Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 บุคคลที่น่าสนใจในประวัติของพระพุทธเจ้า (เสฐียรพงษ์ วรรณปก) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 27 พ.ค.2007, 7:01 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

บุคคลที่น่าสนใจในประวัติของพระพุทธเจ้า
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก



เมื่อศึกษาพุทธประวัติ มีบุคคลหนึ่งที่น่าสนใจ และช่วยไขรหัสให้เข้าใจ “ความระหว่างบรรทัด” ได้อีกมาก บุคคลผู้นั้นคือ อุปกาชีวก พบพระพุทธเจ้ากำลังเสด็จดำเนินโดยพระบาทมุ่งตรงไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (ปัจจุบัน สารนาถ) แขวงเมืองพาราณสี เมื่อเห็นพระพักตร์ผ่องใส บุคลิคน่าเลื่อมใส จึงเข้าไปถามว่า ท่านเป็นใคร ท่านบวชอุทิศใคร (คือบวชอยู่กับใคร)

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เราตรัสรู้ชอบเอง...จะอ้างใครว่าเป็นครูเราเล่า”

“ถ้าเช่นนั้น ท่านก็เป็น “อนันตชินะ” สิ” ปริพาชกย้อนถาม พระพุทธองค์ไม่ตอบ อนันตชินะ คำนี้คงเป็นคำที่รู้จักกันดีในสมัยนั้น แปลตามตัวว่า “ผู้ชนะไม่มีที่สิ้นสุด” เป็นคำเรียกผู้สำเร็จผลขั้นสูงแห่งการฝึกฝนจิต

พระพุทธองค์ตรัสว่า “เราจะเดินทางไปแคว้นกาสี เพื่อลั่นกลองอมตเภรี และหมุนกงล้อคือพระธรรม ณ แคว้นกาสี”

อุปกะ กล่าวคำ (ที่เป็นปริศนาให้นักประวัติศาสตร์ต้องวิเคราะห์) ว่า “หุเวยฺยาวุโส” (หุเวยฺย พึงมีได้, เป็นได้ - อาวุโส, ท่านผู้มีอายุ, พ่อหนุ่ม, คุณ) แล้วก็สั่นศีรษะ หลีกทางไป พระพุทธองค์ก็เสด็จดำเนินถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ที่ปัญจวัคคีย์อาศัยอยู่ ทรงแสดง “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ว่าด้วยอริยสัจสี่ประการที่พระองค์ได้ตรัสรู้ ให้ปัญจวัคคีย์ฟัง โกณฑัญญะได้ “ดวงตาเห็นธรรม” (เข้าใจความจริง, บรรุลโสดาปัตติผล) ทูลขอบวช

ได้รับการอุปสมบทเป็น พระสาวกรูปแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา จากนั้นอีกสี่รูปที่เหลือ ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล และทูลขอบวชในวันต่อๆ มา แล้วทั้งห้ารูปก็ได้สดับ อนัตตลักขณสูตร (สูตรว่าด้วยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ได้บรรลุพระอรหัตผล สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมหน้ากัน ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

ที่พึงวิเคราะห์ก็คือ อาชีวกชื่อ อุปกะ เชื่อพระพุทธหรือไม่ ผู้แต่งพุทธประวัติส่วนมากจะบอกว่า อุปกะ ไม่เชื่อ ฟังพระพุทธดำรัสแล้ว สั่นศีรษะแล้วหลีกไป การ “สั่นศีรษะ” ก็บอกอยู่แล้วว่าไม่เชื่อ แถมยังเดินหนีอีกต่างหาก ไม่สนใจฟังธรรม บางฉบับเติมว่า “แลบลิ้นปลิ้นตาหลอก แล้วหลีกไป” เพื่อย้ำว่าไม่เชื่อจริงๆ ถ้าเชื่อแล้วจะแลบลิ้นหลอกทำไม

แต่ต้องไม่ลืมว่า พุทธประวัติ หรือเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธองค์เกิดขึ้นที่ชมพูทวีป ซึ่งปัจจุบันนี้คือประเทศอินเดีย วัฒนธรรมย่อมเป็นวัฒนธรรมของชาวอินเดีย ซึ่งหลายเรื่องต่างจากวัฒนธรรมไทยของเรามาก การอธิบายพุทธประวัติโดยเอาวัฒนธรรมไทยไปตัดสิน บางเรื่องบางตอนอาจผิดพลาดได้

การที่อุปกะเธอ “สั่นศีรษะ” ทันทีที่ฟังพระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ไม่มีครูสอน พระองค์ตรัสรู้เอง ตามวัฒนธรรมอินเดียหรือวัฒนธรรมแขก หมายถึง yes มากกว่า no ใช่หรือไม่ ถ้าใครไม่เชื่อ ลองไปคุยกับชาวภารตะดูว่า เวลาแขกเขาเห็นด้วยกับเรา เขาสั่นศีรษะหรือไม่ ?

ยิ่งถ้าดูคำโต้ตอบ (หุเวยฺยาวุโส = พ่อหนุ่ม ที่ท่านพูดนี้อาจเป็นได้) ยิ่งมีเปอร์เซ็นต์ค่อนไปทางเชื่อมากกว่าไม่เชื่อ เพราะเหตุนี้ฝรั่งเวลาแปลมาถึงตรงนี้ เขาจะใช้คำว่า “I see” นี่ก็แสดงว่า อุปกะแกเชื่อพระพุทธเจ้า

ผมเองอ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็ยังไม่หายสงสัย อยากรู้มากกว่านี้ พยายามค้นว่า อุปกะแกจากพระพุทธเจ้าแล้วแกไปไหน อรรถกถา (ตำราอธิบายพระไตรปิฎก) เล่าเรื่องตื่นเต้นมาก อุปกะไปอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง นายพรานหัวหน้าหมู่บ้านอุปฐากดูแลแกอยู่ ส่งข้าวส่งน้ำประจำ วันไหนไม่ว่างก็ให้ลูกสาวนาม จาปา นำอาหารไปถวายหลวงพ่อ

กาลเวลาผ่านไป หลวงพ่อก็เกิดความรักในหญิงสาวลูกโยมอุปกะเข้า ยิ่งนานวันความรักก็ก่อตัวมากขึ้นๆ จนสุดจะหักห้ามไว้ได้ นอนคลุมโปงครางฮือๆ อยู่ ลูกสาวเห็นอาการประหลาดของหลวงพ่อฤๅษี ก็รีบมาบอกพ่อว่า หลวงพ่อไม่รู้ป่วยเป็นอะไร ข้าวปลาไม่กิน ได้แต่ครางฮือๆ อยู่ พ่อจึงเข้าไปหา เห็นอาการไข้ของหลวงพ่อฤาษี ก็รู้ทันทีตามประสาผู้มีประสบการณ์ จึงเอ่ยถามตรงๆ ว่า พระคุณเจ้าท่าจะ “คากรอง” ร้อนละสิ (คากรอง เป็นชื่อของผ้านุ่งผ้าห่มฤๅษีชีไพร ดุจจีวรของพระนั้นแล)

หลวงพ่อฤาษี เลิกผ้าขึ้น ยิ้มอายๆ ว่า “ก็อย่างที่โยมว่านั่นแหละ”

“อยากสึก ก็สึก” โยมนายพรานเอ่ยขึ้น ฝนจะตก ลูกจะออก พระจะสึก ใครจะห้ามได้ อุปกะคิด สึกมาดีกว่าอยู่ให้เครื่องหมายฤๅษีอันศักดิ์สิทธิ์มัวหมอง

เมื่ออุปกะสึกมา แกก็ยกยกลูกสาวให้เป็นคู่ครอง จึงถามลูกเขยว่า สำเร็จศิลปวิทยาอะไรมาบ้างที่พอจะเป็นเครื่องเลี้ยงชีพ ลูกเขยตอบว่า “ไม่สำเร็จอะไรเลยเลย บวชบำเพ็ญพรตอย่างเดียว” (โยมนายพรานแกก็ถามช้าไปหน่อย ถ้ารู้ก่อนนี้คงไม่ยกลูกสาวให้ !)

“ถ้าเช่นนั้น ก็ช่วยข้าแล้วกัน เวลาข้าไปล่าสัตว์ได้ แล่เนื้อแล้วเอ็งก็ช่วยหาบเนื้อตามข้าไปขายก็แล้วกัน” พี่ทิดก็ได้ช่วยพ่อตาหาบเนื้อไปขายแต่วันนั้น ชีวิตครอบครัวก็เป็นสุขดี มีลูกชายมาคนหนึ่งชื่อ “สุภัททะ” อยู่กันนานเข้าก็ทะเลาะเบาะแว้งกับภรรยาเป็นธรรมดาของผู้ครองเรือน แต่ภรรยาค่อนข้างจะปากจัดไปหน่อย ไม่พอใจอะไรก็ด่าลูกกระทบพ่ออยู่เนืองๆ เช่น “ไอ้ลูกฤๅษีขี้เกียจ มึงน่าจะบวชอยู่จนเป็นสมภาร รู้อย่างนี้ไม่เอาเป็นผัว” ประมาณนั้น

พี่ทิดแกก็เบื่อ สังเวชตัวเองว่า บวชอยู่ดีๆ ก็ไม่น่าสึกออกมาเป็นขี้ปากผู้หญิงปานนี้ นึกถึง “อนันตชินะ” ที่ตนพบระหว่างทางก่อนหน้านี้ จึงคิดว่า หนีไปบวชเป็นศิษย์ของอนันตชินะดีกว่า

ตะโกนบอกเมียว่า อยากด่าก็เชิญด่าต่อไป ต่อแต่นี้ข้าจะไม่อยู่เป็นขี้ปากเอ็งแล้ว ไปบวชดีกว่า แล้วก็ลงเรือนไป เมียนึกว่าทำเล่นๆ จึงตะโกนด่าไล่หลัง “เชิญเลย ไปแล้วไม่ต้องกลับมา” นึกว่าสามีไม่เอาจริง ที่ไหนได้สองวันก็แล้ว สามวันก็แล้ว จนกระทั่งสัปดาห์ผ่านไปสามีก็ไม่กลับ จึงร้อนใจ สงสัยจะเอาจริง จึงออกตาม ไปพบสามีกำลังจะบวชพอดี จึงอ้อนวอนให้กลับบ้าน แต่พี่ทิดตัดสินใจแล้ว ไม่สน แถมยังกล่าวโศลกบรรยายความขมขื่นที่ถูกสับถูกโขลกตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกัน เจ็บแสบมาก

เมื่อสามียืนกรานไม่ยอมกลับ นางจึงสำนึกในความผิดของตนได้ จึงไปบวชเป็นภิกษุณีในที่สุด ตกลงทั้งสามีภรรยา ก็ได้บวชเป็นสาวกสาวิกาของพระพุทธเจ้า

ถ้าตามเรื่องของอุปกะมาตลอด จะเห็นว่า แกเชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าจริง แต่เนื่องจากยังไม่พร้อมที่จะบวช จึงไม่สนใจฟังธรรม อีกอย่างคงเป็นพระประสงค์ของพระพุทธองค์ที่จะไม่สอนอุปกะในตอนนั้นก็ได้ เพราะพระองค์ทรงต้องการสอนปัญจวัคคีย์ก่อนใครอื่น ที่เจาะจงสอนปัญจวัคคีย์ก็คงเพราะ

(1) ต้องการแก้ความเข้าใจผิดที่พวกเขาผิดหวังที่พระองค์ทรงเลิกทุกรกิริยา หาว่าพระองค์เป็นคนคลายความเพียร ไม่มีทางตรัสรู้ ต้องการจะให้พวกเธอเข้าใจว่า การอดอาหารนั้นมิใช่ทางตรัสรู้ ทางที่จะพาให้ตรัสรู้คือ “มัชฌิมาปฏิปทา” (ทางสายกลาง) ต่างหาก และพระองค์ก็ได้ตรัสรู้ด้วยแนวทางนี้

(2) ต้องการสักขีพยานในการตรัสรู้ เพื่อจะทำให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้แพร่หลายและรวดเร็วขึ้น สมมุติว่าทรงโปรดอุปกาชีวก แล้วไปเผยแผ่ศาสนาที่อื่น พวกปัญจวัคคีย์รู้ข่าวอาจพูดว่า อย่าไปเชื่อสมณโคดม พวกตนรู้ดีว่าเป็นคนไม่เอาไหน จะตรัสรู้ได้อย่างไร คำพูดนี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการประกาศพระศาสนา เพราะทำให้เสียเวลาอธิบายความจริง แต่เมื่อปัญจวัคคีย์ยอมเชื่อได้ฟังธรรมจนบรรลุมรรคผล ย่อมเป็นสักขีพยานในสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ได้อย่างดี

ผมคิดว่านี่คือสาเหตุว่า ทำไมเมื่ออุปกะแกเชื่อแล้ว และพร้อมบรรลุมรรคผลแล้ว ทำไมพระพุทธองค์ไม่แสดงธรรมให้ฟัง น่าคิดนะครับ ถ้าบุคคลแรกที่ทรงแสดงธรรมให้ฟังมิใช่ปัญจวัคคีย์ ประวัติศาสตร์พระศาสนาจะพลิกเป็นอีกหน้าหนึ่งทันที



............................................................

หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10669
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง