Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พระอรหันต์ไม่สูญจากโลก (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 08 ธ.ค.2006, 12:08 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

พระอรหันต์ไม่สูญจากโลก
โดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ตอบปัญหารายการทไวไลท์โชว์ Twilight Show
แพร่ภาพทางไทย ทีวีสี ช่อง 3 เมื่อวันที่ 5 กรกฏาคม 2541



ผู้ถาม

ท่านผู้ฟังครับนี้คือรายการ ทไวไลท์โชว์ และนี่ก็คือช่วง ทอล์ค โชว์ ของเรา ทอล์ค โชว์ ของเราในวันนี้ ผมถือว่าเป็นเกียรติกับรายการ และเป็นโชคดี เป็นกุศลอันยิ่งใหญ่แก่ท่านผู้ชมเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับชมเรื่องราวของเราในวันนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันนี้ ประเทศชาติของเราได้ประสบกับปัญหาเรื่องของเศรษฐกิจตกต่ำเป็นอย่างยิ่ง หลายๆ ฝ่ายได้ร่วมมือร่วมใจกันช่วยเหลือที่จะให้ประเทศเรารอดพ้นจากภัยเศรษฐกิจตรงนี้ แต่ว่าไม่ใช่เฉพาะคนธรรมดาอย่างพวกเราเท่านั้นที่ร่วมกันช่วยเหลือ ยังมีพระอริยเจ้าอีกองค์หนึ่ง ท่านได้กรุณาช่วยเหลือและได้กรุณาที่คิดจะทำให้ชาตินี้พ้นภัยไปด้วย

ท่านเองได้ปวารณาตัวเองออกมาเพื่อจะช่วยชาติ เกิดเป็นโครงการขึ้นมาชื่อว่า โครงการช่วยชาติ โดย หลวงตาบัว หลวงตาบัวที่เราพูดถึงนี้ก็คือ ท่านพระราชญาณวิสุทธิโสภณ หรือท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ซึ่งวันนี้ท่านได้มาร่วมรายการกับเราแล้ว และวันนี้ก็จะได้สนทนากันในหลายๆ เรื่อง ซึ่งจะเป็นธรรมะอันยิ่งใหญ่กับท่านผู้ชมด้วยนะครับ

ผมต้องขอกราบขอบพระคุณหลวงตาเป็นอย่างยิ่งที่ได้กรุณากับรายการของเรา วันนี้จึงต้องขอกราบเรียนถามหลวงตาในปัญหาหลายๆ ปัญหาที่เป็นปัญหาซึ่งจะเป็นประโยชน์กับชนหมู่ใหญ่ หลวงตาขอรับ เศรษฐกิจชาติบ้านเมืองเป็นอย่างตอนนี้ หลายๆ คนก็มีแต่ทุกข์ ทุกข์ก็หนักขึ้นไป แล้วก็ทุกข์ทั้งกายทุกข์ทั้งใจ อยากจะเรียนถามหลวงตาว่า ทำอย่างไรจึงจะดับทุกข์ตรงนี้ไปได้ขอรับ

หลวงตา

ก็ต้องต่างคนต่างตะเกียกตะกายช่วยเหลือตัวเอง ด้วยความขยันหมั่นเพียร และมีการประหยัดการเป็นอยู่หลับนอนใช้สอยต่างๆ ที่เคยฟุ่มเฟือยมาเป็นประจำในชาติไทยของเรานี้ ให้ลดน้อยถอยลงไปโดยลำดับลำดา ต่างคนต่างปฏิบัติต่อตัวเองด้วยความประหยัดและความขยันหมั่นเพียร นี่ก็เป็นพื้นฐานอันดีที่จะทำให้บ้านเมืองของเราดีขึ้น ทุกข์ของเราก็มีน้อยลง เช่น การประพฤติปฏิบัติตัว ก็อย่าเตร็ดเตร่เร่ร่อนไม่มีสถานีที่จอดแวะ ให้มีสถานีที่จอดแวะด้วยศีลด้วยธรรม

การอยู่การกิน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ว่า ให้รู้จักประมาณในการกินการใช้การสอย ดังแสดงไว้ในหลักธรรมว่า อารักขสัมปทา แรกก็บอกว่า ให้มีความขยันหมั่นเพียรต่อหน้าที่การงานที่ชอบธรรมของตน มีความขยันหมั่นเพียรแล้วก็ให้มีการเก็บการรักษา อย่างสุรุ่ยสุร่าย ท่านว่า สมชีวิตา การเป็นอยู่ปูวายให้พอเหมาะพอสมกับความเป็นอยู่ของตนและครอบครัวของตน อย่าให้สุรุ่ยสุร่ายฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปต่างๆ ซึ่งเป็นความเสียหาย

และการคบค้าสมาคมกับเพื่อนฝูง ก็ให้พึงระมัดระวังว่า คนใดเป็นคนดี คนใดเป็นคนชั่ว ควรคบได้มากน้อยเพียงไรก็ให้ใช้ความพินิจพิจารณาแล้วย้อนมาดูตัวของเราเองว่า เรานี้เป็น คนพาลหรือเป็นบัณฑิตนักปราชญ์ เวลานี้จิตใจของเราเป็นยังไง ความประพฤติของเราเป็นยังไง เป็นความประพฤติที่เป็นพาล เป็นความคิดที่เป็นพาล หรือเป็นความคิดที่ดีที่งาม ที่ท่านเรียกว่าเป็นความคิดของบัณฑิตนักปราชญ์ ก็ให้เลือกเฟ้นภายในของตัวเองว่า เวลานี้เราเป็นพาลชน หรือเป็นบัณฑิตชน

ถ้าเราเป็นพาลชนก็ให้รีบแก้ไขดัดแปลงสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายซึ่งมีอยู่ภายในตัวของเรานี้ ออกไปโดยลำดับ แล้วนำสิ่งที่ดีงามเข้ามาแทนที่ ได้แก่ ความประพฤติดีงามทุกอย่าง อันนี้ก็ทำให้ชาติบ้านเมืองของเราจะมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นไปโดยลำดับ เพราะต่างคนต่างปฏิบัติอย่างนี้ที่เรียกว่าดำเนินตามศีลธรรมสมกับว่าเราเป็นชาวพุทธ คำว่าเป็นชาวพุทธต้องมีแบบมีฉบับ มีธรรมเป็นเครื่องดำเนิน เป็นเครื่องพาอยู่พาเป็นพาไป เรียกว่าเป็นชาวพุทธ ถ้ากิเลสมาเป็นชาวพุทธแทนเสีย สิ่งที่ทำทั้งหลายนี้ก็จะเป็นภัยต่อตนทั้งนั้นไม่มีประมาณ เพราะกิเลสไม่เคยมีประมาณ และเคยเป็นข้าศึกต่อโลกมานานแสนนานแล้ว

แต่ใครๆ ไม่ค่อยจะทราบว่ากิเลสเป็นภัย เพราะกิเลสมีความละเอียดแหลมคมมาก ถ้าไม่ได้ขึ้นปฏิบัติต่อกรกับกิเลสเสียก่อน ก็ไม่ทราบว่าอะไรเป็นภัย พระพุทธเจ้าที่เป็นศาสดาองค์เอกของพวกเราทั้งหลายนั้น ได้ทรงทราบทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งด้านธรรมะ ทั้งด้านกิเลส จึงนำมาสอนโลกทั้งทางโทษและทางคุณโดยสมบูรณ์ทุกแบบ พวกเราทั้งหลายที่เป็นชาวพุทธก็ให้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติตามนี้ เข้าใจไหม

ผู้ถาม

พระคุณเจ้าได้พูดถึงว่า เป็นชาวพุทธต้องอยู่ในศีลในธรรม ชาวพุทธส่วนใหญ่ก็มักจะได้ยินคำนี้อยู่เสมอ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อยากจะเรียนถามพระคุณเจ้าว่า การรักษาศีลนี้เป็นประโยชน์อย่างไรครับ

หลวงตา

เริ่มเป็นประโยชน์ เช่นอย่างเวลานี้ เรานั่งอยู่ด้วยกัน ต่างคนต่างสงบ นี้คือมีศีลเป็นเครื่องรักษา ถ้าการทำลายศีลอยู่นี้ด้วยกัน ต่างคนต่างฆ่าฟันรันแทงกันนี้ โลกนี้แตกกระเจิงทันทีเลย นี้เรียกว่าโทษแห่งการทำลาย ศีล มีคุณค่าอย่างนี้ คือ ความสงบร่มเย็นนี้แหละเป็นคุณค่าของศีล ให้โลกได้อยู่ด้วยกันร่มเย็นเป็นสุข เพราะต่างคนไม่เบียดเบียน ต่างคนไม่ทำลายกัน ต่างคนต่างเห็นอกเห็นใจกัน ต่างคนต่างมีเมตตาสงสารซึ่งกันและกันแล้ว คือ ให้อภัยซึ่งกันและกันแล้ว โลกเรานี้เป็นผาสุกทั้งนั้น

ผู้ถาม

เมื่อรักษาศีลแล้ว ธรรมจะเกิดขึ้นในใจเองหรือเปล่าพระคุณเจ้า

หลวงตา

ธรรมไม่มีทางเกิด ถ้าลงไม่รักษาศีลแล้ว ธรรมไม่มีทางเกิด ธรรมนี่วิ่งเผ่นลงทะเลเลยไม่มีเหลือละธรรม จะมีแต่เปรตแต่ผีเต็มบ้านเต็มเมือง เวลานี้กิเลสมันมากเปรตผีมันจึงมาก ทำลายคนได้ทุกบททุกแบบ เรื่องกิเลส คำว่ากิเลสคือความเศร้าหมองมืดตื้อ มันทำจิตใจของเราให้มืดดำไปหมด มืดแปดทิศแปดด้านคือกิเลสปกคลุมใจ เหมือนกับคนตาบอด คนตาบอดนี้มีกี่ตาก็ตาม ถ้าบอดเหมือนกันหมด ไปไหนก็ชนกันไปเลย ถ้าเป็นคนตาดีแล้ว มันก็มีช่องทางที่หลีกที่แวะไปได้ไม่เป็นภัย

ผู้ถาม

อย่างนั้นเราจึงควรมีศีลในจิตใจ ธรรมจะเกิดขึ้น

หลวงตา

เมื่อมีศีลแล้วธรรมก็เกิดขึ้นในขณะที่มีศีลนั่นแหละ

ผู้ถาม

เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่ไม่มีศีล ธรรมก็ไม่มี

หลวงตา

ไม่มีศีล ธรรมก็ไม่มีแหละ คือ ศีลกับธรรมเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน เช่นเดียวกับตัวของเรากับเงาของเรา เกิดขึ้นในขณะเดียวกัน

ผู้ถาม

สาธุพระคุณเจ้า พระคุณเจ้าขอรับ แล้วสมาธิ หลายๆ คนพูดถึงสิ่งนี้กันเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ทำงานอย่างเช่นพวกกระผม หรือว่าคนที่ทำงานอย่างในโลกปัจจุบันนี้ ทำนี่มันต้องมีสมาธิ ทำอย่างไรจึงจะมีสมาธิได้ครับ

หลวงตา

อ๋อ ต้องทำสมาธิ อย่าขี้เกียจภาวนา คนขี้เกียจภาวนาไม่มีสมาธิเกิดขึ้นได้แหละ ต้องภาวนา คำว่าภาวนานั้นเป็นอย่างไรบ้าง ในธรรมท่านสอนไว้หลายบทหลายบาท เช่น กรรมฐาน 40 ห้อง จะเป็นธรรมบทใดตั้งแต่อานาปานสติขึ้นไป พุทโธ ธัมโม สังโฆ เรียกว่าบทธรรมกำกับใจทั้งนั้น เรานำธรรมมากำกับใจโดยมีสติ สติคือความระลึกรู้

เพียงแต่มีความรู้เฉยๆ ไม่มีสติเป็นเครื่องควบคุม เป็นผู้รับผิดชอบแล้ว ความรู้เหล่านั้นก็ไม่เกิดผลเกิดประโยชน์อะไร เช่นเดียวกับคนบ้าไม่มีสติแล้วก็ ไปอยู่ที่ไหน ทางสามแพร่งสี่แพร่ง ไฟเขียวไฟแดง คนไม่มีสติคือคนบ้านั้น จะอยู่ได้ทุกแห่งทุกหน ไม่รู้ว่าผิดว่าถูกประการใด นี่คือคนไม่มีสติ ถ้าคนมีสติแล้ว นี้คือทางที่ควรไป ทางไม่ควรไป สถานที่ควรอยู่ไม่ควรอยู่ คนมีสติย่อมทราบ นี่เรียกว่าสติ

ทีนี้เวลาเราภาวนาก็เช่นอย่างเรากำหนดภาวนา พุทโธๆ ก็ให้มีสติกำกับอยู่คำว่าพุทโธ ไม่ให้ส่งจิตไปในที่อื่น มีสติเครื่องรับผิดชอบกำกับอยู่ภายในใจ จิตก็สงบได้ง่าย จิตก็สงบเข้าไป สงบเข้าไปแล้วหลายครั้งหลายหนจิตก็เกิดความแน่นหนามั่นคงขึ้นภายในใจ นั่นละท่านเรียกว่าสมาธิเกิดแล้ว นี่เรียกว่าสมาธิเกิดขึ้นจากการภาวนา เอ้า มีอะไรอีก

ผู้ถาม

ขอรับ ที่พระคุณเจ้าพูด ถ้ากระผมจะพูดก็คงหมายถึงว่า จริงๆ แล้วการที่มีศีล มีสมาธิ ถ้าไม่มีสติกำกับก็คงเป็นไปไม่ได้

หลวงตา

เป็นไปไม่ได้

ผู้ถาม

ขอรับ ทีนี้คนเรามักจะขาดสติพระคุณเจ้า สติเดี๋ยวมาเดี๋ยวไป เดี๋ยวหายเดี๋ยวอยู่ ทำอย่างไรให้สติอยู่นิ่งได้พระคุณเจ้า

หลวงตา

คือสตินี้ไม่จำเป็นจะต้องเข้าที่ภาวนานั่งเฉยๆ นี้มีความตั้งสติอยู่นี้ เราก็เป็นคนมีสติอยู่ธรรมดา เราจะทำหน้าที่การงานอะไรก็ตาม สติให้อยู่กับหน้าที่การงานและรู้สึกตัวอยู่ภายใน ไม่ให้จิตออกนอกไปสู่ที่โน้นที่นี่ ข้างนอกออกไปมากๆ เกี่ยวกับเรื่องความเสียใจดีใจนี้ มันก็ทำให้คนลืมตัวไปได้ เสียไปได้ ถ้าสติอยู่กับตัว หน้าที่การงานก็สมบูรณ์ เขียนหนังสือก็ไม่ค่อยผิดค่อยพลาด อ่านหนังสือก็จดจ่อ

ทุกสิ่งทุกอย่างถ้าสติกำกับแล้วดีหมด เพราะฉะนั้นท่านจึงแสดงไว้ว่า สติ สัพพัตถัง ปัตถิยา สติจำต้องปรารถนาในที่ทั้งปวง คือไม่เว้นที่สติจะไม่มี ต้องมีสติ แต่สติวงกว้างก็มี สติในวงแคบก็มี เราทำหน้าที่การงานส่วนหยาบ สติก็เป็นวงกว้างเกี่ยวข้องกับการงาน ถ้าเราทำสมาธินี้สติก็มีวงแคบจดจ่อเฉพาะจุดของตนที่ทำ สติมีหลายขั้นที่เราจะต้องใช้นี่ เรียกว่าสติทั้งนั้น แล้วมีอะไรอีกล่ะ



(มีต่อ 1)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 08 ธ.ค.2006, 12:11 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ผู้ถาม

แสดงว่าต้องแน่วแน่ ต้องมีความมั่นคงในการกระทำ

หลวงตา

นั่นละ มีความจดจ่อ มีสติควบคุมงานก็สมบูรณ์ ทุกสิ่งทุกอย่างดีหมด ถ้าขาดสติเสียแม้แต่เขียนหนังสือก็ไม่ถูก ผิดๆ พลาดๆ คือ ขาดสติ เช่น เราเขียนหนังสือนี่ สติเราไม่มี จิตไปจดจ่อในที่อื่น ไปทำงานในที่อื่นไปเสีย คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปเสีย เขียนหนังสือก็ผิดๆ พลาดๆ ไป พอสติย้อนมารู้สึกตัวนี้เขียนไป สติเขียนหนังสือก็ถูกต้อง สติจึงเป็นของสำคัญมากทีเดียว

ผู้ถาม

หมายถึงทำอะไรก็ตาม ให้มุ่งมั่นอยู่กับสิ่งนั้น อย่าได้วอกแวกนัก ให้มุ่ง ให้มั่น ให้แน่วแน่

หลวงตา

ใช่ มีสติ

ผู้ถาม

พระคุณเจ้าครับ ทราบมาว่าพระคุณเจ้าก่อนจะมาถึงตรงนี้ได้ ที่พระคุณเจ้าได้ฟันฝ่ากับทุกข์กับเรื่องราวต่างๆ มามากมาย ฝึกฝนอยู่เป็นเวลานานมาก แต่ว่าทราบจากหนังสือพระคุณเจ้าว่ามีเคล็ดลับอยู่อย่างหนึ่ง ที่พระคุณเจ้าบอกไว้ว่า เวลาที่กลัวอะไรก็ให้ไปหาไอ้นั่น เช่น กลัวผีให้เข้าไปป่าช้า ถ้ากลัวเสือต้องไปหาเสือ อันนี้หมายความว่าอย่างไรพระคุณเจ้า

หลวงตา

อ๋อ คือที่ว่ากลัวนั้น เป็นเรื่องของจิตเราไปสำคัญมั่นหมายหลอกลวงเราเอง ก็ทำให้เรากลัว ความกลัวนี้ก็เป็นกิเลสประเภทหนึ่ง เรารบกับกิเลสเราต้องรบกับความกลัวอันนี้ เมื่อว่ากลัวเสือ ถ้าเราไม่ไปสถานที่เรากลัวอย่างนี้ กิเลสมันก็จะหลอกเราไปอีก หลอกเราไปเรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด ทีนี้เมื่อเป็นธรรมเข้าต่อสู้กันแล้ว กลัวที่ไหน ว่าเสืออยู่ที่ไหน ก็ตามเข้าไปที่นั่น ให้รู้เห็นเหตุผลของจิตที่มันหลอกลวงเราเป็นประการใดบ้าง

สมมุติว่าเราเดินจงกรมอยู่ไปมาอย่างนี้ จิตของเรานี้จะวาดภาพรอบทางจงกรมเลย ว่ามีแต่เสือล้วนๆ หมอบอยู่รอบทางจงกรม นี่ทั้งๆ ที่เสือไม่มีน่ะ แต่จิตจะปรุงแต่งวาดภาพออกไปว่าเสือมีอยู่รอบด้านเรา ทีนี้ทำให้เรากลัว ทีนี้เมื่อเรากลัวเราจะแก้ยังไง เราก็ติดตามไปซิ ความสำคัญมั่นหมายนี้เป็นความจริงหรือเป็นความปลอม เราก็เดินเข้าไปหาตรงที่ว่าเสือมีที่จิตกลัว อันหนึ่งมันหลอกว่าเสือหมอบอยู่ที่นั่นๆ แล้วเดินเข้าไป

สติต้องจดจ่อเข้าไปคอยจับพิรุธความปรุงความแต่งของตนว่าเสือมีอยู่ที่ตรงนั้น ไหนอยู่ตรงไหนก็เดินเข้าไปหาเสือ เดินเข้าไปตรงนี้แล้วไม่มีเสือ นี่จิตหลอกเราขั้นหนึ่งแล้วนะ แล้วเสืออยู่ที่ไหนอีก จิตจะหลอกไปอีก จิตว่าเสืออยู่ที่นั่น เดินเข้าไปอีกเข้าไปหาอีก ที่สองไม่มีแล้วเสือ เดินเข้าไปทีไรมีแต่จิตหลอกอย่างเดียวๆ เห็นโทษของจิตเข้าเป็นลำดับลำดา จิตก็หดตัวเข้ามาสู่ธรรม ธรรมไม่โกหก กิเลสโกหกต่างหาก ความปรุงแต่งโกหก มันก็เห็นโทษของความโกหกนั้นแล้วก็มาเชื่อความจริงคือธรรม ไปแล้วไม่มีเสือ จากนั้นแล้วจิตก็เกิดความกล้าหาญชาญชัยขึ้นมา ด้วยการฝึกวิธีนี้

อันนี้หลวงตาได้ทำแล้ว ต้องขออภัยนะ จะหยาบละเอียดก็ตาม เป็นเรื่องที่เคยทำมาแล้ว ต่อสู้กับกิเลสประเภทนี้ เข้าไปอยู่ในป่า เวลาเดินจงกรมนั้นเหมือนว่าเสือมาหมอบอยู่ตามข้างทางจงกรมเต็มไปหมด จนจะก้าวขาไม่ออก ตัวสั่น กลัวขนาดนั้นนะ เพราะเสือหลายตัวนี่ เสือหลอกไม่ใช่เสือจริง มันหลอกรอบด้าน ไหนตัวไหน เราก็เดินมา ตัวไหนใหญ่ๆ นั้นละ ให้ตัวนั้นกินก่อน พระขี้ขลาดอย่างนี้ อย่าให้อยู่หนักศาสนาเลย ก็เดินเข้าไปหาเสือที่ว่า ตัวใหญ่ๆ มันไม่มี แล้วไปหาตัวไหนอีก ตัวนั้นอีกตัวนั้นก็ไม่มี ตัวนี้ก็ไม่มี มีแต่ภาพหลอกตัวเอง

เมื่อรู้ อ๋อ นี่คือภาพหลอกตัวเอง ไม่ใช่ความจริง กิเลสมันหลอก พอรู้ว่ากิเลสหลอกเท่าไร ธรรมความจริงนี้ก็ยิ่งเด่นขึ้น เด่นขึ้น รู้ชัดว่านี้กิเลสหลอก ธรรมไม่ได้หลอกนี่ เอ้า ก้าวเข้าไป สุดท้ายจิตก็รวมตัวเข้ามาเป็นพลังภายในตัว ไม่มีกลัวอะไรเลย ทีนี้เดินไปได้สบาย ไปไหนสามแดนโลกธาตุไม่มีสิ่งใดกลัวเลย จิตกล้าหาญชาญชัยเช่นเดียวกับเวลาที่จิตกลัวมากๆ จนตัวสั่น เวลาจิตกล้าหาญชาญชัยก็ยังตัวสั่นเหมือนกัน ทีนี้เมื่อได้ที่แล้ว เรียกว่าเราชนะแล้ว นี่คือกิเลสตัวหลอกนี้แล้ว เราก็กลับมาเดินจงกรมได้อย่างสบาย

แล้วอยากจะให้เสือเดินผ่านหน้ามาเลยนะ แล้วจะก้าวเข้าไปเดินเข้าไปลูบคลำหนังเสือได้อย่างสบาย ไม่มีสะทกสะท้านภายในใจเลย นี่ละจิตที่รวมตัวเป็นกำลังแล้วมีความกล้าหาญชาญชัยอย่างนี้ แม้เสือตัวจริงมาก็ไม่กลัว จะเดินเข้าไปลูบคลำหลังเสือได้เลยในขณะนั้น โดยที่ว่าเสือจะไม่ทำอะไรได้ เพราะอำนาจของจิตที่กำลังแข็งแกร่งด้วยความกล้าหาญชาญชัยนี้มีพลังมากที่สุด นี่ละที่ว่ากลัวผีแล้วไปหาผี ก็เหมือนกันนั่นละ ไปนั่งอยู่ในป่าช้าผีตัวไหนจะมาหลอก ก็แบบเดียวกับเสือหลอกนั่นละ มันก็รู้แบบเดียวกัน ทีนี้ไปอยู่ในป่าช้าได้อย่างสบายอีกเหมือนกัน

ผู้ถาม

สติต้องตั้ง

หลวงตา

ต้องตั้ง เรื่องสตินี่เผลอไม่ได้นะ เราไปที่ไหน สตินี่หมายความว่าความเพียรที่จะต่อสู้กับสิ่ง หลอกลวงทั้งหลาย คือสติเป็นเครื่องจดจ่อให้ติดแนบอยู่กับจิต จิตเมื่อได้สติเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงแล้วจิตก็มีกำลังขึ้น ความกล้าหาญชาญชัยก็เป็นพลังขึ้นกับจิต เมื่อจิตเกิดความกล้าหาญชาญชัยแล้ว ไปที่ไหนไปได้หมดไม่มีกลัวเลย

ผู้ถาม

อย่างพวกผมขี้เกียจกันอยู่ทุกวันนี้ บางทีขี้เกียจทำโน่น ขี้เกียจทำนี่ จริงๆ แล้วพวกผมโดนกิเลสตัวขี้เกียจมันหลอกล่อซิขอรับ

หลวงตา

เราทราบไหมว่ากิเลสตัวนั้นมันหลอกล่อ ถ้าเราทราบแล้วก็ควรจะรู้เรื่องของมันว่าโกหกเรา เราก็ไม่ขี้เกียจตามมันล่ะซิ อันนี้เราหลงไปตามมันเลยนั่นซิ มันถึงได้หลอกเราเรื่อย ให้ขี้เกียจเรื่อยไม่หยุดไม่ถอย โลกนี้เต็มไปด้วยคนขี้เกียจ เชื่อกิเลส กิเลสจึงหลอกได้ตลอดไป

ผู้ถาม

เป็นพวกเชื่อกิเลส เพราะฉะนั้นต้องเอาความขยันสู้กับมันใช่ไหมครับ

หลวงตา สู้ซิ ต้องสู้ เวลาขี้เกียจต้องสู้ด้วยความขยันหมั่นเพียร นั่นเป็นของสำคัญ

ผู้ถาม

เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดจะให้พ้นทุกข์ ถ้าจน ถ้ายาก ถ้าไม่มีอยู่ ถ้าอยากจะให้พ้นจากไอ้ทุกข์ตัวนี้ก็ต้องขยันหมั่นเพียร

หลวงตา

ต้องขยันหมั่นเพียร พระพุทธเจ้าไม่สอนให้คนขี้เกียจ ไม่ว่าหน้าที่การงานการอาชีพอะไรทั้งนั้น ต้องเป็นคนขยันหมั่นเพียร ยิ่งเข้าสู่อรรถสู่ธรรมด้วยแล้วยิ่งเข้มแข็งยิ่งกว่าการทำงานทางโลก ไปไหนๆ ความขยันหมั่นเพียรเป็นของสำคัญ หมายถึง ความขยันหมั่นเพียรในสิ่งที่ดีงามทั้งหลายไม่ให้ขยันในสิ่งที่ชั่ว

ผู้ถาม

ขอรับ อยู่กับศีล สมาธิ ปัญญามันจะมาเอง

หลวงตา

หา อันไหนจะมาเอง

ผู้ถาม

ปัญญาจะมาไหมครับ พระคุณเจ้า ถ้ามีศีล มีสมาธิ ตั้งมั่นแน่วแน่ ปัญญาจะมาไหมขอรับ

หลวงตา

ไม่มา

ผู้ถาม

แล้วปัญญาจะมาได้อย่างไรขอรับ

หลวงตา

ต้องพิจารณาทางด้านปัญญา คือ ศีลต้องเป็นศีล แต่เป็นเครื่องหนุนให้สมาธิเกิดขึ้นได้ง่าย เช่น ผู้ปฏิบัติตัวด้วยศีลอันบริสุทธิ์แล้ว จิตจะไม่เป็นกังวลระแคะระคายในตัวของตนว่า เป็นผู้มีศีลด่างพร้อยอะไรๆ เพราะศีลสมบูรณ์แล้วก็มีความอบอุ่น จิตก็ไม่เป็นกังวล เมื่อจิตไม่เป็นกังวลแล้วทำสมาธิก็ลงได้เร็ว นี้ลงได้เร็วแล้วเป็นสมาธิแน่วแน่เข้าไป สมาธิเป็นหลายขั้นหลายภูมิในภาคปฏิบัติ

สำหรับทางด้านปริยัติที่เราจดจำมานั้น กับภาคปฏิบัติผิดกันมาก ต้องได้ผ่านทางภาคปริยัติ และภาคปฏิบัติแล้วจะพูดได้อย่างฉะฉานคนเรานะ ถ้ามีเต็มๆ เพียงเรียนมาเฉยๆ ตามภาคปริยัติ จะเรียนจบพระไตรปิฎกก็ไม่พ้นเป็นหนอนแทะกระดาษแหละเข้าใจไหม เป็นหนอนแทะกระดาษ กิเลสไม่ได้ถลอกปอกเปิกเลย พอเข้าสู่สงครามคือภาคปฏิบัติแล้วนั้นแหละ เราจะเห็นความจริง เหมือนทหารที่เรียนวิชาการรบมาอย่างช่ำชองก็ตาม แต่ไม่ได้เข้าแนวรบก็ยังไม่มีความหมายอะไรนัก ต้องเป็นผู้เข้าแนวรบ ออกมาแล้ว รอดตายออกมา แล้วจะพูดได้อย่างอาจหาญชาญชัยในเหตุการณ์ต่างๆ ในสนามรบ ว่างั้นเถอะ

นี่ก็เมื่อเข้าภาคปฏิบัติแล้ว เราจะรู้สิ่งต่างๆ ขึ้นจากภาคปฏิบัติเหมือนกับเขาเข้าสู่สงคราม ศัตรูมาแบบไหน แบบไหน ที่ควรต่อสู้กับศัตรูด้วยวิธีใด เราจะทราบในสนามรบ ภาควิชาพูดเป็นกลางๆ ไว้เท่านั้นแหละ ส่วนที่ซอกแซกซิกแซ็กที่สุดในเหตุการณ์ต่างๆ จะเป็นผู้เข้าสู่สงครามนั้นละเป็นผู้เห็นเอง เจอเอง

อันนี้ภาคปฏิบัติก็เหมือนกัน เรื่องอรรถเรื่องธรรม เรื่องกิเลสทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่ได้มาในตำรานะ คำว่า ตำรามีแต่ชื่อของกิเลส มีแต่ชื่อของธรรมะ มีแต่ชื่อของบาปของบุญของนรกของสวรรค์ ตัวเหตุตัวการที่จะไปนรกไปสวรรค์ไปนิพพาน เป็นบาปเป็นบุญจริงๆ คือตัวใจ เมื่อภาคปฏิบัติเป็นภาคปฏิบัติแล้วต้องเป็นเรื่องของใจล้วนๆ เข้าปฏิบัติทางสมาธิ จิตก็เป็นสมาธิขึ้นมาด้วยการอบรมควบคุมด้วยสติ ทีนี้เมื่อเวลาสติค่อยแน่นหนามั่นคงขึ้นไป ถ้าทางด้านจิตใจก็แน่นหนามั่นคง สติแนบแน่นเข้าไปโดยลำดับ สมาธิก็แน่นขึ้นไปเป็นขั้นๆ ขั้นๆ นี่เรียกว่าละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ สมาธิ



(มีต่อ 2)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 08 ธ.ค.2006, 12:14 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ผู้ถาม

นั้นหมายถึงว่า คิดไปอย่างเดียว ไม่ทำ ไม่เกิดอะไรเลย

หลวงตา

ไม่เกิด

ผู้ถาม

ต้องทำ

หลวงตา

ต้องทำ

ผู้ถาม

เพราะฉะนั้นถึงมีศีล มีสมาธิแล้ว ไม่รู้จักพิจารณาก็ไม่เกิดปัญญา

หลวงตา

ไม่เกิดปัญญา ศีลเป็นศีล สมาธิเป็นสมาธิ ปัญญาเป็นปัญญา ถ้าอยากให้เกิดปัญญา ต้องออกใช้พิจารณาทางด้านปัญญา แล้วความแยบคายจะเกิดขึ้นละเอียดยิ่งกว่าสมาธิเสียอีก เป็นลำดับลำดา เช่นเดียวกัน สมาธิเป็นขั้นๆ ตั้งแต่ขั้นหยาบ ถึงขั้นกลาง ขั้นละเอียด ทีนี้ปัญญาก็เหมือนกัน พอได้ก้าวออกสู่ปัญญา พินิจพิจารณาทางเหตุทางผล เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สภาวธรรมต่างๆ ที่จิตของเราเคยยึดถือด้วยอำนาจของกิเลส พอมันเห็นชัดเจนแล้ว มันจะถอนตัวเข้ามา ถอนตัวเข้ามา

พอจิตมันถอนตัวเข้ามาทีไร จะรวมพลังแห่งความรู้ของตัวเองซ่อนออกไปโดยลำดับลำดา ยิ่งรู้แจ้งเห็นชัดเข้าไป ละเอียดลออเข้าไป นี่เรียกว่าปัญญา ถ้าไม่พาคิดไม่เกิด จนกระทั่งวันตายก็ไม่เกิดปัญญา ใครที่ว่าไม่ต้องเจริญสมาธิ ปัญญาก็เกิด นั้นคือคนไม่เคยเข้าสนามรบ นั้นคือคนไม่เคยภาวนา มันพูดหลอกตาโลกไปอย่างนั้นแหละ

พระพุทธเจ้าแสดงว่า ศีล สมาธิ ปัญญา นี้คือ องค์ศาสดาเป็นผู้แสดงเอาไว้ ดังในคัมภีร์ท่านก็บอกไว้แล้วว่า สีลปริภาวิโต สมาธิ มหัปผโล โหติมหานิสังโส สมาธิเมื่อศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก คือศีลอบรมสมาธินี้อบรมอย่างไร ศีลนี่เป็นเครื่องคุ้มกันสมาธิ คุ้มกันจิตไม่ให้วอกแวกคลอนแคลน ไม่ได้ตำหนิตนว่าศีลด่างพร้อยไปต่างๆ จากการภาวนาล้วนๆ ทีนี้ไม่ต้องอาศัยสิ่งที่มากระทบกระเทือนทางหู ทางตา จมูก ลิ้น กาย อะไรก็ตาม ปัญญานี้จะผลิตตัวของเราขึ้นโดยลำดับลำดา เช่นเดียวกับกิเลสมันผลิตตัวขึ้นภายในใจของสัตว์โลกนั่นแล เพราะความชำนาญของมัน

กิเลสนี่ไม่ต้องบอก ไม่ต้องมีครูมีอาจารย์เป็นกิเลสได้ด้วยกัน สัตว์โลกเกิดมาเพราะอำนาจของกิเลส หมุนเวียนไปตามอำนาจของกิเลส อันนี้เป็นเครื่องผูกพัน ทีนี้พอปัญญาเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาจะแก้ตัวกลับคืน คลี่คลายกลับคืนหมด เมื่อปัญญาภาวนามยปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว แล้ว จะหมุนตัวกลับ กิเลสผูกมัดเท่าไร สติปัญญาขั้นนี้จะหมุนกลับ หมุนกลับเป็นอัตโนมัติ จนกระทั่งเข้าถึงขั้นละเอียด ท่านเรียกว่า มหาสติมหาปัญญา อันนี้ยิ่งหมุนเร็วที่สุด เกียงไกรที่สุด

แชมป์ที่ว่านักมวยแชมเปี้ยนที่ว่าอย่างรวดเร็วที่สุดนี้ ยังขี้ปะติ๋ว ยังสู้ไม่ได้เลย สติปัญญานี้ละเอียดมากยิ่งกว่านั้น เพราะกิเลสมันเคยละเอียดมาเป็นลำดับลำดาอยู่แล้ว ถ้าสติปัญญาไม่มีความเกรียงไกรแล้วจะฆ่ากิเลสไม่ได้ สติปัญญาประเภทเหล่านี้แลเป็นสติปัญญาฆ่ากิเลส ไม่ใช่สติปัญญาที่เรียนมาจากตำรับตำราแล้วมาฆ่ากิเลส นี้มีแต่มาพอกพูนกิเลสโดยถ่ายเดียว

เช่นเรียนได้นักธรรมตรี ก็สำคัญตนว่านักธรรมตรี กิเลสขึ้นแล้วจากความสำคัญ เรียนได้นักธรรมโท โห นี่เราได้นักธรรมโทนะ กิเลสขึ้นแล้ว แทรกนักธรรมโทขึ้นมาแล้ว เป็นทิฐิมานะอันหนึ่ง เป็นนักธรรมเอกจนเป็นมหาเปรียญแล้วก็ก้าวไม่ออก เพราะหนักสติปัญญา หนักความรู้วิชา ความจริงมันหนักกิเลสต่างหาก ความสำคัญตน นี่ละเรียนมากเท่าไรกิเลสจะสวมรอยเข้าไป เข้าไป มากเท่านั้น กิเลสไม่มีทางปอกเปิก มีแต่พอกพูนขึ้นไปจากการศึกษาเล่าเรียน

นี้เราจะเห็นได้เวลาภาคปฏิบัติ พอก้าวเข้าสู่ภาคปฏิบัติแล้ว มันจะปล่อยสิ่งเหล่านี้ออกโดยลำดับ ลำดับ ลำดับ จนกระทั่งถึงพุ่งเลยไปเลยสิ่งเหล่านี้ เป็นกิเลสหรือไม่เป็นกิเลสรู้หมด ถึงขั้นมหาสติมหาปัญญาแล้ว มวยแชมเปี้ยนนี้ไม่ทัน อันนั้นรวดเร็วโดยหลักธรรมชาติของตัวเองนะ คือไม่ต้องอาศัยรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ที่จะมากระทบกระเทือน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเราแหละ มันหากเกิดขึ้นเองเป็นเอง หมุนตัวไปเอง

กิเลสมีอยู่ที่ไหนเหมือนไฟได้เชื้อ เชื้อของไฟคือกิเลส ไฟนั่นหมายถึงสติปัญญา ตามไหม้ไปหมด ไหม้ไปหมดแล้ว กิเลสละเอียดเท่าไร ไฟก็ละเอียดไปตามๆ จนกระทั่งไม่มีเชื้อที่จะให้ไหม้แล้วก็ยุติกันเอง มหาสติมหาปัญญาจะยุติกันเมื่อเวลากิเลสขาดสะบั้นลงไปหมดแล้ว เพราะสติปัญญานี้ก็เป็นมรรค เป็นสมมุติ กิเลสก็เป็นสมมุติ เมื่อสมมุติฝ่ายดีกับสมมุติฝ่ายชั่วแก้กันแล้วก็หมดปัญหาไปเลย

นี่ละพระพุทธเจ้าท่านอุบัติขึ้นตรงกลางนี้แล พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระอรหันต์ทุกๆ องค์อุบัติขึ้นตรงนี้เอง มหาสติมหาปัญญานี้คือยอดของมรรค อวิชชาปัจจยา สังขารา ซึ่งเป็นฝ่ายกิเลสนั้นเรียกว่ายอดสมุทัย ไปแก้กันที่ตรงนี้ มหาสติมหาปัญญาแก้ยอดสมุทัยคือ อวิชชาปัจจยา ให้ขาดสะบั้นลงไปแล้ว พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ผุดขึ้นที่ตรงกลางนี้ พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระอรหันต์ทุกๆ พระองค์จะหนีพ้นไปจากอริยสัจ 4 นี้ไม่ได้เลย ต้องขึ้นจากช่องนี้

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงมีมากต่อมากเพราะองค์นี้ผุดขึ้นได้ องค์นั้นทำไม่ผุดไม่ได้ องค์นี้ผุดขึ้นได้ องค์นั้นต้องผุดขึ้นได้ หนึ่งแล้วก็ต้องเป็นสองเป็นสามเป็นสี่โดยลำดับลำดามาเรื่อยๆ ผุดขึ้นได้เรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เข้าใจน่ะ นี่ละเรื่องว่าธรรม กิเลสสูงสุดตรงนี้ สุดตรงที่กิเลส ที่เป็นฝ่ายสมมุติกับมรรคที่เป็นฝ่ายสมมุติ แก้กันตกลงไปแล้ว แล้วความบริสุทธิ์ของจิตก็ผุดขึ้นตรงนี้ พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นตรงกลางนี้แหละ พระอรหันต์ทั้งหลายผุดขึ้นตรงกลางนี้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นคำว่าธรรมจึงมีอยู่ในโลก

เราก็จะขอเปรียบเทียบเรื่องธรรมให้ฟังก่อนนะ ธรรมที่ว่าธรรมแท้คืออย่างไร เหมือนกับน้ำมหาสมุทรทะเลหลวงเรานี้เป็นพื้นฐาน แล้วแม่น้ำสายต่างๆ เช่นอย่าง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง เป็นต้นนะ แม่น้ำสายนั้น สายนั้น ไหลลงมาสู่มหาสมุทรมหาทะเลไหลมา ไหลมา เวลายังไม่ถึงก็เรียกว่าแม่น้ำสายนั้นๆ ยังไม่ถึงมหาสมุทรนะ พอเข้าถึงมหาสมุทรแล้ว แม่น้ำทั้งหลายนั้นเข้าเป็นอันเดียวกันกับน้ำมหาสมุทรแยกกันไม่ออก เรียกได้แต่ว่ามหาสมุทรอย่างเดียว

นี่ก็เหมือนกัน ผู้บำเพ็ญธรรมทั้งหลายเต็มกำลังความสามารถของตนแต่ละราย แต่ละรายนั้นละ เป็นเหมือนกับแม่น้ำสายต่างๆ ที่ไหลรวมเข้ามาสู่มหาวิมุตติมหานิพพาน นี่เรียกกันมหาสมุทรมหานิพพาน เปรียบกับมหาสมุทรทะเลหลวง ทีนี้พอถึงขั้นบริสุทธิ์แล้วเข้าเป็นอันเดียวกันหมดเลย เหมือนกับแม่น้ำสายต่างๆ เข้าถึงมหาสมุทรแล้วเข้าเป็นอันเดียวกัน แยกกันไม่ออก

จิตของท่านผู้บริสุทธิ์จะบริสุทธิ์มาจากสถานที่ใดอยู่แห่งหนตำบลใดก็ตาม เมื่อก้าวเข้าสู่ความบริสุทธิ์ด้วยกันแล้ว เป็นมหาวิมุตติ เป็นมหานิพพานด้วยกัน นี่ละมหาวิมุตติมหานิพพาน นี้แลเป็นธรรมที่ครอบโลกธาตุอยู่เวลานี้ จากพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่รวมพระองค์ทุกองค์ ทุกองค์ จากแม่น้ำสายต่างๆ แล้ว เข้ามาสู่มหาวิมุตติมหานิพพานด้วยกัน นี่ละที่ว่าธรรมไม่สูญจากโลก พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่สูญจากโลกเป็นอย่างนี้เอง แล้วยังจะอุบัติขึ้นมาเรื่อยๆ เป็นมหาวิมุตติมหานิพพานไปเรื่อยๆ อย่างนี้

นี่ละเรื่องของธรรมขั้นสุดยอดสุดตรงนี้ ต้องสุดจากภาคปฏิบัตินะ เรียนเฉยๆ ไม่สุด มีแต่กิเลสนั่นละมัดคอเรื่อยไปเลย ถ้าเป็นเรื่องของภาคปฏิบัติเข้าสู่สงครามแล้ว เห็นหมดทุกสิ่งอย่าง กิเลสประเภทใดเห็นหมด เหมือนอย่างนักรบเข้าสู่สงคราม เหตุการณ์อะไรให้เห็นหมดรู้หมด



.............................................................

คัดลอกจาก
http://www.dharma-gateway.com/
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง