Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ๘. นารทชาดก : บำเพ็ญอุเบกขาบารมี อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 20 ก.ย. 2006, 9:04 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

๘. นารทชาดก
บำเพ็ญอุเบกขาบารมี


เมื่อครั้งที่พระศาสดาทรงประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐแล้ว ได้ทรงทรมานชฏิล ๓ คนพี่น้อง มี อุรุเวลกัสสปชฏิล เป็นต้น จากนั้นจึงเสด็จไปยังสวนตาลหนุ่มพร้อมด้วยปุราณชฏิล ๑,๐๐๐ คน เพื่อพระประสงค์จะทรงปฏิบัติตามสัญญาที่ได้ทรงให้ไว้แก่พระเจ้าพิมพิสาร ผู้เป็นเจ้าแผ่นดินแห่งมคธรัฐ เมื่อครั้งก่อนที่จะทรงตรัสรู้

ในกาลนั้นเมื่อพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าแผ่นดินมคธรัฐ พร้อมด้วยบริษัทประมาณ ๑๒ นหุต เสด็จมาถวายบังคมพระทศพลแล้วประทับนั่งอยู่ขณะนั้น พวกพราหมณ์คหบดีในภายในราชบริษัท เกิดความสงสัยขึ้นว่า ท่านพระอุรุเวลกัสสปเป็นอาจารย์พระมหาสมณโคดม หรือพระมหาสมณโคดมเป็นอาจารย์ท่านพระอุรุเวลกัสสป ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความสงสัยของพวกบริษัทเหล่านั้นด้วยพระญาณ จึงทรงพระดำริว่า จักต้องประกาศภาวะที่กัสสปมาบวชในสำนักของเราให้พวกนี้รู้ ดังนี้แล้วจึงตรัสพระคาถาว่า

กัสสปผู้อยู่ในอุรุเวลประเทศ ท่านเคยเป็นอาจารย์
สั่งสอนหมู่ชฏิลผู้ผอมเพราะกำลังประพฤติพรต ท่าน
เห็นอะไรจึงได้ละไฟที่เคยบูชาเสีย เราถามเนื้อความ
นั้นกะท่าน อย่างไร ท่านจึงละการบูชาเพลิงของท่านเสีย

ฝ่ายพระเถระ ก็ทราบพระพุทธประสงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ใคร่จะแสดงเหตุ จึงกราบทูลว่า

ยัญทั้งหลายย่อมกล่าวสรรเสริญรูป เสียง กลิ่น
รส และหญิงที่น่าใคร่ทั้งหลาย ข้าพระองค์รู้ว่า ของ
น่านักใคร่นั้นๆ เป็นมลทิน ตกอยู่ในอุปกิเลสทั้งหลาย
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงมิได้ยินดีในการเซ่นสรวง
และการบูชาเพลิง ข้าพระองค์ได้เห็นธรรมอันระงับ
แล้วไม่มีกิเลสเครื่องเศร้าหมอง อันเป็นเหตุก่อให้เกิด
ทุกข์ ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่ติดข้องอยู่ในกามภพ
มิใช่วิสัยที่ผู้อื่นจะนำมาให้ผู้อื่นรู้ได้ ไม่แปรปรวน
กลายเป็นอย่างอื่น เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงไม่
ยินดีในการเซ่นสรวงและการบูชาไฟ

ครั้นพระอุรุเวลกัสสปกล่าวคาถาเหล่านี้แล้ว เพื่อจะประกาศภาวะที่ตนเป็นพุทธสาวก จึงซบศีรษะลงที่หลังพระบาทของพระตถาคต ทูลประกาศว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระองค์ ดังนี้แล้วเหาะขึ้นสู่เวหาส ๗ ครั้ง คือครั้งที่ ๑ สูงชั่วลำตาล ๑ ครั้งที่ ๒ สูงชั่ว ๒ ลำตาล จนถึงครั้งที่ ๗ สูง ๗ ชั่วลำตาล แล้วลงมาถวายบังคมพระตถาคต นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง มหาชนเห็นปาฏิหาริย์ดังนั้นก็ได้กล่าวสรรเสริญคุณของพระศาสดาว่า น่าอัศจรรย์จริง พระพุทธเจ้ามีอานุภาพมาก ธรรมดาผู้มีความเห็นผิดที่มีกำลังถึงอย่างนี้ เมื่อสำคัญตนว่า เป็นพระอรหันต์ แม้ท่านพระอุรุเวลกัสสป พระองค์ก็ทรงทำลายข่ายคือทิฏฐิทรมานเสียได้.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย การที่เราถึงซึ่งสัพพัญญุตญาน ทรมานอุรุเวลกัสสปนี้ ในบัดนี้ไม่น่าอัศจรรย์เท่ากับครั้งก่อน แม้ในเวลาที่เรายังมี ราคะ โทสะ และโมหะ เป็นพรหมชื่อว่า นารทะ ทำลายข่ายคือทิฏฐิของเธอ กระทำเธอให้หมดพยศดังนี้แล้วก็ทรงดุษณีภาพ ครั้นเมื่อหมู่บริษัทนั้นกราบทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดง ดังต่อไปนี้



>>>>> มีต่อ หน้า ๒
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 04 ต.ค.2006, 10:37 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ในอดีตกาล ยังมีพระราชาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้าอังคติราช เสวยราชสมบัติในกรุงมิถิลามหานคร ณ วิเทหรัฐ พระองค์ทรงตั้งอยู่ในธรรม เป็นพระธรรมราชา พระองค์มีพระราชธิดาองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระนางรุจาราชกุมารี มีพระรูปโฉมสวยงาม ชวนดู ชวนชมมีบุญมาก ได้ทรงตั้งปณิธานความปรารถนาไว้สิ้นแสนกัป จึงได้มาเกิดในพระครรภ์ของพระอัครมเหสี ส่วนพระเทวีนอกนั้นของพระองค์ ๑๖,๐๐๐ คน ได้เป็นหญิงหมัน พระนางรุจาราชกุมารีนั้น จึงเป็นที่โปรดปรานของพระองค์ยิ่งนัก

พระองค์ได้ทรงจัดผ้าเนื้อละเอียดอย่างยิ่ง หาค่ามิได้พร้อมกับผอบดอกไม้ ๒๕ ผอบ อันเต็มไปด้วยบุปผาชาตินานาชนิด ส่งไปพระราชทานพระราชธิดา ทุกๆ วัน ด้วยทรงพระประสงค์จะให้พระราชธิดาทรงประดับพระองค์ด้วยของเหล่านี้และของเสวยที่จัดส่งไปประทานนั้นเป็นขาทนียะและโภชนียะอันหาประมาณมิได้ ทุกกึ่งเดือนได้ทรงส่งพระราชทานทรัพย์ ๑,๐๐๐ ไปพระราชทานพระราชธิดา โดยตรัสว่า ส่วนนี้ลูกจงให้ทานเถิด

พระองค์มีอำมาตย์อยู่ ๓ นาย คือ วิชยอำมาตย์ ๑ สุนามอำมาตย์ ๑ อลาตอำมาตย์ ๑ ครั้นถึงคืนกลางเดือน ๑๒ ดอกโกมุทบาน เป็นเทศกาลมหรสพ มหาชนพากันตบแต่งพระนครและภายในพระราชฐานไว้อย่างตระการปานประหนึ่งว่าเทพนคร พระเจ้าอังคติราชจึงเข้าโสรจสรงทรงลูบไล้พระองค์ ประหนึ่งเครื่องราชอลังการ เสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว เสด็จประทับนั่งเหนือราชอาสน์ บนพื้นปราสาทใหญ่ริมสีหบัญชรชัย มีหมู่อำมาตย์แวดล้อม ทอดพระเนตรดูจันทรมณฑลอันทรงกลดหมดราคีลอยเด่นอยู่ ณ พื้นคัคนานต์อากาศ จึงมีพระราชดำรัสถามเหล่าอำมาตย์ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ราตรีอันบริสุทธิ์เช่นนี้น่ารื่นรมย์หนอ วันนี้เราพึงเพลิดเพลินกันด้วยเรื่องอะไรดี

ลำดับนั้น อลาตเสนาบดีได้กราบทูลแด่พระราชาว่า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงจัดพลช้าง พลม้า พลเสนา จะนำชายฉกรรจ์ออกรบ พวกใดยังไม่มาสู่อำนาจ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็จะนำมาสู่อำนาจ นี่เป็นความเห็นของข้าพระพุทธเจ้า เราทั้งหลายจะได้ชัยชนะผู้ที่เรายังไม่ชนะ ขอเดชะ ขอพระองค์จงทรงรื่นรมย์ด้วยการรบ นี้เป็นเพียงความคิดของข้าพระพุทธเจ้า

สุนามอำมาตย์ ได้ฟังคำของอลาตเสนาบดีแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชา พวกศัตรูของพระองค์มาสู่พระราชอำนาจหมดแล้ว ต่างพากันวางศาสตรา ยอมสวามิภักดิ์แล้วทั้งหมด วันนี้เป็นวันมหรสพ สนุกสนานยิ่ง การรบข้าพระพุทธเจ้าไม่ชอบใจ ชนทั้งหลายจงรีบนำข้าวน้ำ และของควรเคี้ยวมาเพื่อพระองค์เถิด ขอเดชะ ขอพระองค์จงทรงรื่นรมย์ด้วยกามคุณ และในการฟ้อนรำ ขับร้อง การประโคมเถิดพระเจ้าข้า

วิชยอำมาตย์ ได้ฟังคำของสุนามอำมาตย์แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชา กามคุณทุกอย่างบำเรอพระองค์อยู่เป็นนิตย์แล้ว การทรงเพลิดเพลินด้วยกามคุณทั้งหลาย พระองค์ทรงหาได้โดยไม่ยากเลย ทรงปรารถนาก็ได้ทุกเมื่อ การรื่นรมย์ด้วยกามคุณทั้งหลายนี้ ไม่ใช่เป็นความคิดของข้าพระบาท วันนี้เราทั้งหลายควรพากันไปหาสมณะหรือพราหมณ์ ผู้เป็นพหูสูต รู้แจ้งอรรถธรรม ผู้แสวงหาคุณ ซึ่งท่านจะพึงกำจัดความสงสัยของพวกเราดีกว่า

พระเจ้าอังคติราช ได้ทรงสดับคำของวิชยอำมาตย์แล้ว ได้ตรัสว่า ตามที่วิชยอำมาตย์พูดว่า วันนี้เราทั้งหลายควรพากันเข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ ผู้เป็นพหูสูต รู้แจ้งอรรถธรรม ผู้แสวงหาคุณซึ่งท่านจะพึงกำจัดความสงสัยของพวกเราดีกว่านั้น แม้เราก็ชอบใจ ท่านที่อยู่ ณ ที่นี้ทุกท่านจงลงมติว่า วันนี้เราทั้งหลายควรจะเข้าไปหา ใครผู้เป็นบัณฑิต รู้แจ้งอรรถธรรม ผู้แสวงหาคุณ ที่ท่านพึงกำจัดความสงสัยของพวกเราได้

อลาตเสนาบดี ได้ฟังพระราชดำรัสของพระเจ้าวิเทหราชแล้ว ได้กราบทูลว่า มีอเจลกที่โลกสมมติว่าเป็นนักปราชญ์อยู่ในมฤคทายวัน อเจลกผู้นี้ชื่อว่า คุณะ ผู้กัสสปโคตรเป็นพหูสูต พูดจาไพเราะ เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ ขอเดชะ เราทั้งหลายควรเข้าไปหาเธอ เธอจักขจัดความสงสัยของเราทั้งหลายได้ พระราชาได้ทรงสดับคำของอลาตเสนาบดีแล้วได้ตรัสสั่งสารถีว่า เราจะไปยังมฤคทายวัน ท่านจงนำยานเทียมม้ามาที่นี่

พวกนายสารถีได้จัดพระราชยาน อันล้วนแล้วไปด้วยงา มีกระพองเป็นเงิน และจัดรถพระที่นั่งรองอันขาวผุดผ่อง ดังพระจันทร์ในราตรี ที่ปราศจากมลทินโทษ มาถวายแก่พระราชา รถนั้นเทียมด้วยม้าสินธพสี่ตัว ล้วนมีสีดังสีดอกโกมุท เป็นม้ามีฝีเท้าเร็วดังลมพัด วิ่งเรียบ ประดับด้วยดอกไม้ทอง พระกลดราชรถม้า และวีชนี ล้วนมีสีขาว พระเจ้าวิเทหราชพร้อมด้วยหมู่อำมาตย์ เสด็จออกย่อมงดงามดังพระจันทร์ หมู่พลราชบริพารผู้กล้าหาญ ขี่บนหลังม้าถือหอกดาบตามเสด็จ พระเจ้าวิเทหราชมหากษัตริย์พระองค์นั้น เสด็จถึงมฤคทายวันโดยครู่เดียว เสด็จลงจากราชยานแล้ว ทรงดำเนินเข้าไปหา คุณาชีวก พร้อมด้วยหมู่อำมาตย์ ก็ในกาลนั้น มีพราหมณ์และคฤหบดีผู้มาประชุมกันอยู่ก่อนในพระราชอุทยานนั้น พระราชาตรัสว่า พวกเรามาภายหลัง อย่าวิตกไปเลย จึงไม่ให้พวกพราหมณ์และคฤหบดีต้องลุกขึ้นหลีกไปเพื่อประโยชน์แก่พระราชา

ลำดับนั้น พระเจ้าอังคติราชนั้น เสด็จเข้าไปประทับนั่งบนอาสนะ อันปูลาดพระยี่ภู่ มีสัมผัสอันอ่อนนุ่ม ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้วได้ทรงปราศรัย ถามทุกข์สุขว่า ผู้เป็นเจ้าสบายดีอยู่หรือ ลมมิได้กำเริบเสียดแทงหรือ ผู้เป็นเจ้าเลี้ยงชีวิตโดยมิฝืดเคืองหรือ ได้บิณฑบาตพอเยียวยาชีวิตให้เป็นไปอยู่หรือ ผู้เป็นเจ้ามีอาพาธน้อยหรือ จักษุมิได้เสื่อมไปจากปรกติหรือ

คุณาชีวก ทูลปราศรัยกับพระเจ้าวิเทหราช ผู้ทรงยินดีในวินัยว่า ข้าแต่มหาราชา ข้าพระพุทธเจ้าสบายดีทุกประการ บ้านเมืองของพระองค์ไม่กำเริบหรือ ช้างม้าของพระองค์หาโรคมิได้หรือ พาหนะยังพอเป็นไปแหละหรือ พยาธิไม่มีมาเบียดเบียนพระสรีระของพระองค์แลหรือ

เมื่อคุณาชีวกทูลปราศรัยแล้ว ลำดับนั้น พระราชาผู้เป็นจอมทัพทรงใคร่ธรรม ได้ตรัสถามอรรถธรรมและเหตุว่า ท่านกัสสป นรชนพึงประพฤติธรรมในมารดาและบิดาอย่างไร พึงประพฤติธรรมในอาจารย์อย่างไร พึงประพฤติธรรมในบุตรและภรรยาอย่างไรพึงประพฤติธรรมในวุฒิบุคคลอย่างไร พึงประพฤติธรรมในพลนิกายอย่างไร และพึงประพฤติธรรมในชนบทอย่างไร ชนทั้งหลายประพฤติธรรมอย่างไร ละโลกนี้ไปแล้วจึงไปสู่สุคติ ส่วนคนบางพวกผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมไฉนจึงตกลงไปใต้นรก

ปัญหานั้นเป็นปัญหาที่พระราชาควรจะตรัสถามพระสัพพัญญูพุทธเจ้า หรือ พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระพุทธสาวก และพระมหาโพธิสัตว์ แต่นี่กลับไปตรัสถามคุณาชีวก ผู้เปลือยกาย หาสิริมิได้ เป็นคนอันธพาล ไม่รู้ปัญหาอะไรเลย.คุณชีวกนั้น ครั้นถูกถามแล้วอย่างนี้ จึงไม่เห็นทางพยากรณ์อันเหมาะสมแก่ราชปุจฉา ซึ่งเป็นประหนึ่งเอาท่อนไม้ตีโคที่กำลังเที่ยวไปอยู่ หรือเหมือนคราดหยากเยื่อทิ้งด้วยจวักฉะนั้น แต่ได้ทูลขอโอกาสว่า ข้าแต่มหาราชเจ้าขอพระองค์จงสดับเถิด แล้วเริ่มตั้งมิจฉาวาทะของตนว่า

ข้าแต่พระมหาราชา ขอพระองค์ทรงสดับ ทางที่จริงแท้ของพระองค์ ผลแห่งธรรมที่ประพฤติแล้วเป็นบุญเป็นบาปไม่มี ขอเดชะปรโลกไม่มี ใครเล่าจากปรโลกนั้นมาโลกนี้ ปู่ย่าตายายไม่มี มารดาบิดาจะมีที่ไหน ขึ้นชื่อว่าอาจารย์ไม่มีใครจักฝึกผู้ที่ฝึกไม่ได้ สัตว์เสมอกันหมด ผู้ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้เจริญไม่มี กำลังหรือความเพียรไม่มีบุรุษผู้มีความหมั่นจักได้รับผลแต่ที่ไหน สัตว์ที่เกิดตามกันมา เหมือนเรือน้อยห้อยท้ายเรือใหญ่ สัตว์ย่อมได้สิ่งที่ควรได้ ในข้อนั้น ผลทานจักมีแต่ที่ไหน ผลทานไม่มี ความเพียรไม่มีอำนาจ ทานคนโง่บัญญัติไว้คนฉลาดรับทาน คนโง่สำคัญตัวว่าฉลาด เป็นผู้ไม่มีอำนาจ ย่อมให้ทานแก่นักปราชญ์ทั้งหลาย

ครั้นคุณาชีวกทูลพรรณนาภาวะที่ทานเป็นของไม่มีผลอย่างนี้แล้ว บัดนี้เพื่อพรรณนาถึงบาปที่ไม่มีผล จึงกล่าวว่า

รูปกายอันเป็นที่รวม ดิน น้ำ ลม ไฟ สุขทุกข์และชีวิต ๗ ประการนี้ เป็นของเที่ยง ไม่ขาดสูญไม่กำเริบ รูปกาย ๗ ประการนี้ ของสัตว์เหล่าใดชื่อว่าขาดไม่มี ผุ้ที่ถูกฆ่าหรือถูกตัด หรือเบียดเบียน ใดๆ ไม่มี ศาสตราทั้งหลายพึงเป็นไปในระหว่างรูปกาย ๗ ประการนี้ ผู้ใดตัดศีรษะของผู้อื่นด้วยดาบอันคมผู้นั้นไม่ชื่อว่าตัดร่างกายเหล่านั้น ในการทำเช่นนั้นผลบาปจะมีแต่ที่ไหน สัตว์ทุกจำพวกท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร ๘๔ มหากัป ย่อมบริสุทธิ์ได้เอง เมื่อยังไม่ถึงกาลนั้น แม้จะสำรวมด้วยดีก็บริสุทธิ์ไม่ได้ เมื่อยังไม่ถึงกาลนั้นแม้จะประพฤติความดีมากมาย ก็บริสุทธิ์ไม่ได้ ถ้าแม้กระทำบาปมากมาย ก็ไม่ล่วงขณะนั้นไปในวาทะของเราทั้งหลาย ความบริสุทธิ์ย่อมมีได้โดยลำดับเมื่อถึง ๘๔ กัป พวกเราไม่ล่วงเลยเขตอันแน่นอนนั้นเหมือนคลื่นไม่ล่วงเลยฝั่งไปฉะนั้น

คุณาชีวกผู้มีวาทะว่าขาดสูญ เมื่อจะยังวาทะของตนให้สำเร็จตามกำลังของตน จึงกราบทูลโดยหาหลักฐานมิได้

อลาตเสนาบดี ได้ฟังคำของคุณาชีวกกัสสปโคตรแล้ว ได้กล่าวคำนี้ว่า ท่านผู้เจริญกล่าวฉันใด คำนั้นข้าพเจ้าชอบใจฉันนั้น แม้ข้าพเจ้าก็ระลึกชาติหนหลังของตนได้ชาติหนึ่ง คือในชาติก่อน ข้าพเจ้าเกิดในเมืองพาราณสีอันเป็นเมืองมั่งคั่ง เป็นนายพรานฆ่าโค ชื่อว่าปิงคละ ข้าพเจ้าได้ทำบาปกรรมไว้มาก ได้ฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต คือ กระบือ สุกร แพะ เป็นอันมาก ข้าพเจ้าจุติจากชาตินั้นแล้ว มาเกิดในตระกูลเสนาบดีอันบริสุทธิ์นี้ บาปไม่มีผลแน่ ข้าพเจ้าจึงไม่ต้องไปนรก

ได้ยินว่า อลาตเสนาบดีนั้น กระทำการบูชาด้วยพวงดอกอังกาบที่เจดีย์ ในสมัยแห่งพระกัสสปพุทธเจ้าในกาลก่อน ครั้นเมื่อสิ้นชีวิตลงก็ถูกกรรมอื่นซัดไปตามอานุภาพ ท่องเที่ยวไปในสงสาร ด้วยผลแห่งบาปกรรมอันหนึ่ง จึงบังเกิดในตระกูลแห่งผู้ฆ่าโคได้กระทำกรรมเป็นอันมาก แต่ครั้นในเวลาที่เขาจะตาย กุศลกรรมในการบูชาพระมหาเจดีย์ด้วยพวงดอกอังกาบนั้นได้ให้โอกาส เหมือนไฟที่เอาขี้เถ้าปิดไว้ฉะนั้น ด้วยอานุภาพแห่งกรรมนั้น เขาจึงบังเกิดในที่นี้ ได้รับสมบัติเช่นนั้น และระลึกชาติได้ เมื่อไม่อาจระลึกถึงกรรมอื่นจาก อนันตรกรรมในอดีต จึงสนับสนุนวาทะของคุณาชีวกนั้นด้วยสำคัญว่า เราได้กระทำกรรมคือการฆ่าโคจึงบังเกิดในที่นี้ จึงได้กล่าวดังนั้น



>>>>> มีต่อ หน้า ๓
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 04 ต.ค.2006, 10:55 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ครั้งนั้น ในมิถิลานครนี้ มีคนเข็ญใจเป็นทาส เขาผู้หนึ่งชื่อว่า วีชกะ รักษาอุโบสถศีล ได้เข้าไปยังสำนักของคุณาชีวก ได้ฟังคำของกัสสปคุณาชีวกและอลาตเสนาบดีกล่าวกันอยู่ ถอนหายใจฮึดฮัด ร้องไห้น้ำตาไหล

พระเจ้าวิเทหราช ได้ตรัสถามนายวีชกะนั้นว่าสหายเอ๋ย เจ้าร้องไห้ทำไม เจ้าได้ฟังได้เห็นอะไรมาหรือเจ้าได้รับทุกขเวทนาอะไร จงบอกให้เราทราบ

นายวัชกะได้ฟังพระดำรัสของพระเจ้าวิเทหราชแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าพระองค์ไม่มีทุกขเวทนาเลย

ข้าแต่พระมหาราชา ขอได้ทรงพระกรุณาฟังข้าพระพุทธเจ้า แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็ยังระลึกถึงความสุขสบายของตนในชาติก่อนได้ คือ ในชาติก่อนข้าพระพุทธเจ้าเกิดเป็นภาวเศรษฐี ยินดีในคุณธรรม อยู่ในเมืองสาเกต ข้าพระพุทธเจ้านั่นอบรมตนดีแล้ว ยินดีในการบริจาคทานแก่พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย มีการงานอันสะอาด ข้าพระพุทธเจ้าระลึกถึงบาปกรรมที่ตนกระทำแล้วไม่ได้เลย

ข้าแต่พระเจ้าวิเทหราช ข้าพระพุทธเจ้าจุติจากชาตินั้นแล้ว มาเกิดในครรภ์ของนางกุมภทาสีหญิงขัดสนในมิถิลามหานครนี้ จำเดิมแต่เวลาที่เกิดแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าก็ยากจนเรื่อยมา แม้ข้าพระพุทธเจ้าจะเป็นคนยากจนอย่างนี้ ก็ตั้งมั่นอยู่ในความประพฤติชอบ ได้ให้อาหารกึ่งหนึ่งแก่ท่านที่ปรารถนา ได้รักษาอุโบสถศีลในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำทุกเมื่อ ไม่ได้เบียดเบียนสัตว์และไม่ได้ลักทรัพย์เลย กรรมทั้งปวงที่ข้าพระพุทธเจ้าประพฤติดีแล้วนั้น ไร้ผลเป็นแน่ ศีลนี้เห็นจะไร้ประโยชน์ เหมือนอลาตเสนาบดีกล่าว ข้าพระพุทธเจ้ากำเอาแต่ความปราชัยไว้เหมือนนักเลงผู้ไม่ได้ฝึกหัดฉะนั้นเป็นแน่ ส่วนอลาตเสนาบดีย่อมกำเอาแต่ชัยชนะไว้ ดังนักเลงผู้ชำนาญการพนัน ฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้า ไม่เห็นประตูอันเป็นเหตุสุคติเลย ข้าแต่พระราชา เพราะเหตุนั้นข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังคำของกัสสปคุณาชีวกแล้วจึงร้องไห้

ดังได้สดับมา ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ ในปางก่อน นายชีวกบุรุษนั้นเกิดเป็นนายโคบาล แสวงหาโคพลิพัททะ ที่หายไปในป่า ถูกภิกษุรูปหนึ่งผู้หลงทางถามถึงหนทางได้นิ่งเสีย ถูกท่านถามอีก ก็โกรธแล้วกล่าวว่า ขึ้นชื่อว่า สมณขี้ข้านี้ปากแข็ง ชะรอยว่าท่านนี้จะเป็นขี้ข้าเขาจึงปากแข็งยิ่งนัก กรรมหาได้ให้ผลในชาตินั้นไม่ ตั้งอยู่เหมือนไฟ ที่มีเถ้าปิดไว้ ฉะนั้น ถึงเวลาตาย กรรมอื่นก็ปรากฏ เขาจึงท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารตามลำดับของกรรม เพราะผลแห่งกรรมอย่างหนึ่ง เขาจึงเป็นเศรษฐี มีประการดังกล่าวแล้ว ในเมืองสาเกต ได้กระทำบุญมีทานเป็นต้น ก็กรรมที่เขาด่าภิกษุผู้หลงทางนั้นตั้งอยู่ ประหนึ่งขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ในแผ่นดิน ได้โอกาสจึงให้ผลแก่เขาในอัตภาพนั้น เขาเมื่อไม่รู้จึงกล่าวอย่างนั้นด้วยสำคัญว่า ด้วยกรรมอันดีงามนอกนี้ เราจึงเกิดในท้องของนางกุมภาทาสี

พระเจ้าอังคติราชสดับคำของนายวีชกะแล้ว ได้ตรัสว่า ประตูสุคติไม่มี ยังสงสัยอยู่อีกหรือวีชกะ ได้ยินว่าสุขหรือทุกข์สัตว์ย่อมได้เองแน่นอน สัตว์ทั้งปวงหมดจดได้ด้วยการเวียนเกิดเวียนตาย เมื่อยังไม่ถึงเวลาอย่ารีบด่วนไปเลย เมื่อก่อนแม้เราก็เป็นผู้กระทำความดี ขวนขวายในพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายอนุศาสน์ราชกิจอยู่เนืองๆ งดเว้นจากความยินดี ในกามคุณตลอดกาลประมาณเท่านี้

ก็แลครั้นพระราชาตรัสอย่างนี้แล้ว ก็ตรัสบอกลาคุณาชีวกว่า ท่านกัสสปโคตร พวกข้าพเจ้าประมาทมาแล้วสิ้นกาลเท่านี้ แต่บัดนี้พวกข้าพเจ้าได้อาจารย์แล้ว ตั้งแต่นี้ไปพวกข้าพเจ้าจะเพลิดเพลินยินดีแต่ในกามคุณเท่านั้น แม้การฟังธรรมในสำนักของท่าน ให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก ก็เป็นกาลเนิ่นช้าของพวกข้าพเจ้าเปล่า ท่านจงหยุดเถิด พวกข้าพเจ้าจักลาไปละ

ครั้นพระเจ้าวิเทหราชตรัสดังนี้แล้ว ก็เสด็จกลับไปยังพระราชนิเวศน์ของพระองค์.พระราชาทรงยังคืนนั้นให้ผ่านไป วันรุ่งขึ้นจึงให้ประชุมเหล่าอำมาตย์แล้วตรัสว่า พวกท่านจงบำเรอกามคุณกันเถิด นับแต่วันนี้ไปเราจะเสวยความสุขในกามคุณเท่านั้น อย่าพึงรายงานกิจการอื่นให้เราทราบเลย ผู้ใดผู้หนึ่งจงกระทำการวินิจฉัยเถิด ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ทรงมัวเมาเพลิดเพลินยินดีอยู่แต่ในกามคุณเท่านั้น

ตั้งแต่รุ่งสว่าง พระเจ้าอังคติราชรับสั่งให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ ในที่ประทับสำราญพระองค์แล้วตรัสว่าจงจัดกามคุณทั้งหลายเพื่อเรา ไว้ในจันทกปราสาทของเราทุกเมื่อ เมื่อข้อราชการลับและเปิดเผยเกิดขึ้น ใครๆ อย่าเข้ามาหาเรา อำมาตย์ผู้ฉลาดในราชกิจ ๓ นายคือวิชยอำมาตย์ ๑ สุนามอำมาตย์ ๑ อลาตเสนาบดี ๑ จงนั่งพิจารณาข้อราชการเหล่านั้น พระเจ้าวิเทหราชครั้นตรัสดังนี้แล้วจึงตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงใส่ใจกามคุณให้มาก ไม่ต้องขวนขวายในพราหมณ์ คฤหบดีและกิจการอะไรเลย

ตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงวันที่ ๑๔ ราชกัญญาพระนามว่ารุจา ผู้เป็นพระธิดาที่โปรดปรานของพระเจ้าวิเทหราช ได้ตรัสกะพระพี่เลี้ยงว่า ขอท่านทั้งหลายช่วยประดับให้ฉันด้วย และหญิงสหายทั้งหลายของเราก็จงประดับ พรุ่งนี้ ๑๕ ค่ำ เป็นวันทิพย์ ฉันจะไปเฝ้าพระชนกนาถ พระพี่เลี่ยงทั้งหลายได้จัดมาลัยแก่นจันทน์ แก้วมณี สังข์ แก้วมุกดาและผ้าต่างๆ สีอันมีค่ามาก มาถวายแก่พระนางรุจาราชกัญญา หญิงบริวารเป็นอันมาก ห้อมล้อมพระนางรุจาราชธิดาผู้มีพระฉวีวรรณงามผุดผ่อง ประทับนั่งอยู่บนตั่งทองงามโสภาราวกะนางเทพกัญญา

ในวันที่ ๑๔ พระนางรุจาราชธิดา ทรงผ้าสีต่างๆ แวดล้อมไปด้วยหมู่กุมารี ๕๐๐ พาหมู่พระพี่เลี้ยงนางนม ลงจากปราสาท ๗ ชั้นด้วยสิริวิลาสอันใหญ่ยิ่ง เสด็จไปยังจันทกปราสาท เพื่อเฝ้าพระชนกนาถ

ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหราช ทอดพระเนตรเห็นพระธิดา ทรงพระทัยยินดีชื่นบาน ให้จัดมหาสักการะต้อนรับ เมื่อจะส่งกลับ จึงได้พระราชทานทรัพย์ ๑,๐๐๐ แล้วส่งไปด้วย ตรัสว่า นี่ลูก เจ้าจงให้ทาน พระนางรุจานั้นเสด็จกลับไปยังนิเวศน์ของตนแล้ว วันรุ่งขึ้นจึงทรงรักษาอุโบสถศีล ทรงให้ทานแก่คนกำพร้าคนเดินทางไกล ยาจกและวนิพกเป็นอันมาก

ได้ยินว่า พระเจ้าวิเทหราชได้พระราชทานส่วยที่เก็บจากชนบทหนึ่งแก่พระธิดา พระนางรุจาได้ทรงกระทำกิจทั้งปวงด้วยส่วยที่ได้จากชนบทนั้น ก็ในกาลนั้นเกิดลือกันขึ้นทั่วพระนครว่า พระราชาเพราะทรงเชื่อคุณาชีวกจึงทรงถือมิจฉาทิฏฐิ พวกพระพี่เลี้ยงนางนม ได้ยินเขาลือกันดังนั้น จึงมาทูลพระนางรุจาว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า เขาลือกันว่า พระชนกของพระองค์ทรงสดับถ้อยคำของอาชีวกแล้วทรงถือมิจฉาทิฏฐิ และได้ยินว่า พระราชานั้น ตรัสสั่งให้รื้อโรงทานที่ประตูเมืองทั้ง ๔ และทรงข่มขืนหญิงและเด็กหญิงที่ผู้อื่นหวงห้าม มิได้ทรงพิจารณาถึงพระราชกรณียกิจเลย ทรงมัวเมาอยู่แต่ในกามคุณ

พระนางรุจานั้นได้ทรงสดับคำของพระพี่เลี้ยงนางนมเหล่านั้น ก็ทรงสลดพระหฤทัย จึงทรงพระดำริว่า เพราะเหตุอะไรหนอ พระชนกของเราจึงเสด็จเข้าถามปัญหากะคุณาชีวก ผู้ปราศจากคุณธรรม ไม่มีความละอาย ผู้เปลือยกายเช่นนั้น สมณพราหมณ์ผู้มีธรรมเป็นกรรมวาที ควรที่จะเข้าไปถามมีอยู่มิใช่หรือ แต่เว้นเราเสียแล้ว คนที่จะปลดเปลื้องมิจฉาทิฏฐิพระชนกของเรา ให้กลับตั้งอยู่ในสัมมาทิฏฐิอีก คงจะไม่มีใครสามารถ ก็เราระลึกถึงชาติได้ถึง ๑๔ ชาติ คือที่เป็นอดีต ๗ ชาติ ที่เป็นอนาคต ๗ ชาติ เพราะฉะนั้นเราจะทูลแสดงกรรมชั่ว ที่ตนทำในชาติก่อน และแสดงผลแห่งกรรม ปลุกพระชนกของเราให้ทรงตื่น

ก็ถ้าเราจักเฝ้าในวันนี้ไซร้ พระชนกของเราคงจะท้วงเราว่า เมื่อก่อนลูกเคยมาทุกกึ่งเดือน เพราะเหตุไรวันนี้จึงรีบมาเล่า ถ้าเราจะทูลว่ากระหม่อมฉันมาในวันนี้นั้น เพราะได้ทราบข่าวเล่าลือกันว่า พระองค์ทรงถือมิจฉาทิฏฐิ ดังนี้ คำของเราจะไม่ยึดคุณค่าอันหนักแน่นได้นัก เพราะฉะนั้นวันนี้เราอย่าไปเฝ้าเลย ถึงวัน ๑๔ ค่ำ จากนี้ไป เฉพาะในวัน ๑๔ ค่ำในกาฬปักข์ เราจะทำเป็นไม่รู้ เข้าไปเฝ้าโดยอาการที่เคยเข้าไปเฝ้าในกาลก่อนๆ ครั้นเวลากลับ เราจักทูลขอพระราชทรัพย์พันหนึ่งมาทำงาน เมื่อนั้นพระชนกของเราจักแสดงการถือมิจฉาทิฏฐิแก่เรา ลำดับนั้น เราจักมีโอกาส ให้พระองค์ทรงละทิ้งมิจฉาทิฏฐินั้นเสียได้ด้วยกำลังของตน เพราะฉะนั้นในวัน ๑๔ ค่ำ พระนางรุจาราชธิดาจึงทรงใคร่จะไปเฝ้าพระชนก จึงตรัสอย่างนั้น

วันนั้นหญิงบริวารพากันแวดล้อมพระนางรุจาราชธิดา งามยิ่งนักราวกะนางเทพกัญญา.ก็พระนางรุจาราชธิดานั้น ประดับด้วยเครื่องอาภรณ์ทั้งปวง เสด็จไป ณ ท่ามกลางหญิงสหายเพียง เสด็จเข้าสู่จันทกปราสาท พระนางรุจาราชธิดาเสด็จเข้าไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช ถวายบังคมพระชนกนาถ แล้วประทับอยู่ ณ ตั่งอันวิจิตรด้วยทองคำส่วนหนึ่ง

พระเจ้าวิเทหราช ทอดพระเนตรเห็นพระนางรุจาราชธิดา ผู้ประทับอยู่ท่ามกลางหญิงสหาย ซึ่งเป็นดังสมาคมแห่งนางเทพอัปสร จึงตรัสถามว่า ลูกหญิงยังรื่นรมย์อยู่ในปราสาท และยังประพาสอยู่ในอุทยานเล่นน้ำในสระโบกขรณีเพลิดเพลินอยู่หรือ เขายังนำเอาของเสวยมากอย่างมาให้ลูกหญิงเสมอหรือ ลูกหญิงและเพื่อนหญิงของลูก ยังเก็บดอกไม้ต่างๆ ชนิดมาร้อยพวงมาลัย และยังช่วยกันทำเรือนหลังเล็กๆ เล่นเพลิดเพลินอยู่หรือ ลูกหญิงขาดแคลนอะไรบ้างเขารีบนำสิ่งของมาให้ ทันใจลูกยู่หรือ ลูกรักผู้มีพักตร์อันผ่องใส จงบอกความชอบใจแก่พ่อเถิด แม้สิ่งนั้นจะเสมอดวงจันทร์ พ่อก็จักให้เกิดแก่ลูกจนได้

พระนางรุจาราชะดา ได้สดับพระดำรัส ของพระเจ้าวิเทหราชแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชากระหม่อมฉันย่อมได้ของทุกๆ อย่าง ในสำนักของทูลกระหม่อม พรุ่งนี้ ๑๕ ค่ำ เป็นวันทิพย์ ขอราชบุรุษทั้งหลายจงนำพระราชทรัพย์หนึ่งพันมาให้ กระหม่อมฉัน จักให้ทานแก่วนิพกทั้งปวงตามที่ให้มาแล้ว

พระเจ้าอังคติราชได้สดับพระดำรัสของพระนางรุจาราชธิดาแล้วตรัสว่า ลูกหญิงทำทรัพย์ให้พินาศเสียเป็นอันมาก หาผลประโยชน์มิได้ ชะรอยว่าเจ้าไม่บริโภคอาหารนี้แน่นอน ผู้บริโภคก็ดี ไม่บริโภคก็ดี บุญย่อมไม่มี ลูกหญิงรุจาเอ๋ย ตราบที่ลูกยังมีชีวิตอยู่ อย่าอดอาหารเลย ปรโลกไม่มี ลูกหญิงจะลำบากไปทำไม ไร้ประโยชน์

พระนางรุจาราชธิดา ผู้มีพระฉวีวรรณงดงามทรงทราบกฎธรรมดาในอดีต ๗ ชาติ ในอนาคต ๗ ชาติ ได้สดับพระดำรัสของพระเจ้าวิเทหราชแล้วกราบทูลพระชนกนาถว่า แต่ก่อนกระหม่อมฉันได้ฟังมาเท่านั้น กระหม่อมฉันเห็นประจักษ์เองข้อนี้ว่า ผู้ใดเข้าไปเสพคนพาล ผู้นั้นก็เป็นพาลไปด้วย ผู้หลงอาศัยคนหลงย่อมถึงความหลงยิ่งขึ้น อลาตเสนาบดีและนายวิชกะสมควรจะหลง

พระนางรุจาราชธิดาทรงติเตียนชนทั้ง ๒ นั้นอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงสรรเสริญพระชนกนาถ ด้วยทรงประสงค์จะปลดเปลื้องจากมิจฉาทิฏฐิจึงกราบทูลว่า

ขอเดชะ ก็พระองค์มีพระปรีชา ทรงเป็นนักปราชญ์ ทรงฉลาดรู้ซึ่งอรรถ จะทรงเป็นเช่นกับพวกคนพาล เข้าถึงซึ่งทิฏฐิอันเลวได้อย่างไร ก็ถ้าสัตว์จะบริสุทธิ์ได้ด้วยการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ การบวชของคุณาชีวกก็ไม่มีประโยชน์ คุณาชีวกเป็นคนหลงงมงาย ย่อมถึงความเป็นคนเปลือย เหมือนตั๊กแตนหลงบินเข้ากองไฟ ฉะนั้น คนเป็นอันมากไม่รู้อะไรได้ฟังคำของกัสสปคุณาชีวกว่า ความหมดจดย่อมไม่มีด้วยสังสารวัฏ ก็เชื่อมั่นเสียก่อนทีเดียว จึงพากันปฏิเสธกรรมและผลของกรรม โทษคือความฉิบหายที่ยึดไว้ผิดในเบื้องต้นก็ยากที่จะเปลื้องได้ เหมือนปลาติดเบ็ดยากที่จะเปลื้องตนออกจากเบ็ดได้ฉะนั้น

พระราชธิดาตรัสอธิบายไว้ว่า ข้าแต่พระชนกนาถ เมื่อความบริสุทธิ์ด้วยสงสารมี แม้คุณาชีวกก็ละกามคุณ ๕ แล้ว ถึงความเป็นคนเปลือยกายไม่มีสิริ ไม่มีความละอาย ไม่มีความแช่มชื่น เพราะความหลงด้วยสามารถแห่งโมหะ เหมือนตั๊กแตนเห็นไฟโพลงในส่วน แห่งราตรี ไม่รู้ถึงทุกข์อันมีกองไฟนั้นเป็นปัจจัย ตกไปในกองไฟนั้นถึงความ ทุกข์ใหญ่ฉะนั้น

ข้าแต่พระชนกนาถ ชนเป็นอันมาก ฟังคำของกัสสปโคตรว่า บริสุทธิ์ด้วยสงสาร เชื่อมั่นลงไปก่อนทีเดียว เพราะถือว่าผลของกรรมที่ทำดีและทำชั่วย่อมไม่มี เมื่อไม่รู้ก็ยึดเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ด้วยความเห็นผิด จึงปฏิเสธกรรม เมื่อปฏิเสธกรรมนั้น ก็ชื่อว่าปฏิเสธผลแห่งกรรม เมื่อพวกเขายึดถือเอาโทษอันเป็นความปราชัยแห่ง พวกเขาในชั้นต้นอย่างนี้ก็เป็นอันชื่อว่ายึดถือผิด

ชนพาลเหล่านั้นเมื่อไม่รู้อย่างนี้ ยึดถือความฉิบหายด้วย การเห็นผิดดำรงอยู่ ย่อมชื่อว่าปลดเปลื้องออกจากความฉิบกายนั้นได้โดยยาก เหมือนปลาที่กลืนเบ็ดเข้าไป ปลดเปลื้องออกจากเบ็ดได้ยากฉะนั้น

พระนางรุจาราชธิดา ครั้นตรัสดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงพร่ำสอนพระราชาให้ยิ่งขึ้นไป จึงตรัสว่า

ข้าแต่พระราชา กระหม่อมฉันจักยกตัวอย่างมาเปรียบถวาย เพื่อประโยชน์แก่ทูลกระหม่อม บัณฑิตทั้งหลายในโลกนี้บางพวกย่อมรู้เนื้อความได้ด้วยอุปมา เปรียบเหมือนเรือของพ่อค้า บรรทุกสินค้าหนักเกินประมาณ ย่อมนำสินค้าอันหนักยิ่งไปจมลงในมหาสมุทรฉันใด นรชนสั่งสมบาปกรรมที่ละน้อยๆ ก็ย่อมพาเอาบาปอันหนักยิ่งไปจมลงในนรกฉันนั้น ทูลกระหม่อมเพคะ อกุศลอันหนักของอลาตเสนาบดียังไม่บริบูรณ์ก่อน อลาตเสนาบดียังสั่งสมบาปอันเป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติอยู่

ขอเดชะการที่อลาตเสนาบดีได้รับความสุขอยุ่ในบัดนี้ เป็นผลบุญที่ตนทำไว้แล้วในปางก่อนนั่นเอง บุญของอลาตเสนาบดีนั้นจะหมดสิ้น อลาตเสนาบดีจึงมายินดีในอกุศลกรรมอันไม่ใช่คุณ หลีกละทางตรงเดินไปตามทางอ้อม นรชนสั่งสมบุญไว้แม้ทีละน้อยๆ ย่อมไปสู่เทวโลก เหมือนวีชกบุรุษผู้เป็นทาสยินดีในกรรมอันงาม ย่อมมุ่งไปสู่สวรรค์ได้ เปรียบเหมือนตาชั่งที่กำลังชั่งของ ย่อมต่ำลงข้างหนึ่ง เมื่อเอาของหนักออกเสีย ข้างที่ต่ำก็จะสูงขึ้น

พระนางรุจาราชธิดาทูลว่า ข้าแต่ทูลกะหม่อม ทูลกระหม่อมเข้าไปหากัสสปคุณาชีวก คนเปลือยนี้ ทูลกระหม่อมอย่าเข้าไปสู่ทางผิดอันเป็นทางไปนรก อย่าได้กระทำบาปเลยเพคะ

บัดนี้พระนางรุจาราชธิดา เมื่อจะทรงแสดงโทษในการซ่องเสพบาป และคุณในการคบหากับกัลยาณมิตรแก่พระราชา จึงตรัสว่า ข้าแต่พระราชบิดา บุคคลคบบุคคลใดๆ จะเป็นสัตบุรุษก็ตามอสัตบุรุษก็ตาม ผู้มีศีลก็ตาม ผู้ไม่มีศีลก็ตาม เขาย่อมตกไปสู่อำนาจของผู้นั้น บุคคลเป็นมิตรกับบุคคลเช่นใด และเข้าไปคบหาคนเช่นใด เขาก็ย่อมเป็นคนเช่นนั้น เพราะการอยู่ร่วมกันก็ย่อมเป็นเช่นนั้น ผู้เสพย่อมติดนิสัยผู้ที่ตนเสพ ผู้ติดต่อ ย่อมติดนิสัยผู้ที่ตนติดต่อ เหมือนลูกศรอาบยาพิษย่อมเปื้อนแล่งฉะนั้น นักปราชญ์ไม่ควรเป็นผู้มีคนลามกเป็นสหาย เพราะกลัวจะแปดเปื้อน การเสพคนพาลย่อมเป็นเหมือนบุคคลเอาใบไม้ห่อปลาเน่า แม้ใบไม้ก็มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป ฉะนั้น ส่วนการคบหาสมาคมกับนักปราชญ์ ย่อมเป็นเหมือนบุคคลเอาใบไม้ห่อของหอม แม้ใบไม้ก็มีกลิ่นหอมฟุ้งไป ฉะนั้น เพราะฉะนั้น บัณฑิตรู้ความเป็นบัณฑิตของตนดังใบไม้สำหรับห่อ จึงไม่คบหาสมาคมอสัตบุรุษ คบหาสมาคมสัตบุรุษ อสัตบุรุษย่อมนำไปสู่นรก สัตบุรุษย่อมให้ถึงสุคติ



>>>>> มีต่อ หน้า ๔
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 04 ต.ค.2006, 3:16 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

พระราชธิดา ครั้นทรงแสดงธรรมแก่พระชนกนาถอย่างนี้แล้ว บัดนี้เมื่อจะทรงแสดงถึงทุกข์อันตนเคยเสวยมาในอดีตจึงตรัสว่า แม้กระหม่อนฉันก็ระลึกชาติที่ตนท่องเที่ยวมาแล้วได้ ๗ ชาติ และระลึกชาที่ตนจุติจากชาตินี้แล้ว จักไปเกิดในอนาคตอีก ๗ ชาติ ข้าแต่พระจอมประชาชน ชาติที่ ๗ ของกระหม่อมฉันในอดีต กระหม่อมฉันเกิดเป็นบุตรนายช่างทองในแคว้นมคธ ราชคฤห์ มหานคร กระหม่อมฉันได้คบหาสหายผู้ลามก ทำบาปกรรมไว้มาก เที่ยวคบชู้ภรรยาของชายอื่น กรรมนั้นยังไม่ให้ผล เหมือนไฟอันเถ้าปกปิดไว้

ในกาลต่อมาด้วยกรรมอื่นๆ กระหม่อมฉันนั้นได้ เกิดในวังสรัฐเมืองโกสัมพี เป็นบุตรคนเดียวในสกุลเศรษฐีผู้สมบูรณ์มั่งคั่ง มีทรัพย์มากมาย คนทั้งหลายสักการะบูชาอยู่เป็นนิตย์ ในชาตินั้น กระหม่อมฉัน ได้คบหาสมาคมมิตรสหายผู้ยินดีในกรรมอันงาม ผู้เป็นบัณฑิต เป็นพหูสูต เขาได้แนะนำให้กระหม่อมฉันรักษาอุโบสถศีลในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ตลอดราตรี เป็นอันมาก กรรมนั้นยังไม่ได้ให้ผล ดังขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ใต้น้ำ

ครั้นภายหลัง บรรดากรรมทั้งหลาย ปรทารกกรรมอันใดที่กระหม่อมฉันได้กระทำไว้ในมคธรัฐ ผลแห่งกรรมนั้นมาถึงกระหม่อมฉันแล้วเหมือนดื่มยาพิษอันร้ายแรงฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้ครองวิเทหรัฐ กระหม่อมฉันจุติจากตระกูลเศรษฐีนั้นแล้ว ต้องหมกไหม้อยู่ในโรรุวนรกสิ้นกาลนาน เพราะกรรมของตน กระหม่อมฉันได้ระลึกถึงทุกข์ที่ได้เสวยในนรกนั้น ไม่ได้ความสุขเลย กระหม่อมฉันยังทุกข์เป็นอันมาก ให้สิ้นไปในนรกนั้นนานปี แล้วเกิดเป็นลาถูกเขาตอนอยู่ในภิณณาคตนคร

ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ การที่หม่อมฉันหมกไหม้อยู่ในมหาดรรุวนรก และการที่หม่อมฉันถูกตอนในกาลเป็นแพะ ทั้งหมดนั่น เป็นผลของกรมนั้น คือกรรมที่หม่อมฉันคบชู้กับภรรยาของคนอื่น ก็แล ครั้นหม่อมฉันจุติจากชาติเป็นลานั้นแล้ว ก็ถือปฏิสนธิในกำเนิด ลิงในป่า ครั้นในวันที่หม่อมฉันเกิด พวกลิงเหล่านั้นนำหม่อมฉันไปแสดงแก่ ลิงผู้เป็นนายฝูง ลิงผู้เป็นนายฝูงกล่าวว่า จงนำบุตรมาให้เรา ดังนี้แล้วจับไว้มั่นแล้วกัดลูกอัณฑะของลิงนั้น ถึงจะร้องเท่าไรก็ไม่ปล่อย นั่นเป็นผลของการที่เป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น

เมื่อพระนางรุจาราชธิดาจะทรงแสดงชาติอื่นๆ จึงทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้ครองวิเทหรัฐ กระหม่อมฉันจุติจากชาติเป็นลิงนั้นแล้ว ได้เกิดเป็นโคในทสันนรัฐ ถูกเขาตอน มีกำลังแข็งแรง กระหม่อมฉันต้องเทียมยานอยู่สิ้นกาลนาน นั่นเป็นผลของกรรม คือ การที่กระหม่อมฉันคบชู้ภรรยาผู้อื่น

ข้าแต่พระองค์ผู้ครองวิเทหรัฐ กระหม่อมฉันจุติจากชาติเป็นโคนั้นแล้ว มาบังเกิดเป็นกะเทยในตระกูลที่มีโภคสมบัติมากในแคว้นวัชชี จะได้เกิดเป็นมนุษย์ยากจริงๆ นั่นเป็นผลแห่งกรรม คือการที่กระหม่อมฉันคบชู้ภรรยาผู้อื่น

ข้าแต่พระองค์ผู้ครองวิเทหรัฐ กระหม่อมฉันจุติจากชาติเป็นกะเทยนั้นแล้ว ได้ไปบังเกิดเป็นนางอัปสรในนันทนวัน ณ ดาวดึงส์พิภพ มีวรรณะน่าใคร่ มีผ้าและอาภรณ์อันวิจิตร สวมกุณฑลแก้วมณี เป็นผู้ฉลาดในการฟ้อนรำขับร้อง เป็นบาทบริจาริกาของท้าวสักกะ

ข้าแต่พระองค์ผู้ครองวิเทหรัฐ เมื่อกระหม่อมฉันอยู่ในดาวดึงส์พิภพนั้น ระลึกชาติในอนาคตได้อีก ๗ ชาติ ที่กระหม่อมฉันจุติจากดาวดึงพิภพนั้นแล้ว จักไปเกิดต่อไป กุศลที่กระหม่อมฉันทำไว้ในเมืองโกสัมพีตามมาให้ผล กระหม่อมฉันจุติจากดาวดึงส์พิภพนั้นแล้ว ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์

ข้าแต่พระมหาราชา กระหม่อมฉันเป็นผู้อันชนทั้งหลายสักการะแล้วเป็นนิตย์ตลอด ๗ ชาติ กระหม่อมฉันไม่พ้นจากความเป็นหญิงตลอด ๖ ชาติ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐชาติที่ ๗ กระหม่อมฉันจักได้เกิดเป็นเทวดาผู้ชาย เป็นเทพบุตร ผู้มีฤทธิ์มาก เป็นผู้สูงสุดในหมู่เทวดา แม้วันนี้นางอัปสรทั้งกลายก็ยังร้อยดอกไม้เป็นพวงมาลัยอยู่ในนันทนวัน เทพบุตรนามว่าชวะสามีกระหม่อมฉัน ยังรับพวงมาลัยอยู่ ๑๖ ปีในมนุษย์นี้ราวครู่หนึ่งของเทวดา ๑๐๐ ปีในมนุษย์เป็นคืนหนึ่งวันหนึ่งของเทวดา ดังที่ได้กราบทูลให้ทรงทราบมานี้ กรรมทั้งหลายย่อมติดตามไปทุกๆ ชาติ แม้ตั้งอสงไขยด้วยว่ากรรมจะ เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่ให้ผล ย่อมไม่พินาศไป

แล้วจึงตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ เพราะผลแห่งกรรมที่หม่อมฉันทำชู้กับภรรยาของคนอื่น หม่อมฉันจึงหมกไหม้ในนรก แล้วเสวยทุกข์อย่างใหญ่ใน กำเนิดสัตว์เดียรฉาน ถ้าแม้บัดนี้ พระองค์ทรงเชื่อถ้อยคำของคุณาชีวก จักกระทำอย่างนี้ พระองค์ก็จักเสวยทุกข์ เหมือนที่หม่อมฉันเสวยแล้วนั่นแล เพราะเหตุนั้นพระองค์อย่าได้ทรงกระทำอย่างนั้นเลย

ลำดับนั้น พระนางรุจาราชธิดา เมื่อจะทรงแสดงธรรมให้ยิ่งขึ้นไปแก่พระราชบิดานั้นจึงตรัสว่า

ชายใดปรารถนาเป็นบุรุษทุกๆ ชาติไป ก็พึงเว้นภรรยาผู้อื่นเสีย เหมือนบุคคลล้างเท้าสะอาดแล้วเว้นจากเปือกตม ฉะนั้น

หญิงใดปรารถนาเป็นบุรุษทุกๆ ชาติไป ก็พึงยำเกรงสามี เหมือนนางเทพอัปสรผู้เป็นบาทบริจาริกายำเกรงพระอินทร์ ฉะนั้น

ผู้ใดปรารถนา โภคทรัพย์ อายุ ยศและสุขอันเป็นทิพย์ก็พึงเว้นบาปทั้งหลาย ประพฤติแต่สุจริตธรรม ๓ อย่าง

สตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ควรเป็นผู้ไม่ประมาทด้วยกาย วาจา ใจ มีปัญญาเครื่องพิจารณาเพื่อประโยชน์ของตน

นรชน เหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกนี้ ที่เป็นคนมียศ มีโภคทรัพย์ บริบูรณ์ทุกอย่าง นรชนเหล่านั้นได้สั่งสมกรรมดีไว้ ในปางก่อนแล้วโดยไม่ต้องสงสัย สัตว์ทั้งปวงล้วนมีกรรมเป็นของตัว

ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์ทรงพระราชดำริด้วยพระองค์เองเถิด ข้าแต่พระจอมชน พระสนมผู้ทรงโฉมงดงามปานดังนางเทพอัปสร ผู้ประดับประดาคลุมกายด้วยตาข่ายทองเหล่านี้ พระองค์ทรงได้มาเพราะผลแห่งกรรมอะไร

พระนางรุจาราชธิดา ได้ทูลเล่าถึงชาติที่ตนเกิดมาแล้วในอดีต และแสดงธรรมถวายแด่พระชนกนาถ ตั้งแต่เช้าตลอดคืนยังรุ่งแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พระองค์อย่าทรงถือถ้อยคำของคนเปลือยกาย ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิเลย โลกนี้มี โลกหน้ามี สมณพราหมณ์มี ผลของความดีความชั่ว ก็มี ขอพระองค์จงทรงเชื่อฟังคำของกัลยาณมิตร เช่นกระหม่อมฉันกล่าวนี้เถิด อย่าได้ทรงแล่นไปในที่มิใช่ท่าเลย

แม้เมื่อพระนางรุจาราชธิดา กราบทูลถึงอย่างนี้ ก็ไม่อาจปลดเปลื้องพระชนกจากมิจฉาทิฏฐิได้ ส่วนพระเจ้าอังคติราช ทรงสดับวาจาอันไพเราะ ของพระราชธิดานั้นแล้ว ทรงปลื้มพระราชหฤทัย จริงอยู่ มารดาบิดา ย่อมรักเอ็นดูถ้อยคำของบุตรที่รัก แต่คำพูดนั้นหาทำให้บิดาละมิจฉาทิฏฐิได้ไม่

แม้ชาวพระนครก็ลือกันกระฉ่อนว่า พระนางรุจาราชธิดาทรงแสดงธรรมหวังจะให้พระชนกละมิจฉาทิฏฐิ มหาชนพากันดีใจว่า พระราชธิดาเป็นบัณฑิต ปลดเปลื้องมิจฉาทิฏฐิพระชนกได้แล้ว จักถึงความสวัสดีแก่ชาวพระนครทั้งหลาย

พระนางรุจาราชธิดา เมื่อไม่อาจปลุกพระชนกให้ตื่นได้ ก็ไม่ทรงละความพยายามเลย ทรงดำริหาช่องทางต่อไปว่า จักหาอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง มากระทำความสวัสดีแก่พระชนก แล้วประคองอัญชลีกรรมขึ้นเหนือพระเศียร นมัสการทิศทั้ง ๑๐ แล้วทรงอธิษฐานว่า

ในโลกนี้ ย่อมมีสมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม มีท้าวโลกบาล ท้าวมหาพรหมเป็นผู้บริหารโลก ข้าพเจ้าขอเชิญท่านเหล่านั้นมาปลดเปลื้องมิจฉาทิฏฐิของพระชนกนาถของข้าพเจ้าด้วย เมื่อพระคุณของพระชนกนาถไม่มี ขอเชิญด้วยคุณกำลังและด้วยความสัจของข้าพเจ้า จงมาช่วยปลดเปลื้องความเห็นผิดนี้ จงได้มาทำความสวัสดีแก่สากลโลก

ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ได้เป็นมหาพรหมนามว่า นารทะ ก็ธรรมดาพระโพธิสัตว์มีอัธยาศัยใหญ่ด้วยเมตตาภาวนา เที่ยวตรวจดูโลกตามกาลอันสมควร เพื่อจะดูเหล่าสัตว์ผู้ปฏิบัติดีและปฏิบัติชั่ว ในวันนั้น ท่านตรวจดูโลก เห็นพระนางรุจาราชธิดานั้น กำลังนมัสการเหล่าเทวดาผู้บริหารโลก เพื่อจะปลดเปลื้องพระชนกนาถจากมิจฉาทิฏฐิ จึงมาดำริว่า คนอื่นเว้นเราเสีย ย่อมไม่ สามารถเพื่อจะปลดเปลื้องมิจฉาทิฏฐิของพระเจ้าอังคติราชนั้นได้ วันนี้เราควรจะไปกระทำการสงเคราะห์ราชธิดาและกระทำความสวัสดีแก่พระราชาพร้อมด้วยบริวารชน แต่จะไปด้วยเพศอะไรดีหนอ เห็นว่า เพศบรรพชิตเป็นที่รักเป็นที่เคารพ มีวาจาเป็นที่เชื่อฟัง ยึดถือของพวกมนุษย์ เพราะฉะนั้น เราจะไปด้วย เพศบรรพชิต

ครั้นตกลงใจฉะนี้แล้ว ก็แปลงเพศเป็นมนุษย์ มีวรรณะดังทองคำ น่าเลื่อมใส ผูกชฏามณฑลอันงามจับใจ ปักปิ่นทองไว้ในระหว่างชฏา นุ่งผ้าพื้นแดงไว้ภายใน ทรงผ้าเปลือกไม้ ย้อมฝาดไว้ภายนอก กระทำเฉวียงบ่าผ้าหนังเสือ อันแล้วไปด้วยเงิน ซึ่งขลิบด้วยดาวทอง แล้วเอาภิกขาภาชนะทองใส่สาแหรก อันประดับด้วยมุกดาข้าง ๑ เอาคนโทน้ำแก้วประพาฬใส่ในสาแหรกอีกข้าง ๑ เสร็จแล้วก็ยกคานทองอันงามงอนขึ้นวางเหนือบ่า แล้วเหาะมาโดยอากาศ ด้วยเพศแห่งฤๅษีนี้ ไพโรจน์โชติช่วงประหนึ่งพระจันทร์ เพ็ญลอยเด่นบนพื้นอากาศ เข้าสู่พื้นใหญ่แห่งจันทกปราสาท ได้ยืนอยู่ ณ เบื้องพระพักตร์พระเจ้าอังคติราช

ในกาลนั้น พระนางรุจาราชธิดาเห็นนารทฤๅษีนั้นมาถึง ก็ทรงยินดีร่าเริงว่า ท้าวเทวราชนั้น จักมาทำความกรุณาในพระชนกนาถของเรา ด้วยความอนุเคราะห์แก่เรา ดังนี้จึงน้อมกายลงนมัสการนารทมหาพรหม เหมือนต้นกล้วยทองที่ถูกลมพัดต้องฉะนั้น

ฝ่ายพระราชา พอเห็นนารทมหาพรหม ถูกเดชแห่งพรหมคุกคามแล้ว ไม่สามารถจะทรงดำรงอยู่บนราชอาสน์ขอพระองค์ได้ จึงเสด็จลงจากราชอาสน์ ประทับยืนอยู่ที่พื้น แล้วตรัสถามพระนารทะถึงเหตุที่เสด็จมา และนามและโคตร

ลำดับนั้น นารทฤๅษี คิดว่า พระราชานี้สำคัญว่า ปรโลกไม่มี เราจักถามเฉพาะปรโลกแก่พระราชานั้นก่อน ดังนี้แล้วจึงกล่าวว่า อาตมภาพมาจากเทวโลกเดี๋ยวนี้เอง ส่องรัศมีสว่างจ้าไปทั่วทิศดังพระจันทร์ มหาบพิตรตรัสถามแล้ว อาตมภาพขอถวายพระพร นามและโคตรให้ทรงทราบ คนทั้งหลายเขารู้จักอาตมภาพ โดยนามว่า นารทะ และโดยโคตรว่ากัสสปะ

ลำดับนั้น พระเจ้าอังคติราชทรงพระดำริว่า เรื่องปรโลกเราจักไว้ถามภายหลัง เราจักถามถึงเหตุที่เธอได้ฤทธิ์เสียก่อน แล้วจึงตรัสว่า การที่ท่านเหาะไป และยืนอยู่บนอากาศได้น่าอัศจรรย์ ดูก่อนท่านนารทะ ข้าพเจ้าขอถามความนี้กะท่าน เออ เพราะเหตุอะไร ท่านจึงมีฤทธิ์เช่นนี้

ลำดับนั้น ท่านนารทฤๅษีจึงทูลว่า คุณธรรม ๔ ประการนี้คือ สัจจะ ๑ ธรรมะ ๑ ทมะ ๑ จาคะ ๑ อาตมภาพได้ทำไว้ในภพก่อน เพราะคุณธรรมที่อาตมภาพเสพมาดีแล้วนั้นนั่นแล อาตมภาพจึงไปไหนๆ ได้ตามความปรารถนาเร็วทันใจ

แม้เมื่อพระโพธิสัตว์กราบทูลอย่างนี้ พระเจ้าอังคติราชก็ไม่ทรงเชื่อปรโลก เพราะทรงยึดถือมิจฉาทิฏฐิเสียมั่นดีแล้ว จึงตรัสว่า ผลของบุญมีอยู่หรือ เมื่อท่านบอกความสำเร็จแห่งบุญ ชื่อว่าท่านบอกความอัศจรรย์ ถ้าเป็นจริงอย่างท่านกล่าว ดูก่อน ท่านนารทะ ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้กะท่าน ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงพยากรณ์ให้ดี

นารทฤๅษีจึงทูลว่า ขอถวายพระพร ข้อใดพระองค์ทรงสงสัย เชิญมหาบพิตรตรัสถามข้อนั้นกะอาตมภาพเถิด อาตมภาพ จะถวายวิสัชนาให้มหาบพิตรทรงสิ้นสงสัยด้วยนัย ด้วยญายธรรม และด้วยเหตุทั้งหลาย

ดูก่อนท่านนารทะ ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้กะท่าน ท่านถูกถามแล้วอย่าได้กล่าวมุสากะข้าพเจ้า ที่คนพูดกันว่า เทวดามี มารดาบิดามี ปรโลกมีนั้น เป็นจริงหรือ

พระนารทฤๅษีจึงกราบทูลว่า เขาพูดกันว่า เทวดามี มารดาบิดามี และปรโลกมี นั้นเป็นจริงทั้งนั้น แต่นรชนผู้หลงงมงายใคร่ ในกามทั้งหลาย จึงไม่รู้ปรโลก

พระเจ้าอังคติราชได้ทรงสดับดังนั้น จึงทรงพระสรวลตรัสว่า ดูก่อนนารทะ ถ้าท่านเชื่อว่าปรโลกมีจริง สถานที่อยู่ในปรโลกของเหล่าสัตว์ผู้ตายไปแล้วก็ต้องมี ท่านจงให้ทรัพย์ ๕๐๐ กหาปณะแก่ข้าพเจ้าในโลกนี้ ข้าพเจ้าจะใช้ให้ท่านหนึ่งพันกหาปณะในปรโลก

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ เมื่อจะกล่าวติเตียนในท่ามกลางบริษัทจึงทูลว่า ถ้าอาตมภาพรู้ว่ามหาบพิตรทรงมีศีล ทรงรู้ความ ประสงค์ของสมณพราหมณ์ อาตมภาพก็จะให้มหาบพิตรทรงยืมสัก ๕๐๐ แต่มหาบพิตรหยาบช้า ทรงจุติจากโลกนี้แล้ว จะต้องไปอยู่ในนรก ใครจะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลกเล่า ผู้ใดในโลกนี้เป็นผู้ไม่มีศีลธรรม ประพฤติชั่วเกียจคร้าน มีกรรมอันหยาบช้า บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่ให้หนี้ในผู้นั้น เพราะจะไม่ได้ทรัพย์คืนจากคนเช่นนั้น ส่วนบุคคลผู้ขยันหมั่นเพียร มีศีล รู้ความประสงค์ คนทั้งหลายรู้แล้ว ย่อมเอาโภคทรัพย์มาเชื้อเชิญเอง ด้วยคิดว่า ผู้นี้ทำการงานเสร็จแล้ว พึงนำมาใช้ให้

พระเจ้าอังคติราชอันพระนารทฤๅษีกล่าวตำหนิด้วยประการฉะนี้ ก็หมดปฏิภาณที่จะตรัสโต้ตอบ มหาชนต่างพากันร่าเริงยินดี เล่าลือกันทั่วพระนคร ว่า วันนี้ท่านนารทฤๅษีผู้เป็นเทพมีฤทธิ์มาก ปลดเปลื้องมิจฉาทิฏฐิพระเจ้าอยู่หัวได้ ด้วยอานุภาพของพระมหาสัตว์ ชนชาวมิถิลาผู้อยู่ไกลแม้ตั้งโยชน์ ก็ได้ยินพระธรรมเทศนาของพระมหาสัตว์ในขณะนั้นด้วยกันทุกคน

Image

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงคิดว่า พระราชานี้ยึดมิจฉาทิฏฐิเสียมั่นแล้ว จำเราจะต้องคุกคามด้วยภัยในนรก ให้ละมิจฉาทิฏฐิ แล้วให้ยินดีในเทวโลกอีกภายหลัง ดังนี้จึงกราบทูลว่า ขอถวายพระพร ถ้าพระองค์ยังไม่ทรงละทิฏฐิไซร้ ก็จักต้องเสด็จสู่นรกซึ่งเต็มไปด้วยทุกขเวทนา แล้วเริ่มกล่าวนิรยกถาว่า

ขอถวายพระพร มหาบพิตรเสด็จไปจากที่นี่แล้ว จักทอดพระเนตรเห็นพระองค์เองอยู่ในนรกนั้น ซึ่งถูกฝูงการุมยื้อแย่งฉุดคร่าอยู่ ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลก กะมหาบพิตรผู้ตกอยู่ในนรก ถูกฝูงกา ฝูงแร้ง ฝูงสุนัข รุมกัดกิน ตัวขาด กระจัดกระจาย เลือดไหลโทรม

ครั้นพระนารทฤๅษี พรรณนาถึงนรกอันเต็มไปด้วยฝูงกาและ นกเค้าแก่ท้าวเธอแล้ว จึงกราบทูลว่า ถ้าพระองค์ไม่ไปเกิดในที่นั้น ก็จักบังเกิดในโลกันตนรก เพื่อจะทูลชี้แจงโลกันตนรกนั้นถวายจึงกล่าวว่า

ในโลกกันตนรกนั้นมืดที่สุด ไม่มีพระจันทร์และ พระอาทิตย์ โลกันตรกมืดตื้ออยู่ทุกเมื่อ น่ากลัว กลาง คืนกลางวัน ไม่ปรากฏ ผู้ต้องการทรัพย์คนไรเล่า จะพึงเที่ยวไปในสถานที่เช่นนั้นได้



>>>>> มีต่อ หน้า ๕
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 16 พ.ย.2006, 12:20 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ครั้นพระนารทฤๅษีพรรณนาโลกันตนรกนั้นถวายแล้ว จึงทูลชี้แจงต่อไปว่า ขอถวายพระพร ถ้าพระองค์ยังไม่ทรงละมิจฉาทิฏฐิ ก็จักต้องได้รับทุกขเวทนาแม้อื่นๆ อีกไม่สิ้นสุด แล้วกล่าวว่า

ในโลกนตนรกนั้น มีสุนัขอยู่ ๒ เหล่า คือด่างเหล่า ๑ ดำเหล่า ๑ ล้วนมีร่างกายกำยำล่ำสันแข็งแรง ย่อมพากันมากัดกิน ผู้ที่จุติจากมนุษยโลกนี้ ไปตกอยู่ในโลกันตนรกด้วยเขี้ยวเหล็ก ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลกกะมหาบพิตร ผู้ตกอยู่ในนรก ถูกสุนัขอันทารุณร้ายกาจ นำทุกข์มาให้ รุมกัดกินตัวขาดกระจัดกระจาย เลือดไหลโทรมได้

และในนรกอันร้ายกาจ พวกนายนิรยบาลชื่อ กาลูปกาละ พากันเอาดาบและหอกอันคมกริบทิ่มแทงนรชนผู้ทำกรรมชั่วไว้ในภพก่อน

ในโลกันตนรกนั้น มีห่าฝนต่างๆ ชนิด คือ หอก ดาบ แหลน หลาวมีประกายวาวดังถ่านเพลิง ตกลงบนศีรษะ สายอัสนีศิลาอันแดงโชนตกต้องสัตว์ นรกผู้มีกรรมหยาบช้า และในนรกนั้นมีลมร้อนยากที่จะทนได้ สัตว์ในนรกนั้น ย่อมไม่ได้รับความสุขแม้แต่น้อย ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลก กะมหาบพิตรซึ่ง ทรงกระสับกระส่ายวิ่งไปมาหาที่ซ่อนเร้นมิได้

ใครเล่า จะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลก กะ มหาบพิตรผู้ถูกเทียมในรถวิ่งไปวิ่งมา ต้องเหยียบแผ่นดินอันลุกโพลง ถูกแทงด้วยประตักอยู่ได้

ใครเล่า จะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลก กะ มหาบพิตรซึ่งทนไม่ได้ วิ่งไปขึ้นภูเขาอันดาดไปด้วย ขวากกรด ลุกโชนน่าสยดสยองอย่างยิ่ง ตัวขาดกระจัดกระจายเลือดไหลโทรมได้

ใครเล่า จะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลกกะมหาบพิตร ผู้อดทนการประหารด้วยอาวุธอันลุกโชนไม่ได้ แล้ววิ่งขึ้นสู่ภูเขาอันล้วนแล้ว ด้วยโลหะอันลุกโชน ดารดาษไปด้วยคมดาบหอกอันลุกโชน ใครเล่า จะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลก กะ มหาบพิตร ซึ่งต้องวิ่งเหยียบกองถ่านเพลิงเท่าภูเขา ลุกโพลงน่ากลัว มีตัวถูกไฟไหม้ทนไม่ไหว ร้องครวญครางอยู่ได้

ใครเล่า จะไปทวงทรัพย์จำนวนนั้นกะมหาบพิตร ซึ่งต้องขึ้นต้นงิ้วในนรกเลือดไหลเปรอะเปื้อน มีกายเหี้ยมเกรียม หนังปอกเปิกกระสับกระส่าย เสวยเวทนาอย่างหนัก ใครเล่าจะไปขอทรัพย์จำนวนเท่านั้นกะ พระองค์ผู้หอบแล้วหอบอีก อันเป็นโทษของบุรพกรรม หนังปอกเปิก เดินทางผิดได้

ใครเล่า จะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลก กะมหาบพิตร ซึ่งขึ้นอยู่บนต้นงิ้วนั้น ก้าวไปเหยียบใบ เหล็กอันคมดังดาบ ก็ถูกใบงิ้วอันคมนั้นบาด มีตัวขาดกระจัดกระจายเลือดไหลโทรมได้

ใครเล่า จะไปทวงทรัพย์จำนวนเท่านั้น กะมหาบพิตร ซึ่งเดินหนีออกจากขุมนรกไม้งิ้ว มีใบเป็นดาบ ไปพลัดตกลงในแม่น้ำเวตรณีอันมีน้ำเป็นกรด เผ็ดร้อน ยากที่จะข้ามได้ ดาดาษไปด้วยบัวเหล็กใบคมกริบไหลอยู่

ใครเล่า จะไปทวงทรัพย์นั้นกะมหาบพิตร ซึ่ง มีตัวขาดกระจัดกระจาย เปรอะเปื้อนไปด้วยโลหิต ลอยอยู่ในเวตรณีนทีนั้น หาที่เกาะมิได้

ส่วนพระเจ้าอังคติราช ได้ทรงสดับนิรยกถาของพระมหาสัตว์นี้ ก็มีพระหฤทัยสลด เมื่อจะทรงแสวงหาที่พึ่งกะพระมหาสัตว์ จึงตรัสว่า ข้าพเจ้าแทบจะล้มเหมือนต้นไม้ที่ถูกตัด ข้าพเจ้าหลงสำคัญผิดจึงไม่รู้จักทิศ

ท่านฤๅษี ข้าพเจ้าได้ฟัง คาถาภาษิตของท่านแล้ว ย่อมร้อนใจ เพราะกลัวมหาภัย ท่านฤๅษี ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า ประหนึ่งน้ำสำหรับแก้กระหายในเวลาร้อน เกาะเป็นที่อาศัยในห้วงมหาสมุทร และประทีปสำหรับส่องสว่าง ในที่มืดฉะนั้นเถิด

ท่านฤๅษี ขอท่านจงสอนอรรถและธรรมแก่ข้าพเจ้า ในกาลก่อนข้าพเจ้าได้กระทำความผิดไว้ส่วนเดียว ข้าแต่พระนารทะ ขอท่านจงบอกทางบริสุทธิ์แก่ข้าพเจ้า โดยข้าพเจ้าจะไม่พึงตกไปในนรกด้วยเถิด

Image

ครั้นเมื่อพระมหาสัตว์ ทูลบอกทางอันบริสุทธิ์แก่พระเจ้าอังคติราชนั้น เมื่อจะแสดงซึ่งข้อปฏิบัติชอบของพระราชาในปางก่อน โดยยกเป็นอุทาหรณ์ จึงกล่าวว่า พระราชา ๖ พระองค์นี้ คือ ท้าวธตรฐ ท้าวเวสสามิตร ท้าวอัฏฐกะ ท้าวยมทัตติ ท้าวอุสสินนระ ท้าวสิวิราชและพระราชาพระองค์อื่นๆ ได้ทรงบำรุงสมณพราหมณ์ทั้งหลายแล้วเสด็จไปยังสวรรค์ ฉันใด ดูก่อนมาบพิตรผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แม้มหาบพิตร ก็ฉันนั้น จงทรงเว้นอธรรม แล้วทรงประพฤติธรรม

ราชบุรุษทั้งหลายจงถืออาหารไปประกาศภายในพระราชนิเวศน์ และภายในพระนครว่า ใครหิว ใคร กระหาย ใครปรารถนามาลา ใครปรารถนาเครื่องลูบไล้ ใครไม่มีผ้านุ่งห่ม จงนุ่งห่มผ้าสีต่างๆ ตามปรารถนา ใครต้องการร่ม ใครต้องการรองเท้า อย่างเนื้ออ่อน อย่างดี ราชบุรุษทั้งหลายจงประกาศดังนี้ ในพระนครของพระองค์ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า มหาบพิตรอย่าได้ใช้ คนแก่เฒ่า และโคม้าอันแก่ชราเหมือนดังก่อน และ จงทรงพระราชทาน เครื่องบริหารแก่บุคคลที่เป็นกำลัง เคยกระทำความดีไว้เท่าเดิมเถิด

พระมหาสัตว์ครั้นแสดงทานกถาและศีลกถาแล้ว บัดนี้เพราะเหตุที่พระราชานี้ ย่อมยินดีในพรรณนาโดยเปรียบเทียบด้วยรถในอัตภาพของตน เพราะเหตุดังนี้นั้นเมื่อจะแสดงธรรมโดยเปรียบเทียบด้วยรถอันให้ความใคร่ทั้งปวงจึงกล่าวว่า

มหาบพิตรจงทรงสำคัญพระวรกายของพระองค์ว่าเป็นดังรถ
อันมีใจเป็นสารถี กระปรี้กระเปร่า (เพราะปราศจากถิ่นมิทธะ)
อันมีอิหิงสาเป็นเพลาที่เรียบร้อยดี
มีการบริจาคเป็นหลังคา

มีการสำรวมเท้าเป็นกง
มีการสำรวมมือเป็นกระพอง
มีการสำรวมท้องเป็นน้ำมันหยอด
มีการสำรวมวาจาเป็นความเงียบสนิท

มีการกล่าวคำสัตย์เป็นองค์รถอันบริบูรณ์
มีการกล่าวคำไม่ส่อเสียดเป็นการเข้าหน้าไม้สนิท
มีการกล่าวคำอ่อนหวานเป็นเครื่องรถอันเกลี้ยงเกลา
มีการกล่าวพอประมาณเป็นเครื่องผูกรัด

มีศรัทธาและอโลภะเป็นเครื่องประดับ
มีการถ่อมตนและกราบไหว้เป็นทูบ
มีความไม่กระด้างเป็นงอนรถ
มีการสำรวมศีลเป็นเชือกขันชะเนาะ

มีความไม่โกรธเป็นอาการไม่กระเทือน
มีกุศลธรรมเป็นเศวตฉัตร
มีพาหุสัจจะ เป็นสายทาบ
มีการตั้งจิตมั่นเป็นที่มั่น

มีความคิด เครื่องรู้จักกาลเป็นไม้แก่น
มีความแกล้วกล้าเป็นไม้ค้ำ
มีความประพฤติถ่อมตนเป็นเชือกขันแอก
มีความไม่เย่อหยิ่งเป็นแอกเบา

มีจิตไม่หดหู่เป็นเครื่องลาด
มีการเสพบุคคลผู้เจริญเป็นเครื่องกำจัดธุลี
มีสติของนักปราชญ์เป็นประตัก
มีความเพียรเป็นสายบังเหียน

มีใจที่ฝึกฝนดีแล้วเช่นดังม้าที่หัดไว้เรียบเป็นเครื่องนำทาง
ความปรารถนาและความโลภเป็นทางคด
ส่วนความสำรวมเป็นทางตรง ขอถวายพระพร
ปัญญาเป็น เครื่องกระตุ้นเตือนม้า


ในรถคือพระวรกายของมหาบพิตรที่กำลังแล่นไปในรูป เสียง กลิ่น รส พระองค์นั้นแลเป็นสารถี ถ้าความประพฤติชอบและความเพียรมั่นมีอยู่ด้วยยานนี้ รถนั้นจะให้สิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่าง จะไม่นำไปบังเกิดในนรก

ครั้นพระนารทฤๅษีแสดงธรรมถวายพระเจ้าอังคติราช ให้ทรงละมิจฉาทิฏฐิ ให้ตั้งอยู่ในศีลอย่างนี้แล้ว จึงถวายโอวาทกะพระราชาว่า ตั้งแต่นี้ไป พระองค์จงละปาปมิตร เข้าไปใกล้กัลยามิตร อย่าทรงประมาทเป็นนิตย์ ดังนี้ แล้วพรรณนาคุณของพระนางรุจาราชธิดา ให้โอวาทแก่ราชบริษัทและทั้งนางใน เมื่อมหาชนเหล่านั้นกำลังดูอยู่นั้นแลได้กลับไปสู่พรหมโลก ด้วยอานุภาพอันใหญ่

พระเจ้าอังคติราช ทรงตั้งอยู่ในโอวาทของพรหมนารทะ ละมิจฉาทิฏฐิ บำเพ็ญบารมีทานเป็นต้น ได้เป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้วจึงตรัสว่า ภิกษุทั้ง หลาย ไม่ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนเราก็ทำลายข่ายคือ ทิฏฐิแล้ว จึงทรมานอุรุเวลกัสสปะนั่นเอง

เมื่อจะประชุมชาดก จึงได้ตรัสในตอนจบว่า อลาตเสนาบดีเป็นพระเทวทัต สุนามอำมาตย์ เป็นพระภัททชิ วิชยอำมาตย์เป็นพระสารีบุตร คุณาชีวกผู้อเจลกเป็น สุนักขัตตะลิจฉวีบุตร พระนางรุจาราชธิดา ผู้ทรงยังพระราชาให้เลื่อมใส เป็นพระอานนท์ พระเจ้าอังคติราช ผู้มีทิฏฐิชั่วในกาลนั้นเป็นพระอุรุเวลกัสสปะ มหาพรหมโพธิสัตว์เป็นเราตถาคต ท่านทั้งหลายจงทรงจำชาดกไว้ด้วยประการฉะนี้แล


ดอกไม้ คติธรรม : บำเพ็ญอุเบกขาบารมี

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ทำดีย่อมได้ดี ทำผิดบาปย่อมได้ชั่วช้าสามานย์เป็นผลตอบ และการคบมิตรสหายนั้นก็จะส่งผลดีเลวแก่ตัวบุคคลนั้นด้วย




>>>>> จบ >>>>>



........................................................

คัดลอกมาจาก
http://www.dharma-gateway.com/
http://www.larnbuddhism.com/
http://www.learntripitaka.com/
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง