Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา (พระมหาสมศักดิ์ ญาณโพโธ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 22 ก.ย. 2006, 7:25 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๑๐. คำสอนของพระพุทธเจ้า

ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา นับตั้งแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์แทบไม่มีเวลาพักผ่อนเลย เรียกได้ว่าชีวิตของพระพุทธเจ้าเป็นอยู่เพื่อชาวโลก เพื่อช่วยเหลือสัตว์โลกอย่างแท้จริง พระองค์ได้แสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ให้รอดพ้นจากทุกข์ด้วยความหมดจดจากกิเลส คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นเมื่อรวมทั้งสิ้นก็ได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ หรือที่เรารู้เรียกกันว่า พระไตรปิฎก ซึ่งก็แบ่งออกเป็น ๓ ปิฎกด้วยกันคือ

๑. พระวินัยปิฎก มี ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
๒. พระสุตตันตปิฎก มี ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
๓. พระอภิธรรมปิฎก มี ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

พระวินัยปิฎก

พระวินัยปิฎก เป็นธรรมที่แสดงถึงเรื่องระเบียบ หรือกฎข้อบังคับ วางหลักให้ประพฤติปฏิบัติเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามเปรียบเหมือนกับดอกไม้ที่เขานำมาร้อยเอาไว้มิให้กระจัด กระจาย ผู้ที่มิได้ประพฤติตามกฎเกณฑ์ข้อบังคับหรือล่วงละเมิดก็ย่อมถูกลงโทษตามสมควร พระวินัยปิฎกนี้มีอยู่ ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แยกออกเป็น ๕ คัมภีร์ด้วยกัน คัมภีร์ทั้ง ๕ นี้มีชื่อย่อเพื่อให้จำง่ายๆ โดยเอาพยางค์หน้ามาตั้งชื่อว่า อา. ปา. มะ. จุ. ปะ. ได้แก่

๑. อาทิกัมมิกะ (มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า มหาวิภังค์) ว่าด้วยข้อห้ามหรือวินัยที่เป็นหลักใหญ่ๆ ของภิกษุ

๒. ปาจิตตีย์ (มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ภิกขุนีวิภังค์) ว่าด้วยข้อห้ามหรือวินัยของนางภิกษุณี

๓. มหาวรรค ว่าด้วยพุทธประวัติตอนแรก และพิธีกรรมทางพระวินัย

๔. จุลวรรค ว่าด้วยพิธีกรรมทางพระวินัยและความเป็นมาของนางภิกษุณี และประวัติการทำสังคายนา

๕. บริวาร ว่าด้วยข้อเบ็ดเตล็ดทางพระวินัย

พระวินัยปิฎก เป็นธรรมที่แสดงถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อยหรือกฎข้อบังคับ พระพุทธเจ้าทรงวางหลักให้ภิกษุสงฆ์ประพฤติปฏิบัติเพื่อความสวยงามของหมู่คณะ ผู้ที่ฝ่าฝืนประพฤติผิดตามกฎเกณฑ์ข้อบังคับของพระวินัย หรือล่วงละเมิดก็ย่อมถูกลงโทษตามสมควรแก่โทษานุโทษ พระวินัยปิฎกนั้นพระองค์ทรงบัญญัติขึ้นก็ด้วยอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการคือ

๑. สงฺฆสุฏฺฐุตาย เพื่อความยอมรับว่าดีแห่งสงฆ์
๒. สงฺฆผาสุตาย เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งสงฆ์
๓. ทุมฺมงฺกูนํ ปุคฺคลานํ นิคฺคหาย เพื่อข่มบุคคลผู้ไม่รู้จักอาย
๔. เปสลานํ ภิกขูนํ ผาสุวิหาราย เพื่อความอยู่อย่างผาสุกของภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก
๕. ทิฏฺฐธมฺมิกานํ อาสวานํ สํวราย เพื่อปิดกั้นเรื่องเสื่อมเสียไม่ให้เกิดในปัจจุบัน
๖. สมฺปรายิกานํ อาสวานํ ปฏิฆาตาย เพื่อป้องกันเรื่องเสื่อมเสียมิให้เกิดขึ้นในอนาคต
๗. อปฺปสนฺนานํ ปสาทาย เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสแก่บุคคลผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส
๘. ปสนฺนานํ ภิยฺโย ภาวาย เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสยิ่งขึ้นแก่บุคคลผู้ที่เลื่อมใสอยู่แล้ว
๙. สทฺธมฺมฏฺฐิติยา เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม
๑๐. วินยานุคฺคหาย เพื่อความอนุเคราะห์แก่พระวินัย

พระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตปิฎก เป็นธรรมที่แสดงถึงเรื่องที่เกี่ยวกับสมมติสัจจะ อันเป็นความจริงส่วนหนึ่งสำหรับชาวโลก เป็นธรรมที่ยกสัตว์บุคคลเข้ามาเป็นที่ตั้ง เพื่อสรรสร้างให้บังเกิดความประพฤติที่ดีงาม อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความเรียบร้อย มีอยู่ ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสุตตันปิฎกนี้บางทีก็เรียกกันสั้นๆ ว่า พระสูตร ซึ่งจำแนกออกเป็น ๕ นิกาย(๑) ด้วยกัน นิกายทั้ง ๕ นี้มีชื่อย่อเพื่อให้จำกันง่ายๆ โดยเอาพยางค์หน้ามาตั้งว่า ที. มะ. สัง. อัง. ขุ. ได้แก่

๑. ทีฆนิกาย ว่าด้วยพระสูตรหรือพระธรรมเทศนาขนาดยาว

๒. มัชฌิมนิกาย ว่าด้วยพระสูตรหรือพระธรรมเทศนาขนาดกลางไม่ยาวหรือสั้นเกินไป

๓. สังยุตตนิกาย ว่าด้วยพระสูตรหรือพระธรรมเทศนาอันประมวลธรรมะ หรือเรื่องราวไว้เป็นพวกๆ เช่นว่าด้วยพระมหากัสสปะ เรียกว่า กัสสปสังยุต ว่าด้วยเหตุการณ์เรื่องราวในแคว้นโกศล เรียกว่า โกสลสังยุต ว่าด้วยมรรค (ข้อปฏิบัติ) เรียกว่า มัคคสังยุต

๔. อังคุตตรนิกาย ว่าด้วยพระสูตรหรือพระธรรมเทศนาเป็นข้อๆ ตามลำดับจำนวน เช่น ธรรมะหมวด ๑, ธรรมะหมวด ๒, ธรรมะหมวด ๓ แต่ละข้อก็มีจำนวน ๑, ๒ หรือ ๓ ตามหมวดนั้นๆ

๕. ขุททกนิกาย ว่าด้วยพระสูตรหรือพระธรรมเทศนาเบ็ดเตล็ด รวมทั้งภาษิตของพระสาวก, ประวัติต่างๆ และชาดก

พระอภิธรรมปิฎก

พระอภิธรรมปิฎก เป็นธรรมที่แสดงปรมัตถสัจจะ ปฏิเสธสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็น เนื้อความที่จริงแท้แน่นอน ไม่มีการแปรปรวนกลับกลอก ไม่ว่าเวลาไหนหรือที่ใด พระอภิธรรมปิฎกว่าด้วยเรื่องของสภาวธรรมที่เป็นความจริง เมื่อรู้แล้วทำให้เกิดปัญญาสามารถละกิเลสนำตนให้พ้นจากความทุกข์ได้ มีอยู่ ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ หรือที่เรียกว่า อภิธรรม ๗ คัมภีร์ คัมภีร์ทั้ง ๗ นี้มีชื่อให้เรียกสำหรับให้จำง่ายๆ ว่า สัง. วิ. ธา. ปุ. กะ. ยะ. ปะ. ได้แก่

๑. สังคณี ว่าด้วยการรวบรวมหมู่ธรรมะ คือธรรมะแม้จะมีมากเท่าใดก็อาจรวมหรือจัดเป็นประเภทๆ ได้เพียงไม่เกิน ๓ อย่าง

๒. วิภังค์ ว่าด้วยการแยกธรรมะออกเป็นข้อๆ เช่น เป็นขันธ์ ๕ เป็นต้น การแยกปรมัตถ
ธรรมออกเป็นส่วนๆ

๓. ธาตุกถา ว่าด้วยเรื่องของธาตุแห่งปรมัตถธรรม

๔. บุคคลบัญญัติ ว่าด้วยบัญญัติ บุคคล และปรมัตถ์

๕. กถาวัตถุ ว่าด้วยคำถาม - คำตอบ หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา

๖. ยมก ว่าด้วยหลักธรรมเป็นคู่ๆ

๗. มหาปัฏฐาน ว่าด้วยปัจจัย คือสิ่งสนับสนุน ๒๔ ประการ


.................................................................................

(๑) พระไตรปิฎกสำหรับประชาชน, สุชีพ ปุญญานุภาพ,
โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, พระนคร, พ.ศ. ๒๕๒๕, น. ๒๑

ดอกไม้ ความเป็นมาของพระไตรปิฎก (เสฐียรพงษ์ วรรณปก)
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=5399

ดอกไม้ การสังคายนาพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=47652

ดอกไม้ ดาวน์โหลดฟรี !!..พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=36115


มีต่อ >>> ๑๑. ลักษณะเด่นของพระพุทธศาสนา
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 22 ก.ย. 2006, 7:36 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๑๑. ลักษณะเด่นของพระพุทธศาสนา

อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ถือได้ว่าเป็นปราชญ์คนสำคัญยิ่งคนหนึ่งในวงการของพระพุทธศาสนาในยุครัตนโกสินทร์เท่าที่ชาวพุทธได้รู้จักมา และถือได้ว่าอาจารย์สุชีพเป็นแบบอย่างชาวพุทธที่ดีเยี่ยม เป็นผู้ที่ทำอุปการะคุณอันยิ่งใหญ่ต่อวงการของพระพุทธศาสนามากมายเหลือสุดจะคณานับ ชีวิตของท่านเป็นอยู่เพื่อพระพุทธศาสนาโดยแท้ นับได้ว่าเป็นปูชนียบุคคลทางพระพุทธศาสนา อาจารย์สุชีพได้สรุปลักษณะเด่นๆ ของพระพุทธศาสนาไว้มี ๔๕ ข้อ เท่ากับจำนวนพรรษาที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญจะขอนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ คือ

๑. แม้จะตัดความเชื่อในเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ออก ก็ไม่ทำให้พระพุทธศาสนากระทบกระเทือนอะไรแม้แต่น้อย เพราะพระพุทธศาสนามิได้มีรากฐานอยู่บนฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ หากแต่อยู่ที่เหตุผลและคุณงามความดีที่พิจารณาเห็นได้จริงๆ

๒. พระพุทธศาสนาเป็นตัวอย่างลัทธิประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดของโลก มีหลักการและวิธีการอันทันสมัยอยู่จนทุกวันนี้

๓. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแรกที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยสอนให้เลิกระบบทาส ไม่เอามนุษย์มาเป็นสินค้าสำหรับซื้อขาย ห้ามมิให้ภิกษุมีทาสไว้รับใช้ กับทั้งสอนให้เลิกทาสภายใน คือไม่เป็นทาสของความโลภ ความโกรธ ความหลง

๔. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแรกที่สอนให้มนุษย์เลิกดูหมิ่นเหยียดหยามกัน เพราะเรื่องถือชั้นวรรณะ เพราะเหตุแห่งชาติและวงศ์สกุล โดยตั้งจุดนัดพบกันไว้ที่ศีลธรรม ใครจะเกิดในสกุลสูงต่ำยากดีมีจนอย่างไรไม่เป็นประมาณ ถ้าตั้งอยู่ในศีลธรรมแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นคนดีที่ควรยกย่องสรรเสริญ ถ้าตรงกันข้ามคือล่วงละเมิดศีลธรรมแล้ว แม้จะเกิดในสกุลสูงก็นับได้ว่าเป็นคนพาลอันควรตำหนิ

๕. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแรกที่สอนปฏิวัติเรื่องการทำบุญ โดยงดเว้นวิธีฆ่าสัตว์หรือฆ่ามนุษย์บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน หากสอนให้ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์แทนการเบียดเบียน และสอนให้หาทางชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาดว่าเป็นบุญ

๖. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนลัดตัดตรงเข้าหาความจริง ให้กล้าสู้หน้ากับความจริง เช่นในเรื่องความเกิดแก่เจ็บตาย ให้หาประโยชน์จากความจริงนั้นให้ได้ รวมทั้งสอนอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องฤกษ์ยาม น้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น และการสอนให้เป็นเทวดาได้ในชีวิตนี้ โดยไม่ต้องรอให้ตายเสียก่อน ด้วยการแสดงธรรมที่ประพฤติปฏิบัติตามแล้วจะเป็นเทวดาในปัจจุบันชาติ

๗. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้แก้ความเสื่อมทางศีลธรรม โดยไม่มองข้ามปัญหาด้านเศรษฐกิจ สอนให้แก้ความชั่วด้วยความดี และสอนให้แก้ที่ตัวเราเองก่อนโดยไม่คอยเกี่ยงให้คนทั้งโลกดีหมดแล้ว เราจึงจะดีเป็นคนสุดท้าย แม้ในการสอนให้มีเมตตาจิตก็หัดให้แผ่เมตตาในตนเองก่อนเพื่อจะได้เป็นพยานว่าเรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด คนอื่นก็มีความรักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น

๘. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้ถือธรรม คือความถูกต้องตามเหตุผลเป็นประมาณ ที่เรียกว่าธรรมาธิปไตย ไม่สอนให้ถือตนเองเป็นใหญ่ หรือสอนให้ถือคนอื่นเป็นใหญ่ หลักคำสอนเรื่องผู้เห็นธรรมชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า ผู้ปฏิบัติธรรมชื่อว่าอยู่ใกล้พระพุทธเจ้า คำสอนเรื่องอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา และการตั้งพระธรรมวินัยไว้เป็นพระศาสดาแทนพระองค์ของพระพุทธเจ้าก็เป็นการสอนแบบธรรมาธิปไตยนี้

๙. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนเน้นหนักในเรื่องของสติปัญญาในการดำเนินชีวิต ให้รู้จักกำจัดความทุกข์ความเดือดร้อนด้วยการพิจารณาให้เห็นต้นเหตุของความทุกข์ แล้วแก้ไขให้ถูกทาง ไม่ให้เชื่อถืออย่างงมงายไร้เหตุผล

๑๐. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้พึ่งตนเอง ในการประกอบคุณงามความดี โดยการยกระดับแห่งชีวิตของตนให้สูงขึ้น ไม่สอนให้คิดแต่จะเอาดีด้วยการอ้อนวอนบวงสรวง คำสอนข้อนี้เป็นเหตุให้เกิดหลัก เรื่องทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ที่เรียกว่ากฎแห่งกรรม อันทำให้ชาวต่างประเทศหันมานิยมนับถือมากขึ้น

๑๑. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวในโลกที่กล้าปฏิเสธหลักตรรกศาสตร์ ซึ่งชาวโลกถือว่าเป็นศาสตร์แห่งศาสตร์ทั้งหลาย โดยได้เสนอหลักการอย่างอื่นที่สูงกว่า แน่นอนกว่า พร้อมทั้งให้เหตุผลอย่างชัดแจ้ง

๑๒. พระพุทธศาสนามีหลักเกณฑ์และวิธีการในการสั่งสอน ตลอดจนตัวคำสอนอันเป็นวิทยาศาสตร์มาก่อนที่วิชาวิทยาศาสตร์ของโลกจะเกิดเป็นเนื้อเป็นตัวขึ้น

๑๓. พระพุทธศาสนาสอนให้พยายามพึ่งตนเอง ไม่ให้มัวคิดแต่พึ่งผู้อื่น

๑๔. พระพุทธศาสนาสอนให้ทำความดีเพราะเห็นแก่ความดี ไม่ใช่ทำความดีด้วยความโลภหรืออยากได้สิ่งตอบแทน หรือทำด้วยความหลงคือไม่รู้ความจริง บางครั้งนึกว่าดีแต่กลายเป็นชั่ว

๑๕. พระพุทธศาสนาสอนให้มีความขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้านยิ่งสำหรับคฤหัสถ์ การตั้งเนื้อตั้งตัวได้ดี ต้องมีความพอใจและความขยันหมั่นเพียรเป็นหลัก

๑๖. พระพุทธศาสนาสอนให้มีเมตตากรุณาต่อผู้อื่น ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

๑๗. พระพุทธศาสนาสอนว่า การอยู่ในอำนาจผู้อื่นเป็นทุกข์ จึงสอนให้มีอิสรภาพทั้งภายนอกและภายใน อิสรภาพภายในคือไม่เป็นทาสของกิเลส ถ้ายังละกิเลสไม่ได้ ก็อย่าถึงกับปล่อยให้กิเลสบังคับมากเกินไป

๑๘. พระพุทธศาสนาสอนให้เอาชนะความชั่วด้วยความดี ให้ระงับเวรด้วยการไม่จองเวร และในขณะเดียวกันให้พยายามทำตนอย่าให้มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้อื่น ให้รู้จักผูกไมตรี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน

๑๙. พระพุทธศาสนาสอนให้ประกอบเหตุ คือลงมือทำเพื่อให้เกิดผลที่มุ่งหมาย ไม่ให้คิดได้ดีอย่างลอยๆ โดยคอยพึ่งโชคชะตาหรืออำนาจลึกลับใดๆ

๒๐. พระพุทธศาสนาสอนให้ลงมือปฏิบัติ เพื่อจะให้รู้แจ้งผลดีด้วยตนเอง ไม่ต้องเดาว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตราบใดยังเดาอยู่ ตราบนั้นยังไม่ชื่อว่ารู้ความจริง

๒๑. พระพุทธศาสนาสอนให้มีความอดทน ต่อสู้กับความยากลำบากและอุปสรรคทั้งหลาย ไม่เป็นคนอ่อนแอพอพบอุปสรรคก็วางมือทิ้ง ถือว่าความอดทนจะนำประโยชน์และความสุขมาให้

๒๒. พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้เชื่ออะไรอย่างงมงายไร้เหตุผล ให้ใช้ปัญญากำกับอยู่เสมอ นอกจากนั้น ยังสอนให้รู้จักพิสูจน์ความจริงด้วยการทดลอง การปฏิบัติและการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

๒๓. พระพุทธศาสนาสอนกว้างกว่าเทศบาลและรัฐบาล คือเทศบาลปกครองท้องถิ่นรัฐบาลปกครองประเทศโดยสอนให้มีโลกบาลคือธรรมอันปกครองโลก ได้แก่ หิริ ความละอายแก่ใจ และโอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาปทุจริต

๒๔. พระพุทธศาสนาสอนให้มีสติปัญญาคู่กัน คือให้มีเฉลียวคู่กับฉลาด ไม่ใช่เฉลียวหรือฉลาดเพียงอย่างเดียว จึงสอนให้มีสติสัมปชัญญะคู่กัน และถือว่าเป็นธรรมมีอุปการะมาก

๒๕. พระพุทธศาสนาสอนให้บุคคลมีความเจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ เช่น สอนให้เคารพในการศึกษา ให้มีการสดับตรับฟังมาก ให้คบหาผู้รู้หรือคนดี และสนใจฟังคำแนะนำของท่าน โดยเฉพาะได้สอนว่าไม่ควรสรรเสริญการยึดอยู่ในคุณความดี สรรเสริญแต่ความเจริญก้าวหน้า

๒๖. พระพุทธศาสนาสอนให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ เพื่อจะได้อยู่เป็นผาสุกในสังคม

๒๗. พระพุทธศาสนาสอนมิให้ปลูกศัตรูหรือมองเห็นใครต่อใครเป็นศัตรู โดยเฉพาะไม่สอนให้เกลียดชังคนนับถือศาสนาอื่น จึงนับว่าเป็นศาสนาที่มีใจกว้างขวาง

๒๘. พระพุทธศาสนาสอนมิให้วิธีอ้อนวอนบวงสรวงเพื่อให้สำเร็จผล แต่สอนให้ลงมือทำ เพื่อให้เกิดผลที่มุ่งหมายนั้นโดยถูกทาง

๒๙. พระพุทธศาสนาสอนให้มองโลก โดยรู้เท่าทันความจริงที่ว่า มีความไม่เที่ยงแท้ถาวร ทนอยู่ไม่ได้และไม่ใช่ตัวตนที่พึงยึดถือจะได้มีความปลอดโปร่งใจ ไม่ยึดมั่นจนเกินไปซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ได้โดยง่าย

๓๐. พระพุทธศาสนาสอนให้ถือธรรมคือความถูกต้องเป็นใหญ่ ไม่ให้ถือตนเป็นใหญ่หรือถือโลกเป็นใหญ่ พูดง่ายๆ คือไม่ถือบุคคลเป็นสำคัญ แต่ถือธรรมคือความถูกต้องเป็นสำคัญ

๓๑. พระพุทธศาสนาสอนปรมัตถ์ คือประโยชน์อย่างยิ่ง คือให้รู้จักความจริงที่เป็นแก่น ไม่หลงติดอยู่ในความสมมติต่างๆ เช่น ลาภ ยศ เป็นต้น แต่ในการเกี่ยวข้องทางสังคมก็สอนให้รู้จักรับรองสมมติทางกายและทางวาจาตามควร เช่น เมื่อเข้าประชุมชนก็ให้ทำตนให้เข้ากับประชุมชนนั้นๆ ให้ใช้ถ้อยคำให้ถูกต้องตามสมมติบัญญัติ ไม่ใช่ถือว่าเมื่อไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาแล้ว ก็เลยเข้ากันไม่ได้ การที่พระพุทธศาสนายั่งยืนมาได้ ก็เพราะถึงคราวรับรองสมมติบัญญัติก็รับรองตามสมควร ถึงคราวสอนใจให้รู้เท่าสมมติบัญญัติ ก็สอนใจมิให้ติดให้หลงจนเป็นเหตุมัวเมางมงาย

๓๒. พระพุทธศาสนาสอนธรรมตั้งแต่ชั้นต่ำจนถึงชั้นสูง แต่ละประเภทเหมาะแก่จริต อัธยาศัยและความสามารถของแต่ละคน เหมือนให้อาหารแก่เด็กอ่อนแก่เด็กโต ตามความเหมาะสมฉะนั้น

๓๓. พระพุทธศาสนาสอนว่า ปัญญาเป็นเครื่องส่องทางแห่งชีวิตที่นับเป็นแสงสว่างในโลก และได้สอนต่อไปว่า ปัญญานั้นทำให้เกิดได้ ไม่ใช่ปัญญาเกิดตามบุญตามกรรม การทำให้เกิดปัญญาคือการคิด การศึกษาสดับตรับฟัง และลงมือปฏิบัติอบรมให้เกิดปัญญา

๓๔. พระพุทธศาสนาสอนเน้นหนักไปในเรื่องความกตัญญูรู้คุณผู้อื่น และกตเวทีตอบแทนคุณท่าน และสรรเสริญว่า ใครมีคุณข้อนี้ชื่อว่าเป็นคนดี และประพฤติสิ่งเป็นสวัสดิมงคล

๓๕. พระพุทธศาสนาสอนให้ดับทุกข์ โดยให้รู้จักว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นต้นเหตุและการดับความทุกข์ ได้แก่ ดับเหตุของทุกข์ รวมทั้งให้รู้จักข้อปฏิบัติที่จะให้ถึงความดับของทุกข์ด้วย จึงชื่อว่าสอนเรื่องดับทุกข์ได้อย่างมีเหตุผล ซึ่งควรจะได้ศึกษาและปฏิบัติตาม

๓๖. พระพุทธศาสนามิได้สอนย่ำยีหรือซ้ำเติมคนที่ทำอะไรผิดไปแล้ว ควรจะช่วยกันให้กำลังใจในการกลับตัวของเขา ไม่ควรดูหมิ่นเหยียดหยาม พระพุทธเจ้าเองก็เคยเล่าถึงเรื่องความผิดของพระองค์เองในสมัยเมื่อยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ อันแสดงว่าตราบใดยังมีกิเลส ตราบนั้นก็อาจทำชั่วทำผิดได้ แต่ข้อสำคัญถ้ารู้ว่าอะไรผิด อะไรชอบแล้ว ต้องพยายามกลับตัวให้ดีขึ้นอยู่เสมอ

๓๗. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้เห็นอกเห็นใจคนอื่น ผู้ที่ดูหมิ่นเหยียดหยามคนอื่น จะเพราะชาติตระกูล เพราะทรัพย์หรือเพราะเหตุอื่นใดก็ตาม ไม่เชื่อว่าปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา

๓๘. พระพุทธศาสนาสอนว่า การคบเพื่อนที่ดีย่อมจะชวนกันไปในทางที่ดี พระอานนท์เสนอว่าเป็นกึ่งพรหมจรรย์ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นตัวพรหมจรรย์เลยทีเดียว แสดงว่ายกย่องกัลยาณมิตรมาก

๓๙. พระพุทธศาสนาสอนให้รักษา กาย วาจา ให้เรียบร้อยด้วยศีล ให้รักษาจิตให้สงบไม่ฟุ้งซ่านด้วยสมาธิ และให้รักษาทิฏฐิคือความเห็นมิให้ผิด ให้ไปตรงทางด้วยปัญญา ฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา จึงเป็นข้อปฏิบัติเด่นที่สุดทางพระพุทธศาสนา

๔๐. พระพุทธศาสนาสอนว่า ถ้าไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไรดี เพราะข้อปฏิบัติมีมากเหลือเกิน ก็สอนให้ปฏิบัติเพียงอย่างเดียว คือให้รักษาคุ้มครองจิตให้เป็นไปถูกทาง เสร็จแล้วจะเป็นอันคุ้มครองกาย วาจา และอื่นๆ ในตัวด้วย

๔๑. พระพุทธศาสนาสอนทางสายกลาง ระหว่างการทรมานตัวเองให้เดือดร้อนกับการปล่อยตัวให้เหลิงเกินไป และสอนสายกลางระหว่างที่เห็นว่าเที่ยงกับระหว่างที่เห็นว่าขาดสูญ การสอนทางสายกลางนี้ ย่อมเป็นประโยชน์ในที่ทุกสถาน

๔๒. พระพุทธศาสนาสอนให้รับฟังความคิดเห็นของคนอื่นบ้าง ไม่เป็นคนดื้อว่ายากสอนยาก คนที่ฟังความคิดเห็นของบุคคลอื่น ย่อมมีโอกาสแก้ไขความผิดพลาดบกพร่องของตนเองอยู่เสมอ

๔๓. พระพุทธศาสนาสอนให้รู้จักเสียสละเป็นชั้นๆ ให้สละสุขอันเล็กน้อยเพื่อสุขอันสมบูรณ์ ให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ ให้สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต และให้สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม

๔๔. พระพุทธศาสนาสอนว่า เมื่อมีศีลย่อมเป็นอุปการะให้เกิดสมาธิได้เร็ว เมื่อมีสมาธิก็ช่วยให้เกิดปัญญาได้สะดวกขึ้น

๔๕. พระพุทธศาสนาสอนรวบยอดให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท คือสอนไม่ให้ลืมตน ทะนงตนหรือขาดความระมัดระวัง ท่านถือความประมาทเป็นทางแห่งความตาย จึงควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาททั่วกัน เป็นต้น(๑)


.................................................................................

(๑) คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา, สุชีพ บุญญานุภาพ, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย พระนคร


มีต่อ >>> บทที่ ๓
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 22 ก.ย. 2006, 7:39 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

บทที่ ๓

๑. พุทธปรินิพพาน
๒. ศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
๓. บ่อเกิดของนิกายและหลักธรรมที่สำคัญ
๔. พระเจ้าอโศกมหาราชกับพระพุทธศาสนา
๕. พระเจ้ากนิษกะมหาราช
๖. บ่อเกิดของการสร้างพระพุทธรูป
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 01 ต.ค.2006, 10:24 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๑. พุทธปรินิพพาน


พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมะและประกาศอมตธรรมเป็นเวลาถึง ๔๕ พรรษา มีผู้ปฏิบัติตาม และบวชตามพระองค์จนได้บรรลุธรรมนับจำนวนไม่ถ้วน พระองค์ทรงเป็นนาถของโลกอย่างแท้จริง ธรรมที่พระองค์แสดงแล้วบัญญัติแล้วเป็นสิ่งทนต่อการพิสูจน์ (อกาลิโก) ไม่ว่าวิทยาศาสตร์หรือดาราศาสตร์จะเจริญก้าวหน้าไปขนาดไหนก็ตาม ไม่อาจจะลบล้างธรรมะของพระองค์ได้เลย

ในวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ พระพุทธเจ้าได้เสด็จจำพรรษาที่บ้านเวฬุวคาม ประทับสำราญอิริยาบถที่สวนมะม่วงของนายจุนทะผู้เป็นบุตรของนายช่างทอง เขตเมืองเวสาลี นายจุนทะได้ทราบข่าวว่าพระองค์เสด็จมาประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของตน จึงเข้าไปกราบทูลอัญเชิญให้เสด็จรับภัตตาหารเช้าที่เรือนของตน และได้ถวายภัตตาหารเช้าซึ่งเป็นอาหารมื้อพิเศษมีชื่อว่า "สูกรมัทวะ" พระพุทธเจ้าทรงเสวยสูกรมัทวะนั้นเป็นการเสริมศรัทธา และทรงอนุโมทนาผลแห่งปัจฉิมทาน จากนั้นทรงรับสั่งให้นายจุนทะนำอาหารไปทิ้งเสีย

จากนั้น พระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ก็เสด็จกลับจากบ้านของนายจุนทะ ในระหว่างนี้เองพระองค์ทรงอาพาธหนัก แต่ก็ทรงอดกลั้นด้วยอธิวาสนขันติ ทรงมีพระสติสัมปชัญญะไม่ทุรนทุราย และเสด็จต่อไปยังเมืองกุสินารา ทั้งๆ ที่ยังประชวรอยู่ ครั้นเสด็จไปถึงสาลวันสวนของเจ้ามัลละ ทรงประทับระหว่างต้นรังทั้งคู่ ตรัสสั่งให้พระอานนท์จัดที่ประทับถวาย พระองค์หันพระเศียรไปทาง ทิศเหนือเสด็จบรรทมอนุฏฐานไสยา คือตั้งพระทัยที่จะไม่เสด็จลุกขึ้นอีก ขณะใกล้จะปรินิพพานนี้ พระองค์ตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายที่เฝ้าแวดล้อมดูอาการประชวรของพระองค์อยู่ เป็นปัจฉิมโอวาทครั้งสุดท้ายว่า

"อามนฺตยามิ โว ภิกฺขเว ขยวยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความสิ้นไปและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังกิจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด" และพระองค์ยังตรัสต่อไปอีกว่า "โย โว อานนฺท ธมฺโม จ วินโย มยา เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา. ดูก่อนอานนท์ พระธรรมและ พระวินัยอันใดที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย พระธรรมและพระวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว"

จากนั้น พระองค์ก็เสด็จดับขันธปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรี วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ พระชนมายุได้ ๘๐ พระพรรษา

วันเสด็จดับขันธปรินิพพานก็นับเป็นวันที่อัศจรรย์อีกวันหนึ่ง คือวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เป็นวันเพ็ญเดือน ๖ ตรงกันทั้งหมด ทำให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้ทำสักการะบูชาเพื่อระลึกถึงศาสดาของตนในวันนี้เป็นพิเศษ เรียกว่า "วันวิสาขบูชา" ถือเป็นวันสำคัญของชาติหรือของโลกก็ว่าได้ แม้กระทั่งองค์การใหญ่แห่งสหประชาชาติก็ยังให้การยอมรับวันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญนานาชาติด้วย เพราะหลักการของพระพุทธศาสนานั้นเข้ากันได้กับหลักการขององค์การสหประชาชาติที่เชื่อกันว่าจะนำสันติภาพมาสู่ชาวโลกได้อย่างแท้จริง

การที่องค์การสหประชาชาติยอมรับให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญนานาชาติก็สืบเนื่องมาจากการประชุมชาวพุทธนานาชาติที่ประเทศศรีลังกา ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑ (ค.ศ. 1998) ประเทศศรีลังกานับเป็นประเทศที่ทำอุปการคุณอย่างใหญ่หลวงที่เป็นแกนนำทำให้พระพุทธศาสนาได้รับการยอมรับไปสู่นานาชาติอย่างแท้จริง ประเทศที่ให้การยอมรับวันวิสาขะเป็นวันสำคัญนานาชาติในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ จะขอนำมากล่าวยกย่องไว้ ณ ที่นี้ เพื่อเป็นประวัติศาสตร์ก็คือประเทศ

1. Bangladesh
2. Bhutan
3. Cambodia
4. Chile
5. Cyprus
6. Grenada
7. Iceland
8. India
9. Indonesia
10. Ireland
11. Lao People's Democratic Republic
12. Maldives
13. Mongolia
14. Myanmar
15. Nepal
16. Pakistan
17. Philippines
18. Portugal
19. Republic of Korea
20. Russian
21. Ukraine
22. Scychelles
23. Slovakia
24. Spain
25. Sri Lanka
26. Thailand

ต้องนับเป็นประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของชาวพุทธทั้งโลกอย่างแท้จริง ประเทศไทยก็ได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ ๑ วัน เพื่อให้พุทธศาสนิกชนไปบำเพ็ญทานบำเพ็ญกุศลเจริญศีลภาวนาสร้างกุศลกระทำความดีเพื่อเป็นพุทธบูชา และยังมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับวันวิสาขบูชาที่ท้องสนามหลวงเป็นประจำติดต่อกันเรื่อยมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว นับเป็นกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่วันหนึ่งเลยทีเดียว ในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้านั้น ได้ตั้งพระศพไว้ทำสักการะบูชาเป็นเวลา ๗ วัน และเพื่อรอคอยพระเถระที่เดินทางมาจากทิศต่างๆ จึงได้ถวายพระเพลิงในวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งชาวพุทธเรียกว่า "วันอัฏฐมีบูชา"


เหตุการณ์หลังพุทธปรินิพพาน

หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วได้เพียง ๗ วัน พระสาวกที่ยังไม่ได้บรรลุพระอรหันต์ทั้งหลายต่างก็มีความเศร้าโศกเสียใจ แต่มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า สุภัททะ กลับดีใจพูดว่า "พระพุทธเจ้านิพพานเสียแล้วก็ดี ต่อไปจะได้ไม่มีใครมาคอยกล่าวว่า สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ" พระมหากัสสปะได้ฟังคำพูดนั้นเกิดความสลดใจว่า "พระพุทธเจ้าปรินิพพานไม่กี่วัน ยังมีผู้กล่าวถ้อยคำไม่ สมควรเช่นนี้ ถ้าไม่จัดการอะไรลงไป ปล่อยไว้ให้เนิ่นนาน จะนำความเสื่อมเสียมาสู่พระพุทธศาสนา สิ่งที่ไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัยจักเจริญ สิ่งที่เป็นธรรมเป็นวินัยจะเสื่อมกำลัง พวกอธรรมวาทีจักเจริญ พวกธรรมวาทีจักเสื่อมถอย" เมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว จึงชักชวนภิกษุทั้งหลายทำสังคายนา


การสังคายนาครั้งที่ ๑

ปฐมสังคายนา : กระทำขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๓ เดือน
ประธานฝ่ายสงฆ์ : พระมหากัสสปเถระ
ผู้เข้าร่วมประชุมสังคายนา : พระอรหันตขีณาสพจำนวน ๕๐๐ องค์
ประธานอุปถัมภ์ : พระเจ้าอชาตศัตรู
หัวข้อในการประชุม : เรื่อง "สุภัททวุฑฒบรรพชิตจ้วงจาบพระธรรมวินัย"
สถานที่ประชุมทำสังคายนา : ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์
ระยะเวลาในการประชุม : กระทำอยู่ ๗ เดือนจึงสำเร็จ


พระปุราณะไม่รับรองการทำปฐมสังคายนาครั้งที่ ๑

หลังจากการทำสังคายนาผ่านไปไม่นานนัก มีพระเถระรูปหนึ่งชื่อว่า "ปุราณะ"(๑) พร้อมด้วยบริวารประมาณ ๕๐๐ รูป อยู่จำพรรษาที่ทักขิณาคีรีชนบท ในคราวทำสังคายนาเมื่อท่านทราบว่า สังคายนาทำเสร็จแล้ว ท่านและบริวารจึงได้เข้าสู่กรุงราชคฤห์ พระสังคีติกาจารย์ที่ร่วมในการทำสังคายนาได้เข้าไปแจ้งให้ท่านทราบว่า พระสงฆ์ได้ทำสังคายนากันแล้ว ขอให้ท่านยอมรับด้วย

พระปุราณะกลับกล่าวว่า "ท่านทั้งหลาย พระเถระทั้งหลายได้ทำสังคายนาพระธรรมวินัยกันเรียบร้อยก็ดีแล้ว แต่ผมได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าว่าอย่างไร จักถือปฏิบัติตามนั้น เมื่อได้ชี้แจงกันพอสมควรแล้ว ปรากฏว่าพระปุราณะมีความเห็นตรงกับพระสังคีติกาจารย์ส่วนมาก แต่มีความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องวัตถุ ๘ ประการ ซึ่งเป็นพุทธานุญาตพิเศษที่ทรงอนุญาตให้ภิกษุทำได้ในคราวเกิดทุพพิกภัย แต่เมื่อภัยเหล่านั้นระงับก็ทรงบัญญัติห้ามมิให้กระทำอีก เรื่องวัตถุ ๘ ประการนั้นก็คือ

๑. อันโตวุฏฐะ เก็บของที่เป็นยาวกาลิกคืออาหารไว้ในที่อยู่ของตน
๒. อันโตปักกะ ให้มีการหุงต้มอาหารในที่อยู่ของตน
๓. สามปักกะ พระลงมือหุงปรุงอาหารด้วยตนเอง
๔. อุคคหิตะ คือการหยิบเอาเองซึ่งเคี้ยวของฉันที่ยังมิได้ประเคน
๕. ตโตนีหตะ ของที่นำมาจากที่นิมนต์ ซึ่งเป็นพวกอาหาร
๖. ปุเรภัตตะ การฉันอาหารก่อนเวลาภัตตาหาร ในกรณีที่ตนรับนิมนต์ไว้ในที่อื่น แต่ฉันอาหารอื่นก่อนอาหารที่ตนจะต้องฉันในที่นิมนต์
๗. วนัฏฐะ ของที่เกิดหรือตกอยู่ในป่า ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ
๘. โปกขรณัฏฐะ ของที่เกิดในสระ เช่น ดอกบัว เง่าบัว

วัตถุทั้ง ๘ ประการ เป็นพุทธานุญาตพิเศษในคราวเกิดทุพภิกขภัย ๒ คราว คือ ที่เมืองเวสาลีและที่เมืองราชคฤห์ แต่เมื่อทุพภิกขภัยหายไปแล้ว ทรงห้ามมิให้ภิกษุกระทำ พระปุราณะและบริวารของท่านคงจะได้ทราบเฉพาะเวลาที่ทรงอนุญาต จึงปฏิบัติไปอย่างนั้น เนื่องจากการอยู่กันกระจัดกระจายคนละทิศละทาง การติดต่อบอกกล่าวอาจไม่ถึงกัน จะถือว่าท่านดื้อรั้นเกินไปก็หามิได้ เพราะท่านถือตามที่ท่านได้สดับมาจากพระพุทธเจ้าเหมือนกัน เมื่อพระสังคีติกาจารย์ชี้แจงให้ท่านฟัง ท่านปุราณะก็มีความเห็นว่า "พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระสัพพัญญุตญาณ ไม่สมควรที่จะบัญญัติห้ามแล้วอนุญาต อนุญาตแล้วกลับบัญญัติห้ามมิใช่หรือ"

สรุปแล้ว ความแตกแยกในทางข้อปฏิบัติคือความเสียแห่งสีลสามัญญตา ได้เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนาหลังจากพุทธปรินิพพานไปเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้นเอง ความไม่เสมอภาคกันในแนวทางปฏิบัติอย่างน้อยได้แตกแยกออกเป็น ๒ ฝ่ายคือ

๑. พวกที่ยอมรับนับถือมติของพระสังคีติกาจารย์ ในการทำสังคายนาครั้งแรก
๒. พวกที่สนับสนุนคล้อยตามมติของพระปุราณะกับพวก อย่างน้อยฝ่ายนี้ต้องมีไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ รูป และในที่สุดอาจจะได้บริวารเพิ่มมาอีกก็เป็นได้


การสังคายนาครั้งที่ ๒

ทุติยสังคายนา : กระทำขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พ. ศ. ๑๐๐
ประธานฝ่ายสงฆ์ : มีพระยสกากัณฑกบุตรเถระเป็นประธาน มีพระสัพพกามีเถระ และพระเรวตะ เป็นต้น เข้าร่วมด้วย
ผู้เข้าร่วมประชุมสังคายนา : พระอรหันตขีณาสพจำนวน ๗๐๐ องค์
ประธานอุปถัมภ์ : พระเจ้ากาฬาโศกราชเป็นองค์อุปถัมภ์
หัวข้อในการประชุม : เรื่อง "วัตถุ ๑๐ ประการ"
สถานที่ประชุมทำสังคายนา : กระทำขึ้นที่วาลิการาม เมืองเวสาลี
ระยะเวลาในการประชุม : กระทำอยู่ ๘ เดือนจึงสำเร็จ

การกระทำทุติยสังคายนาปรารภเรื่องวัตถุ ๑๐ ประการ ที่ภิกษุชาวเมืองเวสาลีนำประพฤติปฏิบัติว่าไม่ผิดธรรมไม่ผิดวินัย ซึ่งมีใจความดังนี้

๑. ภิกษุชาววัชชี : ภิกษุเก็บเกลือไว้ในเขนงแล้วนำไปฉันปนกับอาหารได้ ไม่เป็นอาบัติ

(พระสัพพกามีโต้ตอบว่า : การเก็บเกลือไว้ในเขนง โดยตั้งใจว่าจะใส่ลงในอาหารฉันนั้นเป็นอาบัติปาจิตตีย์ เพราะเป็นการสะสมอาหารตามโภชนสิกขาบท)

๒. ภิกษุชาววัชชี : ภิกษุจะฉันอาหารหลังจากตะวันบ่ายผ่านไปเพียง ๒ องคุลีได้ ไม่เป็นอาบัติ

(พระสัพพกามีโต้ตอบว่า : ภิกษุฉันโภชนะในเวลาวิกาล เมื่อตะวันบ่ายคล้อยไปแล้ว ๒ องคุลี ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันโภชนะในเวลาวิกาล)

๓. ภิกษุชาววัชชี : ภิกษุฉันภัตตาหารในวัดเสร็จแล้ว ฉันเสร็จแล้วเข้าไปสู่บ้าน จะฉันอาหารที่ไม่เป็นเดนและไม่ได้ทำวินัยกรรมได้ ไม่เป็นอาบัติ

(พระสัพพกามีโต้ตอบว่า : ภิกษุฉันอาหารเสร็จแล้วคิดว่าจักฉันอาหาร เข้าไปในบ้านแล้ว ฉันโภชนะที่เป็นอนติริตตะ (ไม่เป็นเดน) ผิด เป็นอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันอาหารที่ไม่เป็นเดนภิกษุไข้)

๔. ภิกษุชาววัชชี : ในอาวาสเดียวกันมีสีมาใหญ่ ภิกษุจะแยกทำอุโบสถได้ ไม่เป็นอาบัติ

(พระสัพพกามีโต้ตอบว่า : ภิกษุจะแยกกันทำอุโบสถสังฆกรรมไม่ได้ ผิดหลักที่ทรงบัญญัติไว้ในอุโบสถขันธกะ ใครขืนทำต้องอาบัติทุกกฎ)

๕. ภิกษุชาววัชชี : ในเวลาทำอุโบสถ แม้ว่าพระจะเข้าประชุมยังไม่พร้อมกัน จะทำอุโบสถไปก่อนก็ได้ โดยให้ผู้มาทีหลังขออนุมัติเอาเองได้ ไม่เป็นอาบัติ

(พระสัพพกามีโต้ตอบว่า : สงฆ์ทำสังฆกรรมด้วยคิดว่า ให้พวกมาทีหลังอนุมัติ ทั้งที่สงฆ์ยังประชุมไม่พร้อมหน้ากัน ผิดหลักที่ทรงบัญญัติไว้ในจัมเปยยขันธกะ ต้องอาบัติทุกกฎ)

๖. ภิกษุชาววัชชี : การประพฤติปฏิบัติตามพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ไม่ว่าจะผิดหรือถูกพระวินัยก็ตาม ย่อมเป็นการกระทำที่สมควรเสมอ

(พระสัพพกามีโต้ตอบว่า : การประพฤติปฏิบัติ ด้วยเข้าใจว่าอุปัชฌาย์อาจารย์ของเราเคยประพฤติมาอย่างนี้ ไม่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะท่านเหล่านั้นอาจประพฤติผิดหรือถูกก็ได้ ต้องยึดหลักพระวินัยจึงจะเป็นสิ่งสมควร)

๗. ภิกษุชาววัชชี : นมส้มที่แปรมาจากนมสดแต่ยังไม่กลายเป็นทธิ (เนยใส) ภิกษุฉันอาหารเสร็จแล้ว จะฉันนมนั้นทั้งที่ยังไม่ได้ทำวินัยกรรมหรือทำให้เป็นเดนตามพระวินัยก็ได้ ไม่เป็นอาบัติ

(พระสัพพกามีโต้ตอบว่า : นมส้มที่ละความเป็นนมสดไปแล้ว แต่ยังไม่กลายเป็นทธิ ภิกษุฉันภัตตาหารแล้ว ห้ามภัตรแล้ว จะดื่มนมนั้นอันไม่เป็นเดนภิกษุไข้ หรือยังไม่ได้ทำวินัยกรรม ไม่ควร ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันอาหารที่เป็นอนติริตตะ)

๘. ภิกษุชาววัชชี : สุราที่ทำใหม่ๆ ยังมีสีแดงเหมือนสีเท้านกพิราบ ยังไม่เป็นสุราเต็มที่ ภิกษุจะฉันก็ได้ ไม่เป็นอาบัติ

(พระสัพพกามีโต้ตอบว่า : การดื่มสุราอย่างอ่อนที่มีสีเหมือนสีเท้านกพิราบ ซึ่งยังไม่ถึงความเป็นน้ำเมา ไม่ควร เป็นอาบัติปาจิตตีย์ เพราะดื่มสุราและเมรัย)

๙. ภิกษุชาววัชชี : ผ้าปูนั่งนิสีทนะอันไม่มีชาย ภิกษุจะบริโภคใช้สอยก็ได้ ไม่เป็นอาบัติ

(พระสัพพกามีโต้ตอบว่า : ผ้านิสีทนะที่ไม่มีชาย ภิกษุจะใช้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ซึ่งจะต้องตัดเสียจึงจะแสดงอาบัติตก)

๑๐. ภิกษุชาววัชชี : ภิกษุรับและยินดีในเงินทองที่เขาถวาย ไม่เป็นอาบัติ

(พระสัพพกามีโต้ตอบว่า : การรับเงินหรือยินดีซึ่งเงินและทองที่เขาเก็บไว้เพื่อตนเองไม่สมควรเป็นอาบัตินิสัคคียปาจิตตีย์)

การสังคายนาครั้งที่ ๒ นี้ ทำขึ้นเพื่อระงับความแตกแยกทางการปฏิบัติสีลสามัญญตา (ความเสมอกันด้วยศีล) คือพระชาววัชชีประพฤตินอกรีตนอกพระธรรมวินัย และนับเป็นจุดเริ่มต้นส่อเค้าความแตกแยกในสังฆมณฑลเพิ่มมากขึ้น ทั้งๆ ที่ตอนนั้นยังมีพระอรหันต์อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ผู้ที่ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ก็มีอยู่เป็นจำนวนมากเหมือนกัน และยังเป็นฝ่ายที่ค่อนข้างมีพลังอีกด้วย จึงทำให้มีรอยด่างพร้อยเกิดขึ้นตามมา แต่ในปกรณ์สันสกฤตกลับชี้ไปที่เรื่องความวิบัติแห่ง ทิฏฐิสามัญญตาแห่งคณะสงฆ์เป็นใหญ่ มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งเป็นวันอุโบสถ พระมหาเทพเป็นผู้สวด ปาฏิโมกข์ แต่ท่านผู้นี้ได้เสนอทรรศนะ ๕ ประการต่อที่ประชุมสงฆ์ ซึ่งมีใจความดังนี้

๑. พระอรหันต์อาจถูกมารยั่วยวนจนอสุจิเคลื่อนในเวลาหลับได้
๒. พระอรหันต์อาจมีอัญญาณคือความไม่รู้ในบางสิ่งได้
๓. พระอรหันต์อาจมีกังขาคือความลังเลสงสัยในบางสิ่งได้
๔. ผู้จะรู้ว่าตนได้บรรลุมรรคผลชั้นใด จำต้องอาศัยการพยากรณ์จากคนอื่น
๕. อริยมรรคอริยผลจะปรากฏเมื่อบุคคลเปล่งวาจาว่า อโห ทุกฺขํ อโห ทุกฺขํ


การสังคายนาครั้งที่ ๓

ตติยสังคายนา : กระทำขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พ. ศ. ๒๑๘
ประธานฝ่ายสงฆ์ : พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ เป็นประธาน
ผู้เข้าร่วมประชุมสังคายนา : พระอรหันตขีณาสพจำนวน ๑,๐๐๐ องค์
ประธานอุปถัมภ์ : พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นองค์อุปถัมภ์
หัวข้อในการประชุม : เรื่อง "เดียรถีย์ปลอมเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา"
สถานที่ประชุมทำสังคายนา : อโศการาม เมืองปาฏลีบุตร
ระยะเวลาในการประชุม : กระทำอยู่ ๙ เดือนจึงสำเร็จ

การทำสังคายนาครั้งที่ ๓ นี้ ก็ทำด้วยสาเหตุใหญ่คือมีพวกเดียรถีย์ปลอมเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าเมื่อถึงคราวสังคายนาครั้งที่ ๓ นี้ รอยร้าวในสังฆมณฑลเริ่มมีมากขึ้น พระเถระในนิกายมหาสังฆิกะก็ไม่ได้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วย มีแต่ฝ่ายเถรวาทฝ่ายเดียว ก็เหมือนการสังคายนาครั้งแรก สาเหตุของการสังคายนาครั้งนี้ดังที่กล่าวแล้วว่ามีพวกเดียรถีร์เข้าปลอมบวชปะปนกับพระผู้บริสุทธิ์ พระสงฆ์ไม่ทำสังฆกรรมร่วมกันเป็นเวลาถึง ๗ ปี ต่อมา ความทราบไปถึงพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ได้รับสั่งให้อำมาตย์คนหนึ่งไปอาราธนาให้พระทำสังฆกรรมร่วมกัน เมื่อพระเหล่านั้นไม่ยินยอม อำมาตย์จึงถือว่าพระสงฆ์ขัดพระบรมราชโองการ จึงตัดคอพระมรณภาพไปหลายองค์ พระติสสเถระซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้าอโศกเห็นไม่ได้การจึงรีบเข้าไปขัดขวางไว้ พวกอำมาตย์จึงไม่กล้าฆ่าพระอนุชา

หลังจากนั้น พวกอำมาตย์จึงนำความไปกราบทูลให้พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทราบ พระเจ้าอโศกทรงตกพระทัยมาก กลัวว่าบาปกรรมจะตกทอดมาถึงพระองค์ด้วย แม้ว่าอำมาตย์จะทำไปโดย พลการก็ตามที จึงไปเรียนถามพระเถระทั้งหลายปรากฏว่าท่านเหล่านั้นตอบไม่ตรงกัน ในที่สุดได้รับคำแนะนำให้ไปอาราธนาพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระให้มาวินิจฉัยให้ พระเถระได้ถวายวินิจฉัยข้อข้องพระทัยว่า เมื่อพระองค์ไม่มีความประสงค์จะให้อำมาตย์ไปฆ่าภิกษุ บาปนั้นจึงไม่มีแก่พระองค์ และให้พระราชาทรงมั่นพระทัยในพระพุทธภาษิตว่า

"เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ เจตยิตฺวา กมฺมํ กโรติ กาเยน วาจาย มนสา(๒) ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย วาจา ใจ"

หลังจากนั้น พระเจ้าอโศกทรงสบายพระทัยเพราะได้ฟังคำวินิจฉัยของพระเถระแล้ว หลังจากนั้นพระเถระได้ให้พระเจ้าอโศกทรงศึกษาสัจจธรรมทางพระพุทธศาสนา จนสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นคำสอนของพระพุทธศาสนา และอะไรเป็นคำสอนของเจ้าลัทธินอกพระพุทธศาสนา พระเจ้าอโศกมหาราชได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาสอบถามด้วยพระองค์เองว่า กึ สมฺมาสมฺพุทฺโธ = พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีปกติตรัสว่าอย่างไร ?

ถ้าพระรูปใดตอบว่า วิภชฺชวาที = มีปกติจำแนก ก็ถือว่าเป็นพระที่แท้จริง ท่านที่ตอบเป็นอย่างอื่นถือว่าเป็นพวกเดียรถีย์ปลอมเข้ามาบวช รับสั่งให้แจกผ้าขาวให้กับพวกเหล่านั้นให้สึกออกไปเสียเป็นจำนวนมาก ในสมันตปาสาทิกาบอกว่ามีถึง ๖๐,๐๐๐ รูป ข้อมูลค่อนข้างมากพอสมควร เมื่อชำระสังฆมณฑลให้หมดจดบริสุทธิ์ได้แล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชจึงได้อาราธนาให้พระสงฆ์ทำสังฆกรรมกันตามปกติ


ข้อน่าฉงนในการทำสังคายนาครั้งที่ ๓

การสังคายนาครั้งที่ ๓ เป็นการกระทำของฝ่ายสายเถรวาทฝ่ายเดียว ฝ่ายที่แตกแยกออกไป ๑๘ นิกายไม่ได้มีส่วนในการเข้าร่วมการสังคายนาด้วย มีประเด็นที่น่าพิจารณาหลายอย่างก็คือ ข้ออ้างที่ว่าเดียรถีร์ปลอมเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนานั้นไม่น่าจะมากมายถึงขนาดนั้น ตามประวัติว่าพวกนักบวชนอกศาสนาเหล่านั้นหวังลาภสักกการะในพระพุทธศาสนาก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะในสมัยของพระเจ้าอโศกนั้น พระองค์ก็ทรงอุปถัมภ์ทุกลัทธินิกายศาสนา ดังมีคำกล่าวของพระเจ้าอโศกตอนหนึ่งบนศิลาจารึกว่า

"คนเรานั้นไม่ควรจะยกย่องแต่ศาสนาของตนฝ่ายเดียว หรือตำหนิติเตียนศาสนาของชนพวกอื่น แต่ควรจะยกย่องศาสนาของชนเหล่าอื่นด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อกระทำได้อย่างนั้น บุคคลชื่อว่าช่วยเหลือศาสนาของตนให้เจริญก้าวหน้า และได้ชื่อว่าเอื้อเฟื้อต่อศาสนาของชนเหล่าอื่นอีกด้วย เมื่อกระทำตรงกันข้ามก็ชื่อว่าขุดหลุมฝังศาสนาของตนเอง และยังทำอันตรายต่อศาสนาของชนพวกอื่นอีกด้วย ใครก็ตามที่ยกย่องแต่ศาสนาของตน และตำหนิติเตียนศาสนาของชนเหล่าอื่น โดยมีความจงรักภักดีต่อศาสนาของตนเองด้วยคิดว่าเราจะยกย่องเชิดชูศาสนาของตน ตรงกันข้ามด้วยการกระทำอย่างนั้น เขาชื่อว่าทำร้ายศาสนาของตนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ความปรองดองกันเป็นสิ่งที่ดี ขอให้ทุกคนจงตั้งใจฟัง และเต็มใจที่จะฟังหลักธรรมคำสอนที่คนอื่นสอนด้วย"(๓)



.................................................................................

(๑) พระโสภณคณาภรณ์, (ระแบบ ฐิตญาโณ), ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, พ.ศ. ๒๕๒๘, น. ๑๓๐
(๒) พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี เล่มที่ ๒๒ สุตฺต. องฺ. (๓) : ปญฺจก-ฉกฺกนิปาตา, หน้า ๔๖๔
(๓) What the Buddha taught, Venerable Dr. W . Rahula, press in Bangkok, B.E. 2533, p. 4



มีต่อ >>> ๒. ศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
 


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 17 ส.ค. 2010, 4:08 pm, ทั้งหมด 3 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 01 ต.ค.2006, 10:35 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๒. ศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

หลังจากการสังคายนาครั้งที่ ๓ ที่เมืองปาฏลีบุตร ปัจจุบันเรียกว่าเมืองปัตตนะ รัฐพิหาร เสร็จสิ้นแล้ว เมืองปาฏลีบุตรก็เป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยพระเจ้าอโศกมหาราชทรงประสงค์จะให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายไปยังนานาประเทศ จึงทรงแต่งตั้งศาสนทูตให้เที่ยวสั่งสอนพระพุทธศาสนาตามประเทศน้อยใหญ่ ในศิลาจารึกปรากฏว่าศาสนทูตของพระเจ้าอโศกได้ออกไปเที่ยวสั่งสอนพระพุทธศาสนาตามประเทศทางตะวันตก ถึงแคว้นไซบีเรีย อียิปต์ และมาซิโดเนียในยุโรป

ส่วนประเทศที่ใกล้เคียงติดต่อกับราชอาณาจักรของพระเจ้าอโศก และประเทศทางตะวันออกนี้ ก็ปรากฏว่า พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงอาราธนาพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระให้เลือกส่งพระอรหันต์ไปเที่ยวสั่งสอนพระพุทธศาสนา มีชื่อประเทศและนามพระอรหันต์ที่แยกย้ายกันไปในครั้งนั้น ได้แต่งไว้เป็นคาถาในคัมภีร์มหาวงศ์ไว้ดังนี้

เถโร โมคฺคลฺลิปุตฺโต โสชินสาสนโชตโก
นิฏฺฐาเปตฺวาน สงฺคีตึเปกฺขมาโน อนาคตํ
สาสนสฺส ปติฏฐานํปจฺจนฺเตสุ อเวกฺขิย
เปเสสิ กตฺติเก มาเสเต เต เถเร ตหึ ตหึ
เถรํ กสมิรคนฺธารํมชฺฌนฺติกมเปสยิ
อเปสยิ มหาเทวเถรํ มหีสมณฺฑลํ
วนวาสึ อเปเสสิเถรํ รกฺขิตนามกํ
ตถา ปรนฺตกํ โยนํธมฺมรกฺขิตนามกํ
มหารฏฺฐํ มหาธมฺมรกฺขิตตฺเถรนามกํ
มหารกฺขิตเถรนฺตุโยนโลกมเปสยิ
เปเสสิ มชฺฌิมํ เถรํหิมวนฺตปฺปเทสกํ
สุวณฺณภูมึ เถเร เทฺวโสณํ อุตฺตรเมว จ
มหามหินฺทเถรํ ตํเถรํ อิทฺธิยวุตติยํ
สมฺพลํ ภทฺทสาลญฺจสเก สทฺธิวิหาริเก
ลงฺกาทีเป มนุญฺญมฺหิมนุญฺญชินสาสนํ
ปติฏฺฐเปถ ตุเมฺหติปญฺจ เถเร อเปสยิ.


รายชื่อพระสมณทูตที่ได้ส่งไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามประเทศต่างๆ ๙ สาย(๑) ก็คือ

๑. พระมัชฌันติกเถระ ไปแคว้นกัศมีระและแคว้นคันธาระ แถบแคชเมียร์ ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน ทุกวันนี้ อยู่ปลายแดนแถบเขตอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือ

๒. พระมหาเทวะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่มหิสกมณฑล ได้แก่ แถบอินเดียตอนใต้ แม่น้ำโคธาวารี เขตรัฐไมซอร์ในปัจจุบัน

๓. พระรักขิตเถระ ไปวนวาสี แคว้นกนรา เขตเมืองบอมย์ในปัจจุบัน

๔. พระโยนกธรรมรักขิต ไปอปรันตกประเทศ เข้าใจว่าชายแดนปัญจาบข้างตะวันตก

๕. พระมหาธรรมรักขิต ไปมหารัฐประเทศ ปัจจุบันได้แก่ อันธรประเทศ

๖. พระมหารักขิตเถระ ไปโยนกประเทศ คือดินแดนแถบเปอร์เซีย ในทวีปเอเซียกลาง เหนืออิหร่านขึ้นไปจนถึงเตอรกีสถาน

๗. พระมัชฌิมเถระ ไปหิมวันตประเทศ คือเมืองที่อยู่ในหุบเขาหิมาลัยปัจจุบัน ได้แก่ ประเทศเนปาล

๘. พระโสณเถระและพระอุตตรเถระ ไปสุวรรณภูมิ ปัจจุบันก็คือ พม่า มอญ และไทย

๙. พระมหินทเถระ ซึ่งเป็นราชโอรสของพระเจ้าอโศก กับภิกษุอีกหลายรูปไปประเทศลังกา


.................................................................................

(๑) พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา,
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชนุภาพ, พ.ศ. ๒๕๐๕, น. ๓๙


มีต่อ >>> ๓. บ่อเกิดของนิกายและหลักธรรมที่สำคัญ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 03 ต.ค.2006, 6:50 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๓. บ่อเกิดของนิกายและหลักธรรมที่สำคัญ

เป็นเรื่องปกติธรรมดาของศาสนาใหญ่ๆ ที่เกิดมาในโลกนี้ ย่อมมีข้อแตกต่าง การปฏิบัติและความเห็นในการตีความหลักธรรมคำสั่งสอนของศาสดาที่ตนเองนับถืออาจไม่ตรงกันบ้างก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เช่น ศาสนาคริสต์ก็ยังแตกเป็นโรมันคาทอลิค และโปรเตสเตนต์ ของอิสลามก็ยังมีนิกายชีอะห์ และซุนนี่ เป็นต้น พระพุทธศาสนาก็เช่นกันมีเถรวาท มีมหายาน จุดหักเหที่สำคัญที่ทำให้มีความคิดเห็นแตกต่างกันของศาสนาต่างๆ ก็คือ สีลสามัญญตา การปฏิบัติขั้นพื้นฐานที่ไม่ตรงกัน และทิฏฐิสามัญญตา ความเห็นที่ไม่ตรงกัน สองสาเหตุนี้เองเป็นบ่อเกิดที่ทำให้เกิดลัทธิ นิกาย ความเชื่อ การปฏิบัติที่แตกต่างกันได้ แม้แต่ในศาสนาเดียวกันเมื่อศาสดาของศาสนานั้นๆ ยังอยู่ ความแตกแยกในข้อปฏิบัติก็ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อศาสดาต่างๆ ไม่มีอยู่แล้ว ความคิดความเห็นในหลักธรรมข้อปฏิบัติก็ตีความต่างกันออกไป เป็นเหตุให้เกิดนิกายต่างๆ มากมาย ต่อไปนี้จะนำมากล่าวเฉพาะนิกายที่สำคัญๆ ในสมัยพุทธกาลดังต่อไปนี้

นิกายมหาสังฆิกะ

นิกายมหาสังฆิกะนี้ถือได้ว่าเป็นต้นตระกูลบรรพบุรุษของมหายานเลยทีเดียว นิกายนี้เริ่มมีรอยร้าวกับนิกายเถรวาทตั้งแต่เมื่อคราวสังคายนาครั้งที่ ๑ ที่ฝ่ายเถรวาทไม่ได้เชิญฝ่ายมหาสังฆิกะเข้าร่วมสังคายนาด้วย เป็นสาเหตุของการไม่ยอมรับมติของการประชุมสังคายนา เพราะฝ่ายมหาสังฆิกะ ก็ถือว่าตนเองก็ได้ยินได้ฟังคำสั่งสอนเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ก็จะถือปฏิบัติตามที่ตนเองได้ยินได้ฟังมา ในคัมภีร์ทีปวงศ์(๑) กล่าวว่า ภิกษุฝ่ายมหาสังฆิกะปฏิเสธคัมภีร์อภิธรรม ชาดก ปฏิสัมภิทามรรค นิเทศ และคัมภีร์บริวาร แล้วได้แต่งพระสูตรเทียมและพระวินัยเทียมขึ้น ทีปวงศ์เป็นคัมภีร์ของพวกเถรวาทเขียน เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องยกย่องฝ่ายตน คัมภีร์ที่ฝ่ายมหาสังฆิกะปฏิเสธนั้น ไม่ใช่สุตตันตปิฎกหรือวินัยปิฎก แต่เป็นหนังสือขยายความพุทธพจน์ พวกมหาสังฆิกะมีปัญจปิฎก นอกจากพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม ยังเพิ่มโพธิสัตวปิฎก และธารณีปิฎกเข้ามา บางที ๒ ปิฎกข้างหลังนี้ ที่ท่านผู้แต่งคัมภีร์ทีปวงศ์กล่าวว่า แต่งพระสูตรเทียม พระวินัยเทียมขึ้น นิกายมหาสังฆิกะใช้ภาษาปรากฤตจารึกพระปิฎก เราสามารถสรุปทัศนะของนิกายมหาสังฆิกะโดยย่อได้ดังนี้

ทัศนะเกี่ยวกับพุทธลักษณะ มหาสังฆิกะถือว่า พระโพธิสัตว์ทั้งหลายนั้นไม่ประกอบด้วยกามสัญญา วิหิงสาสัญญา พระโพธิสัตว์ทั้งหลายอาจไปถือกำเนิดในอบายภูมิได้เพื่อโปรดสัตว์ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายเมื่อประสูติย่อมเสด็จออกมาทางปรัศเบื้องขวา

มหาสังฆิกะถือว่า พระโพธิสัตว์ไปถือกำเนิดในอบาย ๔ นั้น ไม่ใช่ไปด้วยอำนาจอกุศลกรรม แต่ไปด้วยอำนาจความกรุณาที่จะไปโปรดสัตว์ในรูปลักษณะของสัตว์นั้นๆ

มหาสังฆิกะถือว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระชนมายุไม่มีขอบเขต เป็นอมตะ การที่เราเห็นพระองค์แก่เฒ่า ประชวรและปรินิพพานนั้น เป็นเพียงอุบายของพระองค์ที่แสดงให้เห็นเป็นไปเท่านั้น พระองค์มีโลกุตตรภาวะทั้งรูปกายและนามกาย

มหาสังฆิกะถือว่า พระอรหันต์ไม่เสื่อมจากมรรคผล แต่พระโสดาบันเสื่อมจากมรรคผลได้

มหาสังฆิกะถือว่า "ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ ตญฺจ โข อาคนฺตุเกหิ อุปกฺกิเลเสหิ วิปฺปมุตฺตํ" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ปภัสสร แต่จิตนั้นแลต้องเศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสที่จรมา และจิตนั้นแลพ้นได้จากอุปกิเลสที่จรมา

นิกายสรวาสติ

นิกายสรวาสตินี้เป็นนิกายที่แยกออกจากเถรวาท เป็นคู่แข่งกับมหาสังฆิกะ ศูนย์กลางของนิกายนี้อยู่ในแคว้นกาศมีระ คันธาระ และอัฟกานิสถาน พระไตรปิฎกของของนิกายนี้ใช้ภาษาสันสกฤต นิกายนี้เผยแผ่หนักไปในทางอภิธรรม จึงมีนามเรียกใหม่ว่า "อภิธรรมวาที"(๒) อภิธรรมปิฎกของนิกายนี้กับทั้งปกรณ์พิเศษที่สำคัญ แม้ต้นฉบับภาษาสันสกฤตจะสูญหายไปแล้ว แต่ในภาคภาษาจีนได้แปลรักษาเอาไว้หมด เพราะฉะนั้นการค้นคว้าทางปรัชญาจากสำนักนี้ จึงต้องอาศัยพระไตรปิฎกจีนเป็นมาตรฐาน

วินัยปิฎกของนิกายนี้เรียกว่า "มูลสรวาสติวาท", "ภิกษุวินยะ", "ภิกษุณีวินยะ" ส่วนใหญ่คล้ายกับวินัยปิฎกภาษาบาลี พระสูตรเรียกว่า "อาคม" เช่น ทีฆนิกายก็เรียกว่า ทีรฆาคม สังยุตตนิกายก็เรียกว่า สังยุตตาคม เป็นต้น ส่วนอภิธรรมนั้นมี ๗ ปกรณ์เช่นเดียวกับบาลี แต่ชื่อปกรณ์และเนื้อความแตกต่างกันคือ

๑. อภิธรรมสังคีติบรรยายปาทศาสตร์
๒. อภิธรรมสกันธปาทศาสตร์
๓. อภิธรรมปรัชญาปติปาทศาสตร์
๔. อภิธรรมวิชญาณกายปาทศาสตร์
๕. อภิธรรมปกรณ์ปาทศาสตร์
๖. อภิธรรมธาตุกายปาทศาสตร์
๗. อภิธรรมชฺญาณปรสฺถานศาสตร์

หลักธรรมสำคัญของนิกายสรวาสติวาท

นิกายนี้เป็นประเภทสัจจนิยม (Realism) สภาวธรรมทุกสิ่งเป็นของมีอยู่จริง โดยถือเอาสภาวธรรมว่า ขึ้นชื่อว่าเป็นสภาวะแล้ว จะต้องมีอยู่เป็นอยู่ด้วยตัวของมันเอง ตลอดอดีต ปัจจุบัน อนาคต แต่พฤติการณ์ของสภาวธรรมเปลี่ยนแปลงไปได้ เปรียบเหมือนผืนผ้าผืนหนึ่งเมื่อไปย้อมดำ เราก็เรียกว่าผ้าดำ ผ้าผืนนั้นละจากความขาวไปสู่ความดำ แต่ไม่ละจากความเป็นผืนเดียวกันฉันใด สภาวธรรมมีขันธ์ ธาตุ อายตนะ ก็อาจมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปตามกาล แต่ไม่ละความเป็นขันธ์ ธาตุ อายตนะ ในตัวมันเองฉันนั้น

ด้วยเหตุผลข้อนี้นิกายนี้จึงยืนยันว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ล้วนเป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ ซึ่งตรงกันข้ามกับฝ่ายเถรวาทที่ถือว่า มีอยู่เฉพาะปัจจุบัน อดีตดับไปแล้ว อนาคตยังไม่เกิดขึ้น

นิกายสรวาสติวาทถือว่า พระอรหันต์มี ๒ อย่างคือ สมยวิมุตติอรหันต์ และอสมยวิมุตติอรหันต์ ประเภทแรกเสื่อมจากมรรคผลได้เพราะการบรรลุอรหันต์ต้องอาศัยโภชนสัปปายะ เสนาสนสัปปายะ อุตุสัปปายะ ส่วนอสมยวิมุตติอรหันต์การบรรลุไม่ต้องอาศัยกรณีแวดล้อม เพราะฉะนั้นจึงไม่เสื่อม

ฝ่ายเถรวาทคัดค้านว่า นิกายสรวาสติวาทนี้เข้าใจพุทธพจน์ผิด ในอรรถกถาปุคคลบัญญัติอธิบายสมยวิมุตติบุคคลว่าได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี ท่านได้ฌานแล้วเสื่อมเพราะเหตุแห่งวัตตเภทบางอย่าง เช่น พระโสดาบันตั้งใจว่าจะกวาดเสนาสนะ แต่เผลอลืมไปเข้าสมาบัติก็เข้าไม่ได้ เพราะว่ามีจิตกังวลอยู่ว่าเราจะทำอะไร เป็นต้น เมื่อไปทำสิ่งนั้นแล้วก็สามารถเข้าสมาบัติได้ ส่วนพระอนาคามีและพระอรหันต์ทุกจำพวกไม่เสื่อมจากมรรคผล

นิกายนี้ถือว่า มีอันตรภพอยู่ระหว่างจุติและปฏิสนธิ คือสัตว์ที่ทำลายขันธ์ในโลกนี้แล้วจะไปอยู่ในอันตรภพ ๗ วันบ้าง ๑๕ วันบ้าง เดือนหนึ่งบ้าง เพื่อรอคอยปฏิสนธิ นิกายนี้อ้างพุทธภาษิตในกรณียเมตตสูตรว่า "สัมภเวสี" คือสัตว์ผู้แสวงหาภพ มตินี้ฝ่ายเถรวาทคัดค้านว่า สัตว์ผู้ที่ยังมีกิเลสตัณหายังไม่หมดสิ้น โดยความหมายก็ได้แก่ พระอนาคามีลงมาจนถึงสัตว์ในอบายย่อมชื่อว่าสัมภเวสีทั้งนั้น

นิกายวัชชีบุตร

นิกายนี้ได้กล่าวมาแล้วเมื่อตอนทำสังคายนาครั้งที่ ๒ มีความขัดแย้งกับฝ่ายเถรวาทในเรื่องวัตถุ ๑๐ ประการ นิกายนี้มีความรุ่งเรืองมากในมคธและขยายไปยังอินเดียตอนใต้ตลอดไปจนตะวันตก เนื่องจากนิกายนี้ยอมรับในเรื่องอาตมันจึงถูกนิกายอื่นโจมตีอย่างมาก และมีความเชื่อในเรื่อง "บุคคล" หรือว่า "อัตตา" ว่ามีอยู่โดยปรมัตถ์ ซึ่งเป็นการตรงกันข้ามกับหลักอนัตตาของพระพุทธศาสนา แต่พวกวัชชีบุตรก็อธิบายเลี่ยงไปว่า "บุคคล" ของเขาไม่ใช่ขันธ์ ๕ และไม่อื่นไปจากขันธ์ ๕ เหมือนกับไฟ ไม่ใช่เชื้อไฟ แต่ก็ไม่ใช่อื่นไปจากเชื้อไฟ ความคิดเช่นนี้จึงถูกนิกายอื่นโจมตีอย่างมาก เรียกว่าเป็นนิกายนอกคอก

นิกายธรรมคุปตะ

นิกายธรรมคุปตะนี้มีทัศนะว่า ทานที่บุคคลถวายแด่พระพุทธเจ้านั้นมีอานิสงส์มากกว่าทานที่บุคคลถวายในสงฆ์ ฝ่ายเถรวาทไม่เห็นด้วยโดยยกเอาพุทธภาษิตที่ทรงตรัสว่า ทานที่บุคคลถวายแด่สงฆ์ทั้ง ๔ ทิศ ย่อมเป็นการบูชาพระองค์ด้วย เป็นทานที่มีผลมาก นิกายธรรมคุปตะยังถือว่าการบูชาพระสถูปเจดีย์ซึ่งบรรจุพระบรมธาตุได้บุญมากกว่าการถวายสังฆทาน

นิกายเสาตฺรนฺติกวาท

นิกายนี้กล่าวโจมตีอภิธรรมว่า ไม่ใช่พุทธพจน์ เผยแผ่แต่พระสูตรกับพระวินัยเท่านั้น เป็นคู่ปรับสำคัญกับนิกายสรวาสติวาท ซึ่งเผยแผ่แต่เรื่องอภิธรรม ต่างฝ่ายต่างมีหนังสือหักล้างซึ่งกันและกัน นิกายเสาตฺรนฺติกะ เชื่อว่าทุกๆ คนมีธาตุแห่งพุทธะอยู่ในตัว ซึ่งเป็นต้นเค้าของมหายานสาขาหนึ่ง


.................................................................................

(๑) เสถียร โพธินันทะ, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, ฉบับมุขปาฐะ เล่ม ๑, น. ๖๗
(๒) เสถียร โพธินันทะ, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, เรื่องเดิม, น. ๖๙


มีต่อ >>> ๔. พระเจ้าอโศกมหาราชกับพระพุทธศาสนา
 


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 17 ส.ค. 2010, 4:19 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 03 ต.ค.2006, 6:59 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๔. พระเจ้าอโศกมหาราชกับพระพุทธศาสนา

พระเจ้าพินทุสารมีพระราชโอรสเป็นจำนวนมาก พระโอรสพระองค์ใหญ่คือสุสิมะ พระราชโอรสที่สำคัญอีกพระองค์หนึ่งคือ "พระเจ้าอโศกมหาราช" ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา พระนามของพระเจ้าอโศกในศิลาจารึกเรียกว่า "เทวานัมปิยทัสสี" แปลว่า กษัตริย์ผู้เป็นที่รักใคร่ของเทพเจ้า พระองค์ได้แผ่แสนยานุภาพครอบงำตั้งแต่เทือกภูเขาหิมาลัยลงไปถึงปลายแหลมอินเดีย เป็นพระจักรพรรดิองค์แรกของอินเดียที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในราชสำนักของยุโรป ในชั้นเดิมนั้นพระเจ้าอโศกมหาราชทรงนับถือพวกอาชีวกนอกพระพุทธศาสนาตามพระราชมารดา

มูลเหตุที่ทำให้พระเจ้าอโศกมหาราชทรงมานับถือพระพุทธศาสนา เป็นเหตุการณ์หลังจากที่ทรงเสวยราชย์แล้ว ๘ ปี เมื่อพระองค์กรีธากองทัพไปบุกรุกราชอาณาจักรโอริสา คือแคว้นกาลิงคะ ซึ่งมีนครหลวงชื่อว่า ทันตะปุระ ในสมรภูมิครั้งนี้ ประชาชนชาวโอริสาถูกฆ่าตายไปต่อหน้าพระพักตร์กว่าแสนคน ได้สร้างความสะเทือนใจอย่างหนักแก่พระเจ้าจักรพรรดิองค์นี้ พระองค์ได้กล่าวความรู้สึกของพระองค์ไว้ในศิลาจารึกตอนหนึ่งว่า

"ในสงครามกาลิงคะคราวนี้ ข้าได้เห็นคนจำนวนมากกว่าแสนถูกประหารชีวิต คนเหล่านี้ ไม่ใช่ทหาร หลังจากนั้นข้าก็รู้สึกเสียใจต่อการกระทำครั้งนี้ ข้าเริ่มมุ่งหาธรรมะ เริ่มฝักใฝ่ในธรรม เพราะข้าประจักษ์แล้วว่า ชัยชนะอันสูงสุดนั้นมิได้เกิดจากแสนยานุภาพใดๆ แต่ต้องเป็นชัยชนะโดยธรรม ซึ่งจะเผล็ดผลคือความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า จึงขอประกาศแก่บรรดาบุตรหลานของข้าว่า จงทำแต่ธรรมวิชัย อย่าทำยุทธวิชัยเลย"

พระเจ้าอโศกได้พิจารณาลัทธิศาสนาต่างๆ ในอินเดียอย่างรอบคอบ ในที่สุดก็ทรงตัดสินพระทัยเลือกพระพุทธศาสนา พระคณาจารย์สองรูปในพระพุทธศาสนาได้เป็นผู้สอนธรรมแด่พระองค์ องค์หนึ่งคือพระอุปคุปต์เถระเป็นภิกษุในนิกายสรวาสติวาท อีกองค์หนึ่งคือ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ เป็นภิกษุในนิกายเถรวาท พระเจ้าอโศกได้ทรงนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้ในการปกครอง เรื่องราวต่างๆ มีปรากฏในหลักศิลาจารึกของพระองค์มากมาย เราสามารถสรุปชีวประวัติของพระองค์ได้ดังนี้

ทรงเริ่มขบวนการธรรมยาตรา โดยเสด็จเป็นตัวอย่างและมีคำกล่าวในหลักศิลาจารึกว่า "แต่ก่อนนี้ราษฎรทั้งหลาย จะได้ยินเสียงแต่ยุทธเภรี เสียงช้าง เสียงม้า เสียงโล่ห์ ศาสตราวุธกระทบกัน ครั้นมาบัดนี้ ราษฎรทั้งหลายจักได้ยินแต่เสียงธรรมเภรีแทน มีแต่เสียงเชิญชวนไปฟังธรรม เสียงเชิญชวนให้ไปปฏิบัติธรรม ส่วนตัวของข้าเอง แต่ก่อนนี้มีแต่เสด็จเพื่อยุทธวิชัย หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นการประพาสล่าสัตว์ ครั้นมาบัดนี้ ข้าเสด็จไปเพื่อธรรมวิชัย และการประพาสของข้าก็คือการเที่ยวถวายสักการะปูชนียสถานต่างๆ เยี่ยมเยือนสมณพราหมณ์ตามวัดต่างๆ หรือสนทนาธรรมกับสมณพราหมณ์เหล่านั้น"

ทรงประกาศห้ามฆ่าสัตว์ ทรงสร้างโรงพยาบาลสำหรับคนและสัตว์ โรงพยาบาลสัตว์จึงนับได้ว่าเป็นแห่งแรกของโลก ทรงดำเนินงานด้านสังคมสงเคราะห์คือ สร้างโรงเลี้ยง คนทุพพลภาพ คนชรา เด็กอนาถา ทรงขุดบ่อสาธารณะทุกหนแห่งทั่วประเทศ ทรงปลูกต้นยาสมุนไพรให้เป็นทานแก่คนและสัตว์ทั่วประเทศ

ทรงตั้งเจ้าหน้าที่กวดขันการปฏิบัติธรรม เรียกว่าธรรมมหาอำมาตย์ มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความประพฤติของข้าราชการ และชักชวนประชาชนให้มุ่งปฏิบัติธรรม ข้าราชการปฏิบัติธรรมดีก็ทรงประทานรางวัลให้ ธรรมมหาอำมาตย์เหล่านี้มีอยู่ประจำอยู่ทุกเมืองทุกแคว้นขึ้นตรงต่อพระองค์ ตรัสสั่งให้ไปประกาศแก่ชาวชนบทว่า ราษฎรทั้งหลายเป็นลูกของข้า ธรรมดาพ่อย่อมมีความปรารถนาดีในลูกของตนฉันใด ข้าก็มีความปรารถนาให้ราษฎรทั้งหลายมีความสุขทั้งในภพนี้ ภพหน้า เพราะฉะนั้นข้าราชการทั้งหลายอย่าโกงราษฎรซึ่งเท่ากับโกงลูกของข้าด้วย

ทรงดำเนินงานพระธรรมทูต ภายใต้การแนะนำของพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ พระองค์ได้ส่งคณะธรรมทูตออกไปประดิษฐานพระพุทธศาสนาในทิศต่างๆ ทั้งในอินเดียและต่างประเทศ ก่อนหน้ารัชสมัยของพระองค์นั้น พระพุทธศาสนามีแพร่หลายเพียงในเขตลุ่มแม่น้ำคงคาและยมุนาเท่านั้น แต่ถึงสมัยพระองค์กลายเป็นศาสนาที่แพร่หลายไปทั่วอินเดียและในต่างประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะต่างประเทศได้ส่งพระธรรมทูตไปถึงอัฟกานิสถาน ซีเรีย อียิปต์ และประเทศกรีกในยุโรป ฝรั่งชาติแรกที่นับถือพระพุทธศาสนาคือฝรั่งชาติกรีก และพระอรหันต์องค์แรกชื่อว่า พระโยนกธรรมรักขิต


มีต่อ >>> ๕. พระเจ้ากนิษกะมหาราช
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 พ.ย.2006, 7:07 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๕. พระเจ้ากนิษกะมหาราช

ตามประวัติศาสตร์อันยาวนาน พระมหากษัตริย์ที่ปกครองดินแดนชมพูทวีป พระเจ้าอโศกมหาราชนับได้ว่าเป็นผู้ที่มีประวัติที่เด่นและดีงามที่สุดในสายตาของชาวพุทธทั่วโลก ต่อจากพระเจ้าอโศกก็คือ พระเจ้ากนิษกะมหาราช อยู่ในราวปลายศตวรรษที่ ๕ พระองค์สืบเชื้อสายมาจาก เผ่าอินโดไซเธียน ได้อพยพลงมาสู่ลุ่มแม่น้ำอมูดาเรียในเตอรกีสถานตะวันตก ทำลายอาณาจักรบากเตรีย ซึ่งเป็นอาณาจักรของพวกกรีกลงได้ แล้วแผ่อิทธิพลเข้ามาสู่อัฟกานิสถาน ในตอนนี้พวกอินโดไซเธียนได้รับอารยธรรมของอินเดียทางภาษาไว้เป็นจำนวนมาก เช่น พระนามของพระเจ้า "กนิษกะ" เป็นต้น พระเจ้ากนิษกะทรงยึดแบบการทำงานของพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นหลัก พระองค์ทรงขยายอาณาเขตออกกว้างขวางมาก จักรวรรดิของพระองค์เริ่มจากเตอรกีสถานลงมาถึงลุ่มแม่น้ำคงคา พระเจ้ากนิษกะทรงเป็นพุทธมามกะนับถือพระพุทธศาสนา ทรงให้การทำนุบำรุง รักษา ก่อสร้างศาสนสถานขึ้นเป็นอันมาก ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ด้วยดี พระราชกิจประจำเดือนก็คือ การอาราธนาพระเถระในนิกายต่างๆ เข้าไปถวายพระธรรมเทศนาในพระราชวัง

แต่เนื่องด้วยรัชสมัยที่พระเจ้ากนิษกะครองราชย์นั้น พระสงฆ์มีความแตกแยกกันทางนิกายมาก พระธรรมเทศนาที่ท่านแสดงบางเรื่องก็ขัดกันเอง ทำให้พระเจ้ากนิษกะมหาราชเกิดความสงสัย จึงได้เรียนปรึกษากับพระปารศวะซึ่งเป็นพระเถระในนิกายสรวาสติวาท คณะสงฆ์ในนิกายสรวาสติวาท จึงขอร้องให้พระองค์ทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนา สังคายนาครั้งนี้ทำขึ้นที่กุณฑลวันวิหาร แคว้นกาศมีระ มีภิกษุและบัณฑิตคฤหัสถ์เข้าประชุมร่วมกัน โดยมี พระปารศวะ เป็นประธาน และยังมีพระเถระที่สำคัญอีกเช่น พระวสุมิตร พระอัศวโฆส เป็นต้น ที่ประชุมได้ร้อยกรองอรรถกถา พระไตรปิฎก เรียกว่า วิภาษาปิฎก ปิฎกละแสนโศลก รวมสามแสนโศลก

พระเจ้ากนิษกะโปรดให้จารึกพระไตรปิฎกและอรรถกถาเหล่านี้ไว้ในแผ่นทองแดง แล้วบรรจุไว้ในพระสถูปแล้วรักษาไว้มั่นคงเป็นต้นฉบับหลวง และการทำสังคายนาครั้งนี้เป็นการทำสังคายนาของฝ่ายนิกายสรวาสติวาท จึงไม่มีปรากฏในฝ่ายปกรณ์บาลีเลย อันนี้เราก็จะเห็นได้ชัดว่า เป็นความขัดแย้งกันทางด้านความคิดไม่ต้องการที่จะเชิดชูฝ่ายตรงกันข้ามกับนิกายที่ตนเองนับถือนั่นเอง ด้วยราชานุภาพของพระเจ้ากนิษกะพระพุทธศาสนาจึงแพร่หลายไปสู่ประเทศต่างๆ ทางฝ่ายเหนือของอินเดีย รวมทั้งประเทศจีนก็พลอยได้รับเอาพระพุทธศาสนาไปในตอนนี้ด้วย


มีต่อ >>> ๖. บ่อเกิดของการสร้างพระพุทธรูป
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 พ.ย.2006, 7:08 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๖. บ่อเกิดของการสร้างพระพุทธรูป


คนอินเดียที่นับถือพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาลหรือแม้กระทั่งหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว การที่จะสร้างรูปเคารพของพระองค์ไว้สักการะบูชาไม่ใคร่จะนิยมสร้างกัน เพราะถือว่าเป็นการล้อเลียนหรือแสดงออกในลักษณะที่ไม่เคารพต่อพระองค์ แต่เมื่อกาลผ่านพ้นไปนานเข้า เมื่อชนชาติกรีกได้กรีธาทัพเข้ามายึดครองอินเดีย และชนชาติกรีกนี้เองก็ได้รับอิทธิพลของพระพุทธศาสนา หันเข้ามานับถือพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ก่อนหน้าจะมานับถือพระพุทธศาสนา พวกกรีกนับถือพวกเทวรูปมาก่อนแล้ว เช่น เทวรูปอะพอลโล วีนัส เป็นต้น ชนชาติกรีกนั้นเป็นชาติที่แกะสลักหินที่เก่งที่สุดของโลก เรียกได้ว่าเป็นเจ้าแห่งศิลปะของการแกะสลัก ดังนั้น กรีกจึงถือว่าเป็นชนชาติแรกของโลกที่สร้าง "พุทธรูป" ขึ้น และพระพุทธรูปองค์แรกก็ถูกสร้างขึ้นที่คันธาระ ก็ด้วยแรงบันดาลใจที่กลับใจมานับถือพระพุทธศาสนาและต้องการสร้างพระพุทธรูปแทนเทวรูปให้ใกล้เคียงเหมือนมนุษย์ที่สุดไว้เป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธคุณต่อไป

พระพุทธรูปรุ่นแรกจึงนิยมเรียกกันว่า "พระพุทธรูปแบบคันธาระ"(๑) ดวงพระพักตร์กลม พระนาสิกโด่งอย่างฝรั่ง ส่วนพระวรกายเห็นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น อย่างชัดเจนภายใต้จีวรบางๆ พระพุทธรูปแบบนี้มีการขุดค้นพบมากมายในตอนเหนือของอินเดียและอัฟกานิสถาน ต่อมาจากนั้นอีกไม่นานก็เกิดพุทธศิลป์แบบอินเดียแท้ขึ้นมา เช่น ที่เมืองมถุราและเมืองอมราวดี ที่เมืองอมราวดีนี้ เป็นเมืองสำคัญของรัฐอันธระในอินเดียตอนใต้ พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก ในราวศตวรรษที่ ๗ - ๘ มีการสร้างพระสถูปใหญ่และพระพุทธรูปแบบอินเดียบริสุทธิ์ พระเกสาขมวดเป็นก้นหอย มีพระวรกายลักษณะเหมือนมนุษย์ ไม่เหมือนแบบคันธาระ นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา การสร้างพระพุทธรูปจึงแพร่หลายไปยังนานาอารยประเทศทั้งหลายในแถบเอเซีย

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ว่า พระพุทธรูปหินประทับยืนที่มีอายุถึง ๒,๐๐๐ ปีเศษ สมัยคันธาระที่แกะสลักไว้ที่หน้าผาของเมืองบามิยัน (Town of Bamiyan) เป็นพระพุทธรูปประทับยืนแกะสลักที่สูงที่สุดในโลก เป็นศิลปะที่ล้ำค่าหาที่เปรียบเทียบ มิได้ของชาวพุทธก็ได้ถูกระเบิดทำลายลงโดยกลุ่มผู้นำตาลีบัน (Taleban)(๒) ที่มีอำนาจในการปกครองประเทศอัฟกานิสถาน การทำลายประติมากรรมพระพุทธรูปหินซึ่งถือได้ว่าเป็นมรดกโลกครั้งนี้ของตาลีบัน ได้ถูกประณามจากทั่วโลก เป็นที่น่าเศร้าสลดใจอย่างยิ่งสำหรับชาวพุทธทั่วโลก แม้แต่ประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามก็ยังไม่เห็นด้วยกับการทำลายครั้งนี้ ประธานาธิบดีของประเทศอิหร่าน มูฮัมหมัด คาตามี (Mohammad Khatami) ก็ร่วมประณามกลุ่มตาลีบันว่าเป็นการกระทำที่ผิดพฤติกรรมของมนุษย์ เราจะเห็นได้ว่าประเทศที่เป็นอิสลามมีจิตใจเป็นธรรมเข้าใจในความเป็นมรดกโลกก็ยังไม่เห็นด้วย แม้ประเทศแถบยุโรปที่นับถือศาสนาคริสต์ก็ประณามในการกระทำของกลุ่มตาลีบันครั้งนี้ทั่วโลก

แต่กลุ่มตาลีบันกลับอ้างว่าเป็นเหมือนการทำลายเศษหินเศษปูนเท่านั้น ไม่ได้มีคุณค่าแต่อย่างใด กลับเป็นความภูมิใจของเขา และพวกเขาต้องการทำประเทศอัฟกานิสถานให้เป็นรัฐอิสลามที่บริสุทธิ์ของโลก (The World's Purest Islamic State) แต่น่าเสียดายพวกเขาได้ทำลายประวัติศาสตร์อารยธรรมของประเทศตนและมรดกโลกอย่างไม่มีวันจะหวนกลับมาดั่งเดิมอีกต่อไป

Image

พระพุทธรูปแกะสลักหินภูเขาปางประทับยืนที่สูงที่สุดในโลก ในเมืองบามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน ที่ถูกรัฐบาลตาลีบันทำลาย



.................................................................................

(๑) เสถียร โพธินันทะ, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, เรื่องเดิม, น. ๑๐๙
(๒)
http://www.asia.cnn.com/2001/WORLD/asiapcf/central/03/05/afghanistan.m5/index.htm



มีต่อ >>> บทที่ ๔
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 พ.ย.2006, 7:19 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

บทที่ ๔

๑. กำเนิดพระพุทธศาสนามหายาน
๒. นิกายมหายานในสมัยพุทธกาล
๓. พระพุทธศาสนาในสมัยราชวงศ์คุปตะ
๔. มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของโลก
๕. พุทธตันตรยาน
๖. พระพุทธศาสนาสมัยพระเจ้าศีลาทิตย์
๗. พระพุทธศาสนาเสื่อมจากประเทศอินเดีย
๘. ธัมมปาละฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 พ.ย.2006, 7:20 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๑. กำเนิดพระพุทธศาสนามหายาน

ความเลื่อมใสความเคารพอย่างสูงในองค์พระพุทธเจ้า ทำให้คนทั้งหลายไม่อยากคิดในทางที่ว่า การปรินิพพานของพระพุทธเจ้านั้นหมายถึงความดับสูญสลาย อยากจะให้พระพุทธเจ้ายังมีอยู่เป็นอยู่เสมอไม่เปลี่ยนแปลง เรื่องที่ยกเอาพระธรรมขึ้นมาแทนพระพุทธเจ้านั้น เป็นเรื่องที่จะให้คนทั้งหลายยอมรับนั้นเป็นการยากเหลือเกินสำหรับปุถุชน เราได้เห็นมาแล้วว่า ในประเทศอินเดียนั้น ความคิดความต้องการของคนเรานั้น มีความสำคัญในการตั้งหลักศาสนาเป็นอันมาก

เราจะเห็นได้ เช่น ในยุคพราหมณะ พราหมณ์ได้สร้างพระพรหมที่เรียกว่า ปรพรหม ให้ไม่มีเนื้อ มีตัวมีตนนั้น พระพรหมมีลักษณะเป็นจิต และจิตก็ไม่มีรูปร่างอย่างมนุษย์เป็นนามธรรม เมื่อเทพเจ้าคือพระพรหมมีลักษณะเป็นจิต การบวงสรวงบูชาเพื่อขอให้อำนวยผลประโยชน์ต่างๆ ตามวิสัยของพวกปุถุชนย่อมไม่สามารถกระทำได้ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยประสาทสัมผัส ก็ไม่เป็นที่ชอบใจพอใจของคนทั่วไปเท่าใดนัก คนไม่เห็นด้วย เพราะไม่สามารถจะบูชาปรพรหมซึ่งเป็นสภาวธรรมนั้นได้ ไม่รู้ว่าเป็นอะไร

ดังนั้น เพื่อให้ตรงกับความประสงค์และรสนิยมของประชาชน พราหมณ์จึงดัดแปลงแก้ไขเรื่องพรหมอีกนิดหน่อย แก้ไขจาก ปรพรหม มาเป็น อปรพรหม อปรพรหมก็คือ พรหมหรืออิศวร เป็นเทพเจ้าที่มีตัวมีตน ไม่เป็นนามธรรมเหมือนอย่างปรพรหม สามารถจะอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้เคารพบูชาได้ พวกพราหมณ์นั้นฉลาดปรับปรุงพระเจ้าให้ทันสมัยใหม่อยู่เสมอ แล้วจึงประกาศแก่ประชาชนว่า ความจริงพระพรหมนั้นมีตัวตน และมีถึง ๔ หน้า ๘ กร สามารถมองดูทิศทั้ง ๔ ได้ในเวลาเดียวกัน และดูความเป็นไปของชาวโลกได้ทุกหนทุกแห่งพร้อมกันได้ ช่วยชาวโลกได้มากกว่า เมื่อพระพรหมมีตัวตน และยังมีถึง ๔ หน้าอีก แถมยังไม่มีภรรยา ไม่ยุ่งเกี่ยวข้องด้านกามารมณ์เหมือนพระอินทร์ ประชาชนต่างก็นิยมชมชอบพอใจ แนวความคิดของพราหมณ์ที่สร้างพระพรหมเป็นที่พอใจของประชาชนนี้เอง ทำให้ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดูยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลเหนือจิตใจของชาวอินเดียอย่างไม่เสื่อมคลาย

ขบวนการของการเคลื่อนไหวพระพุทธศาสนามหายานก็เป็นเช่นเดียวกัน ความต้องการไม่อยากเห็นพระพุทธเจ้าดับสูญมีกำลังแรงมาก แรงจนกระทั่งแม้เมื่อก่อนที่จะแตกแยกออกเป็นมหายาน ผู้รู้ในทางพระพุทธศาสนา ก็ต้องคิดหาวิธีการที่จะทำความพอใจให้แก่คน ลงท้ายก็ต้องสร้างลัทธิขึ้นมาว่า พระพุทธเจ้านั้นมิได้มีองค์เดียว แต่ยังมีอีกหลายพระองค์ที่จะมาตรัสรู้ข้างหน้า จึงได้เกิดมีพระพุทธเจ้าในอนาคตขึ้น พระพุทธศาสนาได้ดัดแปลงอนุโลมตามความต้องการของประชาชนด้วยการคิดเรื่องราวในพระพุทธศาสนาว่าจะมีสิ่งใดที่พอจะแก้ไขได้ เพื่อสนองความเชื่อถือดังกล่าว มหายานได้คิดหลัก "โพธิจิต" ขึ้นคือ การที่คนเราจะมุ่งไปสู่พุทธภูมิได้นั้น จำต้องบำเพ็ญพระโพธิญาณ คือการกระทำตัวให้เป็นโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ และสิ่งจำเป็นที่สุดที่พระโพธิสัตว์ต้องปฏิบัติก็ได้แก่ ความเมตตากรุณาในการโปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์ พระโพธิสัตว์จึงต้องสะสมบารมีต่างๆ ในแต่ละชาติเพื่อมุ่งหวังพุทธภูมิเป็นจุดหมายปลายทาง

ฉะนั้น เมื่อบุคคลใดเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือ แทนที่จะกราบอ้อนวอนพระเจ้าของศาสนาพราหมณ์ให้ช่วย ก็เปลี่ยนมาเป็นบูชาขอให้พระโพธิสัตว์ช่วย เนื่องจากพระโพธิสัตว์ประกอบด้วยมหากรุณาอันไม่มีที่สิ้นสุด

เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ นิกายมหายานต้องการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในเวลานั้นศาสนาพราหมณ์เจริญรุ่งเรืองขึ้นมามาก ลัทธิมหายานจึงเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นคู่แข่งที่สำคัญของศาสนาพราหมณ์ นิกายมหายานจึงเกิดขึ้นตามสถานการณ์บังคับให้เกิด

พระเถระองค์สำคัญๆ ที่เป็นทัพหน้าในสมัยนั้น ก็ได้แก่ พระอัศวโฆษ ซึ่งเป็นผู้แต่งคัมภีร์มหายานศรัทโธปาทศาสตร์ และต่อมา พระนาคารชุน ก็เป็นองค์ที่สำคัญที่สุดที่ตั้งนิกายมหายานจนสามารถเป็นนิกายที่ทรงอิทธิพลมาก และได้แต่งหนังสือชื่อ ปรัชญามาธยมิกศาสตร์ หนังสือเล่มนี้ได้รวมเอาปรัชญาของนานานิกายในพุทธศาสนาไว้ด้วย

ทฤษฎีเรื่องตรีกาย

ในความเห็นของฝ่ายมหายานนั้นพระพุทธเจ้าเป็นทิพยภาวะ มีภาวะความเป็นอยู่คู่กับโลกเสมอ อย่าคิดว่าการปรินิพพานของพระพุทธองค์เป็นภาวะขาดศูนย์โดยสิ้นเชิง การปรินิพพานของพระองค์เป็นเพียงภาพมายาเท่านั้น โดยความเป็นจริงแล้ว พระพุทธเจ้านั้นเป็นอนาทิ เป็นอนันตะ ด้วยความเชื่อดังกล่าวพระพุทธเจ้าของมหายานจึงปรากฏมีพระกาย ๓ ลักษณะ ซึ่งเรียกกันว่า ตรีกาย คือ

๑. สัมโภคกาย คือพระกายที่เป็นทิพยภาวะ ประทับอยู่ ณ พุทธเกษตรของพระองค์ ทรงแสดงพระสัทธรรมอยู่ในแดนอื่นๆ พระพุทธเจ้าอาจมาปรากฏพระองค์แก่พวกเราได้

๒. นิรมานกาย คือพระกายที่พระองค์นิรมิตขึ้นมา เป็นพระกายเนื้อที่คนทั่วไปสามารถมองเห็นได้ เช่น ความทรุดโทรมด้วยความชรา และความดับขันธ์ เป็นต้น เป็นพระกายที่ทรงนิรมิตมาเพื่อบำเพ็ญพุทธกิจ

๓. ธรรมกาย คือความตรัสรู้ธรรมคือพระนิพพานนั่นเอง

อุดมคติของมหายาน

มหายานนั้นมีปรัชญาชีวิต ในการช่วยขนสัตวโลกให้ข้ามพ้นสังสารทุกข์ โดยยึดหลักอุดมคติประจำใจอย่างสูงส่งอยู่ ๓ ประการ คือ(๑)

๑. มหาปรัชญา หรือปัญญาอันยิ่งใหญ่ หมายความว่า จะต้องเป็นผู้มีสติปัญญารู้แจ้งสรรพสิ่งทั้งมวล ไม่ตกเป็นทาสของอธรรม

๒. มหากรุณา หมายความว่า จะต้องมีจิตเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย อย่างปราศจากขอบเขต พร้อมที่จะเสียสละตนเองทนทุกข์แทนสรรพสัตว์ เพื่อช่วยสัตว์ให้พ้นทุกข์และมหายานมีทัศนะต่อการบรรลุอรหันต์ว่า เป็นสิ่งคับแคบช่วยคนได้น้อย แต่มีโพธิจิตมุ่งพุทธภูมิมากกว่า เพราะกว่าจะถึงพุทธภูมิจะต้องบำเพ็ญบารมีช่วยเหลือสัตว์โลก สร้างบารมี ทาน ศีล ความเพียรเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน

๓. มหาอุปาย หมายความว่า พระโพธิสัตว์ต้องรู้จักอุบายที่ฉลาดในการช่วยเหลือสรรพสัตว์ มีปฏิภาณรอบรู้ สามารถชักนำสัตว์โง่เขลาให้เข้าถึงสัจธรรม

อุดมคติของพระโพธิสัตว์ทั้งสามข้อนี้ นับเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ข้อแรกหมายถึงการบำเพ็ญประโยชน์ของตนให้เพียบพร้อมสมบูรณ์ ส่วนสองข้อหลัง เป็นการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น เมตตาช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์ และเป็นการสืบอายุพระศาสนาพร้อมทั้งเผยแผ่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้แพร่หลาย

พระเถระผู้เป็นกำลังสำคัญของมหายาน

พระอัศวโฆษ พระเถระอัศวโฆษรูปนี้เป็นชาวเมืองสาเกต และเป็นภิกษุในนิกายสรวาสติวาท เป็นจินตกวีที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ท่านได้แต่งหนังสือเรื่อง "พุทธจริต" เป็นการพรรณนาถึงพุทธประวัตินั่นเอง นับเป็นแบบอย่างของวรรณคดีสันสกฤตในรุ่นหลัง นอกจากหนังสือพุทธจริตแล้ว พระอัศวโฆษยังได้แต่งหนังสืออิงหลักธรรมอีกหลายเรื่อง เช่น "เสาทรนันท์" เป็นหนังสือที่ชักชวนให้ประชาชนหันมานับถือพระพุทธศาสนาได้เป็นจำนวนมาก

พระนาคารชุน พระนาคารชุนมีชีวิตอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๗ เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด เรียกว่าเป็นเพชรน้ำเอกของมหายานก็ว่าได้ ท่านเกิดในวรรณพราหมณ์ในอินเดียตอนใต้ มีความรอบรู้ทั้งเถรวาท และมหายาน เป็นอย่างดี พระนาคารชุนได้แต่งหนังสือเด่นมาก คือ "ปรัชญาปารมิตาสูตร" หนังสือวิสุทธิมรรคได้รับการยกย่องว่าเป็นคัมภีร์ที่ดีเยี่ยมของฝ่ายเถรวาทฉันใด หนังสือปรัชญาปารมิตาสูตร หรือปรัชญามาธยมิกะ ของพระนาคารชุน ได้รับการยกย่องว่าเป็นคัมภีร์ที่ดีเยี่ยมของ ฝ่ายมหายานฉันนั้น

นิกายมหายานที่สามารถแพร่หลายอย่างกว้างขวางไปในชนทุกระดับชั้นได้อย่างรวดเร็วก็ด้วยอาศัยพระคณาจารย์องค์สำคัญๆ ที่เป็นผู้วางรากฐานของนิกายมหายานในสมัยเริ่มแรกก็มีอยู่ ๔ ท่านด้วยกัน คือพระอัศวโฆษ พระนาคารชุน พระอารยเทพ และพระกุมารลัพธะ และภายหลังก็ยังมีอีกหลายรูป เช่น พระชินบุตร พระวิชัยมิตร พระจันทรกีรติ เป็นต้น


.................................................................................

(๑) สารัตถธรรมมหายาน, พระคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (เย็นเจี่ยว),
วัดมังกรกมลาวาส, พ.ศ. ๒๕๑๓, น. ๑๘๒


มีต่อ >>> ๒. นิกายมหายานในสมัยพุทธกาล
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 พ.ย.2006, 7:21 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๒. นิกายมหายานในสมัยพุทธกาล

นิกายมหายานที่แพร่หลายในอินเดียสมัยพุทธกาล เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วก็มีอยู่ ๓ ทัศนะด้วยกัน(๑) คือ

- นิกายศูนยวาท
- นิกายโยคาจาร
- นิกายจิตอมตวาท

นิกายศูนยวาท นิกายนี้บางครั้งก็เรียกว่า มาธยมิกะ แปลว่านิกายสายกลางท่านผู้เป็นต้น นิกายศูนยวาทก็คือพระนาคารชุนนั่นเอง มีชีวิตอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๗ พระนาคารชุนได้อธิบายด้วยระบบวิภาษวิธีซึ่งก่อให้เกิดความตื่นเต้นในวงการนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก งานสำคัญของพระนาคารชุนก็คือหนังสือปรัชญาปารมิตาสูตรหรือปรัชญาศูนยวาท เป็นหนังสืออย่างที่โลกทางพระพุทธศาสนาไม่เคยมีมาก่อน เป็นหนังสือที่เสนอแนวความคิดใหม่ๆ ให้กับคนได้เข้าใจหลักพระพุทธศาสนา หนังสือปรัชญาปารมิตาสูตรถือเป็นเพชรน้ำเอกของมหายานที่ได้อธิบายเกี่ยวกับพุทธมติด้วยหลักตรรกวิทยา (Syllogism) เช่นว่า "การทำความชั่วทุกอย่างควรถูกตำหนิ การพูดมุสาเป็นความชั่วชนิดหนึ่ง ฉะนั้น การพูดมุสาจึงควรถูกตำหนิ" เป็นต้น

นิกายศูนยวาทได้อธิบายว่า คำว่า "ศูนยตา" ไม่ได้หมายความว่าไม่มีอะไรเลย เหมือนกับ เลขศูนย์ ( ๐ ) ของไทยเรา คำว่า "ศูนยตา" ต่างกับคำว่า อุจเฉทะหรือนัตถิกะ ซึ่งแปลว่าขาดศูนย์ไม่มีอะไรเลย เป็นคำปฏิเสธแบบเด็ดขาด ศูนยตาหมายถึงความไม่มี สวลักษณะ หรือ สวภาวะ เท่านั้น คือไม่มีสิ่งใดในโลกที่จะเป็นอยู่ด้วยตัวมันเอง โดยไม่มีความสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ อีก นิกายศูนยวาทถือว่า ทุกสิ่งเป็นสิ่งสัมพันธ์กันหมด มีข้อเปรียบเทียบที่เห็นได้ง่ายก็คือ ความยาว กับ ความสั้น โดยความรู้สึกทั่วไปของคนเราเข้าใจว่ามันมีอยู่ แต่โดยความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้มีอยู่อย่างที่เราเข้าใจ

เช่น

A ---------------------------------------
B -----------------------------------------------
C ---------------------------------------------------------

จะเห็นว่า ความยาวและความสั้นมีได้เพราะความสัมพันธ์กัน ถ้าปราศจากความสัมพันธ์กันแล้วความยาวความสั้นก็ไม่มี นั่นก็หมายความว่าสวลักษณะของความยาวและความสั้นไม่มี เมื่อสวลักษณะไม่มีเช่นนี้ จึงเรียกว่า "ศูนยตา" เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ปรัชญาศูนยตาของท่านนาคารชุนนั้นถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรจะคงอยู่เป็นอยู่ด้วยสภาวะของตัวมันเองได้ โดยสมมติสัจจะ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเห็นและไม่เห็นเป็นเพียงภาพมายา โดยปรมัตถสัจจะแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นศูนยตา แม้แต่การหลุดพ้นก็เป็นศูนยตา ท่านนาคารชุนได้อธิบายว่าเมื่อ สังขตะเป็นศูนยตา อสังขตะก็เป็นศูนยตาไปด้วย นิพพานจึงไม่เป็นทั้ง ภาวะและอภาวะ ไม่เป็นทั้ง อัตตาและอนัตตา อยู่เหนือสภาวะทั้งสองโดยสิ้นเชิง

นิกายโยคาจาร นิกายนี้บางครั้งก็เรียกว่า วิชญาณวาท หรือวิญญาณวาท มีความเห็นที่ตรงกันข้ามกับนิกายศูนยวาท และเป็นนิกายคู่ปรับของนิกายศูนยวาทเป็นอย่างมาก คณาจารย์ผู้เป็นต้นกำเนิดของนิกายนี้คือ พระไมตรียนาถ ท่านได้เขียนคัมภีร์ชื่อว่า อภิสมยลังการ มีสานุศิษย์ที่เด่นอยู่ท่านหนึ่งชื่อว่า พระอสังคะ ท่านได้แต่งตำรามากมาย เช่น โยคาจารภูมิศาสตร์ เป็นต้น และมีน้องชายอีกคนหนึ่งชื่อว่า วสุพันธุ ท่านอสังคะและวสุพันธุเดิมนั้นบวชเรียนอยู่ในนิกายสรวาสติวาท มาภายหลังจึงแปลงมาเป็นมหายาน

นิกายโยคาจารมีหลักปรัชญาว่า "สรรพสิ่งในโลกล้วนเป็นภาพสะท้อนออกไปจากดวงจิต เรียกว่า อาลยวิญญาณ" อาลยวิญญาณคือธาตุรู้ มีหน้าที่อยู่ ๓ ประการคือ

๑. มีหน้าที่รู้เก็บ คือเก็บเอาพลังของการกระทำทุกอย่างไม่ให้ขาดตกบกพร่อง สิ่งต่างๆ ที่ถูกนำมาเก็บไว้ในอาลยวิญญาณนี้เรียกว่า "พีชะ" เช่น กุศลพีชะ อกุศลพีชะ อัพยากตพีชะ เป็นต้น

๒. มีหน้าที่รู้ก่อ คือก่อสร้างอารมณ์ต่างๆ ออกมา เช่น อารมณ์ โลภ โกรธ หลง เป็นต้น เป็นปรากฏการณ์ของอาลยวิญญาณทั้งสิ้น รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเช่น ภูเขา แม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง เป็นต้น

๓. มีหน้าที่ปรุง คือปรุงแต่งอารมณ์ให้วิจิตรพิสดารออกไป เป็นไปตามกระแสแห่งตัณหา ปรุงแต่งกรรมดีบ้าง กรรมชั่วบ้าง ก่อให้เกิดผลวิบาก ส่งผลเป็นพีชะเข้าไปเก็บไว้ในอาลยวิญญาณอีกวนเวียนอยู่อย่างนี้จนกว่าจะสิ้นภพหมดชาติ

สรุปได้ว่า นิกายโยคาจารเป็นพวกประเภท "จิตนิยม" (Idealism) เพราะนิกายนี้ถือว่าจิตเป็นสิ่งสำคัญกว่าร่างกายหรือวัตถุ โดยสอนว่าโลกวัตถุเป็นเพียงมโนภาพ เพราะเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งออกไปจากพีชะในจิต ถ้าไม่มีอาลยวิญญาณเสียแล้ว สิ่งทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่มี เหมือนกับดวงอาทิตย์ ความจริงแล้วมีดวงเดียว แต่ปรากฏเป็นหลายดวงแก่คนตาพิการ เป็นต้น มันเป็นภาพสะท้อนออกไปจากพีชะในจิตนั่นเอง

ถ้าจะมีคำถามว่าเจ้าพีชะนั้นมาจากไหน ก็ตอบได้ว่าเจ้าตัวพีชะนั้นเป็นอนมตัคคพีชะคือพีชะที่มีเบื้องต้นท่ามและที่สุดไม่มีใครรู้ได้ ถ้าจะถามต่อไปว่า ถ้าโลกทางวัตถุเป็นเพียงมโนภาพซึ่งกระจายออกมาจากพีชะในอาลยวิญญาณแล้ว เราก็สามารถสร้างบ่อน้ำมันขึ้นในเมืองไทย สร้างภูเขาน้ำแข็งในเมืองไทยได้ ก็ตอบได้ว่าไม่ได้ เพราะสิ่งบางอย่างในโลกนี้เกิดจากสหกรรมของมนุษย์และสัตว์ดิรัจฉานร่วมกัน ย่อมมีกำเนิดแหล่งที่ชัดเจน จะมาสับเปลี่ยนภายหลังตามความชอบใจของใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้เลย นี้คือทัศนะของนิกายโยคาจาร

ข้อสังเกต : นิกายศูนยวาทกับนิกายโยคาจาร เป็นคู่ปรับกันมาทุกยุคทุกสมัย เหมือนขมิ้น กับปูนหรือน้ำกับน้ำมันไม่สามารถจะระคนปนกันไปได้ ข้อที่แตกต่างกันก็คือความเห็นในเรื่อง สวลักษณะหรือสวภาวะ

นิกายศูนยวาทถือว่า โดยโลกสมมติ โลกนิรุตติ หรือโลกบัญญัติแล้วสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่มีสวลักษณะหรือสวภาวะในตัวของมันเอง เป็นมายาทั้งหมด และโดยปรมัตถสัจจะแล้ว สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็น ศูนยตา

นิกายโยคาจารถือว่า โดยโลกสมมติ โลกนิรุตติ หรือโลกบัญญัติแล้วสิ่งทั้งหลายทั้งปวงจะเป็นมายาไปทั้งหมดไม่ได้ แม้มองจากภายนอกจะไม่ใช่ของจริง แต่พีชะที่มาจากอาลยวิญญาณจนเป็นบ่อเกิดของภาพเหล่านั้นมีสวลักษณะอยู่ด้วย โดยปรมัตถ์ก็ไม่ได้สูญเสียไปทั้งหมด

ยกตัวอย่าง ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีสวลักษณะอยู่ภายในตัวของมันเองแล้ว คนเราทำความชั่ววันนี้ พรุ่งนี้ก็ไม่ต้องรับความชั่วที่ตัวเองได้กระทำไว้ ถ้าไม่มีสวลักษณะหรือสวภาวะอยู่แล้วใครเล่าจะเป็นคนคอยรับบุญรับบาป นายแดงทำความชั่ววันนี้พรุ่งนี้ก็กลายเป็นคนละคนไปแล้วไม่ต้องรับความชั่วที่ตัวก่อไว้ เหมือนกับปลูกมะละกอถ้าไม่มีสวลักษณะอยู่ก็กลายเป็นมะม่วงมะพร้าวไป

สรุปแล้วนิกายทั้ง ๒ ตีความหมายให้คำนิยามสวลักษณะแตกต่างกัน ฝ่ายศูนยวาทถือว่าขึ้นชื่อว่าสวลักษณะแล้วจะต้องเที่ยงเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ฝ่ายโยคาจารถือว่าสวลักษณะนั้นเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถึงจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ยังรักษาคุณสมบัติเดิมเอาไว้ได้ ดังนั้น ฝ่ายศูนยวาทจึงประณาม พวกโยคาจารว่าเป็นพวกสัสสตวาท ฝ่ายโยคาจารก็ประณามพวกศูนยวาทว่าเป็นพวกนัตถิกวาทะ

นิกายจิตอตวาท

นิกายจิตอมตวาทนี้ไม่ปรากฏนามผู้ก่อตั้ง แต่เจริญมากในสมัยราชวงศ์คุปตะเป็นสมัยที่มีการฟื้นฟูวรรณคดีสันสกฤตและปรัชญาฮินดู อิทธิพลทางปรัชญาฮินดูได้เข้ามาครอบงำทัศนะของนักคิดชาวพุทธในยุคนี้อยู่มาก คำสอนของมหายานนิกายนี้มีความเห็นตรงกันข้ามกับนิกายศูนยวาทและ โยคาจาร คือสอนว่า จักรภพมีรากฐานมาจากสมบูรณภาพ จากสิ่งนี้เองสมบูรณภาพจึงก่อให้เกิดจักรภพชีวิตขึ้น ภาวะอันเป็นแก่นเดิมของโลกคือความจริงแท้ แม้แต่สิ่งมายาก็มีรากฐานมาจากภาวะอันแท้จริงนั่นเอง

นิกายจิตอมตวาทมีทัศนะเกี่ยวกับเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถือว่าเป็นเพียงส่วนเบื้องต้น เท่านั้น เป็นเพียงปริยายธรรม ยังมีธรรมที่สุขุมคัมภีรภาพไปกว่านั้น คือธรรมที่แสดงถึง นิจจัง สุขัง และอัตตา การที่พระองค์ทรงแสดงอนัตตาก็เพื่อให้เราได้เข้าถึงอัตตาที่แท้จริง กล่าวคือสมบูรณภาพหรือพุทธภาวะ โลกจะปรากฏขึ้นได้ก็ต้องอาศัยสมบูรณภาพนี้เป็นแก่น เพราะฉะนั้น สรรพสิ่งเมื่อมองในแง่สมบูรณภาพก็เป็นภาวะอันเดียวกัน คือทุกๆ สิ่งมีอยู่ในพุทธภาวะ และพุทธภาวะมีอยู่ในทุกๆ สิ่ง

นิกายนี้ได้อธิบายว่า ธรรมดาของจิตหรือสมบูรณภาพนั้น เที่ยงแท้ ไม่เกิด ไม่ดับ เบื้องต้น ไม่ปรากฏ เบื้องปลายไม่ปรากฏ แต่ที่เห็นเกิดดับนั้นเป็นเพียงอาการของจิตเท่านั้น ไม่ใช่ตัวจิต เพราะฉะนั้น จิตจึงไม่ใช่วิญญาณขันธ์ (ความเห็นอย่างนี้ทุกนิกายก็ไม่เห็นด้วย) จึงกล่าวตำหนิพวกจิตอมตวาทว่าเป็นพวกขันธ์ ๖ เมื่อจิตไม่ใช่วิญญาณขันธ์ จิตจึงเป็นผู้รู้ขันธ์ เป็นผู้ปล่อยขันธ์ เป็นผู้วางขันธ์ เปรียบเหมือนดวงอาทิตย์ ย่อมมีปกติส่องแสงสว่าง แต่บางคราวเกิดมืดมัว ก็มิได้หมายความว่าดวงอาทิตย์นั้นอับแสงไป แต่เป็นด้วยเหตุเมฆหมอกมาปกคลุม เปรียบเหมือนดังกิเลสมาตัณหามาบังพุทธภาวะในปุถุชน จิตอมตวาทเชื่อมั่นว่า สัตว์ทั้งปวงในวันหนึ่งข้างหน้าต้องตรัสรู้เหมือนกัน ต้องได้เป็นพุทธะหมด เพราะทุกคนมีโพธิจิตอยู่ในตัว


.................................................................................

(๑) เสถียร โพธินันทะ, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ฉบับมุขปาฐะ, เล่ม ๑ น. ๑๑๖


มีต่อ >>> ๓. พระพุทธศาสนาในสมัยราชวงศ์คุปตะ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 พ.ย.2006, 7:22 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๓. พระพุทธศาสนาในสมัยราชวงศ์คุปตะ

หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าอโศกมหาราชแล้ว ความแตกแยกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยก็มีมากขึ้น จนกระทั่งมาถึงประมาณในศตวรรษที่ ๘ พระเจ้าจันทรคุปต์ที่หนึ่ง ได้ทรงอภิเษกกับ เจ้าหญิงแห่งลิจฉวีวงศ์ ทรงตั้งราชวงศ์คุปตะขึ้นในแคว้นมคธ พระโอรสองค์หนึ่งของพระองค์ทรงพระนามว่าสมุทรคุปต์ ได้แผ่จักรวรรดิออกไปทั่วอินเดียภาคเหนือและภาคกลาง ทำให้รัฐต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำสินธุและคงคายอมรับพระเจ้าสมุทรคุปต์ว่าเป็นจักรพรรดิราชผู้ยิ่งใหญ่

พระเจ้าจักรพรรดิองค์นี้ ทรงเป็นผู้ที่เคร่งครัดในศาสนาฮินดู พระองค์ทรงได้รับการยกย่อง ว่าเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงดำรงความยุติธรรม ทรงส่งเสริมวรรณคดีและงานกวี กวีที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ก็คือ กาลิทาส ได้แต่งหนังสือที่มีชื่อเสียงอยู่หลายเรื่อง เช่น รฆุวงศ์ เมฆทูต เป็นต้น และยุคนี้ก็เป็นยุคที่วรรณคดีภาษาสันตกฤตได้รับการฟื้นฟูขึ้นเป็นอย่างมาก ปรับปรุงให้เป็นภาษามาตรฐาน เป็นแบบฉบับที่สมบูรณ์ในรัชสมัยของราชวงศ์คุปตะนี้เอง ศาสนาพราหมณ์ได้มีการปฏิรูปศาสนากันอย่างยิ่งใหญ่ พวกพราหมณ์ได้แต่งคัมภีร์ขึ้นมาคัมภีร์หนึ่งให้ชื่อว่า "ปุราณะ" เพื่อจะเอาชนะพระพุทธศาสนาโดยได้ใช้กลวิธีเฉโกฉลาดแกมโกง สร้างระบบลัทธิอวตารขึ้นมา โดยนำพระพุทธเจ้ามาเป็นอวตารปางหนึ่งของพระวิษณุ พระพุทธองค์ถูกจัดให้อยู่ในอวตารปางที่ ๙ คือ พุทธาวตารในบรรดาการอวตารปางสำคัญ ๑๐ ปาง เพื่อผนวกกลืนศาสนาพุทธอย่างฉ้อฉลที่แยบยลที่สุด คือเมื่อพระพุทธเจ้าเป็นอวตารปางหนึ่งของพระวิษณุแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปนับถือพระพุทธศาสนา นับถือศาสนาฮินดูก็มีผลเท่ากัน

การอวตารปางที่ ๙ ที่พราหมณ์เขียนไว้ในคัมภีร์ปุราณะนั้น ไม่ได้เชิดชูยกย่องหรือให้พระเกียรติพระพุทธเจ้าแต่อย่างใด โดยอธิบายว่า พวกอสูรไปเกิดบนสวรรค์กันมาก แย่งที่อยู่ของเทวดาพราหมณ์ เพราะฉะนั้น พระวิษณุจึงอวตารลงมาเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อสอนธรรมหลอกพวกอสูรไม่ให้ไปเกิดบนสวรรค์ สรุปแล้วชาวพุทธก็กลายเป็นพวกอสูรไป นี่เป็นแผนการณ์ที่ร้ายกาจมากของพวกพราหมณ์ในยุคนั้น


มีต่อ >>> ๔. มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของโลก
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 พ.ย.2006, 7:22 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๔. มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของโลก

พระพุทธศาสนานับได้ว่าเป็นศาสนาแรกของโลกที่ตั้งมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยในสมัยนั้นก็มีอยู่ ๕ แห่งด้วยกัน คือ นาลันทา วิกรมศิลา วัลภี โสมปุรี และชคัททละ มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดก็คือ มหาวิทยาลัยนาลันทา ปัจจุบันนี้ตั้งอยู่ในรัฐพิหาร เมืองปัตตนะ ในสมัยราชวงศ์คุปตะนี้พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ก็ทรงมีส่วนอุปถัมภ์สร้างกุฎีวิหารถวายพระสงฆ์ และได้รวบรวมวัดในบริเวณนั้นเข้าด้วยกันเพื่อตั้งเป็นมหาวิทยาลัยนาลันทาขึ้นมา ทำให้นาลันทากลายเป็นเมืองมหาวิทยาลัยที่ใหญ่โตที่สุด มีจำนวนนักศึกษาจำนวนนับหมื่น มีอาจารย์บรรยายถึง ๑,๕๐๐ รูป

หลักสูตรที่ใช้ศึกษากันในครั้งนั้นก็มีหลายแขนงสาขาวิชาด้วยกัน เช่น วิชาปรัชญา วิชา ตรรกวิทยา แพทย์ศาสตร์ เป็นต้น หรือจะเรียกว่า ปัญจวิทยา คือศึกษาหาความรู้ทางด้านหลักๆ ๕ ด้าน(๑) คือ

๑. อัธยาตมวิทยา ศึกษาความรู้ทางพระพุทธศาสนา และปรัชญาทั่วไป

๒. เหตุวิทยา ศึกษาหาเหตุผล เช่น ตรรกวิทยา การโต้วาที เป็นต้น

๓. ติกิจฉาวิทยา คือศึกษาวิชาแพทย์และเภสัชกรรม

๔. ศัพทวิทยา ศึกษาวิชาอักษรศาสตร์ วรรณคดีต่างๆ

๕. ศิลปวิทยา ศึกษาเรื่อสถาปัตยกรรม ช่างปั้น ช่างหล่อ เป็นต้น


.................................................................................

(๑) ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, พระโสภณคณาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ), พ.ศ. ๒๕๒๘, น. ๒๔๕

ดอกไม้ มหาวิทยาลัยนาลันทา มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของโลก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=39415


มีต่อ >>> ๕. พุทธตันตรยาน
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 พ.ย.2006, 7:23 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๕. พุทธตันตรยาน

พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในสมัยปลายราชวงศ์คุปตะ ได้รับเอาลัทธิตันตระของฮินดูเข้ามาปะปนในพระพุทธศาสนา จุดประสงค์ก็ต้องการจะแข่งกับฮินดู ทำให้ประชาชนหันกลับมานับถือเป็นจำนวนมาก เพราะตรงกับกิเลสของชาวบ้าน มหายานมีความเห็นว่าลำพังเนื้อแท้ของธรรมะ ยากที่ประชาชนจะเข้าถึงได้ง่ายๆ จึงคิดแก้ไขให้เหมือนศาสนาฮินดู มีการปลุกเสกลงเลขยันต์ ร่ายเวทมนต์ อาคมขลัง สะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา เสริมบารมี คือถือหลักอาคมมนต์ขลังเป็นสิ่งสำคัญ จนแทบจะไม่เหลือหลักธรรมแท้ๆ อยู่เลย สุดท้ายก็ยังรับ หลัก ๕ ม. ของตันตระเข้ามาใช้ประพฤติปฏิบัติอย่างเต็มตัว ซึ่งได้แก่

๑. มัสยา ปลา

๒. มางสะ เนื้อ

๓. ไมรยะ น้ำเมา

๔. มุทรา ยั่วให้เกิดกามราคะกำหนัด

๕. ไมถุนะ เสพเมถุน

โดยอธิบายว่า สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้บรรลุนิพพาน และเป็นเพียงมายา ผู้ที่หวังต้องการไปนิพพานต้องหาความสำราญในเรื่องเหล่านี้ เมื่อเสพสุขความสำราญจนเต็มที่ถึงที่สุด จะเกิดความเบื่อหน่ายไปเอง คนที่ได้ผ่านสิ่งเหล่านี้มาจะไม่อาจบรรลุนิพพานได้ เพราะจิตใจยังมีความลังเลสงสัย บางแห่งก็นำสตรีมาบูชาพระปลดเปลื้องเสื้อผ้า ทำการร่ายรำ บางแห่งก็หนักไปกว่านั้นมีการแสดงอนาจารต่อหน้าพระด้วย


มีต่อ >>> ๖. พระพุทธศาสนาสมัยพระเจ้าศีลาทิตย์
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 พ.ย.2006, 7:23 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๖. พระพุทธศาสนาสมัยพระเจ้าศีลาทิตย์

ในราวประมาณศตวรรษที่ ๑๐ เมื่อสิ้นราชวงศ์คุปตะแล้ว อินเดียก็เกิดการแตกแยกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยขาดความเป็นเอกภาพ จนกระทั่งมาถึงยุคของพระเจ้าศีลาทิตย์ หรือพระนามเดิมว่า หรรษวรรธนะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าประภากรวรรธนะแห่งเมืองธาเนศวร พระองค์อยู่ในฐานะพระมหากษัตริย์ที่เด่นมากพระองค์หนึ่งของอินเดีย พระเจ้าศีลาทิตย์ทรงพอพระทัยในรูปแบบการปกครองของพระเจ้าอโศกเป็นอย่างมาก และทรงดำเนินตามปฏิปทาของพระเจ้าอโศกหลายอย่าง เช่น

ทรงให้การสนับสนุนศาสนาทุกศาสนา ทรงสร้างโรงพยาบาล วิหาร ธรรมศาลา และสถานสงเคราะห์แก่ผู้ยากไร้

ทรงตั้งกฎมาฆาต คือห้ามการฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์ เว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ ทรงปฏิบัติเช่นเดียวกับพระเจ้าอโศก

ทรงจัดให้มีการประชุมศาสนาครั้งใหญ่ขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา โดยอาราธนานักบวชในพระพุทธศาสนา ศาสนาฮินดู และเชน เข้าร่วมประชุมโต้วาทีธรรมะกัน มีพระราชาจากแคว้นต่างๆ เข้าร่วมประชุมถึง ๒๐ องค์

ในสมัยของพระเจ้าศีลาทิตย์นี้เองได้มีภิกษุนักธุดงค์ชาวจีนที่มีชื่อเสียงก็คือ สมณะเฮี่ยงจัง ได้เดินทางมาถึงอินเดียและได้เข้าเฝ้าพระเจ้าศีลาทิตย์ด้วย ท่านได้เขียนบันทึกถึงพระจริยาวัตรของกษัตริย์องค์นี้อย่างละเอียดว่า ทุกๆ วันพระองค์จะต้องบำเพ็ญทานแก่พระสงฆ์ ๑,๐๐๐ รูป และทุกรอบ ๕ ปี พระองค์จะต้องบำเพ็ญมหาทานครั้งหนึ่ง ณ ตำบลปยาคะ ซึ่งเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่แม่น้ำคงคาและยมุนาสองสายไหลมาบรรจบกัน

พระเจ้าศีลาทิตย์ทรงครองราชย์อยู่ได้ประมาณ ๔๐ ปี ก็สวรรคต พระองค์ทรงให้การสนับสนุนพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จากนั้นอินเดียก็กลับเข้าสู่ยุคระส่ำระสายอีกครั้งหนึ่ง เริ่มด้วยเสนาบดีของพระองค์คนหนึ่งชื่อว่า อรชุน เป็นกบฎล้มล้างราชวงศ์หรรษะลงตั้งตนเป็นราชา แต่ก็ต้องเสียทีกองทัพจีนซึ่งยกข้ามภูเขาหิมาลัยเข้ามา มีกองทัพของพวกเนปาลและธิเบตเข้าร่วมด้วย พระเจ้าอรชุนถูกจับตัวไปเป็นเชลยในเมืองจีน ดังนั้น อินเดียจึงกลับไปสู่ระบบรัฐเล็กรัฐน้อยอีกครั้ง


มีต่อ >>> ๗. พระพุทธศาสนาเสื่อมจากประเทศอินเดีย
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 พ.ย.2006, 7:24 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๗. พระพุทธศาสนาเสื่อมจากประเทศอินเดีย

เป็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลายที่มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และก็ดับไป ศาสนาก็เป็นสังขารชนิดหนึ่งก็ตกอยู่ในลักษณะสามอย่างเหมือนกัน พอจะกล่าวได้ว่า ในรัชสมัยของ พระเจ้ายักษปาละ มีเสนาบดีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่า ราวเสน เป็นกบฎได้ทำลายราชวงศ์ปาละ แล้วตั้งวงศ์โสนะขึ้น พระพุทธศาสนาจึงไม่มีผู้นับถือในทางราชการ เพราะราชวงศ์โสนะเป็นฮินดู

ในไม่ช้ากองทัพของข้าศึกได้ยกทัพบุกตีมคธ เผาคัมภีร์หลักธรรมคำสั่งสอน เผามหาวิทยาลัยนาลันทาและวิกรมศิลาจนราบเป็นหน้ากลอง ปล้นสดมภ์เอาทรัพย์สมบัติตามวัดต่างๆ และฆ่าฟันภิกษุสงฆ์ทุกรูปที่พบเห็น พระพุทธศาสนาซึ่งเหลือที่มั่นจุดสุดท้ายที่แห่งนี้ ก็ถูกทำลายอย่างถอนรากถอนโคนจนไม่มีอะไรเหลืออีก คณะสงฆ์ที่รอดตายได้หนีเข้าไปในธิเบตและเนปาล ไม่มีผู้ใดกล้ากลับมาอินเดียอีก แต่อย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนาก็ได้ยืนหยัดทำประโยชน์แก่ชาวอินเดียได้นานถึง ๑,๗๐๐ กว่าปี

แต่พระพุทธศาสนากลับไปเจริญรุ่งเรืองในประเทศอื่นๆ รอบๆ อินเดีย แม้กระทั่งปัจจุบัน ชนชั้นปัญญาชนของประเทศทางภาคพื้นยุโรปและอเมริกา เมื่อได้ศึกษาหลักธรรมของศาสนาพุทธอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ต่างมีความเชื่อและศรัทธาศาสนาพุทธมากยิ่งขึ้นตามลำดับ หากศาสนาพุทธไม่ดีเลิศจริง ก็คงไม่สามารถชักจูงให้ชนชั้นปัญญาชนดังกล่าวมีศรัทธาในศาสนาได้อย่างแน่นอนปัจจุบันศาสนาพุทธแบ่งออกเป็นนิกายใหญ่ๆ ได้ ๒ นิกาย คือ

๑. ทักษิณนิกาย หรือเถรวาทนิกาย เผยแผ่อยู่ในประเทศแถบสุวรรณภูมิเกือบทั้งหมด ซึ่งก็ได้แก่ประเทศไทย พม่า ลาว เขมร รวมทั้งประเทศลังกาด้วย ตามหลักของนิกายมุ่งสอนให้ยึดถือหลักทฤษฎีอรหัตตมรรค เพื่อเป็นการมุ่งสู่พระอรหันต์หรือจุดหมายปลายทางคือพระนิพพาน

๒. อุตตรนิกาย หรือมหายานนิกาย นิกายนี้เผยแผ่ปรากฏในแถบประเทศจีน ญี่ปุ่น เนปาล เวียดนาม เกาหลีใต้ เป็นต้น มีหลักปฏิบัติเพื่อทำจิตของตนให้มีโพธิจิต เพื่อกระทำตนให้เป็นพระโพธิสัตว์ เป็นการสะสมบารมีมุ่งสู่พุทธภูมิ


มีต่อ >>> ๘. ธัมมปาละฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 พ.ย.2006, 7:25 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๘. ธัมมปาละฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย

ประเทศอินเดียได้ถูกประเทศตะวันตกคืออังกฤษปกครองมาประมาณ ๘๐๐ ปี(๑) จนกระทั่งมาถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๐ อินเดียก็ได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ มี มหาตะมะ คานธี เป็นผู้นำขบวนเรียกร้องขอเอกราชจากอังกฤษได้สำเร็จ ความดับสูญของพระพุทธศาสนาในอินเดีย เกิดขึ้นพร้อมกับความสูญเสียเอกราชของชาวอินเดียไปด้วย ครั้นเอกราชกลับคืนมาพระพุทธศาสนาก็เริ่มส่องแสงเรืองรองขึ้นมาใหม่ ชาวพุทธทั่วโลกต้องขอบคุณท่านเซอร์อเล็กซานเดอร์คันนิงเเฮม ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกขุดค้นโบราณสถานทางพระพุทธศาสนาให้ขึ้นมาปรากฏแก่สายตาชาวอินเดียและชาวโลก ทำให้ชาวอินเดียเริ่มสนใจต่อมรดกอันเก่าแก่ของตนเอง จึงเกิดการศึกษาพุทธศาสนาขึ้นในหมู่ปัญญาชนชาวอินเดีย แต่องค์กรเผยแผ่พุทธศาสนายังไม่เกิดขึ้น

จนมาถึงสมัย ท่านธัมมปาละ ท่านผู้นี้เป็นบุตรของคฤหบดีชาวลังกาในเมืองโคลัมโบ เวลานั้นในลังกาอิทธิพลของคาทอลิกครอบงำทั่วทุกหนทุกแห่ง เด็กชาวพุทธเกิดใหม่ต้องไปจดทะเบียนใช้ชื่อในศาสนาคริสต์ ดังนั้น ท่านธัมมปาละจึงมีชื่อว่า ดอน เดวิด ท่านต้องเข้าโรงเรียนมิชชันนารี เวลานั้นท่านอายุได้ ๗ ปี บิดาของท่านได้พาไปปฏิญญาต่อหน้าพระสุมังคลนายกเถระว่าจะไม่เปลี่ยน ศาสนาเมื่อท่านอายุได้ ๑๓ ปี วันหนึ่งได้นำหนังสือธรรมบทเข้าไปอ่านในชั้น บาทหลวงเห็นเข้าก็ไม่พอใจ แย่งหนังสือโยนทิ้งไปแล้วลงโทษท่าน พร้อมทั้งขู่ว่า "เจ้าเข้าใจพวกเราอย่างไร พวกเรามาที่นี่ก็เพื่อเปลี่ยนพวกเจ้าให้เป็นคาทอลิกหมด" การกระทำที่ป่าเถื่อนเช่นนี้ ฝังใจให้เด็กปาละเกิดความ รู้สึกที่จะต้องต่อสู้เพื่อพระพุทธศาสนา

ต่อมา ท่านได้ไปเรียนกฎหมายที่ประเทศอังกฤษ สำเร็จเป็นเนติบัณฑิตแล้วกลับมาลังกา แล้วรณรงค์ต่อสู้เพื่อเสรีภาพของชาวพุทธในลังกา ต่อมาก็เดินทางไปพุทธคยาพร้อมกับพระญี่ปุ่นชื่อว่าโกตาเสน ได้เห็นสภาพทรุดโทรมของพุทธคยาแล้ว ท่านเกิดความสะเทือนใจอย่างรุนแรง ได้กระทำสัจกิริยาถึง ๗ ครั้งหน้าพระศรีมหาโพธิ์ อุทิศชีวิตของตนเองเพื่องานฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย ท่านจึงถือเพศเป็นอนาคาริกะ มรดกที่ได้จากสกุลถูกนำมาทุ่มเทเพื่องานพระศาสนาจนหมดสิ้น ท่านได้ก่อตั้งพระศรีมหาโพธิ์สมาคมขึ้นที่กัลกัตตา และออกนิตยสารเผยแผ่พระพุทธศาสนาภาษาอังกฤษชื่อว่า มหาโพธิ รีวิว (Mahaphodhi Reviews) หนังสือฉบับนี้มีอายุยืนมาถึงปัจจุบัน นับเป็นนิตยสารทางพระพุทธศาสนาที่ยาวนานที่สุดในโลกในภาคภาษาอังกฤษ ทรัพย์สินของท่านหมดไปแทบจะสิ้นเนื้อประดาตัว

แต่เมฆดำมักจะมาก่อนฝนตกเสมอ ท่านธัมมปาละก็โชคดีเพราะในคราวที่มีการประชุมสันนิบาตศาสนาทั่วโลกที่ชิคาโก อเมริกา ท่านเป็นผู้แทนของชาวพุทธ เมื่อเดินทางผ่านเมืองฮอนโนลูลู ในหมู่เกาะฮาวาย มีเศรษฐินีชาวฮาวายผู้หนึ่งชื่อว่า มิสซิส อี.จี. ฟอสเตอร์ ได้มาขอคำแนะนำ จากท่านในเรื่องวิธีดับความโกรธ หลังจากฟังท่านปาฐกถา ๒ ชั่วโมง หญิงอเมริกันผู้นี้ได้กลายเป็นชาวพุทธไปทันที และปวารณาตัวเป็นอุปัฏฐายิกาของท่านตลอดชีวิต และได้สละทรัพย์มากมายช่วยเหลือท่านธัมมปาละฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย

ปัจจุบันนี้ ตึกของมหาโพธิ์สมาคมหลังหนึ่งในเมืองกัลกัตตาได้รับการตั้งชื่อตึกว่า อี. จี. ฟอสเตอร์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่มหาอุบาสิกาผู้นี้ ท่านธัมมปาละได้ตั้งมหาโพธิสมาคมตามสถานที่สำคัญๆ เกือบทุกแห่งและยังได้ตั้งมหาโพธิสมาคมในกรุงลอนดอนอีกด้วย ท่านได้ตรากตรำงานธรรมทูตกว่า ๕๐ ปี ท่านก็ถึงมรณกรรมในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ท่านเป็นภิกษุรูปแรกที่ได้อุปสมบทในสีมามูลคันธกุฎีวิหาร ปัจฉิมโอวาทของท่านก็คือ "ขอให้ข้าพเจ้าตายเร็วๆ ข้าพเจ้าไม่สามารถทนต่อพยาธิทุกข์นี้ได้ ขอให้ข้าพเจ้าได้เกิดใหม่อีก ๒๕ ครั้ง เพื่อประกาศพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" อัฐิของท่านได้ถูกนำไปสู่ลังกา มีประชาชนมาในงานต้อนรับกว่าหนึ่งแสนคน ท่านธัมมปาละถือได้ว่าเป็นบุคคลอมตะในโลกของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง


.................................................................................

(๑) เสถียร โพธินันทะ, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, ฉบับมุขปาฐะ, เล่ม ๑ น. ๑๗๑

ดอกไม้ ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=46053


มีต่อ >>> บทที่ ๕
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 พ.ย.2006, 7:25 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

บทที่ ๕

๑. พระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา
๒. พระพุทธศาสนาในประเทศธิเบต
๓. พระพุทธศาสนาในประเทศจีน
๔. สรุปนิกายพระพุทธศาสนาในประเทศจีน
๕. พระพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่น
๖. พระพุทธศาสนาในประเทศพม่า
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 พ.ย.2006, 7:26 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๑. พระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา

ก่อนเข้าถึงประวัติพระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา เรามารู้ประวัติของประเทศศรีลังกา สักเล็กน้อย ประเทศสาธารณรัฐสังคมประชาธิปไตยศรีลังกามีเนื้อที่ประมาณ ๖๕,๖๑๐ ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ ๑๘.๔ ล้านคน(๑) ภาษาที่ใช้ประจำชาติได้แก่ภาษาสิงหล ภาษาทมิฬและภาษาอังกฤษ อัตราการอ่านออกเขียนได้ของประชากรประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ด้านศาสนามีทั้งพระพุทธศาสนา ฮินดู คริสต์ และอิสลาม ปัจจุบันมีประธานาธิบดีเป็นผู้หญิงชื่อว่า จัณฑิกา กุมารตุงคะ

ประเทศศรีลังกาเป็นเกาะ อยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ทรัพยากรที่สำคัญของประเทศที่ส่งออกไปขายทั่วโลกเป็นที่รู้จักดี ก็คือ ใบชาซีลอน อัญมณี เนื้อมะพร้าวแห้ง ใบยาสูบ ยาง เป็นต้น

พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ลังกา

พระพุทธศาสนาเข้าไปสู่ประเทศศรีลังกาในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช หลังจากการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงจัดส่งสมณทูตออกไปประกาศพระพุทธศาสนายังนานาประเทศ สายที่เดินทางไปศรีลังกามี พระมหินทเถระ เป็นหัวหน้าสาย มีภิกษุอื่นอีก ๔ รูป สุมนสามเณร และอุบาสกอีก ๑ ท่านเป็นคณะเดินทางไปพร้อมกัน พระมหินเถระรูปนี้เป็นโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช ยังมีน้องสาวอีกองค์หนึ่งได้บวชเป็นภิกษุณีชื่อว่า พระสังฆมิตตาเถรี และพระเถรีรูปนี้ก็เป็นมารดาของสุมนสามเณร ซึ่งได้เดินทางร่วมไปกับพระมหินทเถระในครั้งนี้ด้วย

ลำดับเหตุการณ์ของพระพุทธศาสนาในศรีลังกา

ประเทศศรีลังกาในสมัยที่พระเจ้าอโศกมหาราชส่งสมณทูตมาเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้น มี พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ เป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครอง ความจริงแล้วพระองค์เคยได้ทราบข่าวพระพุทธศาสนามาก่อน โดยทรงติดต่อใกล้ชิดกับพระเจ้าอโศก คือพระเจ้าอโศกทรงเป็นอทิฏฐสหาย (เป็นสหายกันแต่ไม่เคยได้ทรงพบหน้ากัน) กับพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะมาก่อน พระเจ้าอโศกมหาราชก็ทรงชักชวนให้เข้ามานับถือพระพุทธศาสนา ครั้นทรงทราบว่าพระมหินทเถระลงไปประกาศพระพุทธศาสนาในดินแดนของพระองค์ หลังจากที่ได้พบพระเถระแล้วก็ทรงพระปีติโสมนัส ทรงประกาศองค์เป็นพุทธมามกะ ทรงให้การอุปถัมภ์พระเถระเป็นอย่างดียิ่ง ในการมาครั้งนี้มีผู้ได้ฟังธรรมจากพระเถระเป็นจำนวนมาก พระพุทธศาสนาได้ประดิษฐานตั้งมั่นในลังกาทวีปนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ประมาณศตวรรษที่ ๓

ในสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะนี้เอง ได้ส่งคณะทูตไปทูลขอกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ และพระบรมธาตุจากอินเดีย ทรงให้จัดการปลูกพระศรีมหาโพธิ์ในเมืองอนุราธบุรี ได้ทรงสร้างมหาวิหาร และถูปารามเจดีย์ อันเป็นพระเจดีย์องค์แรกในลังกา หลังจากรัชสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะแล้ว ลังกาเปลี่ยนผู้ปกครองบ้านเมืองเกิดความสับสนวุ่นวายอยู่เกือบร้อยปี

จนกระทั่งมาถึงสมัยของพระเจ้าทุฏฐคามิณีอภัย ทรงกู้ราชบัลลังก์คืนมาได้ พระองค์ทรงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ทรงทำนุบำรุงพระสงฆ์และทรงสร้างวัดและสถูปอีกหลายแห่ง เช่น โลหปราสาท และมหาสถูป ในเมืองอนุราธบุรี

ต่อมาถึงสมัยของ พระเจ้าวัฏฏคามิณีอภัย พระพุทธศาสนาเกิดความปั่นป่วนอยู่ชั่วระยะหนึ่ง เพราะเหตุการณ์บ้านการเมืองไม่สงบ พระเถระในลังกาได้ร่วมกันชำระทำสังคายนาครั้งที่ ๕ ขึ้น พระเจ้าวัฏฏคามิณีอภัยได้ทรงสร้างวิหารชื่อว่า "อภัยคีรีวิหาร" ถวายพระมหาติสสะเถระ ซึ่งต่อมาคณะสงฆ์ในฝ่ายอภัยคีรีวิหารก็มีความเห็นแตกต่างจากฝ่ายมหาวิหาร จนเป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกใน วงการคณะสงฆ์ลังกา

ความแตกแยกของสงฆ์ ๒ ฝ่าย

๑. คณะสงฆ์มหาวิหาร คณะสงฆ์ฝ่ายนี้เป็นพวกหัวอนุรักษ์นิยม (Conservative) เป็นพวกที่เคร่งในการประพฤติปฏิบัติ สามารถรักษาความบริสุทธิ์หลักคำสอนพระธรรมวินัยในนิกายฝ่ายเถรวาทไว้ได้อย่างสมบูรณ์

๒. คณะสงฆ์อภัยคีรีวิหาร คณะฝ่ายนี้เป็นพวกหัวเสรีนิยมก้าวหน้า (Modernism) ไม่มีความรังเกียจภิกษุต่างนิกาย ยินดีรับเอาความคิดเห็นของต่างนิกายเข้ามา เมื่อมีมหายานเกิดขึ้นแล้ว คณะอภัยคีรีจึงเป็นศูนย์สำคัญของมหายานในลังกาด้วย

พระพุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าสิริเมฆวัณณะ

หลังจากรัชสมัยของพระเจ้าวัฏฏคามิณีอภัย ก็มาถึงรัชสมัยของ พระเจ้าสิริเมฆวัณณะ พระองค์ได้มีการอัญเชิญพระทาฐธาตุมาจากทันตปุระในแคว้นกลิงครัฐ (เมืองโอริสา) มายังลังกาทวีป พระเจ้าแผ่นดินโปรดให้รักษาไว้ที่อภัยคีรีวิหาร และโปรดให้นำออกให้ประชาชนนมัสการเป็นประจำปี ซึ่งปัจจุบันนี้ พระธาตุก็ยังปรากฏอยู่ที่เมืองแคนดี้หรือแกนดี้ (Kandy) ชาวลังกาถือว่าเป็นสมบัติที่ใหญ่หลวงเป็นที่หวงแหนของชาติด้วย

พระพุทธศาสนาในสมัยพระเจ้ามหานามะ

หลังจากหมดรัชสมัยของพระเจ้าสิริเมฆวัณณะ ก็มาถึงสมัยของ พระเจ้ามหานามะ ในสมัยนี้มีการฟื้นฟูวรรณกรรมภาษาบาลีขึ้นเป็นอย่างมาก และเป็นผลงานของพระสงฆ์ฝ่ายมหาวิหาร ผลงานนี้ทำให้พระสงฆ์ฝ่ายมหาวิหารมีความรุ่งโรจน์กว่าคณะสงฆ์ฝ่ายอภัยคีรีวิหาร ผู้ที่มีบทบาทสำคัญก็คือพระพุทธโฆษาจารย์ซึ่งเป็นชาวอินเดีย ท่านได้เดินทางมาลังกาในระหว่างมาท่านได้สวนทางกับพระคณาจารย์คือพระพุทธทัตตาจารย์ เป็นชาวอินเดียทางตอนใต้ เดินทางเข้าไปศรีลังกาเพื่อต้องการเขียนคัมภีร์ อรรถกถาต่างๆ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร แต่ก็ได้ฝากปกรณ์สำคัญที่เขียนไว้เรื่องหนึ่งคือ "อภิธรรมาวตาร"

พระพุทธโฆษาจารย์ หลังจากเดินทางไปถึงลังกาแล้ว ก็ได้เข้าพักอยู่กับคณะสงฆ์ฝ่ายมหาวิหาร ท่านได้ถูกทดสอบสัมภาษณ์ความรู้หลายอย่างจากอธิการสงฆ์แห่งมหาวิหาร และสุดท้ายหนังสือที่ท่านแต่งนับเป็นเพชรน้ำเอกในวงการของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ก็คือหนังสือ "ปกรณ์วิเสสวิสุทธิ มรรค" หรือเรียกสั้นๆ ว่า หนังสือวิสุทธิมรรค เป็นการย่อความในพระไตรปิฎกไว้ทั้งหมด คือย่อเรื่อง ศีล สมาธิ และปัญญา ไว้ในเล่มเดียวกัน

แต่ก่อนที่จะมาถึงการแต่งคัมภีร์วิสุทธิมรรค ก็ได้มีคณาจารย์ท่านหนึ่งเป็นของฝ่ายอภัยคีรีวิหาร ชื่อว่า "อุปติสสะ" ท่านได้เขียนคัมภีร์ไว้หนึ่งเล่มแล้วชื่อว่า "วิมุตติมรรค" เนื้อความของคัมภีร์ไม่ค่อยมีความแตกต่างไปจากวิสุทธิมรรคมากนัก มีความเป็นไปได้สูงที่พระพุทธโฆษาจารย์จะได้แนวความคิดจากปกรณ์วิมุตติมรรคก็เป็นได้ และหนังสือวิสุทธิมรรคก็ได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์ฝ่ายมหาวิหาร ว่าเป็นหนังสือที่ดีที่สุดเท่าที่โลกพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยานหรือเถรวาทมีอยู่ พระพุทธโฆษาจารย์จึงได้รับความไว้วางใจให้ชำระวรรณกรรมภาษาบาลีทั้งหมด โดยถ่ายทอดจากภาษาสิงหลเป็นภาษามคธ เช่น สมันตปาสาทิกา กังขาวิตรณี ปปัญจสูทนี มโนรถปูรณี สารัตถ ปกาสินี ธัมมปทัฏฐกถา เป็นต้น

ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ การศึกษาอภิธรรมเจริญมากในลังกา และต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ลังกาย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่ โปโลนนรุวะ หรือปุรัตถิปุระ ที่นี่จึงกลายเป็นศูนย์พุทธศาสนาอีกแห่งหนึ่ง พระพุทธศาสนาเริ่มวิปริตผิดแผกแตกต่างกันมากขึ้น และในระยะสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ถึง ๑๗ บ้านเมืองเดือดร้อนวุ่นวายเพราะการเมืองบ่อยๆ ทำให้พระพุทธศาสนาปั่นป่วน และภิกษุณีสงฆ์ก็พลอยสูญสิ้นลงไปด้วย

พระพุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าวิชัยพาหุที่ ๑

ในรัชสมัย พระเจ้าวิชัยพาหุที่ ๑ พระองค์ได้ทรงเริ่มฟื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้นมาใหม่ ต่อมาก็ถึงรัชสมัยของ พระเจ้าปรักกมพาหุที่ ๑ ซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้าวิชัยพาหุที่ ๑ ทรงฟื้นฟูและบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ต่อจากพระราชบิดา จึงทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก แต่ในสมัยต่อๆ มาบ้านเมืองก็วุ่นวายอีก คณะสงฆ์แทบจะตั้งอยู่ไม่ได้ จนถึง พ.ศ. ๒๐๑๙ ก็ต้องมีการนำพระสงฆ์จากพม่าได้มาให้การอุปสมบทแก่กุลบุตรที่ลังกา

ประมาณ พ.ศ. ๒๐๕๐ ประเทศลังกาอ่อนแอลง โปรตุเกสมีอำนาจปกครอง นิกายโรมันคาทอลิครุ่งเรือง พระพุทธศาสนาได้รับการเบียดเบียนมากเสื่อมโทรมลง ในที่สุดต้องนำคณะสงฆ์จากพม่าไปให้การอุปสมบทในลังกาอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาชาวฮอลันดาเริ่มเข้ามามีอำนาจและขับไล่พวกโปรตุเกสออกไป แต่ฮอลันดานั้นเองก็ครอบครองลังกาแทน ซึ่งฮอลันดาพยายามหยั่งนิกายโปรเตสแตนท์ลง แต่ไม่สำเร็จ

เหมือนเป็นความโชคดีที่พระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า พระเจ้ากิตติราชสิงหะ ทรงได้รับคำแนะนำจากสามเณรรูปหนึ่งชื่อว่า "สรณังกร" ให้ส่งคณะทูตมายังประเทศไทย ซึ่งตรงกับสมัยของพระเจ้าบรมโกษฐ์แห่งกรุงศรีอยุธยา ขอสงฆ์ไปอุปสมบทกุลบุตรในลังกา และทางประเทศไทยก็ส่งคณะภิกษุไทยมี พระอุบาลีมหาเถระ เป็นประธานมาลังกา มีการต้อนรับภิกษุไทยอย่างมโหฬารที่เมืองแคนดี้ (Kandy) และต่อมาคณะภิกษุไทยก็ให้การอุปสมบทแบบไทยแก่กุลบุตรชาวลังกา และสามเณรที่ได้รับการอุปสมบทเป็นองค์แรกคือ สามเณรสรณังกร ท่านผู้นี้ต่อมาภายหลังได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชแห่งลังกา ในนิกายสยามวงศ์เป็นองค์แรก เป็นเหตุให้เกิดสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาขึ้น และมีมาตราบเท่าทุกวันนี้

สำหรับพระอุบาลีเถระนั้น ต่อมาได้อาพาธถึงแก่มรณภาพที่ลังกานั้นเอง ปัจจุบันอัฐิของท่านยังปรากฏอยู่ อาสนะที่ท่านนั่งอุปสมบทกุลบุตร ตลอดจนพัดรองที่ท่านใช้ประจำ ยังคงรักษาไว้คงรูปเดิมจัดเป็นปูชนียวัตถุของพระสงฆ์นิกายสยามวงศ์

ในสมัยเดียวกันนั้น ได้มีสามเณรกลุ่มหนึ่ง ออกไปรับการอุปสมบทในพม่า เมื่อกลับมาแล้วก็ตั้ง "อมรปุรนิกาย"(๒) ขึ้น และยังมีอีกพวกหนึ่งไปบวชแต่เมืองมอญแล้วนำตั้งเป็น "รามัญนิกาย" ขึ้น ข้อที่ผิดกันก็คือ ภิกษุในสยามนิกายนั้นส่วนมากเป็นผู้ดีชั้นสูงนิยมบวชกันโดยมาก ไม่นิยมรับคน ชั้นต่ำเข้ามาบวช เพราะฉะนั้น คนชั้นต่ำจึงหันไปบวชในอมรปุรนิกายและรามัญนิกายเป็นส่วนมากสรุปนิกายพระสงฆ์ในลังกามี ๓ นิกาย(๓)

๑. สยามนิกาย หรืออุบาลีวงศ์
๒. อมรปุรนิกาย หรือมรัมมวงศ์
๓. รามัญนิกาย เป็นนิกายที่เล็กที่สุด

ทั้ง ๓ นิกาย ยังแบ่งเป็นสาขาแตกแยกกันไปตามสำนักต่างๆ

ลังกาเสียเอกราชให้แก่อังกฤษ

หลังจากสิ้นรัชสมัยของพระเจ้ากิตติราชสิงหะไปแล้ว ความอ่อนแอเริ่มปรากฏให้เห็น มีการแย่งชิงกันในระหว่างพวกราชวงศ์กับพวกขุนนาง เผอิญฮอลันดาทำสงครามแพ้อังกฤษ อังกฤษได้เข้ามาครอบงำลังกา พวกขุนนางไปฝักใฝ่กับอังกฤษแล้วให้ถอดพระเจ้าแผ่นดินออกเสียเป็นชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน ผลสุดท้ายเกาะลังกาก็เป็นเมืองอาณานิคมขึ้นอยู่กับอังกฤษ ด้วยเหตุผลเพียงเพราะเกลียดชังพระราชาเท่านั้นเอง

แต่อย่างไรก็ตาม อังกฤษนับได้ว่าเป็นชาติที่ปกครองอาณานิคมได้ดีกว่าพวกโปรตุเกสและฮอลันดา อังกฤษไม่แตะต้องเสรีภาพในการนับถือศาสนา และพยายามทนุบำรุงพัฒนา ตลอดจนให้การศึกษาด้วย เราจะเห็นได้ว่าประเทศไหนก็ตามที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ อังกฤษจะช่วยการพัฒนาด้านการศึกษา ศาสนา และการสื่อสารให้ด้วย ไม่ใช่จะกอบโกยเอาทรัพยากรของประเทศนั้นๆ ไปอย่างเดียว ดูตัวอย่างประเทศที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ เช่น สิงคโปร์ มาเลเชีย และฮ่องกง เป็นต้น ซึ่งต่างจากฝรั่งเศส โปรตุเกส และฮอลันดา ดูตัวอย่างฝรั่งเศสปกครองเวียดนาม กัมพูชา หรือโปรตุเกสปกครองติมอร์ตะวันออกที่กำลังมีปัญหาอยู่ในปัจจุบันนี้ ประเทศเหล่านี้จะ สูบเลือดสูบเนื้อกอบโกยเอาทรัพยากรของประเทศอาณานิคมไปเกือบทั้งหมด

ประเทศศรีลังกาเมื่อหมดยุคอำนาจของโปรตุเกสและฮอลันดาแล้ว มาถึงยุคอังกฤษปกครองให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ประชาชนชาวพุทธไม่ถูกกดขี่เหมือนสมัยโปรตุเกสและฮอลันดา ชาวพุทธจึงเริ่มต่อสู้กับพวกคริสเตียนอย่างเปิดเผย มีพระเถระที่มีชื่อเสียงรูปหนึ่งของชาวลังกาชื่อว่า "พระคุณานันทเถระ" ได้ท้าพวกคริสเตียนโต้วาทีติดต่อกัน ๓ วัน ในท่ามกลางชาวพุทธและชาวคริสเตียนจำนวนมาก พระคุณานันทะได้หักล้างวาทะของพวกชาวคริสต์จนปราชัยไป ทำให้ชาวพุทธมีกำลังใจในการต่อสู้มากยิ่งขึ้น และในเวลาต่อมาคณะสงฆ์ลังกาได้ตั้งวิทยาลัยชั้นสูงขึ้น ๒ แห่ง คือ วิทยาลัยลังกาปิริเวน และวิทโยทยปิริเวน ทั้งสองแห่งได้ผลิตพระธรรมทูตออกมาต่อสู้กับพวกคริสต์ ครั้นต่อมามีนักรณรงค์ต่อสู้เพื่อปกป้องพระพุทธศาสนาคนสำคัญของศรีลังกามีชื่อว่า "ศรีเทวมิตธรรมปาละ" ได้ตั้งมหาโพธิสมาคมขึ้นเพื่อฟื้นฟูขบวนการชาตินิยมของลังกาขึ้นมา มีการตั้งสถานที่เลี้ยงเด็กกำพร้าอนาถา แต่ละแห่งจะมีพระสงฆ์องค์หนึ่งหรือสององค์ทุกๆ แห่งไป เหตุผลก็คือต้องการให้พระสงฆ์คอยให้โอวาทและอบรมสั่งสอนเด็กเหล่านี้ให้มีความประพฤติเรียบร้อย แต่ในสถานที่ที่มีเด็กหญิงอยู่ด้วยจะมีแม่ชีเป็นผู้คอยดูแลแทนพระภิกษุสงฆ์ ตั้งสมาคมยุวพุทธิกะแห่งสากลสิงหลเป็นสมาคมที่มีอิทธิพลมากที่สุด มีสมาชิกนับแสนคนได้รณรงค์ต่อสู้ สมาคมได้ตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้นเป็นจำนวนพันๆ แห่ง แม้ประเทศไทยก็ยังได้รูปแบบโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์มาจากประเทศศรีลังกา ในสมัยที่ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) พระองค์เสด็จไปดูงานพระพุทธศาสนาที่สมาคมมหาโพธิ์ของประเทศศรีลังกา ที่สารนารถ เมืองพาราณสี แล้วได้นำวิธีเหล่านั้นมาดำเนินการที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ประเทศศรีลังกายังเป็นผู้นำริเริ่มตั้งองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกขึ้น โดยมีการจัดประชุมเป็นครั้งแรกที่กรุงโคลัมโบ ครั้นต่อมาก็จัดที่ญี่ปุ่น พม่า ไทย เนปาล และเวียตนาม สำหรับประเทศไทยมีสำนักงานใหญ่องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกตั้งอยู่ริมถนนสุขุมวิท


.................................................................................

(๑) Manorama, Yearbook of India, 1996
(๒) ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, พระโสภณคณาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ), พ.ศ. ๒๕๒๘, น. ๓๐๗
(๓) เสถียร โพธินันทะ, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ฉบับมุขปาฐะ, เล่ม ๒ น. ๒


มีต่อ >>> ๒. พระพุทธศาสนาในประเทศธิเบต
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง