Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 สติควบคุมจิต (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 01 เม.ย.2006, 1:13 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

สติควบคุมจิต
โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

แสดง ณ วัดหินหมากเป้ง
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
พ.ศ. ๒๕๑๗



สติควบคุมจิต นั่นคือ รวบรวมจิตให้อยู่ในอำนาจของสติทุกอิริยาบถ ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน การเคลื่อนไหวไปมา แม้จะคิด จะพูด จะทำก็ให้มีสติปกครองจิตไว้ให้มันรู้เท่าต่อการกระทำของเราทุกอย่าง ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายได้รับสัมผัส จิตได้รับอารมณ์ ต้องให้มีสติรู้เท่าทันตลอดเวลา เมื่อผัสสะกระทบให้มีสติรู้เท่าทันอย่าให้มันซึมลงถึงจิตได้

ถ้าเผลอสติเมื่อไรจะรู้สึกฟุ้งซ่านรำคาญหงุดหงิดส่งส่ายไปตามเรื่องที่มากระทบ เป็นกุศลบ้างอกุศลบ้าง โดยส่วนมากแล้วจิตของเรามันเอนเอียงไหลไปทางอกุศล เกิดเดือดร้อนเศร้าหมองขุ่นมัว บางทีก็หลงไหลเพลิดเพลินไปตามสิ่งภายนอกอยู่เรื่อย จิตมีแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง นาทีผ่านไป ชั่วโมงผ่านไป แล้วก็วันหนึ่ง คืนหนึ่ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่งผ่านไปโดยไม่มีอะไรเป็นสาระที่ระลึกได้เลย จะระลึกอะไรมาเป็นที่พึ่งก็ไม่ได้ เพราะว่าจิตของเราไม่เคยฝึกอบรมให้ระลึกเช่นนั้น เคยแต่อยากได้อันนี้มากๆ เมื่อได้อันนี้แล้วแทนที่จะสบายมีพอแล้ว ก็ไม่พอ อยากได้อันอื่นอีก เลยไม่มีวันพอ ก็เลยตายก่อน

ทีนี้พอถึงเวลาจะตาย เราไม่ให้จิตติดข้องได้อย่างไรเล่า ในเมื่อเราไม่ได้ฝึกฝนสติอบรมจิตไว้เสียก่อนแก่ ก่อนเจ็บ ก่อนตาย แล้วจะกะเกณฑ์ให้จิตที่มันติดข้องยุ่งอยู่กับเรื่องของกิเลสตัณหาอย่างหนาแน่นวางได้อย่างไร จิตเช่นนี้ถ้าตายแล้วก็ต้องจมอยู่ในกิเลสตัณหาอย่างแน่นอน เพราะว่ามันไม่ได้อบรมในทางกุศล มีแต่ส่งจิตไปตามความอยากได้ อยากดี อยากมั่ง อยากมี เลยเพลิดเพลินไปตามความอยากอยู่เรื่อยไป ไม่มีสติจะมองเข้ามาในตัวตนของเราสักที มีแต่เดือดร้อนวุ่นวายส่งส่ายไปตามความอยากจนลืมตัว ไม่รู้ตัวว่าแก่เท่าไรแล้ว ยิ่งแก่ก็ยิ่งมีความอยากมาก แบบนี้เรียกว่า แก่ไปทางกิเลสตัณหาอย่างไม่รู้ตัวว่าแก่

ใครเล่าจะมาแก้กิเลสตัณหาให้เราได้ ถ้าเราไม่รู้ของเราเองใครจะมารู้ให้เรา เราต้องสำนึกเอาเอง เมื่อเรามีความขัดข้องหมองใจ เดือดร้อน ขุ่นมัว มันติดข้องอยู่ในจิตของเราหมดทุกอย่าง เราหามาถมจิตใจของเราเองทั้งนั้น มีเงินมีทอง มีที่ดิน มีบ้าน มีของเท่าไรก็ไม่อิ่มไม่พอ เรื่องของกิเลสตัณหานี้น่ากลัวมากที่สุด มันจะพาเราตายจมอยู่ในกิเลสตัณหา มันพาเราเดือดร้อนวุ่นวายอยู่ในกองทุกข์ทุกวันนี้ ก็เพราะว่าจิตของเรามันหลงใหลอยู่ในกาม หลงยึดหลงถือเอาไว้ว่าเป็นตัวเราตัวเขากันอยู่ทั้งโลก

แย่งกัน ด่าว่ากัน ถกเถียงกันยังไม่พอ จิตที่ผูกพยาบาทอาฆาตจองเวรไว้ตั้งแต่ครั้งก่อนโน้น เกิดมาในชาตินี้ก็มาหลงเอาของเก่า มาแย่งชิงกัน ด่าว่ากัน ฆ่าตีกันจนล้มตายมากมายเหลือหลายอยู่ในโลกอันนี้นับไม่ถ้วนเลย ฝ่ายอกุศลมันหมุนวนอยู่ในห้วงของกาม มันติดข้องผูกพันอยู่ หาวิธีแก้ได้ยาก มันเหนียวแน่นอย่างแกะได้ยากที่สุด เพราะมันเกี่ยงเนื่องอยู่ใน กามภพ รูปภพ และอรูปภพ จิตของเราติดอยู่ในภพทั้งสามนี้แหละ จึงออกจากทุกข์ได้ยาก

ที่ว่าหาวิธีแก้ได้ยากเพราะว่าเราไม่รู้จักทุกข์อย่างจริงจัง ถ้าเราทำให้มันถึงทุกข์ ได้ต่อสู้กับทุกข์ ได้ชนะทุกข์มาแล้วจึงจะรู้วิธีออกจากทุกข์มาได้ หากเราไม่ทำให้มันถึงทุกข์ จะเห็นทุกข์ได้อย่างไร
เพราะว่าเราไม่ทันพบทุกข์ก็ไม่รู้จักทุกข์อย่างแท้จริง ถ้าไม่ได้ต่อสู้กับทุกข์เสียก่อนแล้ว เราจะรู้วิธีออกจากทุกข์ได้อย่างไรหนอ เปรียบเหมือนเรายังเดินทางไม่ถึงที่หมายเราจะไปรู้จักได้อย่างไร ฉะนั้นเราผู้อยากจะพ้นทุกข์ ต้องทำให้มันถึงทุกข์ได้ต่อสู้กับทุกข์ ชนะทุกข์ได้แล้ว มันจึงพ้นทุกข์ เป็นปัจจัตตัง ผู้ประพฤติปฏิบัติในอรรถในธรรมรู้เองเห็นเอง ถ้าทำแท้ทำจริง ไม่เผลอสติ มีสติรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นมานั้น มันค่อยผ่อนจากหนักเป็นเบา รู้เท่าทันดีขึ้น


(มีต่อ ๑)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 01 เม.ย.2006, 1:15 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอให้มีศรัทธา ทำทานไปเรื่อย ทั้งทานภายนอกทานภายใน รักษาศีล คือ รักษากาย วาจา และใจให้มันเป็นปกติหรือรักษาจิตนั่นเอง คอยมีสติปกครองจิตใจ สิ่งใดไม่ควรคิดก็ไม่คิด สิ่งใดไม่ควรพูดก็ไม่พูด สิ่งใดไม่ควรทำก็ไม่ทำ เพราะเรามีสติรู้อยู่ว่าเราเป็นผู้มีศีล เราไม่ควรคิดไปทางอกุศล เช่น พูดเท็จ พูดคำหยาบ ด่าว่าเสียดสี พูดเพ้อเจ้อ พูดไม่มีเหตุผล ทางกายก็ไปฆ่าสัตว์ ลักขโมยของคนอื่นมาเป็นของตนเป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นอกุศลผิดหลักของศีลทั้งนั้น

หากว่าจิตของเรามันยังอยากจะคิดอย่างนี้ พูดอย่างนี้ ทำอย่างนี้อยู่แล้ว ก็แปลว่า เรายังอยากก่อกรรมก่อเวรใส่ตัวเราเองทั้งนั้น คนอื่นไม่ได้มาทำให้เราเลย กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่มีอยู่นี้ล้วนแล้วแต่เป็นของเราทำไว้เองทั้งหมด คนอื่นมาแบ่งมาปันให้เราได้เมื่อไรต่างคนต่างทำใส่ตัวเองมาทั้งนั้น กุศลและอกุศลมันเกิดขึ้นสัมผัสจิตของเราเอง ถ้าเรามีสติดีมันก็หมุนไปตามกุศลกรรม คิดแต่ทางดี ไม่คิดอิจฉาริษยาใครทั้งหมด มีแต่คิดเมตตาสงสารต่อเพื่อนมนุษย์ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากลำบากด้วยกัน คิดอยากเกื้อกูลอุดหนุนเขาไปตามสติกำลังของเราที่จะทำได้ จิตอันนี้คิดเป็นกุศล ถ้ามีผู้มาด่าว่าเบียดเบียนเสียดสี จิตดวงนั้นมันก็คิดได้ว่าเป็นกรรมเก่าของเรา

มันก็ทำทานไปหมด ไม่ติดต่อกรรมเก่าไว้ต่อไปอีก ไม่มีเรื่องของกรรมเก่ากรรมใหม่ ตั้งหน้าสร้างแต่กรรมดี คิดแต่ทางดี พูดแต่ทางดี ทำแต่ทางดี มันดีมาจากจิตทั้งนั้น จิตดีพูดออกมาก็ดี การกระทำทางกายก็ดี ถ้ากายดี วาจาดี จิตดี แล้วเราจะไปหาดีจากที่ไหนอีกเล่า ความดีมันก็อยู่ที่จิตของเราเอง ความชั่วมันก็อยู่ที่จิตของเราเอง ถ้าเรารู้จักชั่วว่ามันจะพาเราชั่วเสียหาย ก็ให้เรามีสติละชั่ว ทำแต่ทางดี ก็เป็นบุญ ถ้าว่าบุญมีแล้ว ทำอันใดก็ได้ง่าย ไม่มีเวรไม่มีภัย เราเป็นผู้ไม่ก่อเวร เราก็ไม่มีเวร เราไม่ก่อภัย เราก็ไม่ภัย เราไม่ก่อกรรม เราก็ไม่มีกรรม เราทุกคนเกิดมารับผลของกรรมเก่าของเราที่ทำมาแล้วทั้งนั้น

ฉะนั้น เราต้องตั้งสติให้มั่นคง เพื่อจะได้มองเข้ามาตรวจดูต้นสายปลายเหตุที่เป็นภัยของจิตที่มันติดข้องอยู่ พาให้เราเป็นทุกข์อยู่ในภพทั้งสามนี้เอง กามภพ คือ จิตมันหลงติดอยู่ในกามติดรูปของเราเอง จิตของเรามันหลงยึดถือว่าเป็นตัวตนอย่างจริงจัง แล้วรูปภพมันก็เกี่ยวเนื่องกันมา มีตามันเห็นก็ไปติดรูปที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณ มันพันเกี่ยวเนื่องกันมาหมด ทุกอย่างเปรียบเหมือนมัดวัวไว้กับหลัก หลักก็ติดวัว วัวก็ติดหลักผูกพันอยู่เป็นคู่กันไป เรื่องของโลกมันเป็นอยู่อย่างนั้นไม่สิ้นไม่สุดลงได้ ยืดยาวแบบนี้ เดี๋ยวเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวก็เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวเย็น เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้สลับกันอยู่อย่างนั้นเรื่อยไปน่าเบื่อหน่าย มีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวายไม่มีความสงบระงับได้เลย ถ้าเราไม่พินิจพิจารณาเรื่องของโลกให้มันเห็นแจ้ง เห็นชัดแยบคายอย่างถี่ถ้วนแล้ว เรื่องต่างๆ มันก็เป็นพืชพันธุ์ผสมอยู่ในดวงจิตอย่างมองเห็นได้ยาก

เปรียบเหมือนเราจะดับไฟ แทนที่จะดับด้วยน้ำ เราเผลอสติเอาขี้ขยะมาถมไฟ หรือขี้แกลบมาถมเพื่อให้เชื้อไฟมันดับ อย่าหวังว่ามันจะดับได้เลย เชื้อของไฟมันยิ่งเพิ่มพูนขึ้นฉันใด เรื่องของกิเลสตัณหาที่มันข้องอยู่ในจิตของเรามาแล้วนับภพนับชาติไม่ได้ เราจะมาประพฤติปฏิบัติเพียงนิดหน่อย จะให้มันพ้นไปได้อย่างไร ไม่ใช่ว่าเป็นของง่าย และก็ไม่ใช่ว่าเป็นของยากจนเหลือวิสัย ขอแต่ให้เราทำแท้ทำจริงอบรมสติปัญญาของเราให้แก่กล้ายิ่งๆ ขึ้นไป พิจารณาสอดส่องให้รู้จริงเห็นแจ้งในสภาพเหล่านี้ จึงจะรู้จักของจริง

ธาตุทั้งสี่มันก็แตกสลายเสื่อมโทรมลงไปทุกลมหายใจเข้าออกอยู่เป็นนิจ เราไม่ได้พิจารณาดูให้เห็นความเสื่อมก็เลยกลับเห็นว่าเป็นของสวยของงามไปหมด จึงมีความรักใคร่กำหนัดยินดีหลงยึดหลงถือว่าเป็นของจริงของเที่ยง ที่แท้แล้วมันเป็นของเท็จหลอกลวง ของไม่เที่ยงทั้งนั้นไม่มั่นคงถาวรอยู่ได้เลย เกิดมาแล้วมีแต่เสื่อมสิ้นไป สิ่งเหล่านี้มันเป็นเครื่องปิดกั้นให้อยู่ในกองทุกข์กองไฟทั้งนั้น ล่อให้เราหลงมัวเมา เสียเวลาไปพิจารณาแต่เรื่องภายนอก ไปดูแต่รูปอื่น ฟังเสียงอื่นอยู่เรื่อยไป เพลิดเพลินอยู่กับสิ่งภายนอกจนเฒ่าจนแก่จนตายมามากมายเหลือหลายในโลกนี้ ติดข้องวุ่นวายอยู่ด้วยกันทั้งหมดคนที่มัวเมาอยู่กับกิเลสตัณหานี้นับวันแต่จะมืดเข้าทุกที ไม่มีวันหายได้เลย แก่ไปเท่าใดยิ่งติดข้องมากขึ้น มีลูกก็ติดข้องอยู่กับลูก มีหลานก็ติดข้องอยู่กับหลาน มีเหลนก็ติดข้องอยู่กับเหลนไปไหนมาไหนก็ไม่ได้ แก่แล้วอยู่กับลูกกับหลานกับเหลนกับบ้านกับของ อยู่กับเงินกับทอง แล้วก็ตาย

เราตายแล้วจะไปไหนกันแน่ เราต้องตรวจดูให้ละเอียด จึงจะรู้เห็นด้วยตนเองว่า เมื่อจิตมันติดข้องยึดถืออันใดไว้ เราก็รู้จิตของเราไม่ติดข้องไม่ยึดถือเราก็รู้ ถ้าว่าเรามีสติรู้เท่าอยู่ได้เสมอไป มันก็ค่อยปล่อยค่อยละวางไปทีละเล็กละน้อย จะค่อยเบาบางลงไป จะได้เห็นแจ้งชัดขึ้นมาว่า ในตัวตนของเราของเขานั้นมันไม่มีอันใดจะเที่ยงแท้แน่นอนสักอย่างเดียว เป็นแต่เพียงอาศัยกันสืบไปจนวันตายเท่านั้น แล้วก็เป็นของคนอื่นไป หมุนวนเกี่ยวเนื่องกันอยู่อย่างนั้นไม่สิ้นไม่สุด เรื่องของจิตมันติดข้องหลายสิ่งหลายอย่าง เพราะฉะนั้นเราต้องประพฤติปฏิบัติให้มันเคร่งครัด เพื่อให้กิเลสตัณหามันเบาบางลงไปในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่นี้ ต้องประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อดับทุกข์ดับกิเลส


(มีต่อ ๒)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 01 เม.ย.2006, 1:16 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

เรื่องโรคของกายของจิตมันติดข้องผูกพันกันอยู่ โรคทางกายเราก็ต้องรักษาพยาบาลให้มันหายขาด ถ้ามันไม่หายตายไปก็เผาไฟหรือฝังดินมันก็หายขาดได้ แต่โรคของจิตไม่เป็นอย่างนั้น หาวิธีแก้ได้ยากที่สุด เรื่องของกิเลสมันมีอำนาจมาก ทั้งเกิดขึ้นได้ง่ายและว่องไวที่สุด เราต้องพิจารณาให้มันเห็นกองทุกข์ของกิเลส คือ ความเร่าร้อนเศร้าหมองขุ่นมัวที่มันเกิดขึ้นภายในจิตของเรา เมื่อเห็นแล้วก็ต้องตั้งสติปัญญาซักฟอกชำระสะสางให้จิตใจของเราบริสุทธิ์สะอาด จะได้มีความเยือกเย็นไม่มีความเดือดร้อนเศร้าหมองขุ่นมัว

เป็นเรื่องที่จะต้องใช้สติปัญญาเป็นเครื่องรู้เครื่องวัดสติปัญญาของเราที่ทำมาแล้ว ถ้ามันมีความเห็นผิดอยู่มันก็หลอกเรา หลอกให้คิด ให้พูด ให้ทำไปตามเรื่องที่ผิดอยู่อย่างนั้น หากเราไม่แก้ความหลงด้วยสติปัญญาให้มันเบาบางลงไปแล้ว เราก็ตายเปล่า คือ จะได้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในห้วงของกามเรื่อยไป ถ้าเราเกิดมาอีกก็มาเอาของเก่า มาหลงยึดหลงถือเอาของเก่า มาเอาดิน, น้ำ, ไฟ, ลมมาเป็นตนตัวมายึดถือไว้จะไม่ให้มันแก่ มันเจ็บ มันตาย ก็เลยเกิดทุกข์ขึ้นกับตัว ประเดี๋ยวก็สุขเกิดขึ้น ประเดี๋ยวก็เฉยๆ ประเดี๋ยวก็ทำดีประเดี๋ยวก็ทำชั่ว เอามาปรุงมาแต่งนึกคิดอยู่อย่างนั้นเรื่อยไปไม่สิ้นปรุงไปทางอดีตและอนาคต เดินมันก็ปรุง ยืนมันก็ปรุง นั่งมันก็ปรุง นอนมันก็ปรุงแต่งอยู่อย่างนั้น มันไม่อยู่เป็นปกติได้เลย เรื่องของจิตนั้นเมื่อเราพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงอย่างชัดเจน แล้วอารมณ์ต่างๆ จะดับสลายไปเอง เหลือแต่ความว่างแทนที่

เราไม่ควรเสียเวลาไปพิจารณาแต่เรื่องภายนอก ควรกลับเข้ามาพิจารณาภายในตัวตนของเรานี้ มองเข้าไปดูจิตให้รู้แจ้งเห็นจริงให้ได้ สติปัญญาที่เกิดจากการฝึกฝนอบรมพิจารณาตัวเองนี้เปรียบเหมือนกับของที่มีคมสามารถตัดกิเลสตัณหาให้มันขาดไปได้เป็นชั้นๆ ถ้าเราไม่เผลอสติมีสมาธิมั่นคง มันก็ตัดได้ ขั้นแรกเราต้องมีสติฝึกฝนอบรมจิตให้สงบระงับ ให้มันเป็นเรือนที่อยู่ของจิต ให้จิตของเราอยู่ในอำนาจของสติ แล้วก็คอยมองแต่จิตของตัวเองอยู่ทุกอิริยาบท เมื่ออายตนะผัสสะสัมผัสกัน อะไรจะเกิดขึ้นมาก็เห็นว่ามันไม่เที่ยง เกิดแล้วก็ดับไป จิตก็เป็นปกติรู้อยู่อย่างนั้น แล้วก็พิจารณาอยู่ทุกอิริยาบท

ขณะไหนจิตมีความตั้งมั่นได้เป็นระยะนาน มีสติมั่นคงอยู่อารมณ์อันเดียวจะมีกำลังใหญ่ให้รู้แจ้งเห็นจริงขึ้นมาได้ เราไม่ต้องคิดว่าไม่รู้ ไม่เห็นไม่เป็น ว่าแต่ทำให้มันแท้ให้มันจริง มันก็จะรู้จะเห็นของจริง มีความสุขความสบายเอิบอิ่ม เบากายเบาจิต เพราะจิตมันวางจากกิเลสตัณหาได้ชั่วขณะหนึ่งก็ยังดีกว่ามาทำกรรมไว้ ไม่ปล่อย ไม่วาง ไม่สะสางให้สะอาด ดีแต่ปล่อยให้จิตของเราสกปรกเพลิดเพลินไปตามกิเลสตัณหาหลงมัวเมาลืมตัวจนวันตาย

จิตไม่มีตัวเราของเรา กายก็เป็นธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ประกอบเข้าเป็นตนเป็นตัวขึ้นมา แล้วไม่นานก็แตกสลายลงไปสู่สภาพเดิมของเขาหมดทุกอย่าง

เมื่อเราได้ค้นคิดพิจารณาเห็นเป็นชิ้นเป็นอันไปหมดดังกล่าวแล้วก็เห็นว่าเป็นหน้าที่ของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาไม่เที่ยงจริงๆ มันหมุนอยู่เรื่อยไปจึงไม่ใช่ของใคร เพราะว่าจิตของเราไม่รู้จักว่าเป็นของไม่เที่ยงมันจึงหลงไปยึดถือเอาของไม่เที่ยงจะให้มันเที่ยงก็เป็นทุกข์อยูร่ำไป เกิดมาตายเปล่าไม่มีคุณความดีติดตัวเลย น่าเสียดายเกิดมาแล้วขาดทุน ปล่อยให้จิตเรรวนไปตามความชั่วความเสียหายอยู่เรื่อยๆ

วันคืนเดือนปีผ่านไปไม่ได้อะไรเป็นที่พึ่ง ไม่ได้ทำความดีให้ตัวเลย มีแต่หลงมัวเมาอยู่กับสิ่งภายนอกแล้วก็ตายไปอย่างน่าเสียดาย ไม่มีทาน ศีล ภาวนาอันใดเลย เดือนหนึ่งมีวันพระอยู่ ๔ วันเท่านั้น จะสละมาวัดมารักษากาย วาจา จิต ให้มันว่างจากตัณหาสักวันหนึ่งคืนหนึ่งก็ไม่ได้ มีแต่ติดข้องอยู่กับลูก กับหลาน กับบ้าน กับของ อยู่กับเงินกับทอง ติดข้องอยู่อย่างนั้นตลอดไป นี่แหละเรื่องกิเลสตัณหานี้มันผูกรัดติดต่อกันไม่ให้มีโอกาสเวลาทำความดีได้ อยากได้อันนี้ เมื่อได้อันนี้มาแล้วยังอยากได้อันนั้น ได้อันนั้นมาแล้ว ยังอันโน้นอีกต่อๆ กันไป ไม่มีวันจะพอ มีแต่ความติดข้อง วุ่นวายส่งส่าย เผาร้อนอยู่อย่างนั้นทั้งวันทั้งคืน ถึงกายมันจะพักผ่อนอยู่ก็ตาม แต่จิตมันไม่ได้พัก คิดปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หยุดพักผ่อนเหมือนกาย

เมื่อเราตายแล้วเขาเอาไปเผาไฟ หรือฝังดินก็หมดเรื่องของกาย แต่จิตมันเป็นโรคติดต่อเรื้อรังสืบภพสืบชาติไว้เป็นที่น่ากลัวมากที่สุด เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าใจเรื่องที่อธิบายมานี้แล้ว เราควรหันกลับมาอบรมฝึกหัดดัดนิสัยจิตของเราที่แต่ก่อนมันเคยคิดไปตามความโลภ ความโกรธ ความหลง บัดนี้เรามาฝึกฝนอบรมจิตให้คิดแต่ทางดี

ไม่คิดอิจฉาริษยาใครทั้งหมด เป็นผู้มีเมตตาอารีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่มีแม้แต่ด่าว่าเสียดสีใครทั้งนั้น มีศีลธรรมประจำจิต กายก็เป็นปกติ วาจาก็เป็นปกติ ไม่หาเรื่องเดือดร้อนวุ่นวายกับใคร ถ้ามีผู้มาด่าว่าเสียดสีก็ต้อง ให้มีสติกำหนดอยู่ในลมหายใจเข้าออก หรือจะเพ่งอยู่กับพุทโธก็ได้ เพื่อไม่ให้จิตของเราไปเก็บเอาอารมณ์ที่ไม่ดีนั้นมา ทำให้จิตของเราเศร้าหมอง ขุ่นมัว วุ่นวาย ต้องให้สติปกครองจิตไว้อย่างมั่งคง ไม่ให้จิตเคลื่อนไหวเอนเอียงไปตามดีและชั่ว เรื่องที่มันเกิดขึ้นนั้นมันก็ดับไปเอง เพราะว่าเราไม่ได้ติดต่อไว้ ก็ไม่มีอะไรจะมาเกี่ยวข้องกับเราได้เลย จิตจะได้ว่างจากเครื่องกระทบกระเทือน เพราะว่าเรามีหลักยึดได้แล้วสติก็ละเอียดเข้าไป สมาธิก็มั่นคงยิ่งๆ ขึ้นไป มีปิติความเอิบอิ่มสบาย กายก็เบา จิตก็สะอาดเยือกเย็น อย่างนี้เรียกว่า ให้อาหารจิต

จิตก็มีความแช่มชื่น เบิกบาน มีความอิ่มหนำสำราญ มีกำลัง ประพฤติเช่นนี้เป็นการ เลี้ยงชีวิตชอบ ปัญญาเห็นชอบ คือ เห็นอยู่ในตัวของเรานี้ ตัวของเราก็คือสมุทัย จิตมันหลงก็หลงอยู่ในตัวสมุทัยนี้ และทุกข์มันมาจากตัวตนของเรานี่แหละ หากว่าจิตมันยังหลงยึดถือว่าตัวตนของเราอยู่แล้ว จำเป็นต้องมีทุกข์อยู่เรื่อยไป เพราะฉะนั้นควรฝึกฝนสติปัญญาของเราให้แก่กล้าเพื่อจะทนต่ออารมณ์ สู้กับทุกขเวทนาที่มันเกิดขึ้นมาสัมผัสจิตของเราให้เศร้าหมองขุ่นมัว อบรมให้มี สติปกครองจิต ให้ชำนิชำนาญ

เวลาตาเห็นรูปก็ให้รู้เพียงแค่ตา หูได้ยินเสียงให้รู้เพียงแค่หู จมูกได้กลิ่นให้รู้เพียงแค่กลิ่น ลิ้นได้รสให้รู้เพียงแค่ลิ้น กายสัมผัสก็ให้รู้เพียงแค่กาย อย่าให้มันซึมลงถึงจิต เพียงแต่รับรู้ว่าสัมผัสเกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป ไม่มีอันใดมารบกวนจิตของเราได้ เพระว่าสติ สมาธิมั่นคงดี ปัญญาได้ค้นคว้าเห็นเรื่องของกิเลสตัณหาที่มันพาเราเป็นทุกข์มาแต่ก่อนโน้น และได้ถูกสติปัญญาของเราทำลายลงไปเป็นเรื่องของโลกตามเดิมของเขา ปัญญาได้รื้อออกและคืนให้โลกตามเดิมหมดแล้ว ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องผูกพันอยู่ในจิตของเราต่อไป เพราะว่าสติปัญญาของเราได้ทำลายตัวตนของสมุทัยให้มันแตกออกไปเป็นธาตุสี่ ขยายธาตุสี่ออกไปเป็นอาการสามสิบสอง มันเป็นของไม่เที่ยงทั้งหมด ไม่ว่ากายนอกและกายในที่จิตของเรามาอาศัยแอบอิงอยู่ทุกวันนี้ ล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยงทั้งนั้น เพียงแต่อาศัยกันไป แล้วจะได้พลัดพรากจากกันไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง ในข้างหน้าไม่นานเลย


(มีต่อ ๓)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 01 เม.ย.2006, 1:19 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

เราไม่ควรอ้างกาลเวลา เราต้องตั้งสติให้มันเคร่งครัดลงไป ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน ทุกอิริยาบถ ให้มันมีสติอยู่เสมอทุกลมหายใจเข้าออก เราแก่อยู่ เจ็บอยู่ ตายอยู่ทุกเวลานาที

คนเราส่วนมากไม่เห็นความแก่ เจ็บ ตายอยู่ภายในตัวของเรา เห็นแต่คนอื่นแก่ คนอื่นเจ็บ คนอื่นตาย เราไม่ได้โน้มเข้ามาหาตัวเราว่า เราก็จะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเหมือนกับเขา เราไม่ได้พิจารณาในตัวเราเห็นแล้วก็แล้วไป ผ่านไป ก็เลยเห็นแต่คนอื่นเท่านั้น อันนี้เรียกว่าเป็นผู้ที่ไม่มีปัญญา มีตาไปดูก็ไม่มีผลเกิดขึ้นกับจิต มีหูไปฟังก็ไม่มีผลเกิดขึ้นกับจิต ก็เลยเป็นตาเปล่าหูเปล่า จิตที่ไม่มีสติปัญญามันก็เป็นอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป จิตคิดว่าเรายังไม่แก่ เรายังไม่เจ็บ เรายังไม่ตาย แล้วก็เพลิดเพลินอยู่กับกิเลสตัณหาอย่างไม่รู้ว่าแก่ เวลาแก่มาถึง เจ็บมาถึง ตายมาถึงตัวของเราแล้ว ทีนี้เราจะทำอย่างไรถึงจะได้หลักที่พึ่งของเราได้ คนเราเกิดมาแล้วต้องรักตนของตนเท่านั้น

ถ้าเรารักตนของเราอย่างแท้จริงแล้ว ก็ให้มีสติปกครองจิตไว้ไม่ให้คิดชั่วพูดชั่ว ทำชั่วใส่ตัวเรา ก็เป็นคนดี ดีไปหมดทุกอย่าง มีทาน ศีล ภาวนา แสวงหาทางออกจากทุกข์ มันถึงจะเป็นคนผู้รักตนอย่างแท้จริง และไม่ใช่รักแต่คนเดียวยังรักบิดามารดา รักครูบาอาจารย์ด้วย เราเป็นคนปฏิบัติดีปฏิบัติชอบฝึกฝนอบรมกาย วาจา จิตของเราดีแล้ว ก็แปลว่า ผู้นั้นเป็นผู้รักษาพระศาสนาของพระพุทธเจ้าไว้ให้มั่นคงถาวรอยู่ได้ ไม่ให้พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสื่อมสูญไป

เพราะว่าพระองค์ทรงบัญญัติพระธรรมไว้ให้เอามาประพฤติปฏิบัติกาย วาจา จิตของเรา ไม่ให้มัวเมาหลงใหลอยู่กับกิเลสตัณหานี้จนเกินไป ทรงสอนให้เรามีสติมองเข้ามาดูจิตมันติดข้องที่ไหน เราจะได้แก้ไขตรงที่มันติดข้องอยู่นั้น เพื่อให้มันล่วงลงถึงใจดวงเดิมได้

ถ้าสติ สมาธิไม่มั่นคง มันก็หลงไปติดข้องอยู่ใน กามฉันทะ มีความรักใคร่ยินดีอยู่ในกาม ถ้าตาเห็นรูปที่ไม่ดี หูได้ยินเสียงที่ไม่เพราะ จิตของเราก็เศร้าหมองขุ่นมัว เรียกว่า พยาบาท เจ้าของเพราะว่าไม่มีสติปัญญาจะชำระจิตใจให้สะอาด ถ้าพิจารณาอันใดก็ไม่แจ้งไม่ชัด ตื้อไปหมดอันนี้เรียกว่า ถีนมิทธะ เมื่อพิจารณาไม่แจ้งไม่ชัดจึงไม่สิ้นความสงสัยได้รียกว่า วิจิกิจฉา ติดข้องอยู่เรื่อย ไปทำบ้างไม่ทำบ้างลูบๆ คลำๆ เรียกว่า สีลัพพตปรามาส เพราะว่าจิตมันเกี่ยวเนื่องอยู่ในกาม มันก็เป็นนิวรณ์ข้องอยู่ใน กามฉันทะ มีความรักใคร่ยินดีอยู่ในตนในตัว หลงถือเอาไว้ เดี๋ยวมันก็เกิดทุกข์ขึ้น เดี๋ยวมันก็เกิดสุขขึ้น เดี๋ยวมันก็เฉยๆ เดี๋ยวก็จำโน่นจำนี่ จำอดีตอนาคต จำผิดจำถูกเอามาปรุงมาแต่งว่าดีว่าชั่ว มันหมุนกันอยู่เกี่ยวข้องกันอยู่ในกาม จึงได้เรียกว่า นิวรณ์ห้า เพราะว่ามันเกี่ยวข้องกันอยู่ทั้งห้าอย่าง มันจึงไม่โยกคลอน ถอนได้ยากที่สุด หากว่าจิตมันยังหลงยึดหลงถือว่าตัวกูของกูอยู่แล้ว ก็แปลว่าจิตของเรายังมีภพมีชาติอยู่ต่อไป เพราะว่าเราไม่ได้แก้ไขกันให้ทันเวลาไว้ก่อนตั้งแต่ยังไม่แก่ไม่เจ็บ

เราต้องเตรียมตัวอบรมฝึกฝนให้มีสติปัญญาแก่กล้า มีความสามารถอาจหาญ ไม่ท้อแท้อ่อนแอ ไม่ถอยหลังได้เลย มีแต่ตั้งสติสมาธิให้มั่นคงยิ่งๆ ขึ้นไป จะได้เกิดปัญญาเห็นแจ้งเห็นชัดขึ้นมาจากจิตของเราเองทั้งนั้น มีทั้งดีทั้งชั่วอยู่ที่ในตัวเรา ถ้าว่าสติสมาธิแก่กล้า มีความสามารถอาจหาญตัดรอนกำลังของกิเลสตัณหาลงได้ เรียกว่า เอกัคคตารมณ์ มีอารมณ์อันเดียว ไม่ปรุงแต่ง

สิ่งใดเกิดขึ้นในขณะนั้นสติปัญญาทำลายลงสู่สภาพเดิมของโลก ไม่มีอะไรที่มาเกี่ยวข้องผูกพันกับใจ ที่มันเป็นอยู่เป็นปกติของใจ เปรียบเหมือนกับน้ำมันที่เข้ากันไม่ได้เป็น เอกัคตาจิต จิตเป็นเอก จิตสูงกว่าเหนือกว่ากิเลสตัณหา จิตดวงนั้นไม่เป็นทาสของกิเลสตัณหาอีกต่อไป เรียกว่า จิตสูงกว่าโลก ความเป็นจริงนั้นอยู่กับโลก แต่ไม่เป็นไปกับโลก

เรื่องของโลกมันก็เป็นเรื่องของโลกอยู่แล้ว แม้เราไม่เกิดมามันก็มีอยู่อย่างนี้แต่ไหนแต่ไรมา ถ้าเรารู้รอบรู้ทั่วแล้วเราก็ปล่อยวางไว้กับโลกตามเดิม หรือคืนให้โลกเขาหมดทุกอย่าง เหลือแต่จิตที่บริสุทธิ์ผุดผ่องด้วยกำลังของสติปัญญาแก่กล้า ตัดกระแสนิวรณ์ได้ถึงใจเดิม เรียกว่า จิตถึงศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ มันก็สิ้นความสงสัยหมดทุกอย่าง

แม้ว่าทีหลังมันจะติดข้องในที่ไหนเราก็ต้องใช้สติปัญญาตรวจค้นดูให้มันละเอียดถี่ถ้วนเข้าไป ไม่ให้มันเศร้าหมองขุ่นมัวอยู่กับเรื่องโลกชำระสะสางให้มันสะอาดอยู่เรื่อยไป ถ้าว่าสมาธิมั่นคงเข้า ไปเท่าไร ยิ่งหนักแน่นมีแยบคายเบื่อหน่ายกับเรื่องของโลกเท่านั้น มันวุ่นวายเดือดร้อน มีทั้งคุณมีทั้งโทษ มีทั้งบุญทั้งบาป มีทั้งสุขทั้งทุกข์ มีผิดมีถูก วุ่นวายอยู่อย่างนั้น น่าเบื่อหน่ายไม่ควรยินดีอยู่กับโลกนี้ มีแต่ของไม่เที่ยงทั้งหมด............... เอวํ



......................... เอวัง .........................

สาธุ สาธุ สาธุ
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 25 ก.พ.2013, 12:20 pm, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
Kulayaporn
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 01 เม.ย.2006, 1:20 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ
 
_supachat
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 01 เม.ย.2006, 1:22 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ช็อค ช็อค ช็อค ช็อค ช็อค

สาธุ สาธุ สาธุ สาธุ สาธุ

ของดีนั้นต้องดูเองจึงจึงจะเห็น
 
-ปุ๋ย-
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 01 เม.ย.2006, 1:23 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

.....เรื่องของโลกมันก็เป็นเรื่องของโลกอยู่แล้ว..... แม้เราไม่เกิดมามันก็มีอยู่อย่างนี้แต่ไหนแต่ไรมา ถ้าเรารู้รอบรู้ทั่วแล้วเราก็ปล่อยวางไว้กับโลกตามเดิม หรือคืนให้โลกเขาหมดทุกอย่าง.....

สาธุค่ะ.....ขอธรรมะคุ้มครองทุกท่านค่ะ สาธุ
 
adchara
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 01 เม.ย.2006, 1:24 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ยิ้ม ขอบคุณมากค่ะสำหรับเรื่องดีๆ แบบนี้

ใช้เรียกสติ เรียกจิตให้กลับมาอยู่กับตัวได้ดีขึ้น
 
บุญรักษ์
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 03 เม.ย.2006, 10:14 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอบคุณคุณ Admin มากค่ะ ธรรมะจากหลวงปู่ช่วยบรรเทาภาวะ สติแตก ยามนี้ โกรธ
 
p'tee
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 26 พ.ค.2006, 12:17 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Talk is easy to say, doing it is hard to do. I will try to concentrate my mind to focus on what, and when I am doing during the action. I am interesting in Dhamma very much.It's complexs to me, I understand that I have to look at myself first and see if I have any greedy. I think I have some greedy, nevertheless I try to be nice person.Being nice I mean, for example, I help my friends when she/ he need place to stay, no charged, by let them to stay in my home for temporally(their's home were flooding at the time).Support friends with money if I can, spent sometimes with them and listening to their problems.I don't want any typs of problem at all, but now, I have fallen inlove with some one. I am not sure this is a love or not, maybe is a greedy feeling. My mind have been disturb, and I have no peace. Fortunately, I need help from the Dhamma,to do what,I am not sure. My mind still weak for loving game.I will keep searching for the right answer. Nai phra dham nai phra sonk and nai phra koon mae lae por.Ko graup sawasdee.
 
เต๋า
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 22 มิ.ย.2006, 4:04 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอบพระคุณค่ะ

ขออนุโมทนาด้วยค่ะ
 
อ่าง
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 22 มิ.ย.2006, 11:31 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ มีอะไรดีๆ อย่างนี้นำมาให้อ่านอีกนะคะ ยิ้มเห็นฟัน
 
เซียนกรรมฐาน
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 29 ธ.ค.2006, 1:20 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

think a grandfather still don't understand 4 base senses ( yes sir ) ,
 
พรเทพคนงาม
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 19 ม.ค. 2007, 9:03 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สมกับเป็นธรรมะของพระอริยเจ้า ฟังแล้วรู้สึกว่าจิตใจยกระดับขึ้นมามากเลย สาธุครับ
 
จิตว่าง
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 23 ม.ค. 2007, 7:26 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอบคุณสำหรับกระทู้ข้างต้นนี้ ดิฉันจะนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ชีวิตดีขึ้น
 
bai_pai
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 09 ก.พ. 2008
ตอบ: 39
ที่อยู่ (จังหวัด): kyeongki-do, korea

ตอบตอบเมื่อ: 02 มี.ค.2008, 6:21 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 02 มี.ค.2008, 9:06 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

"สติปกครองจิต"
สาธุด้วยค่ะคุณ TU สาธุ ยิ้มเห็นฟัน
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
พิทรายา
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 12 ส.ค. 2007
ตอบ: 103
ที่อยู่ (จังหวัด): ชลบุรี

ตอบตอบเมื่อ: 07 มี.ค.2008, 2:19 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอบคุณมากค่ะ สาธุ สาธุ สาธุ
 

_________________
ความยึดมั่นถือมั่นทำให้เป็นทุกข์
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง