Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 หยดน้ำบนใบบัว (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 28 พ.ย.2006, 7:34 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ 29 กิจวัตรหลวงตา

ตี 3 ตื่นจากจำวัดแล้วจึงบริหารกาย ถัดจากนั้นจึงนั่งสมาธิภาวนาเรื่อยไป จนกระทั่งได้เวลารุ่งอรุณ

รุ่งอรุณ พระอุปัฏฐากหลวงตาจะเข้าไปทำหน้าที่ต่างๆ ภายในกุฏิและบริเวณโดยรอบ ช่วงเวลานี้หลวงตาท่านเองจะลงไปเดินจงกรมอยู่ในป่า (เว้นแต่มีธุระอื่นที่ควรจัดทำในเวลานี้ ท่านก็ไม่ได้เดินจงกรม) จนใกล้เวลาจะบิณฑบาต ท่านจึงออกจากทางจงกรม มากราบพระประธานและรูปภาพพ่อแม่ครูบาอาจารย์พระกรรมฐานที่ศาลา และออกบิณฑบาตในหมู่บ้านซึ่งห่างจากวัด 1 กิโลเมตร

สมัยที่สุขภาพของท่านเป็นปกติได้ บิณฑบาตร่วมสายกับพระเณรอยู่โดยสม่ำเสมอ เพิ่งจะย่นระยะทางลงเหลือเพียงแค่ชาวบ้าน 3-4 หลังคาเรือนก็ต่อเมื่อธาตุขันธ์ร่างกายท่านเริ่มทรุด ฉันอาหารไม่ค่อยได้ การพักผ่อนหลับนอนไม่เป็นปกติ ราวปี พ.ศ. 2526 นี่เอง แต่ไม่ว่าสมัยใด การออกบิณฑบาตท่านมักไปตามลำพัง โดยปล่อยให้พระเณรล่วงหน้าไปก่อน ด้วยเพราะท่านถือเป็นการเดินจงกรมไปด้วย กำหนดพิจารณาไปด้วย พิจารณาเรื่องอรรถเรื่องธรรมลึกตื้นหยาบละเอียดของธรรมบทต่างๆ แง่ต่างๆ (ต้นปี พ.ศ. 2541 นับแต่วันที่ท่านนำเครื่องอุปโภคบริโภคไปแจกโรงพยาบาลย่านจังหวัดสกลนคร และประสบอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2541 ทำให้กระดูกต้นแขนขวาแตก ท่านจึงงดออกบิณฑบาตนับแต่นั้นมา)

ฉันจังหัน เมื่อฉันเสร็จหากไม่ตรงกับวันหยุด ถ้ามีคณะศรัทธาญาติโยมมาทำบุญ แม้มีจำนวนไม่มากท่านก็เมตตาแสดงธรรมให้ฟัง แต่ถ้ามีจำเพาะผู้มาทำบุญอยู่เสมอไม่ค่อยขาด ท่านอาจพูดให้ฟังเล็กน้อยแล้วบอกให้กลับ

สำหรับวันหยุดราชการและวันพระซึ่งคนมามาก ท่านจะเทศน์อบรมเป็นประจำ แต่ในระยะปัจจุบันนี้ (ปี 2542) ท่านเมตตาเทศน์อบรมทุกเช้า จากนั้นจึงเข้าที่พักออกสงเคราะห์โรงพยาบาล

หลังจังหันแล้ว ท่านมักนำข้าวสาร อาหารสด อาหารแห้ง ปลากระป๋อง น้ำปลา น้ำมันพืช ขนม ไข่ ผ้าขาว และอื่นๆ ไปแจกจ่ายหมุนเวียนตามโรงพยาบาลต่างๆ อยู่เป็นประจำ พร้อมกับถามไถ่ถึงความขาดเขินในวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์หรือหยูกยาต่างๆ หากมีความจำเป็นท่านจะเมตตาช่วยเหลือทันที

ในบางวันท่านก็เมตตาออกเยี่ยมเยียนพระเณรในสำนักหรือวัดในถิ่นทุรกันดารที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นกำลังใจ พร้อมนำเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ สงเคราะห์ช่วยเหลืออีกด้วยตรวจตราพระเณร

แต่เดิมนั้น ช่วงเวลาที่หลวงตาท่านไม่ได้รับแขกนี้ ท่านใช้ไปในการพักผ่อนบ้าง อ่านหนังสือบ้าง ตอบจดหมายบ้างตามอัธยาศัย แต่ส่วนมากท่านจะเดินตรวจตราไปตามที่อยู่ของพระเณร ซึ่งกระจายอยู่ทั่วบริเวณวัดที่มีเนื้อที่ 163 ไร่ อยู่เป็นประจำไม่ค่อยขาด

จากการตรวจตรา ทำให้ท่านหยิบยกสิ่งบกพร่องมาสอน ย้ำเตือนเสมอถึงชีวิตความเป็นอยู่ การบำเพ็ญภาวนาของพระเณรเพื่อให้มีความขยันหมั่นเพียร และยังถือโอกาสนี้กำชับกำชาพระเณรให้ใส่ใจต่อการเลี้ยงดูเรื่องอาหาร น้ำ และระวังรักษาภัยอันตรายให้กับสัตว์ต่างๆ ที่มาอาศัยอยู่ภายในวัด ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยอีกด้วย

การออกตรวจตรานี้ ความถี่ห่างขึ้นอยู่กับสุขภาพของท่าน หากปกติดี จะมีถึง 3 วาระ คือ เช้า บ่าย และค่ำ มีบางแห่งที่ท่านเคยจำพรรษาอยู่ ถ้าพบพระเณรองค์ใดขี้เกียจทำความเพียร เอาแต่หลับแต่นอนหรือมั่วสุมคุยกันในเรื่องไม่เกี่ยวกับอรรถธรรม ไม่สมกับท่านรับไว้ศึกษาอบรมด้วยความเมตตาแล้ว แม้เวลาดึกดื่น ตี 2 หรือเช้ามืด ตี 4 ท่านก็จะลองออกไปตรวจดู หากพบว่า เป็นเช่นนั้นติดต่อกันถึง 3 ครั้ง โดยไม่ยอมแก้ไขปรับปรุงตัวเอง รายเช่นนั้นจะถูกขับออกจากวัดในเวลาไม่ช้าเลย

ด้วยเหตุที่ท่านเมตตาออกสอดส่องนี้เอง จึงทำให้พระเณรไม่นิ่งนอนใจอยู่ด้วยความประมาท พากันขวนขวายทำความพากเพียรอยู่โดยสม่ำเสมอ ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดความสงบร่มเย็นแก่ตัวเองแล้ว ยังส่งผลไปถึงหมู่คณะที่อยู่ร่วมกันให้มีความสงบสุขร่มเย็นไปด้วย แม้ระยะหลังนี้ ในปี พ.ศ. 2542 ซึ่งท่านมีอายุถึง 86 ปีแล้วก็ต าม แต่การตรวจตราพระเณรก็ยังเป็นสิ่งที่ท่านให้ความเมตตาเอาใจใส่อยู่เสมอมิได้ขาด

Image
ป้ายเตือนหน้าวัด ..เพื่อเตือนสติคนที่เข้ามาวัดป่าบ้านตาด


สุขภาพเริ่มทรุดลง

นับแต่ปี 2526 เป็นต้นมา สุขภาพของท่านเริ่มทรุดเห็นประจักษ์ การออกตรวจเหลือเพียงวาระเดียว ส่วนมากมักเป็นช่วงบ่ายที่ว่างจากแขก แม้ปี พ.ศ. 2530 ไปแล้ว ธาตุขันธ์ร่างกายท่านจะดีขึ้นก็ตาม แต่ความที่มีผู้คนประชาชนพระเณรหลั่งไหลมากราบนมัสการขอฟังธรรมจากท่านมากขึ้นผิดหูผิดตา ความบอบช้ำย่อมเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่านจึงต้องการเวลาเยียวยาให้กับธาตุขันธ์ร่างกายมากขึ้น แม้กระนั้นก็ตาม ความที่เคยกระทำมาเป็นประจำ ก็ทำให้มีเวลาใดเวลาหนึ่งที่ท่านจะต้องออกเดินตรวจอย่างน้อยวันละครั้งอยู่เสมอ

บ่ายโมง ท่านจะเริ่มรับแขก จะมีพักบ้างเพียงเล็กน้อยในช่วงเวลาปัดกวาดลานวัดและสรงน้ำ และเมื่อใกล้ค่ำจึงงดรับ หากวันไหนที่ท่านออกไปแจกของตามโรงพยาบาล วันนั้นท่านมักจะกลับมาในช่วงบ่ายโมงถึงบ่าย 3 โมง จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับระยะทางที่ไป

6 โมงเย็น ท่านมักอยู่ภาวนาภายในกุฏิ หรือเดินจงกรมในป่า บางครั้งท่านก็ออกตรวจตามที่พักของพระเณร 2 ทุ่ม ท่านจะลงจากกุฏิเพื่อมาตรวจของเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ที่จัดเตรียมไว้ในโกดังโรงทานสำหรับการสงเคราะห์ช่วยเหลือแก่โรงพยาบาล ท่านดูว่ามีสิ่งใดขาดตกบกพร่องไปหรือไม่ หรือมีโรงพยาบาลหรือหน่วยงานทางราชการใดมาขอรับสิ่งของในวันนั้นบ้าง บ่อยครั้งที่ท่านจะสอบถามธุระต่างๆ กับพระเวรศาลา และในโอกาสพิเศษท่านจะนั่งฉันน้ำปานะ

ในช่วงนี้เองที่ท่านจะเมตตาเล่าเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเพื่อเป็นกำลังใจในการปฏิบัติธรรมแก่พระเณร จากนั้นเมื่อมีควรแก่กาลแล้ว ท่านจึงขึ้นกุฏิ เดินจงกรมหรือนั่งภาวนาต่อไปจนเวลาประมาณ 5 ทุ่มจึงเข้าจำวัด

Image
พระประธานและรูปถ่ายของพ่อแม่ครูบาอาจารย์พระกรรมฐาน
ภายในศาลาการเปรียญวัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี



(มีต่อ 40)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 28 พ.ย.2006, 7:43 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
ภาพจากงานมุทิตาสักการะอายุวัฒนะมงคลครบรอบ 95 ปี
ของ องค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ณ วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ในวันที่ 12-13 สิงหาคม 2551



ตอนที่ 30 อยู่...เพื่อลูก เพื่อหลาน

คงจะเป็นเพราะหลวงตาเห็นว่าท่านชราภาพมากขึ้น ด้วยความห่วงใยลูกหลานเกรงจะไม่มีหลักใจเป็นที่พึ่งที่เกาะ ทำให้ในระยะหลังมานี้ท่านมักจะเทศน์เตือนอยู่เสมอๆ มิให้เผลอเพลินอยู่ในความประมาท แต่ให้พากันรีบเร่งขวนขวายสร้างคุณงามความดีประดับตนให้มาก ท่านย้ำแล้วย้ำเล่าในเรื่องบาปบุญคุณโทษว่าเป็นของมีจริง นรกสวรรค์พรหมโลกนิพพานมีจริง จงอย่าได้ท้าทาย

คำกล่าวในบทนี้ แสดงถึงความเมตตาของท่านที่อุตส่าห์ยอมเหน็ดเหนื่อยทุ่มเทให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือด้านประการต่างๆ แก่โลกตลอดมา ทั้งนี้ก็ด้วยหวังจะให้กุลบุตรสุดท้ายภายหลังได้เห็นแบบฉบับที่ถูกต้อง และพากันยึดถือเป็นคติตัวอย่างอันดีงามแก่ตน ดังนี้

ของฝากประดับโลก

"...เวลามีชีวิตอยู่นี้ เราจะทำความดีให้โลกทั้งหลายได้เป็นคติตัวอย่างอันดีงาม และทำด้วยความเมตตาสงสารต่อโลก เพราะหลังจากนี้แล้ว คือว่าเราตายแล้ว เราจะไม่กลับมาเกิดในโลกนี้อีกต่อไปเป็นตลอดอนันตกาล จะเกิดซ้ำๆ ซากๆ ตายแล้วตายเล่า ตายเกลื่อนตายกล่นวุ่นวายอยู่ตั้งแต่ชาตินี้ย้อนหลังเท่านั้น ตั้งแต่บัดนี้ต่อไปเป็นชาติสุดท้ายของเรา เราจะไม่มาเกิดมาตายอย่างนี้อีกต่อไป เราถึงที่สุดวิมุตติหลุดพ้นแล้วในหัวใจของเรา

ใครจะว่าเราบ้าก็ให้ว่าไป เราไม่ได้พูดออกด้วยความเป็นบ้า เราพูดออกด้วยความเป็นธรรม ขอให้พี่น้องทั้งหลายฟังเป็นธรรม อย่าไปหาว่าหลวงตาบัวนี้โอ้อวดอย่างนั้นอย่างนี้ นั้นละ กิเลสมันเข้าไปย่ำยีตีแหลกไปตีตลาดแล้วนะนั่นน่ะ แล้วแทนที่จะได้ผลประโยชน์จากคติธรรมที่ท่านสอนนี้ กลับไปเป็นข้าศึกต่อตัวเองเผาลนตัวเอง

...ว่าหลวงตาบัวโอ้อวดอย่างนั้นอย่างนี้ โอ้อวดอะไร ของปลอมมียังแสดงออกได้เต็มบ้านเต็มเมืองเต็มโลกเต็มสงสาร จนหาที่อยู่ไม่ได้ เพราะของปลอมทั้งนั้น ของจริงมีแสดงออกมาไม่ได้มีอย่างเหรอ ถ้าอย่างนั้นศาสนาก็หมดแล้วในประเทศไทยเรา พุทธศาสนาไม่มีแล้ว

ผู้รู้ของจริง เห็นของจริง นำของจริงออกมาพูดไม่ได้ ว่าเป็นการโอ้การอวด เห็นไหม กิเลสเอารัดเอาเปรียบ กิเลสเหยียบย่ำทำลายหมด ไม่ให้พูดของจริง ให้พูดแต่ของปลอม เรื่องของกิเลสเต็มบ้านเต็มเมือง พูดได้ทั้งนั้น ถ้าพูดของจริงพูดไม่ได้ นี่เห็นไหมศาสนาจะหมดแล้วนะ ถ้าของจริงพูดออกมาไม่ได้..."

พระอรหันต์ท่านรู้แล้ว จึงประกาศธรรมสอนโลก

"...นี้เรารู้จริงเห็นจริงอย่างนี้ เราพูดตามเรื่องความรู้จริงเห็นจริงอย่างนี้ เหมือนพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ธรรมแล้ว ท่านรู้จริงเห็นจริง ท่านประกาศธรรมสอนโลกเรื่อยมา ไม่ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ใด ทรงทำแบบเดียวกัน และพระสาวกเหมือนกัน เมื่อรู้ ธรรมแล้วก็ประกาศธรรมสอนโลก คือเอาความจริงออกสอนโลก นี่ก็ความจริงอันเดียวกัน เรานำมาพูดนี้จะผิดไปที่ตรงไหน

แล้วพูดให้ฟังนี้ ก็พูดให้พุทธบริษัท บรรดาที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาเสียด้วย ไม่ได้พูดในที่ไหนๆ ที่อื่นๆ ฟัง ซึ่งเขาไม่ได้สนใจในอรรถในธรรม เราพูดให้เลือดเนื้ออันเดียวกันฟัง ด้วยเจตนาหวังดีและความเมตตาอย่างยิ่งล้นพ้นอยู่ในหัวใจของเราแล้วจะผิดไปที่ตรงไหน นอกจากจะเป็นสิริมงคลแก่ผู้ฟังได้ยึดถือไป เพราะฉะนั้น เราถึงทำ ทำให้สนุกมือว่างั้นเลย การทำคุณงามความดี ทำเสียจนกระทั่งทำไม่ได้แล้วเราจะหยุด เราหยุด เราหยุดจริงๆ ด้วย ไม่วกไม่เวียนอีกการเกิดการตาย

ดังบทภาษิตที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่เบญจวัคคีย์ทั้งห้า ญาณัญจ ปน เม ทัสสนัง อุทปาทิ ญาณอันล้ำเลิศประเสริฐสุด ความรู้ความเห็นอันล้ำเลิศประเสริฐสุดได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราตถาคต นั่นข้อหนึ่ง ส่วนข้อที่สอง อกุปปา เม วิมุตติ ความหลุดพ้นของเราไม่กำเริบอีกแล้ว คือความหลุดพ้นจากทุกข์ไม่มีการกำเริบแล้ว อยมันติมาชาติ นี่เป็นข้อที่สาม ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเราตถาคต นัตถิทานิ ปุนัพภโว ตั้งแต่บัดนี้ต่อไป ความเกิดอีกตายอีกทุกข์อีกของเราไม่มีอีกแล้ว..."

เตือน...ลูกหลานเชื่อพระพุทธเจ้าเถิด

"...ตั้งแต่ปีหลวงปู่มั่นมรณภาพมาจนกระทั่งป่านนี้ เราได้ครองธรรมะประเภทนี้มา แต่ไม่เคยแสดงอะไรออกมา มีความจริงยังไงก็ว่าไปตามหลักความจริง แต่นี้มันจะตายทิ้งเปล่าๆ ตายทิ้งเปล่าๆ เกิดประโยชน์อะไร

เราเกิดมาก็เพื่อทำประโยชน์ให้ตนเองและโลก แล้วเวลาจะตายก็จะทำประโยชน์ให้โลกบ้างอย่างนี้ มันเป็นความเสียหายแล้วเหรอ ถ้าเป็นความเสียหายก็ผู้ที่ต้องการความเสียหายก็สร้างเอาๆ เท่านั้นเอง นั่นละ จึงขอให้พี่น้องทั้งหลายจำเอาไว้ เราทำประโยชน์เราทำเป็นที่แน่ใจ เพราะฉะนั้นขอให้ยึดหลักนี้ไว้เป็นหลักใจ หลักความประพฤติหน้าที่การงาน

อย่าลืมศีลลืมทาน อย่าลืมการกุศลตายแล้วจะไปเป็นเปรตเป็นผีนรกอเวจี เพราะความเชื่อกิเลสตัณหา ใช้ไม่ได้นะ ต้องเชื่ออรรถเชื่อธรรม เป็นเป็นลูกศิษย์ตถาคต เชื่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ให้เสาะแสวงหาการทำบุญให้ทาน

นรก สวรรค์ พรหมโลก มีสดๆ ร้อนๆ พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วทุกๆ พระองค์ เป็นแบบเดียวกันหมดไม่มีเคลื่อนคลาดไปไหนเลย บาปมีตามเดิม บุญมีตามเดิม นรกมีตามเดิม สวรรค์มีตามเดิม ใครทำบุญทำบาปก็ไปตามสถานที่ที่ตนทำไว้ทั้งดีทั้งชั่วนั้นแล เพราะฉะนั้น จึงให้เลือกเฟ้นเสียตั้งแต่บัดนี้ เวลาตายแล้วจึงนิมนต์พระมากุสลา ธัมมา กุสลา ธัมมา ยายนี้ตายแล้วไปไหนมา อย่ามานิมนต์หลวงตาบัวนะ เราเอาค้อนปาอย่าว่าไม่บอกนะ..."

พิธีตาย...ลาโลก

"...เพราะเหตุไรจึงว่างั้น หลวงตาบัวตายนี้บอกชัดๆ เลยว่าไม่ให้นิมนต์พระมากุสลา ธัมมา เราสร้างมาพอแล้วทุกสิ่งทุกอย่างเต็มหัวใจของเรา เราไม่สงสัยแล้วในธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะธรรมความจริงทั่วไตรโลกธาตุ เราบรรจุเข้าในหัวใจนี้หมดแล้ว เราไม่ได้สงสัยแล้ว เพราะฉะนั้น จึงไม่จำเป็นจะต้องนิมนต์พระมา กุสลา ธัมมา กุสลา ธัมมา หลวงตาบัวตายแล้วไปไหนมา ไปสันพร้า (สันมีด) นี่เราจะว่าอย่างนั้น เราไม่ว่าไปไหนละ

ถ้าสร้างให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว สงสัยไปไหน แล้วสงสัยอยู่สอนคนไปหาอะไร ถ้าเรายังสงสัยอรรถธรรมอยู่แล้วสอนคนเต็มเม็ดเต็มหน่วยได้ยังไง นี่เราสอนคนเต็มเม็ดเต็มหน่วยเต็มหัวใจเรานะ สอนด้วยความแน่ใจไม่ได้สงสัยเลย และตายแล้วจะไปสงสัยตัวเรายังไง นี่อันหนึ่ง

อันที่สองนี้ ให้เป็นตามอัธยาศัยของเราเอง เวลาเราจะตายจริงๆ เราเข้าห้องปั๊บนี้เป็นตามอัธยาศัยของเรานะ เราอยู่คนเดียวถึงวาระที่จะตายแล้ว เราเข้าห้องปั๊บ จะทำวิธีไหนก็ตาม จะนอนก็ตาม จะนั่งก็ตาม ทำพิธีตายลาโลกสงสาร ลาการไม่กลับมาอีก ดีดผึงเดียวเท่านั้นไปเลย..."

เมรุเผา...

"...ศพนี้ ขออย่างเดียวอย่าเอาไปประกาศเป็นปลาเน่าขายให้แมลงวันแมลงวน มันกวนยุ่งนะ ศพหลวงตาบัวตายนี้จะเป็นปลาเน่าประกาศขายลั่นโลกอยู่นะ...มันจะประกาศลั่นไปหมดนั่นละ มันไม่ได้เสาะแสวงหาบุญหากุศล มันหาแต่เงิน หาแต่ไอ้หลังลาย แล้วหลวงตาบัวก็เลยกลายเป็นสินค้าไอ้หลังลายไปเลย แหลกไปหมด

อันนี้เราขอจากพี่น้องทั้งหลายชาวพุทธของเราไว้ตั้งแต่บัดนี้ อย่าให้มี อย่าให้เป็น ให้ทำกันด้วยความสงบเสงี่ยม ตายแล้ว 2-3 คนขึ้นไปเผาเท่านั้นพอแล้ว อย่ายุ่มย่ามๆ อย่าเอายศถาบรรดาศักดิ์มาเหยียบย่ำทำลายธรรมของพระพุทธเจ้า ให้เป็นธรรมล้วนๆ ทำอะไรให้เป็นธรรมล้วนๆ นั้นเป็นที่พอใจของเรา เพราะพระพุทธเจ้าทรงชมเชยอย่างนั้น..."

ช่วยโลก...แม้วาระสุดท้าย

"...เรื่องศพหลวงตาบัวนี้เรียกว่าเด็ดขาดเลยนะ คอยแต่เวลาจะเผาหลวงตาบัวเท่านั้นแหละ เรื่องจะก้าวเดินตามนี้ทั้งหมด แยกเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ที่ว่าเงินที่ท่านผู้มาบริจาคทั่วประเทศไทยของเราที่มานี้ เราจะนำเงินหมดทุกบาททุกสตางค์ ยกให้คลังหลวงของเราหมดเป็นวาระสุดท้ายของเราที่ช่วยโลกอย่างเต็มหัวใจ

อันนี้เป็นคำพูดของเราที่เด็ดขาดแล้ว ไม่มีเคลื่อนไหว ไม่มีเปลี่ยนแปลงอะไรเลยละ เรียกว่าคำพูดที่เด็ดขาด ตายแล้วต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ว่างั้นเถอะ

เด็ดตลอด จนกระทั่งตายแล้วศพยังเด็ดอีก เด็ดวางลวดลายไว้วาระสุดท้ายแล้ว เพราะตายไปตอนนี้ เราจะไม่มาเกิดอีกแล้ว เราบอกตรงๆ เลย จะเป็นวาระสุดท้ายของเราที่ตายกองกันในวัฏจักรนี้กี่กัปกี่กัลป์มา เราเคยตายมาแล้วกี่กัปกี่กัลป์ แล้วกี่ภพกี่ชาติ คราวนี้เลิกกัน เพราะฉะนั้นจึงอุ้มชาติไทยของเราเต็มสติกำลังความสามารถ

จากนั้น สุดวิสัยแล้วของธาตุขันธ์ที่นำมาใช้เพื่อประโยชน์แก่โลกนี้ เป็นอันว่าดีดปั๊บทันที ดีดแล้วก็เท่านั้นไปเลย คำว่า นิพพานธาตุ หรือ ธรรมธาตุ เราไม่ถามใครแล้ว..."

"ดอกบัว" ผู้เหนือโคลนตม

ท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ปรมาจารย์ฝ่ายกรรมฐานแห่งยุคปัจจุบัน และเป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านอาจารย์มั่นได้เคยพรรณนาคุณชาติของคำว่า "บัว" ไว้ว่า

"ธรรมชาติของดีทั้งหลาย ย่อมเกิดมาแต่ของไม่ดี มีอุปมาดั่งดอกปทุมชาติอันสวยๆ งามๆ ก็เกิดขึ้นมาจากโคลนตม อันเป็นของสกปรกปฏิกูลน่าเกลียด แต่ว่าดอกบัวนั้นเมื่อขึ้นพ้นโคลนตมแล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่สะอาด เป็นที่ทัดทรงของพระราชา อำมาตย์อุปราช และเสนาบดี เป็นต้น และดอกบัวนั้นมิได้กลับคืนไปยังโคลนตมนั้นเลย"

Image

Image
ภาพจากงานมุทิตาสักการะอายุวัฒนะมงคลครบรอบ 95 ปี
ของ องค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ณ วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ในวันที่ 12-13 สิงหาคม 2551



(มีต่อ 41)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 28 พ.ย.2006, 6:42 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
พระประธานและรูปถ่ายของพ่อแม่ครูบาอาจารย์พระกรรมฐาน
ภายในศาลาการเปรียญวัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี



ตอนที่ 31 สภาพวัด

ณ ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี บนพื้นที่กำแพงล้อมรอบจำนวน 163 ไร่ 22 ตารางวา ห่างจากตัวเมืองอุดรธานีไปทางทิศใต้ประมาณ 16 กิโลเมตร สภาพพื้นที่เป็นที่ราบ รอบๆ เป็นที่อุดมสมบูรณ์มีน้ำดี ทำนาได้ผลดีกว่าที่อื่น สภาพภายในเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมอันสงบเรียบง่าย

ด้วยเหตุที่มีกำแพงล้อมรอบบริเวณอย่างมิดชิด จึงรักษาต้นไม้และสัตว์ป่าให้รอดพ้นจากการทำลายหรือการลักลอบเข้ามาฆ่าสัตว์ในบริเวณได้ บรรยากาศในเขตอภัยทานแห่งนี้ จึงร่มครึ้มไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่นานาพันธุ์ และเป็นที่พึ่งพิงอันอบอุ่นและปลอดภัยแก่สัตว์น้อยใหญ่หลายชนิด อาทิเช่น ไก่ป่า กระรอก กระแต แย้ และนก เป็นต้น ที่นั้นคือ “วัดป่าบ้านตาด”

เมื่อก้าวย่างเข้าสู่บริเวณวัดจะสัมผัสกับความร่มรื่นชุ่มตาเย็นใจกับธรรมชาติของป่า ได้ยินเสียงของแมลงมีปีกหมู่ใหญ่ร้องเสียงก้องกังวานสนั่นไพรในบางฤดูกาล ปะปนด้วยเสียงขันของไก่ป่าซึ่งออกเที่ยวหากินอย่างแข็งขันชนิดไม่มีวันหยุดงานเหมือนมนุษย์เรา

ครั้นเดินต่ออีกประมาณ 50 เมตร จะพบ ศาลาการเปรียญอเนกประสงค์ ซึ่งเป็นศาลาไม้เนื้อแข็งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลังใหญ่และมีเพียงหลังเดียวในวัดนี้ เดิมทีเป็นศาลาชั้นเดียวยกพื้นเตี้ย แต่ภายหลังพื้นศาลาถูกยกให้สูงขึ้นเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น

ด้านบนของศาลานั้นเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่เป็นพระประธานของวัด ชั้นต่างระดับที่ใช้สำหรับตั้งพระพุทธรูป บนชั้นมีรูปถ่ายของครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ดังนี้

หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล, หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๊ง, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร และท่านพ่อลี ธัมมธโร วัดอโศการาม

ด้านหลังพระพุทธรูป บนฝาผนังมีรูปถ่ายของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล โดยรูปถ่ายของท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อยู่ข้างขวา สำหรับข้างซ้ายของพระพุทธรูปมีพระรูปของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) และรูปถ่ายของท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)

ส่วนตู้ด้านขวาของพระพุทธรูปนั้น เป็นที่ประดิษฐานอัฐิธาตุของท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตโต รวมทั้งอัฐิธาตุของครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ

หลวงตาท่านใช้สถานที่ชั้นบนของศาลาแห่งนี้ แสดงธรรมแก่พระภิกษุสามเณรในวัด ตลอดจนเป็นที่ประชุมทำสังฆกรรมร่วมกัน เช่น สวดพระปาฏิโมกข์ อธิษฐานเข้าพรรษา สวดปวารณา และกรานกฐิน เป็นต้น

ด้านล่างของศาลานั้นใช้เป็นที่สำหรับฉันภัตตาหารเช้า นอกจากนั้นหลวงตายังใช้เป็นที่แสดงธรรมเทศนาและปฏิสันถารกับศรัทธาฆราวาสญาติโยมที่มาจากทุกสารทิศ อย่างไม่ขาดสายไม่เว้นแต่ละวัน

Image

Image
วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี (ในปัจจุบัน)


กุฏิที่พักของพระเณร

ที่พักของพระภิกษุสามเณรแต่ละรูป เป็นร้าน (แคร่) เรียบง่ายคล้ายกระต๊อบเล็กๆ พอแก่การบังแดดฝนหรือลม และเพื่อป้องกันการรบกวนจากสัตว์เลื่อยคลานหรือกันความชื้นจากพื้นดินและอื่นๆ จึงยกร้าน (แคร่) ให้สูงขึ้นจากพื้นประมาณ 1-1.50 เมตร

ร้าน (แคร่) มีขนาดเพียงพอสำหรับนอนคนเดียว มีหลังคาสังกะสี ผนังทั้ง 4 ด้านใช้ผ้าแป้งดิบหรือจีวรเก่าๆ ขึงแทนฝาเพื่อกันลม กันฝน และใช้มุ้งกลดกันยุง ภายในใช้เก็บบริขารที่จำเป็นของพระภิกษุสามเณร เช่น บาตร กลด ไตรจีวร เสื่อ ผ้าห่ม ตะเกียง เทียนไข หนังสือธรรมะ และของใช้จำเป็นอื่นๆ

ด้านหัวนอนจะมีพระพุทธรูปหรือรูปถ่ายของครูบาอาจารย์ติดไว้ เพื่อกราบไหว้บูชาเป็นอนุสติและเป็นกำลังใจในการบำเพ็ญภาวนา รอบๆ ร้าน (แคร่) มีบริเวณพอเหมาะ ไม่กว้างจนเกินไป

ทุกๆ ร้าน (แคร่) มีทางเดินจงกรมอย่างน้อย 1 สายอยู่ใกล้บริเวณ และมักทำไว้ใต้ร่มไม้ใหญ่ ทางจงกรมมีขนาดกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 25-30 ก้าวเดินปกติ ในยามค่ำคืนขณะเดินจงกรมจะใช้โคมเทียนจุดสว่างพอมองเห็นทาง ร้านเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วบริเวณภายในวัด แต่ละร้านจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวเพื่อให้มองไม่เห็นกัน

ทางที่จะเข้าไปถึงร้านเป็นทางแคบคดเคี้ยวเลี้ยวลด ซึ่งทำให้มองเห็นร้านได้ยาก พระเณรที่เข้าพักในร้านจึงเหมือนเข้าไปอยู่อีกโลกหนึ่ง ท่ามกลางป่าลึกเพียงองค์เดียว อันเป็นโลกแห่งความสงบร่มเย็น ไกลจากเสียงรบกวนใดๆ ทั้งปวง จึงสัปปายะ สะดวกในการบำเพ็ญสมณธรรม

สำหรับกุฏิที่มีฝาผนังทำด้วยไม้ถาวรมีประมาณ 10 กว่าหลัง โดยมากเป็นกุฏิของพระเถระ พระภิกษุสูงอายุ หรือกุฏิรวมของฆราวาสที่มาพักภาวนาชั่วคราวช่วงสั้นๆ ซึ่งมีแนวเขตจัดแยกออกจากกันระหว่างพระภิกษุสามเณร ฆราวาสชายและหญิง อย่างเป็นระเบียบ

Image
ทางเดินจงกรมของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

Image
กุฏิหลังใหม่ของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ณ วัดป่าบ้านตาด
สร้างเสร็จถวายแด่องค์หลวงตาเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2551



(มีต่อ 42)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 28 พ.ย.2006, 6:48 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ 32 กิจวัตรประจำวันของพระเณร (ตอนจบ)

กิจวัตรหลักประจำวันของพระเณรก็คือ การนั่งสมาธิภาวนา เดินจงกรม เพื่อฝึกฝนสติปัญญาและชำระกิเลสตัวร้อนรุ่มกระวนกระวายอยู่ภายในจิตใจให้เหือดแห้งไป ดังนั้น โดยปกติพระภิกษุสามเณรในวัดจึงไม่รับกิจนิมนต์ไปฉันในที่ใดๆ นอกวัด เพื่อให้มีเวลาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วยการบำเพ็ญเพียรภาวนาแต่เพียงอย่างเดียว

ปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2541) วัดป่าบ้านตาด มีพระเณรอยู่จำพรรษา 47 รูป ในจำนวนนี้ มีพระภิกษุชาวต่างประเทศ 3 รูป นอกพรรษามักมีพระภิกษุสามเณรอาคันตุกะเข้ามาพักชั่วคราว เพื่อศึกษาเทศนาธรรมและข้อวัตรปฏิบัติ

ในยามเช้า พระภิกษุผู้มีหน้าที่จะจัดอาสนะถวายหลวงตาด้วยความละเอียดประณีตและเคารพ ช่วงเช้ามืดก่อนบิณฑบาตจะเป็นการเตรียมสถานที่สำหรับฉันจังหัน โดยทั้งพระและเณรต่างช่วยกันทำความสะอาด จัดอาสนะ กระโถน ขัดถูพื้นศาลาด้วยกาบมะพร้าว ปัดกวาดศาลาและบริเวณรอบๆ อย่างสามัคคีพร้อมเพรียง

งานการทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านจะพยายามทำอย่างขันแข็ง มีสติ และเป็นระเบียบเรียบร้อยตามที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนเน้นอยู่เสมอตลอดมา

พอได้อรุณ วันใดที่ท้องฟ้าดูเป็นปกติ ไม่มีวี่แววว่าฝนจะตก ท่านจะครองจีวรซ้อนสังฆาฏิ แล้วออกบิณฑบาตโดยพร้อมเพรียงกัน เดินมุ่งหน้าไปทางหมู่บ้านตาด ระยะทางไปกลับประมาณ 3-4 กิโลเมตร ขากลับแวะรับบาตรจากญาติโยมที่มาจากในเมืองและต่างจังหวัดในบริเวณหน้าวัดอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อเสร็จจากบิณฑบาต พระเณรและฆราวาสต่างช่วยกันจัดอาหารหวานคาวเป็นหมวดหมู่ใส่ถาดไว้ เพื่อให้ญาติโยมทั้งที่มาพักปฏิบัติธรรมและที่มาทำบุญตอนเช้าได้รับประทานหลังพระฉันเสร็จแล้ว

เมื่อพระเณรจัดอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว จากนี้หลวงตาจะอนุโมทนาให้พรเสร็จแล้วพระเณรท่านจะพิจารณาอาหารในบาตรก่อนด้วย ปฏิสังขา โยนิโสฯ เสร็จแล้วฉันในบาตรด้วยอาการสำรวม เงียบกริบเหมือนไม่มีใครรับประทานอาหารอยู่ในบริเวณนั้น

เสร็จการฉันเช้าแล้ว ผู้มาทำบุญเช้าพร้อมใจกันฟังเทศน์จากหลวงตา หลังฟังเทศน์เสร็จญาติโยมพากันกลับ

สำหรับพระเณร ต่างองค์ต่างกลับร้าน (แคร่) ที่พักปฏิบัติธรรม มีการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาตลอดวัน อาจมีการพักผ่อนบ้าง แล้วแต่ความอุตสาหะพยายามของแต่ละองค์

ช่วงเวลาบ่าย เป็นเวลาที่พระมาร่วมกันฉันน้ำร้อนหรือน้ำปานะที่โรงไฟหรือโรงต้มน้ำร้อนแค่ช่วงเวลาสั้นๆ สัก 15-30 นาที อันเป็นการพักเหนื่อยจากการภาวนา เสร็จจากนี้ก็แยกย้ายเข้าที่ภาวนาต่อ จนถึงในช่วงประมาณบ่าย 3 โมง พระเณรพร้อมเพรียงกันออกมาทำข้อวัตรปัดกวาดร้านและบริเวณทางเดิน ตลอดถึงรอบศาลา จากนั้นขัดถูทำความสะอาดพื้นศาลา เติมน้ำล้างเท้าบริเวณรอบศาลาและในห้องน้ำห้องส้วมให้เต็ม

ดำเนินตามปฏิปทาของหลวงตา

หลวงตาท่านดูแลรักษาศิษย์พระเณรของท่านมาก ท่านพยายามรักษาสภาพวัดให้เหมาะสมสะดวกต่อการบำเพ็ญเพียร ท่านไม่ให้พระเณรต้องมีกิจนิมนต์หรือการงานอย่างอื่นๆ อันเป็นการขัดต่องานจิตตภาวนา ซึ่งเป็นงานหลัก ท่านทะนุถนอมศิษย์พระเณรไม่ให้มีมลทิน ไม่ให้ข้องแวะกับคนภายนอกโดยไม่จำเป็น วิทยุไม่ให้ฟัง หนังสือพิมพ์ไม่ให้อ่าน ไม่นำไฟฟ้าเข้ามาในวัด เครื่องใช้ไฟฟ้าจึงมีไม่ได้

หลวงตาท่านสอนเสมอว่า อย่าให้มีวัตถุหรูๆ หราๆ แต่จิตใจแห้งผาก ให้หรูหราด้วยคุณธรรมความดี วัตถุสิ่งของพอมีพออาศัยก็พอเพียงแล้วคนเรา ร่างกายมันไม่ต้องการอะไรมากหรอก แต่หัวใจนี่ซิมันไม่รู้จักพอ จึงทุกข์ร้อนกันทั่วแผ่นดิน เศรษฐีผู้มีมากๆ นั่นแหละ ตัวหันตทุกข์

ถ้ามีธรรมในหัวใจบ้างแล้ว แม้จะจนอยู่บ้างก็พอเป็นพอไป คนเรามันทุกข์เพราะหัวใจไม่รู้จักพอต่างหาก

ด้วยเหตุนี้ หลวงตาท่านจึงสอนพระเณรเสมอ เรื่องความเรียบง่าย มักน้อยสันโดษ การใช้สอยจตุปัจจัยไทยทานที่ศรัทธาญาติโยมถวายมานั้น ให้ใช้ด้วยความประหยัดตามเหตุผลความจำเป็นเท่านั้น

ที่นี่ไม่มี "ป้ายชื่อ"

หลายท่านที่ตั้งใจจะมากราบหลวงตาที่ "วัดป่าบ้านตาด" อาจจะแปลกใจหากไม่พบป้ายชื่อวัด แต่นั่นก็อาจจะทำให้หลายคนได้นึกคิดจากปริศนาธรรมนี้ว่า

...กิเลสก็ไม่เห็นมีป้ายชื่อ แต่มันสามารถสร้างความทุกข์ภายในใจแก่เราได้ บางครั้งจนถึงกับน้ำตาร่วง

ในทางตรงกันข้าม สติปัญญาที่ใช้ในการถอดถอนกิเลสก็ไม่ได้มีป้ายชื่อ หากผู้ใดมีความพากเพียรเจริญสติปัญญาให้สูงขึ้นๆ แล้ว ย่อมสามารถก้าวพ้นจากทุกข์ได้เป็นลำดับๆ ไปเช่นเดียวกัน...

ทำให้หลายท่านพอจะรู้ว่าหลวงตาท่านสอนอะไร ตั้งแต่เริ่มก้าวเข้ามาในวัดนี้...

Image

Image


>>>>> จบบริบูรณ์ >>>>>


...................................................................

♥ คัดลอกมาจาก...ธรรมะกับชีวิต ผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/Dhamma/
♥ ขอกราบขอบพระคุณที่มาของรูปภาพทุกแหล่ง
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 31 ม.ค. 2011, 6:03 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

องค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านละสังขารเเล้ว
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=36515

‘หลวงตามหาบัว’ อริยสงฆ์ผู้มอบธรรมและประโยชน์แก่แผ่นดิน
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=36541

บัญชีร่วมบุญซื้อทองคำเข้าคลังหลวง ตามพินัยกรรมองค์หลวงตา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=10&t=36543

แผนที่วัดป่าบ้านตาด (วัดเกษรศีลคุณ)
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=3210

ประวัติและปฏิปทาหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=24738

Ebook หนังสือธรรมะหลวงตามหาบัว (ขอเชิญอ่าน & download)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=36562

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง