Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 หยดน้ำบนใบบัว (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 25 พ.ย.2006, 5:38 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ฉันภัตตาหารเช้าร่วมกับหลวงปู่ศรี มหาวีโร


ตอนที่ 14 ไปถิ่นไหน...ร่มเย็นถิ่นนั้น

บ้านหนองผือนาใน จังหว้ดสกลนคร

ในครั้งนั้น หลวงตาพักอยู่วัดป่าสุทธวาสเพียง 2-3 คืน จากนั้นก็ไปทางภูเขาแถบอำเภอวาริชภูมิ เดิมทีคิดจะจำพรรษาที่นั่น แต่เมื่อทราบข่าวจากโยมคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกศิษย์วัดหนองผือและเพิ่งจะไปเยี่ยมบ้านหนองผือมา แกเล่าว่า "...เข้าไปวัดหนองผือ มีแต่พระหลวงตา 2-3 องค์อยู่ที่นั่น ไปเห็นแล้วรู้สึกสลดสังเวช เพราะแต่ก่อนเคยเป็นตลาดพระยั้วเยี้ยๆ เต็มไปหมดในวัดในวา แต่ไปคราวนี้กลับไม่ค่อยมีพระ ดูเหมือนกับเป็นวัดร้าง ไปเห็นแล้วสลดสังเวชเหลือเกิน..."

เมื่อแกมาเล่าให้ท่านฟัง ท่านก็รู้สึกสลดใจอย่างมาก ท่านให้เหตุผลว่า "...วัดหนองผือเป็นวัดที่ท่านอาจารย์มั่นจำพรรษาในวาระสุดท้ายของชีวิต และบ้านหนองผือเองก็เป็นบ้านที่มีบุญมีคุณต่อพระกรรมฐานมากมาย พระเณรมาเท่าไรๆ สามารถเลี้ยงพระได้ทั่วถึงหมด ทั้งๆ ที่มีบ้านเพียง 70 หลังคาเรือนเท่านั้น บัดนี้จะกลายเป็นวัดร้าง เหมือนไม่มีใครเหลียวแล คล้ายกับว่าบ้านนี้เป็นเหมือนผ้าขี้ริ้ว มันสมควรแล้วเหรอ ? ดูมันเกินเหตุเกินผลไป..."

ด้วยเหตุนี้เอง ท่านเลยตัดสินใจย้อนกลับมาจำพรรษาที่นี่อีก ทั้งๆ ที่เหลือเวลาเพียงแค่ 7 วัน ก็จะถึงวันเข้าพรรษาอยู่แล้ว (ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 ปี 2493) บรรดาพระเณรที่หวังพึ่ง หวังได้รับคำแนะนำรับข้ออรรถข้อธรรมข้อวัตรปฏิบัติจากท่าน ก็เลยต่างย้อนกลับมาจำพรรษาที่นี่ด้วยกัน เลยกลายเป็นว่าในพรรษานั้นกลับมีพระเณรอยู่ด้วยกันถึง 28 องค์ เป็นที่อบอุ่นเย็นใจแก่ชาวบ้านหนองผือเหมือนเช่นเดิม

พ่อตาย พ่อยัง

ย้อนกลับมากล่าวถึงคุณยายผู้มีญาณหยั่งรู้ที่มักมาสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์มั่นบ่อยๆ ที่บ้านหนองผือแห่งนี้ แกยังคงมีชีวิตอยู่ แต่ก็ชราภาพมากแล้ว เวลามาวัดแกจะค้ำด้วยไม้เท่า มาครั้งหนึ่งๆ ต้องพักถึง 5 หน ทั้งๆ ที่บ้านของคุณยายก็อยู่ไม่ไกลจากวัดนัก คือประมาณ 10 เส้นกว่า

คุณยายแกสงสารหลานชายซึ่งเคยอุปัฏฐากท่านอาจารย์มั่นมาก่อน เกรงจะไม่ทราบถึงคุณธรรมของท่าน (หมายถึงหลวงตาและอาจปรนนิบัติรับใช้ท่านไม่ดีเท่าที่ควร แกเลยแอบบอกหลานชายว่า

"นี่น่ะ กูจะกระซิบให้มึงรู้ มึงต้องรู้นะ มึงรู้แล้วยังว่า วัดหนองผือนี้ พ่อตายแล้ว พ่อยัง มึงรู้ไหมพ่อตายแล้วพ่อยัง"

จากนั้นแกก็ชี้ไปที่ท่าน แกเรียกท่านว่า ท่านมหา แกกระซิบหลานต่อว่า

"ท่านมหาบัวครองวัดแทน ครองธรรมแทนแล้ว ครองทุกอย่างสมบูรณ์เต็มที่แล้วนะ ให้มึงเคารพเหมือนกันกับหลวงปู่มั่นนะ มึงอย่าปล่อยอย่าวางนะ ให้มึงคอยแอบปฏิบัติอุปัฏฐากท่านนะ ไม่มีใครรู้ละ กูกระซิบให้มึง มึงอย่าไปบอกใครนะ"

พระเณรที่วัดหนองผือระยะนั้นต่างเห็นว่า คุณยายแกออกมาหาท่านอาจารย์มั่นอย่างไร แกก็ออกมาหาท่านแบบเดียวกันเหมือนกับสมัยที่ท่านอาจารย์มั่นยังคงมีชีวิตอยู่ไม่ผิดกัน ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นว่า

"...หลวงปู่มั่นเสียไปแล้ว เราไปจำพรรษาที่นั่น แกก็ออกมาจากบ้านมาหาเราตอนเช้า จึงถามแกว่า

"มานี่พักกี่หน ?"

แกตอบว่า "5 หน"

"แล้วมาทำไม ?"

"ก็มันอยากมานี่"

แกพูดอย่างนั้นแหละ นิสัยแกพูดอย่างตรงไปตรงมา "มาอะไร ?" เราว่า

"ก็มันอยากมานี่ ก็มาแหละ"

แกมาเรื่อยมาหาเรา... พอฉันเสร็จแล้วแกก็มา ขึ้นมาคุยธรรมะลั่นเลย สนุกนะ แกพูดธรรมะ พูดด้วยความรู้ คนไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน หนังสือตัวเดียวก็ไม่ได้นี่ แกพูดนี้ร่าเริงมาก พระเณรนี้รุมเลย เวลาแกพูดมันน่าฟังทั้งนั้นนี่ พูดด้วยความรู้ออกในแง่ต่างๆ รู้พวกอินทร์พวกพรหม พวกเทวบุตรเทวดา..."

ด้วยนิสัยของหลานชายที่ปิดความลับไว้ไม่อยู่ คำกระซิบของคุณยายจึงเป็นที่รู้กันและเป็นเรื่องที่น่าขบขันที่หลานชายคนนี้ยังแอบเอาความนี้มาบอกแม้กระทั่งตัวท่านเอง

รู้เรื่อง "ตาย"

ในพรรษานี้ วันหนึ่งมีโยมมาจากในเมืองได้นำยาถ่ายท้องมาถวายให้พระเณรในวัดฉัน จะด้วยเหตุผลใดนั้นท่านลืมเลือนไปเสีย พระเณรองค์อื่นๆ เมื่อได้ฉันยานี้แล้ว ต่างก็ถ่ายท้องกันแบบปกติตามฤทธิ์ยาถ่ายทั่วไปที่เจ้าหน้าที่กำหนดไว้ จึงไม่มีอะไรผิดแปลก

แต่สำหรับท่านเอง หลังจากฉันไปได้ไม่นาน ผลปรากฏว่าท่านต้องถ่ายท้องอย่างหนักถึง 25 ครั้ง อาเจียน 2 ครั้ง ความรุนแรงถึงขนาดที่ว่าเศษอาหารนี้พุ่งออกมาติดข้างฝาเลยทีเดียว จนร่างกายอ่อนลงๆ อย่างรวดเร็ว แม้ว่าท่านจะฉันยาแก้กันแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถแก้ฤทธิ์ยาขนานนี้ได้

หลังจากนี้ไม่นานก็เกิดทุกขเวทนาอย่างหนักชนิดเฉียดฉิวต่อความตาย หรือจะเรียกว่าตายไปแล้วก็ไม่น่าจะผิดไป เพราะถึงกับหมดความรู้สึกรับรู้ทางส่วนร่างกายทั้งหมด เหตุการณ์ตอนนี้เกิดขึ้นในขณะท่านอยู่ในห้องส้วม อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส แต่เพราะท่านเคยพิจารณาเรื่องเหล่านี้มาก่อนแล้ว จึงไม่อาจทำให้ท่านรู้สึกสะทกสะท้านหวั่นไหวแต่อย่างใด ท่านเล่าถึงอาการในขณะนั้น ดังนี้

"...ที่ว่าถ่ายถึง 25 ครั้ง อาเจียน 2 ครั้งนั่นน่ะ มันจะไปจริงๆ 99 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นมันเผลอนี่ ไม่เห็นมันกลัวตายเลย

"หือ ? จะไปเดี๋ยวนี้เชียวเหรอ ? เอ้าไปก็ไป"

แน่ะ มันสนุกพิจารณากันสบายเลย ตอนมันจะไปจริงๆ ความรับผิดชอบในส่วนร่างกายนี้มันหดมาพร้อมๆ กัน ข้างล่างก็หดขึ้นมาอยู่กลางหัวใจนี่ ข้างบนก็หดลงไปข้างซ้ายข้างขวาหดเข้ามาพร้อมกันเลย

จากนั้นแล้วร่างกายก็หมดความหมายคือร่างกายเป็นเหมือนท่อนไม้ท่อนฟืนไปแล้ว หูนี้เลยหนวก ไม่ใช่หนวกไม่ใช่บอดเสียแล้ว เลยนั้นไปแล้ว เป็นท่อนไม้ท่อนฟืนทุกขเวทนาก็ดับหมด นี่จึงได้เชื่ออย่างแน่ใจว่าคนเราเวลาจะตาย ถ้ามีสติทราบเรื่องของตัวเองอยู่อย่างชัดเจนแล้ว ขณะจะตายนั้นเวทนาต้องดับหมด อันนี้มันดับ ขณะที่เวทนาดับหมด

ทั้งๆ ที่ทุกขเวทนาอย่างสาหัส พอถึงขั้นจะไปจริงๆ แล้ว ความรับผิดชอบในความรู้สึกนี้มันหดตัวเข้ามา วูบเดียวเท่านั้น พร้อมกันหมดเลย เข้าไปอยู่ตรงกลางนี้ ตรงกลางนี้ก็สักแต่ว่ารู้นะ จะว่าเป็นจุดเป็นต่อมแห่งผู้รู้อย่างนั้นอย่างนี้ไม่มี พูดได้แต่ว่าสัก แต่ว่ารู้เท่านั้น แล้วทุกขเวทนาดับ อะไรดับ ร่างกายดับหมดจากความรู้สึกของกายเอง และความรู้สึกของทางประสาท จิตก็เป็นจิต ทุกขเวทนาก็ดับพร้อมกันเลย นั่นตอนนั้นตอน 99 เปอร์เซ็นต์ นี่วิตก "จะไปเดี๋ยวนี้เชียวเหรอ ? เอ้า ไปก็ไป"

กำหนดจิตขยับเข้าอีกเหมือนกับจะช่วยให้มันไป มันก็เลยเป็นพลังอันหนึ่ง ด้วยอำนาจพลังของจิตที่กำหนดจะไปนี้ เลยเป็นพลังทำให้จิตมันซ่านออกไปอีก ให้รับรู้ในสิ่งต่างๆ ในส่วนต่างๆ ของร่างกาย

"หือ ? ไม่ไปหรือ ? ไม่ไปก็อยู่ซิ"

แน่ะ เป็นอย่างนั้นไม่ลืมนะ ความรู้สึกของเจ้าของเป็นอย่างนั้นจริงๆ คิดอย่างนั้นด้วยเวลาจะไป จะไปจริงๆ เหรอ เอ้าไปก็ไปซิ กำหนดปั๊มเพื่อจะช่วยให้มันไปเสีย คือไปอย่างหายห่วงพูดง่ายๆ ไม่ได้สงสัยอะไรนี่ ระยะนั้นเราก็ไม่ได้สงสัยอะไรแล้ว...

หายสงสัยทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว พูดตามความจริง เวลานั้นมันจะมาประกาศความจริงให้เราเห็นอยู่ซิ ตอนจะตายนี่ก็ไม่เห็นมันกลัวอะไร มันตามรู้กันทุกระยะๆ จนกระทั่งถึงว่าหมดทุกขเวทนาที่เป็นอย่างสาหัสขนาดถึงขั้นจะตาย มันก็รู้ของมันอยู่ตลอดเวลา ไม่พลั้งไม่เผลอ จนทุกขเวทนาในร่างกายนี้ที่เป็นสาหัสดับจนหมด เพราะความรับผิดชอบของจิตมันหดตัวเข้ามาวูบเดียวเท่านั้น ทุกขเวทนาก็เป็นอันว่าดับไป พร้อมกันกับความรับผิดชอบทางร่างกาย "เอ้า จะไปเดี๋ยวนี้เชียวเหรอ ? ถ้าไปก็ไป"

ยังเหลือแต่ความรู้เท่านั้น กำหนดปั๊บเข้าจุดความรู้นั้น ไม่ถึงนาทีนะมันซ่านออกไปอีก พอซ่านออกไป หูก็ได้ยิน ตาฝ้าฟางก็เหมือนกับมองเห็น ความรู้สึกทางส่วนร่างกายก็รู้ ทีนี้ทุกขเวทนาก็เริ่มขึ้น ก็สาหัสเหมือนอย่างที่เคยเป็น สาหัสมันก็สาหัสในส่วนร่างกายต่างหาก ไม่ได้สาหัสในจิต ไม่ได้เข้าถึงจิต จิตเป็นปกติอยู่อย่างนั้นธรรมดาๆ..."

จากนั้นอาการป่วยของท่านก็ค่อยทุเลาลงๆ กำลังวังชาก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับและกลับคืนจนเป็นปกติในที่สุด

บ้านห้วยทราย จังหวัดมุกดาหาร

หลังท่านอาจารย์มั่นได้มรณภาพ ท่าน (หลวงตา) จำพรรษาที่บ้านหนองผือได้ 1 พรรษา จากนั้นท่านก็ไปจำพรรษาที่บ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร อยู่ถึง 4 ปี (จนถึงปี 2497) พระเณรก็หลั่งไหลติดตามไปอยู่ด้วยมากมาย ตามบ้านเล็กบ้านน้อยแถบนั้น แต่ที่อยู่ในสำนักของท่านจริงๆ มีประมาณ 10 กว่าองค์

ท่านก็ให้ความเมตตาสงคราะห์พระเณรด้วยการเทศนาอบรมสั่งสอนด้วยความเอาใจใส่จริงจัง เข้มงวดทั้งธรรมวินัยทั้งข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ และเทศน์ให้กำลังใจในการบำเพ็ญเพียร จนพระเณรหลายองค์รวมทั้งฆราวาสเกิดผลประจักษ์ใจขึ้นเป็นลำดับ

เข่นหนัก ด้วยอรรถธรรม

ท่านอาจารย์สิงห์ทอง เป็นองค์หนึ่งที่ได้อยู่จำพรรษาในระยะนี้ด้วย ในหนังสือ "ประวัติย่อ" ท่านอาจารย์สิงห์ทอง ได้กล่าวถึงความจริงจังของหลวงตาต่อพระเณรยุคบ้านห้วยทรายว่า

"...ท่านพระอาจารย์มหาบัวท่านเข้มงวดกวดขันกับพระเณรที่ไปปฏิบัติกับท่านมาก ยามค่ำคืนท่านอาจารย์มหาบัวจะลงเดินตรวจพระเณรในวัดโดยไม่ใช้ไฟฉาย ว่าพระเณรองค์ไหนทำความเพียรอยู่หรือเปล่า ถ้ามองเห็นจุดไฟอยู่ท่านก็จะไม่เข้าไป ถ้าองค์ไหนดับไฟท่านจะเข้าไป เข้าไปจนใต้กุฏิ แล้วฟังเสียงว่าจะนอนหลับหรือเปล่า หรือนั่งภาวนา เพราะคนที่นอนหลับส่วนมาก เสียงหายใจจะแรงกว่าธรรมดาที่ไม่หลับ

ถ้าหากว่า องค์ไหนนอนหลับก่อน 4 ทุ่มแล้ว พอตอนเช้าประมาณตี 4 ท่านจะเดินตรงไปที่กุฏิองค์นั้นแหละ และถ้ายังไม่ตื่น ตอนเช้าลงศาลาจะเตรียมบิณฑบาต ท่านจะเทศน์ว่าให้พระเณรองค์นั้น ถ้าท่านได้เตือนถึง 3 ครั้ง แล้วไม่ดีขึ้น ท่านจะขับไล่ออกจากวัด ให้ไปอยู่วัดอื่น โดยพูดว่า

"ผมสอนท่านไม่ได้แล้ว นิมนต์ออกไปจากวัดเสีย"

ฉะนั้น พระเณรยุคบ้านห้วยทราย ภายใต้การนำของท่านจึงมีความพากเพียรในด้านการทำสมาธิภาวนาเป็นอย่างมาก ต่างองค์ต่างลักกัน (แอบปฏิบัติ) คือบางองค์เวลาหมู่เดินจงกรมจะขึ้นกุฏิแล้วไม่จุดไฟ ทำท่าเหมือนกับว่านอน แต่ความจริงนั่งภาวนา เวลาหมู่ขึ้นจากทางจงกรมหมดแล้ว จึงค่อยลงเดินก็มี

ท่านอาจารย์สิงห์ทองเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยนั้นเหมือนกับว่าพระเณรในวัดนั้นจะไม่ค้างโลกกัน พอตื่นนอนขึ้นมา มองไปเห็นแต่แสงไฟโคมสว่างไสวตามกุฏิของพระเณรเหมือนกับไม่นอนกัน

เรื่องอาหารการกิน เขามีกบหรือเขียดตัวเดียวอย่างนี้ เขาก็แบ่งใส่บาตรได้ 4 บาตร 4 องค์ก็มี ในคราวที่อดอยากมะเขือลูกเดียวอย่างนี้เขาจะผ่าใส่บาตรได้ 4 องค์ ทั้งนี้เนื่องจากทางอีสานนั้นกันดารน้ำ โดยเฉพาะหน้าแล้งบางแห่งต้องได้กินน้ำในสระ พร้อมทั้งไปตักเอาไกลด้วย เป็น 2-3 กิโลเมตรก็มี เพราะขุดบ่อไม่มีน้ำ ถึงจะมีบางแห่งน้ำก็เค็ม กินไม่ได้ และสิ่งที่ตามมาด้วยก็คือ ความอดอยากเรื่องอาหารการกิน

อาศัยแก่นไม้ รากไม้ ใบไม้มาต้มฉัน นานๆ จะมีน้ำอ้อยก้อนทีหนึ่ง...ก้อนเดียวแบ่งกันฉัน 3-4 องค์ก็ยังพอ...บางปีพระเณรป่วยเป็นไข้มาลาเรียเกือบหมดทั้งวัด ยังเหลือแต่ท่านพระอาจารย์มหาบัว และพระอีกองค์หนึ่งก็มี เป็นผู้ทำกิจวัตรประจำวันเช่น ปัดกวาดลานวัด และตักน้ำใช้น้ำฉัน..."

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต วัดภูจ้อก้อ จังหวัดมุกดาหาร เป็นองค์หนึ่งที่อยู่ร่วมจำพรรษด้วยในระยะนี้เช่นกัน หลวงปู่หล้าเล่าถึงบรรยากาศยุคบ้านห้วยทรายไว้อย่างน่าประทับใจ ดังนี้

"...สมัยนั้น เดือนพฤษภาคมข้างแรม หลังวิสาขบูชา 2496 แล้ว...ปีนั้นมีพระ 11 รูป สามเณร 4 องค์ คือ พระอาจารย์ผู้เป็นหัวหน้า (อาจารย์มหาบัว) พระอาจารย์สม พระอาจารย์สิงห์ทอง หลวงพ่อนิล ข้าพเจ้า (หลวงปู่หล้า) คุณเพียร คุณสุพัฒน์ คุณเพ็ง คุณสีหา คุณลี คุณสวาสและเณรน้อย เณรน้อย (อีกองค์) บุญยังเณรโส

ปฏิปทาของหลวงปู่มหาพาทำเหมือนสมัยยุคหนองผือหลวงปู่มั่น เพราะสมัยห้วยทรายแขกโยมยังไม่มาก...ประวัติยุคห้วยทราย ก็เป็นยุคที่พระอาจารย์มหาตีและเข่นพระเณรโดยมิได้เลือกหน้าเหมือนกัน แต่อย่าลืมว่าสมัยบ้านห้วยทรายในยุคนั้น ในศาลาโรงฉันยังได้ใช้กระโถนกระบอกไม้ไผ่บ้านอยู่นะ แม้อยู่ตามกุฏิเป็นส่วนมากก็เหมือนกัน น้ำมันก๊าดก็มีเพียงปีละสองปี๊บ ผ้าที่จะทำไตรจีวรก็เหลืออยู่หมดวัดเพียงปีละไม้สองไม้เท่านั้น มูลค่าในวัดทั้งหมดรวมกันในวัด บางทีก็ร้อยสองร้อยเท่านั้น

ปรารภไว้เพื่อให้กุลบุตรสุดท้ายคำนึงจะได้ไม่ลืมตัวในสมัยวัตถุนิยมหรูหรา เพราะเกรงกิเลสจะหรูหราขึ้น

ด้านเสนาสนะก็กั้นใบตองและฟางเป็นส่วนมาก พระอาจารย์มหาก็ยังอยู่กุฏิฟากและมุงหญ้า ประตูหน้าต่างก็ทำเป็นงวงฝาแถบตองผลักไปมา หรือเวิกออกแล้วก็ค้ำเอา

ด้านทำความเพียรมีเวลามากกว่าทุกวันนี้ คราวหนุ่มอยู่ หลวงปู่มหายิ่งประเปรียวกว่านี้มาก พวกลูกศิษย์ที่ได้ไปหุ้มหลวงปู่บ้านตาดในยุคปัจจุบันนั้น องค์ท่านอนุโลกที่สุด อย่าว่าองค์ท่านดุเลย..."

อัศจรรย์...ความเด็ดเดี่ยว องค์หลวงปู่มหา

ด้วยเหตุที่หลวงปู่หล้าท่านเห็นถึงปฏิปทาความจริงจังของหลวงตาตั้งแต่สมัยที่ปฏิบัติต่อสู้กับกิเลส กระทั่งถึงระยะที่เป็นครูบาอาจารย์สอนสั่งพระเณรหลายรุ่นต่อหลายรุ่นด้วยกันมานี้

ดังนั้น เมื่อหลวงปู่หล้าท่านตั้งวัดภูจ้อก้อขึ้นมา มีพระเณรเข้ามาอยู่ศึกษากับท่าน เพื่อให้พระเณรลูกหลานที่อยู่ในการปกครองได้เห็นคติแบบฉบับอันงดงาม การแสดงธรรมของท่านจึงมักต้องได้กล่าวถึงหลวงตาอยู่เสมอๆ ดังบันทึกฉบับหนึ่งที่หลวงปู่หล้าท่านเขียนเป็นจดหมายทิ้งไว้เพื่อเป็นอุบายสอนพระ ดังนี้

Image
หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต


วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) บ.แวง ต.หนองสูงใต้ อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร

21 มิถุนายน กราบเท้าทูลเรียนถวายองค์หลวงปู่ ที่เกล้าเคารพจนเกล้าสิ้นภพสิ้นชาติ

ในระหว่าง 4-5 วันหลังที่ล่วงมา เกล้าได้กราบเท้าทูลถวายฝากมุ้งมาทูลถวายองค์หลวงปู่ กับพวกครูโรงเรียนที่เขาปรารภว่าจะมากราบเท้าองค์หลวงปู่ พร้อมทั้งมีจดหมายอยู่ในที่นั้นด้วย ถ้าหากว่าองค์หลวงปู่ได้รับพร้อมกันแล้ว จงทรงพระมหากรุณาให้พระเลขาตอบจดหมายให้เกล้าทราบด้วยเทอญ เพื่อจะได้หายกังวล เกล้าเมื่อพิจารณาขณะจิตก็ได้นึกถึงองค์หลวงปู่อยู่เป็นอาหารของใจอย่างเคารพสูงยิ่ง และองค์หลวงปู่ทรงปฏิปทาเด็ดเดี่ยวสมต้นสมปลายเป็นธรรมอันหาได้ยากในสมัยปัจจุบันนี้ เรื่องนอกๆ ที่เกล้าวิจารณ์ตามประสาอารมณ์บ้าของเกล้าที่เป็นบ้านั้น เกล้าได้พิจารณาลึกลงไปกว่านั้นมาแต่ไรๆ แล้ว และไม่มีที่จะแซงองค์หลวงปู่อันใดได้เลย ถ้าผู้หนักไปในทางธรรมแล้วก็จะได้อัศจรรย์องค์หลวงปู่ที่เด็ดเดี่ยวเป็นทิฏฐานุคติของอนุชนรุ่นหลังอย่างยอดเยี่ยม

การกราบเท้าทูลเรียนถวายจดหมายองค์หลวงปู่ ถ้าเขียนน้อยก็ไม่สมเจตนาของเกล้า ถ้าเขียนมากองค์หลวงปู่ก็จะน่าเบื่อ ไม่รู้ว่าความพอดีอยู่ในระดับใด ต้องยอมบกพร่อง ยกธงขาวต่อองค์หลวงปู่อยู่เสมอๆ ผูกขาดจองขาดจนเกล้าสิ้นภพสิ้นชาติ

กราบเท้าทูลเรียนถวายมาด้วยความเคารพสูงยิ่งจนเกล้าสิ้นภพสิ้นชาติ

เกล้า
(พระหล้า เขมปตฺโต)

จดหมายถึงองค์หลวงปู่มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน



(มีต่อ 20)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 25 พ.ย.2006, 5:40 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ


คุณแม่ชีแก้ว ผู้รอบรู้พิสดาร

ที่บ้านห้วยทรายแห่งนี้ มีนักปฏิบัติธรรมหญิงท่านหนึ่ง นามว่า คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ เวลาภาวนามักจะมีความรู้แปลกพิสดารมาก เมื่อท่านมาจำพรรษาอยู่ที่บ้านนี้ จึงได้มีโอกาสสนทนาและให้อุบายทางจิตตภาวนาอันสำคัญยิ่งต่อคุณแม่ชีแก้ว

หลวงตาเล่าถึงชีวิตการปฏิบัติธรรมอันน่าอัศจรรย์ยิ่งของคุณแม่ชีแก้วไว้ ดังนี้

"...แม่ชีแก้วที่อยู่บ้านห้วยทรายนี้ เป็นลูกศิษย์ดั้งเดิมของท่านอาจารย์มั่นมาตั้งแต่เป็นสาวโน่นนะ แกภาวนาเป็นตั้งแต่เป็นสาวโน่น ถ้าวันไหนภาวนาแปลกๆ พอท่านอาจารย์มั่นบิณฑบาตมาถึงนั้น ท่านจะว่า

"วันนี้ออกไปวัดนะ"

เพราะท่านหยั่งทราบทุกอย่าง...ทีนี้พอท่านจะจากที่นั่นไป ท่านก็บอกตรงๆ เลย บอกว่า

"นี่ถ้าเป็นผู้ชายแล้วเราจะเอาไปบวชเป็นเณรด้วย"

อายุตอนนั้นราว 16-17 ปี

"นี่เป็นผู้หญิงมันลำบากลำบน ไม่เอาไปแหละ อยู่นี่แหละ จะเป็นบ้าครอบครัวเหมือนโลกเขา ก็แล้วแต่เถอะ..."

ว่าดังนี้แล้วท่านก็ไป ก่อนจะไปท่านสั่งว่า "แต่อย่าภาวนานะ"

นี่สำคัญ ท่านสั่งไว้จุดนี้แหละ คือนิสัยแกผาดโผนมาก เรื่องภาวนานี้นิสัยผาดโผนมากจริงๆ เหาะเหินเดินฟ้าดำดินบินบนในหัวใจมันออกรู้ออกเห็นหมด เทวบุตรเทวดาอินทร์พรหมเปรตผีนี้มันไปรู้ไปหมดนั่นซิ ทีนี้เวลาไม่มีครูมีอาจารย์คอยแนะคอยบอก กลัวมันจะเสีย ท่านจึงห้ามไม่ให้ภาวนา

"เราไปนี้ไม่ต้องภาวนาแหละ ต่อไปมันก็จะมีครูมีอาจารย์สอนเหมือนกันนั่นแหละ"

ท่านว่าอย่างนี้ ท่านว่าผ่านๆ ไปอย่างนี้แหละ...ทีนี้นานเข้าๆ หนักเข้ามันอดไม่ได้ มันอยากภาวนาอยู่ตลอด แกก็เลยภาวนา ก็พอดีเป็นจังหวะที่เราไปที่นั่น พอเหมาะดีเลยเทียว

พอเราไปถึง แกก็มาเล่าให้ฟัง ตอนที่เราไปนั้นเราไปจำพรรษาบนภูเขา ให้หมู่เพื่อนจำพรรษาข้างล่าง เรากับเณรหนึ่งไปจำพรรษาอยู่บนภูเขา บ้านห้วยทรายนั่นแหละ

พอวันพระหนึ่งๆ พวกเขาจะไป ไปพร้อมกันไปละ ไปทั้งวัดเขาเลยแหละ พวกแม่ชีแม่ขาวหลั่งไหลกันไป ขึ้นบนภูเขาหาเราตอนบ่าย 4 โมง 4 โมงเย็นเขาก็ไป ตอนจวน 6 โมงเย็นเขาก็กลับลงมา พอไปถึงแกก็เล่าให้ฟัง ขึ้นต้นก็น่าฟังเลยนะ พอแกขึ้นต้นก็น่าฟังทันที

"นี่ก็ไม่ได้ภาวนา เพิ่งเริ่มมาภาวนานี่แหละ ญาท่านมั่นท่านไม่ให้ภาวนา"

แกว่าอย่างนั้น "ท่านห้ามไม่ให้ภาวนา"

เราก็สะดุดใจกึ๊ก มันต้องมีอันหนึ่งแน่นอน ลงหลวงปู่มั่นห้ามไม่ให้ภาวนานี้ ต้องมีอันหนึ่งแน่นอน จากนั้นแกก็เล่าภาวนาให้ฟังนี้ โถ ไม่ใช่เล่นๆ พิสดารเกินคาดเกินหมาย เราก็จับได้เลยทันที

"อ๋อ อันนี้เองที่ท่านห้ามไม่ให้ภาวนา"

...พอไปอยู่กับเรา...ไปหาเราก็ภาวนา พูดตั้งแต่เรื่องความรู้ความเห็น ไปโปรดเปรตโปรดผีโปรดอะไรต่ออะไร นรกสวรรค์แกไปได้หมด รู้หมด แกรู้ ทีนี้เวลาภาวนามันก็เพลินแต่ชมสิ่งเหล่านี้ ครั้นไปหาเรานานเข้าๆ เราก็ค่อยห้ามเข้า หักเข้ามาเป็นลำดับลำดา ห้ามไม่ให้ออก ต่อไปห้ามไม่ให้ออกเด็ดขาด...นี่แหละ เอากันตอนนี้ ทีแรกให้ออกได้ "ให้ออกก็ได้ไม่ออกก็ได้ ได้ไหม เอาไปภาวนาดู ?" ครั้นต่อมา "ไม่ให้ออก" ต่อมาดัดเลยเด็ดเลย "ห้ามไม่ให้ออกเป็นอันขาด"

นั่น เอาขนาดนั้นนะทีนี้ ให้แกรู้ภายใน อันนั้นเป็นรู้ภายนอกไม่ใช่รู้ภายใน ไม่ใช่รู้เรื่องแก้กิเลส จะให้แกเข้ามารู้ภายใน เพื่อจะแก้กิเลส แกไม่ยอมเข้า เถียงกัน แกก็ว่าแกรู้ แกก็เถียงกันกับเรานี่แหละ ตอนมันสำคัญนะ พอมาเถียงกับอาจารย์ อาจารย์ก็ไล่ลงภูเขา ร้องไห้ลงภูเขาเลย

"ไป...จะไปที่ไหน...ไป สถานที่นี่ ไม่มีบัณฑิตนักปราชญ์ มีแต่คนพาลนะ ใครเป็นบัณฑิตนักปราชญ์ให้ไป ลงไป..."

ไล่ลงเดี๋ยวนั้น ร้องไห้ลงไปเลย เราก็เฉย น้ำตานี้ไม่เห็นมีประโยชน์อะไร เราเอาตรงนั้น ไล่...ลงไป

"อย่าขึ้นมานะ แต่นี้ต่อไปห้าม" ตัดเด็ดกันเลย ไปได้ 4-5 วัน โผล่ขึ้นมาอีก"...ขึ้นมาอะไร !!!...

"เดี๋ยวๆ ให้พูดเสียก่อน เดี๋ยวๆ ให้พูดเสียก่อน" แกว่า

"มันอะไรกัน นักปราชญ์ใหญ่" เราว่าอย่างนั้นนะ ว่านักปราชญ์ใหญ่ แกว่า "เดี๋ยวๆ ให้พูดเสียก่อนๆ" แกจึงเล่าให้ฟัง คือไปมันหมดหวัง แกก็หวังจะพึ่ง ก็พูดเปิดอกเสียเลย แกหวังว่า

"จะพึ่งอาจารย์องค์นี้ ชีวิตจิตใจมอบไว้หมดแล้วไม่มีอะไร แล้วก็ถูกท่านไล่ลงจากภูเขา เราจะพึ่งที่ไหน ?

แล้วเหตุที่ท่านไล่ ท่านก็มีเหตุมีผลของท่านว่า เราไม่ฟังคำท่าน ท่านไล่นี่ ถ้าหากว่าเราจะถือว่าท่านเป็นครูเป็นอาจารย์แล้วทำไมจึงไม่ฟังคำของท่าน เพราะเราอวดดี แล้วมันก็เป็นอย่างนี้ ไม่เห็นได้เรื่องได้ราวอะไร

ทีนี้ก็เลยเอาคำของท่านมาสอนมาปฏิบัติ มันจะเป็นยังไง ? เอาว่าซิ มันจะจม ก็จมไปซิ"

คราวนี้แกเอาคำของเราไปสอนบังคับไม่ให้ออกอย่างว่านั่นแหละ แต่ก่อน มีแต่ออกๆ ห้ามขนาดถึงว่าไล่ลงภูเขา แกไม่ยอมเข้า มีแต่ออกรู้อย่างเดียว พอไปหมดท่าหมดทางหมดที่พึ่งที่เกาะแล้ว ก็มาเห็นโทษตัวเอง

"ถ้าว่าเราถือท่านเป็นครูเป็นอาจารย์ ทำไมไม่ฟังคำท่าน ฟังคำท่านซิ ทำลงไปแล้วเป็นยังไงให้รู้ซิ"

เลยทำตามนั้น พอทำตามนั้นมันก็เปิดโล่งภายในซิ ทีนี้ จ้าขึ้นเลยเชียว นี่ก็สรุปความเอาเลย นี่แหละที่กลับขึ้นมา กลับขึ้นมาเพราะเหตุนี้ ทีนี้ได้รู้อย่างนั้นๆ ละทีนี้ รู้ตามที่เราสอนนะ

"เออ เอาละ ทีนี้ขยำลงไปนะตรงนี้ ทีนี้อย่าออก อย่ายุ่ง ยุ่งมานานแล้วไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร เหมือนเราดูดินฟ้าอากาศ ดูสิ่งเหล่านั้นน่ะ"

ดูเปรตดูผีดูเทวบุตรเทวดา มันก็เหมือนตาเนื้อเราดู สิ่งเหล่านี้ไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร ถอนกิเลสตัวเดียวก็ไม่ได้นี่ ตรงนี้ ตรงถอนกิเลส"

เราก็ว่าอย่างนี้ "เอ้า ดูตรงนี้นะ"

แกก็ขยำใหญ่เลย เอาใหญ่เลย ลงใจไม่นานนะก็ผ่านไป แกบอกแกผ่านมานานนะ...พ.ศ. 2494 เราไปจำพรรษาที่ห้วยทราย ในราวสัก 2495 ละมัง แกก็ผ่าน..."

Image
แม่ชีแก้ว เสียงล้ำ (องค์ข้างหลัง) ถ่ายกับเพื่อนแม่ชี
ณ สำนักชีบ้านห้วยทราย ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร



คำกล่าวอีกตอนหนึ่งของท่านเล่าถึงเรื่องความรู้พิสดารของคุณแม่ชีแก้ว ดังนี้

"...ความรู้ของคุณแม่แก้วแปลกพิสดารมาก สำคัญที่สุดที่เรียกว่าไม่พลาดเลย เวลาเราไปไหนมาไหนนี่นะ ไม่มีพลาดเลย แม่นยำ ไม่มีเคลื่อนเลย พอเราออกจากวัด

"อ้าวญาท่านไปแล้วนะวันนี้นะ" ว่าอย่างนั้นนะ "ไปแล้ว"

ที่เราไปไหนมาไหนนิสัยเราก็อย่างนี้ มันไม่เคยพูดไม่เคยบอกใคร มันเป็นนิสัยอย่างนั้นแต่ไหนแต่ไร ทางนี้ก็รู้แล้วเริ่มแล้วนะนี่

"อบอุ่นเข้าแล้ว ค่อยอบอุ่นเข้ามาๆ"

พอถึงที่ก็ว่า "ถึงแล้ว" ตอนเช้าก็ได้หุงข้าว แล้วเตรียมหมากทุกวันไม่มีพลาด เราถึงได้ถามนะสิ

"นี่เตรียมมาทุกวันหรือ ? หมากนี่ข้าวเนี่ย"

หุงข้าววันละหม้อเล็กมาให้ทุกวันตอนเราอยู่นั่นน่ะ บอกเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง หุงข้าวเตรียมหมาก แกคอยจัด ตัวแกเองไม่มาหรอก แต่ให้แม่ชีมาจังหัน แม่ชีก็เอามา ส่วนแกนานๆ จะเอามาทีหนึ่ง ถามแม่ชีเรื่องหุงข้าว แม่ชีตอบว่า

"เพิ่งหุงตอนญาท่านมานี่แหละ"

เขาเรียกญาท่าน เป็นความเคารพของเขานะ "หมากนี่เพิ่งทำ ตอนญาท่านไม่อยู่ ข้าวนี่ก็งดหมด"

"แล้วทำไมถึงรู้ว่าจะทำ ?"

แม่ชีตอบว่า "ก็คุณแม่บอกให้ทำไปเถอะ ญาท่านมาแล้ว"

นี่แหละ อันนี้ไม่พลาดนะ สำคัญไม่มีพลาด...กับตอนที่พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นมรณภาพ โอ๊ย แกแม่นยำของแกขนาดนั้น...

"ญาท่านเสียแล้ว...เมื่อคืนนี้"

แกเล่าว่า "ญาท่านมาบอกว่า มานี่มา ไปดูเสียซากเรา เห็นแต่ซากแล้ว ญาท่านว่า พ่อไปแล้วนะ"

พอคุยพูดกันยังไม่เลิกเลย ไอ้หลานมันก็ไปคำชะอี ไปได้ข่าวเขาออกวิทยุตอนเจ็ดโมงเช้า ประกาศลั่นว่า

"หลวงปู่มั่นเสียแล้ว"

มาถึงมันก็วิ่งถึงวัดเลย วิ่งกระหืดกระหอบมา "อะไร ?"

"โอ๊ย ญาท่านเสียแล้ว" นั่นเห็นไหม...เห็นไหม เสียในเวลาเท่านั้นเท่านี้ เขาประกาศลั่น นี่ก็แม่นยำมาก..."

ศิษย์คนสำคัญอีกท่านหนึ่งในระยะที่พักอยู่บ้านห้วยทรายแห่งคือ ตาปะขาว ชื่อ คำตัน

ซึ่งระยะต่อมาไม่นาน ตาปะขาวก็ได้บวชเป็นพระภิกษุ หลวงตาเมตตาเป็นผู้จัดหาบริขาร เครื่องบวชให้ด้วยตนเอง ดังคำกล่าวของท่านว่า

"...หลวงพ่อตันนะ องค์หนึ่งนะ อันนี้ก็เราบวชให้เลยนะ เป็นตาปะขาว แกภาวนาดี แกเล่าภาวนาให้ฟัง เข้าท่านี่ว่ะ

เราเลยให้ไปบวชมุกดาหาร เราไม่ไปแหละ แต่ให้โยมพาไป ให้พระพาไป บริขารเราเตรียมพร้อมเสร็จแล้ว ให้ไปบวชแล้วมาอยู่กับเรา หลวงพ่อตันนี้องค์หนึ่ง..."

Image
นางแพง โลหิตดี โยมมารดาของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน


ตอบแทนพระคุณบิดามารดา

ระยะต่อมา ด้วยความระลึกถึงพระคุณของโยมมารดา อยากให้โยมมารดารู้เห็นและพบความสุขจากธรรมนี้บ้าง ท่านจึงจากบ้านห้วยทรายมาที่บ้านตาด เหตุการณ์ในระยะนี้หลวงปู่หล้าบันทึกไว้ว่า

"...พอถึงปี พ.ศ. 2497 ออกพรรษาแล้วจีวรกาลเสร็จ องค์ท่าน (หมายถึงหลวงตามหาบัว) จะได้ไปเอามารดาบวชขาวองค์ท่านก็คิดละหวนทวนไปมาว่า ถ้าบวชแล้วจะเอาโยมมารดามาอยู่ห้วยทราย คุณชีแก่ๆ อายุมาก ตลอดทั้งหนุ่มก็มีอยู่มากแล้ว เกรงจะมาทับถมให้ภาระหนักขึ้นแก่ผู้ที่ท่านบวชก่อน เพราะเป็นโยมมารดาของผู้เป็นเจ้าอาวาส ก็ต้องจะได้ให้เกียรติให้คุณเป็นพิเศษ เกรงจะหนักใจแก่ท่านผู้มีอายุมาก และพร้อมทั้งบวชก่อน จึงตกลงใจว่าบวชโยมมารดาแล้วจำจะหาที่อยู่ใหม่ องค์ท่านจึงปรึกษากับคณะสงฆ์ว่า

"...ผมจะได้ไปบวชโยมมารดา ส่วนจะกลับนั้นบอกไม่ถูกเสียแล้ว ส่วนที่จะไปกับผมนั้น จะไปหมดก็ไม่ถูก เวลาอยู่เราก็แย่งกันอยู่ เวลาไปเราก็แย่งกัน มันเป็นเรื่องไม่งามแก่ฝ่ายปฏิบัติ จะเสียวงศ์ตระกูลฝ่ายปฏิบัติ ฉะนั้น ขอให้คุณสมจงพาหมู่อยู่นี้บ้างในพรรษาต่อไปนี้ ทีนี้ส่วนผู้ที่จะไปกับผมคนนั้นคนนี้ผมก็ไม่ว่า ส่วนจะอยู่นี่ก็เหมือนกัน ถ้าไปกับผมมากก็ลำบากอีก เพราะไม่ทราบว่าจะได้อยู่ที่ใดแน่ จึงเป็นของน่าควรคิดมากแท้ๆ ในเรื่องนี้"

เมื่อถึงบ้านตาดแล้ว ท่านจึงจัดการบวชชีให้โยมมารดา และให้การอบรมปฏิบัติจิตตภาวนา ปีนั้นโยมมารดามีอายุครบ 60 ปีพอดี เหตุการณ์ในระยะนั้น ท่านเล่าว่า

"...พอได้เวลาแล้วก็จดหมายมาบอกโยมแม่ว่า

"จะมาจากห้วยทรายประมาณวันที่เท่านั้น ให้เตรียมพร้อมไว้"

ตั้งใจว่าเมื่อมาแล้วจะเอาโยมแม่บวชทันที พอมาถึง โยมแม่ก็พอดีเตรียมพร้อมไว้แล้วก็จับบวชเลย มีผู้เฒ่าแม่แก้ว (คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ) ที่ติดตามมา 3 คนนี้ มาเพื่อโยมแม่นี่เอง ถ้าไม่อย่างนั้นโยมแม่จะไม่มีเพื่อนฝูงอยู่ เพราะพวกนั้นก็เห็นคุณเรานี่...ทีนี้เราจะมาบวชโยมแม่นี้ เขาก็ติดตาม มาเพื่อมาเป็นเพื่อนฝูงของโยมแม่นั่นละ...พอมาก็จับบวชเลยทันที คล่องตัวเลย"

จะขอกล่าวถึงโยมบิดาของท่าน นับเป็นเวลาหลายปีก่อนที่โยมบิดาของท่านจะเสียชีวิต ท่านได้พยายามเขียนจดหมายมาขอร้องบิดาอยู่หลายครั้ง ให้เลิกฆ่าสัตว์ตัดชีวิต จนในที่สุดพ่อก็ยอมเชื่อและไม่ฆ่าสัตว์ใดๆ อีกแลย

บิดาของท่านได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว (ตั้งแต่ปี 2487) รวมอายุได้ 55 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกันกับที่ท่านกำลังภาวนาอยู่ในป่าในเขา

ทราบกันว่า พอตอนเช้าวันเดียวกันกับที่โยมบิดาของท่านสิ้นใจ ท่านได้บอกกับพระเณรที่พักอยู่กับท่านในระยะนั้นว่า "...เออ โยมพ่อนี่เสียแล้วล่ะ เมื่อคืนนี้แหละ น้องของพ่อมาบอกว่า "พ่อเสียแล้ว" คอยฟังข่าวนะว่า มันจะหลอกหรือจะจริง..."

พระเณรจึงจดวันเวลาที่ท่านบอกไว้ เมื่อผ่านไปได้สักเกือบ 2 อาทิตย์ ท่านก็ได้รับจดหมายจากญาติพี่น้องทางจังหวัดอุดรธานีว่า "โยมบิดาสิ้นแล้ว"

เมื่อพระเณรลองตรวจสอบวันเวลาที่จดบันทึกไว้กับในจดหมาย ก็ปรากฏว่าตรงกันพอดี เป็นที่อัศจรรย์กันทั่วหน้า

Image
พระอาจารย์เจี๊ยะ จุนโท


จังหวัดจันทบุรี

เมื่อท่านพาโยมมารดาบวชแล้ว เพื่อไม่ให้ต้องมีสัญญาอารมณ์กับลูกกับหลาน ญาติพี่น้อง ท่านจึงพาโยมมารดาไปอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ในปี พ.ศ. 2497

ครั้งแรกก็ไปพักอยู่ที่บ้านยางระหง ต่อมา ท่านอาจารย์เจี๊ยะ จุนโท เป็นผู้นิมนต์ท่านมาพักและสร้างวัดขึ้นในที่ดินของโยมพี่สาว บริเวณสถานีทดลองกสิกรรมพริ้ว อำเภอแหลมสิงห์

ท่านอาจารย์เจี๊ยะเป็นผู้ดูแลในการจัดสร้างเสนาสนะให้ไดัรับความสะดวกครบถ้วน ใช้เป็นที่พักจำพรรษาได้เป็นอย่างดี มีขอบเขตบริเวณเป็นส่วนเป็นสัดชัดเจนทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายอุบาสิกา การเกี่ยวข้องสังคมกับประชาชนของท่านนั้น ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนที่จังหวัดจันทบุรีนี้เอง

ท่านเล่าถึงความมั่นคงเหนียวแน่นทางพุทธศาสนาของชาวจันทบุรีไว้ ดังนี้

"...ไปทางจันท์ ได้เทศน์ออกสังคม ก็ไปเทศน์ที่เมืองจันท์ เทศน์เหล่านั้นก็เทศน์ แต่ไม่ได้อะไรนัก

เมืองจันท์นี่ โห เหนียวแน่นมากนะ ศรัทธาสำคัญมากนะ วันเสาร์ วันอาทิตย์ วันพระนี้ คนเต็มอยู่นู่น สถานีทดลองฯ ไปฟังเทศน์เต็มอยู่

เขายังมาพูดอวดท่านพ่อลี เขาไม่รู้ว่า เรากับท่านพ่อลีคุ้นกันมาตั้งแต่เมื่อไร เขาไปแล้วก็เอามาคุยโม้กับท่านพ่อลี ระยะนั้นท่านพ่อลีท่านอยู่วัดป่าคลองกุ้ง เขาไปเล่าให้ท่านฟังว่า

"ท่านพ่อ เดี๋ยวนี้ได้พระองค์สำคัญองค์หนึ่งแล้ว มาอยู่ที่วัดสถานีทดลอง"

"สำคัญอะไร ?" ท่านก็ว่าซิ ความจริงคุ้นกันมาตั้งแต่เมื่อไรเขาไม่รู้ เขาว่า

"ท่านอาจารย์มหาบัว อู๊ย เทศน์น้ำไหลไฟสว่างไปเลย" ว่าอย่างนั้น แล้วก็คุยให้ท่านฟังนะ

"มันต้องอย่างงั้นซิ" เวลาท่านตอบ"มันต้องอย่างงั้นซิ"

ความจริงรู้กันมาตั้งแต่เมื่อไรเขาจะไปรู้อะไร เพราะฉะนั้น เวลามาพูดคุยโม้ให้ท่านฟัง ท่านก็อดหัวเราะไม่ได้ ท่านก็ว่า "มันต้องอย่างงั้นซิ" ท่านก็ว่าเท่านั้นละ..."

Image
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร


ดูคน...บ่งลักษณะนักเลงโต

ที่จันทบุรีแห่งนี้ ในพรรษานั้นเอง มีเรื่องหนึ่งทำให้ ท่านอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร อัศจรรย์ความสามารถของท่านอย่างยิ่งในการดูลักษณะคน แม้เพียงเล็กน้อยแต่สามารถทราบถึงอุปนิสัยใจคอได้ถนัดชัดเจน คือขณะที่พระเณรกำลังทำงานร่วมกันอยู่ ท่านก็บอกให้ดูคนคนหนึ่ง แล้วจึงพูดขึ้นว่า

"พวกท่านดูคนคนนี้เป็นยังไง มาใกล้ชิดติดพันอยู่กับวัดนี่น่ะ"

พระเณรทั้งหลายต่างพากันแปลกใจในคำถามของท่าน เพราะก็ไม่เห็นว่าชายผู้นี้จะมีอะไรผิดปกติไปกว่าคนอื่นๆ แต่อย่างใด ท่านอาจารย์สิงห์ทองจึงได้ตอบไปว่า

"จะว่ายังไง ? ก็เป็นคนดีๆ นี่"

ท่านว่า "ใช่เหรอ ? ดูให้ดีนะ"

ท่านอาจารย์สิงห์ทองพูดอย่างมั่นใจว่า "จะดูให้ดีอะไร ก็ดูมาดีแล้ว"

"ให้พิจารณาเสียก่อนนะ" ท่านย้ำ

จากนั้นท่านก็ได้อธิบายในฉากหลังของชายผู้นั้นว่า

"นี่เป็นนักเลงโตนะ สามารถฆ่าคน 5 คนได้โดยไม่รู้ตัว เพราะมีลักษณะทุกอย่างพร้อมหมดเลย"

ท่านอาจารย์สิงห์ทองรู้สึกแปลกใจ และยังไม่เชื่อคำพูดของท่าน จึงได้แอบตามไปสืบประวัติเบื้องหลังของชายผู้นั้นอย่างจริงจังชนิดจะเอาให้รู้ความจริงให้ได้ เมื่อซักไซ้ไล่เรียงกันอย่างหมดไส้หมดพุงในจุดที่สงสัยแล้ว ผลปรากฏว่าเป็นจริงตามนั้นทุกประการ จึงกลับมาพูดกับท่านว่า

"โอ๊ย อัศจรรย์ ท่านอาจารย์ดูคน ดูยังไง ทำไมอาจารย์อยู่ๆ ก็พูดขึ้น ทั้งๆ ที่เขาก็ไม่มีอะไรกับท่านอาจารย์ให้จับพิรุธได้เลย ทั้งๆ ที่เขาก็ดิบก็ดีมาตลอด ผมดูเขามาตลอด ยอมท่านอาจารย์เลย"

ท่านเคยกล่าวถึงอุปนิสัยใจเด็ดของท่านอาจารย์สิงห์ทองให้พระเณรที่วัดป่าบ้านตาดฟังว่า

"ท่านสิงห์ทองนี้เด็ด ! เป็นคนไม่ยอมใครง่ายๆ และหากไม่ยอมแล้ว จะสู้เลย หากยอมแล้วจะยอมจริงๆ"

เหตุการณ์ครั้งนั้นนจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มักถูกนำมาเล่าต่อๆ กันในวงลูกศิษย์พระเณรแม้ทุกวันนี้

เมื่อออกพรรษาแล้วท่านได้พาโยมมารดามาพักที่บ้านสามผาน อำเภอท่าใหม่ แม้กระนั้นญาติโยมทางสถานีทดลองก็ยังได้ตามมาฟังธรรมและนิมนต์ขอให้ท่านกลับไปอยู่เนืองๆ จนบางครั้งเป็นเหตุให้ญาติโยมทางบ้านสามผานชักรู้สึกอึดอัดขัดเคืองอยู่ไม่น้อย เพราะก็เคารพรักท่านเหมือนกัน ไม่อยากให้กลับไป อยากจะให้ท่านอยู่ที่นั่นนานๆ หรือหากเป็นไปได้ก็อยากให้อยู่ตลอดไปเลย

พอดีในตอนนั้นโยมมารดาก็ป่วยมาก จำเป็นจะต้องได้พากลับมาที่บ้านตาด อุดรธานี อีกทั้งโรคของโยมมารดาก็บังเอิญถูกกับยาสมุนไพรของหมอที่นั่น จึงเป็นอันต้องจากจันทบุรีมาด้วยความอาลัยทั้งสองฝ่าย

เพราะเหตุที่ท่านไปจังหวัดจันทบุรีในคราวนั้นเอง จากนั้นมาชาวจันทบุรีก็ได้ตามมาศึกษาปฏิบัติธรรมกับท่านที่วัดป่าบ้านตาดไม่เคยขาด และท่านเองหากมีโอกาสก็จะไปเยี่ยมพี่น้องชาวจันทบุรีอยู่เสมอเช่นเดียวกัน


(มีต่อ 21)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 25 พ.ย.2006, 5:43 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ 15 เสาหลักกรรมฐาน

ตั้งวัดป่าบ้านตาด

ด้วยเหตุที่โยมมารดาล้มป่วยด้วยโรคอัมพาต ท่านจึงพากลับมารักษาตัวที่บ้านตาด หมอที่รักษาโรคอัมพาตใช้อ้อยดำผสมในสูตรยาด้วย ท่านจึงหาอ้อยดำมาปลูกไว้ข้างๆ กุฏิของโยมมารดา หมอทำการรักษาอยู่ถึง 3 ปี โรคจึงหายขาด จากการที่ต้องอยู่พยาบาลโยมมารดาเป็นเวลานาน ทั้งโยมมารดาก็มีอายุมากแล้ว การจะหอบหิ้วไปอยู่ด้วยกันในสถานที่ทุรกันดาร ตามอัธยาศัยเดิมของท่านที่ชอบหลีกเร้นแต่ผู้เดียวนั้น ก็มีแต่จะสร้างความลำบากให้กับโยมมารดามาก ความคิดก่อตั้งวัดป่าบ้านตาดจึงเกิดขึ้นด้วยเหตุผลนี้เอง

ประจวบกับเวลานั้นชาวบ้านตาดก็ได้ยินกิตติศัพท์กิตติคุณของท่านมานานแล้ว มีความประสงค์อยากให้ท่านตั้งวัดขึ้นเช่นกัน จึงได้พร้อมใจกันถวายที่ดิน วัดป่าบ้านตาดจึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 เป็นต้นมา เมื่อได้อยู่เป็นที่เป็นฐาน ทำให้พระเณรต่างหลั่งไหลมาอยู่กับท่านมากขึ้น ในระยะแรกๆ ท่านจำกัดจำนวนไว้เพียงแค่ 17-18 องค์ และคงจำนวนไว้เช่นนั้นอยู่หลายปี คือ ตั้งแต่ 2499 มาจนกระทั่งถึง 2519-2520 อย่างไรก็ตาม เมื่อครูบาอาจารย์องค์สำคัญๆ ต่างล่วงลับไป พระเณรจำนวนมากไม่มีที่เกาะที่ยึด ท่านก็ค่อยอนุโลมให้เพิ่มขึ้นๆ จนกระทั่งปี 2541 มีพระเณรในพรรษาทั้งสิ้น 47 องค์

เนื่องจากโยมมารดาของท่านนั้น มิได้ฝึกหัดอ่านเขียนหนังสือมา เพราะสมัยก่อนการศึกษายังไม่เจริญดังเช่นปัจจุบันนี้ จึงต้องอาศัยลูกหลานช่วยอ่านหนังสือที่ท่านเป็นผู้เขียนเช่น เช่น ประวัติท่านอาจารย์มั่นให้ฟังทุกวัน รวมทั้งท่านจะให้การอบรมธรรมแก่โยมมารดาของท่านโดยสม่ำเสมอ ความซาบซึ้งในธรรมจึงมากยิ่งขึ้นทุกวัน ความเพียรก็เข้มแข็ง จึงสามารถปฏิบัติภาวนาได้เป็นอย่างดี และก้าวหน้าไปโดยลำดับเต็มความสามารถของท่าน โยมมารดาของท่านเคยเล่าว่า

"ได้ฟังท่านแสดงธรรมครั้งใดไม่เคยพลาดเลย จิตจะรวมลงแน่วทุกครั้งไป"

ป่วยเพียงกาย ใจแจ้งกระจ่าง

ในวาระสุดท้ายก่อนหน้าที่โยมมารดาจะจากโลกไป ท่ามกลางทุกขเวทนากล้าที่พร้อมจะให้สิ้นชีวิตได้ทุเมื่อ ท่านได้เข้าไปเยี่ยมและถามว่าอาการเป็นอย่างไรบ้าง โยมมารดาได้ตอบว่า

"ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยก็จริง แต่ใจนั้นใสสว่างกระจ่างแจ้งอยู่ตลอดเวลา"

จึงเป็นที่เชื่อได้ว่า โยมมารดาของท่านได้ประสบสุคโต นับว่าสมเจตนารมณ์ของท่านอย่างยิ่งที่ได้ทดแทนพระคุณโยมมารดาอย่างเต็มที่ สมดังที่พระบรมศาสดาทรงสรรเสริญไว้ว่า "ผู้ใดทำมารดาบิดาให้ตั้งอยู่ในคุณความดี มีศรัทธา คือ ปัญญา เป็นต้น ผู้นั้นชื่อว่าได้สนองคุณท่านเต็มที่"

โยมมารดาได้จากโลกนี้ไปด้วยอาการอันสงบ เมื่ออายุย่างเข้า 93 ปี ตรงกับวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 และด้วยเหตุนี้เอง ในทุกๆ ปีของวันที่ 30 พฤษภาคม (วันทำบุญโยมมารดา) ท่านไม่เคยละเว้นและไม่ลืมที่จะทำบุญระลึกถึงพระคุณโยมมารดา สิ่งนี้ย่อมแสดงถึงความซาบซึ้งในบุญในคุณของโยมมารดาแบบไม่สร่างซา

งานฉลองกึ่งพุทธกาล

ย้อนมากล่าวถึง ท่านพ่อลี ธัมมธโร วัดอโศการาม ซึ่งชาวจันทบุรีเคยเอาเรื่องการเทศน์น้ำไหลไฟสว่างของท่านไปเล่าให้ท่านพ่อลีฟัง ความเป็นจริงแล้วท่านทั้งสองเคยรู้จักกันมาก่อนแล้วสมัยที่ท่านอาจารย์มั่นยังมีชีวิตอยู่ ดังคำกล่าวของท่าน (หลวงตา) ว่า

"...ท่านพ่อลีมีนิสัยเด็ดเดี่ยวอาจหาญชาญชัยมากในการประพฤติปฏิบัติ และท่านเคยเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นมาตั้งแต่เริ่มแรกโน้น จนกระทั่งได้พลัดพรากจากกัน ทั้งหลวงปู่มั่นและองค์ท่านเองก็เคยไปมาหาสู่อยู่เสมอ

เท่าที่ได้สังเกตในเวลาท่านไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่นที่วัดบ้านหนองผือนั้น รู้สึกว่าหลวงปู่มั่นท่านแสดงอากัปกิริยาเต็มไปด้วยความเมตตาอย่างมากมาย เห็นได้อย่างชัดเจน แม้ท่านจะไม่ได้พักอยู่วัดป่าหนองผือเป็นเวลานานก็ตาม แต่สถานที่ให้พักสำหรับท่านพ่อลีเรานี้ ท่านเป็นผู้สั่งเองว่าให้ไปจัดที่นั่นๆ คือในป่านอกบริเวณรั้ววัด ให้ท่านลีได้พักสบายๆ เพราะสงัดดีกว่าที่อื่นๆ

คำว่าที่นั่นๆ นั่นหมายถึงในป่าลึกๆ โน้น แล้วก็สั่งเราเองนี้ให้เป็นผู้ไปดูและจัดสถานที่ที่จะให้ท่านพัก หลังจากนั้นท่านยังตามไปดูสถานที่พักนั้นอีกด้วย นี่ก็เป็นเหตุให้ประทับใจไม่ลืม และการให้โอวาทสั่งสอนใน 2-3 คืนที่ท่านพักอยู่นั้น รู้สึกว่าประทับใจอย่างมากทีเดียว

เพราะครูบาอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์ของท่าน และเป็นที่เมตตาเป็นที่ไว้วางใจของท่าน นานๆ จะได้ไปพบกับท่าน กราบนมัสการท่านครั้งหนึ่งและได้สนทนาธรรมกัน ท่านจึงได้สนทนากันอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มอรรถเต็มธรรมทุกขั้นตอน ซึ่งยากที่จะหาฟังได้ในเวลาอื่นๆ

นี่เป็นเป็นเหตุการณ์ที่ลืมไม่ได้ เพราะหลวงปู่มั่นนั้นแสดงอาการอันใดออกมา ย่อมเต็มไปด้วยเหตุด้วยผลด้วยความหมายที่จะยึดเป็นคติได้ตลอดไป ไม่สักแต่ว่ากิริยาที่แสดงออกมาเท่านั้น แต่เต็มไปด้วยความหมาย นี่ท่านพ่อลีก็เป็นลูกศิษย์องค์สำคัญองค์หนึ่งของหลวงปู่มั่นเรา..."

จากคำกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าท่านพ่อลีรู้จักคุ้นเคยกับท่านตั้งแต่สมัยอยู่บ้านหนองผือแล้ว

Image

Image
บรรยากาศภายในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ (งานฉลองกึ่งพุทธกาล)
มีพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายพระป่ากรรมฐานหลายองค์มาร่วมงาน
ณ วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ แห่งนี้
หนึ่งในนั้นคือ หลวงตามหาบัว แห่งวัดป่าบ้านตาด (ขณะนั้นท่านอายุ 44 ปี)



ต่อมาเมื่อท่านเริ่มสร้างวัดป่าบ้านตาดได้ไม่นาน ปีนั้นเป็นปี 2500 ครบกึ่งพุทธกาล ท่านพ่อลีจึงได้จัดเตรียมงานฉลองพระพุทธศาสนาขึ้นที่วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ ความตั้งใจของท่านพ่อลีในทีแรกคิดจะจัดงานนาน 2 อาทิตย์ แต่ก็มีเหตุให้ขยายวันเพิ่มออกไป

เป็นปกติธรรม เมื่อทำกิจการงานใด ปัญหาในงานนั้นย่อมเกิดมีขึ้นไม่มากก็น้อย หากต้องอาศัยคนหมู่มากเข้าร่วมงานกันด้วยแล้ว การตกลงกันในงานเพื่อจะให้มีทิศทางเดียวกัน ย่อมเป็นสิ่งจำเป็นมากยิ่งขึ้นไปอีก มิฉะนั้น ปัญหายุ่งๆ พอให้รำคาญใจ ย่อมจะเกิดขึ้นได้โดยง่าย แม้ในคราวจัดงานบุญครั้งนี้ก็เช่นกัน พอเริ่มงานได้ประมาณอาทิตย์หนึ่ง ก็เริ่มมีปัญหาบางประการเกิดขึ้น คือจำนวนแม่ครัวมีไม่เพียงพอ ปัญหาเท่านี้คงไม่ใหญ่โตอะไร แต่เมื่อขยายผลมากขึ้นทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ อันเป็นกิ่งก้านสาขาตามมาจนเป็นเหตุให้เกิดการโต้เถียงกันในที่สุด เนื่องจากยังหาจุดลงตัวไม่ได้ งานส่วนรวมจึงเกิดชะงักงันขึ้น กลายเป็นปัญหาใหญ่โต แม้จะมีพระภิกษุครูบาอาจารย์พยายามไปพูดคุยช่วยแก้ปัญหา แต่ก็ยังไม่เป็นผลดีขึ้นแต่อย่างใด บางทีอาจซ้ำร้ายลงไปอีก

ดังนั้น เมื่อเรื่องนี้ทราบถึงท่านพ่อลีแล้ว ท่านจึงรีบสั่งเด็ดขาดกับท่านอาจารย์เจี๊ยะ ให้ไปตามท่าน (หลวงตา) ซึ่งพอดีอยู่ในงานครั้งนั้นมาช่วยแก้ปัญหาให้ ท่านอาจารย์เจี๊ยะรับคำสั่งจากท่านพ่อลีให้ไปบอก "...บอกให้มหาบัวเท่านั้นนะไปชำระเรื่องที่ครัว คนอื่นไปแทนไม่ได้โดยเด็ดขาด...ห้ามไม่ให้ใครแทนเป็นอันขาด..."

ด้วยความจำเป็นอันเลี่ยงไม่ได้เช่นนี้ ท่านจึงเข้าซักถามปัญหากับแม่ครัวว่ามีต้นสายปลายเหตุเช่นไร หนักเบามากน้อยเพียงใด เมื่อเข้าใจเหตุผลแล้ว ท่านก็ชี้ถึงปัญหาและวิธีแก้ไขอย่างตรงไปตรงมา ทำให้ทุกคนรู้สึกถึงใจในเหตุผลและช่วยขวนขวายคนละไม่ละมือจนปัญหาต่างๆ หมดไป งานฉลองครั้งนั้นจึงผ่านไปได้ด้วยดี ไม่มีเรื่องหนักอกหนักใจใดๆ อีก คำพูดอย่างจริงจังเข้มข้นของท่านในครั้งนั้น โดยย่อๆ มีว่า

"...เวลานี้พวกเราทั้งหลายมากันในนามลูกศิษย์ของท่านพ่อนะ...วาสนาบารมีของท่านพ่อเป็นยังไง เราถึงมาทำอย่างนี้...เพราะเราทุกๆ คนก็มาในนามลูกศิษย์ แล้วทำไมถึงจะปฏิบัติต่อกันไม่ได้ละ ?

ทำไมถึงกระทบกระเทือนถึงท่านพ่อ หากว่าท่านพ่อมาว่าแบบนี้จะว่ายังไงละ ท่านพ่อจะไม่พูดกี่คำนะ จะพูด 2-3 คำ แล้วพวกเราจะแก้ได้ไหม ?...เอ้า ท่านพ่อจะเดินฉากมานู้น

"อาตมาจะไปแล้วนะ อาตมาไม่มีวาสนาบำเพ็ญพาลูกศิษย์ลูกหา พาทำงานคราวนี้ก็ไม่ได้"

ท่านพ่อจะไปละนะ ท่านก้าวออกจากวัดไปนี้ เอ้า ใครจะติดตามไปเอาท่านมาได้ไหม ? ถ้าหากว่าพวกเราไม่รีบแก้ไขตั้งแต่บัดนี้...เวลานี้ก็อยู่ในฐานะที่จะควรแก้ไขได้ ปฏิบัติกันไม่ได้เหรอ ?..."

พอพูดถึงจุดนี้ คนที่ท้อกับปัญหา หาทางแก้ไม่ออกก็เหมือนถูกกระตุกใจให้ระลึกถึงบุญถึงคุณของท่านพ่อลีที่อุตส่าห์เมตตาแนะนำสั่งสอนให้รู้ผิดชอบชั่วดีพอเป็นผู้เป็นคนขึ้นมา ต่างมีแก่ใจแข็งขันคิดสู้กับปัญหานั้นให้หมดให้จางไป ไม่เห็นแก่เรื่องขัดอกขัดใจเล็กๆ น้อยๆ เป็นเรื่องใหญ่ยิ่งกว่ากิจการงานของครูบาอาจารย์ ต่างขันอาสารับปากรับคำท่านขึ้น คนนั้นก็ว่า "ได้" คนนี้ก็บอกว่า "ได้" คนนั้นก็รับอาสาจะไปติดต่อครัวนั้นให้ คนนี้ก็จะไปติดต่อโรงนั้นๆ ต่างคนต่างจะไปเอามาให้ได้ทั้งนั้น สามัคคีคือพลังกลับคืนมาอีกครั้งดังเดิม

เมื่อได้จุดลงตัวแล้ว ความสมานกลมกลืนกันในงานก็เกิดใหม่อีกครั้ง แต่เข้มแข็งกว่าเดิม ปัญหานั้นก็หมดสิ้นไปกลับกลายเป็นพลังสามัคคีช่วยกันชนิดท่วมท้นเลยทีเดียว คือพอประมาณ 2 ทุ่ม แม่ครัวก็ประกาศขึ้นมามีถึง 200 คน ครั้นพอ 3 ทุ่ม มีถึง 300 คน พอล่วงถึงตอนเช้าขึ้นถึงได้ 300 กว่าคน และด้วยความพร้อมเพรียงเช่นนี้เอง ท่านพ่อลีเลยสนองตอบน้ำใจลูกศิษย์ ด้วยการขยายเวลาออกรวมถึง 3 อาทิตย์ โดยไม่มีปัญหาขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้น เรื่องต่างๆ ก็สงบเรียบไปหมด

คงเพราะเหตุการณ์จุดนั้นด้วยส่วนหนึ่ง เป็นผลให้ท่านพ่อลีสงวนท่านไว้ ไม่ยอมให้ท่านไปไหนตลอดระยะงานฉลองครั้งนั้น เมื่อท่านพ่อลีเจอหน้าท่านครั้งใด มักจะพูดขึ้นด้วยความเมตตาแบบคนสนิทสนมคุ้นเคยกันว่า

"...มหาบัวไปไหนไม่ได้นะ ยังไม่เสร็จ...มหาบัวไปไหนไม่ได้นะ งานยังไม่เสร็จ..."

จากนั้น ท่านพ่อลี ก็พาท่านเดินไปดูที่นั่นที่นี่ในตอนเช้าเวลาเลี้ยงอาหารกันบ้าง หรือดูเรื่องอื่นๆ บ้าง ทำให้ทุกคนในงานครั้งนั้นต่างเห็นถึงความเมตตาสนิทสนมที่ท่านพ่อลีมีต่อท่านอย่างเป็นกรณีพิเศษทีเดียว

Image
ท่านพ่อลี ธัมมธโร


มหาบัว เอ้า ! พิจารณา

อีกครั้งหนึ่ง ที่วัดอโศกการามแห่งเดียวกันนี้ มีการประชุมสงฆ์เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งซึ่งท่านได้เข้าร่วมประชุมด้วย ครั้งนั้นมีแต่พระเถรานุเถระครูบาอาจารย์องค์สำคัญๆ ทั้งนั้น (รวมทั้งท่านพ่อลี) เข้าร่วมประชุมอยู่ด้วย ทราบกันว่า ระหว่างการประชุมซึ่งยังหาจุดลงเอยไม่ได้นั้น ท่านพ่อลีได้บอกท่านให้ร่วมพิจารณาแสดงความคิดเห็นด้วย โดยพูดขึ้นในที่ประชุมว่า "มหาบัว เอ้า ! พิจารณา"

ด้วยความจำเป็นและเคารพต่อท่านพ่อลี ท่านจึงร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยนิสัยจริงจังเป็นพื้นเดิมของท่าน ทำให้การพิจารณาวินิจฉัยในเรื่องนั้นเป็นไปอย่างเต็มเหนี่ยวเต็มเหตุเต็มผล

ผลปรากฏว่า คณะสงฆ์ต่างเห็นดีและยอมรับตามคำวินิจฉัยของท่านด้วยกันหมด วาระการประชุมที่มีลักษณะเหมือนว่าจะหาที่จบลงได้โดยยาก จึงกลับกลายเป็นอันตกลงยอมรับตามนั้นได้อย่างรวดเร็วถึงใจ การประชุมสิ้นสุดลงได้ด้วยดี

ความเมตตาที่ท่านพ่อลีมีต่อท่านอีกเรื่องหนึ่งนั้น เป็นระยะที่สุขภาพของท่านพ่อลีเริ่มไม่ค่อยดีนัก ท่านพ่อลียังอุตส่าห์เมตตาเขียนจดหมายด้วยตนเองมาถึงท่าน มีใจความโดยย่อคือ

"...ให้ท่านไปจำพรรษาที่วัดอโศการามด้วย..."

แต่ในระยะนั้นท่านเองก็เพิ่งเริ่มสร้างวัดป่าบ้านตาดขึ้นใหม่ๆ เช่นกัน ทั้งพระเณรที่วัดก็มีมากพอสมควร ท่านจึงกราบเรียนท่านพ่อลีไปว่า ไม่สามารถไปจำพรรษากับท่านพ่อลีได้

ขบขัน...พระป่าเข้าเมือง

เหตุการณ์ระหว่างท่านกับท่านพ่อลีอีกครั้งหนึ่ง ท่านเคยเล่าแบบขบขันเต็มที่ถึงความเชยของตัวท่านเอง ดังนี้

"...มันขบขันตอนที่ท่านมารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลบุคคโลนะ พระปิ่นเกล้านั่นละ เราไปเยี่ยมท่าน แล้วมันมีออดอยู่อันหนึ่ง (ออดสำหรับคนป่วยไว้เรียกแพทย์พยาบาลในยามฉุกเฉิน) เขาเอาวางไว้นี่ เราก็คุย ก็มันวางอยู่ข้างเรานี่ เราก็ไปนั่งคุย คุยกับท่าน เห็นออดมันวางอยู่ เราไม่รู้ว่ามันเป็นออดนี่นะ

มันขบขันดีนะ ขบขันตรงนี้ละ ตรงพระป่ามันเซ่อไม่รู้เรื่องอะไร ไปเห็นออดมันวางอยู่ มันติดอยู่ข้างนี่ เราก็จับมา เห็นมันอ่อนๆ เราก็เลยบีบดูเสีย เราไม่รู้ว่ามันเป็นออดนี่นะ พอบีบทางนี้ มันก็ไปกวนพวกหมอและพยาบาลนี่นะ พวกที่อยู่ข้างล่างก็เลย โฮ้ เลยแตกฮือขึ้นเลยรุมขึ้นมา

"เอ๊ะ ท่านพ่อเป็นอะไร ? เป็นอะไร ?"

ท่านพ่อว่า "จะเป็นอะไร แล้วเป็นอะไรกันเนี่ย ?"

"ก็ได้ยินเสียงออดทางนู้น"

ท่านพ่อว่า "ออดที่ไหนน่ะ ?"

ท่านก็ไม่รู้ว่าเรากด มันขบขันตรงนี้ละ ไอ้เราเองยังไม่รู้นะ เขามาทางนู้น เราก็ยังไม่รู้ว่าอันนี้คือออด เสียงออดมันไปกวนของเขา ก็เราบีบเล่นธรรมดา อ๊อดๆ นั่นซี เขาก็รุมขึ้นมา

"เอ๊ ท่านพ่อเป็นอะไร ? ท่านพ่อเป็นอะไร ?" เขามาแบบตาลีตาลานนะ มาแบบรีบด่วนจริงๆ...ก็มันนุ่มๆ เรากดเล่น เราถามเขาว่า

"หือ ? อันนี้เหรอ ? ที่ว่าได้ยินเสียงออด นี่อันนี้เหรอ ?"

"อันนี้แหละ"

"โอ๋ แล้วกันละ เราบีบเล่นอยู่นี้"

ท่านพ่อว่า "หุ้ย ทำไม่เข้าเรื่อง"

ท่านว่าอย่างนั้นนะ ท่านพูดเท่านั้นหละ "ทำไม่เข้าเรื่อง"

เขาก็แตกฮือลงไปละนะ พอรู้เรื่องว่าเพราะอันนี้เอง เราว่า

"โอ๊ย นี่กระผมแหละบีบเล่น นึกว่าอะไร ไม่รู้เรื่อง" ท่านพ่อว่า "ทำไม่เข้าเรื่อง"

...พอเขารู้เรื่องแล้วต่างคนต่างหัวเราะกันลั่น..."

Image
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน กับกุฏิขององค์ท่าน
ณ วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี เมื่อปี พ.ศ. 2502



(มีต่อ 22)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 25 พ.ย.2006, 5:47 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2493



ประนีประนอม ยอมธรรม

การประชุมปรึกษาหารือกันในงานใดก็ตาม ไม่ว่าฝ่ายฆราวาสหรือภิกษุสงฆ์ เป็นธรรมดาที่มักมีทางเลือกที่เหมาะสมอยู่หลายทาง การตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่งจำต้องประกอบด้วยเหตุผลอันแน่นหนาและเป็นธรรม หลายครั้งหลายคราที่ต้องรู้จักประนีประนอมยอมกันระหว่างทางเลือกหลายๆ แบบให้เป็นที่ลงใจและเกิดประโยชน์โดยรวมร่วมกันสูงสุด เกิดการกระทบกระเทือนทางความคิดเห็นน้อยที่สุด

เรื่องเหล่านี้เป็นที่ทราบกันดีในหมู่สมาชิกที่เคยร่วมประชุมกันทั้งฝ่ายสงฆ์และฆราวาสว่า ครั้งเมื่อท่านเข้าร่วมประชุมด้วย ท่านเคยทำหน้าที่ทั้งซักถาม ทั้งวินิจฉัยพิจารณา และเสนอการตัดสินใจให้ผู้ร่วมประชุมได้คัดค้านหรือลงมติอย่างเข้มข้นตามอุปนิสัยจริงจังของท่าน และผลปรากฏเสมอๆ ว่า ที่ประชุมร่วมลงมติยอมรับการตัดสินทางเลือกนั้นๆ ชนิดอุ่นหนาฝาคั่ง เป็นที่พอใจกันถ้วนหน้า ดังเช่นครั้งหนึ่งมีการประชุมกันที่วัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

ครั้งนั้นเป็นระยะที่ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) พระอุปัชฌาย์ของท่านมรณภาพแล้ว ที่ประชุมมีเรื่องปรึกษาปรารภเกี่ยวกับบริขารเครื่องใช้ของท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ ผู้ร่วมประชุมมีทั้งเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด พระเถระหลายรูป ฝ่ายฆราวาสก็มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานเข้าร่วมประชุมด้วย ประชุมอยู่ถึง 2 วัน ก็ไม่สามารถจะหาข้อตกลงที่เหมาะสมได้ จึงเป็นที่หนักอกหนักใจแก่กรรมการผู้เข้าร่วมพิจารณาไม่น้อยทีเดียว เหมือนไฟอยู่ในอกเพราะหาจุดตัดสินไม่ได้ แต่กาลเวลาล่วงเลยไปมากแล้ว เกรงจะไม่ทันการณ์

ด้วยเหตุนี้เอง ท่านเจ้าคณะจังหวัดอุตส่าห์เขียนจดหมายด่วนให้เณรเดินมาส่งถวายท่านถึงวัดป่าบ้านตาด เพราะสมัยนั้นรถราไม่มี จดหมายนั้นมีใจความสำคัญว่า "...ขอนิมนต์ท่านอาจารย์ไปดับไฟที่วัดโพธิสมภรณ์ให้ด้วย... มองเห็นแต่ท่านอาจารย์องค์เดียวเท่านั้น ขอนิมนต์ไปโดยด่วน..."

หลังจากอ่านจดหมายฉบับนี้แล้ว ท่านรู้สึกเห็นอกเห็นใจคณะผู้ร่วมประชุมเป็นอันมาก ทั้งวัดนี้และเรื่องที่ประชุมอยู่นี้ก็เป็นเรื่องของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ของท่านเองด้วย ทั้งพระสงฆ์ฆราวาสผู้เข้าร่วมประชุม ก็ล้วนแต่มีจุดมุ่งหมายที่ดี ที่จะให้งานบรรลุผลสำเร็จด้วย เพราะต่างก็เป็นลูกศิษย์ลูกหาของเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ด้วยกันทั้งนั้น

ท่านจึงสะพายบาตรออกเดินจากวัดป่าบ้านตาดลัดไปทางสนามบินจนถึงชานเมืองอุดรธานี จึงจะมีสามล้อให้ขึ้นต่อไปได้ พระผู้เข้าร่วมประชุมคราวนั้นกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างถึงใจในความเด็ดของท่านว่า

"...เมื่อท่านไปถึงที่ประชุม ท่านก็เริ่มไล่ซักถามเรื่องราวต่างๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วนทุกแง่ทุกมุมจนจบครบถ้วน และตอบโต้ในจุดแห่งปัญหาต่างๆ ด้วยเหตุผล จนผู้ซักถามเป็นที่ลงใจ หมดข้อสงสัยใดๆ อีกต่อไป โดยประการทั้งปวง ใช้เวลาทั้งสิ้นเพียง 45 นาทีเท่านั้น ในตอนท้ายก่อนจบการประชุม ท่านกล่าวต่อที่ประชุมว่า

"ใครมีข้อพิจารณาคัดค้านในจุดเหล่านี้บ้างหรือไม่ อย่างไร ?"

ปรากฏว่าไม่มีใครค้านแต่อย่างใด ทั้งฝ่ายสงฆ์และฆราวาสต่างตกลงเห็นดีเห็นงาม และพร้อมกันเซ็นรับรองข้อยุตินั้นร่วมกันด้วยความเรียบร้อย และขอให้ท่านร่วมเซ็นชื่อเป็นเกียรติด้วย แต่ท่านก็ไม่ได้เซ็นชื่อแต่อย่างใด..."

ในเรื่องนี้ท่านให้เหตุผลว่า

"...เราไม่ได้มาเพื่อการลงเอาชื่อ แต่มาเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่างหาก เมื่อวาระสงบเรียบร้อย เราก็พอใจแล้ว..."

ด้วยอุปนิสัยของท่านที่มีเหตุมีผล และมีความจริงจังเด็ดขาด ไม่หวั่นเกรงต่อสิ่งใดหรือคนใดยิ่งกว่าธรรมนี้เอง ท่านจึงมักถูกขอให้เป็นหลักในการประชุมสำคัญๆ อยู่เสมอ อีกทั้งการแสดงความคิดเห็นของท่าน จะพยายามหาจุดพอเหมาะพอดีในการตัดสินใจ เรื่องที่เป็นปัญหาอยู่นั้นจึงมักไม่มีสิ่งกระทบกระทั่ง หากมีก็น้อยที่สุด แต่ก็ด้วยถือเอาเหตุผลและธรรมเป็นใหญ่ การประชุมครั้งสำคัญในที่ต่างๆ จึงยอมรับตกลงกันได้ง่ายและสงบเรียบร้อย

นอกจากการประชุมที่ท่านเข้าร่วมวินิจฉัยด้วยดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ท่านก็ยังมีโอกาสเข้าร่วมประชุมครั้งสำคัญๆ อื่นๆ อีกมาก เช่น ที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร วัดป่าอุดมสมพร จังหวัดสกลนคร วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นต้น

Image
พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)

Image
หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล

Image
หลวงปู่คำตัน ฐิตธัมโม


ที่ปรึกษาแห่งวงกรรมฐาน

แม้ในสมัยหลังๆ นี้ก็เช่นกัน ท่านมักได้รับคำขอร้องจากลูกศิษย์ทั้งบรรพชิตและฆราวาสอยู่เสมอๆ ให้เป็นประธาน คอยให้คำปรึกษาแนะนำและตัดสินใจในงานสำคัญต่างๆ ที่มักมีแง่มุมข้อปลีกย่อยมากมาย อันเป็นเหตุให้มีเรื่องต้องถกเถียงหาเหตุผลกันอยู่เนืองๆ

ครั้นเมื่อมีประธานที่ปรึกษาที่เด็ดขาดจริงจัง และประกอบด้วยเหตุผลอรรถธรรมนั้นๆ มักผ่านไปได้อย่างราบรื่นทุกครั้งทุกคราไป เป็นที่อบอุ่นเย็นใจแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

ด้วยความเมตตาและเห็นถึงความจำเป็นดังกล่าว ทำให้ท่านยอมเหน็ดเหนื่อยแบกภาระมาเกี่ยวข้องรับผิดชอบในเรื่องสำคัญๆ เสมอมา ตัวอย่างเช่น เรื่องเกี่ยวกับการจัดตั้งวัดกรรมฐานในจังหวัดต่างๆ ทุกภาค เพราะมีเจ้าศรัทธาคิดอยากถวายที่ดิน ท่านอยู่จำนวนมาก

เรื่องการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และเจดีย์สถานของครูบาอาจารย์พระอริยสงฆ์องค์สำคัญๆ เรื่องสุขภาพการเจ็บป่วย การรักษาพยาบาลครูบาอาจารย์องค์สำคัญที่อาพาธหนัก ไปตลอดกระทั่งถึงเรื่องงานพระราชทานเพลิงศพของครูบาอาจารย์ท่านนั้นๆ เช่น หลวงปู่ขาว หลวงปู่ฝั้น ท่านอาจารย์สิงห์ทอง ท่านอาจารย์สุพัฒน์ หลวงปู่บุญจันทร์ ท่านอาจารย์สีทน หลวงปู่คำตัน หลวงปู่หล้า และงานอื่นๆ อีกหลายวาระด้วยกัน

มีตัวอย่างหนึ่ง แสดงถึงน้ำใจของท่านที่คอยให้คำปรึกษาและเอื้อเฟื้อต่อหมู่เพื่อนที่เคยปฏิบัติธรรมร่วมกันมา นั่นคือ หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล แห่งวัดป่าสันติกาวาส อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี

หลวงปู่บุญจันทร์เป็นศิษย์ท่านอาจารย์มั่นอีกองค์หนึ่ง มีพรรษาน้อยกว่าหลวงตามหาบัวเพียง 2 พรรษาเท่านั้น แต่ท่านให้ความเคารพนับถือในธรรมแก่กันและกันเป็นอย่างสูง ซึ่งนับวันจะหาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบันนี้

คราวที่หลวงตามหาบัวท่านเยี่ยมอาการอาพาธของหลวงปู่บุญจันทร์ก่อนมรณภาพไม่นานนัก ท่านกล่าวกับหลวงปู่บุญจันทร์ก่อนกลับว่า

"เอาละนะ จะกลับล่ะ ไม่มีอะไรจะเตือนกันหรอกนะ กรรมฐานใหญ่เหมือนกัน"

จากนั้น ท่านหันไปพูดกับญาติโยมที่เข้ามากราบท่านในขณะนั้นว่า

"ตั้งใจมาเยี่ยมอาจารย์บุญจันทร์ แต่ก่อนในคราวออกปฏิบัติ ท่านก็ออกปฏิบัติ เราก็ออกปฏิบัติ ได้เจอกัน ทุกข์ยากลำบากด้วยกัน เอาละ กลับล่ะ เยี่ยมคนป่วยไม่รบกวนนานหรอก"

วาระสุดท้าย ขณะที่หลวงปู่บุญจันทร์ท่านจวนเจียนมรณภาพเต็มทีแล้ว เป็นเวลาเดียวกันกับที่หลวงตาท่านเดินทางไปถึงพอดี ท่านไปอย่างรีบเร่งแล้วเข้าไปในห้องอาพาธของหลวงปู่ ท่านขยับไปยืนอยู่ใกล้ๆ ทางศีรษะแล้วท่านเอามือเปิดผ้าที่ปิดหน้าผากหลวงปู่ออกดู พร้อมกับพูดว่า "วันนี้บวมมากกว่าวานนี้"

ในขณะนั้นหลวงปู่บุญจันทร์ได้หายใจเบาลงเหมือนกับจะขยิบตาเล็กน้อย แล้วหลวงปู่ก็หยุดหายใจ ละธาตุขันธ์ไปในที่สุดเมื่อเวลา 10.62 นาฬิกา ของวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2538 จากนั้นท่านจึงถอยไปนั่งเก้าอี้แล้วมองดูหลวงปู่ พร้อมกับพูดว่า "เอ้า หยุดหายใจแล้ว"

ภายหลังต่อมา ท่านพูดถึงเรื่องนี้กับพระว่า "ท่านบุญจันทร์คอยเรา พอเรามาถึงเข้าไปเยี่ยม ท่านก็ไปเลย"

ระยะที่หลวงปู่บุญจันทร์อาพาธอย่างหนักเช่นนี้ หลวงตาท่านก็ยังคงเป็นที่พึ่งคอยให้คำแนะนำปรึกษาทุกสิ่งทุกประการในวิสัยของท่าน แก่คณะศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่บุญจันทร์อย่างอบอุ่นอยู่ทุกระยะจวบจนวาระสุดท้ายของหลวงปู่เลยทีเดียว ความเมตตาของหลวงตาท่านที่รับเป็นธุระใส่ใจอย่างเต็มที่ต่อคำกราบเรียนปรึกษาของคณะศิษยานุศิษย์หลวงปู่บุญจันทร์ในวาระต่างๆ ดังนี้

Image
หลวงปู่บุดดา ถาวโร


พระเพชรน้ำหนึ่ง...ธาตุขันธ์ยามอาพาธหนัก

หลวงตามักได้เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจครั้งสำคัญๆ เกี่ยวกับธาตุขันธ์ยามอาพาธหนักของครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เช่นคำปรารภของท่านคราวหนึ่ง ดังนี้

"...พระลูกศิษย์หลวงปู่บุดดาได้ไปหาเราที่สวนแสงธรรม เราก็ได้ถามถึงอาการของหลวงปู่ท่านว่า...

"แต่ก่อนธาตุขันธ์ของท่านเป็นคุณเป็นประโยชน์ ทำประโยชน์ให้โลกมามากต่อมาก นานแสนนาน จนกระทั่งอายุถึงปูนนี้ และได้เข้ามาอยู่ศิริราชแล้วเวลานี้ เพื่อจะลาขันธ์ไป เพราะขันธ์นี้ใช้ไม่ได้แล้ว

นอกจากใช้ไม่ได้แล้วยังเป็นโทษรอบตัวอีก ไม่มีช่องว่างของขันธ์ที่จะไม่เป็นโทษต่อท่าน แล้วยังจะเอาท่านไว้อย่างนั้นอยู่เหรอ ?...สมควรแล้วหรือ ? ให้ลูกหลานไปพิจารณานะ"

นี่อาจารย์ชาก็เป็นอย่างนี้ละ เราบอกตรงๆ เลย อาจารย์ชาก็เกี่ยวกับเราอีกเหมือนกัน คุ้นกันมาสักเท่าไรแล้ว แล้วนี่หลวงปู่บุดดาก็เหมือนกัน คุ้นกันมานาน สนิทสนมกันมากทั้งสององค์นี่กับเรานะ

หลวงปู่บุดดา ถาวโร ท่านเป็นเหมือนปู่เรานี่จะว่าไง พอเราไปกราบที่ตักท่าน ท่านก็ อู๊ย จับโน้นลูบนี้ จับนั้นจับนี้เรานะ ท่านทำด้วยความเมตตาจริงๆ แหละ...

ท่านยังยกยอต่อลูกศิษย์ลูกหาของท่านเองด้วย เขาเอาเทปเราไปเปิดให้ท่านฟังกัณฑ์เด็ดๆ เสียด้วยนะ...ลูกศิษย์มาเล่าให้ฟัง ท่านพูดเวลาเทศน์จบลงแล้ว ท่านว่า "ได้ยินชื่อท่านมานานแล้วแหละท่านมหาบัวนี่ คุ้นกันมาสักเท่าไรแล้วยังไม่รู้อยู่เหรอว่าคุ้นกัน...จะมาเล่าอะไรให้ฟังอีกล่ะ"

ทีนี้เมื่อพระมาหาเรา...

เราก็ฝากข้อคิดไปว่า "เวลานี้ขันธ์ไม่เป็นประโยชน์อะไรกับท่านแล้ว ลูกศิษย์จะหวังชื่นชมยินดี เพราะไฟคือธาตุขันธ์เผาไหม้ท่านอยู่อย่างนี้ สมควรแล้วเหรอ ?... เวลานี้ไฟขันธ์เผาตลอดไม่มีว่างเลย...ให้ไปพิจารณานะ"

อาจารย์ชาเป็นลักษณะนี้มาหลายปี ถามทีไรก็เป็นอย่างนี้ ก็พอดีพระหนองป่าพงไปหาเราที่สวนแสงธรรม เอากันใหญ่เชียร์คราวนั้น เปรี้ยงทีเดียวอัดเทปเอาไว้เสร็จ

พอเสร็จแล้วเขาก็เอาเทปไปเปิดเมืองอุดรฯ เลย เอาไปตั้งกึ๊กลงที่วัดหนองป่าพงเลย บรรดาลูกศิษย์ลูกหาท่านมารวมนั้นหมด ผู้ว่าฯ เป็นผู้นำเทปไปเปิด

"เอ้า ใครทีนี้ฟังนะ เทศน์นี่เทศน์อาจารย์มหาบัว ท่านอาจารย์มหาบัวกับท่านอาจารย์ชาสนิทกันมานานสักเท่าไรแล้ว ฟังท่านจะพูดวันนี้นะ"

พอว่าอย่างนั้นก็เปิดทันที...

ได้เห็นผิวๆ เผินๆ ได้เห็นท่านอยู่นั้นก็พอใจ ท่านจะมาห่วงอะไรในธาตุในขันธ์อันนี้ เมื่อเห็นว่าเป็นไฟพอแล้วยังจะมาห่วงอะไรอีก ห่วงไฟเผาเจ้าของนั้นมีอย่างเหรอ...

ท่านพร้อมอยู่แล้วที่จะดีด ตั้งแต่ระยะช่วยตัวเองไม่ได้แล้วนั่น...

ครูบาอาจารย์จะตายแล้วไม่ยอมให้ไป ไม่ให้ตาย เอาไฟจี้ไว้อย่างนั้น ระโยงระยางเต็มหมด ออกซิเจนช่วยลมหายใจ ช่วยลมหายใจอะไร ช่วยไฟเผาว่างั้นจึงถูกนะ

ถ้าเอาอันนี้ออกแล้วไฟก็หยุดเผา ท่านก็ดีดออกแล้ว นั่น คุณก็เห็นอยู่อย่างชัดๆ โทษก็เห็นอยู่ชัดๆ อย่างงั้น ถ้าอันนี้จ่อไว้อยู่ตลอด ก็เผาอยู่ตลอดอยู่นั้นจะว่าไง พอเปิดออกนี้ก็ดีดออกแล้ว นั่นเห็นชัดๆ อยู่

ถ้าพูดถึงเรื่องของหมอ เขาก็ทำตามหลักวิชาของหมอ เหตุผลเรามียังไง อรรถธรรมมียังไง ปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์ก็ควรชี้แจงให้เขาทราบ ควรปล่อยก็ปล่อยซี เอาไว้ให้ใคร มันไม่เกิดประโยชน์ยังไม่แล้ว ยังเป็นโทษเอาอย่างหนักหนาทีเดียว ใครจะเอาไฟมาเผามาจี้ไว้อย่างนี้ทั้งวันได้เหรอ นี่ไม่ทราบว่าทั้งวันทั้งคืนทั้งปีอะไร จี้เผาหมดรอบตัวๆ

เรื่องธาตุเรื่องขันธ์ก็รู้กันอยู่แล้ว ตั้งแต่ยังไม่ตายก็รู้อยู่แล้ว ก็เครื่องมือใช้เฉยๆ มีจิตเป็นผู้บงการ พอจิตหดตัวเข้ามาเสียแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็เป็นท่อนไม้ท่อนฟืนไปเท่านั้น เกิดประโยชน์อะไร ก็เหมือนกับเครื่องมือเราทิ้งเกลื่อนอยู่รอบตัวนี้ ก็ไม่เกิดประโยชน์เมื่อเจ้าของใช้การใช้งานอะไรไม่ได้แล้ว...

นั่นแหละ เรียนจิตให้เห็นอย่างนั้นซิ เห็นชัดเจนแล้วจะถามใคร...

ประจักษ์อยู่ในหัวใจเจ้าของแล้วพอทุกอย่าง...

นี่เอาศพท่านกลับคืนไปโน้นนะ วัดกลางชูศรี ท่านเป็นพระเพชรน้ำหนึ่งนะนี่ หลวงปู่บุดดานี่เพชรน้ำหนึ่ง อาจารย์ชาก็เหมือนกัน ท่านเหล่านี้เพชรน้ำหนึ่งแล้วจะมาหวงมาห่วงอะไร ธาตุขันธ์เป็นไฟนั่น...

เรายังไม่ลืมหลวงปู่ขาวท่าน เวลาท่านกำลังเพียบ คือท่านไม่ให้ใส่ออกซิเจน ท่านไม่ให้เอาใส่ แล้วพวกนั้นก็เอาไว้ข้างนอก คือท่านห้ามไม่ให้เอาใส่ เราเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ ไปยุ่งกับท่านทำไม ทีนี้พอเอาเข้าไปจ่อไปถูกท่าน...ทั้งๆ ที่ท่านก็เพียบอยู่แล้วนะ ท่านยังปัดมือปั๊บออกเลย

ขนาดหลวงปู่ขาวแล้วท่านจะมีปัญหาอะไร ว่างั้นเลย จะตายท่าไหนก็ตายซิ ท้าทายก็ได้

Image
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ชักผ้าบังสุกุลบนหีบศพหลวงปู่ขาว อนาลโย


เอหิปัสสิโก

ท้าทายธรรมของจริงได้...ดีดผึงเดียวไปเลย ว่าจะไม่อยู่แล้วไม่อยู่ มันก็หมดแล้วนะนี่ พระประเภทเพชรน้ำหนึ่งๆ หมดไปๆ..."

สนิทใจได้ด้วย "ธรรม"

สายสัมพันธ์ในธรรมของท่านมิได้จำกัดไว้ในหมู่บรรพชิตเท่านั้น มีฆราวาสจำนวนมากที่สนใจประพฤติปฏิบัติธรรม และสำหรับผู้ที่มีความมุ่งมั่นจริงจังไม่ว่าเพศภูมิใด ย่อมประจักษ์ผลแห่งธรรมภายในใจขึ้นเป็นลำดับๆ ไป นักภาวนาหญิงหรือชายนั้นจะให้ผลแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร หลวงตาเคยให้เหตุผลว่า "...การปฏิบัติไม่มีเพศ เรื่องมรรคผลนิพพานแล้วไม่เพศ เหมือนกับกิเลสไม่มีเพศ มีได้ด้วยกันทั้งนั้น ความโลภก็มีได้ทั้งหญิงทั้งชาย ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา มีได้ด้วยกัน มัชฌิมาปฏิปทาจึงมีได้ทั้งหญิงทั้งชาย เป็นเครื่องแก้กิเลสทั้งหลาย แก้ได้ด้วยกันทั้งนั้น ด้วยอำนาจความสามารถของตนแล้ว มีทางหลุดพ้นได้ด้วยเช่นเดียวกัน..."

ด้วยเหตุนี้เองเมื่อโอกาสอำนวย...ท่านจะไปเยี่ยมเยียนถึงสำนักผู้ปฏิบัติธรรมเหล่านั้นเสมอ...เช่น สำนักชีบ้านห้วยทราย ของคุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ สำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง ของอุบาสิกากี นานายน ในตอนนี้จะขอเล่าถึงตอนที่ท่านแวะเยี่ยมสำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง ดังนี้

ท่านเคยได้ยินกิตติศัพท์ชื่อเสียงของคุณยาย ก. เขาสวนหลวง มานานแล้ว ว่าเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบควรแก่การเคารพกราบไหว้ แต่มีข้อประหลาดใจอยู่อย่างหนึ่งคือ เขาว่ากันว่าคุณยายเป็นคนไม่เอาพระ คือไม่ต้อนรับพระ สิ่งนี้จึงทำให้หลวงตาฯ อยากรู้ว่าเป็นจริงหรือ ? หรือว่ามีเหตุผลด้วยประการใดกันแน่ เพราะหากเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจริงๆ แล้ว ลักษณะเช่นนี้ไม่น่าจะมีทางเป็นไปได้ ท่านจึงไม่อยากเชื่อข่าวลือนี้นัก

เหตุนี้เอง เมื่อมีจังหวะมาถึงในคราวท่านมากรุงเทพฯ เพื่อดูแลอาการอาพาธของท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ชึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านเอง ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อได้โอกาสอันควร ท่านจึงได้ไปเยี่ยมเยียนคุณยาย ก. ถึงสำนักฯ เขาสวนหลวง จังหวัดราชบุรี ด้วยตนเองเลยทีเดียว...

พอเข้าไปถึงสำนักฯ เท่านั้น ไม่นานก็มีเสียงระฆังเคาะดังกังวานขึ้น เรียกให้สตรีนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายพากันหลั่งไหลมากราบท่าน และให้การปฏิสันถารต้อนรับเป็นอย่างดี โดยมีคุณยาย ก. เป็นหัวหน้าอยู่ ณ ที่นั้นด้วย

หลังจากสนทนาพูดคุยกันได้ไม่นาน คุณยายกราบอาราธนานิมนต์ให้หลวงตาฯ แสดงธรรมแก่เหล่าอุบาสิกานักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ท่านจึงแสดงธรรมเน้นเรื่องจิตภาวนาเป็นสำคัญ...ทราบว่าหลังการแสดงธรรม คุณยายถึงกับประกาศขึ้นด้วยความอาจหาญในธรรมปฏิบัติของคุณยายเองแก่บรรดาลูกศิษย์ในสำนักฯ ว่า

“ธรรมที่ท่านอาจารย์ได้แสดงให้พวกเราฟังนั้น สามารถยึดถือเป็นหลักประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง ไม่มีผิดพลาดแม้เปอร์เซ็นต์เดียว”

เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นที่ประจักษ์แก่ตัวท่านเอง ดังคำกล่าวที่ท่านเล่าให้ผู้มากราบเยี่ยมคณะหนึ่งฟังว่า

"...ที่ว่าคุณยายไม่ต้อนรับพระนั้น หมายถึง พระประเภทโกโรโกโสไม่ได้เรื่องได้ราวต่างหาก

ถ้าเป็นพระเคารพธรรมเคารพวินัย คุณยายท่านก็ไม่เป็น...จะว่าอะไร แม้แต่เราเองก็ไม่ต้อนรับพระประเภทนั้นเหมือนกัน..."


Image
ท่าน ก. เขาสวนหลวง แห่งสำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง

Image
คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ แห่งสำนักชีบ้านห้วยทราย


(มีต่อ 23)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 25 พ.ย.2006, 5:50 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ 16 การเทศนาสอนโลก

ธาตุขันธ์...เครื่องมือธรรม

หลวงตาเทศนาอบรมพระโดยแยกออกจากกันกับฆราวาส เนื่องจากพระและฆราวาสมีชีวิตความเป็นอยู่และความมุ่งมั่นต่างกัน เนื้อธรรมที่แสดงจึงต่างกันออกไป หากแสดงธรรมรวมๆ กันแล้ว ผลย่อมไม่เต็มที่

ท่านเคยเปรียบเหมือนกับการปรุงแกงหม้อใหญ่ให้คนจำนวนมากได้รับประทาน จะให้ถูกปากทุกๆ คนย่อมเป็นไปไม่ได้ จากนั้นถ้ามีเวลาเหลือพอ ท่านจึงจะแสดงธรรมเพื่อชนกลุ่มน้อยด้วย เพื่อให้ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงกัน ความสะดวกในธาตุขันธ์เป็นสิ่งสำคัญต่อการเทศน์ ดังท่านเคยกล่าวว่า

"...เทศน์ของเราเวลาหนุ่มนี้...ไหลเลย...เวลาอัดเทปนี้...กำลังเร่งๆ พอดี ลมหายใจหมด เนื้อธรรมยังไม่หมด เลยต้องรีบสูดลมหายใจดังฟี๊ว เลยนะ เสียงมันติดอยู่ในเทปนะ ถึงขนาดนั้นนะ เดี๋ยวนี้ โอ๊ย ตายเลย...นี่ละมันต่างกันนะธาตุขันธ์ มันเป็นยังงั้นจริงๆ นี่เทศน์แต่ก่อนมันไหลออกมา

ยิ่งเทศน์ธรรมะขั้นสูงเท่าไรยิ่งฟังจนแทบไม่ทัน มันเป็นจริงๆ นะ มันพุ่ง พุ่ง เลย เพราะธรรมะออกจากนี้ล้วนๆ ล้วนๆ ไม่ได้ไปคว้าคัมภีร์นั้นคัมภีร์นี้นี่ ออกจากนี้ ธรรมะสูงเท่าไร มันยิ่งเด็ดๆๆ ยิ่งเร็วมันยิ่งพุ่ง เทศน์นี้เร่งจนกระทั่งถึงว่าเป็นปืนกลไปเลย...นี่ละเวลายังหนุ่มน้อย

แต่มันก็เป็นกรรมอันหนึ่งเหมือนกัน พอจากนั้นมาแล้วเป็นโรคหัวใจ ตั้งแต่ 06 มาเลย นั่นละ ล้มไปเลย เทศน์นี้หยุดหมด จนกระทั่ง 2512-13 พอพูดได้บ้างเล็กน้อยจาก 2506 ไปถึง 2511-12 นี้ไม่ได้พูดเลย แม้แต่ต้อนรับแขกก็ไม่เอา หลบหลีกปลีกตัวไปหาอยู่ในป่าในรก ไปซุ่มๆ ซ่อนๆ รับแขกไม่ได้

พอ 2513-14 ไปแล้ว ก็มีเทศน์ได้บ้างเล็กน้อย จนกระทั่งถึง 2520...ที่ลงหนังสือเล่ม ธรรมชุดเตรียมพร้อม และหนังสือ ศาสนาอยู่ที่ไหน...ที่ออกมาเนี่ยเทศน์สอน...ตั้งเกือบร้อยกัณฑ์ เทศน์สอนทุกวัน...

นั่นละเริ่มเทศน์ละ ถึงไม่เข้มข้นก็ตาม ก็เรียกว่าเริ่มเทศน์ละ จากนั้นมาก็ค่อยไปเรื่อยๆ หากอยู่ในเกณฑ์ระวังโรคหัวใจนี้อยู่ตลอด มันจึงไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยที่จะเทศน์เด็ดๆ เผ็ดๆ ร้อนๆ เหมือนแต่ก่อน โอ๋ ไม่ได้ว่างั้นเลย จึงต้องลดลง นี่ก็เรียกว่าเป็นกรรมอันหนึ่งเหมือนกัน

หากว่าร่างกายนี้มันพร้อมมาตลอดแล้ว การเทศน์นี้ รู้สึกว่าจะกว้างขวางมาก เพราะเทศน์ไม่มีหยุดนี่นะ ที่หยุดก็หยุดเพราะโรคต่างหาก โรคบีบบังคับ หยุดไปสักพักหนึ่งถึงมาเริ่มออก...

เทศน์แต่ก่อน จริงๆ พูดได้จริงๆ เพราะเราเทศน์อย่างนั้นจริงๆ มันเป็นในนิสัยจิตใจของเราเองนี่ เทศน์ออกมานี้ไม่ได้ บีบไม่ได้บังคับ มันหากเป็นของมันเอง ยิ่งเทศน์ภาคปฏิบัติด้วยแล้ว มันยิ่งไหลเลยนะ คล่องที่สุดเลย พุ่ง พุ่ง พุ่งเลย...

สัญญา...ไม่เที่ยง

นับแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ท่านจึงงดเทศน์อบรมพระเณรในวัด และการนิมนต์ไปเทศน์ข้างนอกนั้นท่านงดมาตั้งแต่ปี 2535 ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า

"...ไปเทศน์ที่นู่นก็เทศน์ลำบากมาก ไปก็ไม่ได้พักทั้งวัน...เหนื่อย แล้วความจำเทศน์ไปก็หลง อ้าว ไปถึงไหนแล้วล่ะ ว่าอย่างนี้แล้ว อยู่บนธรรมาสน์นั่น ลืมแล้ว ไม่ทราบเทศน์เรื่องอะไรมา เอ้า ตั้งใหม่ๆ อย่างงั้นนะเดี๋ยวนี้ ความจำไม่เป็นท่า มันไม่เอาไหนแล้วความจำ

ขันธ์ 5 เป็นทั้งเครื่องมือของกิเลสด้วย เป็นทั้งเครื่องมือของธรรมด้วย เวลากิเลสเป็นเจ้าของ มันก็เอาเป็นเครื่องมือสนุกฟัดเหวี่ยงกัน ทีนี้มาเป็นเครื่องมือของธรรม ธรรมก็นำมาใช้ซี ก็ใช้ขันธ์อันเดียวกันนี้ เป็นแต่เพียงว่าธรรมท่านไม่ยึดเท่านั้นเอง กิเลสมันยึดเป็นของมัน ขันธ์ 5 ทั้งหมด เป็นของกิเลสทั้งหมด

กิเลสยึดแต่ธรรมท่านไม่ยึด ใช้เป็นเครื่องมือเฉยๆ ต่างกันเท่านั้นเอง แต่ต้องเอาขันธ์ 5 เทศน์ มันชำรุงตรงไหนก็ไม่สะดวกตรงนั้นแหละ อย่างเช่นความจำนี้เทศน์ไปๆ มันหลงลืมไปแล้วจะเอาอะไรมาเทศน์ต่อกันไป

เมื่อเงื่อนต้นหลงลืมไปแล้วจะต่อไปหาเงื่อนปลายยังไงได้ จำไม่ได้ก็ตั้งใหม่ มันก็เป็นแบบใหม่ไปอีก...เทศน์ที่ไหนๆ เขานิมนต์ไปที่ไหนไม่เอาแล้ว เทศน์ลำบาก...เหนื่อย ทั้งความจดจำก็ยิ่งเลวลงทุกวันๆ..."

อบรม...พระเณร ทหารสู่สมรภูมิรบ

ท่านกล่าวถึงพระที่มาขออยู่ศึกษากับท่าน ดังนี้

"...พระมาอยู่สถานที่นี้ทั่วประเทศไทย มีทุกภาค ปริญญาตรีก็มี โทก็มี เอกก็มี และนายพันนายพลมาบวชอยู่นี้ก็มี...พระมาอยู่ที่นี่ท่านมาเพื่ออะไร ท่านมาเพื่อประพฤติปฏิบัติ ศึกษาปรารภจากครูบาอาจารย์จริงๆ...

ดูภาคกลางจะมากกว่าเพื่อน ที่นี่ภาคอื่นๆ ก็มีหมดทุกภาคเลยนะ...วัดนี้ไม่มีภาคไหนต่อภาคไหน เป็นชาติไทยด้วยกันด้วย เป็นลูกศิษย์ตถาคตศากยบุตรด้วย จึงไม่มีคำว่าชาติชั้นวรรณะ ภาคนั้น ภาคนี้ เป็นลูกชาวไทยอันเดียวกัน เป็นลูกชาวพุทธอันเดียวกัน...ท่านมาเพื่อศึกษาปรารภตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติจริงๆ เราก็ได้อุตส่าห์พยายามสั่งสอนเต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มสติกำลังความสามารถ

...ที่ว่าโรคของเรากำเริบ กำเริบทางหัวใจนี้ เราก็ยังมีความแน่ใจอยู่ว่า คงเกี่ยวกับเรื่องการแนะนำสั่งสอนนี้เองเป็นสำคัญอันหนึ่ง เพราะการสั่งสอนพระย่อมใช้กำลังวังชาสุ้มเสียงดัง เน้นหนัก เผ็ดร้อนมากกว่าการสอนใครๆ ในบรรดาประชาชนและพระเณรทั้งหลาย

เพราะเหตุไร...เพราะพระที่มาสู่วัดป่าบ้านตาดนี้ ส่วนมากมีแต่พระกรรมฐานตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติ

ถ้าเราจะเทียบแล้วก็เหมือนกับทหารที่เข้าสู่แนวรบแล้ว การยื่นศาสตราวุธหรืออุบายวิธีการต่างๆ ให้ทหารที่เข้าสู่แนวรบ ย่อมจะยื่นแต่สิ่งสำคัญๆ อาวุธก็เป็นอาวุธที่ทันสมัย อุบายก็เป็นอุบายที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์ที่จะได้ชัยชนะมาสู่บ้านเมือง อันนี้ก็เหมือนกัน

ธรรมะอุบายต่างๆ ที่จะแสดงให้บรรดาพระทั้งหลายที่มาจากที่ต่างๆ เข้ามาสู่สถานที่นี้ได้ยินได้ฟังก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น การพูดการเทศนาว่าการต่างๆ ตลอดถึงสุ้มเสียงโวหารสำนวนต่างๆ จึงมีแต่ความเผ็ดร้อนไปตามๆ กันหมดเพื่อให้ทันกับเหตุการณ์..."

น้ำธรรมไหลพุ่ง

ด้วยการสอนที่จริงจัง บางครั้งทำให้ผู้มาใหม่เข้าใจว่าท่านดุด่า ในเรื่องนี้ท่านเองเคยประสบมาก่อนสมัยอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ดังนี้

"...พอไปถึงหลวงปู่มั่น มันหาที่ค้านไม่ได้...อยู่นานเข้าๆ มันรู้ เวลาท่านดุด่าพระเณร ดูใครก็ตามนะ ดูมากดูน้อย ธรรมะจะออกล้วนๆๆ มากน้อย เด็ดเท่าไร ธรรมะยิ่งพุ่งๆ ก็หาที่ต้องติว่าเป็นตัณหาประเภทใดไม่ได้ เด็ดเท่าใดธรรมะยิ่งออกพุ่งๆ แล้ว เราก็ปรับตัวของเราตลอดเวลา ปรับตัวของเราอยู่เรื่อยๆ จึงค่อยเข้ากันได้ เข้าใจเรื่องของท่าน

สุดท้ายถ้าท่านไม่อยู่มันเหมือนกับขาดอะไร ถ้าเป็นอาหารก็ขาดอะไรยังงั้นนะ มันไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าได้ยินเสียงเปรี้ยง ดังเปรี้ยงปร้าง เอาละซิ ถ้าเป็นฝนก็ฟ้าร้องแล้ว เตรียมหาอะไรมารองรับ

อันนี้เด็ดเท่าไรธรรมะยิ่งไหลออกมาเลย มันก็ยิ่งอบอุ่นนะ ท่านดุยังงี้มันไม่ใช่ ดุเลยย้อนหลังกลับมา มันมีแต่กำลังของธรรมล้วนๆ นี่เป็นความเมตตาล้วนๆ ไม่ใช่ท่านดุนะมันก็จับได้เลย

คือกิริยาท่านแสดงเอาขันธ์นี้ ใช้ขันธ์นี้เป็นเครื่องมือของกิเลสมาดั้งเดิม พอกิเลสมุดมอดไปหมดแล้ว ธรรมก็เอาขันธ์นี้เป็นเครื่องมือ กิริยาท่าทางขึงขังตึงตังจึงเป็นเหมือนกับกิเลส เพราะมันมีเครื่องมืออันเดียวกัน แต่อันนี้มันเป็นพลังของธรรม เด็ดเท่าไร ยิ่งมีแต่เรื่องของธรรมล้วนๆ ออกมากิริยาคล้ายคลังกัน

เมื่อมันรู้แล้วมันก็ยอมรับน่ะซิว่า อ๋อ เราก็เลยเทียบได้เลยว่า เหมือนกับถังน้ำ 2 ถังนี้ ถังนี้เต็มไปด้วยน้ำที่สกปรก น้ำเต็มแต่สกปรกทั้งถัง ถังนี้น้ำสะอาดเต็มที่ มาเปิดน้ำทั้ง 2 ถังนี้ออกดูสิ ทีนี้เวลาเปิดแรงเท่าไร สมมติเราเปิดถังสกปรกก่อนนะ เราเปิดน้อยออกน้อย เปิดมากออกมาก เปิดเท่าไรมันก็พุ่งๆ ออกไปเท่าไร มันก็มีแต่น้ำสกปรก กว้างขวางขนาดไหนมีแต่สกปรกเลอะเทอะไปหมดเลย ทีนี้เปิดถังน้ำที่สะอาดเปิดขนาดไหน เปิดเต็มที่มันก็ออกเต็มที่เหมือนกัน แต่เป็นน้ำที่สะอาดทั้งหมดนะแน่ะ มันต่างกันอย่างงั้นนะ..."

โปรดชาวต่างชาติ...ผู้ใฝ่ธรรม
รับชาวต่างชาติ


ประมาณปี 2506 เป็นต้นมา เริ่มมีพระชาวต่างชาติมาขออยู่ศึกษาธรรมะจากท่าน

แรกเริ่มเดิมทีท่านยังไม่อยากรับไว้ด้วย ไม่ทราบถึงนิสัยใจคอว่าเป็นอย่างไร เขาเองก็ยังไม่คุ้นเคยกับศาสนาพุทธ ยังไม่คุ้นเคยกับอาหารการกิน ชีวิตความเป็นอยู่แบบไทยๆ เฉพาะอย่างยิ่งชนบททางภาคอีสาน เกรงจะเป็นที่ลำบากไม่สะดวกด้วยประการต่างๆ

แต่ด้วยความมุ่งมั่นอดทนและใฝ่ใจในการปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง ท่านจึงเมตตารับไว้ ท่านเคยเล่าถึงความพากเพียรของท่านอาจารย์ปัญญา ซึ่งเป็นพระฝรั่งองค์แรกที่มาขออยู่ด้วย

ท่านเล่าเรื่องนี้อย่างเมตตาแกมขบขันด้วย เพราะท่านอาจารย์ปัญญาอยู่กับท่านมานาน ดังนี้

"...ท่านปัญญานี้สุขุมมาก ท่านมาอยู่กับเราตั้งแต่ปี 06 ท่านมาขออยู่กับเราถึง 5 หนนะนั่นหน่ะ ไม่ใช่เล่นๆ นะ มาขอทีแรกก็ทางฝ่ายปฏิบัติของเราก็ไม่เคยมีพระกรรมฐานฝรั่ง เราก็ยังไม่อยากรับไว้ก่อน...

ประการหนึ่งก็ยังไม่ทราบนิสัยใจคอของฝรั่งนี้เป็นยังไง เพราะเขาไม่เคยศาสนาพุทธเรา เราจึงยังไม่รับ แล้วมาขออีก เราก็ยังไม่ให้ ถึงครั้งที่ 3 ที่ 4 มาขอ เราก็ยังไม่ให้ พอครั้งที่ 5 ท่านมาแผนใหม่ เราหลงกลของท่าน

เมื่อเห็นว่าไม่ได้จริงๆ แล้ว ท่านก็บอกว่า

"ไม่ได้พักนานก็ตาม ขอมาพักชั่วคราว"

ท่านว่าอย่างนี้นะ เราก็เลยหลงกลนะซี ตั้งแต่ต้นปี 06 เดือนกุมภาพันธ์ วันที่ 6 เราไม่ลืมนะ... ตั้งแต่นั้น จนกระทั่งบัดนี้ กี่ปีแล้ว ท่านอยู่ชั่วคราวนะ มาอยู่ชั่วคราวเรื่อยมาจนบัดนี้ละ...

...จากนั้นมาก็เลยรับพระฝรั่งมาเรื่อยๆ สังเกตมาเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าพระฝรั่งที่มาอยู่ด้วยนั้นดีทุกองค์ ดีกันคนละทางๆ ทางภาคปฏิบัติหลักธรรมวินัยดีด้วยกัน พระฝรั่งจึงมีอยู่เป็นประจำ แต่เราไม่รับมากนะ เราเอาแค่นั้นละ ถ้าหากว่าจะรับมากก็จะมากกว่านั้น จะกลายเป็นสวนฝรั่งไปหมดเลย (หัวเราะ)...

พระชาวสหรัฐฯ องค์หนึ่ง อังกฤษมีองค์หนึ่ง แคนาดาองค์หนึ่ง และเยอรมนีองค์หนึ่ง...เวลานี้ ดีทุกองค์...มีพระฝรั่งอยู่นั้น 4 องค์ (หมายถึงปี 2541 บางปี เช่นปี 2522 มีพระฝรั่งถึง 6 องค์จากพระเณรทั้งหมด 21 องค์) ที่ผ่านมา รู้สึกว่าพวกฝรั่งนี้เขามีกฎมีระเบียบดี..."

จากนั้นมาก็มีพระและฆราวาสชาวต่างชาติทั้งหญิงและชายมาขออยู่ศึกษาทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในจำนวนนี้มีหลายเชื้อชาติด้วยกัน เช่น อังกฤษ แคนาดา สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เยอรมนี โปแลนด์ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี อินโดนีเซีย มาเลเซีย ศรีลังกา ฯลฯ

Image
พระอาจารย์ปัญญา ปัญญาวัฑโฒ
แห่งวัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
พระอริยเจ้าที่เป็นฝรั่งรูปแรกที่บรรลุธรรมในประเทศไทย


Image
ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์ (อาจารย์หมอศิริราช)


โปรดฝรั่งชาวพุทธที่อังกฤษ

กลางปี 2517 (7-22 มิถุนายน) พุทธศาสนิกชนชาวอังกฤษได้กราบนิมนต์ท่านไปอธิบายและตอบคำถามธรรมะ ที่ธัมมปทีปวิหาร กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ครั้งนั้นมีผู้ติดตามท่านไป 4 ท่านคือ

1. ท่านอาจารย์ปัญญา ปัญญาวัฑโฒ
2. ท่านอาจารย์เชอรี่
3. ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์ (อาจารย์หมอศิริราช)
4. ม.ร.ว.เสริมศรี เกษมศรี

อากาศที่อังกฤษในยามที่หลวงตาเดินทางไปนี้ แม้เป็นฤดูร้อน แต่ก็ยังจัดว่าหนาวมากสำหรับคนไทย แต่ท่านก็มิได้ลำบากยากใจแต่อย่างใด ท่านคงอยู่อย่างง่ายๆ มีการออกกบิณฑบาต ฉันมื้อเดียวในบาตรตามปกติ และไม่ต้องการให้จัดอะไรเป็นพิเศษให้ท่านด้วยเช่น ในเรื่องอาหารและที่อยู่

ท่านให้เหตุผลว่า "...ท่านปัญญามาฉันอาหารคนไทยได้อย่างไรตลอดเวลา 12 ปี ที่อยู่กับท่าน ท่านก็ฉันอาหารฝรั่งได้เช่นเดียวกัน..."

ในช่วงที่อยู่อังกฤษ มีชาวฝรั่งสนใจปฏิบัติธรรมจำนวนมาก ต่างสนใจที่จะถามปัญหาธรรมะจากท่าน ฝรั่งผู้สนใจเหล่านี้มีตั้งแต่พวกที่ได้ฝึกสมาธิมานานแล้ว ผู้สนใจเริ่มฝึก ผู้ที่เคยฝึกสมาธิจากอาจารย์อื่นๆ นักศึกษามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ตลอดจนผู้เพิ่งจะเริ่มหันมาสนใจพุทธศาสนา ต่างเข้ามาสนทนาธรรมกับท่านด้วยความสนอกสนใจต่อการปฏิบัติจริงๆ

ฆราวาสทั้งชาวอังกฤษและชาวไทย ที่นี่ต่างก็มาใส่บาตรกันอย่างปลื้มปีติด้วยศรัทธาทุกวันในเวลา 9.00 น. อีกทั้งมีลูกศิษย์หนุ่ม 2 คนชาวอังกฤษ คนหนึ่งตอนปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เคยมาบวชเณรที่วัดบวรนิเวศวิหาร แล้วไปฝึกปฏิบัติที่วัดป่าบ้านตลาดอยู่กับท่านมาก่อนอีกคนเป็นนักศึกษา มาฝึกปฏิบัติธรรมที่ธัมมปทีปวิหารแห่งนี้อยู่ จึงพอรู้วิธีปฏิบัติต่อพระสงฆ์ แล้วคอยช่วยเหลือท่านได้อย่างเรียบร้อย คล่องแคล่วงดงาม แม้คนไทยเองก็ยังชมเชย

ฝรั่งมีเหตุผล...เข้ากับ "ธรรมวินัย"

แม้ท่านจะกลับมาเมืองไทยแล้ว แต่ชาวอังกฤษผู้สนใจจำนวนมากอยากนิมนต์ให้ท่านเดินทางไปแสดงธรรมอีก ท่านพูดในเรื่องนี้ว่า ท่านก็ชราภาพมากแล้ว ไม่สะดวกต่อการเดินทางเหมือนก่อน ท่านรู้สึกชื่นชมฝรั่งชาวอังกฤษว่าเขามีความสนใจใคร่รู้ในเรื่องจิตตภาวนาและพยายามปฏิบัติกันจริงๆ ท่านเล่าเพิ่มเติมว่า

"...คราวที่ไปประเทศอังกฤษ ทีแรกก็ไม่ค่อยมามากนะ ชาวอังกฤษ คนไทยก็มามาก ชาวอังกฤษก็ไม่มากนัก ไปๆ มาๆ ก็หนาเข้าๆ สุดท้ายเลยมีแต่พวกฝรั่งเต็มหมดเลย เวลามานั่งอยู่นี้ เหมือนผ้าพับไว้นะ...ใครก็เหมือนกันหมด เราก็เสียดาย เราไม่ได้ภาษาอังกฤษ ก็ต้องผ่านล่าม

ท่านปัญญาเป็นล่าม เวลาเขาถามปัญหามา เราก็ตอบ ท่านปัญญาก็ตอบแทนเรา ไปดูแล้วน่าสงสารมาก มาทุกวัน พอ 6 โมงเย็น เขาก็เริ่มมา เราก็พานั่งสมาธิ 30 นาทีทุกวันๆ จากนั้นเราก็อบรมอีกประมาณ 30 นาที

ตอนนั้นยังหนุ่มอยู่ ปี 2517 น่าสงสารมาก บางรายเขามาแรกๆ เขามาสังเกตการณ์ ทีนี้ไม่ได้...เลยมา อยู่ไม่ได้ คำว่าสังเกตการณ์เลยหายหมดเลย ไม่ได้มาอยู่ไม่ได้ อยากมาเป็นกำลัง ก็เลยสนใจทางด้านธรรมะไปเลย...

...พูดความจริงพวกฝรั่งเฉพาะอย่างยิ่งประเทศอังกฤษนี้ รู้สึกมีเหตุมีผลมีหลักมีเกณฑ์ กับธรรมวินัยนี้เข้ากันได้เป๋งเลยทีเดียว อย่างที่เราไปอยู่นั้นไม่นานนัก โถน่าสงสารเหมือนกันนะ

ฝรั่งร้องไห้มีเหรอ เรายังไม่เคยเห็น ร้องไห้เรื่องอรรถเรื่องธรรมนะ นี่เห็นแล้ว เห็นต่อหน้าต่อตา ก้มหน้าปั๊บนี่น้ำตาร่วงๆ พอครูบาอาจารย์จะจากไป มานี่หนาแน่นขึ้นทุกวันๆ เก้าอี้นี่ไม่มีความหมายนะ นั่งแทรกกันเต็มไปได้หมดเลยไม่ถือกัน เอ้า นั่งยังไงนั่งเลย แทรกกันไปหมด...เต็ม

...นี่ถ้าหากว่าศาสนาพุทธเรานี้เป็นผู้มีหลักศาสนาจริงๆ ประจำใจทั้งภายนอกภายในแล้ว ชาวอังกฤษนี่ละ ดีไม่ดีจะเป็นเจ้าของศาสนาพุทธเราด้วยซ้ำไป เพียงไปเท่านั้นก็รู้ ศาสนาแน่นขึ้นทุกวันๆ ไม่ใช่ธรรมดา หนาแน่นขึ้นทุกวันๆ เขาพอใจในการตอบปัญหา คนหนึ่งเป็นคนถาม...เราก็ตอบจนหายข้องใจ เขาพอใจการตอบปัญหามาก

ชาวอังกฤษก็หัวเราะเก่งเหมือนกันนะ...หัวเราะไม่ใช่เล่นเหมือนกันนะ...อย่าว่าฝรั่งร้องไห้ไม่เป็น ฝรั่งหัวเราะไม่เป็น ฝรั่งร้องไห้เป็น หัวเราะเป็น เห็นแล้ว เราเห็น เวลาปัญหาใส่ปั๊บนี่ คือมันถูกอย่างถนัดว่างั้นเถอะ ใส่ปั๊บนี่หัวเราะเอิ๊กอ๊าก มันถูกใจ เข้าใจหรือเปล่า ตอบปัญหา...มันหากมีแหละปัญหา ก็เหมือนกันกับเรา เพราะความเป็นอยู่ของจิตมันเหมือนกัน

ที่เรียกว่าชาตินั้นชาตินี้ มันเอาชื่อเอานามไปตามลักษณะเฉยๆ รูปร่างกลางตัวลักษณะอย่างนั้นชื่อว่าชาตินั้นๆ เฉยๆ ก็คน หลักของคนหลักของกรรมมีอยู่ เสมอกันหมด อันนี้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน คำว่า คน เท่านั้นก็ครอบไปหมดแล้ว หลักของกรรม กรรมดีกรรมชั่วมีเหมือนกันหมด..."


(มีต่อ 24)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 25 พ.ย.2006, 6:01 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
ส่วนหนึ่งของหนังสือธรรมะหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน


ประกาศศาสนาต่างแดน...ด้วยธรรมภายใน

ในระยะหนึ่งเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว มีการคัดเลือกพระธรรมทูตเพื่อออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ โดยมีสมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ด้วยเหตุที่หลวงตาท่านมีพระชาวต่างชาติอยู่ศึกษาอบรมด้วยนี้ ทำให้ท่านได้รับนิมนต์ให้เป็นกรรมการคนหนึ่งในการคัดเลือกพระธรรมทูตในครั้งนั้นด้วย ท่านเล่าว่า

"...ต่างประเทศเขาก็มีความสนใจในพระพุทธศาสนาอยู่มาก ดูได้จากมีตำรับตำรามากมาย เขาก็สนใจร่ำเรียนกัน แต่สำหรับภาคปฏิบัตินั้นยังไม่เป็นที่แพร่หลายกว้างขวางนัก เพราะยังขาดผู้มีหลักเกณฑ์ทั้งภายนอกภายในมาให้คำแนะนำสั่งสอนแก่เขา..."

ในเรื่องนี้ หลวงตาท่านเคยอธิบายถึงคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างยิ่ง ของพระธรรมทูตผู้ที่จะไปทำหน้าที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดนว่า

"...ถ้าหากไปเป็นแบบเป็นฉบับ มีหลักมีเกณฑ์ภายในภายนอกพร้อม ไปแล้วจะเป็นประโยชน์จริงๆ พูดออกไปก็มีเหตุมีผลมีอรรถมีธรรมภายในจิตใจเอาไปโชว์เขาบ้าง...ทางด้านวัตถุเขาเจริญกว่าเราเท่าไร เอาอะไรไปโชว์ ไม่มีอะไรไปโชว์ ต้องเอาธรรมเข้าโชว์ ต้องเอาธรรมภายในออกโชว์ พระพุทธเจ้าประกาศสอนโลกด้วยธรรมภายใน..."

เทศน์นอกสถานที่

ในระยะที่ธาตุขันธ์ของท่านยังพอเป็นพอไป ท่านเมตตารับนิมนต์ไปแสดงธรรมตามหน่วยงานต่างๆ ตามที่เขานิมนต์มา เช่น วัด หน่วยราชการ ทหาร ตำรวจ สถาบันการศึกษาต่างๆ ฯลฯ ตามเหตุผลความจำเป็นมากน้อย

ต่อเมื่อชราภาพมากเข้า ท่านจึงงดเว้นการออกไปแสดงธรรมนอกสถานที่ หากมีอยู่บ้างโดยมากเป็นงานเนื่องด้วยมรณกรรมของพระกรรมฐานครูบาอาจารย์องค์สำคัญๆ เช่น หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, หลวงปู่ชา สุภัทโท, หลวงปู่คำมั่น คัมภัสปัญโญ และหลวงปู่หล้า เขมปัตโต เป็นต้น

เทศน์คณะที่มาเยี่ยม

ท่านให้ความเมตตาต่อคณะผู้มาเยือนกลุ่มย่อยกลุ่มใหญ่ จากทางใกล้ทางไกล ทั้งในและนอกประเทศที่มาขอเยี่ยมพบท่านตลอดมา แต่เมื่อกำลังอ่อนลง การต้อนรับย่อมมีข้อจำกัดเพิ่มขึ้น คราวหนึ่งท่านเล่าแบบขำขันถึงคณะกลุ่มใหญ่ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อจะขอเข้ากราบท่านดังนี้

"...ควรรับขนาดไหนๆ...มันสมควรขนาดไหน เมื่อเพียบเต็มที่แล้วมันจะไปได้เหรอ ก็ต้องหยุดพักเครื่องน่ะซี...มาตลอดทั้งวัน เรานั่งตลอดคนเดียว แล้วไม่ใช่วันหนึ่งวันเดียวด้วย นั่งมาตั้งเมื่อไร มันตายได้ มนุษย์เรา ชีวิตหดสั้นย่นเข้ามาเรื่อยๆ...

เขาว่าไม่ต้อนรับ ไปกี่ครั้งกี่หนไม่ได้พบท่าน ว่าอย่างนั้น ถ้าเราจะตอบก็ว่า

"เฮาก็ไม่ได้พบเจ้าคือกันแล้ว ก็เว้าจั่งซั้นจะเป็นหยังแม่นบ่ จะมาเว้าแต่เจ้าบ่พบข้อย ข้อยก็บ่ได้พบเจ้าคือกันตั๊ว มันก็เท่ากันแล้ว"

ยากอีหยังตอบคน มันสุดวิสัย ก็เคยรับอยู่แล้ว...วันนั้นเรารับแขกทั้งวันเราจะตาย จนไม่มีลมจะพูดแล้ว กำลังจะมืด พระก็มาบอกว่า คณะญาติโยมมาจากนู้นๆ เราก็เล็งดู จากโน้นจากนี้ก็ไกล ก็ทน

"เอ้า ให้เข้ามา" แน่นเอี้ยดกุฏิเรา...มา เราก็เลยทำท่าละทีนี้ มันทำได้ทุกอย่างพลิกสันก็ได้คมก็ได้ อย่างนี้ก็ได้ๆ จะว่าไง...พอมา เราก็ทำท่าขึงขัง ใจเราอดหัวเราะไม่ได้นะ แต่ทำท่าขึงขัง

"แม่นหมู่เจ้า มาอีหยังกะด้อกะเดี้ยแท้ เดี๋ยวนี้ว่ะ" ...ขู่...เขาตอบว่า

"มาชมบารมีหลวงพ่อ"

"บารมีรแมอีหยัง คนกำลังจะตาย ฮู้จักบ่" ขู่แล้ว "เอ้า ไป...ลง..." พอเท่านั้นละ หลั่งลงไปลิดๆ...

"บารมีรแมอีหยัง คนกำลังจะตาย"

จั่งซั่นแล้ว บัดจะเฮ็ด เฮ็ดจั่งซั่นแล้ว โกรธก็โกรธ เคียดก็เคียดก็ตาม ทำท่าคึกคักขึ้นโลด ของทำได้แม่นบ่ ตั้งแต่เขาเล่นลิเก ละครเขายังทำได้ใช่ไหม ถึงบทหัว...หัว ถึงบทไห้...ไห้ บ้าทั้งนั้นละพวกนี้ จั่งซั่นแล้วก็เฮ็ดได้...

ระยะนี้มานี้เราเพียบเต็มที่หนักมากมาเป็นประจำๆ เมื่อวานนี้เป็นวันสุดท้ายจนรับไม่ได้ ว่างั้นเถอะ หมดกำลัง ลุกเดินจะไม่ได้ ขาก็ขัด อะไรก็ขัดไปหมด ก้นก็จะแตก จะว่าไง โถ นั่งทั้งวันๆ แขกไม่ใช่คณะหนึ่งคณะเดียว มาทั้งแผ่นดินนี่ คณะนั้นเข้า คณะนี้ออก อยู่อย่างนั้น แล้วรับคนเดียวๆ..."

เทศน์ปกิณกะ

ด้วยความเมตตาของท่านต่อคณะต่างๆ ในแต่ละสถานที่นี้เอง ธรรมะจึงมีหลายแบบหลายฉบับ มีทั้งเป็นจริงเป็นจัง เป็นเหตุเป็นผล แบบขำขัน แบบดุเด็ดเผ็ดมัน หรือบางครั้งก็สอนโดยไม่ใช้การพูด

ชานหมาก

โยม : หลวงตาครับ ขอชานหมาก

หลวงตา : อย่ายุ่งๆ ของไม่เป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นประโยชน์เราสอนแล้ว นั่น มาขออะไร ของเศษๆ เดนๆ ของทิ้ง...ศาสนาพุทธเราเป็นศาสนาที่เลิศ เราคอยแต่จะเอาของปลอมๆ เข้าไปแทรก

...ชานหมากนี่น่ะของแปลก...

เทศน์อย่างนี้ก็เป็นหรือ ?

มีเรื่องขบขันคราวหนึ่งในช่วงที่ท่าน (หลวงตามหาบัว) มีธาตุขันธ์แข็งแรงดีอยู่ และเป็นระยะที่ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ยังมีชีวิตอยู่นั้น หากมีเหตุให้ท่านไปแสดงธรรมที่วัดโพธิสมภรณ์ ท่านเจ้าคุณฯ มักจะเดินรอบบริเวณและประกาศว่า

"ใครอย่าพูดนะ เราจะฟังเทศน์มหาบัวนะ...เราจะฟังเทศน์มหาบัวนะ ใครอย่าพูดเป็นอันขาดนะ..."

ในบริเวณนั้นจึงเงียบหมด จากนั้นท่านเจ้าคุณฯ ก็กลับมาประจำที่และตั้งใจฟังเทศน์แบบกรรมฐาน คือหลับตาฟังด้วยความเคารพในธรรม โดยไม่ถือตัวว่าเป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์ของท่านมาก่อนแต่อย่างใดเลย มิหนำซ้ำ ท่านเจ้าคุณฯ ยังชมเชยลูกศิษย์บ่อยๆ ด้วยว่า

"ข้อยพูดตามความจริงนะบัว...เจ้าเทศน์ แหม ! มันถึงใจข้อยเหลือเกิน ว่าไม่อึ๊ ไม่อ๊ะ ไหลไปเลย...

แต่ถ้าหากไม่มีปัญหา เทศน์ข้อยยกให้เจ้านะบัว แต่ถ้ามีปัญหาแล้ว การตอบปัญหาเจ้าเป็นที่หนึ่ง มันถึงใจข้อยเหลือเกินนะบัว...ตอบรวดเร็วที่สุด...ปั๊บเลยใส่ปั๊บๆ..."

ทราบกันว่าพระอุปัชฌาย์เคยแต่ฟังเทศน์ของท่านแบบกรรมฐานเท่านั้น ไม่คาดคิดมาก่อนเลยว่า ท่านจะเทศน์ธรรมะแบบมีเรื่องขบขันได้ด้วย

คราวหนึ่ง พระอุปัชฌาย์เอาตัวท่านไปเทศน์ที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ผู้ฟังโดยมากชอบเล่นบัตรเล่นเบอร์กัน การเทศน์จึงต้องมีตลกขบขันบ้างตามลักษณะผู้ฟัง ท่านเล่าแบบขบขันให้พระเณรฟัง ดังนี้

"...อะไรก็ไม่ขบขันเหมือนเอาผมไปเทศน์ที่ท่าอุเทนนั่นแหละ ผมเคยพูดให้หมู่เพื่อนฟัง ตั้งแต่นั้นมาพอท่านเจอหน้าผมทีไร ท่านจะต้องเอาเรื่องนั้นขึ้นทักทายก่อน เพราะท่านไม่เคยได้ยินผมเทศน์อย่างนั้น เทศน์เริ่มตั้งแต่ต้นจนจบไม่มีอะไร เทศน์ให้ขบให้ขัน พวกนี้หัวเราะกันลั่นตลอดกัณฑ์เลย ท่านเจ้าคุณฯ นี้หัวเราะจนแทบล้มแทบตายจริงๆ นะ ผมจบเทศน์แล้วเขาก็ขอร้อง

"โอ๊ย ! อย่าด่วนจบๆ"

ก็มันหมดดินระเบิดแล้ว บั้งไฟมันก็ลงเรื่อยๆ มันก็จบของมัน...ลงมาจากธรรมาสน์แล้ว ท่านเจ้าคุณฯ ยังหัวดิ้นล้มดิ้นตายอยู่ซิ พอลงมา ผมกราบพระแล้ว ท่านก็ยังหัวอยู่

"บัว เจ้าเทศน์อย่างนี้ก็เป็นหรือ ? บัว บัว ข้อยบ่เคยได้ยินเจ้าเทศน์อย่างนี้"

หัวร่อแทบล้มแทบตาย ตั้งแต่นั้นมาเจอผมทีไร "มหาบัวเทศน์อย่างนี้ก็เป็นๆ" พวกนี้มันชอบบัตรชอบเบอร์ เล่นบัตรเล่นเบอร์ เราก็เทศน์เรื่องบัตรเรื่องเบอร์ เทศน์มีตลกขบขันซี..."

ใครว่า "หลวงตาบัวดุ ?"

บางคณะที่เพิ่งมาฟังธรรม ยังไม่เข้าใจถึงอุบายวิธีการสอนของท่าน หลายครั้งท่านสอนอย่างเข้มข้นตรงไปตรงมา ผู้ฟังจึงมักพูดกันว่าท่านดุ วันหนึ่งท่านมีเมตตายกนิทานให้เป็นข้อคิด ดังนี้

...เวลาแสดงธรรมอยู่นี้ ใครเห็นหลวงตาดุไหม ? ถ้ายังสงสัยว่าหลวงตาดุอยู่หลวงตาบัวจะเล่านิทานย่อๆ ให้ฟัง คือผู้หญิงมันใจน้อย แล้วได้สามีมา สามีพูดอะไรก็ว่าแต่สามีดุ ว่าแต่สามีดุ เพราะผู้ชายมันเสียงดังใช่ไหมล่ะ ผู้หญิงมันเสียงแหลม เวลาผัวพูดอะไรก็ว่าแต่ผัวดุๆ

(สามีคิดว่า) เอ๊ จะทำยังไงนะ เมียเรานี่ พูดยังไงก็ว่าแต่เราดุ จะทำยังไงน้า เราจะทำแบบอ่อนๆ ทีเดียวหล่ะ ว่าแล้วก็ไปกระซิบ แม่หนู วันนี้จะไม่ดุไม่ด่าอะไรละนะ วันนี้จะกระซิบกระซาบแล้วนะ
ภรรยา : เอาว่ามา
สามี : วันนี้จะไปขอแต่งงานเมียใหม่ได้ไหม ?
ภรรยา : โอ้ย ไม่ได้ ไม่ได้
สามี : แม่อีหนู รู้สึกเก่าแก่แล้ว มีแต่ว่าดุ ว่าดุ คำนี้เป็นคำไม่ดุ คำนิ่มนวล อ่อนหวาน ว่าจะไปหาเมียใหม่มาจะได้ไหม ?
ภรรยา : โอ๊ย ไม่ได้ ไม่ได้
สามี : จะทำยังไงเนี่ย พูดอ่อนก็ว่าดุ พูดแข็งก็ว่าดุ พูดอ่อนนิ่มที่สุดเวลานี้ ก็ว่าดุ เราจะทำยังไง ?
ภรรยา : ก็อย่าไปหาใหม่สิ ของเรายังมีอยู่ นี่หน่ะ
สามี : ถ้าอย่างนั้นก็หยุดแล้วนะ ต่อไปนี้ ก็ยังจะดุเหมือนเก่านั่นแหละ
ภรรยา : ดุก็ดุไปเถอะ ดุไม่หาเมียใหม่ไม่ว่าอะไรละ อย่าไปหาเมียใหม่ก็แล้วกัน...

เปิดกิเลสตัวแอบแฝง

ในบางครั้งท่านจะมีวิธีการสอนที่เปิดเผยตัวกิเลสที่แอบแฝงมากับธรรมให้เห็นอย่างชัดๆ ดังในกิจนิมนต์ไปแสดงธรรมที่วัดแห่งหนึ่ง

"...โอ้โห เขาเตรียมต้อนรับหลวงตาบัวไว้อย่างหรูหราฟู่ฟ่า พอจะก้าวเข้าสู่โบสถ์ เขาปูเสื่อปูพรมเข้ามาเลย พอเราไปถึงที่นั่น เราก็จับเสื่อจับพรมฟาดเข้าป่าให้เห็นต่อหน้าเลยนะ ปูเป็นแถวเลยนะ

พอเราไป เราก็จับนี่ฟาดเข้าป่า จับนี่ฟาดเข้าป่า แล้วก็เดินไปจับนี่ฟาดเข้าป่าต่อหน้าคนมากๆ นะ เพราะมันขวางตาเหลือเกิน กิเลสทำไมมันจึงมีอำนาจมากนัก...

...เขาทำอย่างนั้น เราก็ไม่ตำหนิว่าผิดนะ แต่ให้มีธรรมแทรกบ้างเป็นข้อคิด เพราะฉะนั้น เราจึงจับนี่ฟาดเข้าป่าให้เป็นข้อคิดต่างหากนะ เราไม่ได้ทำประชดอะไรเข้าใจไหม? มันมีความหมายอยู่ในนั้น ปาเข้าป่า ปาเข้าป่า อะไรหรูหรา ฟาดเข้าป่าหมดเลย...

ทำให้เป็นข้อคิดเสียบ้าง ความหมายว่าอย่างนั้น มิฉะนั้นจะมีแต่กิเลสปิดหูปิดตา ไม่ให้มองเห็นอะไรยิบๆ แย็บๆ เลย ก็เปิดเสียบ้างสิ..."

เหรียญหลวงตา

โยม : หลวงตาขา ไม่ทราบหลวงตามีเหรียญแจกหรือเปล่าคะ ?

หลวงตา : มีเหรียญเดียว ดูเอานี่...ออกสนามก็เหรียญนี้ ขึ้นเทศน์ก็เหรียญนี้ เหรียญอื่นไม่เห็นมี เหรียญไหนเก่งเอามาแข่งสิ เหรียญไหนเก่งเอามาแข่ง เหรียญนี้น่ะ ถ้าเก่งก็ไม่ต้องเอาเหรียญ สู้เหรียญนี้ไม่ได้ ว่างั้นเถอะ

โยม : ...?????...

การ์ตูน "ปู่สอน"

"...เขาออกการ์ตูนวันหนึ่งก็อดคิดไม่ได้ แล้วก็อดที่จะนำมาเล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังไม่ได้ เพราะเป็นคติดี ฟ้ง ! ฟังให้ดีนะ ขึ้นแล้วการ์ตูน

มันมี...เขาเรียกศาลพระภูมิหรืออะไร แล้วมีต้นไม้ใหญ่ แล้วมีศาลพระภูมิโอ๊ย ทำเหมือนจริงๆ นะ พวกนี้ พวกตลกทำได้เหมือนจริงๆ แล้วก็มีคนคนหนึ่งนั่งพนมมือแต้ แล้วคนหนึ่งไม่ทราบมาจากไหน...นี่บอกมาจากสูง นั่นแหละ บอกมาจากศาลว่า

โยมมีความยุ่งยากใจอะไร ?"

"ยุ่งยากใจ...ที่ปฏิบัติตามปู่นั่นแหละ"

"แล้วปู่สอนอย่างไรถึงต้องเป็นความยุ่งยากอย่างนั้นล่ะ ?"

"ปู่สอนให้มีความปรารถนาน้อย" ว่าอย่างนั้น

"แล้วเราไปปรารถนาอย่างไร ? มันถึงได้ลำบากยุ่งยากใจเรา"

"ไปมีเมียน้อย" (หัวเราะ)

...นั่นซิ ฟังซิ มันน่าฟังไหมล่ะ มันแฉลบไปนั่นน่ะ ไอ้เรื่องกิเลสมันเป็นอย่างนั้น เราสอนให้เป็นอย่างนี้ มันแฉลบไปนั่น ยอกให้ความปรารถนาน้อย...ก็คือว่า ถ้าเป็นฆราวาสให้มีผัวเดียวเมียเดียวเท่านั้น แต่นี่มันกลับไปเอาเมียน้อยมาอีก...

ปู่ท่านสอนว่าอย่างไร ท่านสอนให้มีความปรารถนาน้อย กาเมสุมิจฉาจารนี้เป็นข้อบังคับอย่างตายตัวเลย

นี่แหละ ข้อบังคับเพื่อให้เป็นทองแท่งเดียวกันระหว่างสามีภรรยา จนกระทั่งถึงลูกเต้าหลานเหลนผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดจะได้รับความอบอุ่นจากธรรมข้อนี้..."

นิทาน "คนเลี้ยงม้า"

"ผู้เลี้ยงม้าน่ะขาเขยก ม้าก็เดินตามหลังคนเลี้ยงไปทุกวัน คนเลี้ยงเดินเขยกๆ ม้าขาดีๆ ก็เขยกๆ ตาม"

"คิดดู ม้ามันยังศึกษาเอาได้จากคนขาเขยก อันนี้คนแท้ๆ ทำไมจะไม่ศึกษาจากพ่อจากแม่ที่เป็นคนเขยก เข้าใจหรือเปล่า ?...

พ่อแม่ต้องระวังให้มีแบบมีฉบับบ้าง สอนลูกสอนเต้ายังไงกัน ตื่นขึ้นมาตั้งแต่เช้ายันค่ำมีแต่ทะเลาะให้เด็กฟัง เด็กก็ได้ศึกษานั้นแหละ แล้วไปเที่ยวทะเลาะกับหมู่เพื่อนและกลับมาก็ทะเลาะกับพ่อแม่ ทะเลาะไปหมดทั้งบ้านเลย เพราะได้ศึกษาวิชาผีบ้าจากพ่อจากแม่...

...ให้สอนเด็กไว้แต่เล็กแต่น้อย พ่อแม่เข้าวัดเข้าวา พาเป็นคนดี ลูกย่อมเป็นคนดี เพราะลูกเต้าที่เกิดมาจากพ่อจากแม่ คือพ่อแม่เป็นครูเป็นอาจารย์ในหลักธรรมชาติ

เป็นพ่อเป็นแม่แล้วยังไม่แล้ว ยังเป็นบุพพาจารย์ คือต้องสั่งสอนก่อนอื่นก่อนใครทั้งนั้น คำว่าสั่งสอนไม่จำเป็นจะต้องให้โอวาทสั่งสอนอย่างเดียว ความเคลื่อนไหวของพ่อแม่ผู้ใกล้เคียงจะเป็นการสอนเด็กอยู่ในตัวหมด..."

ด้วยเมตตาธรรมที่ท่านมีต่อคนหลายกลุ่มหลายคณะดังกล่าว ทำให้คำสอนของท่านจึงมีตั้งแต่ธรรมะที่ลึกซึ้งละเอียดแหลมคมสำหรับผู้มุ่งฝึกฝนจิตตภาวนา เพื่อมุ่งสู่แดนนิพพานโดยเฉพาะ หรือแม้แต่ธรรมะสำหรับเด็ก ผู้กำลังศึกษาเล่าเรียน ผู้มีหน้าที่การงาน ตลอดจนธรรมสำหรับครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ซึ่งจะได้คัดหลักธรรมสำคัญๆ มาแสดงในหัวข้อต่อๆ ไป

สื่อ...ธรรม
หนังสือ-เทปธรรมะ ไม่ซื้อขาย


หนังสือธรรมะของท่านมีทั้งจากงานเขียนหรือถอดเทปจากการเทศน์อบรมพระเณรและฆราวาส ทั้งในวัดและนอกสถานที่ บางเล่มเป็นการรวบรวมคำตอบปัญหาธรรมจากจดหมายของพระเณร ฆราวาส ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ท่านเริ่มแจกหนังสือธรรมะมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514-15 จนกระทั่งปัจจุบันนี้ การจัดพิมพ์แต่ละครั้งๆ เป็นจำนวนหลายแสนเล่ม และพิมพ์มาตลอด หากต้องมีการประมาณจำนวนเล่ม ก็น่าจะหลายล้านเล่มแล้ว เพราะมีผู้ต้องการจำนวนมาก ทั้งมาด้วยตนเองที่วัด ทั้งที่เขียนจดหมายจากที่ต่างๆ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวันๆ

หนังสือที่มีผู้สนใจมากที่สุดคือ หนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ และปฏิปทาของพระธุดงคกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ แต่มาในระยะหลังนี้ ผู้สนใจอยากทราบชีวิตของหลวงตามีมากขึ้นทุกวันๆ ขณะที่ท่านเองก็ไม่เคยเล่าชีวประวัติหรือเขียนชีวิตความเป็นมาของท่านเลย จะมีเรื่องเล่าสั้นๆ บางตอนจากท่านบ้างก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในที่ต่างๆ กัน เฉพาะอย่างยิ่งช่วงท้ายของการเทศน์อบรมพระ เช่น ท่านเล่าถึงความพากเพียรในการปฏิบัติธรรมของท่านเพื่อให้เป็นกำลังใจแก่พระเณร เป็นต้น

จ่าย...เพื่อหวังใจโลก

มีคนเป็นจำนวนมากที่ห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายในการแจกหนังสือและเทป เกรงว่าอาจทำให้ท่านต้องลำบาก ท่านให้เหตุผลในเรื่องนี้ ดังนี้

"...หนังสือของเรานี้ไม่มีการซื้อการขาย มีแต่การให้ฟรีๆ ส่งให้ฟรีด้วย บางคนเขามาถาม เขาคงวิตกถึงเรื่องการส่งของเรา เขาถามเฉพาะเรื่องส่ง

"เรื่องส่งคงจะหมดมากนะหลวงพ่อส่งหนังสือนี้"

"โอ๊ย อย่ามาถาม" เราบอกตรงๆ เลย

ถ้าเราจะมาวิตกวิจารณ์กับเรื่องการได้การเสียแล้ว เราทำไม่ได้ เราไม่ทำจริงๆ เราทำไม่ได้จริงๆ เช่น ค่าส่งนี้มันก็เป็นแสนๆ ล้านๆ จะว่าไง ค่าส่งหนังสือนี้ วันหนึ่งๆ ส่งมากขนาดไหน บางวันรถปิ๊กอัพเต็มเลย ส่งมาตั้งแต่ปี 2514 แล้ว ส่งใกล้ส่งไกล ขนาดในเมืองไทยไม่ต้องพูดแหละ โน่นเมืองนอกยังส่งออกไป ทั้งเทปทั้งหนังสือ

เวลานี้เทปดูจะมากกว่าหนังสือด้วยซ้ำ ขอมานี้เป็นเหมือนกับไฟลามทุ่งเลยเชียว ต้องให้พระท่านพักเครื่อง เครื่องอัดเทปนี้เราก็หามาให้นะ ด้วยความสงสารทั้งนั้นแหละ..."

ผู้รับธรรมะผ่านสื่อ

มีหลายท่านที่ได้อ่านหนังสือธรรมะ แล้วเขียนจดหมายกลับมาถึงท่านว่า

"...แต่เดิมนั้นคิดสิ้นหวังแล้วในเรื่องมรรคผลนิพพานและพระพุทธศาสนา เข้าใจว่าเป็นของที่มีแต่เพียงในตำรับตำราเท่านั้น ปัจจุบันนี้คงจะหมดสิ้นไปแล้ว ผู้ทรงมรรคทรงผลก็คงหาไม่ได้แล้ว..."

บางรายก็เคยคิดขนาดว่า "...ศาสนานี้หมดหวังแล้ว มีแต่ตัวหนังสือ มีแต่ชื่อ ดูพระดูเณรผู้ปฏิบัติมีแต่เรื่องที่ดูไม่ได้เลย เป็นที่สลดสังเวชใจมาก..."

ต่อเมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนั้นๆ ไปแล้ว กลับพลิกขึ้นมาเลย เหมือนกับว่าได้เกิดชาติใหม่ นักปฏิบัติธรรมหลายท่านเช่นกัน เมื่อได้อ่านหนังสือหรือฟังเทปแล้วเกิดความซาบซึ้งในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างน่าอัศจรรย์ใจก็มีอยู่ไม่น้อย

จดหมายที่ส่งมาถึงท่านมีเป็นจำนวนมากตลอดมา และเพิ่มขึ้นทุกวันๆ ส่วนใหญ่เป็นการทำบุญปกติธรรมดา แต่บางรายก็มีปัญหาทางธรรมตั้งแต่พื้นฐานทั่วๆ ไป จนถึงเรื่องจิตตภาวนา ท่าน็ให้ความเมตตาตอบจดหมายสอนสั่งแนะนำเรื่อยมา ขอยกตัวอย่างผู้ได้รับสื่อธรรมประเภทต่างๆ ของท่านมาแสดงบ้าง ดังนี้

Image
หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ


หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ
วัดป่าเขาน้อย อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์


หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ เป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อีกองค์หนึ่ง และท่านยังเป็นศิษย์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่สกลนครอีกด้วย ท่านเคยจำพรรษาอยู่สหรัฐอเมริกาหลายปี ต่อมาจึงได้กลับเมืองไทย

หลวงปู่สุวัจน์ท่านเคยบอกกับลูกหลานพระเณร ทั้งที่วัดป่าบ้านตาดและวัดของท่านเองเสมอๆ ว่า ที่ท่านเคารพนับถือหลวงตามหาบัว ก็เพราะได้อ่านหนังสือของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคราวที่หลวงตาแสดงธรรม ณ วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ

เทศน์ครั้งนั้นมีตอนหนึ่งกล่าวถึงเรื่องราคะตัณหาและวิธีแก้ เมื่อหลวงปู่สุวัจน์อ่านแล้วรู้สึกเผ็ดร้อนถึงใจขึ้นทันที ท่านเล่าว่าพออ่านแล้วมันสะดุดใจปุ๊บ จากนั้นจับเงื่อนได้ทันที ทีนี้จิตก็หมุนติ้วในธรรม มีแก่ใจที่จะเร่งความพากความเพียรตลอดเวลา ท่านได้กำลังครั้งใหญ่ก็ด้วยเหตุที่ได้อ่านหนังสือในตอนนั้นนั่นเอง...

นักภาวนาชาวกรุง

หลวงตากล่าวถึงสตรีท่านหนึ่ง เธอใช้ชีวิตที่ไม่แตกต่างอะไรจากคนทำงานทางโลกทั่วไป เนื่องจากมีครอบครัวมีบุตรธิดาถึง 3 คน ยิ่งกว่านั้นยังมีภาระหน้าที่การงานที่จะต้องบริหารและรับผิดชอบ แต่ด้วยจิตใจที่รักและเห็นคุณประโยชน์อันใหญ่หลวงของงานด้านจิตตภาวนา เธอจึงพยายามเจียดเวลาเพื่อเดินจงกรมและนั่งสมาธิภาวนาอย่างจริงจัง ฝึกสติอบรมปัญญาไปพร้อมๆ ควบคู่กับการงานโดยมิยอมให้เสียงานทางโลกแต่อย่างใด

ยิ่งกว่านั้น ยังทำให้ความคิดความอ่านในหน้าที่การงานดีขึ้นแจ่มชัดขึ้นอีกด้วย เพราะเต็มพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ความคิดความอ่าน...จึงไม่วู่วามตามอารมณ์หรือตามความฟุ้งซ๋านส่ายแส่ของจิตใจเหมือนในขณะที่ยังควบคุมจิตได้ไม่ดีพอ

เธอปฏิบัติเช่นนี้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอมาหลายปีด้วยความพากเพียร กระทั่งเห็นผลแห่งการปฏิบัติพอเป็นแรงจูงใจให้เพียรยิ่งๆ ขึ้น ครั้งหนึ่ง เธอมีโอกาสได้เข้ากราบสนทนาธรรมกับหลวงตาที่สวนแสงธรรม ในคราวท่านลงไปกรุงเทพฯ และได้เล่าผลอัศจรรย์ของจิตที่เกิดจากจิตตภาวนาถวายหลวงตาเป็นที่รื่นเริงในธรรมทั้งอาจารย์และศิษย์

กาลผ่านไป เมื่อหลวงตาท่านกลับวัดป่าบ้านตาด อุดรธานีแล้ว ตอนเช้าวันหนึ่งปลายปี พ.ศ. 2538 หลังจังหัน หลวงตาท่านแสดงธรรมได้ระยะหนึ่ง เนื้อธรรมที่แสดงนั้นได้ไปสัมผัสกับเรื่องที่ท่านได้สนทนากับสตรีท่านนี้ ท่านจึงได้เมตตาเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า มีพยาน แล้ว ดังคำเทศน์ต่อไปนี้

"...พอพูดอย่างนี้ ก็ไปสัมผัสเรื่องหญิงคนหนึ่ง แกภาวนาอยู่ตามประสีประสาของแก สุดท้ายเอาจริงเอาจัง เป็นเข้าจริงๆ เวลาเป็นเข้าจริงๆ แล้วเห็นโทษกิเลสนี้ แหม...แกว่าอย่างนั้นนะ

"ทำไมมันถึงร้ายแรงเอาหนักหนากิเลสนี่ รุนแรงมาก ทั่วสามแดนโลกธาตุ กิเลสขยำคน"

ฟังซิ แกไม่ได้เรียนนะ แกไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนทางอรรถทางธรรม ออกจากภาคปฏิบัติล้วนๆ

"มองไปที่ไหนดูมีแต่กิเลสขยี้ขยำหัวสัตว์โลกเต็มบ้านเต็มเมือง ไม่ว่าสัตว์เดรัจฉาน่ว่ามนุษย์ ไม่ว่าชาติชั้นวรรณะใด มีแต่กิเลสขยำเอา โงหัวไม่ขึ้นเลย สลดสังเวช บางทีก็กระซิบบอกเพื่อนฝูงบ้างบางคน พวกคลั่งกิเลสมันก็ไม่พอใจ สุดท้าย จะทำภาวนาก็ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ไปทำอยู่ตามป่าตามอะไร เพราะทำงานอยู่ตลอดเวลา สติไม่ได้เผลอตลอดเวลา มันเป็นเองของมัน"

คำพูดอย่างนี้ไม่เป็นจริงเอามาพูดได้เหรอ ต้องอมอกมาจากภาคปฏิบัติรู้จริงเห็นจริง

"สตินี้ดี ดีจริงๆ ไม่ใช่ธรรมดา ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะทำการทำงานอะไร สติจ่อแล้วทำงานก็ทำไปตามเรื่อง ทำงานทางโลกก็ทำ ภายในก็ทำ หมุนติ้ว"

นั่นแห็นไหม ได้ยินแต่หลวงตาบัวว่าหมุนติ้วๆ นี่ มีพยานแล้วนะ เพื่อนฝูงเขาสงสาร พอทราบว่าเราไป เพราะแกอยากพบครูอาจารย์ อยากพบเราแกก็อยากพบ พอดีแกก็มาจริงๆ คนมากๆ ก็ใส่เปรี้ยงเลย นั่นละ ขึ้นเวลาแชมเปี้ยนแล้วไม่ใช่เวทีธรรมดา ซัดกันใหญ่เลย แกก็ออกมาอย่างกระจ่ายเลยนะ เปรี้ยงๆๆ นั่นละ ความรู้ความเห็นที่เป็นขึ้นจากจิตใจไม่สะทกสะท้านนะ แกก็ใส่มาเปรี้ยงๆ ทางนี้ก็ใส่กันเลย

"ก็ทำกำดำกำขาวไปอย่างนั้นละ แต่จิตมันดูดดื่มอยากทำตลอดไป แต่ทีนี้ก็ไม่ทราบว่าผิดหรือถูกประการใด"

บอกแกว่า "ถูกแล้ว เอ้า เอาเลยนะ รวมตัวแล้ว ทีนี้ฟาดลงไป ถลุงมันตรงนั้นๆ ชี้แจงเป็นระยะๆ เข้าไป"

แกก็พอใจเอาอย่างมาก "ทีนี้เป็นที่ตายใจแล้ว"

เราว่า "ตายใจน่ะถูกต้องแล้ว ที่ปฏิบัติมานี่ถูกต้องแล้ว"

แกนั่งภาวนาได้ถึง 13 ชั่วโมงก็มี 9 ชั่วโมง 10 ชั่วโมง 13 ชั่วโมงก็มี พิจารณาทุกขเวทนา ทุกขเวทนาเป็นของจริงทุกส่วน เป็นของจริงแล้วไม่มีกระทบกระเทือนกันเลย จะนั่งตั้งกัปตั้งกัลป์ก็ได้ อย่าว่าแต่เพียง 12-13 ชั่วโมงเลย ลุกออกมาเฉยๆ นี่แหละจะนั่งตั้งกัปตั้งกัลป์ก็ได้

"ไม่มีอะไรที่จะเข้ามากระทบกระเทือนจิตใจได้เลย เมื่อต่างอันต่างจริงแล้ว ไม่คละเคล้ากัน"

นั่นฟังซิแกพูด พูดอาจหาญเสียด้วยนะ เราก็รื่นเริงเห็นผลของการปฏิบัติธรรมนี่ละ ธรรมของพระพุทธเจ้าพอปรากฏขึ้นในใจ

"เห็นโทษของกิเลสเห็นจริงๆ เห็นจนสลดสังเวช มองไปไหนๆ พิจารณาไปไหน แหม มีแต่กิเลสอย่างเดียวครอบงำ สัตวโลกให้ดิ้นล้มดิ้นตายกันอยู่ ไม่ว่าชาติชั้นวรรณะใด แล้วโลกก็ไม่รู้ด้วยนะ น่าสงสารอันหนึ่ง" แกว่า

"โลกก็ไม่รู้ด้วยนะ มันขยี้ขยำจนจะตายก็ยังดิ้นเพลินกันอยู่" คนมากนะวันนั้นวันที่แกมาหา เพราะไม่มีเวลาที่จะพูดโดยเฉพาะ

"ไม่ต้องเฉพาะ ฟาดเลย"

เราว่าอย่างนี้แหละ แกเห็นโทษของกิเลสจริงๆ เราไม่ตายให้กิเลสตายมีสองอย่าง ขั้นนี้ขั้นเห็นโทษของกิเลสเห็นเต็มหัวใจ เห็นคุณค่าของธรรมก็เห็นเต็มหัวใจ ทั้งสองอย่างนี้บรรจุเข้าสู่ใจแล้วเอาชีวิตเข้าแลกเลย ไม่มีความสะทกสะท้านกับเรื่องความตาย หมุนติ้วๆ

นี่ละคนหนึ่งจะไปได้ ไม่นานละ แน่แล้ว เป็นผู้หญิงนะ มีลูก 3 คน แกก็เคยส่งปัจจัยมาวัดนี้ประจำเดือน แกเล่าให้ฟัง คนฟังนี่ โห อ้าปากไม่งับแหละ ลืมตาหลับไม่ลง เพราะขึ้นตามหลักธรรมชาตินี่ หมุนติ้วๆ แกพูดเปรี้ยงๆ เอ้า เปิดๆ ให้หมด เราว่าอย่างนั้นนะ เราก็หิวอยากฟังนี่นะ มันมีแต่พูดคนเดียว เป็นบ้าอยู่ พูดตลอดเวลา เพราะไม่มีใครรู้ใครเห็นด้วย เหมือนบ้าพูดคนเดียว เดี๋ยวเขาจะหาว่าเราเป็นบ้า พอดีได้ผู้หญิงคนนี้มาเป็นแฟน

"เอ้า พูดๆ เลย เอาให้เต็มที่นะ"

เราอยากฟังเหลือเกินธรรมะประเภทนี้ พูดอย่างนี้แหละว่า

"ไม่เคยได้ฟัง เพิ่งจะมาได้ฟังนี่แหละ เอ้า เปิดเลย" พอแกเปิดแล้วตรงไหนเป็นจุดที่ควรจะแนะ ก็แนะแกๆ ไม่ใช่แนะธรรมดานะ ตีเปรี้ยงๆ ลงไปเลย

"เอาจุดนี้ๆ เอ้าๆ"

นี่ละจวนจะไป ไม่อยู่แล้ว เป็นธรรมชาติแล้ว เป็นอัตโนมัติแล้วหมุนเรื่อย จิตเข้าถึงขั้นนี้แล้วหมุนเรื่อย เห็นโทษของกิเลสเห็นจนจะสลบไสล กิเลสเป็นโทษแก่โลกขนาดไหน เวลาเข้าถึงตัวมันจริงๆ แล้วจนสลบไสล โทษของมันทำให้เจ็บให้แสบให้เข็ดให้หลาบให้กลัว จนไม่รู้จักเป็นจักตาย หลบกิเลสหนีกิเลส ตายก็ตาย ให้ได้พ้นจากกิเลสก็แล้วกัน ให้พ้นๆ มันก็บืนละซิ

พระพุทธเจ้าสอนเล่นเมื่อไร พวกเราไม่เห็นนั่นซี จึงได้ว่ากิเลสแหลมคมมากนาแกพูด แกก็เปิดเต็มที่เหมือนกัน แกพูดด้วยความตื่นเต้น และแกก็ไม่มีผู้ใดที่จะตอบรับแกอย่างนั้น เราก็ตอบรับเต็มภูมิเลย เพราะหิวกระหายอยากฟังมานาน

ธรรมะประเภทนี้มีแต่ประเภทความจำ จำได้ก็มาบ้าน้ำลายกันเหมือนนกขุนทองแก้วเจ้าขาๆ เรียนจบพระไตรปิฎก กิเลสตัวเดียวหนังไม่ถลอกเลย เห็นแต่อย่างนั้นเต็มบ้านเต็มเมือง

นี่แกเอาจริงเอาจังแน่แล้ว...คนนี้ไม่นานด้วยนะ เมื่อมีผู้แนะจุดสำคัญนี้แล้วมันจะพุ่ง ไม่ลูบไม่คลำเมื่อมีผู้แนะ ความที่ดำเนินมาแล้วก็ว่าถูกต้องแล้วก็หายห่วง จุดไหนที่กำลังดำเนินก็ชี้บอก ทางนี้ก็พุ่งๆ เลย

เป็นเรื่องอัศจรรย์เหมือนกันนะ คนไม่เคยกับศาสนา เวลามาปฏิบัติมันเป็นขึ้น นี่ละความรู้จากภาคปฏิบัติกระจายอย่างนี้เอง ความรู้ในหนังสือที่ท่านจดจารึกมาในตำรับตำราในพระไตรปิฎกพอประมาณเท่านั้นนะ ไม่ได้ซอกแซกซิกแซ็กกระจายไปทุกแห่งทุกหนเหมือนภาคปฏิบัติ...เรียกว่า ทั่วท้องฟ้ามหาสมุทรเลย..."

จากความเมตตาที่ท่านแสดงธรรมให้แก่ผู้ป่วยที่ต้องการการเยียวยาทางด้านจิตใจและเป็นธรรมโอสถ ให้รู้จักพิจารณาทุกขเวทนาที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้สามารถรวมเล่มอยู่ใน หนังสือ "ธรรมชุดเตรียมพร้อม" ซึ่งเนื้อหาเหมาะกับผู้ปฏิบัติธรรมจริงจัง ผู้ปฏิบัติสูงขึ้นๆ ผู้ต้องการต่อสู้กับทุกขเวทนาจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือผู้ต้องการฝึกจิตเพื่อเตรียมสู้และเตรียมรับมรณภัย


(มีต่อ 25)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 26 พ.ย.2006, 6:28 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ 17 ประสบการณ์จากพระธุดงค์

หลวงตาเล่าเรื่องจากประสบการณ์

หลังเสร็จสิ้นภัตตาหารเช้า หลวงตาจะแสดงธรรมหลายแบบหลายฉบับ ตามเหตุผลหรือเรื่องที่เข้ามาสัมผัส ผู้ฟังธรรมประจำวันส่วนใหญ่จะเป็นนักปฏิบัติธรรมหรือมาจากในเมือง การเทศนาของท่านจึงเป็นแบบกันเองระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ลูกหา จึงมีทั้งเรื่องจิตตภาวนาล้วน เรื่องจากประสบการณ์การปฏิบัติธรรมของท่านเองในช่วงชีวิตต่างๆ กัน หรือเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เป็นคติเตือนใจ

ชีวิตการออกธุดงคกรรมฐานของครูบาอาจารย์แต่ละองค์แต่ละท่านนั้น ทำให้ท่านได้มีโอกาสสัมผัสสัมพันธ์กับเรื่องต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องความอัศจรรย์ของจิต ทั้งเรื่องที่พบเห็นขณะท่องเที่ยวอยู่ในป่าเขาลำเนาไพร เรื่องสิงสาราสัตว์ชนิดต่างๆ เรื่องคนป่าคนเมืองหลากหลายท้องถิ่น ฯลฯ

ประสบการณ์หลายต่อหลายเรื่อง จึงเป็นสิ่งที่บรรดาเราๆ ท่านๆ อาจไม่รู้ไม่เห็นมาก่อนเลย เพราะไม่มีโอกาสที่จะใช้ชีวิตผจญภัยหรือโยกย้ายไปมาในถิ่นต่างๆ เหมือนกับท่าน และบ่อยครั้งเมื่อครูบาอาจารย์เหล่านี้ท่านมีโอกาสได้พบปะกัน เรื่องราวต่างๆ เหล่านั้น จึงถูกถ่ายทอดแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านก็เคยนำประสบการณ์หลายเรื่องที่ได้รู้ได้เห็นหรือได้ฟังมาเล่าถ่ายทอดแก่ลูกหลาน ซึ่งล้วนเป็นข้อคิดคติเตือนใจเป็นอย่างดี ดังได้คัดมาแสดงบ้างดังนี้

ท่านอาจารย์มั่นรู้วาระจิตหลวงปู่ฝั้น

ท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร แห่งวัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ศิษย์ท่านอาจารย์มั่นองค์สำคัญองค์หนึ่ง เคยเล่าให้หลวงตาฟังเมื่อหลายสิบปีก่อน ท่านจึงนำมาถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ลูกหาได้ฟัง ดังนี้

"...ท่านอาจารย์ฝั้นออกจากโคราชนี้ไปหาหลวงปู่มั่นที่เชียงใหม่ ท่านอาจารย์มั่นอุตส่าห์ออกมาต้อนรับเลยนะ เห็นไหมเก่งไหม ที่วัดเจดีย์หลวง ท่านรู้ภายในข้างในนี้ ท่านอุตส่าห์ออกมาเมื่อท่านอาจารย์ฝั้นไปถึงนั่น

วันหนึ่งหรือ...ตอนเช้าวันที่สองตอนสายๆ ท่านอาจารย์ฝั้นเห็นท่านอาจารย์มั่นมาหาหน้ากุฏินั้นเลย พอมองเห็นก็คิดอยู่ในใจ

"โอ๊ย ท่านอาจารย์มั่นนี่" จึงรีบโดดลงจากกุฏิเลย ท่านเดินกึ๊กกั๊ก กึ๊กกั๊กมา

"โอ้ครูอาจารย์มายังไง ? ยังไง ?"

"ก็มารับท่านนั่นแหละ"

นั่นเห็นไหม บอกว่า "มารับท่าน" แล้วก็พาไปเลยเชียว นั่นท่านทราบไว้แล้วเก่งไหม บอกว่า "ก็มารับท่านนั้นแหละ"

พอไปอยู่กับท่านอาจารย์มั่นแล้ว ท่านก็พูดถึงเรื่องสถานที่นั่นดีอย่างนั้น ที่นี่ดีอย่างนี้ ทางท่านอาจารย์ฝั้นก็เลยคิดอยากไปอยู่ที่นั่นที่นี่ แต่ในตอนนั้นท่านอาจารย์มั่นไม่เห็นอะไรสมควรยิ่งกว่าอยู่กับท่านในขณะนั้น สมกับเหตุผลที่ท่านมารับเอง

ตอนกลางคืน ท่านอาจารย์ฝั้นก็คิดถึงเรื่องที่จะไปที่นั่นที่นี่ พอโผล่ออกมา ท่านอาจารย์มั่นว่า

"ไหนจะไปไหน ?"

ว่าอย่างนั้นเลยนะ นั่นเห็นไหมล่ะ"จะไปไหนอีก ?"

เปิดประตูออกมาตอนเช้า ท่านอาจารย์ฝั้นตะคอยรับบริขารท่าน พอเปิดประตูออกมา

"หา ? จะไปที่ไหน ?" ว่าอย่างนั้นเลยนะ

"ที่นี่ดีกว่า" ทางอาจารย์ฝั้นนั้นก็ปิดปากเลย เงียบไป แต่ก็ไม่นานละ ก็คิดอีก ท่านอาจารย์ฝั้นเล่าเองแหละ คิดอีกว่าจะไปที่นั่น ท่านก็เอาอีก...

พอวันหนึ่ง จิตท่านลงอย่างนั้นแหละ จิตท่านอาจารย์ฝั้นนะ นั่งภาวนานี่ จิตลงอย่างอัศจรรย์เลยสว่างจ้าครอบโลกธาตุ ท่านว่าอย่างนั้นนะ

"พอมองไปหาท่านอาจารย์มั่นทีไร เห็นท่านนั่งจ้องดูเราอยู่อย่างนี้"

ท่านว่าอย่างงั้นนะ มองไปทีไร มองจิตส่งจิตไปทีไร ท่านนั่งจ้องเราอยู่แล้ว หมอบกลับมา พอตื่นเช้าขึ้นมาก็เปิดประตูเท่านั้นแหละ ประตูกระต๊อบนะ ไม่ใช่กุฏิอะไรใหญ่โตนะ กระต๊อบๆ ทั้งนั้น พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นอยู่ มีแต่กระต๊อบๆ ทั้งนั้นนะ หรูหราที่ไหน นั่นแหละสถานที่อยู่ของธรรม หรูหราไหมสถานที่อยู่ของธรรมดวงเลิศ ผู้เลิศมักจะอยู่อย่างนั้น และอยู่อย่างนั้น ทีนี้พอเปิดประตูออกมา ท่านอาจารย์ฝั้นก็ไปรอ เปิดประตูออกมานี่ ยืนกึ๊กเลยเชียวนะ

"เป็นยังไง ? เห็นหรือยังศาสนาทีนี้ ?"

เอาล่ะนะ แทนที่ท่านอาจารย์มั่นจะให้เข้าไปจับ ไปขนบริขาร (เพื่อเตรียมออกบิณฑบาต) ไม่ให้ไปนะ ท่านไปยืนกันอยู่ที่ประตูเลย ทางนั้นก็คุกเข่าหมอบนั่งอยู่

"เป็นยังไง ? เห็นหรือยังศาสนาทีนี้? หือ ? หือ ?" ขึ้นเลย

"ศาสนาอัศจรรย์ที่ไหน ? ศาสนาอยู่ที่ไหน ? มรรคผลนิพพานอยู่ที่ไหน ? เห็นหรือยัง ?" ว่าอย่างนั้นนะ ยืนจ้อซัดอยู่ที่นั่นเลย เสียงเปรี้ยง เปรี้ยง

"เจริญที่ไหน เห็นหรือยังทีนี้ ?"

คือกลางคืนนั้นจิตสว่างจ้านี่นา ก็ท่านอาจารย์มั่นดูอยู่แล้วนี่ พอออกมาท่านถึงใส่เปรี้ยงเลย

"เห็นหรือยัง ? ศาสนาเจริญที่ไหน ? หือ ? มรรคผลนิพพานเจริญที่ไหน ? ผมดูท่านทั้งคืนนะ เมื่อคืนนี้ ผมก็ไม่ได้นอน"

มันก็ยอมรับเลย พอท่านอาจารย์ฝั้นจ่อจิตไป ส่งจิตไปทีไร ท่านจ้องดูอยู่แล้ว มันก็หมอบ ถอย ถอย ดูทีไรจ่ออยู่

"ผมก็ไม่ได้นอนทั้งคืน เมื่อคืนนี้ ดูท่านนี่แหละ" ว่าอย่างนั้นนะ เพราะฉะนั้นถึงว่า ไหน...ศาสนาเจริญที่ไหน จ้อเข้าเลยสิ นั่นเห็นไหม ท่านมาเล่าให้ฟัง ท่านบอกโอ๊ย ขนลุกเลย ไม่ทราบมันเป็นยังไง ทั้งปีติยินดีในจิตอัศจรรย์ ปีติยินดีล้นพ้น และอัศจรรย์ท่านอาจารย์มั่นก็อัศจรรย์ล้นพ้น ท่านว่าอย่างนั้นนะ ชมความอัศจรรย์ทั้งวันทั้งคืนเลย นั่นแหละ ธรรมหาอย่างนั้นแหละ ธรรมอยู่ที่นี่แหละ ชี้เข้ามาที่ใจเท่านั้นรับธรรม ใจเท่านั้นรับมรรคผลนิพพาน สิ่งอื่นใดในโลก ไม่มีอะไรรับได้..."

Image
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

Image
ท่านพ่อลี ธัมมธโร แห่งวัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ


พลังจิต...ท่านพ่อลี

...ท่านเล่าถึงพลังจิตของท่านอาจารย์ลี แห่งวัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ ดังนี้

"...พูดถึงเรื่องจิต...อย่างสมัยปัจจุบันนี้นะ...คือทำไมถึงทราบกันได้ ก็ทราบในวงปฏิบัติด้วยกันนะสิ! พระกรรมฐานประสานกันอยู่ตลอดเวลา พวกเราฆราวาสไม่ค่อยทราบกัน...ภาคปฏิบัติทางด้านจิตตภาวนาองค์ไหนเป็นอย่างไรๆ ท่านจะทราบกันอยู่อย่างลึกลับอยู่ภายในของท่านนะ ในระหว่างพระกรรมฐานด้วยกัน แต่คนภายนอกนั้นไม่ทราบ เพราะท่านไม่พูด...

เวลาไปไหน พระกรรมฐานเป็นผู้มุ่งอรรถมุ่งธรรมจริงๆ เราจะไม่ทราบเลยเหมือนกับว่าผ้าขี้ริ้วห่อทอง ท่านไม่ได้มุ่งพูดอะไรต่ออะไร...นั่นละ ถ้าความเป็นธรรมจริงๆ แล้ว จะไม่มีโลกามินเข้าไปเคลือบไปแฝงเลย...แต่ในวงปฏิบัติดัวยกันแล้ว อย่างไรก็ปิดไม่อยู่ อะไรก็ต้องเปิดสู่กันฟัง เพื่อจะได้แก้ไขกัน มีอะไรๆ ขัดข้องตรงไหน พอองค์นั้นเล่าให้ฟังแล้ว ขัดข้องตรงไหน องค์นี้จะแก้ให้ทันที แก้ให้แล้วเปิดทางโล่ง...นั่น เรื่องของจิตเป็นอย่างนั้น

หลวงปู่มั่น นานๆ ท่านจะยกองค์นั้นมา ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านทั้งนั้นละ ทีนี้ยกมาคราวใดจะต้องมีจุดสำคัญๆ ที่ท่านจะนำออกมา อย่างท่านอาจารย์ลีนี้ท่านก็ว่า

"ท่านลีนี้นะ กำลังใจดีมาก"

ฟังสิกำลัง พลังของใจ นี่จะยกตัวอย่างให้ประกอบกับคำว่าพลังของธรรม ท่านอาจารย์เฟื่อง โชติโก เป็นคนเล่าให้ฟัง เราไม่ได้อยู่ที่นั่นด้วยละ ท่านอาจารย์ลีนั่งอยู่ ท่านอาจารย์เฟื่ององค์หนึ่ง และเด็กชื่อมนูญคนหนึ่ง อยู่นี่แล้วท่านก็นั่ง ตอนนั้นก็คุยธรรมะกันเล็กๆ น้อยๆ นะ

"เอ้อ เราจะพานั่งสมาธิ"

ท่านอาจารย์ลีว่าอย่างนั้น "เอ้า เข้าที่" (นั่งขัดสมาธิ) ท่านว่าอย่างนี้นะ ท่านอาจารย์เฟื่องเล่าให้ฟัง พอว่าอย่างนั้น องค์ท่านอาจารย์ลี ท่านไม่ได้นั่งหลับตานี่ ท่านไม่ได้นั่งเข้าที่ ท่านนั่งธรรมดา

"เอ้า นูญ ! เข้าที่"

พอนั่งปุ๊บปั๊บ เด็กเข้าที่นั่งสมาธิ ท่านคงเคยสอนมา ท่านอาจารย์เฟื่องนั่งอยู่ทางนี้

"เอ้า เราจะให้ตัวลอยนะ"

ท่านอาจารย์ลีกล่าว นี่ละ ที่ว่าพลังของจิต "เราจะให้ตัวลอยนะ" พอว่าอย่างนั้น

"เอ้า ขึ้น...ขึ้น..." แล้วดูมือท่านนะ ท่านอาจารย์เฟื่องดู ท่านว่า ท่านทำมือด้วย

"เอ้าๆ ขึ้น...ขึ้น...ขึ้น..."

ท่านอาจารย์ลีทำมืออย่างนี้ ขึ้นจริงๆ เด็กคนนั้นนะ ตัวลอยขึ้นๆ...ตัวสูงขนาดนี้...นี่ละพลังของจิตที่ท่านอาจารย์มั่นว่า

"พลังของจิตท่านลีนี่ดีมาก, ...ฟังสิ ! พลังของจิตดีมาก นี่ละ พลังเป็นอย่างนี้ แล้วพอเด็กนี้ลงแล้ว ทางท่านอาจารย์เฟื่องก็คิดมั่นใจว่า

"ยังไงท่านก็จะให้เราขึ้นคราวนี้ เราจะไม่ยอมขึ้น วันนี้ฝืนกัน"

แล้วก็จริงๆ สักเดี๋ยวท่านอาจารย์ลีก็ว่า "เอ้า เฟื่อง" ท่านอาจารย์เฟื่องปรารภในใจ "ว่าแล้ว" ทางท่านอาจารย์ลีนั้นว่า "เอ้าๆ ขึ้นๆ"

ท่านอาจารย์เฟื่องว่า

"มันจะขึ้นจริงๆ หว่า ! สู้ท่านไม่ได้ เราไม่ให้ขึ้นนะสิ แต่มัน...อันนี้มันโยกแล้ว มันแปลกๆ แล้ว" ท่านว่า

"เราก็สู้ๆ แต่สู้อย่างไรก็..."

อย่าให้พูดเถอะ (ขำ) ไอ้เรื่องแพ้อย่ามาพูดเลย คือเรื่องแพ้ท่านอาจารย์ลี ท่านอาจารย์เฟื่องว่า

"อีกนิดหนึ่งนะ...ลงเลยนั่น หัวคะมำ ถ้าสมมติว่าก้นเราไม่ขึ้น หัวเราต้องคะมำ"

ท่านว่าอย่างนั้น นั่นน่ะ เห็นไหมนั่น ไม่ใช่เล่นนะ พอเสร็จแล้ว แล้วท่านก็ยืนอยู่นะ พอเห็นทางนั้นขยุกขยิกๆ มันจะขึ้นแต่ไม่ขึ้นนี่นะ พอเสร็จแล้วท่านก็หยุด พอหยุดแล้วก็นั่งละ

"โอ๊ย ดื้อ" (หลวงตาพูดอย่างขบขัน) ท่านอาจารย์ลีพูดอย่างนี้ ท่านไม่พูดมาก "เฮ้ย ดื้อ" (ขำ) ผมยังไม่ลืมอยู่นะ ท่านอาจารย์เฟื่องว่า ท่านอาจารย์ลีมียิ้มอยู่บ้างนิดหนึ่ง

นี่ละ เรื่องพลังจิต อันนี้ก็จะเป็นไปได้บางราย...เพราะเป็นเรื่องภายนอก ใช้ภายนอกต่างหาก ตามแต่จริตนิสัยของใครที่จะใช้ในทางไหน ไม่ใช่หลักของศีล สมาธิ ปัญญา มรรคผลนิพพานจริงๆ อันนั้นเป็นหลักเพื่อจะละจะถอนกิเลส...

กำลังจิตอันนี้มันเป็นเครื่องใช้ แล้วแต่ใครจะมีนิสัยวาสนาหนักไปทางไหน เช่น เหาะเหินเดินฟ้าดำดินบินบน ที่ท่านแสดงไว้ในอภิญญา 6 หรือวิชชา 3..."

Image
พระอาจารย์เฟื่อง โชติโก


วิชาขี่เสือ

"...วิชาขี่เสือนี้เป็นวิชาไสยศาสตร์อันหนึ่ง เขาร่ายมนต์เรียกเสือมา เสือก็มาจริงๆ อย่างที่พวกเขาขี่เสือ มีนะ นี่ละ ไสยศาสตร์ขี่เสือได้นะ ขี่เสือป่า นี่ขี่เสือได้

ที่บ้านหนองแวงนี่ก็มีคนหนึ่ง เราเกิดไม่ทัน ผู้เฒ่าตายเสียก่อน เขาเรียก พรานป้อ คนเตี้ยๆ ขี่เสือมาเรื่อยๆ ไปในป่า พอไปเหนื่อยๆ แล้วขี่เสือออกมา เขามีวิชาจับเสือขี่ อันนี้ก็มีคนหนึ่งอยู่ทาง บ้านมาย อำเภอบ้านมายหรืออำเภอบ้านม่วง มีเสือ...ดงใหญ่ คนนี้ก็ขี่เสือได้ ไปเรียนวิชามาจากฝั่งลาว ไปเรียบกับพวกโซ่พวกข่าเขา เรียนวิชาขี่เสือ ว่าไปด้วยกัน 5 คน ครูนำหน้าไป พอไปตั้งทัพลงตรงนี้ปั๊บ แล้วก็นั่งร่ายมนต์เรียกเสือมา เสือตัวไหนอยู่ใกล้มันก็มา มาก็มานอนอยู่ตามนี้ เสือ เสือโคร่งนะ คนร่ายมนต์ ทีนี้เสือก็มา ลูกศิษย์นี้ต่างพากันกลัวจนตัวสั่นแหละ อาจารย์เป็นคนร่ายเสือมา

ทีนี้ พอมันมาแล้วก็สั่งคนนั้นไปขี่เสือมานี่ คือมันมานอนอยู่ตามอย่างนี้ ให้ขี่เสือตัวนั้นเข้ามาหาครูนี่ ครูนั่งอยู่นี่ ทดลองในขั้นนี้ก่อนนะ ทดลองเป็นขั้นๆ จนกระทั่งใจกล้าหาญเชื่อวิชาตัวแล้วทีนี้ก็ปล่อย อันนี้ก็สั่งคนนี้ให้ไปขี่เสือ ไม่ยอมไป กลัวเสือกินหัวมัน อาจารย์ไล่ไม่ยอมไป เสือก็นอนดารดาษอยู่ มันดงเสือนี่นะ ตัวไหนอยู่ใกล้ก็มาก่อน ตัวไหนอยู่ไกลก็มา บางทีจนคนจะเลิกแล้วค่อยมาถึงก็มี

ทีนี้ พอถึงคนที่ห้านี้ตัดสินใจเลยตามก็ตาย ถ้าครูไม่เก่งจริงจะเรียกเสือมาไม่ได้ เอากันตรงนั้นตัดสิน ถ้าครูไม่เก่งจริงแล้วเรียกเสือมาไม่ได้ ครูต้องเก่ง นี่ครูเป็นคนบอกเองให้เราไปขี่เสือมาหาครูนี้จะเป็นอะไรไป

"เอ้า ตายก็ยอมตาย"

ไป...ก้าวขาจะไม่ออก มันแข็งไปหมดว่างั้น เอ้าๆ ไปบังคับให้ไป ไปก็ไป ขี่เสือมาหาครู พอขี่เสือตัวนี้มาแล้ว ไปๆ ขี่เสือมาอีก ขี่เสือตัวนี้มานอนอยู่นี้ นอนอยู่หน้าคน นี่ละไสยศาสตร์เขาเก่งไหม ก็ขี่เสือตัวนั้นมา ขี่เสือตัวนี้มา กล้าหาญละ นี่เป็นครั้งหนึ่งแล้วนะ ทดลองพักแรก พักที่สอง ครูนั่งอยู่ที่นี่ ให้ลูกศิษย์ไปนั่งอยู่โน้น ห่างๆ จากครูไป ให้ลูกศิษย์เป็นคนร่ายมนต์เรียกเสือมา มาหาแล้วก็ขี่เสือมาหาครู เขาทำหลายพักนะเขาทดลอง คือทีแรกเรียกมาหาครูเสียก่อน ให้ลูกศิษย์คนนี้ไปขี่เสือเข้ามาหาครู ไปขี่เสือตัวนั้นเข้ามา จากนั้นแล้วก็ให้ลูกศิษย์นี่ไปอยู่นอกๆ โน้นไกลๆ แล้วก็ไปร่ายมนต์เรียกเสือมา แล้วขี่เสือมาหาครู ทีนี้พอชำนาญแล้ว ถามลูกศิษย์ว่าแน่ใจแล้ว ไม่กลัวแล้ว ก็ปล่อยละ

อีตาคนนี้แกขี่เสือ คนบ้านมาย นี่เขาเห็นกันหมดทั้งบ้านปฏิเสธได้ยังไง ทีนี้จึงรู้ว่าเสือสติมันดี รู้กันตามนี้ ว่างั้น แกขี่เสือไปนี้ไปตามด่านในดง คนมาทางโน้น เสือมันดิ้นแล้วทางนี้ คนมาไม่ใช่คนธรรมดา คนธรรมดาก็เป็นอย่างหนึ่ง พูดกันจอแจมา แต่นายพรานมานั่นซิ นายพรานเขาไม่ได้จอแจนี่ เขามาจ้อเลยหายิงเนื้อล่าเนื้อนายพรานก็รู้ พอนายพรานมาข้างหน้าโน้น ทางนี้ดิ้นแล้วจะออกจากทาง พอเห็นท่าไม่ดีก็ปล่อย ปล่อยก็วิ่งเลยเข้าป่าปั๊บ สักเดี๋ยวนายพรานก็มา

คือสติมันดีอย่างนั้นนะว่างั้น รู้ได้เร็วมาก ไอ้ที่จะไปเจอกันจริงๆ ไม่ได้เจอง่ายๆ แหละ มันดุกดิกๆ แล้ว พอจวนเท่าไร มันดิ้นจะไป พอปล่อยปั๊บนี้วิ่งเลยเข้าป่า สักเดี๋ยวนายพรานก็มา บางทีเวลานอนกลางคืนเหมือนกับว่าเอาเสือเป็นหมา เจ้าของนอนอยู่กลางคืน พอตื่นขึ้นมานี้เสือมานอนอยู่ด้วยแล้ว มานอนอยู่กับคน มันไม่กลัวคน เพราะเป็นครูเขานี่ครูเสือ นี่ละเรียกไสยศาสตร์...

...คนนี้ก็ขี่เสือเก่ง คนนี้ก็เหมือนกันขี่เสือ อยู่บ้านแวง บ้านธรรมลี อยู่นี่แหละผาแดง เขาเรียก พรานป้อ คนเตี้ยๆ ขี่เสือมาเรื่อย คนเจอเรื่อย ครูเขามีนะ ถ้าผู้ขี่เสือไปไม่ให้เจอคน ถ้าเจอคน เสือมันจะตะปบเจ้าของ โฮก ทีเดียวตะปบเจ้าของแล้ววิ่งหนีเลย เจ็บ เสือมันตะปบเจ็บ เลยต้องไปลับๆ เงียบๆ

พอจะมีคนต้องปล่อยเสือไป เสือมันบอกก่อนแหละ เสือสติมันดีมันบอกก่อนเลย ที่จะไปเจอคนธรรมดานี้ไม่เคยมี แม้นายพรานก็ตาม เขาไปอย่างด้อมๆ มองๆ นายพรานเขาไปนี้เขาไปด้อมๆ มองๆ หายิงสัตว์ แม้อย่างนั้นเสือมันก็รู้จนได้ หากมันทำท่าดิ้นไปดิ้นมา แสดงว่านี่มีคนมาแล้วข้างหน้า พอปล่อยนี้มันจะวิ่งเข้าป่าปั๊บสักเดี๋ยวก็เจอคนมา นี่เขาเรียกไสยศาสตร์

เพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่ทั่วโลกดินแดน ใครเสาะแสวงหายังไงก็เจออย่างนั้น เพราะของมีอยู่ด้วยกัน พวกผีพวกอะไรๆ จิตวิญญาณอะไรมันเข้าสิง

วิชานี่มีวิญญาณอยู่ในนั้นในหลักวิชาอย่างพวกที่เขาทำคนก็เหมือนกันนั่นแหละ พวกนี้ทางเขมรมีมากนะ เขมรมีมากวิชาอย่างนี้ พวกโซ่พวกเข่ามีมาก อยู่ฝั่งลาวไปทางโน้น

แต่ก่อนเขาใช้วิชาอันนี้ทำคนให้ตายก็ได้ ทำคนให้รักกันเขาเรียกทำเสน่ห์อะไรอย่างนั้นก็ได้ ทำคนให้ตายเลยก็ได้ ทำได้ทุกแบบวิชาพวกนี้ นี่เขาเรียกไสยศาสตร์ ถ้ามีผู้เรียนผู้รักษาอยู่ สิ่งเหล่านี้ก็มีก็ปรากฏอยู่ ถ้าไม่มีผู้เรียนไม่มีผู้รักษา มีก็เหมือนไม่มีเพราะใครไม่ได้สัมผัสมัน ถ้ามีวิชา วิชานั่นแหละไปเกี่ยวโยงกันกับสิ่งเหล่านี้มาอยู่บเจ้าของ..."

พระป่าผจญผีสาว

ท่านเล่าถึงความกล้าหาญของพระป่าองค์หนึ่งให้พระเณรฟัง ดังนี้

"...เขาถือเป็นอย่างยิ่งไม่ว่าภาคไหนในเมืองไทยเรานี้ เมื่อคนตายแล้วต้องเกี่ยวกับพระ พูดถึงเรื่องนี้ก็ทำให้ระลึกถึงพระองค์ที่ว่ากล้าหาญเต็มที่ ขี้ขลาดเต็มตัวจนจะตาย ท่านไปภาวนาอยู่ในถ้ำ อดอาหาร เที่ยวไปนั่งอยู่ตามทางเสือ ทางอะไรนั่นแหละ น่าเสียดายนะ พระองค์นี้ ถ้าหากว่าจิตใจได้เหนี่ยวรั้งครูอาจารย์ไว้เป็นหลักเป็นเกณฑ์จริงๆ ก็จะไม่เสีย นี้สึกไปแล้ว ทราบว่าสึก แต่ผมไม่เห็น ได้ทราบว่าสึก

แต่ก่อนแกเคยเป็นนักเลง จิตใจ อู๋ย ! เด็ดมาก สมเป็นนักเลง ว่าไป...ไป ว่าอยู่...อยู่ จริงจังมากทีเดียว ตอนแกปฏิบัติตัวเอง แกก็จริงจัง กลัวผีนี้เป็นเบอร์หนึ่ง เวลาจะแก้ แก้จนกระทั่งกล้าหาญเบอร์หนึ่งเหมือนกันในตัวเอง ไม่มีสะทกสะท้านเลยเรื่องผี ไปที่ไหนอยู่ได้หมด เพราะการแก้ได้ ไม่ใช่มันหายไปเฉยๆ หายด้วยอุบายวิธีแก้ด้วยธรรม มีความรู้แปลกๆ เหมือนกันพระองค์นี้ เวลานั่งภาวนา กลางคืนเขาตายในบ้าน ท่านก็รู้แล้ว

"เอ้อ ! วันพรุ่งนี้จะมายุ่งเราอีกแล้ว นี่คนตายแล้วในบ้าน"

นั่นท่านรู้นะ แล้วก็มีจริงๆ แถวนั้นก็ไม่มีพระ สถานที่อยู่ ถ้ำกับป่าช้าห่างกันเท่าไร กี่กิโล ตั้งห้าหกกิโล ลงไป ข้าวก็ไม่ได้กิน แทบล้มแทบตาย เมื่อยล้าก็ต้องได้ไป นี่แหละเรียกว่ามันแยกกันไม่ออก อย่างนี้ คนตายรายใดเป็นรู้ แปลกอยู่นะพระองค์นี้ ท่านบอกนะ มันรู้ และแน่นอนด้วย ถ้าสมมติว่าเป็นแบบโลก ก็ว่าพนันกันได้เลย บ้านนี้เขาตายแล้วคืนนี้เขาจะมานิมนต์เราแล้ว บางทีก็มีเทพ พวกเทพมานะ ท่านก็พูดถึงเรื่องเทพดีเหมือนกัน เทวดาที่อาศัยอยู่ตามถ้ำ ไม่ใช่เป็นรุกขเทวดา รักษาดินว่างั้น อันนี้แกไม่มีเรียนมากนะ มันเป็นขึ้นตามนิสัย

อย่างนี้แหละจิตเมื่อมีความสงบเข้าไปแล้ว ไอ้เรื่องนิมิตต่างๆ ที่จะมาปรากฏตามจริตนิสัยหรือไม่ปรากฏนั้นก็เป็นตามจริตนิสัยด้วยกัน ไม่ต้องเรียน อันนี้เป็นขึ้นมาเอง เมื่อเป็นขึ้นมาแล้วนั้นแหละ ต้องเรียนวิธีการปฏิบัติต่อสิ่งนั้นให้ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นผิดได้ เพราะอันนี้ไม่ใช่ของดีโดยถ่ายเดียว ถ้าหากเราได้รู้วิธีปฏิบัติกันโดยถูกต้องแล้ว ก็เป็นเครื่องมือได้ดี อันนี้พวกนักปฏิบัติรู้แปลกๆ ต่างๆ

สมัยที่ปฏิบัติอยู่ด้วยกันนี้ก็เคยเล่าสู่กันฟังสนุกสนานดีเหมือนกัน ที่เราเขียนในหนังสือปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐานสายท่านอาจารย์มั่นหรืออะไรนั้น มีแต่ความจริงทั้งนั้นนะ เช่น บางอค์อย่างนี้ เขียนเรื่องราวขององค์ไหนออกมา หากแต่เราไม่ระบุเท่านั้นแหละ เอาเรื่องของท่านองค์นั้นๆ ออกมาเลย เป็นความจริงๆ เป็นบางรายก็ไปอยู่ ความรู้รู้เหมือนกัน นี่ก็ค้านกันไม่ได้เอ้า องค์หนึ่งไปอยู่ถ้ำนั้น...เอ้า องค์หนึ่งไปอยู่ถ้ำนั้น ได้ 3 คืน เผ่นมาแล้ว มาหากัน

"โอ๊ย อยู่ไม่ได้ ไม่ทราบเป็นยังไง มันผีหรืออะไรก็ไม่รู้แหละ ผีกาม มาลาก มันเอาศีรษะห้อยลงเพดานถ้ำนี่ มันหย่อนลงมานี้ ต้องขออภัยนะ มันเอานมมาใส่ตัวเรา เอาหัวหย่อนมานี่...แผ่กุศลธรรมอะไร มันก็ไม่ยอมรับ ว่างั้น เจริญเมตตามันไม่รับ มันจะรับแต่กามกิเลส อยู่นี่ 3 คืนไม่ได้หลับได้นอนเลย มันมาแสดงอยู่อย่างนั้น ก็เลยลงไป ไปหาเพื่อนอีก ก็เล่าเรื่องให้ฟัง"

"เอ้า ถ้างั้นอยู่ถ้ำนี้ ผมไปเองนะ"

พระองค์นั้นก็รู้เหมือนกัน มีความรู้ทางนี้เหมือนกัน ไปอยู่นั่นก็เหมือนกัน ได้ 2 คืน เผ่นมาเลย

"โอ๊ย ! จริงๆ เอ๊ มันเทวดาอะไร ? พวกนี้มันผีอะไร ? ทำไมมันกรรมหนักกรรมหนาเอานักหนานะ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น มีแต่จะเอาท่าเดียว เรื่องกิเลสกับเรื่องกาม กามราคะ ทำอะไรก็ไม่ยอมรับ เรียกว่าพวกนี้พวกหนาแบบบอกบุญไม่รับ"

ไม่ค้านกันนะ รู้จริงๆ ทำแบบเดียวกันแหละว่างั้น ทีแรกองค์นี้เล่าให้ฟังก่อน

"เอ้า ผมลองดูหน่อย มันเป็นยังไงว่ะ"

เป็นที่รู้กัน พอไปเข้าก็ โอ๊ย ยอมรับอย่างนั้นละ ถ้ามันเห็นเหมือนกัน รู้เหมือนกันค้านกันได้ยังไง เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เป็นสัญญาอารมณ์ ปุ๊บปั๊บท่านเคยรู้เคยเห็นมาแล้ว เคยเป็นมาแล้วนี่ เข้าใจแล้ว เข้าใจวิธีปฏิบัติ

สัญญาอารมณ์ไปหลอกเจ้าของก็มีเช่น บอกไปอย่างนั้น แล้วไปเป็นสัญญาอารมณ์ขึ้นมาก็มี แต่นี้เป็นผู้มีพื้นเพทางนี้อยู่แล้วด้วยกัน เข้าใจด้วยกัน เคยพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้เกี่ยวกับเรื่องภูตผีปีศาจอะไรต่ออะไรให้กันฟังจนเคยชิน หรือเป็นที่แน่ใจต่อกันและกันแล้ว เหมือนอย่างว่า

"มีอะไรอยู่นั้นน่ะผมถึงได้มาที่นี่"

"เอาเถอะ ท่านไปดูซิ"

"โอ้ ใช่"

แน่ะ ตาเรามีเราก็มองเห็น "อ๋อ ใช่" แน่ะ เป็นอย่างนั้นจะว่าไง หูเรามีก็ได้ยิน ภายในมันก็เป็นเหมือนกัน..."


(มีต่อ 26)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 26 พ.ย.2006, 6:30 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

พญานาค

ท่านอาจารย์สิงห์ทองเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์มั่น ต่อมาจึงได้มาอยู่ศึกษาอบรมกับหลวงตา ท่านมีนิสัยกล้าหาญ ไม่กลัวอะไรง่ายๆ แต่คราวนี้ท่านไปพบเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัวอย่างหนึ่งเข้า ท่านจึงบอกท้าพวกที่ไม่เชื่อว่าผีมีจริงให้ไปลองพิสูจน์ดู หลวงตาเล่าเรื่องนี้ไว้ว่า

"...แล้วท่านสิงห์ทอง ยังอยากจะให้พวกนักวิทยาศาสตร์เก่งๆ ว่าไม่มีผีไม่มีอะไรให้ไปอยู่ภูเขาลูกนั้น ภูเขาลูกนั้นเราก็เดินผ่านไปผ่านมาอยู่ มันเป็นตีนเขา ข้างบนมีถ้ำอยู่ 2 ถ้ำ มีหลวงตาองค์หนึ่งอยู่ทางนั้นถ้ำหนึ่ง แล้วเป็นซอกเขาลงมาน้ำไหลลงมาตรงนี้แล้วมีอีกถ้ำหนึ่ง ครั้นเวลามีพระมาใหม่มาเยี่ยมมาพักอยู่ถ้ำนี้ ผีนั้นก็ลงมาจากโน้นนะ จากภูเขา

บนหลังเขานั้นมีแอ่งน้ำอยู่ ไหลอยู่ทั้งแล้งทั้งฝน หากไม่มากนะ หากไหลอยู่...ทั้งแล้งทั้งฝน เขาเขียนประกาศติดไว้ว่าไม่ให้ผู้หญิงลงอาบน้ำนั้น ถ้าผู้หญิงลงอาบน้ำนั้น จะเหม็นคลุ้งไปหมดเลย เขาห้าม เขาเขียนประกาศติดเอาไว้ ถ้าต้องการก็ให้ตักเอามาดื่มมากินมาอาบ ห้ามไม่ให้ลงไปอาบนั่นละ เป็นความจริงถึงขนาดนั้นละ น้ำเป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าผู้หญิงลงไปอาบ น้ำนี้เหม็นคลุ้งไปหมดเลย

มีพญานาคอยู่ที่นั่น...หลวงตาองค์นั้นท่านอยู่นั้นเป็นประจำ ท่านชินกับสัตว์ตัวนี้พอแล้ว มันลงมาจากภูเขาเหมือนกับเรา ลากต้นตาลทั้งต้น เอาต้นตาลทั้งต้นลากลงมา เสียงซ่าๆ ลงมา มันค่อยลงนะ ซ่าๆ ลงมาซอกเขานี่ หลวงตาองค์นั้นอยู่ทางด้านนั้น ท่านอยู่ถ้ำนั้นเป็นประจำ แล้วถ้ำนี้คนมาพักบ่อยๆ พระน่ะ

ถ้าใครมาพัก พระมาใหม่ไม่ว่าพระองค์ไหนมาจากไหนก็ตามเถอะ ตัวนี้เขาจะลงมาถามข่าว ทีนี้หลวงตาก็เลยสั่งบอกไว้กลัวว่าพระจะกลัว คือกลัวว่าท่านสิงห์ทองจะกลัว ท่านสิงห์ทองเป็นพระขี้ดื้อ นิสัยกล้าหาญขี้ดื้อ จึงได้หมอบราบกับผีนั้นละซี พูดท้าทายเลยเทียวนะ ใครเก่งว่าผีไม่มีแล้วให้มาตรงนี้ ถ้าไม่อยากเผ่นกลางคืน ทีนี้พอมาถึง ผู้เฒ่าก็บอก

"คุณหลานเอ๊ย พี่น้องจะลงมาเยี่ยมนะตอนค่ำวันนี้ เพราะคุณหลานมาใหม่เป็นพระอาคันตุกะ เป็นแขกมาเยี่ยม แล้วไอ้ตัวอยู่ข้างบนเขามันจะลงมาถามข่าวถามคราว ไม่ต้องกลัวนะ เขาจะลงมาธรรมดา

แต่เวลาเขาลงมาก็เหมือนลากต้นตาลทั้งต้น ลากลงมาซ่าๆ เวลาเขาขึ้นก็ซ่าๆ ลงไปตีนเขาแล้วหายเงียบนะ พอไปแค่นั้นเงียบ เวลาขึ้นมาก็ซ่าๆ เวลาขึ้นมาไม่ทำก็มี แล้วแต่เขาจะทำ เขาจะทำแบบไหน เขาทำได้"

พอดีท่านสิงห์ทองมาเหนื่อยๆ เดินทางมาไม่มีรถยนต์ พอมาถึงที่นั่นก็เข้าพัก ผู้เฒ่าก็สั่งเสียไว้เรียบร้อยกลัวผีนั้นละ ทางนี้เข้าใจแล้วก็นอนประมาณ 3 ทุ่ม

คนจะตายเดินทางทั้งวันเหนื่อยมากเลยนอนเสียก่อน ถึงจะลุกขึ้นเดินจงกรม พอนอนหลับไป เสียงฮ่อๆ อยู่หัวเตียง งูเหมือนงูใหญ่เรานี่ขนาดเท่าตัวเสานี่แหละ เสียงมันฮ่อๆ อยู่บนหัวเรานี่ ทางท่านสิงห์ทองนั้นก็เรียก

"หลวงพ่อๆ"

"แม่นหยัง"

"มันเสียงงูใหญ่มาอยู่นี่แล้ว"

"มันบ่แม่น เสียงที่บอกนั่นละอย่าไปกลัว"

"บ่กลัวยังไง มันจะงับผมอยู่เดี๋ยวนี้" เสียงดังฮ่อๆ น่ะซิ

"มันจะงับผมอยู่เดี๋ยวนี้ มันจะกลืนผม"

"ไม่กลืนไม่ต้องกลัว มันเคยอย่างนั้นละ จะเป็นไรไป เชื่อหลวงพ่อเถอะ เพราะหลวงพ่อเคยอยู่นั้นมานานแล้วนี่นะ"

"จะเชื่อได้ยังไง มันจะกินคนนี่"

เลยเรียกให้พระมาด้วยองค์หนึ่ง นอนอยู่ทางโน้น ถ้ำมันยาวนอนอยู่ทางโน้น เรียกพระองค์นั้นให้จุดไฟใส่โคมมา แขวนมาแล้วเอาไม้ยาวๆ มา จะหิ้วมานี้ไม่ได้เดี๋ยวจะมาเหยียบงู เอาไม้ยาวๆ แล้วเอาโคมไฟห้อยมาถือมายาวๆ คนไปเรื่อยฉายไปเรื่อย พอคนมาถึงเตียง มันก็หายเสียง เงียบเลยเสียงฮ่าๆ ไม่ได้ยินอะไร หายเงียบ คนจึงกลับไป พอกลับไปสักเดี๋บวขึ้น มีเสียงขึ้นอีกแล้ว

"...มาอีกแล้ว..."

คนนั้นเลยจุดไฟมาหางูทั้งคืน จุดไฟมาแบบนั้นละ กลัวจะมาโดนงูเข้า เพราะเสียงใหญ่เสียงโตมากนี่นะ พอมาก็ไม่เห็นผีอะไร อยู่ได้คืนเดียวเท่านั้นละท่านสิงห์ทอง

"ทำไมล่ะ ?"

"กลัวละซิ ยอมรับว่ากลัว กลัวจริงๆ โห เหมือนมันจะกลืนเราทั้งคนนี่นะ ตัวมันจะขนาดเท่าลำตาล"

งูตัวนี้ พญานาค พอตื่นขึ้นมาไปลาหลวงตา

"ว่าอย่างไรล่ะลูก ?"

"โอ๊ย กลัวงูอยู่ไม่ได้แล้ว"

"ไปกลัวมันทำไม ? หลวงพ่ออยู่นี้มานานแสนนานรู้เรื่องของมันหมด ไม่มีอะไรแหละ อย่าไปกลัวเลย"

"โอ๊ย กลัวๆ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว"

ใครเก่งว่าผีไม่มีให้มา ถ้าไม่อยากเผ่นกลางคืน เอาจริงๆ นี่ นั่นละ เสียงมันเป็นอย่างนั้นเวลามันแสดง...พญานาค มาเล่าให้อาจารย์หมออวยฟัง โอ๊ย ตั้งใจฟัง สนใจฟังอยากจะไปด้วยนะ อยากจะไปดูสภาพเป็นยังไง อยากไปดูเป็นกำลัง แต่ไม่มีเวลาพอที่จะไปดูได้ ไปดูถึงที่เลย ไปดูเหตุการณ์จริงๆ เป็นยังไง ไปดูก็เห็นจริงๆ นั่นแล้ว เพราะเป็นอย่างนั้นมาเป็นประจำ ว่าขอแต่แขกคนมาที่นั่น พอตกกลางคืนเขาจะลงมา เขาก็ไม่ทำไมละ ลงมาถามข่าวธรรมดา

แต่เสียงมัน...ทำได้แปลกๆ นะ แบบงูก็ได้ แบบเสือก็ได้ แบบไหนได้หมด ไม่ใช่มีแบบเดียว ที่มันน่ากลัวคือมันหลายแบบนั่นเอง บางทีเหมือนเสือ เห่อๆ ใกล้ๆ ข้างถ้ำ "เสือมายังไง" ว่าอีกละ"มันไม่ใช่เสืออันนั้นละ" ว่าอันนั้นก็เข้าใจกัน

อาจารย์หมออวยอยากไปเป็นกำลังโฮ้ ซักท่านสิงห์ทองใหญ่เลยเทียวนะ ท่านสิงห์ทองเล่าให้ฟัง ทีนี้ท่านสิงห์ทองก็เป็นพระกล้าหาญด้วยไม่ใช่เป็นพระออดแอด พระโกโรโกโสนะ ท่านพูดมันน่าฟัง เราเองก็เชื่อ เพราะเราชื่ออยู่ก่อนนั้นแล้วเรื่องเหล่านี้

"โห มันน่ากลัวจริงๆ นะ" ท่านว่า

"ตัวมันขนาดเท่าลำตาลแล้วมันขู่ฟ่อๆ อยู่บนหัวเราใกล้ๆ ฝ่ามือเดียวเท่านั้น มันเหมือนจะกลืนเอาเลย เสียงฮ่อๆ แต่มองหาตัวไม่เห็น ครั้นเวลาจุดไฟมาหาไม่เห็น ไปไหนก็ไม่รู้ พอดับไฟสักเดี๋ยวขึ้นอีกแล้ว"

เขาเรียกภูทอก เราเคยผ่านไปผ่านมา เราเที่ยวกรรมฐาน แต่ไม่เคยขึ้นพักถ้ำที่ว่า...

Image
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม


เสือกลัวหลวงปู่ตื้อ

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์มั่นองค์หนึ่ง มีจิตใจกล้าหาญชาญชัยมาก ท่านมีอายุพรรษามากกว่าหลวงตา ในเรื่องที่ว่าเสือเกรงกลัวท่านนั้น หลวงตาเล่าถึงที่มา ดังนี้

"...อย่างหลวงปู่ตื้อ ดังที่ผู้เฒ่าเล่าให้ฟัง คือคาถาของผู้เฒ่าเป็นคาถาที่ทำให้เสือใจอ่อน กลัว ใจไม่มีกำลังจะต่อสู้ คาถามันครอบเอา อำนาจของคาถาครอบเอาไว้ เสือใจอ่อนลงไปเลย ทำอะไรไม่ได้ ท่านมีคาถาขู่เสือ เป็นครูเสือก็ได้ ขู่เสือก็ได้...หากครูแบบหนึ่งเป็นครูแบบพระ ไม่ได้ขี่เสือ

หลวงปู่ตื้อ บ้านข่า สามผง เราเคยไปพักอยู่เหมือนกัน แต่ก่อนไปภาวนา เสือชุมมากแถวนั้น หลวงปู่ตื้อท่านมีคาถาเป็นครูเสือ ไปอยู่ไหน เสือมักมานอนเฝ้าอยู่รอบๆ ข้างๆ ที่พักท่าน ท่านไปอยู่แม่ฮ่องสอนไปอยู่ในป่า เสือก็มาอยู่ด้วย เสือโคร่งใหญ่นะ มันมาแอบอยู่ด้วย

ผู้เฒ่าไม่ได้สนใจกลัวมันแหละ เพราะเป็นครูมัน คนอื่นนั่นซิ พระไปอยู่ด้วย พอดีกลางคืนพระปวดเบาจะออกมาเบา ออกมาเสือมันนอนอยู่ข้างๆ เสือฮ่าๆ ใส่ เสียงร้องจ้าวิ่ง

"มันไม่มีอะไร มันจะเป็นอะไร มันไม่เป็นไรแหละ" หลวงปู่ตื้อบอก

"ไม่เป็นไร มันตื่น บางทีมันอาจทักทายเฉยๆ ก็ได้"

ท่านว่าอย่างนั้น มันโฮกๆ ใส่ท่าน พระก็โดดเข้ากุฏิ กุฏิพังกระมัง พระองค์นั้นมาอยู่ได้คืนเดียว วันหลังเผ่นเลย กลัวเสือ

"ไม่เป็นไรแหละ อยู่จะเป็นไรไป มันก็อยู่กับคน ดีแล้วนี่" ท่านว่างั้นนะ

มันอยู่แอบๆ อยู่นี้ ไม่ออกมาหา คนแหละ บางทีก็เห็นตัว บางทีไม่เห็น มันอยู่ในป่า คนอยู่อย่างนี้ แต่ถ้ามีคนแปลกหน้ามามันคำรามนะ ท่านว่า ให้มันทำมันไม่ทำแหละ เพราะมันเป็นหมาของพระว่างั้นเถอะ รักษาเจ้าของ ใครมาแปลกๆ หน้า นี่ไม่ได้ มันขู่คำราม ว่างั้น

"...อย่าไปขู่เขานะ..."

พอท่านว่ายังงั้น มันก็เงียบเลย เวลาท่านไปไหนมาไหน เสือมักจะตามไปรักษาท่าน รักษาเงียบๆ นะ มันอยู่ในป่าแหละเสือ ท่านไปพักภาวนานี่ เสือมักจะมาอยู่ข้างๆ ถ้ามีคนแปลกหน้ามา เราถึงจะรู้ว่ามีเสือนะ ถ้าไม่มีคนแปลกหน้ามาก็เหมือนไม่มีเสือ มันไม่แสดงตัว มันอยู่รอบๆ ข้างๆ ถ้ามีคนแปลกหน้ามา พระแปลกหน้ามา มันคำรามใส่ บางทีขู่ คำรามเฮ่อๆ ใส่ พระเลยตกใจร้อง "เสือๆ"

หลวงปู่ตื้อบอกไปว่า

"โอ๊ย ไม่เป็นไรแหละ มันรักษาพระ มันอยู่นี้เป็นประจำ ไม่เป็นไรไม่ต้องกลัวมัน"

นี่หลวงปู่ตื้อเป็นอย่างนั้นนะ ท่านว่า ข้ามไปเที่ยวตั้ง 5 อำเภอ มันยังตามไปนะ เสือตัวนี้ อันนี้เรายังไม่เล่าให้ฟังถึงเรื่องเจ้าคณะอำเภอเขาจะมาขับไล่ท่าน อันนี้ขบขันดีนะ

ตอนกลางคืน แต่ก่อนไม่มีไฟฟ้า มีแต่ตะเกียงเจ้าพายุ เจ้าคณะอำเภอเห็นท่านไปอยู่ในป่าจะมาขับไล่ท่าน จุดตะเกียงเจ้าพายุ หิ้วมากลางคืน จะมาขับไล่ท่าน พอมาถึงวัด เสือตัวนั้นออกมาคำรามใหญ่เลย เฮ่อๆ ทางนี้เปิดเลย ตะเกียงเจ้าพายุคงจะตกฟากแม่น้ำโขงไปใหญ่เลย

ตกลงเสือขับเสียก่อน พระนั้นยังไม่ได้มาขับหลวงปู่ตื้อแหละ ถูกเสือขับเสียก่อนแล้ว เผ่นใหญ่เลย ไปใหญ่เลย แตกทั้งญาติทั้งโยมทั้งพระ แตกไปด้วยกัน ฮือๆ เลย เสือมันคำรามใส่ มันยังไม่ทำอะไรแหละ มันก็เหมือนกับหมามีเจ้าของ ก็คาถาท่านครอบไว้นี่ มันกลัว ใจมันลง มันไม่ถือเป็นข้าศึก ถือเป็นเหมือนเจ้าของ...

เณรระลึกชาติ

"...ท่านกล่าวไว้ในมหาวิบาก นรกมีถึง 25 หลุม ตั้งแต่ใหญ่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ นี่นรกเมืองผีมีถึง 25 หลุม แล้วจากนั้นก็มาปลีกย่อย ถ้าไปลงนรกอเวจีแล้วกี่กัปกี่กัลป์ก็ไม่ได้พ้นแหละ จมอยู่นั้น ถึงจะปรากฏอนิจจังก็กี่กัปกี่กัลป์ถึงจะเปลี่ยนมา

กรรมของสัตว์ประเภทนี้ พวกฆ่าพ่อฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำลายพระพุทธเจ้า ยุยงให้สงฆ์แตกจากัน 5 ประการ ท่านเรียกอนันตริยกรรม แปลว่ากรรมนี้หนักมาก แล้วพวกนี้แหละพวกลงไปนั่น นี่มีนิทานสดๆ ร้อนๆ อันหนึ่งที่จะนำมาพูดให้พี่น้องทั้งหลายฟัง เราเป็นคนซักด้วยปากของเราเองอันนี้ คือเอากันต่อหน้าเลย ซักเลย

มีเณรองค์หนึ่ง อยู่บ้านน้ำก่ำ อำเภอพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม เณรนี้ระลึกชาติได้ ระลึกชาติถอยหลังได้ ชาติเจ้าของนั่นเอง แต่ก่อนเขาชื่อว่าบัวเหมือนกับชื่อหลวงตาบัวนี่แหละ เขาอยู่บ้านโคกเลาะ ชื่อเขาพูดถูกหมดนะ เหตุที่จะมีการยืนยันรับรองกันคืออาจารย์ของเขาเอง เราพบกับเณรนี่แล้วก็ไปพบกับอาจารย์ ชื่ออาจารย์ทอง อาจารย์ของพระบัวนี่

พระบัวนี่เป็นหนุ่มแล้วไปฟังเทศน์แล้วเกิดความเลื่อมใส ท่านอาจารย์ของท่านไปทางเมืองอุบล ไปโน้น แนะนำสั่งสอนประชาชน เขาเกิดความเคารพเลื่อมใส นายบัวนี่ก็มาขอบวชกับท่าน บวชแล้วก็ติดสอยห้อยตามท่านมา มาอยู่บ้านสามผง พอดีมาเป็นไข้ป่าที่สามผงตาย ปีนั้นพระตาย 3 องค์ นี่ท่านอาจารย์ทองท่านเล่าเอง ปีที่ตาย 3 องค์นี่นะ แต่พระบัวนั้นบอกแต่ว่า มาตายที่บ้านสามผงเท่านั้น ไม่ได้บอกว่าตายเท่านั้นองค์เท่านี้องค์

พอตายแล้ว นี่เราสรุปเอาเลย แบกกลดสะพายบาตรดูเขาเผาศพเรา คนทั้งหลายเต็มอยู่มาเผาศพ ก็ยืนดูศพอยู่ สะพายบาตรแบกกลดอยู่ดูเขาเผาศพ เขาไม่สนใจกับเราเลย คนเป็นร้อยๆ เต็มอยู่นั่น เขาไม่สนใจกับเราสักคนเดียวเลย เราก็ไปยืนดูศพของเรา

พอเสร็จแล้วก็ออกไปทางด้านตะวันออก ศพเรานี่ก็ถูกเผาเป็นเถ้าเป็นถ่าน ขนาดนี้แล้วจะหวังเอาอะไรอีก เราไปแล้วไม่ห่วงใยแล้ว แล้วก็ไป พอไปก็ไปถึงศาลาใหญ่หลังหนึ่ง ศาลานั้นใหญ่มากทีเดียว นี่เป็นเณรนี้เล่าให้ฟังนะ

เหตุที่จะได้ซักถามเณรนี้เพราะมีพระมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับเรื่องเณรนี้ระลึกชาติได้ แล้วพอดีมางานศพหลวงปู่มั่นเรานี่ เณรนี้ก็จะมา เราก็นัดกับพระไว้ว่าถ้าเณรนั้นมา ให้มาหาเรา พอดีเณรนั้นมาก็ให้มาหาจริงๆ แต่ส่วนมากแกไม่ยอมเล่าเรื่องระลึกชาติได้

"เล่าทีไรเป็นไข้ทุกที" ว่าอย่างนั้น

"เข็ด พอเล่าเรื่องชาติหลังย้อนหลังแล้วไข้ทุกทีไม่เคยพลาด"

"เอ้า คราวนี้ไม่ให้ใช้" เราก็ว่าอย่างนั้นแหละ

"เอ้า เล่ามาให้หมดนะ คราวนี้ไม่ให้ไข้ มาเล่ากับเรานี่ไม่ให้ไข้" ก็ไม่ไข้จริงๆ นะ แปลกอยู่นะ มีหนเดียวรายเดียวนี่ไม่ไข้ พอมาก็ซักถามกันถึงเรื่องตายแล้วไปที่ว่านี่ ไปศาลาใหญ่หลังหนึ่ง

ศาลาหลังนั้นเจ้าหน้าที่พวกยมบาลอะไรเหล่านี้เต็มอยู่นั่น สมุดบัญชีมีเป็น 2 กอง กองใหญ่เบ้อเริ่มเทียว กองหนึ่งเล็กแล้วกองใหญ่นั้นสำหรับบัญชีคนทำชั่ว กองเล็กนี้สำหรับบัญชีคนทำดี พระองค์นั้นก็สะพายบาตรแล้วไปยืน แล้วพวกนักโทษพูดง่ายๆ นักโทษทำกรรมหนักทำกรรมเบา กรรมอะไรก็ตาม เขาแยกไว้เป็นประเภทๆ เต็มศาลา

ทีนี้เขาเรียกชื่อ พอเรียกชื่อนายนั้นๆ พอเรียกชื่อปั๊บต้องมาถึงปุ๊บเลย อำนาจแห่งกรรมมันบีบบังคับขนาดนั้น จะอืดอาดไม่ได้ พอเรียกชื่อปั๊บจะมาปุ๊บๆ เลย มีกี่คนโทษประเภทนี้ มีหัวหน้า 2 คนเท่านั้นแหละหัวหน้าน่ากลัวมาก คนหนึ่งนำหน้าคนหนึ่งตามหลัง พอเรียกชื่อเสร็จแล้วไล่ลง พวกนี้ไปแล้วเรียกพวกนั้นมาอีกเป็นคณะๆ จนกระทั่งหมด นี่พูดสรุปเอาให้พอดีกับเวลา

พอหมดแล้วก็ยังเหลือแต่ยายคนหนึ่งนั่งอยู่นั่น ยายคนนั้นเป็นคนเหมือนคน วัดเรานี่แหละ เหมือนคนแต่งตัวไปวัดเรานี่ ไปถือศีลถือธรรม มีผ้าเฉวียงบ่านุ่งผ้าซิ่นเรา ธรรมดาไปวัดนี่ แกนั่งอยู่ทางโน่น เขาเรียกคุณแม่นะ สำหรับยายคนนี้เขาเรียกคุณแม่ นอกนั้นเขาเรียกนายนั้นนายนี้ๆ ลงเลยๆ นี่เขาเรียกคุณแม่

พอพวกสัตว์นรกไปหมดแล้ว เขาเรียนเชิญคุณแม่มาที่นี่ ถ้าคุณแม่อยากไปสวรรค์ให้ลงที่นี่เลย คุณแม่จะไปสวรรค์ชั้นไหนก็ไปได้ให้ลงไปนี้ แล้วรถเขาจะมา รถทิพย์จะมา ลงไปสระน้ำนี้แล้วก็ไปเปลื้องผ้านี้ออก ลงจากสระนี้แล้วก็เดินบุกน้ำไป

รถจะมาทางฟากสระทางนั้น แล้วก็ขึ้นรถ ประดับตกแต่งใหม่หมด เครื่องประดับประดาตกแต่งเขาจัดเอามาพร้อมรถเลย พอไปแล้วลงน้ำนี่ปั๊บก็ขึ้น เขาก็เชิญเลย จูงขึ้นแต่งตัวเรียบร้อยแล้วก็เหาะบึ่งขึ้น เหมือนสำลี...รถทิพย์ รถทิพย์พูดอะไรพูดไม่ได้ แต่มันประจักษ์กับตาอยู่ว่างั้น เป็นสีงามอร่ามตาอะไรนี้เราพูดไม่ถูก...รถทิพย์ แต่ก็ไม่ได้ถามว่ารถทิพย์นี้มาจากชั้นไหนจะไปชั้นไหน เป็นแต่เพียงว่า ผู้หญิงคนนี้จะไปสวรรค์ พอเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ยังเหลือแต่พระองค์เดียวยืนอยู่นั่น คือพระบัวที่ตายไปนั่นแล

เจ้าหน้าที่เหล่านั้นเขาก็ไม่ได้มาสนใจกับเราแหละ พอเขาส่งยายคนนั้นเสร็จแล้ว เขาก็ทำงานของเขาอยู่บนโต๊ะ

"แล้วอาตมาเล่าจะให้ไปไหน ? ไม่เห็นเเรียกอาตมา"

"โห ท่านน่ะถ้าตั้งใจจะไปเกิดเมืองมนุษย์ก็ให้กลับหลัง ย้อนหลังนี้ไป ถ้าจะไปสวรรค์ก็ให้ลงไปนี้ ท่านไปได้ทั้งไปสวรรค์ทั้งไปเมืองมนุษย์ ถ้าท่านจะไปสวรรค์ก็ให้ลงนี้เหมือนกับยายคนนั้น ลงแล้วรถทิพย์จะมาเอง"

"อาตมาไม่ไปแหละอาตมาหิวน้ำ จะไปหาฉันน้ำก่อน"

ลงจากนั้นก็ลงไปๆ จนถึงบ้านน้ำก่ำนี่แหละ บ้านเขาอยู่ริมทุ่งนา เขามาตักน้ำก็ไปขอบิณฑบาตฉันน้ำกับเขา เขาบอกว่าให้ไปบ้านหลังนี้นะ เขาจะตักน้ำแล้วให้ไปที่นั่น ไปรออยู่บ้านหลังนั้น เขาชี้บอกเห็นบ้านชัดๆ อยู่บ้านหลังนั้น บ้านหลังจะเกิดเข้าใจหรือเปล่า พอไปที่นั่นรู้สึกเคลิ้มๆ จะหลับเหนื่อยเพลียมาก เคลิ้มๆ แล้วหลับไปเลย เลยยังไม่ทันได้ฉันน้ำ

พอตื่นขึ้นมาที่ไหนได้เกิดแล้ว นั่นละที่นี่แกระลึกชาติของแกได้ตลอดนะ ระลึกชาติย้อนหลังๆ ได้ตลอดเลย นี่เวลาเราซักถาม ทีนี้พอดีอาจารย์ทองของเธอมา เราก็กราบเรียนถามเล่าเรื่องนี้ให้ฟังแล้ว โห่ ท่านตกตะลึกนะ ท่านตกใจ

"ใช่แล้ว นี่พระบัว"

ท่านก็อธิบายให้ฟังตลอดหมดเลยไปสามผง ไปตายด้วยกัน 3 องค์ อะไรๆ พระองค์นี้ชื่อบัง ไล่ผีเก่งนะพระองค์นี้ แต่ไม่เห็นไล่ผีเจ้าของได้ ท่านพูดเราก็ยังไม่ลืม นี่พูดถึงเรื่องระลึกชาติได้

คำว่าระลึกชาติได้นี้กับพระพุทธเจ้า ระลึกชาติได้มันต่างกันนะ พวกนี้สลบไสล พวกนี้ตาย การระลึกนั้นระลึกนี้รู้นั้นรู้นี้มันอาจเคลื่อนคลาดเพราะคนกระเสือกระสนกระวนกระวาย ไม่ได้เหมือนพระญาณหยั่งทราบของพระพุทธเจ้าที่ระลึกชาติย้อนหลังเช่น ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติย้อนหลังได้

เฉพาะชาติของพระองค์นี้มีกี่ภพกี่ชาติทรงทราบได้ตลอดทั่วถึง ตลอดถึงภพชาติของสัตว์ทั้งหลายรู้ได้หมดด้วยพระญาณหยั่งทราบ ไม่ได้ด้วยการสลบไสลเหมือนอย่างโลกทั้งหลายเขาเป็นกัน คนนั้นตายฟื้นกลับคืนมาแล้วระลึกชาติได้อย่างนั้นอย่างนี้ แล้วมาฮือกันเป็นบ้าไป

พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระญาณหยั่งทราบ ประกาศธรรมสอนโลกมานี้กี่ปีแล้วไม่เห็นตื่นกันบ้าง มันเป็นบ้าหรือยังไงมนุษย์เรานี่มันอยากว่าอย่างงั้นนะ เราไปตื่นกับเรื่องแบบบ้าอย่างงั้น พวกคนสลบไสลตายฟื้นกลับคืนมาแล้วมาระลึกชาติได้ แล้วตื่นกันฮือฮาๆ

พระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นคนสลบไสลตรัสรู้ขึ้นมาเป็นอรรถเป็นธรรมเป็นศาสดาเอกของโลก รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งหลาย ประกาศธรรมสอนไว้ ทำไมถึงไม่ตื่นก็บ้าง ให้ตื่นนะ ไม่ตื่นไม่ได้นะ จมจริงๆ นะ ฟังซิว่านรกเดือดพล่านๆ ไม่มีวันมีคืนมีปีมีเดือนมีอย่างนั้นตลอดเวลา พวกสัตว์นรกนี้ก็แน่นอัดๆ เพราะสัตว์ทั้งหลายทำแต่กรรมชั่วนั่นซฺ ทางสวรรค์นี้เบาบาง ทางนรกนี้แน่นหนามั่นคงมากทีเดียวตั้งแต่เรื่องกรรมของสัตว์ๆ นี่ละ ให้จำให้ดีให้สดๆ ร้อนๆ...

เทวดาคุ้มครอง

"...เรื่องเทวบุตรเทวดา เลยพูดให้ฟังพระผู้ท่านเชี่ยวชาญ ท่านชำนิชำนาญในสมัยปัจจุบันนี้เองยังมีอยู่ แต่เหมือนท่านไม่รู้ พระท่านรู้เหมือนไม่รู้ ไม่เหมือนฆราวาส ไม่เหมือนคนทั้งหลาย พระท่านรู้ก็เหมือนไม่รู้ เห็นเหมือนไม่เห็น ธรรมด๊าธรรมดา อันใดจะเป็นประโยชน์แก่ใครก็หยิบออกมาพูดๆ เมื่อวานนี้พูดเกี่ยวกับเรื่องเทวดาว่า

พระท่านอดข้าวภาวนา อดไปหลายวัน เทวดากลัวท่านหิน กลัวท่านตาย เทวดาองค์นั้นเคยเป็นแม่ของพระองค์นั้น นั่นท่านรู้ขนาดนั้นนะ มาขออุปถัมภ์อุปัฏฐาก มองเห็นกันเดินไปเดินมา เห็นอยู่ อากัปกิริยา แสดงอะไรเห็นอยู่เหมือนคน เห็นอยู่ชัดๆ ในเวลาเงียบๆ นั้น

ทางพระก็ตกใจซี ตาลืมอยู่ก็เห็นอยู่ หลับตาก็เห็นลืมตาก็เห็น เห็นอยู่อย่างนั้นชัดๆ เหมือนคนธรรมดา จึงพูดไปว่า "โอ๊ย อย่างนี้ไม่ได้นะ เดี๋ยวเขาโจมตีพระแหลกนะ" เทวดาว่า

"โจมตียังไง"

"ก็มองเห็นกันอยู่นี้ ผู้หญิงกับพระอยู่ด้วยกันได้ยังไง เทวดาก็เป็นผู้หญิง หลักธรรมหลักวินัยมีอยู่มิใช่เหรอ"

"โอ๊ย ก็ทำให้เห็นแต่ท่านเท่านั้นแหละ คนอื่นมีกี่หมื่นกี่แสนคนก็ไม่เห็น ให้เห็นเฉพาะท่านเท่านั้น นอกนั้นไม่ให้เห็น"

เอาอาหารทิพย์มาให้กิน พูดกันด้วยภาษาใจ ไม่ได้พูดกันอย่างภาษาเรานะ เอาอาหารทิพย์มาให้กิน พระท่านบอกว่า "กินไม่ได้ เวลานี้ไม่กินข้าว อดอาหารภาวนา"

บางทีก็นำอาหารทิพย์มาหากลางคืน นี่เวลานี้กลางคืนไม่กินก็อ้างไปเสีย แล้วเวลากลางวันก็ว่าเวลานี้อดอาหารก็พลิกไปเสีย เทวดากลัวทุกข์ยากลำบากกลัวเป็นกลัวตาย

"ถ้าอย่างนั้นแม่จะเอาข้าวมา เอาข้าวทิพย์แหละมาทามาถูตามร่างกายให้ซึมเข้าไป ให้ข้าวซึมเข้าไป"

"ไม่เอา ถ้ากลัวตายไม่ต้องอด" พระท่านก็แก้ของท่านไปอย่างนั้น

กลางวี่กลางวันก็มารออยู่ที่สูงๆ บนถ้ำ รักษาความปลอดภัยให้ลูก ลูกอยู่คนเดียว มารักษาความปลอดภัยให้ ไม่ให้อะไรมาที่นี่ ถ้ำเทวดาว่าไม่ให้มา สัตว์เสือช้างก็มาไม่ได้ ไม่ว่าช้างว่าเสือว่าอะไรเทวดาไม่ให้เข้ามาในบริเวณนี้ พวกสัตว์ พวกเปรต พวกผีอะไรไม่ให้เข้ามา เทวดารักษาอยู่ นี่อย่างนี้ก็มีฟังเอา แต่พวกเทวดานี้ร่างกายเหมือนสำลีนะ...เบา เบาเหมือนสำลี ลงมาเหมือนสำลีปลิวลงมา ขึ้นก็เหมือนสำลี เดินแบบธรรมดา เรานี้ก็ได้ทุกแบบ แบบสำลีมาก็มี แล้วแต่อาการแบบไหนที่ควรจะใช้ยังไงๆ อิริยาบถใด ควรจะใช้ยังไงใช้ได้ทั้งนั้น

ที่แปลกประหลาดมากก็เวลาคนตาย พระไปอยู่ในถ้ำไกลๆ จากบ้าน บ้านในป่าในเขาไม่ค่อยมีพระละซิ ในป่าในเขาไม่ค่อยมีพระ ครั้นเวลาคนตายก็มานิมนต์พระท่านไปกุสลาให้ ใครตายก็ตามในหมู่บ้าน เขาต้องมานิมนต์ท่านไป กุสลา ธัมมา ทีนี้พอคนตาย ทางพระนี้รู้แล้วนี่

"โห แล้วกัน พรุ่งนี้ต้องไปอีกแล้ว"

ตอนนั้นท่านไม่ได้ฉันข้าวนะ เป็นช่วงเวลาที่พระท่านอดอาหารภาวนาอยู่ ก็เลยต้องเดินทางไปกุสลาให้เขาในหมู่บ้านนู่น

"เอาอีกแล้วคนตายแล้ว" ตายในบ้านโน้น ท่านรู้แล้วทางนี้

"คนตายในบ้านอีกแล้ว" บางทีก็รู้ขึ้นภายในตัวเอง บางทีเทวดามาบอกว่า

"คนตายแล้วนะ" อย่างนั้นก็มี มีได้หลายทาง มาจากเทวดาก็มี ออกจากความรู้เจ้าของก็มี บอกอะไรก็จริงทั้งนั้น พอประมาณสัก 10 โมงเช้า เขาขึ้นภูเขา

"มาแล้ว"

"มาอะไรล่ะ ?" คอยฟังคำตอบ

"มานิมนต์ไปโปรดสัตว์"

แน่ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มีผิดไม่มีเคลื่อนเลย พอตื่นนอนขึ้นมา เอาแล้ววันนี้ เตรียมกุสลาแล้ววันนี้ พอ 9 โมงเช้าหรือ 10 โมงเช้า คนโผล่ขึ้นไปแล้ว

"อะไรล่ะโยม ?"

"โอ๊ย นิมนต์ไปโปรดสัตว์"

พวกเรามันพวกตาบอดไม่เห็น ท่านผู้ตาดีท่านเห็นธรรมดาเหมือนเราตาดีเห็นอะไรนี่ ท่านผู้ตาดีภายใน นี่ละสิ่งเหล่านี้ พระพุทธเจ้ากล่าวไว้ทั้งหมดผิดที่ตรงไหน นี่ละเครือของศาสนา กิ่งก้านของศาสนา มีอยู่หมดเลย ตั้งแต่อริยสัจเป็นต้นเป็นแกนขยายกิ่งก้านสาขาออกไปหาพวกเปรต พวกนรก สวรรค์ พรหมโลก นิพพาน พวกเปรต พวกผีพวกอะไรๆ นี้เป็นกิ่งก้านของอริยสัจในวงศาสนา...

ช้างประสานเสียงพระ

มีเรื่องขบขันเรื่องหนึ่งที่ท่านมักจะได้เล่าอยู่เสมอ แม้เหตุการณ์จะผ่านมาหลายปีแล้วเกี่ยวกับพวกช้างภายในบริเวณวัดป่าดานศรีสำราญ อำเภอพรเจริญ จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่คำตันท่านพักอยู่ ดังนี้

"...ขบขันที่ว่าในบริเวณนั้นเป็นหินดาน แล้วก็พวกช้างพากันมาเล่นน้ำอยู่บริเวณหินดานที่มีน้ำเต็มอยู่แถวนั้น ตั้งแต่สมัยคนยังมีน้อยๆ โน้น คนมีอยู่ไม่มากนะ พระท่านไปภาวนาอยู่ที่นั่น พวกหมู่เพื่อนเดียวกันเล่าให้ฟัง เราเองก็เคยเล่าให้ญาติโยมฟังขบขันจะตายแหละ

พระธุดงคกรรมฐานท่านไปปักกลดอยู่บริเวณนั้น แถวๆ บริเวณหินดานซึ่งมีน้ำมากก รอบๆ บริเวณหินดานที่พระท่านไปพักนั้น โขลงช้างก็มาเล่นน้ำที่นั่นละซิ เล่นน้ำทีมากันเป็นโขลงๆ เล่นจนกระทั่งคนรำคาญเสียงมันอึกทึก บางคืนจวนสว่างจึงพากันหนีไป ไม่ทราบว่าเขากินอะไรกัน เพราะเล่นน้ำอยู่นั่นเกือบตลอดคืนแต่ละครั้งๆ

วันหลังมา พระท่านก็นัดแนะกัน ติดต่อชาวบ้านให้เขาเอาปี๊บแตกมาสำหรับเคาะไล่ช้าง และชาวบ้านก็นำปี๊บแตกมาให้จริงๆ ตั้งหลายลูก พอถึงเวลากลางคืนช้างก็พากันมาเล่นน้ำที่บริเวณหินดานนั้น พระพักอยู่ตรงไหนๆ ก็เอาปี๊บแตกๆ ไปไว้ที่ตรงนั้น เวลาโขลงช้างมาเล่นน้ำที่นั่นก็เคาะขึ้นพร้อมกัน เสียงเคาะปี๊บแต่ละองค์ดังเป๊กๆ ขึ้นทุกทิศทุกทางรอบบริเวณนั้น

โขลงช้างก็ตื่น...วิ่ง ผู้เคาะปี๊บก็มี แต่เคาะท่าเดียว ไม่คิดหน้าอ่านหลังเคาะเป๊กๆ ช้างต่างตัวก็ต่างกลัวและต่างตัวต่างวิ่งหนี ไปทางโน้นก็เป๊กๆ ไปทางนั้นก็เป๊กๆ วิ่งมทางนี้ก็เป๊กๆ ช้างก็ต่างตัวต่างวิ่งไปมา และวิ่งไปชนเอากุฏิพระที่อยู่บนหินดานใส่เข้าเปรี้ยง กุฏิพระที่ตั้งอยู่บนหินดานก็ล้มครืนลง

พระที่นั่งอยู่ในกุฏินั้นก็ร้องลั่นขึ้นที่นั้น ช้างก็วิ่งไปใหญ่ เอาตัวรอดเพราะมันวิ่งหนีตายนี่ กุฏิก็ไม่ใช่กุฏิฝังดิน เป็นกุฏิตั้งอยู่บนหินดาน ชนปั๊งเข้า กุฏิก็หงายล้มลงไป พระก็ร้อง ช้างก็ร้อง ส่วนช้างทั้งร้องทั้งเผ่นหนี แต่พระนั่นร้องอยู่ในกุฏิที่ถูกช้างล้มลงไป ตื่นเช้ามาหัวเราะกันลั่นเลย แถวนี้เป็นที่หลวงพ่อตันอยู่...


(มีต่อ 27)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 26 พ.ย.2006, 6:34 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ 18 ธรรมสากัจฉาตามกาล

เคล็ดลับ...ภูมิจิตภูมิธรรม

เทศนาอบรมพระตอนหนึ่งของหลวงตากล่าวว่า

"...ในหนังสือที่มีอยู่ในธรรมบทที่กล่าวว่า กัลยาณชนไม่สามารถตอบปัญหาของพระโสดาบันได้ พระโสดาบันไม่สามารถตอบปัญหาของพระสกิทาคามีได้ พระสกิทาคามีไม่สามารถตอบปัญหาของพระอนาคามีได้ พระอนาคามีไม่สามารถตอบปัญหาของพระอรหันต์ได้

แม้พระอรหันต์ก็ไม่สามารถตอบปัญหาของพระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตรได้ ถึงพระสารีบุตร โมคคัลลาน์ก็ไม่สามารถตอบปัญหาของพระพุทธเจ้าได้ คือความสามารถต่างกัน พอถึงขั้นอรหันต์ก็พอแล้ว

ส่วนที่ว่าพระสารีบุตร โมคคัลลาน์ ไม่สามารถตอบปัญหาพระพุทธเจ้าได้นั้นหมายถึง ความกว้างแคบลึกตื้นแห่งความรู้นั้นต่างกัน นอกจากความบริสุทธิ์ไปแล้วยังมีความลึกตื้นต่างกัน กว้างแคบต่างกัน ภูมิของพระพุทธเจ้าเป็นพุทธวิสัย ภูมิของพระสารีบุตร โมคคัลลาน์เป็นสาวกนิสัย จึงต่างกัน

สามัญวิสัย กับ อริยวิสัย ก็ผิดกัน แต่ละขั้นละภูมิมีเคล็ดลับประจำขั้นภูมินั้นๆ ถามเคล็ดปั๊บก็ติด ดังพระเรียนจบพระไตรปิฎกครั้งพุทธกาล แต่ลืมเนื้อลืมตัวดูถูกเหยียดหยามพระปฏิบัติ หาว่านั่งหลับหูหลับตาไม่ทำประโยชน์อะไรให้แก่โลกเลย จะเอาปัญหามาถามพระปฏิบัติท่าน

พระพุทธเจ้าทรงทราบจึงเสด็จมาท่ามกลางสงฆ์ที่กำลังสันนิบาตนั้นว่า พวกนี้กำลังจะมาทำลายลูกศิษย์เราตถาคต แล้วมันจะไปตกนรกกันทั้งหมด ท่านไม่ได้กลัวพระปฏิบัติจะเสีย ท่านว่าพวกนี้จะตกนรกกันทั้งหมด

พอเสด็จถึง พระองค์ทรงตั้งปัญหาขึ้นปั๊บ ถามพวกใบลานเปล่า ตอบไม่ได้รับสั่งถามพระปฏิบัติปั๊บ ตอบได้ผึง ยกปัญหาขึ้นปั๊บถามพวกนั้น นิ่งเหมือนคนตายแล้วตอบไม่ได้ วกกลับมาถามพระปฏิบัติตอบได้ปุ๊บๆ ตลอด จากนั้นพระพุทธเจ้าก็แสดงธรรมขนาบเสียอย่างเต็มที่ว่า

"...พวกเธอนั้นน่ะ เหมือนกับลูกจ้างเลี้ยงโคให้เขา ได้ค่าจ้างเพียงรายวันๆ เท่านั้น ไม่เหมือนลูกของเรา หมายถึงพระปฏิบัติซึ่งเป็นเจ้าของโค โคก็เป็นสมบัติของตัว น้ำนมโคก็ได้ดื่มเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามความต้องการ

พูดเรื่องธรรม ก็เป็นเจ้าของธรรมเป็นธรรมสมบัติเป็นมหาสมบัติ พวกเธอนี้เพียงแต่เรียนและจดจำมาเฉยๆ ธรรมสมบัติอันแท้จริงยังไม่เคยได้ดื่มบ้างเลย ส่วนลูกเราตถาคตทั้งได้ปฏิบัติทั้งได้ดื่มธรรมรสโดยสมบูรณ์ จึงไม่ควรประมาท..."

ปัญหาที่พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งถามเป็นปัญหาทางด้านจิต พอมาถามพวกปฏิบัติตอบได้ผึงๆ เลย..."

Image
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)


สนทนาธรรม เป็นธรรม เพื่อธรรม

คำกล่าวตอนหนึ่งของท่านเกี่ยวกับการสนทนาธรรมภาคปฏิบัติของพระผู้มุ่งอรรคมุ่งธรรมควรมีแนวทางต่อไปนี้

"...การสนทนาธรรมะกันในทางภาคปฏิบัติ ผู้นั้นปฏิบัติอย่างนั้นๆ มีความรู้ ความเห็นอย่างนั้นๆ...ความรู้ความเห็นอันเป็นผลเกิดแปลกๆ ต่างๆ กันมา มันเป็นคติเครื่องพยุงจิตใจซึ่งกันและกันอยู่มาก...ก็เพราะท่านมุ่งเพื่อยึดคติจากธรรมของกันและกันจริงๆ ไม่มีทิฐิมานะเข้าแฝงเลย แม้ต่างคนต่างยังมีกิเลสด้วยกัน...

ท่านสนทนาตามภูมิจิตภูมิธรรมที่ปรากฏขึ้นจากจิตตภาวนาซึ่งตนบำเพ็ญมา...และสงสัยก็ศึกษาไต่ถามกันเป็นระยะไป ท่านที่เข้าใจก็อธิบายให้ฟังตามลำดับแห่งความสงสัยจนอีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจ...

การสนทนาธรรมที่เกิดจากความรู้ภายใน แม้ผู้มาเล่าและเรียนถามปัญหาจะมีพรรษาอ่อนกว่ากันอยู่มาก แต่การเล่าและการไต่ถามนั้นแฝงอยู่ด้วยความอาจหาญ มั่นใจในความรู้และปัญหาของตน ไม่พรั่นพรึงหวั่นไหวหรือประหม่ากลัวท่านจะชักหรือทักท้วงแต่อย่างใด พูดไปและถามไปตามความรู้สึกของตร และยอมรับกันโดยทางเหตุผลของแต่ละฝ่าย

ถ้าตอนใดเหตุผลยังลงกันไม่ได้ ก็ซักซ้อมกันอยู่ในจุดนั้นจนเป็นที่เข้าใจ แล้วค่อยผ่านไปโดยไม่มีฝ่ายใดสงวนศักดิ์ศรีดีชั่วของตนอันเป็นลักษณะโลกแฝงธรรมให้นอกเหนือจากความหวังเข้าใจต่อกัน...

ต่างมีความสนใจเอื้อเฟื้อต่อธรรมของกันโดยสม่ำเสมอแต่ต้นจนอวสานแห่งปัญหาธรรม ไม่แสดงความอิดหนาระอาใจ ไม่แสดงความดูถูกเหยียดหยามด้วยภูมิจิตภูมิธรรมของกันและกัน ต่างสนทนากันด้วยความบริสุทธิ์ใจ หวังความรู้และความอนุเคราะห์จากกันจริงๆ..."

การสนทนาธรรมภาคปฏิบัติของหลวงตานั้น ท่านมีโอกาสพบปะพูดคุยกับครูบาอาจารย์องค์สำคัญๆ หลายองค์ในวาระต่างๆ กัน ครูบาอาจารย์บางท่านมีพรรษามากกว่า บางท่านก็มีพรรษาน้อยกว่า บางท่านเป็นลูกศิษย์ บางท่านเป็นถึงครูบาอาจารย์ของหลวงตาสมัยเรียนพระปริยัติธรรม หรือแม้กระทั่ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) ที่หลวงตาให้ความเคารพนับถือเสมอมาแม้จนทุกวันนี้ ท่านก็ยังมีโอกาสเข้ากราบด้วย

การเข้ากราบสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ในครั้งนั้น เป็นที่ฉงนสนเท่ห์แก่หมู่เพื่อนของท่านอยู่มาก เพราะโดยปกติจะไม่มีพระเณรองค์ใดเข้ากราบสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ แบบเดี่ยวๆ เช่นนี้ นอกจากนี้แล้วการสนทนายังใช้เวลานานจนถึงกับทำให้บรรดาพระเณรต่างรู้สึกประหลาดใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว

สำหรับการสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ นั้น ขอยกมาแสดงเพียงบางท่าน ดังนี้

Image
หลวงปู่ขาว อนาลโย


หลวงปู่ขาว อนาลโย
วัดถ้ำกลองเพล อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู


หลวงปู่ขาวเป็นลูกศิษย์องค์สำคัญของท่านอาจารย์มั่นองค์หนึ่ง ในสมัยหนุ่ม ท่านมีนิสัยอาจหาญทรหดอดทนและจริงจังในการบำเพ็ญเพียรมาก ท่านเที่ยวธุดงค์ไปทั้งทางภาคอีสานและเหนือ กระทั่งได้กำลังครั้งสำคัญที่จังหวัดเชียงใหม่ หลวงตาเป็นผู้เรียบเรียงประวัติของหลวงปู่ขาวขึ้น เพราะมีโอกาสได้ซักถามพูดคุยข้ออรรถธรรมที่ลึกซึ้งกับท่าน คราวหนึ่งของการเทศน์อบรมพระภายในวัด ท่านพูดถึงการสนทนากันในครั้งนั้นว่า

"...หลวงปู่ขาวนี่ เคยพูดกันตั้งแต่นู้น นี่ก็ไม่เคยพูดกันอีกนะ ตั้งแต่ไปอำเภอหนองบัวลำภู คุยกันสนุกสองต่อสอง...2 ทุ่ม เริ่มจนกระทั่ง 6 ทุ่ม...ท่านให้เราพูด เราก็พูดให้ฟัง ท่านเป็นผู้ฟังนี่นะ เริ่มแต่ ก.ไก่ ก.กา เรื่อย ทุกกิทุกกีเป็นยังไงๆ ว่าไปโดยลำดับๆ จนกระทั่งหมดความสามารถของเราแล้ว เราก็มอบถวายท่านเลย บอกว่า

"ท่านอาจารย์อย่าผูกเป็นความเกรงใจกระผม ฉะนั้น ขัดข้องตรงไหน มันไม่ถูกตรงไหน ขอให้ท่านอาจารย์บอกกันอย่างตรงๆ เอา ฟาดให้เต็มที่เลย

ผมหมดความสามารถเท่านี้แหละ ถ้าติดก็ติดแบบว่าไม่สนใจจะแก้เลย ขนาดนั้นแหละ หลงก็หลงขนาดนั้นแหละ"

แต่ท่านก็ไม่พูดมากนะ เราก็ไม่ลืม นี่สรุปเอาเลยนะนี่นะ คุยกันมาตั้งแต่ 2 ทุ่ม จนกระทั่งถึง 6 ทุ่ม เราเดินมาถึง 5 ทุ่มเรื่องของเรา เรื่องของท่านมีเพียงชั่วโมงเดียวไม่ถึงชั่วโมง

พอพูดของเราเสร็จลงแล้ว มอบลงแล้ว ไม่ให้ท่านผูกเป็นความเกรงอกเกรงใจไว้ว่าผมเป็นมหาเปรียญ หรือได้เคยปฏิบัติกับครูบาอาจารย์มาเป็นยังไง ไม่เป็นปัญหาที่จะมากีดกันท่านอาจารย์ให้พูดด้วยความสะดวกไม่ได้ ไม่ต้องเอาเป็นอุปสรรค ท่านอาจารย์พูดเลยว่า

"ยอมรับทุกอย่างล่ะ สิ่งที่มันสุดวิสัยผม แล้วไปแล้ว"

"ผมก็พูดกราบเรียนได้เพียงเท่านี้ แค่นี้ล่ะ ถ้าหากว่าติดก็ติดแบบเจ้าของไม่มีความสนใจจะแก้ ไม่รู้ขนาดนั้นล่ะ ไม่รู้จนกระทั่งมันไปถึงไหนนั่นแหละ ติด ติดอยู่ตรงไหนนั่นแหละ ไม่รู้เลย ถ้าว่านอนตาย ก็นอนซะเลยเหตุเลยผลโน่นแหละ"

จากนั้นท่านก็พูดมา ท่านพูดเอาเฉพาะเคล็ดนะ

"เออ การปฏิบัติทางจิตนี้ มันก็มี 2 เคล็ดที่สำคัญ กามราคะ 1 อวิชชา 1 ท่านมหาก็พูดมาหมดแล้ว ไม่มีที่ข้องใจสงสัย เป็นอันว่าถูกต้องเข้ากันได้ทุกอย่าง"

ท่านก็เลยรวบเอาเลย

"ผมก็เป็นอย่างนั้นละ ท่านมหา ไม่มีอะไรเป็นข้อขัดแย้งกัน อุบายวิธีพิจารณากว้างแคบนั้น มันเป็นแต่อุบายของแต่ละคนคน แต่ว่าสำคัญที่จิตที่รวมมันเหมือนกัน"

ท่านสรุปเอาอย่างงั้นเลย จากนั้นท่านก็เล่าให้ผม ถึงสถานที่ที่ท่านเป็น..."

Image
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จันทปัชโชโต ป.ธ. 9)


สมเด็จพระมหามุนีวงศ์
(สนั่น จันทปัชโชโต ป.ธ. 9)
วัดนรนารถสุนทริการาม กรุงเทพฯ


สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นพระมหาเถระอีกรูปหนึ่งที่หลวงตานำมาเล่าเป็นตัวอย่างสอนแก่พระเณรว่า ครั้งหนึ่ง ท่านกับท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) มีธุระไปเยี่ยมท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ ที่วัดนรนารถฯ

เมื่อไปถึงกุฏิของท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ก็ผลักประตูห้องเข้าไปตามแบบคนที่สนิทสนมกันมานาน พบว่า ท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ กำลังนั่งสมาธิอยู่ ท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ แสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็นว่าท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์อุตส่าห์เมตตามาเยี่ยมเยียน จากนั้นจึงได้สนทนากันอยู่พักใหญ่ ตอนหนึ่งของการสนทนา ท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ พูดขึ้นว่า "...ผมเองแม้อยู่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ฉันอาหารดิบๆ ดีๆ นะ ก็ฉันของแห้งๆ ไปอย่างนั้นแหละ ฉันของดีจริงๆ ภาวนาไม่ดี..."

เมื่อท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ กล่าวถึงจุดนี้ ทำให้หลวงตารู้สึกถึงใจกับความเป็นนักภาวนาและนักต่อสู้สังเกตใจของท่าน เพราะหลวงตาท่านทราบดีว่าผู้บำเพ็ญจิตตภาวนาจำต้องมีการระมัดระวังและคอยควบคุมสิ่งที่จะทำให้ขัดขวางต่อการภาวนาได้ ด้วยเหตุนี้เองทำให้หลวงตาให้ความเคารพต่อท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ เสมอมา

สำหรับท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ เองก็เช่นกัน สังเกตว่าท่านก็ได้ให้ความเมตตาและให้เกียรติต่อองค์หลวงตาอยู่ไม่น้อย ทุกๆ ปี หากมีการทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันเกิดของท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ ท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ จะต้องได้นิมนต์หลวงตาไปแสดงธรรมอยู่เสมอ

ทุกครั้งที่หลวงตามีโอกาสไปกราบเยี่ยมเยียน ท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ ท่านจะคึกคักขึ้นทันที ดังเหตุการณ์ซึ่งท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ กำลังนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล ครั้นพอทราบว่าหลวงตามาเยี่ยม ท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ อุตส่าห์รีบลุกขึ้นรับทันที ดูทีท่าว่าตื่นเต้นดีใจแบบรื่นเริงในธรรม พร้อมกับกล่าวยกย่องหลวงตาว่า

"...เศรษฐีธรรมมาแล้ว เศรษฐีธรรมมาแล้ว นับวันจะหายาก แต่เศรษฐีเงินนี้มีเกลื่อน..."

หลังจากวันนั้นไม่นาน ท่านก็หายอาพาธอย่างรวดเร็วจนเป็นที่ประหลาดใจแก่แพทย์ผู้ให้การรักษา ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าความปีติรื่นเริงในธรรม จัดว่าเป็นธรรมโอสถรักษาโรคชั้นเลิศ

ความเคารพบูชาในธรรม และความสนใจใคร่ต่อการปฏิบัติกรรมฐานของท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ ดังกล่าวนี้เอง ทำให้หลวงตาต้องได้กล่าวยกย่องให้พระเณรฟังเสมอๆ ว่า

"...เจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ นอกจากท่านจะเป็นนักปริยัติแล้ว ท่านยังเป็นนักปฏิบัติ นักภาวนา เวลาพบปะสนทนากับเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านจะสนทนาแต่เรื่องการปฏิบัติธรรมเกี่ยวกับสมาธิภาวนาด้วยทุกครั้ง

ท่านจะไม่พูดถึงเรื่องโลกๆ ภายนอกอันเป็นสิ่งสกปรกโสมมเลย พระเณรเราควรที่จะประพฤติ ปฏิบัติ รักษา ตามแบบอย่างที่ท่านเคยปฏิบัติเอาไว้ โดยเฉพาะเจ้าอาวาสนี้สำคัญมากนะ เพราะเป็นผู้นำคน ปกครองคน..."

Image

Image

Image
หลวงตามหาบัว กับ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จันทปัชโชโต)


(มีต่อ 28)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 26 พ.ย.2006, 6:37 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ


หลวงปู่แหวน สุจิณโณ
วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่


คราวหนึ่งท่านมีโอกาสเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้เข้ากราบหลวงปู่แหวน ซึ่งท่านก็เป็นศิษย์รุ่นใหญ่องค์หนึ่งของท่านอาจารย์มั่นเช่นกัน จากการสนทนาในครั้งนั้น ทำให้ท่านกล่าวถึงหลวงปู่แหวนด้วยความเคารพบูชาว่า "...ท่านอาจารย์แหวนองค์หนึ่ง สามารถแก้ได้ตลอดทั่วถึงทางด้านจิตใจ เดี๋ยวนี้ท่านก็ไม่เอาเรื่องกับใครแล้ว ประการหนึ่งก็ไม่มีใครไปเล่าให้ท่านฟัง ท่านขี้เกียจยุ่งกับเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง ท่านก็อยู่สบายๆ

ลองมีผู้มีภูมิจิตภูมิธรรม มีความรู้ความเห็นต่างๆ ทางด้านปฏิบัติไปเล่าให้ท่านฟังดูซิ ไม่ต้องสงสัยว่าเสียงท่านจะไม่ขึ้นปึ๋งปั๋งๆ เพราะท่านอยู่กับธรรมเท่านั้น ถึงไม่ติดธรรม ท่านก็อยู่กับธรรม เป็นเครื่องรื่นเริงระหว่างขันธ์กับจิตที่ครองตัวอยู่..."

การเข้ากราบหลวงปู่แหวนคราวนั้น ท่านมีโอกาสฟังธรรมะป่าแบบเผ็ดร้อนเข้มข้นถึง 2 วาระ วาระแรกนาน 10 นาที สำหรับวาระที่ 2 นี้ หลวงปู่แหวนท่านดูคึกคักตึงตังยิ่งกว่าครั้งแรกเสียอีก ท่านแสดงธรรมด้วยน้ำเสียงอันดัง เนื้อตัวผิวพรรณมีสีแดงสดใสเปล่งปลั่ง ลักษณะของท่านในวันนั้นรู้สึกว่าดูรื่นเริงมากเป็นพิเศษ ครั้งหลังนี้ท่านพูดธรรมะนานถึง 45 นาทีเลยทีเดียว เมื่อหลวงปู่แหวนกล่าวธรรมะจบลงแล้ว ท่านก็พูดกับหลวงตาว่า

"เอ้า...ท่านมหาค้านนะ ถ้าผิดตรงไหน ค้านนะ..."

ด้วยความเคารพบูชาในธรรมะป่าของท่าน ซึ่งจะหาโอกาสฟังเช่นนี้ได้ยากยิ่ง ท่านจึงกล่าวขึ้นด้วยความซาบซึ้งในธรรมว่า "...กระผมไม่ค้าน กระผมหาฟังอย่างนี้แหละ..."

Image
หลวงปู่คำดี ปภาโส


หลวงปู่คำดี ปภาโส
วัดถ้ำผาปู่ อำเภอเมือง จังหวัดเลย


หลวงปู่คำดีเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์มั่นอีกองค์หนึ่งที่น่าเคารพบูชากราบไหว้อย่างสูงสุด ในสมัยบำเพ็ญเพียรท่านก็เป็นพระที่มีความกล้าหาญในการต่อสู้กับกิเลส สมัยต่อมาเมื่อท่านเป็นครูบาอาจารย์แล้ว ท่านก็เป็นพระที่มีเมตตาสูง ไม่ถือเนื้อถือตัว ด้วยท่านเคารพบูชาในอรรถธรรมสูงส่งยิ่งกว่าสิ่งใด

ท่านอายุพรรษามากกว่าหลวงตาหลายปี พระเณรลูกศิษย์ลูกหาของท่าน มักจะได้ยินท่านพูดปรารภถึงหลวงตาอยู่เสมอๆ กระทั่งแม้ว่าบางคราวหลวงปู่คำดีจะพูดขู่ขนาบพระเณรในวัดของท่านเองบ้าง ท่านก็ยังชอบที่จะยกเอาหลวงตาขึ้นขู่พระเณรเสมอๆ เช่น พูดว่า

"พระวัดนี้นะ ถ้ากับท่านมหาบัว พวกนี้แตกกระเจิงหมดเลยนะ อยู่กับท่านไม่ได้นะ" หรือ

"ลองไปอยู่กับท่านมหาซิ พระเณรพวกนี้หน่ะ" เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้เอง ลูกหลานพระเณรที่วัดถ้ำผาปู่จึงมีความรู้สึกเคารพสนิทสนมและผูกพันกับหลวงตาเสมือนหนึ่งครอบครัวเดียวกันโดยปริยาย และแม้สำหรับหลวงตาเอง ท่านก็ให้ความเมตตาต่อลูกหลานพระเณรที่วัดถ้ำผาปู่นี้ด้วยเช่นกัน เมื่อโอกาสอำนวยคราวใด ท่านไม่เคยลืมที่จะแวะไปเยี่ยมเยียน พร้อมขนเครื่องจตุปัจจัยไทยทานข้าวสารอาหารต่างๆ ไปให้ และเทศนาสั่งสอนพระเณรเพื่อเป็นกำลังใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่เสมอๆ เป็นระยะๆ ไป

ที่น่าแปลกใจคือ หลวงปู่คำดีท่านจะกล่าวถึงหลวงตาไม่เพียงเฉพาะกับพระเณรเท่านั้น ศิษย์ฆราวาสผู้หลักผู้ใหญ่กระทั่งอย่าง ฯพณฯ ดร.เชาวน์ ณ ศีลวันต์ องคมนตรี หลวงปู่ก็ยังเคยปรารภฝากความระลึกถึงกับท่าน ดร.เชาวน์ไปถึงหลวงตาด้วยว่า "ฝากความระลึกถึง...ไปถึงท่านมหาบัวด้วยนะ" พร้อมกับยังกล่าวเชิงยกย่องในคุณธรรมของหลวงตา ฝากไปกับท่านดร.เชาวน์ ในวาระเดียวกันนี้อีกด้วย

ทราบกันว่าหลวงปู่คำดีและหลวงตาท่านเคยมีโอกาสได้สนทนาพูดคุยธรรมะกัน ท่านทั้งสองจึงมีความสนิทสนมคุ้นเคยกันมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ท่านได้พบปะพูดคุยกันท่ามกลางความแปลกใจแก่พระเณรในวัดถ้ำผาปู่อยู่มาก ก็ด้วยเหตุที่หลวงปู่คำดีท่านสั่งพระไว้อย่างเข้มงวดว่า

"ถ้าวันนี้มีครูบาอาจารย์องค์ใดเข้ามาให้รีบบอกเราทันทีนะ"

พระที่รับคำสั่งนี้มา จึงจดจ่อคอยเฝ้าสังเกตอยู่ตลอด เพื่อดูว่าวันนี้จะมีใครมาหรือไม่ พอตกตอนบ่ายปรากฏว่ามีรถเข้ามาที่วัดจริงๆ และก็พบว่าเป็นหลวงตามหาบัวนั่นเอง พระที่คอยดูอยู่ตลอดวันจึงรีบไปกราบเรียนหลวงปู่คำดีทันทีและพอหลวงปู่คำดีทราบว่าหลวงตามา ท่านก็รีบออกจากที่พักและเรียกหลวงตาทันทีเช่นกัน แล้วยังพูดด้วยว่า "โฮ้ มาเร็วดีนะ" เหตุการณ์คราวนั้นเป็นที่แปลกใจแก่พระเณรอยู่มาก เหมือนหลวงปู่จะทราบล่วงหน้าไว้แล้ว

ภายหลังต่อมา จึงทราบเหตุผลว่าในครั้งนั้น ท่านตั้งใจเดินทางเพื่อไปพักค้างคืนโดยเฉพาะ ไม่ใช่เพียงแค่การไปเยี่ยมเยียนแล้วก็กลับธรรมดาๆ ครั้งนั้น พระเณรได้บอกเล่าต่อๆ กันว่า ครูบาอาจารย์ทั้งสองท่านได้พูดคุยสนทนาธรรมกันอยู่ตลอด มีการเขียนข้อความใส่กระดาษ เพื่อซักถามสนทนากันและกันด้วย ทั้งนี้คงเป็นเพราะหลวงปู่คำดีท่านหูไม่ค่อยได้ยิน

มีเทศนาอบรมพระของหลวงตาอยู่ บางตอนที่ท่านกล่าวพูดยกย่องถึงคุณธรรมและความกล้าหาญของหลวงปู่คำดีในสมัยปฏิบัติ คราวหนึ่งของการแสดงธรรม ท่านพูดถึงเหตุการณ์ในระยะก่อนๆ นั้น ได้เคยพบกับหลวงปู่คำดีอยู่เรื่อยๆ ในที่ต่างๆ ที่นั่นบ้างที่นี้บ้าง จากนั้นหลวงตาก็เล่ามาถึงเรื่องที่หลวงปู่คำดีเคยกล่าวชมเชยท่านในการแสดงธรรมเรื่องการแจงขันธ์ 5 ดังนี้

"...การพบกับท่าน (หลวงปู่คำดี) เคยพบกันอยู่เรื่อยๆ ท่านมาอยู่วัดหนองแซง นี่ก็เคยพบกันอยู่เรื่อย ท่านเลยพูดถึงเรื่องว่าการแจงขันธ์ 5 นี้ ไม่มีใครแจงได้ละเอียดลออมากยิ่งกว่าท่านมหา ท่านอ่านหนังสือแว่นดวงใจ จบหมดเลย..."

ตอนท้ายของเทศนากัณฑ์นี้ หลวงตาพูดถึงการที่ท่านไปวัดถ้ำผาปู่ในครั้งนั้น เป็นเหตุการณ์บังเอิญพอดีกับที่หลวงปู่คำดีได้จุดธูปนิมนต์ขอให้ท่านเดินทางที่วัดถ้ำผาปู่ หลวงตากล่าวในตอนท้ายของเทศนาอบรมพระว่า

"...มันแปลกอยู่นะ คือท่าน (หลวงปู่คำดี) เดินจงกรมอยู่ พอตี 4 ท่านลงมาเดินจงกรม ปัญหามันขวางใจท่าน ทำยังไงก็แก้ไม่ตกๆ มองหาใครไม่เห็น...จึงออกจากทางจงกรมไป จากนั้นก็ไปจุดธูปเทียนเลย หลังจุดธูปจุดเทียนไหว้พระเสร็จแล้ว...ก็กล่าวว่า

"ขอนิมนต์ท่านมหามา..."

เรื่องนี้ภายหลังทราบจากคนรถที่คอยอุปัฏฐากรับใช้หลวงตาว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นแกได้รับคำสั่งด่วนจากหลวงตาให้รีบเข้าไปที่วัดป่าบ้านตาดในเวลา 5 โมงเช้าวันนี้ เมื่อขับรถไปถึงวัดแล้ว หลวงตาก็ให้รีบพาไปวัดถ้ำผาปู่ จังหวัดเลย โดยเร็ว ตอนเที่ยงวันพอดีจึงได้ออกเดินทาง

หลวงตาเล่าถึงเหตุการณ์ที่ได้สนทนากันในวันนั้นด้วยว่า

"...คือเราไปถึงวัดถ้ำผาปู่ พอทราบว่าท่าน (หลวงปู่คำดี) พักแล้ว บอกพระว่า

"อย่าไปกวนท่านนะ วันนี้ผมจะพักไม่กลับ ผมจะค้างกับท่าน

อย่าไปกวนท่านนะ ผมจะไปหาที่พักก่อน พอได้เวลาแล้วจะมาหาท่าน เวลานี้ท่านยังพักอยู่"

เขาปิดประตูเงียบ พอเรามานี่ พระองค์นั้นแอบไปทางด้านหลัง ไปบอกหลวงปู่คำดี พอทราบท่านจึงรีบออกมาโดยเปิดประตูเหล็กเลื่อน เรียก

"ท่านมหา ท่านมหาอยู่นี่เหรอ" โบกมือเรียก เราเลยดุพระว่า

"ไปรบกวนครูบาอาจารย์ทำไม ? ท่านองค์นี้นี่น่ะ ก็จะคุยอยู่แล้วนี่นะ" พอไปถึงแล้ว ท่านพูดว่า

"โฮ้ มาเร็วดีนะ"

"เร็วอะไร ? แล้วท่านอาจารย์จะมีเรื่องคุยอะไรกัน ?"

เวลาจะคุยกัน ต้องได้ปิดประตูเลยนะ ตั้งแต่ยังไม่ถึง 6 โมงถึง 2 ทุ่ม ให้ท่านเล่าวิถีจิตของท่านเป็นยังไงสองต่อสอง จนกระทั่ง 2 ทุ่ม เมื่อถึงจุดสำคัญ...เหมือนกับหอกกับหลวงทิ่มนะ เหมือนกับว่า...ถอดหลาวออก ทีนี้ก็พุ่งเลย รู้ช่อง

"เออๆๆ..." มันสะดุดใจท่านมาก"เออ เอาละทีนี้ รู้ช่องแล้ว จากนั้นท่านจึงเล่าให้ฟังว่า ท่านจุดธูปมานิมนต์เรา เราเลยตอบท่านว่า

"ผมก็มาสะเปะสะปะ มาประสาบ้าของผมล่ะ"

"เอาละ ประสาอะไรช่างเถอะนะ สดๆ ร้อนๆ นี้เอาละ"

คือพอเวลาเที่ยงเราก็ออกจากวัดป่าบ้านตาดไปเลย มันก็เหมือนกับว่า สดๆ ร้อนๆ นั่นละ มันบันดลบันดาลอะไร เราก็ไม่เคยไปเลย บอกสั่งรถให้เขามาโดยด่วน แปลก..."

ครั้งนั้น เวลาที่ท่านจะสนทนาธรรมกัน เนื่องจากหลวงปู่คำดีท่านหูไม่ค่อยได้ยิน การพูดคุยกันจึงอาจต้องใช้เสียงที่ดังเกินไป ทำให้ไม่สะดวกนัก อีกทั้งในขณะนั้นก็มีแขก คนไปมาอยู่เรื่อยๆ ท่านจึงแก้ปัญหาด้วยการเขียนจดหมายสื่อความกัน

การสนทนาธรรมครั้งอัศจรรย์ของครูบาอาจารย์องค์สำคัญคราวนี้ จึงเป็นหัวข้อปัญหาให้พระเณรได้สนทนาเล่าต่อกันอย่างไม่รู้จบ และเป็นกำลังใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมแก่พระกรรมฐานรุ่นลูกรุ่นหลาน

Image
หลวงพ่อบัว สิริปุณฺโณ


หลวงพ่อบัว สิริปุณฺโณ
วัดป่าหนองแซง อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี


หลวงพ่อบัวเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์มั่นองค์หนึ่ง มีอายุพรรษาน้อยกว่าหลวงตา สถานที่ของการสนทนาธรรมในครั้งนี้คือ บ้านชุมพล ในปีนั้นหลวงปู่ขาว อนาลโย ได้พักจำพรรษาอยู่บ้านนี้ด้วย การแก้ปัญหาธรรมในครั้งนี้ ทำให้หลวงพ่อบัวเคารพนับถือและซึ่งใจในคำแนะนำของหลวงตาเป็นอย่างสูง

เหตุที่ท่านทั้งสองจะได้พบกันนั้น มีเหตุมาจากฆราวาสท่านหนึ่งมานิมนต์หลวงตาไปบ้านชุมพล (อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร) หลวงตาท่านถามทันทีว่า

"ไปนิมนต์หลวงพ่อบัวหรือเปล่าล่ะ ?" แกตอบว่า "นิมนต์ครับกระผม"

หลวงตาท่านว่า "ถ้าหลวงพ่อบัวไปเราจะไป เรายังมีอะไรๆ ยิบๆ ยิบๆ อยู่กับหลวงพ่อบัว พูดอะไรมันมีอะไรอยู่ ข้องๆ ใจ เอานิมนต์ให้ได้นะ บอกด้วยว่าเราก็จะไปนะ"

จากนั้นฆราวาสคนเดิมนี้ก็ไปนิมนต์หลวงพ่อบัวถึงที่วัดของท่านเหมือนกัน หลวงพ่อบัวก็ถามเหมือนกันว่า "ได้นิมนต์อาจารย์มหาหรือเปล่า ?"

แกตอบว่า "ผมนิมนต์ท่านมานี้แล้ว ท่านก็ถามถึงเหมือนกันว่าหลวงพ่อบัวจะไปหรือเปล่า ?"

หลวงพ่อบัวกล่าวขึ้นทันทีว่า

"โอ๋ย ถ้าท่านอาจารย์มหาไป เราไป ไป ไป ไป" ว่าแล้วท่านก็ไป

หลวงพ่อบัวท่านเป็นคนสั่งจัดกุฏิเองเลยทีเดียว โดยท่านพักอยู่หลังหนึ่ง และให้หลวงตาพักอีกหลังหนึ่ง ซึ่งอยู่ติดกับรั้วและอยู่ใกล้ๆ กัน เพราะศาลาอยู่ลึกๆ ตรงกลางวัด กุฏิในวัดที่ติดเขตรั้วก็มีเพียงกุฏิ 2 หลังนี้เท่านั้น

เมื่อครูบาอาจารย์ทั้งสองท่านเสร็จธุระส่วนตัวแล้ว หลวงตาจึงเริ่มซักไซ้ไล่เลียงหาเหตุผลเพื่อแก้ปัญหาข้อขัดข้องภายในของหลวงพ่อบัว ดังนี้

หลวงตาเริ่มพูดก่อนว่า

"ผมมามุ่งหลวงพ่อนะนี่ ผมไม่ได้มางานใดๆ นะ"

หลวงพ่อบัวตอบว่า "ผมก็มามุ่งครูอาจารย์เหมือนกันแล้ว" หลวงตาว่า"เอ้าเล่า เป็นยังไง ? เอ้า เล่ามาตั้งแต่เริ่มปฏิบัติทีแรกจนกระทั่งปัจจุบัน อย่าปิดบัง เล่ามาโดยลำดับ เอ้า ผมจะฟังให้ตลอดวันนี้ ผมไม่ได้สนิทใจนักกับหลวงพ่อนะ ผมพูดตรงๆ นะ"

จากนั้น หลวงพ่อบัวท่านก็เล่ามาโดยลำดับๆๆ จนถึงจุดปัจจุบัน พอถึงจุดนี้ หลวงตาบอกทันทีว่า

"เอ้า เล่าไปซี" ตอบว่า "พอ" หลวงตาบอกอีก "เล่าไปซี" ตอบว่า "หมดเท่านี้" หลวงตาเลยถามว่า "แล้วความเข้าใจว่ายังไง ?" ตอบ "หมดเท่านี้"

ท่านถามอีกว่า "แล้วความเข้าใจว่ายังไงละ ? เอ้า ว่าซี"

"เข้าใจว่าสิ้นแล้ว" ท่านถามต่อว่า

"แล้วเป็นอย่างนี้มานานเท่าไรแล้ว ?"

"เป็นมาได้ 10 กว่าปีแล้ว"

จากนั้น หลวงตาท่านก็เริ่มอธิบายในจุดที่ละเอียดให้ฟัง

"เอ้า ทีนี้ให้พิจารณาอย่างนั้นๆ นั้นนะ เอาเลย ต่อจากนั้นให้เลย จับให้ดีนะ...อธิบายให้ฟังเต็มที่ แล้ววันนี้ไม่ต้องไปสวดมนต์ ไม่ต้องไปในงานนู้น ให้ภาวนาเอาให้มันได้วันนี้ รู้วันนี้ละ มันเข้าวงแคบแล้วนี่นา"

พอพูดกันจบเรียบร้อยแล้วท่านกล่าวต่อว่า "ไป ลงไป เริ่มภาวนาตั้งแต่บัดนี้ไปนะ ทำยังงั้นล่ะ"

การอธิบายกันในคราวนั้นใช้เวลานานพอสมควร เมื่อจบการอธิบาย จากนั้นหลวงพ่อบัวท่านก็กลับกุฏิไปภาวนา ส่วนหลวงตาไปสวดมนต์ที่ศาลา เมื่อถึงตอนเช้าขณะที่หลวงตากำลังนั่งภาวนาอยู่ ยังไม่ทันออกจากที่ภาวนาเลย ก็มีเสียงกุ๊บกั๊บๆ ดังขึ้นในเวลาใกล้สว่างของวันใหม่ หลวงตาถามขึ้นทันทีว่า

"ใครนี่ ?" ตอบ "ผมครับ" ถาม "หลวงพ่อบัวเหรอ ?" ตอบ "ใช่ครับ" หลวงตาบอก "เออ ขึ้นมาๆ"

จากนั้นหลวงพ่อบัวท่านก็เล่าถึงการภาวนาในคืนนั้นให้ฟังว่า

"จับอุบายท่านอาจารย์ เข้าปุ๊บเลย...เพราะแต่ก่อนมันไม่รู้เนี่ย ได้แต่เฝ้ากันอยู่นั้นเสีย แสดงว่าสำเร็จเสร็จสิ้นก็อยู่งั้นเสีย พอมาถึงที่นั่นแล้วก็เอาอุบายท่านอาจารย์เข้าใส่ ปุ๊บๆ โห ไม่นานเลย ปรากฏเหมือนกับ...ความกุฏิขาดยุบลงทันที เหมือนกับว่าก้นกระแทกดิน แต่ไม่เจ็บ เหมือนกับคานกุฏิขาดลง ตูมลงพื้นเลย

ฮึบ ทีเดียวเลย แต่จิตมันก็ไม่กังวลนะ เพราะมันไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไรนี่ ในขณะนั้นพอพึบลงไปนั่น ทีเดียวเท่านั้น นิ่ง...พอมันหายจากขณะนั้นแล้ว จิตก็รู้ตัว ออกมาข้างนอก มาก็มารู้ว่า

"ฮื๊อ ว่าคานกุฏิ ถ้าขาดแล้วมันก็ลงกันทั้งพื้นนี้ ลงไปถึงดินนั่น ทำไมมันถึงดีๆ อยู่นี่" มันก็รู้กันทันทีนะว่า

"โห นี่มันคานอวิชชาขาด"

โอ้โห เวลานั้นมัน มันพูดไม่ถูกเลย...พอขณะนั้น ทำงานกันไปเสร็จสิ้นไปแล้ว ทีนี้มันเหมือนกับว่าเป็นคนละโลกเลยเชียว ผมเลยไม่นอนทั้งคืน เมื่อคืนนี้..."

หลวงพ่อบัวกล่าวกับหลวงตาอย่างซาบซึ้งจับจิตจับใจว่า

"...ผมกราบท่านอาจารย์ทั้งคืนเลย มันไม่ทราบเป็นยังไง มันกราบพระพุทธเจ้า กราบพระธรรม กราบพระสงฆ์ กราบท่านอาจารย์ตลอดคืนเลย ผมไม่นอนจนกระทั่งเดี๋ยวนี้นะ โฮ้ มันอะไร เหมือนกับถ้าพูดภาษาพระพุทธเจ้าว่า เสวยวิมุตติสุข มันอะไรพูดไม่ถูก

อัศจรรย์ครูบาอาจารย์ พระธรรมเห็นคุณค่าของท่านอาจารย์ ฮู้ย เห็นจริงๆ เด่นจริงๆ ถ้าไม่ใช่ท่านเราจมไปแล้ว ไม่ไปถึงไหนแล้ว เดชะจริงๆ กราบ...กราบอยู่อย่างนั้น..."

ตอนหลังหลวงตาท่านเคยปรารภถึงเรื่องนี้ว่า นับแต่นั้นมาก็ไม่ได้พูดคุยอะไรกับหลวงพ่อบัว วัดป่าหนองแซง กันอีกเลย จนกระทั่งหลวงพ่อบัวท่านมรณภาพไป ท่านเคยบอกเหตุผลเหมือนกันว่าถึงจุดนี้แล้วไม่จำเป็นต้องมีอะไรเพิ่มเติมให้เป็นประโยชน์อีกแล้ว เพราะมันพออยู่ในตัวแล้ว หมดปัญหาแล้ว ไม่จำเป็นต้องเอาอะไรมาพูดอีกแล้ว

Image


(มีต่อ 29)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 26 พ.ย.2006, 6:39 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ 19 แสงธรรม ส่องทาง

นับแต่ปี 2493 เป็นต้นมา หลวงตาเมตตาอบรมธรรมปฏิบัติ เฉพาะอย่างยิ่งจิตตภาวนา แก่พระเณรและฆราวาสเสมอมา บรรดาลูกศิษย์ลูกหาผู้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจัง ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ได้รับแสงธรรมของพระพุทธองค์เป็นลำดับ ไม่จำกัดว่าเป็นพระหรือฆราวาส ไม่จำกัดว่าเป็นหญิงหรือชาย พยานในธรรมก็ย่อมประจักษ์ขึ้นในใจของผู้ปฏิบัติเป็นลำดับไปเช่นกัน ดังคำกล่าวของท่านที่ว่า

"...ภาคปฏิบัติก็คืองานอันหนึ่งของเรา ทำไมงานเรามีด้วยการประพฤติปฏิบัติ ผลทำไมจะไม่มีได้เล่า เหตุกับผลเป็นของคู่เคียงกันมาแต่ไหนแต่ไร ทำไมเราทำมันจะไม่มีผล เมื่อเหตุเป็นไปสมควรแก่ผลจะพึงเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว..."

ฉะนั้น เมื่อท่านเหล่านี้ต่างเพียรสร้างเหตุให้สมบูรณ์ขึ้นทุกขณะ ผลอันควรย่อมเกิดขึ้นได้และนำมาซึ่งความสงบร่มเย็นในจิตใจของท่าน กระทั่งไม่เห็นวัตถุสิ่งของเงินทองลาภยศบริษัทบริวารหรือยศถาบรรดาศักดิ์ใดๆ เป็นของประเสริฐเลิศเลอยิ่งกว่า "ธรรม" สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงเครื่องอาศัยเครื่องอำนวยความสะดวกแก่ร่างกายให้พอเป็นพอไปเท่านั้น แต่เรื่องของ "จิตใจ" นั้น ท่านถือเป็นสมบัติอันล้ำค่าอย่างหาประมาณมิได้เลย

ธรรมเทศนาที่หลวงตาแสดงแก่พระเณรผู้เข้ามาศึกษาอบรม...รุ่นแล้วรุ่นเล่า มิได้แตกต่างกัน คือท่านจะย้ำอยู่เสมอว่า "...การทำความเพียรเพื่อความพ้นทุกข์ จะยากลำบากเพียงไร ก็ให้ถือว่าเป็นงานอันตนจะพึงทำ หลีกเลี่ยงไปไม่ได้ ถ้าต้องการพ้นจากทุกข์ซึ่งกีดขวางกดถ่วงจิตใจอยู่ตลอดเวลานี้ ให้จิตใจเป็นอิสระ อย่าพึงท้อถอยทางความเพียร อย่าไปคำนึงว่าวาสนามากวาสนาน้อย ในขณะที่จะทำความดีมีการเดินจงกรมนั่งสมาธิเพื่อมรรคผลนิพพาน เป็นต้น

ถ้าจะคิดว่าอำนาจวาสนาน้อยในขณะที่จิตเลื่อนลอยเผลอตัวออกไป พอระลึกได้ก็ให้ทราบว่านี่เป็นการสั่งสมในการตัดทอนนิสัยวาสนาของตนให้ด้อยลงไปโดยลำดับ ถ้ามากกว่านี้ นิสัยวาสนาก็จะขาดสูญไปเพราะความชั่วเป็นสิ่งทำลายหรือเผาผลาญให้วอดวายไป

การทำความดีอยู่ตลอดเวลาก็คือ การสร้างอำนาจวาสนาขึ้นภายในจิต เพื่อจะปราบปรามสิ่งที่เป็นข้าศึกมีอยู่ภายในใจให้หมดสิ้นไปนั่นแล ใครจะไปสร้างวาสนาที่ไหน ถ้าไม่สร้างที่ใจ วาสนาจะมากน้อยเพียงไร ก็เกิดขึ้นที่ใจเป็นผู้สร้างได้

เราอย่าเข้าใจว่ามรรคผลนิพพานจะเหินห่าง จะอยู่ห่างกันจากปฏิปทาคือข้อปฏิบัติ เช่นเดียวกับบันไดมีความเกี่ยวเนื่องกันกับบ้านเรือน ตึกรามบ้านช่องจะสูงเพียงไร บันไดเลื่อนติดแนบไปทุกๆ ชั้นของบ้านของเรือน คำว่า ธรรมะ จะสูงขั้นไหนซึ่งเป็นฝ่ายผล ...ธรรมฝ่ายเหตุคือข้อปฏิบัตินี้จะพึงติดแนบกันไปทุกขั้นทุกภูมิ เพราะผู้ที่จะก้าวเข้าถึงธรรมขั้นนั้นๆ ก็ต้องเป็นไปตามธรรมขั้นเหตุ คือทางดำเนิน..."

หลวงตาเทศน์ให้กำลังใจแก่ศิษย์พระเณรและฆราวาสในคราวที่เกิดความทุกข์ ความลำบากท้อแท้ใจในการปฏิบัติธรรมว่า

"...ยากลำบากไม่ใช่อะไรพาให้ยากนะ ถ้าว่าจะสร้างความดีนี้มันหากมีเครื่องขัดเครื่องข้องขึ้นภายในใจ นั้นแหละคือกิเลสมันกีดมันขวางเรา ไม่ใช่ธรรมกีดขวางไม่ให้ทำ

ขึ้นชื่อว่าความดีแล้วมันไม่อยากให้ทำ นั่นคือกิเลสมันขวางไว้ๆ...ถ้าเราได้ทำตามใจของเราแล้ว ฝืนมันทำแล้ว ต่อไปก็ไม่ได้ฝืน กำลังมันอ่อนลงๆ ทีนี้ไม่ได้ทำอยู่ไม่ได้ แน่ะ อำนาจของความดีมีอย่างนั้น...

นี่เกิดมาชาตินี้ไม่ดีแล้ว เกิดแก้มืออีกไม่ได้นะ กรรมของเรามียังไงก็ต้องไป นี่พอเหมาะเป็นจังหวะที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว และพร้อมกับได้พบพุทธศาสนา พุทธศาสนาคือศาสนาเอก ผู้สิ้นกิเลสเป็นเจ้าของศาสนา พระพุทธเจ้าของเราเป็นผู้สิ้นกิเลส ไม่มีศาสนาใดที่เป็นผู้สิ้นกิเลสครองศาสนาสั่งสอนสัตวโล มีศาสนาพุทธ พุทธๆ นี่เท่านั้น ไม่ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ใด ขึ้นชื่อว่าพุทธศาสนาแล้ว ต้องเป็นศาสนาของท่านผู้สิ้นกิเลส...

ไม่ใช่ศาสนาจะมีตลอดไปนะ มีเป็นวรรคเป็นตอน เช่น เวลานี้ก็พุทธศาสนาของเรายังมี พอหมดจากนี้แล้ว กว่าจะไปถึงศาสนาพระอริยเมตไตรยนี้ นั่นแหละท่านเรียกว่า สุญญกัป...ไม่มีคำว่าบาปว่าบุญในหัวใจสัตวโลก ทั้งๆ ที่บาปบุญคุณโทษนรกสวรรค์มีอยู่ดั้งเดิมก็ตาม แต่ใจสัตวโลกยังไม่ยอมรับ สิ่งที่ยอมรับคือความอยากความทะเยอทะยาน ความเกรี้ยวกราด อะไรทุกอย่างขึ้นชื่อว่าความชั่วแล้วมันไปรวมนั้นหมด ให้ดูดให้ดื่ม ให้พออกพอใจ มองเห็นหน้ากันมีแต่กัดแต่ฉีกกันทั้งนั้น...

ถ้าเกิดเช่นนั้นแล้วเรียกว่ากรรม ผู้ที่มีกรรมหนาที่สุดจึงต้องไปเกิดในย่านนั้น...ก็ไม่มีที่จะได้สร้างบุญสร้างกุศล เพราะไม่มีใครแนะนำสั่งสอนรู้ได้ สิ่งที่สัตว์ทั้งหลายทำอยู่ทุกวัน ทำอยู่ด้วยความดูดดื่มก็มีแต่ความชั่วช้าลามก มีแต่ฟืนแต่ไฟอันเป็นผลเผาไหม้ ไม่มีส่วนดีเลย นี่เราไม่ได้เกิดในช่วงสุญญกัป เราเกิดในช่วงพุทธกัปคือกัปพระพุทธเจ้าอยู่เวลานี้ จึงให้พากันขวนขวาย...

เวลานี้เราได้เกิดมาพบพุทธศาสนาเรียกว่าเป็นบุญลาภของเรา กิจโฉ มนุสส ปฏิลาโภ การเกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นบุญลาภอันประเสริฐ แน่ะออกจากนั้นก็ กิจฉัง สัทธัมมัสสวนัง ยังได้ยินได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าอีก ก็เป็นบุญลาภอีกอันหนึ่งเพียงเท่านี้ก็พอแล้วเรา ท่านว่า กิจโฉ พุทธานมุปปาโท เพราะการเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้านั้น เป็นบุญลาภอันประเสริฐสุดของสัตวโลก นี่คำสอนของท่านที่เป็นองค์แทนศาสดามีอยู่ ให้ได้ยึดคำสอนของท่านนี้แลคือองค์แทนศาสดา จะไม่ผิดพลาด ให้พากันอุตส่าห์พยายาม..."

Image


(มีต่อ 30)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 26 พ.ย.2006, 11:56 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ 20 อยู่อย่างพอดี

พระช่วยโลกไม่ได้...ใครเล่าจะช่วยได้

ความเมตตาสงสารของหลวงตาที่มีต่อโลก ไม่ปรากฏเพียงแค่การเทศนาหรือการอบรมสั่งสอน ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่สุดอย่างเดียวเท่านั้น ความเมตตาของท่านยังแผ่ขยายไปในแง่วัตถุสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค โดยเฉลี่ยเผื่อแผ่สงเคราะห์ช่วยเหลือแบบเงียบๆ อย่างทั่วถึง ทั้งคนทุกข์คนจน คนประสบภัยตามภาคต่างๆ โรงพยาบาล โรงเรียน วัดวาอาราม หน่วยงานราชการ สถานสงเคราะห์ต่างๆ ไปตลอด ทั่วถึงแม้กระทั่งสัตว์พิการ ดังคำกล่าวของท่านตอนหนึ่งว่า

"...เรามีแต่ให้ แต่ให้ตลอด อำนาจความเมตตานะไม่ใช่อะไร เมตตานี้ครอบตลอด เป็นธรรมชาตินะ จิตกับเมตตาเหมือนกับว่าเป็นอันเดียวกัน มันอ่อนนิ่มไปหมด ไม่ได้ถือว่าสูงว่าต่ำอะไร มันไปด้วยกัน พร้อมเลยนะความเมตตาสงสารนี่น่ะ ไม่ว่าจะเล่นกับสัตว์ประเภทใด ความเมตตาอยู่นั้นนะ ไม่ใช่เล่นแบบโลกๆ เขาเล่น

...มันเป็นเหมือนอากาศนี่นะ ครอบไปหมดเลย อำนาจความเมตตามันเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง คือ เหนือเรื่องความคิดจะโกรธจะเคียดจะแค้นให้ใครมันไม่มี อันนั้นมันครอบไว้เสียหมดเลย

ใครจะตำหนิก็ตาม ใครจะชมอะไรก็ตาม เมตตามันเหนือไปเสียทุกอย่างเกินกว่าที่จะคิดเรื่องเหล่านี้ ว่างั้นเถอะนะ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องขี้หมาไปซะ พูดตรงๆ อย่างนี้...

ถ้าจะเทียบอย่างว่า พ่อแม่กับลูกนะ ลูกมันตัวเล็กๆ มันออดมันอ้อน มันจะกัดจะข่วนอะไรก็แล้วแต่ พ่อแม่มีแต่โอ๋ โอ๋ ใช่ไหมล่ะ เพราะความรักความเมตตานี่แหละ ในขั้นของปุถุชนก็เป็นอย่างนี้ เมตตาของปุถุชนมันเหนือที่จะไปถือสีถือสากับเด็ก ใช่ไหมล่ะ อันนี้ก็แบบเดียวกัน..."

หลวงตาให้การช่วยเหลือเป็นทาน เป็นการสงเคราะห์ตลอดมาตั้งแต่ตั้งวัดป่าบ้านตาด ถ้าคิดมูลค่าเป็นตัวเงินน่าจะเป็นหลักหมื่นล้านขึ้นไป ความเมตตาในส่วนนี้ ของท่านเคยกล่าวไว้ ดังนี้

"...ไปดูที่ไหนๆ เราดูจริงๆ ช่วยจริงๆ ...ถ้าเรายังไม่ตายแล้วเราจะช่วยตลอดไป ไม่ว่าโรงพยาบาลไหนๆ ช่วยทั้งนั้น โรงร่ำโรงเรียนก็ปลูกให้เป็นหลังๆ ขาดอุปกรณ์อะไรๆ บ้างให้ ให้ ให้ ไม่ว่าแต่โรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ต่างๆ เราก็ให้..."

ด้วยเหตุนี้เอง วัตถุสิ่งของจตุปัจจัยไทยทานมากน้อย หากพอเพียงกับพระเณรและความจำเป็นในวัดแล้ว ท่านจะหมุนออกช่วยโลกอยู่เรื่อยมา ไม่มีส่วนที่สั่งสมไว้เพื่อตัวของท่านแม้แต่น้อย ดังคำกล่าวของท่านกับพระเณรในวัดป่าบ้านตาด ตอนหนึ่งว่า

"...ไม่ว่าการสงเคราะห์สงหาสิ่งใดที่มีอยู่ในวัดนี้ไม่ต้องมาขอ บอกว่าเป็นของทุกคน ผมไม่เคยที่จะสั่งสมอะไรแม้สักนิดหนึ่งภายในจิตใจเลย พูดตรงๆ อย่างนี้ เพื่อหมู่เพื่อคณะทั้งนั้น เรารับด้วยเหตุนี้เอง รับหมู่เพื่อน ถ้าพูดถึงเรื่องรัก เรื่องสงวน ก็เหมือนอวัยวะของผมเอง..."

กุฏิ ศาลา...พออาศัย

หากจะกล่าวว่า วัดของท่านเป็นเสมือนหนึ่งทำนบน้ำอันกว้างใหญ่ พร้อมเสมอที่จะให้บุคคลได้อาบดื่มใช้สอยและเพื่อกิจการประโยชน์อื่นใดได้ทุกขณะ ก็คงไม่ผิดไปเมื่อมีจตุปัจจัยเข้ามามากน้อยเพียงใด ท่านไม่เคยหวงแหนเก็บงำไว้เพื่อตัวของท่านหรือเพื่อวัดของท่านเลย มีแต่มุ่งทำประโยชน์ช่วยโลกเรื่อยมา

เหตุนี้เอง ภายในวัดป่าบ้านตาดจึงไม่มีสิ่งก่อสร้างสวยสดงดงามหรูหราแต่อย่างใด ดังนี้

"...เงินวัดนี้เงินเพื่อโลก เราไม่ได้เก็บสำหรับวัดนี้ ใครจะมาสร้างอะไรให้ เราไม่เอา นี่ดูซิ ศาลาของหลวงตาบัวนี้...ศาลาหลังนี้ก็ 4 หนแล้วนะ เขามาขอสร้าง...ขอรื้อสร้างใหม่ กุฏิเรา 8 หน มาขอปลูกใหม่ให้ ขอรื้อใหม่ปลูกใหม่ ถ้าไม่ให้รื้อก็ปลูกใหม่ เราไม่เอาทั้งนั้น หนที่ 8 ก็ขนาบกันใหญ่ซิถึงได้หยุดมา...

เราไม่ให้สร้าง สร้างไปหาประโยชน์อะไร สร้างหัวใจซิ ที่ประเสริฐเลิศโลกอยู่ตรงนี้ ไม่ได้อยู่กับอิฐกับปูนกับหินกับทรายไปสร้างมันหายุ่งหาอะไร ถ้าไม่ใช่หมาขี้เรื้อนหาเกาในที่ไม่คัน ฟาดกิเลสตัวมันดิ้นมันดีดให้เกาเอาตรงนั้นซิ ไปที่ไหนก็เลยเป็นทำเล เขาเรียกรีสอร์ตรีแสดไปหมดแล้วเดี๋ยวนี้ วัดต่างๆ กลายเป็นรีสอร์ตรีแสดไปละ เป็นอย่างนั้นนะ...

ศาสนธรรมเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากยิ่งกว่าวัตถุ เครื่องก่อสร้างให้ความกังวลวุ่นวาย เราคำนึงถึงเรื่องนั้นต่างหากนะ กุฏิ หลังที่สร้างขึ้นนี้เขาส่งเงินมา ก็บอกตรงๆ เลย เขาเห็นเราอยู่กระต๊อบสูงแค่เข่า พื้นก็สับไม้ไผ่เป็นฟากปู สร้างด้วยฟาง มุงด้วยหญ้า

เราอยู่นั้นพังไป 3 หลัง หลังที่ 4 ถึงได้ปลูกหลังนี้ขึ้นมา (กุฏิหลังปัจจุบัน) เพราะปลวกกินต้นเสาล้มลงปลูกใหม่ ช่างพอทราบว่าเป็นกุฏิของเราก็มาต่อว่าเราที่ศาลา คนก็ยังอยู่มากๆ นี้เขามาต่อว่าเรา ยังร้องไห้อีกด้วย บอกว่า

"ครูบาอาจารย์ชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศไทย มาดูกุฏิแล้วหลังเท่ากำปั้นจะอยู่ได้ยังไง ?"

"เอ้า ตั้งแต่อยู่ในท้องของแม่นี้เป็นยังไง ? ท้องของแม่กับกุฏิหลังนี้อะไรใหญ่กว่ากัน กุฏิหลังนี้ ยืนได้เดินได้ นั่งได้นอนได้อย่างสะดวกสบาย ไปมาได้ ในท้องแม่ ไปไหนได้ไหม ? คับแคบยิ่งกว่านี้ยังอยู่ได้ตั้ง 9 เดือน 10 เดือน อันนี้ขนาดนี้แล้ว ทำไมจะอยู่ไม่ได้ ถ้าต้องการกว้างๆ ก็ไปอยู่ทุ่งอยุธยานั่นซิ..."

เขาไม่ยอมซิ กลับไปเขาส่งเงินตูมมา ทีนี้เราไม่ได้มีข้อสั่งเสียหรือมีข้อแม้อะไรเอาไว้ จะส่งกลับคืนก็เหมือนประชดกันนี่ เลยได้ฝืนปลูกนะ...

จากนั้นเราก็สั่งเลยเทียว ใครจะส่งสิ่งส่งของเงินทองมาให้เกี่ยวกับการก่อสร้างในวัดป่าบ้านตาดนี้แล้ว ต้องให้เราทราบเสียก่อน ถ้าส่งมาสุ่มสี่สุ่มห้าก่อนหน้าอย่างนั้นไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้ตกลงกันแล้ว ส่งมาเท่าไรก็ไม่สำเร็จ ต้องบอกอย่างนั้นเลย เราก็ถือปฏิบัติอย่างนั้นมา ใครจะมาสร้าง หากไม่ได้ขออนุญาตให้เป็นที่ตกลงใจกันเสียก่อน เราไม่ให้ทำ...

ที่อยู่ พออยู่ อยู่ไป แต่ทางจงกรมให้เป็นเหวไปเป็นไร (เดินจงกรมมากกระทั่งทางเดินเป็นร่องลึก) นั่นละ ธรรมเจริญ พระพุทธเจ้าพระสาวกท่านดำเนินอย่างนั้น ท่านไม่ได้เอาวัตถุออกหน้าออกตาอะไร นี่อยู่ที่ไหนมีแต่เรื่องก่อสร้างถือเป็นใหญ่เป็นโต เป็นหลักศาสนาใหญ่โตเชียว เห่อแข่งขันโน่น จะว่าอะไร...

ศาลา นี่ เขาก็อยากจะมาทำใหม่ให้เราก็ไม่เอา ตีเพดานให้ เราก็ไม่ให้ตี นั่นนี้มันเหมาะแล้ว พอดีแล้ว โก้หรูไปอะไรเรื่องโลกๆ ให้โก้หรูอยู่ภายในหัวใจซิ ใสสว่างกระจ่างแจ้งอยู่ภายในใจ นั่น ของอัศจรรย์อยู่ตรงนั้นต่างหาก ไม่ได้อยู่กับหินกับทราย กับอิฐกับปูนกับเหล็กหลาอะไรนี่ อยู่กับธรรมต่างหาก ธรรมกลมกลืนกับใจแล้วใจกับธรรมต่างหากประเสริฐหรูหรา ทำพออยู่ได้พอ..."

ขรัวตา...วาสนาน้อย

ท่านกล่าวกับพระเณรเมื่อกลางปี พ.ศ. 2522 ว่า

"...มีเจ้าศรัทธาท่านหนึ่ง จะถวายเงินเพื่อสร้างโบสถ์ทั้งหลัง เรายังไม่อาจรับได้ เคยมีบ้างไหมในประเทศไทย และองค์ไหนที่มีผู้ถวายเงินสร้างโบสถ์ทั้งหลังแล้วไม่รับ นอกจากขรัวตาวาสนาน้อยนี้เท่านั้น จึงไม่อาจรับได้

ที่ไม่อาจรับได้นั้นก็มีเหตุผลเหมือนกัน...ความจริงหลักธรรมที่เราเล็งอยู่ยึดถืออยู่ กราบไหว้บูชาเป็นขวัญใจและเทิดทูนสุดจิตสุดใจอยู่ตลอดเวลานั้น เป็นสิ่งที่ใหญ่โตมากยิ่งกว่าสิ่งใดในโลกธาตุ สิ่งเหล่านั้นเราไม่ได้เทิดทูนเหมือนธรรม เพราะเป็นเพียงปัจจัยเครื่องอาศัยไปเป็นวันๆ เท่านั้น ส่วนธรรมเป็นเรื่องใหญ่โตมากที่ต้องรักสงวน

เรื่องการสร้างโบสถ์สำหรับวัดนี้ยังไม่มีความจำเป็น สิ่งใดที่จำเป็นก็ทำสิ่งนั้นเช่น จิตตภาวนาเป็นงานจำเป็นอย่างยิ่ง การทำอุโบสถสังฆกรรมทำที่ไหนก็ได้ ตามร่มไม้ชายเขาที่ไหนก็ได้ ไม่ขัดข้องอะไร ตามหลักพระวินัยจริงๆ แล้ว ไม่มีอะไรขัดข้อง การสร้างโบสถ์สร้างวิหารควรให้เป็นที่เป็นฐานที่เหมาะที่ควร ไม่ใช่จะสร้างดะไปหมด

...การสร้างโบสถ์หลังหนึ่งเป็นยังไง นับตั้งแต่เริ่มแรกตกลงกับช่างในการสร้างโบสถ์เป็นยังไง ถนนหนทางเข้าไปในวัด จนถึงบริเวณที่จะสร้างโบสถ์จะต้องเปิดโล่งตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่งถึงวันสร้างโบสถ์สำเร็จ ต้องบุกเบิกไปหมดยิ่งกว่าโรงงาน คนงานก็ต้องมีทั้งหญิงทั้งชายจำนวนมากมายที่จะเข้ามานอนกองกันอยู่นี้ ทั้งช่างทั้งคนงานไม่ทราบมาจากแห่งหนตำบลใด

บางรายหรือส่วนมากก็ไม่เคยรู้เลยว่าศาสนาเป็นอย่างไร พระเณรในวัดท่านปฏิบัติอย่างไร แล้วเขาจะมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยพอเป็นความสงบงามตาแก่พระเณรในวัดได้ยังไง มันต้องเหมือนกับเอายักษ์เอาเปรตเอาผีเข้ามาทำลายวัดนั่นเอง

ในขณะที่เปิดโอกาสตกลงกันเรียบร้อยแล้วนั้นน่ะ ไม่ว่าผู้คนหญิงชาย รถราต่างๆ ต้องเข้าต้องออกกันตลอดเวลา ประตูวัดปิดไม่ได้เลย และสถานที่ที่จะสร้างโบสถ์ขึ้นมาให้เป็นของสง่างามแก่วัดแก่พระสงฆ์ในวัด แต่พระเณรกลับตายกันหมดจากจิตตภาวนา จากมรรคผลนิพพาน ที่ควรจะได้จะถึงจากสมณธรรม...คือจิตตภาวนาแล้ว จะเอาอะไรมาเป็นความสง่างามอร่ามตา

"ลองพิจารณาดูซิ นี่เราคิดอย่างนั้น และพูดอย่างนี้นะ จะเป็นความคิดผิดพูดผิดหรือถูกประการใดบ้าง ?..."

เครื่องใช้ไม้สอยตามเหตุผล

คำกล่าวของท่านเกี่ยวกับเครื่องใช้ไม้สอยอันเหมาะสมแก่บรรพชิต

"เขาจะถวาย รถยนต์ เอามาทำไมรถเต็มแผ่นดิน...เรามีเหตุมีผลทุกอย่างที่ห้ามอะไร เพราะหามาอะไรหารถ ไม่ใช่ฆราวาสนี่

...อันนี้เป็นเรื่องของโลกเขาใช้กัน พระเป็นเพียงอาศัยความสะดวกไปกับเขาเท่านั้น จะมาเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นตัวของตัว เป็นเจ้าของรถของราขึ้นมามันก็เหมือนโลกเขาน่ะซิ...

ไฟฟ้า เขาจะเอาเข้ามาเราก็ห้ามมานานแล้ว นี่ถ้าเอาไฟเข้ามา ลองดูซิ สิ่งที่แอบแฝงเข้ามา ที่จะตามเข้ามาให้วัดเสีย มาฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมกันเต็มวัดวาเลอะๆ เทอะๆ ไปหมด ไม่ทราบว่าวิทยุ โทรทัศน์ ตู้เย็น จะแอบตามกันมา...

โทรศัพท์ ก็จะมาติดขึ้นอีก...มาขอ 2 ครั้งแล้วนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดมาติดต่อเราจะขอตั้งโทรศัพท์ที่วัดเพื่อการติดต่อสะดวก...นี้เราก็ไม่เอา เพราะผลประโยชน์ที่จะได้มีเพียงนิดเดียว ผลเสียที่ตามมานี้มากต่อมาก พรรณนาไม่จบไม่สิ้นเลย

สมควรแล้วเหรอจะเอาช้างแลกแมว มันจะกริ๊งกร๊างๆ ทั้งวันทั้งคืนไม่มีเวลาเลย ทางไหนก็โทรมา ผู้รับสายหนีไปไหนไม่ได้แหละ...

วันหนึ่งๆ จะเข้ามาเท่าไร แม้แต่มาจังหันมาวัดมาวาก็โทรเข้ามา...อย่าว่าแต่ข้างนอกจะโทรเข้ามาเลย ข้างในนี้ก็เป็นบ้าไปเลยแหละ โทรแหลก นั่นฟังซิ

เราก็ให้เหตุผลกับผู้ว่าฯ ไป ก็อุดรฯ กับวัดนี้ไม่เห็นไกลกัน มีเหตุผลอะไรมีความจำเป็นอะไร รถวิ่งไปหาครู่เดียวก็ได้...ความมีโทรศัพท์เป็นความเสียหายมากมาย แล้วพระเณรจะคึกคะนองขึ้นอีก เราว่ายังงี้เลย จึงไม่ยอมให้ตั้ง

"ทุกสิ่งทุกอย่าง เราคิดด้วยเหตุผลทั้งนั้น ไม่ว่าจะอนุญาต ไม่ว่าจะห้าม...เอ้า ! ให้ค้านมา ว่างั้นเลย ถ้าเหนือนี้เรายอมรับ ไม่ว่าใครก็ตาม ถ้าไม่เหนือแล้ว เราไม่ทำนะ...

ไม่ใช่เรามีทิฐิมานะไม่ให้ทำนะ เราต้องการเหตุผลนี่ รักษาศาสนาก็ต้องรักษาด้วยเหตุด้วยผล อะไรที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับวัดกับวาศาสนาพระเณร ก็ต้องมีเหตุผลซิ ทำแบบสุ่มเดาได้เหรอ..."


(มีต่อ 31)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 26 พ.ย.2006, 11:58 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ 21 วัดมุ่งปฏิบัติในถิ่นทุรกันดาร
ด้วยธรรมะและจตุปัจจัยไทยทาน


หลวงตาท่านให้ความใส่ใจต่อวัดในถิ่นทุรกันดาร ที่มุ่งปฏิบัติจิตตภาวนาอันเป็นงานโดยตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านจึงคอยให้ความช่วยเหลือด้านจตุปัจจัยไทยทานตามความเหมาะสมและความจำเป็นแก่สมณเพศ เพื่อไม่ให้เป็นข้อกังวลในการบำเพ็ญเพียร และจะได้ใช้เวลาเร่งสร้างสติปัญญาให้กล้าแกร่งจนสามารถก้าวข้ามทุกข์ภายในใจได้ วัดที่ท่านให้ความช่วยเหลือจึงมักมีสภาพเป็นป่าเป็นเขา บรรยากาศเอื้อต่อความสงบสงัด เช่น วัดที่อยู่ในแถบภูวัว แถบภูเขาในอำเภอหนองวัวซอ ภูหลวง ภูลังกา น้ำหนาว แนวเทือกเขาภูพานเป็นต้น

เมื่อมีโอกาสท่านจะนำเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นไปสงเคราะห์ช่วยเหลือ และพร้อมๆ กันนี้ ท่านจะแอบสังเกตอยู่เงียบๆ เพื่อดูข้อวัตรปฏิบัติ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพระเณรไปด้วย

ที่ท่านเน้นย้ำคือ ดูว่าสำนักนั้นมีทางจงกรมหรือไม่ มีร่องรอยการเดินจงกรมของพระเณรหรือไม่ เพราะท่านถือว่าทางจงกรมนี้คือที่ทำงานของพระ ทางฆราวาสเขายังมีโต๊ะทำงาน ทางพระเณรก็ต้องมีทางจงกรมเป็นสถานที่ทำงานเช่นกัน ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงคำพูดเด็ดขาดของท่านต่อวัดที่ท่านให้การสงเคราะห์และเยี่ยมเยียน ดังนี้

"....ไปวัดนั้นวัดนี้ ผู้ที่มีหิริโอตตัปปะ ผู้มีศีลมีธรรมประพฤติตัวเป็นคนดี เป็นพระดี เพื่อมรรคเพื่อผลแล้ว เราติดตามแนะนำสั่งสอนดุด่าว่ากล่าว ถ้าแบบเข้าห้องไอซียู แล้วไม่เล่นด้วย ไม่ไปเหยียบจนกระทั่งวัด...ไม่ไป ไปอะไร เกิดประโยชน์อะไร ไม่ไปเสริม มันหดเข้า ด้วนเข้าๆ นี่นะ"

ความจริงจังในการสงเคราะห์พระเณร ผู้มุ่งปฏิบัติธรรมนี้ จะเห็นได้ชัดเจนจากคำสั่งของท่านคราวหนึ่ง ต่อพระอาจารย์ผู้เป็นหัวหน้าแถบภูวัว ใจความว่า

"...เรื่องข้าวสารอาหารสดแห้งของขบฉันที่จัดส่งให้อยู่เป็นประจำทุกเดือนนี้ ถ้าไม่เพียงพอให้บอกทันที จะจัดเพิ่มเติมให้...สถานที่นี้เป็นที่สงบสงัด หากมีพระเณรผู้ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติมาอยู่ด้วยมากน้อยเพียงใด ผมจะเป็นผู้รับเลี้ยงเองทั้งหมด แต่ถ้าเป็นพระเณรประเภทหมูขึ้นเขียง คือไม่สนใจต่อการภาวนา ขี้เกียจขี้คร้าน มีแต่กินแล้วนอนนั้น ให้ไล่หนีทันทีเลยนะ..."

นอกจากท่านจะสงเคราะห์วัดปฏิบัติในถิ่นทุรกันดารต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ด้วยระลึกถึงบุญถึงคุณท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) พระอุปัชฌาย์ ท่านจึงได้ให้ความช่วยเหลือด้านจตุปัจจัยไทยทานแก่ วัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นวัดของพระอุปัชฌาย์ของท่านเอง เป็นประจำทุกเดือนตลอดมาหลายสิบปี กระทั่งทุกวันนี้ไม่เคยขาดตกบกพร่องเลย

อีกวัดหนึ่งคือ วัดป่าสุทธาวาส ในตัวจังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นสถานที่ประชุมเพลิงและเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อของท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ผู้มีพระคุณสูงสุดแก่ท่าน ท่านจึงหาโอกาสเข้ากราบไหว้รูปสมมติของท่านอาจารย์มั่นอยู่เสมอมาไม่ห่างเหินลืมเลือนแต่อย่างใดเลย

ทุกครั้งที่ไป ท่านจะนำจตุปัจจัยไทยทานต่างๆ ไปสงเคราะห์ช่วยเหลือวัดด้วยทุกคราง คุณธรรมดังกล่าวของท่านนี้ ทำให้ลูกศิษย์ พระเณร ฆราวาส รู้สึกซาบซึ้งใจ เพราะเห็นท่านเปี่ยมล้นด้วยแบบฉบับอันงดงามในกตัญญูกตเวทิตาคุณต่อผู้มีพระคุณ

เตือนพระเณร...ระวังมหาภัย 5 อย่าง

ในคราวท่านไปแจกของและเยี่ยมเยียนสำนักที่ตั้งใจปฏิบัติ ท่านจะย้ำเตือนพระเณรลูกหลานอยู่เสมอๆ ด้วยความเมตตาสงสารถึงมหาภัย 5 อย่าง ดังนี้

"พระเราเป็นเพศที่หนึ่งที่จะสามารถครองมรรคครองผลได้ เพราะมีโอกาสอันดีงาม ทุกสิ่งทุกอย่างอำนวยหมด ให้พากันตั้งใจ เราเป็นห่วงเป็นใยพระลูกพระหลานของเรา กลัวจะเลินเล่อเผลอสติเป็นบ้ากับโลกกับสงสารเขา ทุกวันนี้เรื่องของกลมายาของกิเลสนั้นมีมากนะ วันนี้จะพูดให้บรรดาพระลูกพระหลานทั้งหลายของเราได้ทราบเสียว่าจุดใหญ่มหาภัยคืออะไร

เริ่มตั้งแต่ หนังสือพิมพ์ เป็นข่าวเป็นคราว พระเราไม่จำเป็นต้องหาข่าวหาคราว หลักข่าวหลีกคราวทั้งนั้นถึงถูก อย่างพระพุทธเจ้าไล่เข้าป่า...เพื่อหลีกข่าวหลีกคราวทั้งหลาย อันเป็นเรื่องยุ่งเหยิงวุ่นวายของกิเลส มันบีบบี้สีไฟนั้นเอง...จากนั้นก็ วิทยุ ให้ตัดออก อันนี้ก็เป็นเรื่องข่าวเรื่องคราว เรื่องยุยงก่อกวน จิตใจให้ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปตามมัน เทวทัต โทรทัศน์ วิดีโอ นี่เป็นตัวสำคัญมาก อันนี้อันหนึ่ง แล้ว โทรศัพท์มือถือ นี้สุดยอดได้เลย จับโทรศัพท์ขึ้นใส่หูปั๊บ นี้คุยกับอีสาวได้สบายเลย นัดกันไปห้องไหนหับไหน ที่ไหนๆ ม่านรูดม่านรีดไม่สำคัญ นัดกันได้ถึงที่สุดเลย

นี่แหละ 5 กษัตริย์นี้เองเป็นตัวทำลายศาสนาอยู่เวลานี้ วัดวาอาวาสเราเลยจะรกจะร้างไปหมดเพราะสิ่งเหล่านี้เข้าไปทำลายตามวัดตามวา จะไม่มีเหลือพระเณรอยู่ในวัดแล้ว ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็เมื่อเห็นความอุจาดบาดตาของพระเณรไม่มียางอายแล้ว ประชาชนญาติโยมเขาก็หมดศรัทธา ไม่มีความเคารพเลื่อมใส เขาก็ไม่ใส่บาตรให้กินล่ะซิ เมื่อเขาไม่ใส่บาตรให้กินแล้ว...พระเณรจะทนอยู่ได้ยังไง วัดก็กลายเป็นวัดร้างไปได้ นี่ละตัวมหาภัย จึงได้เผดียงให้พระลูกพระหลานทั้งหลายทราบ อย่าได้คุ้นอย่าได้ชินกับมัน อย่าเห็นว่าเป็นสิริมงคล นี้คือตัวภัยสำหรับพุทธศาสนา

สำหรับพระเณรของเรา ให้พากันระมัดระวังให้มาก ใครกล้าหาญชาญชัยก็คือเป็นเทวทัตต่อสู้พระพุทธเจ้านั้นแล นี่เป็นจุดสำคัญมาก ขอให้พากันระมัดระวัง...อย่าไปสนิทสนมกับมัน ถ้าไม่อยากจม นี่เป็นข้าศึก แม้แต่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ จิตใจของเรายังเสาะยังแสวงหายุ่งเหยิงวุ่นวายตลอดเวลา จนหาเวลาว่างหาความสงบไม่ได้ ก็เพราะจิตหาอารมณ์หาข่าว...ให้เอาข่าวแห่งพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์...ข่าวภาวนาลงไปสู่จุดนี้ ระงับดับข่าวนั้นให้หมดไป ให้เหลือแต่ข่าว พุทโธ ธัมโม สังโฆ ข่าวอรรถข่าวธรรมอยู่ภายในใจ ใจของเราจะได้มีความสงบเยือกเย็น ข่าวธรรมกับข่าวโลก คือข่าวกิเลสกับข่าวธรรมนี้ต่างกันมากนะ..."

รักษาป่า ต้นไม้ ต้นน้ำลำธาร

ท่านเมตตาช่วยเหลือราษฎรและฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมบริเวณพื้นที่ป่าลุ่มน้ำป่าสัก เขตบ้านดงคล้อ บ้านน้ำเที่ยง บ้านสามแยก ตำบลวังกวาง อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว เป็นภูเขาสูงชัน เป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำสำคัญหลายสาย ได้แก่ น้ำเลย น้ำฟอง ฯลฯ ซึ่งสภาพพื้นที่บริเวณดังกล่าวในขณะนั้น ถูกบุกรุกแผ้วถางป่าทำไร่เลื่อนลอย จนสภาพป่าถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง ในเรื่องนี้ท่านให้เหตุผลว่า

"...ที่ดินเวลานี้ (มิถุนายน 2537) ก็ 10 กว่าล้านแล้วที่ซื้อ เนื้อที่ดูเหมือนได้ 7 พันกว่าไรแล้ว หลายแห่ง ทางด้านเพชรบูรณ์ก็มี ที่เราซื้อไว้นี้ ไว้เพื่อชาติบ้านเมืองนะ เราไม่ได้ซื้อโดยลำพังเราเองนะ มันเป็นต้นน้ำลำธาร เช่น ต้นน้ำจังหวัดเลยนี่ ที่ผ่านมา ทางอำเภอวังสะพุงนี้แหละ น้ำหมดได้ 2 แล้งนี้แล้ว ต้นน้ำมันอยู่ตรงนั้น เราเลยซื้อครอบไว้หมดเลย เวลานี้ก็มีโครงการพระราชดำริประสานงานเข้ามาในเรา เราบอกเอาเลยให้เลย เพราะเราซื้อนี้ ซื้อไว้เพื่อชาติ

หลวงตามหาบัวไม่มีอำนาจวาสนาอะไรมากนัก วาสนาของพระ อำนาจของพระไปเรื่องของพระ ไม่ใช่เป็นเรื่องแบบโลก ทีนี้เมื่อทหารมาขอประสานงานเกี่ยวข้องด้วยทหารเป็นผู้มีอำนาจ เป็นผู้รักษาได้ เราก็ยกให้ทหารเป็นผู้รักษาแทนเราไปเลย รู้สึกสะดวกดีทุกอย่าง...อยากจะปลูกป่าก็เอาช่วยกันปลูก รักษาตรงไหนๆ ที่มันจะมีความแน่นหนามั่นคงต่อชาติแล้ว เอาเลย เราก็มอบให้ทางทหารเลยเวลานี้ เราเบาใจมากแล้ว เป็นแต่เพียงว่าซื้อให้ๆ ให้ทางทหารเป็นผู้ดูแล..."

คุณค่าของต้นไม้ป่าเขาต่อการบำเพ็ญ

จิตตภาวนา เป็นสิ่งที่ท่านพูดอยู่เสมอๆ ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนพระให้อยู่ป่า การอยู่ให้อยู่ด้วยการพิจารณา อยู่แบบอรรถแบบธรรม ไม่ใช่ไปอยู่ป่าแบบสัตว์ เพราะสถานที่เช่นนี้เป็นที่ชั้นเอกในการบำเพ็ญเพียร ไม่มีคนไปยุ่งกวน วัดที่ท่านให้การช่วยเหลือส่วนใหญ่ จึงพยายามรักษาสภาพที่เป็นธรรมชาติป่าเขาแหล่งต้นน้ำลำธารไว้ให้มากที่สุด พระเณรกุลบุตรสุดท้ายภายหลังจะได้มีสถานที่สงบสงัดในการบำเพ็ญเพียร ในเรื่องนี้ท่านเคยกล่าวว่า

"...วัดดงศรีชมภู เป็นวัดประเภทที่หนึ่ง ภูวัวประเภทเอก ไล่เลี่ยกัน วัดดอยธรรมเจดีย์ ภูเสิงเคิง-สังโฆ เป็นประเภทที่หนึ่ง ผาแดงเหล่านี้ ที่หนึ่งทั้งนั้น อยู่ภาวนาได้ทั่วไป หลบหลีกไปหาที่ภาวนาได้สะดวกสบาย สงวนไว้ แล้วก็ยังที่ที่ซื้อไว้ที่น้ำหนาว นั่นก็เป็นประเภทที่หนึ่งๆ เพราะดงกว้าง ซื้อครอบไว้หมดเลย พระอยู่ 3 ย่านด้วยกัน สงวนป่าเอาไว้สำหรับลูกหลาน ต้นน้ำลำธารจะไม่มีเหลือถ้าไม่สงวนป่าเอาไว้ อันนี้มันอยู่รอบของต้นน้ำลำธารด้วย ซื้อครอบไว้หมด

น้ำฝนตกมาจากเขามันชุ่มเย็น ไหลลงมา แม้แต่แม่น้ำเลยนี้ก็มาจากนั้นนะ แม่น้ำเลยวังสะพุงนี่ มาจากที่เราซื้อครอบไว้โน้นหมด มีอยู่ 2-3 สายแม่น้ำที่ไหลมา จากที่เราซื้อครอบเอาไว้ ตอนนี้พักทางโน้นก่อน ทำประโยชน์อย่างอื่น หมุนไปทางอื่น เรื่องหมุนนี่ไม่ถอยแหละ หมุนไม่หยุด

หมุนเรื่อยๆ ช่วยทางโน้นช่วยทางนี้ จะทำยังไงความทุกข์ความจนไม่โดนใครเข้าก็ดูดี ถ้าโดนเข้าเท่านั้นก็พอแล้ว หงายไปเลย ใครจะอยากโดน โดนทุกข์ ไม่มีกินอยู่ได้หรือมนุษย์เรา จะปลูกของอะไรพืชผลต่างๆ ปลูกไม่ได้ น้ำไม่มี แผ่นดินไม่ชื้น แห้งผาก อย่างนี้ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น ถ้าแผ่นดินมันขึ้น แล้วปลูกมันก็ขึ้น..."

สัตว์ป่าปลอดภัย

ความสงบสงัดของป่ามีผลดีต่อพระด้านการฝึกจิต สำหรับสัตว์ป่าเองก็มีความคุ้นเคย วางใจและอบอุ่นใจได้ง่ายกับพระ ซึ่งต่างกันอยู่มากกับฆราวาส เรื่องนี้ท่านกล่าวว่า

"...กลางคืนดึกๆ สงัด ฟังเสียงนกยูง ร้อง กลางวี่กลางวันไม่เคยเห็นตัวมันนะ เราเห็นสักครั้งสองครั้งเท่านั้นมั้ง นกยูงนะ ไม่เจอมันบ่อยนักเหมือนสัตว์อื่นๆ พวกหมูพวกอีเก้งนี้เจอบ่อย บางทีมันก็จุ้นจ้านๆ มาทางจงกรม มันไม่กลัวคน มันมาอาศัยคน มาอยู่รอบๆ คน เดินจงกรมอยู่มันก็มาหากิน พวกหมูพวกอีเก้งนี้คุ้นง่ายนะ คุ้นง่ายมากเทียว มันมาเหมือนสัตว์บ้านมาหาเรา หาขุดอะไรกิน ซู้ดๆ ซี้ดๆ มา เราก็เดินจงกรมเฉย...เขาก็ไปของเขาทั้งๆ ที่เขาก็เห็นเราอยู่ เขาไม่สนใจนะ

นั่นเห็นไหม พระกับโยมผิดกัน ต่างสีกัน ผ้าเหลืองเป็นผ้าที่ครองโลกมานาน พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ครองผ้าเหลืองทั้งนั้น ผ้ากาสาวพัสตร์ สัตว์เหล่านั้นเคยเกิดเป็นมนุษย์ เคยบวชเป็นพระเป็นเณรมาในศาสนานั้นๆ มาตั้งมากมาย เพราะฉะนั้นเวลาเห็นพระมันถึงตายใจเลยๆ..."

เรื่องเกี่ยวกับสัตว์ป่าอีกเรื่องหนึ่ง ท่านเล่าว่า

"...เรื่องลิงนี้เรายังไม่ลืมนะ เขาจะออกหากินเวลากลางคืน คือกลางวันคนทำลายเขา เขาไม่ออก กลางวันเงียบเลย กลางคืนเขาออกหากิน เราเดินจงกรมอยู่กลางคืนเงียบๆ เดือนหงายๆ เราไม่ได้จุดไฟนี่ เดือนหงายๆ ในดงนะ ดงหนาป่าทึบฟังเสียงเขามานี่ โถ ! เสียงลั่นมาเลยเพราะเป็นฝูงใหญ่ ใหญ่มากนะลิง เขามีหัวหน้าพามา มันมีต้นไม้ต้นหนึ่งที่บนทางจงกรมเรานี่ ผลไม้มันสุกเต็มเลย เขามากินนี้ทุกคืน แต่ทุกคืนเราไม่ให้เขาเห็น

คืนนั้นเราลองแสดงตัวให้เขาเห็น ว่าเขาจะตาดีไหมในเวลากลางคืนนะ โอ๊ย ! ลิงนี่ตาดีนะ กลางคืนนะ ออกคืนวันที่เราจะแสดงตัวให้เขารู้เรื่องของเขานั่น เรานิ่งๆ อยู่ข้างต้นไม่นี่วะ นิ่ง ! เขามาเต็มไปหมด แต่เวลาเราจะกระดุกกระดิกพลิกอะไรนี้ ต้องกะว่าเขากินอิ่มก่อนนะ ไม่งั้นเดี๋ยวเขาเผ่น ไม่ได้กินอิ่มล่ะ เราต้องกะระยะพอดีเขากิน พอมีตัวไปบ้างก็มี...

ทีนี้เราก็กระดุกกระดิกนี่ พอหัวหน้าร้องจิ๊กทีเดียวเท่านั้นนะ นอกนั้นเงียบหมดเลยนะ เงียบเหมือนไม่มีลิงสักตัวเดียวแหละ ลิงทั้งฝูงใหญ่ๆ นะ นั่นน่ะ เพราะมีหัวหน้า มีหัวหน้าเตือนเอา เราเลยนิ่งอีกละ จนกระทั่งนานแล้วก็มีเสียงหัวหน้าด็อกๆ แด็กๆ แต่พอได้ยิน เสียงตัวหนึ่งดังขึ้น ตัวหนึ่งก็ดัง ทีนี้ออกนะ ออกต่างตัวต่างไปเลยนะ แสดงว่าเขาก็อิ่มแล้ว เพราะเราทำนั้น ทำเวลากะว่าเขาอิ่มแล้วเขาไป เขามีหัวหน้าเหมือนกัน ลิง ฝูงลิงมีเยอะนะ กลางวันนี้ไม่เห็นแหละ เขาไม่ออก คือพวกมนุษย์นี้มันยักษ์นี่นะ ยักษ์หูสั้น มันกินดะไปเลยมนุษย์นี่ ลิงก็ไม่เลือก นี่กลางวันเขาจะไม่ออกหากินนะ ตอนกลางคืนเงียบๆ ดึกๆ เขาถึงจะออกนะ กลางวันนี้ไม่เห็นแหละ เขาไม่ออก ต้องสองทุ่มไปแล้วถึงจะออก นี่มาคิดถึงเรื่องความปลอดภัยของสัตว์นี้ละ ลำบากมากกว่ามนุษย์เรามากนะ มนุษย์เราไปที่ไหนเป็นอิสระสบายๆ สัตว์นี้ไปไหนหลบๆ ซ่อนๆ ไม่งั้นตายจริงๆ อย่างนกนี้ดูซินี่ ถ้าไม่มีคนรักษาไม่ได้นะนี่ ฉิบหายหมดเลย การทำลายกันไม่ใช่ของดี แม้แต่สัตว์เขาก็ไม่ต้องการ เขาไม่ประสงค์ ความตายนี้ไม่ต้องมีใครเรียนที่ไหนล่ะ มันหากรู้ในหลักธรรมชาติของตัวเอง กลัวตายด้วยกันทั้งนั้น สัตว์ทุกประเภท..."


(มีต่อ 32)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 27 พ.ย.2006, 7:33 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ 22 โรงเรียน

ด้านวัตถุและเครื่องอุปโภคบริโภค

หลวงตาเมตตาสงเคราะห์สนับสนุนทางการศึกษา ทั้งในแง่ตึกอาคารเรียน วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อใช้ในงานธุรการบ้าง ด้านสื่อการเรียนการสอนและอื่นๆ แก่โรงเรียนต่างๆ หลายแห่ง

ตัวอย่างประเภทที่ท่านช่วยเหลือ เช่น ช่วยสร้างอาคารธรรมสถาน ตึกเรียน อาคารเรียน โต๊ะเก้าอี้ อุปกรณ์ทางการเรียน การสอน ค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนยากจน เป็นต้น

สำหรับตัวอย่างโรงเรียนที่ท่านเมตตาสงเคราะห์ โดยมากอยู่ในจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดใกล้เคียงที่พอจะอยู่ในข่ายความรับผิดชอบในสายตาของท่าน เพื่อดูเหตุผล ดูความจำเป็นมากน้อยในการสงเคราะห์ เช่น โรงเรียนสตรีราชินูทิศ โรงเรียนบ้านตาด โรงเรียนอุดรธรรมานุสรณ์ โรงเรียนหนองแสงวิทยา โรงเรียนบ้านดงเมือง โรงเรียนบ้านหนองตุ โรงเรียนค่ายประจักษ์ศิลปาคม ฯลฯ

ด้านธรรมะที่ใช้ในการเรียน

ด้วยตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนของชาติ จะได้มีความรู้ติดเนื้อติดตัวอันจะเป็นประโยชน์แก่ตน แก่ครอบครัว และชาติบ้านเมือง ท่านจึงเน้นเสมอให้เด็กรู้จักรับผิดชอบชีวิตตนเองตามวัยอันควรเป็น อย่างมีหลักเกณฑ์เหตุผลเช่น คราวหนึ่ง ท่านสอนคณะนักเรียน ดังนี้

ขยันเรียน...รอบคอบ...คบเพื่อนดี

"...จงพยายามตั้งใจศึกษาเล่าเรียนทุกคน อย่าขี้เกียจ อย่าเถลไถล อย่าเห็นการเล่นดีกว่าการเรียน จงเห็นการเรียนดีกว่าการเล่น จะภาคภูมิใจในตัวเอง เวลาสอบก็อาจหาญ ไม่สะทกสะท้าน และสอบได้คะแนนสูง เพราะความขยันเรียนย่อมได้คะแนนดีเสมอ

ผิดกับคนขี้เกียจเรียนอยู่มาก อย่าเอามาเป็นตัวอย่างจะเสียใจภายหลัง รีบเตรียมตัวในเวลาเรียนและก่อนสอบ อย่าให้บกพร่องในหลักวิชาที่เรียน...

...เวลาสอบตก เราจะตำหนิครูก็ไม่ได้ เพราะเราขี้เกียจ บกพร่อง ข้อสำคัญการชอบเที่ยวนั่นละทำให้เราสอบตก เมื่อสอบตกแล้วทำให้เกิดความขี้เกียจขี้คร้านเข้าอีก และชอบคบค้าสมาคมกับเพื่อนฝูงที่เลวทราม เราก็ยิ่งมีใจต่ำทรามไปเรื่อยๆ มองเห็นครู เห็นอาจารย์เกิดความกระดากอาย กลัวครูจะซักถามนั่นนี่ ไม่อยากเข้าหน้าเสียแล้ว เพราะจิตใจมันเสียมันเลวลง เพื่อไม่ให้เป็นดังที่กล่าวนี้ จงรีบดัดแปลงตนแต่ปัจจุบันคือ ขณะนี้บัดนี้ตลอดไป...

ตรงไหนที่ยากลำบาก ให้พยายามเรียนและท่องเสมอจนจำได้ ข้อใดที่ครูบอกหรือครูสั่งให้ท่องจำให้ได้ จงท่องให้ได้ติดปากติดคอจริงๆ ที่ไหนไม่เข้าใจให้ศึกษาไต่ถามครูเพื่อความเข้าใจ

อย่าเก็บเอาไว้ด้วยความอายครูและเพื่อนฝูง ซึ่งเป็นสิ่งที่จะปิดทางเพื่อความเข้าใจของตนในเวลาจำเป็น เช่น เวลาสอบ เราระลึกไม่ได้ ทั้งๆ ที่สิ่เราสงสัยควรจะถามครูอยู่แล้ว แต่ไม่ถาม

เวลาข้อสอบออกมาก็มาถูกจุดที่เราไม่รู้ที่เราสงสัยนั้น ก็เลยขาดผลประโยชน์ที่ไม่ควรจะขาดไปเสีย และถูกตัดคะแนนลงไปเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง กลายเป็นคนเดินช้าล้าหลังไม่ทันเขา

...ดังนั้น จึงต้องพยายามศึกษาให้เข้าอกเข้าใจทุกแง่ทุกมุม ไม่สะเพร่ามักง่าย ควรพยายามฝึกหัดตนให้เป็นคนละเอียด รอบคอบไปด้วยเป็นการดี เวลาสอบจะไม่พรวดพราดและมักได้คะแนนต่ำและสอบตกเสมอ..."

หนังสือที่ควรอ่าน

นอกจากตำราเรียนที่นักเรียนต้องรับผิดชอบในการศึกษาหาอ่านแล้ว ควรรู้จักค้นคว้าหาความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติมจากหนังสือประเภทอื่นด้วย ในเรื่องนี้หลวงตาเมตตาให้คำแนะนำแก่ลูกหลานไว้เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการเลือกสรรหนังสือที่ควรอ่านดังนี้

"...เราเห็นคุณค่าของการอ่านหนังสือทางด้านธรรมะเป็นสำคัญ อ่านทางโลก มันมีฉากหน้าฉากหลัง สุดท้ายก็ฉากหลังนั่นแหละทำลาย ฉากหน้าเป็นเครื่องล่อหูล่อตาล่อใจไปหน่อยๆ ฉากหลังนี่สำคัญ แทงเข้าไปเลยเสียมากต่อมาก แต่เมื่อไม่มีใครคิดทางเรื่องเสียแล้วก็ มันจะเสียขนาดไหนก็ไม่สนใจ มีแต่บืนหน้าเรื่อยๆ ความฉิบหายก็ไปเรื่อยๆ เหมือนไฟลามทุ่ง

ส่วนที่เป็นสารประโยชน์ก็มี ไม่ได้ปฏิเสธ แต่ผู้ที่อ่าน ส่วนมากมักอ่านด้วยความเพลิดเพลินละซิ ไม่ได้อ่านเพื่อหาสารประโยชน์อะไรนักนะ ยิ่งเป็นเด็กหนุ่ม เด็กสาวด้วยแล้ว คึกคะนองนี้ โอ๊ย เป็นบ้าไปเลยเทียว บ้าสดๆ ร้อนๆ

ยิ่งเห็นโป๊ๆ เป๊ๆ ด้วยแล้ว ยิ่งไปใหญ่เลยนะ ลืมนุ่งผ้าซิ่นนุ่งผ้านั่นแหละ วิ่งเป็นบ้าเหมือนหมา

นี่ละ อำนาจของกามตัณหา มันใช่เล่นเมื่อไร มันเคยทำลายโลกมามากต่อมากแล้ว อันไหนก็ไม่รุนแรงเหมือนอันนี้ อันนี้รุนแรงมาก ไม่ว่าสัตว์ว่าคน ถ้าลงอันนี้ได้บีบหัวใจแล้ว อยู่ไม่ได้ ต้องดิ้นเทียว...ท่านจึงให้มี น้ำ คือ ธรรมะ อ่านธรรมะ ฟังธรรมะ อบรมธรรมะ เพื่อดับไฟในใจ เพราะสิ่งที่ทำให้เพลิดเพลินนั้นเป็นสิ่งที่มีพิษภัยและความโศกเศร้าแฝงอยู่ในนั้น จึงนำธรรมะเข้าไปชะล้างในจุดนั้น เปิดออกเพื่อเห็นโทษของมัน..."

ด้านศีลธรรมและความประพฤติ

เมื่อมีกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาและคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ มาทำบุญใส่บาตร ท่านมักแสดงความห่วงใยถึงศีลธรรมและความประพฤติของเด็กและเยาวชน ดังนี้

ข้อควรปฏิบัติต่อพ่อแม่

"...ให้สมบัติเงินทอง ข้าว น้ำ อาหารคาวหวาน เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย...ให้การพยาบาลรักษาในเวลาเจ็บไข้ได้ทุกข์...ประคับประคองท่านในเวลาแก่ชรา ยืนเดินนั่งนอนหรือไปมาไม่สะดวก...รักษาน้ำใจไม่ให้ได้รับความกระทบกระเทือนบอบช้ำจากการแสดงออของบุตรธิดาแต่ละอย่างๆ...

บำรุงท่านด้วยวัตถุ หรือด้วยมรรยาทอัธยาศัย ไม่ฝ่าฝืนดื้อดึง...ช่วยเตือนด้วยอุบายต่างๆ ในทางที่ชอบ...ปลอบโยนให้รื่นเริงใจในเวลาที่ท่านเกิดความหงุดหงิดไม่สบายใจในบางเวลา..."

ข้อควรระวังกับพ่อแม่

"...เวลาพ่อแม่ว่าอะไรก็อย่าถกอย่าเถียง อย่าโต้อย่าอวดรู้อวดฉลาด ว่าตนนี้ได้เรียนรู้ความรู้วิชาในชั้นนั้นชั้นนี้ พ่อแม่ไม่ได้เรียนอะไร จะเรียนอะไร พ่อแม่เลี้ยงลูกมาจนเกือบตาย จะให้เรียนอะไรอีก เข้าใจหรือเปล่าล่ะ ทั้งให้ไปเรียนอีก ทั้งเลี้ยงลูกอีก มันตายละพ่อแม่คน นี่ เราโตขึ้นมาเราไปเรียนหนังสือ แล้วเอาความรู้นี้ไปอวดพ่อแม่ คนนั้นเป็นคนโง่คนพาลสันดานหยาบ ไม่ดีคนอกตัญญู คนนั้นไปทำอะไรไม่เจริญนะ ดีไม่ดี ลุกเกิดขึ้นมาก็มาเป็นภัยต่อพ่อแม่มาเป็นข้าศึกต่อพ่อแม่ เพราะพ่อแม่คือใครก็คือเรา เราไม่รู้จักบุญจักคุณของพ่อแม่ฉันใด ลูกก็จะไม่รู้จักบุญจักคุณของเราฉันนั้น...

"อะไรก็ตามเถอะ อย่าได้ลืมคุณของพ่อของแม่ อันนี้เป็นหลักเกณฑ์ที่ใหญ่โตมาก ใครประมาทพ่อแม่แล้วคนนั้นไม่เจริญเลย ไปไหนก็ไปเถอะ มันหากเป็นอยู่ในนั้นแหละ เพราะพ่อแม่นี้เป็นเรื่องที่หนักมาก ถ้าว่าบุญก็บุญมาก กุศลมาก ปฏิบัติถูกต่อพ่อแม่แล้ว ท่านว่าได้บุญมาก ทักขิเณยยบุคคลของบุตร คือ พ่อกับแม่ เทียบกับพระอรหันต์องค์หนึ่ง ไม่ใช่เล่นๆ นะ ถ้าทำผิดก็เป็นพิษอย่างร้ายแรง..."

อ่อนน้อมต่อครูอาจารย์-ผู้อาวุโส

หลวงตาเมตตาสอนลูกหลานที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนเสมอๆ ดังนี้

"...เวลาไปพบครูอาจารย์สถานที่ใด ให้ยกมือไหว้และทำความเคารพอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนจริงๆ อย่าทำตัวแข็งกระด้างและเฉยเมยไป เหมือนความรู้วิชาของเราเกิดขึ้นมาจากดินจากหญ้า ไม่เกิดขึ้นมาจากความอุตส่าห์พยายามน้ำพักน้ำแรง ความเมตตาสงสารของครู ให้เราคิดถึงครูอาจารย์ ว่าเป็นผู้มีคุณค่าอยู่บนหัวใจของเราหรืออยู่บนกระหม่อมจอมขวัญของเราเสมอ อย่าได้ลืม อย่าได้ลบหลู่ดูหมิ่น เราจะเป็นผู้เจริญในอนาคต ไม่อับเฉาเศร้าหมอง เวลาเราเป็นผู้ใหญ่หรือเป็นครูอาจารย์คน ย่อมมีคนเคารพสนองตอบความดีของเรา...

...เราเป็นนักเรียน ศึกษาเล่าเรียนให้เข้าอกเข้าใจ ให้เคารพครูเคารพอาจารย์กลับไปบ้านไปเรือน เคารพพ่อเคารพแม่ เคารพวัยวุฒิ คุณวุฒิ เคารพคนเฒ่คนแก่ เคารพท่านผู้มีบุญมีคุณ

เพราะนี้ปราชญ์ทั้งหลายเทิดทูนกันมากมานาน จงพากันรักษามรดกนี้ไว้ อย่าทำให้เสื่อมทรามและสูญหายไป..."

ความรัก

"สมมติว่าเรามีความรักความชอบในผู้ใดก็ตาม ความรักนั้นยอมรับว่ารัก เพราะอยู่ภายในใจใครห้ามไม่ได้ แต่สิ่งที่เราจะบังคับไม่ให้เป็นไปตามความรักเสียทุกอย่างนั้น เป็นเรื่องของใจจะต้องบังคับสติปัญญา จะต้องบังคับตนไม่ให้แสดงออกในสิ่งที่ไม่น่าดูและในสิ่งที่เสียหาย

จนกว่าเวล่ำเวลาได้อำนวยถูกต้องทุกประการแล้วนั้น โลกยอมรับกัน เพราะฉะนั้น โลกนี้จึงมีผัวมีเมียมีลูกมีเต้าเหล่ากออยู่เต็มบ้านเต็มเมือง ก็ไม่มีใครตำหนิกัน เพราะเป็นไปด้วยความถูกต้องดีงาม เป็นไปด้วยขนมประเพณีที่มนุษย์ยอมรับกัน..."

"วัยเรียน" ไม่ใช่ "วัยลิง"

"...อย่าเทียวเตร็ดเที่ยวเตร่ เวลานี้ไม่ใช่เวลาเที่ยวเตร็ดเตร่เร่ร่อน ถึงเวลาจะควรเป็นหากค่อยนเป็นไปเอง เรื่องอารมณ์คึกคะนองก็เหมือนกัน ชอบสนุกเฮฮา ชอบเกาะชอบเกี้ยว ชอบเลี้ยวโน่นเลี้ยวนี่ ไม่ดีเช่น นักเรียนหญิง นักเรียนชาย ก็อย่าไปสนิทกันในทางกามารมณ์อันเป็นทางเสียหาย ทางเผาบ้านเรือนก่อนปลูกยังไม่เสร็จ มันฉิบหาย ในระยะนี้ในวัยนี้เป็นวัยเรียน ไม่ใช่วัยเล่นเลยขอบเขต อย่ากลัวโลกตาฝ้าตาฟางนี้จะสูญหายไปไหน มันไม่สูญหายไปไหนแหละ เพราะมันมีอยู่กับเรากับท่านทุกเวลานาที นอกจากได้ตีกระบาลมันไว้ ไม่ให้คนเป็นลิง ไปเท่านั้น ไม่งั้นลิงจะมาแย่งเอามนุษย์ไปกินหมด...

...มนุษย์เราสืบพันธุ์มาตั้งแต่ต้นจนอวสานปัจจุบันนี้ และยังจะมีต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด เรื่องหญิงกับชายแล้วไม่สูญพันธุ์ เรื่องนี้ไม่ต้องศึกษาเล่าเรียนให้เพิ่มโรคบ้ากามเข้าไปอีก ไม่ต้องมีโรงร่ำโรงเรียนสอนกัน โรคกามก็พร้อมจะเจริญอยู่แล้ว ดังสัตว์เดรัจฉานเขาก็ไม่สูญพันธุ์ เพราะเรื่องกามกิเลสนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในหัวใจสัตว์ทั้งตัวผู้ตัวเมีย ทั้งหญิงทั้งชาย มีอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีคำว่าบกพร่องเพราะไม่ได้เรียน ไม่ได้ส่งเสริมมัน..."

อย่าเป็น "หญิงใจง่าย ชายไร้ศักดิ์ศรี"

"...เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่เราจะไปสนใจกับสิ่งเหล่านี้ อันจะเป็นการทำลายการศึกษาเล่าเรียนและทำลายอนาคตของเราให้กุดด้วนเข้ามา เรามีหน้าที่ที่จะศึกษาเล่าเรียนและรักนวลสงวนตัวทั้งหญิงทั้งชายผู้ชายก็รักเกียรติของตัวว่าเป็นชายผู้หญิงก็สงวนศักดิ์ศรีอันดีงามของตนว่าเป็นกุลสตรี ตามประเพณีของมนุษย์ผู้มีสมบัติผู้ดีของเมืองไทยเราถือกันมาอย่างนั้น เพราะเป็นหลักประเพณีอันดีงามมาแต่ดึกดำบรรพ์ ไม่เคยล้ำสมัย และมีปมด้อยร่อยหรอแก่ประเพณีของชาติใดในโลก...

ยิ่งเราเป็นนักเรียนด้วยแล้ว เรียนความรู้ก็ให้รู้ ความประพฤติก็ให้ดี การสงวนตัวรักษาตัวก็ให้ต่างคนต่างรักษาให้ดีมีศักดิ์ศรีทั้งหญิงทั้งชาย ผู้ชายก็อย่าเป็นคนเห็นแก่ตัวจัด มีช่องว่างตรงไหนเข้าทำลาย ซึ่งเป็นการทำลายศักดิ์ศรีของตัวนั่นแล

การทำเช่นนั้นเป็นความเลวทรามของตัวเอง เป็นผู้ชายแบบลิงไว้ใจไม่ได้ สุภาพชนรังเกียจติเตียน ทั้งเสียเกียรติแห่งความเป็นผู้ชาย ผู้หญิงที่ชอบปล่อยตัวเป็นคนใจง่ายขายคล่อง เป็นคนขายก่อนซื้อ สุกก่อนห่าม นั่นคือหญิงเลวทราม บทถึงเวลาเอาจริงเอาจังไม่มีใครซื้อ ใช้ไม่ได้ และไม่มีใครนับหน้าถือตาอยากนำมาเป็นศรีสะใภ้กลัวเกรงจะเป็นสกุลขายทอดตลาด..."

ติดยาเหมือนปลาติดเบ็ด...เลือดสาด

"...ยาเสพติด...เวลานี้มีระบาดอยู่ทุกแห่งทุกหน แม้แต่ในโรงเรียน มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ก็มีเยอะ...ลูกหลานให้รู้จักวิธีรักษาตัว อย่าให้หลวมตัวเข้าไป

ทีแรกก็คิดว่าเป็นเรื่องสนุก เมื่อติดเข้าไปแล้วก็เหมือนักบปลาติดเบ็ดนั่นแหละ มันมีเหยื่ออยู่นิดเดียวที่ปลายเบ็ดนั้นน่ะ พอกินเข้าไปเท่านั้น ถูกเบ็ดเกาะปาก

ทีนี้ดิ้นไม่หลุดแกาะไม่ออกแหละ เบ็ดเกาะติดเลย แล้วก็ตาย ยาเสพติดก็เหมือนกัน เมื่อเสพเข้าไปแล้วก็ติด ติดแล้วไม่ได้เสพ ไม่ได้ดื่ม ไม่ได้กิน อยู่ไม่ได้ ทุรนทุราย เงินทอง ข้าวของไม่มี ตัวก็ได้ติดยาเข้าไปแล้วทำอย่างไร หาทางบริสุทธิ์ไม่ได้ก็หาทางทุจริตเที่ยวฉกเที่ยวลัก เที่ยวปล้นเที่ยวจี้ กดขี่ข่มเหงใครได้ เป็นเอาทั้งนั้น คำว่ายางอาย ไม่มีในหัวใจ...

ถ้าติดเข้าไปแล้ว จนกระทั่งวันตายก็ไม่มีทางหาย ไม่เหมือนโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย รักษาด้วยหยูกยายังมีเวลาหาย แต่ยาเสพติดนี้ถ้าลงได้ติดเข้าในรายใดแล้ว รายนั้นต้องเขียนใบตายให้เลย เขียนใบว่าหมดคุณค่า ตายทั้งเป็นไว้ให้เลยทีเดียว ทั้งที่ยังไม่ตาย..."

เวลาใส่บาตร...ไม่เหยียบบนรองเท้า

"...พระพุทธเจ้าเสด็จออกทรงผนวช ไม่เห็นมีใครไปราดยางให้พระพุทธเจ้า มีไหมในตำราว่า พระพุทธเจ้าไปที่ไหนราดยางไปพร้อมๆ ไม่เห็นมี ต่อไปนี้ เราจะต้องได้ถือไม้ติดตัวไปด้วย ไปบิณฑบาตต้องถือไม้ติดตัวไปด้วย เราบอกให้ถอดรองเท้า พอถอดปั๊บ-ปุ๊บขึ้นเหยียบแล้ว ขึ้นเหยียบอยู่บนรองเท้านะ พวกเพื่อนๆ ละบอกให้ถอดรองเท้า ถอดปั๊บขึ้นเหยียบปุ๊บอยู่ข้างบน ไม่ยอมลงนะ ตีขาน่ะซี

ตรงนั้นน่ะ มันพิลึกกึกกือ กลัวเท้าสกปรกมากกว่าหัวใจสกปรก หัวใจสกปรกมอมแมม เท้าสะอาด ใช้ไม่ได้..."

ไหว้พระก่อนนอน

"...นี่สอนให้บรรดาลูกหลานมีหลักใจ โดยอาศัยหลักธรรมเข้าเป็นเครื่องสนับสนุนเป็นเครื่องป้องกันตัว เป็นเครื่องรักษาตัว เป็นธรรมอบอุ่นใจ เวลาก่อนนอนอย่างน้อยให้ไหว้พระ

อิติปิ โสฯ สวากขาโตฯ หรืออรหังฯ สวากขาโตฯ สุปฏิปันโนฯ แล้วเวลาจะนอนให้ระลึกถึงคำบริกรรมภาวนา เพื่อให้เป็นพลังของจิต เช่น พุทโธ พุทโธ...เป็นต้น

เรานั่งภาวนา อย่างน้อยได้สัก 5 นาที ให้นั่งนึกอยู่กับ พุทโธ พุทโธ...ทีนี้เวลานอนลงไปก็ให้นึก พุทโธ พุทโธ...จนกระทั่งหลับ นี่ จิตใจเราก็แช่มชื่นเบิกบาน หลับฝันไปก็ไม่ฝันร้ายฝันน่ากลัวต่างๆ จิตใจก็มีพลัง..."

"คุณธรรม" นำ "ความรู้"

ศีลธรรมและความประพฤติของผู้กำลังศึกษาเล่าเรียน เป็นสิ่งที่เราจะเพิกเฉย ไม่ใส่ใจไม่ได้โดยเด็ดขาด แต่ต้องพยายามขวนขวายเข้าประดับตนให้มาก ท่านให้เหตุผลว่า เราจะมีแต่วิชาความรู้เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมี ธรรม เข้าแทรกเสมอ ด้วยการพินิจพิจารณาใคร่ครวญว่าผิดหรือถูกประการใด ในการคิด การพูด และการกระทำของตนเอง เปรียบเสมือน รถมีเบรกห้ามล้อคือ มี ธรรม นั่นเอง โทษของการศึกษาเพียงอย่างเดียว โดยไม่หมั่นฝึกฝนอบรมใจให้เจริญขึ้น มีดังนี้

"...เรียนมาเท่าไรก็เป็นเครื่องมือของความชั่วช้าลามกไปเสียทั้งสิ้น เวลานี้เป็นอย่างนั้นนะ ถ้าไม่มีธรรมแล้ว ยังไงโลกนี้จะพินาศฉิบหายจริงๆ ขอให้ลูกหลานทั้งหลายจำเอาไว้ คำนี้ อย่าได้ลืม ฝังให้ลึกด้วย...เพียงความรู้ทางโลกที่เรียนมา...ความรู้อันนี้มันเป็นเครื่องส่งเสริมกิเลสตัณหาให้เอาไปใช้ได้อย่างคล่องตัวๆ ผู้ที่ล่มจมก็คือเราๆ ผู้เรียนมานั้นแหละ...มันพาให้โลภให้โกรธให้หลง พาให้ส่งเสริมราคะตัณหามากขึ้นๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นฟืนเป็นไฟทั้งสิ้น..."

ท่านเล่าว่า บางคนมาคุยโวโอ้อวด ลืมตัวว่าตัวเก่งทางนั้นเด่นทางนี้ มีหลายครั้งที่ท่านเมตตาตักเตือนให้เป็นคติเครื่องเตือนใจว่า

"...เขามาพูดเรื่องว่า จบด้านนั้น...เด่นทางนี้...เด่นทางไหนๆ...ในวิชาความรู้เด่นทางความชั่วช้าลามก เด่นทางความลืมเนื้อลืมตัว...เด่นทางมี 10 เมีย 20 ผัว ใช้ความรู้ความสามารถเด่นทางนักเลงโต...เด่นทางนักเลงสุรา...ทางโกโรโกโส เด่นทางทำลายชาติ...เรียนมาเท่าไรก็มาโก้ มาอวดหน้าร้านอยู่เฉยๆ ตัวล่มจมๆ ประพฤติเหลวแหลกแหวกแนว ความรู้สูงเท่าไรยิ่งหยิ่งยิ่งจองหองพองตัว แล้วทำลายชาติ ทำลายตัวเองไปในตัว...ใครอย่าอวดว่าใครเรียนเก่ง มีความรู้ชั้นนั้นชั้นนี้...เรียนมาให้เป็นเครื่องประดับโลก ประดับสงสาร ประดับบ้านประดับเมือง ให้เป็นสรณะแก่นสารแก่ชาติไทยของเราสมความรู้ที่เรียนมามากน้อย มันถึงถูก..."

ถึงแม้ว่าจบ "การศึกษา" ก็อย่าเลิกรา "การศีลการธรรม"

แม้จะประสบความสำเร็จทางการศึกษาขั้นสูงเพียงใดก็ตาม เช่น จบปริญญาเอกหรือดอกเตอร์ ธรรม ก็ต้องมีความจำเป็นสำหรับผู้นั้นยิ่งขึ้นไปอีก ท่านเคยอธิบายเหตุผลย้ำอย่างเด็ดว่า

"...ด็อกเตอร์มีแต่ความรู้วิชาเอามาอวดโลกกันเฉยๆ แต่เจ้าของทำความล่มจมแก่โลก ด็อกเตอร์นี้ใช้ไม่ได้ นั่น เห็นไหมละ ฟังซิ เราพูดนี้เสียหายไปตรงไหน มันมีอย่างนั้นได้นี่ พูดตามความมีความเป็น แล้วแก้ไขความเป็นอย่างนี้ด้วยการสั่งสอนอย่างนี้...เขาไม่เป็นด็อกเตอร์ เขาครองตัวดี เขาประพฤติตัวดี นั่นเป็นคนดีนะ ไม่ได้สำเร็จ ความดีด้วยด็อกเตอร์แต่ไม่มีธรรมภายในใจนะ

ด็อกเตอร์มีธรรมในใจ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นด็อกเตอร์ก็ดี ถ้าเป็นด็อกเตอร์ก็ยิ่งดีนั่นแหละ ยิ่งเป็นผู้สง่างามในปวงชนนะ เรียนมาความรู้สูง มาเป็นตัวอย่างเป็นแบบพิมพ์ที่ดีของโลก ด็อกเตอร์ประเภทนี้เป็นด็อกเตอร์ที่ร่มเย็น ให้ความชุ่มเย็นแก่โลก สมชื่อสมนามว่าเป็นด็อกเตอร์ มีความรู้ชั้นสูง ความประพฤติ ปฏิบัติดีงาม ทุกสิ่งทุกอย่างสูงไปตามๆ กันกับความรู้ที่เรียนมานี้เรียกว่า ด็อกเตอร์ ประดับชาติ ถ้าอยู่ในชาติไทยของเราก็ประดับ ชาติไทยของเราประดับสังคม ประดับทุกแง่ทุกมุม..."

ท่านจึงเปรียบด็อกเตอร์เป็นสองประเภทคือ ด็อกเตอร์เพื่อทำลายชาติบ้านเมืองหนึ่ง และด็อกเตอร์ที่ให้ความเจริญรุ่งเรืองแก่ตนและชาติหนึ่ง ท่านกล่าวถึงประเภททำลายชาติก่อน ดังนี้

"...ไม่มีคำว่าอ่อนข้อในเรื่องทำความชั่วช้าลามก ในเรื่องความลืมเนื้อลืมตัว ไม่มีใครเกินด็อกเตอร์เหล่านี้ เพราะเรียนวิชาความลืมตัวมาตลอดๆ เพราะกิเลสคือความทำคนให้ลืมตัวนี่นะ ถ้ามีธรรมแทรกเข้าไป จะเป็นเหมือนมีสติ มีเครื่องยับยั้ง มีเบรกห้ามล้อ จะรู้เนื้อรู้ตัว ผิดถูกชั่วดีประการใดแล้ว เอาความรู้นี้พาดำเนินไปเพื่อความสงบร่มเย็นแก่ชาติบ้านเมืองเนี่ย

ด็อกเตอร์ที่มีธรรมเป็นผู้ให้ความร่มเย็นแก่โลกได้มากที่สุด ไม่มีใครเกินผู้ที่มีความรู้มากละ และมีธรรมในใจ ผู้นี้แหละเป็นผู้ให้ความร่มเย็นแก่โลกมากที่สุด ตั้งรากฐานบ้านเมืองได้ก็คือผู้นี้ นำชาติบ้านเมืองให้ขึ้นจากความล่มจมได้ทุกประเภทก็คือผู้นี้..."

คำสอนของท่านดังกล่าวข้าวต้นนี้ ทำให้ประจักษ์ว่า การศึกษาหาความรู้ไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดตั้งแต่ขั้นพื้นฐานเบื้องต้นกลาง ตลอดจนถึงระดับสูงสุดก็ตาม ความจำเป็นแห่งการฝึกฝนอบรมจิตใจให้พรั่งพร้อมด้วยคุณธรรมก็ยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้นตามกัน

ผู้ที่ตระหนักและเห็นคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ในเรื่องดังกล่าวชัดแจ้ง จึงย่อมมีความเคารพบูชาและเทิดทูนในท่านผู้รู้ผู้สอน และผู้สนใจใคร่ต่อการปฏิบัติธรรม เฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่สามารถปฏิบัติได้อย่างที่ได้สอนผู้อื่น และเห็นผลแห่งการปฏิบัติจนสามารถเป็นสักขีพยานยืนยันถึงสาระคุณแห่งธรรมได้อย่างถึงใจ

ด้วยเหตุนี้เอง ท่านผู้มีธรรม แม้ท่านจะมีความรู้วิชาทางโลกสูงล้นฟ้าเพียงใดก็ตาม ท่านย่อมไม่ประมาทธรรม และไม่ประมาทผู้ประพฤติธรรม แต่กลับให้ความเคารพและถือท่านเป็นสรณะที่พึ่งที่ควรเข้าปรึกษาปรารภเพื่อความเจริญในธรรมยิ่งขึ้น และย่อมไม่ลืมตัวเผลอไผลยกเอาวิชาความรู้แบบโลกของตนเข้าข่มท่านผู้รู้ในธรรมปฏิบัติ ผู้ขจัดอาสวะกิเลสให้สิ้นจากใจได้ เพราะวิชาความรู้แบบโลกนั้น จะสูงต่ำล้ำลึกเพียงใดก็เป็นเพียงความรู้ของนักโทษในเรือนจำ ท่านเคยอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังนี้

ความรู้เหนือโลก-ความรู้แบบโลก

"...ดูใจเจ้าของ แน่นอนไหมเวลานี้ตั้งแต่มหาเศรษฐี กระฎุมพี สูงสุดมา คนที่กิเลสครอบงำนี้ เป็นความรู้ความเห็นความเป็นอยู่ด้วยอำนาจของกิเลสครอบงำหัวใจทั้งนั้น...เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นในวงของกิเลส เป็นความรู้ของผู้อยู่ใต้อำนาจของกิเลส จะรู้ขนาดไหน กิเลสต้องครอบงำอยู่นั่นแล...เป็นความรู้ของนักโทษเรือนจำคือวัฏจักร...

วัฏจักรนี้ เหมือนเรือนจำครอบความรู้อันนี้ไว้ กิเลสเป็นผู้บงการทุกอย่างๆ...มันวิเศษที่ไหน ความรู้ของพระพุทธเจ้า ไม่ได้เป็นความรู้แบบนี้นี่น่ะ เหนืออันนี้หมดแล้ว...ดูหัวใจเจ้าของนั่น เวลามาเกิด มันก็ไม่รู้สถานที่เกิด เกิดมาจากไหน เกิดมากี่กัปกี่กัลป์ เกิดตายมานี้กี่กัปกี่กัลป์

พระพุทธเจ้าท่านเห็นหมดนี่ แทงทะลุข้างหลังหมด พวกเราแทงไปไหน จะว่ายังไงเกิดมาจากชาติใดภพใด ตกนรกหมกไหม้หรือไปสวรรค์ชั้นพรหมที่ไหนมา มันก็ไม่รู้สถานที่มาของตัวเอง โง่หรือไม่โง่ ปัจจุบันนี้จะไปไหนมันก็ไม่ได้แน่หัวใจนะ ถ้าใจไม่มีหลักเกณฑ์ด้วยธรรมเสียอย่างเดียวเท่านั้น ไม่แน่ทั้งนั้น ใครก็ใครเถอะ อย่ามาคุย อย่ามาอวดธรรมของพระพุทธเจ้าเลย อย่ามาแข่งธรรมของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่อยากจม...

...ใจพระพุทธเจ้า ใจพระอรหันต์ท่านกับใจของพวกเราที่เป็นคลังกิเลสนี้ต่างกันอย่างไรบ้าง ต่างกันอย่างพูดไม่ได้เลย จึงเรียกว่า โลกุตรธรรม แปลว่า ธรรมเหนือโลก มองดูโลกเห็นหมดทุกอย่าง แต่โลกดูธรรม โลกมองไม่เห็น เห็นแต่กิเลส..."

ท่านยกตัวอย่างเทียบว่า นักโทษในเรือนจำ จะมีความรู้ขนาดไหนก็ไม่สามารถนำความรู้นั้นไปเป็นกฎเกณฑ์ปกครองบ้านเมืองให้สงบร่มเย็นได้ มีแต่พวกที่มีความรู้นอกเรือนจำต่างหาก ที่เป็นผู้ตั้งกฎหมายปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็น อันนี้ก็เปรียบได้เช่นกัน โลกุตรธรรม คือ ธรรมเหนือโลก คือความรู้เหนือโลกนี้ต่างหาก ที่จะทำโลกให้ร่มเย็น ไม่ใช่ความรู้ที่ถูกกิเลสครอบหัวไว้

พุทธศาสตร์ : วิทยาศาสตร์

ท่านเคยกล่าวว่า พุทธศาสนาเป็นศาสตร์ที่ลึกลับมากที่สุด แต่ไม่มีใครสนใจศึกษาปฏิบัติ จึงไม่มีใครรู้เห็นถึงความอัศจรรย์และความเลิศเลอของศาสตร์แขนงนี้ ผู้ที่เรียนจบวิชานี้จะเรียกว่าเรียนจบไตรภพ หรือจบความรู้ทั่วสามแดนโลกธาตุก็ไม่ผิด ดังท่านได้ขยายความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า

"...วิทยาศาสตร์เป็นอันหนึ่ง พุทธศาสตร์เป็นอันหนึ่ง วิทยาศาสตร์นี้ไปทางด้านวัตถุไม่ใช่เหรอ ส่วนพุทธศาสตร์นี้ไปได้ทั้งวัตถุ ไปได้ทั้งนามธรรม คือจิตใจล้วนๆ...พุทธศาสตร์เป็นศาสนาที่สังหารได้จริงๆ ในเรื่องทุกข์ทั้งมวลที่เกิดกับสัตว์ทั้งหลาย สังหารออกจากจิตใจได้จริงๆ ไม่มีอะไรเหลือเช่น พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ เป็นผู้หายขาดโดยสิ้นเชิงเมื่อแก้อันนี้ตก เมื่อแก้อันนี้ไม่ตก สามแดนโลกธาตุนี้จะเป็นป่าช้าของสัตว์ทั้งนั้นเลย เกิดตายๆ กองกัน ทุกข์ถมกันอยู่อย่างนี้ตลอดไปเลยเนี่ย วิชาธรรมจึงเลิศเลอ ไม่มีใครตามได้แก้ได้ คาดได้ เรื่องภพเรื่องชาติ ธรรมเท่านั้นที่จะแก้ได้ นอกนั้นไม่ได้

อันนี้เป็นความลึกลับมากของภพของชาติ ความเปิดเผยคือการเกิดตายอย่างนี้ด้วยกัน เห็นชัดเจน แต่สาเหตุของมันที่จะพาให้มาเป็นอย่างนี้ เป็นยังไงนี้ ไม่มีใครรู้ได้ ไม่มีใครเรียนรู้ได้เลยละ นอกจากทางด้านจิตตภาวนาพุทธศาสนา...

โลกนี้เป็นโลกที่ลึกลับมาก สัตวโลกมองไม่เห็นเลย แม้ที่สุด เป็นหมอก็มองไม่เห็น หมอที่เรียนแพทย์เรียนอะไรนี้ เป็นวิชาทางส่วนร่างกายกับโรคต่างหาก ไม่ได้เรียนวิชาทางด้านจิตใจ เรียนแพทยศาสตร์เพื่อเป็นวิชาแก้โรคแก้ภัยไปหมด ไม่ใช่แก้กิเลส มันต่างกันอย่างนั้นนะ ทีนี้ วิทยาศาสตร์ทางพุทธศาสตร์ นี้ เพื่อแก้กิเลสโดยตรงๆ ไปเลยเชียว...จนเข้าถึงจิตศาสตร์ หมดร่างกายนี้เข้าสู่จิต เรียนทะลุถึงจิตเลย แต่ วิทยาศาสตร์ทางแพทย์ นี้เขาเรียนจบเพียงแค่นี้ เขาไม่ได้เข้าไปถึงขั้นนั้นนะ

วิทยาศาสตร์อันนี้ใครพูดไม่ได้ด้วยพุทธศาสตร์นี่เข้าถึงขั้นจิตศาสตร์นี้แล้ว ไม่มีใครรู้ได้ด้วย ถ้าไม่ได้ทำทางภาคปฏิบัติ รู้ไม่ได้เลย บอกว่าไม่ได้เลย ตีบตันขนาดนั้น ถ้าเป็นทางด้านจิตตภาวนา เรียกว่าทำทางด้านจิตศาสตร์ล้วนๆ แล้ว รู้ตามไปจนถึงถอนรากถอนโคนมันออกได้หมด ไม่เหลือ ไม่มีเหลือเลยนะ อย่างพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ท่านถอน ท่านเรียนจบแล้ว เอาอันนั้นมาสอนโลกที่ควรจะพูดขั้นนั้น ท่านก็ลงถึงขั้นนั้นเลย ผู้ที่ยังไม่ควรได้ขั้นไหน ก็ให้อยู่ตามขั้นภูมิของตนๆ ไป...ที่ควรจะไปได้ก็ถอนไปเลย นี่ท่านเรียนจบอันนั้นละ พุทธศาสนา เราจึงไม่มีอะไรเลิศเลอเกิน เรียนจบไตรภพว่างั้นเถอะ...จึงเป็นวิชาที่ลึกลับมากที่สุด ไม่มีใครเรียนละ

ใครจะเรียนที่ไหนก็ตามเรื่องโลก โลกเรียนมาจบชั้นไหนภูมิใด มันก็เป็นวิชาของกิเลส วิชาของวัฏจักร มันไม่ใช้วิชาของวิวัฏจักร ถอดถอนภพชาติออกได้เหมือนวิชาธรรม อันนี้สำคัญมากนะ..."

คอมพิวเตอร์กรรม

"...คอมพิวเตอร์ของธรรมมีมาดั้งเดิมแล้ว กรรมของสัตว์ที่ทำลงไปเป็นคอมพิวเตอร์แล้ว พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์สอนแบบเดียวกันหมด...คอมพิวเตอร์ของกรรม...พากันจำเอานะ...

คอมพิวเตอร์ของบาปของกรรมมันละเอียดยิ่งกว่าคอมพิวเตอร์ที่เขาใช้กันอยู่นี้นะ...เป็นหลักธรรมชาติๆ คอมพิวเตอร์ธรรมชาติจดจาริกกันไปในตัวๆ เสร็จ คอมพิวเตอร์หลักธรรมชาติที่มีอยู่ประจำสัตว์เกี่ยวข้องกับดีกับชั่วอันนี้มีประจำอยู่ภายในนั้นแล้ว

ธรรมชาติเป็นคอมพิวเตอร์อยู่ในตัวแล้วในการสร้างดีสร้างชั่วบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ต่างๆ บรรจุคอมพิวเตอร์อยู่ในตัวของมัน จดเข้าอยู่ในหัวใจๆ เรียบ! แล้วยมบาลจะหาที่ไหน คอมพิวเตอร์บอกโดยหลักธรรมชาติแล้ว ตายก็ตูมเลยๆ นี่ นี้หลักธรรมชาติ ไม่ขึ้นกับใคร ใครจะลบล้างไม่ลบล้าง ไม่มีปัญหา ไม่มีความหมายทั้งนั้นละ

ใครอย่าเก่งนะ ! ว่ามีอำนาจวาสนาบุญญาภิสมภารป่าๆ เถื่อนๆ เอ้า เวลาตายไป ขาดลงไปปั๊บ ถึงทันทีเลย ไม่มีนะกิโล กี่กิโลจากนี่ถึงนรกหลุมนั้นๆ กี่กิโล...ผึงเดียวเท่านั้นถึงเลย เพราะการสร้างในหัวใจเจ้าของมีกิโลที่ไหนเล่า พอตายแล้วก็ตูมเลย ถ้าลงนรกลงต่ำก็ตูม ถ้าไปสวรรค์ทางดีก็ดีดผึงเลย...กิเลสตัณหานี่มันพาให้สร้างความชั่ว หิริโอตตัปปะไม่มีในหัวใจนะ ไม่รู้ตัวนะว่าไปสร้างความชั่วเพราะอันนี้เป็นเหตุให้ ธรรม จับเข้าไป มันรู้ทันที เห็นหมด...มันจะออกมาแง่ไหนแง่ใด มันรู้หมด...ปิดไม่อยู่ๆ เพียงแต่จิตแย็บออกมา บอกชัดเจนแล้ว บาปออกมาพร้อมกันแล้ว ผู้ทำหลับตาทำอยู่นั้นไม่รู้ว่าบาปว่าบุญเป็นยังไง หลักธรรมชาติคือคอมพิวเตอร์บอกไว้แล้ว

ทำดีก็เหมือนกัน ไม่จำเป็นจะต้องทำที่แจ้งที่ลับที่ไหนๆ คอมพิวเตอร์มันไม่มีคำว่าที่แจ้งที่ลับ...คอมพิวเตอร์จะบอก ในนั้นเสร็จๆ เลย ทำมากี่ครั้งกี่หนไม่ต้องไปหานับคอมพิวเตอร์จะบอกในตัวเสร็จหมดเลย...

อัศจรรย์ธรรมพระพุทธเจ้า แหม ไม่เคยจืดจางเลย ยิ่งไปเห็นคนทำความชั่วช้าลามก ยิ่งสลดใจนะ ถ้าจะเรียกภาษาโลก เรียกว่า หดหู่ ไม่อยากดู เพราะว่าเขาจะไปทำกรรมของเขาอีกขนาดไหน มันเห็นชัดๆ อยู่ คอมพิวเตอร์มันบอกอยู่นั้น

คอมพิวเตอร์ในตัวของเขาเองที่ทำ มันบอกอยู่ตลอดเวลาๆ ไม่ได้สนใจกับใครละ คอมพิวเตอร์หลักธรรมชาตินี้เป็นอย่างนั้นตลอดเวลา ใครเชื่อไม่เชื่อก็ตาม..."


(มีต่อ 33)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 27 พ.ย.2006, 7:37 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ 23 หน่วยราชการ

หลวงตาให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือหน่วยราชการหลายหน่วยในด้านต่างๆ กัน เพราะท่านเห็นว่าเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการให้ความสะดวก ให้บริการช่วยเหลือแนะนำในการประกอบอาชีพ สารทุกข์สุกดิบบำบัดทุกข์บำรุงสุข รวมทั้งสวัสดิการต่างๆ แก่ประชาชนเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

เมื่อหน่วยราชการต่างๆ มาขอความช่วยเหลือ หากเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและสมเหตุสมผล ท่านก็เมตตาอนุเคราะห์ให้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน เครื่องอุปโภคบริโภค รถยนต์กลไก เครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ในการทำงาน สิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในหน่วยราชการ ฯลฯ

หน่วยราชการที่ท่านเคยให้ความช่วยเหลือ โดยมากอยู่ในจังหวัดอุดรธานี ได้แก่ กองกำกับการตำรวจตะเวนชายแดน 24 ค่ายเสนีย์รณยุทธ ตำรวจทางหลวง สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ตำรวจสันติบาล สถานีรถไฟ เรือนจำกลาง เป็นต้น

ในที่อื่นๆ ได้แก่ ทัณฑสถานหญิง กรมราชทัณฑ์ สถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอภูพาน ฯลฯ

ด้านธรรมะสำหรับชีวิตและการงาน

ท่านเมตตาให้ธรรมะเป็นข้อคิดเตือนใจแก่คณะผู้ใหญ่ผู้น้อยของหน่วยงานต่างๆ ที่มากราบเยี่ยมท่านเสมอๆ ให้รู้จักนำศีลนำธรรมมาเป็นหลักยึดเหนี่ยวในจิตใจไม่ให้เผลอเพลินลืมเนื้อลืมตัว

อย่าบ้า...ลาภยศสรรเสริญ

คราวหนึ่ง ท่านแสดงธรรมอย่างเป็นกันเองแบบลูกหลานโปรดคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ร่วมกับนักธุรกิจจำนวนเกือบ 50 คน ดังนี้

"...นี่มาจากทางไหนกันบ้างนี่"
"มาจาก...มาดูงานทางภาคอีสาน ก็เลยมากราบครับ"
"เหรอ มาดูงานเหรอ...เคยมาวัดป่าบ้านตาดแล้วยังละ ? เหล่านี้เคยมาแล้วยัง ?"
"ครั้งแรก ไม่เคยมาเลยครับ"
"ไม่เคยมา แต่โรงลิเกละครระบำรำโป๊พวกบ้าๆ นั่นไปทั้งนั้นใช่ไหม ?...หือ ?"

ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วเลวที่สุดนะ มองไม่ทัน ถ้าเป็นหมา จับหางดึงไว้ หางขาดยังบืน (คืบคลาน) ไปได้นะ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว

ถ้าเป็นเรื่องศีลเรื่องธรรม นี่ก็เอาไสเข้าไปเท่าไรก็ไม่ยอมไปนะ เวลานี้โลกกำลังสกปรกมาก สกปรกจริงๆ สายตาของธรรม จนดูไม่ได้นะเวลานี้ แต่กิเลสมัน แหม มันเพลิน มันไม่รู้จักเป็นจักตายนะ...เรื่องมั่วสุมกับกิเลส ความโกรธราคะตัณหา นี้ตัวสำคัญสกปรกรกรุงรังก่อฟืนก่อไฟเผาไหม้โลกคือตัวเหล่านี้เอง แต่โลกชอบกันมากที่สุดที่จะแยกออกนี้ไปเพื่อศีลเพื่อธรรม มันไม่อยากแยกนะ มันดีดมันดิ้นอยู่เนี่ย

พระพุทธเจ้ากี่พระองค์มาตรัสรู้ ลากไปเท่าไรมันไม่ยอมไป มันสู้ส้วมสู้ถานไม่ได้ มันเป็นอย่างนั้นนะ สวรรค์นิพพานไม่ได้เลิศเลอยิ่งกว่าส้วมกว่าถาน เวลานี้กิเลสมันดึงลงไปขนาดนั้นนะ ให้เพลินในส้วมในถานไป มันไม่ค่อยเห็นเรื่องมรรคเรื่องผลเรื่องคุณงามความดีที่เลิศเลอยิ่งกว่านี้ขนาดไหน มันไม่ยอมให้เห็นนะกิเลส เราไม่ได้ตำหนิใครนะ กิเลสมันอยู่ในหัวใจคน เราก็ตำหนิเข้าไป มันก็ต้องโดนคนจนได้นั่นแหละ จะว่าไง

พระพุทธเจ้า เวลาตรัสรู้แล้ว ทั้งๆ ที่ทรงปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า...นานขนาดไหน...เพราะเกิดยากแสนยากที่สุด เนี่ย ท่านมาสั่งสอนสัตวโลก เมื่อเวลาได้บรรลุธรรมถึงขั้นพระอรหัตภูมิเต็ม เต็มตัวแล้ว เป็นศาสดาเต็มองค์แล้ว แล้วมองสัตวโลก ทั้งๆ ที่ปรารถนาเพื่อสั่งสอนสัตวโลก ตรัสรู้เพื่อสั่งสอนสัตวโลก

พอตรัสรู้เสร็จเรียบร้อยแล้ว มองดูสัตวโลกแล้ว มืดแปดทิศแปดด้าน ทรงท้อพระทัย จะสั่งสอนไปได้ยังไงเมื่อมันเป็นอย่างนี้แล้ว...

เห็นไหมขนาดนั้นแหละ ท่านดูพวกเรา เรายังมัวเมาเกาหมัดกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ลืมหูลืมตา รื่นเริงบันเทิงกับมูตรกับคูถตลอดเวลา มันน่าสลดสังเวชไหม

เวลานี้ยังโอ่อ่าฟู่ฟ่าอยู่นะ เป็นบ้ากับยศกับลาภกับสรรเสริญเยินยอ ให้เขานับหน้าถือตา อวดมั่งอวดมีอวดดีอวดเด่น อ๊วด...ไปอย่างไม่มี ลมๆ แล้งๆ หาเหตุหาผลหาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้ คือกิเลสหลอกคนให้เป็นบ้ากับอันนี้ มันไม่มองดูธรรมนะ ธรรมเป็นของจริง เลิศเลอขนาดนี้กี่เท่าพันทวี สิ่งเหล่านี้ก็เป็นอย่างที่เราดูฝูงหนอนมันอยู่ในส้วมนั่นล่ะ เพียงเราดูลงไปเท่านั้น มันเป็นยังไง วิสัยหนอนกับเรา

ทีนี้ วิสัยแห่งธรรม กับวิสัยของกิเลสที่สกปรกสุดยอด วิสัยแห่งธรรมที่สะอาดสุดยอด ดูกัน เป็นยังไง ก็เห็นกันอย่างนั้นชัดเจน...นั่นล่ะ

นี่โลกมันถึงไม่อยากมองดูนั้น มันมัวดูแต่ส้วมแต่ถานตลอดเวลา ไม่ว่าเขาว่าเรานะ อย่าไปตำหนิใครนะ หมายถึงหัวใจแต่ละดวงๆ มีแต่ฟืนแต่ไฟเผาไหม้อยู่ตลอดเวลา ถ้ากิริยาท่าทางออกมาแสดงประดับร้านว่า สวยว่างามว่าโอ่อ่าฟู่ฟ่ามีบ้านมีเรือนมีสมบัติเงินทองข้าวของมากน้อย มีบริษัทบริวารมาก นี้เอามาโอ่อ่าฟู่ฟ่าประดับร้าน แต่ภายในหัวใจเป็นไฟด้วยกันหมด ฟังซิน่ะ

เอาธรรมจับเข้าไปมันก็เห็นนะสิ...ดูหัวใจดวงใดมันมีแต่ฟืนแต่ไฟ ด้วยความโลภ ความโกรธ ราคะตัณหา ความตระหนี่ถี่เหนียว ความเห็นแก่ตัว ความรีดความไถ ความเอารัดเอาเปรียบ มันเป็นฟืนเป็นไฟเผาไหม้ตลอดเวลา..."

ความเสียสละ

"...การเสียสละนี้เป็นบุญเป็นกุศลเป็นคุณแก่ตนเอง ให้ไปโน้น ย้อนกลับมาหาเจ้าของ เหมือนเราเปิดประตู อากาศเข้ากับอากาศออกประสานกันทันทีๆ การให้ไปกับการได้มาประสานกันทันที นี่แหละการเสียสละ เปิดออก เปิดประตูเสียสละเปิดออกกว้างก็ออกได้กว้าง เข้าก็เข้าได้มาก เวลาเราเปิด เปิดแคบ ออกก็ออกได้น้อย เข้าก็เข้าได้น้อย

สมมติว่าอากาศก็ดี น้ำก็ดี ถ้าเปิดประตูน้ำเป็นส่วนน้อยก็เข้าน้อยออกน้อยเปิดมาก เข้ามากออกมาก ปิดเลยไม่ให้มันออก ทีนี้มันเลยไม่เข้า...

...คนเป็นนักเสียสละ คนมีแก่ใจ ไปไหนเย็น มีเพื่อนมีฝูงก็มาก มีคนเคารพนับถือ ถ้าเป็นเด็กก็เป็นเด็กน่ารัก เป็นผู้ใหญ่ก็น่าเคารพบูชา น่าคบค้าสมาคม ความใจกว้างขวาง ไปที่ไหนเป็นอย่างนี้ ถ้าคับแคบปิดตัน ไปที่ไหนตีบตันอั้นตู้ไปหมด เวลาจะตายก็ไม่มีใครไปกุสลามาติกาในงานศพให้เห็นแต่หมาเดิน ด็อกๆ แด็กๆ ในงานศพ มันมาหากินเศษอาหาร ไม่ได้กินข้าว หมาจวนจะตายเพราะความตระหนี่ของคน มันตระหนี่ถี่เหนียว ตายแล้วไม่มีใครไปเผาศพ หมาจะมากินเศษอาหารก็ไม่ได้กิน ทุกข์ทั้งหมาทุกข์ทั้งคน

คนใจคอกว้างขวางไปไหน เพื่อนฝูงก็มาก เวลาตายนี่ คนเต็มไปหมดในงานศพ บอกอย่างชัดเจนว่าคนนี้มีอัธยาศัยกว้างขวาง ใครก็มาด้วยความเต็มอกเต็มใจ ด้วยความเคารพนับถือ ด้วยความรักความสนิทสนมกัน ความเสียดาย ไม่เหมือนคนตระหนี่ถี่เหนียวตายนะ คนไม่มีในงานศพ หมาเลยหิว อย่าทำนะแบบหมาหิว เข้าใจไหม ?...

อย่า...กินบ้าน กินเมือง

ท่านมีความเมตตาสงสารและห่วงใยชาติบ้านเมืองเป็นพื้นในจิตใจตลอดมา ดังนั้น เมื่อมีโอกาสสั่งสอนตักเตือนกลุ่มข้าราชการงานเมือง ท่านก็มักจะแสดงธรรมอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเช่นเดียวกับคราวนี้

"...นี่ละ วัดหนึ่งๆ ครอบครัวหนึ่งๆ ขึ้นอยู่กับหัวหน้าครอบครัว ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้ว่าฯ ขึ้นไปเป็นลำดับลำดา ให้มีศีลธรรมเป็นเครื่องกำกับตัวเองอยู่เสมอ อย่าปล่อยเนื้อปล่อยตัว เวลานี้เราปล่อยให้กิเลสเข้าไปตีตลาดตามโรงงานต่างๆ นี้มีแต่กิเลสตีตลาดทั้งนั้น แหลกเหลวไปหมด ศีลธรรมเข้าใกล้ไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น บ้านเมืองถึงเหลวแหลก เหลวแหลกดังที่เห็นอยู่นี้แหละ ไม่ใช่เหลวแหลกแบบไม่มีคน คนตายฉิบหาย มันเหลวแหลกด้วยความประพฤติ เหลวกแหลกด้วยความเป็นอยู่ด้วยกันอย่างนี้แหละ หาความไว้วางใจกันไม่ได้ เพราะไม่มีศีลธรรมเป็นที่ไว้วางใจ

ไปที่ไหนก็เหมือนกับลิง คอยกิน...กิน คอยคด...คด คอยโกง...โกง คอยจะได้โอกาสอันไหนนี้ รีดไถทุกแบบทุกฉบับ สุดท้ายข้าราชการเลยเป็นผีตัวหนึ่ง เป็นยักษ์ตัวหนึ่งแก่ชาติบ้านเมือง เขาก็เอือมระอาซิ

เงินทุกบาททุกสตางค์ได้มาจากประชาชนราษฎรทั้งนั้น เป็นภาษีอากรเข้ามา เพื่ออุดหนุนประเทศชาติบ้านเมืองให้มีความแน่นหนามั่นคง กลับเป็นเปรตเป็นผี ให้เปรตให้ผีไปกินเสียหมด มันก็ใช้ไม่ได้

วงราชการแต่ละวงเลยกลายเป็นวงสังหารประชาชน วงสังหารประเทศชาติบ้านเมือง อย่างนี้ดูไม่ได้ใช้ไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น ขอให้พี่น้องทั้งหลายที่เป็นชาวพุทธปฏิบัติตามศีลธรรมนี้ ขอให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเข้าไปโดยลำดับ เพื่อความสงบเย็นและมั่นคงของบ้านเมืองเรา...

...การกล่าวทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงว่าวงราชการจะเลอะๆ เทอะๆ ไปหมดทุกรายนะ เราพูดถึงรายที่ไม่ดีต่างหาก ซึ่งมีจำนวนมากต่อมาก อันนี้มีมากจริงๆ อยู่ที่ไหนๆ ไม่คณนาได้ เต็มไปหมดในวงราชการแผนกต่างๆ ยังเย่อหยิ่งจองหองเสียด้วยนะ วงราชการไม่ระลึกเลยว่าตัวเองกินเงินเดือนของประชาชนราษฎร เย่อหยิ่งจองหองจนน่าเกลียด เป็นเจ้าอำนาจ กดขี่บังคับประชาชนหลายแบบหลายฉบับนะ

คนนี้แบบนี้ คนนั้นแบบนั้นๆ ถ้าไม่ได้ใต้โต๊ะเหนือโต๊ะเสียก่อนเป็นขัดเป็นแย้ง เป็นหาอุบายเท่านั้นเท่านี้อยู่จนได้ นี้ซิที่มันน่าเกลียดเอาเหลือเกินนะ เอือมระอาเอามาก ประชาชนราษฎรไปแต่ละครั้งๆ เสียเวล่ำเวลามาบ้านมาเรือน ค่ารถค่าราอาหารการกิน หน้าที่การงานต้องเสียไปสักเท่าไรไม่ได้คำนึง คอยแต่จะเอาใต้โต๊ะเหนือโต๊ะ ถ้าไม่ได้จะต้องหาอุบายนั้นหาอุบายนี้

เวลานี้วงราชการเป็นอย่างนี้นะ เสียเอามากมาย นี่คือความจริง เราไม่ได้หาเรื่องใส่คน เราสอนคนเพื่อความสงบร่มเย็นทั่วหน้ากัน

มันเป็นอย่างนี้เวลานี้ เขาเบื่อจริงๆ เบื่อวงราชการเวลานี้ ไม่ใช่ธรรมดานะ แต่ประชาชนถึงเขามีปาก เขาก็ไม่พูดง่ายๆ ถ้าพูดก็เป็นภัยต่อปากเจ้าของอีกแหละ เพราะพวกนี้พวกเจ้าอำนาจ อำนาจอันนี้มันอำนาจป่าๆ เถื่อนๆๆ เสียด้วยนะ ไม่ใช่อำนาจธรรมดา ไม่อย่างนั้นมันทำชั่วไม่ได้ ถ้าไม่ใช้อำนาจแบบนี้...

...ชีวิตมันเกี่ยวโยงกันไปหมดไม่ว่าภาคไหนๆๆ ชีวิตอยู่กับจุดศูนย์กลางคือชาติ ต่างคนต่างระลึกถึงชาติเสมอ อย่าระลึกถึงตนยิ่งกว่าชาติ ถ้าลงชาติได้ล่มจมไปแล้ว ใครจะไปนั่งบนเก้าอี้เหนือเทวดาอยู่ได้คนเดียวไม่เคยมี ต้องเป็นกองทุกข์เหมือนกันหมด ให้เราเห็นใจประชาชนราษฎร

นี่ความห่างเหินจากศีลจากธรรมเป็นอย่างนี้ ให้พี่น้องทั้งหลายจำเอาไว้ ศีลธรรมคือเครื่องยึดเหนี่ยวของใจและความประพฤติหน้าที่การงานทั้งปวง ให้เป็นไปเพื่อความดีงาม ถ้าปราศจากศีลธรรมเสียอะไรๆ ก็เหลวไปตามๆ กัน ฉะนั้น ศีลธรรมจึงเป็นธรรมจำเป็นมาก..."

อย่าเห็นแก่ตัว จงเห็นแก่ชาติ

ครั้งหนึ่งท่านแสดงธรรมแก่หน่วยงานราชการกลุ่มใหญ่ ดังนี้

"...การปกครองกัน ให้คำนึงถึงหลักและกฎเกณฑ์ ระเบียบข้อบังคับ นำมาปกครองกัน อย่าเอาอารมณ์มาปกครองกัน อย่าเอาอำนาจวาสนาศักดานุภาพว่าเราเป็นผู้ใหญ่มีอำนาจมาก อยากทำอะไรก็ทำได้ มาปกครองกันโดยหาหลักเกณฑ์หาระเบียบกฎข้อบังคับไม่ได้นั้นเป็นความผิด...ต่างคนต่างก็ให้อภัยซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างปกครองในฐานะพ่อแม่กับลูกจะมีความร่มเย็นเป็นสุข

...สมบัติของกลาง เราอย่านำออกไปใช้ในกิจส่วนตัว และนำออกจำหน่ายขายกิน นั่นเป็นการขายชาติ เป็นการฆ่าชาติ เป็นการทำลายชาติ เพราะความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวนั้นไปไม่รอด ถ้าชาติไปไม่ตลอด เราต้องจมไปด้วยชาติ เราจะเห็นแก่ตัวว่า เอาตัวรอดเป็นยอดดี การคิดเอาตัวรอดแบบนั้นแลเป็นยอดที่เลวที่สุด...เพราะคนคนหนึ่งอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องอยู่ด้วยกันหลายคน เช่นประเทศไทยเรานี้ ทั้งประเทศมีความเกี่ยวโยงกันอยู่เหมือนกับตาแหตาข่าย ตาหนึ่งขาดก็เกี่ยวเนื่องไปถึงตาแหตาข่ายทั้งหลาย ปลาก็ลอดออกไปที่นั่นได้...

ถ้าชาติได้ล่มจมไปเสีย เราจะเอาตัวรอดด้วยวิธีใด นอกจากเราต้องจมไปกับชาติเท่านั้น ชาติจมเราต้องจม ชาติอยู่ได้ เราก็อยู่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เราต้องรักษาเพื่อความอยู่รอดของคนทั้งชาติ ไม่ใช่รักษาเพื่อความอยู่รอดเฉพาะเรา นั้นเป็นความคิดผิดของบุคคลผู้เห็นแก่ตัวมาก คิดเพื่อความร่ำรวย แต่หารู้ไม่ว่าความคิดนั้นคือเพชฌฆาตสังหารตนและชาติให้ล่มจม

ท่านจึงสอนว่า สามัคคี...เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นความเกี่ยวโยงกันไปหมด คนในชาติรักคนในชาติ ไม่มีใครที่จะรักยิ่งกว่าคนไทยรักคนไทยย ไม่มีใครที่จะรับผิดชอบยิ่งกว่าคนในชาติจะรับผิดชอบคนในชาติของตน และไม่มีใครจะรับผิดชอบยิ่งกว่าเราจะรับผิดชอบในขอบเขตของเรา..."

"ขอโทษ" คำที่ใช้ดับไฟ

"...สัตวโลกนี่มีผิดมีพลาดด้วยกันทั้งนั้น แต่เมื่อให้อภัยกันแล้ว อยู่ด้วยกันได้ ถ้าต่างคนต่างเบ่งแล้วนั่นล่ะ ถ้าเป็นหมาก็กัดกันได้เร็วนะ...แม้จิตใจจะลุกเป็นไฟมาก็ตาม เมื่อน้ำดับไฟคือการขอโทษซึ่งกันและกันแล้ว ก็ให้อภัยกันได้อย่างง่ายดาย

มนุษย์เรานี่ หลักใหญ่ของมนุษย์เราที่มีธรรมอยู่ด้วยกัน เห็นใจเขา เห็นใจเรา ให้อภัยกันได้ ธรรมเป็นอย่างนั้นนะ ไม่ถือสีถือสากันง่ายๆ ผิดยอมรับว่าผิด แล้วแก้ไขดัดแปลง ให้ขอโทษกัน

คำขอโทษเป็นของสำคัญมากนะ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย จะเป็นไฟเผาคนอยู่ในคนนั้นก็ตาม พอคนนี้ไปขอโทษยกมือไหว้เท่านั้นแหละ น้ำดับไฟนี้พรึบลงทันทีเลย สงบ ของเล่นเมื่อไหร่ นี่แหละธรรม

ความโกรธเป็นไฟ ความขอโทษกัน นั่นแหละเป็นคุณ เป็นน้ำดับไฟ ดูเอาสิ หัวใจใครก็เหมือนกัน อย่างเช่นโจรผู้ร้ายนี้ มันก็ใจโหดมาโหด เวลาเจ้าของบ้านยกมือไหว้นี้ มันเอาปืนจ่อกำลังจะยิง ปืนมันยังลดลงทันที เห็นไหม ใจมันโหดขนาดนั้น มันยังรับน้ำอยู่นะ ไฟยังรับน้ำอยู่ นี่แหละ น้ำดับไฟคือธรรม อย่างอื่นดับไม่ได้นะ..."

ผัวเดียวเมียเดียว

ท่านเตือนลูกหลานเสมอๆ ให้รู้จักควบคุมไฟราคะตัณหา ให้มีขอบเขตอยู่ภายในเตาด้วยศีลด้วยธรรม ดังนี้

"...เราต้องอบรมทางด้านจิตใจให้มาก มันสำคัญไม่มีใครมองนะ มองแต่อย่างนั้น อย่างที่โลกทั้งหลายแหละ มองกัน...มันไม่ได้มองดูจุดที่ถูกต้องดีงามอะไร มองแต่จุดจะผูกพันเจ้าของให้จมนะซิ ทำไมมนุษย์อยากไปสวรรค์ทั้งเป็นเนี่ย เวลาตายแล้วมันไม่อยากไป...มันก็ไม่คิดนะ มันอยากไปแต่สวรรค์ทั้งเป็น เวลาตกนรกทั้งเป็นมันไม่ยอมตก

มีเมียคนหนึ่งแล้วมันไม่พอ อยากได้อีก 2 คน เพื่อไปสวรรค์ มีผัวคนหนึ่งแล้วอยากได้อีก 2 คน 3 คน เพื่อไปสวรรค์ ผัวคนนี้พาไปสวรรค์ไม่ได้ เบื่อแล้ว ผัวคนนี้ เมียคนนี้เบื่อแล้ว เอาเมียคนใหม่พาไปสวรรค์ เอาผัวคนใหม่พาไปสวรรค์ มันเอาสวรรค์ทั้งเป็น ไฟนรกเผาหัวมันทั้งเป็น มันไม่ได้คิดแน่ะ เอาอย่างนั้นสิ เรามีเมียคนหนึ่งแล้วนี่ แล้วครอบครัวเป็นยังไง มีผัวเข้ามาอีกคนหนึ่ง แฝงผู้ชายเข้ามาอีกคนหนึ่ง เป็นยังไง นั่นละ ไฟกองใหญ่อยู่ตรงนั้นนะ มันไม่ดู

ธรรมท่านดูหมด ท่านจึงมีเข้มงวดกวดขันให้อยู่ในขอบเขต มันพอเหมาะพอดี แล้วกับเมียคนนี้ กับผัวคนนี้ พอเหมาะพอดีแล้ว อย่าให้เลยนี้ไปนะ นั่น กาเมสุมิจฉาจารราคะตัณหาอย่าให้กำเริบเสิบสาน บังคับมันไว้ให้อยู่ในเตา อย่าปล่อยตามมัน ปล่อยตามมันแล้วเผาเราทันที เสริมมันเท่าไหร่มันยิ่งไปใหญ่เลยนี่ อย่าเสริมมันเลย บังคับมันไว้ว่างั้นเถอะ เขามีผัวมีเมีย เขาก็จะตายเหมือนเราล่ะ เขาทนไม่ได้ เขามีผัวมีเมีย เขาก็จะตาย เขามี 20 เมีย 30 เมียเขาก็ตายเหมือนกันนะ เราไม่เห็นมีใครไปสวรรค์ มีแต่นรกทั้งเป็นเผาหัวมัน เราอย่าไปหาไฟนรกเผาเรานะ

พากันเชื่อธรรมแล้วสงบ ถึงจะอดจะอิ่มบ้างเป็นธรรมดาโลก อันนี้เป็นโลกอนิจจัง มีความทุกข์ความจน ความมั่งความมีเป็นกาลเป็นเวลาเป็นครั้งเป็นคราวเหมือนกันทั่วโลก ยังไงก็ขอให้ธรรมีในใจ เป็นตายด้วยกันเชื่อถือกันได้ ฝากเป็นฝากตายต่อกันได้ จงรักภักดีซื่อสัตย์สุจริตต่อกันนี้อบอุ่นที่สุด ถึงจะจนก็จนด้วยกัน เป็นด้วยกันตายด้วยกันไม่เป็นไร อันนี้ไม่มีไฟมาเผา ไฟข้างนอกไม่มาเผา อยู่ได้ ดีไม่ดีเศรษฐีสู้ไม่ได้ เศรษฐี 10 เมียสู้ไม่ได้ ไม่ต้องบอกเพียง 2 เมียเท่านั้นก็สู้ไม่ได้แล้ว อย่าว่าแต่ 10 เมียสู้ผัวเดียวเมียเดียวไม่ได้ ธรรมพระพุทธเจ้าเลิศขนาดไหน สอนไว้ให้อยู่ในขอบเขตแห่งความพอดี นี้คือความพอดีแล้ว อย่าหามาเผากัน...."

คนบ้า น้ำบ้า

เทศนาในเช้าวันหนึ่งกับการแสดงธรรมแก่ข้าราชการหน่วยใหญ่ ดังนี้

"...เวลามีการมีงาน มันน่าอายขนาดไหน ถ้าธรรมดาเราแล้ว เอาแก้วเหล้าไปโชว์ให้เขาถ่ายลงหนังสือพิมพ์ ถือแก้วเหล้าโชว์ ผู้ใหญ่ขนาดไหนถือแก้วเหล้ามาโชว์ มันน้ำบ้ารู้ไหม เด็กเขายังรู้ เขายังไม่เอาแก้วเหล้ามาโชว์ ผู้ใหญ่ขนาดนั้นเอาแก้วเหล้ามาโชว์หาอะไร ถ้าไม่ขายความเลวทรามของตัวที่สุดเลย นี่หรือจะปกครองบ้านเมือง คือแก้วเหล้านี้เหรอ อยากถามว่างั้นนะ เขาตำหนิกันทั้งโลกทั้งสงสารว่าเป็นของไม่ดี ทำไมจึงเอามาโชว์...

...สุราคืออะไร สุราก็คือเครื่องดองของเมา และทำผู้ดื่มให้ลดคุณภาพแห่งความสมบูรณ์มาเป็นคนพร่อง คนไม่เต็มตาเต็งตาชั่ง คนขาดบาทขาดสลึง ดื่มมากเท่าไร ยิ่งขาดบาทลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นคนบอคนบ้าได้อย่างสดๆ ร้อน เราเกิดมาพ่อแม่ไม่เคยเอาน้ำเมา...มาให้เราดื่มเรากิน มาเลี้ยงดูเรา มีแต่ของดิบของดี ข้าวต้มขนมอาหารหวานคาว มีแต่ของดีๆ

เราเติบโตขึ้นมาด้วยน้ำนมของแม่ ด้วยข้าวต้มขนม เป็นของดิบของดีมีราคามากมาย พ่อแม่นำมาเลี้ยงดูจนเป็นผู้เป็นคนขึ้นมา เมื่อเป็นผู้เป็นคนขึ้นมาจากของดิบของดีมีค่ามากแล้ว กลับเอาน้ำสุรายาเมาเข้ามาเบื่อตัวเองให้มึนเมา นี่เป็นสิ่งที่เพิ่มคุณค่ามนุษย์ให้มีศักดิ์ดีเด่นที่ตรงไหน ยังมองไม่เห็น เราลองคิดดูซิ

สมมติว่าเรานั่งอยู่ด้วยกันนี่ มีกี่คนด้วยกันนี่ ล้วนแต่คนเมาสุรา...นอนร่ายบ้าเกลื่อนอยู่ตามถนนหนทาง ไปที่ไหนมีแต่คนเมาสุรา ขี้แตกเยี่ยวราดอยู่ตามถนนหนทาง ไม่มียางอายตามมรรยาทของมนุษย์เลย ดูได้ไหมพิจารณาซิ

ถ้าหากว่าสุรามันดีจริงดังที่ชอบเสกสรรกัน คนมีคุณสมบัติผู้ดีจะชมไหมว่าพวกขี้เมานอนเกลื่อนกลาดขี้ราดเต็มตัวเต็มถนนหนทางอยู่ เขาดีนะ ขี้ไม่ต้องหาที่ทะลักออกเต็มผ้าก็ยังได้ คนธรรมดาทำไม่ได้ นี่เขาดีนะอย่างนี้มีไหม ไปที่ไหนมีแต่คนเมาสุราเต็มถนนหนทาง แล้วดูได้ไหม มีแต่คนบ้าเต็มถนน...

นี่ละ พระพุทธเจ้าจึงห้าม ห้ามไว้อย่างนี้ เพราะไม่อยากให้คนเป็นบ้ากันทั้งบ้านทั้งเมืองทั้งแผ่นดิน...ความละอายต่อบาปต่อกรรม ต่อบุคคล ต่อที่สูงที่ต่ำไม่มี ไปที่ไหนพูดอะไรได้หมดไม่มียางอาย เพราะหมดยางอาย พูดวันยังค่ำไม่มีจบก็คือคนเมาสุรา พูดไม่มีจบ วกวนไปมาอยู่นั่นแล จนผู้ฟังเบื่อจะตาย

เดี๋ยวก็ลาละครับ เดี๋ยวคุยอีกไม่จบสิ้น เดี๋ยวลาละครับ ได้เวลาแล้ว ลาละครับ เดี๋ยวคุยอีก อย่างนั้นวันยังค่ำ ลาละครับวันยังค่ำ แต่ไม่ไปก็คือคนเมาสุรา พูดไม่มีสถานี ไม่มีจุดไม่มีหมายไม่มีสาระ ไม่สนใจว่าดีว่าชั่ว ถูกหรือผิด พล่ามได้ตลอด ไม่สนใจกับเวล่ำเวลาเป็นยังไง นี่ก็คือความเมาสุราหาสติสตังไม่ได้ คนโง่ที่สุดก็คือคนเมาสุรา แต่คนที่อวดฉลาดที่สุดก็คือ คนเมาสุรานั่นเอง คนเมาก็คือคนบ้านั่นแหละ น้ำนี้เขาเรียกน้ำบ้า..."

ตำรวจดี...คนรัก

ท่านเมตตาแสดงธรรมโปรดคณะนายตำรวจ ดังนี้

"...เราเป็นตำรวจนี้ ก็คือเป็นผู้ที่รักษาหน้าที่การงานอันสำคัญในส่วนรวม อำนาจอะไรก็มอบให้ตำรวจเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองเพื่อความสงบสุขร่มเย็น ถ้าตำรวจไม่มี โจรมารผู้ร้ายเต็มไปหมด ที่ไหนๆ ก็เป็นโจรได้เป็นผู้ร้ายได้ ถ้าไม่มีสิ่งกลัวเสียอย่างเดียว คนเราจะทำชั่วได้อย่างง่ายดาย แต่เมื่อสิ่งที่บังคับบัญชา สิ่งที่น่ากลัวอยู่บ้าง ก็ต้องได้ระมัดระวังคนเรา

เพราะฉะนั้น เมื่อมีตำรวจที่ดีรักษากฎหมายบ้านเมือง เพื่อชาติบ้านเมืองเพื่อสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุข มีมากน้อยในสถานที่ใด สถานที่นั้นบ้านเมืองนั้นย่อมได้รับความสงบร่มเย็น ตำรวจก็เป็นผู้พึ่งเป็นพึ่งตายของชาวบ้าน ในขณะเดียวกัน เราอย่าให้ตำรวจเป็นผีเป็นยักษ์ของชาวบ้าน รีดไถเขาก็แล้วกัน เราต้องแยกออกเป็นประเภทๆ เพราะเรื่องความจริงมีอยู่อย่างนั้น...

การประพฤติปฏิบัติตัวเรานั่นแหละ เป็นตัวอย่างอันดีแก่ชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายก่อนหน้าเขา อย่าเอาใครมาเป็นตัวอย่าง ถ้าเอาหลักกฎหมายบ้านเมืองเข้ามาบวกในความเป็นตำรวจของเราแล้ว ดำเนินหน้าที่การงานเพื่อชาติบ้านเมือง เพื่อความซื่อสัตย์สุจริต ความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง ต่อประชาชน ไปที่ไหนประชาชนเขาจะรัก ถ้าผิดเราก็จับจริงๆ ปรับโทษสินไหมจริงๆ เพราะคนนี้ผิด เมื่อเราจับอย่างมีเหตุมีผลปรับไหมใส่โทษด้วยความมีเหตุมีผลนี้ ชาวบ้านเขาก็เห็นใจ เขาก็รักเขาก็ชอบ เขาก็รู้ว่าเราทำถูก ถ้าเราทำตรงกันข้าม ไม่มีหลักมีเกณฑ์ อาศัยแต่อำนาจของความเป็นตำรวจ เอาอำนาจของกฎหมายบ้านเมืองแล้วทำสุ่มสี่สุ่มห้าแอบหน้าแอบหลังอย่างนั้น เขาก็รู้ เพราะเหตุไร เพราะบ้านเมืองนั้นคือใคร ก็คือคน คนมีหัวใจ ตำรวจรู้ คนเขาก็รู้ จึงต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ตรงแนวของตำรวจเราผู้มีหน้าที่รักษาชาติบ้านเมือง

ตำรวจไปที่ไหน บ้านเมืองเราจะมีความร่มเย็น คนรัก ไปไหนดีมีเสน่ห์ในตัว เด็กก็รัก ไม่ว่าแต่ผู้ใหญ่รัก เด็กรัก ก็เย็นใจ ก็สบาย เหมือนเรามีคุณค่า ผู้ใหญ่รักก็เหมือนเรามีคุณค่า ประชาชนรักยิ่งเป็นผู้มีคุณค่ามาก

เพราะฉะนั้น...จงตั้งหน้าตั้งตาทำตัวของตัวให้เป็นตัวอย่างของตัวเอง ให้มีความร่มเย็น ให้มีความพึงใจในตัวของเราเองก่อนที่จะไปปฏิบัติหน้าที่การงานให้เป็นที่พึงใจของประชาชนทั้งหลาย ให้พึงทำตัวเป็นหลักใจนั้นละ ทีนี้ไปที่ไหนประชาชนพลเมืองไม่ว่านักบวชหรือฆราวาส หญิงชาย รักหมด...


(มีต่อ 34)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 27 พ.ย.2006, 7:41 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน กับ ในหลวง
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ



ตอนที่ 24 โรงพยาบาล

ด้านวัตถุและเครื่องอุปโภคบริโภค

การสงเคราะห์ด้านโรงพยาบาลนี้ หลวงตาท่านเอาใจใส่มาโดยตลอด และนับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ ท่านเคยกล่าวว่า "...สภาพของคนไข้ที่ต่างรอคอยความหวังจากหมอเป็นสภาพที่น่าสงสารมา คนไข้ก็คือคนจนตรอกจนมุม เมื่อวิ่งมาหาหมอ หากหมอไม่มีเครื่องมือที่ดีที่ทันสมัยก็ก้าวไม่ออกรักษาให้ไม่ได้ และสภาพคนชนบทเป็นคนยากจนเสียส่วนมาก

การบำบัดรักษา ถ้าพอเป็นไปได้ก็ควรให้รักษาใกล้บ้าน จะได้ไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินทองมากในการเดินทางตลอดสถานที่พักอาศัยการกินอยู่หลับนอน..."

ด้วยเหตุผลนี้เอง ทำให้จนถึงปัจจุบัน ท่านสงเคราะห์สถานพยาบาลต่างๆ รวมทั้งสิ้นกว่า 100 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นการบริจาคเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น เครื่องเอกซเรย์ เครื่องอัลตราซาวด์ เครื่องตรวจคลื่นหัวใจ เตียง เครื่องช่วยชีวิตเด็ก เครื่องช่วยหายใจเด็กทารก เครื่องดูดของเหลว เครื่องช่วยคลอด กล้องจุลทรรศน์ เตียงทำฟันพร้อมอุปกรณ์ ฯลฯ

นอกจากนี้แล้ว ท่านยังบริจาคในด้านอื่นๆ อีกมากมายเช่น รถพยาบาลพร้อมอุปกรณ์ สร้างตึกผู้ป่วย สร้างตึกรวมเมตตามหาคุณ สร้างตึกสงฆ์อาพาธ ห้องผ่าตัด ฯลฯ ตั้งเป็นกองทุนตึกอุบัติเหตุ กองทุนศูนย์พิทักษ์ดวงตา กองทุนสงเคราะห์คนพิการและผู้ยากจนไร้ที่พึ่ง ฯลฯ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหารคนไข้และเจ้าหน้าที่ ค่าจ้างพี่เลี้ยงเด็ก ฯลฯ กระทั่งซื้อที่ดินให้ รวมประเภทของรายการต่างๆๆ เท่าที่พอรวบรวมได้ เกินกว่า 500 รายการ (รายการที่ซ้ำกัน แม้จะมีจำนวนมากกว่า 1 ชิ้นขึ้นไป ก็นับเป็น 1 รายการ)

เยี่ยมโรงพยาบาล

ในระยะหลายปีมานี้ ท่านมักจะออกเยี่ยมโรงพยาบาลต่างๆ อยู่เป็นประจำ พร้อมนำข้าวสาร อาหารสด อาหารแห้ง ผ้าขาว ฯลฯ บรรทุกเต็มรถเท่าที่รถจะสามารถรับน้ำหนักได้ไหว เพื่อนำไปแจกโรงพยาบาล

พร้อมกันนี้ ท่านจะถือโอกาสตรวจดูด้วยว่ายังขาดตกบกพร่องในเครื่องไม้เครื่องมืออันใดบ้าง การนำของไปแจกในที่ต่างๆ นั้น ท่านมีเหตุผลหลักเกณฑ์ ดังนี้

"...ไปไหนๆ แต่ละโรงๆ นี้เป็นล้านๆ แสนๆ นี้รู้สึกจะเริ่มมีน้อยแล้วเดี๋ยวนี้ มีแต่ล้านๆ ขึ้นไป ไปนี่ไม่ใช่ไปให้เครื่องมือแพทย์เท่านั้นนะ ยังไปดูหมออีก ดูพยาบาลอีก กิริยามารยาทของหมอเป็นยังไง เวลาเกี่ยวข้องกับคนไข้ ดูอากัปกิริยาของเขาเป็นยังไงๆ ดูไปหมด ไม่ใช่แต่ว่าใครจำเป็นอะไรๆ แล้วเอามาให้ๆ อย่างนั้นไม่ได้ เราไม่ทำอย่างนั้น ให้ทั้งสิ้นของด้วย

ดูทั้งน้ำใจ ดูทั้งกิริยามารยาทความประพฤติดีงามของหมอและพยาบาลด้วยเป็นยังไง จะพอพยุงเครื่องมือของเรานี้ไปได้ไหม เพื่อประโยชน์แก่คนไข้ได้จริงหรือไม่หรือเสียเงินเปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไรต้องดูอีก แล้วเครื่องมือเหล่านี้จะเป็นยังไง หมอเหล่านี้เป็นหมอพ่อค้า พยาบาลพ่อค้าหรือเป็นหมอเป็นพยาบาลเพื่อรักษาคนไข้ เพื่อเอาหัวใจคน เอาชีวิตจิตใจคนจริงจังหรือเป็นยังไงบ้าง ดูไปหมด ไปทุกแห่งทุกหน ไปดูอย่างนั้นนะที่เราไปโน้นไปนี้วันนี้เปิดเสียให้ชัดเจน เราไม่เคยพูดแหละคำอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ไปปฏิบัติหน้าที่อย่างนี้แหละอยู่ ไปเรื่อยๆ...แล้วก็ดูสภาพของโรงพยาบาล ดูสภาพของเครื่องมือ ถ้าตรงไหนมีความจำเป็นมาก ทุ่มให้เลยเทียว เอ้าขาดอะไรๆ บอกมาๆ บอกเท่าไรให้เท่านั้นๆ ให้เลยเป็นล้านๆ นั่งครู่เดียวเอาไปสองล้านสามล้านก็มี นั่นอย่างนั้นละ ถ้าถึงใจ เอาจริงเรา ถ้าไม่ถึงใจ สตางค์หนึ่งก็ไม่ให้..."

ไม่ทอดทิ้งถิ่นกันดาร

โรงพยาบาลบางแห่งอยู่ในถิ่นทุรกันดาร เป็นที่ลำบากหลายสิ่งหลายประการ ท่านก็ไม่ลืมที่จะไปเยี่ยมเยียนและอนุเคราะห์ ดังตัวอย่างนี้

"...วันนี้ก็จะไปโรงพยาบาลภูหลวง ไปดูอีกทุกห้อง ห้องไหนมีความจำเป็นอะไร ก็จะช่วยเหลือกันไป เพราะเป็นโรงพยาบาลอยู่ที่คับแคบตีบตันอั้นตู้ลำบากลำบน ไปก็เอาข้าวเอาของไปเต็มรถๆ เทปัวะๆ ไป

คือถ้าตรงไหนที่อยู่ท่ามกลางของอู่ข้าวอู่น้ำ เราก็ไม่ค่อยสนใจนักนะ ถึงจะเป็นโรงพยาบาลเล็กก็ตาม แต่อยู่ท่ามกลางของอู่ข้าวอู่น้ำ ไม่ค่อยอดอยากขาดแคลนอะไรมากนัก เราก็ไม่ช่วย อย่างอื่นพวกข้าวพวกอาหารการกินไม่ค่อยช่วยมาก ช่วยแต่เครื่องมือแพทย์ไป

ถ้าที่ไหนขาดแคลนอย่างนั้น เราช่วยทุกด้านเลย เครื่องมือแพทย์ก็ช่วย อาหารการกินก็ช่วย เช่น อย่างภูหลวงนี้ไม่มีข้าวภูเรือ ก็ยิ่งอยู่ในภูเขาด้วยซ้ำ ไม่มีข้าวนายูง ไม่มีข้าว ทางคำตากล้า ก็ไม่มี น้ำท่วม คำตากล้าไม่ได้ทำนากัน น้ำท่วม เหล่านี้เราไปทั้งนั้นแหละ นี่ก็ยังส่องดาวนี้อีก นี่เริ่มแล้ว ทางส่องดาวนี้เริ่มแล้ว อยู่ในหุบเขา ไปหาที่หุบเขาๆ ที่จำเป็นๆ..."

แม้โรงพยาบาลที่อยู่ไกลออกไปมากๆ ท่านก็ไม่เคยลืมหรือทอดทิ้ง เมื่อโอกาสอำนวยให้เมื่อใดท่านจะรีบไปเยี่ยมทันที ดังนี้

"...วันนี้เราก็จะไปละ เอาของไปโรงพยาบาลคำชะอีกและดอนตาล ไกลนะ วันนี้ สงสาร มันอยู่ด้วยกัน 2 โรง จึงเอาไปไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ว่าเต็มรถนะ หากไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะแบ่ง 2 โรงอยู่ใกล้กัน ถ้าไปโรงเดียวก็เต็มรถ เทปัวะเลย ได้มาก เอาไป 2 โรงก็ต้องแบ่งครึ่ง แต่รถนั้นเต็มรถ วันนี้จะเป็น 2 โรง มันไกล 3 ชั่วโมงกว่า กว่าจะถึง...ไปส่งแล้วกลับ ขนาดนั้นค่ำพอดีๆ..."

ด้านธรรมะ

หากมีโอกาสฟังเทศน์ของท่านอยู่ประจำ จะสังเกตเห็นได้ชัดเจนว่า ท่านมีความห่วงใยสงสารคนเจ็บป่วยมาก ท่านสอนเสมอว่า

"...มนุษย์เราจะยากดีมีจนบุญหนักศักดิ์ใหญ่หรืออาภัพวาสนาอย่างไร ก็ล้วนแต่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน เกิดมาด้วยบุญด้วยกรรม และกรรมย่อมจำแนกแจกแจงสัตว์ให้มีความประณีตเลวทรามต่างกัน แล้วเกิดไปตามวิบากแห่งกรรมของตนๆ

ดังนั้น ท่านจึงไม่ให้ประมาทกัน แต่ควรช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีน้ำจิตน้ำใจต่อกัน เพราะหากมนุษย์ไม่ช่วยสงเคราะห์มนุษย์ด้วยกันแล้วใครจะช่วย เรื่องความเจ็บป่วยนั้น ถ้าใครโดนเข้า ใครก็ทุกข์ทั้งนั้นเจ็บไปแค่หนึ่ง แต่ครอบครัวพี่น้องพ่อแม่ก็ป่วยทางใจ ป่วยด้วยความห่วงใยอีกเท่าไร จึงควรเห็นใจกัน..."

แพทย์-พยาบาล ต้องมีเมตตาธรรม

เมื่อมีโอกาสอันควร ท่านจะแนะเตือนด้วยความเมตตา แก่บรรดาแพทย์พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเสมอๆ ดังตัวอย่างหนึ่งท่านแสดงธรรมแก่คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข มีท่านรัฐมนตรีเป็นประธาน ดังนี้

"...วันนี้ได้พูดถึงเรื่องโรงพยาบาล โรงพยาบาล กับ หมอ เป็นของสำคัญอยู่มาก หมอนั้นสำคัญอยู่ที่นอกจากเรียนหลักวิชาแห่งหมอมาแล้ว นั้นเป็นทางเดินกลางๆ แต่อัธยาศัยใจคอและจิตวิทยาของหมอที่จะปฏิบัติต่อคนไข้นั้นเป็นสิ่งลึกลับ แต่จำต้องนำมาใช้สำหรับหมอ เวลาคนไข้ได้ป่วยเจ็บหัวตัวร้อน วิ่งเข้ามาหาหมอ กิริยามารยาทที่นิ่มนวลอ่อนหวานที่เป็นพื้นมาจากความเมตตาของหมอนั้น ต้องออกแสดงก่อนอื่น ก่อนยาที่จะเข้าถึงตัวคนไข้

ความเอาอกเอาใจให้ความอบอุ่นแก่คนไข้นั้น เป็นยาขนานแรก ซึ่งจะต้องเข้าถึงคนไข้ก่อนอื่น จากนั้นก็ปฏิบัติไปตามหน้าที่ ด้วยความเมตตาของหมอ เพราะคำว่าหมอนี้โลกทั้งหลายเขายอมรับ ยอมรับให้ศักดิศรีดีงาม ยอมรับนับถือให้ความเคารพทุกสิ่งทุกอย่าง ไว้วางใจกับหมอ

เพราะหมอนั้นถือกันว่าเป็นแบบพิมพ์ เป็นศักดิ์ศรีดีงามของชาติไทยหรือของโลก โลกเขาจึงยอมรับ เมื่อเราก้าวเข้ามาสู่ความเป็นหมอ เริ่มตั้งแต่เรียนเป็นนักศึกษาแพทย์ ก็เริ่มมีเกียรติแล้ว...โลกยอมรับนับถือเรื่อยมาจนกระทั่งถึงเป็นหมอออกมา โลกยิ่งยอมรับมากขึ้น นับถือมากขึ้น

เพราะฉะนั้น การต้อนรับโลกที่นับถือนั้น เราจึงต้อนรับด้วยความเมตตาเป็นพื้นฐานของหมอ หมอต้องมีความเมตตาเป็นพื้นฐาน สมบัติเงินทองข้าวของสิ่งเหล่านั้น เป็นสิ่งเป็นผลพลอยได้เท่านั้น เมตตาที่มีต่อคนไข้ทั้งหลายที่เขามาพึ่งพาอาศัย เขามาขอความอบอุ่นจากเรานั้น เป็นเรื่องที่ หมอ จะต้องปฏิบัติ และพยาบาลจะต้องปฏิบัติให้ถึงชาวบ้านทุกๆ รายไป นี่เป็นหลักสำคัญ

โรงพยาบาลจึงเป็นโรงชุบชีวิตของสัตวโลกทั้งสองอย่าง คือ โรงพยาบาลหมอเกี่ยวกับโรคทางร่างกายหนึ่ง โรงพยาบาลหรือสถาบันอันใหญ่หลวงเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาหนึ่ง ทั้งสองอย่างนี้มีความจำเป็นอย่างน้อยเสมอกัน มากกว่านั้นทางด้านจิตใจคือธรรมเป็นของสำคัญมาก..."

คนไข้กับหมอ ดั่ง "พ่อแม่ลูก"

โรงพยาบาลที่ท่านเมตตานำพวกอาหารไปสงเคราะห์ในแต่ละวันๆ นั้น โดยมากแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่นั้นๆ จะเคารพท่านถือท่านเป็นเสมือนพ่อแม่ เวลาท่านนำของไปแจกแต่ละครั้งๆ หลังจากที่ได้ซักถามว่ามีสิ่งใดขาดหรือไม่แล้ว ในระยะหลังนี้บางครั้งท่านจะถือโอกาสสอนเตือนแก่หมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ เพราะท่านก็ถือเหมือนลูกเหมือนหลานของท่านเช่นกัน ดังตัวอย่างที่ท่านนำมาเล่าแบบขำขันให้ฟัง ดังนี้

"...คนไข้เข้ามาเขาฝากเป็นฝากตาย ฝากทุกสิ่งทุกอย่าง ครอบครัวเหย้าเรือน เขาฝากมาหาหมอหายาหาพยาบาลหมดจะว่าไง เขามาหาแล้วหน้าบึ้งใส่เขามีอย่างเหรอ แบบนี้ก็มีแต่แบบหน้าหมาไม่ใช่หน้าคน เราว่างั้น ก็บอกชัดๆ อย่างนี้แล้ว เขาก็อดหัวเราะไม่ได้ เขาหัวเราะ.. เราอย่าเห็นว่า เราเป็นถึงหมอ คนไข้เป็นทุคตะเข็ญใจหรือเป็นหมาตัวหนึ่งเข้ามานี้ ด้อมๆ เข้ามาในโรงพยาบาล ไม่เป็นเช่นนั้นนะ

คนไข้มาแต่ละคนคน พระเจ้าแผ่นดินแห่มานะ พระเจ้าแผ่นดินไม่แห่มายังไง ก็เงินเต็มกระเป๋า ตราพระเจ้าแผ่นดินตีตรามาเห็นไหมล่ะ คนไข้เขามีคุณค่าต่อหมอขนาดไหน เราต้องคิดบ้างซิ... คนไข้คนหนึ่งกับหมอเป็น อัญญมัญญัง อาศัยซึ่งกันและกัน ถ้าไม่มีคนไข้ หมอก็หมดความหมาย โรงพยาบาลล้มหมด ที่ตั้งกันอยู่อาศัยกันอยู่ทุกวันนี้ พอเป็นไปได้ทั้งฝ่ายหมอฝ่ายคนไข้ก็เพราะต่างคนต่าง อัญญมัญญัง ซึ่งกันและกัน อย่าเห็นว่าทางไหนสูงกว่ากัน ถ้าอัญญมัญญังแล้ว อยู่ด้วยกันได้มนุษย์เรา

...เพราะเรื่องคนไข้กับหมอแยกกันไม่ออก เหมือนพ่อแม่กับลูก เราจะว่าเป็นเทวดากับหมาได้ยังไง เราก็บอกถึงว่า

เงินในกระเป๋าเขามาแต่ละคน พระเจ้าแผ่นดินแห่มานะว่างั้น...คนหนึ่งกระเป๋าเป้งๆ มา เขาให้ด้วยน้ำใจมีเยอะนะ เขาให้ค่าหยูกค่ายาเป็นธรรมดา เขาให้ด้วยน้ำใจของหมอ น้ำใจของพยาบาลที่มีคุณแก่คนไข้ของเขา แล้วเขาตั้งใจให้ด้วยน้ำใจมากกว่านั้นอีกนะ มีเยอะนะ..."

Image
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน กับ ในหลวง
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ



(มีต่อ 35)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 27 พ.ย.2006, 7:47 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน กับ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ซึ่งพระองค์ทรงเป็น “บุตรบุญธรรม” ขององค์หลวงตามหาบัว



ตอนที่ 25 สงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาส

ความเมตตาสงเคราะห์โลกของหลวงตา มิใช่ว่าจะสิ้นสุดเพียงที่กล่าวมาข้างต้นเท่านั้น ท่านยังให้ความเมตตาเผื่อแผ่ไปถึงผู้ด้อยโอกาสในที่ต่างๆ อาทิ สถานสงคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญาปากเกร็ด สถานสงเคราะห์บุคคลปัญญาอ่อนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถานสงเคราะห์เด็กหญิงภาคตะวันออกเฉียงเหนือกระทั่งผู้ประสบภัยธรรมชาติร้ายแรงตามภูมิภาคต่างๆ ท่านก็ยังให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็นและเหตุผล ทั้งนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ตลอดจนเป็นที่พึ่งทางใจแก่ผู้ที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก

ดังนั้น การสงเคราะห์จึงมีหลายแบบต่างๆ กันไป เช่น ค่าจ้างพี่เลี้ยงผู้อภิบาลเด็กพิการทางสมองและปัญญา ค่าก่อสร้างอาคารสถานที่และเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ เป็นต้น ความเมตตาอย่างหาประมาณมิได้ ในส่วนนี้ของท่าน จึงแผ่ครอบคลุมกว้างขวางทั่วประเทศ ตามเหตุผลอรรถธรรมที่ควรเป็น ซึ่งท่านเคยกล่าวไว้บ้าง ดังนี้

"...ไม่ว่าแต่โรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ต่างๆ เราก็ให้ เช่น อย่างสถานสงเคราะห์บ้านข้าวสารนี้เราก็ช่วย...ที่อื่นเราก็ช่วย ไม่ช่วยแต่ที่แห่งเดียว แล้วคนทุกข์คนจนมีความจำเป็นยังไงบ้างที่ควรจะช่วยเป็นรายบุคคลๆ นั้น เราช่วยมาตลอด อันนี้กว้างขวางมากไปหลายจังหวัด ภาคไหนก็ไปหมด บางทีส่งแต่เงินไปให้ก็มี บางทีเจ้าของไปดูเอง ปลูกบ้านให้ก็มี ซื้อที่ให้ก็มี ทั้งซื้อที่ทั้งปลูกบ้านให้ก็มี นี่เรียกว่า ช่วยรายบุคคลที่จำเป็น ช่วยทั่วไป แต่นี้เราไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยประกาศระบุชื่ออะไรแหละ ให้แล้วเงียบไปเลยๆ เพื่อรักษาเกียรติเขา สิ่งที่ควรจะพูด เราก็พูดได้ เช่น รายที่ออกทางหนังสือพิมพ์แล้ว เป็นการเปิดเผยแล้ว เวลาเราช่วย เราก็พูดบ้าง ถ้าเป็นเรื่องไม่มีหนังสือพิมพ์ เป็นเรื่องมาพูดขอความช่วยเหลือกันโดยเฉพาะๆ นี้ เราก็ให้เป็นเรื่องเฉพาะๆ รายไปเลย ให้แล้วเหมือนไม่ให้ ให้แล้วผ่านไปๆ เรื่อยๆ อันนี้ช่วยตลอด..."

ทุกข์...เพราะภัย

ครั้งหนึ่ง พี่น้องชาวลาวประสบภัยเดือดร้อน มีผู้อพยพจำนวนมากมายต่างหนีร้อนมาพึ่งเย็นชั่วครู่ชั่วยามที่จังหวัดหนองคาย คราวนั้นหน่วยราชการต่างอลหม่าน ด้วยไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรกับผู้อพยพเหล่านี้ เพราะเป็นเรื่องฉุกละหุกเฉพาะกิจเร่งด่วน ทั้งจะต้องดูแลเรื่องอาหารการกินการอยู่ ที่พักหลับนอนขับถ่าย เกี่ยวกับสาธารณูปการต่างๆ พอได้พักได้อาศัยกันไปก่อนชั่วครู่ชั่วยาม จึงเป็นเรื่องที่หนักอกหนักใจแก่หน่วยที่รับผิดชอบอยู่ไม่น้อยทีเดียว เมื่อหลวงตาท่านทราบถึงเรื่องนี้ เพื่อช่วยกันเข้าอุ้มภาระใช้จ่ายของหน่วยราชการ และที่สำคัญด้วยความเมตตาสงสารต่อพี่น้องชาวลาว ซึ่งไม่มีสิ่งใดแตกต่างกันเลยเรื่องเลือดเนื้อเชื้อไข เพราะอดีตเป็นพี่เป็นน้องกันตลอดเรื่อยมา สิ่งสกัดกั้นมีเพียงแม่น้ำโขงเท่านั้นเอง อีกทั้งหลวงตาท่านว่าต่างก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิดตายด้วยกันทั้งนั้น เมื่อประสบกับความทุกข์อย่างสาหัสทั้งทางกายและตื่นตระหนกเสียขวัญทางใจเช่นนี้ด้วยแล้ว ท่านจึงรีบแสดงความเมตตาเข้าช่วยเหลือทันที ดังนี้

"...เช่นอย่างพวกเวียงจันทน์ พวกประเทศลาวข้ามมา...ก็มาเต็มอยู่นี้ โหหลายหมื่นเต็มอยู่ที่หนองคาย ดูเหมือนเราไปแจกของถึง 3 ครั้งด้วยกัน...แจกถึง 2-3 วันถึงหมดๆ แต่ละครั้งนี่นะ ครั้งแรกก็ไม่เท่าไหร่ ครั้งที่ 2 กับที่ 3 นี่หนักมาก แจกเอาอย่างเต็มเหนี่ยว คือแจกด้วยความยุติธรรม ที่ให้เสมอกันหมด ไปสำรวจเอาตัวเลขมาเลย ไม่เอาครอบครัว เอาตัวเลขมีเท่าไหร่แจก... เพราะฉะนั้น มันถึงนาน คนเขาแจกช่วยกันเยอะนะ อย่างคนที่มารับมันก็มาก 2 วัน 3 วันรถสิบล้อนี่ โอ้โห จอดกันเป็นแถวเลย ข้าวเต็มเอี๊ยดๆ...และเครื่องกระป๋องก็เหมือนกันอีก รถสิบล้อๆ ถ้าหากว่ามันขาดตรงไหนๆ ให้เขาวิ่งไปตลาด โห ตลาดเขาถามเลย

"จะเอาไปไหนนักหนาล่ะ ?"

พอว่า "อาจารย์มหาบัว" แล้ว โฮ้ย คือเขาเสียดายที่ไม่ได้เตรียมเอาไว้ขายนี่ เวลาไปมันไม่พอละซิ เข้าไปร้านนั้นแล้วไปร้านนี้ กว้านเอาร้านนั้นร้านนี้ ให้เขาลงบัญชีเรียบร้อยไว้ ลงบัญชีไว้หมด พอเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขาจ่ายตามนั้นเลยทันที นอกนั้นไม่ได้คำนึงละ เรื่องเงินเรื่องทองนี่น่า นี่เท่าไรเอามา ว่างั้นเลย บอกเอามา พอเสร็จแล้ว เราค่อยสั่งจ่ายทีเดียวปั๊บเลย หนองคายนี้ก็ 3 ครั้งนะ..."

ช่วยเงียบ...อยู่ใต้ดิน

ความเมตตาของท่านในผู้ประสบทุกข์ภัยต่างๆ ยังมีอีกหลายประการแจกแจงไม่หมดสิ้น จะขอยกมาแสดงบ้าง ดังนี้

"...ไฟไหม้ที่ไหนๆ เราจะเข้าถึงก่อนๆ ทั้งนั้น รถนี้ โถ...รถสิบล้อๆ นี่เป็นอัธยาศัยมาดั้งเดิม ไฟไหม้ที่ไหนๆ อำเภอนั้น อำเภอนี้ เราจะยกขบวนไปเลย...ทางไหนบ้างมีอยู่เรื่อยๆ นะ ไฟไหม้ที่ไหนๆ ทางอำเภอบ้านดุงบ้าง ที่ไหนบ้างนะ ก็ให้เขาแจกแบบเดียวกัน เครื่องกระป๋องก็เต็มรถ เต็มรถเลย บ้านดุงนี้ดูว่าเหลือไปทางไหนบ้างนะ ไปทางโรงเรียน อะไรบ้าง...

เพราะเราเอาไปแจกมากจริงๆ ไม่ใช่เล่นๆ นะ จนของที่ไปแจกนั้นพวกเครื่องกระป๋องเหลือเลย เขาเลยขอไปทางไหนๆ บ้าง เราก็ให้ไป เพราะเราตั้งใจเอามาแจกอยู่แล้วนี่ ของเหลือเท่าไรๆ ก็แยกออกไปตามโรงร่ำโรงเรียน ส่วนนี้เราก็ได้สมบูรณ์ตามจำนวนที่เรากำหนดเอาไว้ได้เสมอกัน เหลือจากนั้นไปอีก เพราะเราเอาไปเผื่อมากมายนี่ เขาก็แยกไปโรงเรียนอะไรต่ออะไรบ้าง ก็อย่างนั้นนะ นี้ก็ไม่ให้ใครลงข่าวนะ ไม่ให้ลงทำแบบใต้ดินๆ ตลอดมา"

Image


(มีต่อ 36)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 28 พ.ย.2006, 7:14 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ 26 สงเคราะห์สัตว์

ความเมตตาสงสารต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายนี้ หลวงตาเคยให้เหตุผลว่า "...ชาติชั้นวรรณะไม่มี ลงในคำเดียวว่า สัพเพ สัตตา อันว่าสัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น ครอบหมดเลย เสมอภาคเลย เห็นอกเห็นใจกันทั่วถึงหมดเลย นี่ละธรรมพระพุทธเจ้า ฟังเอาซิ...

คือสัตว์ทุกตัวเกิดมาได้ด้วยอำนาจของกรรมทั้งนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นมาด้วยอำนาจของชาติชั้นวรรณะยศถาบรรดาศักดิ์อะไร เกิดขึ้นมาด้วยอำนาจของกรรม กรรมเป็นพื้นฐานให้เกิด นอกนั้นก็แตกเป็นแขนงออกไป สุจริตบ้าง ทุจริตบ้าง แล้วแต่จะเกิด นั่นเป็นเรื่องนอกต่างหาก หลักของกรรมเป็นหลักใหญ่

เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่ให้ดูถูกเหยียดหยามกัน แม้แต่ สัตว์เดรัจฉาน ท่านก็ไม่ให้ดูถูกเขา เวลานี้เขาเสวยกรรม อยู่ในวาระของกรรมของเขาอย่างนั้นๆ เป็นชั้นๆ ไปเลย ท่านจึงไม่ให้ประมาท มันเป็นวาระๆ อย่างคนลงมาจากน้ำจากหลุมจากบ่อขึ้นภูเขา ทีแรกก็อยู่ใต้ก้นบ่อ พอขึ้นมาแล้ว เขาขึ้นภูเขาสูงกว่าเราอีก กรรมไม่แน่นอน แล้วแต่ใครสร้างของใครเอาไว้...

...เขาก็รักสุข เกลียดทุกข์ มีหิวมีอิ่ม มีเจ็บป่วย มีราคะตัณหา มีจิตวิญญาณเช่นเดียวกับมนุษย์เรา ตัวจิตนี้เองเป็นตัวพาท่องเที่ยวให้เราไปเวียนว่ายตายเกิด...เพราะนี้ขึ้นอยู่กับวาระของกรรมที่ให้เสวยผลดีชั่ว อย่างไรตามวาระที่เราสร้างกรรมมา จึงไม่ควรประมาทเขา ไม่ควรเบียดเบียน ไม่ควรรังแกและไม่ควรฆ่าเขา การเบียดเบียนเขาก็คือ เบียดเบียนตัวเรานั่นเอง..."

สัตว์พิการ ไม่ถูกทอดทิ้ง

เหตุนี้เอง เมื่อท่านทราบถึงปัญหาความทุกข์ยากลำบากของบ้านสัตว์พิการ (ซอยพระมหาการุณย์ ปากเกร็ด) ซึ่งเป็นบ้านที่รับเลี้ยงสัตว์หลายประเภททั้งปกติและพิการจำนวนมากหลายร้อยชีวิต ด้วยความสงสารสัตว์เหล่านี้ ท่านจึงอนุเคราะห์ ช่วยซื้อที่ดิน สร้างอาคาร ช่วยเหลือค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารักษาพยาบาล ค่ายา และค่าใช้จ่ายต่างๆ ฯลฯ การเข้าไปช่วยเหลือบ้านสัตว์พิการแห่งนี้ ท่านเล่าถึงความเป็นมาโดยย่อ ดังนี้

"...ที่ปากเกร็ด หมาตั้งสามสี่ร้อยตัว เขาออกทางหนังสือพิมพ์ เราเห็นในหนังสือพิมพ์ก็ตามไปดู ไปดู โอ้โห มีแต่หมาพิการยั้วเยี้ยๆ ไปดูสภาพของมัน แล้วเป็นยังไง ถามสภาพความเป็นอยู่ของเจ้าของที่เลี้ยงหมา ถามทุกสิ่งทุกอย่างจนกระทั่งถึงค่าน้ำค่าไฟ ค่าบริการต่างๆ รอบด้าน เกี่ยวกับหมานี้ เดือนหนึ่งหมดเท่าไร

เขาว่า ถ้าธรรมดาแล้วก็เดือนละแสน แต่นี้มันไม่มีเงินแสนซิที่จะเลี้ยงหมา บางวันเครียดเสียจนกระทั่งนอนไม่หลัง เป็นยังไงถึงเครียด โอ๊ย หมาก็ร้องพอหมา คนก็ทุกข์พอคน หมาร้องหิวโหย ไม่มีอะไรจะให้กิน เจ้าของก็หมดไม่มีอะไรจะกิน อาชีพเพียงเป็นครูเท่านั้น เมื่อเห็นหมาก็สงสาร เอามาเลี้ยงๆ พอคนอื่นเห็นเราเลี้ยงหมาตัวหนึ่ง เขาก็เอามาทิ้งไว้ที่หน้าบ้านๆ แล้วก็เลี้ยงเรื่อยๆ มาจนกระทั่งป่านนี้แหละ บางวันเครียดเสียจนนอนไม่หลับ หมาก็ร้อง พอหมา คนก็ทุกข์พอคน ว่างั้น เราก็เลยถามถึงเรื่องราวต่างๆๆ เขาบอกว่าหมดเดือนละแสน เราเลยให้เดือนละหนึ่งแสนเลย ตั้งแต่บัดนั้นมาหลายปีแล้วนะ ให้เดือนละหนึ่งแสนๆ ถ้าหากว่าขัดข้องอะไร จำเป็นอะไร ให้บอกอีกนะ รถเราก็จะให้ เขาบอกเขาไม่เอารถ เราให้มอเตอร์ไซค์คันหนึ่ง

เขาบอกว่าอาศัยรถเพื่อนฝูงได้อยู่ไม่เป็นไร...นอกจากนี้ก็ซื้อที่ให้หนึ่งไร่เลย แต่ก่อนเขามีอยู่หนึ่งไร่ เราซื้อให้อีกหนึ่งไร่แล้วสร้างตึกให้อีกหนึ่งหลัง สบายทุกวันนี้ หมาปากเกร็ดสบาย...

"สุนัขปลอดภัย...ไม่จรจัด"

บ้านเลี้ยงสุนัขอีกแห่งหนึ่งบนถนนพุทธมณฑลสาย 3 ซึ่งมีสุนัขกว่าร้อยตัวที่ต้องเป็นภาระดูแลอยู่ที่นี่ ท่านก็ได้ให้การช่วยเหลือ ดังท่านเล่าความเป็นมาว่า

"...ไปกรุงเทพฯ อีกคราวนี้ เขาก็เขียนจดหมายมาหาเรา เพราะจดหมายเราเบื่อพอแล้วนะ มันจดหมายอะไร จดหมายยุ่งนี่นะ เอามาอ่าน ใจอ่อนทันที เขาพูดถึงเลี้ยงหมา ไม่มีเงิน ติดหนี้ติดสินเขาพะรุงพะรัง เพราะการเลี้ยงหมานั่นเอง สงสารหมา ไม่รู้จะทำยังไง ก็ไปกู้ยืมเพื่อนฝูงมาซื้ออาหารให้หมากิน เจ้าของก็จนตรอกจนมุม เวลานี้ติดหนี้ท่วมหัว หมาบางวันก็อิ่ม บางวันก็หิวจะตาย ร้องครวญครางจะตาย แต่เจ้าของก็จะตาย ไม่ทราบจะทำยังไง ถ้าท่านจะเมตตาได้ก็จะเป็นพระเดชพระคุณอย่างยิ่ง เขาเขียนจดหมายมา พอเห็นเท่านั้น เราให้พระตามไปเลยนะวันหลัง เขาบอกบ้านเลขที่ไว้เรียบร้อยที่กรุงเทพฯ ตามไปดูก็ยั้วเยี้ยๆ ตามที่บอก ถามเขาให้ชัดเจนนะ ทุกสิ่งทุกอย่างถามให้ชัดเจน พอถามเสร็จแล้วก็มา เจ้าของเขาก็ตามมา มาถึงเราก็ถามกับเจ้าของเขาให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเลย เขาบอกว่าติดหนี้อยู่สำหรับเลี้ยงหมา เลี้ยงหมานี้เดือนหนึ่งหมดประมาณเท่าไร หมดประมาณหมื่นห้าว่างั้น เดือนหนึ่งให้พอเหมาะพอดีประมาณหมื่นห้า...หนี้ทั้งหมดนั้นหามาเลี้ยงหมานะ เราเห็นใจ

...เอา เราจะใช้ให้ เดี๋ยวนี้ส่งไปแล้ว พอมาถึงปั๊บก็ส่งปุ๊บเลย...เดือนละหมื่นห้านั้น เราให้เป็นเดือนละสามหมื่นประจำทุกเดือนไปเลย ให้เป็นเดือนละสามหมื่น เรียกว่าทบครึ่ง เผื่อเอาไว้ครึ่งหนึ่งแล้ว (ใช้หนี้) ก็ให้พร้อมไปเลย...

เราก็จะจ่ายให้ตามนั้นหมดเลย... หมาที่สวนแสงธรรมกำลังทุกข์ เราจึงช่วยทุกข์ พออ่านจดหมายว่าหมา ใจอ่อนเลยนะ เลยคำว่าวุ่นจดหมาย วุ่นนี่มายังไงกัน เลยหมดเลยคำว่าวุ่น อ่อนทันทีเลย ให้ตามไปดูในวันหลัง ได้ความมาอย่างนั้นละ ก็เป็นอันว่าเปลื้อง แล้วหนี้... เราก็จะให้คนนี้ ให้เขาอยู่เลี้ยงหมา ที่ไร่หนึ่งนั้นให้เลี้ยงหมาหมดเลย บุญของเขา บุญของหมา...

ไม่ลืม...สัตว์ในวัด

ความเมตตาส่วนนี้ท่านถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งชนิดที่ท่านไม่ยอมให้บกพร่องเลย นั่นคือ ความเมตตาต่อสัตว์ที่อยู่ในวัดป่าบ้านตาด ซึ่งมีอยู่หลายประเภท เช่น ไก่ป่า กระรอก กระจ้อน กระแต ฯลฯ

ท่านคอยสังเกตเอาใจใส่ดูแลเรื่องอาหาร น้ำ ตลอดมา โดยเน้นเดือนพระเณรที่มักเผลอลืมให้อาหารสัตว์อยู่เสมอว่า เขาอยู่กับเรา เขาก็อาศัยเรา เราจะใจจืดใจดำไม่สนใจการกินอยู่ของเขานั้น ไม่ควรอย่างยิ่ง เราก็หิว เขาก็หิว เรามีปากมีท้อง เขาก็มีปากมีท้องเช่นกัน อย่าเป็นพระแบบใจดำๆ สิ่งใดพอจะเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันก็ช่วยเหลือกันไป จึงจะสมกับเป็นลูกศิษย์ตถาคตผู้มีเมตตาธรรม

เหตุนี้เอง ภายในวัดจึงมีที่สำหรับให้น้ำให้อาหารแก่กระรอกกระแต มีการทำเป็นร้านเล็กๆ สูงระดับอกกระจายอยู่ทั่ววัด กะจำนวนได้มากกว่าร้อยจุด ร้านกระรอกทุกร้าน ท่านเน้นย้ำว่า ควรมีข้าวเหนียว กล้วยสุกหรือผลไม้สุกในปริมาณพอดีกับที่เขาต้องการ ไม่มากไปจนบูดเน่าเหม็น หรือน้อยไปจนขาดเขิน ควรเหลือไว้บ้างพอดีๆ

การให้อาหาร ก็โดยพระเณรหรือฆราวาสจะมาเอากล้วยหรือผลไม้อื่นๆ จากโรงเก็บซึ่งเป็นจุดกลาง จากนั้นก็นำไปวางไว้ตามจุดให้อาหารที่ตนรับผิดชอบบริเวณใกล้กุฏิ พวกไก่ป่าจะมีกระสอบข้าวสารหักวางไว้ที่จุดกลางเสมอๆ เพื่อไว้ให้พระเณรฆราวาสตักใส่ถัง แล้วเอาไปหว่านในจุดให้อาหารทั่ววัดตามเขตรับผิดชอบของตน และคอยหมั่นสังเกตน้ำกินของสัตว์ด้วย ไม่ปล่อยให้พร่องไป

สิ่งเหล่านี้เป็นข้อปฏิบัติที่พระเณรผู้มาศึกษาอยู่กับหลวงตาท่าน ทุกระยะนับแต่ตั้งวัดเป็นต้นมา ต่างองค์ต่างรับผิดชอบใส่ใจดูแลสัตว์ในวัดเสมอมาทุกรุ่นๆ ไป เมตตาธรรมอันยิ่งใหญ่ไม่มีประมาณของท่าน ดังที่ได้บรรยายมาแต่ต้นนี้ ย่อมไม่สามารถจะพรรณนาให้หมดให้สิ้นได้อย่างแน่แท้ สิ่งที่พอจะสื่อได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือ คำกล่าวของท่านเองที่ว่า

"...ธรรมเป็นธรรมชาติที่นิ่มนวลอ่อนโยน เมื่อเข้าสัมผัสสัมพันธ์กับใจผู้ปฏิบัติ ผู้มีความเชื่อความเลื่อมใสแล้ว จิตใจนั้นก็กลายเป็นสิ่งที่นิ่มนวลอ่อนโยนไปด้วยเมตตาจิต ไม่เคยมีก็มี ความไม่เคยเสียสละก็เสียสละได้เพื่อผู้อื่น เพราะความเมตตาสามารถมองเห็นเขาเห็นเราว่ามีสาระสำคัญเช่นเดียวกันได้ เพราะความเมตตาเมื่อธรรมมีอยู่ในจิตดวงใดมากน้อย จิตดวงนั้นต้องแสดงออกทางกิริยาให้เห็น ปิดไว้ไม่อยู่ ยิ่งจิตที่บริสุทธิ์ด้วยแล้ว ไม่มีสิ่งใดที่จะนิ่มนวล ละเอียดอ่อนยิ่งกว่าจิตดวงนั้น ให้ความเสมอภาค ให้ความเมตตาแก่สัตว์ทั่วๆ ไป ไม่พูดเพียงมนุษย์เท่านั้น...

แม้สัตว์เดรัจฉานชนิดใดก็ตาม ไม่กล้าดูถูกเหยียดหยาม ไม่กล้าทำลาย ให้ความเสมอภาคตามความจริง และเมตตาโดยสม่ำเสมอ ไม่มีคำว่าจะเป็นลุ่มๆ ดอนๆ ว่าคราวนั้นมีเมตตา คราวนี้ไม่มี เพราะจิตนั้นเป็นจิตเมตตา ดวงเมตตาทั้งดวงก็คือจิตดวงที่บริสุทธิ์อยู่แล้ว..."

Image


(มีต่อ 37)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 28 พ.ย.2006, 7:19 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ 27 หลวงตาไม่ห่วงตนเองยิ่งกว่าชาติ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น หลวงตาท่านเมตตาให้ความช่วยเหลือด้วยประการต่างๆ มากมายหลายด้านหลายทางด้วยการสงเคราะห์แบบเงียบ แบบไม่ยอมให้ปรากฏเป็นข่าวทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์เป็นพื้นฐานเช่นนี้ตลอดมา ชนิดไม่สามารถจะบรรยายได้หมดสิ้น

เพราะในอดีตระยะที่ท่านยังแข็งแรงไปไหนมาไหนคนเดียวได้ หลวงตาท่านก็ให้ความเมตตาช่วยเหลือในลักษณะนี้มาโดยตลอดเช่นกัน และไม่เคยสนใจจะประกาศให้โลกรู้ เพราะท่านมุ่งสงเคราะห์จริงๆ ตามเหตุผลอันควร ดังท่านเคยกล่าวว่า

"...เรานี่ก็ไม่เคยคิดนี่นะว่าจะได้มาช่วยโลกอย่างนี้ นี่มันก็เป็นมาเอง เราก็ทำตามนิสัยของเราอยู่อย่างนั้น อยู่ใต้ดิน ใครจะมาออกข่าวออกคราวอะไร หนังสือผอกสือพิมพ์อะไร เราไม่ให้มาทำนะ เราปัดออกทันทีนะ เพราะฉะนั้น เราทำอะไรจึงไม่มีข่าวมีคราวอะไรทั้งนั้น เราปัดทันทีเลย ไม่ให้มายุ่งว่างั้นเลย เราทำตามอัธยาศัยของเรา...อย่างสมมติพวกหนังสือพิมพ์จะเอามาออก ก็เราเอามาทำนี้มันของลูกศิษย์ลูกหามาทำต่างหาก เรามาทำแทนเขานี่นา เครื่องจตุปัจจัยไทยทานเป็นของเขาทั้งนั้นนี่

ถ้าหากว่าจะออกหนังสือพิมพ์ ก็ต้องเอาออกมาหมดซิ เราถึงจะให้ออก ถ้าออกไม่หมดอย่าเอามาออกนะ มาอวดแต่เราคนเดียว ใช้ไม่ได้นะ เราว่างั้นนะ เขาก็ไม่กล้านะซี เพราะพูดอย่างเด็ดเสียด้วยนะ บอกห้ามไม่ให้มายุ่ง ว่างั้น เลย...ไม่ให้ลง ทำแบบใต้ดินๆ ตลอดมา สร้างโรงร่ำโรงเรียน โรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ที่ไหนก็ตาม เราไม่ให้มายุ่ง เราทำของเราเอง มันก็อยู่ใต้ดินๆ ไม่มีใครทราบละ ภายนอกไม่ค่อยทราบ นอกจากคนใกล้วัดนี้เขาทราบกัน..."

กระทั่งปี พ.ศ. 2540 ชาติไทยของเราประสบกับปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจและความสับสนทางสังคม เฉพาะอย่างยิ่ง ทางด้านจิตใจ เผลอลืมที่พึ่งที่ระลึกอันประเสริฐ ลืมเรื่องศีลเรื่องธรรม เรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องทานศีลภาวนาไปเสีย มัวมุ่งสนใจแต่เพียงวัตถุสิ่งของ เงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์ บริษัท บริวาร

แม้ในยามปกติ ท่านยังมีเมตตาช่วยเหลือสงเคราะห์ชาวไทยอย่างใส่ใจและจริงจังเป็นพื้นฐานตลอดมา ดังได้กล่าวข้างต้นแล้วนั้น บัดนี้ปัญหาขยายวงกว้างขึ้นจนกลายเป็นความทุกข์โดยรวมของคนทั้งชาติ และด้วยความเมตตา สงสารอย่างบริสุทธิ์ใจต่อพี่น้องชาวไทย ท่านจึงปรารภขึ้นด้วยความห่วงใยว่า "...จำเป็นต้องอาศัยความสามัคคีของพี่น้องไทยทุกคน ให้ต่างเสียสละช่วยกันอย่างจริงจัง..."

เมื่อคำปรารภดังกล่าวกระจายออกสู่สังคมกว้างขวางขึ้น ผู้เคารพศรัทธาท่านและผู้มีความรักชาติเป็นพื้นฐานเดิมในใจอยู่แล้ว ต่างออกมาแสดงน้ำใจสละเงินทองช่วยกัน เมื่อคณะบุคคลต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศรับรู้มากขึ้นๆ น้ำใจแห่งความรักชาติจึงเริ่มทยอยหลั่งไหลมาช่วยมากขึ้นๆ ตามกัน

ฝืนสังขารเพื่อชาติ

จนถึงปัจจุบันนี้ หน่วยงานและจังหวัดต่างๆ หลายจังหวัด ประกอบด้วยภาครัฐและเอกชน บรรพชิตและฆราวาส ได้แสดงความรักชาติด้วยการขออาราธนานิมนต์ท่านไปแสดงธรรมเพื่อร่วมบริจาคช่วยชาติกับท่าน ด้วยความเมตตาสงสารของท่านต่อพี่น้องชาวไทยเป็นล้นพ้น แม้จะชราภาพหรือเหน็ดเหนื่อยเพียงใด ท่านก็อุตส่าห์ฝืนสังขารไปแสดงธรรมเทศนาได้ท่ามกลางความห่วงใยของลูกศิษย์พระเณรฆราวาสเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน แต่ไม่มีใครสามารถทัดทานความเมตตาของท่านได้ ในเรื่องนี้ ท่านเคยกล่าวความในใจให้ลูกศิษย์ฟังว่า

"...อย่างที่ได้มานำชาติบ้านเมืองนี้ เราก็ไม่เคยคาดเคยคิด มันก็เป็นของมันมาอย่างนี้ จะทำไง โอ๊ มันสะดุ้งจิตมากนะ เป็นห่วงเป็นใยชาติไทยของเรา ทั้งร่างกายของเราก็ทรุดมากๆ จนเหมือนกับว่า ถ้าเราตายไปนี่ เหมือนกับว่าเราจะมองหลังๆ ด้วยความเป็นห่วงนะ โอ๊ ทำไม ? สุขภาพของเราก็จะเป็นไปไม่ได้แล้ว เป็นไปไม่ได้แล้ว แล้วบ้านเมืองก็ยิ่งเป็นไปอย่างนี้ ทำยังไงน้า ?

อยู่ๆ หมอ...ก็มาช่วยนี่นา เชิดขึ้นอย่างถ้าเป็นเครื่องบินก็มัน 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว หัวมันดิ่งลงสนามถึง 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว แล้วอยู่ๆ ก็เชิดหัวขึ้นทันที ตั้งลำได้ก็ชัดเลย ไม่ต้องยกครูแล้ว เอาเลย จึงได้นำมาตลอดทุกวันนี้...เราทำเพื่อช่วยโลกจริงๆ..."

ท่านกล่าวเช่นนี้ด้วยเหตุว่า เนื่องด้วยในระยะนั้นท่านกำลังป่วยอย่างหนักด้วยโรคท้องอยู่ ถึงขนาดที่ว่าเตรียมการสร้างเมรุเป็นรอยมือของท่านไว้เรียบร้อยแล้วดังปรากฏอยู่ที่หน้าวัดป่าบ้านตาดนั่นเอง

อาการของโรคคล้ายกับท้องเสีย คือ มีการถ่ายท้องถึงวันละ 7-9 ครั้งต่อวัน และเป็นเช่นนี้ตลอดมาทุกวันๆ เป็นเวลาถึง 8 เดือนเต็มแล้ว ก็ยังไม่ปรากฏว่าอาการจะดีขึ้นแต่อย่างใด มีแต่หมดกำลังลงๆ และทรุดลงทุกวันๆ จนท่านตกลงปลงใจว่าธาตุขันธ์ร่างกายนี้คงมีชีวิตอยู่ได้ไม่ถึงวันเข้าพรรษาปี 2541 นี้อย่างแน่นอน

เมื่ออาการของท่านทรุดหนักลงเช่นนั้น จึงมีผู้กราบขอความเมตตาจากท่านเพื่ออนุญาตให้ตรวจรักษาโดยคณะแพทย์ของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น คณะแพทย์ได้ตรวจพบก้อนผิดปกติบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย อย่างไรก็ตาม ท่านไม่อนุญาตให้คณะแพทย์ทำการตรวจวินิจฉัยรักษาต่อแต่ประการใด

บุญของชาติไทยปรากฏแสงแวววาวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อท่านเริ่มฉันยาสมุนไพรและใช้ธรรมโอสถ แล้วปรากฏชัดทันทีว่าอาการต่างๆ เริ่มดีขึ้น และจากนั้นก็ค่อยฟื้นตัวขึ้น ค่อยฟื้นขึ้นๆ มีกำลังวังชามากขึ้นๆ เพราะเมื่อฉันอาหารแล้วไม่สูญเสียตกหล่นออกไปหมดเหมือนเมื่อครั้งที่ป่วยด้วยโรคท้องอยู่ทุกขณะคืนวัน

เมื่อสุขภาพของท่านดีขึ้นๆ ดังกล่าว ประกอบดับระยะนั้นท่านทราบเกี่ยวกับเรื่องความทุกข์ร้อนของชาติมาก่อนแล้ว ท่านจึงประกาศถึงความมุ่งมั่นที่จะช่วยชาติอย่างจริงจังขึ้นแก่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาและประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2541 โดย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเป็นประธาน ทั้งนี้ก็เพื่อให้พี่น้องชาวไทยรับทราบกันโดยทั่วถึง จะได้ต่างแสดงน้ำจิตน้ำใจช่วยกันมากบ้างน้อยบ้างตามกำลัง ทั้งนี้เพราะเรื่องของชาติเป็นเรื่องใหญ่ มีความจำเป็นต้องได้ช่วยกันทุกคนครั้งแล้วครั้งเล่า สิ่งนี้ไม่ใช่วิสัยของคนคนเดียว หากเป็นวิสัยที่ท่านทำได้ด้วยตนเองเพียงคนเดียว ท่านจะไม่ยอมรบกวนผู้หนึ่งผู้ใดเลย ด้วยความเมตตาและเสียสละอันยิ่งใหญ่ในใจของท่านนี้ ทำให้ท่านถึงกับได้เคยกล่าวว่า

"...เราช่วยโลกอย่างนี้ เราช่วยด้วยความเมตตาจริงๆ ไม่ได้ช่วยเล่นๆ...นี่ถ้าหากว่าเรามีนะ เราจะไม่กวนชาวบ้านชาวเมืองเลย แต่ของเราคนเดียวพอแล้ว ตูมเดียวทั่วประเทศไทย ชั่วโมงเดียวหมด เรียบวุธหมดเลย แต่นี้เราไม่มีนั่นซี จึงได้เรียกร้องให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ช่วยกันเพื่อยก ถ้าเรามีแล้ว โอ๊ย ไม่ยาก เราจะไม่ถามใครให้ลำบากเสียเวล่ำเวลา ยกตูมเดียวเลยท่วมปุ๊บเลยเทียว ความจนลงทะเลหลวงมองตามหลังไม่ทันเลย มันจมไปเลยแต่นี้เพราะไม่มีนั่นเอง จึงได้ขอร้องจากพี่น้องทั้งหลายให้ช่วยกัน อันนี้ไม่ใช่กำลังของคนคนเดียวจะยกได้ มันกำลังของทุกคนที่จะยกชาติของตนขึ้นถึงถูก ถึงต้องได้พยายามอย่างนี้ เมื่อมันหนักมากก็พักไปเป็นระยะๆ เพราะเวลานี้แก่มากแล้ว เดินไปก็โซซัดโซเซแล้ว กำลังวังชาไม่มี แต่จิตใจนั้นแข็งแกร่งตลอดเวลา ไม่งั้นไปไม่ได้นะ นี้เราไปด้วยอำนาจกำลังใจ กำลังความเมตตาต่างหาก ที่เราตะเกียกตะกายอยู่ทุกวันนี้ ใจเป็นสำคัญมากนะ..."

รวมหัวใจชาวไทยเป็นหนึ่งเดียวเพื่อชาติ

"...ขอให้พี่น้องทั้งหลายผู้รักชาติจงรวมน้ำใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อเทิดทูนชาติไทยของเราด้วยการบริจาคอุดหนุนชาติไทยของเราให้กระเตื้องขึ้นโดยลำดับ เราจะมีความร่มเย็นเป็นสุขทั่วหน้ากัน แล้วงานที่หลวงตาเป็นผู้นำนี้ ไม่มีก๊กมีเหล่า ไม่มีคู่แข่ง ไม่มีกรรมมีเวรต่อผู้ใด ไม่ได้นำด้วยมีโลภเข้ามาแฝงเลย เป็นธรรม จึงไม่มีคู่กรรมคู่เวร ไม่มีคู่แข่ง ไม่มีข้าศึกศัตรู ไม่มีก๊กนั้นก๊กนี้ มีแต่ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันล้วนๆ ที่พร้อมเพรียงกันบริจาคเพื่อชาติไทยของเรา...

...น้ำใจเป็นของสำคัญ อันนี้แหละที่จะหนุนเมืองไทยของเราให้สง่างามขึ้นไปโดยลำดับ ก็คือความรักชาติความสามัคคีซึ่งกันและกัน และด้วยความต่างคนต่างเสียสละช่วยกัน ใครอยู่บ้านนอกในเมืองที่ไหน ก็คือคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์เช่นเดียวกัน มีสิทธิที่จะหนุนเมืองไทยเราได้ทุกๆ คน เราจงพากันหนุนเมืองไทยของเราขึ้นให้ได้สมบัติที่จะมาหนุนเมืองไทยนั้น ตั้งไว้ตามโครงการก็มีทองคำ ดอลลาร์ เงินสด...

โดยปกติแล้วเราไม่เคยเกี่ยวข้องกับเงินกับทองแต่ไหนแต่ไรมา แต่มาคราวนี้ได้เป็นเจ้ากี้เจ้าการ เจ้าอำนาจเกี่ยวกับการเงินการทองการเก็บการรักษาเสียแล้ว เพราะเรารักษาความแคล้วคลาดปลอดภัยในสมบัติเหล่านี้ ไม่ให้รั่วไหลแตกซึมไปสถานที่ใด นอกจากจะให้เข้าสู่จุดมุ่งหมายคือความปลอดภัยเท่านั้น จึงต้องได้เข้มงวดกวดขัน"

คำกล่าวข้างต้นของหลวงตา แสดงถึงความสามัคคีกันเสียสละเพื่อส่วนรวมของพี่น้องชาวไทย ต่างร่วมฟังธรรมและพร้อมเพรียงกันในกิจกรรมอันเป็นมงคล จึงเหมือนกับเป็นการประกาศก้องถึงพื้นฐานเดิมของชาวไทยเรา ที่มีน้ำจิตน้ำใจเฉลี่ยเผื่อแผ่ มีความเสียสละเป็นพื้นฐานอยู่ภายในจิตใจมาแต่ดั้งแต่เดิมรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายนานมาแล้ว เมื่อถึงคราวยากของชาติบ้านเมือง มีความจำเป็นต้องรวมหัวใจเข้าด้วยกัน และแม้ว่าทุกภาคภาษาทุกท้องถิ่น ซึ่งไม่รู้จักกันมาก่อนเลยก็ตาม แต่เมื่อมีความจำเป็นเกิดขึ้น ก็สามารถรวมธรรมสามัคคีกันได้อย่างรวดเร็วแบบไม่มีทิฐิมานะ ไม่ถือสีถือสา ไม่แบ่งกลุ่มก๊กเหล่าอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนเลย

Image

คุณค่าของน้ำใจ

หลวงตาท่านเคยพูดถึงสาเหตุที่คนไทยเรามีความกลมเกลียวเข้ากันได้ง่าย ก็เพราะด้วยคนไทยมีหลักธรรมเป็นพื้นฐานฝังลึกอยู่ในใจนั่นเอง เมื่อมีน้ำใจต่อกันแล้ว จะเข้ากันได้อย่างสนิทใจ ท่านเคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

"...โลกเราอยู่ด้วยกันได้ด้วยอำนาจแห่งการเสียสละ คือการให้ทานต่อกัน ความช่วยเหลือกัน มีแต่การเสียสละทั้งนั้น โลกถ้าไม่มีการช่วยเหลือ ไม่มีการให้ทาน เฉลี่ยเผื่อแผ่กันแล้ว ไม่มีความหมาย โลกมีความหมายมากน้อย อยู่ที่การเฉลี่ยเผื่อแผ่มีน้ำใจต่อกัน ความมีน้ำใจต่อกันนี้สำคัญมาก ผู้มีน้ำใจต่อกัน เฉลี่ยเผื่อแผ่กัน ความเสียสละก็ย่อมมีได้

ถ้าไม่มีน้ำใจ ไม่มีแก่ใจแล้ว อะไรๆ ก็หลุดมือออกไปไม่ได้ ทีนี้อยู่กันเป็นร้อยเป็นพันก็ไม่มีความหมาย คนหนึ่งจะตายดิ้นอยู่นี่ ก็ไม่มีใครดูแลกัน นี่แหละความไม่มีแก่ใจ เพราะฉะนั้น จึงว่ามีมากเท่าไหร่ก็ตาม ถ้าไม่มีความเสียสละ ไม่มีแก่ใจแล้ว ไม่มีความหมายทั้งนั้นแหละมนุษย์เราอยู่ร่วมกันจะอยู่ใกล้อยู่ไกลไม่สำคัญ สำคัญที่น้ำใจที่มีต่อกัน อันนี้สำคัญมาก

ชาติชั้นวรรณะมันตั้งไปตามลักษณะเฉยๆ มันก็คนนั่นแหละ แต่โดยหลักธรรมแท้คือคน เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ด้วยกัน ไม่ได้เกิดมาจากท้องเทวดาที่ไหน มาเกิดเป็นคนแล้วก็ว่าชาตินั้น ชั้นนั้น วรรณะนี้ไปว่ากันเฉยๆ ดีไม่ดีเอา สิ่งเหล่านี้มากระทบกระเทือนกัน ไม่ใช่ของดี ความไม่ถือกัน มีน้ำใจ อันนี้สำคัญมาก ใกล้ไกลไปไหนไม่อดอยาก ไม่ตายคนเรา มีความเสียสละต่อกัน มีน้ำใจต่อกัน คนเราย่อมสนิทกันได้อย่างง่ายดาย ไม่จำเป็นจะต้องเกิดมาในพ่อแม่เดียวกัน แม้แต่พ่อแม่เดียวกันยังทะเลาะกันได้ เอาถือเป็นความสนิทติดจมจริงๆ ไม่ได้

มันสำคัญอยู่ที่น้ำใจ ถ้ามีน้ำใจแล้ว คนเราย่อมเข้ากันได้สนิท ต่างคนต่างเสียสละกันอย่างนี้แหละดี มนุษย์เราจะได้มีคุณค่า มีความชุ่มเย็นเป็นสุข...มนุษย์นี้เท่านั้นที่มีน้ำใจต่อกันได้มากยิ่งกว่าสัตว์อื่นๆ เพราะมนุษย์นี้รู้ดีรู้ชั่ว รู้บุญรู้บาป..."

น้ำใจคนจนเพื่อชาติ

ชาวสวนกลุ่มหนึ่งเป็นคนจนไม่มีเงินมีทองบริจาค แต่มีใจอยากร่วมช่วยชาติด้วย จึงอุตส่าห์รวบรวมกันขายมะเขือเทศ ตั้งใจว่าได้เท่าไหร่ก็จะร่วมกันบริจาคช่วยชาติกับท่านด้วย น้ำใจแห่งการช่วยชาติครั้งนี้จึงทำให้ท่านรู้สึกถึงใจและซาบซึ้งในน้ำใจของชาวสวนอย่างมาก ดังนี้

"...ไปวันนี้ไปจากน้ำใจ เขาจะบริจาครวมกันขายมะเขือเทศทอดตลาดไปเลยได้กี่บาทกี่สตางค์ก็ตาม จะเอาเงินจำนวนนี้เข้ามาช่วยชาติ นี่ฟังแล้วถึงใจนะเรา เพราะเราช่วยชาติด้วยความถึงใจจริงๆ ไม่ได้ช่วยแบบจืดๆ จางๆ นะ เราช่วยจริงจังอย่างที่สุด ที่ดีดที่ดิ้นอยู่นี้มีแต่เพื่อช่วยชาติอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าใครไม่เห็นความสำคัญของชาติ ก็เรียกว่าคนนั้นไร้สาระ ไม่มีชาติเกิดกับเขา ไม่มีชาติเป็นหลัก ไร้ค่าไม่มีราคาเลย

คนประเภทนั้น ถ้าอยู่ใกล้ริมแม่น้ำโขงให้เขี่ยลงแม่น้ำโขงนะ เข้าใจไหม ถ้าอยู่ใกล้ทะเลให้เขี่ยลงทะเล อย่าให้ตกค้างอยู่ในเมืองไทย คนไม่มีหลักมีเกณฑ์ คนไม่รักชาติ ต้องเขี่ยลงทะเล ให้พวกที่เขารักชาติอยู่ในเมืองไทย...ที่รักชาติอุตส่าห์ขวนขวายรวบรวมกัน...บริจาคเพื่อช่วยชาติ เราฟังแล้วถึงใจนะ มันสำคัญอยู่ที่น้ำใจ ความรักชาติ หนุนชาติ รักษาชาติเป็นสิ่งที่เป็นมงคลมากทีเดียว ก็เหมือนลูกรักพ่อรักแม่

พ่อแม่จะเป็นคนมีคนจน ลูกรักด้วยกันทั้งนั้น คนจนก็รักพ่อรักแม่ คนมั่งมีก็รักพ่อรักแม่ หลักใหญ่อยู่ที่รักพ่อแม่ของตน นี่คือชาติของตน นั่นเราเอาตรงนี้นะ คนมีคนจนไม่สำคัญ ความรักชาติสำคัญมากทีเดียว...

วันนี้จะไปเทศน์อนุโมทนาน้ำใจที่รักชาติ อุตส่าห์พยายามรวบรวมกัน มีมากมีน้อย ชาวสวนด้วยกัน รวมมาเป็นน้ำใจช่วยชาติของเรานี้ เด่นมากนะ พี่น้องทั้งหลายให้ฟังให้ถึงใจนะ เขาเป็นคนทุกข์คนจน เป็นชาวสวนวิ่งเต้นขวนขวายหามามากน้อย เขายังอุตส่าห์มาหนุนชาติของตัวนั่น มันควรจะเป็นคติตัวอย่างทั่วประเทศไทยของเรา เมืองไทยของเราถ้าต่างคนต่างรักชาติเห็นชาติเป็นสำคัญแล้ว ต่างคนต่างรัก ต่างคนต่างสงวน ต่างคนต่างบำรุงรักษากัน ชาติไทยของเราก็มีความแน่นหนามั่นคง นี่ละสำคัญที่จุดนี้นะ..."

ผู้ใหญ่ต้องเป็นผู้นำแห่งงานเสียสละเพื่อชาติ

ความร่วมไม้ร่วมมือของผู้น้อย และมีผู้ใหญ่เป็นผู้นำร่วมแรงร่วมใจ แสดงถึงความสามัคคีของหน่วยงานหรือจังหวัดนั้น ในเรื่องนี้ท่านแสดงธรรมไว้ ดังนี้

"...ดังพี่น้องทั้งหลายได้นำเครื่องบริจาค...ประเภทต่างๆ มาวันนี้ ล้วนแล้วตั้งแต่เป็นสิ่งที่มีคุณค่าออกจากน้ำใจแห่งความรักชาติของพี่น้องทั้งหลายได้มาช่วยเหลือกัน ปรากฏสง่างามอยู่ที่ศาลาและที่อื่นๆ ในบริเวณนี้เต็มไปหมด...

ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของพี่น้องทั้งหลาย เพราะผู้ใหญ่สำคัญมากที่สุด ในครอบครัว เหย้าเรือนก็มีพ่อบ้านแม่เรือนเป็นที่อยู่ของเด็กลูกๆ หลานๆ ในสกุลนั้นๆ ถ้าผู้ใหญ่ไม่มีผู้ปกครองไม่มี หาหลักเกณฑ์ไม่ได้

นี่บ้านเมืองของเราก็ต้องมีผู้ใหญ่ เช่น จังหวัด....ก็มีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดมาเป็นผู้นำ มาเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เป็นหลักอันใหญ่โต เป็นความอบอุ่นของพี่น้องทั้งหลาย วันนี้จึงมีความสง่าราศีมากในงานของเรา เพราะมีท่านผู้ใหญ่มาประดับเกียรติแก่จังหวัดและชาติไทยของเราให้สง่างาม

ถ้ามีตั้งแต่เด็กเล็กเด็กน้อยตาสีตาสาขวนขวายทำกัน โดยผู้ใหญ่บกพร่อง ผู้ใหญ่ไม่สนใจอย่างนี้ เรียกว่าเสียความงาม เสียความสง่าราศี ไม่มีคุณค่าประการใด ดีไม่ดีเขายังตำหนิผู้ใหญ่อีกด้วย... หาความร่มเย็นให้ประชาชนพลเมืองไม่

ได้อย่างนี้เขาก็อาจยกโทษได้ต่อเมื่อมีผู้ใหญ่มาเป็นผู้นำแล้วทำไมใครจะไม่อบอุ่น ต้องมีความอุ่นทั่วหน้ากัน ตั้งแต่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและรองลงมาตามลำดับลำดา ข้าราชการทุกหน่วย ตำรวจ ทหาร ประชาชน ข้าราชการทุกหน่วยพร้อมเพรียงกันมา ให้ความสนับสนุนและความร่มเย็นแก่พี่น้องชาวไทยและชาติไทยของเราแล้ว ต้องเป็นงานที่มีสง่าราศีมาก..."

พระภิกษุสามเณรควรช่วยชาติ

ท่านเทศน์ในคราวที่พระภิกษุสามเณรต่างสามัคคีกันออกมาจากป่าเขา เพื่อเสียสละบริจาคเงินและทองคำช่วยชาติ ดังนี้

"...นี่แหละที่จะออกมาในครั้งหนึ่งๆ หละ ออกมาจากป่าจากเขา ท่านเป็นครูเป็นอาจารย์เขาอยู่ตามที่ต่างๆ แล้วก็มารวมกัน รวมนี่ก็แสดงน้ำใจของผู้มีธรรม ผู้มีธรรมย่อมมีจิตใจกว้างขวาง ย่อมมีจิตเมตตา มีจิตใจสะอาด แสดงออกมาด้วยความเป็นมงคลแก่โลกแก่สงสาร ดังพระพุทธเจ้าท่านเสด็จไปไหน เป็นมงคลแก่โลก พระสาวกไปไหน เป็นมงคลแก่โลก เป็นเนื้อนาบุญอันชุ่มเย็นของโลก นั่นนะ ท่านไปอย่างนั้นนะ

ทีนี้ ถ้าหากผู้สืบต่อสายธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว จะมีลักษณะเช่นเดียวกัน ไม่มากก็น้อยต้องแสดงออกซึ่งน้ำใจอันดีงาม นี่แหละ เรียกว่า ออกมาจากใจที่ขาวสะอาด ออกมาจากใจที่มีเมตตาเฉลี่ยเผื่อแผ่ต่อกัน นี่ชาติไทยของเราเวลานี้กำลังจนตรอกจนมุมทั้งประเทศ

นี่แล้วพระสงฆ์เหล่านี้ที่อยู่ในเมืองไทยนี้เป็นลูกของใครบ้าง เอาซิ ไล่เข้าไป พระสงฆ์ที่มาเป็นพระสงฆ์ไทยอยู่เวลานี้เป็นลูกของใคร ลูกมีพ่อมีแม่น่ะ พ่อแม่ของพระสงฆ์นี้อยู่ตามป่าตามเขา อยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย อยู่ที่ไหนมีหมดพ่อแม่ของพระสงฆ์ในสมัยปัจจุบันนี้

เวลานี้กำลังตกทุกข์ได้ยากลำบากทั่วประเทศไทย เรียกว่า พ่อแม่ของสงฆ์ไทย เรานี้กำลังได้รับความตกทุกข์ลำบาก แล้วทำไมลูกสงฆ์คือลูกมีพ่อมีแม่ ลูกพระสงฆ์ไทยซึ่งมีพ่อมีแม่แล้ว ทำไมจึงจะใจดำน้ำขุ่นช่วยพ่อช่วยแม่ไม่ได้ พ่อแม่กำลังตกทุกข์ได้ยากลำบากเข็ญใจ

นี่พระสงฆ์ออกมาช่วยนี้ เรียกว่า ทำกิจสงฆ์โดยสมบูรณ์ นี่หละงานของสงฆ์เป็นงานอย่างนี้ สงฆ์ต้องช่วยชาติซิ ช่วยโลก ช่วยสงสารสัตว์ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าท่านว่า มหาการุณิโก นาโถ หิตายะ สัพพะปาณินัง พระพุทธเจ้าทรงพระเมตตามหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ฟังซิ แล้วทำประโยชน์ให้แก่สัตว์นี้ไม่มีประมาณ นั่นแหละ แปลออกมาทำประโยชน์ให้สัตวโลกไม่มีประมาณเลย ไม่มีใครเกินพระพุทธเจ้า

เราเป็นลูกศิษย์ของพระตถาคตก็ต้องแสดงลวดลายออกมาบ้าง ไม่มากก็น้อย ตามกำลังความสามารถของคน มันถึงจะถูก ไม่ใช่พระสงฆ์แบบใจดำน้ำขุ่น..."

Image


(มีต่อ 38)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 28 พ.ย.2006, 7:24 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ 28 หลักทรัพย์ หลักใจ ไม่อิ่ม ไม่เลิกรา

หลวงตาท่านกล่าวว่า "...การช่วยชาติด้วยการเสียสละเงินทองส่วนตนเข้าเป็นสมบัติกลางนี้ จริงๆ แล้วเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ แต่ก็มีความจำเป็นต้องช่วยกัน เพราะคลังหลวงแห่งชาติยังขาดตกบกพร่องอยู่ จึงต้องขอให้ชาวไทยเราทุกคนต่างช่วยกันเสียสละ มากน้อยไม่สำคัญ สำคัญที่ต่างช่วยกันอุดหนุดครั้งแล้วครั้งเล่า เหมือนเรารับประทานอาหาร ไม่อิ่มไม่เลิกรา

การเสียสละก็เช่นกัน เมื่อมีมากน้อยเท่าไร ก็แบ่งมาช่วยหนุนเพื่อชาติเราครั้งแล้วครั้งเล่าเช่นกัน จนกว่าคลังหลวงจะอิ่ม ใครมีเงินก็ช่วย มีทองคำก็ช่วย เพื่อเอามาเป็นหลักประกันแก่ชาติ..."

รักชาติไทย ส่งเสริมสินค้าไทย

ท่านเน้นเสมอให้มีความรักชาติ ควรเห็นคุณค่าของสมบัติข้าวของเครื่องใช้ของชาติไทยเราเอง ไม่ควรหลงใหลสินค้าจากเมืองนอกอย่างไร้เหตุผล ดังคำเทศนาของท่านว่า

"...การอยู่ ให้ประหยัด การกิน ควรกินอะไร...กินอย่างประหยัด ใช้สอยก็ใช้สอยอย่างประหยัด อย่าฟุ่มเฟือย... เราอย่าไปฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมของเมืองนอกเมืองนาเมื่อไม่มีความจำเป็น...จงขอให้พากันรักกันสงวน มีอะไรของใช้ของสอยเครื่องอยู่เครื่องกินภายในประเทศไทยของเรา ใครสร้างขึ้นมาผลิตขึ้นมา ให้สนับสนุนกัน ซื้อของกันและกันมาอยู่มากินมาใช้มาสอย นี่เป็นเนื้อหนังของชาติไทยเรา เลี้ยงชาติไทยของเรา จะเป็นความเข้มแข็งขึ้นมาในชาติไทยของเรา โดยไม่ต้องไปอาศัยคนอื่น นี่หลักใหญ่

สิ่งภายนอก หากมีความจำเป็น เราจะซื้อจะหาตามธรรมดาโลกอยู่ร่วมกัน ก็ต้องมีการผลัดเปลี่ยน มีการแลกเปลี่ยนเป็นธรรมดา ของเขามี ของเราไม่มี ก็จำเป็นต้องซื้อต้องหาจากเขา เขาก็เหมือนกันกับเรา นี่เป็นความจำเป็น ใครก็ทราบด้วยกันทุกคน เมื่อจำเป็นอย่างนี้ เขากับเราก็ปฏิบัติอย่างเดียวกัน

แต่ถ้าไม่จำเป็น เกิดขึ้นจากความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม อะไรก็ดีตั้งแต่ของนอกๆ ของเราหาคุณค่าหาราคาไม่ได้ คุณค่าราคาไปอยู่กับเมืองนอกเมืองนาเสียหมด อย่างนี้เรียกว่า เราไม่มีหลักมีเกณฑ์ ไม่มีเนื้อมีหนัง ไม่มีสง่าราศีภายในตัวของเราเลย ประเทศไทยทั้งชาติก็ไม่มีคุณค่า เพราะคุณค่าไปอยู่กับเมืองนอกเสียทั้งหมด..."

ทรงมรดกธรรม

ท่านเน้นจุดสำคัญว่า การแก้ไขที่จะให้ตรงจุดตรงต้นเหตุก็คือ การทรงเอามรดกธรรม มรดกของพระพุทธศาสนา เอาศีลธรรมความประพฤติดีงาม ด้วยเหตุด้วยผลด้วยหลักด้วยเกณฑ์ เข้ามาอุดหนุนจิตใจ จนมีหลักประกันภายในจิตใจ นั่นคือ มีหลักใจ

โดยการหันกลับมาปรับปรุงตัวของเราแต่ละคนคน ให้มีความประหยัด ไม่ลืมเนื้อลืมตัว ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม การอยู่การกินการใช้การสอยการไปการมา ให้มีความประหยัด ให้มีเหตุผลตามอรรถตามธรรม รักษาศีลธรรม ความประพฤติของตน อย่าทำตัวหรูๆ หราๆ ฟุ่มเฟือย

ท่านให้ดูพระผู้มีหลักเกณฑ์ภายในใจเป็นแบบอย่าง เพราะพระเป็นแนวหน้า เป็นแม่แบบแห่งความประหยัด เป็นตัวอย่างแห่งความเรียบง่ายมีเหตุผล มีการระมัดระวังควบคุมจิตใจไม่ให้คะนองด้วยราคะตัณหา โลภโมโทสันจนเลยเขตเลยแดน แต่ให้มีธรรมเข้าคอยสกัดลัดกั้น เป็นเบรกห้ามล้อไว้

การไปเทศนาช่วยชาติในที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ท่านจึงเน้นย้ำเรื่องหลักใจอยู่เสมอ อันจะทำให้การอยู่การกิน การใช้การสอย การไปการมาของเรามีหลักเกณฑ์เหตุผลมากขึ้น หลักทรัพย์ส่วนตนก็จะแน่นหนามั่นคงมากขึ้นตามลำดับ แล้วก็หันหน้าเข้าช่วยกันอุดหนุนชาติเป็นลำดับลำดาเช่นกัน เหมือนเรารับประทาน หลักทรัพย์ของชาติก็จะแน่นหนามั่นคงมากขึ้นตามกัน เพราะเหตุแห่งการหันมาแก้ไขที่ต้นเหตุของแต่ละคนนั่นเอง การสร้างจิตใจให้เจริญจนมีหลักมีเกณฑ์แน่นหนา จึงเป็นการแก้ไขต้นเหตุแห่งปัญหาของชาติอย่างแท้จริงเสียสละเพื่อชาตินี้...

เป็นคติแบบอย่างอันดีงามแก่เด็กกุลบุตรสุดท้ายภายหลัง

ท่านกล่าวถึงประโยชน์ของการสามัคคีช่วยชาติครั้งนี้ มีผลดีแก่เด็กลูกหลาน ดังนี้

"...ความเสียสละเพื่อชาติของตน...เป็นเครื่องประดับชาติของไทยเรา ก็คือสมบัติของเราเองที่นำออกไปประดับแล้วสวยงามไปหมด แล้วนี้ยังจะเป็นเครื่องฝังใจของกุลบุตรสุดท้ายชาวไทยของเราไปตลอดอวสานนะว่า พ่อแม่ปู่ย่าตายายของเด็กไทยเราพาลูกหลานของตนดำเนินอย่างไรบ้าง นี่เป็นคติอันสำคัญ เป็นรากฐานอันสำคัญที่เราทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ใหญ่ของเด็กไทยเราที่กำลังติดตามพ่อแม่มา ตามแบบพิมพ์มา...

...แบบพิมพ์เป็นยังไง คือผู้ใหญ่ของเรานี่ เวลานี้กำลังคับขัน ผู้ใหญ่ของชาติไทยเราทุกๆ คน ตั้งหน้าตั้งตาช่วยเหลือกันเต็มกำลังความสามารถ เอาสมบัติของตนแต่ละคนคนออกไปเป็นเครื่องประดับให้เป็นสมบัติของโลกสง่างามหมด นี่ผู้ใหญ่ก็เป็นที่ภาคภูมิใจ เป็นคติตัวอย่างอันดีงามแก่กุลบุตรสุดท้ายภายหลังได้ดีมาก

และอันนี้ยังจะฝังใจของเด็กไทยเราไปตลอดนะ ให้เป็นผู้เข้มแข็ง มั่นคงต่อทุกสิ่งทุกอย่าง อันใดที่จะเป็นภัย ฟัดกันเลย...เรียกว่า ไม่ท้อถอย ไม่อ่อนแอ ไม่ล้มเหลว เพราะหัวหน้าพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเด็กไทยเราเป็นผู้นำด้วยความกล้าหาญชาญชัยทุกสิ่งทุกอย่าง...

เด็กไทยเราจะเป็นคนที่มีความแน่นหนามั่นคง มีหลักใจ มีหลักทุกอย่างในประเทศไทยของเราแน่นหนามั่นคงเพราะพวกเราทั้งหลายเป็นผู้นำสำคัญมาก ไม่ใช่ว่าเราทำนี้ จะเป็นประโยชน์เฉพาะปัจจุบัน ยังจะเป็นประโยชน์ต่อกุลบุตรสุดท้ายภายหลังต่อไปอีก เรียกว่า ชาติไทยเราเป็นชาติที่แกร่งด้วยความแน่นหนามั่นคง ด้วยความเสียสละ ด้วยความรักชาติทุกคน

ถ้าชาติไทยของเราต่างคนต่างมีน้ำใจอย่างที่ว่า ให้เป็นอรรถเป็นธรรมแล้ว ชาติไทยของเราจะแน่นหนามั่นคง มีแต่คนดี ดีหมดทั้งชาติไทยเรา นั่น ถ้าว่าดีแล้ว ดีทั่วประเทศเลย ถ้าเลว ก็เลวกันหมดเลย...เพราะฉะนั้น จึงตั้งหน้าตั้งตาให้เป็นหลักเกณฑ์อันดี ให้เป็นคนดีมีศรีสง่าแก่กุลบุตรสุดท้ายภายหลัง ซึ่งเป็นลูกไทยของเราสืบทอดต่อไปจากมรดกของพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่มอบให้นี้ด้วยความเสียสละ เพื่อชาติของตน เวลานี้กำลังหัวเลี้ยวหัวต่อละ เอาให้เต็มเหนี่ยวเลยนะ อย่าถอยหลังเป็นอันขาด คราวนี้เป็นชาติที่พลีชีพเพื่อชนะความจนให้ได้..."

Image

"วัตถุ" เป็นพื้นฐาน "ธรรม" ออกกระจาย

หลวงตาท่านชราภาพมากแล้ว แต่ท่านยังมีแก่ใจเสียสละได้ ด้วยเห็นแก่พี่น้องร่วมชาติ ท่านจึงยอมฝืนสังขารแบกธาตุขันธ์ร่างกาย ไปสงเคราะห์ตามสถานที่ต่างๆ ด้วยการแสดงธรรม

ความอุตสาหะ วิริยะ พากเพียรเพื่อชาติถึงเพียงนี้ของท่าน ก็ด้วยหวังให้พี่น้องไทยเราทุกคนมีหลักธรรมประจำใจ มีความประพฤติดี มีศีลธรรมเป็นหลักยึด มีความประหยัดมัธยัสถ์อดออม และรู้จักเมตตาเฉลี่ยเผื่อแผ่มีน้ำใจ รู้จักเสียสละเพื่อผู้อื่น เพื่อสังคม เพื่อประเทศชาติ ดังคำกล่าวของท่านที่ว่า

"...การช่วยชาติคราวนี้ เราเห็นประโยชน์ทางด้านจิตมากกว่าด้านวัตถุนะ เพราะธรรมะจะกระจายออก เรียกว่าทั่วประเทศไทย...เพราะมันมีทีวี มีวิทยุ พวกเทปและอะไรอื่นๆ และเทศน์ เราก็เทศน์ไม่หยุด ตั้งแต่เทศน์มานี้ เทศน์ไม่หยุด เทศน์ทุกแห่งทุกหน เทศน์กระจายออกไป มีทุกประเภทของการเทศน์ เทศน์สูงเทศน์ต่ำก็มี สุดยอดมี มีหมดตามสถานที่ต่างๆ

ถ้ามีพระมามาก ธรรมะจะสูง หมายถึงพระปฏิบัติ ถ้าพระทั่วๆ ไป เราไม่สนใจอะไร...เราเทศน์เน้นหนักทางจิตใจกับธรรม สาระของที่ตั้งที่เกาะของใจคือธรรม เน้นหนักตรงนี้มาก เพราะฉะนั้น จึงว่าการก้าวเดินด้วยวัตถุนี้เป็นเพียงพื้นฐานการก้าวเดินเฉยๆ หลักใหญ่เราอยู่กับธรรม เพราะธรรมเกี่ยวข้องกับจิตใจ จิตใจเป็นเรื่องใหญ่โตมาก ทั้งวัตถุเหล่านี้ก็จะต้องเกี่ยวข้องกับจิตใจ วัตถุช่วยชาติเหล่านี้นะ ความเป็นอยู่ของประชาชนก็จะค่อยกระเตื้องขึ้นมา ไม่ลืมเนื้อลืมตัวจนเกินไป จะรู้ตัวเรื่องประหยัดบ้าง..."

การช่วยชาติครั้งนี้จึงเป็นมหามงคลยิ่ง มีความหมายที่ละเอียดลออลึกซึ้ง มีคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่พี่น้องชาวไทย และสิ่งนี้ย่อมเป็นคติตัวอย่างอันดีงามแก่กุลบุตรสุดท้ายภายหลังต่อไปอีกนานแสนนาน


(มีต่อ 39)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง