพราะอาศัยความโง่ของเราเป็นปัจจัย ถ้าเราไม่โง่เสียอย่างเดียว ไอ้ตัวระยำอย่างนี้มันก็ไม่มี นั่นมีเพราะความอยากคือตัณหาคิดว่าการครองคู่เป็นของดี คิดว่าการมีลูกดี คิดว่าการมีหลานดี ไอ้อารมณ์อย่างนี้มันเป็นอารมณ์จอมโง่

มันโง่แล้วก็แล้วกันไป เราก็เริ่มฉลาดเสียใหม่ คิดว่าการมีร่างกายอย่างนี้อาศัยความโลภเป็นปัจจัย เราจะเลิกกันเสียทีไอ้การมีร่างกายแบบนี้ นี่จะเลิกแบบไหนก็เลิกโลภ ทำมาหากินเป็นปกติ ค้าขายเป็นปกติ รับราชการ เป็นลูกจ้าง ทำไร่ไถนาเป็นปกติ ตามหน้าที่ในฐานะที่มีขันธ์ห้า แต่อารมณ์ของเราจะไม่คดไม่โกงใคร ไม่ตะเกียกตะกายเกินไปให้มันเป็นความทุกข์ มีความรู้สึกอยู่ว่า เมื่อมีขันธ์ห้าแล้วต้องหากินตามหน้าที่ แต่ว่าขันธ์ห้าคือร่างกายของเรานี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันแก่ลงไปทุกวัน ไม่ช้ามันก็จะพัง

นี่ตัดเหตุของความเกิดเสียหนึ่งตัว พูดให้พังย่อๆแบบนี้นะ คิดให้มันยาว คิดให้มันเห็น คิดให้มันซึ้ง ไอ้ตัวโลภนี่หละเป็นตัวเหตุให้เกิดมามีความทุกข์

ตัวที่สองก็คือความโกรธ ไอ้ตัวโกรธนี่เพราะว่าโง่มันจึงโกรธ ฉลาดจะโกรธทำไม ก็คนในโลกที่เกิดมานี้มันไม่มีอิสรภาพ มันเป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรม กิเลสคือความชั่วของจิต ตัณหามีความทะยานอยากได้มาด้วยความโง่ อุปทานยึดถือความชั่วและความโง่เป็นสรณะ อกุศลกรรมเพราะอาศัยมีความชั่วและความโง่เป็นสรณะ มีอุปทานเป็นจุดจับเขาจึงทำกรรม ทำหรือพูดในเหตุของความชั่ว เป็นตัวชั่วจริงๆ ทีนี้ในเมื่ออารมณ์เขามันชั่วอย่างนี้แล้ว ทั้งชั่วทั้งโง่ การกระทำทุกอย่างย่อมไม่เป็นที่ถูกใจของคนดี คือ

ไม่ทำเหตุของความดี ชอบสร้างเหตุของความชั่ว ในเมื่อเราไปกระทบกระทั่งกับคนอารมณ์เลวมีชั่วเป็นสรณะ เราก็ยิ้มๆ

นึกในใจว่าโอ้หนอ เขาทั้งหลายเหล่านี้เป็นคนที่น่าสงสาร เพราะว่าชาตินี้เขาเกิดมาแล้วเขาก็มีทุกข์ เขายังแสวงหาอารมณ์แห่งการเกิดต่อไป ทั้งการทำอะไรที่เป็นที่ขัดใจคน คดโกงเขาก็ดี ประทุษร้ายเขาก็ดี อาการที่ทำอย่างนี้เป็นลักษณะอาการที่สร้างทุกข์ให้เกิดแก่ตัว เพราะว่าไปประกาศตนเป็นศัตรูกับชาวบ้านเขาหมด น่าสลดใจที่เขาไม่แสวงหาความสุข นี่เราคิดว่าในเมื่อเขาเป็นทาสนี่ เขาไม่ได้เป็นไทย เราจะไปโกรธอะไรกับทาส เพราะเจ้านายของเขาบังคับ เจ้านายก็คือกิเลสอารมณ์ของความชั่ว ตัณหาอารมณ์ของความชั่วอยากไม่มีที่สิ้นสุด อุปาทานยึดความชั่วว่าเป็นของดีนี่มันโง่บัดซบ

และอกุศลกรรมการทำไม่ดีอย่างนี้เพราะเจ้านายคือกิเลสบังคับ เรารู้ว่าเขาเป็นคนโง่อย่างนี้ มีเจ้านายคือความชั่วบังคับ เราก็มีอารมณ์ให้อภัย คิดว่าเชิญเถิด อยากจะเลวก็เชิญเลวไปตามอัทธยาศรัย เราจะไม่ยอมเลวด้วย ไม่ช่วยกระพือความเลวของเราให้มันสูงขึ้น เขาจะด่าก็เชิญด่า เขาจะนินทาก็เชิญนินทา ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่าการด่าการนินทาของเขา

มันไม่ศักดิ์สิทธิ คนที่ด่าคน คนที่นินทาคนเป็นคนเลว ในเมื่อเขาอยากเลวก็เชิญเลวไปคนเดียว ดูตัวอย่างองค์สมเด็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงโต้ตอบกับพราหม พราหมสามสี่คนเรียงลำดับกันมาด่าพระพุทธเจ้าต่อหน้าธารกำนัล คือต่อหน้าพระอริยะสาวกนับแสน เมื่อพระพุทธเจ้าถูกด่า ชี้หน้าด่าพระองค์ก็ทรงนิ่ง มีอารมณ์ปกติ ไม่ใช่อดกลั้นใจ ใจเป็นปกติ

เมื่อเขาด่าเสร็จเหนื่อยเต็มแล้ว จึงกล่าวกับองค์สมเด็จพระชินศรีว่าพระสมณโคดม แกแพ้ฉันแล้ว พระพุทธเจ้าถามว่าแพ้ตรงไหน ก็บอกว่าแพ้ที่ฉันด่าแก แกไม่เถียงฉันนะซิ แกไม่ด่าตอบ พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า พราหมนะ ดูก่อนพราหม เราคิดว่าใครด่าเรา แล้วถ้าเราด่าคนนั้นตอบ เราคิดว่าเราเลวกว่าคนที่เขาด่าเราแล้ว นี่ถ้อยคำขององค์สมเด็จพระประทีปแก้วพูดออกไปด้วยอารมณ์ปกติ ไม่มีความโกรธ ในที่สุดพราหมคนนั้นก็คิดได้ว่าเราเลวไปเสียแล้ว จึงได้ขอขมาโทษแด่องค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ขอเป็นพระสาวก พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ละความโกรธเพียงชั่วขณะเดียวท่านก็เป็นอรหัตผล

นี่เห็นไหม นินทาปะสังสา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัส ว่าการจะดีจะชั่วไม่ได้อยู่ที่ปากชาวบ้าน เราจะดีหรือว่าเราจะเลวมันอยู่ที่การกระทำของเราเป็นสำคัญ องค์สมเด็จพระทรงธรรม์ให้อภัยทานได้ฉันใด จิตใจของบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายจงถือเอาตามแบบพระพุทธเจ้า เห็นว่าถ้าเขาด่าเขานินทาเรา เราก็คิดว่าซากศพมันด่ามันนินทาเรา

หากว่าทำอะไรไม่ชอบใจ เราก็คิดว่าศพที่เน่า มันเป็นเรื่องของมันไม่ใช่เรื่องของเรา เราก็ปล่อยใจ มีอารมณ์สบาย ไม่ยึดถืออารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นเป็นสรณะ จิตใจก็เป็นสุข

แค่นี้ เราก็เป็นพระอนาคามี เป็นของไม่ยาก และหลังจากนั้นไปเราก็มานั่งพิจารณาว่า ทุกข์นี้เพราะอาศัยความเกาะเป็นเหตุ เกาะปัจจัยของความทุกข์เราก็ไม่เกาะมันอีก ส่วนที่เราจะพึงได้ต่อไปก็คืออรหัตผล มาน้อมจิตถึงองค์สมเด็จพระทศพลว่าการเป็นอรหันต์มีอะไรบ้างเป็นเหตุ ก็ดูใจความที่องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ทรงตรัสกับพราหม พราหมถามเรียงชื่อของกิเลสหลายสิบอย่าง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่ากิเลสทั้งหมดที่เธอถามมาทั้งหมดนี้จะตัดได้เพราะ หนึ่ง การเห็นว่าร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีเราในร่างกาย ไม่มีร่างกายมในเรา เพราะว่าร่างกายนี้มันเป็นธาตุสี่ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ มาประชุมกัน แบ่งอาการออกเป็นสามสิบสองอย่างที่เรียกว่าอาการสามสิบสอง

ทุกอย่างเต็มไปด้วยความสกปรก ร่างกายเป็นโรคนิทธัง มันเป็นรังของโรค มีร่างกายก็ต้องมีโรค มันจะต้องเปื่อยเน่าเป็นธรรมดา เราถ้ายังมีร่างกายอยู่ ยังยึดถือร่างกายอยู่ คนประเภทนี้หาความสุขมิได้ ถ้าเราวางภาระร่างกายเสียแล้วเมื่อไหร่เมื่อนั่นแหละ เราเป็นสุข ตามที่พระท่านบังสุกุล ว่าอนิจจัง วต สังขารา ซึ่งแปลเป็นใจความว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มันไม่เที่ยงตรงไหน ที่มันเคลื่อนไปหาความทุกข์ทุกวัน มันแก่ลงไปทุกวัน มันทรุดโทรมทุกวัน มันมีอารมณ์ภายนอกมากระทบกระทั่งให้ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้างทุกวัน

ในที่สุดมันก็ตาย อุปปาทะวะยะธรรมมิโน เมื่อมีความเกิดขึ้นแล้วมันก็เสื่อมไป อุปัชชิตะวานิรุชชันติ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปคือมีความตาย ก็หมายความว่ามันไม่เที่ยง ก้าวไปหาความแก่ มันเสื่อมลงไปทุกวันๆ ทั้งในที่สุดมันก็ดับไป ข้อสุดท้ายองค์สมเด็จพระจอมไตรตรัสว่า เตสังวู ปะสะโมสุขโข ขึ้นชื่อว่าเข้าไปสงบกายนั่นชื่อว่าเป็นสุข มันเป็นสุขตอนไหน เป็นสุขตอนที่เราสงบกาย คือใจเราไม่ติดใจขันธ์ห้า ใจของเราไม่ติดในกาย ไม่พอใจคือไม่รักในร่างกายยึดถือมันเป็นสรณะต่อไป มีความรู้สึกว่าร่างกายของเรานี่มันทรุดโทรมไปตามลำดับ ในทื่สุดมันก็พัง เมื่อมันพังแล้ว จิตใจถ้ายังเลวอยู่ก็ถือภพถือชาติต่อไป เราไม่ต้องการ ขึ้นชื่อว่าร่างกายเลวๆอย่างนี้ เป็นร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี วัตถุธาตุใดๆก็ดี อันเป็นสมบัติของโลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ เราไม่ต้องการมันอีก เราต้องการความสุขคืออารมณ์ปกติ อารมณ์ปกติเป็นอย่างไร อารมณ์ที่ยอมรับนับถือกฏของธรรมดา

แล้วก็ไม่ยอมรับนับถือกฏของธรรมดาที่มันจะเป็นเรา เป็นของเราต่อไป กฏธรรมดามีอะไร สมบัติของโลกมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วธรรมดาของมันก็มีการเสื่อม คนหรือว่าสัตว์แก่ลงไปทุกวัน วัตถุธาตุต่างๆ ต้นไม่บ้านเรือนโรงแก่ไปทุกวันเสื่อมไปทุกวัน ค่อยๆทำลายตัวของมันไปเองทุกวัน ทุกขัง ถ้าเราเอาจิตเข้าไปจับว่ามันจะต้องทรงตัวมันก็เป็นทุกข์ หลบทุกข์มันเสีย ธรรมดาของเธอเป็นอย่างนี้ อยากจะเป็นก็เชิญเป็นไปเถิด เธออยากจะแก่ก็เชิญแก่ เธออยากจะป่วยก็เชิญป่วย เธออยากจะตายก็เชิญตาย

เธอกับฉันนี้ขอหย่าขาดจากกันมีชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ขึ้นชื่อว่าร่างกายคือขันธ์ห้าอย่างนี้จะไม่มีสำหรับเราอีก เราไม่มีความปรารถนา เราก็ตัดอารมณ์ความรักในระหว่างเพศ ไปรักหอกอะไรอีก เห็นเป็นซากศพแล้วยังจะรักซากศพมันก็ซวย เราก็ตัดอารมณ์ของความโลภ เมื่อรู้ว่าคนทุกคนมีสภาพเป็นซากศพจะต้องตายในวันหน้า แล้วทำไมจึงจะทะเยอทะยานอยากจะรวย คำว่ารวยในที่นี้หมายความว่าโลภ โลภทะเยอทะยานคดโกงเขา ถ้าหากินในสัมมาอาชีวะไม่ชื่อว่าโลภ แล้วเราก็ไม่ต้องการความโกรธ จะโกรธอะไร คนทุกคนเกิดมาเป็นทาส ถ้าโกรธก็ต้องโกรธเจ้านายที่บังคับบัญชาคือ กิเลส ตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรม เราไม่ยอมคบกับกิเลศคืออารมณ์ของความชั่ว ตัณหาคือความทะยานอยากเกินไป อุปาทาน อารมณ์ที่ยึดถือว่า ความชั่วเป็นของดี อกุศลกรรมการกระทำความชั่วทุกอย่างเราไม่ทำ นี่เรียกว่าเราไม่คบ

อารมณ์จิตของท่านมีเท่านี้ก็ขึ้นชื่อว่าจบกิจพระพุทธศาสนา มีอารมณ์เบามีใจสบายไม่ผูกรัดกับสิ่งใดๆ มีอารมณ์ใจเป็นสุข มีความรู้สึกอยู่อย่างเดียวว่า ทุกอย่างที่เราประสบมันเป็นของธรรมดา จิตใจโปร่งมีความสบาย ตอนนี้เรียกว่า อัพยากฤต คืออารมณ์ของพระนิพพาน

คือใจเป็นสุข เห็นอะไรเกิดมันก็ไม่ทุกข์ สบายใจสดชื่นหรรษา ไม่เกาะหน้าไม่เกาะหลัง คือจิตไม่ติดอยู่ในอารมณ์ของความรักไม่ติดอยู่ในอารมณ์ของความโลภ ความโกรธ และความหลง มีใจโปร่ง มีความสุขที่สุด ในสบายไม่มีอะไรเข้ามาข้องใจแม้แต่นิดเดียว อย่างนี้เป็นอารมณ์ของพระอรหัตผล

เอาละบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนผู้ศึกษา เวลานี้การแนะนำกันก็หมดเวลา แล้วก็แนะนำเข้าถึงอรหันต์พอดีก็จบแต่เพียงเท่านี้ สำหรับต่อแต่นี้ไปขอบรรดาพุทธบริษัททั้งหลายตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น อยู่ในอิริยาบถที่ท่านปรารถนาจนกว่าจะถึงเวลาที่ท่านเห็นว่าสมควร

สวัสดี


ที่มา :: ธรรมบอร์ด
 

_________________
ธรรมได้ก็ไร้ค่า ถ้าไม่ทำ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง