Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ภาพพระพุทธประวัติ (ครูเหม เวชกร) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 03 ต.ค.2006, 6:04 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ภาพที่ ๓๙
ทรงทรมานนาคราชร้าย ขดกายพญานาคใส่บาตร
ให้ชฎิลดู ชฎิลก็ยังไม่เลื่อมใส



ชฎิลสามพี่น้อง โดยเฉพาะอุรุเวลกัสสปผู้พี่ชายใหญ่เป็นหัวหน้านักบวช ที่ชาวเมืองราชคฤห์นับถือมาก ท่านผู้นี้ประกาศตนเป็นผู้วิเศษ เป็นพระอรหันต์ บำเพ็ญพรตบูชาไฟ

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปถึง และตรัสขอพักอาศัยในโรงไฟ ซึ่งพวกชฎิลถือว่าเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ และเป็นอันตรายแก่ผู้จะไปอยู่อาศัยภายในโรงไฟ เพราะมีพญานาค หรือพญางูใหญ่มีพิษร้ายกาจอาศัยอยู่ในนั้น ชฎิลจึงนึกในใจว่า พระพุทธเจ้าทรงอวดดีที่ไม่กลัวอันตราย

ตามท้องเรื่องในปฐมสมโพธิกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปประทับภายในโรงไฟ พญานาคก็มีจิตขึ้งเคียดทุกขโทมนัส คือ โกรธมาก จึงพ่นพิษใส่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าเตโชกสินสมาบัติ (หมายถึง การเข้าฌานชนิดหนึ่ง ซึ่งบันดาลให้เกิดเปลวไฟขึ้นจากกายได้) พิษของพญานาคและเปลวเพลิงจากเตโชกสินของพระพุทธเจ้าได้บังเกิดขึ้นเป็นแสงแดงสว่าง ดุจเผาผลาญโรงเพลิงนั้นให้เป็นภัสมธุลี (แหลกละเอียด)

พวกชฎิลได้เห็นแสงเพลิงนั้นก็ปริวิตกว่า พระสมณะรูปนี้ (หมายถึงพระพุทธเจ้า) เห็นทีจะวอดวายด้วยพิษพญานาคคราวนี้เป็นแน่

ปฐมสมโพธิว่า "ครั้นล่วงราตรีรุ่งเช้า พระสัพพัญญูเจ้าก็ยังเดชแห่งพญานาค ให้อันตรธานหาย บันดาลให้นาคนั้นขนดกายลงในบาตร แล้วทรงสำแดงแก่อุรุเวลกัสสป ตรัสบอกว่า นาคนี้สิ้นฤทธิ์ด้วยเดชตถาคต..."
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 03 ต.ค.2006, 6:05 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ภาพที่ ๔๐
วันหนึ่งฝนตกหนัก น้ำท่วม แต่ไม่ท่วมที่ประทับ
ชฎิลเห็นอัศจรรย์จึงทูลขอบรรพชา



การที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดชฎิลสามพี่น้องดังได้บรรยายไว้แล้ว ก็เพราะนักบวชสามพี่น้องนี้เป็นคณาจารย์ใหญ่ที่คนเคารพนับถือมากในสมัยนั้น การให้นักบวชที่มีอิทธิพลทางความนับถือมาก ได้หันมานับถือพระองค์นั้น เป็นนโยบายสำคัญของพระพุทธเจ้าในการประกาศพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่เพิ่งเกิดใหม่ เพราะถ้าปราบนักบวชที่มีอิทธิพลมากลงได้เสียแล้ว การประกาศพระศาสนาของพระองค์ก็ง่ายขึ้นและจะได้ผลรวดเร็ว

พระพุทธเจ้าจึงเสด็จมาสำนักของชฎิลสามพี่น้องซึ่งตั้งตนว่าเป็นอรหันต์ และพระองค์ได้ทรงทรมาน คือ การแสดงหรือพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกชฎิลไม่ใช่พระอรหันต์อย่างที่อ้าง คุณธรรมใดๆ ที่พวกชฎิลถือว่าพวกตนมีและว่าวิเศษ พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงให้เห็นว่าหาเป็นเช่นนั้นไม่

ที่ถือว่าพญางูใหญ่มีพิษร้ายกาจ พระองค์ก็จับขดลงในบาตรเสีย เมื่อเกิดอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ พวกชฎิลเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าจมน้ำตายเสียแล้ว ต่างลงเรือพายมาดู ก็เห็นพระพุทธเจ้าเดินจงกรมอยู่ภายใต้ท้องน้ำ

ปฐมสมโพธิว่า พระพุทธเจ้าทรงใช้เวลากลับใจพวกชฎิลอยู่ถึงสองเดือนจึงสำเร็จ โดยชฎิลผู้หัวหน้าคณาจารย์ใหญ่ คือ อุรุเวลกัสสป เกิดความสังเวชสลดใจว่าตนมิใช่พระอรหันต์อย่างที่เคยหลงเข้าใจผิด ทั้งนี้ด้วยพุทธานุภาพที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้ประจักษ์เห็นได้

หัวหน้าชฎิลจึงลอยเครื่องบริขารและเครื่องบูชาไฟทิ้งลงในแม่น้ำเนรัญชรา แล้วกราบแทบพระบาทพระพุทธเจ้า ขอบวชยอมเป็นพระสาวก ฝ่ายน้องชายอีกสองคน ที่ตั้งอาศรมอยู่คุ้งน้ำทางใต้ลงไป เห็นบริขารพี่ชายลอยมาก็จำได้ นึกว่าอันตรายเกิดแก่พี่ชายตนก็พากันมาดู

ทั้งสองได้ทราบเรื่องโดยตลอด ก็ยอมตนเป็นพระสาวกทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมโปรดชฎิลทั้งหมดได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าเลยมีนักบวชเป็นพระสาวกเพิ่มขึ้นใหม่อีก ๑,๐๐๐ รูป
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 03 ต.ค.2006, 6:06 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ภาพที่ ๔๑
พระอุรุเวลกัสสปประกาศตนเป็นพุทธสาวก
ต่อหน้าพระเจ้าพิมพิสาร ณ สวนตาลหนุ่ม



เมื่อพระพุทธเจ้าทรงปราบนักบวชสามสำนักสามพี่น้องให้สิ้นพยศ คือหมดทิฐิมานะที่ว่าตนเป็นพระอรหันต์ลงราบคาบ จนยอมเป็นพระสาวกแล้ว ก็ทรงดำเนินนโยบายในการประกาศพระศาสนาขั้นต่อไป คือเสด็จเข้าเมืองราชคฤห์

ราชคฤห์เป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธและแคว้นอังคะในสมัยนั้น มีผู้คนมาก มีพระราชาผู้เป็นใหญ่ คือ พระเจ้าพิมพิสาร ปกครอง พระราชาพระองค์นี้เคยทรงพบพระพุทธเจ้าครั้งหนึ่งเมื่อตอนก่อนตรัสรู้ ดังได้เคยบรรยายไว้แล้ว

พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสาวก ที่แต่ก่อนเป็นพวกชฎิลครองหนังเสือ แต่มาบัดนี้ เป็นพระภิกษุครองจีวร จำนวนหนึ่งพันรูป เสด็จไปถึงอุทยานนอกเมืองที่เรียกว่า ลัฏฐิวัน หรือสวนตาลหนุ่ม แล้วเสด็จพักที่นี่

พวกชาวเมืองแตกตื่นกันมากเมื่อรู้ข่าวว่า มีคณะนักบวชศาสนาใหม่ โดยมีพระสมณโคดมพระพุทธเจ้าเข้ามาถึงชานเมือง จึงออกไปเฝ้ากันล้นหลาม แม้พระเจ้าพิมพิสารก็เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วย

ชาวเมืองที่มาเฝ้าพระพุทธเจ้ามีอาการกิริยาแตกต่างกัน บ้างไหว้ บ้างนั่งเฉย บ้างแนะนำตนเองว่าอยู่ในวรรณะและตระกูลอะไร แต่มีเป็นจำนวนมากที่สงสัยไม่อาจทราบได้ว่า ระหว่างพระพุทธเจ้ากับอุรุเวลกัสสป ผู้เป็นหัวหน้าชฎิลที่เคยมีชื่อเสียง ใครเป็นศาสดา และใครเป็นสาวก ต่างสงสัยกันนักหนา

เพื่อตัดข้อสงสัยนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามอุรุเวลกัสสปถึงเหตุผลที่ละทิ้งลัทธิเดิมที่เคยปฏิบัติอยู่ ท่านได้กราบทูลดังๆ ต่อหน้าฝูงชนว่า ไร้สาระ ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ว่าแล้วก็ลุกขึ้นกราบแทบพระบาทพระพุทธเจ้า แสดงให้ชาวเมืองเห็นว่า ใครเป็นพระศาสดา ชาวเมืองเห็นแล้วต่างทึ่งและอัศจรรย์ใจมาก

เมื่อชาวเมืองสงบแล้ว พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงธรรม เมื่อจบลง ชาวเมืองจำนวนมากประกาศตนเป็นพุทธศาสนิกชน อีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งพระเจ้าพิมพิสารด้วย ได้สำเร็จโสดาบัน
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 03 ต.ค.2006, 6:07 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ภาพที่ ๔๒
พระเจ้าพิมพิสารเลื่อมใส
ทรงหลั่งน้ำถวายวัดเวฬุวันเป็นปฐมสังฆาราม



เมื่อพระเจ้าพิมพิสาร ราชาแห่งแคว้นมคธ ได้ทรงฟังธรรมพระพุทธเจ้าจบลง และได้ทรงบรรลุโสดาแล้ว ก็เสด็จลุกขึ้นอภิวาทแทบพระบาทพระพุทธเจ้า ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสาวกหนึ่งพันรูปเสด็จไปเสวยที่พระราชนิเวศน์ในวันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้าทรงรับคำทูลอาราธนาด้วยพระอาการดุษณี

นั่นเป็นธรรมเนียมการรับนิมนต์ของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สมัยนั้น ถ้าดุษณีหรือนิ่ง แปลว่า รับได้ ถ้ารับไม่ได้ เช่น มีคนทูลอาราธนาว่า ขอให้เสด็จไปรับบาตรที่บ้านของตนแห่งเดียวตลอดพรรษานี้ พระพุทธเจ้าจะตรัสว่า "คนในโลกนี้ใครๆ ก็อยากทำบุญกับเราทั้งนั้น จะผูกขาดไม่ได้หรอก" อย่างนี้แปลว่า รับนิมนต์ไม่ได้ หรือไม่รับ

รุ่งขึ้น พระพุทธเจ้าเสด็จจากสวนตาลหนุ่ม เข้าไปในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร เจ้าพนักงานที่ได้ตระเตรียมอาหารบิณฑบาตรไว้พร้อมแล้ว พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงถวายอาหารแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวก

เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยแล้ว และพระสงฆ์ทั้งนั้นก็ฉันอิ่มกันทั่วแล้ว พระเจ้าพิมพิสารจึงเสด็จเข้าไปใกล้พระพุทธเจ้า ประทับนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง แล้วทรงมีพระราชดำรัสทูลพระพุทธเจ้าว่า ที่สวนตาลหนุ่มเป็นสถานที่อยู่ห่างไกลเมืองและทุรกันดารมาก ไม่สะดวกแก่การไปมา

แล้วมีพระราชดำรัสว่า พระราชอุทยานสวนไม้ไผ่ หรือเวฬุวันของพระองค์ตั้งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากตัวเมืองนัก ไปมาสะดวก กลางวันไม่พลุกพล่านด้วยผู้คน กลางคืนสงบสงัด สมควรเป็นที่ประทับอยู่ของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงรับด้วยพระอาการดุษณี พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงหลั่งน้ำจากพระเต้าลงบนพระหัตถ์พระพุทธเจ้า ถวายเวฬุวนารามให้เป็นวัดพระพุทธศาสนาแห่งแรกในโลก

ปฐมสมโพธิว่า "กาลเมื่อพระสัพพัญญูทรงรับพระเวฬุวันเป็นอาราม ครั้งนั้นอันว่า มหาปฐพีดลก็วิกลกัมปนาท ดุจรู้ประสาทสาธุการว่า มูลที่ตั้งพระพุทธศาสนา หยั่งลงในพื้นพสุธา กาลบัดนี้"
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 03 ต.ค.2006, 6:08 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ภาพที่ ๔๓
ท้าวเธอทรงบำเพ็ญกุศลให้พระญาติที่เกิดเป็นเปรต
เปรตทั้งหลายต่างโมทนารับส่วนบุญ



ในภาพที่ ๔๒ จะเห็นพระเจ้าพิมพิสารทรงหลั่งน้ำจากพระเต้าลงบนพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้า การหลั่งน้ำในที่นี้เรียกว่าตามภาษาสามัญว่า 'กรวดน้ำ' หรือเรียกเป็นคำศัพท์ว่า 'อุททิโสทก' แปลว่า กรวดน้ำมอบถวาย ใช้ในกรณีเมื่อถวายของใหญ่โตที่ไม่อาจยกประเคนใส่มือพระได้ เช่น ที่ดินและวัด เป็นต้น

ส่วนการกรวดน้ำของพระเจ้าพิมพิสารในภาพนี้เรียกว่า 'ทักษิโณทก' แปลว่า กรวดน้ำแผ่ส่วนกุศลแก่คนตาย ใช้ในกรณีที่จะมอบสิ่งหนึ่งสิ่งใดแก่ผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งเป็นผู้รับอีกเหมือนกัน ผิดแต่ว่า สิ่งที่ให้มองไม่เห็นตัวตน เพราะเป็นบุญกุศล ผู้รับก็มองไม่เห็น เพราะเป็นคนที่ตายไปแล้ว พิธีนี้เป็นที่นิยมกันอยู่ในเมืองไทยเวลาทำบุญทุกวันนี้

ภาพที่เห็นนี้เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลครั้งที่สองของพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อครั้งแรกพระเจ้าพิมพิสารไม่ได้ทรงอุทิศส่วนกุศลให้แก่พระญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ปฐมสมโพธิจึงว่า ในคืนวันนั้นพวกเปรต ซึ่งเคยเป็นพระญาติของพระเจ้าพิมพิสารได้ส่งเสียงอื้ออึงขึ้นในพระราชนิเวศน์ ที่แสดงให้เห็นก็มี

ตามนิยายธรรมบทเล่าว่า เปรตเหล่านี้เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ เคยลักลอบ (หรือจะเรียกอย่างทุกวันนี้ว่าคอรัปชั่นก็ได้) กินของที่คนเขานำมาถวายสงฆ์ ตายแล้วตกนรก แล้วมาเป็นเปรต และมาคอยรับส่วนบุญที่พระเจ้าพิมพิสารอุทิศให้ แต่เมื่อผิดหวังจึงประท้วงดังกล่าว

พระเจ้าพิมพิสารจึงเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าในวันรุ่งขึ้น ทูลถามทราบความแล้ว จึงทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายอาหารและจีวรแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ในวันรุ่งขึ้นอีกต่อมา แล้วทรงหลั่งน้ำอุททิโสทกว่า "อิทัง โน ญาตีนัง โหตุ" แปลว่า "ขอกุศลผลบุญครั้งนี้จงไปถึงญาติพี่น้องของข้าพเจ้าด้วยเทอญ" เปรตเหล่านี้จึงต่างได้รับกุศลผลบุญกันทั่วหน้า และพ้นจากความทุกข์ทรมานที่ได้รับอยู่

คำว่า "อิทัง โน ญาตีนัง โหตุ" ได้กลายเป็นบทกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้คนตายที่คนไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 03 ต.ค.2006, 6:09 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ภาพที่ ๔๔
พระโมคคัลลาน์ สารีบุตร อัครสาวกซ้าย-ขวา
มาทูลขอบรรพชาเป็นเอหิภิกขุ



ภาพที่เห็น คือ พระโมคคัลลาน์ สารีบุตร กำลังบวชกับพระพุทธเจ้าที่วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ ก่อนบวช ทั้งสองบวชเป็นปริพาชกในฐานะเป็นศิษย์สาวกของสญชัย

สญชัยเป็นศาสดาปริพาชกที่มีชื่อเสียงมากผู้หนึ่งในแคว้นมคธ มีลูกศิษย์ และคนนับถือมาก โมคคัลลาน์ สารีบุตร เคยอยู่ที่นี่เพื่อศึกษาหาความรู้ทางพ้นทุกข์ แต่ครั้นศึกษาจบแล้วเห็นว่ายังไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ จึงลาอาจารย์สญชัยออกแสวงหาความรู้ใหม่ต่อไป แล้วจึงมาพบพระอัสสชิ ในเมืองราชคฤห์

พระอัสสชิเป็นรูปหนึ่งในคณะพระปัญจวัคคีย์ ที่พระพุทธเจ้าทรงส่งออกไปประกาศพระศาสนา ท่านทราบว่าเวลานั้นพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์ ท่านจึงเดินทางเพื่อมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่นั่น ระหว่างทางมาได้พบพระสารีบุตร ซึ่งขณะนั้นเรียกว่า 'อุปติสสปริพาชก' พระสารีบุตรเห็นกิริยาท่าทางพระอัสสชิน่าเลื่อมใสจึงเข้าใจสนทนาถามถึงทางปฏิบัติ และผู้เป็นพระศาสดา เมื่อได้ฟังก็ชอบใจ ภายหลังจากนั้นจึงกลับมาชวนสหายคือ โมคคัลลาน์ หรือ 'โกลิตปริพาชก' ก็เรียกไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยปริพาชกบริวารที่ติดตามมาอีก ๒๕๐ คน

ครั้งนั้น สารีบุตร โมคคัลลานะ ได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นถึงแล้วได้ซบเศียรลงที่พระบาทของผู้มีพระภาค แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาคว่า ขอพวกข้าพระพุทธเจ้าพึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด" ดังนี้ แล้วได้ตรัสต่อไปว่า "ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด" พระวาจานั้นแลได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุเหล่านั้น

คนทั้งหมดได้เป็นผู้ทรงบาตรจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ ราวกะว่าพระเถระ ๑๐๐ พรรษา

ภายหลังบวชแล้วไม่นาน ท่านทั้งสองได้ปฏิบัติธรรมจนสำเร็จอรหันต์ ได้เป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระศาสนาช่วยพระพุทธเจ้ามากที่สุด พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านทั้งสองให้ดำรงตำแหน่งพระอัครสาวก พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกฝ่ายขวา พระโมคคัลลาน์ฝ่ายซ้าย ว่าอย่างสามัญ ก็เท่ากับเป็นมือขวามือซ้ายของพระพุทธเจ้านั่นเอง ท่านทั้งสองนี้นิพพานก่อนพระพุทธเจ้าไม่กี่เดือน พระสารีบุตรนิพพานด้วยโรคประจำตัว ส่วนพระโมคคัลลาน์ถูกอันธพาลจากคนในศาสนาอื่น (เดียรถีย์) จ้างมาฆ่า
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 03 ต.ค.2006, 6:09 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ภาพที่ ๔๕
พระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์
แก่พระอรหันต์สงฆ์ในวันเพ็ญมาฆบูชา



ภายหลังพระโมคคัลลาน์ สารีบุตร บวชแล้วไม่นาน พระพุทธเจ้าได้ทรงประชุมพระสาวกขึ้นในวันเพ็ญกลางเดือนสาม ที่พระเวฬุวนาราม เมืองราชคฤห์ โดยมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน การประชุมพระสาวกครั้งนี้ ผู้นับถือศาสนาพุทธในสมัยก่อนต่อมา เห็นเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญมาก จึงกำหนดถือวันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่เรียกกันอยู่ทุกวันนี้ว่า 'วันมาฆบูชา'

การประชุมพระสาวกของพระพุทธเจ้าครั้งนี้ แปลกกว่าทุกคราวที่มีอยู่ในสมัยพุทธกาล คือ พระสาวกมีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป แต่ละรูป แต่ละองค์ล้วนบวชกับพระพุทธเจ้า มีพระอุปัชฌาย์องค์เดียวกัน คือ พระพุทธเจ้า ล้วนเป็นพระอรหันต์ ต่างมาประชุมโดยไม่ได้นัดหมาย และพระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุม การประชุมพระสาวกครั้งนี้จึงเรียกอีกอย่างหนึ่ง ตามลักษณะแปลก ๔ ประการนี้ว่า 'จาตุรงคสันนิบาต'

ในเวลานั้น กรุงราชคฤห์เป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นี่ บรรดาพระสาวกแยกย้ายกันออกไปประกาศพระศาสนาต่างได้ทราบว่า เวลานั้นพระพุทธเจ้ากำลังเสด็จประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์ เมื่อเสร็จกิจประกาศพระศาสนาจึงต่างจาริกมาเฝ้า เมื่อมาพร้อมหน้ามากตั้งพันกว่า พระพุทธเจ้าจึงประชุมพระสาวกแสดงโอวาทปาติโมกข์

'โอวาทปาติโมกข์' คือ หลักการโดยสรุปของศาสนาพุทธ มีทั้งหลักคำสอนและหลักการปกครองคณะสงฆ์ มีทั้งหมด ๑๓ ข้อด้วยกัน เช่นเป็นต้นว่า ศาสนาพุทธสอนว่า ละชั่ว ทำดี ทำจิตบริสุทธิ์ สุดยอดของคำสอนอยู่ที่นิพพาน ดับกิเลสพ้นทุกข์ และเป็นพระสงฆ์ต้องสำรวม กินอยู่พอประมาณ อดทน ไม่กล่าวร้ายป้ายสีคนอื่น ไม่เบียดเบียนคนอื่น

สมัยที่กล่าวนี้ พระพุทธเจ้ายังไม่ทรงบัญญัติวินัยปกครองสงฆ์ เพราะความเสียหายยังไม่เกิด จึงทรงวางหลักปกครองสงฆ์ไว้แต่โดยย่อ เทียบให้เห็นคือ เมืองไทยสมัยไม่กี่ปีมานี้ ไม่มีรัฐธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร แต่มีธรรมนูญเป็นหลักปกครองแทน ธรรมนูญนี้เทียบได้กับโอวาทปาติโมกข์ ส่วนรัฐธรรมนูญปกครองราชอาณาจักรก็เทียบได้กับวินัยพุทธบัญญัติทั้งหมด ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นในเวลาต่อมา
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 03 ต.ค.2006, 6:10 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ภาพที่ ๔๖
เสด็จไปโปรดพระญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์
พระญาติผู้ใหญ่ถือว่าสูงอายุไม่ถวายบังคม



ตลอดเวลา ๖ ปีกว่า คือ นับตั้งแต่เสด็จออกบวช ตรัสรู้ และประกาศพระศาสนาในแคว้นมคธ จนมีพระสาวกและคนนับถือมาก พระพุทธเจ้ายังมิได้เสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ เมืองประสูติของพระองค์เลย ภาพที่เห็นนี้จึงเป็นตอนพระพุทธเจ้าเสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์เป็นครั้งแรก เพื่อโปรดพระประยูรญาติตามคำทูลอาราธนาของพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา

ด้วยพระทัยปรารถนาที่จะได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ทรงอยู่ในฐานะหนึ่ง คือ พระราชโอรส เมื่อทรงทราบว่าขณะนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จประทับ เพื่อประกาศพระศาสนาอยู่ในแคว้นมคธ พระเจ้า
สุทโธทนะจึงส่งคณะฑูตไปทูลอาราธนา

คณะฑูตแต่ละคณะที่พระเจ้าสุทโธทนะส่งไปเพื่อทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า มีหัวหน้าและบริวาร ซึ่งปฐมสมโพธิบอกว่า มีจำนวนหนึ่งพันคน รวมทั้งหมด ๑๐ คณะด้วยกัน คณะที่ ๑ ถึง ๙ ตามลำดับ ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมแล้วสำเร็จอรหันต์ ยังมิได้กลับมาทูลรายงานให้พระเจ้าสุทโธทนะได้ทราบ พระเจ้าสุทโธทนะจึงทรงส่งคณะอำมาตย์ เป็นคณะฑูตที่ ๑๐ ไปอีก คณะฑูตที่ ๑๐ นี้มี "กาฬุทายี" เป็นหัวหน้า ซึ่งเป็นผู้ที่คุ้นเคยและเป็นสหชาติ คือ เกิดวันเดียวกับพระพุทธเจ้า ก่อนออกเดินทางไปทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า กาฬุทายีทูลลาบวช เมื่อบวชแล้วจะทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้เสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์ให้จงได้ พระเจ้าสุทโธทนะทรงอนุมัติ

ภายหลังเมื่อกาฬุทายีไปถึงสำนักพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมจนสำเร็จอรหันต์ และได้ขอบวชเป็นพระสาวกพร้อมทั้งบริวารที่ติดตามไปแล้ว ไปทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ ขณะนั้นเป็นหน้าแล้ง ย่างเข้าหน้าฝน

พระพุทธเจ้าทรงรับคำทูลอาราธนาแล้ว พร้อมด้วยพระสาวก ที่ตำนานปฐมสมโพธิบอกว่าจำนวน ๒ หมื่นรูป เสด็จออกเดินทางเป็นเวลาสองเดือน จึงถึงกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว เสด็จเข้าประทับในอารามของเจ้าศากยะผู้หนึ่ง ซึ่งชื่อว่า "นิโครธ" ซึ่งพวกเจ้าศากยะพระญาติจัดถวายให้เป็นที่ประทับ อารามในที่นี้ไม่ใช่วัด แต่เป็นสวน เป็นอุทยานอยู่นอกเมือง พวกพระประยูรญาติรวมทั้งพระเจ้าสุทโธทนะ ได้พากันมารับเสด็จและเฝ้าพระพุทธเจ้าที่อารามแห่งนี้
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 03 ต.ค.2006, 6:12 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ภาพที่ ๔๗
ทรงแสดงปาฏิหาริย์เหาะให้เห็น
หมู่พระญาติก็สิ้นทิฐิมานะถวายบังคมพร้อมกัน



ภาพที่เห็นแสดงถึงเหตุการณ์ตอนหนึ่ง ซึ่งต่อเนื่องมาจากตอนที่แล้ว เป็นตอนที่เรียกว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหารย์ทำลายทิฐิมานะความถือตัวของพระประยูรญาติของพระพุทธเจ้า

เจ้าศากยะ พระญาติวงศ์ของพระพุทธเจ้าที่เป็นชั้นผู้ใหญ่ ต่างถือองค์ว่าเป็นพระญาติผู้ใหญ่ มีพระชนม์สูงกว่าพระพุทธเจ้า ซึ่งขณะนั้นเพียง ๓๖ ปีกว่าๆ เมื่อมารับเสด็จและเฝ้าพระพุทธเจ้าที่นิโครธาราม จึงไม่ถวายอภิวาทบังคม คือไม่ไหว้พระพุทธเจ้า แต่ส่งเจ้าชายเจ้าหญิงศากยะเยาว์วัยกว่าพระพุทธเจ้า ออกไปอยู่แถวหน้า ให้ไหว้พระพุทธเจ้าแทน ส่วนพวกตนอยู่แถวหลังไม่ยอมไหว้

ตำนานปฐมสมโพธิว่า ด้วยเหตุดังกล่าวพระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ในอากาศ แล้วโปรยละอองธุลีพระบาทลงเหนือศีรษะของบรรดาเจ้าศากยะ

พระเจ้าสุทโธทนะซึ่งเสด็จมารับเสด็จและเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงเห็นเหตุอัศจรรย์เช่นนั้น จึงทรงประนมพระหัตถ์อภิวาทพระพุทธเจ้า ฝ่ายพระประยูรญาติทั้งปวงในที่นั้น ก็ต่างทิฐิมานะ แล้วถวายอภิวาทพระพุทธเจ้าพร้อมกันทั่วทุกองค์

ปฐมสมโพธิว่า "ในทันใดนั่นเอง มหาเมฆใหญ่ได้ตั้งเค้าขึ้นมา แล้วหลั่งสายฝนลงมาห่าใหญ่ ฝนนั้นเรียกว่า 'โบกขรพรรษ' มีสีแดง ผู้ใดปรารถนาหรือประสงค์ให้เปียก ย่อมเปียก ไม่ปรารถนาให้เปียก ก็ไม่เปียก โดยเม็ดฝนจะกลิ้งหล่นจากกายเหมือนหยาดน้ำกลิ้งจากใบบัว"

ถอดความก็ว่า พระญาติทุกพระองค์จากกันกับพระพุทธเจ้าเป็นเวลาช้านาน มาได้เห็นกันเข้า ก็ชื่นบาน เหมือนได้รับน้ำฝนชุ่มฉ่ำหฤทัย ฉะนั้น
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 03 ต.ค.2006, 6:13 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ภาพที่ ๔๘
เสด็จทรงบาตรในเมือง พระนางพิมพายโสธราเห็น
จึงชี้ให้พระราหุลดูตรัสว่า "นั่นคือบิดาของเจ้า"



เมื่อฝนโบกขรพรรษตกลงมาเป็นห่าใหญ่ พระสงฆ์สาวกที่ตามเสด็จพระพุทธเจ้าครั้งนี้ เห็นเป็นที่อัศจรรย์ จึงสนทนากันด้วยพิศวงว่า ฝนเช่นนี้ไม่เคยเห็นมาก่อน พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกพระสงฆ์ว่า ฝนโบกขรพรรษตกในสมัยที่พระองค์ทรงเป็นพระพุทธเจ้านั้นไม่น่าอัศจรรย์เลย แต่ที่น่าอัศจรรย์คือ ฝนโบกขรพรรษตกในสมัยที่พระองค์พระชาติเป็น 'พระเวสสันดร'

พระสงฆ์ทั้งปวงใคร่สดับเรื่องราวของพระเวสสันดร จึงทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรื่อง 'เวสสันดรชาดก' ตั้งแต่ต้นจนถึงตอนพระเวสสันดรเสด็จนิวัติกลับเข้าเมือง และเกิดฝนโบกขรพรรษตกลงมาเป็นห่าใหญ่เหมือนคราวนี้ เรื่องเวสสันดรชาดกที่คนไทยผู้นับถือพระพุทธศาสนาอาราธนาสงฆ์เทศน์ให้ฟังที่เรียกว่า 'เทศน์มหาชาติ' ทุกวันนี้ เกิดขึ้นจากพระพุทธเจ้า ตรัสเทศนาครั้งนี้ คือ ในคราวเสด็จโปรดพระประยูรญาติเป็นครั้งแรกนี้เอง

ฝ่ายประยูรญาติทั้งปวง รวมทั้งพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดาด้วย ต่างถวายบังคมพระพุทธเจ้า แล้วทูลลาเสด็จกลับเข้าเมือง แต่จะได้มีผู้หนึ่งผู้ใดทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าไปทรงรับอาหารบิณฑบาตที่นิเวศน์ของตนก็หาไม่

รุ่งเช้า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์บริวารทั้งหมด จึงเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมือง ชาวเมืองแตกตื่นกันโกลาหล ด้วยไม่เคยคิดว่าพระพุทธเจ้าซึ่งกษัตริย์โดยพระชาติกำเนิด จะเสด็จภิกขา แปลความหมายให้เป็นภาษาสามัญที่สุภาพหน่อยก็ว่า เที่ยวขอเขากิน

ปฐมสมโพธิรายงานเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า "ในขณะนั้นบรรดามหาชนชาวเมืองจึงว่า พระผู้เป็นเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมารเที่ยวภิกขาจารบิณฑิบาต ดังนั้น ก็ชวนกันเปิดแกลแห่งเรือนทั้งหลายต่างๆ อันมีพื้น ๒ ชั้น แล ๓ ชั้น เป็นต้น แต่ล้วนขวนขวายในกิจที่จะเล็งแลดูพระสัพพัญญู อันเสด็จเที่ยวบิณฑบาตทั้งสิ้น"

แม้พระนางพิมพายโสธราผู้เคยเป็นพระชายาของเจ้าชายสิทธัตถะหรือพระพุทธเจ้า ซึ่งมีพระทัยไม่เคยสร่างพระโสกีตลอดมา ได้ยินเสียงชาวเมืองอื้ออึงถึงเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าเมืองมาตามถนน ก็จูงพระหัตถ์ราหุลผู้โอรส ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุได้ ๗ ปี เสด็จไปยังช่องพระแกล ครั้นเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จนำหน้าพระสงฆ์มา พระนางก็ทรงชี้ให้ราหุลดู และตรัสบอกโอรสว่า "นั่นคือพระบิดาของเจ้า"
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 03 ต.ค.2006, 6:13 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ภาพที่ ๔๙
พระพุทธบิดาทราบข่าวก็เสด็จมาตัดพ้อ
ทูลขอให้เสด็จไปประทับเสวยในวัง



ที่พระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดาเสด็จไปรับเสด็จ และเฝ้าพระพุทธเจ้าที่นิโครธาราม พร้อมด้วยพระประยูรญาติ แล้วไม่ได้ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าเสด็จไปรับภัตตาหารบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์ของพระองค์นั้น ก็ด้วยเข้าพระทัยว่าพระพุทธเจ้าคงไม่เสด็จไปที่อื่นนอกจากพระราชนิเวศน์ของพระองค์

แต่ครั้นทรงทราบจากที่พระนางพิมพาไปทูลว่า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกจำนวนมาก มิได้เสด็จตรงไปยังพระราชนิเวศน์ แต่กลับเสด็จบิณฑบาตไปตามถนนหนทางในเมือง ก็ทรงเสียพระทัยเป็นอันมาก

ปฐมสมโพธิว่า "พระหัตถ์ทรงผ้าสาฎกสะพักพระองค์ เสด็จลงจากพระราชนิเวศน์ บทจรโดยด่วนไปหยุดยืนอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์พระศาสดาแล้วกราบทูลว่า..."

"เหตุไฉนพระลูกเจ้าจึงมาเสด็จเที่ยวบิณฑบาตให้เป็นที่อัปยศ ผิดธรรมเนียมของกษัตริย์ขัตติยวงศ์ของเรา ทำไมจึงไม่เสด็จไปเสวยที่พระราชนิเวศน์"

พระพุทธเจ้าตรัสบอกพุทธบิดรว่า "ธรรมเนียมการเสด็จภิกขาจารเพื่อบิณฑบาตนี้ มิใช่ธรรมเนียมของขัตติยวงศ์ก็จริง แต่เป็นธรรมเนียมของพุทธวงศ์ (วงศ์ของพระพุทธเจ้า)" พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ธรรมเนียมของผู้สละบ้านเรือนออกบวชเป็นพระพุทธเจ้าและของพระสงฆ์สาวกนั้น ต้องเที่ยวบิณฑบาตเลี้ยงชีพ การบิณฑบาตนั้น เป็นอาชีพอันสุจริตของนักบวชในพุทธวงศ์"

พระพุทธเจ้าตรัสบอกพระเจ้าสุทโธทนะว่า "พระองค์ทรงขาดจากขัตติยวงศ์แล้ว ขาดเมื่อตอนเสด็จออกบวชก็หาไม่ ขาดเมื่อคราวบำเพ็ญเพียรใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ก็หาไม่ แต่ขาดเมื่อคราวได้สำเร็จ คือ ภายหลังตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ตั้งแต่นั้นมาพระองค์ได้ชื่อว่าทรงตั้งอยู่ในพุทธวงศ์"

พระพุทธเจ้าประทับยืนตรัสพระธรรมเทศนาแก่พระเจ้าสุทโธทนะ พอจบพระธรรมเทศนา พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงบรรลุโสดาปัตติผลในขณะที่ยืนอยู่นั่งเอง ครั้นแล้วพระเจ้าสุทโธทนะจึงทรงรับบาตร แล้วอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งหมู่อริยสงฆ์บรรษัทไปยังพระราชนิเวศน์เพื่อทรงรับภัตตาหาร
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 03 ต.ค.2006, 6:14 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ภาพที่ ๕๐
พระพิมพาพิลาปรำพันถึงพระพุทธองค์
เสด็จพุทธดำเนินไปโปรดถึงในปราสาท



ภาพที่เห็นอยู่นั้น เป็นตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระนางพิมพายโสธรา ผู้เคยเป็นพระชายา เมื่อสมัยพระพุทธเจ้ายังทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ คือเมื่อยังไม่ได้เสด็จออกบวช

วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระนางพิมพานี้ เป็นวันเดียวกับที่เสด็จไปทรงภัตตาหารในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา ดังได้บรรยายไว้แล้ว สถานที่เสด็จไปโปรดพระนางพิมพา คือ ปราสาทที่ประทับของพระนางนั่งเอง ผู้ที่ตามเสด็จพระพุทธเจ้ามาในการนี้ มีพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ผู้สองอัครสาวก และพระเจ้าสุทโธทนะ

พระนางพิมพาทรงเศร้าโศกเสียพระทัย ตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าเสด็จออกบวชเป็นต้นมา ด้วยเข้าพระทัยว่า พระนางถูกพระพุทธเจ้าทรงทอดทิ้ง ยิ่งเมื่อทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาเมืองกบิลพัสดุ์ครั้งนี้ ความเสียพระทัยยิ่งมีมากขึ้น ขนาดพระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งให้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระนางยังเสด็จมาไม่ได้ แม้พระพุทธเจ้าจะเสด็จมาถึงปราสาทที่ประทับของพระนางแล้ว พระนางยังเสด็จดำเนินมาเองไม่ได้ เจ้าพนักงานฝ่ายในต้องจูงและประคองมา พอมาถึงที่ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ พระนางก็ล้มฟุบลง กลิ้งเกลือกพระเศียรลงเหนือพระบาทพระพุทธเจ้า แล้วพิลาปรำพันกันแสงแทบสิ้นสมปฤดี

พระเจ้าสุทโธทนะทูลพระพุทธเจ้าถึงความดีของพระนางพิมพาว่า เป็นสตรีที่จงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้า ไม่เคยแปรพระทัยเป็นอื่นเลยตลอดเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากไป พระพุทธเจ้าตรัสสนองพระดำรัสของพุทธบิดาว่า พระนางพิมพาจะได้ทรงซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระองค์แต่เฉพาะในชาตินี้ก็หาไม่ แม้ในอดีตชาติหนหลังอีกหลายชาติ พระนางก็เป็นคู่ทุกข์คู่ยากผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์ตลอดมา แล้วพระพุทธเจ้าตรัสชาดกอีกเป็นอันมากให้พระพุทธบิดา และพระนางพิมพาฟัง

พระนางฟังแล้ว ทรงสร่างโศกและคลายความเสียพระทัย ทรงเกิดปีติโสมนัสในพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจบลง พระนางพิมพายโสธรา ก็ได้ทรงบรรลุพระโสดาบัน หรือโสดาปัตติผล
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 03 ต.ค.2006, 6:15 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ภาพที่ ๕๑
พระนันทะรับบาตรส่งเสด็จ นางคู่วิวาห์ร้องสั่งให้รีบกลับ
พอถึงวัดกลับชวนให้ผนวช



ในวันที่ ๕ นับแต่วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงเมืองกบิลพัสดุ์เป็นครั้งแรก มีพิธีวิวาหมงคลระหว่างเจ้าชายศากยะที่ชื่อว่า 'นันทะ' กับเจ้าหญิงที่มีชื่อว่า 'ชนบทกัลยาณี'

นันทะเป็นพระอนุชาหรือน้องชายของพระพุทธเจ้า แต่เป็นพระอนุชาต่างมารดา กล่าวคือ ภายหลังพระมารดาของพระพุทธเจ้า คือ พระนางสิริมหามายาสิ้นพระชนม์ แต่เมื่อพระพุทธเจ้าประสูติได้ไม่กี่วันแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะทรงได้พระนางปชาบดีโคตมี ผู้เป็นน้องสาวของพระนางสิริมหามายาเป็นชายา นันทะจึงคือพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะที่เกิดจากพระนางปชาบดีโคตมี ผู้เป็นพระน้านางของพระพุทธเจ้า

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกบวชแล้ว รัชทายาทของพระเจ้าสุทโธทนะจึงตกอยู่แก่นันทะ พระเจ้าสุทโธทนะทรงหมายพระทัยว่า เมื่อนันทะอภิเษกสมรสแล้ว จะได้ครองราชย์สืบต่อจากพระองค์

ในงานวิวาหมงคลนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้เสด็จมาตามคำทูลอาราธนาของพระพุทธบิดา เมื่อทรงฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จกลับ ได้ทรงมอบบาตรของพระองค์ให้เจ้าชายนันทะทรงถือตามส่งเสด็จ นันทะทรงดำริว่า เมื่อถึงประตูพระราชนิเวศน์ พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระเชษฐาคงจะทรงหันมารับบาตรคืนไปจากตน แต่ครั้นไปถึงที่นั่น พระพุทธเจ้ามิได้ทรงทำอย่างนั้นเลย ครั้นนันทะจะมอบบาตรถวายพระพุทธเจ้าก็ไม่กล้า ด้วยเกรงพระทัยผู้ทรงเป็นพระเชษฐา จนไปถึงพระอารามที่ประทับ พระพุทธเจ้าจึงหันมาตรัสกับพระอนุชาว่า "บวชไหม"

นันทะจะปฏิเสธก็เกรงใจพี่ชาย นี่ว่าตามภาษาสามัญ จึงทูลตอบพระพุทธเจ้าว่า "บวชพระเจ้าข้า"

นันทะไม่ได้ยอมบวชด้วยน้ำใสใจจริง เพราะกำลังจะแต่งงาน ทั้งตอนที่จะออกจากพระราชนิเวศน์นำบาตรมาส่งพระพุทธเจ้า นางชนบทกัลยาณีผู้เป็นเจ้าหญิงคู่อภิเษกสมรส ยังร้องเรียกสั่งตามมาว่า "เจ้าพี่ไปแล้วให้รีบเสด็จกลับ" แต่ที่ตอบเช่นนั้น ก็เพราะความเกรงใจพระพุทธเจ้าดังกล่าวแล้ว
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 03 ต.ค.2006, 6:18 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ภาพที่ ๕๒
พระราหุลแสดงความรักซาบซึ้งในพระพุทธองค์ผู้เป็นบิดา
จนลืมทูลขอราชสมบัติ



ในวันที่ ๗ นับตั้งแต่วันที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่เจ้าชายนันทะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระพุทธเจ้าได้บวชแล้ว พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์บริวารได้เสด็จเข้าไปบิณฑบาต ในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าสุทโธทนะอีก

เจ้าชายนันทะเป็นรัชทายาทที่สองรองจากพระพุทธเจ้า ที่จะครองราชย์สืบต่อจากพระเจ้าสุทโธทนะ แต่เมื่อนันทะออกบวช หรือที่จริงถูกพระเชษฐา คือพระพุทธเจ้าทรงจับให้บวชเสียแล้ว รัชทายาทจึงตกอยู่แก่ราหุลกุมาร ผู้เป็นพระโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมา

พระนางพิมพายโสธรา พระมารดาของราหุล ทรงเห็นเป็นโอกาสดี เมื่อทรงทราบว่า พระพุทธเจ้าเสด็จเข้ามารับบิณฑบาต จึงแต่งองค์ให้ราหุลผู้โอรสงดงามด้วยเครื่องประดับของขัตติยกุมาร แล้วชี้บอกราหุลว่า "พระสมณะผู้ทรงสง่า มีผิวพรรณเหลืองดั่งทอง มีพระสุรเสียงไพเราะดุจเสียงพรหม ที่พระสงฆ์สองหมื่นรูปแวดล้อมตามเสด็จ นั่นแหละคือพระบิดาของเจ้า"

พระนางพิมพาตรัสบอกพระโอรสให้ไปทูลขอรัชทายาท และทรัพย์สินที่เป็นสมบัติของพระบิดาทั้งหมด ซึ่งยังมิได้ทรงโอนกรรมสิทธิ์ให้ใครเลย พระนางบอกผู้โอรสว่า ธรรมดาลูกย่อมมีสิทธิที่จะครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของผู้เป็นบิดา

ในเวลาที่กล่าวนี้ ปฐมสมโพธิบอกว่า ราหุลกุมารมีพระชนมายุได้ ๗ ปี นับตั้งแต่ประสูติมาไม่เคยเห็นองค์ผู้ทรงเป็นพระบิดา เพิ่งได้เห็นเป็นครั้งแรกก็เมื่อคราวพระพุทธเจ้าเสด็จยังกรุงกบิลพัสดุ์นี่เอง เมื่อได้เห็นและได้เข้าเฝ้าโดยใกล้ชิด ราหุลจึงเกิดความรักในพระพุทธเจ้ายิ่งนัก เป็นความรักอย่างลูกจะพึงมีต่อพ่อ ราหุลกราบทูลพระพุทธเจ้าประโยคหนึ่ง ซึ่งถ้าจะถอดความให้เข้ากับสำนวนไทยก็ว่า "อยู่ใกล้พ่อนี่มีความสุขเหลือเกิน" แล้วกราบทูลขอรัชทายาท และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สมบัติของพระราชบิดา ตามที่พระมารดาทรงแนะนำ

พระพุทธเจ้าไม่ตรัสว่ากระไร ทรงฉันอาหารบิณฑบาตเสร็จแล้ว ทรงอนุโมทนา แล้วเสด็จกลับไปที่นิโครธารามพร้อมด้วยพระสงฆ์ โดยมีราหุลตามเสด็จเพื่อทูลขอสิ่งที่ทรงประสงค์ดังกล่าวไปด้วย
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 03 ต.ค.2006, 6:19 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ภาพที่ ๕๓
ทรงมอบสมบัติพระนิพพานแก่พระราหุล
โดยให้บรรพชาเป็นสามเณรองค์แรก



เมื่อราหุลติดตามพระพุทธเจ้าไปถึงนิโครธาราม เพื่อทูลขอรัชทายาทและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สมบัติของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่าสิ่งที่ราหุลขอนั้นเป็นสมบัติทางโลกไม่ยั่งยืน เต็มไปด้วยความทุกข์ในการปกปักรักษา ไม่เหมือนอริยทรัพย์ คือ ธรรมะที่พระองค์ได้ตรัสรู้มา ทรงพระพุทธดำริว่า "จำเราจะให้ทายาทแห่งโลกุตตระแก่ราหุล"

พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระสารีบุตรมา แล้วรับสั่งให้พระสารีบุตรเป็นอุปัชฌาย์ทำหน้าที่บวชสามเณรให้ราหุล ราหุลจึงเป็นสามเณรองค์แรกในทางพระพุทธศาสนา เมื่ออายุครบบวช ต่อมาได้บวชเป็นพระภิกษุและได้สำเร็จอรหันต์

เมื่อคราวนันทะซึ่งกำลังจะเข้าพิธีวิวาหมงคล แต่ยังไม่ทันเข้าพิธี เพราะถูกพระพุทธเจ้าจับบวชเสียก่อนนั้น พระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา ทรงทราบข่าวแล้วเสียพระทัยมาก แต่ไม่สู้กระไรนัก เพราะยังทรงเห็นว่าราหุลกุมารรัชทายาทองค์ต่อไปยังมีอยู่ แต่ครั้นทรงทราบว่าราหุลกุมารได้บวชเป็นสามเณรเสียแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะทรงเสียพระทัยมากยิ่งกว่าเมื่อคราวพระพุทธเจ้าเสด็จออกบวช และเมื่อนันทะบวช

พระเจ้าสุทโธทนะไม่อาจทรงระงับความทุกข์โทมนัสครั้งนี้ได้ จึงเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่นิโครธาราม แล้วทูลขอร้องพระพุทธเจ้าว่า ถ้าพระคุณเจ้ารูปใดจะบวชลูกหลานชาวบ้าน ก็ได้โปรดให้พ่อแม่เขาได้อนุญาตให้ก่อน เพราะถ้าไม่อย่างนั้นจะทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้เป็นพ่อแม่มาก ดุจที่พระองค์ได้รับ เมื่อราหุลบวชในคราวนี้

พระพุทธเจ้าทรงรับตามที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงขอร้อง จึงทรงบัญญัติพระวินัยไว้เป็นธรรมเนียมสืบมาจนทุกวันนี้ว่า ถ้าใครจะบวช ไม่ว่าจะบวชเป็นพระ หรือบวชเป็นสามเณร ต้องได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ผู้ปกครองก่อน ธรรมเนียมกุลบุตรผู้จะบวชที่ถือพานดอกไม้เที่ยวกราบลาพ่อแม่ผู้ปกครอง ตลอดจนญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือทุกวันนี้ จึงเกิดจากกรณีดังกล่าวนี้
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 03 ต.ค.2006, 6:22 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ภาพที่ ๕๔
ทรงพาพระนันทะไปชมนางฟ้า
พระนันทะใคร่จะได้เป็นชายา ทรงรับรองจะให้สมหวัง



หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพุทธบิดา และพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ เป็นเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์แล้ว ได้เสด็จกรุงราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ พร้อมด้วยพระสงฆ์บริวารที่ตามเสด็จ ในการนี้พระภิกษุนันทะ พระอนุชาผู้ถูกจับให้บวช และราหุลสามเณรก็ได้ติดตามเสด็จไปด้วย

ต่อมา พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์จำนวนมากได้เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี แห่งแคว้นโกศล ซึ่งเป็นเมืองและแคว้นใหญ่พอๆ กับกรุงราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ พระนันทะก็ได้ติดตามเสด็จไปด้วย

แต่ตลอดเวลานับตั้งแต่บวชแล้วเป็นต้นมา พระนันทะไม่เป็นอันปฏิบัติกิจของสมณะ ใจให้รุ่มร้อนคิดจะลาสึกอยู่ท่าเดียว เพราะความคิดถึงนางชนบทกัลยาณี เจ้าสาวคู่หมั้นซึ่งกำลังจะเข้าพิธีวิวาห์กับตน

ความเรื่องนี้ทราบถึงพระพุทธเจ้า ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงจับท่านพระนันทะที่แขน แล้วทรงหายจากพระวิหารเชตวัน ไปปรากฏในเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ เหมือนบุรุษมีกำลัง พึงเหยียดแขนที่คู้ หรือพึงคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น ฯ

ก็สมัยนั้นแล นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ มีเท้าดุจนกพิราบ มาสู่ที่บำรุงของท้าวสักกะจอมเทพ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสกะท่านพระนันทะว่า ดูกรนันทะ เธอเห็นนางอัปสร ๕๐๐ เหล่านี้ผู้มีเท้าดุจนกพิราบหรือไม่ ท่านพระนันทะทูลรับว่า เห็น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรนันทะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน นางสากิยานีผู้ชนบทกัลยานี หรือนางอัปสร ประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบไหนหนอแลมีรูปงามกว่า น่าดูกว่า หรือน่าเลื่อมใสกว่า ฯ

น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางลิงผู้มีอวัยวะใหญ่น้อยถูกไฟไหม้ หูและจมูกขาด ฉันใด นางสากิยานีผู้ชนบทกัลยานี ก็ฉันนั้นแล เมื่อเทียบกับนางอัปสรประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ย่อมไม่เข้าถึงเพียงหนึ่งเสี้ยว ไม่เข้าถึงเพียงส่วนหนึ่งของเสี้ยว ไม่เข้าถึงเพียงการเอาเข้าไปเปรียบว่าหญิงนี้เป็นเช่นนั้น ที่แท้นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้มีรูปงามกว่า น่าดูกว่า และน่าเลื่อมใสกว่า พระเจ้าข้า ฯ

พ. ยินดีเถิดนันทะ อภิรมย์เถิดนันทะ เราเป็นผู้รับรองเธอเพื่อให้ได้ นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบ ฯ

น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงรับรองข้าพระองค์เพื่อให้ได้นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบไซร้ ข้าพระองค์จักยินดีประพฤติพรหมจรรย์ พระเจ้าข้าฯ

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงจับท่านพระนันทะที่แขน แล้วทรงหายจากเทวดาชั้นดาวดึงส์ไปปรากฏที่พระวิหารเชตวัน เหมือนบุรุษมีกำลังพึงเหยียด แขนที่คู้หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายได้สดับข่าวว่า ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาค โอรสของพระมาตุจฉา ประพฤติพรหมจรรย์เพราะเหตุแห่งนางอัปสร ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเป็นผู้รับรองท่าน เพื่อให้ได้นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบ ฯ

ครั้งนั้นแล ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสหายของท่านพระนันทะ ย่อมร้องเรียกท่านพระนันทะด้วยวาทะว่าเป็นลูกจ้าง และด้วยวาทะว่าผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงไถ่มาว่า ได้ยินว่า ท่านพระนันทะเป็นลูกจ้าง ได้ยินว่า ท่านพระนันทะเป็นผู้ที่พระผู้มีพระภาคทรงไถ่มา ท่านประพฤติพรหมจรรย์เพราะเหตุนางอัปสร ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้รับรองท่าน เพื่อให้ได้นางอัปสร ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบ ฯ

ครั้งนั้นแล ท่านพระนันทะอึดอัดระอาเกลียดชังด้วยวาทะว่า เป็นลูกจ้าง และด้วยวาทะว่า เป็นผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงไถ่มาของพวกภิกษุผู้เป็นสหาย จึงหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ไม่นานนักก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็ท่านพระนันทะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ

ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดาตนหนึ่งมีวรรณะงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาค โอรสของพระมาตุจฉาทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ แม้ญาณก็ได้เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคว่า พระนันทะทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ฯ

ครั้นพอล่วงราตรีนั้นไป ท่านพระนันทะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงรับรองข้าพระองค์ เพื่อให้ได้นางอัปสร ๕๐๐ ผู้มีเท้าดุจนกพิราบ ข้าพระองค์ขอปลดเปลื้องพระผู้มีพระภาคจากการรับรองนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนันทะ แม้เราก็กำหนดรู้ใจของเธอด้วยใจของเราว่า นันทะทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ แม้เทวดาก็ได้บอกเนื้อความนี้แก่เราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาค โอรสของพระมาตุจฉา ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ดูกรนันทะ เมื่อใดแล จิตของเธอหลุดพ้นแล้ว จากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น เมื่อนั้นเราพ้นแล้วจากการรับรองนี้ ฯ

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า ภิกษุใดข้ามเปือกตมคือกามได้แล้ว ย่ำยีหนามคือกามได้แล้ว ภิกษุนั้นบรรลุถึงความสิ้นโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวในเพราะสุขและทุกข์ ฯ
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 03 ต.ค.2006, 6:24 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ภาพที่ ๕๕
พระเทวทัตสำแดงฤทธิ์ให้อชาตศัตรูราชกุมารเลื่อมใส
เพื่อให้รับเป็นโยมอุปัฏฐาก



การเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ของพระพุทธเจ้าครั้งแรก ดังได้บรรยายมาแล้วนั้น เป็นเหตุให้เจ้าชายศากยะเสด็จออกบวชกันมาก ในจำนวนนั้น ที่มีชื่อเสียงและมีคนรู้จักกันดีจนถึงทุกวันนี้คือ เจ้าชายอานนท์ หรือพระอานนท์ในเวลาต่อมา นายภูษามาลา ชื่อ อุบาลี หรือพระอุบาลี และเจ้าชายเทวทัต

เทวทัตเป็นพระเชษฐาหรือพี่ชายของพระนางพิมพายโสธรา ทุกคนที่ออกบวชพร้อมกันกับเทวทัต ต่างได้บรรลุมรรคผลในเวลาต่อมาทั้งนั้น แต่เทวทัตได้สำเร็จเพียงฌานชั้นโลกีย์ ฌานชั้นนี้ทำให้ผู้ได้สำเร็จ แสดงฤทธิ์ได้ เหาะก็ได้

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้ากับพระสงฆ์จำนวนมากรวมทั้งพระเทวทัต เสด็จไปถึงกรุงโกสัมพี ชาวเมืองได้พากันออกมารับเสด็จ และนำของมาถวายเป็นอันมาก ถวายของแด่พระพุทธเจ้าแล้วก็ถวายพระสงฆ์ แต่ละคนเที่ยวถามไถ่กันว่า "พระสารีบุตรของข้าพเจ้าอยู่ที่ไหน พระโมคคัลลานะของข้าพเจ้าอยู่ไหน" ฯลฯ เมื่อทราบแล้วก็นำของไปถวาย แต่ไม่มีใครเลยสักคนที่จะเอ่ยชื่อของพระเทวทัตว่า "พระเทวทัตของข้าพเจ้าอยู่ที่ไหน"

นั่นคือความไม่พอใจของพระเทวทัตที่เป็นสาเหตุให้พระเทวทัตก่อกรรม หรือกระทำการรุนแรง ในเวลาต่อมา

พระเทวทัตเข้าฌานโลกีย์ เนรมิตเป็นกุมารหนุ่มน้อยใช้งูมีพิษร้าย ๗ ตัว พันเป็นสังวาลตามตัว ตัวหนึ่งพันหัวต่างผ้าโพก อีกสี่ตัวพันข้อมือข้อเท้า อีกตัวหนึ่งพันคอ และอีกตัวหนึ่งทำเป็นสังวาลเฉวียงบ่า เหาะเข้าไปในวัง ลงนั่งบนพระเพลาของอชาตศัตรูผู้เป็นมกุฎราชกุมาร และพระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร ราชาแห่งแคว้นมคธ เทวทัตแนะนำให้อชาตศัตรูปลงพระชนม์พระราชบิดา แล้วเสด็จขึ้นครองราชย์เสีย ส่วนตัวเองจะปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า แล้วจะตั้งตัวเป็นพระพุทธเจ้าองค์ใหม่ประกาศศาสนาใหม่

เวลาไปเฝ้าเจ้าชายอชาตศัตรู พระเทวทัตเหาะไป แต่ขากลับพระเทวทัตเหาะไม่ไหว ต้องเดินกลับ เพราะใจอกุศลเกิดขึ้น ฌานโลกีย์เลยเสื่อมตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 03 ต.ค.2006, 6:25 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ภาพที่ ๕๖
นายขมังธนูซึ่งพระเทวทัตส่งไปฆ่าพระพุทธองค์
ปลงอาวุธฟังธรรม สำเร็จมรรคผล



บุรุษที่นั่งประนมมือวางคันธนูไว้กับพื้นอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ดังที่ปรากฏอยู่ในภาพแสดงนั้น คือนายขมังธนู (คำหน้าอ่านว่าขะหมัง) ขมัง แปลว่า นายพราน ขมังธนูก็คือนายพรานแม่นธนู อาวุธร้ายแรงที่คนใช้ยิงสังหารกันในสมัยพระพุทธเจ้าคือธนู

พระเทวทัตแนะนำอชาตศัตรู มกุฎราชกุมารให้ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารพระราชบิดาของพระองค์แล้ว จึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ขณะนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์ พระเทวทัตกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าทรงพระชราแล้ว ขอให้ทรงมอบตำแหน่งกิจการบริหารคณะสงฆ์ให้แก่ตนเสีย เลยถูกพระพุทธเจ้าทรงทักด้วย เขฬาสิกวาท (เขฬาสิกวาท แปลตามตัวว่า ผู้กลืนกินก้อนน้ำลาย ก้อนเสลดที่บ้วนทิ้งแล้ว คือ กลืนน้ำลายตัวเองน่ะแหละ) ความหมายเป็นอย่างนี้คือ นักบวชนั้น เมื่อออกบวชได้ชื่อว่าเป็นผู้เสียสละแล้วซึ่งทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น ลูก เมีย ทรัพย์ และตำแหน่งฐานันดรต่างๆ พระเทวทัตก็ชื่อว่าสละสิ่งเหล่านี้เสียแล้วเมื่อตอนออกบวช แต่เหตุไฉนจึงย้อนกลับมายอมรับ ซึ่งเท่ากับมาขอกลืนกินสิ่งเหล่านี้อีก

พระเทวทัตฟังแล้วเสียใจ ผูกความอาฆาตพระพุทธเจ้ายิ่งขึ้น จึงวางแผนการกระทำรุนแรงเพื่อปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าหลายแผน เฉพาะด้านการเมืองนั้น พระเทวทัตได้ทำสำเร็จแล้ว ด้วยการเกลี้ยกล่อมอชาตศัตรูราชกุมารให้เลื่อมใสตนได้ แล้วราชกุมารผู้นี้ได้ปลงพระชนม์พระราชบิดา จนในที่สุดได้ขึ้นครองราชย์ในเวลาต่อมา ที่ยังไม่สำเร็จก็คือการปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า

ขั้นแรก พระเทวทัตได้ว่าจ้างพวกขมังธนูหลายคน ล้วนแต่มือแม่นในการยิงธนูทั้งนั้น ไปลอบยิงสังหารพระพุทธเจ้าที่วัดเวฬุวนารามในกรุงราชคฤห์ ทั้งนี้โดยพระเจ้าอชาตศัตรูทรงรู้เห็นด้วย แต่เมื่อพวกนายขมังธนูถืออาวุธมาถึงวัดที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ได้เห็นพระพุทธเจ้าแล้ว เกิดมือไม้อ่อนเปลี้ยไปหมด ยิงไม่ลง เพราะพุทธานุภาพอันน่าเลื่อมใสข่ มใจให้สยบยอบลง จึงต่างวางคันธนูแล้วกราบบาทพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้พวกนายขมังธนูฟัง ฟังจบแล้ว นายขมังธนูต่างได้สำเร็จโสดาหมดทุกคน
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 03 ต.ค.2006, 6:26 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ภาพที่ ๕๗
พระเทวทัตได้สำนึกในความผิดของตน ใคร่ทูลขอขมา
แต่ถูกธรณีสูบเสียก่อนเข้าเฝ้า



เมื่อแผนการของพระเทวทัตในการปลงพระชนม์ของพระพุทธเจ้าขั้นแรก คือ จ้างนายขมังธนูลอบสังหารได้ล้มเหลวลง พระเทวทัตจึงลงมือทำเอง คือ แอบขึ้นไปบนยอดเขาคิชฌกูฏ เพราะพระเทวทัตทราบได้แน่นอนว่า ขณะนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่เชิงเขาเบื้องล่าง พระเทวทัตจึงกลิ้งก้อนหินใหญ่ลงมา หมายให้ทับพระพุทธเจ้า ก้อนหินเกิดกระทบกันแล้วแตกเป็นก้อนเล็กก้อนน้อย สะเก็ดหินก้อนหนึ่งกระเด็นปลิวมากระทบพระบาทพระพุทธเจ้า จนทำให้พระโลหิตห้อขึ้น (โลหิตุปบาท)

แผนการที่สองล้มเหลวลงอีก ต่อมา พระเทวทัตได้แนะนำให้พระเจ้าอชาตศัตรูสั่งเจ้าพนักงานเลี้ยงช้างปล่อยฝูงช้างดุร้ายออกไล่เหยียบพระพุทธเจ้า ในขณะที่เสด็จบิณฑบาต แต่ก็ล้มเหลวลงอีก เพราะฝูงช้างไม่กล้าทำร้ายพระพุทธเจ้า

ตอนนี้เอง ความชั่วของพระเทวทัตเป็นข่าวแดงโร่ออกมา ประชาชนชาวเมืองต่างโจษจันกันเซ็งแซ่ว่า ผู้จ้างนายขมังธนูก็ดี ผู้กลิ้งก้อนหินกระทบพระบาทพระพุทธเจ้าก็ดี ผู้ปล่อยกระบวนช้างก็ดี (ในหลายที่ว่า ปล่อยช้างตัวเดียว เป็นช้างพลายเพศผู้ ชื่อ นาฬาคีรี กำลังตกมัน แล้วยังถูกมอมเหล้าถึง ๑๖ หม้อ) แม้ที่สุดพระเจ้าพิมพิสารที่เสด็จสวรรคตก็ดี เป็นแผนการของพระเทวทัตทั้งสิ้น แล้วต่างก็วิพากษ์วิจารณ์ว่า พระราชาของเราคบพระที่ลามกเช่นนี้เอง จึงเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น

พระเจ้าอชาตศัตรูทรงได้ยินเสียงชาวเมืองตำหนิเช่นนั้น ทรงเกิดความละอายพระทัย จึงทรงเลิกไปหาพระเทวทัต สำรับกับข้าวของหลวงที่เคยพระราชทานให้พระเทวทัต ก็ทรงสั่งให้เลิกนำไปถวาย คนในเมืองนั้นก็ไม่มีใครใส่บาตรให้พระเทวทัตเลย แต่พระเทวทัตก็ยังไม่สิ้นมานะทิฐิ ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ขอให้ทรงปฏิรูปศาสนาพุทธเสียใหม่ เช่น ให้ห้ามพระสงฆ์ฉันเนื้อและปลา เป็นต้น แต่ถูกพระพุทธเจ้าปฏิเสธ พระเทวทัตจึงตั้งคณะสงฆ์ขึ้นใหม่ แล้วสถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่สอง

แต่ต่อมา สาวกพระเทวทัตที่เข้าใจผิด และเข้าไปเข้าข้างพระเทวทัต ได้พากันผละหนีกลับมาหาพระพุทธเจ้า เหลืออยู่กับพระเทวทัตไม่กี่รูป พระเทวทัตเสียใจมาก กระอักเลือดออกมา พอรู้ว่าตนจะตายก็สำนึกผิด เลยให้สาวกที่เหลืออยู่หามตนมาเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อขอขมาเป็นครั้งสุดท้ายแต่ไม่ทันเข้าเฝ้า เพราะพอมาถึงสระท้ายวัด พระเทวทัตเกิดอยากอาบน้ำ พอหย่อนเท้าลงเหยียบพื้นสระโบกขรณี เลยถูกแผ่นดินสูบเสียก่อน
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 03 ต.ค.2006, 6:26 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ภาพที่ ๕๘
พระแม่น้าทูลถวายผ้า โปรดให้ถวายอชิตภิกขุ
ซึ่งต่อไปจะตรัสรู้เป็นพระศรีอาริย์



ตามหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในตำราศาสนาพุทธทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำราชั้นอรรถกถาที่แต่งขึ้นโดยนักเขียนรุ่นหลังพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าเสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์หลายครั้ง

ที่เห็นอยู่ในภาพสาธกนั้นก็เป็นตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ ปฐมสมโพธิว่า เป็นการเสด็จครั้งที่สอง สตรีที่นั่งอยู่เบื้องพระพักตร์นั้น คือ พระนางปชาบดีโคตมี ซึ่งมีฐานันดรศักดิ์เป็นพระน้านางของพระพุทธเจ้า เพราะพระนางเป็นน้องสาวแม่ของพระพุทธเจ้า นี่ว่าอย่างสามัญ เมื่อพระนางสิริมหามายาสิ้นพระชนม์แล้ว พระเจ้าสุทโธทนะทรงได้พระนางปชาบดีโคตมีนี้เป็นชายา

ตามท้องเรื่องว่า พระนางปชาบดีโคตมี ทรงดำริเมื่อคราวพระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ครั้งแรกนั้น พระนางไม่ได้ถวายอะไรพระพุทธเจ้าเลย คราวนี้พระนางจึงนำผ้าสาฎก ๒ ผืน ยาว ๑๔ ศอก กว้าง ๗ ศอกเสมอกัน ไปถวายพระพุทธเจ้า ปฐมสมโพธิว่า ฝ้ายนั้นมีสีเหลืองดังทอง โดยพระนางปลูกต้นฝ้ายเอง ฝ้ายออกดอกมาเป็นสีเหลืองหม่น เสร็จแล้วทอเองจนสำเร็จเป็นผืน แล้วใส่ผอบทองนำไปถวายพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าไม่ทรงรับ พระนางเสียพระทัยจึงไปหาพระอานนท์เล่าความให้ฟัง พระอานนท์จึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลให้ทรงรับ พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงรับ ทรงชี้บอกพระนางให้นำไปถวายพระสงฆ์ แต่ก็ไม่มีพระสงฆ์องค์ใดยอมรับอีก มีอยู่องค์เดียวเท่านั้นที่นั่งอยู่หางแถวอาสน์สงฆ์สุดยอมรับ ท่านเป็นพระบวชใหม่นามว่า "อชิต" ยังเป็นพระปุถุชน แต่ในอนาคตปฐมสมโพธิว่า อชิตภิกษุนี้ คือ พระศรีอาริย์ ซึ่งจะเสด็จมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเพื่อโปรดโลกสืบต่อไป

ที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงรับผ้าของพระนางปชาบดีโคตมี เพราะทรงต้องการจะยกย่องความดีของพระสงฆ์สาวกให้เห็นว่า แม้เพียงพระบวชใหม่ทรงศีลก็ควรแก่การรับของทำบุญของพุทธศาสนิกชน เพราะถ้าไม่ทรงทำให้เห็นอย่างนี้ ใครๆ ก็จะถือว่าทำบุญกับพระพุทธเจ้านั้นจึงจะได้บุญ แล้วเมื่อพระพุทธเจ้านิพพานล่วงไปแล้ว พระสงฆ์สาวกก็จะลำบากเพราะทัศนะดังกล่าว
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง