Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 29 พ.ย.2006, 5:22 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

Image
“เขมปัตตเจดีย์ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต” ณ วัดบรรพตคีรี (วัดภูจ้อก้อ)


๏ จิตที่เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว

ท่านผู้ต้องการพ้นทุกข์โดยด่วนในปัจจุบันชาติ ปัจจุบันจิต ปัจจุบันธรรมแล้ว จะไม่เอื้อเฟื้อ ไม่อาลัย ไม่รัก ไม่ปฏิบัติเนืองๆ ยิ่งๆ ในพระอานาปานสติลมหายใจออกเข้า แล้วนั่งคอยนอนคอยปรารถนาอยู่เฉยๆ ย่อมเป็นไปได้ยาก และลมออกเข้ายาวหรือสั้นจะไม่ใช่กายอย่างไร ก็กายานุปัสสนานั่นเอง และก็ธาตุดินน้ำไฟลมที่สมดุลกันอยู่นั้นเอง จึงพอหายใจออกเข้าได้

ลมหายใจออกเข้า บางทีเสวยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง อุเบกขาบ้าง ก็เวทนานุปัสสนานั้นเอง

ลมหายใจออกเข้า เห็นจิตที่เศร้าหมองหรือผ่องแผ้วหรือกลางๆ ก็จิตตานุปัสสนานั้นเอง

ลมหายใจออกเข้า เห็นความไม่เที่ยงแห่งกายสังขาร จิตสังขารก็ธรรมานุปัสสนานั้นเอง

(ไม่เรียงแบบก็ได้ไม่เป็นไรดอก)

แล้วกายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี ยกขึ้นสู่เมืองขึ้นของไตรลักษณ์ให้กลมกลืนกันเป็นเชือกสามเกลียว เป็นเป้าอันเดียวกันไม่ต้องแยก ไม่ต้องเรียง ไม่ต้องขยาย เห็นอยู่ ณ ซึ่งหน้าสติ ซึ่งหน้าปัญญา พร้อมกับลมออกเข้า ไม่มีอันใดก่อน ไม่มีอันใดหลัง ติดต่ออยู่ พิจารณาอยู่ไม่ขาดสาย

ความเพลินความเมาความดิ้นรนในโลกทั้งปวง ทั้งอดีตอนาคตมันจะรวมพลมาจากประตูใด เพราะปัจจุบันมีอำนาจเหนือโลกอดีต เหนือโลกอนาคตแล้ว มิหนำซ้ำจะได้โต้ตอบกับปัจจุบันว่า ปัจจุบันเป็นเมืองขึ้นของใคร และใครมายึดถือเอาเป็นเจ้าของ จะได้ตะลุมบอนหั่นแหลกกันในปัจจุบันนั้น แต่อย่าได้ลืมลมออกเข้า เพราะลมออกเข้าเป็นแม่เหล็กอาจารย์เดิม ลมจะละเอียดสักเพียงใดอย่าได้ลืมเลย เพราะจิตจะฟุ้งซ่านเป็นว่าวเชือกขาด จะเป็นช่างเหล็กที่ตีเหล็กไม่ถูกทั่ง เหล็กจะกระเด็นใส่หน้า ข้อนี้สำคัญมากนักหนา


๏ นักหลบมิใช่นักรบ

แต่นักภาวนากำหนดลมออกเข้า มักจะไปเสวยอยู่แต่ลมละเอียดเข้า ละเอียดแล้ว ลมหายไป ไม่ปรากฏว่ามีลมเลย เมื่อหมดกำลังแล้วถอนออกมาไม่ค่อยจะได้ความอะไรเฉพาะตน ได้ความแค่เพียงว่าสบายกายสบายใจชั่วคราว เลยกลายเป็นนักหลบมิใช่นักรบ ปัญหาของจิตใจยังค้างแขวนอยู่อักโข

แท้จริง (การ) เข้าไปแบบนั้น (ก็) เพียงให้รู้รสชาติเท่านั้น จะติดอยู่เพียงแค่นั้น ก็ไปไม่รอดอีก ถ้าไม่พักแบบนั้นก็ไม่ได้ แต่หมั่นพักบ่อยก็ไม่ได้งานอีก เพราะงานยังไม่เสร็จ และเวลาของชีวาแต่ละชาติละชาติก็มีน้อย และคำว่าชาติใหญ่ๆ หมายถึงชั่วขณะลมออกเป็นชาติหนึ่ง ลมเข้าเป็นชาติหนึ่งๆ ของส่วนกายสังขาร ส่วนจิตสังขารนั้นเป็นชาติอันละเอียด เร็วนัก เกิดดับติดต่อกันเร็วนัก

อนิจจาอันละเอียดมากมายแท้ๆ เมื่ออนิจจาละเอียดเข้าสักเพียงไรก็ดี ทุกขา อนัตตา ก็ละเอียดเข้าเป้าเดียวกัน ขณะเดียวกัน ถ้าส่งส่ายไปทางอื่น ก็ยิ่งตื่น ไม่เห็นชัดได้ เชื่อตนเองไม่สนิทได้ ย่อมขบถตนคืนอีก

ผู้ที่ทิ้งกรรมฐานเดิมที่ตนตั้งไว้ ย่อมไปตามนิมิตภายนอกต่างๆ นานา นิมิต แปลว่าเครื่องหมาย สารพัดจะรู้ จะหมายไป

หมายกับเหมือนก็พอเหมือนๆ หมายๆ นี้เอง มิใช่ตัวจริงดอก ได้เพียงแค่นั้นแหละ และผู้ติดนิมิต อิงกับอุปจารภาวนาไม่ค่อยลงคนได้ง่ายๆ นะ มิหนำซ้ำกล่าวตู่ในใจให้ผู้เทศน์ว่า คนภาวนาไม่ดีเท่าเขาแล้วมากุมเทศน์เขา อ้ายที่แท้นั้น เขาได้ตกนรกมาก่อนในตอนนี้แล้วและได้พ้นไปแล้ว และไม่ว่าใครๆ ในโลกถ้าไปติดอยู่ในชั้นใดๆ แล้วแกะยาก เพราะเป็นของบ่งให้กันไม่ได้เหมือนหนาม เว้นไว้แต่เห็นโทษตนเองในชั้นนั้น จึงจะกลับตัวได้เอง บางรายพอกลับตัวได้ก็บ่ายค่ำไปเสีย บ่ายก็คือแก่มากไปแล้ว ค่ำก็คือตายไปเสียแล้วแต่เนิ่นนานวัน

อานาปานสติเป็นกรรมฐานในพระพุทธศาสนาชั้นที่หนึ่ง เป็นยอดแห่งกรรมฐานทั้งปวงด้วย ผู้เจริญชำนาญแล้ว จะดึงกรรมฐานและวิปัสสนาภาวนาปัญญามารวมเข้าก็ได้ ไม่ขัดข้อง ไม่แสลงเลย เช่น นิโรธความดับตัณหา เป็นธรรมอันละเอียด จะดึงเข้ามาให้เห็นพร้อมกับลมออกเข้าก็ได้ทั้งนั้น

ยาขนานเดียวแก้โรคได้ทั้งล้านๆ อย่าง ก็คือพระอานาปานสตินี้ สามารถบรรเทาและแก้สรรพกิเลส สรรพตัณหาได้ ตามเหตุผลของท่านผู้เจริญน้อยและมากได้โดยตรงๆ ไม่อ้อมค้อมเลย ขอแต่ทุ่มเท ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาลง ให้สมดุลกันติดต่อไม่ขาดสาย นิพพิทาความเบื่อหน่ายคลายเมาในความหลง อันดองขันธสันดานมานมนาน ก็จะปรากฏเป็นสัมมาวิมุตติ เป็นสัมมาญาณะโดยแน่แท้ ไม่ต้องสงสัยเลย อย่าตีตนตายก่อนไข้ก็แล้วกัน อย่ากล่าวตู่ตนว่ามรรคผลนิพพานหมดไปแล้ว มุ่งกล่าวตู่พระพุทธศาสนา แต่ถูกกล่าวตู่ตนไม่รู้ตัวอีกด้วย

ผู้ไม่แยบคายในอานาปานสติแล้ว ไฉนจะเห็นเจตสิกที่เกิดดับได้ง่ายๆ เล่า เพราะตามลมเข้าออกไม่ถึงจิตและเจตสิก เมื่อไม่เห็นความเกิดดับได้ละเอียด ไฉนจะเห็นไตรลักษณ์ละเอียดเล่า นิพพิทาความเบื่อหน่ายคลายหลงจะเปิดประตูและหน้าต่างช่องใดให้ปรากฏแก่ตา ปัญญาญาณเล่าย่อมเป็นไปไม่ได้ ทั้งโลกอดีต ทั้งโลกอนาคต ทั้งโลกปัจจุบันด้วย พระบรมศาสดาเทศนาสั่งสอนด้วยทรงพระมหากรุณาธิคุณอันหาประมาณมิได้ จนครบ ๔๕ พระพรรษา ก็หนักเน้นลงในไตรลักษณ์มากกว่าพระพุทธภาษิตอื่นๆ เพราะเป็นธรรมอันจะหลุดพ้นได้ง่าย

เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่เป็นล่ำไม่เป็นสันและก็เป็นเรื่องที่ควรเขียนบ้าง บางทีมีผู้ชอบอ่านการขีดเขียนในสำนักปฏิบัติและก็เป็นหัวหน้าด้วยในสำนัก ก็ต้องได้สนใจอยู่มิใช่น้อยเลย บรรดาภิกษุสามเณรผู้มาอาศัยอยู่ด้วยเพื่อปฏิบัติธรรม ต่างก็มีสิทธิสังเกตทุกแง่ทุกมุมในสำนักนั้นๆ สิ่งที่ไม่เหมาะสมอันเกินพอดี แม้จะไม่จับเอาไปพระนิพพานด้วยก็จริง แต่ก็ต้องได้พิจารณาอยู่นั้นเอง เพราะคนแต่ละคนย่อมมีอิสระพิจารณาทุกๆ ด้าน มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นคนฉลาดไม่ได้

หัวหน้าของหมู่ในสังคมหนึ่งๆ เป็นของสำคัญมาก ย่อมเป็นเป้าสายตาของคนทั่วไปอยู่โดยตรงๆ การติชมกาเลเทน้ำเป็นของมีอยู่ประจำโลกก็จริง แต่ก็ต้องรักษาในสิ่งที่ไม่เหลือวิสัย การรักษากับการปฏิบัติก็คงมีความหมายอันเดียวกัน เพราะรักษาในสิ่งที่ควรรักษา ปฏิบัติในสิ่งที่ควรปฏิบัติ เว้นในสิ่งที่ควรเว้น ตรงต่อเวลาในสิ่งที่ควรตรงต่อเวลา ปฏิบัติบรรจงในสิ่งที่ควรปฏิบัติบรรจง ทรงตัวและก้าวหน้าหาธรรมชั้นสูง


๏ ใคร่ครวญใจ ใคร่ครวญธรรม

การปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน เพื่อทดสอบให้ตนและอนุชนรุ่นหลังนี้ ย่อมไม่นิยมกาลเวลาของวัยอ่อน ปานกลาง หรือแก่ชรา แม้ถึงจะเดินไม่ได้ ไปไม่เป็น นอนคาที่ ก็ต้องมีธรรมเป็นเครื่องคำนึง ด้วยใจอันพอพึงเท่าที่ควรแก่ตน

ข้อวัตรของใจภายใน กับธรรมภายในนี้ ถ้าห่างเหินกันแล้วย่อมเหลิงเจิ้ง เวลาของกายเป็นเวลาภายนอกก็ว่าได้ไม่ผิด เวลาของใจกับธรรมเป็นเวลาภายใน สังสรรค์กันอยู่อย่างละเอียดลึกซึ้ง สติปัญญาแก่กล้าจึงจะมองตามเห็นได้ จึงจะรู้จักเลือกเฟ้นสิ่งที่ควรและไม่ควรอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนได้ สติปัญญาอันชอบจึงจะเลือกใจเลือกธรรมที่ชอบได้ โดยเฉพาะของส่วนใจ ของส่วนกรรมที่ชอบ มิฉะนั้นแล้วก็จะกลืนทั้งกระดูกและก้างแบบไม่มีการเลือก

การเฟ้นและการใคร่ครวญ ก็มีความหมายอันเดียวกัน คือเลือกเฟ้นใจ เลือกเฟ้นธรรม ใคร่ครวญใจ ใคร่ครวญธรรม ไม่ว่าสิ่งใดๆ ในโลก หรือในธรรม ถ้าเอาธรรมเป็นแว่นใคร่ครวญลงมิให้ ปีนเกลียวของธรรมหลายๆ รอบแล้ว ไม่ค่อยผิดพลาดในตอนนั้นๆ แม้จะผิดพลาดบ้างก็มีประตูแก้

ที่ผิดไม่มีประตูแก้นั้น เพราะขาดการพิจารณาก่อนลงมือทำ การลงมือทำมิได้หมายแต่เฉพาะมือภายนอก อันเป็นมือเนื้อ กระดูก เส้นเอ็น หนัง หมายเอามือสติปัญญา อันสมดุลกับใจกับธรรม การพิจารณา จะตัดสินใจเอาตามอัตโนมติไป โดยไม่มองดูธรรมแท้ของพระองค์ที่กล่าวไว้ดีแล้วก็ไม่ได้ ถ้ากิเลสเจ้าตัวยังหนาแน่นอยู่ ความตกลงใจจะตัดสินเอาเองก็เข้าข้างกิเลสอีกไม่รู้ตัวด้วย


๏ แว่นส่องทางส่องใจ

ผู้ที่จะใคร่ครวญตัดสินใจ ตัดสินธรรม ส่วนตัวเองได้ ไม่ค่อยจะพลาดมาก ก็คือท่านผู้มีกิเลสขาดจากสันดานไปโดยเอกเทศ ในเบื้องต้นของพรหมจรรย์ในทางพระพุทธศาสนา มีพระโสดาบันเป็นเกณฑ์ขึ้นไป ต่ำกว่านั้นลงมาย่อมสุ่มสี่สุ่มห้า และก็มักจะตีตนสูงเกินภูมิจิต เกินภูมิธรรมของตน เท่าที่มีอยู่ ทรงอยู่

ในปัจจุบันทันตามักจะเป็นจิต (ของ) กาธรรมดา ที่ไปเก็บเอาขนหางและขนหงอนของนกยูงที่ร่วงหล่นอยู่ตามป่า มาแทรกแซงขนของตัว เพื่อให้วิเศษกว่ากาทั้งหลาย ย่อมเป็นของเทียม ของแท้ยังไม่ได้ เป็นเพียงของปลอมอยู่โดยตรงๆ นั้นเอง

แม้สมัยโลกปัจจุบันเขาทำดาวเทียมได้ แต่เขาก็บอกล่วงหน้าอยู่แล้วว่า ดาวเทียม มิใช่ดาวจริง เขาเอาโขนสวมหัวเขาพอดีพองาม พอเหมาะกับหัวเขาอยู่แล้ว และก็จะเป็นดาวเทียม ดาวจริงก็ตาม มันมิใช่กิเลสดอก ผู้ไม่รู้เท่าดาวเทียมดาวจริงแล้วติดอยู่ในคำว่าดาวๆ นั้นจึงเป็นกิเลสเพราะติดสมมุติอันนอกๆ

มันนอกออกจากใจแท้ ออกมาจากสังขารธรรมแท้ฝ่ายวัตถุ ที่จิตปรุงแต่งขึ้น เพื่อเป็นเครื่องสังเวยบูชาพระอนิจจัง สรรพไตรโลกธาตุเป็นเมืองขึ้นของธรรมอนิจจัง ธรรมฝ่ายสังขารก็หมายอันเดียวกัน เมื่อสังขารเต็ม ยัดเยียด เบียดเสียด อยู่ในสรรพไตรโลกธาตุ ก็เป็นหน้าที่จะได้อาศัยปุญญาภิสังขารเป็นปัจจัย อาศัยปฏิบัติเพื่อเป็นเสบียงเดินทาง

คือคำว่าบุญๆ ในเบื้องต้นของพรหมจรรย์แห่งพุทธศาสนา อันเป็นโลกุตรบุญที่มีขอบเขตกฎเกณฑ์ มีโสดาบันบุญเป็นต้นไป บุญต่ำกว่านั้นลงมาเป็นโลกิยบุญ เป็นบุญที่ไม่แน่นอน เพราะมีหลายบางที บางทีก็ก้าวหน้า บางทีก็ทรงตัว บางทีก็ต่ำลง

ไม่เหมือน ภูมิบุญ ภูมิใจ ของพระโสดาบัน ภูมิจิต ภูมิใจ ภูมิบุญ ภูมิธรรม ของพระโสดาบัน เป็นมหาภูมิที่ก้าวหน้าโดยถ่ายเดียว ไม่มีคติภูมิจะตกต่ำเลย ข้ามปุถุชนคนหนาไปแล้ว ปิดอบายภูมิทั้ง ๔ มีนรกเปรตทุกๆ จำพวก พร้อมทั้งสัตว์เดรัจฉานทุกๆ จำพวกแล้ว สุปฏิปันโน ปฏิบัติดี เว้นส่วนหยาบๆ เหล่านี้ไปโดยสวัสดิภาพแล้ว ไม่เสียหาย ไม่อาลัยว่าจะล่วงละเมิด เป็นผู้มีแว่นส่องทางส่องใจแบบไม่มัว มองเห็นความสุขอันแท้จริงได้ อันตั้งอยู่ข้างหน้าเป็นระยะๆ จึงมีเงื่อนไขไม่เสียดาย ไม่อาลัยว่าจะถอยหลัง


๏ โสวนโสเวียนในโลกสงสาร

บางท่านศีล ๕ ยังไม่บริบูรณ์เลย การเลี้ยงชีวิตก็ยังสุ่มสี่สุ่มห้า ยังขายรูปขายเหรียญถือวันจมวันฟู ตลอดถึงอบายมุขทุกๆ ประเภทไม่ละเว้น

การค้าขายก็ค้าขายเครื่องประหัตประหาร ค้าขายสัตว์เป็น และเนื้อสัตว์ที่ตัวฆ่าเพื่อเป็นอาหาร ค้าขายน้ำเมา ค้าขายยาพิษบ้าง

และยังถือมงคลตื่นข่าวนานาอเนก เช่น ตื่นข่าวว่าเลขจะออกตัวนั้นตัวนี้ วิชาไสยศาสตร์ต่างๆ

คบปาปมิตร คบมิตรปฏิรูป คนเทียมมิตรมิใช่มิตรแท้ คบมิตรชักชวนในทางฉิบหาย คบมิตรชักชวนดื่มน้ำเมา ชักชวนเที่ยวกลางคืน ชักชวนเที่ยวดูการเล่นและให้มัวเมาในการเล่น ชักชวนเล่นการพนัน

ไม่ถึงพร้อมด้วยศรัทธาในพุทธ ธรรม สงฆ์พอ ไม่เชื่อผลศีลผลทานพอ พร้อมทั้งสติปัญญาก็ยังอ่อนอยู่มาก บางคราวบวงสรวงผีสางเทวดา มีใจอาฆาตพยาบาทผูกเวร ด่าแช่งสัตว์ให้ถึงความพินาศ นึกในใจ หรือจนออกปาก ขี้หึงหรือริษยาทั้งหลายเหล่านี้เป็นต้น

แต่...แต่...แต่...สำคัญตนว่าเป็นพระโสดาบัน

ความสำคัญอันนั้นก็เป็นโมฆะโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย พระโสดาบันแบบนี้ควรให้คะแนนว่า พระโสเดา โสดัน โสเมา โสมัว โสขุ่นจนเป็นตม โสวนโสเวียนในโลกสงสาร ไม่มีคิวเลย

ผู้เขียนเองปล่อยความฟุ้งซ่านออกไปถวายต่อพระอนิจจัง ผู้ท่านนั่งบัลลังก์เฝ้าสรรพไตรโลกาอันเป็นนายหน้าของกองพลไตรลักษณ์ ถ้ารู้ประจักษ์แจ้งอยู่บ้างแล้วคงไม่คลาดแคล้วในธรรม


๏ ความดีมิใช่มาจาก ดิน ฟ้า อากาศ

การขีดๆ เขียนๆ เป็นเอกสารและตำรา ดีหรือชั่วขึ้นอยู่กับท่านผู้เลือกเฟ้นพิจารณาเอง กฎของการข่มเหงให้ยอมเชื่อไม่มีในทางธรรมของพระพุทธศาสนา แม้จะยอมเชื่อด้วยการแก้รำคาญก็ไม่นานย่อมขบถคืน จิตใจก็ไม่ชื่นเหมือนศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาอันเป็นเอง

มนุษย์จะเป็นผู้บริสุทธิ์เป็นชั้นๆ ของจิตใจได้ก็ด้วยใจอันเห็นชอบ ปฏิบัติชอบ ประกอบกรรมอันดีเป็นลำดับ สูงส่งขึ้นไป ความดีและไม่ดี ไม่มาจากดินฟ้าอากาศภายนอกที่ชาวโลกแสวง ถ้าหากว่า มาจากดินฟ้าอากาศภายนอกแล้ว ปีไหนฟ้าฝนแล้งหรือท่วม พระอริยเจ้าก็ต้องลดตำแหน่งมาเป็นปุถุชนคนหนาก่อน ปีไหนฟ้าดีฝนดี จึงสวมมงกุฎเป็นพระอริยเจ้า

เมื่อไม่เล่าไม่ว่ากลอนกายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขารก็พาไป พาเขียนวนๆ เวียนๆ กันอยู่อย่างนี้ ท่านผู้ที่ทรงพระสติปัญญาย่อมสนุกดื่มอุเบกขา แต่ถ้าติดอยู่แต่อุเบกขาในขั้นต่ำหรือชั้นวิปัสสนาแล้ว ก็จะกลายเป็นอุเบกขวาง เพราะจะขวางทางอุเบกขาของอรหันต์ ย่อมเป็นหน้าที่ของท่านผู้ต้องการเรียนจบ ปฏิบัติจบ พ้นจบจะโอปนยิโก-ยิกะทั้งนั้น

ปรารภเรื่องใหม่ต่อไป แต่ก็เป็นเรื่องเก่า เพราะจิตสังขารอันเก่า ธรรมก็อันเก่า มิได้อันใหม่มาจากไหนๆ เอส ธัมโม สนันตโน พระธรรมเป็นของเก่า คำว่าของเก่า มีทั้งดีทั้งชั่วปะปนกันอยู่ ต้องขึ้นอยู่กับท่านผู้เลือกเฟ้นเอา แต่บางท่านว่าจะเลือกเอาทองดีไปถูกทองเก๊ก็มี เลือกเอาผักดี แต่ไปถูกผักมีตัวบุ้งก็มี เลือกเอาของดีไปถูกของดีก็มีมากมาย และคำว่าอรหันต์ก็เป็นศัพท์เก่า คำว่าปุถุชนก็เป็นศัพท์เก่า มืดกับสว่างก็เป็นของเก่า ผู้ดื่มสุราก็มีมาแต่เก่าแก่ผู้เว้นจากสุราก็มีมาแต่เก่าแก่ ก็หายโต้แย้งในที่ว่าของเก่าแล้วละ

เมื่อหายโต้แย้งในเรื่องของเก่าแล้ว ก็หายโต้แย้งในเรื่องของใหม่ การยืนยันว่าเป็นของเก่า เป็นฝ่ายธรรมปรมัตถ์ การยืนยันว่ามีทั้งเก่าทั้งใหม่ เป็นฝ่ายสมมุติ เพราะสมมุติมีการหมายความตื้นกว่าปรมัตถ์ (คล้ายกับน้ำลึกตื้นและใสสะอาด และจืดและเย็นดีต่างกันไป) ถ้าหากจะโต้แย้งได้ แต่ไม่มีประโยชน์ แย้งว่าถ้าไม่มีของเก่า ของใหม่แล้ว ทำไมจึงไม่ไปกินอาหารที่บูดราเสียเล่า ทำไมจึงไม่ไปเอาผ้าขี้ริ้วมาปะกันนุ่งห่มเล่า เอาผ้าใหม่มาใช้ทำไม และผู้กล่าวว่าเป็นของเก่านั้น เป็นธรรมอันลุ่มลึกมาก ไม่ใช่ว่าผู้ยืนยันว่าของเก่านั้นเขาจะไม่รู้ของใหม่ตามสมมุติเลย พูดเพื่อให้ชวนสำเหนียกด้านปัญญาเป็นอุบายเพื่อมิให้หลงของใหม่และของเก่าอยู่ในตัว

ธรรมดาคนมีกิเลสมาก ชอบจะตั้งอยู่ในของที่สมมุติว่าใหม่ๆ ล้านๆ เปอร์เซ็นต์ เมื่อหลงและติดของใหม่ ก็หลงและติดของเก่าอยู่ในตัว เมื่อหลงสมมุติ ก็ต้องหลงวิมุตติ เมื่อหลงได้ก็ต้องหลงเสีย เมื่อหลงหนังก็ต้องหลงกระดูก เมื่อไม่หลงหนัง ก็ไม่หลงกระดูกเลย ไม่ต้องกล่าวไปไยในตอนนี้ก็ได้ เรื่องหลงๆ ใหลๆ หลำๆ นี้ย่อมไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลายอวิชชา ถ้าหากข้ามทะเลหลงด้วยพระสติพระปัญญาอันถ่องแท้โดยสิ้นเชิงได้แล้ว ชั่วลัดนิ้วมือเดียวก็ข้ามโลกได้ จะเอาเครื่องยนต์กลไก หรือเหาะไป บินไป ภายนอกเร็วเท่าใด สิ้นเวลาล้านๆ ปีก็ข้ามโลกไม่ได้เลย


๏ ผู้หลงผู้รู้

มีคำถามว่า การข้ามหลงจะข้ามด้วยวิธีไหนได้หนอ

ตอบย่อๆ พอฟังได้ง่ายๆ ว่า

ข้ามผู้รู้รู้ได้โดยมิได้ยึดถือว่า ผู้รู้เป็นเรา เขา สัตว์ บุคคล ตัวตนในขณะจิตใดๆ เลย แล้วได้เรียกว่าเราข้ามความหลงได้โดยสิ้นเชิง โดยประการทั้งปวง

ถามต่อไปว่า ผู้รู้รู้ กับสังขารต่างกันอย่างไร

ผู้รู้รู้ ก็คือสังขาร อันละเอียด อันประณีตนั้นเอง เพราะเกิดอย่างละเอียด ดับอย่างละเอียดมาก เกิดขึ้นแปรดับพร้อมกันในขณะเดียวกัน ไม่มีอันใดก่อน ไม่มีอันใดหลังเลย ติดต่อกันเป็นพืด (ถ้า) สติปัญญาไม่แนบสนิทอยู่กับผู้รู้รู้แล้ว ก็ยากจะรู้ได้โดยถ่องแท้ว่าเกิดดับเป็น เมื่อผู้รู้รู้เกิดดับเป็นอย่างว่องไวละเอียดลออแล้ว จะไปเป็นทิฏฐิบัญญัติว่าผู้รู้เป็นพระนิพพานนั้น ก็ย่อมเป็นงูกินหางตนอยู่นั้นเอง ย่อมเป็นไปไม่ได้ พระนิพพานมิได้มาเป็นลูกน้องของผู้รู้ มิได้มาสังสรรค์กับผู้รู้อีกด้วย และมิได้มาบัญญัติว่าสูญหรือไม่สูญ เอาโขนสวมหัวใส่ตนอันใดเลย เป็นเรื่องของผู้รู้ไม่รู้เท่าเงาของตัวต่างหาก จึงกล่าวเป็นภพเป็นชาติอย่างละเอียดไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

ธรรมที่ถูกถามตอบกัน เป็นธรรมหมู่ ธรรมคู่ ที่สังสรรค์ต่างหาก มีรสชาติอันอิงผู้รู้อยู่เป็นเครื่องหมาย มิฉะนั้นก็ไม่มีเงื่อนไขจะอธิบายโต้ตอบและถามได้ ต้องอาศัยขันธวิบากและผู้รู้ตอบถามกันเป็นธรรมาสน์ พระนิพพานแท้มิได้มาตอบถามกับท่านผู้ใด ยกอุทาหรณ์หยาบๆ ดินฟ้าอากาศมิได้มาตอบถามกับผู้รู้และไม่รู้ฉันใด พระนิพพานก็ฉันนั้น พระนิพพาน มิได้มากล่าวชีวประวัติตนเองและผู้อื่นให้เป็นคัมภีร์อะไรเลย ผู้รู้เมื่อรู้ถูก ปฏิบัติถูก ก็เป็นเพียงทางเดินเข้าไปสู่พระนิพพานเท่านั้น มิได้เป็นเนื้อธรรมนิพพานแท้

ถ้าหากว่าตายคาผู้รู้รู้ มีอุปาทานอยู่ในผู้รู้และจิตใจอันเด่นดวง ก็ไปเกิดในพรหมโลกที่ไม่มีรูป ยังไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะได้แท้ นักปฏิบัติในพระพุทธศาสนาผู้หวังพ้นทุกข์ในสงสารโดยด่วนแน่แท้ มักจะคาอยู่ที่นี้เป็นส่วนมากนัก แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าไม่มีท่านผู้พ้นไปจากนี้ได้ เป็นเพียงมีมากน้อยกว่ากันเท่านั้น เขาโคกับขนโคแม้อรหันตาขีณาสวา เข้าสู่พระนิพพานไปแล้ว มากกว่าเม็ดหินเม็ดทรายในท้องมหาสมุทร ๔ หรือ ๕ มหาสมุทร หรือมากกว่านั้นก็จริง บรรดาที่ยังเหลืออยู่นั้น จะกี่อสงไขยมหาสมุทรเล่า เพราะเขาโคกับขนโคดังปรารภมาแล้วนั้นซ้ำๆ ซากๆ


๏ บัดนี้ เราจะดูเราตาย

ย้อนคืนหลังในยุควัดป่าบ้านหนองผือที่อยู่กับหลวงปู่มั่นนั้น ในตอนที่ข้าพเจ้าป่วย ถ่ายเป็นเลือด ก่อนที่ข้าพเจ้าจะป่วยถ่ายเป็นเลือดนั้น ข้าพเจ้าแบกฟืนหนักเกินกำลังไปที่ลานวัด ขณะนั้นเป็นฤดูฝน ข้าพเจ้าหลบขุมปลวกล้มลง คุกเข่าทัน พร้อมทั้งทิ้งฟืนทันด้วย กระทบกระเทือนหัวใจ แต่ก็ไม่ได้รักษาพยาบาลอะไร อยู่มาไม่กี่วันก็หายเจ็บหายปวด

แต่อยู่ต่อมาอีกประมาณกึ่งเดือน ก็ถ่ายเป็นเลือด ออกเป็นลิ่มๆ เท่านิ้วมือ ในขณะที่ถ่ายนั้นไม่ได้ปวดท้องอันใดเลย แต่ถ่ายวันหนึ่งๆ หลายๆ ครั้ง ถ้ารวมการถ่ายเป็นเลือดเป็นแท่งออกนั้น ก็คงจะได้ประมาณครึ่งกระโถน

ข้าพเจ้าก็รู้สึกเหนื่อยมาก ในวันที่ถ่ายนั้นเองก็นอนลงที่กุฏิของตน นอนตะแคงข้างขวาเอาเท้าซ้อนกัน เอามือขวายกขึ้นแนบกับหมอน แล้วเอาแก้มลงทับมือ มือซ้ายเหยียดตรงตามร่างกาย นึกในใจว่าเราเห็นแต่ท่านผู้อื่นตาย เราไม่เคยเห็นเราตาย บัดนี้เราจะจ้องดูเราตาย มันจะตายพร้อมกับลมออกหรือลมเข้า

ข้าพเจ้าจึงตั้งสติไว้ในที่ลมมากระทบออกเข้า แล้วก็บริกรรมพร้อมกับลมออกเข้า บริกรรมว่าตายๆ ติดต่ออยู่ไม่ขาดสาย ประมาณ ๑๕ นาที แล้วพลิกจิตว่า ธรรมของพระองค์จะตายไปที่ไหน จะแตกตายเป็นก็แต่สังขารเท่านั้น แล้วก็พลิกบริกรรมใหม่ว่า ไม่ตาย ไม่ตายพร้อมกับลมออกเข้า ไม่มีอันใดก่อนอันใดหลัง ติดต่ออยู่ไม่ขาดสายประมาณ ๒๐ นาที จิตใจก็รวมพึ่บลง แล้วปรากฏว่าทะลุหลังคากุฏิขึ้นไปบนอากาศสูงแล้วนอนตะแคงข้างขวาอยู่บนอากาศนั้น

ตอบตนเองในขณะนั้นว่า นี่แหละสมาธิ เราไม่ต้องสงสัยดอก จะตั้งอยู่ในที่อากาศนานเท่าใดก็กำหนดไม่ได้ ครั้นหมดกำลังแล้วก็ถอนออกมา การถอนออกมาก็รู้สึกว่าเหมือนกิริยาที่เข้าไป แล้วก็มาเห็นลมออกลมเข้าเบาๆ ร่างกายก็เบาที่สุดในขณะนั้น การไปถ่ายเป็นเลือดก็จบลงเพียงนั้น และการที่จิตถอนออกมานั้น การนอนตะแคงข้างขวาก็อยู่ตามเดิมหาได้เคลื่อนที่ไม่

ในขณะนั้นเป็นเวลาสายัณห์ตะวันเย็น ประมาณ ๔ โมงกว่าๆ แล้ว หลวงปู่มั่นกำลังสรงน้ำ และตามธรรมดาก็ไม่ไกลจากกุฏิข้าพเจ้า คงประมาณ ๒๐ วา ธรรมดาองค์หลวงปู่พูดเสียงดัง หลวงปู่ก็พูดขึ้นว่า

“วันนี้ไม่เห็นท่านหล้ามา เธอไปไหนไม่ทราบ”

มีพระองค์หนึ่งตอบขึ้นว่า “ท่านป่วย ถ่ายเป็นเลือดครับ”

พอท่านทราบอย่างนั้น องค์ท่านก็พูดดังๆ ขึ้นว่า

“เอา ดูดู๊ๆ บัดนี้เธอเข้าจนมุมแล้ว จะภาวนาได้ความอย่างไร ก็จะเห็นกันในคราวนี้”

ครั้นต่อมาเป็นวันใหม่ถึงเวลาสรงน้ำข้าพเจ้าก็ไปทำข้อวัตรกับหมู่เพื่อนได้

องค์ท่านและหมู่เพื่อนก็ถามว่า “หายแล้วหรือจึงมา”

ข้าพเจ้าจึงตอบว่า “หายแล้วครับ แต่ว่านอนหลับตาภาวนา ก็ปรากฏว่าเหาะขึ้นไปบนอากาศ นอนตะแคงข้างขวาอยู่บนอากาศ ไม่รู้ว่านานเท่าใดจำไม่ได้ แล้วก็ถอนออกมา เห็นลมหายใจเข้าออกแบบเบาๆ”

หลวงปู่มั่นตอบว่า “นั้นไม่ใช่นอนหลับดอก จิตร่วมในชั้นอุปจารสมาธิ”

จาระ แปลว่า ไปตามปีติที่ปรากฏว่าเหาะขึ้นกลางอากาศขวางอยู่

ไม่ว่าแต่เท่านี้ ในยุคที่อยู่กับหลวงปู่มั่น นิมิตของข้าพเจ้าโลดโผนมาก บางทีเดินจงกรมในอากาศ บางทีขัดสมาธิในอากาศ บางทีตีลังกาในอากาศ บางทีเหาะไปทางนอน สารพัดจะเป็นไป แต่ก็ไม่สำคัญตัวว่าเป็นผู้ประเสริฐ หมดกำลังแล้วก็ถอนออกมา พิจารณาลงสู่ไตรลักษณ์ ก็เห็นประจักษ์แจ้งไม่สงสัย

ในยุคสมัยหลวงปู่มั่น พระภิกษุสามเณรทั้งหลายที่อยู่ในสำนักนั้น ต่างก็พิถีพิถันประชันขันแข่งกันทำความเพียร ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน แม้จะคุยกันซุบๆ ซิบๆ อยู่ที่ไหน ไม่ใช้เสียงก็ดี ปรารภกันแต่เรื่องภาวนาเป็นส่วนมาก เป็นของหาได้ยากมากในสมัยโลกดาวเทียมปัจจุบันนี้

อนึ่ง ข้อวัตรปฏิบัติขององค์หลวงปู่มั่น เฉพาะส่วนตัวองค์ท่านการบริหารตนเองเป็นขั้นที่ ๑ ลูกศิษย์ที่ขอนิสัยเป็นชั้นที่ ๒ โยมอุบาสิกาเป็นชั้นที่ ๓ องค์ท่านตรงต่อเวลาขององค์ท่านมากในเวลากลางวันและกลางคืน แต่ละมื้อ แต่ละวัน

การที่ข้าพเจ้านำมาเขียนนี้เอง ก็เพราะเกิดสงสัยว่ายังไม่ได้เขียนไว้ในยุคนั้นๆ หรือหากว่าซ้ำๆ ซากๆ เบื่อหูก็ขออภัยแก่ท่านผู้อ่านด้วย

อนึ่ง ยุคภูจ้อก้อนี้ให้เข้าใจว่าปรารภแต่เรื่อง ๒๕๒๔ คืนหลังลักๆ ลั่นๆ ไม่พิสดารนัก แต่พอมาเขียนเพิ่มเดี๋ยวนี้มันก็เป็นเวลาพุทธศักราชล่วงมา ๒๕๓๐ นี้

ต่อจาก ๒๕๒๔ มาในยุคภูจ้อก้อบานหน้าขึ้นมาก เพราะมีพระและเณรจำพรรษามาก คำว่ามากก็ ๓๐ กว่าๆ และก็มีญาติโยมท่านผู้ใจบุญมาจากต่างทิศเช่น พระนครหลวงเป็นต้น มาก่อๆ สร้างๆ เป็นต้นว่าไฟฟ้า หนทางขึ้นภูเขาและน้ำประปาและศาลาโรงธรรม ตลอดทั้งห้องน้ำคอนกรีตและห้องน้ำไม้บริบูรณ์พอควร จะถือว่าให้ความสะดวกเหนือวาสนาของข้าพเจ้าก็อาจเป็นได้ แต่ไม่ได้ออกชื่อลือนามของท่านเหล่านั้น และก็หวังว่าท่านเหล่านั้นไม่ชอบหน้าชอบตา คงจะชอบแต่กุศลผลบุญเท่านั้น แต่ก็คงจะรู้ได้ดีเพราะความลับไม่มีในโลก จึงขอจบเพียงเท่านี้แล
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
วีรยุทธ
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 24 มิ.ย. 2005
ตอบ: 1790
ที่อยู่ (จังหวัด): สกลนคร

ตอบตอบเมื่อ: 05 ก.ค.2007, 11:42 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

คำแถลง

อัตตโนประวัติของพระคุณเจ้าหลวงปู่เล่มนี้ ข้าพเจ้าและคณะศิษย์ผู้จัดพิมพ์ ขอเรียนเพื่อความเข้าใจในการจัดพิมพ์ ต่อท่านผู้อ่านและท่านผู้รู้ว่า มิได้เกิดจากความประสงค์ใดๆ ของ “องค์หลวงปู่ท่าน” ที่เราทั้งหลายกราบเคารพบูชา ด้วยความเทิดทูนไว้เหนือเศียรเกล้าโดยประการใดทั้งสิ้น แต่เป็นเพราะองค์ท่านไม่อาจขัดต่อคำรบเร้ากราบวิงวอนขออนุญาตจัดพิมพ์จากคณะศิษย์

เนื่องจากคณะศิษย์ได้ทราบมาว่า ท่านได้เมตตาเขียนอัตตโนประวัติขึ้น ตามคำเรียนขอของท่านอาจารย์อินทร์ถวาย ที่ได้บวชอยู่กับท่านถึง ๙ พรรษา ในช่วงยุคต้นของวัดภูจ้อก้อ ซึ่งได้อ่านแล้วเห็นประโยชน์และคุณธรรมอันวิเศษสุดประมาณ ในแนวทางปฏิบัติและข้อวัตรต่างๆ “สมัยถวายการปฏิบัติต่อองค์หลวงปู่มั่น” พร้อมทั้งประวัติการเดินธุดงค์เร่งความเพียร ซึ่งแลกด้วยชีวิต จึงกราบเรียนขอโอกาสพิมพ์ถวาย แต่องค์ท่านไม่ประสงค์จะให้พิมพ์ เพราะพิจารณาแล้ว เกรงว่าจะถูกตำหนิว่า “อวดเด่นและอยากดัง”

ข้าพเจ้าและคณะกราบเรียนวิงวอนท่านว่า

หลวงปู่เจ้าคะ “‘อัตตโนประวัติ’ เล่มนี้หลวงปู่เขียนจากประสบการณ์ และความจริงทุกประการใช่ไหมเจ้าคะ”

ท่านเมตตาตอบว่า “ใช่”

ข้าพเจ้าจึงกราบเรียนท่านว่า

“หลวงปู่เจ้าคะ พระพุทธองค์ท่านทรงยกย่องว่า ให้ธรรมเป็นทาน ชนะทานทั้งปวง ขอโอกาสให้ลูกๆ ได้จัดพิมพ์เผยแผ่ธรรมนี้ เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติของพระภิกษุสามเณรรุ่นลูกๆ หลานๆ และผู้ใฝ่ปฏิบัติธรรมทั้งหลายด้วยเถิด

เมื่อท่านได้อ่านแล้ว ธรรมข้อใดเป็นประโยชน์ แนะแนวทางให้เกิดความพากเพียร และมีกำลังใจให้มุ่งเคร่งครัดปฏิบัติธุดงควัตร เพื่อให้พบคุณธรรมอันวิเศษ มีศีลาจารวัตรงดงาม เป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป ดังบทธรรมที่ว่า เอหิปัสสิโก ธรรมเป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด”

เมื่อองค์ท่านได้ฟังกราบเรียน และพิจารณาแล้ว จึงย้ำข้าพเจ้าว่า “หนังสือนี้ไม่อนุญาตให้ตีพิมพ์ในนิตยสารเพื่อการค้านะ ขอสงวนสิทธิ์ให้พิมพ์เพื่อเป็นธรรมหานเท่านั้น”

ฉะนั้น หากเกิดความผิดพลาดประการใดที่มีขึ้นในหนังสือนี้ ข้าพเจ้าและคณะศิษย์ผู้จัดพิมพ์ ขอน้อมรับความผิดพลาดทั้งหลายเหล่านั้น ส่วนธรรมทั้งหลายเหล่าใด ที่ดีมีประโยชน์ ข้าพเจ้าขอถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา และน้อมถวายบูชาหลวงปู่ท่าน ที่เมตตาอนุญาตให้จัดพิมพ์เผยแผ่ถึงคุณธรรมขององค์ท่าน ซึ่งเปี่ยมล้นด้วยกุศโลบายในหนังสือเล่มนี้

คณะศิษย์ผู้จัดพิมพ์


คำปรารภ

คณะผู้จัดพิมพ์หนังสือชีวประวัติครั้งที่ ๑๒ มีความเห็นว่า ควรที่จะแยกเรื่องความเป็นมาของการพิมพ์หนังสือจากคณะศิษย์ หรือคณะศรัทธาในการพิมพ์ออกมาจากส่วนของเรื่องชีวประวัติที่องค์หลวงปู่เป็นผู้เขียน มาไว้ในส่วนของท้ายเล่ม ต่างหากจากข้อเขียนที่เกิดขึ้นจากองค์หลวงปู่ จะเป็นการเหมาะสมกว่าที่จะไว้หน้าเล่ม เป็นคำนำ เหนือข้อเขียนองค์หลวงปู่ท่าน ที่ใช้ว่า “คำแถลง” และให้เป็นการสอดคล้องกับข้อเขียนเพิ่มเติมขององค์หลวงปู่ท่านที่เขียนว่า “คำนำเพิ่มเติมใหม่” ซึ่งองค์หลวงปู่ท่านให้เพิ่มลงไปในส่วนของหน้าเล่ม

แต่เหนือเหตุผลอื่นใดก็คือ พ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านได้ปฏิบัติให้พบให้เห็นอยู่แล้วทุกวัน ว่าควรจะทำเช่นไรที่จะได้บุญอันสมบูรณ์ยิ่ง คณะผู้จัดพิมพ์หนังสือครั้งนี้ ใคร่กราบขออภัยเป็นอย่างสูง ควรมิควรประการใดก็ขอได้โปรดเมตตาให้อภัย ที่ได้เปลี่ยนแปลงสารบัญ ของคำนำมาเป็นคำแถลง และคำแถลงมาเป็นคำนำ แล้วนำคำแถลงของคณะศิษย์ผู้ที่เป็นเหมือนดวงประทีปส่องนำทางให้คณะผู้จัดพิมพ์เข้าพบพานอันแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา จากปฏิทาข้อวัตรปฏิบัติและพระธรรมอันสูงสุดขององค์หลวงปู่ ยังผลให้เกิดความสุขสงบ โดยเหตุจากท่านและคณะเป็นผู้ริเริ่มอย่างมิหวังชื่อเสียงอื่นใดไปยิ่งกว่า บุญกุศลนี้เกิดขึ้นจากการขออนุญาตองค์หลวงปู่ท่านแล้ว จัดสารบัญรูปเล่ม จนมาพิมพ์เป็นหนังสือชีวประวัติครั้งแรก ประมาณปลายปี ๒๕๓๐ ณ โรงพิมพ์วัดสังฆทาน จำนวน ๕,๐๐๐ เล่มนั้น มาไว้ท้ายเล่มที่เห็นอยู่ในหนังสือเล่มนี้

คณะผู้จัดพิมพ์


เทียน รวมคำสอน “หลวงปู่หล้า เขมปัตโต”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38521

เทียน ประมวลภาพ “หลวงปู่หล้า เขมปัตโต” วัดภูจ้อก้อ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=44375
 

_________________
ท่านสามารถฟังวิทยุเสียงธรรมหลวงตามหาบัวได้ทั่วประเทศ
และโทรทัศน์ดาวเทียมเสียงธรรมทั้งภาพและเสียงได้แล้วที่
http://www.luangta.com
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.พ.2013, 3:48 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ภาพพระธาตุหลวงปู่หล้า เขมปัตโต

Image

ดอกไม้ กระทู้ในบอร์ดใหม่ >>>

ดอกไม้ ดอกไม้ ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่หล้า เขมปัตโต”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44660

ดอกไม้ ดอกไม้ รวมคำสอน “หลวงปู่หล้า เขมปัตโต”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38521

ดอกไม้ ดอกไม้ ประมวลภาพ “หลวงปู่หล้า เขมปัตโต” วัดภูจ้อก้อ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=44375
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง