Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 22 พ.ค.2007, 5:47 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ประวัติและปฏิปทา
พระครูศาสนูปกรณ์ (หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล)

พระอริยเจ้าผู้งามดั่งดอกบัว

วัดป่าสันติกาวาส
ต.ไชยวาน อ.ไชยวาน จ.อุดรธานี


• คำนำของผู้เขียนประวัติ
• ชาติกำเนิด
• ชีวิตเมื่อยังเยาว์
• ชีวิตนี้ไม่แน่นอนต้องจรจากไป
• การปฏิบัติไม่เป็นไปตามหนทางแห่งอริยมรรค
• ตนแลเป็นที่พึ่งของตน
• อาพาธครั้งที่ 1
• ความไม่เที่ยงย่อมแปรปรวน
• ความโลภเป็นอันตรายต่อความเป็นธรรม
• ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท

• บรรพชาเป็นสามเณรครั้งที่ 2
• เดินทางมุ่งหน้าเพื่อนมัสการพระธาตุพนม
• พบพระอาจารย์กงแก้ว ขนฺติโก
• เดินธุดงค์ต่อไปทางจังหวัดนครพนม
• พบพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
• มุ่งหน้าสู่เขาพระวิหาร
• เร่งความเพียร
• เดินทางเข้าจังหวัดร้อยเอ็ดเพื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุ
• อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุตตามที่ได้ตั้งใจไว้

• พรรษาที่ 1 พ.ศ. 2479 จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด
• พรรษาที่ 2 พ.ศ. 2480 จำพรรษาที่วัดป่าบ้านวังถ้ำ จ.อุบลราชธานี
• พรรษาที่ 3-5 พ.ศ. 2481-2483 จำพรรษาที่วัดป่าสามัคคีธรรม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์
• พรรษาที่ 6 พ.ศ. 2484 จำพรรษาที่วัดป่าบ้านโนนแท้ อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ
• พรรษาที่ 7 พ.ศ. 2485 จำพรรษาที่วัดประชาบำรุง (วัดป่าพูนไพบูลย์) อ.เมือง จ.มหาสารคาม

• พรรษาที่ 8 พ.ศ. 2486 จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด
• พรรษาที่ 9 พ.ศ. 2487 จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด
• พรรษาที่ 10 พ.ศ. 2488 จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด
• พรรษาที่ 11 พ.ศ. 2489 จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด
• พรรษาที่ 12 พ.ศ. 2490 จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด
• พรรษาที่ 13 พ.ศ. 2491 จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด เป็นปีสุดท้าย
• พรรษาที่ 14 พ.ศ. 2492 จำพรรษาที่สำนักป่าหนองเม้า บ้านจำปา อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

• มูลเหตุที่ได้มาสร้างวัดป่าสันติกาวาส
• สร้างวัดป่าสันติกาวาสในครั้งแรก
• ที่ดินตั้งวัด
• สร้างเสนาสนะในปีแรก
• ชื่อวัดในครั้งแรก
• หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ร่วมสร้างวัดด้วย

• พรรษาที่ 15 พ.ศ. 2493 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
บ้านหนองตูม ต.ไชยวาน อ.หนองหาน จ.อุดรธานี
• พรรษาที่ 16 พ.ศ. 2494 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2495 พรรษาที่ 17 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2496-2497 พรรษาที่ 18-19 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2498 พรรษาที่ 20 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2499 พรรษาที่ 21 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2500 พรรษาที่ 22 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2501-2502 พรรษาที่ 23-24 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2503 พรรษาที่ 25 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส

• พ.ศ. 2504 พรรษาที่ 26 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2505 พรรษาที่ 27 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2506 พรรษาที่ 28 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2507-2508 พรรษาที่ 29-30 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2509 พรรษาที่ 31 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2510 พรรษาที่ 32 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2511 พรรษาที่ 33 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2512-2513 พรรษาที่ 34-35 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2514 พรรษาที่ 36 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2515 พรรษาที่ 37 จำพรรษาที่ตึกมหิดลวรานุสรณ์
ชั้น 2 ห้อง 16 โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ

• พ.ศ. 2516 พรรษาที่ 38 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2517-2518 พรรษาที่ 39-40 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2519 พรรษาที่ 41 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2520 พรรษาที่ 42 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2521-2522 พรรษาที่ 43-44 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2523 พรรษาที่ 45 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2524 พรรษาที่ 46 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2525 พรรษาที่ 47 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส อาพาธครั้งที่ 6 ด้วยโรคทางปอด
• พ.ศ. 2526 พรรษาที่ 48 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส

• พ.ศ. 2527 พรรษาที่ 49 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2528 พรรษาที่ 50 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2529 พรรษาที่ 51 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2530-2531 พรรษาที่ 52-53 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2532 พรรษาที่ 54 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส อาพาธครั้งที่ 8 พ.ศ. 2532
• พ.ศ. 2533 พรรษาที่ 55 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2534 พรรษาที่ 56 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2535 พรรษาที่ 57 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2536 พรรษาที่ 58 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2537 พรรษาที่ 59 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส อาพาธครั้งที่ 10 สุดท้ายแห่งสังขาร
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 22 พ.ค.2007, 10:46 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
พระอาจารย์สมหมาย อตฺตมโน ผู้เขียนประวัติของหลวงปู่บุญจันทร์ กมโล


คำนำของผู้เขียนประวัติ

ประวัติของหลวงปู่บุญจันทร์ กมโล ได้เริ่มเขียนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 โดยหลวงพ่อสุจินต์ จิตฺตปชฺโชโต ซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของหลวงปู่องค์หนึ่ง โดยมองเห็นการณ์ไกลว่า ปฏิปทาการดำเนินของครูบาอาจารย์ควรจะเป็นแบบอย่างของกุลบุตรสุดท้ายภายหลังที่สนใจในธรรม จะได้ยึดเป็นแนวทางปฏิบัติตาม ท่านจึงขอโอกาสต่อหลวงปู่ ขอให้เล่าเรื่องความเป็นมาในชีวิตให้ฟังในเวลามีโอกาสธาตุอำนวย แล้วก็เขียนบันทึกไว้ยังไม่ได้เท่าไร หลวงพ่อสุจินต์ท่านก็มาด่วนจากไปในปี พ.ศ. 2508

ผู้เขียนจึงได้เก็บส่วนที่หลวงพ่อสุจินต์ท่านเขียนแล้วมารักษาไว้ และตั้งใจจะเขียนต่อจากหลวงพ่อสุจินต์ จึงจดบันทึกต่อตามที่หลวงปู่เล่าให้ฟังในโอกาสต่างๆ บางครั้งเวลานวดเส้นถวายท่าน ท่านเล่าให้ฟังแล้วก็จดบันทึกไว้ บางครั้งท่านก็เทศน์อบรมพระเณร แล้วก็จดบันทึกไว้ การจะเขียนให้เสร็จเป็นเล่มสมบูรณ์นั้น ได้แต่คิดอยู่ในใจว่าไม่มีโอกาสพอจะทำให้เสร็จได้

จนเวลาล่วงเลยมาก่อนที่หลวงปู่จะละสังขาร 2 ปี ผู้เขียนได้นิมิตฝันว่าหลวงปู่บอกว่า “จะทำอะไรที่ทำยังไม่เสร็จนั้น ให้รีบๆ ทำให้เสร็จเสียนะ” พอรู้สึกตัวขึ้นก็นึกถึงเรื่องเขียนประวัติหลวงปู่ยังไม่เสร็จ จิตหนึ่งก็ประหวัดไปว่า “หรือหลวงปู่จะจากไปในไม่ช้า ท่านจึงเตือนให้รีบๆ ทำ” จากนั้นจึงได้ตั้งใจเขียนเพื่อให้เสร็จ แต่ก็ยังขาดการต่อเนื่อง เวลาผ่านไปจนในที่สุดหลวงปู่อาพาธลง ยิ่งไม่มีโอกาสเวลาที่จะเขียนเลย ได้แต่นึกในใจว่าความจริงใกล้เข้ามาทุกขณะแล้ว ประวัติหลวงปู่ยังไม่เสร็จ

สุดท้ายหลวงปู่ได้ละสังขารจากไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2538 เวลา 10.52 น. คณะศิษย์มีความประสงค์จะพิมพ์ประวัติหลวงปู่ให้ทันแจกในวันพระราชทานเพลิงศพของท่าน คือ วันที่ 8 กรกฎาคม 2538 ผู้เขียนไม่สามารถจะเขียนต่อให้จบได้ เพราะวุ่นอยู่กับการจัดเตรียมงานศพของหลวงปู่ ดังนั้น แพทย์หญิงวัฒนา สุขีไพศาลเริญ จึงรับภาระนำเอาต้นฉบับที่ผู้เขียนได้เขียนไว้แล้ว และเขียนรวบรวมส่วนที่ยังขาดอยู่อย่างรวบรัด เพื่อส่งโรงพิมพ์ให้พิมพ์ทันแจกในวันงานจำนวน 5,000 เล่ม เพราะฉะนั้น ข้อความบางเรื่องบางตอนอาจผิดพลาดได้

หลังจากพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่เสร็จสิ้นแล้ว ผู้เขียนจึงตั้งใจตะเกียกตะกายเขียนประวัติหลวงปู่อย่างละเอียดให้เสร็จสมบูรณ์ เพื่อน้อมถวายเป็นอาจาริยบูชา การเขียนนั้นได้อาศัยจากหลวงปู่เล่าให้ฟัง และได้รู้ได้เห็นด้วยตนเอง จากการที่ได้อยู่กับหลวงปู่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 จนถึงท่านละสังขารจากไป ตลอดถึงอาศัยครูบาอาจารย์ที่ท่านเคยอยู่กับหลวงปู่ และญาติโยมที่เคยปฏิบัติหลวงปู่เล่าให้ฟังด้วย

การเขียนนั้นได้ใช้ความระมัดระวัง อาศัยความเพียรเป็นที่ตั้ง ถึงอย่างนั้นอาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ผู้เขียนขอน้อมรับเอาความผิดพลาดนั้นเพียงผู้เดียว ส่วนที่เป็นบุญกุศลคุณประโยชน์ทั้งหลายนั้น ขออธิษฐานจิตอุทิศให้แก่ผู้มีพระคุณและสรรพสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ และขอน้อมถวายเป็นอาจาริยบูชาต่อหลวงปู่ผู้เป็นบิดาในทางธรรม ด้วยความเคารพรักและบูชาเทิดทูนไว้เหนือเกล้าตลอดกาล การเขียนประวัติหลวงปู่ในครั้งนี้กว่าจะสำเร็จได้ใช้เวลาเกือบ 2 ปี หากผิดพลาดประการใด ขอท่านผู้อ่านจงให้อภัยแก่ข้าผู้มีปัญญาน้อยด้วยเถิด

พระครูเมตตากิตติคุณ
(พระอาจารย์สมหมาย อตฺตมโน)
27 มีนาคม พ.ศ. 2540
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 22 พ.ค.2007, 10:52 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

๏ ชาติกำเนิด

เนื่องในวันมีโอกาสธาตุอำนวย คณะสานุศิษย์ได้อาราธนาให้หลวงปู่ท่านเทศน์ในเรื่องชีวประวัติความเป็นมาของท่าน ผู้เป็นบุพพาจารย์สำคัญองค์หนึ่ง และได้บันทึกตามคำเทศนาของท่านดังนี้

หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล เกิดเมื่อวันศุกร์ แรม 4 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง จุลศักราช 1278 ตรงกับวันที่ 15 เดือนกันยายน พุทธศักราช 2459 ที่บ้านคำพระ (กุดโอ) ตำบลคำไฮ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด บิดาชื่อ คำภา นามสกุล กัมปันโน มารดาชื่อ มุม มีพี่น้องร่วมท้องบิดามารดาด้วยกัน 5 คน คือ

1. นางดา นินทกาล
2. นายอ่อนสี นินทกาล
3. นายคำสิงห์ นินทกาล (หลวงปู่คำสิงห์ สุจิตฺโต)
4. นายบุญจันทร์ กัมปันโน (หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล)
5. นายมูล ทัพพิลา


๏ ชีวิตเมื่อยังเยาว์

หลวงปู่อายุได้ 7 ขวบ พ่อพาไปเลี้ยงช้าง ไปเลี้ยงด้วยกันทั้งหมดมีช้าง 4 เชือก (4 ตัว) คือ ตัวเมีย 2 ตัว ตัวผู้ 2 ตัว ตัวเมียชื่อ อีคำหมื่น อำคำแสน ตัวผู้ชื่อ บักกุ บักบุญชู บักบุญชูนี้เป็นของตัวเอง ส่วนอีก 3 ตัวนั้นเป็นของคนอื่น อยู่มาวันหนึ่ง เวลาจะนำช้างกลับบ้าน พ่อให้ขี่คอช้าง พอมาถึงลำห้วยมีน้ำลึกก็ขี่ช้างข้ามน้ำ พอช้างลงถึงน้ำ มันพามุดดำน้ำ หลวงปู่กลัวจะจมน้ำตายจึงร้องเรียกพ่อ พอช้างได้ยินเรียกพ่อมันจึงพาโผล่ขึ้น พอขึ้นพ้นลำห้วย ช้างมันเป็นอะไรไม่ทราบ มันพาสะบัดเกือบจะตกจากคอช้าง แต่อาศัยพ่อเคยสอนไว้จึงใช้ขาหนีบเข้ากับสายสนิงรัดคอช้าง จึงไม่ตก ถ้าตกลงก็คงตายแต่คราวนั้น บุญยังมีกรรมดียังรักษาอยู่จึงผ่านพ้นมา

พอพ่อเห็นอย่างนั้นจึงร้องตะโกนใส่ ช้างก็หยุดทำ พ่อจึงขึ้นนั่งบนคอช้าง ให้ลูกกอดเอวให้แน่นแล้วพ่อใช้ขอสับหัวช้างทั้งมีดแหลมแทงลงบนหัวช้าง ช้างเจ็บปวดจึงพาวิ่งพร้อมร้อง อู้กๆ ทั้งวิ่งทั้งร้อง ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร จึงถึงบ้าน พ่อจึงหยุด พอเห็นพ่อทำกับช้างอย่างนั้นก็เกิดความสงสาร แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร

เมื่ออายุได้ 8 ปีได้เข้าเรียนหนังสือ การเรียนก็อาศัยศาลาวัดบ้านคำพระ (ปัจจุบันชื่อวัดสว่างอารมณ์) เป็นที่เรียน พอถึงวันพระก็หยุดเรียน ขนเก้าอี้ลงจากศาลา ให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไปจำศีลภาวนา ใช้ศาลาในวันพระ พอพ้นวันพระแล้วก็เข้าเรียนต่ออีกทำอยู่อย่างนั้น เรียนจบแค่ชั้น ข. ก็หยุดเรียน หนีไปอยู่กับพี่ชายที่อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด (พี่และน้องของท่านนั้นร่วมมารดาเดียวกัน แต่คนละบิดา) จากนั้นก็ไม่ได้เรียนต่ออีก การเรียนจึงจบแค่ชั้น ข. สมัยนั้นเท่านั้น อยู่กับพี่ชายระยะหนึ่งจึงกลับมาอยู่กับแม่ที่บ้านคำพระ อำเภอพนมไพรอย่างเดิม


๏ ชีวิตนี้ไม่แน่นอนต้องจรจากไป

ต่อมาโยมพ่อได้หย่าจากโยมแม่ไป หลวงปู่จึงอยู่ในความดูแลของแม่และพี่ชายเท่านั้น ครั้นลุถึงปี พ.ศ. 2472 หลวงปู่อายุ 13 ปี มารดาจึงอพยพครอบครัวจากบ้านคำพระ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ไปอยู่บ้านบึงเป่ง ตำบลงูเหลือม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น การเดินทางสมัยนั้นใช้วัวเทียมเกวียน สำหรับบรรทุกสัมภาระที่จำเป็น เครื่องใช้ในครัวเรือน คนก็เดินตามเกวียน สำหรับเด็กก็ให้นั่งเกวียน ส่วนหลวงปู่ในครั้งนั้น เดินบ้าง นั่งเกวียนบ้าง สองข้างทางเต็มไปด้วยป่าดงพงไพร ต้นไม้ดอกไม้ผล และสัตว์ป่านานาชนิด

เริ่มออกเดินทางจากบ้านคำพระ ผ่านเข้าอำเภอพนมไพร ผ่านตัวจังหวัดร้อยเอ็ด ทะลุถึงจังหวัดมหาสารคาม ผ่านข้ามท่าขอนยางจนทะลุถึงบ้านบึงเป่ง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ใช้เวลา 6 คืน การเดินทางสมัยนั้นลำบาก ทั้งเหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิว กว่าจะถึงจุดหมายปลายทางแทบจะเอาตัวไปไม่รอดจากอันตรายต่างๆ

หลวงปู่เป็นผู้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทในการทำความดีมาตั้งแต่เด็ก มีนิสัยชอบสงบ และพูดจริงทำจริง พูดน้อยแต่ทำมาก และมีนิสัยชอบภาวนา มีเมตตามาแต่เป็นเด็ก เมื่อคราวอยู่บ้านบึงเป่งนั้น ขณะนั้นอายุได้ 13 ปี วันหนึ่งพี่เขยให้ไปไถนา การไถนารู้สึกลำบากมากเพราะยังเล็กอยู่ เมื่อเวลาไถนาไป จิตเกิดความเมตตาสงสารควายที่กำลังลากไถอยู่เป็นอันมาก

ในขณะนั้นจิตประหวัดไปถึงพระพุทธเจ้า ทันใดนั้นก็ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าได้เกิดขึ้นที่ใจ เหมือนกับเป็นรูปโฉมของพระพุทธองค์จริงๆ จิตเกิดปีติเป็นกำลัง และมีจิตเลื่อมใสอยากจะบวชในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก และมีปีติอิ่มเอิบอยู่อย่างนั้น

อยู่มาวันหนึ่ง พี่เขยบอกให้ไปเอาปลาที่กำลังจะตายอยู่ที่มุมนามาทำอาหาร ปลาถูกแดดเผาน้ำแห้งลง วิ่งกระเสือกกระสนอยู่ ตัวที่ตายแล้วก็มี พอเห็นอย่างนั้นก็เกิดความสงสารเป็นกำลัง จึงหาใบไม้มาเย็บเป็นกระทงเอาน้ำใส่ แล้วเก็บเอาปลาที่ไม่ตายใส่ในกระทง ในขณะที่เก็บปลาอยู่นั้นรู้สึกร้อนมากเพราะแดดจัด แต่ก็ไม่ได้เอาผ้าคลุมศีรษะเพื่อกันแดด เพราะคิดว่าปลาก็ร้อนเหมือนกันกับเรา จึงทนเอา พอเก็บปลาที่ยังไม่ตายได้หมดแล้วจึงนำไปปล่อยลงในน้ำลึก ในขณะที่ปล่อยปลานั้นจึงตั้งสัตยาธิษฐานว่า “ด้วยอำนาจกุศลผลบุญที่ได้ช่วยปลาในครั้งนี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้บวชในพระพุทธศาสนาและให้ได้ดำรงอยู่จนตลอดชีวิต และให้มีผู้ช่วยชีวิตของข้าพเจ้าไว้ในเวลาป่วยไข้ อย่าพึ่งให้ล่วงไปในกาลที่ยังไม่สมควร”

เมื่อปล่อยปลาเสร็จแล้วจึงกลับไปเก็บเอาปลาที่ตายแล้วไปเถียงนา (กระท่อมนา) พอพี่เขยเห็นก็ถามว่า “เห็นปลามีเยอะแยะทำไมได้มานิดเดียว” หลวงปู่ตอบว่า “ก็มีแค่นี้แหละ” ในระยะนั้นเป็นฤดูเดือน 8 กำลังปักดำนา

ครั้นอยู่ต่อมาถึงเดือนพฤศจิกายน (เดือน 12) พ.ศ. 2472 จึงได้บวชเป็นสามเณร ฝ่ายมหานิกาย ที่วัดบ้านท่าเดื่อ ตำบลตูม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น โดยมีพระอาจารย์อุ้ย เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบวชแล้วก็พำนักอยู่ในสำนักวัดบ้านท่าเดื่อ โดยมีพระอาจารย์ทอก เป็นพระพี่เลี้ยง เมื่อบวชแล้วก็ได้ตั้งใจท่องบ่นสาธยายทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น และปฏิสังขาโย ซึ่งเป็นบทพิจารณาปัจจัยสี่ คือ ผ้านุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค


๏ การปฏิบัติไม่เป็นไปตามหนทางแห่งอริยมรรค

หลวงปู่เล่าว่า พอได้บวชเป็นสามเณรแล้วก็ตั้งใจสำรวมระมัดระวังในสิกขาบท 10 ประการ ซึ่งเป็นศีลของสามเณรจะพึงศึกษาและงดเว้นจากข้อห้ามทั้ง 10 อย่างนั้น อยู่มาวันหนึ่งพวกโยมชาวบ้านนิมนต์ครูบาเข้าไปสวดมนต์ในบ้านหมด เหลือแต่สามเณรอยู่วัดด้วยกัน เพื่อนสามเณรด้วยกันเอาไข่ไก่มาต้มสุก แล้วมาเรียกหลวงปู่ไปกินข้าวกับไข่ต้มนั้นในเวลากลางคืน หลวงปู่ไม่ได้ไปกินด้วย กลัวว่าศีลจะขาดเพราะผิดศีลข้อวิกาลโภชนา เมื่อไม่กินด้วย หมู่สามเณรเหล่านั้นจึงอายัดคำขาดว่าไม่ให้บอกครูบา ถ้าขืนบอกครูบาจะต้องมีเรื่องกัน หลวงปู่ก็รับว่าจะไม่บอกครูบา คือถ้าครูบารู้ว่าเณรกินข้าวเย็น จะจับเณรมาแล้วเฆี่ยนด้วยไม้เรียวเพื่อให้ศีลจับใหม่ หมายความว่าอย่างนั้น

บางวันโยมมาข้อร้องเจ้าอาวาสให้เอาพระเณรไปช่วยเกี่ยวข้าวบ้าง ไปช่วยขุดดินทำฝายกั้นน้ำบ้าง เจ้าอาวาสก็พาไปทำ พอเวลาเลิกทำงานตอนเย็น โยมก็เอาข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงพระเณรที่ไปช่วยทำงาน สำหรับตัวหลวงปู่เองเมื่อเวลาโยมเขาจะเลี้ยงข้าวเย็นก็ทำทีเป็นปวดถ่ายหนีเข้าป่าไป ไม่ยอมกินกับหมู่เพื่อนเพราะกลัวว่าศีลจะขาด พอหมู่กินเสร็จแล้วจึงออกมาแล้วก็กลับวัด

เมื่อเห็นการปฏิบัติของหมู่พระเณรเป็นไปในทางที่ไม่ถูกตามธรรมวินัยจึงเกิดความวิตก เห็นว่าการกระทำที่ไม่ถูกตามหนทางอริยมรรคย่อมจะนำไปสู่ทุคติคือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งเป็นภพภูมิที่ต่ำและหาความสุขมิได้โดยไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้เลย


๏ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน

เมื่อเห็นว่าหมู่เพื่อนปฏิบัติไม่สามารถจะเป็นที่พึ่งได้ หลวงปู่จึงสำรวมระมัดระวังเอาเฉพาะตนเอง พยายามไม่ให้ด่างพร้อยในศีล และปฏิบัติสมาธิภาวนาไปโดยลำพังตนเอง ความดีและความชั่วเป็นเรื่องเฉพาะตัว ทำดีย่อมได้รับผลดี ทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว เหมือนกับหว่านพืชลงไปในดิน หว่านพืชเช่นไรก็ได้รับผลเช่นนั้น


๏ อาพาธครั้งที่ 1

ครั้นอยู่มาถึงเดือน 5 คือ เดือนเมษายน พ.ศ. 2473 ขณะนั้นอายุ 14 ปี เกิดล้มป่วยด้วยโรคไข้รากสาด (ไข้หมากไม้ใหญ่) อยู่ที่วัดบ้านท่าเดื่อนั้นเอง อยู่มาวันหนึ่งไข้กำเริบหนัก จึงได้สลบไป ในขณะที่สลบไปอยู่นั้นได้ปรากฏนิมิตเห็นกองเพลิงใหญ่อยู่กองหนึ่งแดงโร่อยู่ เมื่อมองดูในกองเพลิงนั้นเห็นมีฆ้องใหญ่อยู่ลูกหนึ่ง และเงินสตางค์แดงอยู่ตรงกลางกองเพลิง มองดูกองเพลิงน่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก เมื่อรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาถึงนิมิตที่เกิดขึ้น จึงได้ความว่าเป็นเรื่องศีลวิบัติ คือในขณะที่ป่วยไม่สบายอยู่นั้น เพื่อนสามเณรด้วยกันนำเงินสตางค์แดงที่โยมเขาถวายเวลาไปสวดมนต์ในบ้านตอนที่ยังไม่ป่วย เมื่อแบ่งกันแล้วนำมาใส่มือให้ จึงเกิดนิมิตเช่นนั้นคือผิดศีลข้อ 10 ของสามเณร เพราะสามเณรศีลข้อที่ 10 นั้น ท่านห้ามไม่ให้รับเงินและทองที่เขาสมมติซื้อขายกันได้ในประเทศนั้นๆ เมื่อเพื่อนสามเณรด้วยกันนำเงินมาใส่มือให้จึงเป็นศีลวิบัติ

ในขณะที่ป่วยอยู่นั้น ผู้เป็นมารดาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจเพราะความรักและเป็นห่วงในบุตรของตน ได้หาหมอยาที่ชาวบ้านถือกันว่าเก่งสามารถในการรักษา มารักษาด้วยยารากไม้ฝนให้กิน อาการป่วยก็ไม่หายเพียงแต่ทุเลาลงบ้างเล็กน้อย ต่อมาอาการป่วยก็ได้กำเริบขึ้นอีกจึงทรุดหนักลง สลบตายไป ในขณะนั้นปรากฏว่ามีคน 4 คน รูปร่างใหญ่กำยำหามเอาไป ในขณะที่เขาหามไปนั้นรู้สึกว่ามีความกลัวเป็นกำลัง พอหามไปถึงพุ่มดอกพุดใหญ่พุ่มหนึ่ง เขาก็โยนเข้าไปในพุ่มดอกไม้นั้น ลุกขึ้นได้ก็วิ่งหนีกลับพอดีไปสะดุดตอไม้หยิกบ่อถอง (พืชชนิดหนึ่ง) จึงรู้สึกตัวขึ้นเห็นมารดานั่งร้องไห้อยู่ข้างๆ จึงถามมารดาว่า “ร้องไห้ทำไม”

มารดาว่า “เมื่อกี้นี้ลูกได้ตายหยุดหายใจไป แม่รักลูกห่วงลูกจึงได้ร้องไห้”

พอแม่บอกอย่างนั้นก็ได้สติดีขึ้นมา จึงกำหนดจิตนึกพุทโธเป็นคำบริกรรมไว้ในใจ การนึกถึงพุทโธเป็นคำบริกรรมนั้นได้ทำมาเป็นประจำตั้งแต่บวชมา และมีนิสัยนึกอย่างนั้นมาก่อน เพราะเคยได้ยินจากผู้เฒ่าผู้แก่พูดบ้าง และอุปัชฌาย์อาจารย์สอนให้ฟังบ้าง ในตอนบวชใหม่ๆ จึงได้ทำมาเป็นประจำ

หลวงปู่เล่าว่า ถึงป่วยหนักขนาดนั้นก็ไม่ได้ประมาท ในขณะที่ได้สติขึ้นมานั้น อยากจะลุกขึ้นนั่งภาวนา พวกที่เฝ้าไข้ถึงประคองลุกขึ้นนั่งภาวนา ในขณะนั้นได้บริกรรมพุทโธจนออกเสียงเต็มแรงเพราะเวทนายังกล้าอยู่ ในขณะนั้นเป็นเวลากลางคืนได้มองเห็นเงาตัวเองก็เกิดความกลัวขึ้น เขาจึงให้นอนลง เมื่อนอนลงแล้วก็ยังบริกรรมพุทโธออกเสียงเต็มแรง พวกคนที่ดูทั้งหลายเขาก็ห้ามไม่ให้บริกรรมพุทโธเพราะกลัวว่าจะผิดผีและของรักษาต่างๆ ในระยะนั้นคนทั้งหลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ ถือผีไท้ ผีแถน ผีฟ้า เทวดาเป็นของรักษา กลัวว่าเสียงพุทโธนั้นเมื่อผีได้ยินแล้วผีจะโกรธให้ แม้พระพุทธเจ้าจะสอนให้เอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง ที่ระลึก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งอันเกษม เป็นที่พึ่งอันอุดม แต่คนทั้งหลายก็ยังเห็นผิดกันอยู่มาก

ในขณะที่ป่วยอยู่นั้นไม่รู้ว่าญาติพี่น้องให้สึกแต่เมื่อไหร่ ต่อมามารดาได้นำหมอจากบ้านท่าแก ชื่อทิดหวด มารักษา อาการป่วยในครั้งนี้จึงหายขาดไป มารดาจึงยกวัวให้หมอตัวหนึ่งเป็นค่าคาย (ค่ารักษา) หลวงปู่เล่าว่าเมื่อหายป่วยในครั้งนี้แล้วระลึกทบทวนดูว่า ตัวเองเคยบวชแล้วป่วยหนักและก็ได้สึกโดยไม่รู้ตัว เมื่อรู้ว่าตนเองสึกแล้วอย่างนั้นก็ยังมีความตั้งใจไว้ว่าจะบวชอีก เพราะมีความพอใจในการประพฤติพรหมจรรย์


๏ ความไม่เที่ยงย่อมแปรปรวน

เมื่อหายป่วยพักฟื้นพอได้กำลัง ย่างเข้าเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2473 มารดาจึงได้พาอพยพครอบครัวจากบ้านบึงเป่ง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น กลับคืนไปบ้านคำพระ (กุดโอ) อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นบ้านเดิม การเดินทางก็ใช้เกวียนเทียมวัวเป็นพาหนะขนส่งสิ่งของ คนก็เดินตาม เมื่อเดินทางกลับถึงบ้านคำพระแล้ว ได้ทำเพิงเป็นที่หลบแดดหลบฝน เพราะตอนที่อพยพไปอยู่ที่บ้านบึงเป่งนั้น ได้ขายบ้าน แต่นายังไม่ขายให้ผู้อื่น พอกลับถึงบ้านเดิมแล้วก็เป็นฤดูทำนาพอดี ประกอบกับร่างกายที่หายจากป่วยไข้ก็มีเรี่ยวมีแรงขึ้น จึงได้ช่วยมารดาและพี่ชายทำนาหว่านกล้าปักดำจนเสร็จ ย่างเข้าฤดูเก็บเกี่ยว ข้าวเหลืองเต็มท้องทุ่ง จึงได้ช่วยกันเก็บเกี่ยวข้าวตามหน้าที่ของชาวนาผู้ที่พึ่งพากำลังของตัวเอง

วันหนึ่งขณะที่เกี่ยวข้าวอยู่นั้น จิตได้นึกขึ้นมาว่า “เราได้บวชเป็นสามเณรครั้งหนึ่ง ที่เราได้สึกก็เพราะเราป่วยหนักจนไม่รู้สึกตัว จึงระลึกถึงความตายที่จะมาถึงตัวเอง ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไรเพราะเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่สิ่งที่แน่นอนนั่นคือเราจะต้องตายเป็นแน่แท้ หาทางหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย จึงคิดว่าจะออกบวชอีก”

แต่แล้วก็มาคิดถึงผู้ที่เป็นมารดาว่า บ้านเรือนที่อาศัยของมารดาก็ไม่แน่นหนาแข็งแรงเพราะเป็นบ้านชั่วคราว จึงคิดจะสร้างบ้านให้มารดาเสียก่อนจึงจะออกบวช พอเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จย่างเข้าฤดูแล้ง จึงได้ชวนพรรคพวกพากันไปเลื่อยไม้ที่บ้านแสนขุมเงิน เพราะสมัยนั้นบ้านแสนขุมเงินมีต้นไม้ใหญ่ๆ มากมาย


(มีต่อ 1)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ค.2007, 1:44 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
พระธาตุพนม (ในปัจจุบัน) ประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
บ้านธาตุพนม ต.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม



๏ ความโลภเป็นอันตรายต่อความเป็นธรรม

หลวงปู่เล่าว่า “การเลื่อยไม้ในครั้งนั้น พรรคพวกที่ไปด้วยกันเป็นพวกผู้ใหญ่ ตัวเราเด็กกว่าเขา เมื่อเลื่อยไม้เสร็จแล้ว เวลาจะแบ่งไม้กัน เขาเอาเปรียบเรา เขาจะให้เราน้อยกว่าเขา แต่เครื่องมือเลื่อยไม้นั้นเป็นของเรา จึงได้ต่อว่าต่อขานกัน ในที่สุดเขาก็ยอมออกค่าเครื่องมือให้ เรื่องความโลภนี้เมื่อเกิดขึ้นในจิตใจของผู้ใดย่อมไม่มองเห็นความเป็นธรรมเลย ขอให้ตนเองได้มากๆ ตามความปรารถนาของตนเองแล้ว ใครจะทุกข์จะยากลำบากอย่างไรไม่คำนึงเลย โลกจึงลุกเป็นไฟเผาผลาญกันอยู่ตลอดเวลา” เมื่อรวบรวมไม้พอที่จะสร้างบ้านได้หลังหนึ่งแล้ว จึงได้ใช้ล้อเทียมด้วยควายขนไม้จากบ้านแสนขุมเงินมาบ้านคำพระ (กุดโอ)

ได้ช่วยมารดาและพี่ชายทำนาหาเลี้ยงชีพจนกาลเวลาผ่านไปถึง 3 ปี อายุย่างเข้า 18 ปี กำลังเป็นหนุ่ม มารดาอยากให้มีครอบครัวเหมือนชาวโลกทั่วๆ ไป เพื่อจะได้มีผู้ช่วยการงานบ้าง “ในขณะนั้นได้มีหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน พร้อมทั้งแม่ของเขาด้วย เกิดความรักชอบในตัวเรา ได้พยายามไปมาหาสู่กับแม่ของเราอยู่เรื่อยๆ แม่ของเราก็อยากให้แต่งงานกับเขา แต่เราไม่มีความยินดีพอใจอย่างนั้น คิดอยู่แต่จะออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ เพราะคิดว่าในไม่ช้าความตายก็จะมาถึง เราระลึกถึงความตายอยู่เสมอๆ

อยู่มาวันหนึ่งแม่ของหญิงสาวนั้นคิดอุบายที่จะเอาเราเป็นลูกเขยให้ได้ จึงมาหาแม่ของเราขอร้องให้เราไปขุดบ่อน้ำในสวนให้ เพื่อจะได้ตักเอาน้ำรดผัก ฟักแฟงแตงเต้า และยาสูบ แม่เราจึงบอกให้เราไปช่วยทำให้เขาเสียเพราะสงสาร เขาก็มีลูกสาวคนเดียวไม่มีผู้ชายจะทำให้

เมื่อแม่บอกอย่างนั้นเราจึงไปขุดบ่อน้ำให้เขา ฝ่ายแม่หญิงสาวก็ปล่อยให้ลูกสาวมาช่วยขนดินอยู่กับเราสองต่อสอง ไม่มีใครเป็นเพื่อน และเราเป็นคนขุด เขาเป็นคนรับดินขึ้นไปข้างบน เราก็ตั้งหน้าตั้งตาขุดไม่พูดอะไรกับเขาเลย เพราะรู้อยู่ในใจว่าเป็นกลอุบายที่เขาวางบ่วงจะผูกเราไว้ในวัฏสงสาร เมื่อขุดบ่อลึกลงไปถึงตาน้ำ กะว่าพอใช้แล้วเราก็ขึ้นจากบ่อ ฝ่ายหญิงสาวจึงพูดว่าคอยอาบน้ำที่บ่อนี้แหละ หนูจะตักขึ้นมาให้อาบ เราไม่ฟังเสียงได้เสื้อผ้าแล้วเดินหนีไปอาบน้ำที่แม่น้ำชี แล้วก็กลับบ้านไป พ้นภัยพญามารในครั้งนั้น”


๏ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท

หลวงปู่เล่าว่า ในระหว่างที่ช่วยพี่ชายและมารดาทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่นั้น ได้ตั้งใจปฏิบัติจิตตภาวนา สวดมนต์ไหว้พระอยู่ไม่ได้ขาด บริกรรมภาวนาพุทโธเป็นอารมณ์ ครั้งหนึ่งเมื่อภาวนาหนักเข้าเกิดลมละเอียดลงๆ จนลมหายใจไม่ปรากฏ จึงเกิดความกลัวสะดุ้งตกใจ จิตจึงถอนขึ้นมา จึงได้หยุดภาวนาในวันนั้น ครั้นวันต่อมาก็ได้ภาวนาบริกรรมพุทโธเป็นอารมณ์ของใจตลอดมา


๏ บรรพชาเป็นสามเณรครั้งที่ 2

กาลเวลาผ่านไปถึงปี พ.ศ. 2477 อายุย่างเข้าปีที่ 19 หลวงปู่เล่าว่า พอเข้าฤดูทำนาได้ช่วยแม่และพี่ชายทำนา คราดนา ปักดำ เสร็จแล้วย่างเข้าฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ไม้ที่เตรียมมาไว้ว่าจะปลูกบ้านให้แม่ก็ยังไม่ได้ปลูก เก็บเกี่ยวข้าวก็ยังไม่เสร็จ ภาวนาระลึกถึงความตายจะเกิดขึ้นกับตนเองในเร็ววัน จึงเกิดความร้อนใจกลัวว่าตนจะไม่ได้บวชอีก ยิ่งคิดก็ยิ่งร้อนใจ ในที่สุดทนไม่ไหวจึงได้พูดกับมารดาว่า “ลูกอยากบวชอีก”

เมื่อมารดาได้ฟังนั้นก็ไม่ได้ขัดข้อง จึงพูดขึ้นมาว่า “ดีแล้วนะลูก ถ้าลูกจะบวชให้แม่อย่างนั้น เพราะลูกทั้งหมดยังไม่มีใครบวชให้แม่สักคนเลย ถึงแม้จะมีความยากลำบากในการเก็บเกี่ยวข้าวอย่างไร แม่ก็จะอุตส่าห์อดทนเอาตามยถาของแม่”

พอแม่บังเกิดเกล้าได้อนุญาตให้บวชได้ดังใจหมาย ก็ดีใจเป็นอย่างยิ่ง จึงจัดแจงเก็บเอาสิ่งของใช้ที่จำเป็นแล้วอำลาผู้เป็นมารดา เดินทางออกจากบ้านมุ่งหน้าไปสู่ที่อยู่ของพระธุดงค์กัมมัฏฐาน “ในขณะที่เราออกจากบ้านไป หญิงสาวที่มีความหมายมั่นจะได้เราเป็นคู่ครอง ได้มาคอยดักเราอยู่หนทางแล้วเดินตามหลังพูดขอร้องไม่ให้เราออกไปบวช แต่เราไม่ยอมฟังเสียงใคร ในที่สุดเขาก็ได้แต่ยืนร้องไห้มองตามหลังของเราไปเท่านั้น”

ณ ที่ดอนธาตุ บ้านคำพระ ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร ได้มีพระอาจารย์คำดี ซึ่งเป็นพระธุดงค์กัมมัฏฐานสายพระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น มาปักกลดบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ณ ที่นั้น เมื่อไปถึงดอนธาตุแล้ว ได้กราบนมัสการพระอาจารย์คำดี ขอถวายตัวเป็นศิษย์ของท่าน ท่านรับเป็นศิษย์ของท่านด้วยความเมตตา

ท่านอบรมสั่งสอนข้อวัตรปฏิบัติและคำขานนาคอยู่ครบ 7 วัน ท่านอาจารย์คำดีได้นำไปบวชเป็นสามเณร (ปลายปี พ.ศ. 2477) ที่วัดฟ้าหยาด บ้านคำไฮ ตำบลคำไฮ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี พระครูวิจิตร (จันทา) เป็นพระอุปัชฌาย์ฝ่ายมหานิกาย เพราะในสมัยนั้นพระอุปัชฌาย์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายมีน้อยและอยู่ห่างไกล

ครั้นบวชเสร็จแล้ว พระอาจารย์คำดีได้พากลับมาพักอยู่ที่ดอนธาตุระยะหนึ่ง จึงพาเดินธุดงค์จากบ้านคำพระไปอำเภอพนมไพร พักอยู่ที่วัดโนนช้างเผือกซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ มีป่าไม้ ห่างจากตัวอำเภอพนมไพรพอประมาณ เหมาะแก่การเจริญสมณธรรม อยู่มาไม่นานพระอาจารย์คำดีได้จากไป ท่านได้ฝากให้อยู่กับหลวงพ่อสิ้วและได้จำพรรษาที่วัดโนนช้างเผือกนี้ (วัดประชาธรรมรักษ์ ในปัจจุบัน)


๏ เดินธุดงค์มุ่งหน้าเพื่อนมัสการพระธาตุพนม

ต้นปี พ.ศ. 2477 หลวงพ่อสิ้วได้พาเดินธุดงค์จากอำเภอพนมไพร รอนแรมผ่านบ้านเล็กบ้านใหญ่ ป่าเล็กป่าใหญ่ ค่ำที่ไหนนอนที่นั่น จากพนมไพรผ่านเข้าเขตอำเภอมหาชนะชัย ผ่านเขตอำเภอลุมพุก (คำเขื่อนแก้ว) ทะลุเข้าเขตอำเภอบุ่ง (อำนาจเจริญ) ผ่านเลยไปเลิงนกทา เข้าเขตมุกดาหาร ข้ามน้ำก่ำ ทะลุถึงอำเภอพระธาตุพนม ใช้เวลาเดินทางถึง 15 คืน เมื่อถึงอำเภอพระธาตุพนมแล้ว ได้เข้าพักที่วัดเกาะแก้วอัมพวัน ในเวลานั้นมี พระอาจารย์ทอง อโสโก เป็นประธานสงฆ์

Image
พระอาจารย์ทอง อโสโก

Image
พระอาจารย์กงแก้ว ขนฺติโก


๏ พบพระอาจารย์กงแก้ว ขนฺติโก

หลวงปู่ได้พบ พระอาจารย์กงแก้ว ขนฺติโก ที่วัดเกาะแก้วอัมพวัน เกิดความเลื่อมใสในปฏิปทามารยาทอันงดงามของท่าน จะเดินจะยืนจะนั่งท่านจะมีอาการสำรวมอยู่ทุกเวลา เมื่อได้พบเห็นแล้วทำให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสในองค์ท่านเป็นอย่างมาก (ภายหลังท่านมาอยู่ที่วัดกลางสนาม อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2523 รวมอายุ 75 ปี)

ในขณะที่พักอยู่วัดเกาะแก้วอัมพวันนั้น เวลากลางวันก็ได้ไปนมัสการพระธาตุพนม พอดีในปีนั้นคณะกรรมการวัดพระธาตุพนมได้คาดสะเภา (ทำนั่งร้าน) ขึ้นไปจนเกือบถึงยอด หลวงปู่เล่าว่า ในสมัยนั้น 3 ปี จะคาดสะเภา (ทำนั่งร้าน) ขึ้นพระธาตุพนม 1 ครั้ง พอวันสุดท้ายคือวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 3 จะทำขึ้นไปจนถึงยอดสุดแล้วตกแต่งประดับประดาที่ยอด เสร็จแล้วก็รื้อสะเภาลงมาพร้อม เพราะว่าปล่อยไว้ไม่ได้ บนยอดพระธาตุพนมมีแต่ทองคำ คนทั้งหลายก็นิยมอธิษฐานขึ้นพระธาตุพนม ถือว่าใครมีบุญก็ได้ขึ้นไปถึงยอดได้ ใครไม่มีบุญก็ขึ้นไปได้นิดหน่อยต้องกลับลงมาเพราะเกิดลมวิงเวียนหน้ามืดตาลาย

หลวงปู่อธิษฐานต่อองค์พระธาตุพนมว่า “ถ้าหากจะได้ดำรงอยู่ในเพศพรหมจรรย์จนตลอดอายุขัยนั้น ขอให้ขึ้นพระธาตุพนมได้ถึงยอด” เมื่ออธิษฐานเสร็จแล้วหลวงปู่ก็ขึ้นไปได้ถึงยอดโดยไม่มีอุปสรรคใดๆ เลย ต่อมาคำอธิษฐานของหลวงปู่ได้กลายเป็นความจริง คือหลวงปู่ได้อยู่ในเพศพรหมจรรย์จนตลอดอายุขัย


๏ เดินธุดงค์ต่อไปทางจังหวัดนครพนม

เมื่อนมัสการพระธาตุพนมสมความตั้งใจแล้ว หลวงพ่อสิ้วได้พาออกเดินทางจากวัดเกาะแก้วอัมพวัน อำเภอพระธาตุพนม เลาะเลียบแม่น้ำโขงจนถึงนครพนม พักที่ป่าช้าเมืองนครพนม เมื่อพักอยู่ป่าช้าเมืองนครพนมหายเหนื่อยแล้ว ได้เดินต่อจากนครพนมรอนแรมผ่านอำเภอกุสุมาลย์ เดินไปภาวนาไป ไม่ได้ปล่อยจิตใจให้โลเลไปตามสัญญาอารมณ์ การเดินธุดงค์แบบนี้ทำให้ได้กำลังทางจิตใจคือ สติธรรมก็มีกำลัง ขันติธรรมก็มีกำลัง สมาธิธรรมก็มีกำลัง ปัญญาธรรมก็มีกำลัง ธรรมเหล่านี้มีอยู่ที่ไหนเล่า ก็มีอยู่ที่ใจนั่นเอง

Image
พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล


๏ พบพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล

เมื่อเดินธุดงค์รอนแรมจากอำเภอกุสุมาลย์ ทะลุถึงเมืองสกลนคร ในขณะนั้น ท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ได้พำนักอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส เมืองสกลนคร เมื่อเดินทางถึงวัดป่าสุทธาวาส ได้ปฏิบัติตามหน้าที่ของอาคันตุกวัตร คือผู้เข้าไปสู่อาวาสต้องแสดงความเคารพ ไม่แสดงความแข็งกระด้าง ลดผ้าห่มเฉวียงบ่า วางบริขารไว้ในที่อันสมควร ดูว่าครูบาอาจารย์ที่เป็นหัวหน้าในอาวาส ไม่ได้รับแขก เป็นโอกาสอันสมควร หลวงพ่อสิ้วจึงได้พาเข้ากราบนมัสการท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ขอพักค้างคืนอยู่กับท่าน ท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ไม่ขัดข้อง อนุญาตให้พักได้ คือในขณะนั้นต่างนิกายกันกับท่าน

หลวงปู่เล่าว่า เมื่อได้ทัศนาและกราบนมัสการท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ในครั้งแรก ได้เกิดความเลื่อมใสในปฏิปทาจริยาวัตรของท่านเป็นอย่างยิ่ง จึงได้คิดในใจว่า “เมื่ออายุของเราครบบวชพระได้ เราจะบวชในสังกัดธรรมยุติกนิกาย แล้วจะติดตามไปปฏิบัติอยู่กับท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์”

พักอยู่กับท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ ที่วัดป่าสุทธาวาสนี้ 2 คืน เมื่อฉันบิณฑบาตและจัดแจงบริขารลงในบาตร เตรียมการเดินทางเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อสิ้วจึงได้พาเข้ากราบนมัสการลาท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ในขณะนั้นท่านได้เตือนให้ธรรมะว่า “ให้ตั้งใจให้ดี ตั้งสติให้ดีนะ” สามเณรบุญจันทร์ กัมปันโน พอได้ยินท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ให้โอวาทอย่างนั้น เกิดปีติเยือกเย็นซาบซ่านไปทั่วร่างกาย มีความเบากายเบาจิต คำที่ท่านเตือนให้โอวาทนั้นฝังอยู่ในจิตไม่ได้เลือนลาง


เมื่อกราบลาท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์แล้ว หลวงพ่อสิ้วได้พาเดินธุดงค์จากสกลนครข้ามเขาภูพานลงไปทางบ้านชาตินาโก ภูแล้นช้าง อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เดินรอนแรมผ่านอำเภอบัวขาว (กุฉินารายณ์) ทะลุถึงอำเภอแวง (อำเภอโพนทอง) จังหวัดร้อยเอ็ด ผ่านอำเภอเสลภูมิ เดินไปภาวนาไป ค่ำที่ไหนนอนที่นั่น ในที่สุดการเดินทางก็ได้ทะลุถึงอำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด พักที่วัดโนนช้างเผือก (วัดประชาธรรมรักษ์ ในปัจจุบัน)

พ.ศ. 2478 อายุ 20 ปี ได้จำพรรษาที่วัดโนนช้างเผือก เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว หลวงพ่อผงได้พาเดินธุดงค์เที่ยววิเวก


(มีต่อ 2)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 25 พ.ค.2007, 1:13 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ มุ่งหน้าสู่เขาพระวิหาร

เมื่อจัดแจงบริขารลงในบาตร นำบาตรเข้าถุงเรียบร้อยแล้ว สะพายบาตรใส่บ่าข้างหนึ่ง มือข้างหนึ่งจับกลดแบกใส่บ่า มือข้างหนึ่งถือกาน้ำ ออกเดินทางจากวัดโนนช้างเผือกถึงบ้านนาม่วง อำเภอพนมไพร เป็นเวลาใกล้ค่ำ มีป่าแห่งหนึ่งเป็นที่วิเวกเหมาะแก่พระธุดงค์กัมมัฏฐาน หลวงพ่อผงจึงได้พาเข้าพักในป่านั้น ในคืนนั้นฝนได้ตกตลอดทั้งคืน ได้นั่งกรำฝนอยู่ใต้กลดจนตลอดรุ่ง พอรุ่งเช้าเข้าบิณฑบาตในหมู่บ้านนาม่วง ได้อาหารมาฉันพอประทังชีวิต ต่อจากนั้นได้เที่ยววิเวกไปทางอำเภอคง (อำเภอราษีไศล ในปัจจุบัน) รอนแรมไปจนถึงบ้านจุมพร ได้พักวิเวกในป่าช้าบ้านจุมพร หลวงปู่เล่าว่า โยมเขาทำร้านด้วยไม้เลียนลำ (ไม้กลมวางเรียงกันโดยไม่ได้ยึดติดกัน) ให้ยาวพอสุดหัวสุดเท้า กางกลดบนร้านนั้น และทำทางจงกรมข้างหลุมฝังศพใหม่ๆ เมื่อโยมทำสถานที่ให้แล้ว เขาก็กลับบ้านไป เหลือแต่หลวงปู่กับหลวงพ่อผงอยู่ในป่าช้านั้น ซึ่งทำที่พักอยู่ห่างๆ กัน พอตะวันค่ำมืดลงจึงได้เข้าสู่ทางเดินจงกรม

ในขณะนั้นได้มีแสงพระจันทร์สาดแสงส่องสว่างมาแทนแสงพระอาทิตย์ เพราะในวันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือน 12 พอดี เดินจงกรมอยู่ริมหลุมฝังศพใหม่ๆ นั้น เดินกลับไปกลับมา ตั้งสติกำหนดจิตบริกรรม พุท หายใจเข้า โธ หายใจออก ทันใดนั้นได้เกิดเสียงดังโครมครามขึ้นที่กองฟอนหลุมฝังศพนั้น หลวงปู่ตกใจจนเหมือนตัวหายไปหมด สักครู่หนึ่งจึงรู้สึกตัวขึ้นมา ตั้งสติสอนใจตัวเองว่า “คงจะไม่ใช่ผีหลอกผีหลอนอะไรหรอก เราจะกลัวอะไร ถ้าว่าผีก็ไม่เห็นมันมาต่อสู้อะไรกับเรา ไม่เห็นเป็นตัวเป็นตนอะไรมา”

ในที่สุดก็ได้กำลังใจขึ้นมาทุกทีๆ ความกลัวนั้นก็หายไป ได้เดินจงกรมไปมาจนเหนื่อยแล้วจึงหยุด ล้างเท้าแล้วขึ้นบนร้าน จัดแจงเอามุ้งกลดลงแล้วเข้านั่งในมุ้งกลดนั้น เตรียมไหว้พระสวดมนต์ ขณะนั่งไหว้พระนั้นกระดุกกระดิกแรงก็ไม่ได้ เพราะไม้ที่ปูเลียนลำนั้นวิ่งออกจากกัน จึงต้องมีสติระมัดระวัง นี้จึงเป็นเหตุให้ธรรมะเกิดขึ้นที่ใจ คือ ความเพียร ความระลึกรู้ ความตั้งใจมั่น และความรอบรู้ของใจ เมื่อไหว้พระสวดมนต์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้เข้าที่นั่งภาวนาต่อไป ในขณะนั้นจิตได้รวมตัวสงบเข้าเป็นหนึ่ง คลายจากความกลัวทั้งหมด แล้วจึงได้หยุดพักผ่อน รุ่งเช้าเข้าบิณฑบาตในหมู่บ้าน กลับออกมาที่พักมีโยมผู้หญิง 3 คน ตามมาถวายอาหาร

พักอยู่ 2 คืน จึงออกเดินทางต่อไปถึงบ้านนาทุ่ง พวกโยมทำที่พักให้ในป่าแห่งหนึ่งจึงได้พักอยู่ในที่นั้น ได้มีคนรู้จักกับหลวงพ่อผงได้มาสนทนาด้วย ต่อจากนั้นจึงได้เดินธุดงค์ต่อไปทางอำเภออุทุมพร ถึงบ้านนาม้อง พักในป่าแห่งหนึ่ง จัดแจงเอาสายระเดียงขึง สันข้างหนึ่งผูกต้นไม้ต้นหนึ่ง อีกด้านหนึ่งก็ผูกต้นไม้อีกต้นหนึ่ง แล้วเอากลดแขวนตรงกลางเอามุ้งกลดวงรอบ เอาผ้าอาบน้ำปูลงกับพื้นดิน ไหว้พระภาวนาแล้วจำวัดในที่นั้น

รุ่งเช้าเข้าไปบิณฑบาต ชาวบ้านเขาตื่นสายไม่มีคนใส่บาตร เดินไปพอดีมีบ้านหลังหนึ่งเจ้าของกำลังติดไฟแล้วเอาหม้อหุงข้าวใส่น้ำตั้งบนก้อนเส้า จึงได้ยืนภาวนาคอยอยู่ในที่นั้น เมื่อเขาเอาหม้อตั้งไว้แล้ว เขาก็ไปตักเอาข้าวเปลือกในเล้ามาใส่ครกไม้ตำด้วยสากมือ คือเอามือจับสากแล้วตำข้าวในครก ตำไปแล้วก็ตักออกใส่กระด้ง ฝัดข้าวสารใส่หม้อ ที่เหลือเป็นข้าวเปลือกก็ใส่ครกตำไปอีก ฝัดเอาข้าวสารใส่หม้ออีก ทำอยู่อย่างนี้จนกะว่าจะกินอิ่มในครัวเรือนนั้นจึงหยุด

เมื่อข้าวสุกดีแล้ว เขาก็ตักเอาข้าวในหม้อนั้นมาใส่บาตรให้ พร้อมกับเกลือก้อนหนึ่งเท่าหัวโป้มือ (หัวแม่มือ) และพริกแห้ง 2-3 ลูก และปลาระฮอกก้อนหนึ่งเท่าลูกมะกอก รับบิณฑบาตโดยเคารพด้วยเมตตาและขันติความอดทน แล้วจึงกลับไปสู่ที่พักทำภัตตกิจ ฉันข้าวกับพริกเกลือและปลาระฮอก พอกำจัดความหิวและยังชีพให้เป็นไปพอได้เจริญสมณธรรมต่อไป เมื่อฉันเสร็จแล้วล้างบาตรจัดแจงแต่งบริขารเรียบร้อยแล้ว จึงได้อำลาบ้านนาม้อง สององค์กับหลวงพ่อผงได้ธุดงค์รอนแรมไปถึงห้วยทับทัน แล้วได้วกกลับมาจนถึงอำเภอพนมไพร ความตั้งใจจะไปเขาพระวิหารจึงไม่สำเร็จ เมื่อกลับถึงอำเภอพนมไพร จึงเข้าพักที่วัดป่าโนนช้างเผือกอีก ในระหว่างนั้นก็ไม่มีครูบาอาจารย์สอนเรื่องภาวนา ก็ด้นเดาทำเอา


๏ เร่งความเพียร

ในระยะนั้นได้ประกอบความเพียรเป็นอันมาก ได้ตั้งสัจจะอธิษฐานเดินจงกรมตามเดือน (ตามพระจันทร์) ตั้งแต่ขึ้น 2 ค่ำ 3 ค่ำ ถ้าพระจันทร์ไม่ตกดินไม่หยุดเดิน จนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดินจงกรมตลอดคืนไม่นอน ผลที่เกิดขึ้นมีวันหนึ่งในขณะที่เดินจงกรมอยู่นั้นจิตรวมลงเป็นหนึ่ง ปรากฏว่าร่างกายไม่มี คล้ายๆ กับเดินไม่เหยียบดินเลยเหมือนกับลอยไปลอยมา ไม่มีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิวอะไรเลย มีแต่ความเบากายเบาจิต แต่ในขณะนั้นยังไม่เกิดปัญญาพิจารณาอะไร มีแต่ความเบากายเบาจิตเท่านั้น


๏ เดินทางเข้าจังหวัดร้อยเอ็ดเพื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุ

ครั้นพักอยู่ที่วัดป่าโนนช้างเผือก ถึงเดือน 7 พ.ศ. 2479 จึงออกเดินทางจากอำเภอพนมไพร เดินด้วยเท้าตามทางคนทางเกวียน สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่เขียวชอุ่ม ชุ่มตาชุ่มใจในธรรมชาติ ระยะทางจากพนมไพรถึงร้อยเอ็ด 60 กิโลเมตร เดินทาง 2 วัน

วันที่ 2 ยังไม่ค่ำถึงจังหวัดร้อยเอ็ด มีโยมอาจารย์สิ้ว (อดีตหลวงพ่อสิ้ว) สะพายเครื่องบริขารที่จะบวชพระเดินทางมาด้วย เมื่อถึงร้อยเอ็ดได้เข้ามอบตัวกับพระอาจารย์สีโห เขมโก ที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ ฝึกหัดอักขรฐานกรณ์ ที่แรกนึกว่าจะไม่ได้บวชเพราะฝึกหัดยาก ออกเสียงไม่ถูกตามมคธภาษา จึงได้ตั้งใจฝึกหัดไม่ลดละ ในที่สุดพระอาจารย์สีโหจึงรับรองว่าบวชได้

Image
พระอาจารย์สีโห เขมโก


๏ อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุตตามที่ได้ตั้งใจไว้

เมื่อฝึกหัดคำขอบวชได้คล่องแคล่วแล้ว พระอาจารย์สีโหจึงได้นำพาไปอุปสมบทที่วัดเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 เวลา 15.15 น. โดยมีท่านเจ้าคุณพระโพธิญาณมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระมหาบุญถึง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “กมโล” แปลว่า “ผู้งามดั่งดอกบัว”

เมื่ออุปสมบทแล้วได้กลับมาอยู่วัดป่าศรีไพรวัลย์ ถือนิสัยกับ ท่านพระอาจารย์สีโห เขมโก ได้ตั้งใจปฏิบัติกิจวัตร อาจาริยวัตร ข้อวัตรปฏิบัติด้วยความเคารพไม่ให้ขาดตกบกพร่อง


๏ พรรษาที่ 1 พ.ศ. 2479
จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด


พรรษาที่ 1

เมื่อถึงกาลเข้าพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 พ.ศ. 2479 เวลาเย็น บ่าย 4 โมง พระภิกษุสามเณรพร้อมกันทำกิจวัตร คือปัดกวาดลานวัดรอบศาลา รอบกุฏที่พักของใครของมัน ซึ่งปลูกเป็นหลังๆ อยู่ห่างจากกันพอประมาณ และตามทางเดินในวัด เมื่อปัดกวาดลานวัดเสร็จแล้วก็พร้อมกันขึ้นศาลาโรงธรรม ปัดกวาดเช็ดถูพื้นกระดานด้วยมะพร้าวแห้งตัดครึ่งลูก ถูไปมาทั่วศาลาแล้วจึงใช้ไม้กวาดกวาด แล้วใช้ผ้าแห้งถูจึงสะอาดเรียบร้อย เสร็จแล้วพร้อมกันตักน้ำหามน้ำใส่ตุ่มสำหรับล้างบาตร, ตามถาน (ส้วมเป็นส้วมปล่อยไม่ได้ใช้น้ำราด แต่น้ำนั้นสำหรับไว้ใส่กระบอกชำระล้างก้นเวลาถ่ายเสร็จแล้ว) ตามบันไดขึ้นกุฏิศาลาสำหรับล้างเท้า

น้ำที่นำไปใส่ในที่ต่างๆ นั้นจะต้องเปลี่ยนบ่อยๆ เพื่อไม่ให้เกิดเป็นลูกน้ำ เพราะถ้าเกิดลูกน้ำมีตัวสัตว์ ต้องนำน้ำนั้นไปเทลงในน้ำหนองน้ำบ่อ เทรดดินรดหญ้าไม่ได้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ การตักน้ำก็ตักขึ้นจากบ่อโดยใช้ไม้ไผ่เป็นลำ ทำเป็นไม้สำหรับเกาะครุตักน้ำ ไม้ไผ่เลี้ยงลำพอเหมาะมือ ตัดมาแล้วใช้สิ่วเจาะทางโคนต้นทำไม้เป็นเดือยเป็นไล เขาเรียกไลคันขอ ตีเข้ารูไม้ไผ่ที่เจาะไว้ เขาเรียกไม้คันขอ สำหรับเกาะครุหย่อนลงในบ่อลึก ตักน้ำแล้วดึงขึ้นมาเทใส่ครุข้างบน พระเณรช่วยกันตักน้ำ รูปหนึ่งตักดึงขึ้นมา รูปหนึ่งรับครุเทใส่ครุข้างบน รูปหนึ่งถือผ้าสำหรับกรองน้ำ อีกพวกหนึ่งช่วยกันหามไปใส่ตุ่ม พระเณรต่างมีความสามัคคีกันช่วยกันทำกิจวัตรข้อวัตร

เมื่อเสร็จแล้ว ก็พร้อมกันทำอาจาริยวัตรสรงน้ำครูบาอาจารย์ผู้เป็นพระเถระด้วยการถูหลังถูเท้า รับผ้าอาบน้ำผลัดเปลี่ยน เสร็จแล้วตนเองจึงได้สรงน้ำ เมื่อสรงน้ำเสร็จเวลาย่ำค่ำ 1 ทุ่ม พร้อมกันขึ้นศาลาโรงธรรม ประธานสงฆ์โดยมีพระอาจารย์สีโห ได้นำทำวัตรสวดมนต์เย็น จบแล้วทั้งพระภิกษุสามเณรได้ร่วมกันกล่าวคำอธิษฐานเข้าพรรษา ท่านให้ว่าทีละองค์ตามลำดับพรรษา จนครบหมดทุกองค์จึงได้เลิกกัน

หลวงปู่เล่าว่า ในพรรษานี้ได้ตั้งใจทำความเพียรไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ เวลากลางวันหลังจากฉันจังหันเช้าเสร็จแล้วล้างบาตร เก็บกวาดที่ฉัน ทำข้อวัตรเสร็จแล้วก็สะพายบาตรกลับกุฏิ พอถึงกุฏิแล้วไม่ขึ้นกุฏิ ยื่นบาตรขึ้นไว้บนกุฏิให้ห่างจากที่ตก 1 ศอก แล้วเข้าสู่ทางเดินจงกรม การเดินจงกรม ได้แก่ การเดินภาวนานั่นเอง เดินไม่ช้าไม่เร็ว กำหนดรู้ที่ใจ สติเป็นเพื่อนของใจ บางวันก็เดินจงถึงเวลาทำกิจวัตร คือบ่าย 4 โมงเย็น กวาดลานวัด บางวันเดินจงกรมเหนื่อยก็นั่งภาวนาสลับกันไปจนถึงเวลาทำกิจวัตร จึงออกจากทางเดินจงกรม

บางวันฝนตกก็นุ่งผ้าอาบน้ำเดินจงกรมตากฝนอยู่อย่างนั้น เร่งทำความเพียรทั้งกลางวันและกลางคืนไม่ประมาท หาอุบายฝึกฝนทรมานตนเอง ถ้าเราไม่ฝึกตนเองก็ไม่มีใครที่ไหนจะฝึกให้เรา เราต้องฝึกตนเองเพื่อให้เกิดกำลังสติ สมาธิ และปัญญาในทางอริยมรรค

บางครั้งเวลาเดินจงกรม ถีนมิทธะความง่วงเหงาหาวนอนเกิดขึ้นก็ต้องฝืน ไม่ได้ปล่อยตามความต้องการ การทำทางเดินจงกรมนั้นปลายทางทั้งสองข้างเป็นพุ่มหนามคัดเค้า พอเดินจงกรมขาดสติเคลิ้มไปก็เดินเลยเข้าพุ่มหนาม หนามเกาะหูเกาะขา เมื่อรู้สึกตัวปลดหนามออกกลับเดินจงกรมใหม่ ทำอยู่อย่างนั้นจนความง่วงหายไปเพราะกำลังสติกล้าขึ้น ในที่สุดจิตก็ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว มีสติระลึกรู้ตื่นอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เป็นข้าศึกทั้งหลายเหล่านั้นก็หมดกำลังและสงบไป การทำความเพียรในพรรษานี้ได้รับผลคือความสงบทางใจเป็นอันมาก

ไปศึกษาข้อวัตรปฏิบัติกับท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล

หลวงปู่เล่าว่า โอวาทธรรมที่หลวงปู่เสาร์ได้เตือน “ให้ตั้งใจให้ดี ตั้งสติให้ดี” ในคราวเป็นสามเณรไปกราบนมัสการท่านที่วัดป่าสุทธาวาสในคราวนั้น ยังเอิบอิ่มอยู่ในจิตใจ ด้วยเหตุนี้เมื่อได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว จึงได้คิดอยู่เสมอว่า อยากจะไปอยู่ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติและฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล

เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้วย่างเข้าฤดูหนาว ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวนำขึ้นไปใส่ยุ้งใส่เล้าเสร็จแล้ว เป็นฤดูที่เหมาะแก่การเที่ยววิเวกธุดงค์หาความสงบตามสถานที่ต่างๆ พระอาจารย์พานและพระภิกษุบุญจันทร์ พร้อมด้วยพระภิกษุ 1 รูป สามเณร 1 รูป รวมเป็น 4 รูปด้วยกัน ได้พร้อมกันกราบลาพระอาจารย์สีโห เขมโก เพื่อเดินทางไปศึกษาอบรมกับท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล

ในระหว่างเดินทาง ท่านพระอาจารย์พานได้พาพักวิเวกไปตามหมู่บ้านต่างๆ อบรมประชาชนให้เข้าถึงพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง ที่บ้านเขืองใหญ่มีประชาชนมารับการอบรมฟังธรรม ทั้งผู้เฒ่าผู้แก่เด็กหนุ่มสาวเป็นจำนวนมาก พักอยู่ที่บ้านเขืองใหญ่นี้เป็นเวลา 5 คืน ท่านอาจารย์พานจึงพาเที่ยวไปทางบ้านตาอุดตาเสือ และบ้านเหล่าแขม เมื่อเวลาอยู่ที่นั่น ท่านอาจารย์พานได้อบรมประชาชนให้นั่งสมาธิบ้าง เดินจงกรมบ้าง โดยให้ยึดเอาพุทโธเป็นอารมณ์ของใจ

อยู่มาวันหนึ่ง ได้มีพวกหนุ่มสาวพร้อมทั้งผู้ใหญ่บ้านเหล่าแขม ชื่อผู้ใหญ่เกษ ได้มารับการอบรมธรรมะ ท่านอาจารย์พานได้สอนให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ คือ ให้เป็นผู้มีความเคารพในพระพุทธเจ้า เคารพในพระธรรม เคารพในพระสงฆ์ ให้เชื่อในผลของกรรมว่าทำดีจักได้รับผลดี ทำชั่วจักได้รับผลชั่ว หลวงปู่เล่าว่า ตัวท่านเองได้เป็นผู้เอาใจใส่ในอาจาริยวัตร คอยดูแลอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ นั่งอยู่เป็นเพื่อนครูบาอาจารย์ในเวลามีแขกญาติโยมมาหาครูบาอาจารย์ จนแขกญาติโยมเลิกกลับไปหมดจึงจะได้พักผ่อน

อยู่ต่อมาวันหนึ่งไม่รู้ว่าเรื่องอะไร เป็นเวลาในราว 1 ทุ่ม ในขณะนั้นท่านอาจารย์พานกำลังเทศนาอบรมอยู่ ได้มีคนร้ายมาขว้างค้อนใส่ ครั้งที่ 1 ถูกต้นไม้ ครั้งที่ 2 ก็ถูกต้นไม้อีก ครั้งที่ 3 เป็นก้อนดินขว้างเข้ามาถูกต้นไม้แตกกระเด็นมาถูกหัวภรรยาผู้ใหญ่บ้าน ในขณะนั้นมีผู้ชายคนหนึ่งมานั่งฟังเทศน์อยู่ด้วย จึงวิ่งออกไปดู พวกเหล่าร้ายนั้นพากันวิ่งเตลิดหนีไป ไม่ว่ายุคใดสมัยใด คนเรานี้มีทั้งดีทั้งไม่ดีปะปนกันอยู่อย่างนั้น คนดีมีจิตใจประกอบไปด้วยศีลธรรมก็ตั้งใจฟังธรรมแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติตาม คนร้ายจิตใจร้ายกาจเต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา คอยแต่จะเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น

พักอบรมอยู่บ้านเหล่าแขม เป็นเวลา 15 วัน พอดีมีโยมอีกบ้านหนึ่ง เขามาขอนิมนต์ไปพักอยู่ดอนอารักษ์ของเขา ท่านอาจารย์พานจึงได้พาไปโปรดญาติโยมตามที่เขานิมนต์นั้น พอไปพักอยู่ที่นั่น ได้มีคนมาฟังเทศน์รับการอบรมเป็นจำนวนมาก ท่านอาจารย์พานได้เทศน์อบรมญาติโยมที่ออกมาฟังเทศน์ในเวลากลางคืน มีคนเกิดศรัทธาเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก มีทั้งคนหนุ่มคนสาวออกไปรับการอบรมด้วย ในระยะนั้นท่านอาจารย์กำลังเทศน์อบรมอยู่ พวกชายหนุ่มเขาพากันเป่าแคนทำการรบกวนมาก ท่านอาจารย์จึงได้ห้ามให้เขาหยุด เขาก็ไม่หยุด ท่านจึงสั่งให้ญาติโยมที่นั่งรับการอบรมอยู่นั้นเลิกกลับบ้านหมด พอญาติโยมกลับบ้านไปหมดแล้ว ท่านอาจารย์พานพร้อมด้วยพระเณรลูกศิษย์กำลังนั่งสนทนาพูดคุยกันอยู่ ในระยะนั้นเป็นเวลาประมาณ 3 ทุ่ม

พุทธานุภาพมีอำนาจกว่าดิรัจฉานวิชา

ไม่มีลมมีฝนอะไรเลย แต่มีเสียงอันหนึ่งดังมาเป็นเสียงอึดๆ มาทางอากาศ คงจะเป็นเวทมนตร์เขาทำมาทดลองพระกรรมฐาน พอมาถึงต้นไม้ มีกิ่งไม้หักลงมา จะว่าลมก็ไม่เห็นมีลมพัดอะไร ท่านอาจารย์พานจึงบอกว่าคงจะเป็นเขาปล่อยวัวธนู แต่ท่านไม่กลัวเพราะท่านมีความเชื่อมั่นต่อพุทโธอยู่แล้ว พุทโธเป็นใหญ่ในโลกสาม ผู้ใดมีความเชื่อมั่นต่อพุทโธ ตั้งใจปฏิบัติ ไปไหนมาไหนมีพุทโธประจำใจ ใจเข้าถึงพุทโธ พุทโธเข้าถึงใจแล้วไม่มีเวรมีภัย ได้พักอยู่ที่ดอกอารักษ์ บ้านเหล่ากอยนี้ 3 คืน พอดีท่านอาจารย์พ่านได้พาออกเดินทางต่อไปอำเภอพนมไพร หลวงปู่เล่าว่า พอผ่านตัวอำเภอพนมไพรก็เลยไปถึงบ้านคำพระ (กุดโอ) ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านเอง

พบมารดาผู้บังเกิดเกล้าเป็นครั้งสุดท้าย

เมื่อพระอาจารย์พานพาลูกศิษย์เดินเที่ยววิเวกรอนแรมมาถึงบ้านคำพระ ได้เข้าพักกางกลดในป่าดอนธาตุนั้นเอง เมื่อโยมมารดาของหลวงปู่ได้ทราบว่าลูกชายสุดที่รักของตน พร้อมด้วยครูบาอาจารย์มาพักที่ป่าดอนธาตุใกล้บ้านของตน จึงได้ออกมาต้อนรับถวายหมากพลูบุหรี่ ตามประเพณีชาวพุทธในครั้งนั้น ท่านอาจารย์พานได้เทศน์ธรรมให้ฟังบ้างเล็กน้อย เพราะเวลาไม่มาก เมื่อหลวงปู่มองดูโยมมารดาแล้วเกิดความสลดใจเป็นอย่างยิ่ง

ในขณะนั้นได้มีความรู้อันหนึ่งขึ้นในใจว่า “แม่ของเรานี้เห็นจะอายุสั้นมากนัก” แต่แล้วก็ไม่กล้าจะพูดอะไรให้ฟัง เพียงแต่เตือนสติให้ตั้งใจภาวนาให้มากๆ เท่านั้น แล้วโยมแม่ก็กลับเข้าบ้านไป พักอยู่ที่นี่ 1 คืน พอรุ่งเช้าก็เข้าบิณฑบาตตามสมณวิสัย แล้วกลับมาฉัน มีญาติโยมตามมาถวายจังหันบ้างไม่มากนัก ในวันนั้นฝนตกตลอดวัน พอฉันจังหันเสร็จแล้ว พระอาจารย์พานได้พาออกเดินทางต่อไปถึงบ้านกระจายศรีฐาน ค่ำพอดีเข้าพักที่วัดป่ากระจายศรีฐาน พักอยู่ได้ 6 วัน พอวันที่ 7 พี่ชายใหญ่ คือนายอ่อนสี ได้ตามมา

ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป

หลวงปู่เล่าว่า “พอมองเห็นพี่ชายเดินเข้าวัดมา ในใจก็นึกขึ้นมาเองว่ามารดาของเราคงตายเสียแล้ว พอพี่ชายเข้ามาถึง จึงพูดไปเรื่องอื่นปลอบใจพี่ชายเสียก่อน เพราะกลัวว่าพี่ชายจะอดกลั้นความเศร้าโศกเสียใจไม่ได้ เพราะความเป็นห่วงในมารดาของตนที่จากไปไม่มีวันกลับ”

พอพูดเรื่องอื่นไปพอสมควรแล้ว จึงย้อนถามพี่ชายว่ามาในเวลานี้มีธุระอะไรกันแน่ พี่ชายจึงพูดขึ้นด้วยความเศร้าใจว่า “บัดนี้มารดาของเราได้ถึงแก่กรรมไปเสียแล้ว” พอพี่ชายพูดอย่างนั้น จึงได้พูดกับพี่ชายว่า “ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร หายใจตาง (แทน) กันก็ไม่ได้แล้ว เพราะว่าความตายเป็นของธรรมดาอยู่แล้ว เราก็จะตายเช่นกันไม่ว่าแต่มารดาของเราเลย เกิดกับตายเป็นของคู่กัน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จะให้ทำอย่างไร จะให้กลับหรือทำอย่างไร”

พี่ชายจึงพูดว่า “การจะกลับหรือไม่กลับนั้นก็ไม่ว่า เวลานี้เป็นแต่เพียงตามมาบอกข่าวให้ทราบเท่านั้น” พอพี่ชายพูดอย่างนั้นจึงได้พูดกับพี่ชายว่า “การจะกลับนั้นเห็นจะกลับไม่ได้เพราะเวลานี้ก็จวนจะเข้าพรรษาแล้ว การจำพรรษานั้นยังไม่รู้ว่าจะได้จำที่ไหนแน่” และได้ย้อนถามพี่ชายว่า “เวลานี้ได้เก็บศพแม่ไว้อย่างไร เผาหรือฝัง” พี่ชายตอบว่า “ฝังไว้” จึงบอกพี่ชายว่า “ถ้าอย่างนั้นนัดกันตอนเดือน 4 จึงจะกลับไปทำบุญและนำศพแม่ขึ้นมาเผา”

เมื่อพูดกับพี่ชายเช่นนั้นแล้ว พี่ชายได้พักอยู่ที่นี่ด้วย 1 คืน จึงเดินทางกลับไป ตัวเองก็ได้พักอีก 1 คืน ท่านพระอาจารย์พานจึงได้พาออกเดินทางต่อไปยังอุบลราชธานี เพื่อจะได้นมัสการฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล เมื่อเดินทางไปถึงบ้านท่าวารี ได้พักอยู่กับท่านพระอาจารย์ทอง 1 คืน จึงออกเดินทางต่อไปบ้านข่าโคม (บ้านเกิดของท่านพระอาจารย์เสาร์) เพื่อที่จะได้ฟังธรรมของท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ เพราะมีความหิวกระหายในการที่จะฟังธรรมเป็นอันมาก เมื่อเดินทางถึงบ้านข่าโคมแล้ว ท่านพระอาจารย์พานจึงได้พาลูกศิษย์ที่เดินทางด้วยกัน เข้ากราบนมัสการท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล พร้อมทั้งถวายตัวเป็นศิษย์ขอนิสัยจากท่าน และขอฟังธรรมจากท่านด้วย

พระอาจารย์ใหญ่เสาร์แสดงธรรมให้ฟัง

หลวงปู่เล่าว่า ในขณะนั้นท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ก็แก่ชรามากแล้ว ท่านไม่ค่อยแสดงธรรมอะไรมาก “ท่านสั่งให้พิจารณาความตายให้มากๆ ไม่ว่าคนว่าสัตว์เกิดมาแล้วก็ต้องตาย เพราะเกิดกับตายเป็นของคู่กัน จึงเป็นสิ่งที่ถูกกับจริตนิสัยของเรา เพราะปกติในคราวเป็นเด็กก็เคยพิจารณาความตายเป็นนิสัยมาอยู่แล้ว”


(มีต่อ 3)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 25 พ.ค.2007, 5:50 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
พระอาจารย์บัวพา ปญฺญาภาโส


๏ พรรษาที่ 2 พ.ศ. 2480
จำพรรษาที่วัดป่าบ้านวังถ้ำ จ.อุบลราชธานี


พรรษาที่ 2

เมื่อจวนจะเข้าพรรรษา มีโยมจากบ้านวังถ้ำมาขอพระกับท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ ให้ไปอยู่จำพรรษาที่สำนักป่าบ้านวังถ้ำ ท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์จึงสั่งว่า ให้ท่านบุญไปอยู่บ้านวังถ้ำกับท่านพระอาจารย์คำบง และก็มีท่านพระอาจารย์คำ สุมงฺคโล ด้วยองค์หนึ่ง

สำหรับท่านอาจารย์พานนั้น ท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ได้จัดให้ไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านปะอาว จึงได้แยกกันกับท่านพระอาจารย์พาน ในพรรษานี้ได้ตั้งใจประกอบความเพียรด้วยความไม่ประมาท ได้ไปรับการอบรมฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ ที่วัดป่าบ้านข่าโคมอยู่เนืองนิจ ซึ่งมี พระอาจารย์บัวพา ปญฺญาภาโส เป็นพระผู้อุปัฏฐากดูแลท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์

ในขณะนั้นจิตได้รับความสงบเยือกเย็น แต่การมีปัญญารู้เห็นอย่างอื่นยังไม่มี อยู่มาวันหนึ่งในขณะที่เดินจงกรมทำความเพียรอยู่แต่หัวค่ำ เดินไปมาจิตรวมลงเป็นหนึ่ง เกิดแสงสว่างขึ้นสว่างไสว ในขณะจิตนั้นจึงนึกขึ้นว่านี้แสงอะไร แสงสว่างนั้นจึงหายไป ในขณะนั้นจิตก็ยังสงบอยู่ และเดินจงกรมต่อไป

ทดสอบความจริง

ชาวบ้านวังถ้ำเขาลือกันว่าในป่าช้ามีผีตายทั้งกลมดุมาก เวลากลางคืนจะดันดินกลบหลุมฝังศพขึ้นมา อยู่ต่อมาท่านพระอาจารย์คำบงได้พาไปเยี่ยมป่าช้า (ไปภาวนาในป่าช้า) ในเวลากลางคืนวันนั้นเดือนแจ้งสว่าง หลวงปู่บอกว่า “เราต้องการจะทดสอบความจริงตามที่เขาเล่าลือกัน จึงเลือกเอาที่หลุมฝังศพผีทั้งกลมนั้นเป็นที่นั่งภาวนา เอาผ้าปูลงบนเนินดินที่เขากลบศพไว้นั่นเอง ตั้งจิตอธิษฐานบูชาต่อพระรัตนตรัย ถ้ามีอะไรถ้าผีมันดุเหมือนเขาลือกันให้มันดันก้นที่นั่งภาวนาอยู่นี้ขึ้นมาเลย จะได้พูดคุยกัน” ในที่สุดไม่มีอะไร นั่งภาวนาไปจนถึงเวลา 6 ทุ่ม ท่านพระอาจารย์คำบงจึงได้พากลับวัด

ไปอย่างมีครู อยู่อย่างมีอาจารย์

ครั้นอยู่จำพรรษาที่วัดป่าบ้านวังถ้ำ ครบไตรมาส 3 เดือน แล้วจึงได้ปวารณาออกพรรษา ครั้นออกพรรษาแล้วได้มีการทอดกฐินและกรานกฐิน ท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ได้มาเป็นประธานในงานนี้ด้วย ต่อมาที่วัดป่าบ้านข่าโคมซึ่งเป็นที่ท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์จำพรรษา ได้มีศรัทธาชาววังจากกรุงเทพมหานคร นำผ้ากฐินและผ้าบังสุกุล จำนวน 70 ไตร มาทอดถวาย ครูบาอาจารย์พระเณรที่อยู่ในละแวะนั้นได้มาร่วมช่วยกันตัดเย็บผ้ากฐิน ในจำนวนพระ 70 รูปที่จะรับผ้าไตรบังสุกุล 70 ไตรนั้น ท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์จึงได้สั่งว่า “ให้ท่านบุญด้วยองค์หนึ่งเป็นผู้ชักผ้าบังสุกุล” (พระอาจารย์ใหญ่เสาร์มักเรียกหลวงปู่ว่า “บุญ”)

เมื่อครูบาอาจารย์สั่งอย่างไรจึงได้ทำอย่างนั้น เมื่อศรัทธาญาติโยมทอดผ้ากฐินบังสุกุลเสร็จแล้ว ญาติโยมชาววังจึงขอนิมนต์ให้ท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ แสดงธรรมให้ฟัง เมื่อท่านขึ้นไปนั่งบนธรรมาสน์ พระภิกษุสามเณรและญาติโยมต่างก็ตั้งอยู่ในความสงบ คอยสดับรับฟังธรรม ท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์เริ่มแสดงธรรม ท่านตั้งนะโม 3 จบ เสร็จแล้วท่านก็ว่า “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้” จบแล้วท่านก็ลงจากธรรมาสน์ ท่านเป็นผู้มีนิสัยพูดน้อยและเยือกเย็น

เมื่อเสร็จกิจของสงฆ์ในเรื่องกฐินแล้ว ท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์จึงได้สั่งว่า “ให้ท่านบุญไปอยู่เป็นเพื่อนท่านพระอาจารย์อาดที่วัดสำราญ อำเภอวารินชำราบ” จึงได้ไปตามคำสั่งของครูบาอาจารย์ เมื่อไปอยู่วัดสำราญกับท่านพระอาจารย์อาด ก็ได้ตั้งใจประกอบความพากเพียรไม่ประมาท ทำอาจาริยวัตร กิจวัตรข้อวัตรกับครูบาอาจารย์ด้วยความเอาใจใส่ การประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่ว่าภายนอกภายใน เราเป็นผู้ทำเองคนอื่นทำให้เราไม่ได้

Image
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)


ได้กราบนมัสการสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)

หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า ในระยะที่อยู่กับท่านอาจารย์อาดที่วัดสำราญนี้ สมเด็จท่านได้ออกตรวจการคณะสงฆ์มณฑลอุบลราชธานี อยู่มาวันหนึ่งท่านได้เข้ามาที่วัดสำราญโดยไม่ได้บอกให้ทราบล่วงหน้า พอเข้ามาถึงวัดท่านจะเดินรอบวัดเลย ดูว่าพระเณรในวัดจะมีข้อวัตรปฏิบัติหรือไม่ พอเห็นท่านมาอย่างนั้นจึงได้เตรียมต้อนรับท่านที่กุฏิเจ้าอาวาส ซึ่งกุฏหลังนั้นพวกคณะทหารที่อุบลราชธานีเป็นผู้สร้างถวาย เขาเอาเขากวาง เขากระทิงมาติดไว้ที่กุฏิ

ท่านจึงถามว่า “เอามาไว้ทำไมของพวกนี้ เดี๋ยวเขาจะมาตีหัวมันนะ กัมมัฏฐาน” ท่านอาจารย์อาดจึงกราบเรียนท่านว่า “เป็นของพวกทหารเขาเอามาประดับกุฏิของเขาเกล้ากระผม” ท่านจึงเงียบไป พอท่านนั่งบนอาสนะที่จัดถวายแล้ว ท่านอาจารย์อาดจึงพากราบนมัสการท่าน เสร็จแล้วท่านจึงถามว่า “ท่านองค์นี้มาจากไหน” หลวงปู่จึงประนมมือแล้วกล่าวคำว่า “ขอโอกาส” ตามแบบพระกัมมัฏฐาน สมเด็จท่านจึงพูดขึ้นว่า “ลูกศิษย์ท่านสิงห์มันเล่นแต่ขอโอกาสกันส่วนมาก” หลวงปู่หยุดพูด สมเด็จจึงบอก “พูดไปสิ” หลวงปู่กราบเรียนว่า “เกล้ากระผมมาจากจังหวัดร้อยเอ็ด” เมื่อท่านทักทายปราศรัยพอสมควรแล้วท่านจึงได้ลาจากไป

เป็นห่วงในการจะทำบุญอุทิศให้โยมมารดา

หลวงปู่ได้อยู่กับท่านพระอาจารย์อาดก็เป็นเวลาน้อย เพราะจวนจะกลับบ้านเกิดมาทำบุญอุทิศถึงโยมมารดาที่ได้ล่วงลับไปแล้ว จึงได้ปรารภให้ท่านพระอาจารย์อาดทราบ ท่านก็ไม่ขัดข้อง ต่อมาจึงได้จัดเตรียมบริขาร กล่าวมอบเสนาสนะแล้วกราบคารวะลาท่านอาจารย์อาด เดินทางจากวัดสำราญ อำเภอวารินชำราบ เข้ามาพักที่วัดเลียบ ในเมืองอุบลราชธานี

พอดีท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ก็ได้มาพักที่นั้นด้วยพอดี จึงได้เข้ากราบนมัสการกราบเรียนให้ท่านทราบถึงการที่จะกลับร้อยเอ็ด เพื่อทำบุญอุทิศให้โยมมารดา ท่านก็อนุญาตและท่านได้เตือนสติว่า “ให้ตั้งใจให้ดีอย่าประมาท” พอท่านเตือนสติเท่านั้น เกิดปิติเป็นอย่างยิ่งในคำเตือนของท่าน น้อมรับโอวาทธรรมนำมาปฏิบัติตั้งอยู่ในความไม่ประมาทตลอดมา

ได้พักอยู่วัดเลียบไม่นาน เมื่อได้กราบนมัสการลาท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ และท่านอนุญาต ทำการคารวะขอขมาโทษท่านตามธรรมเนียมของพระกัมมัฏฐานในสมัยนั้น เสร็จตั้งแต่ตอนเย็นแล้ว พอตอนเช้าบิณฑบาตตามสมณวิสัย ฉันเสร็จแล้วจึงเตรียมบริขาร มอบเสนาสนะแก่พระในวัดแล้ว ออกเดินทางจากวัดเลียบลำพังองค์เดียว เมื่อมาถึงบ้านปะอาว ได้แวะพักที่วัดป่าบ้านปะอาว เพื่อกราบลาพระอาจารย์พาน ได้กราบเรียนให้ท่านทราบถึงการจะกลับไปทำบุญอุทิศถึงโยมมารดา ท่านก็อนุญาต จากนั้นจึงได้ออกเดินทางจาดวัดป่าบ้านปะอาว โดยมีพระสมเป็นเพื่อนเดินทางด้วยมุ่งหน้าสู่พนมไพร

ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เป็นไปตามคาดหมาย

เดินทางด้วยเท้ารอนแรมมาเรื่อยๆ พักระหว่างทางมาตามสบาย ไม่รีบร้อน ในใจจดจ่อในเรื่องทำบุญอุทิศให้โยมมารดา เพราะได้นัดหมายไว้กับโยมพี่ชาย ว่าเดือน 4 จะกลับมาทำบุญอุทิศให้แม่โดยพร้อมเพรียงกัน ในที่สุดการเดินทางจากอุบลราชธานี ก็ได้บรรลุถึงบ้านคำพระ (กุดโอ) อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นบ้านเกิดในระยะเดือน 4 พอดี แต่ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เป็นไปตามคาดหมายและนัดหมายไว้

เมื่อมาถึงบ้านแล้วไม่พบพี่น้องสักคนเลย บ้านที่เขาเคยอยู่ก็ไม่มี เหลือแต่เป็นสวนหม่อน สวนกล้วย “อนิจจาเอ๋ย ทุกสิ่งก็ไม่ได้ทำ” หลวงปู่รำพึงในใจ เมื่อถามชาวบ้านเขาจึงได้ความว่า พี่สาวพี่ชายได้อพยพหนีขึ้นไปอยู่บ้านไชยวาน อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เมื่อไม่ได้ทำบุญอุทิศให้โยมมารดาตามที่ได้นัดหมายกับพี่ชายไว้แล้ว จึงออกเดินทางจากบ้านคำพระต่อไปที่อำเภอพนมไพร เข้าจังหวัดร้อยเอ็ด เดินทางต่อไปที่กิ่งไผ่ (อำเภอบ้านไผ่) ขึ้นรถไฟที่สถานีกิ่งไผ่ไปลงที่สถานีจังหวัดอุดรธานี

Image
พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม


ที่วัดป่าโนนนิเวศน์

เมื่อลงจากรถไฟแล้วได้เดินทางต่อไปที่วัดป่าโนนนิเวศน์ หลวงปู่เล่าว่า วัดป่าโนนนิเวศน์อยู่ติดกับป่าช้าเมืองอุดรธานี สมัยนั้นเป็นป่าดงมีต้นไม้ใหญ่ๆ และอยู่ห่างจากเมืองอุดรฯ พอเวลาเย็นลงแล้วไม่มีใครอยากผ่านเพราะกลัวผี ในเวลานั้น ท่านพระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม เป็นเจ้าอาวาสอยู่ในที่นั้น เมื่อหลวงปู่เดินทางไปถึงวัดป่าโนนนิเวศได้ปฏิบัติตามอาคันตุกวัตร เข้ากราบท่านพระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม ถวายตัวเป็นศิษย์และขอนิสัยจากท่าน ท่านจัดให้พักที่กุฏเล็กๆ หลังหนึ่ง ในขณะที่พักอยู่กับท่านพระอาจารย์ภุมมีนั้น ได้ตั้งใจปฏิบัติเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา และทำอาจาริยวัตรด้วยความเคารพไม่ให้ขาด

พระอาจารย์ภุมมีทดสอบครั้งที่ 1 เรื่องความตั้งใจ

หลวงปู่เล่าว่า “ขณะที่เราเป็นพระพรรษายังอ่อน ถูกครูบาอาจารย์ทดสอบอยู่บ่อยๆ” ในขณะที่พักอยู่กับท่านพระอาจารย์ภุมมีนั้น ในตอนเย็นก็ทำข้อวัตรตักน้ำใส่ตุ่มในห้องน้ำของท่าน เสร็จแล้วพอค่ำก็เดินจงกรม เมื่อเดินจงกรมเสร็จแล้วขึ้นกุฏิทำวัตรสวดมนต์ จบแล้วเข้าที่นั่งสมาธิภาวนาพิจารณาความตายเป็นอารมณ์

เมื่อหยุดจากนั่งสมาธิภาวนาแล้วก็จำวัดนอนภาวนาตั้งสติไว้ เมื่อรู้สึกตัวก็ลุกขึ้น ในขณะนั้นเป็นเวลาประมาณตี 1 ท่านพระอาจารย์ภุมมี มาเรียกว่า “บุญ” พอได้ยินเสียงท่านเรียกคำเดียว จึงตอบท่านว่า “กระผม” พอท่านได้ยินเสียงตอบรับแล้ว ท่านก็ตอบใหญ่เลยว่า “ทำไมไม่รู้จักเอาน้ำใส่ตุ่มใส่โอ่งในห้องน้ำ หาน้ำจะล้างส้วมก็ไม่มี” พอได้ยินท่านว่าอย่างนี้จึงนึกอยู่ในใจว่า “น้ำเราก็ตักใส่ตุ่มใส่โอ่งไว้เต็มแล้ว ทำไมครูบาอาจารย์จึงว่าไม่มีน้ำ” ในขณะจิตหนึ่งจึงนึกขึ้นว่า “หรือว่าท่านจะทดลองเรา”

แล้วหลวงปู่รีบลงจากกุฏิไปดูที่ห้องน้ำ ในตุ่มไม่มีน้ำเลย หลวงปู่บอกว่าน้ำที่ตักใส่ตุ่มไว้แต่ตอนเย็นนั้นทั้งอาบทั้งใช้ก็ไม่หมดเพราะห้องน้ำนั้นเป็นห้องน้ำเฉพาะท่านอาจารย์ใช้องค์เดียว เมื่อดูว่าน้ำไม่มีแล้ว จึงถือเอาครุไปตักน้ำในบ่อสระ เดินฝ่าความมืดเพราะสมัยนั้นไฟฟ้ายังไม่มี นำน้ำมากรองใส่ตุ่มในห้องน้ำจนเต็ม แล้วท่านให้นวดเส้นไปจนถึงตี 4 ท่านจึงบอกให้กลับกุฏิ พอกลับถึงกุฏิแล้วไหว้พระทำวัตรเช้าเสร็จแล้ว ถือห่อผ้าครองลงจากกุฏิเข้าทางเดินจงกรมไปจนสว่าง “ในขณะจิตนั้นมีความเอิบอิ่มในจิตใจ ไม่มีความโกรธความเคืองใจในครูบาอาจารย์ที่ท่านทดสอบเราเลย”

พระอาจารย์ภุมมีทดสอบครั้งที่ 2 เรื่องความอดทน

หลวงปู่เล่าว่า อยู่ต่อมาท่านทดสอบอีก ในวันนั้นมีโยมนำใบพลูสำหรับฉันหมากมาถวายท่านพระอาจารย์ 1 ชบ ท่านให้โยมเอาตั้งไว้ที่ระเบียงกุฏิท่าน พอถึงเวลาเย็นทำอาจาริยวัตรสรงน้ำท่านเสร็จแล้ว ท่านพระอาจารย์จึงพูดว่า “คืนนี้ให้ท่านบุญมาเฝ้าใบพลูที่โยมเขาเอาถวายนี้ ที่ระเบียงกุฏิ” หลวงปู่เล่าว่า พอได้ยินท่านพระอาจารย์บอกอย่างนั้นก็นึกขึ้นในใจอีกว่า “ประสาพลูแค่นี้ก็จะให้มาเฝ้า” แต่แล้วในขณะจิตหนึ่งจึงนึกขึ้นว่า ท่านคงจะทดสอบเราอีก

เมื่อกลับถึงกุฏิตัวเองสรงน้ำเสร็จแล้ว ได้ห่อผ้าครองแล้วกลับมานั่งภาวนาเฝ้าใบพลูที่ระเบียงกุฏิท่านพระอาจารย์ ยุงก็มาก อาศัยความอดทนและความเพียรนั่งภาวนาเฝ้าใบพลูสู้กับยุงไป จนถึงเวลาดึกสงัดได้ยินเสียงท่านพระอาจารย์เปิดประตูออกมาดู เห็นเรานั่งอยู่ ท่านจึงพูดขึ้นว่า “โอ้ ยังอยู่หรือนึกว่าหนีไปแล้ว” ท่านจึงเรียกเข้าไปในกุฏิแล้วให้นวดเส้นจนใกล้สว่างท่านจึงให้หยุด เมื่อลงจากกุฏิท่านพระอาจารย์แล้วกลับไปกุฏตัวเองเข้าทางเดินจงกรมต่อไปจนสว่าง

พระอาจารย์ภุมมีทดสอบครั้งที่ 3 เรื่องความสำรวม

ต่อมาท่านพระอาจารย์ภุมมีทดสอบอีก ในวันนั้นเมื่อฉันจังหันเช้าเสร็จแล้ว ท่านพระอาจารย์บอกว่า “ให้ท่านบุญไปบอกนางมที มาหาด้วย” นางมทีเป็นหลานสาวของท่าน อยู่บ้านไก่เถื่อนซึ่งห่างจากวัดป่าโนนนิเวศพอประมาณ หลวงปู่เล่าว่า พอท่านพระอาจารย์บอกแล้วก็คลุมจีวรเสร็จเรียบร้อย จึงเรียกเด็กวัดชื่อนายสำรวย ว่า “สำรวยๆ ไปเป็นเพื่อนครูบาด้วย”

พอท่านพระอาจารย์ได้ยิน ท่านจึงดุเอาว่า “ไปคนเดียวไม่ได้หรือ” แล้วท่านก็ไม่ให้นายสำรวยไปด้วย หลวงปู่จึงเดินทางออกจากวัดป่าโนนนิเวศไปบ้านไก่เถื่อนเพียงองค์เดียว เดินไปในใจคิดว่าครูบาอาจารย์คงจะทดสอบเราอีก จึงตั้งสติสำรวมจิตไว้ให้ดี พอไปถึงบ้านหลานสาวท่านพระอาจารย์ เห็นสาวมทีกำลังขึ้นตักข้าวเปลือกอยู่บนเล้า (ยุ้งข้าว) จึงเดินเข้าไปใกล้พอพูดได้ยินแล้วบอกว่า “มที ท่านอาจารย์ภุมมี สั่งให้เจ้าไปหาท่านด้วยวันนี้” เมื่อบอกแล้ว หลวงปู่ก็เดินกลับวัด ไม่นานสาวมทีก็มาหาท่านอาจารย์ หลวงปู่บอกว่า ในขณะนั้นเราก็นั่งอยู่เป็นเพื่อนท่านพระอาจารย์ คิดว่าท่านจะมีเรื่องราวอะไรจึงให้ไปเรียกหลานสาวมา พอเขามาถึงแล้วก็ไม่มีอะไร

ท่านถามว่าเป็นอย่างไรไร่นาสู ถามเรื่องไร่นาเท่านั้นก็บอกให้กลับ พอสาวมทีเดินลงจากกุฏิท่านไป ท่านจึงพูดว่า “บุญๆ เบิ่งอีมทีมันย่างเอกเอ้น เอกเอ้นไป” (ดูนางมทีเดินอุ้งอุ้ย อุ้งอุ้ย) หลวงปู่เล่าว่าท่านนั่งสำรวมอยู่ ตาไม่ได้มองไปตามที่ท่านพระอาจารย์บอก สติก็กำหนดรู้อยู่ที่จิตของตัวเอง ในใจรู้อยู่ว่าครูบาอาจารย์ทดสอบ

พระอาจารย์ภุมมีทดสอบครั้งที่ 4 เรื่องอาหาร

หลวงปู่เล่าว่า ต่อมาท่านทดสอบเรื่องอาหารอีก มีคหบดีในเมืองอุดรเสียชีวิต ลูกหลานตั้งศพไว้หลายวัน ในวันหนึ่งเขาได้มานิมนต์ท่านพระอาจารย์กับพระในวัดไปฉันเช้าหน้าศพ ท่านพระอาจารย์จึงสั่ง “ให้ท่านบุญไปด้วยองค์หนึ่ง” พอไปถึงบ้านเจ้าภาพงานแล้วแทนที่ท่านจะให้นั่งตามลำดับพรรษา ท่านกลับบอก “ให้ท่านบุญมานั่งทางนี้” ท่านให้มานั่งอยู่ทางขวามือท่านองค์เดียว พอเจ้าภาพถวายอาหารอันไหนเป็นอาหารประณีตท่านจะส่งไปทางพระที่นั่งเป็นแถวอยู่ พออันเป็นผักเป็นน้ำพริกท่านจะส่งมาให้ “อันนี้ให้ท่านบุญ” เราก็ยินดีไม่ได้น้อยใจในครูบาอาจารย์ กลับดีใจว่าครูบาอาจารย์ท่านทดสอบเรา ฝึกเรา การอยู่กับครูบาอาจารย์จึงเป็นผลดี เพราะท่านเป็นครูฝึกเราให้มีความเข้มแข็งในการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้ความเห็นในธรรม

เมื่อพักอบรมอยู่กับท่านพระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม ชั่วระยะเวลาไม่นาน จึงได้กราบลาท่านเดินทางกลับไปอำเภอพนมไพรเพื่อคัดเลือกทหาร ในวันจะกลับนั้นท่านสั่งให้โยมเตรียมอาหารให้ฉันแต่เช้าเพราะต้องรีบไปให้ทันรถไฟ เมื่อฉันเสร็จท่านจึงสั่งให้สามล้อไปส่งที่สถานีรถไฟอุดรฯ พร้อมตีตั๋วรถไฟให้ด้วย ไปลงที่กิ่งไผ่ (อำเภอบ้านไผ่) เมื่อรถไฟถึงบ้านไผ่แล้วลงจากรถไฟแวะพักที่วัดป่าสุมนามัย วันหลังออกเดินทางด้วยเท้าไปจังหวัดร้อยเอ็ดทะลุถึงอำเภอพนมไพร

พักที่วัดป่าโนนช้างเผือกอีกระยะหนึ่งเพื่อรอการคัดเลือกทหาร ในขณะที่พักอยู่นั้นได้มีท่านนายอำเภอขุนประชาธรรมรักษ์ และคุณนายลิ้นจี่ สองสามีภรรยา ท่านเป็นผู้ใจบุญได้อุปถัมภ์บำรุงด้วยการถวายอาหารบิณฑบาต เมื่อถึงวันพระ ท่านก็ได้มาสมาทานรักษาอุโบสถศีล ฝึกเดินจงกรมและนั่งสมาธิภาวนาด้วย นับว่าท่านทั้งสองนี้เป็นผู้มีอุปการะคุณต่อหลวงปู่เป็นอย่างมาก ก่อนจะคัดเลือกทหาร ท่านขุนประชาธรรมรักษ์ได้ถามหลวงปู่ว่า “ท่านอยากเป็นทหารไหม” หลวงปู่ตอบว่า “อาตมาอยากเป็นพระ จะได้ปฏิบัติเชิดชูพระพุทธศาสนา” ท่านขุนบอกว่า “ผมจะช่วยยกเว้นให้” เมื่อเสร็จภาระในการคัดเลือกทหารแล้ว จึงได้อำลาท่านนายอำเภอและคุณนาย เดินทางต่อเข้ามาทางจังหวัดร้อยเอ็ด แวะพักที่วัดป่าศรีไพรวัลย์

Image
พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ


พบพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ

ในขณะนั้น ท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ได้มาพักที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ ท่านได้เป็นประธานสงฆ์ รองลงมาได้แก่ ท่านพระอาจารย์อินทร์, พระอาจารย์นิล และท่านพระอาจารย์เพ็ง ในระยะนั้นเมื่อหลวงปู่กลับจากการคัดเลือกทหารมาพักที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ จึงได้ขอนิสัยจากท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่เล่าว่า ในระยะนั้นได้เร่งทำความพากเพียร ไม่ประมาท เวลากลางวันเข้าไปนั่งภาวนาในดงไม้ลำดวน ยุงก้นปล่องก็ชุม นุ่งผ้าอาบน้ำใส่แต่อังสะ นั่งภาวนาอธิษฐานจิต ยุงกัดไม่ไล่ ปล่อยให้ยุงกิน ทานเลือดให้ยุง ในเบื้องต้นยุงกัดก็รู้สึกเจ็บ เอาขันติความอดทนตั้งเข้าไว้ ใช้ปัญญาพิจารณา กายก็ต่างหาก ยุงก็ต่างหาก ไม่ใช่ของเรา ความเจ็บความแสบร้อนก็ไม่ใช่ของเรา เจ็บปวดขนาดนี้ไม่เป็นไร ตกนรกยิ่งทรมานกว่านี้

เมื่อพิจารณาตั้งสติอยู่ไม่ให้คลาดเคลื่อน ในที่สุดจิตก็รวมลงเป็นสมาธิ วางความเจ็บความปวดทั้งหมด เหลือแต่ความสุขหาสิ่งเปรียบไม่ได้ เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิ ปรากฏว่ายุงที่กินเลือดแล้ว เลือดไหลออกจากก้นยุง หยดย้อยลงรอบที่นั่งของท่าน ทำอยู่อย่างนั้นหลายวัน

ในวันหนึ่งขณะที่จิตสงบลง เกิดนิมิตปรากฏเห็นกลดผุดขึ้นมา แล้วมีพระเถระองค์หนึ่งหัวล้านแดงนั่งอยู่ พอดีในขณะนั้นพังพอนวิ่งไล่กันมาเสียงดังจิ๊กแจ๊ก ใกล้ๆ ที่นั่งภาวนา จิตจึงถอนออกจากสมาธิ พอตอนเย็นทำอาจาริยวัตรสรงน้ำท่านพระอาจารย์อ่อนเสร็จแล้ว จึงขอโอกาสกราบเรียนเรื่องภาวนาถวายท่าน กราบเรียนท่านไปตามตรง ลืมนึกถึงว่าท่านเป็นคนหัวล้าน เมื่อท่านได้ฟังก็ยิ้มๆ และท่านได้แนะอุบายให้ว่า “อย่าปล่อยให้ยุงกัดเพราะยุงมีเชื้อมาลาเรีย จะทำให้เราลำบากทีหลัง ให้ใช้มุ้งกลดกางเสียก่อนจึงนั่งภาวนา” เมื่อได้รับคำเตือนจากท่านครูบาอาจารย์อย่างนั้น หลวงปู่ได้เร่งภาวนาในอิริยาบถทั้งสี่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ด้วยความไม่ประมาท

ทำอาจาริยวัตรด้วยความเคารพ

หลวงปู่บอกว่า ในระยะนั้นได้ตั้งใจปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์ ในตอนเย็นเมื่อถวายการสรงน้ำครูบาอาจารย์เสร็จแล้ว ตัวเองสรงน้ำเสร็จ เข้าสู่ทางเดินจงกรมจนถึงเวลา 2 ทุ่ม ขึ้นไปรวมกันที่ศาลาทำวัตรสวดมนต์ รับการอบรมจากท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ไปจนถึงเวลาเที่ยงคืน ท่านจึงพาเลิกประชุม เมื่อเลิกแล้วก็ตามไปส่งย่าม เทกระโถน ถวายนวดท่านเป็นประจำ

ในวันหนึ่งไม่ทราบว่าท่านจะทดลองหรืออย่างไร เมื่อถวายนวดไป ท่านไม่ยอมบอกให้หยุด ท่านนอนเงียบเหมือนหลับ พระที่ถวายนวดอยู่ด้วยกันก็ทยอยกลับกุฏิกันไปหมด เหลือแต่หลวงปู่นวดอยู่องค์เดียว ในใจก็คิดว่า ถ้าครูบาอาจารย์ไม่บอกให้หยุดก็จะไม่กลับกุฏิ

หลวงปู่เล่าว่า ท่านพระอาจารย์อ่อน ท่านมีลักษณะล่ำสัน เนื้อแน่น ถวายนวดท่านต้องใช้ศอกนวดลงตามเส้น เท้าก็ยันฝากุฏิช่วย ถึงขนาดนั้นท่านยังบอกว่าไม่ถึงเส้น ในวันนั้นหลวงปู่ถวายนวดท่านอยู่องค์เดียว จนได้ยินเสียงไก่ขันกก เป็นเวลาประมาณตีสามครึ่ง ท่านจึงลืมตาขึ้นพร้อมกับพูดว่า “ยังอยู่หรือ เอาละกลับกุฏิเสีย”

เมื่อท่านบอกอย่างนั้น หลวงปู่จึงหยุดนวดและประนมมือยกขึ้นใส่หัว กราบท่านแล้วลุกออกจากห้อง ปิดประตูให้ท่านแล้วเดินกลับกุฏิ เห็นว่าใกล้จะสว่างแล้วจึงขึ้นไปเอาผ้าครองบนกุฏิ กลับลงมาเข้าทางเดินจงกรมจนสว่าง หลวงปู่บอกว่า ทำอะไรก็ควรทำอย่างจริงจังด้วยความเคารพ หลวงปู่พักอยู่วัดป่าศรีไพรวัลย์จนกระทั่งจวนจะเข้าพรรษา พระอาจารย์อินทร์จึงจัดให้ไปจำพรรษาเป็นเพื่อน ท่านพระอาจารย์สวด เขมิโย ที่วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนเมือง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์


(มีต่อ 4)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 25 พ.ค.2007, 5:56 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พรรษาที่ 3-5 พ.ศ. 2481-2483
จำพรรษาที่วัดป่าสามัคคีธรรม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์


พรรษาที่ 3-5

จำพรรษาที่วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนเมือง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ 3 พรรษา ได้ช่วยเหลือครูบาอาจารย์ทำกิจที่สงฆ์จะพึงทำด้วยความเอาใจใส่ เพราะวัดนี้เป็นวัดสร้างใหม่ มีปัญหาหลายสิ่งหลายอย่าง

“พระเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด ไม่อยากให้พระกรรมฐานมาอยู่ในที่นี้ จึงรวมกันมาเพื่อขับไล่ให้ออก ให้เลิกการสร้างวัด ในที่สุดพวกเราก็เอาชนะด้วยความดี ความบริสุทธิ์ใจ เพราะเราไม่ได้อยู่เพื่อเบียดเบียนใคร อยู่เพื่อเจริญสมณธรรมต่างหาก เพราะในสถานที่นี้เป็นที่สงบดี ไม่พลุกพล่านด้วยฝูงชน เป็นป่าไม้ร่มรื่น”

สุดท้ายเรื่องปัญหาทั้งหลายก็สงบเรียบร้อยไปด้วยอำนาจแห่งศีลธรรม เรื่องภายในจิตใจ หลวงปู่ได้ตั้งใจทำความพากเพียร ไม่ประมาท พยายามไม่คุยกับญาติโยม เมื่อเหตุอะไรจะพูดก็พูดเฉพาะกับครูบาอาจารย์เท่านั้น ในระยะกาลเข้าพรรษา ท่านได้ตั้งใจสมาทานธุดงควัตร อดนอนบ้าง ฉันอาหารเฉพาะที่ตกในบาตรบ้าง บางครั้งก็งดอาหาร ฉันแต่น้ำ 3 วันก็มี 7 วันก็มี เพื่อสะดวกสะบายในการภาวนา ตัดภาระตัดกังวลได้หลายๆ อย่าง

เมตตากลายเป็นกามฉันท์

หลวงปู่เล่าว่า ในระหว่างที่จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนเมือง เป็นเวลา 3 ปีนั้น เมื่อออกพรรษาแล้ว ในช่วงฤดูแล้งได้ออกเที่ยววิเวกไปทางจังหวัดมหาสารคาม ครั้งหนึ่งได้ไปพักอยู่วัดป่าที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ได้มีหญิงสาวคนหนึ่งเป็นลูกกำพร้าพ่อแม่ตายจาก อาศัยอยู่กับญาติพี่น้อง มีศรัทธาเลื่อมใสเข้าวัดฟังธรรม

“อยู่มาวันหนึ่ง แกนำผ้าเช็ดหน้าที่ถักริมด้วยมือมาถวาย เราเห็นว่าแกเป็นลูกกำพร้าและมีศรัทธา จึงได้รับด้วยความเมตตาสงสาร พออยู่มาหลายวัน เราได้สังเกตเห็นจิตใจของตัวเองเปลี่ยนแปลงจากความเมตตาสงสารกลายเป็นกามฉันท์ ความยินดีพอใจในผู้หญิงคนนั้น เมื่อพิจารณาเห็นท่าไม่ดีอย่างนั้น ถ้าเราไม่รีบแก้ไขก็จะไม่มีใครจะแก้ไขให้ เราจึงได้ออกจากสถานที่นั้นไป” หลวงปู่ว่าเรื่องเมตตานี้แหละ ถ้าไม่ระวังให้ดี มันกลายเป็นกามฉันท์ได้

ผจญภัยดอกไม้พญามาร

อีกครั้งหนึ่งได้เที่ยววิเวกภาวนาไปตามป่าช้าหมู่บ้านต่างๆ ในเขตจังหวัดมหาสารคาม ในวันนั้นเดินทางทั้งวัน บ่าสะพายบาตร แบกกลด มือถือกาน้ำ เดินไปภาวนาไป สติเป็นเพื่อนสองของใจ พอเวลาใกล้ค่ำได้เดินทางถึงวัดป่าที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เมื่อไปถึงได้เข้ากราบนมัสการครูบาอาจารย์ที่เป็นประธานสงฆ์ ชื่อหลวงพ่อแดง ท่านได้จัดให้พักที่กุฏิหลังหนึ่งซึ่งห่างจากศาลาพอประมาณ พอดีในวันนั้นเป็นวันพระ 8 ค่ำ เมื่อสรงน้ำเสร็จแล้วได้ลงประชุมกันที่ศาลาโรงธรรม ทั้งพระทั้งโยมที่มาจำศีลฟังธรรม มีทั้งหนุ่มสาวและคนแก่ เมื่อทำวัตรสวดมนต์จบแล้ว หลวงพ่อแดงท่านก็แสดงธรรมอบรมญาติโยมไปเรื่อยๆ

หลวงปู่เล่าว่า “ตัวเราเองก็นั่งภาวนากำหนดจิตหลับตาฟังธรรมไปด้วย พอระยะหนึ่งเราลืมตาขึ้น มีหญิงสาวคนหนึ่งแกนั่งอยู่ตรงหน้า พอเห็นเราลืมตาขึ้น แกก็แสดงมารยาของกิเลสสารพัดอย่าง เมื่อเห็นอย่างนั้นเราก็รีบหลับตาภาวนาฟังธรรมต่อไป โดยไม่สนใจอะไรกับแก เมื่อฟังธรรมที่หลวงพ่อแดงท่านพูดไปเรื่อยๆ จนถึงเวลา 6 ทุ่ม รู้สึกเหนื่อยเพราะเดินทางทั้งวัน จึงลุกขึ้นกราบพระประธานแล้วกราบหลวงพ่อแดง ขอโอกาสท่านไปพักผ่อน ท่านให้โอกาสเพราะเห็นว่าเดินทางทั้งวันเหน็ดเหนื่อย เราลงบันไดศาลาด้านสำหรับพระ ไม่ได้สนใจมองหญิงสาวคนนั้น

พอเราเดินไปถึงหลังกุฏิแล้วแวะเข้าไปถ่ายปัสสาวะอยู่ ไม่ทราบว่าหญิงสาวคนนั้นแกลงจากศาลามาแต่เมื่อไร ไปยืนอยู่ทางบันไดหน้ากุฏิ พร้อมกับพูดขึ้นว่า “ทำไมจึงนอนตายแต่วันแท้” พอได้ยินเสียงอย่างนั้นเราก็รีบกลับขึ้นศาลา หลวงพ่อแดงท่านถามเราว่า “เอ้า ว่าจะไปพัก ไม่พักหรือ” เราไม่ได้ตอบท่านอะไร นั่งหลับตาภาวนาฟังธรรมไปจนสว่าง

พอสว่างแล้วพวกญาติโยมก็กลับบ้านกัน พอเช้าถึงเวลาไปบิณฑบาต เราก็เป็นหัวหน้าแถวไปบิณฑบาตสายนั้น ไม่รู้ว่าบ้านหญิงสาวคนนั้นอยู่ทางนั้นด้วย พอเดินไปถึงบ้านแก แกได้กระติบข้าวเดินลงมาจากบ้านจะมาใส่บาตร เดินเข้ามาจะชนเรา เราต้องถอยหลังออก พอบิณฑบาตกลับไปถึงวัด ฉันเช้าเสร็จ รีบจัดแจงบริขารแล้วกราบลาหลวงพ่อแดงเดินทางต่อไปที่อื่น ขืนอยู่ไปไม่พ้นภัยพญามาร”

หลวงปู่เล่าว่า เรื่องกิเลสนี้มันแหลมคมจริงๆ หาความละอายไม่มีเลย ถ้าเราไม่สำรวมระวัง ไม่ตั้งท่าตั้งทาง ไม่มีสติปัญญารอบคอบแล้ว สู้มันไม่ได้

พระธรรมเตือนใจ

ครั้งหนึ่งหลวงปู่ได้เที่ยววิเวกไปทางจังหวัดขอนแก่น และแวะเยี่ยมญาติที่บ้านโกธา พักที่วัดป่าส่องแมว ริมสนามบินเก่าจังหวัดขอนแก่น ขณะพักอยู่ที่นั้น วันหนึ่งท่านได้เดินจงกรมอยู่ตั้งแต่หัวค่ำ ได้มีความรู้สึกอันหนึ่งเกิดขึ้นบอกว่า “วันนี้จะมีคนมาหาให้ระวัง” จึงพิจารณาดูว่าคนที่ไหนจะมาหา มาหาทำอะไร จากนั้นจึงได้ตั้งใจระวังอยู่ เดินจงกรมไปจนถึงเที่ยงคืนจึงหยุดแล้วขึ้นกุฏิ กุฏิมีประตูเป็นฝาไม้ไผ่ผลักเข้าข้างใน เมื่อขึ้นกุฏิปิดประตูไหว้พระสวดมนต์เสร็จ นั่งภาวนาระวังตัวอยู่ตลอดเวลา พอหยุดนั่งภาวนาเอนตัวลงนอนตั้งสติอยู่ เห็นไฟแวบเข้ามาทางประตู จึงลุกขึ้นนั่งคอยฟัง ได้ยินเสียงผลักประตูเข้ามาเป็นจังหวะแอ๊ดๆ

หลวงปู่จึงตั้งท่าระวังอยู่ ได้ยินเสียงจับถุงกระดาษ จึงนึกได้ว่าเด็กนักเรียนเอาถุงรองเท้าหนังใหม่ๆ มาฝากไว้ที่ข้างประตู จึงรีบตะครุบถูกแขนขโมย ขโมยตกใจถกแขนกลับ มือท่านหลุด ขโมยไม่ยอมวางถุงรองเท้า กระโดดลงกุฏิ หลวงปู่ตามลงไป ได้ยินเสียงที่กุฏิหลังอื่นดัง เค้ง ! ขโมยพากันวิ่งหนีไปทางสนามบินเก่า หลวงปู่เดินไปที่กุฏิพระรูปอื่นที่ได้ยินเสียงดังนั้น เห็นกระเป๋าหวายของพระใส่หนังสือทิ้งอยู่จึงร้องปลุก พระจึงพากันตื่นขึ้นมา ในสมัยนั้นคนกินฝิ่นกินยาแถวชานเมืองมีมาก จึงหาลักขโมย ได้อะไรก็เอา พอแก้ความหิวของตนเอง หลวงปู่พักอยู่ไม่นาน จึงได้เที่ยววิเวกกลับไปจำพรรษาที่วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนเมือง

เกิดความน้อยใจในครูบาอาจารย์

หลวงปู่เล่าว่า ในพรรษาได้ตั้งใจตั้งสัจจะอธิษฐานสมาทานธุดงควัตรข้อบิณฑบาตเป็นวัตร ได้อาหารอย่างไรก็ฉันอย่างนั้น ไม่รับอาหารที่นำมาถวายเมื่อภายหลัง เมื่อสมาทานแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติอย่างเคร่งครัด อยู่มาวันหนึ่งฝนตกหนัก มีโยมจากบ้านเหล่าซึ่งอยู่คนละฟากแม่น้ำปาวกับบ้านโนนเมือง นำอาหารมาใส่บาตรไม่ทัน พระกำลังฉันอยู่ แกก็เอาอาหารที่นำมาถวายท่านอาจารย์สวด ท่านก็บอกให้พระเณรรับฉันฉลองศรัทธาให้โยมด้วย

หลวงปู่นึกอยู่ในใจว่า “เราได้ตั้งสัจจะอธิษฐานแล้ว จะไม่ให้เสียสัจจะที่ได้อธิษฐานไว้” เมื่อท่านส่งมาถึงจึงไม่เอาอาหารนั้นไว้ฉัน เมื่อท่านพระอาจารย์สวดมองเห็นไม่เอาอาหารนั้น ท่านจึงร้องขึ้นดังๆ ว่า “ของแค่นี้ก็สงเคราะห์ญาติโยมเขาไม่ได้หรือ” หลวงปู่จึงเกิดความน้อยใจคิดว่า “เราตั้งใจปฏิบัติธรรม ครูบาอาจารย์ก็ไม่ส่งเสริม สงเคราะห์ญาติโยมก็สงเคราะห์มากอยู่แล้ว เวลาตั้งใจขัดเกลาก็ให้ได้ทำบ้าง เมื่อครูบาอาจารย์ไม่ส่งเสริมในการปฏิบัติธรรม เราก็ไม่ควรจะอยู่ด้วย”

ช่วยคนป่วยด้วยธรรมโอสถ

ในระยะที่อยู่กับท่านพระอาจารย์สวดนั้น ครั้งหนึ่งมีคนเขาไม่สบาย เขามานิมนต์ให้ท่านอาจารย์สวดไปโปรดช่วยเหลือ ท่านพระอาจารย์สวดจึงแต่งตั้งให้หลวงปู่ไปแทน “ไป ให้ท่านบุญไปช่วยเขาบ้าง” หลวงปู่เล่าว่า เมื่อครูบาอาจารย์แต่งแล้วจำเป็นต้องไปกับโยมที่เขามานิมนต์ พอไปถึงบ้านเขา ได้พักอยู่ที่เถียงนากลางทุ่ง จึงจัดแจงที่พักเสร็จแล้ว โยมที่เขามานิมนต์ พอไปถึงเห็นคนป่วยนั้นนอนติดเสื่ออยู่มีแต่หนังหุ้มกระดูก มองดูเหมือนกับผีที่ตายแล้ว ถามดูเขาบอกว่า “ไม่สบายได้ 3 ปีแล้ว ไม่อยากข้าวอยากน้ำ” เขาบอกว่า เขาอยู่กับผีฟ้าเทวดา เอาผีเป็นที่พึ่ง หลวงปู่ถามว่า “ลุกขึ้นนั่งได้ไหม” เขาบอกว่า “ไม่ได้”

“พูดตามได้ไหม” เขาบอกว่า “พอพูดได้” หลวงปู่จึงได้ทำพิธีประกาศปฏิญาณตนถึงพระไตรสรณคมน์ คือให้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึก นอนประนมมือแล้วให้ว่าตาม ว่านะโม 3 จบ แล้วว่า อิติปิโส...สวากขาโต...สุปฏิปันโน...ไปจนจบ แล้วว่าคำสมาทานถึงพระรัตนตรัย เสร็จแล้วจึงได้สอนให้ตั้งใจภาวนา คือให้นึก พุทโธ ธัมโม สังโฆ 3 หน แล้วจึงให้นึกพุทโธคำเดียว ให้ตั้งใจทำอยู่อย่างนั้น และให้มีข้อปฏิบัติคือ ให้เว้นจากการไหว้เซ่นสรวงภูติผีปีศาจ อารักษ์หลักคุณ หักไม้ใส่หม้อ ดูฤกษ์งามยามดี เคราะห์ดีเคราะห์ร้าย ไม่ให้ทำ ให้เชื่อกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ให้เว้นจากการกินเหล้า เมาสุราและเบียร์ เว้นจากการกินอาหารที่เป็นเลือดเนื้อที่ไม่สุกด้วยไฟ เว้นมังสะ 10 อย่าง

เมื่อเสร็จพิธีให้รับไตรสรณคมน์และสอนให้ภาวนาแล้ว จึงกลับไปพักที่เถียงนา เช้าก็บิณฑบาตในหมู่บ้าน คนป่วยนั้นเมื่อได้รับธรรมโอสถแล้ว วันหลังมาก็ลุกขึ้นนั่งได้ อยากกินข้าวกินน้ำ ในที่สุดก็หายเป็นปกติ หลวงปู่พักอยู่ 2-3 วัน จึงเดินทางกลับวัด บ้านโนนเมือง

ทำบุญอุทิศให้โยมมารดา

เมื่อจำพรรษาอยู่กับท่านพระอาจารย์สวดที่วัดสามัคคีธรรม บ้านโนนเมือง ได้ 3 พรรษา แล้วก็ยังเป็นห่วงโยมมารดาที่ยังไม่ได้ทำบุญอุทิศให้ จึงได้ลาท่านอาจารย์สวดกลับไปที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด ในขณะนั้นมีพระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม เป็นประธานสงฆ์อยู่วัดป่าศรีไพรวัลย์ จึงได้นิมนต์พระอาจารย์เพ็งและท่านปิ่น พร้อมด้วยสามเณรอีก 1 องค์ เดินทางไปบ้านคำพระ อำเภอพนมไพร เพื่อทำบุญอุทิศให้โยมมารดา

พวกญาติโยมในเมืองร้อยเอ็ด มีคุณนายคง และคุณแม่หนูเที่ยง ได้จัดข้าวของเครื่องทำบุญให้คนหาบเดินทางไปด้วยศรัทธา ญาติโยมเขาสงสาร เพราะไม่มีใคร เมื่อไปถึงบ้านแล้ว ได้จัดทำบุญที่วัดบ้านคำพระนั้นเอง มีการสวดมนต์เสร็จแล้วทอดบังสุกุลอุทิศให้โยมมารดา เสร็จแล้วมีการเทศน์ 2 ธรรมาสน์ คือ พระอาจารย์เพ็งและท่านปิ่น เป็นผู้เทศน์ปุจฉาและวิสัชนา พอรุ่งเช้าได้จัดถวายอาหารบิณฑบาต ถวายจตุปัจจัยไทยทานตามสมควร เสร็จแล้วจึงได้เดินทางกลับมาพักที่พนมไพร

กลับจากพนมไพร เดินทางต่อไปจังหวัดกาฬสินธุ์ กราบนมัสการท่าน พระอาจารย์อ่อน จกฺกธมฺโม วัดประชานิยม ได้พักศึกษาธรรมและช่วยงานสร้างอุโบสถอยู่กับท่านระยะหนึ่ง เกิดความเลื่อมใสในปฏิปทาและเมตตาธรรมในท่านพระอาจารย์อ่อน จกฺกธมฺโม (ในขณะนั้นท่านมีสมณศักดิ์นามว่า พระครูปฏิภาณ สุดท้ายท่านมีสมณศักดิ์ที่ พระราชธรรมานุวัตร) คิดหาสิ่งที่เป็นวัตถุจะถวายเพื่อเป็นการบูชาคุณธรรมของท่าน ก็ไม่มีอะไร พอดีมีรัดประคดเอวที่ตัวเองใช้อยู่เส้นหนึ่ง จึงได้นำเข้าไปถวายท่าน ตัวเองใช้ผ้าผูกแทนประคดเอว เมื่อจิตใจของเรายินดีน้อมไปในการให้แก่ท่านผู้มีศีลมีคุณธรรม ย่อมนำมาซึ่งความอิ่มใจเบิกบานใจ

เมื่อช่วยงานท่านอยู่ระยะหนึ่ง จึงได้กราบลาท่านพระอาจารย์อ่อน จกฺกธมฺโม เดินทางไปจังหวัดขอนแก่น ในระยะนั้น มีรถยนต์ใช้ฟืนเป็นเชื้อไฟแทนน้ำมัน วิ่งจากจังหวัดกาฬสินธุ์ถึงจังหวัดขอนแก่น ญาติโยมชาวกาฬสินธุ์จึงนิมนต์ให้นั่งรถยนต์ฟืน และจ่ายค่าโดยสารให้ด้วย จากกาฬสินธุ์ถึงขอนแก่นราคาค่ารถ 3 บาท ในขณะนั่งอยู่ในรถต้องคอยระวังไฟจะปลิวมาไหม้จีวร รถถึงขอนแก่น ลงจากรถแล้วจะเดินทางไปชุมแพ สะพายบาตรแบกกลด เดินตามทางจะไปชุมแพ พอดีมีรถผู้แทนจังหวัดขอนแก่นวิ่งมา เขาจอดถามว่า “ท่านจะไปไหน” ตอบเขาว่า “จะไปชุมแพ” เขานิมนต์ให้นั่งรถ จึงบอกเขาไปว่า “อาตมาไม่มีปัจจัยให้ค่าโดยสาร” “นิมนต์ท่านเลย แต่ว่าผมไม่ไปถึงชุมแพ ผมมีธุระไปถึงแค่หนองเรือ” จึงนั่งรถผู้แทนขอนแก่นชื่อนายสุพรรณ ไปถึงหนองเรือ ลงจากรถผู้แทนกล่าวคำอนุโมทนาแก่ผู้แทนแล้วสะพายบาตร แบกกลด หาที่พักห่างจากตลาดหนองเรือพอสมควร

จิตใจมั่นคง ไม่ลังเล

เช้าบิณฑบาตในตลาดหนองเรือ ฉันเสร็จแล้วจะเดินทางต่อไปชุมแพ พอดีมีโยมที่เป็นญาติกันชื่อโยมพัน เป็นญาติทางพ่อ แกมีรถจึงไปส่งถึงชุมแพ พอลงจากรถแล้ว นายพัดจึงถามว่า “ครูบาจะไปทางไหน” จึงตอบว่า “ไม่รู้ ไม่มีจุดหมายปลายทาง ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน” นายพัดเป็นห่วง แกสงสารจึงพูดว่า “กล้บบ้านเราดีกว่าครูบา” หลวงปู่จึงบอกนายพัดว่า “เราได้ตั้งใจไว้แล้วเราไม่กลับ เราจะไปข้างหน้า” นายพัดพูดว่า “จะไปอย่างไร เคยไปหรือยัง” หลวงปู่ตอบนายพัดว่า “ไม่เคยมาสักครั้งเลยแถวนี้” นายพัดพูดว่า “กลับดีกว่าครูบา” หลวงปู่ตอบว่า “เราไม่กลับ” นายพัดพูดว่า “ไปยังไง ไปคนเดียว” หลวงปู่ตอบว่า “ไปยังงั้นแหละ”

ผลสุดท้ายหลวงปู่จึงให้นายพัดไปหา (ซื้อ) เทียนไขให้ห่อหนึ่ง สมัยนั้นราคาเทียนไขไม่แพง ห่อละ 25 สตางค์ (หนึ่งสลึง) เทียนไขตรารถไฟ นายพัดก็ยังหน่วงเหนี่ยวอยู่อย่างนั้น ไม่อยากจะไปหาเทียนไขมาให้ “อ้าว รีบไป” หลวงปู่สั่ง นายพัดก็เลยไปหาเทียนไขมาให้ เมื่อนายพัดเอาเทียนไขมาให้แล้ว หลวงปู่จึงออกเดินทางจากนายพัดไป แต่นายพัดยังอยากจะให้หลวงปู่กลับอยู่ จึงเดินตามหลวงปู่ไปอีก ไปสะพายถุงบาตรให้ตามไปส่ง ตอนนี้กำลังเดินออกจากตัวอำเภอชุมแพมุ่งหน้าไปทางอำเภอภูเขียว

อีกสักครู่ นายพัดก็พูดอีกว่า “กลับเสียดีกว่าครูบา” “ไม่ ! เราไม่กลับ ให้เจ้ากลับไปเสีย (ให้แกกลับไปเสีย)” “ไม่ ! ผมจะยืนอยู่ตรงนี้เพื่อมองดูครูบา” “เอ้า ! มองดูก็มองดู” เมื่อหลวงปู่เดินจากไปปรากฏว่านายพัดยังยืนมองดูหลวงปู่อยู่อย่างนั้น จนลับตานายพัดยังตะโกนเรียกว่า “ครูบา กลับเสียเถอะ” จนหวิดเสียง (จนตะโกนไม่ได้ยิน) นายพัดจึงได้กลับไปที่รถ

หลวงปู่เดินหน้าไปตามลำพังองค์เดียว เข้าป่าเข้าดงไม่มีใครเป็นเพื่อน ตนเป็นเพื่อนของตนเอง เดินทางตอนกลางวันแดดก็ร้อน น้ำที่กรองใส่กาถือไปด้วยก็หมด หิวน้ำก็หิว คอแห้งผาก แสนทุกข์แสนทรมานในการเดินทาง แต่ก็ไม่ประมาท มีสติกำกับจิตใจ มีพุทโธเป็นอารมณ์ของใจไปตลอดทาง เดินทางถึงบ้านเป้าบ้านลาด เป็นเวลาพลบค่ำผึมฟ้า (กำลังจะมืด) จะถามหาที่พักจากชาวบ้าน ก็ไม่มีที่จะถาม ชาวบ้านก็กลัวพระธุดงค์กรรมฐาน เพราะสะพายบาตรที่บรรจุบริขารลูกใหญ่ๆ แบกกลดใหญ่ๆ มีผู้หญิงคนหนึ่งลงจากบ้านมาใต้ถุนบ้านจะมาหยิบเอาฟืนที่อยู่ใต้ถุน คิดว่าจะถาม พอแกมองเห็นพระสะพายบาตรแบกกลด แกก็วิ่งขึ้นบ้านไป ในที่สุดไม่ได้เรื่องได้ราวจึงกลับออกมาทุ่งนานอกบ้าน

นอนแบบผู้ต่อสู้

หลวงปู่เล่าว่า “ในระยะนั้นเป็นฤดูเดือน 6 ตามทุ่งนาชุ่มไปด้วยน้ำ ชาวนาไถนาหว่านกล้า เมื่อกลับออกมาทุ่งนา มองหาเถียงนาที่ไหนก็ไม่มี มองหาร่มไม้ก็ไม่มี พอดีมีเนินดินอยู่ที่หนึ่งน้ำไม่ขังแต่ดินชุ่ม มีต้นกระทุ่มอยู่ต้นหนึ่ง เขาลิดกิ่งออกหมดเหลือแต่ยอด จะอาศัยแขวนกลดก็ไม่ได้ ฝนก็ตกพรำๆ ที่สุดต้องเอาบริขารเข้าในบาตรปิดฝาบาตรนั่งยองๆ มือจับกลดกันฝนอยู่ทั้งคืน ยุงก็เยอะเหมือนกับหว่านเมล็ดงาใส่ มุ้งกลดก็กางไม่ได้เพราะฝนมันตก จะนั่งให้สบายๆ ก็ไม่ได้เพราะดินชุ่ม จะนอนก็ไม่ได้ สุดท้ายต้องนั่งยองๆ ตลอดคืน ฝนก็ตกตลอดคืน เดินทางก็เหนื่อยตลอดวัน เลยภาวนาดูทุกข์อยู่ทั้งคืน พอใกล้สว่างนกไก่อูร้องเสียงดังอู้กๆ ดังสนั่นก้องไปหมด จึงรู้ว่าที่เรานั่งทรมานอยู่นั้นใกล้กับหนองน้ำ เขาเรียกว่าหนองสามหมื่น”

พอเวลาใกล้สาง วิดน้ำในทุ่งนาล้างหน้าบ้วนปากแล้ว สะพายบาตรออกเดินทาง พอดีมีผู้ชายคนหนึ่งแบกไถจูงควายออกจากบ้านมาแต่เช้ามืด หลวงปู่จึงถามว่า “พ่อออก บ้านนี้ชื่อบ้านอะไร” เขาบอกว่า “บ้านลาด” หลวงปู่ถามว่า “บ้านเป้าอยู่ไกลไหม” เขาบอกว่า “ไม่ไกลเท่าไร” ถามเขาอีกว่า “ไปบิณฑบาตทันไหม” เขาบอกว่า “ทัน” โยมผู้ชายนั้นเขาจึงพูดขึ้นอีกว่า “มีญาท่านองค์หนึ่งมาอยู่ที่บ้านโนนแห้นี้ ชื่อว่าญาท่านคำบง” พอหลวงปู่ได้ยินจึงนึกในใจว่า “จะเป็นคำบงองค์เดียวกันกับที่เราตามหาท่านหรือไม่หนอ”

พบพระอาจารย์คำบง

เมื่อได้ความจากโยมแล้ว จึงเดินทางต่อไปถึงสำนักป่าบ้านโนนแห้ พอดีมีสามเณรอยู่ด้วย 2 องค์ กำลังจะออกบิณฑบาต จึงให้เณรคอยด้วย จัดแจงเอาบริขารออกจากบาตร คลุมจีวรซ้อนสังฆาฏิ แล้วบิณฑบาตกับสามเณร เวลาเดินบิณฑบาตในหมู่บ้านก็แสนทรมาน ตามทางบิณฑบาตมีแต่หินแห้ (หินลูกรัง) เหยียบไปเท้าก็เจ็บ เนื่องจากเดินทางทั้งวันมาเท้าก็ระบมจึงอดทนเอา กลับมาถึงวัดถามสามเณรว่า “ท่านอาจารย์อยู่ที่นี่ท่านชื่ออะไร” สามเณรตอบว่า “ชื่อท่านอาจารย์คำบง” ถามเณรอีกว่า “ท่านไปไหน” เณรบอกว่า “ท่านไปกิจนิมนต์ วันสองวันท่านก็กลับมา” พอพักอยู่สองวันท่านพระอาจารย์คำบงก็กลับมา จึงได้กราบนมัสการและขอนิสัยจากท่านให้เป็นผู้อบรมสั่งสอน


๏ พรรษาที่ 6 พ.ศ. 2484
จำพรรษาที่วัดป่าบ้านโนนแท้ อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ


พรรษาที่ 6

ได้จำพรรษาอยู่กับท่านพระอาจารย์คำบง เป็นครั้งที่สอง หลังจากเคยได้จำพรรษาอยู่กับท่านครั้งหนึ่งที่บ้านวังถ้ำ จังหวัดอุบลราชธานี หลวงปู่ได้ตั้งใจประกอบความเพียรด้วยความไม่ประมาท ไม่ได้ทำอะไรให้เป็นที่หนักอกหนักใจครูบาอาจารย์ ท่านว่าการประกอบความเพียรก็ได้รับความสงบสุขเป็นที่พอใจ หลังจากออกพรรษาปวารณาแล้ว ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว เป็นฤดูเหมาะแก่การวิเวกไปในที่สงบสงัดเพื่อบำเพ็ญภาวนาตามอัธยาศัย หลวงปู่จึงกราบลาและขอขมาคารวะท่านอาจารย์คำบง แล้วเดินทางออกจากวัดป่าบ้านโนนแห้ อำเภอภูเขียว เที่ยววิเวกไปทางอำเภอมัญจาคีรี ทะลุถึงอำเภอบ้านไผ่

หลวงปู่เล่าว่า มีสามเณรองค์หนึ่งขอติดตามไปด้วย พอไปถึงวัดป่าแห่งหนึ่ง ในระยะนั้นเป็นเดือนเมษายน มะม่วงกำลังพอกินส้มจิ้มเกลือดีๆ ในวันหนึ่งพอฉันจังหันเช้าเสร็จแล้ว สามเณรก็ไปแอบกินมะม่วง คิดว่าจะไม่ให้ใครรู้ แต่หลวงปู่รู้จนได้ จึงพูดกับสามเณรว่า “ทำอย่างนี้ไปด้วยกันไม่ได้” หลวงปู่จึงให้สามเณรอยู่ที่วัดป่านั้น แล้วท่านจึงเที่ยววิเวกไปลำพังองค์เดียว

Image
พระอาจารย์คำดี ปภาโส

Image
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ


พบพระอาจารย์คำดี ปภาโส

เมื่อหลวงปู่เที่ยววิเวกไปถึงอำเภอบ้านไผ่ ได้ทราบว่า พระอาจารย์คำดี ปภาโส ได้พักอบรมญาติโยมอยู่ที่บ้านฮ้านหญ้า อำเภอบ้านไผ่ จึงได้เข้ากราบนมัสการพักรับการอบรมอยู่กับท่าน ในขณะนั้น หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ก็ได้อยู่รับการอบรมกับท่านพระอาจารย์คำดีด้วย เมื่อหลวงปู่ได้พักอยู่กับท่านพระอาจารย์คำดี พอสมควรแล้ว จึงได้กราบลาท่านเดินเที่ยววิเวกไปทางจังหวัดมหาสารคาม ทะลุถึงจังหวัดร้อยเอ็ด พักที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ ในเวลานั้นวัดป่าศรีไพรวัลย์เป็นที่รวมของบรรดาพระธุดงค์กัมมฏฐาน


(มีต่อ 5)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 26 พ.ค.2007, 8:47 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
นั่งข้างบน : หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล, ซ้าย : พระอาจารย์สนั่น รักขิตสีโล
ขวา : หลวงปู่ลี ฐิตธมฺโม (พระครูฐิติธรรมญาณ)



๏ พรรษาที่ 7 พ.ศ. 2485 จำพรรษาที่วัดประชาบำรุง
(วัดป่าพูนไพบูลย์) อ.เมือง จ.มหาสารคาม


พรรษาที่ 7

พอใกล้จะเข้าพรรษา หลวงปู่ได้เดินทางออกจากวัดป่าศรีไพรวัลย์ ตำบลเหนือเมือง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด ไปจำพรรษาอยู่กับ พระอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม ที่วัดป่าช้าเมืองมหาสารคาม (ในครั้งนั้นเรียกชื่อวัดว่า วัดป่าพูนไพบูลย์ ปัจจุบันนี้เป็น วัดประชาบำรุง) หลวงปู่เล่าว่า ในพรรษาได้ประกอบความพากความเพียร เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาด้วยความไม่ประมาท อดนอนผ่อนอาหาร เอากายกับใจเป็นหลักในการพิจารณา พิจารณากายแล้วก็พิจารณาใจ การพิจารณากายก็พิจารณาให้เห็นเป็นสิ่งปฏิกูลเน่าเปื่อย ในที่สุดก็จะต้องตายแตกสลายลงสู่ความเป็นธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ตามธรรมชาติ พิจารณาใจก็พิจารณาให้เป็นเป็นของเกิดๆ ดับๆ ตามอารมณ์ต่างๆ เป็นไม่แน่นอน ไม่มีตัวตน เป็นเพียงนามธรรมเท่านั้น

การปฏิบัติอาจาริยวัตรท่านได้ทำด้วยความเคารพในครูบาอาจารย์ ทำด้วยความเอาใจใส่ ไม่ให้ย่อหย่อน ไม่เห็นแก่หลับแก่นอน ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า มีสติสัมปชัญญะคอยระมัดระวังอยู่อย่างนั้น ในการปฏิบัติทั้งภายนอกและภายใน หลวงปู่เล่าว่า โยมเมืองมหาสารคาม เขาก็เก่งเหมือนกันในการปฏิบัติรักษาศีลภาวนา พอถึงวันพระเขาก็สมาทานอุโบสถศีล คือ รักษาศีล 8 ประการ และอธิษฐานไม่นอน เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา ฟังครูบาอาจารย์อบรมธรรมะไปจนสว่าง และคอยเตือนใจให้สติพระเณรด้วย พอมีพระเณรองค์ไหนนั่งไม่ตรงพิงฝาพิงเสา เขาจะถามว่า “ท่านดูกสันหลังไม่มีหรือ” ในที่สุดพระเณรก็มีสติระมัดระวังไปด้วย

ผู้ปฏิบัติธรรมก็ต้องตาย

ในพรรษานี้มีโยมผู้ชายคนหนึ่งได้รับยศเป็นขุน หมู่เพื่อนทั้งหลายเรียกว่าท่านขุน ท่านขุนได้มารักษาอุโบสถศีล เดินจงกรม นั่งสมาธิ อดนอนในวันพระเป็นประจำ พออยู่มาใกล้จะออกพรรษา พอถึงวันพระอุโบสถ ท่านขุนก็ได้มาปฏิบัติธรรม รักษาศีล 8 เดินจงกรม นั่งสมาธิ อดนอนฟังครูบาอาจารย์อบรมไปจนสว่าง พอสว่างแล้วถึงเวลาพระไปบิณฑบาต หมู่เพื่อนทำข้อวัตร เตรียมอาหารสำหรับถวายพระ แต่ท่านขุนนั้นบอกหมู่เพื่อนว่าขอนอนพักผ่อนสักครู่หนึ่ง แต่แล้วจนพระบิณฑบาตกลับถึงวัด ท่านขุนก็ยังไม่ลุกไม่ตื่น หมู่เพื่อนจึงพูดกันว่าท่านขุนคงจะเหนื่อย ปล่อยให้นอนไปก่อน

จนในที่สุดพระเณรฉันบิณฑบาตเสร็จ ท่านขุนก็ยังไม่ตื่น หมู่เพื่อนจะรับประทานอาหาร จึงปลุกท่านขุนจะให้รับประทานอาหาร แต่แล้วในที่สุดทุกคนก็ตกตะลึงไปตามๆ กัน เพราะท่านขุนนอนไม่ยอมตื่น ได้หมดลมหายใจตายไปเสียแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้นหมู่เพื่อนทั้งหลายจึงพากันรับประทานอาหาร เสร็จแล้วจึงได้จัดแจงจัดงานฌาปนกิจศพให้ท่านขุนจนเป็นที่เรียบร้อย ท่านอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม จึงเทศนาว่าท่านขุนตายในขณะที่ศีลยังไม่ด่างพร้อยนับว่าตายดี สุคติย่อมเป็นที่ไป ความตายมีเหมือนกันหมด ต่างกันแต่ว่าตายในขณะที่ทำดีหรือทำความชั่ว ทำบุญหรือทำบาป

ผู้ทำบาปก็ต้องตายเหมือนกัน

ในเมืองสารคาม มีเจ๊กฆ่าหมูอยู่คนหนึ่ง แกฆ่าหมูเป็นประจำทุกๆ วัน ฆ่าแล้วก็ชำแหละเอาเนื้อไปขายในตลาด อยู่มาวันหนึ่งหมูที่แกจะฆ่าเป็นหมูแม่ลูกอ่อน ในวันนั้นขณะที่ท่านอาจารย์คูณนั่งสมาธิจิตสงบอยู่ เป็นเวลา 4 ทุ่ม ได้มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามากราบท่านในนิมิตสมาธิ ร้องไห้ขอความเมตตาจากท่านอาจารย์ว่า “ขอให้ท่านอาจารย์เมตตาข้าน้อยด้วยเถิด เขาจะเอาข้าน้อยไปฆ่าในวันนี้ แต่ข้าน้อยมีลูกน้อยอยู่ ข้าน้อยสงสารลูกยังไม่โต”

ท่านอาจารย์คูณจึงกำหนดถามในสมาธิว่า “โยมเป็นใคร” เขาจึงบอกว่า “เขาเป็นหมูแม่ลูกอ่อน” ท่านอาจารย์จึงบอกว่า “เอาละ เป็นกรรมของเฮา ขอให้ตั้งใจภาวนาพุทโธๆ เด้อ” พอถึงเวลาตี 2 เสียงหมูร้องกิ๊กๆ เจ๊กฆ่าหมูแม่ลูกอ่อน ท่านอาจารย์จึงนึกใจว่า “ตายแล้วหนอ จะทำอย่างไร กรรมของใครของมัน” พอเจ๊กแกฆ่าหมูเสร็จ ชำแหละเรียบร้อยแล้วบังเอิญยังไม่สว่าง เพราะแกฆ่าดึกไปหน่อย พอดีเข้าฤดูหนาวอากาศก็หนาวเย็น แกจึงก่อไฟผิง ขณะนั่งผิงไฟอยู่นั้นแกก็ง่วงนอน จึงเคลิ้มหลับฟุบลงไปในกองไฟ เสร็จแล้วก็ดิ้นวนอยู่ในกองไฟ ในที่สุดก็ขาดใจตายคากองไฟนั้น นี่แหละ คนทำบาปก็ตายเหมือนกัน แต่ตายในขณะที่ทำบาป ทุคติย่อมเป็นที่ไป

คนใจบาปไม่กลัวบาป

หลวงปู่เล่าว่า มีชายคนหนึ่ง แกมาลักขโมยหน่อไม้ในวัด พอพระเดินไป แกเห็นพระแกนั่งทับหน่อไม้ไว้ พระจึงถามแกว่า “ทำอะไร” แกบอว่า “ผมถ่ายครับ” พระจึงพูดว่า “ถ่ายอะไร ไม่ใช่ลักหน่อไม้หรือ” พอพูดอย่างนั้นแกหอบหน่อไม้ได้ วิ่งออกจากวัดลงทุ่งไปเลย แกโกรธให้พระ วันหลังแกมาเดินข้างๆ วัดแล้วก็ร้องลำด่าพระ “ปะโทนๆ ปะโทนๆ หัวโล้นวัดป่าขี้ใส่ต่า (ตะกร้า) มาให้มันกิน”

พอแกว่าสมใจที่โกรธแค้นแล้วก็หนีไป พออยู่มาไม่นานแกก็เกิดท้องร่วง พอถ่ายออกมาก็กินของตัวเอง ในที่สุดก็ตายด้วยโรคท้องร่วงนั้น การทำบาปถึงแม้ไม่กลัว บาปก็ให้ผลได้

เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ได้กราบลาท่านพระอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม กลับไปวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด

Image
พระอาจารย์ลี ฐิตธมฺโม


ไปเที่ยววิเวกทางอำเภอสุวรรณภูมิกับพระอาจารย์ลี ฐิตธมฺโม

ในระยะนั้นเป็นต้นปี พ.ศ. 2486 ได้พบกับ พระอาจารย์ลี ฐิตธมฺโม เมื่อหลวงปู่พักอยู่วัดป่าศรีไพรวัลย์ระยะหนึ่งแล้ว จึงได้เที่ยววิเวกไปทางอำเภอสุวรรณภูมิกับพระอาจารย์ลี ฐิตธมฺโม ไปถึงบ้านโนนลัง พักอยู่ที่ป่าช้าบ้านโนนลัง ในขณะนั้นมีโยมผู้หญิงคนหนึ่งมีลูกสาวคนเดียว พอดีลูกสาวของแกได้เสียชีวิตไป เกิดมีความโศกเศร้าเสียใจเป็นกำลัง จะตายตามลูกสาวให้ได้ จึงต้องเป็นภาระของหลวงปู่กับพระอาจารย์ลี ได้ช่วยอบรมให้หายจากความโศกเศร้าเสียใจ เพราะความรักความอาลัย

เมื่อมีความรักความอาลัยในสิ่งใด ก็ย่อมเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น เมื่อตัดความรักความอาลัยเสียได้ ทุกข์ก็ไม่มี หลวงปู่กับพระอาจารย์ลี พักอยู่ป่าช้าบ้านโนนลังนี้หลายวัน พอเห็นว่าโยมผู้หญิงนั้นมีสติปัญญาพิจารณาเห็นสภาวะตามเป็นจริง จิตใจคลายจากความเศร้าโศกเสียใจได้แล้ว จึงได้ลาจากไป ได้เที่ยววิเวกกับพระอาจารย์ลี จนถึงเวลาใกล้จะเข้าพรรษาจึงได้กลับวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด


๏ พรรษาที่ 8 พ.ศ. 2486
จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด


ในฤดูการจำพรรษาไตรมาส 3 เดือนนั้น เป็นเวลาที่เร่งประกอบความพากความเพียร พระเณรต่างองค์ต่างมีความมุ่งมั่นในการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา อยู่ด้วยกันทำเหมือนกับว่าทะเลาะกัน คือ ไม่พูดคุยกัน ไม่คลุกคลีตีโมงกัน นอกจากจะมีสิ่งจำเป็นจริงๆ จึงจะถามกันพูดกัน เสร็จแล้วต่างองค์ต่างไปทำความพากเพียรของตนเอง

เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ได้เที่ยววิเวกไปทางจังหวัดกาฬสินธุ์ ตามอัธยาศัย จนใกล้จะเข้าพรรษาจึงได้กลับมาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์อีก


๏ พรรษาที่ 9 พ.ศ. 2487
จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด


พรรษาที่ 9

ระยะนี้อยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง มีความลำบากข้าวยากหมากแพง ของใช้ต่างๆอดอยาก ผ้าจีวรสังฆาฏิต้องใช้ผ้าทอหูก เมื่อตัดเย็บย้อมแล้วนำมาคลุม ลูกบวบจีวรท่วมหู ชาวบ้านชาวเมืองมีความขยาดต่อภัยสงคราม กลางคืนจุดไฟไม่ได้ เพราะกลัวเครื่องบินจะทิ้งระเบิดใส่ บ้านเรือนที่มุงด้วยสังกะสีสีขาวต้องเอาก้านมะพร้าวปิดไว้ พอได้ยินเสียงเครื่องบินมา ต้องวิ่งลงหลุมเพลาะเพราะกลัวระเบิด ความเป็นอยู่ในระหว่างสงครามเป็นความลำบากยากเย็นมาก แต่หลวงปู่ท่านก็เป็นผู้ไม่ประมาท มอบกายถวายชีวิตในการทำความพากความเพียรจนตลอดไตรมาส 3 เดือน

เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว ช่วยทำกิจที่สงฆ์จะช่วยกัน มีการตัดเย็บผ้าจีวรสังฆาฏิหลังจากที่ได้รับผ้ากฐินทานแล้ว การเย็บผ้าจีวรสังฆาฏิก็เย็บด้วยมือ ช่วยกันเย็บเพราะจักรเย็บผ้าไม่มี เวลาย้อมก็ย้อมด้วยน้ำต้มแก่นขนุน คือเอาแก่นขนุนมาถากเป็นชิ้นบางๆ ให้ได้มากๆ แล้วใส่ปีบต้มให้ได้ 10 ปีบ แล้วเคี่ยวลงเหลือปีบเดียว จึงนำผ้ามาย้อม การตัดเย็บย้อมผ้าในครั้งนั้นรู้สึกว่าลำบากมาก

เมื่อเสร็จกิจที่สงฆ์ได้ช่วยกันทำแล้ว ย่างเข้าฤดูแล้ง ต้นปี พ.ศ. 2488 หลวงปู่ได้เที่ยววิเวกไปทางจังหวัดชัยภูมิ เพื่อกราบเยี่ยมนมัสการพระอาจารย์คำบง ที่บ้านโนนแห้ อำเภอภูเขียว อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพักอยู่กับพระอาจารย์คำบงเป็นเวลาพอสมควรแล้ว จึงได้กราบลาคารวะพระอาจารย์คำบงออกเดินทาง มีพระรูปหนึ่งเป็นเพื่อนเดินทางด้วย ออกจากอำเภอภูเขียว เดินทางด้วยเท้ามาเรื่อยๆ จนถึงอำเภอชุมแพ ในระยะนั้นอำเภอชุมแพกำลังเกิดโรคฝีดาษระบาดอยู่ ชาวบ้านแนะนำไม่ให้เดินผ่าน แต่หลวงปู่ไม่ฟัง เดินผ่านอำเภอชุมแพมุ่งหน้าไปทางอำเภอภูเวียง พอมาถึงบ้านฮ่องหอย อำเภอภูเวียง พระที่เดินทางมาด้วยเกิดไม่สบายเป็นไข้ จึงได้หยุดพักที่ป่าแห่งหนึ่ง มีโยมที่บ้านฮ่องหอยมาทำที่พักทางเดินจงกรมให้

โปรดนักเลงใหญ่ให้กลับใจ

หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า พอมาพักอยู่ที่บ้านฮ่องหอย วันหนึ่งพอไปบิณฑบาตกลับมาถึงที่พัก มีญาติโยมตามมาถวายอาหาร พอฉันเสร็จล้างบาตรแล้ว หลวงปู่ได้เทศน์อบรมศีลธรรมให้พวกญาติโยมฟังอยู่ พอดีมีผู้ชายคนหนึ่งรูปร่างกำยำน่าเกรงขามเดินเข้ามา แกนั่งอยู่ข้างหลังพวกญาติโยม ในขณะนั้นหลวงปู่แสดงธรรมเรื่ององคุลิมาลโจร ทำบาปฆ่าคนเก้าร้อยเก้าสิบเก้าคนด้วยความหลงเพราะถูกหลอกลวง เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดได้สำนึกในบาปที่ตนกระทำแล้วกลับใจขอบวชในสำนักของพระพุทธเจ้า แล้วตั้งใจบำเพ็ญธรรม ได้สำเร็จพระอรหันต์ได้

เมื่อชายผู้นั้นได้ฟังจึงเข้าไปกราบใกล้ๆ แล้วบอกว่า “อาจารย์ ผมว่าจะไปไร่ พอมาถึงที่นี่ เห็นทางเตียนสะอาดดี ผมจึงเอาขวานซุกไว้แล้วเดินเข้ามา ได้ฟังอาจารย์เทศน์ให้ฟัง ทำอย่างไรผมจึงจะพ้นบาปพ้นกรรม เพราะผมทำทุกอย่าง ฆ่าเจ้าเอาของ แม้แต่พระก็เคยปล้น ถามหาเงินไม่มีก็แย่งเอาห่อผ้าครองพระไว้ ตีหัวพระจนสลบไป ทำอย่างนี้ผมก็เคยทำ”

หลวงปู่จึงพูดปลอบใจว่า “ไม่เป็นไรหรอกโยม เมื่อเรารู้แล้ว ละในการทำบาป ตั้งใจทำคุณงามความดี เราก็จะพ้นจากบาปกรรมเหล่านั้น” เมื่อได้ฟังหลวงปู่พูดให้ฟังอย่างนั้น แกจึงพูดว่า “จะไปไร่ก็ไม่ไปหรอก เพราะเวลาก็บ่ายแล้ว” แกจึงลากลับบ้านไป

พอแกกลับไปแล้ว พวกญาติโยมที่มาถวายอาหารบิณฑบาตจึงพูดว่า “ให้ท่านอาจารย์ระวังนะคนๆ นี้ ถ้าปากว่าแล้วมือก็ถึงด้วย เป็นนักเลงหัวโจกในเขตนี้” หลวงปู่จึงบอกญาติโยมว่า “แล้วแต่พระธรรมท่านจะรักษา” พอวันหลังโยมนักเลงนั้นแกก็มาถวายอาหารบิณฑบาตด้วย พร้อมรับสารภาพบาปกรรมและจะไม่ทำบาปกรรมอีกต่อไป พร้อมทั้งถวายตัวเป็นศิษย์รับใช้ตลอดมา อยู่ต่อมาหลวงปู่ปรารภจะเดินทางไปที่ถ้ำกวาง บ้านหินร่อง เพื่อนมัสการฟังธรรมจาก พระอาจารย์คำดี ปภาโส เมื่อโยมนั้นทราบ แกอ้อนวอนไม่อยากให้หลวงปู่จากไป แกรับรองว่าจะสร้างวัดถวายให้ เพราะในหมู่บ้านนั้น แกพูดอย่างไรแล้วก็ได้อย่างนั้น เมื่อหลวงปู่ได้ฟังแกอ้อนวอนอย่างนั้น จึงมีความเมตตาสงสาร จึงพักรออีกระยะหนึ่ง

พระธรรมกำจัดภัยได้จริง

อยู่มาวันหนึ่งโยมลูกศิษย์นั่นแกมาถวายบิณฑบาตอยู่รับใช้หลวงปู่ หลวงปู่จึงสอนให้ยึดเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง ก่อนหลับก่อนนอนให้ไหว้พระสวดมนต์ เจริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ คือ สวดอิติปิโส...สวากขาโต...สุปฏิปันโน...ไปจนจบแล้วก็ให้เจริญเมตตาจิต เสร็จแล้วให้นั่งสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรงแล้วนึกพุทโธ ธัมโม สังโฆ ในใจ 3 หน แล้วให้นึกถึงพุทโธคำเดียวเป็นอารมณ์ของใจ ให้ทำไปจนกว่าใจของเราอยู่กับพุทโธจึงค่อยหยุดหลับนอน จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้มีธรรมเป็นที่พึ่ง

เมื่อหลวงปู่สอนวิธีปฏิบัติให้แล้ว จึงยื่นไม้ยาชนิดหนึ่งให้ พร้อมกับบอกว่า ไม้ชนิดถ้าผีปอบ (ผีชมก) เข้าสิงใคร ให้เอาไม้นี้จี้เข้าไปพร้อมกับภาวนาว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ ผีจะกลัวออกไปทันที พอโยมนั้นแกได้ไม้ยาพร้อมคำภาวนาจากหลวงปู่ ตอนเย็นก็กลับบ้าน พอถึงบ้านวันนั้นภรรยานั่งหันหลังให้ซึ่งไม่เคยเป็นมาก่อน ถามอย่างไรก็ไม่พูด แกจึงเอาไม้ยาที่ได้จากหลวงปู่จี้ใส่ภรรยา พร้อมบริกรรมพุทโธ ธัมโม สังโฆ ทันใดนั้นภรรยาก็ปัสสาวะแตกออก จึงรู้สึกตัว แล้วพูดให้ฟังว่า “ไม่รู้เป็นอย่างไร เหมือนมีอะไรเข้ามาสิง” เหตุการณ์นี้ยิ่งทำให้โยมลูกศิษย์นั้นเพิ่มความเชื่อในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ยิ่งขึ้น

Image
พระอาจารย์คำดี ปภาโส

Image
หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม


เดินทางไปถ้ำกวาง
บ้านหินร่อง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น


เมื่อหลวงปู่อยู่โปรดญาติโยมบ้านฮ่องหอย และลูกศิษย์กลับใจเป็นเวลาพอสมควรแล้ว จึงได้ลาญาติโยมเดินทางไปถ้ำกวางเพื่อกราบนมัสการและฟังธรรมจาก พระอาจารย์คำดี ปภาโส โยมลูกศิษย์นั้นได้ติดตามไปส่งถึงถ้ำกวาง และพักอยู่ด้วย 2 คืนจึงได้ลากลับไป เมื่อมาพักอยู่ถ้ำกวาง หลวงปู่เป็นไข้จับสั่น ถึงขนาดนั้นท่านก็ไม่ได้ละในการทำความเพียร ร่างกายเป็นไข้ไป ใจก็ภาวนาไป วันหนึ่งเวลากลางคืนขณะที่นั่งภาวนาในกระท่อมไม้ไผ่ ไข้กำเริบภาวนาไปตัวก็สั่น เสียงฟากไม้ไผ่ที่ปูกระท่อมก็ดังแอ๊ดๆ แอ๊ดๆ

ครู่หนึ่งได้ยินเสียงจากข้างนอกกระท่อมเข้ามาในหูดังแคบๆ แคบๆ ห่างๆ ในใจนึกขึ้นว่า “ไม่ใช่เสียงเสือหรือ” พอนึกขึ้นแค่นั้นก็มีสติระลึกได้ว่า “อะไรก็ช่างเถิด อย่าไปสนใจเลย” ตั้งใจภาวนาต่อไปจนจิตสงบ ไข้สั่นก็ระงับไป จึงได้พักผ่อน พอตอนเช้านำบาตรลงจากกระท่อมจะไปศาลา เห็นรอยเสือโคร่งอยู่ข้างกระท่อมที่พักนั้น

อยู่ต่อมาอีกวันหนึ่งท่านพระอาจารย์คำดีได้พาระบมบาตร เมื่อจุดไฟระบมบาตร หลวงปู่ถูกไอความร้อนรู้สึกสบาย จึงไม่ขยับออก ท่านพระอาจารย์คำดีสังเกตเห็นท่าน ก็รู้ว่าเป็นไข้ ท่านจึงถามว่า “ท่านบุญ ไม่ใช่เป็นไข้หรือ จึงไม่ขยับออกจากไฟ เป็นไข้ก็ไม่บอกกัน อย่างนี้ฆ่ากันทางอ้อมนะนี่” หลวงปู่ไม่ได้ตอบว่าอย่างไร

ในขณะพักอยู่กับท่านพระอาจารย์คำดี ปภาโส นั้น ได้รับความเมตตาจากท่านเป็นอันมาก ท่านมีนิสัยนิ่มนวลเยือกเย็น ท่านเป็นพระงาม ไม่ว่ากิริยาอาการเคลื่อนไหว ท่านงามทุกอิริยาบถ ในปีนั้นคิดว่าจะจำพรรษาที่ถ้ำกวางกับท่านพระอาจารย์คำดี

พออยู่ต่อมาได้รับโทรเลขว่า พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม ซึ่งเป็นลูกชายของหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ในเวลานั้นท่านเป็นอาจารย์ ได้ป่วยอยู่วัดป่าสุมนามัย อำเภอบ้านไผ่ ให้รีบมาด่วน ถ้าช้าจะไม่เห็นใจ เมื่อได้รับโทรเลขแล้วจึงปรึกษากันกับหลวงปู่บัว เพราะขณะนั้นหลวงปู่บัวก็อยู่ถ้ำกวางด้วย จึงลงมติว่าควรจะกราบเรียนท่านพระอาจารย์คำดี ท่านจะเห็นว่าอย่างไร จึงได้นำโทรเลขกราบเรียนท่านพระอาจารย์คำดี

ท่านจึงพูดว่า “อาจารย์เพ็งก็เป็นครูบาอาจารย์และมาด้วยกันก็ควรไปดูกันนั้นแหละ”

หลวงปู่เล่าว่า “ความจริงนั้นท่านพระอาจารย์คำดีเห็นเราเป็นไข้เหมือนกัน ท่านอยากให้ออกจากถ้ำกวางเพราะท่านกลัวว่าธาตุขันธ์จะสู้ไม่ไหว”

ออกจากถ้ำกวาง

เมื่อได้รับความเห็นจากพระอาจารย์คำดี ว่าควรจะกลับไปเยี่ยมพระอาจารย์เพ็งที่อำเภอบ้านไผ่ หลวงปู่พร้อมด้วยหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ จึงได้กราบลาคารวะท่านพระอาจารย์คำดี ปภาโส แล้วออกเดินทางด้วยเท้าจากถ้ำกวาง บ้านหินร่อง อำเภอภูเวียง สององค์ด้วยกันกับหลวงปู่บัว บนบ่าสะพายบาตรแบกกลด เดินไปไข้จับสั่นไป แสนทุกข์ทรมาน บางทีก้าวเท้าข้ามคันนาก็จะไม่ไหว สู้อดสู้ทนเอา กายไข้ไป ใจภาวนาไป พิจารณาทุกข์ไป เดินทั้งวัน ข้ามทุ่งเข้าป่า พอใกล้ค่ำถึงบ้านหนองขอน อำเภอเมืองขอนแก่น จึงได้หยุดพักที่ป่าใกล้ๆ หมู่บ้าน

ตอนเช้าบิณฑบาตในหมู่บ้านหนองขอนทั้งไข้จับสั่นไปด้วย ได้แต่ข้าวกับมะม่วงดิบลูกเล็กๆ กับห่ออาหารห่อหนึ่ง พอกลับมาถึงที่พักจัดแจงฉันเปิดห่ออาหารออก ปรากฏว่าเป็นปลาร้าดิบฉันไม่ได้ผิดวินัย ฉันข้าวกับมะม่วงดิบก็ฉันไม่ได้ เพราะอาการไข้ทำให้ขมปาก จึงฉันแต่ข้าวเปล่าพอประทัง แล้วจึงออกเดินทางต่อมาถึงขอนแก่น พักที่วัดป่าชัยวัน จังหวัดขอนแก่น ตอนเช้าจึงขึ้นรถไฟจากขอนแก่นไปบ้านไผ่ มีพระอีกองค์หนึ่งขอติดตามไปด้วยจึงเป็น 3 องค์

หลวงปู่เล่าว่า “รถไฟคนเต็มนั่งไม่ได้ ต้องยืนระหว่างตู้รถต่อกัน บ่าก็สะพายบาตรทั้งแบกกลดทั้งเป็นไข้ พระที่ขอไปด้วยก็เมารถเป็นลม ตัวเองก็เป็นไข้ มือก็ประคองพระ เพราะกลัวจะตกรถไฟ แสนทรมานในการเดินทาง ยืนจากขอนแก่นถึงบ้านไผ่ พอถึงบ้านไผ่ นายสถานีจึงนำรถมารับไปส่งที่วัดป่าสุมนามัย พอขึ้นศาลาวัดป่าสุมนามัย ต่างองค์ต่างไข้ ไม่มีใครดูใครเลย ต่างองค์ต่างนอนภาวนาไปพร้อมกับไข้จับสั่น” ในขณะนั้น ท่านพระอาจารย์สีโห เขมโก ก็ได้มาพักที่วัดป่าสุมนามัยด้วย

เมื่อไข้พอทุเลา พวกญาติโยมจังหวัดร้อยเอ็ดได้ทราบข่าวว่าพระอาจารย์เพ็ง หลวงปู่และหลวงปู่บัว มาป่วยอยู่อำเภอบ้านไผ่ จึงได้นำรถมารับกลับไปวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อกลับถึงวัดป่าศรีไพรวัลย์แล้ว พวกญาติโยมเมืองร้อยเอ็ดหายามาถวายให้ฉัน อาการไข้จับสั่นจึงค่อยทุเลาและหายไป

ความอยากเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

พอหายไข้ใหม่ๆ เริ่มฉันอาหารได้ รู้สึกว่าอยากโน่นอยากนี่ (ภาษาโบราณเขาว่ากำลังเป็นผีโพ คือกินอะไรไม่รู้จักอิ่ม) อยู่มาวันหนึ่งโยมเขานำลาบปลาปึ่ง (ปลาเทโพ) มาถวายจังหันตอนเช้า ฉันเอาเต็มที่ เพราะฉันไปไม่รู้จักอิ่ม ฉันด้วยความอยาก พอฉันเสร็จแล้ว อยู่อย่างไรก็ไม่สบาย สุดท้ายต้องไปยืนเหนี่ยวกิ่งไม้อยู่ตามร่มไม้ลำดวนในวัด เพราะแต่ก่อนวัดป่าศรีไพรวัลย์เป็นป่าไม้ลำดวน

ทุกข์เกิดเพราะความอยาก ทุกข์เกิดเพราะการกิน พระพุทธเจ้าจึงให้รู้ประมาณในการกิน ให้รู้เท่าความอยาก ไม่ปล่อยไปตามกระแสแห่งความอยากโดยถ่ายเดียว ถ้าปล่อยตามกระแสแห่งความอยาก ก็จะเกิดทุกข์เรื่อยไป ถ้ารู้เท่าความอยาก ไม่ปล่อยตามกระแสแห่งความอยาก ทุกข์ก็จะดับไป


(มีต่อ 6)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 28 พ.ค.2007, 10:39 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
(ยืน) หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ (นั่งรถเข็น) หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
ณ วัดภูริทัตตวนาราม มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา



๏ พรรษาที่ 10 พ.ศ. 2488
จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด


พรรษาที่ 10

ในพรรษานี้หลวงปู่ได้จำพรรษาอยู่ร่วมกับพระภิกษุสามเณรจำนวนหลายรูป โดยมีพระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม เป็นประธานสงฆ์ และมีครูบาอาจารย์ที่ได้จำพรรษาร่วมกัน ที่ยังดำรงอยู่ในพุทธศาสนา เป็นที่พึ่งของศิษยานุศิษย์ถึงปัจจุบันนี้คือ พระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ และพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย ในครั้งนั้นพระอาจารย์สมชายยังเป็นสามเณร หลวงปู่ยังเคยเป็นผู้สอนคำขานนาคให้ด้วยก่อนบวชเป็นสามเณร

ในพรรษานี้เป็นระยะสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังจะเลิกกัน กองทหารม้าจังหวัดร้อยเอ็ดได้ขอวัดป่าศรีไพรวัลย์เป็นที่หลบตั้งกองทหารม้า คณะสงฆ์ได้ยกศาลาให้พวกทหารเป็นที่พัก พระเณรอาศัยกุฏิเป็นที่ร่วมทำกิจสงฆ์ พวกทหารม้าอาศัยวัดอยู่จนตลอดออกพรรษา ในวัดมีแต่ขี้ม้าเต็มไปหมด เหม็นขี้ม้า พอพวกญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม พวกทหารม้าจึงได้ยกกองพลออกจากวัดไป

Image
หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ

Image
พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย


เกิดความสังเวชในการทรมาน

หลวงปู่เล่าว่า ในขณะที่พวกทหารม้าอาศัยอยู่ในวัด ได้เห็นผู้บังคับบัญชาทรมานทหารที่ทำความผิดด้วยวิธีต่างๆ ทำให้เกิดความสังเวชสลดใจเป็นอย่างยิ่ง ในพรรษานี้หลวงปู่ได้ประกอบความเพียรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท พูดน้อยไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ซึ่งเป็นนิสัยประจำองค์หลวงปู่ เมื่อออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์สุวัจน์และสามเณรสมชายได้เที่ยววิเวกไปทางสกลนคร เพื่อรับการอบรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต สำหรับหลวงปู่ได้เที่ยววิเวกอยุ่แถวจังหวัดร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ แล้วก็กลับมาวัดป่าศรีไพรวัลย์


๏ พรรษาที่ 11 พ.ศ. 2489
จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด


พรรษาที่ 11

ในพรรษานี้ หลวงปู่ได้จำพรรษาร่วมกับพระภิกษุสามเณร โดยมีพระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม เป็นประธานสงฆ์ พระเณรต่างพากันตั้งสัจจะอธิษฐานประกอบความเพียร และอธิษฐานไม่พูดกัน ถ้ามีเหตุจำเป็นก็เวียนหนังสือถามกันเอง แต่ให้เหลือไว้คนหนึ่งสำหรับพูดเวลามีแขกคนมาวัดมีธุระจำเป็น

วันหนึ่งมีนายอำเภอขี่ม้าเข้ามาในวัด มาถามพระเณรองค์ไหนก็ไม่พูด นายอำเภอจึงพูดว่า “อะไรกัน พระเณรเป็นใบ้กันหมดทั้งวัด” เพราะนายอำเภอถามไม่ถูกองค์ที่ตั้งไว้ให้รับแขก ในสมัยนั้นการประกอบความเพียรเพื่อเอาชนะกิเลสภายในใจจำต้องทำด้วยวิธีต่างๆ

ตั้งใจไปโปรดญาติ

เมื่อออกพรรษาปี 2489 ฤดูเดือน 12 หลวงปู่คิดถึงญาติที่ได้จากกันไปอยู่บ้านไชยวาน อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นเวลาหลายปี ยังไม่เคยได้ไปเยี่ยมเยือนเลย หลวงปู่จึงคิดที่จะทำประโยชน์แก่ญาติ จึงออกเดินทางจากวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด ไปขึ้นรถไฟที่สถานีกิ่งไผ่ (อำเภอบ้านไผ่) ไปลงที่สถานีรถไฟห้วยสามพาต อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี พอลงจากรถไฟเป็นเวลาใกล้มืด สะพายบาตรแบกกลด เดินผ่านบ้านห้วยสามพาต เลยออกไปทุ่งนา อาศัยโคนต้นไม้แสบงใหญ่มีรากเป็นที่พึ่ง เป็นที่พักจำวัด

บ้าบัตรเบอร์

ในสมัยนั้นคนเป็นบ้าหวยกันเพราะเจ็ดวันหวยออกครั้งหนึ่ง ชาวบ้านห้วยสามพาต เมื่อเห็นพระกัมมัฏฐานเดินผ่านบ้านไปตามทุ่งนา พอเวลาค่ำมืดก็พากันจุดไต้ตามออกไปหา เพื่อจะได้ขอหวยบ้าง หลวงปู่เล่าว่า “เราก็นั่งอยู่โคนต้นไม้ เขาก็เดินค้นหาผ่านไปผ่านมาใกล้ๆ แต่เขาไม่เห็น ได้ยินเสียงเขาพูดกันว่า “เห็นท่านออกมาหยุดอยู่บริเวณนี้แหละ ทำไมไม่เห็นไม่พบ” เราก็นั่งนิ่งเงียบเพราะกลัวเขาจะเห็นเรา เมื่อเขาค้นหาเหนื่อยแล้ว ไม่พบ เขาก็กลับเข้าบ้านไป เราก็อาศัยพิงรากไม้นั้นแหละเป็นที่จำวัด ในคืนนั้นฝนก็ตกพรำๆ ตลอดคืน

พอตอนเช้าเข้าบิณฑบาตตามสมณวิสัย ในหมู่บ้านห้วยสามพาต พอบิณฑบาตแล้วจะกลับออกไปฉันที่ทุ่ง มีโยมคนหนึ่งให้ขึ้นไปฉันบนบ้านเขา เพราะตอนเช้าฝนก็ยังตกพรำๆ อยู่ไม่หยุด เมื่อฉันเสร็จแล้วจะลาโยมเจ้าของบ้านและเพื่อนบ้านที่มาร่วมถวายอาหารบิณฑบาตด้วย เขาขอตัวดีจากเราว่า “อาจารย์ไม่มีตัวดีหรือ” บอกเขาว่า “มี...ตัวดีคือตัวเรา เราทำดีก็เป็นตัวดี เราทำไม่ดีก็เป็นตัวร้าย”

เมื่อบอกตัวดีให้เขาแล้วก็ออกเดินทางจากบ้านห้วยสามพาต ผ่านบ้านโพนทอง พังซ้อนงาวัว เดินทั้งวัน ถึงบ้านหนองแวงแก้มหอม ผ่านไปถึงบ้านหนองตูม ขณะนั้นมีบ้านอยู่ 4-5 หลังคาเรือน ผ่านบ้านหนองตูมเข้าบ้านไชยวาน คุ้มหนองยาง เป็นเวลามืดผึมผำ (มืดสลัว) เจอบ้านคนมีคนอยู่ใต้ถุนบ้าน พอจะถาม เขาก็วิ่งขึ้นบ้านไป จึงเดินผ่านเข้าไปกลางหมู่บ้านถามถึงญาติ คือพี่ชายชื่อคำสิงห์ เขาก็บอกว่าสิงห์มีหลายสิงห์ สิงห์ก่าก็มี สิงห์กระดูกม้าก็มี สิงห์โกโลก็มี สิงห์เพ็งก็มี เราก็ไม่รู้ว่า สิงห์อะไรเป็นพี่ชายของเรา จึงถามถึงคุณพ่อสอน เขาก็ไม่รู้อีกเลยไม่ได้หน้าได้หลัง

หลวงปู่จึงเดินเลยหมู่บ้านออกไปริมทุ่ง พอดีมีโพนมะขามใหญ่อยู่โพนหนึ่ง ซึ่งอยู่ทิศตะวันออกของบ้านไชยวาน และอยู่ใกล้กับตึกใหญ่ (ตึกหมายถึงร้านค้าใหญ่) ของนายฮ้อยนิล มั่งมีศรี หลวงปู่จึงปักกลดจำวัดที่โพนมะขามใหญ่นั้น (โพน หมายถึงจอมปลวกใหญ่) พอถึงเวลาดึกน้ำค้างลงทำให้มีกลิ่นเหม็นพิกล พอสว่างเป็นวันใหม่จึงรู้ว่าที่นั้นมันเป็นส้วมปล่อยตามอัธยาศัยของชาวบ้าน เมื่อสว่างได้เวลาพอบิณฑบาตแล้ว หลวงปู่จึงสะพายบาตรพร้อมกับบริขารอย่างอื่นไปด้วย เดินบิณฑบาตจากตึกใหญ่เดินตามถนนมาจนถึงหน้าวัดท่าบ่อวารีรินทร์ จึงพบพวกญาติพี่น้องที่อพยพมาจากอำเภอพนมไพร มาตั้งบ้านเรือนอยู่คุ้มวัดท่าบ่อวารีรินทร์ปัจจุบันนี้

นายคำสิงห์ผู้เป็นพี่ชายจึงนิมนต์ฉันอาหารเช้าที่บ้าน ได้มีพวกญาติๆ มาร่วมถวายอาหารบิณฑบาตด้วย เมื่อฉันเสร็จแล้วญาติโยมจึงนิมนต์ให้ไปพักที่อาคารโรงเรียนบ้านไชยวาน ขณะนั้นเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ ยังไม่ได้เปิดเรียน พักที่อาคารโรงเรียน 1 คืน จึงย้ายไปพักที่ร่มไม้หว้าชมภู สวนนายสุจินต์ คำใสย์ อบรมศีลธรรมแก่ญาติพี่น้องและญาติโยมชาวบ้านไชยวาน ให้ยึดเอาพระไตรสรณคมน์และศีลห้าเป็นที่พึ่งและเป็นข้อปฏิบัติ

ความไม่เคยเห็นเคยรู้ทำให้เข้าใจผิดได้

ขณะที่หลวงปู่พักอยู่รุกขมูลร่มไม้หว้าชมภู เพื่ออบรมศีลธรรมแก่ญาติพี่น้องอยู่นั้น วันหนึ่งได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งท่านอยู่วัดในบ้านได้ออกมาพูดคุยกับหลวงปู่ คุยไปคุยมาท่านมองเห็นบั้งถาน (กระบอกสำหรับใส่น้ำชำระก้นเวลาถ่ายเสร็จ) และฟอยสับปะรด (เป็นของสำหรับเช็ดน้ำที่ล้างก้นให้แห้ง) ท่านจึงถามหลวงปู่ว่า “นี้อะไร” พร้อมกับยื่นมือไปจับมาดู

หลวงปู่ตอบว่า “บั้งถาน” พระท่านจึงพูดว่า “เอ้า ไปถานก็พอจะหิวน้ำด้วยหรือ” พร้อมกับจับบั้งถานยกขึ้นทำท่าเทน้ำใส่ปากตัวเองด้วย แล้วพระนั้นท่านก็หยิบเอาฟอยสับประรดที่ทำด้วยเส้นฝ้ายนิ่มๆ นั้นขึ้นมาถูที่จมูกของท่าน ถูไปถูมาพร้อมกับพูดว่า “แหม นิ่มดีเนาะ” หลวงปู่ได้แต่ยิ้มๆ และนึกอยู่ในใจว่า “คนเราไม่เคยเห็นไม่เคยรู้ว่าเขาทำสำหรับอะไร ก็ทำให้เข้าใจผิดได้”

คุณพ่อสอน คำใสย์ ติดตามออกบวช

หลวงปู่พักอบรมศีลธรรมแก่ญาติพี่น้อง และชักชวนพี่ชายให้ออกบวชด้วย แต่พี่ชายยังไม่ตกลง ท่านพักอยู่ไม่นาน จึงได้ลาญาติพี่น้องกลับไปจังหวัดร้อยเอ็ด ได้มีคุณพ่อสอน คำใสย์ สละครอบครัวติดตามหลวงปู่ไปบวชด้วย หลวงปู่พาคุณพ่อสอนเดินด้วยเท้า ออกจากบ้านไชยวาน ผ่านดงหลุบหวาย บ้านหนองกุงทับม้า (ปัจจุบันเป็นเขตอำเภอวังสามหมอ) มุ่งหน้าผ่านบ้านหนองลุมพุก พักรอนแรมไปเรื่อยๆ เข้าเขตอำเภอโนนศิลา (ปัจจุบันเป็นอำเภอสหัสสขันธ์) ผ่านกาฬสินธุ์ กมลาไสย ถึงวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด แล้วจึงให้คุณพ่อสอนบวชเป็นตาผ้าขาว ถือศีล 8 ฝึกหัดข้อวัตรปฏิบัติให้ชำนิชำนาญก่อน

ร่วมสร้างสาธารณประโยชน์

ในระยนี้พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม ได้พาสร้างโรงเรียนประชาบาลให้บ้านนาสร้าง โรงเรียนนี้สร้างอยู่ติดกับวัดป่าศรีไพรวัลย์ ทั้งพระทั้งเณรและชาวบ้านได้ช่วยกันเลื่อยไม้ทำอาคารเรียน การสร้างโรงเรียนยังไม่เสร็จ พระอาจารย์เพ็งได้ลาสิกขาบทออกไปเป็นฆราวาส (ภายหลังท่านกลับมาบวชอีก ต่อมาท่านได้อยู่ที่วัดเทิงเสาหิน ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) หน้าที่เจ้าอาวาสวัดป่าศรีไพรวัลย์จึงตกเป็นภาระของหลวงปู่ และการสร้างโรงเรียนที่ยังไม่เสร็จเรียบร้อยก็ตกเป็นภาระของหลวงปู่ด้วย ซึ่งท่านก็ดำเนินการต่อไปจนเสร็จเรียบร้อยทุกประการ

เห็นโทษในการเกี่ยวข้องกับเรื่องทางโลก

เมื่อสร้างโรงเรียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่จึงทำหนังสือขอครูใหญ่มาประจำโรงเรียน โดยขอครูคนที่ได้ร่วมสร้างโรงเรียนด้วยมาเป็นครูใหญ่ แต่มีอีกคนหนึ่งที่อยากมาเป็นครูใหญ่ เวลาทำงานสร้างโรงเรียนไม่ได้เอาใจใส่ เวลาอยากเป็นใหญ่ มีหน้ามียศ กุลีกุจอวิ่งหน้าวิ่งหลังติดต่อผู้หลักผู้ใหญ่ จนกระทบกระเทือนมาถึงหลวงปู่ด้วย จึงเป็นเหตุให้ท่านเอือมระอาในการที่จะคลุกคลีเกี่ยวข้องกับเรื่องทางโลก ทำให้ท่านเห็นโทษอย่างยิ่ง ในที่สุดหลวงปู่จึงชี้ขาดให้ผู้ที่ได้ร่วมทำงานด้วยมาเป็นครูใหญ่ประจำโรงเรียนบ้านนาสร้าง จึงเสร็จสิ้นภาระหน้าที่ในการสร้างโรงเรียน

Image
พระอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม


๏ พรรษาที่ 12 พ.ศ. 2490
จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด


พรรษาที่ 12

ในพรรษานี้ หลวงปู่ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าศรีไพรวัลย์ และเป็นประธานสงฆ์ และมีหลวงพ่อศิลาซึ่งเป็นคู่นาคกันกับหลวงปู่อยู่เป็นผู้ช่วยหลวงปู่ด้วย หลวงปู่ได้นำพาพระภิกษุสามเณรประกอบความพากความเพียร เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา และได้อบรมญาติโยมที่มาเกี่ยวข้องให้ตั้งอยู่ในศีลห้าและพระไตรสรณคมน์สาม คือให้ถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งที่เคารพ ด้วยการปฏิบัติตามหลักแห่งศีลธรรม

อำนาจพระรัตนตรัยทำให้เดรัจฉานวิชาจืดจาง

หลวงปู่ท่านเป็นผู้มีเมตตาประจำนิสัย เมื่อมีผู้ได้รับทุกข์มาพึ่งพาอาศัย ท่านจะสงเคราะห์ตามแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งไม่เหลือวิสัยและไม่ผิดต่อหลักธรรมวินัย วันหนึ่งในระยะเข้าพรรษาใหม่ๆ ได้มีโยมผู้ชายคนหนึ่งเป็นคนทางสุรินทร์ ตามองไม่เห็น ให้ญาติจูงมาวัด แล้วเล่าเรื่องความเป็นมาให้หลวงปู่ฟังว่า แต่ก่อนตาเขามองเห็น เขาเล่นวิชาเอาเข็มเข้าในตัวร้อยเล่ม เพื่อให้อยู่ยงคงกระพันชาตรี ครั้นอยู่ต่อมาทำให้ตาเขามองไม่เห็นหน เขาไม่มีที่พึ่งจึงมาขอพึ่งบารมีหลวงปู่

หลวงปู่ได้ให้สมาทานศีลห้ารับพระไตรสรณคมน์ ให้ตั้งใจไหว้พระสวดมนต์ภาวนาก่อนนอนและหลังตื่นนอนทุกวันเป็นประจำ เขาปฏิบัติตามอยู่มาไม่ถึงครึ่งพรรษา เข็มที่อยู่ในตัวก็หลุดออกมา ตกอยู่ตามที่นอน ตาก็มองเห็นหน มาวัดไม่ต้องจูง เดินมาเองได้ คลำดูในตัวยังมีเข็มเหลืออยู่ 3 เล่ม ต่อมาก็หลุดออกหายไปหมด หลวงปู่ท่านว่าวิชามันกินเจ้าของ เมื่อมาปฏิบัติตามศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว สิ่งเหล่านั้นมันจืดจางไปเอง

วิญญาณมีจริงหรือไม่

หลวงปู่เล่าว่า มีเด็กนักเรียนผู้ชายคนหนึ่งมาขออาศัยอยู่วัดด้วย เวลาเรียนก็ไปโรงเรียนในจังหวัดร้อยเอ็ด วันหนึ่งพอเลิกเรียนจะกลับวัด ความดื้อของเธอทำให้ไม่กลัวอะไร พอเดินผ่านหลักเมือง แกก็ไปปัสสาวะใส่หลักเมืองของเขา พอกลับถึงวัดก็มีอาการเหมือนเป็นบ้า พระเณรช่วยกันจับคุมตัวไว้ที่ศาลา ในวันนั้นหลวงปู่มีธุระเข้าไปในเมืองร้อยเอ็ด กลับออกมาเห็นพระเณรจับเด็กนักเรียนไว้ พระจึงบอกเด็กนักเรียนว่า “นั้นอาจารย์มาแล้ว มึงไม่กลัวหรือ”

เด็กพูดว่า “อาจารย์ กูก็ไม่กลัว” หลวงปู่เข้าไปในห้องที่พักได้ไม้เรียวออกมา ถามว่า “ใครไม่กลัวอาจารย์” เด็กตอบว่า “กูนี้แหละ” หลวงปู่ฟาดไม้เรียวลงไปที่เด็ก 3 ที เด็กร้องว่า "ยอมแล้ว ยอมแล้ว” พร้อมกับปัสสาวะราดออกจึงหายเป็นปรกติ แล้วแกจึงถามว่า “ผมเป็นอะไรไม่รู้สึกตัวเลยเมื่อกี้นี้”

หลวงปู่สอนว่า เราไม่เคารพไม่นับถือก็อย่าไปเหยียดหยามของเขา ความคึกคะนอง ความไม่มีสติปัญญารอบคอบ ความโลเล ย่อมทำให้ขาดสมบัติของผู้ดี

เอาใจใส่ในการดูแลปรนนิบัติครูอาจารย์อาพาธ

หลวงปู่เล่าว่า ในพรรษาปี พ.ศ. 2490 นี้ ท่านต้องจำสัตตาหกิจไปปรนนิบัติท่านพระอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม ที่วัดป่าพูนไพบูลย์ (ปัจจุบันเป็นวัดประชาบำรุง) ที่เมืองมหาสารคาม เพราะท่านพระอาจารย์คูณได้อาพาธออดๆ แอดๆ อยู่เรื่อย หลวงปู่จึงต้องไปๆ มาๆ ระหว่างร้อยเอ็ดกับมหาสารคามจนออกพรรษา

ให้คุณพ่อสอนบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา

เมื่อออกพรรษาแล้ว ลุถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2490 หลวงปู่จึงได้นำตาผ้าขาวสอนที่ฝึกหัดข้อวัตรปฏิบัติและคำขานนาคได้ถูกต้องตามอักขรฐานกรณ์แล้ว ไปบวชที่วัดเหนือ จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2490 เวลา 15.00 น. โดยมี พระครูศิริธรรมธาดา เป็นพระอุปัชฌาย์, พระสมุห์บุญยอด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระใบฎีกาหยาด เป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีนามฉายาว่า “สงฺจิตฺโจ”

เมื่อบวชเสร็จแล้วได้นำหลวงพ่อสอนกลับไปอยู่วัดป่าศรีไพรวัลย์ หลวงปู่ได้เอาธุระในการสั่งสอนศิษย์ผู้บวชใหม่ ให้ปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา คือศีล สมาธิ และปัญญา ไม่ให้ประมาท

พระอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม อาพาธหนักและมรณภาพ

เมื่อเวลาล่วงถึงต้นปี พ.ศ. 2491 ท่านพระอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม วัดป่าพูนไพบูลย์ จังหวัดมหาสารคาม อาการอาพาธทรุดลง หลวงปู่จึงได้ไปปฏิบัติดูแลอยู่ประจำจนท่านมรณภาพละสังขารจากไป ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม มอบภาระในการดูแลเรื่องจัดการฌาปนกิจศพท่านพระอาจารย์คูณ ให้หลวงปู่เป็นผู้ดำเนินการหาวัสดุจัดทำเมรุที่เผาศพพระอาจารย์คูณ หลวงปู่ได้รับปฏิบัติตามที่ครูบาอาจารย์มอบหมายงานให้ จนการจัดงานฌาปนกิจศพของท่านพระอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม ได้สำเร็จเสร็จสิ้นไปด้วยความเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่จึงได้กลับไปวัดป่าศรีไพรวัลย์

อยากให้พี่ชายพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสาร

เมื่อเสร็จจากงานฌาปนกิจศพท่านพระอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม และกลับไปวัดป่าศรีไพรวัลย์แล้ว หลวงปู่ต้องการทำประโยชน์แก่ญาติ จึงเดินทางขึ้นไปบ้านไชยวาน อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เพื่อชักชวนเอาพี่ชายชื่อ คำสิงห์ ออกบวชด้วยให้ได้

เมื่อมาถึงบ้านไชยวานเป็นฤดูเดือนเมษายน หลวงปู่ได้พักอยู่ป่าใกล้ป่าช้าบ้านไชยวาน ญาติโยมได้ทำกระต๊อบให้พอได้อาศัยบังแดดดบังลม และได้อบรมญาติโยมให้ตั้งอยู่ในศีลธรรม ได้มีนักปราชญ์อาจารย์มาถามปัญหาธรรมอยู่ไม่ขาด เพราะในสมัยนั้น คนนิยมทดสอบลองภูมิความรู้เรื่องหลักธรรมกันมาก

นักปราชญ์อาจารย์ถามปัญหาธรรม

วันหนึ่งได้มีโยมทิดขันตี มาถามปัญหาธรรม โยมทิดขันตีนี้แกเคยบวชเรียนหลายปีแล้วก็สึก และเคยเป็นหมอลำกลอน จึงมีความรู้มาก เมื่อโยมทิดขันตีเข้ามาหาทำความเคารพกราบไหว้แล้ว แกจึงพูดว่า “อาจารย์ ผมขอถามปัญหาธรรมกับอาจารย์ด้วย คำว่า วัดหก กกห้า พระเสมาทั้งแปด ได้แก่อะไร”

หลวงปู่ท่านเป็นผู้ถ่อมตนเป็นนิสัยประจำองค์อยู่แล้ว ท่านจึงพูดว่า “อาตมาเป็นพระอยู่ตามป่า ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนอะไรมาก ความรู้ก็มีน้อย จะขอตอบไปตามความรู้ของตนเอง คำว่าวัดหกนั้น วัดได้แก่ วัตรปฏิบัติ หกนั้นได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราปฏิบัติวัดตา วัดหู วัดจมูก วัดลิ้น วัดกาย วัดใจ วัดให้อยู่ในความพอดี เมื่อตาเห็นรูป หูได้เสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส การถูกต้องสัมผัส ใจนึกคิดอารมณ์ ให้มีสติรอบคอบอยู่ในอายตนะทั้ง 6 นี้ เมื่อเวลามันกระจายกัน ไม่ปล่อยจิตใจให้ไหลไปตามปรุงแต่ง ไปตามสิ่งที่สัมผัสนั้นๆ เรียกว่า วัดหก

กกห้านั้น กก หมายถึง ต้นถึงโคน ต้นของธรรมได้แก่ พละ 5 คือ ศรัทธา ความเชื่อ วิริยะ ความเพียร สติ ความระลึกชอบ สมาธิ ความตั้งใจไว้มั่นคง ปัญญา ความรอบรู้ในสภาวะความเป็นจริง นี้คือต้นของธรรม ต้นของคนคือ แขนสอง ขาสอง หัวหนึ่ง รวมเป็นห้า ปฏิบัติห้าอย่างนี้ให้แก่กล้า รักษาแขนสอง ขาสอง หัวหนึ่งนี้ไม่ให้ผิดศีลธรรมนี้เรียกว่ากกห้าเจริญสมบูรณ์

พระเสมาทั้งแปด เสมา หมายถึง หลักขอบเขต ขอบเขตแห่งทางเดิน 8 อย่าง ได้แก่ มรรคปฏิปทา คือข้อปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์ 8 ประการ ได้แก่

สัมมาทิฏฐิ คือปัญญาอันเห็นชอบ เห็นความเกิดแก่เจ็บตาย เห็นกายเห็นจิตไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นแล้ว ตั้งอยู่ ดับไป เป็นทุกข์ นี้เรียกว่าเห็นชอบ

สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ คือ ดำริที่จะออกจากกองทุกข์ คือความคิดอยู่ในกามคุณห้า ยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในการถูกต้องสัมผัส สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ดำริหาทางออกจากสิ่งเหล่านี้ไป

สัมมาวาจา วาจาไม่เป็นพิษเป็นภัย เรียกว่าวาจาชอบ

สัมมากัมมันโต การงานที่ทำเป็นการงานชอบ เป็นการงานที่จะออกจากทุกข์

สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ ไม่เบียดเบียนคนอื่น สัตว์อื่น มาเลี้ยงชีวิตตน

สัมมาวายาโม เพียรละสิ่งที่ไม่ดี เพียรทำสิ่งที่ดี

สัมมาสติ ระลึกชอบ ระลึกในกายในจิตของตนเอง

สัมมาสมาธิ ความตั้งใจไว้ชอบ ตั้งใจไว้มั่นคงในทางจะหาความพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสาร ความเวียนว่ายในการเกิดแก่เจ็บตาย

ที่อธิบายมานี้รวมเรียกว่า วัดหก กกห้า พระเสมาทั้งแปด”

เมื่อโยมทิดขันตีได้ฟังอธิบายปัญหาจบแล้วก็กราบลาจากไป

ได้พี่ชายออกบวชดังความตั้งใจ

หลวงปู่พักอบรมญาติพี่น้องและพี่ชายอยู่ไม่นาน พี่ชายชื่อคำสิงห์ ได้ตกลงสละครอบครัวออกบวชด้วย หลวงปู่จึงพาพี่ชายเดินทางด้วยเท้าออกจากบ้านไชยวาน กลับไปวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อกลับถึงวัดป่าศรีไพรวัลย์ ได้จัดแจงให้พี่ชายบวชเป็นตาผ้าขาวถือศีล 8 ฝึกหัดข้อวัตรปฏิบัติและคำขานนาคให้ถูกตามมคธภาษา

ผีหลอก

วัดป่าศรีไพรวัลย์เป็นวัดตั้งอยู่ในป่าช้า เวลาคนตายเขาก็เอามาฝังมาเผาตามข้างกุฏิ หลวงปู่ให้ผ้าขาวคำสิงห์ผู้เป็นพี่ชายพักอย่กุฏิเดียวกันกับหลวงพ่อสอน อยู่คนละห้อง วันหนึ่งเขาเอาคนตายมาเผาที่หน้ากุฏิ ผ้าขาวคำสิงห์ไปอยู่ใหม่ๆ ยังกลัวผีหลอก พอค่ำมืดลง แสงไฟเผาศพที่หน้ากุฏิแดงโร่อยู่ ผ้าขาวคำสิงห์เข้าในห้องปิดประตูลงกลอนอย่างดีเพราะกลัวผี ใจก็นึกผีหลอกอย่างนั้นผีหลอกอย่างนี้ คือหลอกตัวเองอยู่ในห้อง นอนก็ไม่ค่อยหลับ พอตกดึก พระธรรมบันดาลให้ปวดท้องหนักขึ้นมา จะทำอย่างไรใจก็กลัวผี ปวดท้องก็ทนไว้ ทนไปก็ปวดหนักขึ้นเรื่อยๆ ใจก็กลัวผี แต่ท้องมันไม่กลัวด้วย มีแต่จะออกอย่างเดียว

สุดท้ายเปิดประตูห้องออกมามองไปที่เผาศพ ไฟก็ยังแดงอยู่ไม่กล้าลงกุฏิ เรียกหลวงปู่สอน “คุณปู่ คุณปู่ พาผมไปถ่ายด้วย” หลวงปู่สอนตอบว่า “เดี๋ยว มวนบุหรี่ก่อน” ผ้าขาวคำสิงห์ก็ทนบิดหน้าบิดหลัง เรียก “คุณปู่ คุณปู่” หลวงปู่สอนก็ตอบว่า “เดี๋ยวจุดบุหรี่ก่อน” สุดท้ายทนไม่ไหวเพราะของอยู่ในท้องไม่กลัวผี ผ้าขาวคำสิงห์จึงกระโดดลงไปพร้อมกับถ่ายออกตรงนั้นเลย ผีไม่รู้ไปไหนหมด

หลวงปู่เล่าว่า อีกครั้งหนึ่งมีหลวงพ่ออิสสโร เป็นคนกลัวผี ตกกลางคืนเขียดตะปาดกระโดดลงจับขันในตุ่มน้ำสำหรับล้างเท้าที่บันไดกุฏิ ขันก็ลอยกระทบปากตุ่มดังป๋องแป๋งๆ หลวงพ่ออิสสโรกลัวไม่กล้าออกจากกุฏิ พอตอนเช้าลงรวมที่ศาลา หลวงพ่ออิสสโรกราบเรียนหลวงปู่ตาชี้ตาชันว่า “เมื่อคืนนี้ผีหลอกผมทั้งคืน ไม่ได้นอนเลย”

หลวงปู่ถามว่า “ผีมันทำอย่างไร” หลวงพ่ออิสสโรตอบว่า “มันเล่นขันที่ตุ่มน้ำดังป๋องแป๋งๆ ทั้งคืน” หลวงปู่จึงบอกว่า “ไม่ใช่ผีดอก เขียดตะปาดมันลงเล่นน้ำ ป๋องแป๋งๆ" หลวงพ่ออิสสโรไม่ยอมเชื่อ บอกว่า “ผีจริงๆ แหละท่านอาจารย์” หลวงปู่จึงบอกว่า “ถ้าอย่างนั้น คืนนี้เมื่อได้ยินเสียงให้ลงไปดูนะ” พอตกกลางคืนมีเสียงดังป๋องแป๋งๆ อีก หลวงพ่ออิสสโรก็กลัวอีกแต่ก็ทนกัดฟันลงไปดู เห็นตะปาดจับอยู่ปากขันตักน้ำ หลวงพ่ออิสสโรร้อง “โอ้ย กูกลัวแทบตาย”

พอตอนเช้าลงศาลาอีก หลวงปู่ถามว่า “เป็นอย่างไรหลวงพ่อ ผีหลอกอีกไหม” หลวงพ่ออิสสโรกราบเรียนว่า “โอ้ย เขียดตะปาดจริงๆ ท่านอาจารย์” หลวงปู่จึงพูดว่า “หลวงพ่อผีบ้ากลัวเขียดตะปาด ใจของเราเป็นผีหลอกตัวเอง ไม่รู้กี่ภพกี่ชาติไม่กลัว ไปกลัวแต่ผีอย่างอื่น”

Image
หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล และหลวงปู่คำสิงห์ สุจิตฺโต พระพี่ชายของท่าน


(มีต่อ 7)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 31 พ.ค.2007, 8:39 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พรรษาที่ 13 พ.ศ. 2491 จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์
อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด เป็นปีสุดท้าย


พรรษาที่ 13

ปี พ.ศ. 2491 เมื่อถึงฤดูกาลจำพรรษา หลวงปู่ได้จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด หลวงปู่เป็นประธานสงฆ์ ได้ทำหน้าที่อบรมพระภิกษุสามเณรและนำพาปฏิบัติในธุดงควัตร สมาทานเนสัชชิกังคธุดงค์ ถือไม่นอนในวันธรรมสวนะ คือวันพระ 8 ค่ำ 14 ค่ำ 15 ค่ำ อยู่ในอิริยาบถ 3 คือ ยืน เดิน นั่ง ตั้งใจปฏิบัติจิตตภาวนา เอาชนะความอยากมีสุขในการนอน หลวงปู่ทำหน้าที่ในการอบรมญาติโยมที่มาเกี่ยวข้อง ให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ 3 และศีลห้า ให้รักษาอุโบสถศีล ถือศีล 8 ในวันพระ 8 ค่ำ 15 ค่ำ

อธิษฐานฉันเจเพื่อการศึกษา

ในไตรมาส 3 เดือน หลวงปู่ได้อธิษฐานฉันอาหารเฉพาะของที่ไม่ประกอบด้วยเลือดเนื้อสัตว์ ที่เรียกกันว่าฉันเจ หลวงปู่เล่าว่าเจของท่านเป็นเจจริงๆ คือ ฉันแต่ข้าวกับเกลือกับพริก บางวันก็มีกล้วยบ้าง มีอยู่วันหนึ่งคุณนายอนงค์ เป็นชาวจันทบุรีมาอยู่ร้อยเอ็ด ถวายตัวเป็นศิษย์อุปัฏฐาก ได้ทำถั่วเหลืองทอดน้ำมันมะพร้าวให้เด็กนำมาถวาย หลวงปู่เข้าใจว่าเป็นไข่จึงไม่ฉัน

วันหลังคุณนายอนงค์จึงมาถามว่า “ดิฉันทำอาหารเจให้เด็กนำมาถวาย ท่านอาจารย์ฉันหรือไม่” หลวงปู่ตอบว่า “อาตมาไม่ฉัน เข้าใจว่าเป็นไข่” คุณนายอนงค์กราบเรียนว่า “ไม่ใช่ เป็นถั่วเหลือง”

หลวงปู่เล่าว่า ฉันเจอยู่ 3 เดือน ตัวเหลืองหมดแต่ก็ทำให้เบาสบาย “การทำก็ทำเพื่อการศึกษาจะได้เข้าใจในเรื่องธาตุขันธ์เท่านั้น ไม่ได้ทำเพื่ออย่างอื่น เพราะเรื่องฉันเจนี้ในครั้งพุทธกาล พระเทวทัตได้ขอให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้ามไม่ให้ภิกษุฉันเนื้อฉันปลา ให้ฉันเจ แต่พระองค์ไม่ทรงทำตามคำขอนั้น ทรงตรัสว่าการเลี้ยงชีพของสมณะเนื่องด้วยผู้อื่น เราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย เขามีอย่างไรเขาให้อย่างไรซึ่งเป็นสิ่งไม่ผิดต่อพระธรรมวินัย ก็ควรฉันอย่างนั้น เพราะการกินการฉันก็เพียงให้มีชีวิตเป็นอยู่ไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น ถ้าฉันเจสบายก็ฉันไปตามมีตามได้ ถ้าไม่สบายเราก็ฉันเนื้อฉันปลาตามมีตามได้ เราไม่เห็น เราไม่รู้ว่าเขาจะฆ่ามาเพื่อเราก็เป็นสิ่งที่ควร ถ้าเราเห็นเรารู้ว่าเขาจะฆ่ามาเพื่อเราก็เป็นของไม่ควร ทำอะไรให้ประกอบด้วยสติปัญญาใคร่ครวญถึงเหตุถึงผล จึงจะไม่เสียกาล”

ระงับพิษตะขาบด้วยธรรมโอสถ

วันหนึ่งท่านให้เด็กโกยดินกองไฟเก่า พอดีจอบสับหัวตะขาบขาดออกมาจากตัว มองไม่เห็นผสมอยู่กับดิน หลวงปู่เดินดูความเรียบร้อยเดินไปเดินมา เท้าไม่สวมรองเท้า จึงไปเหยียบหัวตะขาบ หัวตะขาบยังไม่ตายก็กัดที่ฝ่าเท้าหลวงปู่ พิษตะขาบก็กำเริบขึ้นปวดร้อนเหมือนกับเหยียบถ่านเพลิง ไม่มีหยูกยาอะไรใส่ เวลาสรงน้ำถูกน้ำยิ่งเพิ่มความปวดขึ้นอีกเป็นสองเท่า

หลวงปู่เล่าว่า พอสรงน้ำเสร็จแล้วครองจีวร เข้าในกุฏิปิดประตูลงกลอนเรียบร้อยแล้ว เข้าที่นั่งสมาธิ ใช้ยาธรรมโอสถรักษาพิษตะขาบ พอจิตเข้าสู่ความสงบ ไม่มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่นในทุกขเวทนา จนสว่าง พอจิตถอนออกจากสมาธิไม่รู้ว่าพิษตะขาบหายไปแต่เมื่อไร อำนาจของธรรมเหนืออำนาจทั้งปวง

ระงับโรคท้องร่วงด้วยธรรมโอสถ

อีกครั้งหนึ่งท่านเป็นโรคท้องร่วง ไม่มียาอะไรจะฉันรักษา ท่านจึงใช้ยาธรรมโอสถ เข้าที่นั่งสมาธิ จิตเข้าสู่ความสงบตลอดคืนจนสว่าง พอจิตถอนออกจากความสงบ ไม่รู้ว่าโรคท้องร่วงหายไปแต่เมื่อไร เหมือนกับไม่เป็นอะไรเลย อำนาจของอธิษฐานธรรมและสมาธิธรรมบำบัดโรคภัยไข้เจ็บให้หายไปได้ จึงเรียกว่า ธรรมโอสถ

กรรมนิมิต

หลวงปู่เล่าว่าคืนหนึ่งขณะที่ท่านเข้าที่นั่งสมาธิภาวนา พอจิตเข้าสู่ความสงบแล้ว จึงเกิดกรรมนิมิตขึ้นมา ปรากฏว่ามีสังเวียนที่เขาตีไก่ (ชนไก่) มีคนดูอยู่เต็ม แล้วตัวของท่านเองก็เดินไปยืนดูอยู่ด้วย ไก่ก็ตีกันไปกันมา พอดีตัวหนึ่งก็สับตาอีกตัวหนึ่งตาแตกไปข้างหนึ่ง แล้วตัวที่ตาแตกนั้นหันมามองท่าน เหมือนกับว่าท่านเป็นเจ้าของมัน แล้วนิมิตนั้นก็หายไป จึงพิจารณาได้ว่าเป็นเรื่องกรรมนิมิต อยู่มาไม่นาน ได้มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งอยากมาอยู่ด้วย ให้พี่ชายมาฝากฝังมอบให้เป็นลูก เด็กชายนั้นถือหลวงปู่ว่าเป็นพ่อ เด็กชายนั้นชื่อเขียน เป็นคนตาลอคือตาเสียข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งยังดีใช้การได้ แกเป็นคนปัญญาดี ฉลาด ว่านอนสอนง่าย แกอยู่อุปัฏฐากรับใช้ท่านมาเรื่อยๆ

Image
พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม


ให้ศิษย์ไปร่วมถวายผ้ากฐินแด่พระอาจารย์ใหญ่มั่น
ที่วัดป่าบ้านหนองผือ


เมื่อออกพรรษา ปี พ.ศ. 2491 เป็นฤดูกาลกรานผ้ากฐิน ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้ชักชวนคณะศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ที่เลื่อมใสในท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต ให้ไปร่วมกันถวายผ้ากฐินแด่ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นและพระภิกษุสงฆ์ ที่จำพรรษาที่ สำนักวัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยพระอาจารย์สิงห์จะออกเดินทางโดยขบวนรถไฟจากโคราช ไปลงที่สถานีรถไฟอุดรธานี ท่านจึงนัดให้คณะศิษย์ทั้งหลายไปคอยร่วมเดินทางตามสถานีรถไฟที่ผ่านไป

หลวงปู่จึงให้ลูกศิษย์ คือหลวงพ่อสอนและผ้าขาวคำสิงห์ซึ่งเป็นพี่ชายของท่าน ไปคอยขึ้นรถไฟที่สถานีบ้านไผ่ เพื่อร่วมเดินทางไปกับคณะท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม รถไฟถึงสถานีอุดรเป็นเวลาเช้า เมื่อลงจากรถไฟแล้ว ท่านพระอาจารย์สิงห์ได้เป็นหัวหน้าพาหมู่พระภิกษุสงฆ์ที่เดินทางไปด้วยบิณฑบาตตามบ้านพักเจ้าหน้าที่รถไฟ เมื่อฉันเสร็จแล้วเดินทางโดยรถยนต์ต่อไปลงที่อำเภอพรรณานิคม แล้วเดินด้วยเท้าต่อไปพักค้างคืนที่วัดป่าบ้านหนองโดก เช้าฉันบิณฑบาตเสร็จแล้วเดินด้วยเท้าเข้าไปที่วัดป่าบ้านหนองผือ

Image
กุฏิท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ณ วัดป่าบ้านหนองผือ

Image
ทางเดินจงกรมของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ณ วัดป่าบ้านหนองผือ


หลวงพ่อคำสิงห์ สุจิตฺโต เล่าว่า ตัวท่านเองคือผ้าขาวคำสิงห์ เมื่อไปถึงวัดป่าบ้านหนองผือแล้ว ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้พาคณะศิษย์ตั้งองค์กฐินที่วัดป่าบ้านหนองผือ วันหลังจึงได้ทอดถวายท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ที่ได้จำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ การทอดกฐินในครั้งนั้นได้มีพระเถระที่เป็นลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นมารวมกันหลายองค์ เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้ว ก็ยังพักอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ เพื่อฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น

เช้าวันหนึ่งเมื่อฉันเช้าเสร็จแล้ว ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นบอกให้ผ้าขาวคำสิงห์ไปทำทางเดินจงกรมให้ ท่านพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร (ท่านพ่อลี วัดอโศการาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ) ผ้าขาวคำสิงห์ได้จอบแล้วก็ไปทำตามที่ท่านสั่ง ขณะทำทางเดินจงกรมอยู่นั้น ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นได้เดินไปดูความเรียบร้อยด้วย ผ้าขาวคำสิงห์มีความเอิบอิ่มใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพักอยู่พอสมควรแล้ว ผ้าขาวคำสิงห์พร้อมด้วยหลวงพ่อสอนจึงได้เดินทางกลับวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด

ให้ผ้าขาวคำสิงห์ผู้เป็นพี่ชายบวชเป็นพระในพุทธศาสนา

เมื่อหลวงปู่เห็นว่าพี่ชายฝึกข้อวัตรปฏิบัติและคำขานนาคขอบวชได้แล้ว จึงได้นำไปบวชที่วัดบึงพลาญชัย อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี พระปลัดแก้ว อปฺติสฺโส เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมหาเดช เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระใบฎีกาผาด เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2492 เวลา 14.15 น. มีนามฉายาว่า “สุจิตฺโต” เมื่ออุปสมบทพี่ชายเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่จึงได้นำหลวงพ่อคำสิงห์ สุจิตฺโต ผู้เป็นพี่ชายกลับไปพำนักที่วัดป่าศรีไพรวัลย์

สละหน้าที่เจ้าอาวาส อำลาญาติโยมจังหวัดร้อยเอ็ด

เมื่อให้พี่ชายบวชเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนาเสร็จสิ้นตามความประสงค์แล้ว หลวงปู่จึงสละหน้าที่เจ้าอาวาสวัดป่าศรีไพรวัลย์ ให้หลวงพ่อสีลาเป็นผู้ทำหน้าที่เจ้าอาวาสต่อไป และได้อำลาญาติโยมชาวจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ได้เคยอุปถัมภ์อุปัฏฐากถวายปัจจัยสี่ให้ได้รับความสุขสบายในการเจริญสมณธรรมว่า “อาตมาจากไปคราวนี้คงไม่ได้กลับมาอีก ขอให้ญาติโยมพากันตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติศีลธรรมตามที่เคยได้อบรมสั่งสอน อย่าประมาท” ญาติโยมต่างพากันร้องไห้เสียดายที่ครูบาอาจารย์จะจากไป ต่างพากันอ้อนวอนขอให้ท่านกลับมาเป็นที่พึ่งของเขาอีก ท่านบอกว่า “หากชีวิตยังมีอยู่และโอกาสอำนวย ก็จะกลับมาเยี่ยมเยือนอีก”

เมื่ออำลาหมู่คณะและญาติโยมเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่พร้อมด้วยลูกศิษย์ของท่าน คือ หลวงพ่อสอน สงฺจิตฺโจ, หลวงพ่อคำสิงห์ สุจิตฺโต, พระโพ, สามเณรประดิษฐ์ และเด็กชายเขียนได้ขอติดตามไปด้วย ท่านจึงบอกเด็กชายเขียนว่า “การเดินธุดงค์รอนแรมไปตามป่าตามเขามีความลำบากมากเป็นไข้เป็นหนาว ตามป่าตามเขามีความลำบากแสนสาหัส เรายังเป็นเด็กอยู่ เดี๋ยวจะทนไม่ไหว”

เด็กชายเขียนจึงกราบเรียนหลวงปู่ว่า “ถึงแม้อย่างไรผมก็จะขอติดตามไปด้วย ผมมีความรักท่านเหมือนกับเป็นพ่อ ถ้าหากว่าผมเป็นไข้ตายในที่ใด ท่านให้คนเขาขุดหลุมฝังผมทิ้งแล้วท่านจึงเดินทางต่อไปเถิด” หลวงปู่ได้ยินเด็กชายเขียนพูดเด็ดเดี่ยวอย่างนั้นจึงอนุญาตให้ติดตามไปด้วย

ขณะนั้นเป็นต้นปี พ.ศ. 2492 หลวงปู่ได้พาลูกศิษย์ออกจากวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด เดินธุดงค์ด้วยเท้ารอนแรมไปเรื่อยๆ ไม่รีบร้อน ผ่านอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ สี่แยกโนนศิลา (ปัจจุบันเป็นอำเภอสมเด็จ) ผ่านบ้านโพนบ้านโจด ตอนมาถึงบ้านโจดนี้พักค้างคืน 1 คืน เช้าเข้าบิณฑบาต ได้ข้าวเหนียวและน้ำอ้อย 7 ก้อน แบ่งกันฉันเสร็จแล้ว ออกเดินทางต่อขึ้นภูพานตรงช่องหิ่งห้อย พักวิเวกอยู่ที่สร้างแข้ จึงเดินทางต่อไปที่บ้านคำไฮ ในขณะนั้นท่านอาจารย์สวด เขมิโย ได้พักวิเวกอยู่ที่ภูเขาใกล้บ้านคำไฮ จึงได้พักวิเวกอยู่กับท่านอาจารย์สวดระยะหนึ่ง ในขณะนั้นท่านพระอาจารย์ขาว อนาลโย ได้พักวิเวกอยู่ที่ถ้ำค้อ ดงหลุบหวาย ลำพังองค์เดียว ที่ถ้ำค้อนั้นไม่มีที่บิณฑบาต เพราะไม่มีหมู่บ้านอยู่ใกล้ อาศัยโยมจากบ้านคำเลาะ บ้านทุ่งเชือก เปลี่ยนกันขึ้นไปปฏิบัติ หมู่บ้านละคนรับผลัดเปลี่ยนกัน

ในขณะที่หลวงปู่พักอยู่กับท่านอาจารย์สวดนั้น อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์สวดเดินลงจากเขาจะมาบิณฑบาต มีพระเณรเดินตามหลัง พอมาถึงหินก้อนหนึ่งจึงหยุดยืนแล้วพูดว่า “เมื่อคืนนี้ได้นิมิตมีผู้หญิงมาบอกให้ว่ามีสมบัติอยู่ใต้หินก้อนนี้ อยากได้ก็ให้เอาไปซะ” พูดจบท่านอาจารย์สวดจึงเอาไม้เท้าเคาะหินก้อนนั้น เสียงดังเหมือนกับเป็นโพรงข้างล่าง เสร็จแล้วก็เดินผ่านไปบิณฑบาต พอฉันจังหันเสร็จ มีพระองค์หนึ่งแอบไปงัดก้อนหินเพื่อจะเอาสมบัติ แต่ทำอย่างไรก็งัดไม่ขึ้น ในที่สุดพระองค์นั้นก็หยุดทำ พอตกกลางคืนผู้หญิงนั้นก็ไปเข้านิมิตท่านอาจารย์สวดอีก ด่าว่า “พระอะไรปากบอน ปากไม่เป็นสุข อยากได้ก็เอาไปซีสมบัติ จะไปพูดให้คนอื่นฟังทำไม เดี๋ยวจะเอาขี้กระบอง (ขี้ไต้) ยัดปากพระปากบอน” ว่าอย่างนั้น พอตอนเช้าวันใหม่ท่านอาจารย์สวดเทศน์ดุด่าให้ลูกศิษย์ใหญ่เลยว่า “ใครไปทำอะไร ไปงัดก้อนหินจะเอาสมบัติ คืนนี้เจ้าของมันจะเอาขี้กระบองยัดปากเรา”

เมื่อพักวิเวกอยู่กับท่านอาจารย์สวดระยะหนึ่งแล้ว หลวงปู่พร้อมด้วยลูกศิษย์จึงได้ลาท่าน เที่ยววิเวกขึ้นไปบนภูอางศอ ซึ่งเป็นภูเขาสูงลูกหนึ่งที่ใหญ่ในเทือกเขาภูทาน ที่ภูอางศอนี้เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ๆ เขียวชอุ่ม และมีสัตว์ป่านานาชนิด ตกเวลากลางคืนมีเสียงสัตว์ป่าที่เที่ยวหากินกลางคืนส่งเสียงร้อง ประกอบกับความวิเวกวังเวงในเวลาดึกสงัด ทำให้จิตใจตื่นอยู่ตลอดเวลา และตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เมื่อพักวิเวกอยู่บนภูอางศอพอสมควรแล้ว หลวงปู่พร้อมด้วยลูกศิษย์จึงลงจากภูอางศอ มุ่งหน้าสู่บ้านคำบิด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร

Image
พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน


พบท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน

หลวงปู่เล่าว่า พอมาถึงบ้านคำบิด ได้ทราบว่า ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน พักวิเวกอยู่ที่เสนาสนะป่าหนองน่อง บ้านคำบิด จึงได้พาลูกศิษย์เข้ากราบนมัสการ และพักอยู่กับท่าน 7 คืน ตอนเช้าเข้าบิณฑบาตในหมู่บ้านคำบิด เวลากลับออกจากบ้าน หลวงปู่จะรับบาตรท่านพระอาจารย์มหาบัว แต่ท่านไม่ยอมให้รับง่ายๆ อาศัยความพยายาม ทำด้วยความเคารพ ทำด้วยความจริงใจ ในที่สุดท่านจึงยอมให้รับบาตรท่าน พอกลับถึงที่พักจัดแจงฉันภัตตาหารตามมีตามได้ เสร็จแล้วจึงได้กราบลาท่านพระอาจารย์มหาบัว เดินทางมุ่งหน้าสู่ภูผาเหล็ก หลวงปู่พร้อมด้วยลูกศิษย์เที่ยววิเวกที่ภูผาเหล็ก ผาดงก่อถ้ำพวง พอสมควรแล้วจึงได้เดินทางจากภูผาเหล็กมุ่งหน้ามาทางบ้านไชยวาน อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

เกิดความสงสัยในการปฏิบัติ

พอมาถึงบ้านจำปา เขตอำเภอสว่างแดนดิน พวกโยมชาวบ้านจำปาบอกว่าที่ป่าหนองเม้าผีดุมาก ใครไปตัดไม้ถางป่าใกล้ที่นั้นไม่ได้ ชาวบ้านจำปาโดยมีคุณพ่อสา พรหมโคตร เป็นหัวหน้า ได้กราบอาราธนานิมนต์หลวงปู่พร้อมด้วยพระเณรลูกศิษย์ที่ติดตามมา ให้พักอยู่ที่ป่าหนองเม้า หลวงปู่รับนิมนต์ ชาวบ้านจึงช่วยกันทำเสนาสนะ เป็นกระต๊อบมุงหญ้าคาแอ้มฝาใบตองถวายให้เป็นที่พักพอบังแดดบังฝน ในระยะนั้นเป็นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2492 ใกล้จะถึงวันวิสาขบูชา

ในขณะนั้นหลวงปู่ท่านมีความสงสัยในอุบายธรรมที่ได้ปฏิบัติอยู่ คือ การพิจารณาในกายและพิจารณาในจิตเป็นอารมณ์ ค้นกายค้นจิต เพื่อให้รู้ตามเป็นจริง จะเป็นอุบายที่ถูกต้องหรือไม่หนอ มองไม่เห็นใครที่จะแก้ความสงสัยนี้ได้ มีแต่ท่านพระอาจารย์มั่นเท่านั้นที่จะแก้ความสงสัยนี้ได้ หลวงปู่จึงให้ลูกศิษย์คอยอยู่ที่สำนักป่าหนองเม้า บ้านจำปา ส่วนตัวท่านเดินทางไปที่บ้านไชยวาน อำเภอหนองหาน พักอยู่ไม่กี่วัน หลวงปู่จึงชวนเอาโยมพ่ออ่อน คำใสย์ ซึ่งเป็นโยมน้าบ่าวของท่าน เดินทางไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นด้วยกัน

เดินทางด้วยเท้าจากบ้านไชยวานไปถึงบ้านต้อง นั่งรถโดยสารไปลงที่อำเภอพรรณานิคม เดินเท้าต่อไปที่บ้านหนองโดก ถึงวัดป่าบ้านหนองโดกเป็นเวลาค่ำพอดี พักค้างคืนที่วัดป่าบ้านหนองโดก ในขณะนั้น ท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่นั้น และได้พบ พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน, พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร, พระอาจารย์บุญมี ปริปุณฺโณ, พระอาจารย์เพียร วิริโย ที่วัดป่าบ้านหนองโดกนี้ ท่านพระอาจารย์กู่ท่านไม่อยากให้เข้าไปหาท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ท่านบอกว่า “ไปรบกวนครูบาอาจารย์”

หลวงปู่คิดอยู่ในใจว่า “ไม่ได้ไปรบกวนครูบาอาจารย์ ต้องการจะกราบนมัสการให้ท่านแก้ความสงสัยให้เท่านั้น” หลวงปู่เล่าว่า พักที่วัดป่าบ้านหนองโดก 1 คืน เช้าฉันบิณฑบาตเสร็จแล้ว เดินทางด้วยเท้าเข้าไปบ้านหนองผือนาใน พร้อมกันกับท่านพระอาจารย์เพียร วิริโย (ซึ่งการเข้าไปกราบท่านพระอาจารย์มั่นครั้งนี้เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวของหลวงปู่ แต่เป็นครั้งที่ 2 ของท่านพระอาจารย์เพียร)


Image
พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ

Image
พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน

Image
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร

Image
พระอาจารย์บุญมี ปริปุณฺโณ

Image
พระอาจารย์เพียร วิริโย


พบท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต

พอเดินทางถึงวัดป่าบ้านหนองผือเป็นเวลาใกล้ค่ำ ได้พบท่านพระอาจารย์มหาบัวที่วัดป่าบ้านหนองผืออีก จึงได้กราบเรียนถามท่านถึงเวลาที่จะเข้ากราบนมัสการฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น หลวงปู่เล่าว่า พระอาคันตุกะที่ไปถึงใหม่จะต้องรอคอยก่อน ท่านพระอาจารย์มหาบัวจะเป็นผู้เข้าไปกราบเรียนท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นก่อน ว่าท่านให้พักในวัดป่าบ้านหนองผือด้วยหรืออย่างไร หรือท่านจะให้พักกุฏิหลังไหน เมื่อท่านสั่งอย่างไรก็ทำตามอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าจะทำตามอำเภอใจของตนเอง

พอท่านพระอาจารย์มหาบัวเข้าไปกราบเรียนท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ท่านก็บอกเสนาสนะให้ และบอกให้สรงน้ำเสร็จแล้วจึงขึ้นไปกราบนมัสการฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นบนกุฏิท่าน เมื่อหลวงปู่สรงน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงนุ่งห่มครองจีวรให้เรียบร้อย สำรวมใจให้อยู่ในความสงบ ไม่ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์อย่างอื่น มีสติอยู่กับใจตัวเอง หลวงปู่เล่าว่า การสำรวมนั้นได้สำรวมระมัดระวังมาโดยตลอด พอคิดว่าจะไปกราบนมัสการท่านอาจารย์ใหญ่มั่นยิ่งเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเป็นพิเศษ พอขึ้นไปบนกุฏิท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ต้องระมัดระวังไม่ให้มีเสียงอะไรรบกวนท่าน ในขณะนั้นได้มีพระเถระและพระภิกษุรูปอื่นขึ้นไปนั่งฟังธรรมอยู่ก่อนแล้ว ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นกำลังแสดงธรรมอยู่ พอหลวงปู่ขึ้นไปแล้วก็กราบเบาๆ เสร็จแล้วก็นั่งกำหนดจิตฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นต่อไป

พอท่านแสดงธรรมไปๆ ท่านจึงถามขึ้นว่า “ไหนพระมาจากอำเภอหนองหาน” พอหลวงปู่ได้ยินท่านถามอย่างนั้นก็คิดในใจว่าคงจะมีหลายองค์ จึงไม่ได้ตอบท่าน ท่านก็แสดงธรรมต่อไปแล้ว ท่านก็ถามอีกเป็นครั้งที่สองว่า “ไหนพระมาจากอำเภอหนองหาน” หลวงปู่ได้ยินท่านถามครั้งที่ 2 ก็ยังนึกว่าคงจะเป็นองค์อื่นก็ยังไม่ตอบอะไร ท่านก็แสดงธรรมต่อไปอีก แล้วท่านก็ถามอีกเป็นครั้งที่ 3 ว่า “ไหนพระที่มาจากอำเภอหนองหาน” หลวงปู่นึกในใจว่าคงจะเป็นเรา จึงประนมมือขึ้นแล้วตอบว่า “ขอโอกาสเกล้ากระผม”

ท่านขึ้นเสียงดัง “มันหาน (หาญ) แต่ชื่อ จะพิจารณาอะไร ผมปฏิบัติมานี้ 40 ปีแล้ว ผมไม่หนีจากกายกับใจ พิจารณากายแล้วก็พิจารณาใจจนหายสงสัย” แล้วท่านก็แสดงธรรมต่อไป พอหลวงปู่ได้รับโอวาทคำตอบจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ทั้งที่ยังไม่ได้ถามท่านอย่างนั้น จึงหมดความสงสัยภายในใจลงในขณะนั้น เมื่อท่านแสดงธรรมต่อไปพอสมควรแล้วท่านจึงยุติการแสดงธรรมในวันนั้น ลูกศิษย์ลูกหาต่างพากันได้รับความเอิบอิ่มในธรรมที่ท่านเมตตาแสดงอย่างถึงอกถึงใจ เมื่อท่านหยุดในการแสดงธรรมแล้ว ลูกศิษย์ลูกหาต่างพากันกราบท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น แล้วกลับที่พักของตน

หนังห่อขี้

ในวันต่อมาเป็นวันวิสาขบูชา พวกญาติโยมชาวบ้านหนองผือ และบ้านใกล้เคียงในแถวบ้านนั้นพากันมาร่วมทำบุญในวันวิสาขบูชา ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นนำพาพระภิกษุสามเณรรับบิณฑบาตในวัด พวกญาติโยมพากันใส่บาตรด้วยความเคารพ ในขณะที่ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นเป็นหัวหน้านำรับบิณฑบาตอยู่นั้น พระเณรทั้งแก่ทั้งหนุ่มรับบิณฑบาตตามหลังท่าน ไม่ทราบว่าองค์ไหนไปคิดชอบหญิงสาวที่เขากำลังใส่บาตรอยู่นั้น อยู่ๆ ท่านก็หันหน้ามองกลับมาข้างหลัง พร้อมกับพูดขึ้นว่า “ประสาหนังห่อขี้” แล้วท่านเดินรับบิณฑบาตต่อไป หลวงปู่อยู่กับท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นไม่กี่วัน ก็เดินทางกลับมาบ้านจำปา


๏ พรรษาที่ 14 พ.ศ. 2492 จำพรรษาที่สำนักป่าหนองเม้า
บ้านจำปา อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร


พรรษาที่ 14

พรรษานี้มีหลวงปู่สอน สงฺจิตฺโจ, หลวงปู่คำสิงห์ สุจิตฺโต, พระโพ, สามเณรประดิษฐ์ และพระอาจารย์กุ ซึ่งเป็นพระมหานิกาย แต่ท่านปฏิบัติตามปฏิปทาท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น การปฏิบัติระหว่างพระต่างนิกายอยู่ด้วยกันนั้น หลวงปู่ท่านให้พระอาจารย์กุนั่งต่อท้ายหมู่เวลาฉันบิณฑบาต ไม่ให้รับประเคนของให้หมู่ฉัน ให้หมู่พระธรรมยุตเป็นผู้รับประเคนของฉัน แต่ท่านรับประเคนฉันเฉพาะท่านเองได้ เวลาลงอุโบสถฟังปาฏิโมกข์ก็ไม่ให้เข้าร่วม พอพระธรรมยุตลงปาฏิโมกข์เสร็จแล้วจึงให้พระต่างนิกายเข้ามาบอกบริสุทธิ์ ในพรรษานี้หลวงปู่ได้ประกอบความเพียรอย่างหนักงดอาหาร ฉันเจ็ดวัน งดเจ็ดวัน สลับกันไป

อาพาธหนักครั้งที่ 2

พอครึ่งพรรษาหลวงได้เกิดอาพาธด้วยโรคสะอึกอย่างแรง ติดต่อกันถึง 15 วัน ญาติโยมทั้งบ้านจำปาและบ้านไชยวานได้ช่วยกันหาหมอยาพื้นบ้านมารักษาก็ไม่หาย หลวงปู่จึงตั้งสัจจะอธิษฐานว่า “หากชีวิตยังไม่ถึงที่สุด ยังจะได้เชิดชูพระพุทธศาสนาอีกต่อไป ขอให้มีหมอมารักษาให้หายภายใน 3 วัน หรือ 7 วัน” เมื่ออธิษฐานแล้วได้ 3 วัน มีหมอแผนปัจจุบันชื่อหมอมะลิ มาจากอำเภอหนองหาน มาเยี่ยมญาติที่บ้านไชยวาน ชื่อพ่อพร นาคอินทร์ พ่อพรจึงเล่าให้หมอฟังว่ามีอาจารย์ป่วยอยู่บ้านจำปา เอายาที่ไหนรักษาก็ไม่หาย พอหมอได้ฟังแล้วเกิดความร้อนอกร้อนใจอยากจะไปรักษา เคี่ยวเข็ญจะให้พ่อพรพาไปบ้านจำปาในคืนนั้นให้ได้

พ่อพรจึงบอกว่ารอให้สว่างเสียก่อน เพราะขณะนี้น้ำหลากไหลมากต้องเดินข้ามทุ่งข้ามห้วยไป ไปกลางคืนกลัวจะถูกน้ำพัดไป ในที่สุดหมอก็ยอมรอให้สว่าง พอสว่างหมอรีบเคี่ยวเข็ญให้พาไป พอไปถึงหมอได้ดูอาการแล้วจึงถวายยาสวนทางทวาร พอหมอสวนยาไม่นานหลวงปู่ก็ปวดหนัก พอถ่ายก็มีก้อนอุจจาระเท่าหัวแม่มือหลุดออกมา พอก้อนนั้นหลุดออกมา หลวงปู่รู้สึกโล่งสบายในกายทั้งหมด จึงคิดว่า “เรายังไม่ตายในคราวนี้” หมอได้ฉีดยาให้อีก ในที่สุดหลวงปู่จึงหายจากอาพาธในครั้งนั้น

เมื่อออกพรรษาแล้วระยะเดือน 12 หลวงปู่พร้อมด้วยลูกศิษย์จึงได้ลาคณะศรัทธาญาติโยมชาวบ้านจำปา ออกจากสำนักป่าหนองเม้า มาบ้านไชยวานตามคำนิมนต์ของญาติพี่น้อง พอมาถึงบ้านไชยวาน หลวงปู่ได้พักอยู่ที่ป่าช้า พวกญาติโยมบ้านไชยวานได้พากันจัดที่พักถวาย หลวงปู่ได้อบรมญาติโยมให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง สอนให้บำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญเมตตาภาวนา พวกญาติโยมต่างพากันเกิดศรัทธาความเชื่อ ความเลื่อมใส ทั้งชาวบ้านไชยวานและบ้านหนองตูม จึงกราบนิมนต์หลวงปู่ให้อยู่ที่ป่าช้าบ้านไชยวานนี้ เขาจะสร้างเป็นวัดถวายให้

เมื่อหลวงปู่พักอยู่ป่าช้าบ้านไชยวานเป็นเวลา 3 เดือน เห็นว่ามีปัญหาเรื่องน้ำไม่ดี คือขุดบ่อแล้ว เมื่อตักเอาน้ำใส่ตุ่ม แล้วน้ำเป็นน้ำคำ มีสีเหลืองจับตามขันตามตุ่ม ไม่เหมาะแก่การสร้างเป็นวัด เพราะน้ำไม่ดี น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญใช้อาบใช้กิน เมื่อน้ำไม่ดีไม่ควรสร้างเป็นวัดในที่นี่ หลวงปู่จึงปรารภกับคณะศรัทธาญาติโยม ว่าจะกลับขึ้นไปเที่ยววิเวกทางภูผาเหล็ก ภูอางศอ อีก


(มีต่อ 8)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 31 พ.ค.2007, 9:03 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
บรรยากาศความสงบร่มรื่นภายในวัดป่าสันติกาวาส จ.อุดรธานี ในปัจจุบัน


๏ มูลเหตุที่ได้มาสร้างวัดป่าสันติกาวาส

ย่างเข้าปี พ.ศ. 2493 ขณะนั้นบ้านหนองตูมมีเพียง 11 หลังคาเรือนเท่านั้น คณะศรัทธาญาติโยมบ้านหนองตูม มีพ่อมา สนทอง, พ่อสี นันทราช, พ่อโส กล้าหาญ, พ่อทา บุษราคำ, นายพิมพ์ นิรเท ได้มีศรัทธาเลื่อมใสไปถวายทานและฟังธรรมจากหลวงปู่ที่ป่าช้าบ้านไชยวานด้วย เมื่อไปทราบว่าหลวงปู่จะไม่อยู่ที่ป่าช้าเพราะมีปัญหาเรื่องน้ำ พ่อมา สนทอง จึงได้กราบเรียนให้หลวงปู่ทราบว่า ที่บริเวณป่าหนองท้มดงแสนแวน เป็นที่ว่างเปล่าเหมาะแก่การสร้างเป็นวัดป่า ขอนิมนต์ท่านพระอาจารย์ไปอยู่ในที่นั้น

เมื่อหลวงปู่ได้ฟังอย่างนั้น จึงบอกให้พ่อมา สนทอง พร้อมกับหมู่คณะให้พากันไปขุดบ่อน้ำดูเสียก่อน ถ้าได้น้ำดีจึงค่อยไปอยู่ในที่นั้น พ่อมา พร้อมหมู่เพื่อนพากันไปขุดบ่อน้ำในวันนั้น ขุดลึกไปประมาณ 4-5 เมตร ได้น้ำจืดสนิทดี จึงได้นำเอาน้ำไปถวายให้หลวงปู่ฉันดู เมื่อหลวงปู่ฉันน้ำดูแล้วเห็นว่าน้ำดี จึงตกลงย้ายจากป่าช้าบ้านไชยวาน มาที่ป่าหนองท้มในวันต่อมา


๏ สร้างวัดป่าสันติกาวาสในครั้งแรก

เมื่อหลวงปู่ย้ายจากป่าช้าบ้านไชยวานมาสร้างวัดป่าสันติกาวาสในครั้งแรกที่ป่าหนองท้ม เป็นฤดูเดือน 3 พ.ศ. 2493 ในขณะนั้นหลวงปู่มีพรรษาได้ 14 พรรษาแล้ว ได้มีลูกศิษย์ที่ติดตามมาร่วมสร้างวัดป่าสันติกาวาสด้วย คือ (1) หลวงพ่อสอน สงฺจิตโจ (2) หลวงพ่อคำสิงห์ สุจิตฺโต (3) พระโพ (4) พระอาจารย์กุ (5) สามเณรประดิษฐ์ (6) เด็กชายเขียน ลูกศิษย์เหล่านี้ได้ติดตามหลวงปู่นับแต่ออกจากวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด มา

เมื่อมาอยู่บริเวณป่าหนองท้มดงแสนแวนใหม่ๆ ได้มีศรัทธาญาติโยมจากบ้านหนองตูม คือ คุณพ่อมา สนทอง, คุณพ่อสี นันทราช, คุณพ่อโส กล้าหาญ, คุณพ่อทา บุษราคำ, คุณพ่อพิมพ์ นิรเท, คุณพ่อพรหมมา ส่วนญาติโยมจากบ้านไชยวาน มีคุณพ่อขุนไชยวานวิศิษฐ์, คุณพ่อขันตี จันทรัก, คุณพ่อพร นาคอินทร์ และตระกูลคำใสย์ คุณพ่อท่อน คำใสย์, คุณพ่ออ่อน คำใสย์, นายปรีชา คำใสย์, คุณพ่อสุจินต์ คำใสย์, คุณพ่อทหารป่า คำใสย์ ท่านที่กล่าวนามมานี้ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสร้างวัดป่าสันติกาวาสนี้


๏ ที่ดินตั้งวัด

เมื่อหลวงปู่มาอยู่บริเวณหนองท้มดงแสนแวนแล้ว ได้มีผู้เป็นเจ้าของที่ดิน ได้แสดงกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของที่เดิน แต่ทุกคนเมื่อรู้ว่าจะสร้างวัดขึ้นในที่นี้ ต่างก็มีศรัทธาอนุโมทนาพร้อมใจกันยกที่ดินรวมทั้งหมดจำนวน 28 ไร่ ถวายให้หลวงปู่สร้างเป็นวัด ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินคือ (1) คุณพ่อบุ่น (2) คุณพ่ออ้วน วงษ์อารีย์ (3) คุณพ่อป้อม ทับซ้าย (4) คุณพ่อตึ่ง วรยศ (5) คุณพ่อคำพัน ชานันโต


๏ สร้างเสนาสนะในปีแรก

เมื่อเจ้าของที่ดินทั้ง 5 คน ยกที่ดินถวายให้มีขอบเขต 28 ไร่แล้ว หลวงปู่จึงให้ทำถนนรอบเพื่อกันไฟไม่ให้ลามไหม้เข้ามาในบริเวณวัด เพราะในสมัยนั้นมีไฟป่าลุกไหม้อยู่เรื่อยๆ แล้วจึงให้ทำที่พักของพระเณร เป็นกระท่อมมุงแฝกแอ้มฝาใบตองไว้เป็นจุดห่างกันพอสมควร ตามแบบวัดป่าพระกัมมัฏฐานสายท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล และท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต

คุณพ่อสา พรหมโคตร บ้านจำปา ได้มีศรัทธาถวายเรือน 1 หลัง ให้มาสร้างเป็นศาลาเล็กๆ สำหรับเป็นที่ฉัน ที่ประชุมทำวัตรสวดมนต์ และใช้เป็นสถานที่อบรมญาติโยมด้วย ได้มีผู้ศรัทธาทั้งหญิงทั้งชายพากันออกจากบ้านมารับการอบรมจากหลวงปู่ หลวงปู่ท่านเป็นผู้มีความเมตตา สู้อดสู้ทนแนะนำพร่ำสอนศรัทธาญาติโยม ให้รู้จักบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญเมตตาภาวนา ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์เป็นจำนวนมาก ในที่สุดป่าหนองท้มดงแสนแวนจึงกลายเป็นวัดขึ้นมาที่สุด


๏ ชื่อวัดในครั้งแรก

ในครั้งแรกชาวบ้านเรียกชื่อ “วัดป่าหนองท้ม” ตามนามหนองน้ำธรรมชาติซึ่งมีต้นท้ม (ต้นกระทุ่ม) ขึ้นอยู่ตามริมหนองน้ำนั้น (ปัจจุบันหนองท้มได้ปรับปรุงเป็นบ่อสี่เหลี่ยมตรงวิหารพิพิธภัณฑ์หลวงปู่ทุกวันนี้) ครั้นต่อมาเมื่อหลวงปู่ได้ตั้งใจปักหลักอยู่ในสถานที่นี้แล้ว จึงได้ไปกราบเรียน พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) ที่วัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งในเวลานั้นท่านเป็นเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี ฝ่ายธรรมยุต ท่านได้เมตตาออกมาเยี่ยมเยือน และได้ให้นามวัดใหม่ว่า “วัดป่าสันติกาวาส” หลวงปู่เล่าว่าเมื่อพระเดชพระคุณท่านตั้งนามวัดให้ไหม่แล้ว ท่านก็แปลให้ฟังด้วยว่า “สันติ” แปลว่า “สงบ” , “กาวาส” แปลว่า “วาทะ” เมื่อแปลรวมกันจึงมีความหมายว่า “ที่สงบจากวาทะ” ท่านแปลให้ฟังอย่างนั้น

Image
พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) ผู้ตั้งชื่อ “วัดป่าสันติกาวาส”

Image
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ


๏ หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ร่วมสร้างวัดด้วย

เมื่อหลวงปู่นำพาคณะศรัทธาญาติโยมจัดทำเสนาสนะ-สร้างวัดในปีแรก พอใกล้จะเข้าพรรษา ปี พ.ศ. 2493 หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ในขณะนั้นท่านเที่ยววิเวกอยู่ทางอำเภอวาริชภูมิ เมื่อทราบว่าหลวงปู่มาอยู่ที่บ้านไชยวาน ท่านจึงเดินทางมาตั้งใจว่าจะจำพรรษาด้วย พอท่านมาถึง ท่านได้ช่วยพาคณะศรัทธาญาติโยมทำกุฏิ ทำส้วม สำหรับให้พระเณรอยู่อาศัย และท่านได้เทศน์แบบปรมัตถธรรมให้พวกโยมฟัง

หลวงปู่บัวท่านเทศน์สอนว่า “ให้พิจารณาในกายเป็นของสกปรกเต็มไปด้วยขี้ กายนี้เรียกว่าก้อนขี้ ข้าวปลาอาหารที่กินเข้าไปก็เป็นขี้ เรากินขี้รู้จักไหม” เมื่อท่านเทศน์ปรมัตถธรรมอย่างนี้ พวกที่ไม่มีปัญญาจึงเกิดความรังเกียจท่าน พากันคิดประมาท เมื่อท่านรู้ด้วยธรรมในจิตของท่าน พวกโยมพากันรังเกียจประมาทท่าน ท่านจึงปรารภกับหลวงปู่ “กระผมคิดว่าจะจำพรรษาอยู่กับครูบาอาจารย์ แต่พวกโยมพากันประมาท ถ้าผมอยู่ในที่นี้เขาจะเป็นบาปกันมาก เพราะฉะนั้นกระผมจะได้ลาครูบาอาจารย์ไปจำพรรษาที่อื่น” แล้วท่านก็ได้กราบลาหลวงปู่ไปจำพรรษาทางเมืองอุดรธานี


๏ พรรษาที่ 15 พ.ศ. 2493 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
บ้านหนองตูม ต.ไชยวาน อ.หนองหาน จ.อุดรธานี


พรรษาที่ 15

เมื่อถึงกาลเข้าพรรษา หลวงปู่จึงได้อธิษฐานจำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส พร้อมกับลูกศิษย์ที่ได้มาร่วมสร้างวัดด้วยกัน

สร้างวัดสร้างคน

ในพรรษานี้หลวงปู่ท่านมีอายุล่วงไป 35 ปีแล้ว ท่านได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจที่ประกอบด้วยขันติ วิริยะ และเมตตา อบรมสั่งสอนพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ให้มุ่งมั่นในการปฏิบัติตามหลักการของอริยมรรค ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา สอนอุบาสก อุบาสิกา ให้ท่องจำคำทำวัตรเช้า-เย็น ตามแบบพระอาจารย์ใหญ่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ในระยะนั้นยังไม่ค่อยมีการพิมพ์หนังสือทำวัตรสวดมนต์มาก หลวงปู่ท่านต้องใช้ดินสอดำเขียนบททำวัตรสวดมนต์เช้าเย็นลงในแผ่นกระดาษแจกให้พวกญาติโยมนำไปท่องบ่น เมื่อจำได้แล้วก็มาว่าให้ท่านฟัง คำไหนว่าไม่ถูกท่านก็สอนให้ นำว่าไปจนชำนิชำนาญ

หลังจากฉันจังหันเช้าเสร็จ ท่านก็นั่งสอนให้พวกญาติโยมที่มาถวายอาหารบิณฑบาตตอนเช้า เวลาตอนเย็นมีพวกญาติโยมออกมาหัดไหว้พระสวดมนต์ และฟังธรรม ท่านก็สอนให้หัดไหว้พระภาวนาไปจนถึงเวลา 4 ทุ่ม 5 ทุ่ม ท่านจึงให้เลิกกลับบ้าน เมื่อถึงวันอุโบสถ คือ 8 ค่ำ 14 ค่ำ 15 ค่ำ หลวงปู่ท่านก็สอนให้ญาติโยมพากันสมาทานศีล 8 รักษาอุโบสถศีลอยู่ที่วัด เป็นเวลาวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง

กิจวัตรกลางวัน

ในภาคเช้าของวันพระ เมื่อพระเณรกลับจากบิณฑบาตในหมู่บ้านมาถึงวัด ญาติโยมจากหมู่บ้านต่างมารวมกันที่วัด นำอาหารประเคนถวายพระ หลังจากพระเณรแจกอาหารในบาตรเสร็จ หลวงปู่ท่านจะให้ญาติโยมสมาทานศีล 8 แล้วหลวงปู่ก็ให้ศีลไปจนจบแล้ว ท่านก็สอนให้พระเณรพิจารณาอาหารบิณฑบาตก่อนฉันว่า

“อาหารนี้ฉันเพื่อยังชีวิตให้เป็นอยู่ไปวันหนึ่งๆ พอได้ประพฤติศีลธรรมและเจริญเมตตาภาวนา อาหารนี้เมื่ออยู่ในภาชนะก็ดูน่าบริโภค เมื่อเข้าสู่ร่างกายของคนเราแล้วก็กลายเป็นของปฏิกูล ผ่านกระเพาะผ่านลำไส้ออกมาแล้ว เป็นของบริโภคไม่ได้เลย”

ท่านสอนอย่างนี้เพื่อไม่ให้จิตใจกำเริบในเรื่องอาหาร เวลาฉันอาหารอยู่ ท่านก็สอนให้มีสติกำกับอยู่กับการฉัน ไม่ให้ปล่อยจิตใจโลเลไปตามรสชาติของอาหาร เป็นการปฏิบัติธรรมในเวลาฉันไปในตัวเลย หลวงปู่ท่านแผ่เมตตาแก่ศิษย์ทุกหมู่เหล่า ท่านคอยแนะนำว่าทำอย่างนี้ถูก ทำอย่างนี้ผิด ท่านคอยนำพาประพฤติปฏิบัติ และท่านคอยพร่ำสอนให้รู้ให้เข้าใจ ในสิ่งที่เป็นบาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์

ฉันภัตตาหาร

เมื่อท่านสอนพระเณรจบ ท่านก็นำอนุโมทนา คือให้พรญาติโยม เสร็จแล้วก็นำพาฉันภัตตาหาร เวลาลงมือฉันภัตตาหาร หลวงปู่ท่านก็สอนให้ดูครูบาอาจารย์ว่า ท่านลงมือฉันไปได้สัก 3 คำเสียก่อน แล้วพระเณรนอกนั้นจึงลงมือฉัน เรื่องการฉันอาหารนี้ท่านคอยสอดส่องอยู่เสมอ เพราะกิเลสมันชอบออกลายเวลาอย่างนี้มาก เพราะเรื่องอยู่เรื่องกินนี้เป็นเรื่องวุ่นวาย

เมื่อพระเณรฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ก็ให้ญาติโยมรับประทานอาหารที่เหลือจากพระเณรนั้น ที่เรียกว่า ข้าวก้นบาตร พระเณรนำบาตรล้างในที่ๆ จัดไว้สำหรับล้างบาตร เวลาล้างบาตร หลวงปู่ท่านก็สอนให้มีสติคอยระวังไม่ให้บาตรกระทบของแข็ง ไม่ให้วางบาตรบนของแข็ง ไม่ให้คุยกันในเวลาล้างบาตรและเช็ดบาตร ให้มีสติกำกับอยู่ที่ใจ นึกพุทโธเป็นอารมณ์ของใจเรื่อยไป เมื่อพระเณรล้างบาตรเช็ดบาตรให้แห้งแล้ว ถ้ามีแดดก็ให้ผึ่งแดดพอประมาณ แล้วนำบาตรเข้าถลก (ซบบาตร) ผูกสายรัดให้แน่นเรียบร้อย

จากนั้นนำกระโถนที่ใช้สำหรับบ้วนน้ำหมาก น้ำลาย และทิ้งเศษอาหาร ไปชำระล้างให้สะอาด แล้วนำมาเช็ดด้วยผ้าสำหรับเช็ดกระโถนให้แห้ง แล้วเก็บในที่สำหรับเก็บกระโถน หลวงปู่ท่านสอนไม่ให้มักง่าย เวลาล้างกระโถนให้ระวังไม่ให้มีเสียงดัง ถ้าทำเสียงดังจะถูกท่านทักขึ้นทันที เป็นการเตือนให้มีสติ เมื่อพระเณรทำข้อวัตรเก็บกวาดที่ฉันเสร็จแล้ว ก็นำบาตรและกาน้ำกลับกุฏิ เข้าสู่ทางเดินจงกรม (เดินภาวนา) ไปจนถึงเที่ยงวันจึงให้หยุดพักผ่อน

สำหรับตัวหลวงปู่เมื่อหลังจากฉันเสร็จแล้ว ท่านจะทำหน้าที่อบรมญาติโยม แสดงธรรมให้ฟัง บ้างก็แก้ข้อสงสัยที่แต่ละคนมีปัญหามาถามท่าน นำพาประกาศปฏิญาณตนถึงพระไตรสรณคมน์บ้าง เมื่อประกาศปฏิญาณตนเสร็จแล้ว ท่านก็สอนวิธีปฏิบัติตนในทางพระพุทธศาสนา กว่าจะเลิกกันได้ บางวันพระก็ล่วงเข้าไปบ่ายโมงสองโมง ท่านจึงลงจากศาลากลับไปกุฏิที่พักของท่าน

ในขณะที่ท่านอบรมญาติโยมอยู่ที่ศาลานั้น ท่านต้องให้มีพระหรือเณร 1 องค์นั่งอยู่เป็นเพื่อนและคอยอุปัฏฐากรับใช้ ตลอดทั้งล้างกระโถนน้ำหมาก นำย่ามและกาน้ำของท่านไปส่งที่กุฏิของท่าน เมื่อเวลาท่านลงจากศาลา

เวลาบ่าย 3 โมงเย็น หลวงปู่ให้กวาดลานวัด ตามทางเดินระหว่างกุฏิ รอบศาลา รอบกุฏิ เวลทำกิจวัตรปัดกวาดนี้ ท่านก็สอนให้ภาวนาไปด้วย คือไม่ให้พูดคุยกัน กวาดไปตั้งสติกำหนดใจนึกพุทโธไป เป็นการทำความเพียรไปในตัว กวาดลานวัดเสร็จแล้วพร้อมกันกวาดถูกศาลาโรงธรรม จากนั้นพร้อมกันหาบน้ำใส่ตุ่มตามกุฏิ ที่ล้างบาตร แล้วพระเณรพร้อมกันถวายการสรงน้ำหลวงปู่ เมื่อตัวเองสรงน้ำเสร็จแล้วก็เข้าสู่ทางเดินจงกรมจนถึงเวลา 2 ทุ่ม

ภาคกลางคืนวันพระ

สำหรับพวกญาติโยมที่มาจำศีลอยู่ที่วัดในวันพระ ตอนหัวค่ำหลวงปู่ก็สอนให้เดินจงกรม ไปจนถึงเวลา 2 ทุ่ม แล้วให้ขึ้นรวมกันบนศาลาโรงธรรม ทั้งพระเณรและญาติโยมร่วมกันทำวัตรสวดมนต์เย็น หลวงปู่เป็นผู้นำทำวัตรสวดมนต์ เสร็จแล้วหลวงปู่ท่านจะแสดงธรรม อบรมและนั่งสมาธิภาวนาไปจนถึงเวลาตี 2 ตี 3 บางวันพระท่านก็นั่งอยู่บนศาลา อบรมไปจนถึงตี 4 แล้วพากันทำวัตรเช้าจบ พอดีสว่างเป็นวันใหม่ จึงให้ญาติโยมกลับบ้านไป หลวงปู่ท่านสร้างวัด สร้างคน ให้เข้าถึงศีลถึงธรรม

สมบัติโลกหนักเท่าโลก สมบัติแผ่นดินหนักเท่าแผ่นดิน

ท่านสอนว่า “การทำคุณงามความดี ถ้าเราไม่ทำเอา จะไปให้ใครทำให้เรา คนอื่นทำก็เป็นของเขา เราทำเอาจึงเป็นของเรา จะมามัวเมาเอาอะไรในสมบัติโลก มันเป็นสมบัติบ้า สมบัติโลกมันก็หนักเท่าโลก สมบัติแผ่นดินมันก็หนักเท่าแผ่นดิน ไม่มีใครหอบหิ้วเอาไปได้ดอก เอาไปได้แต่คุณงามความดี คือบุญกุศลที่ตนทำไว้แล้วเท่านั้น จงรีบเร่งทำความดี ดีกว่าทำความชั่ว รักกันดีกว่าชังกัน ฝึกฝนอบรมตน เอาตนให้ได้”

Image
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


วาทะของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

แล้วหลวงปู่ท่านจะยกวาทะของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นขึ้นมากล่าวว่า

ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นชื่อว่าดีเลิศ
ได้สมบัติทั้งปวง ไม่ประเสริฐเท่าได้ตน
เพราะตัวตนเป็นบ่อเกิดแห่งสมบัต​ิทั้งปวง


ตลอดระยะการเข้าพรรษาปี พ.ศ. 2493 จนถึงหลังจากออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ได้นำพาลูกศิษย์ลูกหาและญาติโยมให้ปฏิบัติธรรมตามหลักของศีลธรรมอยู่โดยสม่ำเสมอ ไม่เลือกว่าในพรรษาหรือนอกพรรษา


(มีต่อ 9)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 31 พ.ค.2007, 9:22 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พรรษาที่ 16 พ.ศ. 2494
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 16

หลวงปู่ได้จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส และฝึกอบรมลูกศิษย์ และคณะศรัทธาญาติโยมให้รักษาอุโบสถศีล และเจริญเมตตาภาวนา ตั้งสัจจะทำคุณงามความดีดังที่เคยปฏิบัติมา ได้มีคณะศรัทธาญาติโยมเกิดความเลื่อมใส เข้ามาปฏิบัติเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อใกล้จะออกพรรษา หลวงปู่จึงปรารภในการที่จะเดินธุดงค์ด้วยเท้า ไปนมัสการองค์พระธาตุพนม ที่อำเภอพระธาตุพนมอีกครั้งหนึ่ง

เมื่ออกพรรษาแล้วไม่นานนักเป็นปลายเดือนสิบเอ็ด หลวงปู่ได้มอบหน้าที่ให้หลวงพ่อสอนและหลวงพ่อคำสิงห์ ซึ่งเป็นศิษย์ของท่าน ให้เป็นผู้ดูแลวัดและหมู่คณะในวัดแทน ผู้ที่เดินทางร่วมไปนมัสการพระธาตุพนมกับหลวงปู่นั้นมี (1) พระอาจารย์กุ (2) พระอาจารย์ไถ่ (ซึ่งเป็นน้องชายของพระอาจารย์กุ) มีพระสามรูปด้วยกันกับหลวงปู่ ส่วนโยมที่ติดตามไปด้วยมี 3 คน คือ (1) พ่อใหญ่สา พรหมโคตร (2) พ่อใหญ่มา สนทอง (3) เด็กชายบรรยงค์ คำใสย์ ซึ่งเป็นหลานของหลวงปู่ (และเป็นผู้บันทึกประวัติตอนไปพระธาตุพนมคราวนี้)

เดินธุดงค์เพื่อนมัสการพระธาตุพนมครั้งที่ 2

ก่อนออกเดินทางหลวงปู่ปรารภบอกกับทุกคนให้ทราบว่า การเริ่มต้นของการเดินทางจะต้องเดินระยะใกล้ๆ ก่อน วันแรกท่านได้พาสานุศิษย์ออกเดินทางจากวัดป่าสันติกาวาส ทั้งพระทั้งโยมต่างสะพายบริขารเดินทางอย่างองอาจกล้าหาญ มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่พระธาตุพนม คืนแรกพักที่บ้านจำปา ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านไชยวานประมาณ 7 กิโลเมตร ที่บ้านจำปานี้หลวงปู่เคยพักจำพรรษาที่หนองเม่าเมื่อปี พ.ศ. 2492 ครั้งหนึ่งแล้ว

หลวงปู่พาคณะศิษย์พักที่หนองเม่า บ้านจำปานี้ 2 คืน เวลากลางคืนได้มีญาติโยมออกมาฟังธรรมมากพอสมควร หลวงปู่ท่านได้บรรยายอบรมธรรมะให้ญาติโยมฟังจนเลยเที่ยงคืน เมื่อญาติโยมกลับเข้าบ้านหมดแล้ว ท่านจึงได้พักผ่อน พวกญาติโยมบ้านจำปามีความเลื่อมใสหลวงปู่ มาช่วยกันทำสารพัดอย่าง ตั้งแต่เรื่องน้ำใช้ น้ำฉัน ที่พัก เรื่องอาหาร หลวงปู่พักโปรดญาติโยมชาวบ้านจำปา 2 คืน แล้วท่านจึงออกเดินทางต่อไปไม่ไกลนัก ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร ก็ถึงบ้านพงเหนือ ตะวันเพิ่งบ่าย ท่านพาลูกศิษย์หยุดพักที่วัดบ้านพงเหนือ

บ้านพงเหนือเป็นหมู่บ้านใหญ่ พวกชาวบ้านเมื่อรู้ว่าหลวงปู่พร้อมด้วยคณะศิษย์มาหยุดพักที่วัดบ้านของตน ทั้งคนที่เคยรู้จักเลื่อมใสกับหลวงปู่มาก่อน ทั้งคนที่ยังไม่เคยรู้จัก ทั้งหญิงชาย คนหนุ่มสาว คนแก่ คนเฒ่าชราก็มีมาก พากันออกมาต้อนรับที่วัด ทักทายปราศรัยบ้าง ทั้งจีบหมากพันพลูบุหรี่ถวาย บ้างก็ได้หาบครุไปตักน้ำขึ้นมาจากบ่อใหม่ๆ มาถวาย ลูกศิษย์ที่ติดตามจึงใช้ธมกรกกรองน้ำใส่กาสำหรับถวายเป็นน้ำฉัน ส่วนน้ำสรง (น้ำอาบ) ก็ใช้ธมกรกกรองน้ำใส่ครุใส่ตุ่มแล้วค่อยสรงน้ำ กระทำเช่นนั้นเพื่อกันไม่ให้ส้ตว์เล็กสัตว์น้อยมีอยู่ในน้ำนั้น เพราะในพระวินัยบอกไว้ว่า ภิกษุบริโภคน้ำที่มีตัวสัตว์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

พอตกตอนกลางคืนได้มีญาติโยมออกมาฟังการอบรมจำนวนมาก ในคืนนั้นหลวงปู่ท่านบรรยายธรรมให้ญาติโยมฟังอยู่จนเกือบสว่างจึงหยุด พอสว่างถึงเวลาบิณฑบาต หลวงปู่พร้อมด้วยพระที่ติดตามออกบิณฑบาตโปรดญาติโยมชาวบ้านพงเหนือ หลังจากฉันจังหันเสร็จแล้ว ก็จัดแจงบริขารลงในบาตร ออกเดินทางต่อไป วันนี้มีผู้คนสะพายบาตรแบกกลดตามไปส่งประมาณ 20 คน ไปได้ประมาณ 4-5 กิโลเมตร ก็ลากลับไปเก็บเกี่ยวข้าวในนาอีก ส่วนหนึ่งที่เหลือก็ตามไปส่งถึงทางรถยนต์ที่บ้านค้อ บ้านยา ซึ่งเป็นทางรถยนต์สายอุดรธานี-สกลนคร ผู้ที่ตามมาส่งก็ลากลับหมด

หน้าที่ของโยมผู้ติดตาม

เมื่อชาวบ้านพงเหนือที่ติดตามมาส่งกลับไปหมดแล้ว ทีนี้ก็เป็นหน้าที่ของโยมที่ติดตามหลวงปู่ไป คือพ่อใหญ่สา พ่อใหญ่มา และผม ต้องช่วยสะพายบาตร และหิ้วอัฏฐบริขาร เดินไปตาทางรถยนต์สายอุดรธานี-สกลนคร ซึ่งเป็นถนนลูกรัง นานๆ จะมีรถผ่าน หลวงปู่บอกว่า “ไม่ต้องขึ้นรถยนต์ไปนะ ถ้าใครขึ้นรถไปนมัสการพระธาตุพนมจะได้กุศลน้อย แต่ถ้าเดินไป จะได้กุศลแรง ไม่ว่าจะใกล้หรือไกลแค่ไหน ถ้าเรามีศรัทธาและตั้งใจแน่วแน่แล้วต้องไปถึงจนได้” หลวงปู่เตือนใจลูกศิษย์ที่เดินทางไปด้วย

ในวันนั้นท่านพาเดินตามทางรถยนต์ไปเรื่อยๆ ผ่านหลายหมู่บ้าน เป็นเวลาใกล้ค่ำแล้วท่านพาหยุดพักที่ศาลาวัดแห่งหนึ่ง แต่วัดนี้คงสร้างมานานดูศาลารู้สึกเก่ามาก ท่านสมภารวัดไม่อยู่มีแต่พระลูกวัด หลวงปู่พาลูกศิษย์พักที่วัดนี้ 1 คืน พอเช้ามาหลวงปู่พร้อมด้วยพระ 2 รูปที่ติดตามก็ออกบิณฑบาตโปรดชาวบ้าน กลับมาถึงวัดฉันจังหันเสร็จแล้วก็เตรียมบริขารลงในบาตร ออกเดินทางต่อไปตาทางรถยนต์เช่นเคย

แต่วันนี้ทั้งวัน รู้สึกว่าหลวงปู่ท่านเดินเร็วขึ้นและเดินได้ระยะทางไกลกว่าทุกวัน ตอนบ่ายๆ แก่ของวันนั้น ท่านเดินห่างพวกที่ติดตามไปไกลมาจนมองไม่เห็นท่าน พวกที่ติดตามก็เดินตามไปเรื่อยๆ ไปไกลมากจนเหนื่อย จึงมองเห็นท่านอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ริมหนองน้ำ พอเดินเข้าไปใกล้ ท่านจึงบอกว่า “คืนนี้พักที่นี่แหละ น้ำท่าสะดวกดี ที่พักก็สะดวกสบายดี”

ตอนที่พ่อใหญ่สา พ่อใหญ่มา จัดการปัดกวาดที่สำหรับกางกลดให้หลวงปู่ ผมแอบถามว่า “ทำไมท่านถึงเลือกเอาที่นี้เป็นที่พัก” ก็ได้รับคำตอบจากพ่อใหญ่มาว่า “ท่านชอบที่สงบๆ เป็นป่าเป็นเขาและมีน้ำด้วย” คืนนั้นเงียบสงบจริงๆ พวกโยมที่ติดตามหลีกอยู่ห่างจากที่พักของท่านพอสมควร กะว่าเสียงพูดกันไม่ให้ได้ยินไปรบกวนท่าน

ทีนี้อากาศเริ่มหนาวแล้ว พ่อใหญ่สองคนหาฟืนมาก่อไฟผิงสำหรับคลายหนาวและต้มน้ำร้อนไปถวายหลวงปู่และพระติดตามด้วย ส่วนผมเข้าไปหาหลวงปู่ที่ท่านพักอยู่ไม่ได้ เพราะตอนเดินตามทางรถยนต์นั้น ก้อนหินที่คมๆบาดเป็นแผลอยู่หลายที่และเท้าก็ระบม ทางรถสมัยนั้นเป็นลูกรังตลอดสาย เวลาเดินก็ไม่ได้ใส่รองเท้า หลวงปู่ท่านก็เดินเท้าเปล่าแต่ก็เห็นท่านเดินสบายๆ

Image
พระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต)


หลวงปู่สงสารหลานน้อยที่ติดตามไปด้วย

หลวงปู่ท่านจึงฝากยากับพ่อใหญ่สา เอามาให้ทาแผล และสั่งพ่อใหญ่ให้บอกด้วยว่า “ตอนแรกๆ ก็เจ็บอย่างนี้แหละ อีกหน่อยก็จะชินไปเอง” พอรุ่งเช้าได้เวลาบิณฑบาตตามสมณวิสัย หลวงปู่พร้อมด้วยพระติดตาม เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านด้านทิศใต้ ผมไปรับบาตรท่านแล้วถามท่านว่า “หมู่บ้านที่เดินผ่านมาเมื่อวานนี้อยู่ใกล้กว่าและทางก็สะดวก ทำไมไม่ไปบิณฑบาตบ้านนั้น”

ได้รับคำตอบจากท่านว่า “ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่ควรเดินย้อนหลัง”

เมื่อบิณฑบาตกลับมาถึงที่พักเตรียมจะฉันอาหาร ได้มีชาวบ้านที่เกี่ยวข้าวอยู่ทุ่งนาใกล้ที่พักนำอาหารมาถวาย เป็นคนแก่ทั้งหญิงชายประมาณ 4-5 คน หลังจากฉันจังหันเสร็จ คนแก่ที่ไม่ได้เกี่ยวข้าวก็อยู่สนทนาธรรมกับหลวงปู่ท่าน ท่านบอกว่า “วันนี้จะหยุดซักผ้าจีวรก่อน เพราะน้ำสะอาดดี วันหลังจึงจะเดินทางต่อ” ท่านพาผู้ติดตามพักที่นี้ 2 คืน จึงเดินทางต่อไป

การเดินทางก็ไปแบบไม่รีบร้อน พักแห่งละคืน 2-3 คืนบ้าง ตามป่าหรือชายทุ่ง กว่าจะถึงวัดป่าสุทธาวาส ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ก็กินเวลาหลายคืน หลวงปู่ท่านพาเข้าพักที่วัดป่าสุทธาวาส ในขณะนั้น พระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต) ท่านเป็นเจ้าอาวาส พักที่วัดป่าสุทธาวาสหลายคืน ตอนกลางคืนท่านได้สนทนาธรรมกับพระอาจารย์ต่างๆ ที่มาพักวัดป่าสุทธาวาสด้วยกัน ครูบาอาจารย์ในยุคนั้นมีแต่ปฏิบัติมุ่งอรรถธรรม เมื่อเวลาได้เจอกันก็สนทนาธรรมปฏิบัติเป็นเครื่องรื่นเริงซึ่งกันและกัน

Image
ป้ายชื่อวัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร

Image
อุโบสถวัดป่าสุทธาวาส


จากวัดป่าสุทธาวาสสู่พระธาตุพนม

หลวงปู่พร้อมด้วยศิษย์ที่ติดตามเตรียมบริขารลงในบาตร นำบาตรเข้าถุง กราบลาครูบาอาจารย์ผู้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาสแล้ว สะพายบาตรแบกกลด อาศัยรถธรรมชาติคือเท้า เดินเหยียบย่ำไปตามถนนสายสกล-นาแก-ธาตุพนม ซึ่งกำลังก่อสร้าง ทางเดินลำบากมากเต็มไปด้วยฝุ่นปลิวตลบ หลวงปู่พาคณะศิษย์เดินผ่านบ้านเล็กบ้านน้อย เดินบ้าง หยุดบ้าง พักเมื่อมีร่มไม้ใหญ่ๆ บ้าง พอหายเหนื่อยแล้วก็เดินต่อไป

เมื่อค่ำก็หยุด โยมที่เดินทางไปด้วย พร้อมทั้งผมด้วย พากันปัดกวาดจัดที่สำหรับกางกลดถวายหลวงปู่และพระที่ติดตาม เสร็จแล้วโยมก็แยกพักอยู่อีกต่างหากจากท่านไปหน่อย จะต้องปฏิบัติอยู่อย่างนี้ตลอดระยะการเดินทาง พอเช้า ท่านเข้าบิณฑบาตในหมู่บ้าน ได้อะไรมาก็แบ่งกันฉันและให้โยมที่ติดตามด้วย ฉันเสร็จแล้วโยมที่ติดตามก็ล้างบาตรเช็ดบาตรแห้งดี เข้าถลกใส่ถุงสะพายและเดินทางต่อไป เมื่อถึงเวลาค่ำหลวงปู่ท่านจะเลือกพักตามป่าที่ห่างจากคนเดิน ห่างจากรถ ห่างจากหมู่บ้าน ในสมัยนั้นป่ายังมีอยู่มาก สัตว์ป่าก็มีมากมาย

เดินด้วยเท้าพักรอนแรมมาจนถึงหมู่บ้านต้นแหน พระที่ติดตามไปกับหลวงปู่คือพระอาจารย์กุ จึงบอกว่า “จะไปพักที่บ้านยางคำ สำหรับบ้านนี้จะพักหลายวันหน่อย เพราะเคยมาจำพรรษาที่นี้ รู้จักมักคุ้นกับหลายคน” แล้วพระอาจารย์กุจึงพาเดินแยกออกจากทางรถยนต์ที่กำลังก่อสร้าง เดินไปตามทางคนเดิน ทางแคบมาก มีทุ่งนาสลับกับป่า แต่ป่าจะมากกว่าทุ่ง ตอนนี้พวกชาวนาเกี่ยวข้าวจวนจะเสร็จแล้ว เดินทางมานานทีเดียว ผ่านหมู่บ้านต่างๆ จนจำไม่ได้ อาจารย์กุหยุดทักทายกับชาวนา 2 คน คงจะเป็นสามีภรรยากัน ท่านพูดคุยอยู่พักหนึ่ง คนที่เป็นสามีรับอาสาไปส่ง หลวงปู่ซึ่งเคยเดินนำหน้ากลับเดินตามชายผู้นั้นไป

พักที่วัดร้าง

ผมก็ให้พ่อใหญ่มาลงเดินตามหลังสุด ตัวเองขึ้นมาอยู่กลางขบวนเพราะมีแต่ป่าน่ากลัวมาก ทางเดินก็แคบพอเดินได้ แต่ต้องระวังตัวเพราะมีต้นไม้ล้มลงทับทาง และกิ่งไม้ทั้งสองข้างทางก็ยื่นออกมาระเกะระกะ เดินมาได้ชั่วโมงเศษๆ ก็มาถึงหมู่บ้านร้าง มีวัดอยู่แห่งหนึ่งเป็นวัดร้างเหมือนกัน พระอาจารย์กุบอกว่า “พักที่นี่แหละ พักหลายวันด้วย” เพราะมีเวลาอีกนานกว่าจะถึงวันเพ็ญเดือน 3 ซึ่งเป็นวันสำคัญคืองานประเพณีไหว้พระธาตุพนม

พักทำความเพียรอยู่รุกขมูลวัดร้าง

ที่วัดร้างแห่งนี้รกรุงรังเต็มไปด้วยต้นไม้เล็กและใหญ่ สังเกตสิ่งก่อสร้างฝีมือมนุษย์ที่ยังหลงเหลืออยู่อย่างเดียวคือศาลาวัดทำด้วยไม้ ซึ่งเก่าผุพังไปมากแล้ว ไม่มีใครกล้าขึ้นไปดู กลัวจะหักลงมาทับ ต้นไม้ใหญ่ที่เหลืออยู่ห่างๆ กัน มีต้นมะม่วง มะพร้าว มะขาม อยู่ห่างๆ กันมีไม่มาก มีทางเดินเท้าแคบๆผ่านไปตรงกลางวัดและเลยไปเชื่อมกับทางสายหลักซึ่งเป็นทางเกวียนเชื่อมระหว่างหมู่บ้านกุดเกิบไปหมู่บ้านยางคำ ซึ่งย้ายออกจากบ้านร้างที่กำลังพักอยู่นี่เอง ย้ายลงไปตั้งอยู่ทางทิศใต้ห่างจากที่วัดร้างประมาณ 2.5 กิโลเมตร ส่วนบ้านกุดเกิบห่างจากบ้านร้างวัดร้างไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 1.5 กิโลเมตร แต่ทางเดินไปหมู่บ้านไม่มี

เมื่อมาพักอยู่วัดร้างนี้ หลวงปู่จึงเลือกเดินไปบิณฑบาตที่หมู่บ้านยางคำ ซึ่งมีทางเดินไปถึงหมู่บ้านได้ ที่พักของหลวงปู่ท่านกำหนดเลือกเอาใต้ร่มมะม่วงต้นใหญ่ภายในบริเวณวัดร้าง ที่พักของพระอาจารย์กุห่างจากที่พักของหลวงปู่ไปทางทิศเหนือ ส่วนที่พักของพระอาจารย์ไถ่ห่างไปทางทิศใต้ แต่อยู่ในบริเวณวัดร้างด้วยกันหมด และเป็นใต้ร่มมะม่วงเหมือนกัน ส่วนร่มมะม่วงต้นใหญ่อยู่กลางวัดเอาไว้เป็นที่รวมกัน

ขณะที่กำลังถางไม้เล็กออกทำความสะอาดที่พักสำหรับท่านทั้ง 3 องค์อยู่นั้น มีชาวบ้านที่ทราบข่าวก็พากันมาช่วยหลายคน พวกชาวบ้านแบ่งกันทำทางเดินจงกรม บ้างก็ปัดกวาดที่พัก บ้างก็ไปหาโอ่งไหสำหรับใส่น้ำฉัน โองน้ำอาบ และโอ่งน้ำใช้ จัดหามาครบหมด ผมจึงรู้ว่า บ่อน้ำอยู่ไม่ไกลจากที่พัก เดินตามทางเกวียนไปสัก 5 นาที ก็ถึงทางแยกและตรงทางแยกนี้แหละเขาขุดบ่อน้ำเอาไว้บ่อใหญ่ทีเดียว น้ำใสสะอาดจืดสนิท พวกโยมผู้หญิงชาวบ้านพากันหาบเอาน้ำไปใส่โอ่งไหไว้ให้ท่านทั้ง 3 รูป ได้สรงและใช้ล้างบาตร

ในวันนั้นพอตกกลางคืน ชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านพากันออกมามาก จนลานที่ถางเอาไว้ไม่พอกันนั่ง ต้องถางออกให้กว้างไปอีก ชาวบ้านฟังหลวงปู่บรรยายธรรมอยู่จนดึกจึงพากันกลับ พวกที่ไม่กลับก็มีประมาณ 10 กว่าคน และได้พากันหาฟืนมาก่อไฟผิง นั่งล้อมวงอยู่ที่พักกลางกับพวกพ่อใหญ่รวมทั้งผมด้วย กองไฟจากหนึ่งกองต่อมาแยกเป็นสองและก่อเพิ่มขึ้นมาเป็นสามกอง แล้วก็มีการพูดคุยกันสารพัดเรื่อง ชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่าต้นยางต้นนี้ คนแถวนี้เรียกว่า “ยางคำ” ชื่อหมู่บ้านยางคำก็มาจากต้นยางต้นนี้ ซึ่งเป็นต้นไม้คู่บ้านมานานแล้ว แต่พอเขาคุยเรื่องเสือนี่ซิทำให้ผมซึ่งยังเด็กอยู่กลัวเป็นอย่างมาก

เขาพูดถึงปีที่ผ่านมา หน้าเกี่ยวข้าวจวนจะเสร็จเหมือนหน้านี้แหละ ตรงที่ศาลาผุๆ พังๆ ที่เรามองเห็นอยู่นี่แหละ มีสองคนผัวเมีย มาจากไหนไม่มีใครทราบ มีคนเห็นว่า ตอนบ่ายทั้งสองเดินผ่านหมู่บ้านยางคำ เมียเดินนำหน้า ผัวเดินตามหลัง มีคนถามว่ามาจากที่ไหนและกำลังจะไปไหน คนผัวก็ตอบแบบไม่ได้เรื่อง (ตอบแบบเลอะๆ เลือนๆ) เขาจึงรู้ว่าเป็นคนติดกัญชา ก่อนออกจากหมู่บ้าน คนผัวได้ขโมยเอาไก่ชาวบ้านมาย่างกินที่ศาลาวัดร้างนี่แหละ พอกินเสร็จก็มืดพอดี เลยพากันนอนพักข้างกองไฟใต้ถุนศาลาร้างที่ย่างไก่กิน

พอตกกลางคืนเสือเลยมาคาบเอาสองผัวเมียไปกิน ตอนเช้าชาวบ้านออกไปทำนาไปพบศพเข้าจึงไปแจ้งผู้ใหญ่บ้าน คนเล่าพูดพร้อมกับชี้มือไปที่ผู้ใหญ่บ้าน เป็นเชิงแนะนำให้พวกผมรู้จัก ผู้ใหญ่บ้านเลยถือโอกาสเล่าต่อว่า หลังจากได้ทราบว่ามีคนตายที่ใกล้หมู่บ้าน จึงชวนลูกบ้านไปหลายคน เมื่อไปถึงพบศพผู้ชายก่อนจึงแยกย้ายกันหาร่องรอย ก็พบศพผู้หญิงอีกศพหนึ่ง ศพผู้หญิงนั้น สิ่งที่หายไปคือเต้านมทั้งสองข้างถูกเสือกัดหายไป ส่วนศพผู้ชายมือทั้งสองข้างถูกเสือกัดกินเช่นกัน (คงจะเป็นบาปที่ขโมยไก่ชาวบ้าน ส่วนภรรยาคงจะบาปเพราะนอนกับสามีในวัด)

เขาบอกว่าที่นี้มีเสือเยอะ เพราะป่ากว้างภูเขาเยอะ สัตว์ป่าที่เป็นอาหารของเสือก็มีมาก ส่วนผมเหนื่อยมามาก ง่วงนอนเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังกลัวเสือมาก ไม่กล้านอนคนเดียว พอดีพ่อใหญ่สาหิ้วน้ำร้อนจะไปถวายพระอาจารย์กุและพระอาจารย์ไถ่ ส่วนพ่อใหญ่มาหิ้วเอากาน้ำร้อนไปถวายหลวงปู่ ผมจึงถือโอกาสไปกับพ่อใหญ่มา พอไปถึงที่พัก ท่านกำลังนั่งสมาธิอยู่ จึงรอจนดึก ให้ท่านออกจากสมาธิแล้วจึงนำน้ำร้อนเข้าไปถวาย เมื่อถวายน้ำร้อนหลวงปู่เสร็จ พ่อใหญ่ก็กลับที่พัก ส่วนผมยังไม่กลับ หลวงปู่จึงถามผมว่า “ทำไมไม่กลับไปนอน” ผมบอกหลวงปู่ว่า “จะนอนข้างๆ หลวงปู่ เพราะผมกลัวเสือมาก”

ท่านหลวงปู่เลยพูดต่อว่า “เสือก็ออกหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตามปกติของสัตว์โลก ถ้าคนเราไม่ไปเบียดเบียนเขา เขาก็ไม่ทำอันตรายแก่เรา ขอให้ตั้งใจแผ่เมตตาให้แก่เขา และตั้งใจสวดมนต์ภาวนา เสียงเสือที่ได้ยินนั้นเป็นเสียงร้องที่อยู่ไกลมาก อยู่แถวเชิงภูเขาที่มองเห็นเมื่อตอนกลางวันนี้ และที่ภูเขานี้มีถ้ำอยู่ มีพระพุทธรูปปางต่างๆ หลายขนาดเก็บไว้ในถ้ำมากมาย ชาวบ้านแถวนี้เขาเรียกภูถ้ำพระ แล้ววันหลังจะพาไปเพื่อนมัสการพระพุทธรูปเหล่านั้น” หลวงปู่พูดต่อว่า “คืนนี้อนุญาตให้นอนใกล้ๆ ได้ แต่ห้ามนอนดิ้น เพราะว่าหลวงปู่จะนั่งภาวนา เรื่องเสือไม่ต้องคิดอะไรมาก ถ้าบังเอิญพบเข้าจริงๆ ถ้าเสือจะกินก็ให้มันกินไปเถอะ เนื้อหนังคนเรามีเพียงน้อยนิด ถ้าเขาต้องการก็ให้เป็นทานเขาไป เราจะได้บุญกุศลแรง”

คืนนั้นผมนอนหลับๆ ตื่นๆ เพราะกลัวเสือจนสว่าง เมื่อได้เวลาบิณฑบาตหลวงปู่ออกบิณฑบาตที่บ้านยางคำ ซึ่งมีทางเดินสะดวกกว่าไปบ้านกุดเถิบ เมื่อท่านกลับจากบิณฑบาตแล้ว ชาวบ้านได้นำอาหารมาถวายถึงที่พักที่วัดร้าง และมีหมู่บ้านที่ใกล้เคียงมาสมทบอีกก็มาก หลังจากที่ท่านฉันเสร็จแล้วท่านได้อบรมธรรมะให้ชาวบ้านครู่หนึ่ง แล้วท่านก็หลบเข้าไปเดินจงกรมในที่เตรียมไว้สำหรับท่าน เป็นที่มีร่มเงาต้นไม้ใหญ่และต้นไม้เล็กบดบังดีมาก พวกชาวบ้านทราบข่าวว่าท่านจะพักที่นี้หลายวันก็ดีใจมาก ช่วยกันทำความสะอาดแลดูกว้างและเรียบร้อยขึ้น

พวกผม 3 คน กับชาวบ้านอีก 3 คน พากันไปหาเก็บสมุนไพร ที่ท่านบอกเอาไว้ตอนเดินทางมามีสมุนไพรแปลกๆ มาก เพราะหลวงปู่ท่านเก่งทางสมุนไพรด้วย ต้นอะไรเป็นยาอะไรท่านรู้หมด เวลาเดินไปพบเข้า ท่านจะบอกเอาไว้ให้เราจำเอาเอง ชนิดไหนใช้ราก ชนิดไหนใช้ใบ ชนิดไหนใช้ลำต้น เมื่อได้มาแล้วนำมาล้างตากแดดมัดเป็นมัดรวมกันไว้

วันต่อมามีผู้คนมาแต่หัวค่ำมากกว่าวันแรกนิดหน่อย ที่พิเศษคือมีพ่อใหญ่มาจากบ้านหนองบ่อ เป็นอดีตกำนันอายุมาก รูปร่างหน้าตาดี เป็นคนมีความรู้ดี มาสนทนาธรรมกับหลวงปู่ ชาวบ้านตั้งให้แกเป็นหัวหน้า พากันทำวัตรเย็นและเป็นผู้นำพิธีการทุกอย่าง และที่พิเศษอีกคนหนึ่ง คือพ่อใหญ่ที่มาจากบ้านยางคำ ซึ่งเป็นคนที่ชาวบ้านนับถือมาก แกอาสาจะนำหลวงปู่และคณะไปนมัสการพระพุทธรูปที่ภูถ้ำพร ภูถ้ำพระสมัยนั้นเป็นป่ากว้างใหญ่สลับด้วยภูเขา เคยมีคนหลงป่าหาทางออกไม่ได้หลายครั้งแล้ว จนเดือดร้อน ชาวบ้านต้องเกณฑ์ผู้คนจำนวนมากออกค้นหา บางทีใช้เวลาค้นหาหลายวันก็มี บางทีเมื่อพบแล้วต้องหามกลับมารักษาพยาบาล เพราะขาดน้ำบ้าง ขาดอาหารบ้าง ไข้ป่าบ้าง บางคนเป็นโรคกลัวป่า กลัวต้นไม้ไปเลยก็มี ส่วนมาเป็นพวกหาของป่า พวกพรานป่าจะหลงป่ามีน้อยมาก

อีก 2 วันต่อมา ตอนเช้าหลังจากหลวงปู่ฉันเสร็จแล้ว ท่านพาเดินทางออกจากที่พักไปสมบทบกับชาวบ้านยางคำ ที่คอยอยู่ในหมู่บ้าน เมื่อไปถึงหมู่บ้านมีคนที่คอยอยู่แล้ว 3 คน รวมทั้งพ่อใหญ่ที่ช้าวบ้านนับถือด้วย ส่วนไปจากที่พักที่ครบทีม คือมีพระ 3 รูป ผู้ติดตามอีก 3 คน แล้วชาวบ้านก็พาออกเดินไปตามทางเกวียน ไปทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นทางเกวียนตัดผ่านเข้าไปในป่าใหญ่ ใช้เวลาเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมงถึง “ปางพัก” ที่ชาวบ้านมาพักเลี้ยงวัวควาย แต่ทางเดินต่อไปเป็นทางคนเดินเท้า ไม่กว้างนัก ท่านพาหยุดพักพอหายเหนื่อยก็เดินทางต่อ ทางเดินเท้าที่เดินไปแม้จะเป็นป่าเดินสะดวก เพราะมีรอยคนเดินอยู่ทุกวัน สองข้างทางเต็มไปด้วยป่า

เมื่อออกไปที่โล่งๆหน่อย ก็มองเห็นภูเขาอยู่สองข้างซ้ายขวาไม่ไกลนัก จะเรียกว่าช่องเขาคงจะได้ หลวงปู่บอกว่า “ให้เดินไปก่อน ไม่ต้องคอย จะแวะปัสสาวะหน่อยแล้วจะตามไป” พวกที่ไปทั้งหมดก็เดินคุยกันไปเรื่อยๆ จนไปถึงช่องทางระหว่างภูเขาสองลูกทางเดินแคบๆ ท่านอาจารย์ไถ่ก็อบกว่า “ให้หยุดคอยหลวงปู่ก่อน ประเดี๋ยวท่านจะตามไปไม่ถูก แล้วเดินหลงไป” พระอาจารย์กุจึงพูดว่า “พระธุดงค์อย่างหลวงปู่ ต่อให้เราเดินอีกทั้งวันท่านก็ตามไม่ผิด” แต่ทั้งหมดก็หยุดรอหลวงปู่ พากันนั่งพักตามก้อนหินภูเขาก้อนใหญ่ๆ ซึ่งมีอยู่มากมาย ท่านพระอาจารย์กุและพระอาจารย์ไถ่ นั่งพักบนก้อนหินด้านขวามือ พวกโยมอยู่ด้านซ้ายมือ นั่งบ้าง ยืนบ้าง โดยหันหน้าไปทางอาจารย์ทั้งสองรูป มีทางเดินเท้าอยู่ตรงกลาง

ทั้งสองฝ่ายพูดคุยกันอยู่นานพอสมควร ก็ไม่เห็นหลวงปู่เดินมาสักที ท่านพระอาจารย์กุจึงชวนเดินทางต่อ โดยบอกว่า “หลวงปู่เคยเดินธุดงค์มาหลายป่าแล้ว ไม่เคยปรากฏว่าท่านเดินหลงป่าเลย อย่างไรท่านก็ตามไปไม่ผิดทางแน่นอน” แล้วทั้งหมดก็ออกเดินทางต่อ ทางเดินค่อยๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเดินไปได้ประมาณครึ่งชั่วโมง ก็เห็นหลวงปู่ยืนบนก้อนหินที่ขึ้นปะปนอยู่กับต้นไม้น้อยใหญ่ ทุกคนแปลกใจมากได้แต่มองหน้ากันไปมา และถามกันว่ามีใครเห็นหลวงปู่บ้าง ต่างคนก็บอกว่าไม่เห็น

พูดได้เท่านั้นทุกคนก็เงียบไป พอดีเดินมาถึงหลวงปู่ ท่านหันมาถามพวกเราว่า “พากันทำอะไรอยู่ มาช้าเหลือเกิน ปล่อยให้คอยอยู่ตั้งนาน” ทุกคนได้แต่มองหน้ากันไม่มีใครกล้าพูดอะไร พระอาจารย์กุจึงตอบท่านว่า “นั่งคอยหลวงปู่” หลวงปู่ถามว่า “แล้วทำไมไม่ตามมา” พระอาจารย์กุจึงตอบว่า “ไม่เห็นท่านเดินผ่านมา” หลวงปู่เลยพูดว่า “เห็นนั่งคุยกันอยู่ตั้งหลายคน ถ้าไม่มีใครเห็นก็คงจะคุยกันเพลิน เลยไม่เห็นพระเดินผ่านมา ทั้งที่มีตาเมื่อรวมกันแล้วมีตั้งหลายตา” ท่านพูดจบแล้วบอกให้พ่อใหญ่กับชาวบ้านเดินนำทางต่อไป

ทางเริ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ผ่านลานหินหลายแห่ง มีต้นไม้ขึ้นตามซอกหินประปราย คนนำทางพาเดินคดเคี้ยวไปตามทางน้ำไหล ซึ่งน้ำหยุดไหลแล้ว มีน้ำยังอยู่ตามแอ่งหินหลายแห่ง เดินไปไม่นานก็ถึงหน้าผาสูง มองลงไปข้างล่างเห็นแต่ป่าไม้เต็มไปหมด คนนำทางบอกว่า “ถ้ำพระ” อยู่ข้างล่าง เลยก้อนหินใหญ่ๆ ที่มองเห็นอยู่นั้นไปนิดเดียว พูดแล้วก็พาเดินลงไปตามช่องทางเดินแคบๆ ลงไปถึงถ้ำ ปากถ้ำไม่กว้างใหญ่อย่างที่คิดไม่ลึกมากนัก แต่กันฝนได้ดี ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปมากมาย น้อยใหญ่หลายขนาด สลักด้วยไม้ก็มี สลักด้วยหินก็มี วางกองกันไว้ และอยู่ในพานอันใหญ่ซึ่งสานด้วยไม้ไผ่ทาด้วยยางไม้ก็มี วางอยู่กับพื้นถ้ำและตามซอกหินซอกเล็กซอกน้อยก็มีอีกมาก

หลวงปู่จึงปรารภว่า “คงจะมาจากเมืองอื่น บรรทุกมาด้วยช้างม้าต่างวัวต่างเป็นขบวนใหญ่ เพื่อนำไปประดิษฐานและร่วมฉลองพระธาตุพนม เมื่อมาถึงที่นี้แล้ว ทราบข่าวว่าพระธาตุพนมได้สร้างเสร็จ และได้ทำการฉลองเสร็จแล้ว เลยพากันเสียใจที่ไปไม่ทัน คิดว่ามีบุญน้อย จะเดินทางไปให้ถึงพระธาตุพนมก็อับอายชาวบ้านอื่นเมืองอื่น ครั้นจะนำพระพุทธรูปเหล่านี้กลับบ้านก็ยิ่งอับอายชาวบ้าน และเป็นภาระหนักมาก เลยตกลงกันหาที่เก็บไว้ที่มิดชิดเรียบร้อยหน่อย ก็เลยได้ถ้ำแห่งนี้เป็นที่เก็บ เป็นเวลาเนิ่นนานมาแล้ว”

หลวงปู่พาไหว้พระในถ้ำเสร็จแล้ว ก็เดินทางกลับที่พักรุกขมูลวัดร้าง หลวงปู่พักอยู่ที่วัดร้างนี้นานประมาณ 20 วัน ชาวบ้านนิมนต์อยากให้ท่านอยู่ไปนานๆ เขารับอาสาจะอุปัฏฐาก อยากให้หลวงปู่อยู่ด้วยตลอดไป เพื่อเป็นที่พึ่งของเขา หลวงปู่ท่านบอกว่า ท่านมีจุดมุ่งหมายอยู่ คือท่านจะไปนมัสการองค์พระธาตุพนม อยู่สงเคราะห์แค่นี้ก็พอแล้ว ขอให้พากันตั้งใจบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญเมตตาภาวนา อย่าให้ขาด พระธรรมนั้นจะเป็นที่พึ่งของเราทั้งในปัจจุบันและเบื้องหน้า

หลวงปู่พาออกเดินทางจากวัดร้างบ้านยางคำแต่เช้ามืด เพื่อให้ทันบิณฑบาตหมู่บ้านข้างหน้า เมื่อถึงหมู่บ้านข้างหน้า ท่านทั้ง 3 องค์ ก็เข้าบิณฑบาต เมื่อฉันเสร็จแล้วท่านก็พาเดินทางต่อไปตามทางรถยนต์ที่กำลังก่อสร้าง เดินไปเรื่อยๆ ผ่านอำเภอนาแก ถึงบ้านนาก้านเหลือง ที่พักเป็นทุ่งนากว้าง ลมหนาวพัดแรง อากาศหนาวเย็นมาก คืนนั้นท่านหลวงปู่ได้กางมุ้งกลดข้างกองฟางเพื่อบังลม พระอาจารย์กุและพระอาจารย์ไถ่ ได้ที่พักข้างกองฟางอีกกอง ส่วนพวกผม 3 คน ได้สระน้ำที่น้ำแห้งแล้ว พักหลบลมซึ่งแรงขึ้นเรื่อยๆ จนทนหนาวไม่ไหวจึงชวนกันฉายไฟออกหาฟืน แต่ไม่ได้ฟืนมาเลยเพราะเป็นทุ่งนาโล่งๆ เลยพากันเก็บเอาขี้ควายแห้งมาก่อไฟแทน ซึ่งได้มาไม่มากนักแต่ใช้ได้นาน

คืนนั้นพากันหลับๆ ตื่นๆ เพราะอากาศหนาวเย็นมาก เช้ามาท่านทั้ง 3 บิณฑบาตที่บ้านนาก้านเหลือง ฉันเช้าเสร็จท่านพาเดินต่อ พอบ่ายๆ ก็มองเห็นยอดของพระธาตุพนม ซึ่งถูกอาบด้วยแสงแดดยามบ่าย เหลืองอร่ามเป็นประกายนิดๆ เป็นที่น่าศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง พอบ่ายแก่ๆ หน่อยก็ข้ามสะพานแม่น้ำก่ำและถึงพระธาตุพนม คืนนั้นได้ที่พักที่ป่าช้าญาวนที่อยู่ด้านขวามือก่อนถึงอำเภอธาตุพนมเพียงเล็กน้อย และด้านหลังของป่าช้ามีลำธารเล็กๆ ไหลผ่านลงแม่น้ำโขง มีศาลาร้างอยู่หลังหนึ่ง หลวงปู่ไม่ให้พักบนศาลาร้าง ท่านให้เหตุผลว่า “ลมแรงและหนาวมาก ทั้งใกล้ทางรถเกินไป หนวกหู และคนเดินผ่านไปมาก็มองเห็นแล้วจะมารบกวน”

ท่านพาเดินห่างจากทางรถเข้าไปจนถึงริมลำธาร ท่านเลือกได้ใต้ร่มไผ่ซึ่งมีขึ้นมากมายเป็นดงไผ่ พระอาจารย์กุและพระอาจารย์ไถ่เลือกได้ห่างออกไปอีกเล็กน้อย พวกโยม 3 คน ได้ร่มไผ่ด้านทิศตะวันตกใกล้ลำธารที่สุด ท่านหลวงปู่บอกว่า “จะพักที่นี้สัก 4-5 วัน เพราะอีกสองวันก็ถึงวันเพ็ญเดือน 3 ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือเป็นวันจาตุรงคสันนิบาต พระอรหันต์ 1,250 องค์มาประชุมในพระเวฬุวันโดยไม่ได้นัดหมาย และเป็นเอหิภิกขุที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระวาจาทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าได้ทรงทำวิสุทธิอุโบสถในศาสนานี้มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงปลงพระชนมายุสังขารว่าจากนี้ไปอีกสามเดือน เราตถาคตจะดับขันธปรินิพพาน จึงเป็นวันที่ประชาชนชาวพุทธทั้งหลายได้หลั่งไหลมามนัสการพระธาตุพนม”

เดือน 3 กลางเดือน อากาศหนาวเย็นมาก ลมหนาวก็พัดแรง พอตกตอนเย็นพวกโยมทั้งสามคนช่วยกันก่อกองไฟเอาไว้ให้ความอบอุ่น และให้แสงสว่างด้วย และพากันต้มน้ำร้อนไปถวาย ก็เห็นท่านทั้ง 3 กำลังเดินจงกรมอยู่ที่ใครที่มัน ต้องนั่งคอยอยู่ห่างๆ ตั้งนานจึงได้ถวายน้ำร้อนให้ท่าน นิมนต์ให้ท่านไปนั่งใกล้ๆ กองไฟ เลยถูกท่านไล่ให้กลับไป รุ่งเช้าถึงเวลาภิกขาจาร ท่านทั้ง 3 ไปบิณฑบาตในตัวอำเภอธาตุพนม มีพวกชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา นำอาหารตามท่านมาจนถึงที่พัก ประมาณ 10 กว่าคน หลวงปู่จึงเปลี่ยนที่ฉันอาหารเช้า ขึ้นไปฉันบนศาลาป่าช้า ซึ่งเก่ามากจนหลังคาผุพังไปข้างหนึ่งแล้ว แต่พื้นกระดานยังพอนั่งได้อย่างปลอดภัย และกว้างสำหรับพระและโยมนั่งได้

การพักในที่นี้ได้รับความสะดวกดี เพราะชาวอำเภอธาตุพนมที่มาถวายอาหารได้นำของใช้ที่จำเป็น และน้ำสำหรับฉันมาถวายพร้อมเสร็จ บ่ายวันนั้นหลวงปู่ให้ผมอยู่เฝ้าที่พัก หลวงปู่ พระอาจารย์กุ และพระอาจารย์ไถ่ พ่อใหญ่มา พ่อใหญ่สา ได้เดินเข้าไปนมัสการและทำวัตรสวดมนต์ที่องค์พระธาตุพนม จนถึงเย็นท่านจึงกลับมา

เช้าวันต่อมา ท่านทั้ง 3 เข้าไปบิณฑบาต แล้วหายไปไม่เห็นกลับมา ปล่อยให้พวกผมและโยมที่นำอาหารมาถวายต้องคอยอยู่ตั้งนาน เมื่อท่านกลับมาถึง ท่านจึงขอโทษพวกโยมที่มาคอย และบอกว่าท่านไปบิณฑบาตตามปกติ ทีแรกไม่รับนิมนต์ บอกเขาว่ามีโยมคอยอยู่ที่พัก เขาบอกว่าเขาทำบุญวันนี้ญาติๆ มาหลายคนแล้ว แต่เขานิมนต์พระที่ไหนก็ไม่ได้ เพราะพระท่านติดนิมนต์ที่อื่นหมด ตกลงท่านจึงรับนิมนต์

หลวงปู่บอกว่า เป็นความจริง เพราะเมื่อไปถึงบ้านงานแล้วมีท่านเพียง 3 รูปเท่านั้น สวดมนต์จบแล้วเจ้าของบ้านนำอาหารมาถวาย เมื่อฉันเสร็จให้พระ เจ้าของบ้านที่ทำบุญดีใจ นำปัจจัยมาถวายจำนวน 3 บาท หลวงปู่บอกว่า “อาตมาไม่รับปัจจัยด้วยมือตน” โยมเจ้าของบ้านพูดว่า “พระที่นี้ท่านยังรับ” หลวงปู่ตอบว่า “เป็นเรื่องของท่าน แต่อาตมาไม่รับ” เจ้าของบ้านจึงจ้างสามล้อให้มาส่งที่พักพร้อมกับฝากปัจจัยกับคนถีบสามล้อมาด้วย ท่านจึงให้พ่อใหญ่มารับปัจจัยจำนวน 3 บาทนั้นไว้

พักอยู่อีกหนึ่งวันก็เป็นวันเพ็ญเดือน 3 วันนั้นหลังจากฉันเช้าเสร็จ ท่านพาไปนมัสการพระธาตุพนม ครั้งนี้ท่านพาไปหมดทุกคน โดยพ่อใหญ่ที่เป็นชาวบ้านอาสาเฝ้าที่พักให้ หลวงปู่พาอยู่ที่องค์พระธาตุจนเย็น พาทำวัตรสวดมนต์เย็น เสร็จแล้วจึงพาเดินกลับที่พัก อีกสองวันต่อมา ตอนเช้าหลวงปู่ออกบิณฑบาต ท่านบอกให้ย้ายของไปพักใต้ต้นไม้ใหญ่ไม่ห่างจากองค์พระธาตุนัก เมื่อหลวงปู่ฉันอาหารที่บิณฑบาตได้มาเสร็จแล้ว ท่านได้สั่งให้เก็บสิ่งของทั้งหมดที่มีอยู่ แล้วท่านพาไปกราบลาองค์พระธาตุพนมอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อเสร็จเรียบร้อย ท่านพาเดินย้อนกลับทางเดิม ผ่านป่าช้าญวน ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำก่ำซึ่งกำลังก่อสร้างเป็นสะพานไม้ขนาดใหญ่ เดินมาเรื่อยๆ จนถึงทางสามแยก ถ้าตรงไปก็อุบลราชธานี ไปขวามือก็อำเภอนาแก ด้านหลังไปอำเภอธาตุพนม ในวันนั้นที่สามแยกแห่งนี้ ท่านพระอาจารย์กุและพระอาจารย์ไถ่ได้กราบลาหลวงปู่ และได้จากพวกเราทุกคน เดินทางไปอุบลราชธานี เพื่อเยี่ยมโยมมารดาของท่านซึ่งมีอายุมากแล้ว สิ่งที่พวกเราใจหายก็คือไม่มีกำหนดว่าจะได้พบกันอีกเมื่อไร และสิ่งที่เป็นห่วงมาก คือท่านไปตามลำพังพี่น้องสองรูปเท่านั้น เวลาท่านจะฉันอะไร จะให้ใครประเคน เวลาท่านบิณฑบาตกลับมา ใครจะเป็นคนประเคนบาตรให้ท่าน และท่านทั้งสองก็ไม่มีปัจจัยเลยแม้แต่บาทเดียว (เพราะท่านไม่ถือปัจจัย)

ทุกๆ คนยืนมองท่านทั้งสองเดินจากไปอย่างเงียบๆ คนอื่นคิดอย่างไรผมไม่เข้าใจ แต่ผมเองเหงาๆ อย่างไรชอบกล แต่ก็อุ่นใจที่ท่านทั้งสองเป็นคนแข็งแรง มีความมานะเป็นเลิศ มีความพากเพียรเป็นเยี่ยม จากนั้นหลวงปู่ก็ได้พาพวกเราทั้ง 3 คน เดินกลับมาตามทางรถยนต์สายธาตุพนม-นาแกอย่างเงียบๆ มาแบบไม่รีบร้อน ค่ำที่ไหนก็พักที่นั้น ย้อนกลับทางเดิมตลอดจนมาถึงวัดป่าสันติกาวาส บ้านไชยวาน ในเช้าวันสงกรานต์เดือน 5 พอดี

(ออกเดินทางปลายเดือนสิบเอ็ด พ.ศ. 2494 กลับมาถึงวัดป่าสันติกาวาส เดือน 5 วันสงกรานต์ พ.ศ. 2495 รวมเวลาทั้งไปทั้งกลับ 6 เดือน นายบรรยงค์ คำใสย์ ซึ่งเป็นผู้ได้ติดตามหลวงปู่ไปในครั้งนั้นเป็นผู้เขียน)


๏ พ.ศ. 2495 พรรษาที่ 17
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 17

ในพรรษา หลวงปู่ได้นำพาพระภิกษุสามเณรประกอบความพากเพียรอย่างเด็ดเดี่ยว เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ไม่ให้มีกิจการงานภายนอก นอกจากการทำกิจวัตรข้อวัตรเท่านั้น

สร้างศาลาการเปรียญวัดป่าสันติกาวาสหลังที่ 2

ออกพรรษาปี พ.ศ. 2495 แล้ว หลวงปู่เป็นผู้นำพาญาติโยม สร้างศาลาการเปรียญหลังที่ 2 เพราะศาลาหลังแรกนั้นเป็นศาลาชั่วคราว หลังที่ 2 นี้ ท่านได้พาญาติโยม ตัดเอาไม้ที่ล้มหมอนนอนดินอยู่ในบริเวณวัดมาทำเสา โดยมีโยมผู้ชายที่เป็นช่าง ถากไม้รวมทั้งหลวงปู่ด้วย ช่วยกันใช้ขวานถากไม้ที่เป็นต้น ให้กลายเป็นเสาสี่เหลี่ยมหน้า 8 นิ้ว คูณ 8 นิ้ว ยาว 8 เมตร ทำเป็นเสาศาลา ไม้เครื่องข้างบนข้างล่าง เช่น จันทัน, แปและขาง, ตง, กระดานพื้น ได้มีโยมมีศรัทธาถวายต้นไม้ที่มีอยู่ในนา ที่วังกุดคล้าบ้านเพียปู่ ซึ่งอยู่ห่างจากวัดป่าสันติกาวาสไปประมาณ 6 กิโลเมตร หลวงปู่ได้พาญาติโยมและพระเณรไปเลื่อยแปรรูป ด้วยเลื่อยมือใช้คนดึงสองข้าง

ตอนเช้าเมื่อฉันจังหันเสร็จ ก็เตรียมแบกสัมภาระ ผู้แบกเลื่อยก็แบก ผู้หาบน้ำไปไว้สำหรับฉันก็หาบ เดินทางออกจากวัดไประยะทาง 6 กิโลเมตร ถึงที่ทำงานก็ช่วยกันทำ ทั้งโยมทั้งพระช่วยกันเลื่อยไม้ เมื่อค่ำก็แบกสัมภาระกลับ มาถึงวัดก็มืด หลวงปู่ยังพาพระเณรทำกิจวัตรข้อวัตร กวาดลานวัดกลางคืนนั้นแหละ เสร็จแล้วต้องตับน้ำหาบน้ำ ใส่ตุ่มใส่ไหสำหรับใช้สำหรับฉัน สำหรับปานะของฉัน เพื่อระงับความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานก็ไม่มีอะไรละ ท่านว่าพอกลับมาถึงวัดก็ต้มใบขนุนย่างไฟ หรือไม่ก็ใบแดงย่างไฟ เมื่อมันเดือดแล้วก็นำน้ำร้อนนั้นมาแจกกันฉันเท่านั้น เรื่องน้ำอ้อย น้ำตาล โกโก้ กาแฟ ไม่ต้องถามถึง แต่จะหาทำยาก็ยากในสมัยนั้น ฉันน้ำร้อนเสร็จแล้ว ท่านยังต้องทำความพากเพียรเดินจงกรมภาวนาอีก ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย

หลวงปู่เป็นผู้มีความเพียร เป็นผู้มีความอดทน หลวงปู่เหน็ดเหนื่อยเพื่อประโยชน์สุขแก่ลูกหลานผู้เกิดสุดท้ายภายหลัง การเลื่อยไม้ทำศาลาในครั้งนั้นกว่าจะได้ไม้พอทำศาลา 1 หลัง ก็ใช้เวลาเป็นเดือนสองเดือน เมื่อได้ครบแล้วก็ให้ช่างยกโครงศาลาขึ้นเสร็จในปีนั้น หลวงปู่เป็นผู้ออกแบบและดูแลการก่อสร้างเองด้วย ศาลากว้าง 12 เมตร ยาว 20 เมตร เป็นศาลายกพื้นสูง ใต้ถุนสำหรับใช้อาศัยในฤดูร้อนได้ เมื่อยกโครงสร้างไว้เสร็จแล้ว แต่ยังขาดเครื่องมุง หลวงปู่จึงได้จ้างนายอ้วย นามแก้ว เป็นผู้หล่อกระเบื้องซีเมนต์สี่เหลี่ยม กว่าจะพอมุงศาลาก็กินเวลาผ่านไปหนึ่งฝน จนถึงปี พ.ศ. 2497 ศาลาการเปรียญจึงเสร็จเรียบร้อย


(มีต่อ 10)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 31 พ.ค.2007, 11:09 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
อาณาบริเวณวัดป่าสันติกาวาส จ.อุดรธานี ในปัจจุบัน


๏ พ.ศ. 2496-2497 พรรษาที่ 18-19
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 18-19

ในพรรษาปี 2497 นี้ เดือนสิงหาคม หลวงพ่อสอน สงฺจิตฺโจ ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงปู่ ที่มาร่วมสร้างวัดป่าสันติกาวาสด้วยกัน ได้ถึงแก่มรณภาพไปตามสภาพของสังขาร ที่ไม่มีใครสามารถทัดทานได้

ย่างเข้าปี พ.ศ. 2498 ฤดูแล้ง หลวงปู่ได้พาญาติโยมสร้างบารมี ด้วยการหล่อโปรงทอง (คล้ายระฆัง) โดยหลวงปู่เป็นช่างปั้นหุ่น สำหรับทองที่นำมาหล่อนั้น พวกญาติโยมทั้งชายหญิงพากันไปบอกบุญตามบ้านน้อยเมืองใหญ่ แจ้งข่าวในการจะหล่อโปรงทอง ใครมีทองเหลือง ทองแดง ขันเงิน ขันทอง ที่แตกหักใช้ไม่ได้ หรือเงินทองของเก่าที่เก็บไว้ไม่เป็นประโยชน์ ก็พากันบริจาค ทำของไม่เป็นประโยชน์ให้เกิดประโยชน์ขึ้น นำมารวมกันหล่อเป็นโปรงทองไว้ในพระพุทธศาสนา เมื่อมีผู้บริจาคทอง พวกญาติโยมที่มีศรัทธา มีความเพียรความอดทน มีจิตเป็นกุศล ก็พากันหาบทองเดินด้วยเท้า เพราะสมัยนั้นยังไม่มีรถยนต์มากเหมือนทุกวันนี้

เมื่อญาติโยมต่างคนต่างหาได้ทองมารวมกันที่วัด เมื่อปั้นหุ่นทำเบ้าโปรงทองเสร็จแล้ว และได้ทองกะว่าจะพอแล้ว หลวงปู่จึงให้ตั้งและสูบหลอมทอง ทำพิธีเททองหล่อโปรง ขณะนั้นผู้เขียนอายุ 6 ขวบ พอรู้เดียงสาจำความได้ ได้มาดูพิธีหล่อโปรงทอง การสูบหลอมทองใช้กำลังคนสูบ คนที่สูบทองต้องมีจังหวะอ่อน ย้อนไปตามจังหวะสูบ ถ้าสูบไม่เป็น ทองจะไม่ละลาย หล่อลูกที่หนึ่งใช้ไม่ได้เพราะแตกร้าว หลวงปู่ต้องปั่นหุ่นทำเบ้าใหม่ นำโปรงทองที่แตกมาหลอมและหล่อใหม่ ครั้งที่สองจึงใช้ได้มาจนถึงทุกวันนี้

ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสตามระเบียบการคณะสงฆ์

วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 หลวงปู่ได้รับแต่งตั้งจากคณะใหญ่ธรรมยุตให้เป็นเจ้าอาวาสวัดสันติกาวาส อบรมพระภิกษุสามเณร และฆราวาสที่อยู่ในปกครองแต่บัดนั้นเป็นต้นมา


๏ พ.ศ. 2498 พรรษาที่ 20
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 20

ในพรรษา หลวงปู่ได้อบรมพระภิกษุสามเณร และนำพาปฏิบัติเร่งทำความเพียรเป็นพิเศษ จนตลอดไตรมาส 3 เดือน ฉันน้อย นอนน้อย ไม่คลุกคลีซึ่งกันและกัน ต่างองค์ต่างให้อยู่ด้วยความเพียร มีสติระลึกรู้อยู่กับกายใจของตัวเอง

ไปเที่ยววิเวกดงโค่โล่

เมื่อออกพรรษาปี พ.ศ. 2498 แล้ว เข้าฤดูแล้วปี พ.ศ. 2499 หลวงปู่ได้ทราบว่าพระอาจารย์สวด เขมิโย ซึ่งเคยเป็นครูบาอาจารย์ ได้พักวิเวกอยู่ที่ยอดบุญทันดงโค่โล่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบันเป็น อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู) หลวงปู่จึงได้เดินทางไปกับหลวงพ่อคำสิงห์ สุจิตฺโต และมีโยมติดตามไปด้วย เดินด้วยเท้าจากวัดป่าสันติกาวาส ไปขึ้นรถที่ปากทางแยกบ้านต้องไปลงอุดรฯ พักที่วัดโพธิสมภรณ์ กราบนมัสการ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) วันรุ่งขึ้นฉันบิณฑบาตเสร็จแล้ว เดินทางด้วยเท้าต่อไปที่บ้านหนองบัวบาน กราบนมัสการ ท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม พักค้างคืนฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์อ่อน รุ่งเช้าฉันบิณฑบาตเสร็จแล้วกราบลาท่านพระอาจารย์อ่อน เดินทางด้วยเท้าต่อไปพักที่บ้านทุ่งตาลเรียน แล้วเดินทางต่อไปถึงดงโค่โล่ บ้านโคกตังแตน

แวะเยี่ยมผู้เป็นอาจารย์เก่า

เมื่อหลวงปู่เดินทางถึงบ้านโคกตังแตน ได้ทราบว่าพระอาจารย์คำดี ผู้เป็นอาจารย์แต่ครั้งหลวงปู่ออกบวชเป็นสามเณร ท่านได้ลาสิกขาแล้วมามีครอบครัวอยู่ที่บ้านโคกตังแตนนี้ หลวงปู่ก็ดีใจที่จะได้พบผู้เป็นครูบาอาจารย์เก่า ถือว่าท่านเป็นผู้มีพระคุณด้วย จึงหยุดพักที่บ้านโคกตังแตนอยู่หลายคืน ได้พบปะผู้เป็นอาจารย์เก่า หลวงปู่ไม่ลืมบุญคุณที่ท่านเคยอบรมและนำไปบวชเป็นสามเณรครั้งแรก ได้ถามสารทุกข์สุขดิบ หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า “เมื่อได้เจอผู้เป็นอาจารย์เก่า เราก็สงสารผู้เฒ่า แต่ก็ไม่มีสมบัติอะไรจะสงเคราะห์ มีปัจจัยอยู่ที่โยมติดตามไปด้วยไม่กี่บาท จึงได้เอาสงเคราะห์ผู้เฒ่าไป ผู้เฒ่าก็ดีใจว่าเรายังอยู่ในเพศพรหมจรรย์ นับแต่จากกันก็ไม่เคยเจอกันเลย พึ่งมาเจอกันก็เป็นครั้งสุดท้าย”

Image
พระอาจารย์มหาบุญมี สิริธโร


พบพระอาจารย์มหาบุญมี สิริธโร

หลวงปู่เดินทางต่อไปที่ยอดบุญทัน ซึ่งท่านพระอาจารย์สวด เขมิโย ได้พักวิเวกอยู่ที่นั้น และได้พบกับ ท่านอาจารย์พระมหาบุญมี สิริธโร ด้วย ที่ยอดบุญทัน ดงโค่โล่นี้เป็นป่าดงดิบ เต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด มีพวกช้าง เสือ เป็นต้น ตกกลางคืนเสือโคร่งร้องตามประสาสัตว์ป่า พวกโยมที่ติดตามไปด้วยกลัวเสือ ต้องก่อกองไฟไว้ ต่างคนต่างพากันตั้งใจภาวนาเอาพุทโธเป็นที่พึ่ง ภาวนาเหนื่อยแล้วล้มลงนอน ก็หลับๆ ตื่นๆ เพราะกลัวเสือ

หลวงปู่เล่าว่า ที่ยอดบุญทันนี้ ไม้ไผ่ป่าก็ลำใหญ่ เอามาตัดทำเป็นกระโถนใช้ในเวลาฉันเช้า ใช้ทำเป็นครกสำหรับตำอะไรก็ได้ นอกจากนั้นยังใช้เป็นสับเป็นฟากสำหรับปูพื้น และมุงกุฏิ กันแดด กันฝนก็ได้ หลวงปู่เล่าว่าที่ยอดบุญทันนี้ มันเป็นต้นห้วยบุญทัน ต้นห้วยโค่โล่ และต้นห้วยบักอึ สามห้วยนี้รวมกันเรียกว่ายอดบุญทัน คือต้นน้ำลำธารนั้นเอง

ความเป็นมาของนามห้วยบักอึ (ฟักทอง)

หลวงปู่เล่าว่า ที่ยอดบุญทัน ยอดโค่โล่ ยอดบักอึนี้ มันมีแร่ทองคำอยู่ตามลำธาร สาเหตุที่จะได้เรียกห้วยบักอึนั้น เรื่องมีอยู่ว่า ในครั้งหนึ่งพอถึงฤดูแล้งได้มีพวกคนกลุ่มหนึ่งชวนกันไปร่อนทอง ไปตั้งทับอยู่ที่ยอดบุญทันนี้แหละ แล้วก็พากันร่อนทองตามลำธาร ร่อนกันไปได้หลายวัน จวนจะถึงวันกลับ มีผู้ชายหมอหนึ่ง (มีผู้ชายคนหนึ่ง) ร่อนทองกับหมู่เพื่อน ไม่ได้ทองกับเขาเลย คนอื่นเขาได้คนละหุน 2 หุน บางคนก็ได้หนึ่งสลึงก็มี ก่อนจะถึงวันกลับ ตกกลางคืนมา แกก็คิดน้อยอกน้อยใจ ว่าร่อนทองก็ไม่ได้กับเขาสักนิดเลย พอแกเคลิ้มหลับไปก็ฝันว่า มีคนมาบอกให้ไปเอาทองคำ อยู่ที่ริมห้วยนั้น อยู่ใต้ก้อนหิน จะเอาฟดไม้กิ่งไม้ปักเป็นเครื่องหมายไว้ให้ แล้วแกก็สะดุ้งตื่นขึ้น ใจคอไม่ปกติ อยากจะไปดุ แต่ยังไม่สว่างก็กลัวเสือ จึงคอยให้สว่างแล้วแกก็เดินไปดูตามที่ฝันโดยไม่บอกให้ใครรู้

พอเดินไปตามที่ฝันก็เห็นฟดไม้เป็นเครื่องหมาย อยู่ที่หินก้อนหนึ่งไม่โตเท่าไร แกจึงงัดหินก้องนั้นออก มองเห็นทองคำเหลืองอร่ามอยู่เท่าลูกบักอึ (ฟักทอง) แกดีใจมากพูดได้คำเดียวว่า “อึๆ” แล้วก็เมบเต็ง (นอนคว่ำทับ) ก้อนทองคำนั้นไว้ ปากก็พูดว่า “อึๆ” พอสายมา หมู่เพื่อนก็รวมกันกินข้าวแล้วก็จะเดินทางกลับ นับดูคนที่ไปด้วยกันขาดไปคนหนึ่ง หมู่เพื่อนจึงพูดกันว่า “เอ้า คนหนึ่งหายไปไหน ไม่ใช่เสือเอาไปกินแล้วหรือ” แล้วจึงพากันตามหา ร้องเรียกหา ได้ยินแต่เสียงว่าอึๆ

หมู่จึงมองเห็นหมอบอยู่ เดินเข้าไปใกล้เรียกให้มากินข้าวก็ยัง “อึๆ” อยู่ ไม่ได้หน้าหลังอะไร หมู่จึงไปจับลุกขึ้น จึงมองเห็นก้อนทองคำเท่าบักอึ หมู่จึงช่วยเอามา มาดึงผู้เป็นหัวหน้าปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร ผู้เป็นหัวหน้าจึงว่า “มันเป็นบุญของแก พวกเราก็ไม่ควรแบ่งเอากับแก ยกให้แกเสียหมด เพราะมันเป็นบุญของแกแล้ว” หมู่เพื่อนก็พร้อมกันยกให้แกคนเดียว

หลวงปู่ว่านี้เรื่องบุญกุศล ถึงคราวได้มันก็ได้ ถึงคราวเป็นมันก็เป็น นับแต่นั้นเขาจึงเรียกลำธารนั้นว่า ห้วยบักอึ แล้วหลวงปู่ก็จบลงด้วยคำว่า “คนเราแสวงหาทรัพย์ ถ้าบุญกุศลของตนไม่สั่งสมไว้ ถึงแม้จะอยากได้ แสวงหาเท่าไรก็ไม่ได้ดอก ถ้าบุญกุศลมีแล้ว หาไม่พอได้ก็ได้ หาไม่พอมีก็มี บุญกุศลจึงเป็นสิ่งสำคัญ ควรเจริญให้มาก กระทำให้มาก แล้วเราจะได้อาศัยบุญกุศลนั้นต่อไป”

เดินทางกลับจากยอดบุญทันดงโค่โล่

หลวงปู่พักวิเวกอยู่กับท่านอาจารย์สวด และท่านอาจารย์พระมหาบุญมี เป็นเวลาครึ่งเดือนแล้ว จึงได้กราบลาท่านกลับออกมาทางบ้านาดีนาไก่ ส่วนหลวงพ่อคำสิงห์ไม่กลับด้วย ยังพักอยู่กับท่านอาจารย์ทั้งสอง แล้วท่านพาเที่ยววิเวกต่อไปทางอำเภอท่าบ่อแล้วข้ามไปทางนครเวียงจันทน์

พักวิเวกที่ถ้ำผาด้วง

หลวงปู่เดินทางกับโยมที่ติดตามไปด้วย ออกจากยอดบุญทันมาถึงบ้านนาดีนาไก่ ท่านจึงแวะพักวิเวกอยู่ที่ถ้ำผาด้วงเป็นเวลา 6 วัน อาศัยบิณฑบาตที่บ้านนาดี ได้มีพ่อเป่าแม่เป่าเป็นผู้อุปัฏฐาก หลวงปู่เล่าว่า วันหนึ่งขณะที่ภาวนาอยู่ ได้นิมิตเห็นนายทหารยศนายพัน มานอนตายอยู่ในถ้ำนั้น และมีผู้มาบอกว่า ร้านที่ท่านนอนนั้น มีหีบไม้ประดู่ฝังอยู่ใต้นั้น หลวงปู่จึงพิจารณาได้ความว่า พวกทหารจะไปรบ เลยมาตายอยู่ที่ถ้ำนั้น ส่วนหีบไม้ประดู่นั้น คงจะเป็นหีบสมบัติของนายทหารนั้นเอง แต่หลวงปู่ท่านไม่ได้สนใจอะไร

อยู่ต่อมาอีกวันหนึ่ง ขณะที่ท่านเดินจงกรมภาวนาอยู่ ได้มีงูใหญ่ตัวหนึ่ง ไม่ทราบว่ามาจากไหน มาเลื้อยขนานตามทางจงกรมที่ท่านกำลังเดินอยู่ ท่านว่าตัวใหญ่มหาใหญ่ ท่านเปรียบให้ฟังว่าใหญ่เท่ากลองเพล เมื่อมันเลื้อยขนานไปกับทางจงกรมแล้วก็หายไป ที่ถ้ำผาด้วงนี้เป็นถ้ำดี แต่น้ำเป็นน้ำหินปูน หลวงปู่จึงไม่พักอยู่นาน แล้วท่านก็เดินทางกลับ ค่ำที่ไหนก็พัก จนมาถึงอุดรฯ แล้วก็นั่งรถจากอุดรฯ มาถึงบ้านต้อง แล้วเดินต่อกลับวัดป่าสันติกาวาส บ้านไชยวาน

Image
หลวงปู่ขาว อนาลโย

Image
หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม


๏ พ.ศ. 2499 พรรษาที่ 21
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


ในพรรษา หลวงปู่ได้นำพาพระภิกษุสามเณร และอุบาสกอุบาสิกาให้ปฏิบัติตามที่เคยปฏิบัติมาโดยตลอด เมื่อออกพรรษาแล้ว ในระยะนี้ พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) ซึ่งเป็นอุปัชฌาย์ของครูบาอาจารย์สายกัมมัฏฐาน ท่านได้อาพาธออดๆ แอดๆ เพราะฉะนั้นหลวงปู่จึงได้ไปมาหาสู่ท่าน ที่วัดโพธิสมภรณ์อยู่เรื่อยๆ บางทีก็พักแรมคืนอยู่กับท่าน หลวงปู่เล่าว่า “พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์นี้ ท่านส่งเสริมการปฏิบัติสายกัมมัฏฐานนี้มาก บางทีเราไปพักกับท่าน ตอนเช้าเวลาฉัน ท่านจะเตือนพระสายกัมมัฏฐานว่า พวกเจ้าเคยทำอย่างไรก็ให้ทำอย่างนั้น เคยฉันในบาตรก็ให้ฉันในบาตร อย่าไปทำอย่างพวกนักเรียนเขา นับว่าท่านช่วยส่งเสริมพระสายกัมมัฏฐานเป็นอย่างมากทีเดียว”

ในระยะนี้เป็นช่วงที่ครูบาอาจารย์สายกัมมัฏฐานได้พบกันบ่อยๆ เพราะต่างองค์เมื่อทราบว่าพระอุปัชฌาย์อาพาธไม่สบายท่านก็ไปมาเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ หลวงปู่ก็ได้พบปะสนทนากับครูบาอาจารย์ในยุคนั้นหลายๆ องค์ อาทิ หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม, ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน, หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ เป็นต้น ครูบาอาจารย์ที่กล่าวมานี้ ล่วนแต่เป็นผู้ปฏิบัติตามปฏิปทาสืบเนื่องมาจากท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ และท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นทั้งนั้น


๏ พ.ศ. 2500 พรรษาที่ 22
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 หลวงปู่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลบ้านจีต (ธรรมยุต) ในขณะนั้นวัดธรรมยุตในตำบลบ้านยา ไชยวาน บ้านจีต รวมกันแล้วมีอยู่เพียง 5 วัดเท่านั้น ถึงแม้หลวงปู่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบล ท่านก็ไม่ลืมตัวเพราะหน้าที่ตำแหน่ง ท่านยังคงปฏิบัติองค์ตามแบบฉบับของพระกัมมัฏฐาน ยึดมั่นในพระธรรมวินัยและธุดงควัตรตลอดมา


(มีต่อ 11)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 31 พ.ค.2007, 11:22 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
พระอาจารย์แตงอ่อน กลฺยาณธมฺโม

Image
หลวงปู่คำตัน ฐิตธมฺโม


๏ พ.ศ. 2501-2502 พรรษาที่ 23-24
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 23-24

เมื่อออกพรรษาปี พ.ศ. 2502 แล้ว ย่างเข้าปี พ.ศ. 2503 หลวงปู่พาคณะศรัทธาญาติโยมขุดลอกหนองท้ม ซึ่งเป็นหนองน้ำธรรมชาติอยู่กลางวัด ให้ลึกลง แล้วสร้างวิหารกลางน้ำทำด้วยไม้ สำหรับเป็นที่ทำสังฆกรรม ลงอุโบสถ และบวชพระภิกษุสามเณร และเป็นที่พำนักอยู่ของหลวงปู่ด้วย

ไปเที่ยววิเวกที่ดงศรีชมภู

ในฤดูแล้ง พ.ศ. 2503 นี้ หลวงปู่ได้ไปวิเวกที่ดงศรีชมภู อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย ออกจากวัดป่าสันติกาวาส ทั้งเดินทั้งอาศัยรถพ่อค้าข้าวไปถึงอำเภอวานรนิวาส พักค้างคืนกับ พระอาจารย์แตงอ่อน กลฺยาณธมฺโม ที่วัดป่าวานรนิวาส (ปัจจุบันคือ วัดธรรมนิเวศวนาราม)

หลวงปู่เป็นผู้มีนิสัยอ่อนน้อมถ่อมตน เมื่อไปถึงวัดพระอาจารย์แตงอ่อน หลวงปู่ได้เข้าไปกราบนมัสการตามหน้าที่ของอาคันตุกวัตร และขอพักค้างคืนกับท่าน เมื่อกราบเสร็จแล้ว ท่านพระอาจารย์แตงอ่อนจึงถามพรรษา จึงทราบว่าหลวงปู่มีพรรษาแก่กว่าท่าน ท่านพระอาจารย์แตงอ่อนจึงกราบคืน หลวงปู่พักอยู่กับพระอาจารย์แตงอ่อน 1 คืน แล้วก็เดินทางด้วยเท้าต่อไปที่ ดานม้าแล่น บ้านนาคำ อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย (ปัจจุบันเป็นวัดดานศรีสำราญ บ้านนาคำ อำเภอพรเจริญ จังหวัดหนองคาย)

ที่ดานม้าแล่นนี้เป็นก้อนหินยาวๆ บ้าง บางก้อนก็ใหญ่ ข้างบนเรียบ เป็นกลุ่มหินอยู่กลางดงศรีชมภู ครั้งแรกปี พ.ศ. 2501 หลวงปู่คำสิงห์ สุจิตฺโต ผู้เป็นพี่ชายของหลวงปู่ได้เข้าไปจำพรรษาอยู่กับสามเณรสม, สามเณรทูล เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่คำตัน ฐิตธมฺโม จึงได้เข้าไป และท่านก็ได้อยู่แต่บัดนั้นมาจนถึงทุกวันนี้ (หลวงปู่คำตันมรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2540) เมื่อหลวงปู่เข้าไปถึงดานม้าแล่น ในขณะนั้นได้พักอยู่กับหลวงปู่คำตัน และท่านพระอาจารย์บุญยัง ผลญาโณ (มรณภาพแล้ว)

หลวงปู่เล่าว่า ในตอนนั้น ที่ดานม้าแล่น ดงศรีชมภู เต็มไปด้วยป่าไม้นานาชนิด และเครือหวายยาวได้ 20-30 เมตร และต้นยาสมุนไพรชนิดต่างๆ ไข้มาลาเรีย และเสือ ช้าง ชุกชุม ตอนกลางคืนเสือ ช้าง ลงกินน้ำวังเวิน เสือโคร่งลายพาดกลอนร้องสนุกสนานตามประสาของพวกมัน แถวใกล้ๆกุฏิที่พักนั้นเอง พวกเก้ง กระจง ก็มีมาก

ความดื้อรั้นไม่ยอมเชื่อฟังทำให้ได้รับทุกข์

หลวงปู่เล่าว่า มีผู้ชายสองคนพ่อลูกจากจังหวัดกาฬสินธุ์ มารับจ้างเลื่อยไม้ ขอพักอยู่ที่วัดด้วย วันหนึ่งเดินไปเห็นเขาตัดเหล็กรองครุถังอยู่ จึงถามว่าทำอะไร เขาตอบว่า “ตัดเอาไปทำลูกปืนยิงเก้ง”

ท่านจึงบอกว่า “อย่าพากันทำอย่างนั้น ถ้าไม่เชื่ออาตมา เดี๋ยวจะเลื่อยไม้ไม่เสร็จนะ” เขาไม่ยอมฟังพากันไปดักยิงเก้ง อยู่มาไม่กี่วันพากันล้มป่วยลง พวกโยมบ้านนาคำต้องช่วยกันหามออกจากวัดไปบ้านนาคำ ความไม่เชื่อฟังจึงได้รับทุกข์ สุดท้ายไม้ก็เลื่อยไม่เสร็จ

เที่ยววิเวกจากดานม้าแล่นไปถ้ำจันทน์

เมื่อพักอยู่ดานม้าแล่นพอสมควรแล้ว จึงเที่ยววิเวกต่อไปที่ถ้ำจันทน์ หลวงปู่ได้พบกับ พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ, พระอาจารย์คำบุ และพระอาจารย์สีลา อินฺทวงฺโส ที่ถ้ำจันทน์นี้ สำหรับพระอาจารย์สีลานั้นเป็นคนอำเภอพนมไพรด้วยกัน หลวงปู่เล่าว่าที่ถ้ำจันทน์อากาศดี แต่พอพักอยู่ไม่นานหลวงปู่จับไข้ จึงได้ออกจากถ้ำจันทน์ ทั้งไข้ทั้งเดินมากับโยมพั้ว จนมาถึงทุ่งบ้านหนองตอ จึงมีเหงื่อออก เอามือลูบตามแขนตามตัว เห็นเยื่อบางๆลอกออกเป็นแผ่นๆ จึงรู้ว่าอากาศที่ถ้ำจันทน์ทำให้เกิดเป็นแผ่นปิดขุมขน จึงทำให้เป็นไข้เพราะไม่มีเหงื่อออก หลวงปู่กลับมาพักที่ดานม้าแล่นระยะหนึ่ง ก็เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส

Image
พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

Image
พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร


๏ พ.ศ. 2503 พรรษาที่ 25
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 วัดป่าสันติกาวาสได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร และมีชื่อในทะเบียนวัดว่า “วัดสันติกาวาส”

ในปี พ.ศ. 2504 นี้ หลวงปู่ได้ศิษย์สำคัญคนหนึ่ง คือ นายสุจินต์ คำใสย์ เป็นลูกชายของหลวงปู่สอน สงฺจิตโจ และได้เป็นโยมอุปัฏฐากหลวงปู่มาแต่แรกที่มาสร้างวัดป่าสันติกาวาส เมื่อภรรยาถึงแก่กรรมแล้ว นายสุจินต์ได้มีความเศร้าโศกเสียใจอาลัยถึงภรรยา เพราะบุตรที่ยังเล็กอยู่ก็มี

ในวันหนึ่งได้มาถวายจังหันหลวงปู่ในขณะที่หลวงปู่ฉันอาหารเช้าอยู่ นายสุจินต์ก็ได้นั่งมีอาการเศร้าอยู่ต่อหน้าท่าน เมื่อฉันเสร็จแล้ว หลวงปู่จึงให้ธรรมะว่า “หาของตายมาไว้มันก็ตายนั้นแหละ ถ้าหาใหม่มาไว้อีกมันก็จะตายอีก” นายสุจินต์ได้ฟังธรรมะเพียงเท่านี้ก็ซาบซึ้งถึงใจ จึงได้มอบภาระหน้าที่ทุกอย่างให้ลูกคนโตดูแลน้องๆ ที่ยังเล็กอยู่ แล้วตัวเองได้ออกจากบ้านมาอยู่วัดกับหลวงปู่ ฝึกข้อวัตรปฏิบัติ และท่องคำขานนาคคล่องแคล่วแล้ว จึงได้ไปอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่แดง ธมฺมรกฺขิโต) เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีนามฉายาว่า “พระสุจินต์ จิตฺตปชฺโชโต” เมื่อบวชแล้ว พ.ศ. 2504 ท่านได้จำพรรษาอยู่วัดอโศการามหนึ่งพรรษา แล้วจึงกลับมาอยู่กับหลวงปู่ที่วัดป่าสันติกาวาส


๏ พ.ศ. 2504 พรรษาที่ 26
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


ร่วมงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม

ปี พ.ศ. 2505 หลวงปู่ไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม) วัดป่าสาลวัน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

หลวงปู่เดินทางผ่านกรุงเทพฯ ครั้งแรก

เมื่อเสร็จงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม แล้ว ได้ทราบข่าวว่า ท่านพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร วัดอโศการาม ได้ถึงแก่มรณภาพ หลวงปู่จึงได้ไปวัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อกราบคารวะศพท่านพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร

เดินทางไปจังหวัดจันทบุรีครั้งแรก

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2505 เมื่อหลวงปู่กราบคารวะศพท่านพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร แล้ว จึงได้เดินทางด้วยรถยนต์โดยสารต่อไปจังหวัดจันทบุรี โดยมีพระลูกศิษย์ติดตามไปด้วยหนึ่งรูป และโยมไวยาวัจจกรหนึ่งคน พอไปถึงจันทบุรี ฝนตกไม่หยุด จึงได้ขออนุญาตจากกำนันพักที่ศาลเจ้า เพื่อเยี่ยมสงเคราะห์โยมลูกศิษย์ ที่เคยอุปัฏฐากหลวงปู่ในคราวที่อยู่จังหวัดร้อยเอ็ด พักอยู่ศาลเจ้า 3 คืน หลวงปู่ได้อบรมลูกศิษย์และโยมที่สนใจฟังธรรม ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เร่งทำคุณงามความดี ด้วยการให้ทาน รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ 3 ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก ไปไหนมาไหนอย่าได้ลืมพุทโธ ธัมโม สังโฆ ประจำจิตใจ ได้ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ผู้ไปอย่างมีที่พึ่ง

หลวงปู่ออกจากศาลเจ้าไปพักเยี่ยม ท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย ที่วัดเนินดินแดง อำเภอท่าใหม่ (ภายหลังท่านพระอาจารย์สมชายย้ายไปอยู่วัดเขาสุกิม และปัจจุบันมรณภาพแล้ว) ซึ่งท่านอาจารย์สมชายเคยเป็นสามเณรอยู่กับหลวงปู่ ในคราวที่อยู่จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อปี พ.ศ. 2488 ในขณะที่หลวงปู่พักอยู่วัดเนินดินแดงได้มีญาติโยมชาวอำเภอท่าใหม่เกิดความเลื่อมใส บางคนถึงกับขอเอาฝ่าเท้าถูที่ศีรษะของตัวเอง

ช่วยชีวิตของเด็ก

ในวันหนึ่งพวกโยมอำเภอท่าใหม่พาหลวงปู่ไปเที่ยวที่เขามะปิง หลวงปู่เห็นมีต้นคันจ้องขึ้นอยู่เยอะ ท่านจึงถามพวกโยมว่า “นี้เขาเรียกต้นอะไร” พวกโยมตอบว่า “ทางจันทบุรีนี้เขาเรียกต้นนมบิด” ในความที่หลวงปู่ท่านชำนาญทางสมุนไพร ท่านจึงให้โยมพิจารณาเอารากนมบิดให้ อยู่มามีโยมคนหนึ่งมาหาหลวงปู่แล้วพูดว่า “ลูกของผมถ่ายไม่ออกทุรนทุรายอยู่ ไม่รู้จะทำอย่างไร” หลวงปู่จึงเอารากนมบิดนั้นให้ไปฝนให้เด็กกิน เมื่อโยมนั้นนำรากนมบิดไปฝนให้ลูกกิน จึงถ่ายออกและหายกระวนกระวาย วันหลังเขาจึงมาหาหลวงปู่อีก แล้วกราบเรียนว่า “แหม ! ลูกผมไม่ตายเพราะท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีท่านอาจารย์ ลูกของผมต้องตายแน่ๆ” แล้วเขาก็ปวารณาตัวเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่

เดินทางกลับจากจันทบุรี

หลวงปู่พักอยู่กับท่านพระอาจารย์สมชายเป็นเวลาพอสมควรแล้ว จึงได้เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส

Image
ท่านพ่อลี ธมฺมธโร-หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม-หลวงปู่แดง ธมฺมรกฺขิโต


(มีต่อ 12)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 31 พ.ค.2007, 11:36 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พ.ศ. 2505 พรรษาที่ 27
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 27

ในพรรษานี้ หลวงปู่ได้ให้พระเณรประกอบความพากความเพียร ไม่ให้มีการคลุกคลีตีโมงกัน หลวงปู่ตั้งกติกาให้ตอนเช้าหลังฉันเช้าเสร็จ ให้เดินจงกรมไปจนถึงเที่ยงวันให้เลิกตอนหัวค่ำ หลังจากทำกิจวัตรข้อวัตรปัดกวาดลานวัดเสร็จ ถูศาลา ตักน้ำใส่ตุ่มน้ำใช้น้ำฉันเสร็จแล้ว ให้รีบสรงน้ำเสร็จแล้วให้เดินจงกรมไปจนถึงเวลา 3 ทุ่ม จึงให้เลิก ตอนใกล้รุ่งเวลาตี 4 ให้ลงเดินจงกรมไปจนสว่าง

หลวงปู่คอยเอาใจใส่สอดส่อง พระเณรองค์ไหนไม่ตั้งใจ ท่านก็คอยดุด่าว่ากล่าวตักเตือน องค์ไหนตั้งใจทำอยู่แล้ว ท่านก็ส่งเสริมให้กำลังใจ ครูบาอาจารย์มีเมตตาต่อศิษย์ อยากให้ได้ดิบได้ดีเหมือนอย่างท่าน เพราะท่านได้ทำมาแล้ว เอาเป็นเอาตายสู้ ท่านจึงได้มีธรรมนั้นเป็นที่พึ่งทางใจ ท่านไม่ได้ธรรมนั้นมาด้วยความขี้เกียจขี้คร้าน ท่านได้มาด้วยความขยันหมั่นเพียร เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนลูกศิษย์ให้ขยันหมั่นเพียร

ในระหว่างการเข้าพรรษา ท่านพยายามตัดความกังวลภายนอกออก ให้เหลือแต่เรื่องความพากความเพียร สติกับใจให้จดจ่อกันอยู่ตลอดเวลา บางพรรษาท่านถึงกับให้พวกญาติโยมงดมาวัดในวันธรรมดา ให้มาเฉพาะวันพระ เพื่อให้โยมมาถือศีลอุโบสถ ฟังธรรม ในวันพระเท่านั้น วันธรรมดาให้ญาติโยมมีอาหารอะไรก็ใส่บาตรให้พระเณรแล้วก็แล้วไป พระเณรก็ให้สมาทานธุดงควัตร คือฉันอาหารเฉพาะที่ตกในบาตรเท่านั้น ไม่ให้โยมตามมาถวายอาหารที่วัดอีก เมื่อพระเณรฉันอาหารเช้าเสร็จแล้ว อนุญาตให้โยมคนหนึ่งมารับเอาข้าวอาหารที่เหลือจากพระเณร เข้าไปแจกจ่ายคนที่อดอยากในบ้านเท่านั้น ที่ท่านให้ทำอย่างนั้นก็เพื่อให้พระเณรมีเวลาในการทำความเพียรมาก ไม่ต้องคลุกคลีกันยืดเยื้อ นี้เป็นวิธีการที่หลวงปู่ท่านพาดำเนินมา เพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหาเห็นความสำคัญในการทำความพากเพียรทางด้านจิตใจยิ่งกว่าอย่างอื่น

หลวงตาตกตั่ง

หลวงปู่เล่าว่า ในพรรษาให้เดินจงกรมแต่หัวค่ำถึงหกทุ่ม พอดีหลวงตาองค์หนึ่งท่านอายุมาก พอเดินจงกรมไปถึง 4-5 ทุ่ม ท่านก็ง่วงนอน ท่านก็นั่งตั่งที่หัวทางเดินจงกรม ท่านนั่งกำหนดภาวนา พอถีนมิทธะ (ความง่วง) เข้าครอบงำเพราะสติไม่กล้า ทำให้ท่านหงายหลังลงจากตั่ง ขาถูกตั่งขูดเป็นแผลจึงรู้สึกตัว ตอนเช้ามาหลวงปู่เห็นแผลที่ขา จึงถามว่า “หลวงตา ขาเป็นอะไร” หลวงตาจึงตอบท่านอ้ำๆ อึ้งๆ ว่า “ไม้ขูด ขอรับ”

หลวงปู่จึงพูดขึ้นว่า “ไม่ใช่นั่งหลับตกตั่งที่ทางเดินจงกรมหรือ” หลวงตาหัวเราะหึๆ เบาๆ แล้วรับว่า “ครับผม” เรื่องความง่วงเหงาหาวนอนนี้ มันเป็นเครื่องกีดขวางอย่างหนึ่ง เวลาเราจะทำความดี มันชอบเข้าครอบงำ ถ้าเราไม่ฝึกสติให้แก่กล้าแล้ว เอาชนะมันไม่ได้

หลวงปู่รู้ใจ

เป็นระยะเวลาช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 ในวันนั้นผู้เขียนได้ติดสินใจลาญาติพี่น้องวงศาและมารดา สละบ้านเรือนเพื่อไปถวายตัวเป็นศิษย์อยู่กับหลวงปู่ที่วัด เพื่อจะบวชในพระพุทธศาสนา จึงขอให้มารดาเป็นผู้ไปฝากฝังมอบหมายให้หลวงปู่ด้วย บังเอิญในวันนั้น มีการทำบุญประจำปีที่วัดในหมู่บ้าน ผู้เป็นมารดายังติดธุระที่จะต้องไปถวายกัณฑ์เทศนาพระที่ตนเองจับสลากถูก ว่าจะต้องอุปัฏฐากพระที่มาจากวัดบ้านไหน ผู้เป็นมารดาจึงจัดของมีอาหารหวานคาว ข้าวต้ม ขนมจีน ใส่ตะกร้าให้ แล้วบอกให้หาบไปจังหันหลวงปู่ แล้วก็อยู่วัดกับท่านเลย วันหลังแม่จะไปฝากฝังหลวงปู่ให้ดอก

เมื่อผู้เขียนได้ยินมารดาบอกอย่างนั้น ก็น้อยใจว่ามารดาไม่ไปฝากฝังให้ จึงร้องไห้แล้วก็ยกหาบของถวายทานใส่บ่าเดินลงบ้าน ทั้งร้องไห้ไปตามทาง ทั้งกลัวว่าจะไม่ทันหลวงปู่จะฉันเสียก่อน เดินบ้าง วิ่งน้อยๆ บ้าง จนถึงครึ่งทางจึงหยุดร้องไห้ ระยะทางจากบ้านถึงวัดป่าสันติกาวาสประมาณ 3 กิโลเมตร ขณะขึ้นไปถึงบนศาลา เราเป็นคนสุดท้าย หลวงปู่กำลังเตรียมจะให้พร ยะถา รีบนำอาหารที่หาบไปเข้าถวายหลวงปู่ เสร็จแล้วก็ก้มกราบท่านสามครั้ง แล้วหลวงปู่ท่านถามว่า “วันนี้จะมาอยู่วัดหรือ” หลวงปู่บอกว่า “ถ้าจะอยู่วัด ฉันเสร็จแล้วไปให้เณรโกนผมให้” หลวงปู่ท่านล่วงรู้ใจเราก่อนแล้ว เมื่อเสร็จจากพระเณรท่านฉันจังหัน จึงไปให้ครูบาเณรท่านโกนผมให้ แล้วก็อยู่วัดกับหลวงปู่ตั้งแต่วันนั้นมา ขณะนั้นผู้เขียนอายุ 13 ปี หลวงปู่ท่านเรียก “สังกะลี” คือ เด็กที่โกนผมอยู่วัดเพื่อศึกษาเตรียมจะบวช

Image
พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ


หลวงปู่พาไปถวายเพลิงศพพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ

ประมาณต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2506 หลวงปู่จะไปร่วมงานถวายเพลิงศพ ท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ วัดดอยธรรมเจดีย์ จังหวัดสกลนคร ก่อนจะถึงวันเดินทาง 1 วัน หลวงปู่ท่านบอกว่าให้สังกะลีไปด้วย พอได้ยินคำหลวงปู่สั่งให้ไปด้วย ผู้เขียนดีใจเป็นพิเศษ ที่จะได้ติดตามครูบาอาจารย์ไปในงานเช่นนี้ และเดินทางไกลซึ่งยังไม่เคยมีในชีวิต พอถึงตอนเช้าวันเดินทาง ญาติโยมเตรียมอาหารถวายหลวงปู่และพระที่จะเดินทางไปด้วย ให้ฉันแต่เช้า เมื่อฉันเสร็จแล้วต่างก็เตรียมบริขาร เครื่องใช้ลงในบาตร เตรียมเดินทาง

การเดินทางครั้งนั้นได้อาศัยไปกับรถยนต์ 6 ล้อ ที่บรรทุกขนย้ายครอบครัวของพ่อมูล ทัพพิลา ผู้เป็นน้องชายของหลวงปู่ ซึ่งย้ายครอบครัวจากบ้านหนองตูมไปอยู่บ้านห้วยทราย อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร พระที่ติดตามไปกับหลวงปู่มี 4 รูป คือ (1) อาจารย์คำไหม (2) หลวงปู่คำตัน ฐิตธมฺโม (3) ครูบาสม (4) ครูบาบุญมา และมีญาติโยมติดตามไปด้วย 5-6 คน พระนั่งข้างหน้ารถบรรทุก พวกโยมนั่งบนข้างของข้างหลัง ออกจากวัดสันติกาวาส เวลา 7 โมงเช้า วิ่งไปตามถนนลูกรังสายอุดร-สกลนคร ถึงบ้านห้วยทรายเป็นเวลาเย็น หลวงปู่พร้อมด้วยพระที่ติดตามและผู้เขียนซึ่งเป็นสังกะลี ขออาศัยพักค้างคืนที่ศาลาวัดบ้านห้วยทราย สมภารเจ้าวัดท่านก็ให้การต้อนรับดี ส่วนพวกญาติโยมก็พักกับครอบครัวของพ่อมูลที่เดินทางมาด้วยกัน

ตอนกลางคืนได้มีพวกญาติโยมบ้านห้วยทรายออกมาวัด กราบไหว้สนทนาปราศรัยกับหลวงปู่พอสมควร แล้วจึงได้เลิกกันพักผ่อน จวนสว่างได้เตรียมน้ำล้างหน้าและไม้สีฟันถวายหลวงปู่ เมื่อได้เวลาภิกขาจาร หลวงปู่พร้อมด้วยพระติดตามบิณฑบาตในหมู่บ้านห้วยทราย แล้วกลับมาฉันที่วัด เมื่อฉันเสร็จผู้เขียนนำบาตรไปล้าง หลวงปู่ท่านสอนให้เอาน้ำเทลงในบาตร ใช้มือกวนน้ำลูบเมล็ดข้าวในบาตร เทออกให้หมดก่อน การเทน้ำล้างบาตร ให้เทเป็นที่ ไม่ใช่สาดไปทั่ว แล้วท่านให้เก็บเอาใบไม้ที่มีอยู่ใกล้ๆ เช่น ใบมะม่วงนำมาถูบาตร ถ้าไม่มีที่รองบาตร ให้วางบาตรลงที่หลังเท้าตัวเอง ใช้ใบไม้ถูกบาตรให้สะอาด แล้วล้างด้วยน้ำ สะอาดแล้วให้เช็ดด้วยผ้าสำหรับเช็ดบาตร ซึ่งทั้งใช้นุ่งสรงน้ำด้วย การใช้ผ้าของพระกัมมัฏฐานในยุคนั้นใช้ให้คุ้มค่าทีเดียว เมื่อเช็ดบาตรแห้งดีแล้ว นำเข้าถลก

ส่วนฝาบาตรก็ให้ล้างให้สะอาด เพราะฝาบาตรท่านใช้สำหรับใส่น้ำไว้ล้างมือเวลาฉันข้าว เมื่อเสร็จแล้ว ต้องล้างด้วยกันกับบาตร ถ้าฝาบาตรมีรอยดำด่าง ท่านให้ขัดด้วยของเปรี้ยว เช่น ใบมะขาม หรือมะนาว เป็นต้น เพราะฝาบาตรในยุคนั้นเป็นทองเหลืองส่วนมาก ท่านห้ามไม่ให้ขัดด้วยทราย เพราะจะทำให้ฝาบาตรเป็นรอยและสึกกร่อนได้เร็ว การรักษาบาตรของพระเณรในยุคนั้น มีความระมัดระวังมากเท่ากับรักษาเด็กอ่อน เมื่อล้างเช็ดฝาบาตรให้แห้งแล้วก็เข้าถลกเหมือนกันกับลูกบาตร เมื่อล้างบาตรเข้าถลกเรียบร้อยแล้ว นำบริขารลงในบาตร นำบาตรเข้าถุงบาตรสำหรับสะพาย ผูกมัดให้ดีเรียบร้อยแล้ว เตรียมตัวเดินทางต่อไป

เดินทางต่อไปยังวัดดอยธรรมเจดีย์

หลวงปู่ให้ว่าจ้างรถโดยสารเล็ก ตัวถังทำด้วยไม้ ให้ไปส่งที่วัดดอยธรรมเจดีย์ เมื่อทั้งพระทั้งโยมนั่งรถเรียบร้อยแล้ว พระนั่งด้านหน้า โยมนั่งข้างหลัง สังกะลีนั่งหลังสุด รถออกจากบ้านห้วยทรายวิ่งไปตามถนนลูกรัง ที่ไหนมีคลื่นมากๆ รถเต็นกระโดกๆ ผู้นั่งข้างหลังตับโยกตับคลอนไปอย่างนั้นแหละ รถวิ่งผ่านตัวเมืองสกลนครไป มองเห็นเขาภูพานเป็นฉากกั้นอยู่ข้างหน้า ผู้เขียนไม่เคยเห็นภูเขาสักที เกิดความตื่นเต้นอย่างบอกไม่ถูก บางขณะจิตก็คิดว่า เออ ทำไมภูเขาจึงมีสีดำสีเขียวทะมึน น่ากลัวจริงๆ บางขณะจิตก็ดีใจว่าบัดนี้เราจะได้ขึ้นภูเขา เกิดความชอบใจ เมื่ออยู่ห่างๆมองเห็นภูเขาสูงตระหง่านอยู่ข้างหน้า

พอรถวิ่งใกล้เข้าไป ถึงบ้านโคก ตำบลตองโขบ รถเลี้ยงออกจากถนนใหญ่ด้านขวามือ วิ่งไปตามทางเกวียนที่เต็มไปด้วยทราย บางทีก็เหมือนกับรถจะติดทราย ต้องค่อยขึ้นไปอย่างทุลักทุเล เมื่อรถวิ่งใกล้ภูเขาเข้าไปเท่าไร ภูเขาค่อยต่ำลง ต่ำลง พอรถวิ่งเข้าไปถึงตีนเขา ภูเขาที่อยู่สูงตระหง่านกลายเป็นภูเขาเตี้ยลง ในขณะที่รถวิ่งใกล้ภูเขาแต่ยังไม่ถึงตีนเขานั้น จะมองไม่เป็นภูเขาเลย ทำให้เกิดความแปลกประหลาด ว่าภูเขาวิ่งหนีไปไหน พอเราเข้ามาใกล้ทำไมมองไม่เห็น จนรถเข้าไปถึงตีนเขาจึงมองเห็นภูเขา เมื่อรถวิ่งไต่เขาขึ้นไป ก็มองเห็นเป็นเหมือนกับพื้นราบอีก พิจารณาดูแล้วก็เหมือนกับกิเลส ความโลภ โกรธ หลง ที่มีอยู่ในใจของคนเรา เรามองเห็นมันเกิดอยู่ที่ผู้อื่น ดูแล้วเป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา พอมันมาเกิดขึ้นในใจของตัวเองแล้ว มองไม่ค่อยเห็นเลย

ถึงวัดดอยธรรมเจดีย์

ถนนจากตีนเขาเข้าไปถึงศาลาวัดดอยธรรมเจดีย์นั้นเป็นก้อนหินขรุขระ รถวิ่งขลุกขลักๆ เข้าไปถึงศาลาการเปรียญซึ่งเป็นที่ตั้งศพของท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ทั้งพระทั้งโยมลงจากรถเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่จึงพาขึ้นไปกราบนมัสการศพท่านพระอาจารย์กงมา ซึ่งยังตั้งอยู่บนศาลา ยังไม่เคลื่อนศพไปสู่เมรุ เพราะวันนั้นเป็นวันเริ่มงาน เมื่อกลับลงจากศาลา พระกรรมการแผนกต้อนรับพระนำหลวงปู่ไปพักที่กุฏิพักร่วมกันกับ ท่านพระอาจารย์แว่น ธนปาโล (วัดถ้ำพระสบาย อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) พระที่ติดตามและสังกะลีพักที่ปะรำต้อนรับพระ ญาติโยมพักตามเพิงหินแถวใกล้ๆศาลา

บรรยากาศในงานถวายเพลิงศพพระอาจารย์กงมา

ทั้งพระทั้งโยมได้เดินทางหลั่งไหลเข้ามาสู่วัดดอยธรรมเจดีย์ แม้พระและโยมจะมารวมกันมากๆ แต่บรรยากาศเต็มไปด้วยความสงบ ไม่พลุกพล่าน ไม่วุ่นวาย เหมือนสมัยทุกวันนี้ พระเณรกางกลดพักตามร่มไม้ลานหิน ตามปะรำที่จัดไว้ต้อนรับ กลางคืนแสงเทียนที่จุดไว้ตามที่พักของแต่ละองค์ ตามลานหินตามยอดเขา มองดูแล้วเป็นสิ่งที่ประทับใจไม่มีวันลืม ธรรมชาติช่างมีความเยือกเย็นสวยงามอย่างสงบๆ เวลากลางวันตอนตะวันบ่ายๆ มองไปเห็นครูบาอาจารย์ท่านนั่งสนทนาธรรม ถามข่าวคราวกันตามลานหินใต้ร่มไม้ นานๆ จะได้พบกันครั้งหนึ่ง มองดูแล้วทำให้เกิดความเลื่อมใสเยือกเย็นในจิตใจ

ในครั้งนั้นน้ำกันดาร น้ำอาบน้ำใช้ไม่พอใช้ในวันงาน พระเณรท่านก็ทนเอา บางองค์ก็แค่เอาผ้าเช็ดเอาก็พอ บางองค์ท่านก็ไม่อาบไม่สรง ท่านก็ทนเอา ไม่มีพระเณรโวยวายอย่างนั้นอย่างนี้ การแย่งอาหาร แย่งปัจจัยไทยทาน ไม่มีเหมือนทุกวันนี้ ตอนเย็นทั้งพระทั้งโยมรวมประชุมกันทำวัตรเย็น สวดมนต์ บนศาลาการเปรียญ ตอนเช้าพระเณรออกบิณฑบาตในหมู่บ้านด้วย บิณฑบาตกับญาติโยมแต่ละหมู่บ้านที่มาร่วมงานด้วย พระเณรรวมกันฉันบนศาลา เต็มไปด้วยครูบาอาจารย์และพระเล็กเณรน้อย

เป็นผู้มีนิสัยในการถ่อมตน

หลวงปู่ท่านนั่งปะปนอยู่กับพระเล็กเณรน้อย พอท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร มาพบเข้า จึงพูดว่า “ไม่ได้ๆ ท่านอาจารย์บุญจันทร์มานั่งปนกับพระเล็กเณรน้อย” ท่านจึงย้ายเอาที่นั่งของหลวงปู่ขึ้นไปบนอาสนสงฆ์

เมื่อถึงวันถวายเพลิงศพท่านพระอาจารย์กงมา คณะศิษย์ได้เคลื่อนศพของท่านจากศาลาการเปรียญไปตั้งที่เมรุ ก่อนถึงพิธีถวายเพลิงศพ ได้มีครูบาอาจารย์พระภิกษุสามเณรขึ้นรวมกันที่ปะรำพิธีจำนวนประมาณ 500 รูป มีท่านหลวงปู่เทสก์ เทสฺรงฺสี เป็นประธานสงฆ์ นายวัน คมนามูล ได้ถวายฉลากสิ่งของที่นำมาถวายพระ ให้พระเณรจับฉลาก องค์ไหนถูกอะไรก็นำของถวาย หลวงปู่จับฉลากถูกย่าม 1 ใบ เสร็จจากการมาติกาบังสุกุลและถวายสิ่งของแก่พระภิกษุสามเณรแล้ว ก็เป็นพิธีถวายเพลิงศพ

เดินทางกลับมาพักที่บ้านห้วยทรายอีก

หลวงปู่พาพักที่วัดดอยธรรมเจดีย์ 3 คืน เมื่อเสร็จจากการถวายเพลิงศพท่านพระอาจารย์กงมา ตอนเช้าเก็บอัฐิเรียบร้อยแล้ว ฉันจังหันเช้าเสร็จ รถคันที่ไปส่งก็ได้กลับไปรับ ผู้เขียนได้เก็บเสื่อหมอนจากปะรำที่พระพัก ทั้งของตัวเองและของผู้อื่น มารวมไว้ที่ศาลา เดินขึ้นลงที่เขาพระนอน 3 เที่ยว จนหมดแรง เมื่อเก็บสิ่งของเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่จึงพาเดินทางกลับมาพักที่วัดบ้านห้วยทรายอีก กลับมาถึงบ้านห้วยทรายยังไม่ค่ำ หลวงปู่คำตันจึงนิมนต์ให้หลวงปู่ไปเยี่ยมญาติของท่าน และอบรมธรรมะญาติพี่น้องของท่านด้วย ผู้เขียนได้ติดตามไปด้วย นั่งฟังพวกชาวภูไทพูดไม่รู้เรื่องเลย แต่หลวงปู่ท่านรู้ภาษาภูไท เมื่ออบรมพอสมควรแล้ว ก็กลับมาพักที่วัดบ้านห้วยทราย

ตอนเช้าโยมแม่สอ-พ่อจันทร์ได้นิมนต์หลวงปู่ พร้อมพระที่ติดตาม เข้าไปฉันเช้าที่บ้าน เมื่อฉันเสร็จแล้ว หลวงปู่คำตันก็เดินทางกลับไปวัดดานศรีสำราญ ส่วนอาจารย์คำไหม ครูบาสม ครูบาบุญมานั้น หลวงปู่ให้เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส ไชยวาน ก่อน ส่วนตัวหลวงปู่และผู้เขียนและโยมพ่อใหญ่พัน ได้พักวิเวกอยู่ที่ป่าไผ่ ริมห้วยทราย ซึ่งเป็นสวนของนายสมศักดิ์ พวกโยมช่วยกันทำร้านถวายหลวงปู่ใต้ร่มไผ่ และทางสำหรับให้ท่านเดินจงกรมด้วย พอตอนเย็นสรงน้ำเสร็จแล้ว ท่านจะเดินจงกรมเสียก่อน พอตอนมืดแล้วมีโยมมาหา ท่านก็สนทนาอบรมธรรมะให้ พอพวกโยมกลับไป ท่านก็เข้าในมุ้งกลดทำสมาธิภาวนาต่อไป ผู้เขียนและพ่อใหญ่พันพักใต้ร่มไผ่ห่างจากท่านไปอีกหน่อย

ตอนเช้าเตรียมน้ำถวายให้ท่านล้างหน้าชำระฟัน พอได้เวลาบิณฑบาต ท่านไปบิณฑบาตที่บ้านน้อยหัวคู ท่านนุ่งสบงห่มจีวรซ้อนผ้าสังฆาฏิ เดินออกหน้า ผู้เขียนเป็นสังกะลีสะพายบาตรคล้องคอเดินตามหลังท่านไป พอถึงหมู่บ้าน นำบาตรถวายท่าน บิณฑบาตไปตามถนนในหมู่บ้าน พอดีมีโยมผู้หญิงคนหนึ่งนำข้าวมาใส่บาตร พร้อมด้วยปลาแห้งที่ยังไม่ทำให้สุกด้วยไฟ ท่านไม่รับปลาแห้ง เพราะยังเป็นของดิบอยู่ ท่านจึงบอกให้สังกะลีรับ ปกติสังกะลีรักษาศีลแปดไม่รับของต่อมือผู้หญิง ไม่รู้จะทำอย่างไร เก้ๆ กังๆ พอนึกได้จึงเอาผ้าขนหนูที่ห่มไปด้วย กางออกให้เขาวางปลาแห้งลงในผ้า

พอท่านบิณฑบาตเสร็จกลับออกจากบ้าน รับบาตรท่านแล้วเดินตามหลัง ท่านมาถึงที่พัก นำน้ำมาถวายล้างเท้า เทน้ำใส่แต่หลังเท้า แล้วท่านก็พูดว่า “คนไม่ฉลาดล้างเท้าก็ไม่เป็น เทลงแต่ที่เดิม” คือ ท่านให้เทน้ำใส่ให้ทั่วเท้าแล้วให้เอามือลูบถูด้วย เท้าจึงสะอาด พักอยู่ 3-4 วัน เกิดพายุฝนตกหนักตอนกลางวัน นายสมศักดิ์จึงนิมนต์ให้หลวงปู่ขึ้นไปพักที่บ้านว่างของเขา 1 คืน แล้วหลวงปู่จึงพาเดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส ไชยวาน

ถือฉันหนเดียวเป็นวัตร

ระหว่างที่นั่งรถโดยสารมาถึงตลาดพังโคน ขณะนั้นยังไม่ถึงเวลาเที่ยง มีโยมผู้หญิงคนหนึ่งเกิดเลื่อมใสในหลวงปู่ จึงซื้อน้ำมะพร้าวอ่อนถวายหลวงปู่ หลวงปู่บอกว่า “อาตมาถือฉันหนเดียว ขออนุโมทนาด้วย น้ำมะพร้าวเป็นประเภทอาหาร” ท่านสอนธรรมะแก่ลูกศิษย์ไปในตัว ด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

หลวงปู่ท่านสอนลูกศิษย์นั้นส่วนมากท่านจะทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ไม่เพียงแต่พูดให้ฟัง ท่านพิถีพิถันมากในการปฏิบัติธุดงควัตร ไม่เพียงแต่ไปเดินธุดงค์ เที่ยวธุดงค์เฉยๆ สิ่งสำคัญคือการปฏิบัติในธุดงควัตร คือ ธุตธรรม ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ แล้วปฏิบัติเพื่อเป็นการกำจัดกิเลสเครื่องโลเลในใจให้เบาบางไป ที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญมีอยู่ 13 ข้อ ขอให้ดูในเรื่องธุดงควัตรเถิด เมื่อรถโดยสารวิ่งมาถึงปากทางแยกไชยวาน บอกให้คนขับรถหยุดรถ หลวงปู่พาลงจากรถแล้ว พ่อใหญ่พันสะพายบาตร ผู้เขียนถือกลดและกาน้ำ หลวงปู่สะพายย่าม เดินจากทางแยกจนถึงวัดป่าสันติกาวาส

ขอหลวงปู่บวชเป็นชีผ้าขาว

กลับจากบ้านห้วยทรายอยู่มาถึงวัน 15 ค่ำ เป็นวันพระ ผู้เขียนจึงกราบเรียนขอโอกาสต่อหลวงปู่บวชเป็นชีผ้าขาว หลวงปู่ถามว่า “มีเหตุผลอย่างไรจึงอยากจะบวชเป็นชีผ้าขาว” ผู้เขียนจึงกราบเรียนหลวงปู่ว่า “เป็นสังกะลีเฉยๆ รักษาศีล 8 โยมผู้หญิงเขาไม่รู้ว่าเรารักษาศีล 8 บางทีเขาก็เอามือมาตบหลัง บางทีเขาก็มาจับแขนเอา ทำให้ไม่สบายใจ ถ้าบวชนุ่งห่มผ้าขาวแล้ว เขาคงจะเข้าใจว่าเป็นผู้รักษาศีล แล้วจะไม่ทำอย่างนั้นอีก” หลวงปู่ตกลงให้บวชนุ่งขาวห่มขาว แล้วสมาทานศีล 8 หลวงปู่ท่านเป็นผู้ละเอียดในเหตุผล จะทำอะไรท่านต้องให้มีเหตุผลไม่ให้ทำสุ่มสี่สุ่มห้า เมื่อบวชเป็นผ้าขาวแล้ว หลวงปู่สอนให้ท่องสวดมนต์ไหว้พระให้ได้ และสอนให้ทำกิจวัตร ข้อวัตร อาจาริยวัตร ให้มีความเคารพในพระภิกษุสามเณร

ข้อวัตรยามเช้า

ตอนเช้าท่านให้ตื่นแต่ตี 3 ล้างหน้า แล้วไหว้พระทำวัตรเช้า นั่งภาวนาแล้วให้ลงเดินจงกรม ตีห้าให้ลงศาลา กวาดถูเสร็จแล้ว ปูลาดอาสนะ ตั้งกระโถน การวางกระโถนนี้ท่านสอนให้วางไม่ให้มีเสียงดัง ท่านสอนว่าเวลาวางลงให้เอานิ้วมือของเรารองลงไปก่อน แล้วค่อยเอามือออก จะไม่มีเสียงของก้นกระโถนกระทบพื้น ถ้าใครวางโป้ง โป้ง จากศาลาได้ยินไปถึงกุฏิท่าน (เพราะมันเงียบสงัด) เวลาจะฉันข้าว ท่านจะเทศน์สอนอย่างหนักเลย “ตามีไม่ดู หูมีไม่ฟัง ใจมีไม่คิด หาสติสตังไม่ได้ อยู่อย่างไรอยู่กับครูบาอาจารย์ อยู่ให้ท่านหนักอกหนักใจ อยู่แล้วไม่ฝึกไม่หัด สติปัญญาไปไหนหมด” เวลาลงสุดท้ายท่านก็จะเหน็บว่า “สอนแล้วไม่ตั้งใจ ไม่ฝึกตน ไม่เอาใจใส่ ไม่ระมัดระวัง ไม่มีสติสตัง หนีไหนก็ไป อย่ามาอยู่ที่นี้ ถ้าไม่เชื่อครูบาอาจารย์” เป็นคำที่ท่านเหน็บสุดท้าย เพื่อให้บรรดาลูกศิษย์มีความเข็ดหลาบระมัดระวัง

พอสว่างแล้วก็ไปคอยปฏิบัติ รับบาตร รับกาน้ำของท่านลงมาศาลา สามเณรผ้าขาวคนไหนมีหน้าที่ปฏิบัติพระองค์ใด ก็ให้คอยปฏิบัติองค์นั้นประจำเป็นกิจวัตร สำหรับองค์หลวงปู่นั้น ผู้เขียนมีหน้าที่ปฏิบัติท่านกับครูบาสม เมื่อลงไปถึงกุฏิท่านแล้ว ท่านสอนให้นั่งภาวนาคอยอยู่ที่ประตูกฏิท่าน เวลาเดินไปกุฏิท่านก็ไม่ให้มีเสียงเดิน ต้องระวังขนาดนั้นแหละ นั่งคอยจนกว่าท่านจะเปิดประตูแล้วก็รับกระโถนท่านไปล้าง ครูบาสมก็นำกาน้ำและยาสีฟันถวายน้ำล้างหน้า เสร็จแล้วกวาดถูกฏิท่านเสร็จแล้วครูบาก็นำบาตรและย่ามของท่านลงศาลาที่ฉัน ผู้เขียนนำกาน้ำไปกรองน้ำใส่

การกรองน้ำใส่กา ท่านก็สอนให้มีประมาณด้วย ว่าเคยเอาใส่ขนาดไหนต้องให้ขนาดนั้น ถ้าวันไหนเราเผลอสติใส่ไปเกินขนาด ท่านจะรู้ทันที ท่านจะถามว่า “วันนี้ใครทำ” เรารับว่า “เกล้ากระผม” แล้วท่านจะขึ้นว่า “หาสติสตังไม่ได้” ท่านจะสอนสั้นๆ แค่นี้ แต่เราเจ็บเข้าไปถึงขั้วหัวใจเลยทีเดียว เมื่อครูบานำบาตร ย่าม และผ้าสังฆาฏิมาถึงศาลา ปูผ้านิสีทนะบนอาสนะนั่งของท่าน แล้ววางย่ามให้ถูกที่เดิม รับประเคนกาน้ำ ตั้งให้ถูกที่เดิม และเอาจีวรของท่านซ้อนสังฆาฏิไว้

หลวงปู่ลงจากกุฏิแล้วท่านจะเดินรอบวัด ดูตามกุฏิพระเณร แล้วกลับเข้าศาลา ท่านกราบพระประธาน แล้วก็ลุกคลุมจีวรที่ซ้อนสังฆาฏิไว้ ผู้เขียนเป็นผ้าขาวรีบเข้าไปจับเอาเสื่อที่เตรียมไว้ ปูรองผ้าที่ท่านกำลังคลุมอยู่ ไม่ให้ถูกพื้น แล้วกลัดลูกดุมรังดุมของจีวรและสังฆาฏิถวายท่าน พอท่านคลุมผ้าเสร็จก็เก็บเสื่อม้วนๆไว้ที่เดิม รีบสะพายบาตรของท่านคล้องคอแล้วเดินตามท่านไปส่งบาตร

หลวงปู่ท่านเดินเร็ว ระยะทางจากวัดถึงหมู่บ้านไชยวาน 2 กิโลเมตร ถนนเต็มไปด้วยทราย เป็นทางล้อเกวียน บางทีเดินไม่ทันท่าน ต้องวิ่งเหยาะๆ พอถึงหมู่บ้านนำบาตรถวายท่าน แล้วท่านก็เข้าบิณฑบาตในหมู่บ้านไชยวาน ท่านเดินในหมู่บ้านอีกประมาณ 2 กิโลเมตร เมื่อท่านออกจากหมู่บ้าน หมดคนใส่บาตรแล้ว เข้ารับบาตรจากท่าน แล้วต้องรีบเดินก่อน ให้ถึงวัดก่อนท่าน วางบาตรถอดถลกบาตร แล้วเตรียมน้ำคอยล้างเท้า เช็ดเท้าท่าน เมื่อท่านมาถึง พระเณรลูกศิษย์ต้องคอยล้างเท้าเช็ดเท้าถวาย แล้วรับผ้าสังฆาฏิ ถ้าเหงื่อชุ่มก็ผึ่งก่อนค่อยเก็บพับให้เรียบร้อย

จากนั้นก็เป็นการเตรียมฉันอาหาร มีอาหารอะไรก็เตรียมแจกอาหารลงในบาตร พระเณรลูกศิษย์องค์ไหนบิณฑบาตได้ของที่ดีๆ เช่น กล้วยน้ำว้าสุก หรือน้ำอ้อยก้อน หรือลูกกระจอนต้ม ซึ่งหลวงปู่ชอบฉันกับน้ำพริก ใครได้ของอะไรแปลกๆ ก็นำมาใส่บาตรถวายหลวงปู่ บางทีท่านก็บอกว่า “ทำไมไม่ฉันเอง” แต่ลูกศิษย์ลูกหามีความเคารพ เมื่อได้ใส่บาตรถวายท่านทำให้เกิดปีติเอิบอิ่มใจเป็นอันมาก

เมื่อแจกอาหารลงในบาตรเสร็จแล้ว ท่านก็สอนให้พิจารณาอาหารปัจจเวกขณ์ คือพิจารณาเสียก่อนจึงฉัน บางทีเราส่งจิตไปกระทบท่าน เวลาพิจารณาอาหารอยู่ เราไปนึกว่า “เมื่อไหร่จะพาฉัน” อย่างนี้ ท่านจะพูดขึ้นเลยว่า “ให้พิจารณาอาหาร ยังส่งจิตไปคิดอย่างอื่น ดูซิอะไรมันพาอยากอยู่นั้น เมื่อไรจะฉัน เมื่อไรจะฉันอยู่นั้น ดูซิฉันแล้วมันไปเป็นอะไร ตัวที่มันเซ็นเอาเซ็นเอาอยู่นั้นมันคืออะไร” เมื่อท่านสอนให้พิจารณาเสร็จแล้วจึงพาลงมือฉัน

กิเลสไม่รู้จักอาย

มีอยู่วันหนึ่งขณะที่หลวงปู่ท่านสอนให้พิจารณาอาหารอยู่ มีพระองค์หนึ่งทนความอยากไม่ได้ เพราะส่งจิตออกตามความอยาก พระองค์นั้นจึงพูดขึ้นตรงๆ ว่า “อยากเด” (อยากมาก) หลวงปู่จึงพูดขึ้นว่า “อยากกะฉันถะแม้” (อยากก็กินเสีย) แล้วท่านก็เทศน์สอนไปอีกประมาณครึ่งชั่วโมงจึงพาฉัน แต่พระองค์นั้นพอพูดขึ้นแล้วท่านก็ฉันไปเลย นี้เรื่องกิเลส ถ้ามันได้กดหัวใจใครแล้วไม่มีความอาย

ข้อวัตรเมื่อฉันเสร็จ

เมื่อฉันเสร็จแล้ว เวลานำบาตรไปล้างในที่ล้างบาตรและกระโถน ท่านไม่ให้คุยกันเวลาล้างบาตรเช็ดบาตร ต่างให้ตั้งสติทำด้วยความสงบ ไม่ให้โลเล ล้างบาตรเสร็จเก็บกวาดที่ฉัน เก็บบริขารของครูบาอาจารย์ไปสั่งกุฏิของท่าน แล้วเก็บของตัวเอง จากนั้นก็เข้าสู่ทางเดินจงกรม เป็นกิจวัตรที่ท่านให้ปฏิบัติอยู่ตลอดมา

ไปวิเวกที่ดงหนองควาย

หลังจากหลวงปู่กลับจากบ้านห้วยทรายมาพักอยู่ที่วัด พอถึงต้นเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน พวกญาติโยมชาวบ้านห้วยทรายได้ตามมานิมนต์หลวงปู่ ให้ไปพักวิเวกที่ดงหนองควาย ซึ่งอยู่ใกล้ตีนเขาภูพาน พวกโยมได้กราบเรียนหลวงปู่ว่า ที่ดงหนองควายนี้ผีมันดุ ใครไปทำอะไร ถางไร่ ทำนาใกล้ที่นั้นไม่ได้ ต้องมีอันเป็นไป จึงอยากนิมนต์ให้ท่านอาจารย์ไปโปรดสักระยะหนึ่งด้วย หลวงปู่รับนิมนต์ จึงให้หลวงพ่อคำสิงห์ผู้เป็นพี่ชายท่าน และผ้าขาวเสนติดตามไปด้วย พอไปถึงพวกญาติโยมได้ช่วยกันทำร้าน กระท่อมมุงหญ้าคา แอ้มฝาใบตอง 3 ที่ ถวายให้พักอยู่ห่างๆ กัน

ในดงหนองควายนี้มีพื้นที่เป็นป่าดงดิบ อยู่ประมาณ 200 ไร่ เต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ และต้นมะแวงมะไฟ ในระยะนั้นมะไฟสุกเต็มต้นเหลืองอร่าม ต้นไหนลูกหวาน พวกลิงพากันกิน ถ้าต้นไหนลูกเปรี้ยว ลิงไม่กิน ของป่าธรรมชาติมีอยู่เต็ม หัวกลอย หัวมันเหลืองมันดำมีอยู่เต็มในบริเวณนั้น และมีหนองน้ำธรรมชาติอยู่ในป่านั้น พวกควายป่าชอบมากินน้ำ นอนแช่น้ำที่นั้น เขาจึงเรียก ดงหนองควาย

หลวงปู่ไปพักอยู่ได้ประมาณครึ่งเดือน ครูบาสมและผู้เขียนจึงได้ตามไปพักวิเวกอยู่กับหลวงปู่ด้วย พวกโยมได้ทำกระท่อมให้ครูบาสมอีก 1 หลัง ผู้เขียนขณะนั้นบวชเป็นชีผ้าขาวแล้ว ได้พักอยู่ที่ผาม (เพิงหมาแหงน) ใหญ่ ที่สำหรับเป็นที่รวมฉันอาหารเช้า หลังฉันจังหันเช้าเสร็จแล้ว หลวงปู่ก็พูดธรรมอบรมญาติโยมที่ไปถวายอาหารเช้า เมื่อโยมกลับไปแล้ว ท่านก็เดินจงกรมไปถึงเที่ยงวัน ท่านจึงพักผ่อนตอนบ่าย ผู้เขียนและโยมผู้ชายหาเก็บมะไฟ ต้นไหนหวานที่มีรอยพวกลิงเก็บกิน ก็ขึ้นเก็บเอามาทำน้ำปานะถวายหลวงปู่ หลวงพ่อคำสิงห์ และครูบาสมด้วย

สิ่งน่าอัศจรรย์ได้เกิดขึ้น

อยู่มาวันหนึ่ง แม่ออกสอมาถวายจังหันเช้าเสร็จแล้ว ได้กราบเรียนหลวงปู่ว่า “ที่ไร่ข้าน้อย (ที่ไร่ดิฉัน) ปลูกถั่วดิน (ถั่วลิสง) และมะเขือไว้ มีแมลงผักโหมมาลงกินใบถั่วดินและใบมะเขือเต็มไปหมดไม่รู้จะทำอย่างไร” หลวงปู่จึงบอกว่า “วันนี้ให้ตักน้ำไปไว้ในไร่หลายๆ หาบ ตอนบ่ายจะออกไปสรงน้ำให้” เมื่อโยมแม่สอได้ฟังแล้วก็ดีใจ รีบกลับออกไปที่ไร่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากดงหนองควาย เอาครุกระแป๋งตักน้ำมาตั้งไว้ที่กลางไร่หลายหาบ พอถึงตอนบ่าย หลวงปู่สั่งให้ครูบาสมและผู้เขียนถือเอาผ้าอาบน้ำและผ้าเช็ดตัวของท่าน แล้วท่านพาเดินออกไปที่ไร่โยมแม่สอ

พอไปถึง มองดูแมลงผักโหมเต็มไปหมด ตามต้นถั่วดินต้นมะเขือ มันกัดกินใบ ท่านพาไปหยุดที่ครุน้ำที่ตั้งอยู่กลางไร่ ผู้เขียนนำผ้าอาบน้ำเปลี่ยนผ้าถวายท่าน เสร็จแล้วท่านก็สรงน้ำ ครูบาสมกับผู้เขียนก็ถูหลังถวายท่าน เมื่อสรงน้ำเสร็จก็นำผ้าเปลี่ยนถวายท่าน รับเอาผ้าอาบน้ำมาบิด เรียบร้อยแล้วท่านก็พาเดินกลับที่พักในดงหนองควาย วันรุ่งขึ้น แม่สอมารายงานว่า แมลงผักโหมได้หนีออกจากไร่หมดไม่เหลือเลย เป็นสิ่งน่าอัศจรรย์

นายพรานแอบยิงไก่ป่า

ในขณะที่หลวงปู่พักวิเวกอยู่ที่ดงหนองควายนั้น มีโยมคนหนึ่งพูดให้ท่านฟังว่า ที่หลังเขาภูพานมีถ้ำอยู่ถ้ำหนึ่งเป็นถ้ำใหญ่ หลวงปู่จึงอยากขึ้นไปเที่ยวดู มีนายพรานป่าคนหนึ่งอยู่ที่บ้านพานทอง แกเป็นคนรู้จักทางไปที่ถ้ำนั้น จึงนัดหมายให้แกพาไป พอฉันเช้าเสร็จ ก็ออกเดินทางจากที่พักขึ้นหลังเขาภูพาน หลวงปู่ให้ผู้เขียนติดตามไปด้วย และก็มีโยมไปด้วยหลายคน เดินไปตามป่าตามเขานั้น มีนายพรานป่าเป็นคนเดินน้ำหน้า

พอไปถึงกลางป่าที่ห่างผู้คน ก็ได้ยินเสียงไก่ป่าขันประชันกันตามประสาของมันที่อยู่ตามป่าพนาไพร นายพรานที่เป็นคนนำทางแกสะพายปืนเพลิงไปด้วยตามประสาของพรานป่า เมื่อแกได้ยินเสียงไก่ป่าขันประชันกันเจื้อยแจ้ว แกก็ทำทีเป็นปวดท้องถ่าย แกจึงให้หลวงปู่และโยมที่ไปด้วยเดินไปก่อน ส่วนตัวแกทำทีเดินหลีกไปถ่าย

แต่ที่จริงแกเดินไปหาเสียงไก่ป่าที่ขันอยู่ แกไปดักยิงไก่ป่า ยิงอย่างไรสับอย่างไรปืนก็ไม่แตก พยายามเล็งกระบอกปืนไปที่ตัวไก่ สับไกปืนอย่างไรก็ไม่แตกำ สุดท้ายแกจึงหยุด แล้วกลับมาหาหลวงปู่และหมู่ที่เดินคอยแกอยู่ เมื่อแกกลับมาถึงหลวงปู่แล้ว แกจึงสารภาพว่า แกไปดักยิงไก่ป่า ทำอย่างไรๆ ปืนก็ไม่แตก หลวงปู่ท่านยิ้มๆ แล้วพูดว่า “ไปยิงเขาทำไม เขาก็รักชีวิตเขาเหมือนกัน มันเป็นบาป อย่าไปทำอย่างนั้น”

ไปถึงถ้ำตะวันบ่ายแล้ว เป็นถ้ำที่ไม่ใหญ่เท่าไร แต่ก็หลบฝนได้ ฝนตกไม่เปียก เขาเรียกชื่อถ้ำนี้ว่า “ถ้ำกระ ดอ” หลวงปู่บอกว่า “มันอยู่ไกลหมู่บ้านคนมาก ถ้ามาอยู่ก็ไม่มีที่บิณฑบาต” เมื่อดูถ้ำแล้วจึงได้เดินเลียบภูเขากลับมาเรื่อยๆ หลวงปู่ท่านเก่งทางสมุนไพร ต้นนั้นเป็นยานั้น ต้นนี้เป็นยานี้ ท่านก็ให้ถากเอาเปลือกบ้าง ขุดเอารากบ้าง มาไว้ทำยา กลับมาถึงที่พักก็ค่ำพอดี

หลวงปู่พักวิเวกอยู่ดงหนองควายจนถึงต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2506 ใกล้วันจะพระราชทานเพลิงศพท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี หลวงปู่จึงลาญาติโยมที่อุปถัมภ์ พวกญาติโยมพากันอ้อนวอน อยากให้หลวงปู่สร้างเป็นวัดที่ดงหนองควาย โดยเฉพาะผู้เป็นหัวหน้านายชลประทานที่บ้านประชาสุขสันต์ ในขณะนั้น มีอยู่เฉพาะพวกที่ทำงานชลประทาน เพราะกำลังก่อสร้างชลประทานบ้านประชาสุขสันต์อยู่ เขาอยากให้หลวงปู่อยู่เป็นที่พึ่งทางจิตใจ ถ้าหลวงปู่อยู่ด้วย หัวหน้าชลประทานเขารับจะจัดการเรื่องที่ดินตั้งวัดให้ ในจำนวนสองร้อยไร่นี้ หลวงปู่ท่านปฏิเสธไม่รับ เพราะนิสัยของท่านไม่ชอบสร้างวัดหลายวัด ในชีวิตของท่านที่บวชมาในพุทธศาสนานี้ ท่านสร้างวัดป่าสันติกาวาสวัดเดียว แล้วท่านก็อยู่จนมรณภาพ

ในขณะที่ท่านพักอยู่วิเวกดงหนองควายนั้น พวกผีภูมิที่อาศัยอยู่ที่หนองควายนั้นเขาอยู่ไม่ได้ ไปเข้าฝันพวกชาวบ้านว่า “พระธรรมมาอยู่ดงหนองควาย พวกเราอยู่ไม่ได้แล้ว กลัวท่าน จะอพยพหนีขึ้นไปอยู่บนภูพาน” แล้วก็หอบลูกจูงหลานพากันหนีขึ้นภูพานไป พวกโยมเขามาเล่าให้หลวงปู่ฟัง

หลวงปู่ว่า “พวกผีนี้ก็เพราะไม่มีบุญกุศลคุณงามความดี ศีลธรรมไม่มีในใจ จึงไปเกิดเป็นผี เมื่อพระมาอยู่ใกล้ก็กลัวแล้วก็หนีไป เหมือนกับคนเราเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ไม่ยินดีในศีลธรรมบุญกุศล หมู่ชวนไปหาพระก็ไม่ไป เพราะกลัวเห็นพระเดินมาจะสวนทางก็แอบหลบเข้าข้างทาง นี้มันเป็นอย่างนี้เรื่องผีกลัวพระแต่เป็นคนอยู่ก็กลัวเมื่อตายเป็นผีแล้วก็ยังกลัวอีก”

กลับจากวิเวกที่ดงหนองควาย

เมื่อหลวงปู่ลาญาติโยมที่ให้การอุปัฏฐาก และคืนเสนาสนะและเครื่องใช้สอยให้แก่ญาติโยมแล้ว จึงได้เดินทางจากดงหนองควาย กลับวัดป่าสันติกาวาส พอวันที่ 2 มิถุนายน เป็นวันงานพระราชทานเพลิงศพท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ที่วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี หลวงปู่และบรรดาพระกัมมัฏฐานได้ออกจากป่ามาร่วมงานท่านเป็นจำนวนมาก หลวงปู่อยู่ร่วมงานจนเสร็จจึงได้กลับวัด

ช่วงก่อนเข้าพรรษา วันหนึ่ง ท่านพระอาจารย์ศรี มหาวีโร (ภายหลังท่านพระอาจารย์ศรีย้ายไปอยู่วัดป่ากุง หรือวัดประชาคมวนาราม จังหวัดร้อยเอ็ด และปัจจุบันมรณภาพแล้ว) และ ท่านพระอาจารย์สรวง สิริปุญโญ พร้อมด้วยพระอีก 1 องค์ และผ้าขาว 1 คน ได้เที่ยววิเวกมาจากทางจังหวัดนครพนม ได้มาพักค้างคืนกับหลวงปู่ที่วัดป่าสันติกาวาส 1 คืน วันรุ่งขึ้นจึงเดินทางต่อไปทางจังหวัดอุดรธานี

Image
พระอาจารย์ศรี มหาวีโร

Image
พระอาจารย์สรวง สิริปุญโญ


(มีต่อ 13)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 31 พ.ค.2007, 11:52 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

๏ พ.ศ. 2506 พรรษาที่ 28
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 28

ในพรรษา หลวงปู่ก็ได้พาพระภิกษุสามเณรปฏิบัติธุดงควัตรเหมือนที่เคยปฏิบัติมา อบรมญาติโยมที่มารักษาอุโบสถศีลในวันพระ 8 ค่ำ 14-15 ค่ำ เป็นประจำ รู้สึกว่ามีผู้มารักษาอุโบสถศีลและฝึกหัดนั่งสมาธิภาวนาเป็นจำนวนมากเป็นพิเศษ บางวันพระก็มีถึง 200 คน 300 คนก็มี บางวันพระหลวงปู่ก็อบรมเอง บางวันพระก็ให้หลวงพ่อสุจินต์ ผู้เป็นลูกศิษย์ที่ท่านไว้วางใจ ได้เป็นผู้อบรมแนะนำญาติโยมนั่งสมาธิภาวนาแทนหลวงปู่ แต่หลวงปู่ก็นั่งฟังอยู่ด้วย เมื่อจบจากการอบรมพานั่งสมาธิภาวนาแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของหลวงปู่แสดงธรรมและตอบปัญหาธรรมแก่ญาติโยมไปเรื่อยๆ จนถึงเวลาตี 1 ตี 2 เป็นประจำ ท่านจึงลงจากศาลากลับกุฏิของท่าน บางวันพระก็อยู่จนตี 4 พาญาติโยมทำวัตรเช้าจนสว่างแล้วจึงเลิกกัน

รักษาไข้ด้วยธรรมโอสถ

ในวันนั้นเมื่อสว่างแล้ว ถึงเวลาปฏิบัติอาจาริยวัตร ผู้เขียนและครูบาสมไปคอยที่ประตูกุฏิกลางน้ำที่ท่านพักอยู่จนสาย ถึงเวลาบิณฑบาตท่านก็ยังไม่เปิดกุฏิ ครูบาสมจึงให้ผู้เขียนคอยปฏิบัติท่านอยู่คนเดียว ครูบาก็ไปบิณฑบาต จนพระเณรที่ไปบิณฑบาตทุกสายได้กลับมาถึงวัดหมด ท่านก็ยังไม่เปิดกุฏิ ชำเลืองหูฟังข้างในกุฏิท่าน ก็เงียบไม่มีเสียงอะไร จนถึงเวลาฉันท่านก็เงียบ หลวงพ่อสุจินต์จึงลงจากศาลามาที่กุฏิหลวงปู่ แล้วหลวงพ่อสุจินต์พูดว่า “ไม่ใช่ท่านเป็นอะไรไปแล้วหรือ” จึงหาวิธีจะพังหน้าต่างเข้าไปดู

พอหลวงปู่ท่านได้ยินว่ากำลังจะพากันพังหน้าต่างกุฏิท่าน ท่านจึงตะโกนออกมาว่า “ถ้าตายมันก็จะเหม็นดอก” แล้วท่านก็เงียบไป พวกลูกศิษย์จึงพากันกลับไปฉันที่ศาลา ในวันนั้นคอยปฏิบัติท่านอยู่ตลอด ท่านก็ไม่เปิดกุฏิ จนเวลา 2 ทุ่ม ท่านจึงเปิดกุฏิ ลูกศิษย์เข้าไปปฏิบัติถวายน้ำร้อนน้ำฉัน ท่านจึงบอกว่า ท่านเข้าที่ภาวนา เพราะท่านไม่สบายเป็นไข้ ในวันนั้นท่านเลยไม่ฉันอาหารเลย พอไข้หาย วันหลังมาท่านค่อยฉัน นี้เป็นนิสัยของท่านเวลาไม่สบาย ท่านจะเข้าที่ภาวนา ไม่ให้ใครไปรบกวน

ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระธรรมทูตสายที่ 5

ย่างเข้าปี พ.ศ. 2507 หลวงปู่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระธรรมทูตสายที่ 5 ออกอบรมประชาชนในเขตอำเภอหนองหาน หลวงปู่ได้ให้หลวงพ่อสุจินต์ จิตฺตปชฺโชโต ผู้เป็นลูกศิษย์ ซึ่งท่านก็มีหน้าที่เป็นพระธรรมทูตเหมือนกัน เป็นผู้ออกอบรมประชาชนตามจุดต่างๆ ส่วนหลวงปู่เป็นผู้คอยออกไปเยี่ยมสนับสนุนทำให้ประชาชนได้เข้าใจในการปฏิบัติ และขอถึงพระไตรสรณคมน์เป็นจำนวนมาก

เมื่อถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2507 หลวงปู่ท่านอนุญาตให้ผู้เขียนบวชเป็นสามเณรได้ ก่อนบวชท่านได้เป็นผู้ฝึกคำขานนาคให้ ท่านพิถีพิถันมาก ถ้าออกเสียงไม่ถูก ท่านไม่เอา ต้องให้ว่าอยู่นั้นแหละ ท่านฝึกให้อยู่ 15 วัน เห็นว่าใช้ได้แล้วจึงอนุญาตให้ไปบวชได้


๏ พ.ศ. 2507-2508 พรรษาที่ 29-30
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


ในพรรษาปี พ.ศ. 2508 นี้ หลวงพ่อสุจินต์ จิตฺตปชฺโชโต ผู้เป็นศิษย์ที่สำคัญที่หลวงปู่ได้อาศัยช่วยรับภาระในการอบรมคณะศรัทธาญาติโยม และเป็นผู้ปฏิบัติที่เด็ดเดี่ยว ได้ถึงแก่มรณภาพ จึงเปรียบเสมือนว่าแขนเบื้องขวาของหลวงปู่ได้ขาดไป หลวงปู่ต้องรับภาระในการอบรมสั่งสอนพระภิกษุ สามเณร และคณะศรัทธาญาติโยมแต่ผู้เดียว หลวงปู่ให้ตั้งศพหลวงพ่อสุจินต์ จิตฺตปชฺโชโต บำเพ็ญกุศลนับแต่วันที่ท่านมรณภาพ คือ วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 พอถึงวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 11 ก็ทำการประชุมเพลิงศพ

ในการจัดงานศพหลวงพ่อสุจินต์นี้ หลวงปู่ได้ให้ญาติโยมไปนิมนต์ครูบาอาจารย์มาร่วมงานด้วย มี หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ วัดป่าหนองแซง, พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้วชุมพล, พระอาจารย์จันทา ถาวโร, พระอาจารย์เต็ม ขนฺติโก ซึ่งขณะนั้นท่านจำพรรษาอยู่วัดธาตุฝุ่น บ้านคำเจริญ หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ท่านบอกว่า “เสียดาย หลวงพ่อสุจินต์นี้ล่วงไปก่อน เพิ่งได้อนาคามี แต่นี้ก็ไม่ได้มาเกิดอีกหรอกนะ” ครูบาอาจารย์ทุกองค์ที่นิมนต์มา ท่านก็อยู่ช่วยจนเสร็จงาน แล้วทุกองค์จึงได้กลับวัด

Image
พระอาจารย์จันทร์โสม กิตติกาโร

Image
พระอาจารย์วัน อุตฺตโม


๏ พ.ศ. 2509 พรรษาที่ 31
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 31

ต้นปี พ.ศ. 2510 นี้ หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล (ตำบลโนนทัน อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู ในปัจจุบัน) ท่านได้อาพาธ หลวงปู่ได้ไปเยี่ยมและอยู่เฝ้าปรนนิบัติ โดยหลวงปู่ให้ครูบาสมและผู้เขียนซึ่งเป็นสามเณรติดตามไปด้วย นายดอนเอารถเก๋งมารับจากวัดป่าสันติกาวาส ไปส่งที่วัดถ้ำกลองเพล เมื่อถึงวัดถ้ำกลองเพลก็เป็นเวลาใกล้ค่ำ เพราะตอนนั้นถนนยังเป็นลูกรังหมด รถวิ่งเร็วไม่ได้

หลวงปู่พักที่กุฎิผาผึ้ง มี พระอาจารย์คำสุก และ พระอาจารย์จันทร์โสม กิตติกาโร (วัดป่าจันทรังสี หรือวัดป่านาสีดา ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี มรณภาพเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2549 ณ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร) พักอยู่ด้วยกัน เพราะขณะนั้นพอครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้ทราบว่าหลวงปู่ขาวอาพาธ ต่างก็พากันทยอยเข้าไปค้างที่วัดถ้ำกลองเพล ในขณะที่หลวงปู่ขาวท่านอาพาธหนักอยู่นั้น ครูบาอาจารย์พระเณรรวมกันก็เป็น 50-60 องค์ ในระยะนั้นก็ถือว่ามาก

ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เข้าไปเยี่ยมและค้างคืนในขณะนั้น ก็มีหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ, พระอาจารย์วัน อุตฺตโม, พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ, พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร และก็มีอีกหลายๆ องค์ ครูบาอาจารย์เปลี่ยนวาระกันเฝ้าไข้ท่าน หลวงปู่ขาวนั้นท่านพักอยู่ที่กุฏิหนูพลอย จิตขยัน หลวงปู่ขึ้นเฝ้าเวลากลางคืน ถ้าวันไหนท่านขึ้นเฝ้า ท่านจะนั่งอยู่ทางขวามือของหลวงปู่ขาว และท่านจะนั่งตัวตรง ภาวนาเฝ้าอยู่ ไม่พูดคุยกับองค์อื่น ต่างองค์ต่างสำรวมกายและจิต หลวงปู่จะนั่งตัวตรงอยู่จนสว่าง จึงกลับที่พักล้างหน้า แล้วก็ลงรวมที่ถ้ำและออกบิณฑบาต หลวงปู่เป็นหัวหน้าบิณฑบาตสายบ้านห้วยเดื่อ ในตอนนั้นสัตว์ป่าและป่าไม้ยังมีเยอะ ช้างป้าก็ยังมี เวลาเดินไปบิณฑบาตก็ยังต้องระวังช้างป่า

ให้โอวาทพระเณร

เมื่อถึงวันพระ 8 ค่ำ ทั้งพระสงฆ์ สามเณร แม่ชี และคณะศรัทธาญาติโยม รวมประชุมกันที่ถ้ำกลองเพล ทำวัตรสวดมนต์เย็น ในวันนั้น หลวงปู่เป็นหัวหน้าในที่ประชุม เมื่อทำวัตรสวดมนต์จบแล้ว ครูบาอาจารย์ที่รองจากหลวงปู่มีอยู่หลายองค์ จึงพากันนิมนต์ให้หลวงปู่เป็นผู้ให้โอวาทพระเณร หลวงปู่จึงให้โอวาทเตือนในที่ประชุมว่า

“ในขณะนี้ครูบาอาจารย์ท่านอาพาธ พวกเราได้มารวมกันเป็นจำนวนมาก ขอให้ต่างองค์ต่างรักษาจิตของตัวเอง มีสติสำรวมระมัดระวังจิตใจของตัวเอง อย่าปล่อยให้มันไปทับครูบาอาจารย์ ถ้าไม่มีสติสำรวมจิตใจ ปล่อยให้ฟุ้งซ่านโลเล ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า มันทับ มันทับ จิตของท่านละเอียดหมดจด เมื่อเราปล่อยจิตของเราโลเล จึงไปกระทบของท่าน ท่านจึงบอกว่ามันทับมันทับ ขอให้ต่างองค์ต่างตั้งใจสำรวมจิตใจของตนๆ จึงได้ชื่อว่าสนับสนุนครูบาอาจารย์ เพื่อจะให้ท่านหายจากอาพาธ ถ้าปล่อยจิตใจโลเลไปทับถมท่าน เท่ากับเหยียบย้ำซ้ำเติมให้อาพาธของท่านทรุดหนักลง จึงขอให้ทุกๆ ท่านจงสำรวมจิตใจของตนไว้ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

เมื่อหลวงปู่ให้โอวาทจบแล้ว ก็มีการฟังพระธรรมเทศนาจากครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ ต่อไป การอาพาธของหลวงปู่ขาวในครั้งนั้น ใครๆ ก็เข้าใจว่าท่านจะละขันธ์อย่างแน่นอน จนถึงกับครูบาอาจารย์ต้องวางแผนเตรียมการกันเป็นการใหญ่ เตรียมทำปะรำที่พักที่รับแขกไว้ เวลาไปเอาไม้ไผ่จากอ่างอาราม ซึ่งอยู่ห่างจากถ้ำกลองเพลหลายกิโล หลวงปู่ก็ไปช่วยแบกไม้ไผ่ด้วย และไปเจอหินที่อ่างอารามเป็นหินที่ใช้ลับมีดได้ดี หลวงปู่ยังให้เอาผ้าอาบน้ำสะพายเอาก้อนหินมาด้วย อยู่ต่อมา คุณหมออวย เกตุสิงห์ ได้เอาเลือดตัวเองเข้าถวายให้ท่านหลวงปู่ขาว แล้วการอาพาธของท่านก็ค่อยหายไป อาการดีขึ้นเรื่อยๆ

หลวงปู่พากลับจากถ้ำกลองเพล

หลวงปู่พาพักดูแลปรนนิบัติท่านหลวงปู่ขาว อนาลโย อยู่ถึงสิบห้าวัน เมื่อเห็นว่าอาการท่านดีขึ้นแล้ว จึงพาครูบาสมและผู้เขียนเดินทางกลับจากถ้ำกลองเพล อาศัยรถแขวงทางหนองวัวซอ ที่เข้าไปส่งน้ำที่วัดถ้ำกลองเพลตอนบ่ายๆ มาลงที่หนองวัวซอ แล้วนั่งรถโดยสารต่อจากหนองวัวซอมาลงที่อุดรธานี จากนั้นต่อรถโดยสารอุดรธานี-สกลนคร ลงที่ทางแยกไชยวาน หลวงปู่พาเดินสะพายบาตรแบกกลด ให้พ่อใหญ่มาหาบก้อนหินลับมีด ถึงวัดป่าสันติกาวาสเป็นเวลาเที่ยงคืนพอดี

Image
พระอาจารย์ทูล ขิปฺปปญฺโญ


๏ พ.ศ. 2510 พรรษาที่ 32
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


ปีนี้ พระอาจารย์ทูล ขิปฺปปญฺโญ (ท่านมรณภาพแล้ว เมื่อวันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เวลาประมาณ 06.00 น. ณ วัดป่าบ้านค้อ ตำบลเขือน้ำ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี สิริอายุรวมได้ 73 ปี พรรษา 48 - สาวิกาน้อย) ได้มาจำพรรษาศึกษาอบรมธรรมอยู่กับหลวงปู่ ขณะนั้นท่านได้ 7 พรรษา

ดังที่มีปรากฏอยู่ในหนังสืออัตโนประวัติของท่านดังนี้

“ในพรรษาที่ 7 นี้ จำพรรษาอยู่ที่วัดสันติกาวาส ตำบลไชยวาน อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี มีหลวงปู่บุญจันทร์ กมโล เป็นเจ้าอาวาส ในพรรษานี้การภาวนาปฏิบัติก็มีความราบรื่นไปด้วยดี นิสัยของหลวงปู่บุญจันทร์ ท่านมีนิสัยที่พูดน้อย การพูดในธรรมก็มีน้อย แต่ก็เต็มไปด้วยเนื้อหาสาระ คำพูดที่ท่านพูดออกมา เมื่อนำไปพินิจพิจารณาดูแล้ว มีความหมายอย่างลุ่มลึก และเต็มไปด้วยเหตุด้วยผล ถ้ามีปัญญาดีพิจารณาให้รอบคอบแล้ว มีความหมายอย่างพิสดารมากทีเดียว เว้นเสียแต่ผู้มีหูหนาปัญญาทึบเท่านั้น จึงจะฟังธรรมของท่านไม่รู้เรื่อง”



๏ พ.ศ. 2511 พรรษาที่ 33
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


เมื่อออกพรรษาแล้วเข้าฤดูแล้ง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 หลวงปู่ได้ไปช่วยเตรียมงานถวายเพลิงศพ ท่านพระอาจารย์พร สุมโน วัดประชานิยม บ้านหนองหลวง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ในงานถวายเพลิงศพท่านพระอาจารย์พร สุมโน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 ได้มีบรรดาครูบาอาจารย์สายกัมมัฏฐานได้มาร่วมในงานเป็นจำนวนมาก และคณะศรัทธาญาติโยมจากทั่วสารทิศได้มาตั้งโรงทานบริการ ให้ความสะดวกสบายแก่ผู้มาร่วมในงาน บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยความสงบ ไม่อีกทึกครึกโครม ไม่มีมหรสพ มีแต่การแสดงธรรมทั้งกลางวันและกลางคืน หลวงปู่อยู่ช่วยจนงานสำเร็จเสร็จสิ้นเรียบร้อย จึงได้กลับวัด


๏ พ.ศ. 2512-2513 พรรษาที่ 34-35
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 34-35

เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ปรารภถึงศาลาการเปรียญของวัดป่าสันติกาวาส ที่หลวงปู่นำพาญาติโยมสร้างเป็นหลังที่ 2 ได้ชำรุดทรุดโทรม ญาติโยมจึงลงมติว่า ควรจะรื้อแล้วสร้างหลังใหม่ หลังจากญาติโยมเกี่ยวข้าวเสร็จในการทำนาแล้ว เดือนมกราคม พ.ศ. 2514 หลวงปู่ได้นำพาญาติโยมไปติดต่อขอไม้จากเจ้าหน้าที่ป้าไม้ อำเภอบ้านดุง และได้นำไม้จากดงปอ บ้านหนองไฮ อำเภอบ้านดุง มาทำเสาศาลาการเปรียญหลังที่ 3

ในขณะที่หลวงปู่ท่านพาญาติโยมไปพักค้างคืนอยู่ที่ดงปอ เพื่อคัดหาเอาไม้มาทำเสาศาลาการเปรียญนั้น ท่านได้สั่งผู้เขียนและพระสงฆ์ที่อยู่เฝ้าวัด ให้ตัดเย็บผ้าไตรจีวรไว้ ให้ได้ 10 ไตร เพื่อจะไปถวายบังสุกุลในงานถวายเพลิงศพหลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ วัดประสิทธิธรรม บ้านดงเย็น อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งท่านได้มรณภาพตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 และจะทำพิธีถวายเพลิงศพท่านในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2514

เมื่อหลวงปู่สั่งแล้ว ผู้เขียนพร้อมด้วยพระที่อยู่เฝ้าวัด ได้ช่วยกันตัดเย็ยย้อมผ้า ได้ครบตามที่หลวงปู่สั่งไว้ ในขณะนั้นผู้เขียนเพิ่งบวชเป็นพระภิกษุได้ 2 เดือนเท่านั้น เมื่อหลวงปู่พักอยู่ดงปอ บ้านหนองไฮ อำเภอบ้านดุง พวกญาติโยมพากันตัดไม้ได้ครบจำนวน 60 ต้น ยาวต้นละ 10 เมตร เป็นไม้มะค่าแต้ทั้งหมด จึงให้รถลากซุงจากดงปอ อำเภอบ้านดุง มาที่วัดป่าสันติกาวาส แล้วว่าจ้างพวกที่เป็นช่าง ถากเสาให้ ค่าถากต้นละ 100 บาท บางพวกก็ไม่คิดค่าจ้าง ช่วยกันถากเอาบุญจนได้ต้นเสาครบ 60 ต้น

Image
หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ


หลวงปู่พาไปร่วมงานถวายเพลิงศพหลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ

เมื่อถึงวันเริ่มงานถวายเพลิงศพ หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ คือวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2514 หลวงปู่ได้พาญาติโยมและพระติดตาม คือ ผู้เขียน ไปร่วมงานในคราวนั้น ถนนหนทางไปมาลำบากไม่สะดวก ว่าจ้างรถให้ไปส่ง ออกจากบ้านไชยวาน ไปทางอำเภอสว่างแดนดิน บ้านหนามแท่ง บ้านคำขัน ข้ามน้ำสงคราม เข้าถึงบ้านดงเย็น ถนนเต็มไปด้วยทราย บางทีรถติดทราย พวกชาวบ้านต้องมาช่วยกันเข็นรถ

ในพิธีงานถวายเพลิงศพหลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ นั้น ไม่มีมหรสพอะไร เป็นแบบงานของพระกัมมัฏฐาน ตอนกลางวันก็มีครูบาอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นองค์แสดงธรรม ตอนกลางคืนพระภิกษุ สามเณรที่มาร่วมในงานเป็นจำนวนมาก ทั้งอุบาสก อุบาสิกา พร้อมกันทำวัตรเย็นและสวดมนต์ เพื่อเป็นการบูชาพระคุณของหลวงปู่พรหม แล้วจากนั้นก็ฟังพระธรรมเทศนาไปตลอดคืน หลวงปู่ได้พาทอดผ้าไตร 10 ไตรที่ได้เตรียมไว้นำไปจากวัด ถวายในงานหลวงปู่พรหมด้วย

ท่านได้พาค้างคืนอยู่จนเสร็จงาน คือวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2514 เวลา 4 ทุ่ม เป็นเวลาถวายเพลิงจริง เช้าวันที่ 7 มีนาคม เก็บอัฐิ มีพิธีสวดมนต์ฉลองอัฐิธาตุ หลวงปู่ได้อยู่ในจำนวนพระสงฆ์สวดมนต์ฉลองอัฐิด้วย เมื่อสวดมนต์เสร็จ มีการถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระภิกษุสามเณรที่มาร่วมในงาน แล้วก็เป็นเสร็จพิธี ครูบาอาจารย์ต่างร่ำลากันกลับที่อยู่ของแต่ละท่านละองค์ หลวงปู่ก็พาเดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส

ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์

หลวงปู่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ มีนามว่า “พระครูศาสนูปกรณ์” เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2513 ถึงแม้ว่าหลวงปู่ได้รับสมณศักดิ์แล้ว หลวงปู่ท่านก็ไม่หลงในยศฐาบรรดาศักดิ์ ท่านยังปฏิบัติองค์ตามแบบพระกัมมัฏฐานตามที่ได้เคยปฏิบัติมา


(มีต่อ 14)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 31 พ.ค.2007, 12:22 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
อาณาบริเวณวัดป่าสันติกาวาส จ.อุดรธานี ในปัจจุบัน


๏ พ.ศ. 2514 พรรษาที่ 36
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 36

ในพรรษาปี พ.ศ. 2514 นี้ หลวงปู่เริ่มมีอาการอาพาธด้วยโรคปวดข้อสะโพกข้างขวา แต่อาการไม่รุนแรง ในพรรษานี้ หลวงปู่ได้ตั้งใจแสดงธรรม ให้พระเณรและญาติโยมฟังเป็นประจำทุกวัน วันละ 2 ครั้ง คือ ตอนเย็น หลังจากทำข้อวัตรกิจวัตรเสร็จแล้ว เวลาประมาณ 5 โมงเย็น ท่านจะลงศาลานำทำวัตรเย็น แล้วก็ขึ้นแสดงธรรม ตอนเช้าหลังจากกลับบิณฑบาต จัดเตรียมอาหารลงในบาตรเสร็จแล้ว ท่านก็ขึ้นแสดงธรรม จบแล้วจึงพาฉันอาหารบิณฑบาต ธรรมะที่ท่านแสดงนั้น ท่านแสดงในเรื่องมงคล 38 ประการ หรือที่เรียก มงคลทีปนี คือการไม่คบค้าสมาคมกับคนพาลเป็นเบื้องต้น การไม่มีความเศร้าโศกเสียใจเป็นปริโยสาน ถือว่าเป็นอุดมมงคลอันสูงสุด

หลวงปู่ท่านได้แสดงอยู่จนตลอดไตรมาส 3 เดือนจึงจบ และการปฏิบัติทางด้านจิตตภาวนา ท่านก็ได้เข้มงวดกวดขัน ตักเตือนพระเณรไม่ให้ประมาท เมื่อออกพรรษาแล้วท่านก็ยังแสดงธรรมต่อไปอีกระยะหนึ่งท่านจึงหยุด การแสดงธรรมในพรรษานี้ เหมือนกับว่าท่านจงใจที่จะแสดงเป็นครั้งสุดท้าย แล้วท่านจะได้จากลูกศิษย์ลูกหาไปฉะนั้น อาการอาพาธด้วยโรคปวดข้อสะโพกข้างขวาของท่านก็ได้แสดงอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ หลวงปู่ท่านมีความอดทนมาก ท่านทำเหมือนไม่มีอะไร คือไม่ได้สนใจต่อโรคที่แสดงตัวกำเริบขึ้นทุกวันทุกวัน

การก่อสร้างศาลานิยมสุวรรณสิทธิ์สามัคคีอุปถัมภ์

เมื่อถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2515 หลวงปู่ให้รื้อศาลาหลังที่ 2 ของวัดป่าสันติกาวาส ที่หลวงปู่พาสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 ซึ่งชำรุดเพราะเป็นศาลาไม้ เมื่อรื้อเสร็จแล้วก็ให้ช่างอ้วย นายแก้ว เป็นช่างก่อสร้างหลังใหม่ ตกลงค่าแรงช่างยกโครงมุงหลังคาใส่ขางวางตงเสร็จราคา 8,000 บาท ช่างวางผังขุดหลุมเสาศาลา พวกชาวบ้านก็ช่วยกัน ทั้งแก่เฒ่าหนุ่มสาว บริจาคกำลังแรง ขุดหลุมเสาศาลาทั้งห้าสิบเอ็ดหลุม เสร็จแล้วก็อัดก้นหลุม กันทรุดด้วยหินแม่รัง และเทคอนกรีตทับอีกครั้งหนึ่ง

Image
ศาลานิยมสุวรรณสิทธิ์สามัคคีอุปถัมภ์ พ.ศ. 2521


อาพาธครั้งที่ 3 เริ่มเดินไม่ได้

ปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2515 ในขณะที่ขุดหลุมเสาศาลา หลวงปู่ท่านเดินดูงาน ท่านใช้เท้าขวาของท่านกวาดดินที่ขรุขระอยู่ปากหลุม ทำให้ท่านปวดที่สะโพก เดินไม่ได้ ต้องใช้รถสำหรับเข็นปี๊บน้ำใส่ตุ่ม เอาเสื่อปูแล้วให้หลวงปู่นั่ง แล้วเข็นท่านกลับกุฎิกลางน้ำ นับแต่วันนั้นต้องเอารถเข็นหลวงปู่จากกุฎิ ลงมาฉันเช้าที่เพิงซึ่งใช้แทนศาลาชั่วคราว ฉันเสร็จก็ให้ท่านนั่งรถเข็นกลับกุฎิกลางน้ำ ท่านจะดูงานอะไรก็ให้เอารถเข็นน้ำนั้นแหละเข็นไป

เป็นประธานในการทำวุฏฐานวิธียกเสาศาลา

หลวงปู่กำหนดให้ญาติโยมชาวบ้านมาช่วยกันยกเสาศาลา ในวันเพ็ญเดือน 3 ซึ่งตรงกับวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2515 แต่วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 ตรงกับวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2515 หลวงปู่พาทำวุฏฐานวิธียกเสาแรกก่อน ซึ่งมีคนไม่มากนักประมาณ 10 กว่าคน พอถึงวันเพ็ญเดือน 3 ที่นัดหมาย มีชาวบ้านหญิงชายมาช่วยกันดึงเสาศาลายาว 10 เมตรขึ้นตั้ง มีประมาณ 300 คน เสา 51 ต้น ตั้งวันเดียวไม่เสร็จ วันที่สองครึ่งวันก็ตั้งเสาศาลาเสร็จ ต่อจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของช่างดำเนินต่อไป จนถึงเดือนพฤษภาคมจึงได้มุงหลังคาด้วยสังกะสี

ไม่ยอมไปหาหมอ

อาการป่วยหลวงปู่ทรุดลงเรื่อยๆ จากปวดที่สะโพกเดินไม่ได้ มีไข้แทรก คณะศิษย์กราบนิมนต์ไปให้หมอที่โรงพยาบาลตรวจ ท่านก็ไม่ยอมไป คณะศิษย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ หายาพื้นบ้านมาถวายการรักษา ท่านก็เมตตาฉันให้นิดๆ หน่อยๆ เพราะตัวท่านเองก็เก่งในด้านสมุนไพรอยู่แล้ว อาการทรุดลงเรื่อยๆ หลวงปู่เดินไม่ได้ 3 เดือนผ่านไป พอเข้าเดือนที่ 4 จากที่เอารถเข็นท่านจากกุฎิลงไปฉันเช้าที่ศาลาชั่วคราวได้ ท่านก็ลงไม่ได้ฉันเช้าอยู่บนกุฎิ

พอปลายเดือนพฤษภาคม มีไข้สูงและปวดขาขวาตลอด ตอนกลางคืนอากาศเย็นยิ่งปวดมาก จะสังเกตเห็นจากที่ท่านพลิกขาบ่อยๆ แต่ท่านก็ไม่ได้บ่นว่าอะไร หลวงปู่ท่านเป็นผู้มีสติและขันติเพียบพร้อม ในระหว่างนี้ ท่านพระอาจารย์คำ สุมงฺคโล ที่เคยจำพรรษาร่วมกับหลวงปู่ที่อุบลฯ ขณะนั้น ท่านมาจำพรรษาที่บ้านคำเลาะ ไชยวาน ท่านได้มาเยี่ยม และสอนคาถาระงับการปวดแก่ผู้เขียน เพื่อใช้เป่าถวายหลวงปู่ ซึ่งเมื่อลองทำดูแล้ว ก็ดูเหมือนจะใช้ได้ สังเกตท่านนานๆ พลิกขาทีหนึ่ง แต่ดูอาการท่านแล้ว เหมือนกับท่านไม่ห่วงใยในสังขารที่กำลังแปรปรวนอยู่ ต่อมาอาการอาพาธกำเริบมากขึ้น จากที่ท่านนั่งได้ ก็กลายเป็นท่านต้องนอนโทรม และฉันข้าวต้มได้วันละช้อนสองช้อนเท่านั้น

ย่างเข้าเดือนที่ 5 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2515 เมื่อท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้วชุมพล ได้ทราบข่าวว่าหลวงปู่ป่วยหนัก จนฉันข้าวแค่วันละช้อนสองช้อน ท่านจึงเดินทางจากวัดป่าแก้วชุมพลมาเยี่ยมหลวงปู่ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2515 พอท่านพระอาจารย์สิงห์ทองขึ้นไปถึงหลวงปู่ที่กุฏิ ท่านก็พูดเป็นเชิงเย้าเล่นกับหลวงปู่ตามนิสัยของท่านว่า “เอ้า ! ป่วยมานอนตายอยู่ที่นี้ทำไม”

หลวงปู่ตอบ “ไม่นอนตายยังไง คนเดินไม่ได้” ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองพูดต่อ “ทำไมไม่ไปหาหมอ” หลวงปู่เงียบ แล้วท่านพระอาจารย์สิงห์ทองก็ถามอาการป่วยของหลวงปู่ว่าเป็นอย่างไรต่ออย่างไรบ้าง หลวงปู่เล่าให้ฟัง แล้วท่านพระอาจารย์สิงห์ทองจึงกราบขอนิมนต์หลวงปู่ไปหาหมอที่โรงพยาบาลเพื่อให้หมอตรวจรักษา

หลวงปู่ตอบท่านพระอาจารย์สิงห์ทองว่า “ถ้าจะให้ไปหาหมอ ให้ไปกราบเรียนพ่อแม่ครูบาอาจารย์บ้านตาดเสียก่อน ว่าท่านจะเห็นสมควรอย่างไร จึงค่อยปฏิบัติตาม”

เมื่อท่านพระอาจารย์สิงห์ทองได้โอกาสอย่างนั้น จึงให้โยมขับรถสองแถวเล็กพาไปวัดป่าบ้านตาดในวันนั้น กราบเรียนท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เล่าเรื่องป่วยของหลวงปู่ให้ท่านฟัง ท่านพระอาจารย์มหาบัวจึงสั่งท่านพระอาจารย์สิงห์ทองว่า “ให้ไปบอกท่านบุญจันทร์ว่าเดี๋ยวนี้หมอเขามี ไปให้หมอเขาตรวจดูก่อน ถ้าเขารักษาได้ก็ให้หมอเขารักษา ถ้าเขารักษาไม่ได้ค่อยกลับมาคอยวันตายที่วัด”

แล้วท่านพระอาจารย์มหาบัวก็พาท่านพระอาจารย์สิงห์ทองเข้ามาในเมืองอุดรฯ ไปที่สนามบินจองตั๋วเครื่องบิน 3 ที่นั่ง ให้หลวงปู่เดินทางไปหาหมอที่โรงพยาบาลศิริราช สั่งให้ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองเป็นผู้ติดตามไปที่โรงพยาบาลศิริราชด้วย และโยมผู้ชายอุปัฏฐากอีกหนึ่งคน ได้ที่นั่งเครื่องบินและวันเดินทางแน่นอนแล้ว ท่านพระอาจารย์มหาบัวจึงสั่งท่านพระอาจารย์สิงห์ทองว่า จะให้รถไปรับวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2515 มาค้างคืนที่วัดป่าบ้านตาด เช้าวันที่ 13 ฉันเช้าเสร็จไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินอุดรธานี เครื่องออกเวลา 11.00 น.

หลวงปู่มีความเคารพในท่านพระอาจารย์มหาบัวเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อท่านพระอาจารย์สิงห์ทองรับคำสั่งจากท่านพระอาจารย์มหาบัวแล้ว ก็กลับมากราบเรียนให้หลวงปู่ทราบในเย็นวันนั้น แล้วท่านก็กลับไปวัดป่าแก้วชุมพล เมื่อหลวงปู่ได้ทราบคำสั่งของครูบาอาจารย์ก็ยอมปฏิบัติตาม

เหตุที่ผู้เขียนจะได้ติดตามไปปฏิบัติหลวงปู่ที่โรงพยาบาลศิริราช

คุณบวร จันทรขันตี เป็นโยมอุปัฏฐากที่ถูกกำหนดตัวให้เป็นผู้ติดตามหลวงปู่ไปโรงพยาบาลศิริราชด้วย คุณบวรไม่ค่อยสันทัดในการอุปัฏฐากหลวงปู่จึงพูดกับผู้เขียนว่า “ในวันเดินทาง ให้ครูบาไปส่งหลวงปู่ที่สนามบินด้วย ถ้าเครื่องบินว่างทีที่นั่ง ผมจะเป็นผู้ออกค่าตั๋วเครื่องบินให้” ในขณะนั้นผู้เขียนพึ่งบวชเป็นพระได้หนึ่งพรรษา

เดินทางไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช

วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2515 หลังจากฉันเช้าเสร็จ ได้เตรียมบริขารของหลวงปู่และของผู้เขียนไว้เรียบร้อย ญาติโยมเมื่อทราบว่าหลวงปู่จะจากไปรักษาการอาพาธที่กรุงเทพฯ ก็มาชุมนุมกันที่วัดเป็นจำนวนมาก ต่างมีความเป็นห่วงอาลัยในตัวหลวงปู่ ที่ท่านได้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ที่พึ่งพาอาศัย มาเป็นเวลานาน จะจากไปในที่อื่น บางคนก็โศกเศร้าเหงาหงอย กลัวว่าหลวงปู่จะไม่หายจากอาพาธ

บ่ายของวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2515 รถแลนต์ของคุณแม่กุ๋ยกิม ร้านขายยาชวลิต เมืองอุดรธานี ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากของวัดป่าบ้านตาด ซึ่งมีนายบุญเป็นผู้ขับ ได้วิ่งเข้ามาจอดที่ศาลาวัดป่าสันติกาวาส โดยมี ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง และพระอาจารย์เชอรี่ (พระฝรั่ง) นั่งมาด้วย ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองลงไปหาหลวงปู่ที่กุฏิกลางน้ำ ผู้เขียนและคุณบวรนำบริขารที่เตรียมไว้ขึ้นรถ นำรถเข็นไปรับหลวงปู่จากกุฏิ มาขึ้นรถที่ศาลา ญาติโยมพากันกราบส่งหลวงปู่ขึ้นรถ พวกโยมทั้งหญิงชายหนุ่มแก่เฒ่าชรา พากันกล่าวอวยพรขอให้หลวงปู่หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ได้กลับมาเป็นที่พึ่งของลูกศิษย์ลูกหาอีกต่อไป ผู้เขียนนั่งใกล้ๆ คอยประคองหลวงปู่ไปในรถ รถถึงวัดป่าบ้านตาดเป็นเวลาเย็น

เมื่อหลวงปู่ลงจากรถแลนต์แล้ว ได้นำรถเข็นน้ำของวัดป่าบ้านตาดมารับให้หลวงปู่ขึ้นนั่ง ในขณะนั้น ท่านพระอาจารย์มหาบัวท่านอยู่บนศาลา หลวงปู่บอกว่าจะไปกราบท่านเสียก่อน เมื่อท่านทราบ ท่านจึงบอกว่า “ไม่ต้องมากราบหรอก รู้จักกันอยู่แล้ว ให้ไปที่พักเลย” ท่านจัดให้พักที่กุฎิใกล้ๆ ประตูทางเข้าวัด เข็นรถเข็นหลวงปู่ไปที่กุฎิ พยุงหลวงปู่ขึ้นพักที่กุฎิ ผู้เขียนก็พักอยู่กับหลวงปู่ โยมที่ติดตามไปท่านให้พักที่ศาลา

เป็นครั้งแรกและเป็นคืนเดียวเท่านั้นที่ผู้เขียนได้ค้างคืนที่วัดป่าบ้านตาด ตอนกลางคืนมีแต่เสียงจิ้งหรีดและแมลงอีร้องตามประสาของมัน ผู้เขียนมีความกลัวในท่านอาจารย์ใหญ่เป็นอย่างมาก ไม่รู้เป็นอะไร กลัวท่านแต่ไหนแต่ไรมา ไม่เคยชินชาเลย แต่ก็มีความเคารพในองค์ท่านอย่างซาบซึ้ง

Image
หลวงปู่ซามา อาจุตฺโต


ออกจากวัดป่าบ้านตาดไปขึ้นเครื่องบินสนามบินอุดรธานี

วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2515 ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ให้จัดอาหารมาถวายหลวงปู่ที่กุฏิ โดยไม่ต้องลงไปตอนเช้าที่ศาลา คุณหญิงส่งศรี เกตุสิงห์ ได้นำสำรับอาหารมาถวาย หลวงปู่ฉันเสร็จ รถแลนต์ของคุณแม่กุ๋ยกิมเข้ามารับที่วัดป่าบ้านตาด ไปส่งที่สนามบินอุดร คุณบวรติดต่อดู ที่นั่งมีว่างอยู่ จึงซื้อตั๋วให้ผู้เขียนติดตามหลวงปู่ไปกรุงเทพฯ ด้วย เมื่อเช็คตั๋วเครื่องบินเรียบร้อยแล้วรออยู่ไม่นาน เครื่องบินแอฟโร่ 22 ที่นั่งบินมาจากจังหวัดเลย มาลงสนามบินอุดรฯ พอเครื่องบินจอด เห็น หลวงปู่ซามา อาจุตฺโต วัดป่าบ้านไร่ม่วง (วัดป่าอัมพวัน) เมืองเลย เดินลงจากเครื่องบินมาถามท่าน ท่านบอกว่าจะไปกรุงเทพฯ ด้วยกัน แล้วท่านจะไปเยี่ยม หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ที่โรงพยาบาลศิริราช

เมื่อได้เวลาเครื่องบินออก ผู้เขียนกับท่านพระอาจารย์สิงห์ทองช่วยกันพยุงหลวงปู่ขึ้นเครื่องบิน มีคุณบวร จันทรขันตี ติดตามไปด้วย ให้หลวงปู่นั่งเรียบร้อยแล้ว ผู้เขียนนั่งติดกับหลวงปู่ ขณะนั้นหลวงปู่ได้ถูกทุกขเวทนาเบียดเบียนเป็นกำลัง ท่านมีอาการสั่นไปทั้งตัว เพราะความเจ็บปวดที่ต้นขา และความเหนื่อยเป็นกำลัง หลวงปู่ท่านมีสติและขันติกล้า ท่านไม่พูดว่าอะไร นั่งเงียบ ผู้เขียนมองดูอาการของท่านแล้ว มีความสงสารท่านเป็นกำลัง พอดีนึกได้ว่าในย่ามมียากูลอนซานอยู่ 1 หลอด จึงถามหลวงปู่ว่า หลวงปู่จะฉันหรือไม่ ท่านบอกว่า เอามาลองดู จึงได้เอาถวายให้ท่านฉัน ไม่นานอาการท่านก็ดีขึ้น

พอดีถึงเวลาเครื่องบินออกจากสนามบินอุดรฯ ทะยานขึ้นสู่อากาศเมื่อเวลา 11.00 น. ไปลงพักรับผู้โดยสารที่ขอนแก่นอีก 30 นาที ขึ้นจากขอนแก่นถึงท่าอากาศยานกรุงเทพฯ เวลา 13.30 น. ตอนลงจากเครื่องบินที่ดอนเมือง ผู้เขียนและท่านพระอาจารย์สิงห์ทองพยุงหลวงปู่ลงจากเครื่องอย่างทุลักทุเล เพราะหลวงปู่นั่งทรมานอยู่ในเครื่องบินเป็นเวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง พยุงหลวงปู่เดินเข้าที่พักผู้โดยสารขาเข้า คุณหมอเจริญ วัฒนะสุชาติ มาคอยรับที่ดอนเมือง เพราะท่านพระอาจารย์มหาบัว ท่านเมตตาเป็นธุระทุกอย่าง ทั้งเรื่องรถรับและเรื่องหมอที่โรงพยาบาลศิริราช

หลวงปู่และผู้ติดตาม คือ ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง, ผู้เขียน และคุณบวร ขึ้นรถคุณหมอเจริญ วัฒนสุชาติ เรียบร้อยแล้ว คุณหมอขับรถพาไปแวะที่บ้านที่ถนนสุโขทัยก่อน เพราะคุณหมอยังไม่ได้ทานอาหารเที่ยง เมื่อคุณหมอทานอาหารเสร็จแล้ว จึงได้พาไปที่โรงพยาบาลศิริราช

ถึงโรงพยาบาลศิริราช

เมื่อรถถึงโรงพยาบาลศิริราช จอดที่ประตูเข้าตึกผู้ป่วย ได้มี ศ.นพ.อุดม โปษะกฤษณะ และ ศ.นพ.โรจน์ สุวรรณสุทธิ มาคอยรับ ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองได้ยื่นจดหมายให้อาจารย์หมอทั้งสอง ซึ่งเป็นจดหมายของท่านพระอาจารย์มหาบัว ฝากให้พระอาจารย์บุญจันทร์ที่อาพาธอยู่ในความดูแลของอาจารย์หมอทั้งสองด้วย อาจารย์หมอโรจน์ให้รถเข็นผู้ป่วยรับหลวงปู่แล้วนำไปที่ตึก 72 ปี ชั้น 6

Image
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม

Image
พระอาจารย์ขันตี ญาณวโร


พบกับหลวงปู่ชอบ ฐานสโม

หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ท่านได้พักรักษาโรคอัมพาตอยู่ที่ตึก 72 ปี ชั้น 6 นี้ก่อนแล้ว อาจารย์หมอโรจน์ได้จัดให้หลวงปู่พักห้องติดกับหลวงปู่ชอบ เมื่อหลวงปู่ชอบได้ทราบว่า พระอาจารย์บุญจันทร์อาพาธมาพักห้องติดกับท่าน ท่านได้เมตตาให้ พระอาจารย์ขันตี ญาณวโร ซึ่งเป็นลูกศิษย์อุปัฏฐากดูแลท่าน เอารถเข็นท่านเข้ามาเยี่ยมหลวงปู่ในห้อง เป็นภาพที่ทำให้ผู้เขียนประทับใจไม่มีวันลืม หลวงปู่ได้รู้จักกับหลวงปู่ชอบตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาจนตลอด ท่านมีความเคารพในหลวงปู่ชอบเป็นอันมาก

ยอมโง่จึงไม่โง่

เมื่ออาจารย์หมอโรจน์มาส่งหลวงปู่เข้าห้องพักแล้ว อาจารย์หมอกลับออกไปให้พยาบาลเข้ามาแนะนำวิธีใช้อุปกรณ์ในห้องผู้ป่วย พยาบาลแนะนำไปว่า ตรงนี้เปิดไฟ ตรงนี้เปิดแอร์ ตรงนี้กดกริ่ง พอเข้าไปในห้องน้ำ ผู้เขียนซึ่งเป็นคนบ้านนอกในชนบท ไม่เคยเห็นห้องน้ำมีอ่างล้างหน้า และโถส้วมแบบนั่ง พอเข้าไปเห็นทำให้งงๆ เหมือนกัน คุณพยาบาลก็แนะนำว่า ที่นี้สำหรับล้างหน้า ที่เปิดน้ำ

พอมาถึงตรงหัวส้วม คุณพยาบาลก็บอกว่า ที่นี้สำหรับชักโครก พอผู้เขียนได้ยินอย่างนั้นก็นึกว่าเป็นที่สำหรับซักผ้าหรืออย่างไร เพราะไม่เคยได้ยินคำว่า “ชักโครก” นึกไปนึกมาจึงถามพยาบาลว่าเป็นที่สำหรับซักผ้าหรือ พยาบาลบอกว่าไม่ใช่ เป็นที่สำหรับถ่าย ผู้เขียนจึงนึกในใจว่า “ถ้าเราไม่ยอมโง่ เราคงเอาผ้าลงซักในโถส้วมแน่ๆ เมื่อเรายอมโง่ก่อน เราจึงเป็นผู้ไม่โง่” ผู้เขียนอยู่เฝ้าไข้หลวงปู่กับคุณบวร ส่วนท่านอาจารย์สิงห์ทอง เมื่อท่านดูว่าทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ท่านจึงแยกไปพักที่วัดบวรนิเวศ

เป็นคนไข้ของอาจารย์หมอนที

เมื่อหมอตรวจอาการของหลวงปู่ จึงทราบว่าหลวงปู่ป่วยเป็นโรควัณโรคในกระดูก (วัณโรคกินกระดูก ทำให้กระดูกข้อสะโพกผุ) หมอบอกว่าโรคนี้เป็นโรคที่รักษาให้หายได้ แต่ถ้ามาหาหมอช้ากว่านี้อีกสองเดือน กระดูกจะขาด ต้องตัดขาข้างขวาทิ้ง เมื่อทราบว่าโรคหลวงปู่เป็นโรคที่รักษาให้หายได้ ลูกศิษย์ที่คอยฟังข่าวต่างก็พากันดีใจ หมอรักษาหลวงปู่ด้วยการให้ยาฉัน และใช้ลูกตุ้มเหล็กถ่วงขา อาการไม่ดีขึ้น

วันที่ 19 มิถุนายน หมอย้ายหลวงปู่จากตึก 72 ปี ชั้น 6 ไปตึกมหิดลวรานุสรณ์ ชั้น 1 ห้อง 3

วันที่ 23 มิถุนายน หลวงปู่มีอาการสะอึกแทรกซ้อน ทำให้หลวงปู่ได้รับทุกขเวทนาเป็นอันมาก แต่ท่านก็ต่อสู้กับทุกขเวทนาได้อย่างอาจหาญ

วันที่ 24 มิถุนายน หลวงปู่สะอึกมากจนหายใจไม่ได้ หยุดหายใจไปครู่หนึ่ง ผู้เขียนซึ่งเฝ้าอยู่ ต้องวิ่งไปเรียกหมอมาช่วย หลวงปู่สะอึกอยู่ทั้งวันทั้งคืน หมอให้น้ำเกลือ ให้เลือด

วันที่ 26 มิถุนายน หลวงปู่อาการดีขึ้น มีอาจารย์หมอโรจน์ สุวรรณสุทธิ และอาจารย์หมอชวดี รัตพงษ์ ได้ช่วยดูแลหลวงปู่อย่างใกล้ชิด

หมอเตรียมผ่าตัด

เมื่อรักษาหลวงปู่ด้วยการให้ฉันยาไม่ได้ผล อาจารย์หมอนทีจึงเรียนให้อาจารย์หมอโรจน์ทราบว่า จะต้องผ่าตัดเอากระดูกที่เสียออก เอากระดูกเข้าไปชนกัน แต่เมื่อหายแล้วท่านจะนั่งราบไม่ได้ จะต้องนั่งเก้าอี้ห้อยขา อาจารย์หมอโรจน์ขอร้องอาจารย์หมอนทีว่า “ท่านอาจารย์ท่านเป็นพระกัมมัฏฐาน ท่านจะต้องนั่งไหว้พระสวดมนต์ และนั่งขัดสมาธิภาวนา ขอให้ทำวิธีที่หายแล้วนั่งขัดสมาธิได้” อาจารย์หมอนทีบอกว่า “ยังไม่เคยทำ จะลองทำดูเป็นรายแรก ถ้าไม่ได้ผล จะต้องผ่าตัดใหม่ แล้วเอากระดูกเข้าชนกันตามวิธีเดิม”

วันที่ 3 กรกฎาคม หมอเตรียมผ่าตัดแต่ผ่าไม่ได้เพราะหลวงปู่มีอาการไข้อยู่

วันที่ 10 กรกฎาคม หมอได้ผ่าตัดที่ต้นขาของหลวงปู่เรียบร้อย หลังจากผ่าตัดแล้ว ระยะเจ็ดวัน หลวงปู่ไม่กระดุกกระดิกเลย ข้าวก็ไม่ฉัน นอนนิ่ง พอวันที่เจ็ด ท่านบอกว่า รู้สึกแสบที่ก้น พอดีอาจารย์หมอโรจน์เข้ามาดู จึงรู้ว่าเป็นแผลที่ก้น เพราะท่านไม่ได้กระดุกกระดิก ไม่เปลี่ยนท่านอน จึงเป็นแผลกดทับ ต้องรักษาทั้งแผลผ่าตัดทั้งแผลกดทับทั้งสะอึกก็กำเริบขึ้นอีก ทีละเจ็ดวัน ทีละสิบห้าวันจึงหยุด ทั้งหมอตรวจพบมีเชื้อมาลาเรียด้วย ทุกขเวทนาได้โหมกำลังเข้าเหยียบย่ำรูปขันธ์ของหลวงปู่อย่างหนักหน่วง แต่ท่านก็สู้ด้วยกำลังสติสมาธิปัญญาที่ท่านได้ฝึกฝนอบรมมาเป็นอย่างดี

วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 หมอเข้าเฝือกรอบตัวหลวงปู่ ข้างบนถึงหน้าอก ข้างล่างถึงเข่าทั้งสอง ซึ่งทำให้ท่านอึดอัดหายใจไม่สะดวก วันที่ 20 นี้ หมอได้ย้ายหลวงปู่จากห้อง 3 ชั้น 1 ขึ้นไปชั้น 2 ห้อง 16


(มีต่อ 15)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 31 พ.ค.2007, 1:12 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
(จากซ้าย) พระอาจารย์คำผอง กุสลธโร-หลวงปู่ชอบ ฐานสโม-พระอาจารย์ขันตี ญาณวโร
ถ่ายภาพ ณ วัดป่าผาแด่น บ้านผาแด่น ต.สันป่ายาง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่



๏ พ.ศ. 2515 พรรษาที่ 37
จำพรรษาที่ตึกมหิดลวรานุสรณ์
ชั้น 2 ห้อง 16 โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ


พรรษาที่ 37

เมื่อหลวงปู่ย้ายมาอยู่ชั้น 2 ห้อง 16 อาการของหลวงปู่ดีขึ้น ไม่มีไข้ แต่ยังมีสะอึก ขาก็ยังถ่วงด้วยลูกตุ้มทั้งสองข้าง หนักข้างละ 10 กิโลกรัม หลวงปู่ต้องนอนถ่ายนอนฉัน อยู่บนเตียง เพราะลุกนั่งยังไม่ได้ เมื่อถึงวันเข้าพรรษา หลวงปู่เป็นพระอาพาธ ผู้เขียนเป็นพระอุปัฏฐาก ได้อธิษฐานจำพรรษา กำหนดเอาในบริเวณห้องผู้ป่วยนั้นเองเป็นเขตจำพรรษา อาจารย์หมอโรจน์ สุวรรณสุทธิ ได้ปวารณาให้ผู้เขียนผู้เป็นพระเฝ้าไข้หลวงปู่ไปรับบิณฑบาตที่บ้านของท่านที่วังหลัง นับแต่วันแรกที่หลวงปู่เข้าโรงพยาบาลจนถึงวันกลับจากโรงพยาบาล นับว่าท่านเป็นผู้มีศรัทธาแก่กล้า พร้อมทั้งครอบครัวของท่าน

ในพรรษานี้ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม พร้อมทั้งพระลูกศิษย์ที่อุปัฏฐากดูแลท่าน ก็ได้จำพรรษาที่โรงพยาบาลศิริราชเหมือนกัน แต่หลวงปู่ชอบอยู่ที่ตึก 72 ปี ตอนเช้าพระอุปัฏฐากท่านก็ไปรับบิณฑบาตที่บ้านอาจารย์หมอโรจน์เหมือนกัน หลวงปู่ชอบท่านมีพระอุปัฏฐากอยู่ 3 องค์ คือ ท่านพระอาจารย์บัวคำ มหาวีโร (มรณภาพแล้ว), ท่านพระอาจารย์ขันตี ญาณวโร และสามเณรนงคาร ส่วนหลวงปู่บุญจันทร์ มีผู้เขียนองค์เดียวเป็นพระอุปัฏฐาก และมีโยม 1 คน คือ พ่อมูล ทัพพิลา ซึ่งเป็นน้องชายของหลวงปู่

เนื่องจากหลวงปู่ไม่ให้หมอผู้หญิง พยาบาลผู้หญิง ฉีดยาและจับชีพจร ในขณะนั้นคุณหมอโรจน์รุ่ง สุวรรณสุทธิ ซึ่งเป็นลูกชายของอาจารย์หมอโรจน์ ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ อาจารย์หมอโรจน์จึงให้มาช่วยวัดปรอท จับชีพจรให้หลวงปู่อยู่เรื่อยๆ

การเฝ้าอุปัฏฐากหลวงปู่

ตีห้าใกล้สว่าง ถวายการเช็ดหน้าเช็ดตัวให้หลวงปู่ หกโมงเช้าให้โยมเฝ้าหลวงปู่ ผู้เขียนไปรับบิณฑบาตที่บ้านอาจารย์หมอโรจน์ แล้วกลับมา บางวันผู้ป่วยตามห้องต่างๆ อยากจะใส่บาตร มีญาติคอยนิมนต์ให้เข้าไปรับบิณฑบาตในห้องผู้ป่วยด้วย ก็เข้าไปรับให้ผู้ป่วยได้ทำบุญใส่บาตร พอกลับมาถึงห้อง ได้เวลาฉัน จัดอาหารที่หลวงปู่ฉันได้ เช่น ข้าวต้มหรือโจ๊กถวาย หลวงปู่ฉันเองไม่ได้ หมุนเตียงขึ้นนิดหน่อยแล้วก็ตักอาหารป้อนท่าน เมื่ออิ่มพอท่านก็บอกให้หยุด นำน้ำถวายให้ดูด เสร็จแล้วนำไม้ถูฟันชำระฟันให้ท่าน ถวายน้ำบ้วนปาก แล้วก็นำยาที่พยาบาลเอามาให้ ถวายให้ท่านฉัน บางวันท่านก็ไม่อยากฉัน เพราะยารักษาหลายโรครวมกันแล้วเยอะ ต้องคอยคะยั้นคะยอให้ท่านฉัน

เสร็จแล้วให้โยมนั่งเฝ้าท่าน ตัวเองจัดอาหารฉัน ฉันเสร็จมานั่งเฝ้าหลวงปู่ ให้โยมทานข้าว เก็บสัมภาระ กลางคืนกลางวันต้องสับเปลี่ยนกันเฝ้าอยู่อย่างนั้น ถึงวันปาฏิโมกข์ ให้โยมเฝ้าหลวงปู่ ผู้เขียนก็ไปลงปาฏิโมกข์ที่วัดบุรณะศิริ ซึ่งอยู่ติดกับกระทรวงยุติธรรม สนามหลวง กลับมาถึงห้องพัก ก็ให้หลวงปู่ท่านบอกบริสุทธิ์ในท่านอนอยู่บนเตียงนั้นเอง ถึงวันโกนก็ถวายการโกนผมท่านในท่านอนอยู่บนเตียง

ไม่ยอมให้ผ่าตัดครั้งที่ 2

หลังจากหมอผ่าตัดหลวงปู่แล้ว ถวายการรักษาด้วยการให้ยาฉันและฉีดยาเพื่อจะให้กระดูกงอกขึ้นมาแทนกระดูกที่เสีย เมื่อหายแล้วหลวงปู่จะนั่งพับขาได้

การรักษาผ่านไปได้หนึ่งเดือน หมอนำหลวงปู่ไปเอกซเรย์ ผลปรากฏว่ากระดูกข้อโคนขาไม่งอกตามที่ต้องการ อาจารย์หมอนทีจึงให้อาจารย์หมอชวดี รัตพงษ์ กราบเรียนหลวงปู่ว่า จะต้องผ่าใหม่ แล้วเอากระดูกเข้าชนกัน เมื่อหายแล้ว หลวงปู่จะเดินได้ แต่นั่งพับขาไม่ได้ พออาจารย์หมอชวดีกราบเรียน หลวงปู่จึงบอกว่า “เอาละ คุณหมอ แต่แค่นี้ก็เต็มทีแล้ว ถ้าจะผ่าอีกครั้งที่สอง อาตมาไม่เอาด้วยแหละ มันจะเป็นอย่างไรก็ให้มันเป็นไปตามเรื่องของสังขารเสีย”

อาจารย์หมอนทีบอกว่า “ถ้าอย่างนั้น ลองเพิ่มยาฉีดดูสัก 7 วัน ถ้ากระดูกไม่งอกจะต้องผ่าตัดแน่ๆ ถ้าไม่ทำใหม่ท่านก็จะเดินไม่ได้” หมอให้เพิ่มยาฉีดครบเจ็ดวันแล้วนำหลวงปู่ไปเอกซเรย์ ผลปรากฏว่ากระดูกได้งอกตามความต้องการ หมอดีใจมาก จึงกราบเรียนว่า “ท่านอาจารย์ไม่ได้ผ่าตัดอีกหรอก เพราะกระดูกงอกแล้ว”

ศ.นพ.อุดม โปษะกฤษณะ เรียนถามหลวงปู่

อาจารย์หมออุดมได้เข้ามาเยี่ยมหลวงปู่ในห้อง และเรียนถามหลวงปู่ว่า “ท่านอาจารย์ไม่สบาย มีทุกขเวทนามากอย่างนี้ ท่านอาจารย์อยู่อย่างไร” หลวงปู่ตอบว่า “เวทนาก็ต่างหาก จิตก็ต่างหาก จิตไม่มีในเวทนา เวทนาไม่มีในจิต” เมื่ออาจารย์หมออุดมได้ฟังอย่างนั้นจึงปวารณาตัวรับใช้หลวงปู่ ถ้าหลวงปู่มีขาดอะไรก็ให้บอกได้ แล้วจึงลาหลวงปู่กลับไป

แม่ชีเข้ามาเยี่ยม

ได้มีพวกแม่ชีที่อยู่วัดในกรุงเทพฯ เข้ามาเยี่ยมอาการอาพาธหลวงปู่ และเรียนถามหลวงปู่ว่า “ท่านอาจารย์ไม่สบายอย่างนี้ ท่านดูอะไร” หลวงปู่ตอบว่า “ทุกข์มันแสดงอยู่อย่างนี้จะไปดูอะไร ก็ดูทุกข์นั้นแหละ”

อาการดีขึ้นเรื่อยๆ

นับแต่หมอได้ตรวจพบว่า กระดูกสะโพกหลวงปู่งอกตามความต้องการของหมอ หลวงปู่ดีขึ้นเรื่อยๆ อาการสะอึกก็หาย ไข้ก็ไม่มี ฉันอาหารก็ได้ แต่ยังป้อนอยู่ เพราะมือหลวงปู่ไม่มีแรง หมอได้ให้หลวงปู่ฝึกออกแรง โดยเอากระสอบทรายเล็กๆ ให้ฝึกยก โดยเอากระสอบทรายวางที่ข้อเท้าแล้วให้ยกขาขึ้นลง และให้เอามือจับถุงทรายแล้วยกขึ้นลง ในที่สุดก็มีกำลังขึ้น หลวงปู่ลุกขึ้นนั่งได้ และจับช้อนตักอาหารเองได้

เวลาผ่านไปจนถึงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 หลวงปู่เริ่มใช้ไม้เท้าค้ำรักแร้หัดเดิน มีกำลังแข็งแรงขึ้นทุกวัน

มีอาการแทรกซ้อนทางตาซ้าย

ในขณะที่โรคที่มีในกระดูกดีขึ้น แต่หลวงปู่มีอาการทางตา หลวงปู่บอกให้หมอทราบว่า มีอาการปวดศีรษะข้างซ้าย และตาข้างซ้ายมองไปมีสีแดงสีเขียว มีหลายสีเหมือนกับรุ้ง หมอบอกว่า คงจะเป็นเพราะฉันยารักษาวัณโรคกระดูก โรคตากำเริบขึ้นเรื่อยๆ แต่หมอก็ไม่ได้ให้จักษุแพทย์ตรวจหลวงปู่

Image
พระอาจารย์คำผอง กุสลธโร

Image
พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน


ปวารณาออกพรรษาในห้องผู้ป่วย

ถึงวันปวารณาออกพรรษา หลวงปู่กับผู้เขียนได้ทำพิธีปวารณาออกพรรษาตามพระวินัยบัญญัติ ในห้องผู้ป่วยที่ได้อธิษฐานจำพรรษานั้นเอง

เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ชอบ ฐานสโม และลูกศิษย์ก็เดินทางกลับจังหวัดเลย ขณะที่ พระอาจารย์คำผอง กุสลธโร ซึ่งเป็นลูกศิษย์ผู้ใหญ่ของหลวงปู่ชอบ และได้สัตตาหะมาเยี่ยมอาการอาพาธระหว่างพรรษาบ่อยๆ ได้เดินทางจากวัดป่าผาแด่น อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ลงมาเยี่ยมหลวงปู่ชอบ แต่มาไม่ทัน ท่านกลับไปก่อนแล้ว กลายเป็นว่าพระอาจารย์คำผองเกิดอาพาธปอดบวม ต้องนอนโรงพยาบาลแทนหลวงปู่ชอบ

หมออนุญาตให้เดินทางกลับ

หมอให้หลวงปู่พักฟื้นอยู่จนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2515 เมื่อเห็นว่าหลวงปู่แข็งแรงขึ้น แผลผ่าตัดก็หาย หมอจึงอนุญาตให้หลวงปู่กลับได้ในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2515

ท่านพระอาจารย์มหาบัวมาเยี่ยม

เมื่อ ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ทราบว่าหลวงปู่ดีขึ้น และหมออนุญาตให้กลับได้ ท่านจึงไปเยี่ยมหลวงปู่ในห้องผู้ป่วย และท่านได้ปรารภว่า “เราเป็นผู้ส่งท่านบุญจันทร์มารักษา และได้มอบให้หมอเป็นผู้ดูแลรักษา เราคอยฟังช่าวจากหมอเป็นระยะๆ อยู่ เราจึงไม่มารบกวน เมื่อทราบว่าอาการป่วยดีขึ้น และหมออนุญาตให้กลับได้แล้ว เราจึงมาเยี่ยมดู เราเป็นผู้ส่งท่านมา เราจะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งหมด ทั้งค่าห้อง ค่ายา ให้ทางโรงพยาบาลคิดรวบรวมดูซิเป็นราคาเท่าไร อาจารย์จะเป็นผู้จ่ายให้” ในขณะนั้นอาจารย์หมอชวดีก็อยู่ที่นั้นด้วย จึงได้ติดต่อเคาน์เตอร์พยาบาล

ในระยะที่รอฟังผลค่าใช้จ่ายอยู่นั้น ได้มีพวกญาติโยมที่มาถวายอาหารตอนเช้ายังไม่กลับอยู่หลายคน ได้พากันกราบเรียนท่านพระอาจารย์มหาบัวว่า “จะร่วมทำบุญช่วยค่าใช้จ่ายในการรักษาท่านอาจารย์บุญจันทร์ด้วย” ท่านพระอาจารย์มหาบัวจึงปรารภธรรมะ ให้เป็นเครื่องรื่นเริงแก่พวกโยมว่า

“พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ผู้ใดอยากปฏิบัติเราตถาคต ก็จงปฏิบัติภิกษุไข้เถิด ผู้ใดปฏิบัติพยาบาลภิกษุไข้ ผู้นั้นเท่ากับว่าได้ปฏิบัติอุปัฏฐากเราตถาคต ดังนี้”

ธรรมะได้ชะโลมจิตใจของผู้ฟังอยู่ขณะนั้น ทำให้เกิดปีติ พวกญาติโยมถึงกับน้ำตาไหล รวมทั้งผู้เขียนด้วย ไม่รู้จะบรรยายอย่างไร ในขณะนั้นมันหากเป็นธรรมชาติของมัน ในจิตนี้มันนิ่มนวล มันอ่อนโยน มันอิ่ม มันซาบซึ้งในเมตตาธรรมของครูบาอาจารย์ที่ท่านมีต่อหลวงปู่ และมีความอิ่มเอิบในการที่ได้ปฏิบัติอุปัฏฐากหลวงปู่

คุณหมอชวดีกลับมากราบเรียนให้ท่านพระอาจารย์มหาบัวทราบว่า “สำหรับค่าหมอที่รักษาท่านอาจารย์บุญจันทร์ อาจารย์หมอนทีขอยกถวายทั้งหมด ไม่คิดค่ารักษา สำหรับค่าห้องค่าอาหารของโรงพยาบาล ที่ท่านอาจารย์บุญจันทร์เข้ารับการรักษาเป็นเวลา 6 เดือน ทางโรงพยาบาลไม่คิด ขอยกถวายทั้งหมด” ท่านพระอาจารย์มหาบัวจึงกล่าวขออนุโมทนาในส่วนกุศลในครั้งนี้ด้วย เมื่อท่านทราบว่าทุกอย่างเรียบร้อยไปด้วยดีแล้วท่านจึงกลับไปพักที่วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู

ไปบรรยายธรรมที่ห้องประชุมแพทย์ ตึก 72 ปี

อาจารย์หมอโรจน์ สุวรรณสุทธิ ได้กราบนิมนต์ให้หลวงปู่บรรยายธรรม ที่ห้องประชุมแพทย์ ตึก 72 ปี โรงพยาบาลศิริราช ก่อนที่จะถึงวันเดินทางกลับ หลวงปู่ได้บรรยายธรรมในเรื่องการพิจารณากาย มีความโดยย่อว่า

“คณะแพทย์ได้ศึกษาเรื่องกายภายนอกจนชำนาญอยู่แล้ว เช่น การผ่าตัด การรักษาคนป่วยคนไข้ เห็นอยู่ทุกวัน ดูอยู่ทุกวัน แต่ยังขาดการน้อมเข้ามาดูกายของตน ทีนี้ให้น้อมเข้ามาดูกายของตน ในร่างกายนี้ประกอบด้วยอาการ 32 มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ประชุมกันอยู่ กายคนอื่นก็เหมือนกัน กายของเราก็เหมือนกัน ส่วนที่เป็น ธาตุดิน ก็นับแต่ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง, เนื้อ, เอ็น, กระดูก, ตับ, ไต, ปอด, ไส้น้อย, ไส้ใหญ่, อาหารใหม่, อาหารเก่า นี้เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ได้แก่ น้ำดี, น้ำเสลด, น้ำเหลือง, น้ำเลือด จนถึงน้ำมูก, น้ำมูตร นี้เป็นธาตุน้ำ พิจารณาให้เห็นเป็นของเน่าเปื่อย ไม่สวยไม่งาม เห็นภายนอกให้น้อมเข้ามาพิจารณาในกายของเรา เมื่อเห็นในกายของเราตามเป็นจริงแล้ว ใจก็จะไม่หลงยึดหลงติด จึงจะไม่วุ่นวายเดือดร้อนเพราะหลงกาย” นี้เป็นธรรมที่หลวงปู่ได้บรรยายในห้องประชุมแพทย์ ตึก 72 ปี โรงพยาบาลศิริราช

เดินทางกลับจากโรงพยาบาลศิริราช

วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2515 หลังจากฉันเช้าเสร็จ ได้เก็บสัมภาระสิ่งของ ร่ำลาพยาบาลที่ให้การดูแลหลวงปู่ หลวงปู่ได้มอบปัจจัยที่ญาติโยมได้ถวายไว้เวลามาเยี่ยมป่วย ให้สำหรับซื้อเครื่องมือแพทย์ เป็นจำนวนเงิน 25,000 บาท หลวงปู่นั่งรถเข็นของโรงพยาบาล มีอาจารย์หมอโรจน์ สุวรรณสุทธิ และภรรยาอาจารย์หมอนที และญาติโยมที่มีความเลื่อมใสในหลวงปู่ ได้ตามส่งหลวงปู่ถึงประตูเข้าตึกผู้ป่วย

คุณธเนศ (กิมก่าย) เอียสกุล รับภาระในการส่งหลวงปู่กลับวัด ได้ให้คนขับรถนำรถมาคอยรับที่ประตูเข้าตึกผู้ป่วย ด้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา หลวงปู่ขึ้นนั่งรถ มีผู้เขียนกับพ่อมูล ทัพพิลา นั่งข้างหลัง ญาติโยมที่ตามส่งหลวงปู่กราบลา รถออกจากโรงพยาบาลศิริราชเวลา 09.30 น. ถึงวัดป่าสันติกาวาส เวลา 17.00 น. หลวงปู่จากวัดไปเป็นเวลา 6 เดือน พวกญาติโยมทราบว่าหลวงปู่จะกลับวัด ได้มาชุมนุมคอยรับหลวงปู่ที่วัดเป็นจำนวนมาก

พึ่งบุญญาบารมีของพ่อแม่ครูบาอาจารย์

การที่หลวงปู่อาพาธในครั้งนี้ นับว่าเป็นการอาพาธครั้งใหญ่หลวง เกือบจะเป็นครั้งสุดท้ายก็ว่าได้ แต่ด้วยบารมีแห่งเมตตาธรรมของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ คือ ท่านพระอาจารย์มหาบัว ท่านได้ช่วยเหลือทั้งภายนอกและภายใน ภายนอก ท่านได้ช่วยเรื่องการติดต่อฝากฝังกับหมอให้ดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ทั้งการเดินทางไปและกลับ และค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งญาติโยมที่ให้ความอุปการะในปัจจัยสี่ ก็ล้วนเป็นลูกศิษย์ลูกหาของท่านทั้งนั้น ภายใน คือเรื่องธรรมที่หลวงปู่มีความเคารพในองค์ท่านเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ยอมไปรักษาตามคำสั่งของท่าน เพราะหลวงปู่ได้เล่าให้ฟัง หลังจากกลับจากโรงพยาบาลมาถึงวัดแล้วว่า “การป่วยครั้งนี้ เราได้เตรียมปล่อยวางทั้งหมดแล้ว ถ้าไม่ใช่พ่อแม่ครูจารย์บ้านตาดสั่งแล้ว เราไม่ไปเลย” หลวงปู่ได้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้คณะศิษยานุศิษย์ได้พึ่งพาอาศัยต่อมาอีกเป็นเวลาถึง 23 ปี จึงได้ละขันธ์ไป

ในคราวที่ผู้เขียนเฝ้าไข้หลวงปู่อยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชนั้น เดือนที่ 1 ผ่านไป พอเดือนที่ 2 ผู้เขียนเกิดความคิดวุ่นวายเร่าร้อนในใจว่า “เราเคยอยู่ป่าอยู่ในที่สงบ พอไปอยู่ในที่วุ่นวาย เกิดไม่สบายตา มองเห็นคนเดินวุ่นวายไปมาในโรงพยาบาลก็เร่าร้อนในใจ หูได้ยินเสียงทั้งคืนทั้งวันก็เร่าร้อน จะทำอย่างไร ถ้าเราจะหนีกลับวัดก็ไม่มีใครเปลี่ยน ถ้าอยู่อุปัฏฐากครูบาอาจารย์ไปก็เร่าร้อน” อยู่มาวันหนึ่งขณะที่เคลิ้มหลับไป จึงนิมิตฝันว่า ขึ้นไปกราบท่านพระอาจารย์มหาบัวที่ศาลาวัดป่าบ้านตาด พอกราบเสร็จท่านก็ชี้นิ้วมือมาที่หน้าผู้เขียน พร้อมกับพูดว่า “สติกับจิตให้มันห่างกันทำไม”

พอได้ยินอย่างนั้น ปรากฏว่าในใจของเราเบาเย็นสบายไปหมด พอรู้สึกตัวขึ้น ความเร่าร้อนกระวนกระวายในใจได้หายไปหมด จึงได้ความว่า “เราเผลอสติ เมื่อตาเห็นก็ส่งจิตไปสำคัญมั่นหมาย หูได้ยินก็ส่งไป จึงวุ่นวายเร่าร้อน เมื่อมีสติเป็นคู่ของจิตอยู่ ความเราร้อนจึงหายไป เพราะจิตไม่ส่งไปตามสิ่งที่กระทบนั้น”

อีกครั้งหนึ่งผู้เขียนมีความกลัวในท่านพระอาจารย์มหาบัวมาก กลัวท่านจนเป็นทุกข์ กลัวว่าบางทีท่านมาเยี่ยมหลวงปู่ เราจะทำอย่างไรจึงจะถูก จึงจะไม่ผิด แล้วก็กลัวอยู่นั้นแหละ จนเป็นความทุกข์เร่าร้อนในใจ พออยู่มาวันหนึ่งขณะเคลิ้มหลับไป ก็นิมิตฝันว่า เข้าไปกราบท่านอีก ท่านเอามือชี้หน้าพร้อมกับพูดว่า “เข้าใจว่าครูบาอาจารย์เป็นเสือหรือ กลัวอะไรไม่มีเหตุผล” พอได้ยินอย่างนั้นจึงโล่งในใจ และรู้สึกตัวขึ้น จึงเข้าใจว่าเราไม่มีเหตุมีผล จากนั้นมาจึงหายเป็นทุกข์เร่าร้อน ผู้เขียนซาบซึ้งในบารมีธรรมและเมตตาธรรมของพ่อแม่ครูบาอาจารย์เป็นล้นพ้นหาประมาณมิได้

ท่านพระอาจารย์มหาบัวมาเยี่ยมที่วัด

หลังจากหลวงปู่กลับมาพักฟื้นอยู่ที่วัดไม่นาน ท่านพระอาจารย์มหาบัวได้มาเยี่ยมที่วัดอีก ในขณะนั้นหลวงปู่ยังนั่งเก้าอี้อยู่ เพราะนั่งราบธรรมดายังไม่สะดวก เมื่อหลวงปู่เห็นท่านพระอาจารย์ใหญ่เข้ามาในกุฏิ จึงพยายามจะลงจากเก้าอี้ ท่านจึงบอกว่า “ไม่ต้องลงหรอก ให้นั่งตามสบายคนป่วย” หลวงปู่กราบเรียนท่านพระอาจารย์มหาบัวว่า “ในขณะที่ป่วยอยู่โรงพยาบาลศิริราช พวกหมอผู้หญิงและพยาบาลผู้หญิงจะมาเจาะเลือดมาฉีดยา เกล้ากระผมไม่ยอมให้เจาะเลือดฉีดยา ขอให้หาหมอหรือพยาบาลผู้ชายมาทำให้ บางทีเขาก็แสดงกิริยาอาการไม่พอใจ” ท่านพระอาจารย์มหาบัวจึงพูดว่า “ที่ไหนมันถูกมันตรง ให้ยิงเข้าไปที่นั้นเลย ถ้ามันไม่ทะลุ เอาสิ่วเอาขวานช่วยเจาะช่วยฟันเข้าไป จนมันทะลุไปเลย ไม่ต้องหวั่นไหว” ท่านเยี่ยมหลวงปู่อยู่ครู่หนึ่งแล้วท่านพูดว่า “จะกลับแล้วนะ ไม่ทรมานคนป่วยหรอก” แล้วท่านก็กลับไป

ศ.นพ.โรจน์ สุวรรณสุทธิ ตามมาเยี่ยมหลวงปู่ที่วัด

ต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2516 อาจารย์หมอโรจน์มาเยี่ยมหลวงปู่ที่วัด ขณะนั้นตาข้างซ้ายของหลวงปู่ไม่สามารถมองเห็นอะไรแล้ว อาจารย์หมอจึงนิมนต์หลวงปู่ไปตรวจที่โรงพยาบาลอุดรธานี ปรากฏว่าตาหลวงปู่เป็นต้อหิน อาจารย์หมอจึงนิมนต์ให้หลวงปู่ลงกรุงเทพฯ ไปรักษาตาที่โรงพยาบาลศิริราช

วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2516 หลวงปู่เดินทางโดยรถไฟลงกรุงเทพฯ ผู้เขียนติดตามไปด้วย หลวงปู่เข้าพักที่ตึกพลอย จาตุรจินดา โรงพยาบาลศิริราช อาจารย์หมอบรรจงศักดิ์เป็นผู้รักษาตาของหลวงปู่ พักรักษาอยู่ 22 วัน จึงได้เดินทางกลับวัด การรักษาตาซ้ายไม่สามารถทำอะไรได้ เป็นอันว่าตาซ้ายหลวงปู่เสียมองไม่เห็น รักษาไว้ได้เฉพาะตาข้างขวา ยังมองเห็นข้างเดียว

หลวงปู่แสดงเรื่องบุพกรรมให้ฟังว่า “นี้แหละกรรมที่เคยได้นิมิตว่าไปดูเขาชนไก่ เมื่อไก่ตัวที่เขาสับตาแตกแล้วมองมาหาเรา เหมือนเราเป็นเจ้าของมัน กรรมที่มีความยินดีไปดูกับเขานั้นแหละตามให้ผล ทำให้ตาของเราเสียมองไม่เห็น เป็นกรรมในอดีตชาติตามให้ผล ส่วนกรรมที่ถูกผ่าตัดที่ขาขวานั้น เป็นกรรมในปัจจุบัน คือ ตอนเป็นเด็กเลี้ยงวัวมีวัวตัวเมียตัวหนึ่ง เวลาต้อนวัวกลับเข้าคอก เวลามาถึงบ้านมันไม่เข้าคอก มันวิ่งเลยไปเข้าสวนหม่อนชาวบ้านเขา เขาก็ว่าให้ อยู่มาวันหนึ่งในขณะที่ไปเลี้ยงวัว ได้ถือเสียมไปด้วย เวลาต้อนวัวกลับเข้าคอก วัวตัวนั้นก็วิ่งเลยไปเข้าสวนหม่อนเขาอีก ด้วยความโกรธจึงซัดเสียมใส่ขาวัวถูกเส้นเลือดมันขาด ได้รับทุกขเวทนาอยู่นาน นี้แหละ กรรมอันนั้นตามให้ผลจึงได้รับทุกข์ทรมานเช่นเดียวกัน”

อกตํ ทุกฺขตํ เสยฺโย ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า

หลวงปู่สอนว่า การทำสิ่งที่เป็นบาปเรียกว่า กรรมชั่ว การโกรธกัน ชังกัน เบียดเบียนกัน เป็นสิ่งไม่ดีเลย ให้รักกันดีกว่าชังกัน ทำความดีดีกว่าทำความชั่ว เมื่อเราทำกรรมดีหรือกรรมชั่ว เราจะเป็นผู้ได้รับผลของกรรมนั้น ไม่ต้องสงสัย

พระอาจารย์คำ สุมงฺคโล มรณภาพ

เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2516 ท่านพระอาจารย์คำ สุมงฺคโล ซึ่งเคยเป็นสหธรรมิก จำพรรษาร่วมกันกับหลวงปู่ ในคราวที่อยู่จังหวัดอุบลราชธานี ได้ถึงแก่มรณภาพในขณะที่ท่านมีอายุเพียง 59 ปี หลวงปู่ไม่สามารถที่จะไปร่วมในงานถวายเพลิงศพได้ เพราะหลวงปู่ก็ยังไม่แข็งแรง ท่านจึงให้ผู้เขียนเป็นตัวแทนไปร่วมในงานถวายเพลิงศพท่านพระอาจารย์คำ สุมงฺคโล ที่บ้านเศรษฐี อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี


๏ พ.ศ. 2516 พรรษาที่ 38
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 38

ในพรรษานี้หลวงปู่เดินไปบิณฑบาตที่สำนักชีได้แล้ว และนั่งขัดสมาธิ นั่งไหว้พระสวดมนต์ได้แล้ว แต่การอบรมญาติโยม การนำพานั่งสมาธิภาวนานั้น รู้สึกว่าจะผ่อนลง เพราะท่านก็มีกำลังอ่อนลงมาก ถ้านั่งนานเดินนานจะมีปฏิกิริยาที่ขาที่ผ่าตัด เพราะฉะนั้นการเดินจงกรมของท่านก็จะไม่ได้นาน จะรู้สึกเสียวที่โคนขาที่ผ่าตัด

Image
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


ศ.นพ.โรจน์ สุวรรณสุทธิ
นิมนต์ลงกรุงเทพฯ เพื่อตรวจตาและขา


เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2517 หลวงปู่ลงกรุงเทพฯ ตามคำนิมนต์ของอาจารย์หมอโรจน์ เพื่อให้หมอตรวจอาการของตาและขาที่ผ่าตัดอีกครั้งหนึ่ง ผู้เขียนได้ติดตามหลวงปู่ไปด้วย เดินทางโดยรถไฟถึงกรุงเทพฯ แล้วพักที่วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู หลวงปู่เข้ากราบนมัสการ สมเด็จพระญาณสังวร (สมณศักดิ์ในขณะนั้นของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก) ที่พระตำหนักคอยท่าปราโมช

ครั้นพอหลวงปู่จะก้มกราบสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จฯ ท่านก็ถามว่า “ท่านอาจารย์ได้กี่พรรษา” หลวงปู่กราบเรียนว่า “ได้ 38 พรรษา” สมเด็จฯ ท่านมีพรรษาแก่กว่าหลวงปู่ ท่านจึงยอมให้หลวงปู่กราบ เสร็จแล้วสมเด็จฯ ถามว่า “ท่านอาจารย์อยู่วัดไหน” หลวงปู่กราบเรียนว่า “อยู่วัดป่าสันติกาวาส อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี” (ในขณะนั้นไชยวานยังไม่ตั้งเป็นอำเภอ) สมเด็จฯ ท่านก็ไม่ค่อยพูด หลวงปู่ก็ไม่ค่อยพูด ท่านนั่งอยู่ด้วยกันครู่หนึ่ง แล้วหลวงปู่จึงกราบลาสมเด็จฯ กลับที่พัก

หลวงปู่เดินทางไปจันทบุรีครั้งที่ 2

เมื่ออาจารย์หมอโรจน์ สุวรรณสุทธิ นิมนต์หลวงปู่ไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลศิริราช รู้ว่าอาการทุกส่วนดีขึ้น ไม่มีโรคแทรกซ้อน จึงกราบนิมนต์หลวงปู่ไปพักที่เขาสระบาป บริษัทสวนบ้านอ่าง อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี หลวงปู่รับไปตามที่อาจารย์หมอโรจน์นิมนต์ หลังจากฉันภัตตาหารเช้าเสร็จที่วัดบวรฯ อาจารย์หมอโรจน์ได้นำรถมารับหลวงปู่และผู้เขียน เดินทางไปจังหวัดจันทบุรี ถึงอำเภอบางละมุง อาจารย์หมอโรจน์ได้พาแวะพักที่บ้านทรายหาด อำเภอบางละมุง ถวายน้ำฉันพอหายเหนื่อย แล้วเดินทางต่อผ่านสัตหีบ จังหวัดระยอง ผ่านจังหวัดจันทบุรี เลยไปอำเภอมะขาม เข้าบริษัทสวนบ้านอ่าง

อาจารย์หมอได้ให้คนงานที่สวน ทำที่สำหรับให้หลวงปู่พักบนเขาสระบาป ใกล้กับธารน้ำที่ไหลออกจากเขา มีน้ำใสเย็นดี ที่สำหรับให้หลวงปู่พักนั้น ยกเป็นร้านปูไม้กระดานชนกับก้อนหิน ข้างบนใช้ผ้ายางมุงเป็นหลังคาชนกับก้อนหิน แขวนกลดมุ้งใต้หลังคาผ้ายาง ที่สำหรับผู้เขียนและอาจารย์หมอ ใช้เตียงตั้ง แล้วแขวนกลดมุ้งเลย ไม่มีหลังคา ที่เขาสระบาปนี้เป็นป่าดงดิบ เต็มไปด้วยสัตว์ป่า มีทั้งทากและเห็บ ต้องคอยระวังไม่ให้ทากและเห็บกัด ถ้ามันกัดแล้วจะเป็นไข้ เมื่อเดินทางถึงสวนบ้านอ่างแล้ว หลวงปู่จะเดินขึ้นเขาไม่ได้ เพราะขาของท่านยังไม่แข็งแรง อาจารย์หมอจึงให้คนงานเอาเก้าอี้หวายผูกไม้ขนาบสองข้างให้หลวงปู่นั่ง แล้วหามขึ้นไปที่พักบนเขา ทางขึ้นเขาก็เป็นทางพอคนเดินได้

โปรดหนุ่มตาบอดผู้ชายสองพี่น้อง

ในขณะที่หลวงปู่พักอยู่บนเขานั้น ตอนกลางคืนจะมีพวกโยมที่สนใจในธรรมะ ซึ่งบ้านอยู่ตามสวนใกล้ๆ นั้น ขึ้นไปฟังธรรมะจากหลวงปู่ และมีผู้ชายสองพี่น้อง ซึ่งตาบอดทั้งสองคน ให้ญาติจูงขึ้นไปฟังธรรมจากหลวงปู่ด้วย หลวงปู่นำพาเข้าที่นั่งสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย แล้วประนมมืออธิษฐานจิตต่อพระรัตนตรัยว่า “บัดนี้ข้าพเจ้าจะตั้งใจปฏิบัติ เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชาต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับทั้งพระธรรม และพระอริยสงฆ์สาวก ขอให้น้ำใจของข้าพเจ้าจงสงบระงับตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถรู้แจ้งแทงตลอดในสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกประการเทอญ”

พุทโธ ธัมโม สังโฆ 3 หนแล้ว วางมือลง เอามือขวาวางทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง เอาสติความระลึกรู้ ระลึกพุท-หายใจเข้า ระลึกโธ-หายใจออก ไม่ให้พลั้งเผลอ ให้สติกับคำบริกรรมกลมกลืนกันอยู่ ไม่ต้องสนใจอย่างอื่น ให้ปลูกศรัทธาความเชื่อมั่นลงในใจว่า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ใจ พระธรรมอยู่ที่ใจ พระอริยสงฆ์อยู่ที่ใจ ให้สังเกตดูว่า ใจของเราเชื่อมั่นลงจริงๆ แล้วก็บริกรรมพุท-หายใจเข้า โธ-หายใจออก เรื่อยไป จนกว่าจิตของเรารวมอยู่กับคำบริกรรมจริงๆ เรียกว่าจิตสงบจากสัญญาอารมณ์ภายนอก จะเกิดความเบากายเบาจิต มีความตั้งมั่นแน่วแน่ เด่นอยู่ในคำบริกรรมอันเดียว เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ

เมื่อจิตถอนจากสมาธิแล้ว เราจะหยุดให้ทบทวนดูเสียก่อน ว่าเราตั้งสติอย่างไร เรากำหนดอย่างไร แล้วยกมือขึ้นประนมนึกพุทโธ ธัมโม สังโฆ 3 หนเสียก่อนจึงออกจากที่นั่งภาวนา เมื่อออกจากที่นั่งภาวนาแล้วก็ให้ทำสติระลึกรู้ในอิริยาบถทั้งสี่ ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ให้ปล่อยจิตใจไปตามยถากรรม ให้เป็นผู้ฝึกจิตตั้งจิตอยู่เสมอ เมื่อเราเข้าที่ภาวนาทีหลังจิตจึงสงบได้ง่าย เมื่อจิตออกจากการพักในความสงบแล้ว ก็ให้พิจารณากาย และพิจารณาในจิต ให้เห็นเป็นสัจธรรม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน

เมื่อหลวงปู่หยุดนำนั่งสมาธิแล้ว ท่านจึงสอนหนุ่มตาบอดสองพี่น้อง ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ให้เร่งประกอบคุณงามความดี ด้วยความเป็นผู้มีศีลและเจริญเมตตาภาวนา ผลของกรรมที่ทำให้เสียจักษุ ถือว่าเป็นกรรมเก่าที่ไม่ดีที่เราทำมาแล้ว ให้ยอมรับว่าเป็นผลกรรมที่เกิดจากเราทำมาแล้ว ต่อแต่นี้ไปให้ตั้งใจทำแต่กรรมดี ทำตนให้มีศีลห้าประจำ ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งที่เคารพและนับถือ หมั่นทำสมาธิภาวนาทำใจให้สงบขาดจากสัญญาอารมณ์ภายนอก เพ่งพิจารณาธาตุ 4 ขันธ์ 5 ให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง แตกดับทำลาย ให้มันมืดแต่ตานอก ตาในให้มันสว่างจ้าอยู่อย่างนั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาท ก็จะเป็นผู้พ้นจากกรรม เมื่อหลวงปู่หยุดการอบรมแล้ว พวกญาติโยมก็ลากลับ

พูดกับปลวกรู้ภาษากัน

ในขณะที่หลวงปู่พักอยู่เขาสระบาปเป็นวันที่ 3 ตอนกลางวันฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก ผู้เขียนต้องไปหลบฝนอยู่ที่ที่พักของหลวงปู่ เพราะมีผ้ายางมุง เมื่อฝนหยุดจึงกลับที่พักของตัวเอง พอถึงเวลาค่ำมืดแล้ว พวกโยมก็มาฟังธรรมหลวงปู่ตามเคยเหมือนทุกวัน ผู้เขียนก็นั่งอยู่เป็นเพื่อนหลวงปู่ คอยปฏิบัติท่านอยู่ข้างๆ ในขณะที่หลวงปู่อบรมธรรมะให้กับคณะศรัทธาญาติโยมอยู่นั้น ได้มีกองทัพปลวกยกขบวนมา คงจะหนีน้ำเพราะฝนตกตอนกลางวัน ขึ้นมาตามเสาร้านที่พักหลวงปู่ เข้าไปจนถึงเสื่อที่หลวงปู่นั่งอยู่ หลวงปู่จึงพูดกับปลวกว่า “อ้าว พากันขึ้นมาทำไป ที่นี่เป็นที่อยู่ของพระ ไป พากันกลับลงไปที่อื่น”

หลวงปู่พูดจบลง ปลวกที่เป็นหัวหน้าขบวนก็หันกลับพาขบวนพวกปลวกทั้งหลายกลับลงไปจากร้านที่พักหลวงปู่หมด ทำให้ผู้เขียนซึ่งนั่งดูอยู่ข้างๆ หลวงปู่ประทับใจเป็นอย่างยิ่ง จำเหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่ลืม และนึกอยู่ในใจว่า “หลวงปู่ช่างพูดกับปลวกรู้เรื่องรู้ภาษากัน”

หลวงปู่พักอยู่เขาสระบาป 4 วัน ศ.นพ.โรจน์ ก็รับหลวงปู่เดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ พักที่กรุงเทพฯ หนึ่งวัน แล้วก็เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส จังหวัดอุดรธานี


(มีต่อ 16)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 31 พ.ค.2007, 1:40 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
บรรยากาศความสงบร่มรื่นภายในวัดป่าสันติกาวาส จ.อุดรธานี ในปัจจุบัน


๏ พ.ศ. 2517-2518 พรรษาที่ 39-40
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 39-40

ในพรรษาปี พ.ศ. 2518 นี้ หลวงปู่ได้สัตตาหกิจไปร่วมงานถวายเพลิงศพหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ วัดป่าหนองแซง (วัดราษฎรสงเคราะห์) ซึ่งท่านได้มรณภาพก่อนเข้าพรรษา แล้วทำการถวายเพลิงศพหลังจากเข้าพรรษาแล้วไม่กี่วัน หลวงปู่อยู่ร่วมงานจนเก็บอัฐิธาตุท่านเสร็จแล้วจึงได้กลับวัด

อาพาธครั้งที่ 5 ด้วยอุบัติเหตุเส้นโลหิตแตก

ในพรรษาปี พ.ศ. 2518 เดือนสิงหาคม มีต้นไม้ต้นหนึ่งไม่โตนัก ตายยืนต้นอยู่หลังกุฏิที่หลวงปู่พำนักอยู่ หลังจากฉันเช้าที่ศาลาเสร็จแล้วหลวงปู่กลับไปกุฏิ มีผ้าขาวคนหนึ่งอยู่ปรนนิบัติท่าน หลวงปู่นำมีดโต้ที่ท่านฝนไว้อย่างคมกริบ ให้ผ้าขาวตัดต้นไม้ที่ตายแห้งอยู่กลังกุฏิท่านออก ในขณะที่ตัดไม้ยังไม่เสร็จฝนได้ตกลงมา ผ้าขาวทิ้งมีดตากฝน ตัวเองวิ่งเข้าใต้ถุนกุฏิหลวงปู่ หลวงปู่เห็นมีดทิ้งตากฝนอยู่ ท่านจึงเดินไปเก็บเอามีดเข้ามาใต้ถุนกุฏิท่าน แล้วเอามีดเสียบไว้ที่กองไม้ใต้ถุนกุฏิ

ท่านนึกว่ามีดเสียบไว้แน่นดีแล้ว จึงวางมือแล้วจะเดินออกจากที่นั้น ทันใดนั้นมีดได้หลุดออกจากกองไม้ เหวี่ยงลงมาถูกหลังเท้าติดกับข้อเท้าขวา เป็นเหตุให้เส้นเลือดใหญ่เป็นแผล ท่านสั่งไม่ให้ผ้าขาวไปบอกใคร เพราะในขณะนั้นท่านอยู่ที่กุฏิ 2 คนกับผ้าขาวเท่านั้น ท่านให้ผ้าขาวเอาใบเพิน (หรือหญ้าบ้านร้างก็เรียก) มาเคี้ยวแล้วเอาปิดแผล เพื่อขัดเลือดให้เลือดหยุด

ในวันนั้นพอตะวันบ่าย ผู้เขียนอยู่กุฏิตัวเองรู้สึกอยากจะไปหาหลวงปู่ที่กุฏิท่าน จึงลงจากกุฏิแล้วเดินไปหาหลวงปู่ที่กุฏิท่าน เห็นท่านนั่งเหยียดเท้าอยู่กับผ้าขาว ผู้เขียนกราบท่านแล้วถามว่าเป็นอะไร ท่านบอกว่า “ถูกมีด กรรมมันยังไม่สิ้นสุด” ผู้เขียนจะไปตามอนามัยมาเย็บแผล ท่านห้ามไม่ให้ไป ผู้เขียนก็ปฏิบัติตาม อยู่มาได้ 22 วัน เส้นเลือดที่เป็นแผลได้แตกเลือดพุ่ง ผู้เขียนได้ใช้ผ้าขาวพันที่แผลและขาของท่านไว้ แล้วไปติดต่อหารถนำท่านส่งโรงพยาบาลอุดรธานี

เส้นเลือดหลวงปู่แตกตั้งแต่เวลา 11.00 น. จนเวลาบ่ายสามโมงเย็นจึงได้รถจากแขวงการทางสว่างแดนดินมารับหลวงปู่ ส่งถึงโรงพยาบาลอุดรธานีเกือบมืด นำเข้าห้องฉุกเฉิน หมอแก้ผ้าที่พันแผลไว้ออก เลือดพุ่งออกมา หมอใช้คีมจับเส้นเลือดไว้ แล้วนำหลวงปู่เข้าห้องผ่าตัดฉุกเฉิน จนถึงเวลา 20.00 น. หมอนำหลวงปู่ออกจากห้องผ่าตัดไปพักที่ตึกสงฆ์อาพาธ หมอบอกว่าเหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์ หลวงปู่จะสิ้นใจ เพราะเลือดออกมา จนถึงเวลา 02.00 น. หลวงปู่จึงลืมตาขึ้นมองดูลูกศิษย์ที่คอยอุปัฏฐากอยู่ใกล้ๆ ทุกคนจึงหายใจโล่งไปตามๆ กัน

เราเตรียมตัวไปแล้ว

วันหลังเมื่อหลวงปู่อาการดีขึ้นแล้ว ท่านจึงเล่าให้ฟังว่า “ในขณะที่เลือดออกมากๆ นั้น เรามองดูอะไรก็อยู่ไกลริบหรี่ไม่ได้การแล้ว จึงกำหนดเข้าที่ เตรียมตัวไปแล้วแต่มันยังไม่ไปจึงฟื้นคืนมา”

Image
พระอาจารย์เสน ปญฺญาธโร


ศ.นพ.โรจน์ สุวรรณสุทธิ มาเยี่ยม

เมื่อ ศ.นพ.โรจน์ สุวรรณสุทธิ ได้ทราบข่าวว่าหลวงปู่อาพาธ ด้วยเส้นโลหิตแตก จึงเดินทางจากกรุงเทพฯ มาเยี่ยมหลวงปู่ที่ตึกสงฆ์อาพาธ โรงพยาบาลอุดรธานี และได้ทำแผลล้างถวายหลวงปู่ด้วยตนเองด้วย เสร็จแล้วได้กราบเรียนหลวงปู่ว่า “หากท่านอาจารย์พักอยู่โรงพยาบาลไม่เป็นที่สบาย ก็กลับไปรักษาอยู่ที่วัดได้ เพราะอาการอย่างอื่นไม่มีอะไร มีแต่การล้างแผลวันละครั้งเท่านั้น”

เมื่อ ศ.นพ.โรจน์ สุวรรณสุทธิ เยี่ยมหลวงปู่เป็นเวลานานพอสมควรแล้ว จึงกราบลาหลวงปู่กลับกรุงเทพฯ หลวงปู่พักรักษาอยู่โรงพยาบาลอุดรธานีประมาณ 1 อาทิตย์ ท่านพระอาจารย์เสน ปญฺญาธโร จึงนิมนต์หลวงปู่ไปพักรักษาอยู่ที่วัดป่าหนองแซง (วัดราษฎรสงเคราะห์) หลวงปู่พักอยู่วัดป่าหนองแซงได้ 3 วัน คุณลัดดาวัลย์ เอียสกุล ไปพบหลวงปู่ที่วัดป่าหนองแซง จึงกราบอาธาธนาให้หลวงปู่ไปพักรักษาที่โรงพยาบาลหนองคาย เพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหาทางหนองคายได้ถวายอุปัฏฐากบ้าง

หลวงปู่รับนิมนต์ไปพักรักษาที่โรงพยาบาลหนองคายอยู่ระยะหนึ่ง จึงได้ออกจากโรงพยาบาลไปพักอยู่ที่วัดอรุณรังษี แผลที่เป็นก็ยังไม่หาย คุณลัดดาวัลย์และคณะลูกศิษย์ชาวหนองคายได้ถวายอุปัฏฐากเป็นอย่างดียิ่ง และได้ขอร้องให้ทางโรงพยาบาลหนองคาย ส่งพยาบาลผู้ชายไปทำแผลให้ที่วัดอรุณรังษี จนแผลหายดีเรียบร้อย หลวงปู่จึงได้กลับวัดป่าสันติกาวาส รวมเวลาที่พักรักษาอยู่ที่หนองคายเป็นเวลาถึง 3 เดือน เป็นอันว่าพรรษาที่ 40 ของหลวงปู่ ท่านไม่ได้จำอยู่วัดป่าสันติกาวาสตลอด ด้วยเหตุแห่งอาพาธจึงย้ายไปที่ต่างๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว


๏ พ.ศ. 2519 พรรษาที่ 41
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 41

ในปี พ.ศ. 2519 นี้ ทั้งนอกพรรษาและในพรรษา หลวงปู่ได้เอาใจใส่ในการอบรมพระเณร และอุบาสกอุบาสิกา โดยเฉพาะวันประชุมพระเณร ในวัน 7 ค่ำ 14 ค่ำ เป็นวันที่ท่านอบรมพระเณรเป็นพิเศษ ส่วนวัน 8 ค่ำ 15 ค่ำ เป็นวันที่อุบาสกอุบาสิกา มาถือศีลอุโบสถและนอนอยู่ที่วัด ท่านก็จะอบรมญาติโยมหญิงชายที่มาจำศีลอุโบสถเป็นพิเศษ หลังจากท่านนำพาทำวัตรเย็นแล้ว ก็อบรมธรรมะและนำพานั่งสมาธิภาวนาไปจนถึงเวลา 24 นาฬิกา ท่านจึงเลิกกลับกุฏิที่พักของท่าน

Image
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร


ไปร่วมงานทำบุญสวดมนต์ถวายหลวงปู่ฝั้น อาจาโร

เมื่อออกพรรษาแล้ว เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2519 หลวงปู่ฝั้น อาจาโร อาพาธ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่ออาการดีขึ้นท่านได้เดินทางกลับวัดป่าอุดมสมพร คณะศิษยานุศิษย์ได้ทำบุญสวดมนต์ถวายเพื่อเป็นการต่ออายุให้ท่าน และได้นิมนต์หลวงปู่ไปร่วมในงานด้วย หลวงปู่รับนิมนต์และเดินทางไปค้างที่วัดป่าอุดมสมพร เพื่อสวดมนต์ถวายหลวงปู่ฝั้น ตอนเช้ารับฉันบิณฑบาตเสร็จแล้วจึงเดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส

อุบัติเหตุขวานถูกหัวแม่เท้าข้างซ้าย

ในปี พ.ศ. 2519 นี้ หลวงปู่ได้รับอุบัติเหตุขวานถูกที่หัวแม่เท้าซ้ายเกือบขาด ในวันนั้นเป็นเวลาบ่าย หลวงปู่สั่งให้พระเอาขวานมาถากเศษไม้ที่ทิ้งอยู่ เอาไว้ทำด้ามจอบด้ามเสียม พระจับขวานถากไม้ทำไม่เป็น ในขณะนั้นหลวงปู่ท่านยืนดูอยู่ เมื่อเห็นพระทำไม่เป็น ท่านจึงจับเอาขวานจากมือพระแล้วถากไม้ให้ดู ในขณะนั้นผู้เขียนกำลังทำข้อวัตรเอารถเข็นเข็นน้ำใส่ตุ่มตามกุฏิต่างๆ ผ่านไป เห็นหลวงปู่จับขวานถากไม้อยู่ เห็นไม้มันกระดกๆ ไปมา ในใจจึงนึกขึ้นว่า “โอ้ หลวงปู่ถากไม้ เดี๋ยวขวานจะถูกเท้าอีกแหละ” แล้วก็เข็นรถน้ำผ่านไป

พอให้หลังไปไม่ไกลได้ยินเสียง วิ่งตามหลัง ในใจคิดว่าขวานคงถูกหลวงปู่แล้ว พอเณรวิ่งตามมาถึงจึงรีบถามเณรว่า “อะไร” เณรตอบว่า “ขวานถูกหัวแม่เท้าหลวงปู่แล้ว” ผู้เขียนวางรถเข็นน้ำแล้วรีบไปดูเห็นหัวแม่เท้าท่านเกือบขาดออกจากกันเลือดไหลอยู่ จึงเอาผ้ามาพันผูกไว้ให้แน่น ให้คนไปตามเอารถในหมู่บ้านมานำหลวงปู่ไปโรงพยาบาลอุดรธานี ให้หมอเย็บแผล เรียบร้อยแล้วหมอให้กลับวัดได้

คุณหมอสัมพันธ์เป็นผู้เย็บแผลให้ แล้วหมอพูดว่า “แหม ท่านอาจารย์ปีกลายนี้ก็ถูกมีด ปีนี้ก็ถูกขวานอีก” หลวงปู่จึงพูดว่า “กรรมมันให้ผลยังไม่หมด ทีนี้หมดแล้วละ 3 ครั้งแล้ว” หลวงปู่พูดต่อไปว่า “กรรมตั้งแต่เป็นเด็กเลี้ยงวัวโน้นแหละ ซัดเสียมใส่ข้อเท้าวัว เส้นเลือดมันขาด กรรมกลัวจะไม่ได้ให้ผลก็เลยรีบให้ผลในชาตินี้ เรื่องของกรรมเป็นสิ่งที่น่ากลัว อย่าไปยินดีในการทำบาปทำกรรมชั่วเลย เมื่อทำแล้วก็ได้รับผลอย่างนั้นแหละ” หลวงปู่เตือนลูกศิษย์ลูกหาไม่ให้กล้าต่อการทำกรรมชั่ว เพราะทำแล้วย่อมได้รับผลเป็นทุกข์


๏ พ.ศ. 2520 พรรษาที่ 42
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 42

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2520 คณะศิษยานุศิษย์ได้ตั้งศพท่านบำเพ็ญกุศลจนถึงปี พ.ศ. 2521 และได้จัดงานพระราชทานเพลิงศพท่าน เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2521 ก่อนจะถึงวันพระราชทานเพลิงศพ 3 วัน หลวงปู่ท่านได้ระลึกถึงคุณานุคุณของครูบาอาจารย์ที่เคยได้ร่วมพบปะสนทนาธรรมซึ่งกันและกัน และท่านก็มีความเคารพในหลวงปู่ฝั้นด้วย จึงได้เดินทางไปกราบคารวะศพหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าอุดมสมพร ก่อนวันงานท่านบอกว่า “วันงานคนเยอะ เราตาไม่ดี ขาไม่ดี ต้องไปก่อนวันงาน”

ทำบุญฉลองและถวายศาลานิยม สุวรรณสิทธิ์

เดือนมีนาคม พ.ศ. 2521 การก่อสร้าง ศาลานิยม สุวรรณสิทธิ์ ซึ่งได้ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 ได้สำเร็จเรียบร้อย สิ้นค่าก่อสร้างทั้งหมด 620,000 บาท (หกแสนสองหมื่นบาท) หลวงปู่จึงให้ทำพิธีทำบุญฉลองความสำเร็จที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างมาจนเสร็จเรียบร้อย โดยให้นิมนต์ครูบาอาจารย์มาเจริญพระพุทธมนต์ และแสดงพระธรรมเทศนา 2 กัณฑ์ ในตอนกลางคืน กัณฑ์ที่ 1 แสดงโดยท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร กัณฑ์ที่ 2 แสดงโดยท่านพระอาจารย์สีลา อินฺทวํโส ตอนเช้าก็ถวายอาหารบิณฑบาต ญาติโยมกล่าวคำถวายเสนาสนะก็เป็นเสร็จพิธี และคณะสงฆ์พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง ได้ทำการย้ายเขตวิสุงคามสีมาจากวิหารกลางน้ำมาปักเขตใหม่ที่ศาลาการเปรียญด้วย


๏ พ.ศ. 2521-2522 พรรษาที่ 43-44
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 43-44

วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2523 พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร และพระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม ได้มรณภาพด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินตก พร้อมกับ พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม, พระอาจารย์วัน อุตฺตโม และพระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ หลังจากตั้งศพของท่านบำเพ็ญกุศลที่วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพฯ ครบ 7 วันแล้ว คณะศิษยานุศิษย์ได้นำศพของท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง มาตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดป่าแก้วชุมพล ตำบลบ้านชุม อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ส่วนศพของท่านพระอาจารย์สุพัฒน์ นำไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดป่าประสิทธิ์สามัคคี บ้านต้าย ตำบลบ้านต้าย อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

หลวงปู่ได้ไปค้างคืนประจำอยู่วัดป่าแก้วชุมพล เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่พระภิกษุ สามเณร และคณะศรัทธาญาติโยม ที่มาร่วมกันจัดงานพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง เมื่อถึงวันพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์สุพัฒน์ หลวงปู่ได้ไปร่วมเป็นกำลังใจให้แก่พระภิกษุ สามเณร และคณะศรัทธาญาติโยม ที่วัดป่าประสิทธิสามัคคี บ้านต้าย ด้วย จนเสร็จการพระราชทานเพลิงศพและเก็บอัฐิท่านพระอาจารย์สุพัฒน์เสร็จแล้ว หลวงปู่จึงกลับไปพักอยู่ที่วัดป่าแก้วชุมพลอีก จนถึงวันพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง


ไม่มีความสงสัยในธรรม

ในวันพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์สิงห์ทองนั้น หลวงปู่ได้พักอยู่กุฏิที่มุงด้วยไม้ที่วัดป่าแก้วชุมพล และมี ท่านพระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ และครูบาอาจารย์องค์อื่นอีกหลายรูปนั่งอยู่ด้วยกัน ผู้เขียนก็นั่งอยู่ในที่นั้นด้วย พระอาจารย์สุวัจน์ท่านเคยจำพรรษาอยู่ร่วมกันกับหลวงปู่ในคราวที่อยู่จังหวัดร้อยเอ็ด พอมาพบกัน ท่านก็ไต่ถามสนทนาธรรมกัน สุดท้ายพระอาจารย์สุวัจน์จึงเรียนถามหลวงปู่ว่า “เป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้ครูบาอาจารย์ยังมีความสงสัยในธรรมอยู่หรือไม่” หลวงปู่ตอบอย่างอาจหาญว่า “ไม่มีความสงสัยในธรรม”

หลวงปู่อยู่ร่วมพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง จนเก็บอัฐิท่านเรียบร้อยแล้วจึงได้กลับวัด ท่านอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร และท่านอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม ทั้ง 2 องค์นี้ เป็นที่สนิทสนมกันมากกับหลวงปู่ในคราวที่มีชีวิตอยู่ ไปมาหาสู่กันไม่ได้ขาด


๏ พ.ศ. 2523 พรรษาที่ 45
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2524 เป็นวันพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์วัน อุตฺตโม หลวงปู่ได้เดินทางไปร่วมงานที่วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม ภูผาเหล็ก เสร็จพิธีแล้วหลวงปู่จึงได้เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส

Image
พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม

Image
พระอาจารย์วัน อุตฺตโม

Image
พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

Image
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร

Image
พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม


ขอเชิญชมภาพ...“บาตรพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
ซึ่งเกี่ยวข้องกับเอกสารราชการลับ

และภาพ “ซากเครื่องบินที่ประสบอุบัติเหตุเครื่องตก
ณ ท้องนาทุ่งรังสิต ต.คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
กระทั่งเป็นเหตุทำให้พ่อแม่ครูบาอาจารย์
พระป่ากัมมัฏฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
ได้มรณภาพลงพร้อมกันทีเดียวถึง ๕ รูปด้วยกัน


ได้จากกระทู้ข้างล่างนี้ค่ะ สาธุ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=25698


(มีต่อ 17)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 31 พ.ค.2007, 1:48 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พ.ศ. 2524 พรรษาที่ 46
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


เมื่อออกพรรษาแล้ว เข้าฤดูแล้งเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 ได้มีพิธีถวายเพลิงศพหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ที่วัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งหลวงปู่อ่อนท่านได้มรณภาพตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2524 คณะศิษยานุศิษย์ได้ตั้งศพของท่านไว้บำเพ็ญกุศลจนถึงวันถวายเพลิงศพ

หลวงปู่ท่านมีความเคารพในหลวงปู่อ่อนมาตั้งแต่ครั้งที่เคยอยู่ร่วมกับหลวงปู่อ่อนที่จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อมาอยู่ในเขตจังหวัดอุดรฯ ด้วยกัน ท่านก็ไปมาหาสู่กันมาโดยตลอด เมื่อถึงวาระสุดท้ายที่หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ จากไป หลวงปู่ถึงแม้ในขณะนั้นสุขภาพของท่านก็ไม่ค่อยแข็งแรง การเดินเหินไปมาก็ไม่ค่อยสะดวก นับแต่ที่ท่านได้ผ่าตัดที่โคนขาขวามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 แล้ว ถึงอย่างนั้นท่านก็ได้พยายามไปร่วมงานวันถวายเพลิงศพของหลวงปู่อ่อนด้วย เพื่อเป็นการแสดงกตเวทิตาคารวะต่อครูบาอาจารย์เป็นครั้งสุดท้าย


๏ พ.ศ. 2525 พรรษาที่ 47
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
อาพาธครั้งที่ 6 ด้วยโรคทางปอด


พ.ศ. 2526 ระหว่างปลายเดือนพฤษภาคม หลวงปู่มีอาการไข้ต่ำๆ และฉันอาหารไม่ค่อยได้ เวลาไอบางครั้งจะมีเลือดปนเสมหะออกมาด้วย คณะศิษย์ทางจังหวัดหนองคายจึงอาราธนาให้ท่านไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดหนองคาย หลวงปู่รับอาราธนา

คุณลัดดาวัลย์ เอียสกุล จึงให้รถมารับหลวงปู่ที่วัดป่าสันติกาวาสไปรักษาที่โรงพยาบาลหนองคาย หลวงปู่พักอยู่ที่ห้องพิเศษตึกสงฆ์อาพาธ โดยมีคุณหมอเลื่อน เป็นผู้ดูแลรักษา คณะศิษย์ชาวจังหวัดหนองคายเป็นผู้อุปถัมภ์ เมื่อหลวงปู่เข้าพักที่โรงพยาบาล อาการไข้ได้กำเริบขึ้นสูง หมอได้ให้ยารักษาทางปอดอาการค่อยดีขึ้น หลวงปู่พักรักษาอยู่เป็นเวลา 1 เดือน จึงหายปกติ หมอจึงอนุญาตให้กลับวัดได้


๏ พ.ศ. 2526 พรรษาที่ 48
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


ครั้นออกพรรษาปี พ.ศ. 2526 แล้ว เข้าฤดูแล้ง วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 จะเป็นวันพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกลองเพล อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานีในขณะนั้น (ปัจจุบันเป็นอำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู) หลวงปู่ขาว อนาลโย ท่านได้มรณภาพตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 คณะศิษยานุศิษย์ได้ตั้งศพของท่านบำเพ็ญกุศลมาตลอด จนถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 จึงได้จัดงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน และพระราชทานเพลิงจริงในเวลา 20.00 น. ก่อนจะถึงวันพระราชทานเพลิงศพ 1 วัน

หลวงปู่ท่านได้ไปกราบคารวะศพหลวงปู่ขาว อนาลโย เป็นครั้งสุดท้าย เพราะถ้าจะไปร่วมในวันพระราชทานเพลิงศพ จะมีพระเณร ประชาชนเป็นจำนวนมาก และหลวงปู่ก็ขาไม่ดี ตาไม่ดี ท่านกลัวว่าจะลำบากมาก ท่านจึงไปก่อนวันงาน 1 วัน หลวงปู่ท่านมีความเคารพในหลวงปู่ขาวมาก และท่านได้ไปมาหาสู่หลวงปู่ขาวตั้งแต่ครั้งที่ท่านอยู่วัดป่าแก้วชุมพล อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร


๏ พ.ศ. 2527 พรรษาที่ 49
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


เมื่อออกพรรษาแล้ว ศ.นพ.โรจน์ สุวรรณสุทธิ ได้นิมนต์ให้หลวงปู่ลงไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลศิริราช พักที่ห้องพิเศษ ชั้น 4 ตึก 84 ปี หลวงปู่ได้ให้โอวาทธรรมแก่คณะศิษยานุศิษย์ที่ไปเยี่ยม ในขณะที่ท่านพักอยู่โรงพยาบาลศิริราช ดังนี้

กายเป็นดงหนาป่าทึบ

“ร่างกายนี้เป็นดงหนาป่าทึบ ยากที่บุคคลจะถากถางบุกป่าฝ่าดงนี้ให้ทะลุไปได้ ในดงหนาป่าทึบนี้เต็มไปด้วยอสรพิษ คอยกัดตอดให้ได้รับทุกขเวทนาอยู่ตลอดเวลา ได้แก่ความเจ็บไข้ได้ป่วย เจ็บท้อง ปวดหัว เจ็บตา ปวดฟัน เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานอยู่ในกายอันนี้ เมื่อเราหลงอยู่ในดงหนาป่าทึบอันนี้ จึงถูกอสรพิษทำร้ายอยู่ตลอดเวลา หลงในร่างกายนี้ ชายหลงหญิง หญิงหลงชาย หลงกันอยู่อย่างนี้ เราหลงเขา เขาหลงเรา นี้จึงพ้นทุกข์ไปไม่ได้ ถ้าใครมาถากถางดงหนาป่าทึบคือร่างกายนี้ให้เตียนโล่ง คือพิจารณาให้เห็นสภาพความเป็นจริงในกายนี้ เป็นของแตกดับทำลาย ไม่จีรังยั่งยืน เป็นเพียงธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันอยู่เท่านั้น ในที่สุดก็จะสลายลงสู่ธาตุเดิมของเขาเท่านั้น เมื่อเห็นอย่างนี้จึงจะได้ชื่อว่า ข้ามดงหนาป่าทึบไปได้ จึงจะพ้นทุกข์พ้นภัยไปได้” นี้เป็นโอวาทธรรมที่หลวงปู่แสดงเตือนศิษยานุศิษย์ที่ไปกราบเยี่ยมท่านที่โรงพยาบาลศิริราช


๏ พ.ศ. 2528 พรรษาที่ 50
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 50

ในระยะเข้าพรรษาปี พ.ศ. 2528 นี้ ตอนใกล้จะออกพรรษา หลวงปู่ได้เดินทางไปทำวัตรคารวะหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ที่วัดป่าโคกมน บ้านโคกมน อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย พอไปถึงวัดป่าโคกมนเป็นเวลาเที่ยง ถามพระเณรในวัดทราบว่าหลวงปู่ชอบไม่อยู่ ท่านขึ้นไปพักอยู่ที่วัดป่าบ้านม่วงไข่ บนภูเขาทางไปอำเภอภูเรือ หลวงปู่จึงให้ลูกศิษย์ขับรถขึ้นเขาตามไปหาหลวงปู่ชอบ ถนนเข้าไปบ้านม่วงไข่ลำบาก เป็นถนนลงหินขรุขระ ไปถึงวัดป่าม่วงไข่เป็นเวลาบ่าย 3 โมง จึงได้พบหลวงปู่ชอบ

หลวงปู่ชอบได้ถามสุขทุกข์กับหลวงปู่ แล้วหลวงปู่จึงพาลูกศิษย์ที่ติดตามไป ขอขมาคารวะหลวงปู่ชอบ เสร็จแล้วจึงได้กราบลาหลวงปู่ชอบ เดินทางไปวัดถ้ำผาปู่ เพื่อกราบคารวะศพหลวงปู่คำดี ปภาโส ถึงถ้ำผาปู่เป็นเวลาเกือบมืดแล้ว หลวงปู่ได้พาคณะศิษย์กราบคารวะศพหลวงปู่คำดี เสร็จแล้วได้อยู่ร่วมฟังสวดอภิธรรม จบแล้วจึงได้เดินทางกลับถึงวัดป่าสันติกาวาสเป็นเวลา 23.00 น.

ร่วมงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่คำดี ปภาโส

เมื่อออกพรรษาแล้ว เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2528 หลวงปู่เดินทางไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่คำดี ปภาโส ที่วัดถ้ำผาปู่ จังหวัดเลย ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 เพื่อเป็นการแสดงกตเวทิตาสักการะต่อครูบาอาจารย์เป็นครั้งสุดท้าย หลวงปู่มีความเคารพในหลวงปู่คำดีมาก ในฐานะที่หลวงปู่คำดีเป็นครูบาอาจารย์ ซึ่งหลวงปู่ได้เคยอยู่ปฏิบัติธรรมร่วมกับหลวงปู่คำดีในคราวที่ท่านอยู่ที่ถ้ำกวาง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น

เดินทางลงกรุงเทพฯ ให้หมอตรวจตาข้างขวา

เมื่อเสร็จจากไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่คำดี ปภาโส แล้ว คณะศิษยานุศิษย์ทางกรุงเทพฯ ได้กราบอาราธนานิมนต์ให้หลวงปู่ไปตรวจตาที่กรุงเทพฯ เพราะหลวงปู่มีอาการตาข้างขวามัว หลวงปู่รับนิมนต์แล้วเดินทางลงกรุงเทพฯ โดยทางรถไฟ ได้เข้ารับการตรวจตาที่ไทยจักษุคลินิก โดยมีนายแพทย์สวัสดิ์ โพธิกำจร เป็นผู้ตรวจอาการ พบว่าตาข้างขวาของหลวงปู่เป็นต้อกระจก แต่ยังไม่แก่ดี หมอจึงให้ยาหยอดรักษาไปก่อน

Image
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ

Image
พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป

Image
พระอาจารย์เจริญ ญาณวุฑฺโฒ

Image
พระสุพรหมยานเถร (หลวงปู่วัดพระพุทธบาทตากผ้า)


เดินทางไปเชียงใหม่เป็นครั้งแรก

หลวงปู่เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่เป็นครั้งแรก เพื่อกราบคารวะศพของ หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2528 หลวงปู่ได้เดินทางโดยเครื่องบินจากท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ไปลงที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ แล้วนั่งรถตู้ต่อไปที่ดอยแม่ปั๋ง มีลูกศิษย์ติดตามไปด้วยเป็นพระ 2 รูป คือ ผู้เขียนองค์หนึ่ง และพระอึ่งองค์หนึ่ง ฆราวาสอีก 5 ท่าน คือ คุณหมออุรพล บุญประกอบ, คุณหมอวันเพ็ญ บุญประกอบ, คุณญาณี-คุณนิดา ชิตานนท์ และคุณหมออมรา มลิลา เดินทางถึงวัดดอยแม่ปั๋งเป็นเวลาเย็น หลวงปู่พาลูกศิษย์ที่เดินทางไปด้วย ทำพิธีคารวะศพหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ และทอดผ้าบังสุกุลถวายบูชาเป็นธัมมสักการะในองค์หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ หลวงปู่พักค้างคืนที่วัดดอยแม่ปั๋ง 1 คืน

เช้าวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2528 ฉันภัตตาหารเช้าที่วัดดอยแม่ปั๋ง เสร็จแล้วได้เดินทางไปแวะเยี่ยม พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป ที่วัดอรัญวิเวก บ้านปง อำเภอแม่แตง แต่ไม่พบ พระอาจารย์เปลี่ยนเดินทางเข้ากรุงเทพฯ หลวงปู่เดินทางต่อไปวัดถ้ำปากเปียง อำเภอเชียงดาว เพื่อเยี่ยม พระอาจารย์เจริญ ญาณวุฑฺโฒ ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงปู่เอง พระอาจารย์เจริญได้จัดกุฏิไม้สักซึ่งอยู่ติดหน้าผาถวายให้หลวงปู่พำนัก อากาศเย็นมาก

วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2528 หลวงปู่ขึ้นถ้ำผาปล่องเพื่อกราบนมัสการ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร แต่ไม่พบ หลวงปู่สิมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ลงจากถ้ำผาปล่อง หลวงปู่เข้าชมถ้ำเชียงดาวแล้วกลับไปพักที่วัดถ้ำปากเปียง

วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2528 ฉันเช้าเสร็จที่วัดถ้ำปากเปียง แล้วเตรียมบริขารขึ้นรถตู้เดินทางเข้าเมืองเชียงใหม่ หลวงปู่และคณะศิษยานุศิษย์ผู้ติดตามแวะนมัสการพระเจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวง วรวิหาร แล้วเดินทางต่อไปนมัสการพระธาตุหริภุญชัย วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน จากนั้นไปนมัสการพระพุทธบาทตากผ้า ที่วัดพระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน และได้กราบนมัสการสรีระศพ พระสุพรหมยานเถร (หลวงปู่วัดพระพุทธบาทตากผ้า) ด้วย แล้วเดินทางกลับเมืองเชียงใหม่ แวะโปรดคุณพ่อวิจิตรและแม่สายบัวที่บ้านพัก เพื่อรอเวลาเครื่องบินเวลา 20.00 น. เดินทางไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินเชียงใหม่เดินทางกลับกรุงเทพฯ หลวงปู่พักที่กรุงเทพฯ ไม่นาน ก็เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส

เดินทางไปเชียงใหม่ครั้งที่ 2

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 คุณนิดา ชิตานนท์ ได้กราบอาราธนาให้หลวงปู่เดินทางลงกรุงเทพฯ เพื่อตรวจตาข้างขวาของหลวงปู่อีกครั้งหนึ่ง ว่าต้อกระจกที่เป็นอยู่แก่หรือยัง สมควรที่จะผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ใหม่ได้หรือยัง หลวงปู่รับอาราธนาเดินทางลงกรุงเทพฯ โดยรถไฟปรับอากาศชั้นหนึ่ง โดยมีข้าพเจ้าผู้เขียนและท่านสนิทเป็นผู้ติดตามไปด้วย เมื่อถึงกรุงเทพฯ ได้พักที่รถราง ซึ่งคุณนิดาได้จัดถวายให้เป็นที่พักของหลวงปู่และพระติดตามต่างหาก ซึ่งอยู่ในบริเวณบ้านส่วนตัว คุณนิดาได้รับหลวงปู่ไปที่ไทยจักษุคลินิก ให้คุณหมอสวัสดิ์ตรวจตาหลวงปู่อีกครั้งหนึ่ง ผลปรากฏว่าต้อยังไม่แก่เต็มที่ หมอจึงให้รอไปก่อน คุณนิดาจึงได้นิมนต์ให้หลวงปู่ไปพักวิเวกที่บ้านแม่เมืองหลวง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 หลวงปู่ออกจากที่พักบ้านคุณนิดาไปสนามบินดอนเมืองเพื่อขึ้นเครื่องบินไปเชียงใหม่ เวลา 07.00 น. เครื่องบินจะออกจากสนามบินดอนเมืองกรุงเทพฯ เมื่อถึงสนามบินดอนเมือง หลวงปู่และผู้ติดตาม คือข้าพเจ้าผู้เขียนและท่านสนิทกับโยมติดตามอีก 2 คน คือคุณนิดาและคุณลำพูน ได้ขึ้นนั่งบนเครื่องบินโดยสารจัมโบ้ขนาดใหญ่ พร้อมผู้โดยสารอีกเต็มลำ หลวงปู่นั่งที่นั่งติดกับผู้เขียน หลวงปู่ท่านเป็นผู้ไม่ประมาทตลอดเวลา เมื่อนั่งเก้าอี้รัดเข็มขัดเรียบร้อยแล้ว ท่านจะหลับตาเข้าที่สงบอยู่เมื่อถึงเวลาตามกำหนดที่เครื่องจะออก ได้ยินเสียงประกาศว่า

“ขออภัยผู้โดยสาร มีความติดขัดทางเทคนิคบางประการ ขอให้รอเวลาอีก 15 นาที”

เมื่อรอถึง 15 นาทีแล้วก็ได้ยินเสียงประกาศอีกว่า “ยังแก้ไขไม่ได้ ขอให้รออีก 15 นาที” จนสุดท้ายรอไปถึง 45 นาที เครื่องบินจึงพาขึ้นจากสนามบินดอนเมือง ในวันนั้นแม่บัวผายได้ให้คุณนิดานิมนต์หลวงปู่และพระติดตาม ให้ไปฉันภัตตาหารเช้าที่บ้านที่เชียงใหม่ด้วย โดยได้เตรียมภัตตาหารเช้าไว้คอย

อนิจจาความไม่แน่นอน

เมื่อเครื่องบินบินไปจะถึงเชียงใหม่แล้ว ได้ยินเสียงประกาศว่า “เครื่องบินไม่สามารถจะลงเชียงใหม่ได้ เพราะเครื่องติดขัดเทคนิคบางประการ จะต้องกลับไปลงที่สนามบินกรุงเทพฯ” ในขณะนั้นพวกฝรั่งที่กำลังเล่นไพ่กันอย่างสนุกสนานอยู่ พากันตาเหลือกตาลานเพราะความกลัวตาย หยุดเล่นกันเงียบเลย สำหรับหลวงปู่ท่านนั่งเข้าที่สงบตั้งแต่เครื่องบินขึ้นจากดอนเมือง จนเครื่องกลับไปลงที่ดอนเมืองอีก ท่านจึงลืมตาขึ้น

เมื่อเครื่องลงถึงสนามบินดอนเมืองแล้วได้ยินเสียงประกาศว่า “เที่ยวบินจะไปเชียงใหม่เปลี่ยนเป็นเวลาบ่าย 1 โมง” ตกลงในวันนั้นหลวงปู่และพระติดตามต้องกลับมาฉันภัตตาหารเช้าที่ดอนเมือง โดยคุณนิดาเป็นผู้จัดถวายเวลา 4 โมงเช้า เมื่อฉันเสร็จแล้วก็รอเครื่องเที่ยวบ่าย 1 โมง อยู่ที่สนามบินดอนเมือง

ส่วนพวกแม่บัวผายที่รออยู่ทางเชียงใหม่ เห็นเครื่องบินไม่ลงตามเวลาก็เกิดความกระวนกระวายใจ คิดว่าเครื่องบินตกหรือเป็นอะไรกัน รอจนถึง 5 โมงเช้า จึงได้ยินประกาศที่สนามบินเชียงใหม่ว่า เครื่องบินติดขัดไม่สามารถลงได้ จึงกลับไปลงที่กรุงเทพฯ จะมาใหม่เวลาบ่าย 2 โมง เป็นอันว่าอาหารที่จัดรอไว้ถวายหลวงปู่และพระติดตาม ญาติโยมทางเชียงใหม่ต้องรับประทานกันเอง

คอยจนถึงเวลา

หลวงปู่และผู้ติดตามคอยเวลาเครื่องไปเชียงใหม่เที่ยวที่ 2 อยู่ที่สนามบินดอนเมือง จนได้เวลาใกล้บ่าย 1 โมง เจ้าหน้าที่เรียกขึ้นเครื่อง หลวงปู่และผู้ติดตามขึ้นนั่งบนเครื่องบิน พร้อมกับผู้โดยสารอื่นในเที่ยวบินเดียวกัน ได้เวลาเครื่องทะยานขึ้นสู่ฟ้า นำพาไปถึงสนามบินเชียงใหม่ เวลาบ่าย 2 โมง ลงจากเครื่องบินเรียบร้อย

พ่อวิจิตรนำรถมารับหลวงปู่และผู้ติดตามจากสนามบินเชียงใหม่ แวะไปพักที่บ้านพ่อวิจิตรแม่บัวผายก่อน ถวายน้ำดื่มน้ำเย็นหลวงปู่และพระติดตาม พักผ่อนพอหายเหนื่อยแล้วพ่อวิจิตรได้จัดรถรับหลวงปู่และผู้ติดตาม รวมทั้งพ่อวิจิตรและแม่บัวผายด้วย ออกจากเชียงใหม่ไปแวะพักที่บ้านป่าแป๋ครู่หนึ่ง จากนั้นรถได้นำขึ้นเขาคดเคี้ยวเลี้ยวไปตามไหล่เขา ถึงวัดป่าบ้านแม่เมืองหลวง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นเวลาเย็น วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 อากาศหนาวเยือกเย็นมาก ที่วัดป่าแม่เมืองหลวงมีพระอยู่ 2 รูป มีท่านทองน้อยเป็นหัวหน้า และสามเณรอีก 1 องค์ พระเณรในวัดให้การต้อนรับและเคารพหลวงปู่เป็นอย่างดี เมื่อรถส่งหลวงปู่และผู้ติดตามถึงวัดป่าแม่เมืองหลวงแล้วเขาก็กลับไป

ที่วัดป่าบ้านแม่เมืองหลวง

ในขณะที่หลวงปู่พักวิเวกอยู่นั้น มีหลวงปู่ ผู้เขียน ท่านสนิทและพระประจำอยู่ที่วัด 2 รูป สามเณร 1 รูป รวมเป็นพระ 5 รูป สามเณร 1 รูป สำหรับโยมที่ติดตามไปปฏิบัติธรรมและทำอาหารบิณฑบาตถวายหลวงปู่นั้น มีคุณนิดา, แม่บัวผาย, คุณพูลและคุณปิ๊ก ทั้ง 4 คน ได้พักอยู่ที่พักสำหรับโยมในวัด ที่วัดป่าแม่เมืองหลวงมีต้นไม้เขียว น้ำสะดวก มีความเงียบสงบวิเวกวังเวง อยู่ท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพร

พระภิกษุสามเณรอาศัยบิณฑบาตที่บ้านแม่เมืองหลวงและบ้านใต้ซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยง บ้านใต้อยู่ห่างวัดประมาณ 1 กิโลครึ่ง บ้านแม่เมืองหลวงอยู่ห่างวัดประมาณ 1 กิโลเมตร หลวงปู่รับบิณฑบาตที่หน้าโรงครัวในวัด เพราะท่านเดินไม่ค่อยสะดวก

เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อในพระธรรมวินัยและข้อวัตรปฏิบัติ

หลวงปู่เป็นผู้ไม่ประมาทไม่หละหลวมในพระธรรมวินัยและข้อวัตรปฏิบัติแม้เล็กๆ น้อยๆ เช่น การทำกัปปิยะโวหารพีชคาม ของที่จะปลูกให้เกิดได้ด้วยลำด้วยใบ หรือที่มีรากติดอยู่ก่อน เรียกว่า “วินัยกรรม” หรือเมื่อเวลามีโยมผู้หญิงเข้ามากราบเรียนถามเรื่องขัดข้องเกี่ยวกับการปฏิบัติด้านจิตตภาวนา หรือจะเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าไม่มีผู้ชายมาด้วย ท่านจะให้เรียกพระเณรหรือลูกศิษย์ผู้ชายมานั่งอยู่เป็นเพื่อน

ถ้ามีแต่ผู้หญิงถึงแม้จะหลายคนก็ตาม ถ้าไม่มีผู้ชายอยู่ด้วยถือว่าผิดพระวินัย การบิณฑบาตเป็นกิจประจำของพระ ถ้าหลวงปู่ท่านยังเดินได้ท่านจะบิณฑบาตก่อน หลวงปู่ท่านสอนว่า “ของใหญ่ๆ ท่อนซุง ท่อนยาง มันไม่เข้าตาของคนหรอก ของเล็กๆ น้อยๆ หยากเยื่อนั้นแหละมันเข้าตาคน” การที่ท่านปฏิบัติก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ลูกศิษย์ลูกหาต่อไป

กิจประจำวันในขณะที่หลวงปู่พักอยู่วัดป่าแม่เมืองหลวงคือ เช้ารับบิณฑบาต ฉันเช้าเสร็จแล้วสนทนาให้ธรรมะแก่ญาติโยม หลังจากนั้นก็เข้าที่ในความสงบในที่พัก ตอนบ่ายบางวันท่านก็เดินเที่ยวตามป่า ดูต้นไม้อันไหนเป็นยารักษาโรคได้ ท่านก็ให้เก็บเอา บ่าย 4 โมงเย็น ศิษย์พระเณรนำน้ำอุ่นไปถวายสรงน้ำหลวงปู่ ตอนหัวค่ำอบรมพระเณรและโยมที่ติดตามไปปฏิบัติธรรม

วันมาฆบูชา พ.ศ. 2529

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 เป็นวันมาฆบูชา ในขณะที่หลวงปู่พักวิเวกอยู่วัดป่าแม่เมืองหลวง ในตอนเช้าหลวงปู่พร้อมด้วยพระเณรรับบิณฑบาต โปรดชาวกะเหรี่ยงที่มารวมกันใส่บาตรในบริเวณวัด ตอนค่ำหลวงปู่นำทำพิธีกล่าวคำถวายบูชาดอกไม้ธูปเทียนเนื่องในวันมาฆบูชาและนำเวียนเทียน เสร็จแล้วนำทำวัตรสวดมนต์เย็น จบแล้วอบรมศีลธรรมแก่ญาติโยมที่มาร่วมทำพิธีมาฆบูชา ซึ่งมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่จากบ้านแม่เมืองหลวงและบ้านใต้ และที่อยู่ไกลคือบ้านขุนห้วยเดื่อ ซึ่งอยู่ห่างจากวัดแม่เมืองหลวงขึ้นเขาลงเขาไป 6 กิโลเมตร

กะเหรี่ยงตัดผี

หลังจากวันมาฆบูชาไม่กี่วัน ได้มีโยมกะเหรี่ยงบ้านขุนห้วยเดื่อมานิมนต์หลวงปู่ไปตัดผีให้ หลวงปู่ไม่สามารถจะเดินถึงบ้านขุนห้วยเดื่อได้เพราะขาท่านไม่ดี หลวงปู่จึงให้ผู้เขียนและพระอีก 2 รูป ไปทำพิธีตัดผีให้โยมกะเหรี่ยงบ้านขุนห้วยเดื่อ เดินจากวัดป่าแม่เมืองหลวง ขึ้นเขาลงห้วย และไปตามลำธารและนาของพวกกะเหรี่ยง ซึ่งทำนาตามที่ราบในหุบเขา เดินไปตามทางพวกกะเหรี่ยงเดินไปมาหากินระหว่างหมู่บ้าน

บางแห่งก็มีกองอิฐพังกระจัดกระจาย ดูแล้วเป็นสถูปเจดีย์สมัยโบราณ เดินไปประมาณชั่วโมงครึ่งถึงลำธารมีน้ำใสเย็นดี ข้ามลำธารไปมองเห็นหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงอยู่เชิงเขา ปลูกบ้านอยู่ที่สูงบ้างต่ำบ้างลดหลั่นกันไป บ้านหลังเล็กๆ พอเดินไปถึงหมู่บ้าน ทีแรกเห็นมีโรงยาวประมาณ 8 เมตร มุงด้วยใบตองตึงมีเสาธงชาติปักอยู่ ถามโยมกะเหรี่ยงที่พาเดินทางไป ได้ความว่าเป็นโรงเรียนบ้านขุนห้วยเดื่อ แต่ไม่มีนักเรียน เขาบอกว่าวันนี้นักเรียนไม่มาเรียน คือวันไหนนักเรียนมาครูก็สอน วันไหนนักเรียนไม่มาครูก็ไม่สอน เพราะยังบังคับไม่ได้

เมื่อเดินไปถึงบ้านโยมที่ต้องการตัดผี เขาก็นิมนต์ให้ขึ้นบนบ้าน บ้านพวกกะเหรี่ยงหลักเล็ก เสาไม้ก่อ หลังคามุงด้วยใบตองตึง แอ้มด้วยฝาฟากไม้ไผ่ บางหลังก็แอ้มด้วยฝาใบตองตึง ปูด้วยฟากไม้ไผ่ เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว เจ้าของบ้านก็นำน้ำร้อนต้มรากไม้ และกระบอกเกลือหมากเม็ดพร้อมถ้วยสำหรับกินน้ำร้อนเข้ามาถวาย รับประเคนด้วยความเอื้อเฟื้อแล้ววางไว้

แล้วผู้เขียนก็ถามไถ่กับเจ้าของบ้านว่า “ทำไมจึงอยากตัดผี” เขาบอกว่า “ถือผีอยู่กับผีลำบากยุ่งยากหลายอย่าง คีไฟ (ที่ก่อไฟ) ก็เอาไว้กลางเรือน ทำให้ดำสกปรกไปหมด ทำอะไรก็คอยแต่จะผิดผี อย่างลูกสาวแต่งงานกับสามีออกเรือนไปแล้ว พอพ่อแม่เหลืออยู่บ้านคนเดียว จะกลับเข้ามาอยู่ด้วยก็ไม่ได้ ผิดผี ผีของชาวกะเหรี่ยงมีมาก มีอยู่ที่บันไดขึ้นบ้าน อยู่ที่ตุ่มน้ำกิน อยู่ที่เล้าหมูเล้าไก่ อยู่ที่หม้อต้มแกง อยู่ที่ประตูเรือน อยู่ที่คีไฟกลางเรือน ลำบากกับการเลี้ยงบวงสรวงผี และปฏิบัติตามกฎของผี ฉะนั้นเขาจึงอยากตัดผีทิ้งไป”

เมื่อได้ฟังอย่างนั้นผู้เขียนจึงกล่าวนำให้เจ้าของบ้านไหว้พระ แล้วประกาศตนถึงพระรัตนตรัยและสมาทานศีลห้า เสร็จแล้วสวดมนต์ทำน้ำพระพุทธมนต์พรมให้ทั้งบ้านทั้งคน แล้วก็ถอนก้อนเส้าที่อยู่คีไฟกลางเรือนสำหรับหุงข้าวต้มแกงออก เพื่อให้ทำเรือนไฟต่างหาก เสร็จแล้วก็สอนเขาให้สวดมนต์ไหว้พระและเจริญเมตตาภาวนา ระลึกถึงพุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นอารมณ์ประจำใจ ให้เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ตามแบบที่หลวงปู่เคยสอนมา เสร็จบ้านหนึ่งก็ไปอีกบ้านหนึ่ง ในวันนั้นมี 5 หลังคาเรือนที่ให้ทำพิธีตัดผีให้

ซาบซึ้งในน้ำใจของยายแก่

มีบ้านหลังหนึ่ง เจ้าของบ้านเป็นยายแก่ตัวดำขะมุกขะมอม อาศัยใต้ยุ้งข้าวเล็กๆ ต่อเพิงหลังคาใบตองตึงรอบยุ้งข้าว ยายอาศัยอยู่คนเดียว ยายมีลูกสาวคนหนึ่ง แต่งงานแล้วมีลูกออกเรือนอยู่กับสามี ต่อมาสามีหย่าทิ้งให้อยู่กับลูกชายเล็กๆ คนหนึ่ง ลูกสาวนั้นจะกลับมาอยู่กับยายก็ไม่ได้ ถ้ากลับมาก็ผิดผี ยายจึงต้องการตัดผีเพื่อจะให้ลูกสาวกลับมาอยู่ด้วย

เมื่อผู้เขียนพร้อมพระอีก 2 รูป และพ่อโป๊กวา ซึ่งเป็นโยมผู้ชายชาวกะเหรี่ยงที่ติดตามไปด้วย ไปถึงบ้านยายแก่ มันเป็นใต้ถุนยุ้งข้าว หมอบเข้าไปนั่งพื้นยุ้งข้าวพอพ้นศีรษะ ในเรือนดำไปด้วยเขม่าเพราะคีไฟ (ที่ก่อไฟหุงต้ม) อยู่กลางเรือน จีวรมอมแมมไปด้วยเขม่าไฟ ทำพิธีตัดผีด้วยการนำยายไหว้พระ สมาทานศีลห้า แล้วสวดมนต์พรมน้ำมนต์ให้ สอนให้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ เว้นจากการทำบาป ตั้งอยู่ในการทำความดี มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง

เสร็จแล้วยายได้นำน้ำอ้อยก้อนหนึ่งขนาดเท่าสองนิ้วมือเข้ามาถวาย เพราะปัจจัยไทยทานอย่างอื่นของยายไม่มี ยายมีอยู่เพียงน้ำอ้อยก้อนเดียวเท่านั้น ในขณะนั้นทำให้ผู้เขียนเกิดความซาบซึ้งในน้ำใจเสียสละของยายหาสิ่งจะเปรียบมิได้ และได้รับให้ยายด้วยความตื้นตันใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้สงเคราะห์ชาวกะเหรี่ยงบ้านขุนห้วยเดื่อทั้ง 5 หลังคาเรือนให้ตั้งอยู่ในพระรัตนตรัยแล้ว จึงเดินทางกลับวัดป่าแม่เมืองหลวง ถึงวัดเป็นเวลาเย็นมาก จึงได้กราบเรียนให้หลวงปู่ทราบด้วยความเอิบอิ่มใจ

กลับจากวัดป่าแม่เมืองหลวง

หลวงปู่พาพักวิเวกอยู่ที่วัดป่าแม่เมืองหลวง จนถึงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2529 จึงเดินทางกลับ เช้าวันที่ 5 หลังจากฉันบิณฑบาตเช้าแล้วรถเข้าไปรับ อำลาญาติโยมชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่เมืองหลวงแล้ว หลวงปู่และผู้ติดตามลาพระเณรในวัด กล่าวมอบเสนาสนะแล้วขึ้นรถกลับ พอมาถึงหลังเขาลูกศิษย์ขอถ่ายรูปหลวงปู่เป็นอนุสรณ์ ออกมาถึงบ้านป่าแป๋ แม่บัวผายนิมนต์ให้หลวงปู่แวะฉันน้ำที่ร้านบ้านป่าแป๋ด้วย ต่อจากนั้นจึงเดินทางเข้าเชียงใหม่

ขึ้นดอยสุเทพ

เมื่อมาถึงเชียงใหม่ โยมพ่อวิจิตร ได้พาหลวงปู่ขึ้นไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพ รถนำหลวงปู่และคณะศิษยานุศิษย์ผู้ติดตามวิ่งตามถนนคดเคี้ยวขึ้นสู่ยอดดอยสุเทพ ถึงลานจอดรถ หลวงปู่และคณะศิษยานุศิษย์ผู้ติดตามลงจากรถ แล้วท่านพยายามเดินขึ้นไปสู่พระธาตุดอยสุเทพด้วยตัวท่านเอง คณะศิษยานุศิษย์เป็นห่วงหลวงปู่เพราะขาของท่านไม่ดี หลวงปู่นำพาคณะศิษยานุศิษย์ผู้ติดตามกราบนมัสการพระธาตุและพระประธานในพระวิหาร เสร็จแล้วเดินทางกลับเข้าเชียงใหม่ แวะพักที่บ้านโยมพ่อวิจิตร เวลา 20.00 น. โยมพ่อวิจิตรและแม่บัวผาย ไปส่งหลวงปู่และคณะศิษยานุศิษย์ผู้ติดตามที่สนามบินเชียงใหม่ เมื่อได้เวลาเครื่องบินพาทะยานขึ้นสู่อากาศ เดินทางถึงกรุงเทพฯ เวลา 22.00 น. หลวงปู่พักที่กรุงเทพฯ ไม่กี่วันก็เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส จังหวัดอุดรธานี


(มีต่อ 18)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง