Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ตำนาน นโม (พระพจนารถ ปภาโส) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 04 ก.ค.2007, 7:31 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๑๙)


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงนิพนธ์เรียบเรียงพระพุทธคุณบทว่า ‘อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ’ เป็นธรรมภาษิตประทานเทศน์ในวันวิสาขปุรณมี พ.ศ. ๒๔๕๘ ไว้ดังนี้

“สมเด็จพระบรมศาสดาของเราทั้งหลายนั้น ตั้งแต่ครั้งยังเสด็จอยู่ในฆราวาส ได้ทรงรับความศึกษาเล่าเรียนมา โดยสมควรแก่พระชาติและพระวงศ์ ดังปรากฏในพระพุทธประวัติว่า ทรงศึกษาอักษรและศิลปธนู และปรากฏตามพระพุทธจรรยา ครั้งตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วว่า ทรงทราบความเป็นไปของบ้านเมือง การปกครองและอื่นๆ พระองค์จึงอาจนำมาตรัสอุปมาเปรียบกับความประพฤติธรรมเป็นอเนกประการ แต่พระองค์หาได้ติดแน่นในศึกษาต่างประการนั้นเกินไป จนถอนพระองค์ไม่ออก

อันการศึกษานั้น ก็คือสำเหนียกตามความพบปะ ความคิดเห็น ความเข้าใจ ความประพฤติและอื่นๆ ของคนปางหลังหรือแม้ยังมีตัวอยู่ เนื่องด้วยธรรมดาคือความเป็นเองบ้าง เนื่องด้วยสังขารมีความปรุงความแต่งบ้าง การศึกษานี้เพิ่มความรู้แก่ผู้เรียนมากกว่า เพราะได้พบเห็นตามลำพังตน แต่คนผู้ศึกษาโดยมาก เรียนรู้อย่างใด แล้ว เทียมทัน หรือขึ้นหน้าคนทั้งหลายแล้ว ย่อมถือว่าความรู้อย่างนั้นเป็นดี ติดอยู่ในความรู้อย่าง นั้น ถือเอาความรู้อย่างนั้นเป็นทิฏฐานุคติ (คือสิ่งที่เอาเป็นอย่าง) พอใจอยู่ในความรู้เพียงเท่านั้น ไม่อาศัยความศึกษานั้น ใช้ความคิดของตน เพื่อได้ความรู้อันสูง หรือกว้างขวางกว่านั้นอีก

คนจำพวกใดติดแน่นในความศึกษานั้น คนจำพวกนั้นย่อมไม่ทันคนจำพวกอื่นผู้อาศัยความศึกษานั้น ใช้ความคิดของตนแล้ว และได้ความรู้ที่เยี่ยมกว่า หรือแปลกกว่า มีอุทาหรณ์จะพึงเห็นในตำนาน ทั้งเป็นอดีตก็มี ทั้งเป็นปัจจุบันก็มี

สมเด็จพระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย แม้เกิดขึ้นในครั้ง ๒,๕๐๐ ปีล่วงมาแล้ว พระองค์มีพระอัธยาศัยไม่ติดแน่นในศึกษานั้น จึงกล้าบากบั่นออกทรงผนวชแสวงหาความรู้ในทางศาสนาอีก พระองค์อยู่ศึกษาในสำนักอาฬารดาบสกาลามโคตร และอุททกดาบสรามบุตร ในปกรณ์ กล่าวว่า ทรงเรียนสมาบัติ พระองค์ได้ความรู้อย่าง นั้นแล้วก็ไม่ติดแน่นในความรู้นั้นเหมือนอาจารย์ทั้งสอง จึงได้แสวงหาพระโพธิญาณ คือความตรัสรู้ต่อไป จึงได้ความรู้ธรรมที่ทรงนำมาสอนมหาชน ซึ่งเรียกว่า พระพุทธศาสนา ได้รับความยกย่องของผู้นับถือว่า ‘สมฺมาสมฺพุทฺโธ’ ซึ่งแปลว่า ‘ผู้รู้ชอบเอง’ พวกพุทธศาสนิกโดยมากถือเอาอรรถแห่งบท นี้ว่าเป็นผู้วิเศษ มีความรู้อย่างสูงสุด ไม่ได้เรียนมาจากผู้อื่น แต่ความจริงเป็นอย่างนั้นไม่ได้เลย

ใน ‘ธรรมจักกัปปวัตนสูตร’ ปฐมเทศนา ระบุไว้ชัดทีเดียวว่า ‘ปุพฺเพ อนนุสฺสุเตสุ ธมฺเมสุ’ ซึ่งแปลว่า ‘ในธรรมที่ไม่เคยได้ยินมาแล้ว’ พระคันถรจนาจารย์ในปูนหลัง เข้าใจความนี้ดีทีเดียว แม้กล่าวยกย่องว่า “เป็นเอง หาอาจารย์มิได้” แต่รวมความลงข้างท้ายว่า ‘รู้ความจริงชอบเองในธรรมที่ไม่เคยได้ยินมาแล้ว’ โดยนัยนี้ บทว่า ‘สมฺมาสมฺพุทฺโธ’ หมายความว่า ‘รู้ธรรมที่ไม่เคยได้เรียนมาจากผู้อื่น ตามลำพังโดยถูกทาง’ มีตัวอย่างคนมีความรู้ประดิษฐ์ของบางอย่างขึ้น อันคนอื่นยังไม่เคยประดิษฐ์มาก่อน เช่น โทรเลขไม่มีสาย เขาก็เรียกคนนั้นว่าเป็นต้นคิดแห่งของอย่างนั้น มิใช่คนนั้นไม่เคยเรียนกฎของธรรมดามาบ้างเลย เขาย่อมได้เคยเรียนมา เช่นรู้จักลักษณะและคติแห่งไฟฟ้า เขาจึงสามารถประดิษฐ์สิ่งนั้นขึ้นได้

สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงสั่งสอนพระพุทธศาสนา ประทานธรรมอันล้ำเลิศ เป็นคุณใช้ได้ไม่ จำกัดกาล ไว้แก่เราทั้งหลายเช่นนี้ ก็เพราะพระองค์มีพระอัธยาศัยไม่ติดแน่นในทางที่ได้เรียนและมัวเอาอย่างเจ้าของเดิม และเสาะหาความรู้อันยิ่งกว่าจนได้พบเห็น ไม่เช่นนั้นพระองค์ก็จะเป็น พระราชาครองเมือง หรือเป็นดาบสเท่านั้นเอง ไม่อาจยังประโยชน์อันยิ่งใหญ่ให้สำเร็จแก่โลก ตั้งแต่ ทรงบำเพ็ญพระพุทธกิจประกาศพระศาสนาแล้ว พระองค์ใช้ความรู้ของพระองค์ที่ได้ทั้งทางศึกษา ทั้งทางพระดำริคิด ทั้งทางที่อบรมของเดิม

อย่างใดดีก็ทรงนำมาใช้ อย่างใดไม่ดีก็ทรงขึ้นใหม่ สุด แต่อย่างใดจะนำบริษัทให้ได้ความรู้สูงขึ้นไป และกว้างขวางออกไป พึงเห็นในเรื่องอธิษฐานพระชนมายุ คือตั้งพระปณิธานใคร่จะดำรงพระชนม์อยู่กว่าจะประกาศพระศาสนาแพร่หลาย และพุทธบริษัทรู้ธรรมทั่วถึง พระพุทธอัธยาศัยเป็นอย่างไร พึงสันนิษฐานตามพระพุทธภาษิตว่า “ภิกษุทั้งหลาย แต่เพียงหยุดในกุศลธรรม เรายังไม่สรรเสริญแล้ว เราย่อมติความเสื่อมจากกุศลธรรมก่อนแท้” ความรู้อันยิ่งที่พระองค์ได้พบ เห็นตามลำพังพระองค์นี้ ย่อมทำพระองค์ให้เป็น ผู้บริสุทธิ์และเป็นผู้สมควร กล่าวอีกโวหารหนึ่ง ย่อมคุ้มพระองค์ และย่อมส่งพระองค์ขึ้นให้เป็นผู้สูงสุด

คนทั้งหลาย ผู้รู้จักควรหรือไม่ควร รู้จักผิดหรือชอบแล้ว แต่ยังทำการไม่ควรการผิด ฝืนความรู้สึกของตนมากบ้างน้อยบ้าง ด้วยอำนาจความโลภ ความดุร้าย และความหลงเป็นเค้ามูล คนผู้โลภแล้วย่อมแสวงหาโภคทรัพย์ในทางไม่เป็นธรรม ทำโจรกรรมบ้าง อุดหนุนโจรกรรม คือรับซื้อของโจรบ้าง รับสินบนบ้าง หาเลี้ยงชีพในทาง หลอกลวงเขาบ้าง ผู้มีกำหนัดกล้าย่อมแสวงหากามคุณในทางผิดถึงกาเมสุมิจฉาจารได้ ที่เป็นผู้ ตระหนี่ ย่อมไม่อยากให้ผู้อื่นมีเทียมตน หวงแหนทรัพย์อย่างเหนียวแน่น แม้เห็นสมควรหรือจำเป็น ก็ไม่กล้าสละ ที่เป็นคนมักอิสสาเห็นคนอื่นเกินหน้าตน อดทนอยู่ไม่ได้ ย่อมทุรนทุราย จนถึงคิดตัดรอนเขา

คนผู้ดุร้ายย่อมโกรธง่าย เมื่อโกรธขึ้นมาแล้ว สติรั้งไม่อยู่ ย่อมพูดคำหยาบ ก่อคำวิวาท ย่อมทำร้ายเขา จนถึงผลาญชีวิตเขาก็มี ที่เป็นคนใจบึกบึนมักโกรธไม่รู้หาย ถึงพยาบาทปองร้ายเขาก็เป็นได้ และจงใจทำการผิดเช่นนั้น อาจลบหลู่ท่านผู้มีพระคุณด้วยไม่คิดตะขิดตะขวง คนผู้หลงแล้วที่เป็นเจ้าทิฏฐิ ทำผิดไปแล้ว แม้รู้ตัวเข้าภายหลังก็ยังขืนทำ ใช้ทิฏฐิเลยตามเลย ที่เป็นเจ้ามานะคือถือตัว ย่อมแสดงอาการจองหอง ดูหมิ่นคนอื่น ที่เป็นเจ้าลัทธิย่อมติดในลัทธิ ถอนไม่ออก แม้เห็นว่าความสมควรเป็นอย่างอื่น ก็ยังขืนทำ รั้นอยู่ ความรู้ของคนเหล่านั้นย่อมคุ้มเขาไม่ได้ ไม่อาจส่งเสริมให้เป็นผู้สมควร บางพวกยังปกติอยู่ ย่อมเป็นไปตามอำนาจแห่งความรู้ ครั้นพบปะความไม่สะดวกเข้า ย่อมประพฤติไถลไปหาความสะดวก ไม่ใช้ความอดทน ความเพียร และปัญญา คิดแก้อุปสรรคคือความติดขัด เช่นนี้ความรู้นั้นย่อมคุ้มกันเขาชั่วคราวเท่านั้น

สมเด็จพระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย ทรงใช้ความรู้เป็นเครื่องคุ้มพระองค์ให้คงอยู่ในความบริสุทธิ์ ทั้งทางพระกาย ทางพระวาจา ทางพระมนัส ยั่งยืนไม่กลับกลาย เป็นผู้มีพระอัธยาศัยเบิกบานด้วยพระคุณสมบัติ พื้นเดิมของพระองค์ทรงมีพระอัธยาศัยเผื่อแผ่ มีพระมรรยาทอันงาม มีพระมนัสไม่ติดอยู่ในกามสุข ถึงเป็นเหตุห่วงใยไม่อาจจาก มีพระปัญญาพอจะไม่หลงหมกมุ่นอยู่ ในกามสุข มีพระวิริยะพอจะกล้าหาญบากบั่นเพื่อสำเร็จแห่งผลซึ่งมุ่งหมาย มีพระขันติพอประคองพระวิริยะมิให้ถอยหลัง ทรงรักษาสัตย์มั่นคง สามารถจะผูกไมตรี มีพระอัธยาศัยมั่นคงในกิจที่ปลงพระมนัสจะทำ ไม่จืดจางเร็ว มีพระเมตตา พอจะพร่าสุขประโยชน์ของพระองค์เพื่อผู้อื่น ทรงรู้จักวางพระมนัสเป็นกลาง ไม่ให้ตกไปในฝ่ายความยินดีหรือความยินร้าย

ความรู้ของพระองค์อบรมพระคุณเหล่านี้ให้ไพบูลย์ พระองค์จึงทรงน้อมพระชนม์ของพระองค์ เพื่อทรงบำเพ็ญประโยชน์ให้สำเร็จแก่สัตว์โลก ด้วยอำนาจพระเมตตา พระกรุณา มีพระมนัสปลอดโปร่ง ไม่ติดอยู่ในลาภสักการะ ในถิ่นฐานหรือในบุคคล อาจเสด็จไปไหน ไปได้ มีพระอัธยาศัยมั่นคงในอันจะโปรดสัตว์ ทรงพระอุตสาหะอดทนในอันเสด็จเที่ยวจาริกและสั่งสอน กล้าหาญไม่พรั่นพรึงต่ออันตราย อันจะพึงมีแต่เวไนยผู้มีอัธยาศัยดุร้าย อดทนได้ ซึ่งคำหยาบช้าของคนเช่นนั้น ทรงฉลาดรู้อัธยาศัยของเวไนยนิกร และผ่อนปรนเทศนาให้ถูกเหมาะ อนุโลมตามกาลเทศะและอุบัติเหตุ มั่นในศีลในธรรมอันจะนำให้เห็นเป็นตัวอย่าง รักษาพระมนัสเป็นกลาง ไม่ให้อ่อนแอด้วยอำนาจความยินดียินร้าย อันใครๆ ไม่สามารถจะล่อจะขู่ให้สมประสงค์ ทรงประพฤติจริง เป็นที่เชื่อถือได้ จึงได้คุมคณะติด

ความรู้อบรมพระคุณเหล่านี้ ย่อมส่งพระองค์ให้เป็น ‘ผู้สมควร’ อย่างสูงสุด คนผู้สมควรเป็นที่เคารพนับถือของเขา อันเขาจะพึงไหว้และอ่อนน้อม ย่อมเป็นผู้มีพื้นมา คือมีกำเนิดสูง มีอายุมาก หรือมีคุณธรรม โดยที่สุดสักอย่างหนึ่ง สมเด็จพระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย มีกำเนิดเป็นเจ้า มีคุณธรรมเป็นหลัก และภายหลังเจริญพระชนมายุครบ ๓ สถาน คนผู้สมควรจะเป็นหัวหน้าชักนำเขา ควรทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่างก่อน สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสสอนเขาอย่างใด พระองค์ย่อมทรงทำอย่างนั้นด้วยเหมือนกัน คนผู้สมควรจะปกครองเขา ควรเป็นผู้รู้สึกรับผิดรับชอบ และตั้งใจทำธุระอันเป็นหน้าที่ของตนจริงๆ เป็นผู้เที่ยงธรรม ไม่ลำเอียง สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงพระกรุณาแสวงหาประโยชน์แก่สาวก ได้ทรงบำเพ็ญพุทธกิจในทางอันสมควรตามหน้าที่ จึงอาจเปล่ง พระสุรสิงหนาทว่า “กิจใดอันศาสดาผู้กรุณาแสวง หาประโยชน์แก่สาวกจะพึงทำ กิจนั้นอันเราทำแล้วแก่ท่านทั้งหลายทุกประการ”

สมเด็จพระบรมศาสดาทรงอาศัยความรู้ของพระองค์ คงอยู่ในความบริสุทธิ์สม่ำเสมอ เบิกบาน ด้วยพระคุณอันไพศาล เป็นผู้สมควรสูงสุด พุทธศาสนิกบัณฑิตประมวลอรรถเหล่านี้เข้า กล่าวยก ย่องว่า “อรหํ” ซึ่งแปลทับศัพท์ว่า “พระอรหันต์”

พระสาวกผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นพระอรหันต์ก็ มี ท่านจึงใช้คำหมายต่างต่อข้างหลัง กล่าวหมาย เอาสมเด็จพระบรมศาสดาว่า “อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ” ซึ่งแปลว่า “พระอรหันต์ ผู้รู้ชอบเอง” กล่าวหมายเอาพระสาวกว่า “อรหํ ขีณาสาโว” ซึ่งแปลว่า “พระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว”

พระองค์ประกาศพระพุทธศาสนา สั่งสอนให้ ปฏิบัติธรรมเป็นปานกลาง อย่าให้ตกไปข้างย่อหย่อนเลวทราม อย่าให้ตึงเครียดที่ต้องลำบากเปล่า หาประโยชน์ไม่ได้ ทรงชี้ทางพอดีไว้ ให้คุมความ เห็นให้เป็นไปในทางที่ถูก ให้ใช้ความตริในทางชอบ ให้พูดแต่วาจาอันสมควร ให้ทำแต่การอันปราศจากโทษ ให้เลี้ยงชีพโดยธรรม ให้รู้จักใช้ความเพียรในทางไม่ผิด ให้รู้จักตั้งสติให้ถูกทาง ให้ตั้งใจใน ทางอันดี องค์ ๘ นี้เป็นหลักแห่งความปฏิบัติในพระพุทธศาสนา บัณฑิตพิจารณาเป็นธรรมที่พระองค์ตรัสชอบแล้ว พระสงฆ์สาวกผู้เป็นหลักในพระศาสนา ล้วนแต่ดำเนินโดยทางนี้มาแล้วทั้งนั้น ได้รับสรรเสริญของผู้นับถือว่า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว


>>>>> มีต่อ
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 04 ส.ค. 2007, 5:24 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๒๐)


• สมฺมาสมฺพุทฺโธ

สมฺมาสมฺพุทฺธะ แปลว่า ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ คือรู้อริยสัจ ๔ โดยไม่เคยได้เรียนรู้จากผู้อื่น จึงทรงเป็นผู้เริ่มประกาศสัจธรรมแก่ผู้อื่น เป็นผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนา และจึงได้พระนามอย่างหนึ่งว่า ‘ธรรมสามี’ คือเป็นเจ้าของธรรม

สัมมาสัมพุทธะ เป็นพระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้า ที่ได้บัญญัติโดยคุณนิมิตตั้งแต่ทรงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

บท นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ใช้ศัพท์เป็น สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

บทสรรเสริญพระพุทธคุณที่ว่า อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถาเทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควา ใช้ศัพท์เป็นสมฺมาสมฺพุทฺโธ

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงอธิบายความแห่งสัมมาสัมพุทโธ ในพระธรรมเทศนาเรื่อง ‘พระพุทธคุณบทว่าสัมมาสัมพุทโธ’ ดังนี้

“....จะแสดงพระพุทธคุณบทที่ ๒ สัมมาสัมพุทโธ นำสติปัฏฐาน เพื่อให้สำเร็จเป็นพุทธานุสสติ ระลึกถึง คุณของพระพุทธเจ้า พระพุทธคุณบทนี้เป็นพระพุทธคุณบทใหญ่คู่กับบทว่า อรหํ หรือ อะระหัง และมักจะเรียกควบกันอยู่เสมอว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

อรหันตะ ก็มาจาก อะระหัง คำว่า อะระหัง นี้ก็มีความเป็นอย่างเดียวกันกับ อะระหันตะ หรืออรหันต์ แต่ว่าในทางพูดเรียกสำหรับพระพุทธเจ้าก็ใช้ว่า อะระหัง ถ้าเป็นพระสาวกใช้ว่า อะระหันตะ หรือ อรหันต์ เพื่อให้ต่างกัน

แม้ในบทสวดภาษาบาลีแห่งพระพุทธคุณทั้ง ๒ นี้ เราทั้งหลายก็สวดว่า อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ แต่ว่าในเวลาพูดเป็นภาษาไทย ก็ไม่พูดกันว่า พระอะระหังสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่มักพูดกันว่า พระอะระหันตะสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะใช้พูดกันอย่างนี้ รู้สึกว่าเต็มปากเต็มคำ และถนัด จึงนิยมพูดในภาษาไทยกันว่า พระอะระหันตะสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่าภาษาบาลีของ ท่านนั้น อะระหัง สำหรับพระพุทธเจ้า อะระหันตะหรือ อรหันต์ สำหรับพระสาวก แต่อรรถะคือเนื้อความก็เป็นอย่างเดียวกัน จึงควรที่จะเข้าใจความหมายของพระพุทธคุณบทนี้ ซึ่งประกอบด้วยคำว่า สัมมา, สัง และ พุทธะ

สัมมา แปลว่า โดยชอบ สัง แปลว่า สามัง คือเอง พุทธะ ก็ตรัสรู้ รวมกันเป็น สัมมาสัมพุทธะ แปลว่า ผู้ตรัสรู้โดยชอบและเอง หรือแปลว่าผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ก็ได้

คำว่า สัมมา แปลว่า โดยชอบ นี้มีความหมายถึงว่า ความตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นความตรัสรู้โดยชอบคือถูกต้อง และมีความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นความตรัสรู้โดยชอบที่มีพยาน หรือผู้รับรองในความตรัสรู้นั้น ว่าเป็นความตรัสรู้โดยชอบหรือถูกต้อง

ความหมายประการแรกว่าโดยชอบหรือถูกต้อง ก็หมายถึงว่า ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้นเป็นความ ถูกต้อง ที่อาจยกเอา สัมมัตตะ คือความเป็นสิ่งถูกต้อง หรือความเป็นสิ่งชอบ ซึ่งได้ตรัสแสดงไว้ ๑๐ ประการ คือมรรคมีองค์ ๘ อันได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ทั้ง ๒ นี้รวมเข้าเป็นปัญญาหรือปัญญาสิกขา, สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ ๓ นี้ รวมเข้าเป็นศีล หรือสีลสิกขา, สัมมาวายามะ เพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ ๓ นี้รวมเข้าเป็นสมาธิ หรือจิตตสิกขา, นี้เป็น ๘ กับอีก ๒ คือ สัมมาญาณะ ความหยั่งรู้ชอบ สัมมาวิมุติ ความพ้นชอบ

สัมมาญาณะ ความหยั่งรู้ชอบนั้น ก็อาจยกญาณ ๓ ขึ้นแสดงได้ คือ ๑. ญาณความหยั่งรู้ที่ระลึกขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในกาลก่อน คือระลึกชาติได้ ๒. ญาณที่หยั่งรู้ความจุติคือความเคลื่อน อุปบัติคือความเข้าถึงภพชาตินั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลาย และ ๓. ญาณคือความหยั่งรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดาน

สัมมาวิมุติ ความหลุดพ้นชอบ ก็คือความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวงสิ้นเชิง

รวมเป็น สัมมัตตะ คือความเป็นสิ่งชอบหรือถูกต้อง พระพุทธเจ้าตรัสรู้โดยชอบ ก็โดยเป็นสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบเป็นต้น เหล่านี้

ส่วนอีกความหมายหนึ่งที่กล่าวว่า ความตรัสรู้ชอบของพระองค์นั้นมีพยาน หรือผู้รับรอง ก็ได้แก่หมู่แห่งสาวก คือผู้ฟัง ซึ่งเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า ก็เป็นพยานในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นผู้รับรองในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ว่าพระองค์ได้ตรัสรู้โดยชอบจริงคือถูกต้อง ความตรัสรู้ ของพระองค์มิใช่เป็นของเทียมหรือไม่จริง แต่เป็นความตรัสรู้จริงคือถูกต้องจริง ชอบหรือถูกต้องนั้นก็คือชอบหรือถูกต้องต่อความจริงทุกประการ ที่เรียกว่า บริสุทธิ์คือหมดจดจากความผิดพลาด ไม่มีความผิดพลาดแม้แต่น้อย

สัจจะที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั้น บริสุทธิ์คือหมดจด ถูกต้องทั้งหมด บริบูรณ์คือเต็มที่ทั้งหมด ไม่มีบกพร่อง หรือจะเรียกว่าไม่มีขาดไม่มีเกิน บริสุทธิ์บริบูรณ์เต็มที่ ดั่งนี้คือความเป็นสิ่งที่ชอบ ซึ่งหมู่แห่งสาวกผู้ฟังคือศิษย์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้ตรัสรู้ตามพระองค์ ก็ได้รับรองได้เป็นพยาน ดังที่ได้ปรากฏในความรู้ของหมู่แห่งสาวกของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้ตรัสรู้ตามพระองค์ว่า อโห พุทโธ โอหนอพระพุทธเจ้า อโห ธัมโม โอหนอพระธรรม อโห สังโฆ โอหนอพระสงฆ์ คือพระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าจริงๆ พระธรรมก็เป็นพระธรรมจริงๆ พระสงฆ์ก็เป็นพระสงฆ์จริงๆ

เพราะฉะนั้น คำว่า สัมมาสัมพุทโธ ที่แปลว่า ผู้ตรัสรู้โดยชอบและเอง จึงมีความหมายถึงพระพุทธเจ้า ซึ่งได้ประกาศพระพุทธศาสนา มีหมู่แห่งสาวกได้ตรัสรู้ตาม ได้ตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นในโลก และได้เรียกพระพุทธเจ้าซึ่งได้ตรัสรู้เอง แต่มิได้ทรงแสดงธรรมะสั่งสอน ตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นในโลก ว่าพระปัจเจกพุทธะ คือพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้จำเพาะพระองค์เอง ส่วนพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองแล้วยังสอนผู้อื่นให้ตรัสรู้ตาม ตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นในโลก ก็เรียกว่าสัมมาสัมพุทธะ

ดังที่ได้มีแสดงพระพุทธะไว้ ๓ คือ พระสัมมาสัมพุทธะ พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ซึ่งได้สั่งสอน ผู้อื่นให้ตรัสรู้ตาม พระปัจเจกพุทธะ พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้จำเพาะพระองค์ผู้เดียว และพระสาวกะพุทธะ หรือพระอนุพุทธะ คือพระพุทธะ คือพระผู้ตรัสรู้ตาม ได้แก่หมู่แห่งพระสาวกซึ่งได้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า ก็เป็นพุทธะจำพวกที่ ๓ อันเรียกว่าพระอนุพุทธะ เพราะฉะนั้น จึงเห็นว่าคำว่า สัมมานี้มีความหมายถึงว่าได้มีผู้อื่นรับรองเป็นพยาน ก็โดยที่พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้โดยชอบเอง ได้ทรงสั่งสอนให้ผู้อื่นตรัสรู้ตามได้ ก็คือ พระสงฆ์สาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า พระสงฆ์สาวก นี่เองก็เป็นพยานรับรองความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ได้เห็นพระพุทธเจ้า ดังที่มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้แปล ความว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ดังนี้

คำว่า สัง แปลว่า สามะ คือ ‘เอง’ ก็มีความหมายว่า ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้นผุดขึ้นเองแก่พระองค์ ดังที่ได้มีแสดงไว้ในปฐมเทศนาที่ตรัสไว้เองว่า จักขุคือ ดวงตา ญาณคือความหยั่งรู้ ปัญญาคือความรู้ทั่วถึง วิชชาคือความรู้แจ่มแจ้ง อาโลกะคือความสว่าง บังเกิดผุดขึ้นในธรรมะทั้งหลายที่มิได้เคยทรงสดับฟังมาก่อน พระพุทธภาษิตที่ตรัสแสดงไว้นี้ แสดงว่าความตรัสรู้ของ พระองค์นั้นผุดขึ้นเอง พระองค์จึงเป็นผู้ตรัสรู้เอง

และในปฐมเทศนานั้นเองก็ได้ตรัสแสดงถึงความตรัสรู้ของพระองค์ ว่าพระองค์ได้ตรัสรู้อะไร ซึ่งมีความ โดยย่อว่า จักขุคือดวงตาอันหมายถึงดวงตาใจ ญาณังคือความหยั่งรู้ ปัญญาคือความรู้ทั่วถึง วิชชาคือความรู้แจ่มแจ้ง อาโลกะคือความสว่าง ได้บังเกิดผุดขึ้นในธรรมะทั้งหลาย ก็คือในสัจจะคือความจริงทั้งหลายที่พระองค์มิได้เคยทรงสดับมาก่อนว่า นี้ทุกข์ ทุกข์นี้พึง กำหนดรู้ ทุกข์นี้ทรงกำหนดรู้แล้ว นี้ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกขสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์นี้พึงละเสีย ทุกขสมุทัยคือเหตุเกิดทุกข์นี้ทรงละได้แล้ว นี้ทุกขนิโรธความดับทุกข์ ทุกขนิโรธความดับทุกข์นี้ ควรกระทำให้แจ้ง ทุกขนิโรธคือความดับทุกข์นี้ทรงกระทำให้แจ้งแล้ว นี้มรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นี้พึงทำให้มีให้เป็นขึ้น มรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นี้ ได้ทรงทำให้มีให้เป็นขึ้นแล้ว ดังนี้

เพราะฉะนั้น ในปฐมเทศนานี้เอง เป็นเทศนาที่ได้ตรัสแสดงถึงความตรัสรู้ของพระองค์ และก็ได้ตรัสแสดงชี้แจงไว้อย่างชัดเจน ว่าจักขุคือดวงตาอันหมายถึงดวงตาใจ ที่บังเกิดผุดขึ้นในธรรมทั้งหลายที่มิได้เคย ทรงสดับมาก่อนนั้น ก็คือในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ อันได้แก่ทุกข์ ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา หรือมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ และก็ได้ตรัสแสดงไว้เองว่า ความตรัสรู้ของพระองค์

ที่ตรัสใช้คำว่า จักขุ ดวงตาเห็นธรรม ญาณคือความ หยั่งรู้ ปัญญาคือความรู้ทั่วถึง วิชชาคือความรู้แจ่มแจ้ง และอาโลกะคือความสว่าง ก็รวมเข้าในคำว่า ญาณ คือความหยั่งรู้

ญาณ คือความหยั่งรู้ คือความตรัสรู้ของพระองค์ นี้ ตามที่ตรัสแสดงไว้นั้นจึงมีวนรอบ ๓ และมีอาการ ๑๒ ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ โดยที่เป็นความตรัสรู้ที่เป็นไป คือวนไปในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั้น ๓ รอบ โดยเป็น สัจจญาณ ความหยั่งรู้ในสัจจะ คือความจริง รอบหนึ่ง ว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาข้อปฏิบัติให้ถึงความ ดับทุกข์ ความตรัสรู้ที่วนไปในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ โดยสัจจะคือความจริงว่านี้เป็นอย่างนี้ นั้นเรียกว่า สัจจญาณ เป็นรอบที่ ๑

รอบที่ ๒ ก็คือญาณคือความหยั่งรู้ที่วนไปหรือเป็น ไปในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ โดยเป็นกิจจญาณ คือความหยั่งรู้ในกิจคือหน้าที่ซึ่งพึงปฏิบัติ ว่าทุกข์พึงกำหนดรู้ ทุกขสมุทัยพึงละเสีย ทุกขนิโรธพึงกระทำให้แจ้ง มรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์พึงอบรมทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นเป็นกิจคือหน้าที่ซึ่งพึงปฏิบัติในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ดั่งนี้ เป็นรอบที่ ๒

ญาณคือความหยั่งรู้ที่วนไปเป็นไปในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ รอบที่ ๓ ก็โดยเป็น กตญาณ คือเป็นความหยั่งรู้ว่า กิจซึ่งพึงปฏิบัติในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั้น ได้ทรงกระทำแล้ว ได้ทรงปฏิบัติเสร็จแล้ว ว่าทุกข์นั้นได้ทรงกำหนดรู้แล้ว ทุกขสมุทัยทรงละได้แล้ว ทุกขนิโรธทรงกระทำให้แจ้งแล้ว มรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ทรงปฏิบัติทำให้มีให้เป็นขึ้นเสร็จแล้ว ดังนี้ เป็นอันว่าได้ทำกิจเสร็จในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เป็นรอบที่ ๓

เพราะฉะนั้น พระญาณคือความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า จึงได้ตรัสแสดงว่าวนไป ๓ รอบ หรือมี ๓ รอบใน อริยสัจจ์ทั้ง ๔ และ ๓ คูณ ๔ ก็เป็น ๑๒ จึงตรัสว่ามี อาการ ๑๒ ดั่งนี้ ฉะนั้น ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าจึงเป็นความตรัสรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ซึ่งเวียนไป ๓ รอบและมีอาการ ๑๒

แต่ว่าไม่ใช่หมายความว่าความหยั่งรู้นั้นบังเกิดขึ้น ในขณะต่างกัน จึงมีญาณคือความหยั่งรู้บังเกิดขึ้นหลายขณะ และต่างๆ กัน แต่หมายความว่าญาณคือความหยั่งรู้นั้นเป็นอันเดียวเป็นขณะเดียว แต่ว่าเป็นความรู้ที่เวียนไปในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ สามรอบ และมีอาการ ๑๒ ดังกล่าวนั้น ในข้อนี้อาจจะเทียบง่ายๆ เหมือนอย่างการดูนาฬิกา จะรู้เวลาก็ต้องมองเห็นหน้าปัทม์ของนาฬิกา เห็นตัวเลขที่บอกชั่วโมงบอกนาที เห็นเข็มสั้นเข็มยาวที่บอกชั่วโมงบอกนาที ต้องเห็นพร้อมกันในขณะเดียวกัน คือเห็นหน้าปัทม์ทั้งหมดในขณะเดียวกัน จึงจะรู้เวลาได้ เพราะฉะนั้น การเห็นของลูกตาซึ่งหน้า ปัทม์ของนาฬิกาทั้งหมดนั้น ซึ่งเห็นคราวเดียวกัน แต่ว่าสิ่งที่เห็นนั้นมีหลายอย่างรวมกันอยู่ ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็จะพึงเทียบได้ดั่งนั้น

ในความตรัสรู้ของพระองค์นั้น ทรงรู้ทรงเห็นคราวเดียว แต่ได้รวมทั้งหมดซึ่งอริยสัจจ์ทั้ง ๔ โดยมีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ รวมกันเป็นคราวเดียว เพราะฉะนั้น จึงเป็นความตรัสรู้เองโดยชอบ เหมือนอย่างการที่มอง ดูหน้าปัดนาฬิกา มองเห็นหมดในหน้าปัทม์นั้นคราวเดียว ตัวเลขทั้งหมด เข็มสั้นเข็มยาวทั้งหมด จึงจะบอกเวลาได้ถูกต้อง

เพราะฉะนั้น ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร ได้ตรัสรู้อะไร ตรัสรู้อย่างไร ได้ทรงแสดงไว้โดยแจ่มแจ้งในปฐมเทศนาของพระองค์

เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงเป็นสัมมาสัมพุทโธ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ และเมื่อได้มีพระมหากรุณาเสด็จไปทรงแสดงธรรมะสั่งสอน ได้มีหมู่แห่งสาวกได้ตรัสรู้ตามพระองค์ พระองค์ก็ได้ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทโธเต็มที่ ในความรู้ความรับรองของผู้อื่น ซึ่งได้ตรัสรู้ตามพระองค์ และได้ความรู้ความรับรองพระองค์ว่า ได้ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะแท้จริง

เพราะฉะนั้นพระพุทธคุณบทนี้จึงมีความที่สำคัญ ซึ่งเมื่อได้ตั้งใจศึกษากำหนดให้มีความรู้ความเข้าใจแล้ว จะได้รู้จักพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง...”


>>>>> มีต่อ
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 23 ต.ค.2007, 5:11 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๒๑)


สัมมาสัมพุทโธ มาจากสมาสของ สัมมา + สัมพุทธะ, สัมมา (samma) แปลว่าที่ถูกที่ชอบ, สัมพุทธะ คือคำว่า พุทธะ (buddha) ที่แปลว่า รู้ แจ้ง เติมอุปสัค (Prefix) สํ (samํ) เข้าไปได้ความ หมายว่ารู้แจ้งรู้พร้อม คำว่า สัมมาสัมพุทธะ มี -ะ เป็นการันต์, เพศชาย, เอกพจน์ เมื่อแจกปฐมาวิภัตติ จึงได้เป็น สัมมาสัมพุทโธ (samma sambuddho)

พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปญฺโญ) หรือพุทธทาสภิกขุ อธิบาย สัมมาสัมพุทธเจ้า ในบรมธรรมภาคต้น ว่า

“...คำว่า พุทธ ไม่ได้หมายความถึง พระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ แต่ก็เป็นคำคำเดียวกัน ซึ่งในภาษาบาลี ใช้แก่พระพุทธเจ้าก็ได้ เพราะฉะนั้นจึงมีการจำแนก ประเภทเป็น :-สัมมาสัมพุทธ ปัจเจกพุทธ อนุพุทธ สุตพุทธ จากทั้ง ๔ ประเภทนี้ จะเห็นได้ว่า ‘พุทธ’ ในความหมายทั่วไป ไม่ได้หมายเฉพาะแต่สัมมาสัมพุทธเจ้า

สัมมาสัมพุทธ ประเภทแรกนี้ รู้พร้อมโดยชอบ รู้เองโดยชอบ (สํ = เองก็ได้ พร้อมก็ได้)

ปัจเจกพุทธ รู้เฉพาะตนผู้เดียว (ปัจจ + เอกะ = รู้เฉพาะตนผู้เดียว)

อนุพุทธ อนุ = รู้ตามผู้อื่น

สุตพุทธ รู้เพราะได้ฟัง ได้ศึกษา สุตะ แปลว่า ฟัง เพราะสมัยก่อน การศึกษาคือการฟัง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้เองโดยชอบ คือถูกต้อง และสมบูรณ์ สามารถทำให้ผู้อื่นรู้ได้ด้วย ปลุกผู้อื่น ได้ด้วย ส่วนพระปัจเจกพุทธ รู้เพียงพอเท่าที่ตนจะตื่น ไม่คำนึงถึงการปลุกผู้อื่น หรือไม่สนใจด้วยซ้ำไป อนุพุทธนั้นคือคนที่ถูกปลุกมากๆ ก็ตื่นเหมือน กัน ตื่นตามผู้ปลุก สุตพุทธ นี้คือผู้ศึกษาเล่าเรียนทั่วๆ ไป เป็นพุทธ เพราะการศึกษาเล่าเรียน ก็ตื่นได้ รู้ เป็นพุทธะ เพราะการศึกษาเล่าเรียนก็รู้ได้ จึงแยก เป็น พุทธะสมบูรณ์ พุทธะเฉพาะตน พุทธะเพราะรู้ตาม พุทธะเพราะได้ศึกษา พระพุทธเจ้าท่านอยู่ในพวกสัมมาสัมพุทธ พระพุทธเจ้าใน ๓ วัตถุ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้น เราหมายถึงพระสัมมาสัมพุทธะ...”

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๖ พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถาปุคคลบัญญัติปกรณ์ อธิบาย “ความเป็นสัมมาสัมพุทธะ” ว่า “บุคคลเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เป็นไฉน ? บุคคลบางคนในโลกนี้ ตรัสรู้ด้วย ปัญญาอันยิ่ง ซึ่งสัจจะด้วยตนเองในธรรมทั้งหลาย ที่ตนมิได้เคยสดับมาแล้วในก่อน บรรลุความเป็นพระสัพพัญญูในธรรมนั้น และบรรลุความเป็นผู้มีความชำนาญในธรรมเป็นกำลังทั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่า พระสัมมาสัมพุทธะ”

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค ๑ ตอน ๒ แก้อรรถบท สมฺมาสมฺพุทฺโธ ว่า

“ส่วนที่พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงพระนามว่า สมฺมาสมฺพุทฺโธ ก็เพราะทรงรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบและโดยพระองค์เอง จริงอย่างนั้น พระองค์ทรงรู้โดยชอบด้วย โดยพระองค์เองด้วย ซึ่งธรรม ทั้งปวงคือ ทรงรู้ธรรมทั้งหลายที่เป็นอภิญไญย โดยความเป็นธรรมที่พึงรู้ยิ่ง
* ทรงรู้ธรรมทั้งหลายที่เป็น ปริญไญย โดยความเป็นธรรมที่พึงกำหนดรู้ (ทุกขสัจ) ทรงรู้ธรรมทั้งหลายที่เป็นปหาตัพพะ โดยความ เป็นธรรมที่พึงละ (สมุทัยสัจ) ทรงรู้ธรรมทั้งหลายที่เป็นสัจฉิกาตัพพะ โดยความเป็นธรรมที่พึงทำให้ แจ้ง (นิโรธสัจ) ทรงรู้ธรรมทั้งหลายที่เป็นภาเวตัพพะ โดยความเป็นธรรมที่พึงเจริญ (มรรคสัจ) ก็เพราะเหตุนั้นแล พระองค์จึงตรัส (แก่เสลพราหมณ์เป็น คาถา) ว่า “สิ่งที่ควรรู้ยิ่งเราได้รู้ยิ่งแล้ว และสิ่งที่ควรเจริญเราได้เจริญแล้ว สิ่งที่ควรละเราก็ได้ละแล้ว เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นพุทธะนะพราหมณ์”

อีกนัยหนึ่ง พระองค์ตรัสรู้โดยชอบ และโดยพระองค์เอง ซึ่งธรรมทั้งปวง โดยยกขึ้นเอาทีละบท ดังนี้ก็ได้ว่า จักษุเป็นทุกขสัจ ตัณหาอันมีมาแต่ภพ ก่อน ซึ่งเป็นตัวก่อให้เกิด โดยความเป็นตัวเหตุที่เป็น มูลแห่งจักษุนั้น เป็นสมุทัยสัจ ความไม่เป็นไปแห่งจักษุ และจักษุสมุทัยทั้งสอง เป็นนิโรธสัจ ปฏิปทาที่เป็นเหตุรู้นิโรธ เป็นมรรคสัจ ในโสตะ ฆานะ ชิวหา กาย และมนะ ก็นัยนี้ อายตนะ ๖ มีรูปเป็นต้น หมวดวิญญาณ ๖ มีจักขุวิญญาณเป็นต้น ผัสสะ ๖ มีจักขุสัมผัสเป็นต้น เวทนา ๖ มีจักขุสัมผัสชาเวทนา เป็นต้น สัญญา ๖ มีรูปสัญญาเป็นต้น เจตนา ๖ มี รูปสัญเจตนาเป็นต้น หมวดตัณหา ๖ มีรูปตัณหาเป็นต้น วิตก ๖ มีรูปวิตกเป็นต้น วิจาร ๖ มีรูปวิจาร เป็นต้น ขันธ์ ๕ มีรูปขันธ์เป็นต้น กสิณ ๑๐ อนุสติ ๑๐ สัญญา ๑๐ โดยมีอุทธุมาตกสัญญาเป็นต้น อาการ ๓๒ มีผมเป็นต้น อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ ภพ ๙ มีกามภพเป็นต้น
** ฌาน ๔ มีปฐมฌานเป็นต้น อัปปมัญญา ๔ มีเมตตาภาวนาเป็นต้น อรูปสมาบัติ ๔ และองค์แห่งปฏิจจสมุบาทโดยปฏิโลมมีชรามรณะเป็นต้น โดยอนุโลมมีอวิชชาเป็นต้น (เหล่านี้) ก็พึงประกอบ (ความ) เข้าโดยนัยนั้นแล

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต มหาวรรค เสลสูตรที่ ๗ พระบรมศาสดาทรงประกาศความเป็นสัมมาสัมพุทธะไว้ดังนี้

เสลพราหมณ์กราบทูลว่า “พระองค์ทรงปฏิญาณ ว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เป็นพระธรรมราชาชั้นเยี่ยม ข้าแต่พระโคดม พระองค์ตรัสว่า จะยังจักรให้เป็นไปโดยธรรม ใครหนอเป็นสาวกเสนาบดีของ พระองค์ ผู้ประพฤติตามพระศาสดา ใครจะยังธรรม จักรที่พระองค์ให้เป็นไปแล้วนี้ ให้เป็นไปตามฯ”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรเสลพราหมณ์ สารีบุตรผู้เกิดตามตถาคต จะยังธรรมจักรอันยอดเยี่ยมที่เราให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตาม ดูกรพราหมณ์ ธรรมที่ควรรู้ยิ่ง เราได้รู้ยิ่งแล้ว ธรรมที่ ควรให้เจริญ เราได้ให้เจริญแล้วและธรรมที่ควรละ เราละได้แล้ว เพราะเหตุนั้นเราจึงเป็นพระพุทธะ ดูกรพราหมณ์ ท่านจงขจัดความสงสัยในเราเสีย จงน้อมใจเชื่อ การได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธะทั้งหลายเนืองๆ เป็นกิจที่ได้โดยยาก ความปรากฏเนืองๆ แห่งพระสัมมาสัมพุทธะพระองค์ใดแล หาได้ยากในโลก เราเป็นพระสัมพุทธะองค์นั้น ผู้เป็นศัลยแพทย์ชั้นเยี่ยม เราเป็นผู้ประเสริฐไม่มีผู้เปรียบ ย่ำยีมารแลเสนามารเสียได้ ทำปัจจามิตรทั้งหมดไว้ในอำนาจไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ บันเทิงอยู่ฯ”

อรรถกถาเสลสูตร อธิบายขยายความตอนนี้ว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า สมฺมาสมพุทฺโธ เพราะตรัสรู้สัจธรรมโดยชอบ และด้วยพระองค์เอง

เสลพราหมณ์เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำพระองค์ให้แจ่มแจ้งอย่างนี้แล้ว จึงเกิดปีติโสมนัส เพื่อทำให้มั่นยิ่งขึ้นจึงกล่าวคาถาที่สองว่า สมฺพุทฺโธ ปฏิชานาสิ พระองค์ทรงปฏิญาณว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ดังนี้

ในบทเหล่านั้น บทว่า โก นุ เสนาปติ เสลพราหมณ์ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเป็น เสนาบดี ยังธรรมจักรที่เป็นไปแล้ว โดยธรรมของพระธรรมราชาให้เป็นไปตามได้

สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรนั่งอยู่ ณ ข้างเบื้องขวา ของพระผู้มีพระภาคเจ้างดงามด้วยสิริดุจก้อนทอง พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงกะเสลพราหมณ์ จึงตรัสคาถาว่า มยา ปวตฺติตํ ยังธรรมจักรอันเราให้เป็นไปแล้ว

ในบทเหล่านั้น บทว่า อนุชาโต ตถาคตํ พระสารีบุตรผู้เกิดตามตถาคต ความว่า พระสารีบุตรผู้เกิดตาม เพราะเหตุตถาคต คือเกิดเพราะตถาคต เป็นเหตุ

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงพยากรณ์ปัญหาว่า โก นุ เสนาปติ ใครหนอเป็นเสนาบดีอย่างนี้แล้ว มีพระประสงค์จะทำให้เสลพราหมณ์ที่กล่าวว่า สมฺพุทฺโธ ปฏิชานาสิ พระองค์ปฏิญาณว่าเป็นสัมพุทธะ ให้หมดสงสัยในข้อนั้น เพื่อให้รู้ว่าเรามิได้ปฏิญาณเพียงข้อปฏิญาณเท่านั้น แม้เราก็ปฏิญาณว่าเป็นพุทธะด้วยเหตุนี้ จึงตรัสคาถาว่า อภิญฺเญยฺยํ เราได้รู้ยิ่งแล้ว

ในบทเหล่านั้น บทว่า อภิญฺเญยฺยํ ได้แก่ วิชชาและวิมุตติอันเป็นมรรคสัจ และสมุทยสัจ ที่ควรเจริญและควรละ ในข้อนี้เป็นอันท่านอธิบายไว้อย่าง นี้ว่า แม้นิโรธสัจและทุกขสัจอันเป็นผลแห่งมรรคสัจและสมุทยสัจเหล่านั้น เป็นอันท่านกล่าวจากความ สำเร็จแห่งผล ด้วยคำพูดอันเป็นเหตุ เพราะธรรมที่ควรทำให้แจ้งเราได้ทำให้แจ้งแล้ว ธรรมที่ควรรู้เรา ทำให้รู้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงการยังสัจจะ ๔ ให้เกิด ผลของการเจริญสัจจะ ๔ วิชชาและวิมุตติ จึงทรง ประกาศความเป็นพุทธะด้วยเหตุที่กล่าวแล้วว่า เราตรัสรู้ธรรมที่ควรตรัสรู้แล้วจึงเป็นพุทธะ ดังนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงทำพระองค์ให้ปรากฏโดยตรงอย่างนี้แล้ว เมื่อจะยังพราหมณ์ให้รีบขวนขวายเพื่อข้ามพ้นความสงสัยในพระองค์ จึงตรัสคาถาที่สามว่า วินยสฺส ท่านจงกำจัดเสีย

ในบทเหล่านั้น บทว่า สลฺลกตฺโต เป็นศัลยแพทย์ คือผ่าตัดลูกศรที่เสียบสัตว์ มีลูกศรคือราคะเป็นต้น ออกได้ บทว่า พฺรหฺมภูโต คือ เป็นผู้ประเสริฐ บทว่า อติตุโล ไม่มีผู้เปรียบ คือล่วงเลยการชั่ง ล่วงเลย การเปรียบ อธิบายว่า เปรียบไม่ได้เลย

บทว่า มารเสนปฺปมทฺทโน ย่ำยีมารและเสนามาร เสียได้ คือย่ำยีมารและเสนามาร กล่าวคือบริษัทของมารที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ปเร จ อวชานติ ดูหมิ่นผู้อื่น มีอาทิว่า กามา เต ปฐมา เสนา กามเป็น เสนาที่หนึ่งของท่าน

บทว่า สพฺพามิตฺเต ได้แก่ ข้าศึกทั้งหมดมีขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร มัจจุมาร และเทวบุตรมารเป็นต้น บทว่า วสีกตฺวา คือ ให้เป็นไปในอำนาจ ของตน บทว่า อกุโตภโย คือ ไม่มีภัยแต่ไหนๆ


เชิงอรรถ

* อภิญไญยธรรม มหาฎีกาว่า คือ ธรรมที่พึงรู้ด้วยญาณอันวิเศษยิ่ง และว่าหมายเอาอริยสัจ ๔ นั่นเอง ที่ว่ารู้ด้วยญาณอันวิเศษยิ่ง ก็คือในกาลเบื้องต้นทรงรู้ด้วยวิปัสสนาปัญญา ในขณะที่บรรลุผล ก็ทรงรู้ด้วยมรรคปัญญา ในกาลต่อมา ก็ทรงรู้ด้วยพุทธญาณทั้งหลายมีสัพพัญญุตญาณเป็นต้น

** มหาฎีกา ขยายความว่า ภพ ๙ นั้น คือ ภพ ๓ มีกามภพเป็นต้น (คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ) หมวด ๑ ภพ ๓ มีสัญญีภพเป็นต้น (คือ สัญญีภพ อสัญญีภพ เนวสัญญีนาสัญญีภพ) หมวด ๑ ภพ ๓ มีเอกโวการภพเป็นต้น (คือเอกโวการภพ-ภพของสัตว์ที่มีขันธ์ ๑ คือ รูปขันธ์อย่างเดียว จตุโวการภพ-ภพของสัตว์ที่มีขันธ์ ๔ ปัญจโวการภพ-ภพของสัตว์ที่มีขันธ์ครบ ๕) หมวด ๑ จึงรวมเป็น ๙

นี่เป็นการประกอบ (ความ) บท ๑ ในธรรมเหล่านั้น (คือ) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ คือทรงรู้โดยอนุโลม ทรงรู้โดยปฏิโลม โดยชอบและโดยพระองค์เอง ซึ่งธรรมทั้งปวง โดยยกขึ้นเอาทีละบทอย่างนี้ว่า

“ชรามรณะเป็นทุกขสัจ ชาติเป็นสมุทัยสัจ ความออกไปแห่งทุกข์และสมุทัยนั้นทั้งสองเป็นนิโรธสัจ ปฏิปทาเป็นเหตุรู้นิโรธ เป็นมรรคสัจ” (ดังนี้เป็นตัวอย่าง) เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าจึง ว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงพระนามว่า สมฺมาสมฺพุทฺโธ ก็เพราะทรงรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบ และโดยพระองค์เอง” ดังนี้


>>>>> มีต่อ
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 23 ต.ค.2007, 5:25 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๒๒)


ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สูตรที่ ๖ ปาสาทิกสูตร สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมแก่พระจุนทะ ว่าด้วยธรรมวินัยศาสดาผู้เป็นและไม่เป็นสัมมาสัมพุทธะ ดังนี้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “...ดูกรจุนทะ ศาสดาในโลกนี้ไม่เป็นสัมมาสัมพุทธะ และธรรมก็เป็นธรรมอันศาสดานั้นกล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกไปจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ไม่ใช่ธรรมที่ท่านผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะประกาศไว้ แต่สาวกไม่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง ไม่เป็นผู้ประพฤติตามธรรม และย่อมประพฤติหลีกเลี่ยงจากธรรมนั้น สาวกนั้นเป็นผู้อันใครๆ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส เป็นลาภของท่านนั้นละ ท่านนั้นได้ดีแล้ว ศาสดาของท่านไม่เป็นสัมมาสัมพุทธะฯ แต่ท่านไม่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมฯ ด้วยเหตุดังนี้แล จุนทะ แม้ศาสดาก็เป็นผู้ควรติเตียนในธรรมนั้น แม้ธรรมก็ควรติเตียนในธรรมนั้น ส่วนสาวกควรสรรเสริญในธรรมนั้นอย่างนี้

ดูกรจุนทะ ผู้ใดแลพึงกล่าวกะสาวกเห็นปานนั้นอย่างนี้ว่า ท่านจงมาปฏิบัติตามธรรมที่ศาสดาของท่านแสดงแล้ว บัญญัติไว้แล้วเถิด ผู้ที่ชักชวน ผู้ที่ถูกชักชวนแล้ว ย่อมปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่าง นั้น คนทั้งหมดนั้นจะประสบสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร จุนทะ เพราะว่าข้อนี้ย่อมมีในธรรมวินัยที่ศาสดากล่าวไว้ไม่ดีฯ อย่างนี้แลฯ

ดูกรจุนทะ อนึ่ง ศาสดาในโลกนี้ไม่เป็นสัมมาสัมพุทธะฯ และสาวกก็เป็นผู้ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง เป็นผู้ประพฤติตามธรรม ย่อมสมาทานธรรมนั้นประพฤติ สาวกนั้นเป็นผู้อันใครๆ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส ไม่เป็นลาภของท่านนั้น ท่านนั้นได้ไม่ดีแล้ว ด้วยว่าศาสดาของท่านไม่ เป็นสัมมาสัมพุทธะฯ ทั้งตัวท่านก็เป็นผู้ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรมฯ ด้วยเหตุดังนี้แล จุนทะ แม้ศาสดา ก็เป็นผู้ควรติเตียนในธรรมนั้น แม้ธรรมก็ควรติเตียนในธรรมนั้น แม้สาวกก็เป็นผู้ควรติเตียนในธรรมนั้น อย่างนี้

ดูกรจุนทะ ผู้ใดแลพึงกล่าวกะสาวกเห็นปานนั้นอย่างนี้ว่า ท่านเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อธรรมอันควรรู้ จักยังธรรมอันควรรู้ให้สำเร็จได้โดยแท้ ผู้ที่สรรเสริญ ผู้ที่ได้รับสรรเสริญแล้วปรารภความเพียรโดยประมาณยิ่ง คนทั้งหมดนั้นจะประสบสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร จุนทะ เพราะว่าข้อนี้ย่อมมีในธรรมวินัยที่ศาสดากล่าวไว้ไม่ดีฯ อย่างนี้แลฯ

ดูกรจุนทะ อนึ่ง ศาสดาในโลกนี้เป็นสัมมาสัมพุทธะ และธรรมเล่าก็เป็นธรรมอันศาสดานั้นกล่าวไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ดีแล้ว เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกไปจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบ ระงับ เป็นธรรมที่ท่านผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะประกาศไว้ แต่สาวกไม่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง ไม่เป็นผู้ประพฤติตามธรรม ย่อมประพฤติหลีกเลี่ยงจากธรรมนั้น สาวกนั้นเป็นผู้อันใครๆ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส ไม่เป็นลาภของท่านนั้น ท่านนั้นได้ไม่ดีแล้ว ด้วยว่าศาสดาของท่านเป็นพระสัมมาสัมพุทธะฯ แต่ว่าตัวท่านไม่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมฯ ด้วยเหตุดังนี้แล จุนทะ แม้ศาสดาก็ควรสรรเสริญในธรรมนั้น แม้ธรรมก็ควรสรรเสริญในธรรมนั้น แต่ว่าสาวกควรติเตียนในธรรมนั้นอย่างนี้

ดูกรจุนทะ ผู้ใดแลพึงกล่าวกะสาวกเห็นปานนั้นอย่างนี้ว่า ท่านจงมาปฏิบัติตามธรรมที่พระศาสดา ของท่านแสดงแล้ว บัญญัติแล้วเถิด ผู้ที่ชักชวน ผู้ที่ถูกชักชวนแล้วย่อมปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น คนทั้งหมดนั้น จะประสบบุญเป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร จุนทะ ข้อนี้ย่อมมีในธรรมวินัยที่ศาสดา กล่าวไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ดีแล้ว เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกไปจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมที่ท่านผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะประกาศไว้อย่างนี้แลฯ

ดูกรจุนทะ อนึ่ง ศาสดาในโลกนี้เป็นสัมมาสัมพุทธะฯ ทั้งสาวกก็เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ ธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง เป็นผู้ประพฤติตามธรรม ย่อมสมาทานธรรมนั้นประพฤติ สาวกนั้นเป็นผู้อันใครๆ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส เป็นลาภอย่างยิ่งของท่านนั้น ท่านนั้นได้ดีแล้ว ด้วยว่าพระศาสดาของท่านก็เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าฯ ทั้งตัวท่านก็เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมฯ ด้วยเหตุดังนี้แล จุนทะ แม้ศาสดาก็ควรได้รับสรรเสริญในธรรมนั้น แม้ธรรมก็ควรได้รับสรรเสริญในธรรมนั้น แม้สาวกเล่าก็ควรได้รับสรรเสริญในธรรมนั้นอย่างนี้

ดูกรจุนทะ ผู้ใดแลพึงกล่าวกะสาวกเห็นปานนั้นอย่างนี้ว่า ท่านเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อธรรมอันควรรู้ จักยังธรรมอันควรรู้ให้สำเร็จได้โดยแท้ ผู้ที่สรรเสริญ ผู้ที่ได้รับสรรเสริญแล้วย่อมปรารภความเพียรโดย ประมาณยิ่ง คนทั้งหมดนั้นจะประสบบุญเป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร จุนทะเพราะว่าข้อนี้ย่อมมีในธรรมวินัยที่ศาสดากล่าวไว้ดีแล้วฯ อย่างนี้แลฯ

...ดูกรจุนทะ ก็บัดนี้ เราแลเป็นศาสดาผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะเกิดขึ้นแล้วในโลก ธรรมเล่าก็เป็นธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ประกาศดีแล้ว เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อ ความสงบระงับ เป็นธรรมอันเราผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะ ประกาศไว้แล้ว สาวกทั้งหลายของเราเล่า ก็เป็นผู้รู้แจ้งอรรถในสัทธรรม และพรหมจรรย์อันบริบูรณ์สิ้นเชิงเล่า ก็เป็นพรหมจรรย์อันเราทำให้แจ้งแล้ว ทำให้ตื้นแล้ว ทำให้มีบทรวบรวมไว้พร้อมแล้ว ทำให้มีปาฏิหาริย์พอที่เทพดามนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ด้วยดีแก่เหล่าสาวกแล้ว จุนทะก็บัดนี้ เราแลเป็นศาสดาผู้เถระ ผู้รู้ราตรีนาน ผู้บวชนาน ผู้ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับฯ...”

อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ปาสาทิกสูตร อธิบายความว่า

ธรรมวินัยศาสดาผู้ไม่เป็นสัมมาสัมพุทธะ (อสมฺมาสมฺพุทฺธปฺปเวทิตธมฺมวินยวณฺณนา)

บทว่า ดูก่อนจุนทะ ข้อนี้ย่อมมีอย่างนั้น ความว่า แม้พระอานนทเถระกราบทูลเนื้อความแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะพระอานนทเถระไม่ใช่เจ้าของกถานี้ แต่พระจุนทเถระเป็นเจ้าของกถา

อนึ่ง พระจุนทเถระนั้นย่อมรู้เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของกถานั้น ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสกับพระจุนทเถระนั้น จึงตรัสคำเป็นอาทิว่า เอวญฺเหตํ จุนฺท โหติ ดังนี้

ดูก่อนจุนทะ ข้อนี้ย่อมมีอย่างนี้ สาวกในธรรมวินัยอันมีสภาวะเป็นต้นว่ากล่าวไว้ไม่ดี เกิดแยกกันเป็นสองพวก ทำการบาดหมางกันเป็นต้น ทิ่มแทงกันด้วยหอกคือปาก เพราะคำสอนอันจะนำผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้ เป็นอันปรากฏโดยคำสอนอันไม่ นำผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้ในบัดนี้ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงคำสอนอันจะไม่นำผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้แต่ต้น จึงตรัสคำเป็น อาทิว่า ดูก่อนจุนทะ ศาสดาในโลกนี้ไม่เป็นสัมมาสัมพุทธะดังนี้

ในบทว่า ประพฤติหลีกเลี่ยงจากธรรมนั้น คือ ไม่บำเพ็ญติดต่อกัน อธิบายว่าประพฤติหลีกเลี่ยง คือทำมีช่วงว่าง

บทว่า ดูก่อนผู้มีอายุ เป็นลาภของท่านนั้น คือ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นต้นเหล่านี้เป็นลาภของท่านนั้น

บทว่า อันท่านได้ดีแล้ว คือ ท่านได้ความเป็นมนุษย์ดีแล้ว ในบทว่า ธรรมอันศาสดาของท่านแสดงแล้วอย่างใด คือ ศาสดาของท่านแสดงธรรมไว้ด้วยอาการใด บทว่า ผู้ใดชักชวน คือ อาจารย์ใด ชักชวน บทว่า ชักชวนผู้ใด คือ ชักชวนอันเตวาสิกใด บทว่า ผู้ใดถูกชักชวน คือ อันเตวาสิกถูกชักชวนโดยที่ปฏิบัติข้อที่อาจารย์ชักชวนเพื่อความเป็นอย่างนั้น

บทว่า คนทั้งหมดเหล่านั้น คือ คนทั้งสามเหล่านั้น

อธิบายว่า ในบุคคลทั้ง ๓ นี้ อาจารย์ย่อมประสบสิ่งที่ไม่ใช่บุญเพราะเป็นผู้ชักชวน อันเตวาสิกผู้ถูกชักชวนย่อมประสบสิ่งที่ไม่ใช่บุญ เพราะเป็นผู้ถูกชักชวน ผู้ปฏิบัติย่อมประสบสิ่งที่ไม่ใช่บุญ เพราะเป็นผู้ปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า คนทั้งหมดเหล่านั้นย่อมประสบสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก

พึงทราบเนื้อความในวาระทั้งหมดโดยทำนองนี้

อนึ่ง ในบทนี้ว่า ปฏิบัติเพื่อธรรมอันควรรู้ คือปฏิบัติตามเหตุ บทว่า จักยังธรรมอันควรรู้ให้สำเร็จ คือจักยังเหตุให้สำเร็จ

บทว่า ปรารภความเพียร คือทำความเพียรอันจะเกิดทุกข์แก่ตน ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ปรารภความเพียร ในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว, ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ผู้ที่เกียจคร้าน ในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ย่อมอยู่เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่าน กล่าวไว้ชั่ว ดังนี้

ธรรมวินัยศาสดาผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะ (สมฺมาสมฺพุทฺธปฺปเวทิตธมฺมวินยาทิวณฺณนา)

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงคำสอนอันไม่นำผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้อย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรง แสดงคำสอนอันจะนำผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้ในบัดนี้ จึงตรัสคำเป็นอาทิว่า ดูก่อนจุนทะ อนึ่ง ศาสดาในโลกนี้ย่อมเป็นพระสัมมาสัมพุทธะดังนี้

ในบทเหล่านั้น บทว่า เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกไปได้ คือ นำไปเพื่อประโยชน์แห่งมรรค และเพื่อประโยชน์แห่งผล

บทว่า ปรารภความเพียร คือ ปรารภความเพียร อันจะให้สำเร็จสุขแก่ตน

ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดเกียจคร้านในธรรมวินัยอันตถาคตกล่าวไว้ดีแล้ว ผู้นั้นย่อมอยู่เป็นทุกข์ ผู้ใดมีความเพียรอันปรารภแล้ว ผู้นั้นย่อมอยู่เป็นสุขดังนี้

ด้วยประการดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง อานิสงส์แห่งกุลบุตรผู้ปฏิบัติชอบในคำสอนอันจะทำผู้ปฏิบัติให้ออกไปจากทุกข์ได้แล้ว เมื่อจะทรงขยายพระธรรมเทศนาอีก จึงตรัสคำเป็นอาทิว่า ดูก่อนจุนทะ ก็พระศาสดาอุบัติแล้วในโลกนี้ดังนี้

ในบทเหล่านั้น บทว่า สาวกทั้งหลายเป็นผู้ไม่รู้แจ้งอรรถ คือไม่มีปัญญาที่จะตรัสรู้ได้

บทว่า ทำให้มีบทอันรวบรวมไว้พร้อมแล้ว คือกระทำด้วยบทอันรวบรวมไว้ทั้งหมด อธิบายว่าไม่ใช่ รวบรวมไว้อย่างเดียว ปาฐะว่า สพฺพสงฺคาหปทคตํ ดังนี้บ้าง คือไม่อยู่ในบทที่รวบรวมไว้ทั้งหมด อธิบายว่าไม่สงเคราะห์เข้าเป็นอันเดียวกัน

บทว่า ทำให้มีปาฏิหาริย์ คือ เป็นธรรมที่นำผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้

บทว่า ตลอดถึงเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย คือประกาศไว้ด้วยดีแล้วตั้งแต่มนุษยโลกจนถึงเทวโลก

บทว่า ย่อมเป็นเหตุให้เดือดร้อน คือเป็นผู้ทำ ความเดือดร้อนในภายหลัง

บทว่า ศาสดาของเราทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วในโลกนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพื่อแสดงถึงอาการ อันทำให้เดือดร้อนของสาวกเหล่านั้น

บทว่า ย่อมไม่เป็นเหตุเดือดร้อนในภายหลัง อธิบายว่า ชื่อว่าย่อมไม่ทำความเดือดร้อนในภายหลัง เพราะข้อที่สาวกทั้งหลายอาศัยพระศาสดาพึงบรรลุได้บรรลุแล้ว

บทว่า เถโร ได้แก่ ผู้มั่นคงคือประกอบด้วยธรรมอันทำให้เป็นผู้มั่นคง คำว่า รตฺตญฺญู เป็นต้น มีเนื้อความกล่าวไว้แล้ว บทว่า เอเตหิ เจปิ คือด้วย คำเหล่านี้ ท่านกล่าวไว้ตอนต้น บทว่า เป็นผู้บรรลุ ธรรมอันเกษมจากโยคะ ความว่า พระอรหัตชื่อว่า เป็นแดนเกษมจากโยคะในธรรมวินัยนี้ เพราะพระอรหัตเป็นแดนเกษมมาจากโยคะ ๔ สาวกทั้งหลายบรรลุพระอรหัตนั้น


>>>>> มีต่อ
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 01 พ.ย.2007, 5:47 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๒๓)


สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริมหาเถร) อธิบายความหมายแห่ง สมฺมาสมฺพุทฺโธ ภควา ในจตุรารักษ์ ว่า “พระผู้มีพระภาคที่เป็นที่พึ่งของเรา พระองค์ตรัสรู้ชอบตรัสรู้ดีแล้วเอง ตรัสรู้จริงเห็นจริง ดับเพลิง กิเลสเพลิงทุกข์ของพระองค์ได้แล้ว คือทำให้แจ้งซึ่งกิเลสนฤพานและขันธนฤพานได้แล้ว ทรงสั่งสอนสัตว์ให้รู้ตามเห็นตาม ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ ทำให้แจ้งซึ่งพระนฤพานได้ด้วยพระองค์นั้น จึงเป็นผู้เลิศกว่าสัตว์ ประเสริฐกว่าสัตว์ เป็นผู้อัศจรรย์ใหญ่ยิ่งนัก ควรเลื่อมใสจริงๆ”

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงพรรณนาบทว่า สมฺมาสมฺพุทฺโธ ในพระนิพนธ์ ตอนพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ในหนังสือความเข้าใจเรื่องพระพุทธเจ้า ไว้ดังนี้

“สมฺมาสมฺพุทฺโธ สมฺมา แปลว่า ชอบ ถูกต้อง ดี ‘สมฺ’ แปลว่า เอง ‘พุทฺโธ’ แปลว่า รู้ ที่เราเรียกกันว่า ตรัสรู้ รวมเข้าเป็น สมฺพุทฺโธ แปลว่า รู้เอง รู้ดี แต่ในที่นี้หมายเอา รู้เอง คือไม่มีใครสั่งสอน รวมกับ สมฺมา เข้าอีกเป็น สมฺมาสมฺพุทฺโธ แปลว่า ตรัสรู้เองโดยชอบ

รู้อย่างไร ? ท่านแสดงไว้คือ รู้อริยสัจ นี่ละเอียดหน่อย ยากหน่อย เข้าใจยาก อริย แปลว่า ประเสริฐหรือดียิ่ง สัจจะ แปลว่า จริง อริยสัจ แปลว่า จริงอย่างเลิศ จริงอย่างยิ่ง จริงที่ไม่ผิดพลาด

แต่ว่าศัพท์เดิมเขาหมายถึง คนชาติหนึ่ง คือคนชาติ ที่อพยพเข้ามาอยู่ในมัชฌิมประเทศ มาปราบพวกถิ่นเดิมให้พ่ายแพ้ไป มีความรู้ความสามารถในกิจการงานต่างๆ ก็เรียกตัวเองว่า พวกอริยะ หรือ อารยัน พวกถิ่นเดิมเรียกว่าพวกมิลักขะ พวกโง่เขลา เขายกย่องพวกเขาว่าอริยะ จนถึงชาวยุโรปที่ว่าแตกหรือแยกออกไปจากมัชฌิมประเทศ ไปเป็นฝรั่งชาติต่างๆ ก็ถือว่าเป็นพวกอริยะหรืออารยัน แต่ทางพระพุทธศาสนาไม่หมายถึงคนเช่นนั้น หมายถึงส่วนที่ดีที่ชอบที่ถูก จึงเรียกว่าอริยะ หรือธรรมอันใดที่ทำคนให้เป็นอริยะได้ และคนนั้นทำธรรมนั้นให้เกิดขึ้นในตน จนเป็นพระอริยะตามธรรม ไม่ใช่ตามชาติหรือตามสกุล อริยสัจ แปลว่าจริงของพระอริยะก็ได้ อริยสัจ ท่านแจกออกไปเป็น ๔ คือ ทุกข์ ทุกขสมุทัย (เหตุให้เกิดทุกข์) ทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์) ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติเป็นเครื่องดำเนินไปถึงความดับทุกข์ หรือเรียกสั้นๆ ว่า มรรค)

ทุกข์ ก็ได้แก่ กาย หรือ ปัญจขันธ์ เพราะกายหรือ ปัญจขันธ์นี้ต้องเกิด เมื่อเกิดแล้วก็ไม่คงที่ แปรปรวน เปลี่ยนแปลงไปเสมอ ซึ่งเรียกว่าไม่เที่ยง เปรียบเหมือน น้ำที่ไหลจากที่สูงไปหาที่ต่ำ ไม่มีหยุดยั้ง กายหรือปัญจขันธ์ของคนตั้งแต่เกิดมาแล้วไหลไปเสมอ แต่ไหล ทีละนิดๆ ยากที่คนสามัญจะพิจารณาเห็นได้ ต่อเมื่อล่วงไปมากๆ จึงจะเห็น เช่น ตั้งแต่เกิดมาไหลเรื่อยไปทีเดียว ไหลทุกลมหายใจเข้าออก แต่ว่าคนเราเห็นเป็น ตอนๆ เช่นเด็กเล็กๆ นอนดิ้นอยู่ โตขึ้นก็พลิกตะแคง พลิกหงายพลิกคว่ำก็ได้ แล้วต่อมาก็นั่งได้ เดินได้ วิ่งได้ นี่ก็ไหลไปเรื่อย จนในที่สุดก็ตาย

การที่แปรไปไหลไป เลื่อนไป อยู่เสมอทุกลมหายใจเข้าออกเช่นนี้ เรียกว่า อนิจจัง ไม่เที่ยง เพราะไม่เที่ยงเช่นนี้แหละ จึงทนอยู่ไม่ได้ จะให้อะไรทนอยู่ ก็ทนอยู่ไม่ได้ เพราะทนอยู่ไม่ได้ จึงเรียกว่าเป็นทุกข์ แม้คนจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม จะบังคับให้อยู่กับที่ เช่นสุขเกิดขึ้น จะบังคับให้สุขอยู่ที่ หรือทุกข์เกิดขึ้น จะบังคับให้ทุกข์อยู่ที่ หรือไม่สุขไม่ทุกข์เกิดขึ้น จะบังคับให้ คงที่ ก็บังคับไม่ได้ ทนอยู่ไม่ได้ เช่นนี้เรียกว่า อนัตตา เพราะฉะนั้นกายหรือปัญจขันธ์ที่เกิดขึ้นแล้วแปรไปอยู่ เสมอ จึงเรียกว่าไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ จึงเรียกว่าเป็นทุกข์ บังคับไม่ได้ จึงเรียกว่า เป็นอนัตตา รวมเข้าก็เป็น ทุกขสัจ สภาพที่จริงคือทุกข์ เป็นทุกข์อยู่อย่างนั้นตามธรรมดาคือไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ บังคับไม่ได้ตามธรรมดา แต่ว่าคนหรือสัตว์ไม่รู้ตามเป็นจริง ต้องการบังคับ เป็นอย่างนั้นไม่ชอบใจ ต้องการให้เป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ไม่ชอบใจ ต้องการให้เป็นอย่างนั้น แต่ถึงเช่นนั้น ก็บังคับไม่ได้

ความต้องการที่จะให้เป็นไปต่างๆ เรียกว่า ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ท่านแยกออกไปเป็น ๓ คือ ความดิ้นรนของใจ เรียกว่า ตัณหา ตัณหาในภาษาไทย ไปหมายความเสียอย่างหนึ่ง ที่ว่าคนนั้นตัณหาจัด คนนี้ตัณหาจัด เป็นคำด่ากัน นี้ไม่ตรง ตัณหาโดยตรงใน ทางพระพุทธศาสนาหมายถึงความดิ้นรนของใจ ใจที่รนไปไม่อยู่ที่ รนไปอย่างไร เพื่ออะไร ? ก็เพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวชอบ เมื่อได้แล้วก็ต้องการให้สิ่งที่ตัวชอบคงอยู่ ไม่ต้องการให้เสื่อมสูญ เหมือนอย่างร่างกายเรา ส่วนใดที่เราเห็นว่าไม่ดีไม่งาม เราก็ต้องการให้สูญไปเสีย แต่ถ้าเห็นว่าดีงาม ก็ต้องการให้คงอยู่ ไม่ให้เปลี่ยนแปลง นี่เป็นกามตัณหา ดิ้นรนไปเพราะความใคร่หรือเพื่อความใคร่

กาม แปลว่า ใคร่ เมื่อว่าถึงศัพท์ ‘กาม’ ท่านแยกเป็น ๒ วัตถุที่สัตว์ใคร่ก็เรียกว่า กาม (วัตถุกาม) ความใคร่หรือกิเลสที่เป็นเหตุให้ใคร่ หรือกิเลสคือความใคร่ ก็เรียกว่า กาม (กิเลสกาม)

ใคร่อะไร ? ใคร่วัตถุ วัตถุคือสิ่ง สิ่งที่ใคร่นั้นรวมเข้าก็ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

รูป เสียงหรือสัททะ กลิ่นหรือคันธะ รส โผฏฐัพพะ นี่เป็นวัตถุ เป็นสิ่งใคร่ จึงรวมเรียกว่า วัตถุกาม วัตถุที่ใคร่ หรือวัตถุที่สัตว์ใคร่

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มีประจำอยู่สำหรับโลก คนจะเกิดมาหรือไม่เกิด ก็มีอยู่เช่นนั้น มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะ แต่ก็มีอยู่ตามธรรมดา ต่อเมื่อกิเลสกาม กิเลสที่เป็นเหตุให้ใคร่หรือกิเลสคือความใคร่ ออกไปใคร่รูป ใคร่เสียง ใคร่กลิ่น ใคร่รส ใคร่โผฏฐัพพะ นี่ความใคร่ที่เป็นกิเลสกับวัตถุที่ใคร่ถึงกันเข้าประกอบกันเข้า ถ้าว่าถึงภายในก็หมายเอากิเลสกาม กิเลสที่เป็นเหตุใคร่หรือกิเลสคือความใคร่ ถ้าว่าถึงวัตถุภายนอกก็หมายเอาวัตถุกาม วัตถุที่ใคร่ หรือวัตถุที่สัตว์ใคร่ บางทีท่านเรียกว่า กามคุณ หมายถึงกิเลสกามที่ใคร่วัตถุกาม ทับถมใจสัตว์อยู่เสมอ ไม่หลุดพ้นออกไปได้ จึงเรียกว่า ‘คุณ’ แปลว่า ชั้นหรือทับ กามคุณก็หมายความว่ากามที่ทับถมใจสัตว์อยู่ จึงเรียกว่า กามคุณ

รวมความว่ากิเลสกาม กิเลสที่เป็นเหตุใคร่หรือกิเลสคือความใคร่ ก็ใคร่วัตถุกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ยังไม่ได้ก็ใคร่ให้ได้ ที่ได้มาแล้วก็ใคร่ ให้คงอยู่ นี่เป็นกามตัณหา ความดิ้นรนเพราะกามหรือ เพื่อกามอย่างหนึ่ง

ภวตัณหา ความดิ้นรนเพราะภพหรือเพื่อภพ ภพ หมายความถึงความเป็น เป็นอะไร ? ในชั้นต้นก็เป็นเรา เป็นตัว เป็นตน ทุกๆคนรู้สึกว่าเป็นเราเป็นตัวเป็นตนอยู่เป็นมูลเดิม เป็นอาสวะ ยังไม่ได้ดิ้นรนไปเพื่อจะเป็นอะไร เพียงแต่เป็นตัวเป็นตน แต่ครั้นเมื่อไปรู้จักความเป็นของคนต่างๆ เห็นคนนั้นเป็นนี่ เห็นคนนี้เป็นนั่น เห็นคนนั้นเป็นโน่น หรือเป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นอัครมหาเสนาบดี เป็นเสนาบดี เป็นเศรษฐี เป็นอะไรต่างๆ ก็ต้องการที่จะเป็นเช่นนั้น เป็นภวตัณหา ดิ้นรนไปเพราะความเป็นหรือเพื่อความ เป็น นี่อย่างหนึ่ง

วิภวตัณหา ดิ้นรนเพื่อปราศจากมี ปราศจากเป็น ภว แปลว่า เป็น วิภว แปลว่า ปราศจากเป็น ดิ้นรนเพื่อให้ปราศจากเป็นเช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เป็นวัตถุกาม แต่ถ้าเป็นที่เกลียด ดังที่เราเกลียดอะไร เกลียดรูปอะไร เกลียดเสียงอะไร เกลียดกลิ่นอะไร เกลียดรสอะไร เกลียดโผฏฐัพพะอะไร แล้วมาประสบเข้าหรือเราไปประสบเข้า ต้องการให้สูญ ให้ปราศจากมี ปราศจากเป็น หรือเราเองเป็นอะไรอยู่แล้ว เราไม่ชอบที่จะเป็น ต้องการให้สูญสิ้นไปเสีย นี่เป็นวิภวตัณหา

คนจนเกลียดความเป็นคนจน ต้องการให้หมดสิ้นไปเสีย ก็จัดเป็นวิภวตัณหา คนที่มีรูปร่างน่าเกลียด ไม่สวยไม่งาม ดิ้นรนเพื่อให้รู้ที่ไม่สวยไม่งามสิ้นไปเสีย ก็จัดเป็นวิภวตัณหา จนถึงมีชีวิตอยู่เห็นเป็นทุกข์เดือดร้อน ทำลายเสีย ก็เป็นวิภวตัณหา คนฆ่าตัวตายด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะวิภวตัณหา ดิ้นรนเพื่อ ให้ปราศจากมี ปราศจากเป็น

ความดิ้นรนไปเพื่อให้ได้สิ่งที่ชอบ (กามตัณหา) เพื่อให้เป็นภพที่ชอบ (ภวตัณหา) เพื่อให้เสื่อมเสียหรือปราศ จากสิ่งที่ไม่ชอบ ภพที่ไม่ชอบ (วิภวตัณหา) นี่เป็นทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์

เกิดทุกข์ที่ไหน ? เกิดทุกข์ทางใจก่อน เกิดขึ้นที่ใจ ใจก็เดือดร้อนเป็นทุกข์ ถ้าไม่มีตัณหาเกิดขึ้น ใจก็ไม่เดือดร้อน ไม่เป็นทุกข์ เพราะตัณหาที่เป็นทุกขสมุทัยเกิดขึ้นที่ใจ ทำให้ใจเดือดร้อนเป็นทุกข์ แรงเข้าก็ให้พยายามออกไปทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ก็เป็นทุกข์ต่อไปอีก กายหรือปัญจขันธ์เป็นตัวทุกข์อยู่ตามธรรมดา เป็นทุกขอริยสัจ สภาพที่จริงคือทุกข์ คนไม่รู้ก็ยึดถือเป็นตัวเป็นตน แล้วก็ดิ้นรนเพื่อจะให้ได้ส่วนที่ชอบ เพื่อให้เป็นภพที่ชอบ เพื่อให้เสื่อมสิ่งที่ตัวไม่ชอบ เกี่ยวกับกายหรือปัญจขันธ์ ก็เป็นทุกขสมุทัย เกิดทุกข์ทับทุกข์ลงไปอีกเป็นชั้นๆ เพราะฉะนั้น ตัณหา จึงเป็นทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์

ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ ก็คือความดับความดิ้นรน ของใจ เพื่อให้ได้ เพื่อให้เป็น เพื่อให้เสื่อมเสีย เพราะไม่ไปเกี่ยวข้องเช่นนี้ เป็นทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ แต่ส่วนกายที่เป็นทุกขสัจอยู่ตามธรรมดา ก็เป็นทุกข์นั่นเอง แต่เป็นส่วนหนึ่ง เหมือนดังพระพุทธเจ้า ท่านรู้จักกายที่เป็นทุกข์อยู่ตามธรรมดา ท่านไม่มีทุกขสมุทัย คือตัณหา เหตุให้เกิดทุกข์ ทรงเป็นผู้รู้จักกาย รู้จักตามเป็นจริง กายที่เป็นทุกข์ไปตามเรื่อง แต่พระพุทธะ ผู้รู้ เป็นผู้รู้จักกายที่เป็นทุกข์ รู้จักตัณหา แต่ไม่เป็นตัณหา เพราะฉะนั้น จึงมีทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ คือดับตัณหา

ทุกขนิโรธที่จะมีปรากฏขึ้นได้ก็เพราะทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติเป็นเครื่องดำเนินถึงความดับทุกข์ หรือเรียกสั้นๆ ว่า มรรค มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น สัมมาสมาธิเป็นที่สุด นั่นอยากจะรู้ไปดูในมรรคมีองค์ ๘ นี้สายหนึ่ง

อีกสายหนึ่ง ท่านแสดงอริยสัจ ๔ เหมือนกัน แต่ตั้ง อาสวะ เป็นหลัก อาสวสมุทัย เหตุเกิดอาสวะ อาสวนิโรธ ความดับอาสวะ อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติเป็นเครื่องดำเนินถึงความดับอาสวะ หรือมรรคก็อย่างเดียวกันนั่นเอง แต่ว่าสายหนึ่งตั้งทุกข์เป็นข้อต้น อีกสายหนึ่งตั้งอาสวะเป็นข้อต้น เมื่อพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า ถ้าลำพังแต่อาสวะ ไม่มีทุกข์ อาสวะก็ไม่แสดงอาการออกมา แต่ถ้ามีทุกข์ ไม่มีอาสวะ ทุกข์ก็คงเป็นทุกข์อยู่ตามธรรมดา ไม่มีทุกขสมุทัย แต่นี่อาศัยกัน อาสวะก็มายึดทุกข์ ทุกข์ก็เข้าไปเกี่ยวกันเข้า

อาสวะ นั้นหมายถึงกิเลสอย่างละเอียดที่นอนจมอยู่กับจิต เหมือนดังตะกอนที่นอนอยู่ภายใต้น้ำที่ใส ท่านแสดงไว้เป็น ๓ ได้แก่ กามอาสวะ หรือกามาสวะอย่างหนึ่ง ได้แก่ภพ เรียกภวาสวะอย่างหนึ่ง ได้แก่อวิชชา เรียกว่าอวิชชาสวะอย่างหนึ่ง

กามาสวะ ภวาสวะ มีเพราะอะไร ? ก็เพราะอวิชชาคือไม่รู้ตามเป็นจริง แต่ยังนอนจมอยู่ยังไม่แสดงอาการ ออกมา กามก็คือความใคร่หรือกิเลสเป็นเหตุใคร่ที่ นอนอยู่จมอยู่ (กามาสวะ) เมื่อมีอะไรมากระทบ ก็แสดง อาการออกมาใคร่ คือ ใคร่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นี่เป็นกามตัณหา ภวะ หรือภวาสวะ นอนจมอยู่ภายใน เมื่อมีอะไรมากระทบหรือประสบอะไรเข้ารู้เรื่องราวต่างๆเข้า ภวะที่นอนจมอยู่ก็แสดงออกมาเป็นภวตัณหา คืออยากเป็นโน่น เป็นนี่ เป็นนั่น นี่ว่าถึงส่วนที่ชอบ แต่ว่าถ้าไม่ชอบ คือส่วนที่ไม่ชอบมาประสบก็ต้องการให้เสื่อมสูญไปเสีย เป็นวิภวตัณหา ถ้าไม่มีภวะ คือความเป็น เป็นตัว เป็นตน เป็นเรา แล้ว ก็ไม่มีต้องการอะไร ไม่ต้องการให้เสื่อมเสียอะไร แต่นี่เพราะมีเรา เป็นเรา หรือเป็นตัวเป็นตนขึ้น จึงต้องการได้ ต้อง การเป็น ต้องการให้เสื่อมเสีย ความต้องการที่ปรากฏออกมาเป็นความดิ้นรนจึงเป็นตัณหา

อวิชชา ความไม่รู้ตามเป็นจริง ที่นอนจมอยู่ไม่มีอาการอย่างไร ไม่รู้ว่าอะไร มืดตื้อไปหมด แต่ว่าจะอยู่เฉยๆ เช่นนั้นไม่ได้ เพราะมีอายตนะ มีธาตุรู้ รู้ที่เป็นอวิชชาที่มีอยู่ ออกมารู้อะไรเข้า ก็รู้ยึดถือ จึงเป็นความหลง จนถึงเห็นผิด ตัวอย่างเช่นเด็กเล็กๆ จะเห็น ก้อนกรวดหรือก้อนทราย หรือเพชรนิลจินดา หรือทอง คำอะไร ก็ไม่ยินดียินร้าย เหมือนลิงหรือสัตว์ต่างๆ เห็น เพชรนิลจินดา เห็นก้อนกรวดก้อนทรายก็เห็นเหมือนกัน แต่เพราะอวิชชาที่รู้ผิดจากความจริงออกมารู้ว่า นี่เพชร นิลจินดาเขานิยมกัน นี่ทองคำ นี่เงิน เขานิยม เพราะมีราคาแพง ก็ออกมายึด อวิชชาก็มีอาการเป็นรูปร่าง เมื่อยึดถือผิด ก็เก็บรูปผิดเข้าไป เมื่อยึดถือเงินทอง ก็เก็บเงินทองเข้าไป นี่เป็นอวิชชาที่แสดงอาการออกมา ถ้าเมื่อรู้ตามเป็นจริงแล้ว เพชรนิลจินดาหรือทองเงินก็เป็นอยู่อย่างนั้นแหละ แต่ไม่ยินดียินร้าย ไม่หลงงมงาย

เพราะอาสวะมีอยู่ในภายใน และทุกข์ก็มีอยู่เป็นภายนอก อาสวะออกมาประสบกับทุกข์ ก็ยึดทุกข์ จึงเกิด กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เกิดขึ้นเพราะอวิชชา รู้ผิดจากความจริง ท่านจึงแสดงว่าอวิชชามีอาการเป็น ๘ คือ ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักทุกขสมุทัย ไม่รู้จักทุกขนิโรธ ไม่รู้จักมรรค ไม่รู้จักส่วนเบื้องต้น ไม่รู้จักส่วนเบื้องปลาย ไม่รู้จักส่วนเบื้องต้นเบื้องปลาย ไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาท

พระพุทธเจ้ารู้จักทุกข์ รู้จักอาสวะ รู้จักทุกขสมุทัย รู้จักอาสวสมุทัย รู้จักทุกขนิโรธ รู้จักอาสวนิโรธ รู้จักทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา รู้จักอาสวนิโรธคามินีปฏิปทา ด้วยพระองค์เอง จึงเป็น สมฺมาสมฺพุทฺโธ ตรัสรู้เองโดยชอบ


>>>>> มีต่อ
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 03 ม.ค. 2008, 7:25 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๒๔)


พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ อรรถาธิบาย สมฺมาสมฺพุทฺโธ ในพระธรรมเทศนาพระพุทธคุณ ไว้ดังนี้

“...สัมมาสัมพุทโธ แปลตามศัพท์ว่า ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ หรือนัยหนึ่งว่า ตรัสรู้เองโดยถูกต้อง หรือพูดให้สั้นก็ว่า รู้ถูกเอง เพื่อให้ใกล้กับภาษาสามัญที่ใช้กันว่า รู้ผิด รู้ถูก ได้แก่ คำที่พูดติเตียนคนที่ทำอะไรผิดพลาด ไปว่าเป็นคนไม่รู้ถูกรู้ผิด ทำไปอย่างโง่ๆ ดังนี้เป็นต้น แต่แท้จริง “พุทฺโธ” คำนี้ เมื่อวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งลงไปตามรูปศัพท์แล้ว มีความหมายลึกซึ้งมาก ต่างกันไกลกับคำว่า ชานะ หรือ วิชานะ ซึ่งแปลว่า รู้แจ้ง นั้น ดังนั้น พุทฺโธ จึงได้แปลกันว่า “ตรัสรู้” ไม่ใช่รู้เฉยๆ เติมคำว่า “ตรัส” นำหน้า “รู้” ซึ่งสะกิดให้สนใจว่า “รู้” กับ “ตรัสรู้” ๒ คำนี้มีความหมายลึกตื้นกว่ากันแน่โดยมิสงสัย

เมื่อระลึกถึงพระบาลีในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรที่ว่า “จกฺขุ อุทปาทิ ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิ” จึงทำให้แลเห็นความว่า คุณวิเศษทั้ง ๕ อย่าง ดังบาลีที่ยกขึ้นกล่าวนี้ จะเป็นความหมายแห่งคำว่า พุทฺโธ กล่าวคือ จกฺขุ ญาณํ ปญฺญา วิชฺชา อาโลโก ทั้ง ๕ อย่างนี้ ประมวลเข้าด้วย กัน รวมเป็นคำแปลของคำว่า พุทฺโธ หรือจะแปลให้สั้นเข้าอีก คำว่า พุทฺโธ ก็ยังต้องแปลว่า ทั้งรู้ทั้งเห็น ไม่ใช่รู้เฉยๆ อาศัยคำว่า จกฺขุ ญาณํ ในบาลีที่ยกขึ้นกล่าวมานั้นเป็นเครื่องประกอบ ยิ่งกว่านั้นยังมีคำว่า ชานตา ปสฺสตา ในมหาสติปัฏฐานสูตรอยู่อีก ซึ่งเป็นเหตุสนับสนุนว่า ที่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น ไม่ใช่รู้เฉยๆ เป็นทั้งรู้ทั้งเห็น

ที่ว่า “เห็น” นั้น มิได้หมายความว่าเห็นอย่างตาเราเห็นอะไรจริงๆ แต่พระองค์เห็นด้วยตาธรรมกาย และการที่พระองค์เห็นนี้ โดยมิได้มีผู้ใดสอนให้รู้ สอนให้เห็น รู้เห็นโดยลำพังพระองค์เอง และสิ่งทั้งหลายที่พระองค์รู้เห็นนั้นตรงตามความเป็นจริงทั้งนั้น มิใช่คาดคะเนหรืออนุมานเอา จึงเป็นองค์สัมมาสัมพุทโธ พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ หรือนัยหนึ่งว่าโดยถูกต้องตรงตามความ เป็นจริงทุกประการ จึงได้ชื่อว่า “ตรัสรู้” ยังมีคำว่า “สัม” นำหน้า “พุทธะ” เติมเข้ามาอีกคำหนึ่ง ซึ่งแปลว่า ด้วยพระองค์เอง คือไม่ต้องมีผู้สั่งสอน

พระองค์ทำอย่างไรจึงตรัสรู้ด้วยพระองค์เองเช่นนั้น ข้อนี้ตอบไม่ยาก พระองค์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองได้ก็เพราะความเป็น “อรหํ” ของพระองค์ดังกล่าว ข้างต้นแล้วนั่นเอง คือเมื่ออำนาจสมาธิทำให้จิตของพระองค์หลุดพ้นจากอาสวะแล้ว จิตของพระองค์ก็ใสยิ่ง หยุด และ บริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะหยุดนิ่งนั่นเอง จึงมีสิ่งหนึ่งผุดขึ้นในนิ่ง ทำให้รู้พระองค์ก็รู้ตามนั้นไป น้ำขุ่นแม้อิฐสักก้อนหนึ่ง อยู่ก้นโอ่ง เราก็มองไม่เห็น แต่ถ้าน้ำนั้นนอนนิ่งใสบริสุทธิ์แล้ว แม้แต่เข็มอยู่ก้นโอ่ง เราก็เห็น ฉันใดก็ฉันนั้น

ยังมีคำว่า “สมฺมา” นำหน้า “สมฺพุทฺโธ” อีกคำหนึ่ง คำว่า สมฺมา แปลว่า โดยชอบ หรือ โดยถูกต้อง พระองค์ตรัสรู้อะไร มีเหตุผลยันกันได้เสมอ จึงได้ชื่อว่าถูกต้อง เพราะการพูดอะไรไม่มีเหตุผลรับสมหรือยันกันได้แล้ว ตามหลักธรรมดาเรียกว่าไม่ถูก ต้องมีเหตุผลรับสมกันจึงจะนับว่าถูก พระสัทธรรม คำสอนของพระองค์มีเหตุผลรับสมกันอยู่เสมอ ไม่คลาดเคลื่อน จึงสมควรแล้วที่ได้พระเนมิตตกนามว่า สมฺมาสมฺพุทฺโธ

พระพุทธวจนะที่ควรนำมาสาธกในที่นี้ ว่าแต่โดยสั้นๆ ก็ว่า พระองค์ตรัสรู้เหตุตรัสรู้ผล ไม่ใช่รู้แต่เหตุหรือรู้แต่ผล พระองค์ตรัสรู้ทั้งเหตุ ตรัสรู้ทั้งผล ที่ว่านี้คืออะไร เหตุสุข เหตุทุกข์ เหตุไม่สุขไม่ทุกข์ หรือที่เรียกว่า อัพยากฤต คือสภาพเป็นกลางๆ ทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นรากฐานแห่งการตรัสรู้ของพระองค์ กล่าวคือ สุข พระองค์ก็ไม่ทรงรู้แต่สุขเฉยๆ ตรัสรู้ลึกซึ้งเข้าไปถึงว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดสุขด้วย และอีก ๒ ประการนั้นก็เช่นเดียวกัน รู้ทั้งเหตุรู้ทั้งผลคู่กันไป เป็นต้นว่า สุขเป็นผลคือความสบายกายสบายใจ อะไรเล่าเป็นเหตุที่ให้เกิดผล คือสุขดังกล่าวนั้น พระองค์ตรัสไว้ว่า อโลภะ อโทสะ อโมหะ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง (แปลอย่างย่อที่สุด) ๓ ประการนี้แหละเป็นเหตุ ดังมีบาลีเป็นที่ยืนยันว่า กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา เป็นอาทิ

โลภ โกรธ หลง เป็นฝ่ายอกุศล ตรัสว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์ เราปุถุชนมักรู้กันแต่ผล สาวหาเหตุไม่ใคร่ถึง เช่น คนทำโจรกรรมแล้วไปต้องโทษอย่างมาก ที่รู้กันทั่วไป มักอยู่ในขั้นหยาบๆ ว่า ผลที่ต้องได้รับทุกข์คือการต้องโทษนั้นเนื่อง มาจากโจรกรรม แต่แท้จริงเหตุเท่านั้นยังไม่พอ ต้องสาวเข้าไปอีก ทำไมเขาจึงทำโจรกรรม ก็จะได้ความว่า เพราะโลภะเป็นมูลเหตุ แต่ก็ยังไม่พอ ต้องสาวเข้าไปอีกว่า ทำไมโลภะจึงครอบงำเขาได้ ก็จะได้ความว่า จิตใจของเขาสกปรก ทำไมจิตใจของเขาจึงสกปรก จึงได้เหตุว่า เพราะเขาไม่ประพฤติตามโอวาทพระบรมศาสดา อย่างน้อยก็เป็นคนทุศีล อทินนาทาน ขาดไปเสียองค์หนึ่งแล้ว เหตุใดเขาจึงเป็นคนทุศีล ก็จะได้ความว่าเขาไม่รู้เรื่องศีล หรือรู้แล้วไม่นำพา ทำไมจึงไม่รู้เรื่องศีล ก็อาจเป็นเพราะเหตุที่เขาไม่เคยอ่านหนังสือทางพระพุทธศาสนา หรือสดับตรับฟังพระธรรมเทศนา ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น พระองค์ทรงสอนไว้ละเอียดถี่ถ้วนว่า ให้รู้เท่าถึงเหตุผล รู้ว่าผลนี้เกิดจากเหตุใด พระองค์มีแนวสอนให้ปฏิบัติเพื่อละเหตุที่ให้เกิดทุกข์ บำเพ็ญเหตุที่ให้เกิดสุข ตลอดจนวิถีทางดับเหตุทั้งปวง ซึ่งเรียกว่า “นิโรธ”

เพื่อรับสนองข้อความดังกล่าวมา ก็มีถ้อยคำของพระอัสสชิเถระเป็นหลักฐานสนองรับรองพระพุทธวจนะดังกล่าวมา คือภายหลังแต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ พระอัสสชิเถระซึ่งเป็นพระสาวก ไปประกาศพระศาสนา ไปพบกับอุปติสสปริพพาชก อุปติสสปริพพาชกตั้งกระทู้ถามกันสั้นๆ ถึงเรื่อง พระศาสดาว่า ทรงสั่งสอนอย่างไร พระอัสสชิได้ตอบว่า ทรงสอนถึงเหตุและวิถีทางที่จะดับเหตุเหล่านั้น ดังพระบาลีว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปพฺภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต ฯลฯ หรือพูดอย่างสั้นอีกนัยหนึ่งว่า พระองค์สอนให้รู้ว่าอะไรชั่ว อะไรดี อะไรเป็นเหตุของความชั่ว อะไรเป็นเหตุของความดี โลภะ โทสะ โมหะ เป็นเหตุแห่งความชั่วหรือความเสื่อม อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นเหตุแห่งความดีหรือความเจริญ

ทรงสอนว่า ก่อนจะพูด คิด หรือทำสิ่งใด จงมีสติ หรือที่เรียกว่าใช้ความคิดให้รอบคอบเสียก่อน จึงพูด จึงคิดจึงทำการนั้นๆ แลว่าโดยเฉพาะจง ระวังเรื่องโลภะ โทสะ โมหะ นั้นไว้ อย่าให้เข้าครอบงำได้ ในเมื่อจะทำ พูด คิดการ สิ่งใด พระองค์ทรงสอนไว้ในทางปรมัตถ์ว่า ธรรมดาจิตนั้นใสบริสุทธิ์อยู่เสมอ ซึ่งหมายความว่า จิตที่ไม่มีกิเลสผสม ส่วนพวกกิเลส เช่น โลภะ เรียกว่าเป็นของจรมา เมื่อมาพ้องพานจิต ก็ย้อมจิตให้เป็นไปตามสภาพอันชั่วช้าของกิเลสนั้นๆ จิตระคนด้วยราคะหรือโลภะ มีสีแดง, ระคนด้วยโทสะ สีดำ, ระคนด้วยโมหะ ขุ่นเหมือนตมหรือน้ำล้างเนื้อ, สิ่งเหล่านี้พระองค์ใช้ตาธรรมกายมองเห็น จริงๆ พวกเราเหล่าศาสนิกชน เมื่อเรียนภาวนาเพ่งถึงขนาดจะเห็นจริงด้วย ตนเอง การปฏิบัติกิจทางภาวนานั้นก็คือ พยายามกลั่นเอากิเลสออกเสียจากจิต ให้จิตใจบริสุทธิ์ อันได้ชื่อว่ากิริยาจิต กิริยาจิตเช่นนี้เป็นอัพยากฤตแล้ว ต่อนั้นไปจะเป็นจิตที่ควรแก่การทุกอย่าง

พระธรรมเทศนาของพระองค์เมื่อตอนตรัสรู้ใหม่ๆ หนักไปในทางแสดงเหตุ และการดับเหตุ หรือที่เรียกว่า สมุทัย กับ นิโรธ ดังเช่นในการให้พิจารณาเรื่องสังขาร ในด้านสมุทัย ว่าอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา และในด้านนิโรธ ว่า อวิชฺชาย เตฺวว อเสสวิราคนิโรธา

ในด้านสมุทัยนั้น แปลความเป็นสยามภาษาว่า อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร, สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ, วิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป, นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ ๖, อายตนะ ๖ เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ, ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา, เวทนา เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา, ตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน, อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิดภพ, ภพ เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ, ชาติ เป็นปัจจัยให้มีความแก่ ความตาย และความเศร้าโศกต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะดับได้ก็เพราะชาติดับ, ชาติดับได้ก็เพราะภพดับ, ภพจะดับได้ก็เพราะอุปาทานดับ, อุปาทานจะดับได้เพราะตัณหาดับ, ตัณหาจะดับได้ก็เพราะเวทนาดับ, เวทนาจะดับได้เพราะผัสสะดับ, ผัสสะจะดับได้ก็ต่อเมื่ออายตนะดับ, อายตนะจะดับได้ต่อเมื่อนามรูปดับ, นามรูปจะดับได้ต่อเมื่อวิญญาณดับ, วิญญาณจะดับได้ต่อเมื่อสังขารดับ, สังขารจะดับลงก็เพราะอวิชชาดับ, เหตุผลเกิดดับเกี่ยวข้องกันเป็นลูกโซ่เช่นนี้ เรียกว่า ปัจจยาการ ที่พระองค์ได้รู้แจ้งแทงตลอดในวันตรัสรู้นั้นทั้งสิ้น

พิจารณาตามลำดับดังที่ยกขึ้นกล่าวมาข้างต้น เมื่อย่นให้ได้ความเข้าใจ อันจะเป็นผลในทางปฏิบัติแล้วก็มีตัวสำคัญอันเดียว คือ อวิชชา เป็นมูลรากฝ่ายเกิด หรือที่เรียกว่าสมุทัย และในทางดับ หรือที่เรียกว่า นิโรธ ก็ทำนองเดียวกัน อวิชชาเท่านั้นเป็นตัวการสำคัญ ถ้าดับอวิชชาได้อย่างเดียว อื่นๆ ดับเรียบหมด เพราะอวิชชาเหมือนต้นไฟ แต่ถ้ายังดับอวิชชาไม่ได้แล้ว ก็ไม่มีหวังว่าอย่างอื่น จะดับได้ ที่หมายสำคัญในคำสอนของพระองค์จึงอยู่ที่ว่า ให้ผู้ปฏิบัติเพียรหาทางกำจัดอวิชชาเสีย จึงจะพ้นจากห้วงลึก คือวัฏฏสงสารได้

อเนกชาติสํสารํ ฯลฯ ในขณะเมื่อแสงทองเรื่อเรืองแข่งแสงเงินขึ้นมายังขอบ ฟ้าเบื้องบูรพา อันเป็นสัญญาณว่าดวงอาทิตย์เตรียมทำหน้าที่จะส่องโลกอยู่แล้ว เป็นเวลาที่อากาศยะเยือกเย็นสดชื่น ส่งให้เราหวนไประลึกถึงเวลารุ่งอรุณแห่งวันเพ็ญวิสาขมาส อันเป็นวันที่พระบรมโลกนาถอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้น เราจะแลเห็นโอภาสรัศมีอันรุ่งโรจน์ยิ่งกว่าแสง ทองนั้นร้อยเท่าพันทวี ช่วงโชติอยู่ภายใต้โพธิพฤกษ์อันมหาศาล ใบเขียวชอุ่มรับกับรัศมีอันเหลืองอร่ามอยู่ภายใต้นั้น ในใจกลางแห่งรัศมีอันช่วงโชติชัชวาลอยู่นั้น มิใช่อื่นไกล คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ประทับพริ้มอยู่ด้วยพระอาการชื่นบานพระหฤทัยที่ได้เสวยวิมุตติสุข อันเป็นผลแห่งการที่พระองค์ได้ทรงประกอบพระมหาปธานวิริยะมาเป็นเวลาช้านาน จึงได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ สมดังพระหฤทัยประสงค์

พระองค์จึงทรงเปล่งพระอุทานเย้ยตัณหาว่า อเนกชาติ สํสารํ ดังที่ได้ยกขึ้นกล่าวไว้ข้างต้นนั้น ซึ่งแปลใจความเป็นสยามภาษาว่า “เราสืบเสาะหาตัวช่างไม้ผู้สร้างปราสาทมานาน แล้ว เมื่อเรายังหาไม่พบ เราต้องท่องเที่ยวอยู่ในสงสาร เวียนว่ายตายเกิดอยู่แทบจะนับชาติไม่ถ้วน การเกิดนำความทุกข์มาให้เราแล้วๆ เล่าๆ ไม่รู้จักจบสิ้น นี่แน่ะท่านนายช่างไม้กล่าวคือตัณหา บัดนี้เราเจอะตัวท่านแล้วล่ะ ท่านหมดโอกาสที่จะมาสร้างปราสาทคืออัตภาพร่างกายเราต่อไปได้อีกแล้ว กระดูกซี่โครงท่านกล่าวคือกิเลส เราหักเสียกรอบหมดแล้ว มิหนำซ้ำยอดปราสาทกล่าวคืออวิชชา เราก็รื้อทำลายหมดสิ้นแล้ว จิตของเราปราศจากเครื่อง ปรุงแต่งแล้ว เราถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งตัณหาแล้ว”

พระอุทานนั้นมีข้อความเป็นบุคคลาธิษฐานสั้นๆ แต่มีอรรถรสลึกซึ้งน่าสนใจ เป็นอย่างยิ่ง ที่แปล คหกูฏํ ว่ายอดปราสาท ก็เพื่อความเหมาะสมที่พระองค์เป็น กษัตริย์ เพราะบ้านเรือนของพระมหากษัตริย์ เรียกกันว่า ปราสาทราชฐาน พระอุทานนั้นมีข้อความชัดเจนแล้ว มิจำต้องอธิบาย...”


>>>>> มีต่อ
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 16 ม.ค. 2008, 3:26 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๒๕)


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สัมมาสัมพุทธสูตรที่ ๓ ว่าด้วยความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนี้

“...ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ ประการนี้เป็นไฉน ? คือ ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ อริยสัจ ๔ ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะได้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ประการนี้แล ตามความเป็นจริง ตถาคตเขาจึงกล่าวว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) วัดบรมนิวาส อรรถาธิบาย สมฺมาสมฺพุทฺโธ ในพระธรรมเทศนาพระพุทธคุณ เมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๖ ไว้ดังนี้

“...บท สมฺมาสมฺพุทโธ นี้ ท่านหมายความว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ได้ตรัสรู้เองโดยชอบ ตามที่ว่า ตรัสรู้เอง คือตรัสรู้ธรรม ธรรมนั้นก็มีเป็นอันมาก คือ สังขารธรรมทั้งสิ้นก็ชื่อว่าธรรม หรือว่า วิสังขารธรรม ก็ชื่อว่าธรรม ตกลงย่นให้สั้นเข้าก็มี ๓ ประเภท คือ กุสลา ธมฺมา, อกุสลา ธมฺมา, อพฺยากต ธมฺมา ธรรมฝ่ายดีเรียก กุศลธรรม ธรรมฝ่ายชั่วเรียก อกุศลธรรม ไม่ดีไม่ชั่วเรียก อพยากฤตธรรม ถึงแม้อพยากฤตธรรม ก็ต้องกล่าวว่าเป็นสังขารอีกเหมือนกัน แต่กล่าวว่าเป็นสังขาร เป็นกลางๆ คืออเนญฺชาภิสังขาร อยู่ในระหว่างสังขารนั้นเอง เพราะสัตว์บุคคลเขาบัญญัติ แต่ส่วน สภาพธรรมเป็นวิสังขารที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้เองโดยชอบเช่นนี้ ท่านประสงค์วิสังขารธรรม เพิ่มเข้าด้วย

ในบท สมฺมาสมฺพุทฺโธ นี้ เมื่อกล่าวโดยย่อก็แปลว่า พระองค์รู้จักของจริงคืออริยสัจธรรมทั้ง ๔ ประการ ที่พระองค์รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง สภาพความเป็นจริงอย่างไร คือรู้ว่าส่วนนี้เป็นทุกข์ก็กำหนดรู้ ส่วนนี้เป็นสมุทัย คือเหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นของควรละเสีย พระองค์ก็ละเสียได้สิ้น ส่วนนี้เป็นนิโรธความดับทุกข์อันบุคคลควรทำให้แจ้งและทรงรู้มรรคว่า เป็นมรรคาเครื่องดำเนินไปสู่ความดับทุกข์อันบุคคลพึงกระทำให้เกิดมี พระองค์เป็นผู้รู้จริงเห็นแจ้งซึ่งอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ด้วยพระองค์เอง จึงเรียกสมฺมาสมฺพุทฺโธ

ก็ในอริยสัจทั้ง ๔ อย่างนี้ เมื่อผู้มาศึกษาทางศาสนาแล้ว เขาก็มาศึกษานี้แหละ แต่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้เอง โดยเหตุนี้ในพวกเราจะกำหนดอริยสัจอย่างไรจึงจะเข้าใจอริยสัจได้ การจำได้ตาม แบบแผน ไม่สู้แปลกประหลาดอะไรนัก ตามที่ท่านแสดงไว้ว่า ทุกข์ ได้แก่ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ สมุทัย ได้แก่ ตัณหา ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา นิโรธ ได้แก่ ความดับตัณหา มรรค ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา

เมื่อแสดงว่า ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างนี้ ย่อมจะรู้ได้ด้วยกัน ไม่ประหลาดอะไร ต่างคนต่างจำได้ ด้วยกัน เช่น สมุทัยเป็นเหตุที่เกิดทุกข์ การที่ทุกข์ นั้น ทุกข์อย่างไรกัน จะเป็นตัวของเราทุกข์เอง หรือทุกข์ของพระพุทธเจ้า ข้อนี้ก็วินิจฉัยยาก เพราะกาล ล่วงเลยมานาน แต่พระพุทธเจ้านิพพานมาได้ ๒,๔๖๐ ปีเศษ ผู้ที่นำอริยสัจต่อกันมายืดยาวนัก เพราะเหตุนั้น จะถือเป็นการแน่นอนก็เป็นการยาก

เมื่ออยากรู้ว่าจะเป็นของจริงหรือไม่นั้น ต้องวินิจฉัยดูด้วยตนของตนเอง เมื่อเราได้กระทำเต็ม ที่บังเกิดผลขึ้นแล้ว เราจะเป็นผู้พยากรณ์ตัวของเราเองได้ทีเดียว อย่างนี้เป็นการถูกต้อง เพราะว่าบรรดาธรรมทั้งหลายที่เป็นของจริงแล้ว เป็น สนฺทิฏฐิโก คือว่า ข้อปฏิบัติข้อนั้นจะเห็นได้ด้วยตน ธรรมนั้นตัวของเรามีอยู่ทุกเมื่อ และเป็น อกาลิโก ไม่ต้องอ้างกาลอ้างเวลา และเป็น เอหิปสฺสิโก อาจอวดเขาได้ว่าธรรมนั้นมีอาการอย่างนี้ และเป็น โอปนยิโก อาจน้อมธรรมนั้นมาสู่กายสู่ใจเราได้ และเป็น ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ คือ วิญญูชนผู้ปฏิบัติจะรู้ตนของตนได้ คือเราจะตัดสินธรรมว่าถูกหรือผิด เราต้องวินิจฉัยด้วยบททั้ง ๕ นี้

ก็ในส่วนอริยสัจนี้ ถึงแม้เป็นของยากก็จริง พุทธบริษัทต้องสนใจ จะยากก็ตาม จะง่ายก็ตาม อย่างไรก็ดี ควรตรองจนให้ได้ความทีเดียว ตามที่มีในคัมภีร์ต่างๆ ท่านก็อ้างว่า ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ เป็นทุกข์แต่ละอย่างๆ ก็เหตุที่จะให้เกิดทุกข์นั้น ก็ด้วยกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เมื่อดับตัณหาเสียได้แล้ว ทุกข์ก็ดับด้วย ที่จะปฏิบัติได้ก็ต้องอาศัยมรรคทั้ง ๘ อย่างนี้เป็นมรรคาที่จะดำเนินไปสู่ความ ดับทุกข์ อันนี้เป็นของน่าเข้าใจ แต่ก็ไม่สู้เข้าใจกัน เพราะเป็นของลี้ลับสับสนอยู่ในที่อันเดียวกัน

ที่หมายความว่า ทุกข์นั้น อย่างนี้คือ ความเกิด ความแก่ ความตาย เป็นทุกข์ ทุกข์จะเกิดก็เพราะเหตุตัณหาเป็นที่ตั้งอันเป็นเหตุ ว่าทำไมมี จะกล่าวว่า ชาติ ชรา พยาธิ ธรรมเหล่านี้เมื่อไม่มีตัณหา เขาจะอยู่หรือเขาจะไป ชาติ ความเกิด ชรา ความแก่ พยาธิ ความไข้ มรณะ ความตาย อันนี้กล่าวถึงปัญญาความรู้ต่างหาก ก็เมื่อทุกข์ดับ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะก็ดับ ก็ถ้าทุกข์ดับก็ตายกันเท่านั้นซี แต่ในที่นี้ ไม่ได้กล่าวถึงตาย กล่าวถึงในเวลายังไม่ตายนี้แหละ เหตุนั้นจึงยากที่จะตรองให้เข้าอกเข้าใจได้ คือร่างกายอัตภาพของเรานี้ สมมติว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นอาการของทุกข์ ก็ส่วนตัณหาต่างๆ นี้ ก็คือตัวของเรานี้เอง มันไม่ใช่ว่ามีตนมีตัวมีหัวมีขาเมื่อไรเล่า ความยินดีในกามารมณ์ทั้ง ๕ เป็น กามตัณหา เมื่อยังยินดีอยู่ในอารมณ์ หรือยินดีอยู่ในอัตภาพร่างกายของตน ซึ่งเกิดมีขึ้นไม่อยากให้เสื่อมสูญไปเสียได้ชื่อว่า ภวตัณหา ถ้าสิ่งใดไม่ชอบอกชอบใจของตนก็อยากให้เสื่อมสูญไป เป็นลักษณะของ วิภวตัณหา ถ้าตัณหาทั้ง ๓ อย่างนี้มีอยู่ในตัวของเรา ตัวของเราก็เป็นกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

ส่วนชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ก็ตัวของเรานั่นแหละ ถ้าเรายินดีอยู่ในกามารมณ์ ก็กุมตัณหาอยู่ในตัวนี่เอง สิ่งใดที่ไม่ชอบใจก็ไม่อยากเห็น ไม่อยาก มี ก็ตัวตัณหานี่เอง ก็เมื่อเพิกตัณหาออกเสียจากตนของเรา คือไม่ยินดีไม่ยินร้ายต่ออารมณ์ที่ควรยินดีและยินร้ายได้ เช่นนั้นก็ชื่อว่าเป็นนิโรธ คือความยินดีก็ดับ ความยินร้ายก็ดับ ถ้าว่านิโรธธรรมนั้นมาครอบงำน้ำใจของเราไม่ได้ เพราะเรายังเกาะเกี่ยวอยู่ด้วยอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ ก็ต้องอาศัยเหตุที่จะเพิกถอนเสียด้วย คืออาศัยสมาธิ อาศัยปัญญา แต่ต้องรักษาตลอดไป จึงจะนำธรรมนั้นมาครอบน้ำใจของเราได้

เมื่อทำศีลของตนให้บริบูรณ์ได้เรียบร้อยจนเป็นสมาธิ สมาธินั้นก็อบรมให้เกิดปัญญา ปัญญาแก่กล้าขึ้น ก็มารู้ในทุกข์ ในสมุทัย ก็ไม่พ้นไปจาก ตนนั่นเอง ส่วนนิโรธและมรรค ก็ตัวของเรานี่เอง ตกลงว่าอริยสัจ ๔ อย่าง เป็นของจริงทุกอย่าง ทุกข์ ก็เป็นของจริง สมุทัย คือ ตัณหาก็เป็นของจริง นิโรธ ส่วนรู้ความที่ตัณหาดับไปก็เป็นของมีจริง มรรคปฏิบัติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เป็นของมีจริงในตัวของเรา ตลอดไปจนถึง มรรคผล นิพพาน โสดาฯ สกิทาคาฯ อนาคาฯ และอรหันต์ ก็ไม่ได้ชี้ลง ณ ที่อื่น ชี้ลงที่ตัวของเรานี้เอง

อริยสัจ ๔ นี้เป็นของฟังยาก ยากที่จะเข้าใจ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเป็นนักปราชญ์ผู้ฉลาดเฉียบแหลมนัก จึงตรัสรู้ด้วยพระองค์เองได้ พวกเราปัญญาน้อย ยากที่จะรู้ตามเห็นตามได้ คือเป็นแต่ได้ฟังคำสั่งสอนเท่านั้น จึงเป็นของยากอยู่เป็นธรรมดา

ตนของเราเป็นทุกข์ซึ่งเกี่ยวอยู่ด้วยสมุทัย คือความไม่รู้ซึ่งเป็นตัวอวิชชา จึงเป็นกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตกลงคือ ความไม่รู้ นั่นเอง ความไม่รู้นั่นแหละคือเหตุแห่งตัณหา ๓ ถ้าหากว่าเรารู้เสียแล้ว ตัณหา ๓ ก็ดับไปเท่านั้น ถ้าเรายินดีอยู่ ในความเกิดก็คือกามตัณหา ถ้าเราไม่ชอบก็คือวิภวตัณหานี่เอง ความเข้าใจว่าความเกิดเราก็เลยมาเสียแล้ว ความแก่ เจ็บ ตาย ก็ยังไม่มาถึง และตัวของเรานี้เป็นกลางว่างอยู่ คือไม่มีเกิด ไม่มีแก่ ไม่มีตาย อย่างนี้เป็นอาการแห่งภวตัณหา เป็นตัณหาเรื่อยๆ อยู่อย่างนี้แหละ

เมื่อผู้ใดรู้ว่า ความเกิด ความแก่ ความตาย ก็เป็นตัวของเรานี้ ความไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ก็ตัวของเรานี้ ให้เป็นปัจจุบันธรรม คือความเกิด ก็หมายตัวของเรานี้แหละ เกิดอยู่เสมอทุกขณะลมหายใจเข้าออก เหตุให้เกิดก็คืออาหารทั้ง ๔ คือ กวฬิงการาหาร ผัสสาหาร สัญเจนตาหาร วิญญาณาหาร เพราะเหตุนั้น รูปธรรมก็เกิดไปตามหน้าที่ของรูปธรรม นามธรรมก็เกิดไปตามหน้าที่ของนามธรรม

เมื่อเกิดแล้วก็แก่ ความแก่ก็มีประจำอยู่ในตัวของเราเสมอไม่มีว่าง ตั้งแต่ยังอยู่ในท้องของมารดา ความแก่ก็ต้องแก่อยู่เสมอ จะว่าแก่ตั้งแต่เกิดมา ๒-๓ วัน ก็เรียกได้ ความแก่ก็เป็นปัจจุบัน ความเจ็บความไข้ก็เป็นปัจจุบันเหมือนกัน เพราะเราก็รักษาพยาบาลกันเรื่อยมา

เมื่อโรคคือความหิวเกิดขึ้น ก็หาอาหารมา รับประทานเสียก็หายไปอย่างนี้แหละ ร่างกายก็เจ็บปวดต่างๆ เหล่านี้ก็แก้อยู่เสมอ โรคจึงไม่กำเริบ เพราะโรคประจำ ยาก็ประจำ จึงไม่รู้สึกว่าเป็นโรค ถ้าโรคจรมาก็ต้องวิ่งหาโรงพยาบาล เมื่อเห็นชัดว่าตัวของเรานี้เจ็บไข้อยู่ ทุกเมื่อเป็นความจริง ด้วยอาการอย่างนี้

ความตายที่เป็นปัจจุบันธรรมนั้น คือเกิดวันใดก็ตายวันนั้น คือต้องตายอยู่เสมอ ทำไมเราจึงจะรู้ว่าเราตายอยู่เสมอ ต้องมองดูว่า แต่ก่อนนี้เราเป็นเด็กๆ หายไปไหน สวยๆ งามๆ ของเราหายไปอยู่ที่ไหนหมด นั่นเป็นพยาน เมื่อรู้ว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย มีอยู่เสมออย่างนี้แล้ว ตัวภวตัณหาก็ดับเท่านั้นเอง เมื่อตัวภวตัณหาดับแล้ว กามตัณหา วิภวตัณหาจะอยู่อย่างไรได้ ก็ดับไปด้วยกันหมด อยู่ไม่ได้

เมื่อรู้ว่าความเกิดมีอยู่ ความแก่มีอยู่ ความตาย มีอยู่ในตัวของเราเป็นมรรคเสียแล้ว มรรคให้ผลจึงเป็นนิโรธ เมื่อตัณหาดับได้แล้ว จึงเกิดความรู้จริง เห็นแจ้งขึ้น ปัญญาอันนี้เป็นลักษณะที่พุทธบริษัทจะควรตรองให้มากทีเดียว เพราะเป็นของลึกล้ำคัมภีรภาพมาก

ผู้ที่ยังไม่เคยได้ยินได้ฟัง ใครจะรู้จริงเห็นแจ้งเองได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เป็นผู้รู้เองเห็นเอง และทรงสั่งสอนให้กลับทุกข์คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ เป็นมรรค คือกลับให้เป็นตัวสัมมาทิฏฐิ ที่เป็นมรรคแล้ว ผลก็เป็นนิโรธทีเดียว โดยตรองให้ เข้าใจก็จะถึงคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในบทว่า สมฺมาสมฺพุทโธ เมื่อเช่นนั้น จงพากันอุตสาหะปฏิบัติตาม เมื่อทำให้เห็นได้จริงก็จะมีคุณวุฒิเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนา โดยนัยที่ได้พรรณนามาด้วยประการฉะนี้


>>>>> มีต่อ
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 13 ก.พ.2008, 11:16 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๒๖)


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกปุคคลวรรค สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสถึงความเป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ไว้ดังนี้

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอกคือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่ออัตถะประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความปรากฏแห่งบุคคลผู้เอกคือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้แล หาได้ยากในโลกฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอกคือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเป็นอัจฉริยมนุษย์ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กาลกิริยาของบุคคลผู้เอกคือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้แล เป็นเหตุเดือดร้อนแก่ชนเป็นอันมากฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอกคือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเป็นผู้ไม่มีสอง ไม่มีเช่นกับพระองค์ ไม่มีใครเปรียบ ไม่มีใครเปรียบเสมอ ไม่มีส่วนเปรียบ ไม่มีบุคคลเปรียบ ไม่มีใครเสมอ เสมอด้วยพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอ เป็นผู้เลิศกว่าสัตว์ทั้งหลายฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความปรากฏขึ้นแห่งบุคคลผู้เอกคือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้แล เป็นความปรากฏแห่งจักษุใหญ่ แห่งแสงสว่างใหญ่ แห่งโอภาสใหญ่ แห่งอนุตตริยะ ๖ เป็นการทำให้แจ้งซึ่งปฏิสัมภิทา ๔ เป็นการแทงตลอดธาตุเป็นอันมาก เป็นการแทงตลอดธาตุต่างๆ เป็นการกระทำให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชาและวิมุตติ เป็นการกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผลฯ”

พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปญฺโญ) หรือพุทธทาสภิกขุ ได้นำความจากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค สูตรที่ ๗ วีมังสกสูตร ว่าด้วยการตรวจดูธรรม มาอธิบายถึง การทรงยืนยันให้ทดสอบความเป็นสัมมาสัมพุทธะของพระพุทธเจ้า ในหนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ภาค ๓ ดังนี้

“...ภิกษุทั้งหลาย วิธีการทดสอบ อันเป็นสิ่งที่ภิกษุ ผู้มีปัญญาใคร่ครวญ แต่ไม่มีญาณเป็นเครื่องรู้จิตแห่งผู้อื่น จะพึงกระทำในตถาคต เพื่อให้รู้ว่า ตถาคตเป็นสัมมาสัมพุทธะ หรือหาไม่ ดังนี้นั้น มีอยู่ (ภิกษุทั้งหลายทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดง จึงได้ตรัสถ้อยคำต่อไปนี้)

ภิกษุทั้งหลาย ตถาคต อันภิกษุผู้มีปัญญาใคร่ครวญ แต่ไม่มีญาณเป็นเครื่องรู้จิตแห่งผู้อื่น พึงทำการทดสอบ ในธรรมทั้งสอง คือในธรรมที่จะพึงรู้ได้ด้วยจักษุและโสตะ ว่าธรรมที่จะพึงรู้ได้ด้วยจักษุและโสตะ ซึ่งเป็นธรรมเศร้าหมอง นั้นมีอยู่แก่ตถาคตหรือหาไม่ เมื่อทำ การทดสอบในข้อนั้นอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า ธรรมที่จะพึงรู้ได้ด้วยจักษุและโสตะ ซึ่งเป็นธรรมเศร้าหมองนั้น ไม่มีอยู่แก่ตถาคตเลย ดังนี้

เมื่อรู้อยู่อย่างนั้น ย่อมทำการทดสอบให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ว่าธรรมที่จะพึงรู้ได้ด้วยจักษุและโสตะ ซึ่งเป็น ธรรมที่เจืออยู่ด้วยความเศร้าหมอง นั้นมีอยู่แก่ตถาคต หรือหาไม่ เมื่อทำการทดสอบในข้อนั้นอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า ธรรมที่จะพึงรู้ได้ด้วยจักษุและโสตะ ซึ่งเป็นธรรมที่เจืออยู่ด้วยความเศร้าหมองนั้น ก็ไม่มีอยู่แก่ตถาคต เลย ดังนี้

เมื่อรู้อยู่อย่างนั้น ย่อมทำการทดสอบให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ว่าธรรมที่จะพึงรู้ได้ด้วยจักษุและโสตะ ซึ่งเป็นธรรมผ่องแผ้วนั้นมีอยู่แก่ตถาคตหรือหาไม่ เมื่อทำ การทดสอบในข้อนั้นอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า ธรรมที่จะพึง รู้ได้ด้วยจักษุและโสตะซึ่งเป็นธรรมผ่องแผ้วนั้น มีอยู่ แก่ตถาคต ดังนี้

เมื่อรู้อยู่อย่างนั้น ย่อมทำการทดสอบให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ว่าท่านผู้นี้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นกุศลนี้ ได้ถึงพร้อมมาตลอดเวลายาวนาน หรือว่าเพิ่งถึงพร้อมเมื่อสักครู่นี้เอง เมื่อทำการทดสอบในข้อนั้นอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ได้ถึงพร้อมมาแล้วตลอดกาลนาน หาใช่เพิ่งถึงพร้อมเมื่อสักครู่นี้ไม่ ดังนี้

เมื่อรู้อยู่อย่างนั้น ย่อมทำการทดสอบให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ว่าท่านผู้นี้เป็นภิกษุผู้มียศ มีเกียรติกระฉ่อนแล้ว โทษต่ำทรามบางอย่างในกรณีอันเกี่ยวกับยศนี้มีอยู่แก่ท่านผู้นี้หรือ ภิกษุทั้งหลาย (การที่ต้องทดสอบข้อนี้ก็เพราะว่า) โทษต่ำทรามบางอย่างจะยังไม่มีแก่ภิกษุ ตลอดเวลาที่ภิกษุยังไม่รุ่งเรืองด้วยยศ มีเกียรติ กระฉ่อน ต่อเมื่อรุ่งเรืองด้วยยศ มีเกียรติกระฉ่อน ก็จะมีโทษต่ำทรามบางอย่างเกิดขึ้น เมื่อทำการทดสอบในข้อนั้นอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ แม้เป็นภิกษุเรืองยศ มีเกียรติกระฉ่อน ก็หามีโทษต่ำทรามอันใด ในกรณี อันเกี่ยวกับยศนั้นไม่ ดังนี้

เมื่อรู้อยู่อย่างนั้น ย่อมทำการทดสอบให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ว่าท่านผู้นี้ไม่เป็นภยูปรัต (ยินดีในสิ่งที่เป็นภัย) เพราะปราศจากราคะ ไม่เสพกามเพราะสิ้นราคะอยู่หรือ เมื่อทำการทดสอบในข้อนั้นอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ ไม่เป็นภยูปรัต เพราะปราศจากราคะ ไม่เสพกาม เพราะสิ้นราคะ อยู่จริง ดังนี้

ภิกษุทั้งหลายถ้ามีคนเหล่าอื่นมาถามภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ก็ท่านมีเหตุผลอย่างไร มีเรื่องที่รู้มาอย่างไร ที่ทำให้ท่านกล่าวว่า ท่านผู้นี้ไม่เป็นภยูปรัตเพราะปราศจากราคะ ไม่เสพกามเพราะสิ้นราคะ ดังนี้เล่า ? ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุจะพยากรณ์อยู่โดยชอบ ก็จะพยากรณ์ว่า “ข้อนี้แน่นอนเพราะว่าท่านผู้นี้ เมื่ออยู่ในหมู่สงฆ์ก็ดี เมื่ออยู่ผู้เดียวก็ดี ซึ่งในที่นั้นๆ ผู้ประพฤติดีก็มี ผู้ประพฤติชั่วก็มี สอนหมู่คณะอยู่ก็มี บางพวกพัวพันอยู่กับอามิสก็มี บางพวกไม่ติดอามิสเลยก็มี ท่านผู้นี้ก็หาได้ดูหมิ่นบุคคลนั้นๆ ด้วยเหตุนั้นไม่ อีกทางหนึ่ง ข้อนี้ก็เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว ได้รับมาเฉพาะแล้วจากที่เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเองว่า “เราไม่เป็นภยูปรัต เราไม่เป็นภยูปรัต เพราะปราศจากราคะไม่เสพกามเพราะสิ้นราคะ ดังนี้”

ภิกษุทั้งหลาย ในข้อนี้ ตถาคต เป็นผู้ที่บุคคลพึงสอบถามเฉพาะให้ยิ่งขึ้นไปว่า ธรรมที่เศร้าหมอง ที่พึงรู้ได้ด้วยจักษุและโสตะ มีอยู่แก่ตถาคตหรือหาไม่ ? ดังนี้ ภิกษุทั้งหลายเมื่อตถาคตจะพยากรณ์ ก็จะพยากรณ์ว่า ไม่มี

เมื่อถูกถามว่า ธรรมที่เจืออยู่ด้วยความเศร้าหมอง ที่พึงรู้ได้ด้วยจักษุและโสตะ มีอยู่แก่ตถาคตหรือหาไม่ ? ดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อตถาคตจะพยากรณ์ก็จะพยากรณ์ว่า ไม่มี

เมื่อถูกถามว่า ธรรมที่ผ่องแผ้ว ที่พึงรู้ได้ด้วยจักษุและโสตะ มีอยู่แก่ตถาคตหรือหาไม่ ? ดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อตถาคตจะพยากรณ์ ก็จะพยากรณ์ว่าธรรมที่ผ่องแผ้ว ที่พึงรู้ได้ด้วยจักษุและโสตะ มีแก่ตถาคต ตถาคตมีธรรมที่ผ่องแผ้วนั่นแหละเป็นหนทาง (ปถ) มีธรรมที่ ผ่องแผ้วนั่นแหละเป็นที่เที่ยว (โคจร) แต่ว่า ตถาคตมิได้ เป็น “ตมฺมโย” (ผู้ที่ธรรมอันผ่องแผ้วนั้นสร้างขึ้น) ด้วยเหตุนั้น

ภิกษุทั้งหลายสาวกควรจะเข้าไปหาพระศาสดาผู้มี วาทะอย่างนี้ เพื่อจะฟังธรรม พระศาสดานั้นย่อมแสดงธรรมแก่สาวกนั้น ให้ยิ่งขึ้นไป ให้ประณีตขึ้นไปมีส่วน เปรียบเทียบระหว่างธรรมดำกับธรรมขาว ภิกษุทั้งหลาย พระศาสดาย่อมแสดงธรรมแก่สาวกนั้น ในลักษณะที่เมื่อแสดงอยู่โดยลักษณะนั้น สาวกนั้น เพราะรู้ยิ่งในธรรมนั้น ย่อมถึงซึ่งความแน่ใจเฉพาะธรรมบางอย่าง ในธรรมทั้งหลาย ที่แสดงนั้นย่อมเลื่อมใสในพระศาสดา ว่า “พระผู้มีพระภาค เป็นสัมมาสัมพุทธะ พระธรรมเป็นสวากขาตะ สาวกสงฆ์ของพระผู้มีพระภาค เป็นสุปฏิปันนะ ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย ถ้ามีคนเหล่าอื่นมาถามภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ก็ท่านมีเหตุผลอย่างไร มีเรื่องที่รู้มาอย่างไร ที่ทำให้ท่านกล่าวว่า พระผู้มีพระภาค เป็นสัมมาสัมพุทธะ พระธรรม เป็นสวากขาตะ สาวกสงฆ์ของพระผู้มีพระภาค เป็นสุปฏิปันนะดังนี้ เล่า ? ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุ จะพยากรณ์อยู่โดยชอบ ก็จะพยากรณ์ว่า “เพื่อนเอ๋ย ! ในเรื่องนี้ เราเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพื่อฟังธรรม พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่เรานั้น ให้ยิ่งขึ้นไป ให้ประณีตขึ้นไป มีส่วนเปรียบเทียบระหว่างธรรมดำกับธรรมขาว เพื่อนเอ๋ย ! พระศาสดาย่อมแสดงธรรมแก่เรา ในลักษณะที่เมื่อทรงแสดงอยู่โดยลักษณะนั้น เรา เพราะรู้ยิ่งในธรรมนั้น ได้ถึงแล้วซึ่งความแน่ใจเฉพาะธรรมบางอย่าง ในธรรมทั้งหลาย ที่ทรงแสดงนั้น เลื่อมใสแล้วในพระศาสดาว่า “พระผู้มีพระภาค เป็นสัมมาสัมพุทธะ พระธรรม เป็นสวากขาตะ สาวกสงฆ์ของพระผู้มีพระภาค เป็นสุปฏิปันนะ” ดังนี้”

ภิกษุทั้งหลาย ศรัทธาในตถาคตของท่านผู้ใดก็ตาม เป็นศรัทธาที่ถูกชักโยงแล้วด้วยอาการเหล่านี้ ด้วยบทเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้ เป็นศรัทธาที่มีมูลรากเกิดแล้ว มีฐานที่ตั้งเกิดแล้ว ภิกษุทั้งหลาย ศรัทธานี้ เรากล่าวว่า เป็นศรัทธาที่มีอาการ มีทัสสนะเป็นมูล เป็นศรัทธาที่มั่นคง ที่สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี เทพก็ดี มารก็ดี พรหมก็ดี หรือใครๆ ก็ตามในโลก จะชักจูงไปไม่ได้

ภิกษุทั้งหลาย การทดสอบโดยธรรมในตถาคต ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ และตถาคตก็เป็นผู้ถูกทดสอบแล้วด้วยดีโดยธรรม ด้วยอาการอย่างนี้แล

หมายเหตุ : ข้อความข้างบนนี้ มีประโยชน์สำหรับพวกเราทั่วไปที่ไม่มีเจโตปริยญาณที่จะรู้พระหฤทัยของพระองค์ ว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะหรือไม่ ก็จะสามารถมีศรัทธาแน่ใจได้ว่าทรงเป็นสัมมาสัมพุทธะ ขอให้พยายามทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ถึงที่สุดด้วย

อนึ่ง ข้อความเหล่านี้ จะฟังยากสำหรับคนบางคน เพราะพระองค์ทรงใช้คำธรรมดาสามัญให้เล็งถึงพระองค์เอง ราวกะว่าทรงเป็นจำเลยให้สอบสวน ผู้อ่านจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ตัวอย่างเช่นคำว่า “ภิกษุ” เป็นต้น หมายถึงพระองค์เองก็มี (พุทธทาสภิกขุ)


>>>>> มีต่อ
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 07 มี.ค.2008, 5:43 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๒๗)


• นโม

นโม มีความหมายว่าอย่างไร ? เท่าที่ค้นคว้าได้ในขณะนี้ มีดังนี้

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ให้คำนิยาม นมะ ไว้ดังนี้

นม-, นมะ [นะมะ-] การนอบน้อม, การเคารพ, การไหว้. (ป.; ส. นมสฺ). นมักการ [นะมักกาน](แบบ, นมัสการ [นะมัตสะกาน] น. การแสดงความอ่อนน้อม ด้วยการกราบไหว้; คำที่ใช้ขึ้นต้นและลงท้ายจดหมาย ที่มีไปถึงพระภิกษุสามเณร (ป. นมกฺการ; ส. นมสฺการ).

พจนานุกรม ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร ให้คำนิยาม นมะ ไว้ดังนี้

นมะ คำแปล (มค. นม; สก. นมสฺ) น. การน้อม, การโน้ม, การก้ม, การเคารพ, การไหว้, การน้อมนอบ; อาหาร; สายฟ้า (เหมือน นม).

นมักการ คำแปล น. การแสดงความนอบน้อม, การไหว้; คำขึ้นต้นจดหมายที่คฤหัสถ์เขียนถึงพระสงฆ์ (เหมือน นมัสการ).

นมัตถุ คำแปล (มค. นม = ไหว้ + อตฺถุ = จงมี) น. ขอความนอบน้อมจงมี.

นมัสการ คำแปล น. การแสดงความนอบน้อม, การไหว้; คำขึ้นต้นจดหมายที่คฤหัสถ์เขียนถึงพระสงฆ์ (เหมือน นมักการ).

พจนานุกรรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด ศัพท์วิเคราะห์ โดย พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) ให้คำนิยาม นมักการ, นมัสการไว้ดังนี้

นมกฺการ ความนอบน้อม, การกราบไหว้ (นมสฺสา วนฺทนา อภิวาทน)

- นมนํ นโม. ตสฺส กรณํ นมกฺกาโร การทำความนอบน้อม (นม + การ, ซ้อน กฺ)

นมสฺสา ความนอบน้อม, การไหว้ (นมกฺการ วนฺทนา อภิวาทน)

- นมตีติ นมสฺสา กิริยาที่นอบน้อม (นมุ ธาตุในความหมายว่า นอบน้อม สฺส ปัจจัย อา อิตฺ.)

- นมสฺสตีติ นมสฺสา กิริยาที่ไหว้ (นมสฺส ธาตุในความหมายว่า ไว้ อ ปัจจัย อา อิตฺ.)

พจนานุกรรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด โดย พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) ให้คำนิยาม นมัสการ ไว้ดังนี้

นมัสการ แปลว่า การทำความนอบน้อม, การทำความเคารพด้วยการยกมือไหว้

เป็นคำสำหรับคฤหัสถ์ที่ใช้กับพระสงฆ์ มิใช่พระสงฆ์ใช้กับพระสงฆ์ด้วยกัน คำนี้ใช้เป็นคำขึ้นต้นในกรณีกล่าวถวายรายงานต่อพระสงฆ์ในพิธีต่างๆ เช่นว่า “นมัสการพระคุณเจ้าที่เคารพ” หรือ “กราบนมัสการพระเดชพระคุณที่เคารพ” และใช้เป็นคำขึ้นต้นและลงท้ายจดหมายที่เขียนไปถึงภิกษุสามเณร เช่น ขึ้นต้นว่า “นมัสการ พระ....” ลงท้ายว่า “นมัสการด้วยความ เคารพ” นมัสการ คำนี้มักใช้ผิดเพี้ยนไปว่า มนัสการ

พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือ พจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย ที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงเรียบเรียง ให้คำนิยาม นมัสสา, นมักการ ไว้ดังนี้

ไหว้ ๔ นมสฺสา เป็นอิตถีลิงค์ (ตุ) นมกฺกาโร เป็นปุงลิงค์

วนฺทนา เป็นอิตถีลิงค์ (จา) -ภิวาทนํ เป็นนปุงสกลิงค์

ไหว้ ๑ นินฺทายํ (วนฺทเน) นโม เป็นอลิงค์หรืออัพยศัพท์

หนังสืออภิธานัปปทีปิกา และอภิธานปฺปทีปีกาสูจิ ที่ พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) เรียบเรียง ให้คำนิยาม นมักการ, นมัสสา, นโมไว้ดังนี้

นมกฺการ นโมกรณํ นมกฺกาโร. โณ, นโมโต ฉฎฐีโลโป, “โลปญฺ จ ตตฺรากาโร” ติ โอการสฺส โลเป อการาคโม. อถ วา, นมนํ นโม, ตสฺส กรณํ นมกฺกาโร. รโหสทฺโท ‘วิย นโม สทฺโท’ ตฺร ทฺวิธา วตฺตติ, เอโก อการนฺโต สลิงโค, เอโก อลิงฺโค โอการนฺโต ติ.

นมสฺสา นมสฺส วนฺทเน, อ, อิตฺถิยํ อา; นมุ นมเน วา, สฺโส.

นโม “นโม กโรหิ นาคสฺสา” ติ อาทีสุ วนฺทเน ทุติยาวิภตฺยนฺโต.

“นโม เต พุทฺธวีรตฺถู” นโมสทฺโท ปฐมาวิภตฺยนฺโต.

หนังสือปาลี - สยาม อภิธาน ที่ พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) เรียบเรียง ให้คำนิยาม นมักการ, นมัสการ ไว้ดังนี้

นมกฺการ (นมสฺการ) น.ป.; อภิวาทน ไหว้ worship.

นมสฺสา (นมสฺยา) อิ.; อภิวาทน ไหว้ worship.

นโม (นมสฺ) อ.; วันทนัตถวาจก นิบาตบอกอัตถ์ คือ ไหว้ salutation

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ อรรถาธิบาย นโม ในพระธรรมเทศนา “รตนตฺตยคมนปณามคาถา” ไว้ดังนี้

“ความนอบน้อมมาจาก “นโม” “นโม” แปลว่า นอบน้อม เป็นบุคลาธิษฐาน คือ นอบน้อมด้วยกาย นอบน้อมด้วยวาจา นอบน้อมด้วยใจ นอบน้อมในพระผู้มีพระภาค เมื่อพระองค์มีพระชนมายุอยู่ อุบาสกอุบาสิกาเข้าไปสู่ที่เฝ้าแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ คือกราบพร้อมด้วยองค์ ๕ เข่าและศอกทั้ง ๒ ต่อกัน ฝ่ามือทั้ง ๒ วางลงให้เสมอกัน ก้มศีรษะลงให้หน้าจรดพื้นในระหว่างมือทั้ง ๒ นั้น หรือในระหว่างที่เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่นั้น คอยฟังพระโอวาทานุสาสนีของพระองค์ ไม่ส่งใจไปในที่อื่น ไม่เปล่งวาจาออกในระหว่างที่พระองค์ทรงรับสั่งอยู่ เป็นการรบกวนพระองค์ด้วยวาจา ให้เป็นที่ระแคะระคายพระทัย

อนึ่ง เมื่อเข้าไปสู่ที่เฝ้า ไม่นั่งให้ไกลนัก จะเป็นการเบียดเบียนพระองค์ ด้วยต้องออกพระกำลังเสียงในเวลารับสั่ง ไม่นั่งให้ใกล้นัก จะเป็นการเบียดเบียนพระองค์ด้วยกายอันเป็นของปฏิกูล จะเป็นที่รำคาญพระนาสิกในเวลากลิ่นกายฟุ้งไป ไม่นั่งในที่เหนือลม ด้วยเคารพพระองค์ กลัวลมจะพัดเอากลิ่นกายที่ฟุ้งออกไปมากระทบพระนาสิกของพระองค์ ไม่นั่งในที่ตรงพระพักตร์นัก กลัวจะเป็นที่รำคาญพระเนตรทั้งสองของพระองค์ ไม่นั่งในที่เบื้องหลังนัก เกรงว่าพระองค์จะต้องหันพระพักตร์มากไปในเวลาจะทรงรับสั่ง ต้องนั่งในที่สมควรนอกจากที่ที่แสดงมาแล้ว ในเวลาอยู่ในที่เฝ้า ไม่ส่งใจไปในที่อื่น ไม่เปล่งวาจาให้ เป็นที่รำคาญพระทัยแด่พระองค์ ดังนี้แล นอบน้อมด้วยกายในพระองค์

ในเมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ยังเหลือแต่เจดีย์ ๔ เหล่า คือ บริโภคเจดีย์ ธาตุเจดีย์ ธรรมเจดีย์ อุทเทสิกเจดีย์ พุทธศาสนิกชนไปถึงที่เช่น นั้นเข้าแล้ว ในเมื่อกั้นร่ม ควรลดร่มลง ห่มผ้าปิด ๒ บ่า ควรลดออกเสียบ่าหนึ่ง ในเมื่อสวมรองเท้าเข้าไป ควรถอดรองเท้าเสีย และเข้าไปในที่นั้นไม่ควรแสดงอึงคะนึงและไม่เคารพ แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องแสดง เคารพอย่างจริงใจ ไม่ทิ้งของที่สกปรกลงไว้ เช่น ก้นบุหรี่ หรือชานหมาก น้ำลาย น้ำมูก อุจจาระ ปัสสาวะ ในที่บริเวณนั้น เมื่อเข้าไปในที่นั้นเห็นรกปัดกวาดเสีย ถากถางเสีย เห็นไม่สะอาด ทำให้สะอาด เห็นผุพัง ควรแก้ไข ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ได้ก็ยิ่งดี ดังนี้เป็นความนอบน้อมพระผู้มีพระภาคด้วยกาย โดยบุคลาธิษฐาน

อนึ่ง นำเรื่องของพระรัตนตรัยไปสรรเสริญในที่นั้น แก่บุคคลนั้นอยู่เนืองๆดังนี้ ก็ชื่อว่า นอบน้อมด้วยวาจา

และคิดถึงพระรัตนตรัยอยู่เนืองๆ ไม่ยอมให้ใจไป จรดอยู่กับอารมณ์สิ่งอื่นมากนัก คอยบังคับใจให้จรด อยู่กับพระรัตนตรัยเนืองๆ ดังนี้ ชื่อว่า นอบน้อมพระรัตนตรัยด้วยใจ

ความนอบน้อมของข้าพเจ้าจงมีแด่พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นองค์อรหันต์ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ บรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลายต้องว่าดังนี้ ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลายในเวลาทำศาสนกิจทุกครั้ง เช่น พระเถรานุเถระกระทำสังฆกรรม และอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย จะสมาทานศีล ก็ต้องว่า “นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส” ถึง ๓ หน จะว่าแต่เพียงหนหนึ่งหรือสองไม่ได้ หรือได้เหมือนกันแต่ว่าไม่เต็มรัตนตรัยทั้ง ๓ กาล จะให้เต็มหรือถูกรัตนตรัยทั้ง ๓ กาลแล้ว ต้องว่าให้เต็ม ๓ หน หนที่ ๑ นอบน้อมพระรัตนตรัยในอดีต หนที่ ๒ นอบน้อมพระรัตนตรัยในปัจจุบัน หน ที่ ๓ นอบน้อมพระรัตนตรัยในอนาคต ทั้งหมดต้องว่า ๓ หน จึงครบถ้วนถูกพระรัตนตรัยทั้ง ๓ กาล”

นโม ในความหมายที่นำมาแสดงนี้ แสดงให้ทราบ ว่าวัฒนธรรมของชาวพุทธในประเทศต่างๆ มีความเหมือนกันในเรื่องการแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย ที่พัฒนามาเป็นวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ คือ การไหว้ การกราบ ซึ่งมีความแตกต่างกันในรายละเอียดตามธรรมเนียมนิยมของประเทศนั้นๆ

สำหรับประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการแสดงความเคารพด้วย การไหว้ การกราบ ไว้ดังนี้

๑. การไหว้ การปฏิบัติในท่าไหว้ประกอบด้วยกิริยา ๒ ส่วน คือ การประนมมือ, การไหว้

การประนมมือ (อัญชลี) เป็นการแสดงความเคารพ โดยการประนมมือให้นิ้วมือทั้งสองข้างชิดกัน ฝ่ามือทั้งสองประกบเสมอกันแนบหว่างอก ปลายนิ้วเฉียงขึ้นพอประมาณ แขนแนบตัวไม่กางศอก ทั้งชายและหญิงปฏิบัติเหมือนกัน การประนมมือนี้ใช้ในการสวดมนต์ ฟังพระสวดมนต์ ฟังพระธรรมเทศนา ขณะสนทนากับพระสงฆ์ รับพรจากผู้ใหญ่ แสดงความเคารพผู้เสมอกัน และรับความเคารพจากผู้อ่อนอาวุโสกว่า เป็นต้น

การไหว้ (วันทนา) เป็นการแสดงความเคารพ โดยการประนมมือแล้วยกมือทั้งสองขึ้นจรดใบหน้าให้เห็นว่าเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง การไหว้แบบไทย แบ่งออกเป็น ๓ แบบ ตามระดับของบุคคล

ระดับที่ ๑ การไหว้พระ ได้แก่ การไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมทั้งปูชนียวัตถุ ปูชนียสถาน ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ในกรณีที่ไม่สามารถกราบ แบบเบญจางคประดิษฐ์ได้ โดยประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดระหว่างคิ้ว ปลายนิ้วแนบส่วนบนของหน้าผาก

ระดับที่ ๒ การไหว้ผู้มีพระคุณและผู้อาวุโส ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ครู อาจารย์ และผู้ที่เราเคารพนับถือ โดยประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อม ศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดปลายจมูก ปลายนิ้วแนบระหว่างคิ้ว

ระดับที่ ๓ การไหว้บุคคลทั่วๆไป ที่เคารพนับถือหรือผู้มีอาวุโสสูงกว่าเล็กน้อย โดยประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดปลายคาง ปลายนิ้วแนบปลายจมูก

อนึ่ง สำหรับหญิงการไหว้ทั้ง ๓ ระดับ อาจจะถอยเท้าข้างใดข้างหนึ่งตามถนัดไปข้างหลังครึ่งก้าวแล้วย่อเข่าลงพอสมควรพร้อมกับยกมือขึ้นไหว้ก็ได้

๒. การกราบ(อภิวาท) เป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง มี ๒ แบบ คือ

๒.๑ การกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ เป็นการใช้อวัยวะทั้ง ๕ คือ หน้าผาก ซึ่งเป็นตัวแทนของส่วนบนของร่างกาย มือและข้อศอกทั้ง ๒ เป็นตัวแทนส่วนกลางของร่างกาย เข่าทั้ง ๒ ซึ่งเป็นตัวแทนส่วนล่างของร่างกายจรดพื้น การกราบมี ๓ จังหวะ คือ

ท่าเตรียม

ชาย นั่งคุกเข่าตัวตรงปลายเท้าตั้ง ปลายเท้าและส้นเท้าชิดกัน นั่งบนส้นเท้า เข่าทั้งสองห่างกัน พอประมาณ มือทั้งสองวางคว่ำบนหน้าขา ทั้งสองข้าง นิ้วชิดกัน (ท่าเทพบุตร)

หญิง นั่งคุกเข่าตัวตรง ปลายเท้าราบ เข่าถึงปลาย เท้าชิดกัน นั่งบนส้นเท้า มือทั้งสองวางคว่ำ บนหน้าขา ทั้งสองข้าง นิ้วชิดกัน (ท่าเทพธิดา)

ท่ากราบ

จังหวะที่ ๑ (อัญชลี) ยกมือขึ้นในท่าประนมมือ

จังหวะที่ ๒ (วันทนา) ยกมือขึ้นไหว้ตามระดับที่ ๑ การไหว้พระ

จังหวะที่ ๓ (อภิวาท) ทอดมือทั้งสองลงพร้อมๆ กัน ให้มือและแขนทั้งสองข้างราบกับพื้น คว่ำมือห่างกันเล็กน้อยพอให้หน้าผากจรดพื้นระหว่างมือได้

ชาย ศอกทั้งสองข้างต่อจากเข่าราบไปกับพื้น หลังไม่โก่ง

หญิง ศอกทั้งสองข้างคร่อมเข่าเล็กน้อย ราบไปกับพื้น หลังไม่โก่ง จากนั้นก้มศีรษะลงให้หน้าผากจรด พื้นระหว่างมือทั้งสอง

ทำสามจังหวะให้ครบ ๓ ครั้ง แล้วยกมือขึ้นไหว้ในท่าไหว้พระ แล้ววางมือคว่ำลงบนหน้าขาในท่าเตรียม กราบ จากนั้นให้เปลี่ยนอิริยาบถตามความเหมาะสม

๒.๒ การกราบผู้ใหญ่ กราบผู้ใหญ่ที่มีอาวุโสรวมทั้งผู้มีพระคุณ ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ครู อาจารย์ และผู้ที่เราเคารพ ผู้กราบทั้งชายและหญิงนั่งพับเพียบทอดมือทั้งสองข้างลงพร้อมกัน ให้แขนทั้งสองคร่อมเข่าที่อยู่ด้านล่างเพียงเข่าเดียว มือประนมตั้งกับพื้นไม่แบมือ ค้อมตัวลงให้หน้าผากแตะส่วนบนของมือที่ประนม ในขณะกราบไม่กระดกนิ้วมือขึ้นรับหน้าผาก กราบเพียงครั้งเดียว จากนั้นให้เปลี่ยนอิริยาบถโดยการ นั่งสำรวมประสานมือ จากนั้นเดินเข่าถอยหลังพอประ-มาณแล้วลุกขึ้นจากไป


>>>>> มีต่อ
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 01 เม.ย.2008, 8:43 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๒๘)


แต่นี้จะพรรณนาความแห่ง ‘นโม’ ในความหมายว่า การเคารพ

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ให้คำนิยาม “เคารพ” ไว้ดังนี้

เคารพ เป็นคำกริยา แปลว่า แสดงอาการนับถือ เช่น เคารพผู้ใหญ่ เคารพธงชาติ ; ไม่ล่วงเกิน, ไม่ล่วงละเมิด, เช่น เคารพสิทธิของผู้อื่น. (ภาษาสันสกฤต ใช้ว่า “เคารว” ส่วนบาลีใช้ว่า “คารว”)

เคารพ เป็นคำนาม แปลว่า ความเคารพ, ความนับถือ. (บาลี ใช้ว่า “คารว”)

พจนานุกรม ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร ให้คำนิยาม “เคารพ” ไว้ดังนี้ เคารพ เป็นคำกริยา แปลว่า แสดง, แสดงความนอบน้อมนับถือ, วิธีแสดงความเคารพตามระเบียบศาสนา มี ๕ อย่าง คือ ๑. อภิวาท-กราบ ๒. นมัสการ-ไหว้ ๓. อัญชลี-พนมมือ ๔. อุฏฐานะ-ลุกยืน ๕. สามีจิกรรม-แสดงกิริยาอ่อนน้อม (หลักฐานทางบาลีเข้าใจว่า อภิวาทคือยืนไหว้)

ขออัญเชิญบทพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เรื่องการนับถือพระพุทธศาสนา และลักษณะการเคารพพระรัตนตรัย มาแสดงเพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจในความหมายแห่งคำว่า “เคารพ” ดังนี้

การนับถือพระพุทธศาสนา

สาสนมามโก โย จ สิกฺขิตุ สรณํปิจ อธิบายว่า บุคคลผู้ใดจะนับถือพระพุทธศาสนา พึงศึกษาให้รู้จักที่พึ่งทั้งสาม คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้ชัดให้แน่แล้ว ให้รู้จักคุณพระศาสนาว่า จะนับถือนี้ จะมีประโยชน์อย่างไร

แลบุคคลทุกวันนี้ ถือแต่หยาบๆ ไม่คิดตรึกตรอง ถึงจะนับถือพระศาสนา ก็นับถือตามมารดาบิดาที่ตนถือมา ไม่รู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้นเป็นอย่างไร เป็นแต่ได้ยินเขาว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่นับถือ ได้ยินเขาว่าให้ข้าวของแก่คนนุ่งเหลือง ห่มเหลือง แล้วได้บุญ ได้ยินเท่านั้น แล้วก็ให้ข้าวของไป ไม่ได้คิดตรึกตรองว่าบุญนั้นเป็นอย่างไร ทำอย่างไรจะได้บุญ จะนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะนับถือทำไม เพราะเหตุอย่างไรจึงจะต้องนับถือ ไม่ตรึก ไม่ตรองให้รู้ชัดรู้แน่ นับถือไปตามมารดาบิดาเคยนับถือมา นับถืออย่างนั้นจะเรียกว่าเป็นคนนับถือพระศาสนานั้นหามิได้ นับถืออย่างนั้น เรียกว่านับถือตามอย่างมารดาบิดาเท่านั้น เพราะตัวไม่รู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแต่ทำตามเขาพูดเขาเล่าต่อๆ มา

เหตุดังนั้นจึงว่าใครจะนับถือพระศาสนา ให้ตรึกตรองให้ละเอียด ให้รู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอย่างนั้น พระศาสนาเป็นอย่างนั้น จึงถวายตัวเป็นข้าพระศาสนา รับข้อปฏิบัติ อันจะพ้นความทุกข์ความลำบากนี้

ก็ทำไมจะรู้จักพระพุทธเจ้าเล่า พระพุทธเจ้านั้น ถึงเราจะไม่ได้เห็น ก็แต่ได้ยินมาแต่ในหนังสือหนังหา มีมากกว่ามาก ควรจะเชื่อได้ อันพระพุทธเจ้านั้น แต่ก่อนท่านเป็นสัตว์เหมือนอย่างเรานี่แหละ แต่ทว่าท่านหากมีปัญญาพิจารณาว่าสัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้วตาย ถึงซึ่งความลำบากเป็นอันมาก จะทำอย่างไรหนอ เราจึงจะพ้นความลำบากนี้ได้ จึงนึกไปว่าที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย เห็นจะมีอยู่เป็นเที่ยงแท้ เปรียบเหมือนอย่างของร้อน แล้วก็มีเย็นแก้ ไฟมีแล้ว น้ำก็มี ความลำบากมีแล้ว ความสบายก็มีเหมือนกัน

เมื่อพระองค์พิจารณาแล้ว พระองค์ก็สู้อุตส่าห์แสวงหาอุบายที่จะออกจาก ทุกข์ สู้ทำการกุศลมาช้านาน จนถึงพระศาสนาพระพุทธเจ้าทีปังกร ครั้งนั้น ท่านมีบารมีแก่กล้า ควรจะได้พระอรหันต์ รื้อตนออกจากสังสารวัฏฏะได้ แต่หากว่าท่านมีความกรุณาแก่สัตว์ทั้งปวง ท่านมาคิดว่าเราท่องเที่ยว เวียนตาย เวียนเกิดมาในวัฏฏสงสารช้านานนักหนาแล้ว ใครที่จะไม่ได้เป็นพี่น้อง เป็น มารดาบิดากัน นั้นไม่มี คงได้เป็นพี่น้อง เป็นมารดาบิดา หมดทุกคน คนเหล่า นั้นยังจะต้องลำบากอยู่ ตัวเราจะไปเสียคนเดียว นั้นไม่ชอบ จำจะต้องอยู่บอกอุบายที่จะพ้นทุกข์ให้รู้ด้วยกันมากๆ แล้วไปด้วยกัน จึงจะดี

วิสัยที่คนจะบอกอุบายให้คนอื่นพ้นจากทุกข์ได้นั้น มิใช่ง่าย ต่อเมื่อไรมีปัญญาสารพัดรู้ สารพัดเห็น ได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าเหมือนพระทีปังกรนี้จึงจะได้ ท่านคิดอย่างนี้แล้ว จึงทอดตนลงเป็นสะพานถวายแด่พระพุทธเจ้าทีปังกร กับทั้งหมู่สงฆ์บริวาร แล้วทำความปรารถนาในที่เฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้าว่า ขอให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเหมือนพระองค์เถิด พระพุทธเจ้าทำนายว่า ท่านจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ท่านก็สร้างพระบารมีมาช้านานถึงสี่อสงไขยแสนกัปป์ นับแต่กัปป์นี้ถอยหลังลงไป ท่านมีความกรุณา สู้สละเสียซึ่งอรหัตผลอันจะได้ในชาตินั้น สู้ทนลำบากสร้างพระบารมีมาอย่างนี้ เปรียบเหมือนมนุษย์ที่ติดอยู่ในเรือนจำเป็นอันมาก แลนักโทษคนหนึ่ง เป็นคนมีปัญญา คิดแก้ไขจะหาอุบายหนีออกจากเรือนจำ ครั้นแสวงหาได้อุบายที่จะออกจากเรือนจำได้แล้ว มาคิดว่า เราจะออกไปคนเดียว ไม่ชอบ คนทั้งหลายที่อยู่ในเรือนจำนั้น แต่ก็ล้วนเป็นเพื่อนฝูงกันทั้งสิ้น คนเหล่านั้นหารู้ที่จะออกจากเรือนจำไม่ จำเราจะต้องอยู่บอกอุบายให้รู้มากๆ ก่อน แล้วจึงค่อยไป จึงจะดี เมื่อบุรุษนั้นคิดอย่างนี้แล้ว ก็สู้ทนทุกข์อยู่ในวัฏสงสาร เหมือนคนที่ติดอยู่ในเรือนจำ พระบรมโพธิสัตว์นั้นเหมือนบุรุษที่มีปัญญา สู้ทนลำบากมาช้านาน สิ่งที่เป็นกุศลท่านได้ทำทุกประการ

ครั้นพระบารมีแก่กล้าแล้วในพระชาติเป็นที่สุด ทรงถือกำเนิดในเมืองกบิลพัสดุ์ ในตระกูลกษัตริย์ศากยราช พระญาติทั้งหลายถวายพระนามว่า สิทธัตถะ หรือ สิทธารถ ถ้าเรียกได้โดยโคตรว่า โคตรมะ พระองค์มีพระกายงดงาม ไม่มีใครสู้ได้ เพราะว่าพระองค์ได้สร้างกุศลบารมีไว้มาก


พระองค์ทรงออกบรรพชา ตั้งความเพียร ละเสียซึ่งความชั่วทั้งปวง มีพระสันดานบริสุทธิ์ ไม่มีความชั่ว สารพัดรู้ สารพัดเห็น ไม่ขัด ไม่ข้อง รู้จักกองทุกข์ คืออุปาทานขันธ์ ทั้ง ๕ ประการ รู้เหตุที่ยังกองทุกข์ให้บังเกิด คือ ความโลภที่อยากได้ รู้จักที่ดับกองทุกข์คือพระนิพพาน แลรู้หนทาง คือข้อปฏิบัติที่จะให้ดับกองทุกข์ ท่านรู้เอง เห็นเอง ไม่มีใครเป็นครูเป็นอาจารย์ แต่ ก็รู้ดี รู้ไม่ผิด รู้ที่ชอบ ท่านผู้นี้แลชื่อว่า พระพุทธเจ้า

ส่วนพระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ ต้นไม้มหาโพธิ์ มีในที่ต่างๆ นั้น มิใช่พระพุทธเจ้า เป็นแต่เขาทำไว้เป็นที่ไหว้ที่บูชา ไม้มหาโพธิ์นั้น เป็นที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า จะได้เป็นพระพุทธเจ้าหามิได้ ถ้าจะมีผู้สงสัยว่า ท่านแต่ก่อน ท่านเป็นคนรู้ ท่านว่าไว้ ใครได้ไหว้ ได้บูชา ได้เคารพนับถือ เมื่อของเหล่านั้นไม่เป็นพระเสียแล้ว จะเป็นบุญที่ไหนเล่า ท่านแต่ก่อนๆ แต่ล้วนท่านผู้รู้หนังสือหนังหามาก ทำไมท่านจึงไม่ว่าไว้ กลับมาว่าสมัยนี้ ซึ่งเป็นเด็กๆ จะรู้อะไร เมื่อคิดเช่นนั้นหาชอบไม่ เพราะว่าได้ตรึกตรองแล้ว

คำที่ว่า ใครได้ไหว้ ได้บูชา ได้เคารพพระพุทธรูป พระเจดีย์ ไม้พระศรีมหาโพธิ์ ได้บุญนั้นจริงอยู่ ด้วยว่าพระเจดีย์นั้น เมื่อพระพุทธเจ้าใกล้จะปรินิพพาน พระอานนท์ได้ทูลถามว่า ถ้าพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว ชนทั้งหลายคิดถึงพระเดชพระคุณ จะบูชาในที่ไหน พระองค์ทรงอนุญาตให้กระทำสถูปเจดีย์ไว้ในที่ประชุมชนไปมา ดังระหว่างถนนใหญ่ทั้งสี่เป็นต้น เพื่อจะได้เป็นที่ไหว้ และกระทำสักการบูชาแห่งชนทั้งปวง ให้ได้เกิดความเลื่อมใสแห่งจิต สั่งสมอนุสสตานุตตริยกุศล และบูชามัยราศีของชนเหล่านั้น ผู้ใดได้กระทำสักการบูชาด้วยธูปเทียน ระเบียบดอกไม้ ของหอม เป็นต้น หรือจะอภิวาทกราบไหว้นมัสการ โดยความระลึกถึงพระพุทธเจ้า หรือกระทำจิตให้เกิดความเลื่อมใส ในพระรัตนตรัย มีความระลึกถึงพระพุทธคุณ เป็นต้น ก็จัดเป็นบุญเป็นกุศลไปเพื่อประโยชน์แลความสุขแก่คนเหล่านั้นตามความประสงค์

เพราะเหตุนั้น การที่ไหว้ที่บูชาพระพุทธรูป พระเจดีย์ ไม้พระศรีมหาโพธิ์ ก็เป็นเหตุจะให้เกิดความเลื่อมใสแห่งจิต เป็นพุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ ระลึกถึงพระคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เมื่อผู้ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยแล้ว แลกราบไหว้บูชาเคารพนั้น ก็เป็นเหตุที่จะให้สำเร็จ มรรคผล สุข ประโยชน์ ได้ในปัจจุบันและภพเบื้องหน้าตามประสงค์ก็เป็นบุญ เป็นกุศล ได้อย่างหนึ่ง.....

(พระราชนิพนธ์นี้ ได้ทรงไว้แต่ครั้งทรงผนวช ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
ยังมิได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ)

ลักษณะการเคารพพระรัตนตรัย

ข้าพระพุทธเจ้า สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้า เจ้ากรุงสยาม เป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ที่สี่ ในพระราชวงศ์ ซึ่งตั้งกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทยา นี้ ขอถวายอภิวันท์นอบน้อมนมัสการด้วย ไตรทวาร นบนอบเคารพแด่พระรัตนตรัย ประชุมสิ่งประเสริฐสามประการนี้ คือพระพุทธผู้ตรัสรู้หนึ่ง พระธรรมหนึ่ง พระสงฆ์หมู่เนื่องกันหนึ่ง พระรัตนะทั้งสามนี้แม้นต่างๆ โดยวัตถุ ก็ย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยเนื้อความ แลข้าพระพุทธเจ้า บัดนี้ เห็นจะเป็นผู้กำจัดอันตรายตัวไปเสียได้ ด้วยผลบุญที่สำเร็จด้วยไหว้พระรัตนตรัยนั้นแล้ว

แลบัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้า ได้อยู่ครอบครองราชอาณาจักร แลราชสมบัติในสยามมนุษย์ทั้งหลายนี้ แลได้ทำบูชาแด่ปูชนียวัตถุ คือพระพุทธเจ้าเป็นต้น อยู่ จึงจะขอกล่าววิธีต่างๆ โดยสมควร ในกิจการนมัสการแด่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้านั้น ในที่ระลึกถึงพระองค์นั้น มีพระเจดีย์เป็นต้น ด้วยภาษาสยาม พากยภาษา เป็นแต่ว่าจะแสดงวิธีในคำสำหรับเป็นที่ตั้งความทำในใจระลึก แลสวดสาธยาย แลประกาศอุทิศส่วนกุศลแก่เทวดา เป็นต้น ด้วยมาคธิกาภาษาที่เรียกกันโดยมากว่า ภาษาบาลี เพราะว่าภาษานั้นเป็นประมาณ คือ ภาษากลาง ในพระพุทธศาสนธรรม เพื่อจะให้เป็นแบบแผนตำราสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน ฤาผู้รับสั่งพระเจ้าแผ่นดิน ผู้จะปฏิบัติทำการบูชาพระพุทธเจ้าในเรือนพระพุทธปฏิมาเจดีย์ หรือในที่ต่างๆ ในการพระราชพิธีนั้นๆ จะให้ท่านผู้ทำพุทธบูชาได้ศึกษาตาม แลทำตามด้วยดีโดยชอบ

ข้าพระพุทธเจ้าคิดว่า ถ้าท่านผู้จะบูชาวัตถุมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น จะได้ตั้งอยู่ตามวิธีที่จะว่าไปนี้แล้ว พระราชกุศลแลสามัญกุศลก็ดี ศรีสวัสดิ์พิพัฒนมงคลแก่พระราชวังแลพระนคร แก่พระราชตระกูล แลอำมาตย์ตระกูล แลอาณาประชาราษฎร์ก็ดี จะเจริญสำเร็จมากกว่าทำโดยการมักง่าย ไม่มีวิธีกำหนดไว้


>>>>> มีต่อ
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 เม.ย.2008, 7:33 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๒๙)


พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔เรื่องลักษณะการเคารพพระรัตนตรัย มีความต่อจากฉบับที่แล้ว ดังนี้

ในภาคย์เบื้องต้นนี้ จะขอกล่าวลักษณะเคารพ นมัสการ กราบไหว้ คำนับน้อม แลลักษณะทำสักการบูชานับถือในพระรัตนตรัยนั้น ให้เข้าใจถนัดก่อน

อันการอ่อนน้อมคำนับในโลกนี้ มีกิริยาทำต่างๆ กันในประเทศต่างๆ อย่างนั้นๆ ไม่ต้องกัน ไม่เหมือนกัน จนถึงขัดขวางกัน ดังหนึ่งข้างจีนถือว่า เมื่อจะคำนับไหว้พระไหว้เจ้า แลจะเข้าไปหานายต้องสอดสวมเครื่องแต่งตัว หมวก เสื้อ รองเท้า เข้าให้ครบ จึงจะไหว้ พระไหว้เจ้าไหว้นายได้ ถ้าไม่มีเครื่องแต่งตัวเต็ม ไม่สวมหมวกสอดรองเท้า ก็ว่าไม่เคารพ

ฝ่ายข้างชาวยุโรป แลอเมริกา ถือว่าถ้าสวมหมวกอยู่ เป็นไม่คำนับ เมื่อจะคำนับ ต้องถอดหมวกออก ถือออกโบก แต่เครื่องแต่งตัวคือเสื้อชั้นนอกที่ไม่ได้สวมอยู่โดยปรกติ แลรองเท้า แลเครื่องอื่นๆ ตามยศ จนถึงกระบี่ซึ่งเป็นเครื่องติดอยู่กับเครื่องคาดเอว ต้องแต่งเข้าพร้อม จึงเป็นอันเคารพ

ฝ่ายลัทธิในการเคารพของพวกชาวบ้านเมืองถือพระพุทธศาสนา แลถือข้างพราหมณ์ มักถือว่าไม่สวมหมวก ไม่โพกผ้า เป็นเคารพ รองเท้าแลอาวุธห้าม เป็นอันขาด ไม่ให้สอดสวม ไม่ให้คาดแต่ไกลทีเดียว จึงเป็นเคารพ ฝ่ายผ้าห่มนั้นต้องให้มี จึงเป็นเคารพ ถึงกระนั้นในที่เคารพ ก็บังคับให้ลดเปิดบ่าข้างขวาออก แลในชาวสยามผู้ชาย เมื่อเคารพผู้มีบรรดาศักดิ์ ต้องเอาผ้าห่มลงเกี้ยวพุงไว้ การเป็นต่างๆ ขัดกัน ไม่ต้องกัน ดังนี้แล

อนึ่งในกิริยาอิริยาบถ ก็ถือไม่ต้องกัน ในเมืองอื่นๆ ถือว่า ผู้ซึ่งยืนเป็นอันคำนับผู้ซึ่งนั่ง ถ้าผู้มีบรรดาศักดิ์นั่งอยู่ ผู้มีบรรดาศักดิ์น้อยต้องยืนอยู่ ต่อผู้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่บังคับยอมให้นั่งลง จึงนั่งลงได้ ถ้าผู้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่ยืนขึ้นแล้ว ผู้มีบรรดาศักดิ์น้อยนั่งอยู่ไม่ได้เลย ต้องยืนขึ้น ไม่ต้องบังคับว่าให้ยืนเลย ถึงในวินัยบัญญัติในพระพุทธศาสนาก็มีบังคับว่า เมื่อผู้จะสำแดงธรรม จะยืนสำแดงธรรมให้คนที่นั่งอยู่มิได้ป่วยไข้ไม่ได้ ต้องให้คนฟังยืนขึ้นฟังธรรม

แต่ในเมืองไทย เมืองเขมร เมืองลาว เหล่านี้ ถือกิริยาคนสูงศักดิ์ไว้ให้สูง คนต่ำบรรดาศักดิ์ต้องไว้กิริยา ต่ำแก่ผู้มีบรรดาศักดิ์สูง ถ้าผู้บรรดาศักดิ์ยืน ก็ต้องนั่ง ถ้านั่ง ก็ต้องหมอบคลาน การอย่างนี้ได้ยินว่าในลังกาเก่าแลทมิฬก็ถือ เมื่อเจ้าแผ่นดินเสด็จออกไปที่ใดๆ นอกเมืองนอกวัง ราษฎรที่พบเสด็จ ต้องพังพาบ ก้มศีรษะราบกับแผ่นดิน เงยหน้าขึ้นไม่ได้ เป็นแต่พนมมือ ยกขึ้นไว้บนศีรษะ กว่าเจ้าแผ่นดินจะเสด็จล่วงไป

ถ้าจะว่าถึงกิริยาต่างๆ ในการคำนับที่มีชื่อเรียกต่างๆ คือ กราบพังพาบทั้งตัวดังว่านั้น เรียกว่า กราบสุงสุมารนิบาต แปลว่าล้มลงเป็นจรเข้ แล เบญจางคประดิษฐ์ กราบวางองค์ห้าลง ทั้งมือสอง เท้าสอง ศีรษะหนึ่ง แล กราบสามลาแลกุย อย่างญวนแลจีน คุกเข่าคำนับอย่างชาวยุโรป แลอื่นๆ แล้วก็มากมายหลายอย่าง

ที่นี้จะว่าการตามที่ว่าไว้ในหนังสือที่มีในพระพุทธศาสนา ในพระบาลี มีอยู่ ๔ อย่างตามชื่อ คือ อภิวาท ๑ วันทนาการ ๑ นิปัจจนาการ ๑ อัญชลีกรรม ๑ เป็นสำแดงกิริยาคำนับต่อหน้าผู้มีตัวประจักษ์เฉพาะ ยังอีก ๒ อย่างคือ นมการ ๑ นมัสการ ๑ สองอย่างนี้ว่าด้วยการนับถือเป็นพระที่ยิ่ง แลแสดงความน้อมไปแด่พระนั้นด้วยไตรทวาร คือ กาย วาจา จิต จะหาที่ชี้อุทาหรณ์เยี่ยงอย่างของคำที่สำแดงชื่อ ๖ อย่าง คือ อภิวาท วันทนาการ นิปัจจนาการ อัญชลีกรรม แล นมการ นมัสการ นั้น ก็ได้เห็นอยู่ชุกชุม คือ

“ภควนฺตํ อภิวาทเทตวา” ในที่นั้นๆ แล “อภิวาทนสีลิสฺส” ที่เป็นคาถาแลอื่นๆ เป็นอุทาหรณ์ของอภิวาท

“ภควโต ปาเท สิรสา วนฺทาหิ” ฤา “วนฺทติ” ในพระวินัยเรียกชื่อ “อวนฺทิโย ปุคฺคโล วนฺทิโย ปุคฺคโล” แลอื่นๆ เป็นอุทาหรณ์ของวันทนาการ

ในพระบาลีว่า “ภควโต ปาเทสุ สิรสา นิปติตฺวา” แล “นิปฺปการํ กโรมิ” เป็นอุทาหรณ์ของนิปัจจนาการ

“เยน ภควา เตนญฺชลิมฺปณาเมตฺวา” ฤา “อญฺชลิมฺปคยฺห” ฤา “อญฺชลิโก อฏฐาสิ” แลในบทสวดมนต์ว่า “อญฺชลีกรณีโย” เหล่านี้เป็นอุทาหรณ์ของอัญชลีกรรม

“นโม ตสฺส ภควโต นมตฺถุ นโม เต ปุริสาชญฺญ” แลอื่นๆ เป็นอุทาหรณ์ของนมการ

“นมสฺสนฺติ โคตมํ นมสฺสมาโน สมฺพุทธํ” แลอื่นๆ เป็นอุทาหรณ์ของนมัสการ

ก็ในชื่ออาการ ๖ อย่างที่มาในบาลีนี้ คนทำอย่างไร จะเรียกว่าชื่อไร ก็ไม่ได้ความชัด

อภิวาท นั้นเห็นที่มาเป็นกิริยาที่เขาใช้ต่อหน้า แลทำกับผู้สูงศักดิ์ คือพระพุทธเจ้า แลพระสาวกผู้ใหญ่ แลพระเจ้าแผ่นดิน แลมหาพราหมณ์ มีคำอรรถกถาบางอันแก้ว่า “อภิวาเทตฺวา สุขี โหหีติ วทาเปตฺวา” ก็มีบ้าง แต่ที่แก้ว่า อภิวาทนั้น ก็คือ วันทนกิริยานั้นเอง โดยมาก ถึงกระนั้น เห็นที่มาในบาลี อภิวาทดูทีเป็นการอย่างสูงแลการต่อหน้า วันทนาการเป็นการต่ำลงมา แลมักมีในคำสั่งฝากไหว้คำนับไปอภิวาท แลสงฆ์แลคณะก็ไม่ใคร่จะมี มีแต่วันทนาการ แลอัญชลีกรรม จะชักอุทาหรณ์มาว่าให้เห็นได้ แต่จะเพ้อมากนักไป อัญชลีนั้น อรรถกถาแก้ว่า “ทสนขสโมธานํ”.....(หมาย เหตุผู้เขียน : ต้นฉบับพระราชนิพนธ์นี้ ผู้เขียนได้รับมา เพียงเท่านี้ จึงนำลงเท่าที่มีอยู่ ข้อมูลจึงยังไม่สมบูรณ์)

เพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจในเรื่องพระรัตนตรัยอันเป็นธรรมอรรถรสแห่งพระราชนิพนธ์บทนี้ ขอนำอรรถาธิบายเรื่องพระรัตนตรัย ในบทพระนิพนธ์เรื่อง “พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอะไร” ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (สุวฑฺฒนมหาเถร) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ ‘พระสาสนโสภณ’ ที่ทรงเรียบเรียงตาม คำอาราธนาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครั้งดำรงพระยศที่ สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ดังนี้

“เมื่อก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ได้มีมหาบุรุษท่านหนึ่งเกิดขึ้นมาในโลก เป็นโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางสิริมหามายา แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ สักกชนบท ซึ่งบัดนี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล มีพระนามว่า “สิทธัตถะ” ต่อมาอีก ๓๕ ปี พระสิทธัตถะได้ตรัสรู้ธรรม ได้พระนามตามความตรัสรู้ว่า “พุทธะ” ซึ่งไทย เรียกว่า “พระพุทธเจ้า” พระองค์ได้ทรงประกาศพระธรรมที่ได้ตรัสรู้แก่ประชาชนจึงเกิดพระพุทธศาสนา (คำสั่งสอนของพระพุทธะ) และบริษัท ๔ คือ ภิกษุ (สามเณร) ภิกษุณี (สามเณรี) อุบาสก อุบาสิกาขึ้นในโลกจำเดิมแต่นั้น บัดนี้ ในเมืองไทยมีแต่ภิกษุ (สามเณร) อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุนั้น คือชายผู้มีอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปี หรือแม้อายุเกิน ๒๐ ปี แล้วเข้ามาถือบวช ปฏิบัติสิกขาของสามเณร อุบาสก อุบาสิกานั้นคือ คฤหัสถ์ชายหญิงผู้นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ (ที่พึ่ง) และปฏิบัติอยู่ในศีลสำหรับคฤหัสถ์ บัดนี้ มีคำเรียกชายหญิงทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ผู้ประกาศตนเป็นสรณะว่า “พุทธมามกะ” “พุทธมามิกะ” แปลว่า “ผู้นับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นพระของตน” พระพุทธศาสนาได้แผ่ออกจากประเทศถิ่นที่เกิดไปในประเทศต่างๆ ในโลก

หลักเคารพสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือ พระรัตนตรัย (รัตนะ ๓) ได้แก่ พระพุทธเจ้า คือ พระผู้ตรัสรู้พระธรรม แล้วทรงประกาศสั่งสอนตั้งพระพุทธศาสนาขึ้น พระธรรม คือ สัจธรรม (ธรรม คือ ความจริง) ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และได้ทรงประกาศสั่งสอนเป็นพระศาสนาขึ้น พระสงฆ์ คือ หมู่ชนผู้ได้ฟังคำสั่งสอน ได้ปฏิบัติและได้รู้ตามพระพุทธเจ้า บางพวกออกบวชตาม ได้ช่วยนำพระพุทธศาสนาและสืบต่อวงศ์ การบวชมาจนถึงปัจจุบันนี้

ทุกคนผู้เข้ามานับถือพระพุทธศาสนา จะเป็นคฤหัสถ์ก็ตาม จะถือบวชก็ตาม ต้องทำกิจเบื้องต้น คือ ปฏิญาณตนถึงพระรัตนตรัยนี้เป็นสรณะ คือ ที่พึ่ง หรือดังที่เรียกว่านับถือเป็นพระของตน เทียบกับทางสกุล คือ นับถือพระพุทธเจ้าเป็นพระบิดา ผู้ให้กำเนิดชีวิตในทางจิตใจของตน พุทธศาสนิกชนย่อมสังคมกับผู้นับถือศาสนาอื่นได้ และย่อมแสดงความเคารพสิ่งเคารพในศาสนาอื่นได้ตามมรรยาทที่เหมาะสม เช่นเดียวกับแสดงความเคารพบิดาหรือมารดา หรือผู้ใหญ่ ของคนอื่นได้ แต่ก็คงมีบิดาของตน ฉะนั้น จึงไม่ขาด จากความเป็นพุทธศาสนิกชนตลอดเวลาที่นับถือพระรัตนตรัยเป็นของตน เช่นเดียวกับเมื่อยังไม่ตัดบิดาของตนไปรับบิดาของเขามาเป็นบิดา ก็คงเป็นบุตรธิดาของบิดาตนอยู่ หรือเมื่อยังไม่แปลงสัญชาติเป็นอื่น ก็คงเป็นไทยอยู่นั่นเอง ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงไม่คับแคบ ผู้นับถือย่อมสังคมกับชาวโลกต่างชาติต่างศาสนาได้สะดวก ทั้งไม่สอนให้ลบหลู่ใคร ตรงกันข้ามกลับให้ความเคารพต่อผู้ควรเคารพทั้งปวง และไม่ซ่อน เร้นหวงกันธรรมไว้โดยเฉพาะ ใครจะมาศึกษาปฏิบัติก็ได้ทั้งนั้น โดยไม่ต้องมานับถือก่อน ทั้งนี้ เพราะแสดงธรรมที่เปิดทางให้พิสูจน์ได้ว่า เป็นสัจจะ (ความจริง) ที่เป็นประโยชน์สุขแก่การดำรงชีวิตในปัจจุบัน......”

พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฎ์ (เทสก์ เทสฺรํสี) ได้พรรณนาคุณพระรัตนตรัย ไว้ในหนังสือ ‘สิ้นโลก เหลือธรรม’ (นัยที่สอง) ความว่า

“พระพุทธองค์ทรงแสดงเรื่องคุณของพระรัตนตรัย ดังจะอธิบายพอสังเขป พระรัตนตรัยมีคุณอเนกเหลือที่จะคณานับ ทรงสอนให้มนุษย์เอาใจยึดไว้ในคุณพระรัตนตรัย ดังนี้

อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ด้วยประการอย่างนี้ๆ ทรงเป็นผู้แจกธรรมด้วยความรู้ที่เป็นพระอรหันต์ และตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง คำว่า “ตรัสรู้เองโดยชอบ” นั้น หมายความว่า ชอบด้วยเหตุผลและศีลธรรม อันเป็นเหตุให้นำผู้ปฏิบัติตาม ที่พระองค์สอนไว้นั้น เข้าถึงสวรรค์ พระนิพพาน เหลือที่จะคณานับ จึงกล่าวว่าผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ

ภควา ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแจกไว้นั้น มีมากมายหลายประการ นับไม่ถ้วน แต่พอจะประมวลมาแจกแจงแสดงให้เห็นได้ตามหลักพระพุทธศาสนา

สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว คำว่า “ดี” ในที่นี้ หมายความว่าดีเลิศประเสริฐสุดที่มนุษย์จะสามารถทำได้ ดีด้วยเหตุ ด้วยผล อันมนุษย์ปุถุชนสามารถฟังได้ เข้าใจได้ ตามความเป็นจริง แล้วสามารถนำมาปฏิบัติให้สมควรแก่อัธยาศัย ซึ่งเป็นไปในทางสวรรค์และพระนิพพาน พระองค์ทรงแสดงธรรมโดยอรรถและพยัญชนะครบครันบริบูรณ์ นักปราชญ์ทั้งหลายในโลกไม่สามารถจะคัดค้านได้ว่าเป็นของไม่จริงไม่แท้ อรรถและพยัญชนะที่พระองค์ทรงแสดงสอนไว้แล้วนั้นคือธรรม ที่แปลว่า ของจริงของแท้

ทำ คือการกระทำกิจธุระภาระทั้งหมด ที่โลกพากันกระทำอยู่นั้น
ธรรมเนียม คือประเพณีอันดีงาม ที่โลกถือปฏิบัติมาโดยลำดับ
ธรรมดา คือคำสอนที่พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้วนั่นเอง
ธรรม แปลว่าธรรมชาติซึ่งเกิดเองแล้วก็ย่อมต้องดับไปเป็นธรรมดา

สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ หมู่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตามคำสอนของพระองค์ ที่เรียกว่า ปาริสุทธิศีล ๔ เป็นต้น มีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามศีลสิกขาบทนั้นๆ ให้สมบูรณ์บริบูรณ์ คือ

๑. ปาฏิโมกขสังวรศีล สำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นจากข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม กระทำตามข้อที่พระองค์ทรงอนุญาต

๒. อินทรียสังวรศีล สำรวมอินทรีย์ ๖ มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

๓. อาชีวปาริสุทธิศีล เลี้ยงชีวิตโดยทางที่ชอบประกอบแต่กรรมที่เป็นกุศล งดเว้นจากกรรมที่ไม่ดีทั้งปวง

๔. ปัจจัยสันนิสิตศีล พิจารณาเสียก่อน จึงบริโภค

อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ หมู่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติตรง ต่อความบริสุทธิ์ คือพระนิพพาน

ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ หมู่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติธรรม เพื่อขัดเกลากิเลส อันเป็นเหตุให้บริสุทธิ์ สิ้นภพ สิ้นชาติ

สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ หมู่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติเป็นใหญ่ เป็นเจ้าของแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้า อุปมาเปรียบเหมือนบุคคลได้สมบัติอันล้ำค่ามาแล้ว มีสิทธิ์ที่จะปกป้องรักษาสมบัตินั้นไว้ด้วยตนเอง ใครจะมาประมาทดูหมิ่นดูถูกไม่ได้ จะต้องสกัดกั้นด้วยปัญญาและวาทะอันเฉียบแหลม เพื่อให้ผู้นั้นกลับใจมาเป็นพวกพ้องของตน


>>>>> มีต่อ
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
ทศพล
บัวเริ่มพ้นน้ำ
บัวเริ่มพ้นน้ำ


เข้าร่วม: 10 ก.พ. 2008
ตอบ: 153
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 02 พ.ค.2008, 6:42 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เพิ่งเคยรู้ครั้งแรกนะครับเนี่ย แลบลิ้น

สาธุๆๆๆ สาธุ
 

_________________
"ธรรมทาน คือ ทานอันสูงสุด"
"ผู้ที่ฝึกจิต ย่อมนำความสุขมาให้"

http://www.wimutti.net
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
ทศพล
บัวเริ่มพ้นน้ำ
บัวเริ่มพ้นน้ำ


เข้าร่วม: 10 ก.พ. 2008
ตอบ: 153
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 02 พ.ค.2008, 6:43 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พี่สาครับ

พี่รู้ไหมคำว่าสาธุมีที่มายังไงครับ สู้ สู้
 

_________________
"ธรรมทาน คือ ทานอันสูงสุด"
"ผู้ที่ฝึกจิต ย่อมนำความสุขมาให้"

http://www.wimutti.net
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 05 ก.ค.2008, 7:38 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๓๐)


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (สุวฑฺฒนมหาเถร) ทรงอธิบายถึงความเคารพ ในพระธรรมเทศนาสังฆานุสสติกถา ตอนอัญชลิกรณีโย ภควโต สาวกสังโฆ ความว่า

“...อันการแสดงความเคารพนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้มีความเคารพในพระศาสดา พระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ อันเป็นรัตนะทั้ง ๓ รัตนะทั้ง ๓ นี้ เป็นที่ตั้งแห่งความเคารพ และความเคารพนั้นก็ได้แก่การอภิวาทกราบไหว้ อภิวาทกราบไหว้อย่างเดียวบ้าง อภิวาทกราบไหว้พร้อมกับเปล่งวาจาสรรเสริญพระคุณบ้าง การลุกขึ้นยืนรับ การกระทำอัญชลีคือพนมมือไหว้ การแสดงความนอบน้อมอย่างอื่นต่างๆ การกระทำสามีจิกรรม อันหมายความว่าการกระทำที่เหมาะสมอันแสดงถึงว่ามีความเคารพ เพราะฉะนั้น การแสดงความเคารพนั้นจึงมีวิธีทำต่างๆ ที่แสดงออกทางกาย ทางวาจา และด้วยใจที่มีความเคารพนับถืออย่างแท้จริง...”

พระพุทธเจ้าทรงแสดงความเคารพพระธรรม ให้ปรากฏเป็นหลักฐานแก่พุทธบริษัทผู้เกิดในภายหลัง คือคนในรุ่นปัจจุบันได้ประจักษ์เป็นพยาน ดังความที่แสดงใน พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ สัมโพธวรรคที่ ๑ สูตรที่ ๔ นันทกสูตร ว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระนันทกะชี้แจงภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญร่าเริงด้วยธรรมีกถา ในอุปัฏฐานศาลา (หอฉัน)

ครั้งนั้น เป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลา ประทับยืนรอจนจบกถาอยู่ ณ ซุ้มประตูด้านนอก ครั้นทรงทราบว่ากถาจบแล้ว ทรงกระแอมและ เคาะที่ลิ่มประตู ภิกษุเหล่านั้นเปิดประตูให้พระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลาประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ แล้วตรัสกะท่านพระนันทกะว่า ดูกรนันทกะ ธรรมบรรยายของเธอนี่ยาวมาก แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ เรายืนรอฟังจนจบกถาอยู่ที่ซุ้มประตูด้านนอก ย่อมเมื่อยหลังฯ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระนันทกะรู้สึกเสียใจ สะดุ้งกลัว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ทราบเกล้าเลยว่า พระผู้มีพระภาคประทับยืนอยู่ที่ซุ้มประตูด้านนอก ถ้าข้าพระองค์พึงทราบเกล้าว่า พระผู้มีพระภาคประทับยืนอยู่ที่ซุ้มประตูด้านนอกแล้ว แม้คำประมาณเท่านี้ ก็ไม่พึงแจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์เลย

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าพระนันทกะเสียใจ จึงตรัสกะพระนันทกะว่า ดีแล้วๆ นันทกะ ข้อที่เธอทั้งหลายพึงสนทนาด้วยธรรมีกถานี้ สมควรแก่เธอทั้งหลายผู้เป็นกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา เธอทั้งหลายผู้ประชุมกันพึงทำกิจ ๒ อย่างคือ ธรรมีกถาหรือดุษณีภาพของพระอริยะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา แต่ไม่มีศีล ไม่ได้เจโตสมาธิในภายใน ยังไม่ได้การเห็นแจ้งซึ่งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง อย่างนี้เธอชื่อว่ายังไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น เปรียบเหมือนสัตว์ ๒ เท้าหรือ ๔ เท้า แต่เท้าข้างหนึ่งของมันเสียพิการไป อย่างนี้มันชื่อว่า เป็นผู้ไม่บริบูรณ์ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เธอพึงบำเพ็ญธรรมนั้นให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่าอย่างไรหนอ เราจึงเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล ได้เจโตสมาธิในภายใน และได้การเห็นแจ้งซึ่งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง เมื่อใดแล ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล ได้เจโตสมาธิในภายใน และได้การเห็นแจ้งซึ่งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง เมื่อนั้น เธอชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น

พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้วเสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปยังพระวิหารฯ

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน พระนันทกะกล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงด้วยองค์ ๔ แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปยังพระวิหาร ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการใดๆ ย่อมมีอานิสงส์ในการฟังธรรมตามกาล ในการสนทนาธรรมตามกาล ๕ ประการ คือ

๑. เธอย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของพระศาสดานั้นๆ เป็นที่เคารพสรรเสริญ

๒. เธอย่อมซาบซึ้งอรรถ และซาบซึ้งธรรมในธรรมนั้น

๓. เธอย่อมแทงตลอดบทแห่งอรรถอันลึกซึ้งในธรรมนั้น เห็นด้วยปัญญา

๔. เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญยิ่งขึ้นไปว่าท่านผู้นี้บรรลุแล้วหรือกำลังบรรลุเป็นแน่

๕. ในภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่าใดเป็นพระเสขะ ยังไม่บรรลุอรหัต ปรารถนาธรรมอันเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่ ภิกษุเหล่านั้นฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ส่วนภิกษุเหล่าใดเป็นพระอรหันตขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ของตนแล้ว มีกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพสิ้นสุดแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุเหล่านั้นฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมประกอบธรรม เครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน

เมื่ออ่านความในนันทกสูตรจบแล้ว คงมีความสงสัยอยู่ว่าตอนไหนที่แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงความเคารพในพระธรรม ความสงสัยนี้ได้เคยมีแล้วแต่ครั้งอดีต พระอรรถกถาจารย์ได้ค้นคว้าสืบถามบันทึกเป็นอรรถกาแก้ความสงสัยปัญหาในนันทกสูตรไว้ดังนี้

บทว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลา มีพรรณนาในอรรถกถาเพิ่มเติมว่า พระศาสดาสดับเสียงการแสดงธรรมอันพระนันทกเถระเริ่มแล้วด้วยเสียงอันไพเราะ จึงตรัสถามว่า อานนท์ นั่นใครแสดงธรรมด้วยถ้อยคำอันไพเราะ ในอุปัฏฐานศาลา พระอานนท์ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้เป็นวาระของพวกนันทกเถระผู้เป็นธรรมกถึก ทรงตรัสว่า อานนท์ ภิกษุนั่นแสดงธรรมไพเราะยิ่งนัก แม้เราจักไปฟังดังนี้ จึงเสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลา

บทว่า ประทับยืนรอ จนจบกถาอยู่ ณ ซุ้มประตูด้านนอก มีพรรณนาในอรรถกถาเพิ่มเติมว่า ทรงปิดบังฉัพพัณณรังสีไว้ในกลีบจีวร แล้วประทับยืนด้วยเพศที่ใครไม่รู้จักท่านพระอานนท์ได้ทูลถวายสัญญาแต่พระศาสดาเมื่อเลยปฐมยามไปแล้วว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปฐมยามล่วงไปแล้ว พระองค์ทรงพักผ่อนสักหน่อยเถิด พระศาสดาก็คงประทับยืนอยู่ ณ ที่นั้นนั่นแล ครั้นเมื่อเลยมัชฌิมยามไปแล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงเป็นขัตติยะสุขุมาลชาติโดยปกติ ทรงเป็นพุทธสุขุมาลชาติ ทรงเป็นสุขุมาลชาติอย่างยิ่ง แม้มัชฌิมยามก็ล่วงไปแล้ว ขอจงทรงพักผ่อนสักครู่เถิด พระศาสดาก็คงประทับยืนอยู่ ณ ที่นั้นนั่นเอง รุ่งอรุณปรากฏแล้วแก่พระศาสดา ผู้ทรงประทับยืนอยู่นั่นแล ประทับยืนฟังธรรมกถาอยู่ถึงกถาสุดท้ายว่า “อิทมโวจ” อรุณขึ้นก็ดี การจบกถาถึงบทว่า “อิทมโวจ” ของพระกถาก็ดี การเปล่งฉัพพรรณรังสีของพระทศพลก็ดี ได้มีคราวเดียวกันนั่นเอง

บทว่า ทรงเคาะที่ลิ่มประตู พรรณนาอธิบายว่า ทรงเอาปลายพระนขา (เล็บ) เคาะบาน ประตู

บทว่า ดีแล้วๆ นันทกะ พรรณนาอธิบายว่า ทรงร่าเริงกับการแสดงธรรมของพระเถระ จึงได้ตรัสเช่นนี้ มีความหมายว่า ธรรมเทศนา ท่านถือเอาความได้ดี และแสดงได้ดีแล้ว ดังนี้

เมื่ออ่านนันทกสูตร พร้อมอรรถกถา จะพบว่า แม้พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระศาสดา เป็นครูของพระนันทกะผู้แสดงธรรม พระพุทธองค์ทรงทำสามีจิกรรมต่อพระธรรมที่พระนันทกะกำลังแสดงอยู่ ด้วยทรงประทับยืนฟังความโดยตลอดจนสิ้นสุด พระองค์มิได้แสดง ความเป็นพระองค์เช่นฉัพพัณณรังสีให้ปรากฏ เพื่อเป็นการหยุดการแสดงธรรมของพระนันทกะ ระยะกาลเวลานั้น พระอรรถกถาจารย์ได้พรรณนาว่าเป็นไปตลอดราตรี เมื่อการแสดงธรรมจบลง พระพุทธองค์จึงทรงแสดงสัญญาณให้สงฆ์ ณ ที่นั้นทราบด้วยการทรงเคาะประตู แล้วเสด็จเข้าไปประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ นี่คือความเคารพในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้ปรากฏแก่เราทั้งหลายในบัดนี้

การที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงความเคารพในพระธรรมให้ปรากฏแก่พระสาวกเสมอ ความเคารพจึงเป็นธรรมปฏิบัติของพระสาวกสืบมา พระสาวกพึงมีความเคารพในสิ่งใดบ้าง มีปรากฏอยู่ในธรรมปริวิตกของพระสารีบุตร ที่แสดงอยู่ใน พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต มหาวรรคที่ ๒ สักกัจจสูตร ความว่า

“ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรหลีกออกเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดความปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่า ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยอะไรอยู่หนอ จะพึงละอกุศล เจริญกุศล? ลำดับนั้น ท่านคิด เห็นดังนี้ว่าภิกษุสักการะ เคารพ อาศัย พระศาสดา ธรรม สงฆ์ สิกขา สมาธิ ความไม่ประมาท ปฏิสันถาร อยู่แล จะพึงละอกุศล เจริญกุศล ท่านคิดเห็นอีกว่าธรรมเหล่านี้ของ เราบริสุทธิ์ผุดผ่อง ผิฉะนั้น เราพึงไปกราบทูลธรรมเหล่านี้แด่พระผู้มีพระภาค ธรรมเหล่านี้ของเราจักบริสุทธิ์และจักนับว่าบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ด้วยอาการอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลได้ทองคำอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า ทองคำแท่งของเรานี้ บริสุทธิ์ผุดผ่องผิฉะนั้น เราพึงนำเอาทองคำแท่งนี้ไปแสดงแก่นายช่างทอง ทองคำแท่งของเรานี้ ไปถึงนายช่างทองเข้าจักบริสุทธิ์และจักนับว่าบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ด้วยอาการอย่างนี้ ฉะนั้นฯ

ในเย็นวันนั้น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่เร้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระองค์หลีกออกเร้นอยู่ในที่ลับเกิดความปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่าภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยอะไรอยู่หนอ จะพึงละอกุศล เจริญกุศล ลำดับนั้น ข้าพระองค์ได้คิดเห็นดังนี้ว่า ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยพระศาสดา ธรรม สงฆ์ สิกขา สมาธิ ความไม่ประมาท ปฏิสันถาร อยู่แล จะพึงละอกุศล เจริญกุศลฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร ดีละ ดีละ ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยพระศาสดา ธรรม สงฆ์ สิกขา สมาธิ ความไม่ประมาท ปฏิสันถาร อยู่แล จะพึงละอกุศล เจริญกุศลฯ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยย่อนี้ โดยพิสดารอย่างนี้ว่า ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา จักเคารพในธรรม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา ชื่อว่าไม่เคารพในธรรมด้วย ฯลฯ ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ ในความไม่ประมาท ชื่อว่าไม่เคารพใน ปฏิสันถารด้วย

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุเคารพในพระศาสดา จักไม่เคารพในธรรม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุเคารพในพระศาสดา ชื่อว่าเคารพในธรรมด้วย ฯลฯ ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ ในความไม่ประมาท จักไม่เคารพในปฏิสันถาร ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ ในความไม่ประมาท ชื่อว่าเคารพในปฏิสันถารด้วย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว โดยย่อนี้ โดยพิสดารอย่างนี้ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร ดีละ ดีละ สารีบุตร เธอรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งคำที่เรากล่าวแล้วโดยย่อนี้ โดยพิสดารอย่างนี้ ดีแล้ว ดูกรสารีบุตร ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา จักเคารพในธรรม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา ชื่อว่าไม่เคารพในธรรมด้วย ฯลฯ ภิกษุไม่เคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ ในความไม่ประมาท จักเคารพในปฏิสันถาร ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุไม่ เคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ ในความไม่ประมาท ชื่อว่าไม่เคารพในปฏิสันถารด้วยฯ

ดูกรสารีบุตร ภิกษุเคารพในพระศาสดา จักไม่เคารพในธรรม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุเคารพในพระศาสดา ชื่อว่าเคารพในธรรมด้วย ฯลฯ ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ ในความไม่ประมาท จักไม่เคารพในปฏิสันถาร ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ ในความไม่ประมาท ชื่อว่าเคารพในปฏิสันถารด้วย ดูกรสารีบุตร เธอพึงเห็นเนื้อความแห่งคำที่เรากล่าวแล้วโดยย่อนี้ โดยพิสดารอย่างนี้แลฯ”

สักกัจจสูตร แสดงให้ทราบถึงจริยาวัตรปฏิบัติของพระมหาเถระครั้งพุทธกาลว่า เมื่อว่างจากภารกิจในความรับผิดชอบ ท่านจะปลีกตนเองออกไปแสวงหาที่สงบสงัดจากผู้คน เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมส่วนตน ทำเวลานั้นให้เป็นประโยชน์แก่ตนและหมู่คณะ แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็ทรงปฏิบัติเช่นนี้ ดังที่แสดงไว้ในอุรุเวลสูตร

ความปริวิตกแห่งใจของพระพุทธเจ้าคือบุคคลผู้ไม่มีที่เคารพไม่มีที่ยำเกรง ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เราจะพึงสักการะเคารพสมณะหรือพราหมณ์คนไหนหนอแล แล้วอาศัยอยู่? แต่ปริวิตกแห่งใจของพระสารีบุตรคือ ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยอะไรอยู่หนอ จะพึงละอกุศล เจริญกุศล? ในปริวิตกทั้ง ๒ นี้ ล้วนมีเหตุมาจากความเคารพเหมือนกัน

คำตอบแห่งปริวิตกของพระพุทธเจ้าคือ เราพึงสักการะเคารพธรรมที่เราตรัสรู้นั้น คำตอบแห่งปริวิตกของพระสารีบุตรคือภิกษุสักการะ เคารพ อาศัย พระศาสดา ธรรม สงฆ์ สิกขา สมาธิ ความไม่ประมาท ปฏิสันถาร อยู่แล จะพึงละอกุศล เจริญกุศล คำตอบของพระสารีบุตรนี้ เป็นธรรมอันเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ ๗ ประการ ที่เทวดา มาทูลถวายแด่พระพุทธเจ้า ดังคาถาใน พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต เทวตาวรรคที่ ๔ สูตรที่ ๑ อัปปมาทสูตร ความว่า

ภิกษุผู้มีความเคารพในพระศาสดา มีความเคารพในธรรม มีความเคารพอย่างแรงกล้าในสงฆ์ มีความเคารพในสมาธิ มีความเพียร มีความเคารพอย่างแรงกล้าในสิกขา มีความเคารพในความไม่ประมาท มีความเคารพในปฏิสันถาร เป็นผู้ไม่ควรเพื่อความเสื่อม ย่อมมีในที่ใกล้นิพพานทีเดียวฯ


>>>>> มีต่อ
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง