Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 เทศน์อบรมพระ (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 03 ธ.ค.2006, 1:14 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

เทศน์อบรมพระ
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน


ณ วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๓



พูดท้ายเทศน์ พูดให้สติหมู่เพื่อนให้ข้อคิดอุบายวิธีต่อสู้กับกิเลส ไม่งั้นไม่ทันมันง่ายๆ นะ ละเอียดสุดทีเดียว แต่เมื่อรู้เรื่องของมันเสียหมดจนปราบมันอยู่หมัด พูดง่ายๆ นะ แล้วนั้น มันจะแสดงอยู่ที่ไหนมันรู้ที่นี่ ไม่ว่ามันจะแสดงออกมากับคน ออกมากับสัตว์รู้หมด มันมีแต่เรื่องอันเดียวทั้งนั้น พอเรารู้ทันมันแล้วมันก็หมดหนทางทำลายเรา กิเลสนี้ละเอียดเอาจริงๆ นะ หมดเนื้อหมดตัวนี่ก็มันทั้งนั้นครอบอยู่หมดทุกขุมขน เพราะฉะนั้นจึงแก้มันยากนะ ต้องเอาจริงๆ ใช้ความพินิจพิจารณา ใช้ความอดความทนพากเพียร เอาให้เต็มที่เต็มฐาน

เพราะเราตั้งหน้าตั้งตาจะเอาชนะมันอยู่แล้ว จะให้แพ้มันมันสมควรเหรอกับเราผู้ตั้งใจจะเอาชนะมัน แต่แล้วกลับแพ้มันอย่างหลุดลุ่ยๆ ฟังแต่ว่าหลุดลุ่ยๆ นั่นเถอะ ไม่เป็นท่าอะไรเลย นี่ได้เคยปฏิบัติมา โอ้โห พิจารณาย้อนหลัง แหม บางทีจะร้องห่มร้องไห้และน้ำตาร่วงคิดดูอย่างตอนจิตเสื่อม แหมมันเสียใจเสียจน ถ้าเป็นทางโลกก็เรียกว่าผูกโกรธผูกแค้น พอได้ที่เท่านั้นละแหม ทีนี้กำลังทางความเพียรความเป็นนักต่อสู้ไม่ทราบมาจากไหน ถ้าเราเทียบแบบโลกนะ ฆ่าคนได้เขาฆ่ากันได้เพราะเหตุนี้เอง มันเคียดแค้นอย่างถึงใจ

แต่นี้มันเป็นเรื่องของธรรมไม่จัดว่าเป็นกิเลสเสีย เป็นฝ่ายมรรค คือพลังของธรรมขึ้นเต็มที่ต่อสู้กับกิเลส ถ้าเป็นทางโลกนี้ก็เรียกว่าเป็นสมุทัย เป็นความอาฆาตจริงๆ อันนี้ไม่เป็นอย่างนั้น เป็นพลังของธรรมไม่ยอมที่จะให้แพ้ได้อีกต่อไป ให้เสื่อมอีกต่อไปได้ ตั้งแต่นั้นมาเหมือนเป็นอาจารย์เอกทีเดียว ไปที่ไหนนี่มันฟิตตัวของมันปั๋งๆ ไม่คุ้นกับใครเลยแหละ จ่อหัวมันอยู่นั่นเลย แล้วจิตก็ไม่เสื่อมเพราะกิเลสและธรรมไม่ชอบคนเซ่อนี่ เซ่อตรงไหนมันเข้าตรงนั้นละกิเลส ธรรมท่านก็ไม่ได้สอนให้เซ่อ สอนให้ฉลาด แต่สุดท้ายมันก็มาจมอยู่ในสมาธิจนได้ มันเอาช่องหนึ่งจนได้กิเลส

เวลาสมาธิได้อย่างใจแล้ว ที่นี่ก็เลยติดสมาธิเสียไม่อยากออกพิจารณาทางด้านปัญญา เห็นว่าลำบากลำบน เข้าอยู่ในความรู้แน่วอยู่อันเดียว ไม่กระทบกระเทือนกับอะไรเพราะไม่ออกมาสู้กับอะไรนี่ อยู่เท่าไรก็ได้ ก็ติดตรงนั้นเสีย กิเลสก็ไปกล่อมตรงนั้นอีกแหละ ติดสมาธิไม่เป็นกิเลสจะเป็นอะไร ความหลงความติด ความติดสุขมันก็เป็นสมุทัยเสีย แน่ะ มันเอาจนได้นะ ยังดีพ่อแม่ครูอาจารย์ท่านยังมีชีวิตอยู่ท่านขนาบออกมันถึงออก ไม่งั้นไม่ยอมออกง่ายๆ นะ เวลาออกจากสมาธิเพื่อปัญญา มันก็ออกอย่างแหวกแนวเหมือนกัน นิสัยผมมันผาดโผนรู้เจ้าของ ผาดโผนจริงๆ

เพราะฉะนั้นครูอาจารย์ผู้มาสอนก็ต้องฉลาดจริงๆ ถึงจะสอนได้ อย่างพ่อแม่ครูอาจารย์ไม่มีทางตำหนิแล้ว เวลามันออกมันก็ออกอย่างผาดโผน ออกแบบไม่ยอมเข้า มีแต่จะออกท่าเดียว ว่ากิเลสตายด้วยปัญญา ก็เลยมีแต่จะเอาปัญญาไม่คำนึงถึงสมาธิเลย แล้วตำหนิสมาธิด้วยซ้ำว่านอนตายอยู่เฉยๆ แน่ะ มันไม่พอดี เวลาผ่านไปถึงรู้ นั่นเป็นครูหมด เวลาจะตายจริงๆ ก็เข้าสมาธิ แต่บังคับเข้านะไม่งั้นไม่ยอมเข้า จะตายจริงๆ ยังต่อสู้กันอยู่ไม่ถอย เพียงยกมือไปแปะๆ มันต่อยไม่ได้หมดกำลัง เอามือไปแปะๆ กัน เอาหมัดไปแปะๆ กัน มันไม่มีกำลังจะต่อยก็ยังไม่ถอยจิตนี่

นั่นละมันจะตายจริงๆ ก็หมุนตัวเข้ามาสู่สมาธิ บังคับเข้า สุดท้ายก็เอาพุทโธกำกับนะ ไม่งั้นมันจะผึงออกไปทำงาน ไม่ใช่มันจะไปไหนนะมันจะผึงไปสู่งาน บังคับไว้อย่างขนาดนั้นทีเดียวผมน่ะ นิสัยมันผาดโผน บังคับไว้ๆ เอาจริงเอาจัง พุทโธให้ถี่ยิบไม่ยอมให้ออก สักเดี๋ยวจิตก็ค่อยสงบเข้ามาๆ เพราะมันจริงทุกอย่างนี่ เวลาสงบก็จริงไม่ยอมให้ทำงาน จิตจะออกไม่ให้ออกบังคับไว้ โอ๋ย เป็นภาระจริงๆ เป็นธุระภาระจริงๆ ใส่เข้าไปมันก็สงบแน่วลง โห เหมือนกับถอดเสี้ยนถอดหนามนะ จิตมีกำลังวังชาเบาโหวงเทียวในตัวนี่ จิตแน่ว พักให้เต็มที่ เรื่องถอนไม่ต้องบอก

พอแต่ปล่อยเมื่อไรจะออกผึงเลย ผึงก็ผึงใส่งานนะไม่ใช่ผึงไปไหนแหละ พอถอนออกมาปั๊บก็ปุ๊บเลย เอ้า ปล่อย มันกระหน่ำกัน ถ้าคมมีดก็เหมือนมีดได้ลับหินเรียบร้อยแล้ว คนก็ได้รับประทานอาหารได้พักผ่อนนอนหลับให้สบายแล้ว งานก็งานชิ้นนั้นมันทนไปได้ยังไง มีดก็มีดเล่มนี้แหละแต่ได้ลับหินแล้ว คนก็คนคนนี้ผู้ทำงานแต่มีกำลังวังชาแล้ว พักผ่อนนอนหลับรับประทานอาหารเรียบร้อยแล้ว ฟันลงไป งานชิ้นนี้ไม้ท่อนนี้ขาดสะบั้นไปเลยคราวนี้ แต่เพราะความด่วนนั่นเองละ ความเห็นโทษมาก ความด่วน รีบด่วนจิตจึงไม่อยากจะเข้าสมาธิ

ก็เห็นคุณค่าอยู่แต่มันก็เห็นคุณค่าแห่งการต่อสู้มากยิ่งกว่าสมาธิ จนกระทั่งจิตผ่านของมันไปแล้ว มันฟัดมันเหวี่ยงกันจนผ่านไปแล้วทีนี้ถึงมาเป็นบทเรียนทั้งหมด อุทธัจจะ ท่านว่า ความฟุ้งซ่าน ไม่ใช่ฟุ้งซ่านไปโน่นนะ ความฟุ้งความเพลินในงานที่ตนทำ ที่ตนแก้กิเลสนั้น อุทธัจจะกุกกุจจะ ในนิวรณ์ ๕ กับอุทธัจจะอันนี้ต่างกันคนละโลก มันเหมือนกันได้ยังไง อุทธัจจะในนิวรณ์ ๕ ก็มีอยู่ในคนทั่วๆ ไป แต่อุทธัจจะอันนี้จิตเพลินในการพิจารณา การต่อสู้กับกิเลส เพลินจนลืมพักผ่อนในสมาธิ ท่านเรียกอุทธัจจะ คือจิตไม่รอบตัวก็เป็นสังโยชน์อันหนึ่ง

มานะก็หมายถึงจิตดวงผ่องใสนี่แหละ ที่ว่ามานะ ๙ นั่น เอาผ่องใสนี่ยกขึ้นเป็นเขี้ยวเป็นเขาขึ้นมา ท่านถึงได้ว่า สามสามเป็นเก้า ตนต่ำกว่าเขา สำคัญว่าต่ำกว่าเขา สำคัญว่าเสมอเขา สำคัญว่ายิ่งกว่าเขา ตัวเสมอเขา สำคัญว่าต่ำกว่าเขา สำคัญว่าเสมอเขา สำคัญว่ายิ่งกว่าเขา ตนยิ่งกว่าเขา สำคัญว่าต่ำกว่าเขา สำคัญว่าเสมอเขา สำคัญว่ายิ่งกว่าเขา เก้าแล้วนั่น เอาอันนี้แหละเป็นเขี้ยวเป็นเขา พออันนี้พังลงไปแล้วเอาอะไรมาเทียบมาเคียง เอาอะไรมาฟัดมาเหวี่ยงกันไม่มี เขี้ยวเขาก็หมดไปแล้ว เขี้ยวเขาก็เขี้ยวเขาของอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นั่น พอต่อยเขี้ยวมันหักลงไปแล้ว

จะเอาอะไรมาแข่ง อยากสู้กับอะไรอีก อยากสู้ก็ไม่อยากสู้ กล้าก็ไม่กล้า กลัวก็ไม่กลัว ความกล้าความกลัวมันก็เป็นกิเลสทั้งมวล นี่ละที่ว่ามานะ ๙ พอจากอวิชชานี้แล้วถืออะไร มันไม่มีที่ถือนี่ จะไปบอกให้มันถืออะไรอีก ลงในนี้หมดนั่นแหละ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ รูปราคะก็ยินดีใน แต่สำหรับผมการปฏิบัติของผมผมว่ายินดีภาพภายในจิต เพราะเราปรากฏอย่างนั้น เป็นภาพภายในจิต ข้างนอกมันสละมาแล้ว มันเป็นภาพอันหนึ่งอยู่ภายใน มันก็มายินดีในการพิจารณานี้ ความยินดีในการพิจารณานั้นแหละท่านเรียกรูปราคะ ไม่ได้เป็นราคะตัณหาแบบโลกๆ ทั้งหลายเขาเป็นนะ

แต่มันไม่มีศัพท์อะไรที่จะมาใช้ให้เหมาะสมกับนี้ท่านก็ว่าราคะ คือความเพลิน ความพอใจในการพิจารณาอยู่กับอันนั้น พอใจกับอันนั้น แต่มันไปปรากฏเป็นภาพภายใน ภาพภายนอกมันออกหมดแล้ว มันปล่อยทิ้งก็เป็นภาพภายใน พออันนี้ออกหมดแล้วมันก็ว่างนี่ อรูปราคะมันไม่มีรูป ก็ยินดีในความว่างของตัวเองเสีย นี่พูดตามหลักปฏิบัติที่ประจักษ์กับเจ้าของเราพูดได้อย่างนี้ หรือจะว่ายินดีในสุขเวทนาก็ยกให้ แต่มันไม่เด่นเหมือนเป็นความว่างนี้ มันว่างๆ หมด มองดูภูเขาทั้งลูก ตามันเห็นพอเป็นเงาๆ นี่ แต่จิตมันทะลุไปหมด

มองดูหินทั้งก้อนนี้ ก้อนใหญ่ๆ เท่ากุฏินี่มองดูมันพอเป็นเงาๆ แต่จิตมันว่างหมดแล้ว มองดูร่างกายเจ้าของนี่ก็เหมือนกับเป็นเงาๆ อย่างว่าอีกเหมือนกัน อันหนึ่งมันทะลุไปหมด มันว่างถึงขนาดนั้น แต่หารู้ไม่ว่าตัวผู้ที่ไปว่าเขาว่างมันไม่ได้ว่างนี่ เหมือนกับคนที่อยู่บนหัวตอนี่มองไปที่ไหนมันก็ว่างไปหมด แต่หัวตอที่ยืนเหยียบอยู่นั้นมันไม่ดู มันว่างที่ไหนก็หัวตอนั่นน่ะ มันไม่ดูตรงนั้นซิ การพิจารณาทางภาคปฏิบัติสำหรับผมเองเป็นอย่างนั้น ก็ยกให้ตามถนัดมันลางเนื้อชอบลางยา ผมมันมาถนัดเอาความว่าง มันติดอยู่ในความว่าง อรูปราคะยินดีอยู่ในความว่าง เพลินอยู่ในนั้น

ฝึกซ้อมกันอยู่นั้นเอากันอยู่นั้น มานะก็ถือจิต อุทธัจจะ ความเพลินในการค้นคว้าการพินิจพิจารณา อวิชชาก็ถือตัวนี้แหละ พออันนี้หมดแล้วถืออะไร ก็มันถืออยู่ตรงนั้น มันติดอยู่ตรงนั้น ก็ถือตรงนั้นยินดีในนั้น พออันนั้นหมดไปแล้วไม่เห็นไปยินดีกับอะไร ไม่เห็นไปถืออะไรไปติดอะไร ทีนี้พออันนี้หมดไปแล้วมันก็ว่าง ว่างรอบตัวที่นี่ มันไม่ว่างอยู่กับตรงนั้นตรงอวิชชา เหมือนกับว่าเราขึ้นเหยียบอยู่บนหัวตอ อวิชชาเป็นเหมือนหัวตอ มองไปทางไหนว่างหมด แต่หัวตอที่เรากำลังเหยียบอยู่นั่นไม่ได้มองลงไป มันไม่ว่างตรงนั้น พอย้อนมาดูหัวตอที่เราเหยียบ หัวตอก็พังไปด้วยกัน

ทีนี้ก็ว่างไปหมด ว่างเป็นขั้นๆ นี่เราก็เคยเทศน์และพิมพ์ออกเป็นหนังสือแล้ว ออกเป็นกัณฑ์เทศน์แล้วอยู่ในแว่นดวงใจก็มี ความว่างมันว่างรอบตัว จากนั้นแล้วก็ไม่มีอะไรจะพูด เราพูดถึงเรื่องสมาธิว่า ในขณะที่จิตเป็นสมาธิมันก็ว่าง พอถอนออกจากสมาธิแล้วมันไม่ว่าง ออกจากนั้นมันก็ว่าง ว่างเป็นฐานของจิตดังที่พูดแล้ว ขึ้นไปอยู่บนหัวตอมันก็ว่าง ว่างตามฐานของจิต ถึงจิตจะเข้าสมาธิก็ว่าง ออกมาแล้วความว่างก็มีประจำจิต เรียกว่าเป็นฐานของจิต ว่างประจำฐานของจิตที่ชำระได้ เราก็พูดไปแล้ว จากนั้นก็ว่างในความเป็นจริงของจิต คือว่างทั้งจิตด้วย

ไม่ว่าแต่อันนั้นว่างอันนี้ว่าง เจ้าของไม่ว่าง เจ้าของเองก็ว่างมันก็วางไปหมด วางอันนั้นกับวางอันนี้แต่เจ้าของไม่วางเจ้าของมันก็ยังไม่ว่าง พอมาวางเจ้าของเมื่อไรมันก็ว่างเมื่อนั้น เรียกว่าว่างตลอดทั่วถึง แต่เราเขียนในนั้นเราเพียงแต่ว่าว่างนี้ว่างขั้นสุดท้ายตามกำลังของเรา เราว่าไปอย่างนั้นเสีย ใครจะมีกำลังเหนือนั้นก็เอาไปซีถ้าไปได้ ถึงนั้นแล้วมันก็รู้ด้วยกันทุกคนแต่ไม่จำเป็นจะต้องไปพูด เพราะพูดไว้สำหรับผู้ปฏิบัติให้พิจารณา ไปถึงนั้นมันจะเลยไปไหนอีกเอ้าลองดูซิ เพราะฉะนั้นพระกรรมฐานหรือผู้ปฏิบัตินี้มีภูมิจิตภูมิใจสูงต่ำขนาดไหน

พอมาพูดต่อกันฟังเท่านั้นแหละ มันอ่านหัวใจกันนี่ พิจารณายังไงทุกวันนี้นั่นถาม พิจารณาอย่างนั้น ๆ นั่นบอกแล้วนะนั่น อ่านหัวใจแล้ว เปิดหัวใจให้อ่านแล้ว พิจารณาอย่างนั้นๆ ทราบแล้ว ทราบทันทีว่าอยู่ในขั้นใดภูมิใด ถ้าสมมุติว่าสิ้นสุดไปแล้ว ก็ต้องพูดเรื่องราวของจิตปั๊บออกมาเท่านั้นไม่ต้องมาก รู้ทันที สนฺทิฏฺฐิโก ไม่มีปัญหา พระพุทธเจ้าประทานไว้ไม่มีปัญหาจริงๆ นี่ ที่มีปัญหาก็มีแต่เรื่องของกิเลสทั้งนั้นพาให้เป็นปัญหา ตัวนี้ตัวมืดนี่มันปิดตรงไหนมืดตื้อไปเลย ตัวของมันไม่ได้มืด มันฉลาด แต่เวลามันปิดตาสัตว์โลกมันทำให้มืดมิดปิดตา ลืมบุญลืมคุณ ลืมนรกสวรรค์ไปหมด

ไม่ให้เห็น ดีกลับเป็นชั่ว พลิกทางสันเป็นคมไปหมดฟันเจ้าของแหลก ใครจะไปอ่านมันง่ายๆ กิเลส รู้ขนาดไหนก็รู้เถอะ ถ้าไม่รู้ตามแบบฉบับของพระพุทธเจ้าที่สอนไว้นี้ไม่มีทางว่างั้นเลย เรากล้าพูดได้เต็มปาก วิชาใดก็ตาม ใครเรียนมาจากไหนก็ตาม ถ้าไม่ใช่วิชาธรรมพระพุทธเจ้า ยังไงกิเลสหนังไม่ถลอก นอกจากจะเป็นเครื่องเสริมกิเลสเข้าไปอีก ถ้าวิชาธรรมเข้าไปจับแล้วกิเลสตัวไหนก็ขยะๆ แล้วหมอบๆ ดีไม่ดีเรียบ



(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 03 ธ.ค.2006, 1:22 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อ่านหัวใจนี่ซิมันสำคัญมากนะ ดูนอกมันดูง่าย ดูโน่นดูนี่ ดูต้นไม้ ภูเขา ดินฟ้าอากาศเป็นยังไง แต่มาดูหัวใจนี้ดูยาก เพราะกิเลสพาให้ยาก ถ้าเรียนเรื่องของกิเลสจะเรียนยากอะไร เรียนกันง่าย เพราะกิเลสพาให้ง่ายนี่ อย่างนี้ที่ท่านว่าเป็นมหาสติมหาปัญญา เวลาท่านมีอธิกรณ์ พระอรหันต์มีคนฟ้องเหมือนกันนี่ครั้งพุทธกาลมีนี่ พระพุทธเจ้าท่านยกมหาสติขึ้นรับ แต่ก่อนพระพุทธเจ้าเป็นประธานเป็นสักขีพยาน พระองค์รับสั่งอย่างไรแล้วเป็นความจริงนี่ ใครไม่เชื่อพระพุทธเจ้าก็หมด นอกจากเทวทัตเท่านั้น กลายเป็นเทวทัตกี่คนก็ไม่เชื่อเท่านั้น

คนฟ้องพระอรหันต์ถึงขั้นที่สุดก็มีนี่ เป็นปาราชิก โอ๊ย อย่าไปฟ้องเธอ เธอเป็นสติวินัยแล้ว ท่านว่าอย่างนี้นะ ท่านเอามาใช้ตอนนั้นสติวินัย คือรอบตัวแล้ว เป็นอฐานะ พูดง่ายๆ พูดอย่างเราให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ว่า อันหนึ่งจิตวิมุตติ อันมาฟ้องร้องนี้เป็นสมมุติทั้งมวลมันเข้ากันได้ยังไงกับวิมุตติน่ะ นี่พูดตามหลักความจริง อันนั้นวิมุตติหลุดพ้นแล้วจากสมมุติทั้งมวล เหตุใดสมมุตินี้จะเอื้อมเข้าไปถึง ฟ้องท่านเป็นสังฆาฯ ปาราชิกอะไรได้อีก เพราะไม่ใช่วิสัยนี่ จิตดวงนั้นไม่ใช่วิสัยของสมมุติ การฟ้องร้องนี่จะเอื้อมเข้าไปถึงได้ไง เท่านั้นก็หมดปัญหา

มีพระอรหันต์เท่านั้นท่านจะเป็นสักขีพยานกันได้ เพราะท่านเป็นธรรมด้วยกัน ท่านเห็นด้วยกัน ท่านรู้ด้วยกัน ท่านแน่ด้วยกันในสิ่งเหล่านี้ นอกนั้นก็เป็นไม่ได้ ครั้งพุทธกาลก็มีพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เป็นอรหันต์องค์เอกจะว่าไง ใครมาฟ้องพระพุทธเจ้าก็รับสั่งเสีย อย่าง วักกลิๆ คนถ่อยๆ อย่าไปว่าเธอ คือใครก็ไปตำหนิติเตียนท่านองค์นั้น เธอเคยสั่งสมกิริยานี้มาตั้งนานแสนนานแล้วจะไปแก้ได้ยังไงจริตนิสัย ไปว่าเธอทำไม จริตนิสัยของใครของเราก็เป็นสมบัติของใครของเรา จริตนิสัยไม่เป็นโทษเป็นกรรมอะไร พระองค์ว่าอย่างงั้นก็หยุดแล้ว

บางองค์ก็กิริยามารยาทสวยงาม ใครก็ว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะคนก็คาดว่าพระอรหันต์ต้องมีกิริยามารยาทที่สวยงามนิ่มนวลมาก นี่เป็นความคิด แต่ไม่ได้คำนึงถึงนิสัย นิสัยเป็นของดั้งเดิม ความเป็นอรหันต์เป็นความสิ้นจากกิเลส กิเลสไม่ได้อยู่ในกิริยาอันนี้ เพราะสิ่งนี้มันยังไม่ดับ ดับได้เฉพาะพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้น พร้อมทั้งนิสัยและวาสนา นอกนั้นดับไม่ได้ พระสันตกาย พระสงฆ์ทั้งหลายขึ้นไปทูลพระพุทธเจ้าด้วยความชมเชย ว่าแหมเป็นเหมือนท่านเป็นพระอรหันต์ ทูลถามพระพุทธเจ้าตรงๆ ก็มีว่าเป็นพระอรหันต์แล้วยัง

พระสันตกายนี่ ให้ชื่อว่าสันตกาย สันตกายก็แปลว่าผู้มีกายอันสงบนั่นเอง มารยาทเรียบร้อยสวยงาม ก็ตรัสบอกว่า โอ้โห นี่เธอเคยเป็นราชสีห์มาตั้ง ๕๐๐ ชาติ เธอได้เคยเป็นมาอย่างนี้ ยกราชสีห์ขึ้นมา ราชสีห์นั้นเป็นสัตว์ที่มีสติดีมากเหมือนกับเสือ เวลาจะนอนราชสีห์จะต้องกำหนดอวัยวะทุกสัดทุกส่วนไว้เรียบร้อย ตื่นขึ้นมาแล้วเมื่อเห็นอวัยวะส่วนใดเคลื่อนไหวจากที่วางไว้เดิมแล้ว ราชสีห์จะไม่ลุกขึ้นหากิน จะนอนใหม่ตั้งใหม่ จนกระทั่งตื่นขึ้นมาอวัยวะส่วนใดที่วางไว้ เช่น หู หางอย่างนี้เป็นปกติแล้วจึงจะลุกขึ้นหากิน แผดเสียงเอี้ยวกายบิดกายแล้วออกหากิน

นี่เธอได้เคยฝึกมารยาทแบบนี้มาเป็นเวลานานแล้วจากกำเนิดราชสีห์ จากนั้นท่านก็เลยยกธรรมะเป็นพุทธพจน์ขึ้นว่า สนฺตกาโย สนฺตวาโจ สนฺตมโน สุสมาหิโต วนฺตโลกามิโส ภิกฺขุ อุปสนฺโตติ จฺจติ ผู้มีกายอันสงบด้วยความประพฤติ ผู้มีวาจาอันสงบ ผู้มีใจอันสงบจากกิเลสทั้งหลาย ผู้มีโลกามิสอันละได้โดยประการทั้งปวงแล้วด้วยจิตที่บริสุทธิ์นั้น นั้นแลปราชญ์ทั้งหลายเรียกว่า อุปสนฺโต เรียกว่าผู้สงบรอบตัว พระสันตกายก็เลยได้บรรลุธรรมในขณะนั้น ถ้าจำไม่ผิดเข้าใจว่าอย่างงั้น พระองค์นั้นก็ได้สำเร็จในขณะนั้น การสำเร็จของพระอรหันต์แต่ก่อนเราก็ไม่ได้พิจารณาอะไรมากนัก

ประการหนึ่งเวลาเรียนมันวุ่นกับการเรียน เวลามาปฏิบัติก็วุ่นกับการต่อสู้กับกิเลส ไม่ค่อยได้คิดอ่านอะไรมากนัก ไม่ค่อยมีโอกาส พอหลังจากนั้นมาก็เอามาพิจารณา ท่านสำเร็จนี้เราเทียบกันได้กับตอนที่เราฟังเทศน์ของพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ฟังคราวนี้จิตเป็นอย่างนี้ ฟังคราวนั้นเป็นอย่างนั้น คือมันค่อยเปลี่ยนไปเรื่อยๆ มันก็ทำให้เชื่อแน่ว่า องค์ที่ท่านมีอุปนิสัยที่ควรจะรู้เร็วอยู่แล้ว พอฟังคราวนี้ปั๊บท่านเลื่อนระดับเข้าใจนี้ชัดๆ แล้วในขณะเดียวกันก็เข้าใจนี้ปั๊บๆ แล้วตามทัน หากผู้ไม่ทันในคราวนี้ ฟังคราวต่อไปเลื่อนขึ้นไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ไปได้

พระมากต่อมาก คนมากต่อมาก สำเร็จมรรคผลนิพพานมากต่อมากก็เพราะว่ามันมากต่อมากที่ฟังอยู่เรื่อยๆ ด้วยกัน แล้วค่อยเลื่อนขึ้นไปเรื่อยๆ นั่นเชื่อที่นี่ เชื่อเอาอย่างไม่สงสัยเลย ใครจะว่าบ้าก็ว่าเถอะ บ้าแบบนี้ว่างั้นเลยนะ ไม่ยอมถอนบ้าแบบนี้ ไม่ยอมแก้ว่างั้นเลย มันมีสักขีพยานอยู่แล้วในขณะที่ฟังเทศน์ท่านอาจารย์มั่น จิตมันเปลี่ยนเรื่อย เปลี่ยนตัวของมันเรื่อย เรากำลังพิจารณาอยู่ในจุดนี้เวลานี้ เอ้า ฟังเทศน์วันนี้ท่านจะว่ายังไง พอเทศน์มาจวนจะถึงจุดนั้น เพราะท่านเทศน์แบบเหินฟ้านี่ แบบเรือบินเหินฟ้า เทศน์ตั้งแต่สมาธิขึ้นไปเรื่อยๆ

พอดีเรากำลังพิจารณาอยู่จุดนั้น เรากำลังติดอยู่จุดนี้ กำลังต่อสู้กันอยู่จุดนี้ท่านจะว่ายังไง พอมาถึงจุดนี้ท่านก็พุ่งเลย เพราะท่านเข้าใจหมดแล้ว เราก็ได้อุบายปั๊บ พุ่งตาม เอ้าไปได้จุดนี้ก่อน ฟังในวาระต่อไป กำลังพิจารณาอยู่จุดนั้น พอไปถึงจุดนั้นมันก็เป็นอีกๆ เราถึงเชื่อ อ๋อ ที่ท่านผ่านพ้นไปในครั้งพุทธกาลเพราะเหตุนี้เอง ยิ่งผู้ที่เป็นบัวอยู่บนผิวน้ำอยู่แล้วก็ยิ่งเร็ว ประเภทอุคฆติตัญญู วิปจิตัญญู ก็ยิ่งเร็ว ตั้งแต่พวกเนยยะ บึกบึนไปหลายครั้งหลายหนก็โผล่ขึ้นมาได้ นอกจากปทปรมะ หูหนวกตาบอดแปดทิศแปดด้าน

ไม่สนใจเรื่องอรรถเรื่องธรรมเรื่องเหตุเรื่องผลนรกสวรรค์นิพพานอะไรทั้งสิ้น นอกจากสนใจแต่ความทะเยอทะยานไปตามกิเลสตัณหา ให้มันลากไปจนถลอกปอกเปิก ไม่รู้เนื้อรู้ตัวไม่รู้บุญรู้บาปเท่านั้น พวกนี้พวกปทปรมะ ตกนรกไม่มีวันขึ้นมาได้เลย ในชีวิตนี้มันก็ตกอยู่ในภายในใจ พอตายลงไปแล้วจะไปไหน นิสัยของคนบอกอยู่ในหัวใจนั้นจะไปไหน เรื่องก็บอกอยู่แล้ว ปลายกระสุนปลายปืนนั้นมันชี้ไปตรงไหน พอปั้งมันก็ต้องไปตรงนั้นจะไปตรงไหน นี่มันบอกอยู่ในตัวของมัน มันเล็งดูตัวของมันเสร็จแล้ว ว่ามันจะไปทิศใต้ทิศเหนือ สูงต่ำขนาดไหนมันบอกอยู่ในจิตหมด

พอขาดร่างนี้ปั๊บก็ปุ๊บเลย เหมือนกับเหนี่ยวไกปั้งเดียวก็พุ่งลงนรกเลยไม่สงสัย การเกิดการตายเป็นสิ่งจำเจของสัตว์โลกเพราะอันเดียวนี้ เพราะฉะนั้นการแก้จึงต้องใช้ความพยายามเต็มที่เต็มฐาน เอาเป็นเอาตายเข้าฝากมอบไว้เลย เพราะยังไงก็ถึงวาระเราจะตาย ไม่ได้ทำความเพียรทุกข์ก็จะบีบคั้นเอาจนกระทั่งถึงเราตายเหมือนกันแหละ นี่ทุกข์เพราะความเพียรไม่ถึงขั้นตายนี่วะ นอกจากกิเลสจะตายก่อนเราด้วยซ้ำไป เรายังไม่ตายกิเลสตายเสียก่อน ถ้าลงได้เอากันขนาดนั้นแล้ว เราจะยังไม่ตายกิเลสมันตายก่อน พระพุทธเจ้าก็เพียงขั้นสลบกิเลสตาย พระสาวกทั้งหลายก็เห็นไหมล่ะ

ประกอบความพากเพียร ที่ท่านยกมาเด่นๆ ตาแตกไม่ตาย กิเลสตาย เดินจงกรมฝ่าเท้าแตกไม่ตาย กิเลสตาย ฝ่าเท้าแตกนี้ก็ต้องเป็นแบบที่ผมว่านี่ละ นี่มันหยั่งไปโน่นนะ ทำไมอยู่ธรรมดาเดินจงกรมฝ่าเท้าแตก ต้องมีเครื่องพาท่านหมุน เราก็เอาความรู้ขี้หมูราขี้หมาแห้งเรานี่ก็น่าจะเทียบได้ เทียบแบบของเรา ตั้งแต่เราอยู่พื้นแผ่นดินเรายังมองขึ้นไปพระอาทิตย์สูงๆ ได้ อันนี้ทำไมเราต่ำๆ เราจะพูดถึงเรื่องธรรมพระพุทธเจ้าสูงๆ ไม่ได้ พูดเรื่องธรรมของท่านผู้มีความเพียรกล้าไม่ได้ ท่านกล้าเพราะเหตุไรเราก็ยังมีเงื่อนอันหนึ่ง เวลาถึงขั้นมันเพลินในความเพียรมันลืมจริงๆ

ลืมเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ลืมหิวลืมกระหายอะไรทั้งนั้น แม้ที่สุดน้ำก็ไม่ได้กิน ก็ไม่เคยสนใจ มีแต่จิตหมุนติ้วๆ อยู่ภายใน คิดดูซิเดินจงกรมตั้งแต่ฉันจังหันเสร็จแล้วจนกระทั่งถึงเวลาปัดกวาดนานหรือไม่นาน มันรู้เนื้อรู้ตัวเมื่อไรกับเวล่ำเวลาน่ะ นอกจากมันหมุนอยู่กับความเพียรภายในจิตติ้วๆ ทีนี้เมื่อหลายวันเข้าไปๆ ฝ่าเท้าจะไม่แตกได้ยังไง เราไม่ถึงฝ่าเท้าแตกแต่ออกร้อน โอ้โห เหมือนไฟลนแหละ พอมาถึงที่พักถึงรู้นะ ตอนนั้นไม่รู้ แดดก็ไม่รู้ร้อน มันไม่สนใจกับแดดกับฝนอะไร แต่ไม่ได้เคยตากฝนเดินจงกรม แต่ตากแดดนี่เคยแล้วเรา เอาผ้าอาบน้ำมาพับครึ่งแล้วก็มัดผูกบนศีรษะนี้

แล้วก็มาผูกใส่คาง เหลือแต่ตา เดินจงกรมกลางแจ้งทีเดียวบนไร่ร้างสวนร้างเขา เอากันอยู่นั่น ไม่มีร่มเลย ร่มไม่ร่มช่างหัวมัน ฟาดลงนั้นเลย ทำได้นะไม่สนใจกับร้อนกับหนาวอะไรเลย เพราะอันนี้มันรุนแรงภายในใจ บทเวลาถึงเวลาปัดกวาดออกจากที่มา มาเห็นกาน้ำนี่แหมมันอยากน้ำจนจะเป็นจะตายจริงๆ นะ ตอนนั้นจิตไม่ได้ออกนี่ โดดใส่กาน้ำรินน้ำฉันนี่สำลักกั้กๆ มันจะตาย ผมไม่ลืมนะ ในขณะนั้นจิตไม่ออกเสียอย่างเดียวมันหมดแหละความหิวความกระหาย ทีนี้เรื่องการเดินจงกรมว่าฝ่าเท้าแตกผมไม่สงสัย เพราะเหตุนี้พาให้แตก ท่านก็เร่งของท่านอย่างนั้นถึงขั้นเพลิน

ส่วนที่จะบังคับเอานั้นก็มีส่วนแต่น้อยมาก ส่วนเป็นไปตามหลักอัตโนมัติหลักธรรมชาติแห่งความเพียรของท่านในขั้นสติปัญญาอัตโนมัตินี้ผมยอมรับทันทีร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นไปได้ฝ่าเท้าแตกไม่สงสัย เพราะมันบอกอยู่ในตัวแล้วนี่ มันลืมไปหมดเรื่องความหิวความกระหายอะไร หมากพลูบุหรี่อะไรอย่ามายุ่งเลยมันไม่สนใจ อย่าเข้าใจว่ามันจะมาคิดเลยนะ อย่างหมากพลูนี้เหมือนกันผมบางที ๖ เดือน ๗ เดือนก็ไม่แตะ บางทีเกือบปีก็มีเวลาประกอบความเพียรนี่นะ ในพรรษาบางพรรษาไม่เคยแตะสักคำเดียวก็มี ฉันไปอย่างนั้นแหละ อันนี้ก็ทำไปอย่างนั้น จะหยุดเมื่อไรมีปัญหาอะไร

นี่เราก็เห็นว่าทางเดินของศรัทธาญาติโยมที่เป็นบุญเป็นกุศลของเขา มาตามกำลังศรัทธาของเขาเราก็ทำไปอย่างนั้น เพราะไม่เห็นมีอะไรเสียหายนี่ การฉันหมากนี่เสียอะไรเราก็คิดแล้ว เราพิจารณาอยู่แล้วไม่เห็นมีอะไรเสียหายทางมารยาทความประพฤติหน้าที่การงานอะไรไม่เห็นเสียหาย จะพาให้ล่มจมอะไรก็ไม่มี คิดไปหมดไม่ใช่เราไม่คิด เพราะฉะนั้นเวลาไปอังกฤษจึงได้สั่งทันทีเลย พวกลูกศิษย์ลูกหาในดอนเมืองเขาจะส่งหมากพลูบุหรี่ไปให้เป็นกล่องๆ เขาว่าไม่เสียเงิน จะส่งให้ถึงที่เลย เจ้าหน้าที่ของเขาทางโน้นมี โอ๊ย อย่าส่ง

เขาเอามาเป็นลังๆ เอามาๆ เอามาเดี๋ยวนี้เราจะเปิดฉันเดี๋ยวนี้แล้วเอาไปถวายพระวัดไหนๆ ก็แล้วแต่นะ จะฉันให้ทุกกล่องๆ นั่นแหละ นี่เป็นคำสุดท้าย ห้ามไม่ให้ส่งไปเป็นอันขาด นี่เป็นคำสุดท้าย เพียงเท่านี้หยุดไม่ได้สอนคนให้เป็นประโยชน์อะไร แล้วอย่าส่งไปเป็นอันขาดนะ ส่งไปก็ไม่แตะถ้าลงว่าไม่ฉันแล้วนะ ใครจะกล้าส่งเมื่อพูดอย่างเด็ดขาดแล้วเราจริงอย่างนั้นด้วย ส่งไปก็ไม่เกิดประโยชน์ไม่แตะเลยจริงๆ นี่ ถ้าลงว่าหยุดๆ จริงๆ พอมาลงดอนเมืองนี้ โอ๋ย พวกนี้พวกเข้านอกออกในเต็มอยู่สนามนั่นแล้ว ก็มีแต่เมียเจ้าเมียนายใหญ่ๆ โตๆ เข้านอกออกในได้หมด

พอเรือบินมาจอดลานบินเท่านั้นละ อาจารย์อยู่ไหนๆ ยุ่ง เสียงจอแจๆ คนนั้นก็ยกจานหมากๆ เหมือนเราหิวเราโหยจะตายมาจากที่ไหน คนนั้นก็ยื่นคนนี้ก็ยื่น จะให้รับของใครก่อนใครหลัง เต็มข้างเรือบิน เขาคิดว่าเราจะหิวจะโหย เราจะมีอะไร เป็นอย่างงั้น ทำไปอย่างงั้นแหละ สมมุตินิยมอันไหนไม่ขัดข้องไม่เป็นข้าศึกต่อธรรมต่อวินัยเราก็พิจารณาซิ จะให้ฆราวาสเขามาสอนเราทำไม จะว่าเป็นทิฐิมานะเราก็ไม่เห็นมี ห้ามพระสูบบุหรี่ ฉันหมากบ้างอะไรๆ พูดตำหนิติเตียนพระอย่างนั้นอย่างนี้ ตัวที่มันตำหนิมันละอะไรได้บ้างล่ะ มันไม่อายเจ้าของบ้างเหรอ มาหาเกาที่ไม่คัน ไอ้ตรงที่มันคันๆ ทำไมไม่เกาบ้างให้มันหายคัน ถ้าสนใจเกาเจ้าของบ้างมันจะดีนี่นะ พูดขายเจ้าของเปล่าๆ



.............................................................

คัดลอกจาก
http://www.dharma-gateway.com/
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง