Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
วีรยุทธ
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 24 มิ.ย. 2005
ตอบ: 1790
ที่อยู่ (จังหวัด): สกลนคร

ตอบตอบเมื่อ: 29 มิ.ย.2007, 1:41 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ประวัติและปฏิปทา
พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์
(หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)


วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก)
ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี



๏ ปฐมวัย

หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม เป็นชาวมุกดาหาร เดิมชื่อ ถิร บุญญวรรณ เกิดเมื่อวันพุธที่ ๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๕๙ ตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะโรง บิดาชื่อ นายลอย บุญญวรรณ เป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านสิงห์มงคลใต้ อำเภอมุกดาหาร (ปัจจุบันถูกตั้งให้เป็นจังหวัดมุกดาหารแล้ว) ขึ้นกับจังหวัดนครพนม มารดาชื่อ นางช่วย บุญญวรรณ เป็นคนถิ่นเดียวกันกับบิดา ครอบครัวของหลวงปู่เป็นชาวนา และหลวงปู่มีพี่น้องทั้งหมด ๖ คน ดังนี้

๑. นางอ่อนจันทร์ บุญญวรรณ
๒. นายอ้อย บุญญวรรณ
๓. พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)
๔. นางกมกรรณ บุญญวรรณ
๕. นายหวัน บุญญวรรณ เป็นนายช่าง
๖. นายเหวย บุญญวรรณ เป็นข้าราชการครู

ในวัยเด็ก หลวงปู่ได้เรียนหนังสือภาคบังคับเหมือนเด็กทั่วไป ที่โรงเรียนมุกดาลัย อำเภอมุกดาหาร ซึ่งในขณะนั้นขึ้นกับจังหวัดนครพนม และในระหว่างเรียนชั้นประถมศึกษานี้มักป่วยเป็นโรคปวดท้องอย่างรุนแรง บางทีถึงกับสลบหมดสติไป ซึ่งเหตุการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ปีละครั้ง โดยไม่ทราบสาเหตุ

จนอายุประมาณ ๑๐ ปีบังเกิดความคิดว่า ชีวิตมนุษย์นี้ช่างวุ่นวาย และโลกนี้ช่างคับแคบจริงๆ รู้สึกอึดอัดเบื่อหน่าย ไม่ทราบว่าตัวเองควรจะดำเนินชีวิตไปอย่างไรดี (ความตอนนี้ได้กราบเรียนขอคำอธิบายจากหลวงปู่ และหลวงปู่ได้เมตตาอธิบายว่า ที่ท่านคิดเช่นนี้มีสาเหตุมาจากการป่วย เพราะคนเราเกิดมาเหมือนถูกคุมขังด้วยความเจ็บป่วย เกิด แก่ เจ็บ ตาย) จึงอธิษฐานว่า ถ้าเราไม่มีบุญบารมี เราจะหนีไปตายดีกว่า (หมายความว่า ถ้าเราไม่มีบุญก็จะขอตายเสียเลยดีกว่า) แต่อาการป่วยด้วยโรคปวดท้องก็ยังคงเป็นอยู่ประจำทุกปี แม้จะได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ก็ยังไม่หาย จนต่อมาภายหลังเมื่อได้บวชเป็นพระแล้วอาการปวดท้องดังกล่าวจึงหายไป

สมัยนั้นจะมีวัดประจำหมู่บ้าน ชาวบ้านเรียกว่าวัดบ้าน เมื่อหลวงปู่ไปวัด เห็นผ้ากาสาวพัสตร์ที่พระท่านครองอยู่ รู้สึกสบายใจทุกครั้ง จึงยึดถือเป็นแนวทางไว้ในขณะนั้นว่า เมื่อโตขึ้นเราจะบวช และต่อมาเมื่ออายุประมาณ ๑๐ กว่าปี จึงได้ขอบิดาไปเป็นลูกศิษย์วัดอยู่ที่ วัดยอดแก้วศรีวิชัย (วัดกลาง) ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม (ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ในปัจจุบัน) คอยรับใช้บริการพระในวัด พร้อมกับเรียนหนังสือตามปกติ จนจบหลักสูตรชั้นสูงสุดของประถมศึกษาในสมัยนั้น แล้วได้ศึกษาต่อในหลักสูตรเร่งรัด ด้วยหวังว่าวันหนึ่งข้างหน้าเมื่อจบการศึกษาแล้วจะสามารถออกมารับราชการได้

Image
พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม) กับ พระอุปัฏฐาก

Image
พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม) นำพาคณะสงฆ์รับบิณฑบาต


(มีต่อ ๑)
 

_________________
ท่านสามารถฟังวิทยุเสียงธรรมหลวงตามหาบัวได้ทั่วประเทศ
และโทรทัศน์ดาวเทียมเสียงธรรมทั้งภาพและเสียงได้แล้วที่
http://www.luangta.com
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 13 ม.ค. 2011, 1:42 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล

Image
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต


๏ ชีวิตในเพศพรหมจรรย์

เมื่อเรียนหลักสูตรเร่งรัดจบแล้ว หลวงปู่เกิดความต้องการที่จะบวชเป็นเณรเพื่อจะได้ศึกษาต่ออีก ด้วยในสมัยนั้นการศึกษาของกุลบุตรกุลธิดาต้องศึกษาในวัด ถ้าเป็นฆราวาสจะได้เรียนเพียงชั้นประถมศึกษาซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ หลักสูตรการเรียนของสามเณรในสมัยนั้นได้บรรจุหลักสูตรการฝึกหัดครู และวิชาพระพุทธศาสนา วิชาภาษาบาลีและสันสกฤต ควบคู่กันไป ซึ่งใน ๑ ปีการศึกษาเปิดสอนเพียง ๓ เดือนเท่านั้น

หลวงปู่จึงขออนุญาตบิดาบวชเณร บิดาท่านก็อนุญาตให้บวชที่วัดยอดแก้วศรีวิชัย (วัดกลาง) ที่หลวงปู่เป็นลูกศิษย์วัดอยู่นั่นเอง ในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยมี พระมหาแก้ว รัตนปัญโญ เป็นพระอุปัชฌาย์ ขณะนั้นหลวงปู่อายุได้ ๑๖ ปี เมื่อบวชแล้ว บิดาได้พามาอยู่ที่ วัดป่าศิลาวิเวก อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม (ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ในปัจจุบัน) ที่บิดาและลุงได้ร่วมกันสร้างไว้ วัดนี้เป็นวัดธรรมยุตที่ในขณะนั้น ท่านพระอาจารย์ดี ฉนฺโน เป็นเจ้าอาวาส

หมายเหตุ : พระอาจารย์ดี ฉนฺโน เดิมเป็นพระมหานิกาย ท่านเป็นพระที่มีใจคอหนักแน่นเด็ดเดี่ยว เก่งทางช่างไม้ ช่างก่อสร้าง แกะสลัก เขียนภาพ ช่างเหล็ก ช่างปั้นดินเผา และมีความรู้ทางยาแผนโบราณ เรื่องว่าน เลียงผา ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นผู้มีคาถาอาคม เช่น วิชากำบังตัว คงกระพันชาตรี เชี่ยวชาญในการปราบผีทุกชนิด เป็นต้น ตอนหลังมาได้ญัตติเป็นธรรมยุติกนิกาย โดยฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ใน พ.ศ. ๒๔๖๕ ท่านจึงหันมาสนใจการปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้น เพื่อนรุ่นสหธรรมิกของท่าน คือ เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน), เจ้าพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์), พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล, พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม, พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล และหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เป็นต้น (จากหนังสือชีวประวัติอภินิหารของพระอาจารย์ดี ฉนฺโน หน้า ๑๗)

พระอาจารย์ดี ฉนฺโน ได้ให้การอบรมหลวงปู่ถึงวิธีการบำเพ็ญเพียรภาวนาสมาธิและกัมมัฏฐานอยู่ ๒ พรรษา ทางด้านสมถกัมมัฏฐาน ได้เน้นให้บริกรรมพุทโธพร้อมทั้งอานาปานสติด้วย ส่วนทางด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้เน้นให้พิจารณากายานุปัสสนา ต่อมาเมื่อขึ้นพรรษาที่ ๓ หลวงปู่จึงเริ่มออกเดินธุดงค์ไปเองเรื่อยๆ โดยมีเด็กรับใช้ติดตามไปด้วย ๑ คน ชื่อเด็กชายทองมา เป็นชาวอำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันถูกตั้งให้เป็นจังหวัดอำนาจเจริญแล้ว) สำหรับ “ธุดงค์” นั้น เป็นข้อวัตรปฏิบัติที่พระป่า พระอริยเจ้าทั้งหลายถือปฏิบัติ พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ เรียกว่า ธุดงควัตร มี ๑๓ ข้อ แล้วแต่ผู้ใดจะเลือกปฏิบัติข้อใด

วันหนึ่งได้เดินธุดงค์ไปถึงวัดกลาง ซึ่งเป็นวัดมหานิกายแห่งหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และได้ตัดสินใจศึกษาต่อเน้นหลักสูตรการฝึกหัดครู เพื่อจะได้ออกไปรับราชการได้ในภายหลัง แต่คงเป็นด้วยอำนาจบุญบารมีที่จะทำให้หลวงปู่ได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์ต่อไป จึงได้เกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น กล่าวคือ บังเอิญวันนั้นเป็นวันพระ ที่วัดมีงานปลงผม (โกนผม) พระในวัด หลวงปู่ได้ช่วยงานปลงผมพระจำนวน ๓๐ รูป

หลังจากช่วยงานเสร็จแล้วรู้สึกอ่อนเพลียมาก จึงได้กลับไปจำวัด (นอน) เมื่อตื่นนอนขึ้นมา ปรากฏว่าไม่สามารถลุกขึ้นได้ มีอาการชาตามแขนขา ไม่มีเรี่ยวแรง ซึ่งอาการเช่นนี้หลวงปู่เล่าว่าเป็นอยู่นานประมาณ ๖ เดือน จึงทำให้ไม่สามารถศึกษาต่อดังที่ตั้งใจไว้ได้ และด้วยอานิสงส์แห่งบุญบารมีในอดีตชาติที่ได้บำเพ็ญเพียรมา จึงทำให้ขณะที่ป่วยนั้นเกิดมีแรงดลใจนึกรู้ขึ้นมาเอง (นิรุตติ) ว่า จะหายป่วยจากโรคนี้ได้จะต้องกลิ้งตัวบนยอดหญ้าที่มีน้ำค้างเกาะ แล้วต้องอาบน้ำอุ่นจัดประมาณ ๒ โอ่งมังกร ทุกเช้า ทุกวัน จึงจะหาย ดังนั้น หลวงปู่จึงได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ระลึกรู้ขึ้นมานั้น เมื่อปฏิบัติแล้วได้มานั่งพิจารณาตามเนื้อตัวของตนเอง พบว่ามีเหงื่อผุดออกมาตามรูขุมขน ขนาดใหญ่เท่าเม็ดข้าวโพด แม้จะเอาผ้าเช็ดตัวมาเช็ด เหงื่อก็ยังผุดออกมาตลอดเวลา ทำให้ตัวเบาขึ้น

หลวงปู่ได้ปฏิบัติเช่นนี้ทุกวัน ตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงกลางเดือนธันวาคม อาการดีขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อหายป่วยแล้วได้เดินทางกลับอำเภอมุกดาหาร (ปัจจุบันถูกตั้งให้เป็นจังหวัดมุกดาหารแล้ว) ขณะนั้นมีอายุย่างเข้า ๒๐ ปี จึงตั้งใจจะบวชเป็นพระ เพราะอายุครบที่จะบวชพระได้แล้ว และคิดเสียสละชีวิตดังที่เคยอธิษฐานไว้ว่า “ถ้าไม่มีบุญบารมีก็จะหนีไปตายดีกว่า” บิดาจึงทำพิธีบวชพระให้ในวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ โดยมี พระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสารภาณมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระอธิการทอง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ที่ วัดหัวเวียงรังษี ตำบลพระธาตุ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม โดยพระอุปัชฌาย์ขนานนามเป็นภาษามคธให้ว่า “ฐิตธมฺโม” แปลว่า “ตั้งมั่นในธรรม”

เมื่อบวชแล้ว ได้กลับมาจำพรรษาที่วัดป่าศีลาวิเวกกับท่านพระอาจารย์ดี ฉนฺโน เช่นเดิม ที่วัดนี้หลวงปู่ได้เริ่มฝึกปฏิบัติตนตามแนวพระป่าอย่างจริงจัง ด้วยอุปนิสัยเดิมที่ติดตัวมาจากอดีตชาติ จนกระทั่งเข้าพรรษาที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๐ (อายุประมาณ ๒๑ ปี หลวงปู่จึงเดินทางไปยัง วัดเกาะแก้วอัมพวัน ตำบลพระธาตุ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล จำพรรษาอยู่ แต่ในพรรษานั้นหลวงปู่เสาร์ได้ไปจำพรรษาที่จังหวัดอุบลราชธานี ทำให้หลวงปู่ไม่ได้พบกับหลวงปู่เสาร์

ขณะที่จำพรรษาอยู่วัดเกาะแก้วอัมพวันแห่งนี้ หลวงปู่ได้เริ่มอดอาหารเพื่อทรมานสังขารเป็นครั้งแรก ฉันแต่น้ำปานะเท่านั้น นับเป็นเวลา ๑๕ วัน และปักกลดในป่าช้าตลอดพรรษา (โสสานิกังคะ คือ ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร) การฝึกอดอาหารนี้พระป่านิยมฝึกปฏิบัติกัน เพราะช่วยทำให้ตัวเบา ไม่ง่วงเหงาหาวนอน มีผลดีต่อการบำเพ็ญเพียรสมาธิภาวนา ซึ่งจะทำให้สามารถปฏิบัติสมาธิภาวนาได้ต่อเนื่องยาวนาน เกิดความก้าวหน้าในการฝึกจิต ส่วนการทรมานสังขารและปักกลดในป่าช้า จะเป็นการช่วยฝึกสติ ทำให้ไม่ประมาท หลังจากออกพรรษาแล้ว หลวงปู่จึงเดินทางกลับมาที่วัดป่าศีลาวิเวก ขณะนั้น ท่านพระอาจารย์เกียง เป็นเจ้าอาวาสสืบแทนท่านพระอาจารย์ดี ฉนฺโน ซึ่งย้ายไปอยู่ วัดบ้านกุดแห่ (วัดป่าสุนทราราม) อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี (ตำบลกุดแห่ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ในปัจจุบัน) ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๘๑

Image
พระอาจารย์ดี ฉนฺโน พระอาจารย์ของหลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม

Image
พระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย)

Image
เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน)

Image
เจ้าพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)

Image
พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม

Image
พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล

Image
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ


(มีต่อ ๒)
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 14 ม.ค. 2011, 6:15 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
พระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร พระอาจารย์ของหลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม


ในเวลาต่อมา พระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร เจ้าอาวาสวัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี (พระอาจารย์อุ่น เดิมอยู่วัดศรีษะเกษ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม แต่เดิมท่านญัตติเป็นมหานิกาย ต่อมาญัตติใหม่เป็นธรรมยุติกนิกาย มีนิสัยเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติบำเพ็ญเพียรภาวนาอย่างอุกฤษฏ์ อดนอน และฉันเจตลอดชีวิต พระอาจารย์อุ่นได้เดินทางมาเที่ยววิเวกที่วัดป่าศิลาวิเวก และเมื่อท่านจะเดินทางกลับ ได้ชักชวนพระติดตามไปด้วยอีก ๓๐ รูป ซึ่งในพระกลุ่มนี้มี หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม รวมอยู่ด้วย การเดินทางติดตามพระอาจารย์อุ่นมาจังหวัดอุดรธานี ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกที่หลวงปู่ได้มาจำพรรษาที่วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) และได้จำพรรษา ณ วัดแห่งนี้ตั้งแต่นั้นมาจวบจนปัจจุบันนี้

ที่วัดบ้านจิก พระทุกรูปถือปฏิปทาการฉันเจเป็นวัตร เนื่องจากนายพันตำรวจโทพระยงค์พลพ่าย กับภรรยาคือคุณแม่ทิพย์ ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากสำคัญของวัดนี้ ได้มีศรัทธาประกอบอาหารเจถวายพระอยู่เสมอ (อาหารเจในสมัยนั้นไม่มีผักผลไม้มากมายเหมือนปัจจุบัน จะมีเพียงพริกโขลกผสมกับเกลือและผักบางชนิดเท่านั้น) การฉันเจนี้ช่วงแรกๆ ที่ฉัน ร่างกายยังปรับตัวไม่ได้ จะมีอาการอ่อนเพลีย แต่พระทุกรูปพอใจที่จะฉันเช่นนี้เนื่องจากถือว่าเป็นการฝึกทรมานตนเองไม่ให้ติดในรสชาติของอาหาร เมื่อออกธุดงค์ไปในป่าจะได้มีความอดทน สามารถฉันตามมีตามเกิดได้

เมื่อย่างเข้าพรรษาที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๘๔ หลวงปู่มีอายุประมาณ ๒๔ ปี พระอาจารย์อุ่นเริ่มนำคณะซึ่งประกอบด้วยหลวงปู่ และพระเณรประมาณ ๓๐ รูป ออกธุดงค์ เมื่อเดินทางไปถึงบ้านปากดง หลวงปู่เกิดมีความคิดที่จะกลับไปศึกษาต่อเพื่อออกไปรับราชการใช้ชีวิตอย่างฆราวาสอีก จิตมันถอยกลับไม่อยากอยู่เป็นพระอีกต่อไป จึงได้เดินทางกลับมายังวัดบ้านจิก ส่วนพระอาจารย์อุ่นยังคงอยู่ที่บ้านปากดงเช่นเดิม

แต่เป็นเรื่องที่แปลกมาก ทุกครั้งที่พระอาจารย์อุ่นบำเพ็ญภาวนา จิตจะไม่ยอมรวมลง และมักจะเกิดนิมิตเห็นหน้าหลวงปู่อยู่เสมอ จิตอ่อน น้ำตาตกใน จึงปรารภกับตัวเองว่า พระองค์นี้สำคัญแค่ไหน แม่ของเราแท้ๆ ซึ่งเราเองก็คลอดออกมาจากท้องแม่ เมื่อแม่เสียชีวิตเรายังไม่ถึงกับน้ำตาไหลเลย ทำไมพระองค์นี้จึงทำให้น้ำตาเราไหลได้ จึงอธิษฐานจิตก่อนนั่งสมาธิเพื่อขอทราบว่า พระองค์นี้มีบุญบารมีเพียงใด เมื่อนั่งภาวนาต่อไปอีก ๒ ชั่วโมง สมาธิจึงลงได้

เกิดนิมิตครั้งแรก พบว่าพระอาจารย์อุ่นและหลวงปู่ได้ธุดงค์เข้าไปในป่า ซึ่งทางเข้าป่านั้นมีศาลาที่พักริมทางสำหรับคนเดินทาง หลวงปู่ได้นิมนต์พระอาจารย์อุ่นให้นั่งพักบนศาลา และในขณะนั้นมีชีปะขาวรูปหนึ่งขึ้นมาถวายน้ำ

พระอาจารย์อุ่นจึงพูดขึ้นว่า น้ำใสจริง แล้วต่างองค์ต่างก็ฉันน้ำจนหมดแก้ว

จากนั้นหลวงปู่จึงพูดขึ้นว่า ถึงเวลาแล้วจะต้องเดินทาง

และเมื่อเดินทางเข้าไปในป่า พระอาจารย์อุ่นเดินนำหน้าไปถึงกลางดง ได้พบท่อนซุงท่อนใหญ่ล้มขวางทางอยู่ หลวงปู่จึงนิมนต์พระอาจารย์อุ่นให้นั่งภาวนาบนท่อนซุงนั้น โดยทั้งสององค์จะนั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเหมือนกัน

พระอาจารย์อุ่นหันมามองหลวงปู่ เห็นหลวงปู่เคี้ยวหมากปากเปื้อนน้ำหมากเป็นสีแดง จึงถามว่า ท่านทำไมจึงเคี้ยวหมากปากแดง

หลวงปู่ตอบว่า ชาวบ้านเขาถวายหมาก ท่านอาจารย์จะรับหมากด้วยกันหรือไม่

พระอาจารย์อุ่นจึงตอบว่า ไม่ ขี้เกียจบ้วนน้ำหมาก

หลวงปู่จึงพูดว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเดินทาง

ในระหว่างที่เดินทางไปธุดงค์ในนิมิตนั้น หลวงปู่ได้บ่นกับพระอาจารย์อุ่นว่า ทำไมหนอการบำเพ็ญเพียรจึงต้องทุกข์ยากลำบากขนาดนี้

พระอาจารย์อุ่นได้ตอบว่า ทุกข์มากเท่าใด เราก็จะได้รับความสุขมากเท่านั้น (หมายความว่า ทุกข์เป็นของมีค่า บุคคลใดได้เห็นทุกข์ บุคคลนั้นย่อมหาเหตุแห่งการพ้นทุกข์ และบุคคลนั้นย่อมมีโอกาสพ้นทุกข์ได้นั่นเอง)

ขณะเดินทางในนิมิตนั้น หลวงปู่จะถือไม้กวาดทางมะพร้าวกวาดทางเดิน พร้อมทั้งสะพายเครื่องอัฐบริขารไปด้วย

พระอาจารย์อุ่นเดินตามมาข้างหลังจึงถามหลวงปู่ว่า ไม่หนักหรือเพราะต้องสะพายทั้งเครื่องอัฐบริขารและกวาดทางเดินไปด้วย กวาดเพื่ออะไร

หลวงปู่ตอบว่า กวาดเพื่อปัดขวากหนามออก ทำให้คนเดินทางได้สะดวกขึ้น

พระอาจารย์อุ่นจึงบอกว่า วางเครื่องอัฐบริขารลงก่อน จะได้ไม่หนัก

หลวงปู่ตอบว่า หนักไม่เป็นไร

เมื่อเดินทางต่อไปเรื่อยๆ จะพบทางสองแพร่ง ทางหนึ่งเป็นทางชัน มีเสียงการละเล่นมหรสพดังมาด้วย อีกทางหนึ่งเป็นทุ่งหญ้า หลวงปู่ตัดสินใจจะเดินไปทางชันที่มีเสียงมหรสพ แต่พระอาจารย์อุ่นบอกว่าให้ไปทางที่มีทุ่งหญ้าดีกว่า แล้วเดินนำทางไป หลวงปู่จึงเดินตามพระอาจารย์อุ่นไป และพบว่าทุ่งหญ้านั้นเขียวขจี เรียบและนุ่มประดุจพรมกำมะหยี่ หลวงปู่จึงพูดขึ้นว่า ถึงเวลานั่งภาวนาแล้ว

ทั้งพระอาจารย์อุ่นกับหลวงปู่จึงนั่งลงภาวนาหันหน้าเข้าหากัน

เมื่อนั่งภาวนาไปได้พักหนึ่ง หลวงปู่จึงแบมือทั้งสองข้างออกมาข้างหน้าพร้อมกับกล่าวว่า คนเรียนเหมือนคนนอนหลับ คนปฏิบัติเหมือนคนแบมือรับ

พระอาจารย์อุ่นกล่าวตอบรับว่า จริงแล้ว พร้อมกับยื่นลูกแก้วให้ ๒ ลูก ลูกหนึ่งเป็นสีขาว อีกลูกหนึ่งเป็นสีเหลือง

หลวงปู่กำลูกแก้วไว้ในมือข้างละลูก เมื่อลุกขึ้นยืนจะเอาลูกแก้วใสเก็บไว้ในย่าม ปรากฏว่าตัวท่านมีย่าม ๒ ใบ สะพายอยู่ข้างซ้ายและขวา จึงใส่ลูกแก้วลงในย่ามข้างละใบพร้อมทั้งกล่าวว่า ถึงเวลาต้องเดินทางต่อแล้ว

(ความตอนนี้หลวงปู่ได้เมตตาอธิบายความหมายให้ฟังว่า คนเรียนเหมือนคนนอนหลับ หมายความว่า คนที่เรียนรู้แต่ทฤษฎีเป็นคนไม่รู้จริง เปรียบเสมือนคนนอนหลับ คนปฏิบัติเหมือนคนแบมือรับ หมายความว่า คนที่เรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติหรือผู้ที่ปฏิบัติจริงจังจึงจะเป็นผู้รู้จริง เปรียบเสมือนคนแบมือออกรับ ลูกแก้วสีขาวก็คือแก้วรัตนตรัยหรือความบริสุทธิ์ ลูกแก้วสีเหลืองก็คือสีผ้ากาสาวพัสตร์ ซึ่งเป็นสีธงชัยของพระอริยเจ้านั่นเอง)

เมื่อเดินทางออกมาพ้นจากทุ่งหญ้าก็พบทางสามแพร่ง มีวงเวียนอยู่ตรงกลางปรากฏเห็นปราสาท ๓ หลัง แต่ละหลังหันไปทางทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ตามลำดับ ปราสาททุกหลังจะประดับด้วยแก้ว พระอาจารย์อุ่นให้หลวงปู่ไปตรวจดูปราสาทแต่ละหลังก่อนที่จะขึ้นไปนั่งภาวนา เมื่อหลวงปู่ขึ้นไปบนปราสาทหลังแรก ปรากฏว่าพระอาจารย์อุ่นก็เดินขึ้นไปบนปราสาทอีกหลังหนึ่งแล้ว พระอาจารย์ทั้งสองต่างพูดขึ้นพร้อมกันว่า เสนาสนะนี้เป็นที่สัปปายะ จิตพระอาจารย์อุ่นก็ถอนออกจากสมาธิ ทั้งหมดนี้เป็นนิมิตในวันแรกของการอธิษฐาน


Image
รูปภาพหลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม และพระอาจารย์ของหลวงปู่


(มีต่อ ๓)
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 ม.ค. 2011, 8:33 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
พรรษาแรกที่พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)
มาจำพรรษาที่วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๑



ในคืนต่อมา ขณะท่านพระอาจารย์อุ่นนั่งภาวนา ก็เกิดนิมิตขึ้นอีก โดยในนิมิตเห็นหลวงปู่พูดว่า ท่านพระอาจารย์ สภาพธรรมเป็นอย่างนี้เชียวหรือ

พระอาจารย์อุ่นจึงตอบว่า ใช่แล้ว จิตก็ถอนออกจากสมาธิ (นิมิตตอนนี้หมายความว่า การบำเพ็ญเพียรปฏิบัติที่ผ่านมาของหลวงปู่ถูกต้องแล้ว โดยมีพระอาจารย์กล่าวรับรอง)

เมื่อพระอาจารย์อุ่นพิจารณานิมิตแล้ว จึงให้คนมานิมนต์หลวงปู่ที่วัดบ้านจิกกลับไปที่บ้านปากดง แล้วเล่านิมิตให้หลวงปู่ฟัง พร้อมทั้งกำชับให้หลวงปู่จดบันทึกไว้ นิมิตทั้งหมดนี้เปรียบเสมือนคำทำนายคดีและอนาคตข้างหน้าของหลวงปู่ถิรนั่นเอง

เช่น

- นิมิตที่พระอาจารย์อุ่นเห็นหลวงปู่ถิรเคี้ยวหมาก ปากเป็นน้ำหมากเป็นสีแดง จึงพูดขึ้นว่า ทำไมท่านจึงเคี้ยวหมากปากแดง หลวงปู่ตอบว่า ชาวบ้านเขาถวายหมาก

หมายความว่า หลวงปู่ยังต้องเกี่ยวข้องกับประชาชน คือต้องคอยพูดอบรมสั่งสอนประชาชนอยู่เนืองๆ ซึ่งเปรียบเสมือนคนเคี้ยวหมากจนปากแดงเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ (สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน) และพุทธบริษัท (คนถวายหมากก็คือคนที่สมัครเป็นพุทธบริษัท)

เมื่อหลวงปู่ถามพระอาจารย์อุ่นว่า ท่านอาจารย์จะรับหมากไหม พระอาจารย์อุ่นตอบว่า ไม่ ขี้เกียจบ้วนน้ำหมาก

หมายความว่า พระอาจารย์อุ่นไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับวัฏสงสารนี้อีก

- นิมิตที่พระอาจารย์อุ่นเห็นหลวงปู่ถิรสะพายอัฐบริขาร แล้วเดินกวาดขวากหนามตามทางเดินเพื่อให้ผู้คนเดินตามได้สะดวก

หมายความว่า ต่อไปภายภาคหน้าหลวงปู่จะได้ช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ และต้องพบกับอุปสรรคขัดขวาง แต่ก็จะผ่านปัญหาและอุปสรรคนั้นๆ ไปได้

- นิมิตที่พระอาจารย์อุ่นยื่นลูกแก้วขาวและเหลืองให้

หมายความว่า หลวงปู่จะได้ครองเพศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์และถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ (ลูกแก้วสีขาว) และจะได้อยู่ในร่มผ้ากาสาวพัสตร์ต่อไป (ลูกแก้วสีเหลือง)

- นิมิตที่หลวงปู่ถิรและพระอาจารย์อุ่นเดินขึ้นนั่งปราสาทองค์ละหลังนั้น

หมายความว่า เสนาสนะนี้เป็นที่เหมาะสมแล้วกับหลวงปู่ทั้งสอง

เมื่อหลวงปู่พิจารณานิมิตที่ท่านพระอาจารย์อุ่นเล่าให้ฟังแล้ว จึงตัดสินใจว่าจะอยู่ในโลกของเพศพรหมจรรย์ตลอดไป โดยตั้งใจจะเอาชีวิตถวายพรหมจรรย์ และได้เดินทางกลับมาที่วัดบ้านจิก พร้อมกับพระอาจารย์อุ่นและคณะพระที่ออกธุดงค์ไปด้วยกัน แต่ปรากฏว่าพระ ๓๐ รูปที่ติดตามพระอาจารย์อุ่นมาพร้อมๆ กับหลวงปู่นั้น เหลือเพียงบางองค์เท่านั้นที่อยู่จำพรรษาที่วัดบ้านจิก

ที่วัดบ้านจิกนี้ หลวงปู่ฉันอาหารตามปฏิปทาของทางวัดและได้เพิ่มการฝึกทรมานสังขารตนเองพร้อมๆ กันไปด้วย โดยการตั้งสัจจะอธิษฐานถืออิริยาบถ ๓ คือ ยืน เดิน นั่ง โดยไม่มีการนอนตลอด ๓ ปี เรียกว่า ถือเนสัชชิกธุดงค์ ซึ่งเป็นการฝึกทรมานสังขารเพื่อรักษาสติและไม่ติดสุข การฝึกครั้งนี้รู้สึกทรมานมาก และในระหว่าง ๓ ปีนี้ได้เดินทางไปธุดงค์อีกหลายครั้ง เช่น ออกเดินธุดงค์ติดตามพระอาจารย์อุ่นไปจนถึงตำบลหนองบัวบาน ซึ่งมีหนองน้ำ “หนองบัวบาน” ใกล้ๆ หนองน้ำมีต้นแสงใหญ่มากขนาด ๕ คนโอบ ชาวบ้านได้ช่วยกันสร้างที่พักให้พระอาจารย์อุ่นบนคาคบต้นแสง ส่วนหลวงปู่ปักกลดอยู่บนจอมปลวก มีเสนาสนะทำด้วยฟางข้าวแห้ง

หลังจากนั่งภาวนาไปได้พักหนึ่ง ปรากฏว่ามีลมพายุพัดมาและพัดกระหน่ำอย่างรุนแรง และรุนแรงมากขึ้นในตอนกลางคืน จนทำให้ต้นไม้หักล้มระเนระนาด พระเณรที่ติดตามมาด้วยต่างวิ่งหนีกันชุลมุนวุ่นวาย มีเณรองค์หนึ่งวิ่งเหยียบตอต้นฝรั่ง ตอที่มีรอยหักแหลมเสี้ยมนั้นจึงแทงทะลุกลางฝ่าเท้า ทำให้เณรได้รับบาดเจ็บ และหลังจากพายุสงบลงแล้ว เช้าวันรุ่งขึ้นพระอาจารย์อุ่นจึงพาเณรไปรักษาบาดแผลในตัวเมือง โดยได้มอบหมายให้หลวงปู่ดูแลพระเณรที่เหลืออยู่ หลวงปู่จึงได้ย้ายที่นั่งภาวนาไปอยู่ที่ศาลากลางน้ำของหนองบัวบาน และได้อดอาหารด้วยทั้งที่ยังถือเนสัชชิกธุดงค์อยู่ ๒ วัน

ต่อมาขณะภาวนาก็เกิดนิมิตเห็นผู้หญิงคนหนึ่งเดินเข้ามากราบ แล้วพูดว่า ข้าพเจ้าชอบท่าน เมื่อได้ยินดังนั้น หลวงปู่จึงลุกเดินหนีไป ในมือมีดาบเล็กๆ อันหนึ่งถือกวัดแกว่งไว้ข้างๆ ตัว เพื่อป้องกันไม่ให้หญิงคนนั้นเข้ามาใกล้ได้ แต่หญิงคนนั้นก็เดินตามหลวงปู่มาตลอดเวลา หลวงปู่จึงเดินหนีเข้าไปในกลุ่มพระเพื่อให้หญิงคนนั้นไปสนใจพระองค์อื่นแทน หญิงคนนั้นก็ยังคงติดตามหลวงปู่มาอีก

ในนิมิตนั้น หลวงปู่เห็นตำรวจจึงรีบเข้าไปแจ้งตำรวจให้จับหญิงคนนี้ แต่ตำรวจกลับบอกหลวงปู่ว่า เขาไม่มีความผิดจะจับเขาไม่ได้ หลวงปู่จึงคิดหาวิธีการใหม่ที่จะขับไล่หญิงคนนี้ไป แต่กลับนึกขึ้นได้ว่า เราจะคิดหนีเขาไปทำไม โดยไม่คิดแก้ปัญหาที่ตัวเรา คิดได้ดังนี้แล้ว จึงหันไปหาหญิงคนนั้นเพื่อจะถามว่า ตามเรามาทำไม ปรากฏว่ายังไม่ทันได้ถาม หญิงคนนั้นชิงพูดขึ้นมาก่อนว่า ถ้าท่านไม่ชอบ ดิฉันก็ขอเงิน ๑๒ บาท แล้วจะไปจากท่าน

หลวงปู่จึงตอบว่า อาตมาเป็นนักบวช เงินทองไม่เคยแตะต้อง จะมีเงินมาจากไหน

หญิงคนนั้นว่า ถ้าไม่มี ดิฉันก็จะขอลา

หลังจากที่หญิงคนนั้นพูดจบ ต้นแสงที่พระอาจารย์อุ่นเคยนั่งภาวนาก็หักโค่นล้มลง ขณะนั้นเวลาประมาณตี ๓ หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้แล้ว หลวงปู่กับพระเณรทั้งหมดก็ยังคงอยู่ภาวนาต่ออีกประมาณ ๑๐ กว่าวัน แล้วจึงเดินทางกลับวัดบ้านจิกเพื่อจำพรรษา

เมื่อมาถึงวัดบ้านจิก ได้เล่าถวายให้พระอาจารย์อุ่นฟัง พระอาจารย์อุ่นก็ตอบว่า ผมก็ไปอยู่บ้านเขานะ แล้วเล่าเรื่องให้หลวงปู่ฟัง ความว่า ตอนที่สร้างที่พักบนต้นแสงเสร็จแล้ว ท่านได้นั่งพักและทำสมาธิอยู่บนเก้าอี้สนาม ปรากฏนิมิตเห็นผู้หญิงคนหนึ่งเดินตรงรี่เข้ามาหาท่าน ท่านจึงพูดว่า อย่าเข้ามานะ ผู้หญิงอย่าเข้ามานะ พร้อมทั้งได้ลุกขึ้นเพื่อจะไล่หญิงคนนั้นไป ปรากฏว่าเก้าอี้ที่ท่านนั่งบำเพ็ญภาวนาอยู่นั้นล้มลง จิตจึงถอนออกจากนิมิต

(หลวงปู่ได้อธิบายให้ฟังในภายหลังว่า หญิงคนที่ปรากฏในนิมิตนั้นเป็นรุกขเทวดาที่อาศัยอยู่ต้นแสง มาลองใจท่านทั้งสอง)


(มีต่อ ๔)
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 ม.ค. 2011, 8:50 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)


หลังจากออกพรรษา พระอาจารย์อุ่นจึงพาพระเณรออกธุดงค์ไปแถวบ้านม่วง บ้านปากดง บ้านผือ บ้านข้าวสาร พระพุทธบาทบัวบก บ้านนายูง บ้านค้อ ภูพาน ไปเรื่อยๆ แต่ละหมู่บ้านมีบ้านเรือนคน ๑๐ กว่าหลังคาเรือน เดินทางทั้งกลางวันและกลางคืนจนเห็นบ้านเมืองคน จึงปักกลดกลางป่า บนภูเขาก็มี พระทุกองค์ได้ตั้งใจฝึกปฏิบัติบำเพ็ญเพียรภาวนาอย่างจริงจังแบบเอาชีวิตเข้าแลก

มีอยู่คืนหนึ่ง ขณะปักกลดนั่งภาวนาอยู่บนภูเขาที่ตำบลบ้านม่วง ได้ยินเสียงพญางูใหญ่ขนาดลำตัวเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๐ นิ้ว ยาวประมาณ ๖ เมตร เลื้อยผ่านไปเสียงดังมาก เนื่องจากเกล็ดงูเสียดสีกับพื้นแล้วยังส่งเสียงร้องเรียกงูตัวเมียให้เลื้อยออกมาหากินพร้อมกัน งูทั้งสองตัวเลื้อยออกไปหากินด้วยกัน ทำให้เกิดเสียงดังมากกว่าเดิม พระเณรต่างหวาดกลัว ครั้นรุ่งเช้าจึงพากันไปมุงดูงูทั้งสองตัวที่นอนขดตัวอยู่ในถ้ำ

จากพฤติกรรมของงูนั้นทำให้นั่งภาวนาในคืนต่อมา เกิดธรรมะผุดขึ้นในใจถามว่า คนที่เคยบวชทำไมจึงสึก และตอบว่า คนส่วนใหญ่สึกเพื่อมีครอบครัว ถ้าไม่ต้องการมีครอบครัวจะสึกทำไม ถ้ายังอยากสึกให้ลองหาดูว่ามีผู้หญิงคนไหนบ้างที่ด่าผู้ชายไม่เป็น ถ้ามีก็ให้สึกไปมีครอบครัวได้ (ในใจหลวงปู่ปฏิเสธการมีครอบครัว เพราะหลวงปู่ถือเกียรติตัวเอง ไม่อยากให้ผู้หญิงมาด่า)

จากธรรมะที่เกิดขึ้นนี้ทำให้หลวงปู่รู้ว่า ตนเองยังมีทิฏฐิซึ่งเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง จึงเร่งฝึกบำเพ็ญเพียรภาวนาและอบรมจิตใจตนเองมากขึ้น โดยพิจารณาอสุภกรรมฐาน ปลงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๖ ขณะเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลวงปู่เดินทางไปธุดงค์และจำพรรษาที่วัดบ้านงิ้วพึง ข้างสนามบินอุดรธานี (ปัจจุบันคือกองบินที่ ๒๓) หลังจากนั้นได้กลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านจิกอีกใน พ.ศ. ๒๔๘๗ ซึ่งครบกำหนด ๓ ปีตามที่ได้ตั้งสัจจะอธิษฐานไว้พอดี เมื่อทอดกายลงนอนในครั้งแรก รู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวทรมานมากเหมือนว่าธาตุขันธ์ร่างกายที่ทอดลงกับพื้นจะต้องแตกดับไปจากโลกนี้เลยทีเดียว ความรู้สึกเช่นนี้ก็เนื่องมาจากการที่หลวงปู่ไม่เคยได้เอนกายหรือทอดกายลงกับพื้น (เนสัชชิกธุดงค์) เลยตลอด ๓ ปี แต่แล้วหลังจากนอนหลับตื่นขึ้นมากลับพบว่าร่างกายสดชื่น สบายตัวและเดินเหินคล่องแคล่วขึ้น

ขณะพักอยู่กับพระอาจารย์อุ่นนั้น หลวงปู่มักจะได้รับความไว้วางใจจากพระอาจารย์อุ่นเสมอ บ่อยครั้งที่ท่านไม่อยู่ ได้มอบหมายให้หลวงปู่ปกครองดูแลพระในวัดแทน ซึ่งหลวงปู่เองก็ประหลาดใจว่าทำไมจึงเลือกหลวงปู่เป็นผู้ปกครองดูแล ทั้งๆ ที่ในวัดยังมีพระอาวุโสอีกหลายรูป

ต่อมาภายหลังหลวงปู่จึงได้ทราบจากการบอกเล่าของพระอาจารย์อุ่นว่า ในอดีตชาตินั้น หลวงปู่เคยเกิดเป็นกษัตริย์และพระอาจารย์อุ่นเป็นพระพี่เลี้ยง พร้อมทั้งมีหน้าที่เป็นควาญช้างของช้างพระที่นั่งของหลวงปู่ด้วย ในชาตินั้นพระอาจารย์อุ่นเคยตกจากหลังช้างได้รับบาดเจ็บจนเป็นแผลเป็นที่ขา และต่อมาป่วยเป็นอหิวาตกโรคจนเสียชีวิต มาในชาติปัจจุบันนี้ พระอาจารย์อุ่นก็มีรอยแผลเป็นที่ขามาแต่กำเนิดเช่นเดียวกับแผลเป็นที่ขาในอดีตชาติด้วย

สำหรับเรื่องนี้ พระอาจารย์อุ่นท่านได้อธิษฐานจิตขอทราบความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ระหว่างตัวท่านกับหลวงปู่ และด้วยอำนาจแห่งปุพเพกตปุญญตา (บุญที่ได้ทำร่วมกันมาแต่ปางก่อน) จึงทำให้ท่านระลึกรู้เห็นได้จากนิมิตในสมาธิ ซึ่งผู้ที่จะขอระลึกรู้ได้เช่นนี้จะต้องเป็นผู้มีบุญบารมีสร้างสมมามากเพียงพอ มิใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใดก็จะขอระลึกรู้ได้ง่ายๆ

ประมาณพรรษาที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๘๘ เกิดความวุ่นวายมากภายในวัดบ้านจิก มีการฟ้องร้องเจ้าอาวาสวัดบ้านจิก จนพระอาจารย์อุ่นเองก็ต้องหนีความวุ่นวายไปจำพรรษาที่อื่น หลวงปู่จึงต้องเป็นเจ้าอาวาสแทนโดยปริยาย ซึ่งหลวงปู่ไม่เคยคิดว่าจะได้ดำเนินงานหรือบริหารงานในวัดแทนท่านพระอาจารย์อุ่นเลย และหลวงปู่เองยังพลอยถูกฟ้องร้องด้วย อีกทั้งยังมีพระเถระผู้ใหญ่บางรูปไม่พอใจในตัวหลวงปู่ ทำให้หลวงปู่เกิดความท้อแท้ เพราะต้นเหตุแห่งปัญหาทั้งหลายก็ไม่ได้เกิดจากตัวหลวงปู่ หากแต่เกิดจากญาติโยมอุปัฏฐากเอง

หลวงปู่จึงตั้งจิตอธิษฐานขอทราบว่า ข้าพเจ้าเคยบำเพ็ญบุญบารมีอะไรมาบ้าง ทำไมจึงมีอุปสรรคมากมาย ในอดีตชาติข้าพเจ้าเคยบำเพ็ญเพียรปฏิบัติสิ่งใดมาบ้าง และข้าพเจ้าควรทำสิ่งใดเสริมเพิ่มบุญบารมีนั้น หลังจากอธิษฐานแล้วจึงจำวัด

ปรากฏว่าเกิดสุบินนิมิตเห็นพระพุทธรูปเป็นรูปปั้นดินวางอยู่บนพื้นทางด้านปลายเท้า หลวงปู่จึงถามว่า ทำไมจึงมาอยู่ที่พื้น มีเสียงตอบว่า พระพุทธรูปนี้จะมารักษาคุ้มครองท่าน

หลวงปู่จึงถามว่า ศักดิ์สิทธิ์ไหม ถ้าศักดิ์สิทธิ์ก็ขอให้แสดงฤทธิ์ แต่มีเสียงบอกว่า จะแสดงฤทธิ์ได้ ท่านต้องเป็นผู้บ่งบอก

(หมายความว่า ต้องบอกออกมาจากจิตหลวงปู่ รูปปั้นพระพุทธรูปนั้นเป็นเครื่องหมายแสดงว่าหลวงปู่ปรารถนาพุทธภูมิ และรูปปั้นวางอยู่ทางด้านปลายเท้า แสดงว่าหลวงปู่ยังต้องท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารเพื่อบำเพ็ญเพียรสร้างบารมีอีกนาน ถ้าวางอยู่ที่ศีรษะย่อมหมายความว่าการบำเพ็ญเพียรบารมีใกล้สำเร็จสมความปรารถนา ดังนั้น ในชาตินี้หลวงปู่จึงต้องบำเพ็ญประพฤติปฏิบัติเสริมบารมีให้ต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุพุทธภูมิในอนาคตกาล)

หลังจากนั้นก็ตื่นขึ้นมา เมื่อทราบเช่นนี้แล้วหลวงปู่จึงปล่อยวางปัญหาและไม่ท้อแท้อีกต่อไป

ต่อมาในพรรษาเดียวกัน พระอาจารย์ซามา อาจุตฺโต ซึ่งเคยอยู่วัดบ้านจิกด้วยกันมาประมาณ ๒-๓ เดือนแล้วได้ย้ายไปอยู่วัดอัมพวัน บ้านไร่ม่วง อำเภอเมือง จังหวัดเลย ได้มานิมนต์หลวงปู่ให้ไปอยู่ด้วยกันที่วัดอัมพวัน จังหวัดเลย ซึ่งหลวงปู่ก็รับนิมนต์ ขณะอยู่ที่จังหวัดเลย ได้เดินจงกรมซึ่งเป็นกิจที่ประพฤติปฏิบัติประจำ

ปรากฏว่า วันหนึ่งขณะเดินจงกรมอยู่นั้น ได้นิมิตว่ามีหมีดำตัวใหญ่มากยกขาหน้าขึ้นทั้ง ๒ ข้าง คำรามเสียงดัง เดินเข้ามาหา หลวงปู่จึงเพ่งมองดูหมีตัวนั้น ปรากฏว่าหมีดำตัวนั้นก็สลายหายวับไป

คืนต่อมาอีก เกิดสุบินนิมิตเห็นเป็นเสือตัวใหญ่จะเข้ามาทำร้าย แต่หลวงปู่ไม่รู้สึกกลัว ได้แผ่เมตตาให้ เสือตัวนั้นก็จากไป

คืนสุดท้ายก่อนกลับมาจังหวัดอุดรธานี ได้สุบินนิมิตเห็นนางผีเสื้อน้ำหรือผีเสื้อสมุทร เป็นยักษ์ผู้หญิงเจ้าเล่ห์ เห็นครึ่งตัว มีปีกคล้ายผีเสื้อ มีที่อยู่อาศัยอยู่ในน้ำ มาหลอกล่อให้หลวงปู่ลงในน้ำซึ่งเป็นแหล่งของมัน มีเสียงในนิมิตบอกว่า อย่าเดินตามมันลงไปเหยียบหรือแตะถูกน้ำเป็นอันขาด เพราะท่านจะถูกทำร้ายและเป็นเหยื่อของมัน เนื่องจากมีคนต้องตายเพราะนางผีเสื้อยักษ์นี้มาแล้ว

Image
พ่อแม่ครูบาอาจารย์พระป่ากัมมัฏฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต (จากซ้ายไปขวา)
๑. พระธรรมวราลังการ (หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ) ๒. หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
๓. หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ๔. หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร ๕. พระอาจารย์ซามา อาจุตฺโต



(มีต่อ ๕)
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 23 ม.ค. 2011, 3:55 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)


จากสุบินนิมิตเหล่านี้ทำให้หลวงปู่ทราบแล้วว่า เมื่อกลับมาจังหวัดอุดรธานีคราวนี้จะต้องมีเรื่องราวในวัดอีก ปรากฏว่าเมื่อกลับมาถึงก็มีเรื่องวุ่นวายมากมายเกิดขึ้นจริงๆ เช่น

เรื่องที่ ๑ โยมอุปัฏฐากหญิงกล่าวหาหลวงปู่ว่า นำเงินของวัดไปซื้อของโดยโม่ผ่านความเห็นชอบของวัด และต้องการให้ขับไล่หลวงปู่ออกจากวัด โดยให้พระลูกชายซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมเป็นผู้ยื่นฟ้องต่อพระเถระผู้ใหญ่ ถึงกับมีการประชุมคณะสงฆ์และกรรมการวัดเพื่อพิจารณาข้อกล่าวหาดังกล่าวที่มีต่อหลวงปู่ ผลที่สุดสรุปว่า โยมอุปัฏฐากหญิงคนนี้มีหน้าที่เก็บรักษาเงินอยู่แล้ว และพระลูกชายเป็นผู้เบิกจ่าย หลวงปู่เป็นพระป่าสายกัมมัฏฐานไม่เคยหยิบจับเงินทองเลย เพราะฉะนั้นการใช้จ่ายเงิน ไม่ว่าจะเป็นการนำเงินไปใช้ในกิจการใดๆ ก็ตาม ย่อมต้องขึ้นอยู่กับโยมอุปัฏฐากหญิงคนนั้นโดยตรง ข้อกล่าวหานี้จึงเป็นอันตกไป

(ตรงกับสุบินนิมิตเรื่องนางผีเสื้อน้ำเจ้าเล่ห์ และหมีดำนั้นเปรียบเหมือนพระลูกชาย ซึ่งเป็นพระที่หลวงปู่บวชให้เอง แต่กลับมาฟ้องหลวงปู่ตามคำสั่งแม่)

เรื่องที่ ๒ เกิดจากพระอาวุโสในวัดอยากเป็นเจ้าอาวาส และมีความรู้สึกเกรงว่าหลวงปู่จะได้เป็นเจ้าอาวาสแทนพระอาจารย์อุ่นซึ่งหนีความวุ่นวายไปจำพรรษาที่วัดอื่นแล้ว เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมา หลวงปู่ได้รับความไว้วางใจจากพระอาจารย์อุ่นและได้ช่วยดูแลบริหารงานในวัดบ่อยๆ ทั้งๆ ที่ตัวหลวงปู่เองไม่เคยคิดที่จะเป็นเจ้าอาวาสเลย พระอาวุโสองค์ดังกล่าวเป็นญาติกับเสือหิงและเสือแหง ซึ่งเป็นโจรที่ขึ้นชื่อลือชาในยุคนั้น แม้แต่ตำรวจสมัยนั้นยังต้องกลัวเสือทั้งสองคนนี้ พระอาวุโสท่านนั้นได้ว่าจ้างเสือหิงกับเสือแหงให้มาลอบฆ่าหลวงปู่ แต่ด้วยเดชะบุญบารมีที่หลวงปู่ได้สร้างสมมา จึงทำให้หลวงปู่คลาดแคล้วจากการถูกยิงของเสือหิงและเสือแหงที่มาแอบซุ่มตัวยิงหลวงปู่ที่ประตูวัด กล่าวคือ ถ้าเสือหิงและเสือแหงมาแอบซุ่มตัวที่ประตู ๑ หลวงปู่ก็บังเอิญเดินออกไปทางประตู ๒ ครั้นเสือทั้งสองไปซุ่มยิงที่ประตู ๒ ก็ให้บังเอิญที่หลวงปู่เดินเข้าประตู ๑ เวลาต่อมาพระอาวุโสที่จ้างวานเสือทั้งสองก็เกิดล้มป่วยหนัก หลวงปู่ได้เอาใจใส่ดูแลรักษาเป็นอย่างดี พระอาวุโสองค์นั้นจึงเปลี่ยนใจเลิกคิดปองร้ายหลวงปู่

เรื่องราวที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หลวงปู่ทราบก็เพราะว่าหลังจากเรื่องร้ายได้คลี่คลายลงแล้ว พระอาวุโสองค์นี้ได้เดินทางออกจากวัดบ้านจิกไปลาสิกขาที่จังหวัดเชียงใหม่ สามเณรที่เคยติดตามพระองค์นั้นจึงได้เล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟังอีก อีกทั้งหลวงชาญฯ ก็เคยเตือนหลวงปู่เป็นนัยๆ ว่า อย่าไปไหน ให้อยู่แต่ในกุฏิ

(เรื่องนี้ตรงกับนิมิตที่ว่ามีเสือตัวใหญ่จะมาทำร้ายท่าน)

จากเหตุการณ์ที่เกิดกับหลวงปู่ครั้งนี้ เป็นคติสอนใจพวกเราว่า ถ้ามีคนมุ่งร้ายต่อเรา เราต้องทำดีตอบ แผ่เมตตาให้เขา อย่าได้อาฆาตจองเวรตอบ แล้วผลสุดท้ายร้ายก็จะกลายเป็นดี

หลวงปู่รู้สึกเบื่อหน่ายต่อปัญหาที่เกิดขึ้นมาก จึงหนีไปจำพรรษาที่วัดบ้านโป่ง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่มั่นเคยมาจำพรรษา แต่ขณะที่หลวงปู่เดินทางมาถึงนั้น เป็นเวลาเดียวกับที่หลวงปู่มั่นได้เดินทางกลับไปจำพรรษาที่จังหวัดสกลนครแล้ว จึงไม่ได้พบกัน ต่อมา ร.ต.ท.ขุนรัฐกิจบรรหาร และคณะชาวบ้าน ได้นิมนต์หลวงปู่กลับมาวัดบ้านจิกอีก แต่ปรากฏว่าเรื่องวุ่นวายต่างๆ ก็ยังไม่สงบ หลวงปู่จึงตัดการรับนิมนต์

ขณะจำพรรษาที่วัดบ้านโป่งนี้ หลวงปู่ได้บำเพ็ญความเพียรโดยถือเนสัชชิกธุดงค์ คือ อดนอน ถืออิริยาบถ ๓ คือ ยืน เดิน นั่ง เท่านั้น พร้อมทั้งเพิ่มความเพียรด้วยการอดอาหารอีกเป็นเวลา ๓ เดือน โดยฉันเฉพาะผักผลไม้และน้ำเท่านั้น ทำให้ชาวบ้านละแวกนั้นร่ำลือกัน จนกระทั่งครั้งหนึ่งหลวงปู่ได้ไปนมัสการ หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ที่วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ หลวงปู่แหวนทักขึ้นว่า ท่านคือพระอาจารย์ถิรที่อดนอน ๓ เดือนหรือ เมื่อไรจะกลับมาจำพรรษาที่เชียงใหม่อีก

หลวงปู่ตอบว่า คงไม่ได้มาแล้ว

Image
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ


ขณะที่จำพรรษาอยู่ที่เชียงใหม่ ในปีนั้นเกิดนิมิต ๓ เรื่อง แต่เป็น ๒ ธรรมะ คือ

นิมิตที่ ๑ เกิดธรรมขึ้นก่อนว่า ธรรมดาผู้บำเพ็ญเพียรภาวนาจะต้องสละชีพแล้ว เปรียบเสมือนนักกระโดดร่ม จากนั้นจึงเกิดนิมิตเห็นตัวเองนั่งอยู่ในเครื่องบิน แล้วท้องเครื่องบินเปิดออก ตัวหลวงปู่ก็ลอยออกมาอยู่กลางอากาศในร่มชูชีพ แต่ไม่รู้สึกกลัวเพราะได้คิดสละชีวิตแล้ว เหมือนนักกระโดดร่มที่ต้องเสี่ยงตาย เมื่อไม่รู้สึกกลัว ตัวจะเบาล่องลอยต่อไปได้

นิมิตที่ ๒ ในนิมิตนั้น หลวงปู่ได้เดินไปตามท้องน้ำที่โล่งๆ กว้างๆ (หมายถึงพื้นที่มีน้ำเจิ่งนอง) ปรากฏเห็นบ่อน้ำ เมื่อก้มมองดูบ่อน้ำ ก็ตกลงไปยืนอยู่กลางบ่อน้ำ จึงนึกรู้ขึ้นมาว่า ก้นบ่อนั้นลึกเพียงใดเราก็สามารถเอาลำไม้ไผ่หยั่งวัดความลึกได้ แต่จิตใจของเราจะเอาอะไรมาวัดได้ ดังนั้น หลวงปู่จึงปล่อยจิตให้ดิ่งลงไปเรื่อยๆ จนเห็นจิตของตนเอง ทำให้ระลึกรู้ว่าเราจะหยั่งจิตได้ ต้องใช้จิตเท่านั้นจึงจะหยั่งจิตได้

นิมิตที่ ๓ หลังจากนั้นมาจวนใกล้ออกพรรษา เกิดนิมิตเห็นพระเถระองค์หนึ่งที่มรณภาพไปแล้วที่วัดนี้ ได้นำน้ำใส่ในกระบอกของชาวเหนือมาถวายหลวงปู่ โดยนำน้ำนั้นมาป้อนที่ปากหลวงปู่ ปรากฏว่าเมื่อน้ำกระทบริมฝีปาก หลวงปู่ก็รู้สึกตัว จิตจึงถอนออกจากการภาวนา แล้วนึกในใจว่าจวนจะออกพรรษาแล้ว ท่านพระเถระจึงมีเมตตามาโปรดเราหนอ (เป็นการให้กำลังใจและความเย็นใจแก่หลวงปู่)

ออกพรรษาแล้ว พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้เดินทางกลับมาวัดบ้านจิก และได้นิมิตเห็นเกี่ยวกับอดีตชาติของตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับนิมิตเกี่ยวกับอดีตชาติที่ท่านพระอาจารย์อุ่นเคยเล่าให้ฟัง โดยเห็นตัวท่านเองแต่งกายด้วยเครื่องทรงของกษัตริย์ สวมมงกุฎกษัตริย์และเสื้อผ้าพัสตราภรณ์ของกษัตริย์ แต่ภายใต้ชุดเสื้อผ้าพัสตราภรณ์ของกษัตริย์นั้น ได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์ของพระอยู่ภายใน

ขณะนั้นหลวงปู่กำลังนั่งสมาธิอยู่ จู่ๆ ก็มีชายร่างใหญ่คนหนึ่งเดินมาจูงมือให้ลุกขึ้นยืนและพาเดินไป หลวงปู่ก็เดินตามชายคนนั้นไปจนเข้าไปในเขตพระราชฐานแห่งหนึ่ง และได้เดินขึ้นไปบนชั้นสองของตัวอาคาร

เมื่อทอดสายตามองดูไปรอบๆ จึงเห็นว่าพื้นห้องนั้นสกปรกเลอะเทอะไปด้วยฝุ่นละอองและโคลนตม จึงเกิดความรู้สึกกลัวว่าชุดที่สวมใส่จะเลอะเทอะเปรอะเปื้อน หลวงปู่ได้ก้มลงตรวจดูร่างกายตนเอง ได้พบว่าเท้าและเสื้อผ้ายังสะอาดเรียบร้อยดี สิ่งสกปรกทั้งหลายไม่ได้แปดเปื้อนตัวหลวงปู่เลย หลวงปู่จึงหันหลังกลับเดินลงบันไดมา

ในขณะนั้นไม่ทราบว่าชายร่างใหญ่ที่พาหลวงปู่มานั้นได้หายไปไหน แต่หลวงปู่ได้พบกับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลสถานที่แห่งนั้น เดินตรงรี่เข้ามาหาและถามว่า เข้ามาทำไม ไม่ทราบหรือนี่คือเขตหวงห้าม

หลวงปู่ได้ตอบไปว่า เราไม่ได้เป็นคนต้องการเข้ามา แด่มีคนพาเรามา ถ้าท่านจะทำอะไรก็ทำไปเถิด เพราะเราได้เข้ามาแล้ว

ขณะที่โต้ตอบไปนั้น ในใจไม่ได้เกิดความกลัวแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่คนนั้นจึงได้ยกไม้กระบองขึ้นมาตีหลวงปู่ ขณะที่ไม้กระบองจะกระทบถูกตัว ไม้กระบองได้กลับกลายเป็นพัชนีโบกพัดให้หลวงปู่เย็นสบาย

(นิมิตนี้หลวงปู่อธิบายให้ฟังว่า การที่หลวงปู่เดินไปบนพื้นที่เต็มไปด้วยฝุ่นละออง มีโคลนตมที่สกปรก แต่สิ่งสกปรกเหล่านี้ไม่อาจเกาะติดเครื่องทรงได้นั้น หมายความว่า ต่อไปในภายหน้าหลวงปู่จะต้องได้พบกับมนุษย์ที่เต็มไปด้วยกิเลส แต่เมื่อหลวงปู่มีศีลบริสุทธิ์ กิเลสเหล่านั้นก็จะไม่อาจกล้ำกรายได้ และที่ทรงชุดกษัตริย์ซ้อนทับสบงจีวร หมายความว่า ในอดีตชาติหลวงปู่เคยเป็นกษัตริย์ที่ได้ออกบวชมาแล้ว)


(มีต่อ ๖)
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 24 ม.ค. 2011, 10:02 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)


พรรษาต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๐ ปรากฏว่ามีญาติโยมมาเรียนถามหลวงปู่ว่า ท่านอาจารย์เป็นพระกัมมัฏฐาน นั่งภาวนาขนาดนี้ ทำไมไม่เห็นเลขเห็นเบอร์ (หวย) มาบอกญาติโยมบ้าง ซึ่งจริงๆ แล้วหลวงปู่ไม่เคยพิจารณาถึงเรื่องนี้เลย จากคำถามนี้ หลวงปู่จึงมาพิจารณาดูและรู้ว่า ขณะที่ภาวนาอยู่นั้นหลวงปู่ได้ปิดอายตนะทั้งหก ไม่รับรู้เรื่องราวต่างๆ ของทางโลก จิตจึงสงบ โดยจิตอยู่กับจิต ถ้าส่งจิตออกไปเปิดอายตนะทั้งหกเพื่อหาสิ่งที่คนนิยม (หวยเบอร์) เรียกว่า วัตถุกาม นั้น ก็จะสามารถรู้ได้ แต่ถ้ากำหนดจิตให้อยู่ที่จิตก็จะไม่รู้เกี่ยวกับวัตถุกาม กิเลสกาม

หลวงปู่จึงอธิษฐานจิตขอให้ทราบว่า การนิมิตเห็นเลขหวยนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา หรือไม่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา

ปรากฏนิมิตเห็นสองสามีภรรยาไม่มีลูก นั่งเกวียนมาคนละเล่ม โดยมีวัว ๒ ตัวเทียมเกวียนแต่ละเล่มมา เพื่อจะนำสิ่งของไปแลกเอาฝ้าย แล้วก็แลกได้เต็มเกวียนคนละเล่ม จำนวนฝ้ายที่ได้มานั้นใช้ได้ปีเดียวก็หมด ในขณะที่นั่งเกวียนไปนั้น ที่หัวเกวียน (ซานเกวียน) มีกระสอบบรรจุเงินเต็มกระสอบ บนกระสอบมีข้อความเขียนไว้ว่า ห้ามเปิด จะเปิดได้เมื่อไม่มีคนเท่านั้น แล้วนั่งเกวียนต่อไป จนถึงเวลากลับ จึงเดินทางกลับตามเส้นทางเดิม ระหว่างเดินทางกลับนั้น มีป้ายลอยลงมาจากกลางอากาศ บนป้ายนั้นมีข้อความเขียนว่า ห้ามคนทุจริตและสุจริต หมายความว่า ห้ามบอกทั้งคนดีและคนไม่ดี เมื่อออกจากนิมิตจึงรู้ว่าไม่ใช่ทางที่ถูกต้องและไม่ใช่ทางที่ผ่องใส

จากนั้นหลวงปู่จึงอธิษฐานจิตว่า ถ้าหากข้าพเจ้ามีบุญบารมี ขอให้ผู้ที่เคารพและนับถือข้าพเจ้าได้รู้ด้วยตนเองว่าข้าพเจ้าไม่ยุ่งเกี่ยวกับวัตถุกามเหล่านี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้รู้ถึงวาระจิตของผู้อื่นที่มาหาได้ และขอให้ผู้อื่นได้รู้ถึงบุญบารมีที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญเพียรสร้างมาด้วยเถิด

ใน พ.ศ. ๒๔๙๑ มีการจัดงานฉลองโบสถ์ (เก่า) พระอาจารย์อุ่นได้กลับมาร่วมงานฉลองนี้ด้วย หลวงปู่จึงกล่าวกับพระอาจารย์อุ่นว่า ท่านอาจารย์ช่วยกำหนดจิต ดูจิตผมด้วยว่าเป็นอย่างไร

เมื่อพระอาจารย์อุ่นกำหนดจิตแล้วจึงพูดขึ้นว่า น้ำกลางแก้วดูใส แต่น้ำที่อยู่ขอบริมแก้วจะมองเห็นฝุ่นผงสกปรกเกาะติด

ซึ่งคำพูดนี้ หลวงปู่ได้อธิบายความหมายให้ฟังว่า ถ้าหลวงปู่จิตสงบแล้วจิตจะอยู่ที่จิต ทำให้รู้สึกปลอดโปร่งแจ่มใสเหมือนน้ำกลางแก้ว ถ้าหากถอนจิตออกมาก็จะประสบกับอารมณ์ต่างๆ รอบด้าน โดยต้องเกี่ยวข้องกับมนุษย์หลายประเภท เมื่อไปรับรู้ถึงสิ่งต่างๆ ก็จะทำให้จิตขุ่นมัวได้ ซึ่งหลวงปู่จะพบกับความวุ่นวายภายในวัดบ้านจิกอีก ดังจะได้กล่าวต่อไป

Image
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

Image
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


ใน พ.ศ. ๒๔๙๓ ขณะจำพรรษาที่วัดบ้านจิก ได้นิมิตเห็น หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต มาที่กุฏิ (ขณะนั้นยังไม่ได้สร้าง แต่ในนิมิตจะเห็นพื้นกุฏิเป็นไม้มะค่า) จึงเดินเข้าไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่น เมื่อเงยหน้าขึ้น ก็พบว่าใกล้ๆ หลวงปู่มั่น มี หลวงปู่ฝั้น อาจาโร นั่งอยู่ด้วย หลวงปู่จึงกล่าวกับหลวงปู่มั่นว่า กระผมขอปฏิบัติท่าน แต่หลวงปู่ฝั้นได้กล่าวตอบแทนหลวงปู่มั่นว่า ไม่ต้องปฏิบัติหรอก ให้ท่านปฏิบัติตามหน้าที่ของท่านเถิด (หน้าที่ หมายถึงความปรารถนาในการสร้างเสริมบุญบารมีต่อจากอดีตชาติของหลวงปู่ซึ่งหลวงปู่ได้ปรารถนาพุทธภูมิ)

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๔ หลวงปู่ได้นิมิตเห็น หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ซึ่งกำลังจะเดินทางไปจำพรรษาที่จังหวัดภูเก็ต ในนิมิตหลวงปู่เทสก์กล่าวว่า ต่อไปท่านจะได้สร้างโบสถ์ใหญ่เท่าวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ หลวงปู่บ่นว่า เบื่อหน่ายที่จะสร้างอีก ในนิมิตนั้น หลวงปู่ได้ตั้งจิตอธิษฐานขอเห็นรูปทรงโบสถ์ (ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๒๖ หลวงปู่จึงได้สร้างโบสถ์จริงๆ ตามแบบโบสถ์ที่เห็นในนิมิต คือวัดบ้านจิกทุกวันนี้เอง)

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ ก็ยังคงจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านจิก หลวงปู่นิมิตเห็นตนเองยืนอยู่ในศาลากลางป่า สวมชุดคล้ายชุดเทวดา คือ ชุดสีขาวทำด้วยผ้าโปร่งบางเหมือนเสื้อครุยที่นักศึกษาสวมใส่เมื่อรับปริญญา ในใจรู้สึกเสียดายเพศพรหมจรรย์ที่ได้บำเพ็ญเพียรประพฤติปฏิบัติมาเป็นอย่างยิ่ง จึงถามตัวเองว่า ทำไมจึงสึก และตอบเองว่า จำใจสึก ในนิมิตนั้นได้คิดวิเคราะห์และโต้ตอบกับตัวเองเป็นข้อๆ ว่า

การสึกครั้งนี้ไม่มีใครรู้ใครเห็น พรหมจรรย์ของเราก็บริสุทธิ์อยู่ แต่ตามระเบียบสังฆาณัติ เมื่อสึกแล้วถ้าคิดจะบวชอีก คงต้องแอบบวชแบบไม่มีอุปัชฌาย์ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องมีอุปัชฌาย์ เพราะเรามีพรหมจรรย์

ถ้าบวชอีกก็เท่ากับว่าเราบวชใหม่ แต่เราเคยเป็นเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสคืออะไร คือผู้สอนตนเองได้และอยู่ในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นตัวของตัวเอง ตำแหน่งเจ้าอาวาสที่มีคนแต่งตั้งนั้นไม่มีความหมาย เป็นแต่เพียงผู้ปกครองคนอื่นเท่านั้น เจ้าอาวาสที่แท้จริงนั้นคือสามารถปกครองตัวเองได้

เราเคยเป็นอาจารย์ ถ้าบวชใหม่ก็จะเป็นได้แค่พระนวกะ แต่อาจารย์คืออะไร อาจารย์ที่แท้จริงก็คือ เราต้องสามารถสั่งสอนตนเองได้ ประพฤติปฏิบัติตนเองได้ และอยู่ในโอวาทของพระพุทธเจ้า

บวชใหม่เป็นพระนวกะ จะเป็นพระอาวุโสไม่ได้ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นปัญหาใดๆ สำหรับตัวเรา เพราะเราตั้งมั่นอยู่ในธรรม ในวินัยของพระพุทธเจ้า เราเป็นผู้ใหญ่ในธรรม ไม่ได้เอากิเลสเป็นใหญ่

ถ้าอย่างนั้นเราจะทำอย่างไรดี


มีคำตอบว่า ไม่ยาก ขอให้มีสงฆ์เป็นพยาน

คิดอย่างนั้นแล้วก็ปรากฏโต๊ะหมู่บูชาขึ้นตรงหน้า และมีอาสนะสงฆ์ ๔ ที่ แต่มีพระสงฆ์ (พระเถระ) ๓ รูปนั่งอยู่ จึงยังมีอาสนะว่างอยู่ ๑ ที่ ใกล้ๆ โต๊ะหมู่บูชา หลวงปู่จึงก้มลงกราบ ๓ ครั้งนี้แล้วยืนขึ้น เสื้อชุดสีขาวเหมือนชุดเทวดาก็อันตรธานหายไป กลับกลายเป็นจีวรพระครองร่างท่านอยู่ เปรียบเสมือนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา (หมายถึงการบวชโดยพระพุทธเจ้า ดังในพุทธประวัติโดยพระพุทธเจ้าทรงเปล่งวาจาว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว)

จากนั้นหลวงปู่เดินไปที่คณะสงฆ์พระเถระเหล่านั้นแล้วกล่าวว่า ผมบวชใหม่จะขอนั่งข้างหลัง พระเถระบอกว่า เชิญท่านนั่งข้างหน้าเถิด แล้วจิตของหลวงปู่จึงถอนออกจากนิมิต

การนิมิตในครั้งนี้ หลวงปู่ยังไม่อาจแปลความหมายได้ว่าจะเป็นนิมิตบอกเหตุอันใด ตราบจนกระทั่งเหตุการณ์ผ่านมานานประมาณ ๓๕ ปี คือ ปี พ.ศ. ๒๕๓๑ จึงทราบความจริงของความหมายในนิมิตนั้นว่า คือ การที่ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งซึ่งมีที่ดินติดกับวัดได้ฟ้องร้องต่อศาลว่า วัดบ้านจิกรุกล้ำที่ดินของพวกเขา ทางเจ้าหน้าที่จึงนิมนต์หลวงปู่ขึ้นศาลในฐานะเป็นเจ้าอาวาส หลวงปู่จึงต้องขึ้นศาลอาญาของทางโลก ซึ่งความเป็นจริงแล้วข้อกล่าวหานี้ควรจะเป็นคดีทางแพ่งเท่านั้น ไม่รุนแรงถึงขั้นอาญา หลวงปู่ไม่ได้สึกออกจากเพศบรรพชิตเพราะหลวงปู่ไม่ได้มีความผิดใดๆ ที่จะต้องถูกจับสึก ดังนั้น เมื่อถูกซักถามในศาล หลวงปู่จึงไม่ยอมให้การใดๆ ทั้งสิ้น เพราะหลวงปู่ไม่ใช่จำเลย ที่ดินวัดนั้นเป็นของสงฆ์ ไม่ใช่ของเจ้าอาวาส ตัวหลวงปู่มีเพียงแค่อัฐบริขาร ๘ เท่านั้น อีกประการหนึ่ง ฆราวาสไม่มีสิทธิ์ที่จะมาซักฟอกหรือพิจารณาโทษท่านได้ เพราะตามหลักปฏิบัติแล้ว ถ้าจะพิจารณาโทษของหลวงปู่ก็จะต้องขึ้นศาลสงฆ์เท่านั้น คดีนี้ ในที่สุดเมื่อศาลพิจารณาเอกสารโฉนดที่ดินแล้ว สรุปว่ายกฟ้อง เพราะวัดไม่ได้รุกล้ำที่ของชาวบ้านดังที่พวกเขากล่าวหา


(มีต่อ ๗)
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 25 ม.ค. 2011, 8:18 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓


ครั้นถึง พ.ศ. ๒๕๑๒ หลวงปู่อายุได้ ๕๑ ปี หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ได้เดินทางมาหาโดยไม่รู้จักกันมาก่อน หลวงปู่ชอบมาขอร้องให้ช่วยสร้างที่เก็บน้ำรูปทรงสี่เหลี่ยม ขนาดกว้างประมาณ ๔ เมตร ยาว ๘ เมตร ลึก ๒ เมตร ซึ่งหลวงปู่คิดว่าช่างฝีมือมีมากมายทำไมจึงไม่ไปว่าจ้าง กลับมาบอกพระด้วยกันให้ไปสร้างให้ แต่ถ้าเราเคยมีบุญบารมีร่วมกันก็จะสร้างให้

ปรากฏว่าเมื่อหลวงปู่สร้างที่เก็บน้ำสำเร็จแล้ว หลวงปู่ชอบจึงขอร้องให้สร้างโบสถ์ วัดป่าสัมมานุสรณ์ อีก ซึ่งหลวงปู่ก็สร้างได้สำเร็จ เป็นโบสถ์กลางน้ำ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลวงปู่ถิรและหลวงปู่ชอบจึงมักจะไปไหนมาไหนด้วยกันเสมอ เคยได้รับนิมนต์ไปกรุงเทพฯ เชียงใหม่ สมุทรปราการ ด้วยกันหลายครั้ง

จวบจนกระทั่งหลวงปู่ชอบขาเจ็บเดินไม่ได้แล้ว แต่ท่านก็มักจะเดินทางมาเยี่ยมเยียนหลวงปู่อยู่เสมอ ทำให้ลูกศิษย์ของหลวงปู่ทั้งสอง รวมทั้งชาวจังหวัดอุดรธานี มีโอกาสได้กราบไหว้พระอริยสงฆ์ทั้งสองรูป นับเป็นบุญและเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่ได้กราบไหว้ท่านอย่างยิ่ง

ประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๕ ขณะสร้างโบสถ์กลางน้ำที่วัดป่าสัมมานุสรณ์ (วัดที่หลวงปู่ชอบจำพรรษาอยู่ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ที่วัดโคกมน) อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย จวนเสร็จแล้ว หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านนาข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ปรารถนาจะสร้างโบสถ์ และได้นิมิตเห็นว่ามีเทวดาสวมชุดขาวและสวมชฎาเหมือนมงกุฎกษัตริย์ มาอุ้มท่านเหาะขึ้นไปบนยอดเขาสูงซึ่งมีปราสาทสวยงามมาก ก่อนที่จะเข้าไปในปราสาท หลวงปู่ตื้อขอล้างเข้าก่อน แต่พอเท้าแตะถูกน้ำที่ใสเย็น ท่านก็สะดุ้งตื่นจากนิมิต ท่านจึงได้นั่งพิจารณานิมิตและทราบว่าจะสร้างโบสถ์นี้สำเร็จได้ต้องมีพระองค์หนึ่งมาช่วยสร้าง แต่พระองค์ไหนหนอจะมาช่วยสร้าง เมื่อพิจารณาต่อไปจึงทราบว่า พระที่จะมาช่วยสร้างนั้นจะจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านจิก จังหวัดอุดรธานี ท่านจึงให้ลูกศิษย์มานิมนต์ หลวงปู่ถิร ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน โดยสั่งลูกศิษย์ว่า ให้ไปนิมนต์พระอาจารย์สิงห์ หรือ สิม นี่แหละนะ ไม่ทราบชื่อแน่ชัด จำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านจิก จังหวัดอุดรธานี บอกกับท่านว่า หลวงปู่ตื้อที่จำพรรษาอยู่วัดป่าบ้านนาข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม เป็นเวลา ๒ พรรษาแล้ว อยากสร้างโบสถ์ ขอนิมนต์ท่านอาจารย์ไปพบด้วย

Image
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม

Image
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม

Image
พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต


ลูกศิษย์ของหลวงปู่ตื้อจึงมาพบและนิมนต์หลวงปู่ถิรตามความต้องการของหลวงปู่ตื้อ ซึ่งในช่วงเวลานั้นพอดีมีญาติโยมชาวจังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีโยมกุ้ยกิ่มจะนำผ้าป่าไปทอดที่วัดหลวงปู่ตื้อ หลวงปู่จึงได้เดินทางไปพบหลวงปู่ตื้อโดยไปพร้อมกับคณะทอดผ้าป่าคณะนี้ ซึ่งมีทั้งญาติโยมที่เป็นฆราวาสและพระสงฆ์ ซึ่งมี พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต อยู่ในคณะสงฆ์กลุ่มนี้ด้วย

ก่อนวันที่หลวงปู่จะเดินทางไปกับคณะผ้าป่านี้ หลวงปู่ตื้อได้นิมิตเห็นเครื่องบินบินผ่านมา ในนิมิตนั้น หลวงปู่ตื้อหยิบปืนที่อยู่ข้างตัวขึ้นมาหมายใจว่าจะยกขึ้นยิงเครื่องบิน เพราะสมัยนั้นมีสงครามระหว่างเวียดนามกับสหรัฐอเมริกา เครื่องบินมักจะบินผ่านเมืองเพื่อไปทิ้งระเบิดที่เวียดนามเป็นประจำ เมื่อยกปืนขึ้นมาแล้วเตรียมยิง ปรากฏว่ามองเข้าไปในเครื่องบินลำนั้น กลับได้ยินเสียงบอกว่า มีพระปัจเจกโพธิพระอรหันต์เจ้าอยู่ข้างใน จึงรำพึงว่า เราเกือบยิงพระปัจเจกโพธิแล้ว จึงวางปืนลง กลับพบว่าปืนที่ถือนั้นคือหางปลากระเบน

ครั้นรุ่งขึ้นวันต่อมา เมื่อหลวงปู่กับคณะทอดผ้าป่าเดินทางมาถึง หลวงปู่ตื้อจึงเล่าให้หลวงปู่ฟังถึงนิมิตและบอกว่า พระปัจเจกโพธิพระอรหันต์เจ้าจะมาช่วยสร้างโบสถ์ให้แล้ว (พระปัจเจกโพธิ หมายถึง พระผู้ซึ่งบำเพ็ญเพียรตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แต่ไม่ปรารถนาที่จะเป็นศาสดาก่อตั้งศาสนาเพื่อสั่งสอนผู้ใด ส่วน พระอรหันต์ หมายถึง พระสาวกของพระพุทธเจ้าที่บำเพ็ญเพียรปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจนหมดสิ้นกิเลสอาสวะและถึงซึ่งพระนิพพานในที่สุด)

เมื่อหลวงปู่ทราบเจตนาของหลวงปู่ตื้อแล้วจึงบอกกับหลวงปู่ตื้อว่า ถ้าเรามีบุญบารมีร่วมกันมาแต่ปางก่อนก็คงจะร่วมกันสร้างโบสถ์นี้ได้สำเร็จ และในการสร้างโบสถ์นี้ขอมีข้อแม้ ๒ ประการ คือ

ประการที่หนึ่ง ห้ามจัดทำเหรียญหรือวัตถุมงคลออกจำหน่ายเพื่อหาเงินเข้าวัด

ประการที่สอง ห้ามจัดงานมหรสพหาเงินเข้าวัด

ถ้าไม่ได้ตามข้อแม้ดังกล่าวนี้ก็จะไม่ช่วยสร้างโบสถ์

เมื่อหลวงปู่ตื้อทราบแล้วก็ตกลงตามที่ขอ จึงเตรียมการที่จะสร้างโบสถ์ต่อไป

หลังจากนั้นหลวงปู่ตื้อกับหลวงปู่จึงได้พบกันบ่อยครั้ง และทุกครั้งก่อนที่หลวงปู่จะไปพบหลวงปู่ตื้อ หลวงปู่ตื้อก็มักจะเกิดนิมิตล่วงหน้าเสมอ เช่น ครั้งหนึ่งหลวงปู่ตื้อได้นิมิตไปว่า ตัวท่านเองได้เดินรอบโบสถ์ที่สร้างเสร็จแล้ว (ในความเป็นจริงขณะนั้นเพิ่งจะเริ่มมีการก่อสร้างโบสถ์เท่านั้น) ท่านได้ยินเสียงบอกท่านว่า มีพระบุญฤทธิ์มาสร้างโบสถ์จึงจะสำเร็จ ท่านจึงเดินรอบโบสถ์นั้นเพื่อมองหาพระบุญฤทธิ์ แต่ก็หาไม่พบ เมื่อมองเข้าไปในโบสถ์ จึงเห็นพระบุญฤทธิ์นั่งอยู่กลางโบสถ์ และก็ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นหลวงปู่ก็เดินทางมาพบท่าน ท่านจึงเล่าเรื่องนิมิตให้หลวงปู่ฟัง และกล่าวว่าพระบุญฤทธิ์เท่านั้นที่จะสร้างโบสถ์ให้สำเร็จได้

อีกครั้งหนึ่ง หลวงปู่ตื้อได้นิมิตเห็นม้ามณีกาบ (ม้าสีขาว มีปีก บินได้) บินอยู่ในอากาศ ท่านจึงคว้าจับบังเหียนไว้ แล้วเอาเท้าเหยียบที่ขาหลังของม้าเพื่อดันตัวเองให้ขึ้นนั่ง แต่ปรากฏว่าพยายามหลายครั้งก็ไม่สามารถขึ้นนั่งบนหลังม้าได้สำเร็จ ดังนั้น เมื่อหลวงปู่เดินทางมาถึงท่านจึงเล่านิมิตให้หลวงปู่ฟัง หลวงปู่จึงพูดว่า ท่านอาจารย์ เราเคยเป็นญาติกัน ถ้าอาจารย์เป็นพี่ก็คงจะขี่ม้ามณีกาบได้ ถ้าเป็นน้องคงขี่ไม่ได้ แล้วหลวงปู่ทั้งสององค์ต่างก็หัวเราะพร้อมกัน

หลังจากนั้นอีกไม่นาน หลวงปู่ตื้อได้บอกหลวงปู่ถิรว่า ช่วยรีบสร้างโบสถ์ให้เสร็จเร็วๆ ด้วย เพราะขณะนี้เหล่าเทวดามานิมนต์แล้ว ๔๐๐ องค์ แต่มนุษย์มานิมนต์เพียง ๒๐๐ คน คงต้องมรณภาพในเวลาอันใกล้นี้ หลวงปู่จึงเร่งก่อสร้างโบสถ์วัดป่าบ้านนาข่า แต่การสร้างโบสถ์ต้องใช้เวลา จึงสร้างเสร็จหลังจากที่หลวงปู่ตื้อมรณภาพไปแล้ว ซึ่งหลวงปู่ก็ได้เป็นประธานจัดงานฌาปนกิจศพหลวงปู่ตื้อด้วย


(มีต่อ ๘)
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 26 ม.ค. 2011, 6:24 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
โบสถ์กลางน้ำ “วัดป่าสัมมานุสรณ์” บ้านโคกมน ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย
ซึ่งเป็นความสามารถและผลงานการสร้างของ หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม



๏ ความสามารถในด้านการก่อสร้าง

หลวงปู่มีความสามารถในด้านการก่อสร้าง ทั้งๆ ที่หลวงปู่ไม่เคยเรียนวิชาการก่อสร้างแขนงใดมาเลย ดังจะเห็นได้จากผลงานการสร้างโบสถ์ที่สำคัญๆ และสวยงามหลายแห่ง ซึ่งเป็นประจักษ์พยานในความสามารถของหลวงปู่ได้เป็นอย่างดียิ่ง เช่น โบสถ์กลางน้ำวัดป่าสัมมานุสรณ์ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โบสถ์วัดบ้านนาข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม เป็นต้น ความสามารถด้านนี้ของหลวงปู่คงได้สั่งสมมาแต่อดีตชาติ เพราะจะทราบได้จากเหตุการณ์ที่มีเกจิอาจารย์สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต องค์สำคัญๆ หลายรูปที่คงจะทราบถึงความสามารถพิเศษนี้ของหลวงปู่ ได้มานิมนต์ขอให้หลวงปู่ไปช่วยสร้างโบสถ์ให้ ทั้งๆ ที่หลวงปู่และท่านพระอาจารย์เหล่านั้นต่างไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ดังลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้เล่าผ่านมาแล้ว นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานสำคัญทางถาวรวัตถุอีกอย่างหนึ่ง คือ โบสถ์ ศาลา วิหารคด เจดีย์ ฯลฯ ภายในวัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) ที่ทุกท่านได้เห็นอยู่ทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือการออกแบบและก่อสร้างของหลวงปู่นั่นเอง ซึ่งจะได้กล่าวถึงรายละเอียด ประวัติความเป็นมา และการก่อสร้างวัด รวมทั้งถาวรวัตถุภายในวัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) ดังต่อไปนี้


๏ ประวัติความเป็นมาและการบูรณปฏิสังขรณ์
วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก)


วัดทิพยรัฐนิมิตร หรือวัดบ้านจิก เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสี่แยกที่ตัดกันระหว่างถนนนเรศวรกับถนนทหาร ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี บริเวณนี้คือ คุ้มบ้านจิก เวลาท่านมาเยี่ยมชมและทำบุญที่วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) เมื่อท่านเดินเข้าประตูมาก็จะสังเกตเห็นว่ายังมีรั้วอิฐเตี้ยๆ กั้นอยู่อีกชั้นหนึ่ง วัดแบ่งออกเป็น ๒ ตอน ตอนนอกมีพื้นที่น้อยกว่าตอนในมาก

ตอนนอกนี้เคยเป็นที่ตั้งของโบสถ์เก่าซึ่งรื้อถอนออกไปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓ ส่วนตอนในนั้นมีพื้นที่มากกว่า มีสระน้ำติดรั้ว ๑ สระ เมื่อมองผ่านเลยไปทางด้านซ้ายของสระน้ำ ก็จะเห็นโรงครัวและกุฏิแม่ชีปลูกเรียงรายกันไปตามแนวรั้วด้านทิศเหนือ ระหว่างสระน้ำและกุฏิแม่ชีจะมีถนนคอนกรีตทอดตัวยาวมุ่งตรงสู่ ศาลายักษ์คู่ ซึ่งเป็นศาลาการเปรียญเก่าที่มีรูปปั้นยักษ์ ๒ ตนยืนเฝ้าอยู่ข้างหน้าศาลา ศาลานี้หลวงปู่เคยใช้เป็นสถานที่ฉันภัตตาหารเช้าของคณะสงฆ์ และตอนบ่ายเป็นสถานที่อบรมสั่งสอนญาติโยมให้ฝึกหัดปฏิบัติสมาธิภาวนาในสมัยที่ยังไม่มีโบสถ์ใหม่

เมื่อหันมาทางด้านขวาของสระน้ำ จะเห็นโบสถ์ใหญ่ตั้งตระหง่านสวยงาม มีลักษณะเป็นศิลปะผสมระหว่างสมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาอันสวยงามมาก ปัจจุบันจะหาชมโบสถ์ที่มีศิลปะแบบผสมนี้ได้ยาก และถัดจากโบสถ์ใหม่ไปทางขวามือจะเห็นวิหารคด ภายในมีพระพุทธรูปปางต่างๆ ตั้งแต่ปางประสูติ ปางตรัสรู้ ไปจนถึงปางปรินิพพาน วิหารคดนี้ใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจของสงฆ์ในการฉันภัตตาหารเช้าในปัจจุบัน เลยวิหารคดไปทางขวาจะมีกุฏิพระเรียงรายตามแนวรั้วด้านทิศใต้ และช่วงระหว่างกุฏิพระกับวิหารคดยังมีสระน้ำกั้นอยู่อีก ๑ สระ ส่วนถนนที่กั้นอยู่ระหว่างสระน้ำแรก (ที่ติดกับรั้วเตี้ยๆ) กับโบสถ์ใหม่นั้น จะนำเราไปถึงกุฏิหลวงปู่ ซึ่งด้านหลังของกุฏิหลวงปู่ยังมีสระน้ำอีก ๑ สระ ถัดจากสระน้ำนี้ไปมีกุฏิพระเรียงรายกันไปจนชิดแนวรั้วด้านทิศตะวันออก

พื้นที่ตอนนอกของรั้วอิฐเก่าๆ เตี้ยๆ นั้น เดิมเป็นหมู่บ้านของชาวบ้านคุ้มบ้านจิก ซึ่งมีศาลเจ้าเป็นที่นับถือของคนในหมู่บ้านนี้ ต่อมา คุณแม่ทิพย์ ภรรยา นายพันตำรวจโทพระยงค์พลพ่าย ได้ร่วมกับ ร.ต.ท.ขุนรัฐกิจบรรหาร ชักชวนชาวบ้านคุ้มบ้านจิกร่วมกันถวายที่ดินแห่งนี้ให้เป็นสำนักสงฆ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ และสร้างโบสถ์ (หมายถึงโบสถ์เก่า) อยู่ข้างหน้าศาลเจ้า จนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ เมื่อสร้างเสร็จแล้วไม่ได้จัดฉลองและผูกพัทธสีมาแต่อย่างใด ซึ่งในขณะนั้นมี พระอาจารย์โชติ เป็นเจ้าอาวาสวัด และต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๑ พระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร เป็นเจ้าอาวาสวัด และในปีนี้พระอาจารย์อุ่นได้เดินทางไปธุดงค์ และชักชวนพระ ๓๐ รูป ซึ่งมีหลวงปู่รวมอยู่ด้วย จากอำเภอมุกดาหารมาอยู่ที่วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) ดังได้กล่าวมาแล้ว

ทุกพรรษา ขณะจำพรรษาที่วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) นี้ หลวงปู่มักจะนิมิตเห็นตัวท่านเองนั่งอยู่ในโบสถ์ร้าง ซึ่งหลวงปู่ก็ไม่ทราบว่าเป็นโบสถ์ไหน หลวงปู่จึงได้แต่คิดว่าทำไมผู้สร้างโบสถ์จึงไม่จัดงานฉลองโบสถ์ แต่ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๑ ร.ต.ท.ขุนรัฐกิจบรรหาร และคณะชาวบ้าน ขออนุญาตจัดงานฉลองและผูกพัทธสีมา

หลวงปู่จึงทราบว่าที่แท้จริงโบสถ์ร้างที่เห็นในนิมิตตลอด ๙ ปี ก็คือโบสถ์วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) ที่ท่านจำพรรษาอยู่นั่นเอง

ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๘ คณะภรรยาข้าราชการตำรวจและพ่อค้าชาวจีนในจังหวัดอุดรธานี ได้ร่วมกันซื้อที่ดิน นับตั้งแต่ส่วนที่เป็นเขตแนวรั้วเตี้ยๆ เก่าแก่ที่ทำด้วยอิฐดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ติดหนองน้ำขึ้นไปทางทิศตะวันออกจนถึงห้วยหนองน้ำแฝด ด้านหลังห้วยน้ำแฝดจะเป็นป่าสำหรับรุกขมูลิกังคธุดงค์ อาณาบริเวณดังกล่าวมานี้คือ เขตวัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) ใหม่ในปัจจุบัน

ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ หลวงปู่ได้สร้างศาลากลางน้ำขึ้นครั้งแรก เมื่อสร้างจวนเสร็จปรากฏว่าเกิดนิมิตเห็นเป็นชายร่างใหญ่ผิวดำถือปืนเข้ามาจะยิงหลวงปู่ขณะนั่งภาวนาอยู่ในกุฏิ แล้วชายคนนั้นถามหลวงปู่ว่า ท่านกลัวไหม หลวงปู่ตอบว่า ไม่กลัว เพราะชีวิตเราได้สละแล้วตั้งแต่ออกบวช ชายคนนั้นจึงยิงหลวงปู่ ปรากฏว่ากระสุนปืนเฉียดซี่โครงด้านซ้ายไป แล้วชายคนนั้นก็อันตรธานหายไป

หลวงปู่นั่งพิจารณาต่อ จึงทราบว่าพรุ่งนี้ ศาลากลางน้ำที่กำลังก่อสร้างอยู่จะพังทลายลง มีเสียงถามผุดขึ้นในใจว่า เสียดายไหม

หลวงปู่ตอบว่า ไม่เสียดาย ไม่เสียใจ เพราะศาลาหลังนี้มิใช่ศาลาเก่าแก่ แต่เป็นศาลาที่เราสร้างขึ้นมาเอง เกิดขึ้นมาหลังตัวเรา เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ภายภาคหน้าถ้ามีบุญบารมีเพียงพอ เราก็จะสามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้ และจะสร้างให้ดีกว่าเดิม

วันรุ่งขึ้น บังเอิญเจ้าคณะอำเภอหนองบัวลำภูในขณะนั้น ได้เดินทางมาเยี่ยมและเอ่ยปากกล่าวว่า ศาลาใหม่จวนเสร็จแล้วนะ

หลวงปู่จึงบอกว่า ในวันนี้ศาลาก็จะพังแล้ว คอยดูนะ

ปรากฏว่าตอนบ่ายวันนั้นเอง มีเมฆดำขนาดใหญ่ลอยมาเหนือวัด และมีพายุพัดแรงมากจนศาลาลอยตัวขึ้นทั้งหลังแล้วถูกปล่อยตกลงมากระแทกพื้นอย่างแรง ทำให้ศาลาพังทลาย

หลวงปู่เล่าว่า สาเหตุที่ศาลาลอยขึ้นทั้งหลังนั้น เนื่องจากหลังคาศาลาทำด้วยแผ่นกระเบื้องเรียงซ้อนกันถี่และหนัก เมื่อลมพายุพัดมา แผ่นกระเบื้องที่ถูกตรึงติดไว้ดีแล้วจึงไม่ปลิวหลุดเป็นแผ่นๆ แรงลมพายุที่อยู่ใต้หลังคาจึงสามารถดันให้ศาลาทั้งหลังลอยตัวขึ้นไปได้ เสมือนหนึ่งศาลาทั้งหลังถูกอุ้มลอยขึ้นไป เมื่อแรงลมอ่อนลง ศาลาจึงถูกปล่อยตกลงมากระแทกพื้นเสียหาย ซึ่งต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๒๖ หลวงปู่ก็สร้างโบสถ์ใหม่ที่ตำแหน่งเดิมนี้อีก

วันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๖ คณะตำรวจภูธรเขต ๔ และพ่อค้าชาวจีน ได้ร่วมกันสร้าง ศาลาการเปรียญ (หลังที่มีรูปปั้นยักษ์สองตนยืนเฝ้าอยู่ข้างหน้า) ซึ่งสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๗ โดยหลวงปู่เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างเอง

ใน พ.ศ. ๒๕๑๔ ก็เริ่มสร้างกุฏิ ๒ ชั้น พื้นไม้มะค่า (หลังที่หลวงปู่พักอาศัยอยู่ประจำเมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่) ซึ่งตรงกับนิมิตที่เคยเห็นหลวงปู่มั่นที่กุฏิในตอนพรรษาต้นๆ ที่เคยกล่าวมาแล้ว


(มีต่อ ๙)
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 26 ม.ค. 2011, 6:29 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม ตรวจงานการก่อสร้างเจดีย์วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก)


ในวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ หลวงปู่ได้เริ่มสร้างอุโบสถหลังใหม่ลงที่เดิมที่เคยสร้างศาลากลางน้ำแล้วถูกพายุพัดพังทลายลง โดยออกแบบตามนิมิตที่เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๔ ซึ่งทำการก่อสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหลัง รอบฐานอุโบสถมีขนาดกว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๔๐ เมตร มีทั้งหมด ๓ ชั้น ซึ่งแต่ละชั้นจะมีลักษณะต่างกัน คือ

ชั้นที่ ๑ เป็นชั้นล่างเจาะลึกลงไปใต้ดิน ฤดูฝนให้เป็นที่เก็บน้ำฝน ส่วนฤดูแล้งใช้เป็นที่นั่งพักผ่อนได้เย็นสบาย เพราะเป็นที่โปร่ง มีการระบายอากาศได้ดี

ชั้นที่ ๒ เป็นวิหารการเปรียญ รอบพระวิหารมีอาศรมจำนวน ๑๐ หลัง ทางทิศใต้ของวิหารมีมณฑป ๑ หลังรองรับรอยพระพุทธบาท และวิหารคดอีก ๑ หลัง ขนาดกว้าง ๒๒ เมตร ยาว ๔๐ เมตร

ชั้นที่ ๓ เป็นอุโบสถ รอบอุโบสถมีมณฑปจำนวน ๔ หลัง

อุโบสถหลังใหม่นี้สร้างสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ และได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๓ ขณะที่กำลังก่อสร้างอุโบสถนี้อยู่ (จวนเสร็จ) หลวงปู่ได้นิมิตเห็นอดีตสมเด็จพระสังฆราชเสด็จมา และตรัสว่าจะขอเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์โบราณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่ครั้งโบราณกาลในอุโบสถ เมื่ออดีตสมเด็จพระสังฆราชเสด็จเข้าไปในตัวอุโบสถเพื่อชมพระพุทธรูป ปรากฏว่าทรงอ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง เดินไม่ได้ หลวงปู่จึงอุ้มอดีตสมเด็จพระสังฆราชลอยขึ้นไปชมชั้นสองของอุโบสถ (ในนิมิตนั้นยังไม่มีบันไดขึ้นไปสู่ชั้นสอง) ครั้นต่อมาหลวงปู่จึงตื่นจากนิมิต

นิมิตนี้หมายความว่า เพราะบุญบารมีของหลวงปู่ที่มีมาแต่ปางก่อนจะเป็นสิ่งสนับสนุนให้สร้างโบสถ์ได้สำเร็จ และจะมีความศักดิ์สิทธิ์เนื่องจากบุญบารมีของผู้สร้าง

กลับมากล่าวถึงภายในตัวอุโบสถชั้น ๒ ที่เป็นวิหารการเปรียญ ซึ่งเป็นที่ฝึกบำเพ็ญเพียรภาวนา เมื่อก้าวพ้นประตูด้านตะวันออกเข้าไปข้างใน จะพบว่าข้างหน้ามีพระประธานขนาดใหญ่ สีทอง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีลักษณะงดงามมาก พระพักตรงมีรอยยิ้มดูอ่อนโยน เมตตา พระเนตรทอดต่ำ เหมือนกับจะก้มลงมองดูพุทธศาสนิกชนที่มากราบนมัสการสักการะท่าน

ผู้ที่มาสวดมนต์ บำเพ็ญเพียรภาวนาที่โบสถ์นี้ประจำทุกค่ำเช้า มักจะพูดกันว่าพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์นี้ เวลากลางคืนมองดูแล้วเสมือนหนึ่งท่านหลับพระเนตรลง และในตอนเช้า ตอนกลางวัน จะมองเห็นท่านเบิกพระเนตรขึ้น และบางคนก็ว่าถ้าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตั้งใจภาวนา จะมองเห็นท่านเบิกพระเนตรขึ้นมองดู

เมื่อเข้ามาอยู่ภายในอุโบสถแล้วจะรู้ดีกว่าเย็นชุ่มชื่นกว่าปกติ เนื่องจากแนวรอยต่อพื้นแต่ละชั้น หลวงปู่ได้ทำให้เป็นช่องว่างห่างกันประมาณ ๓๐ เซนติเมตร และมีคานรับน้ำหนักพื้นชั้นบนสูงประมาณ ๔๐ เซนติเมตร ห่างกันเป็นช่องๆ ซึ่งแต่ละช่องจะมีรูสำหรับให้น้ำไหลผ่านหมุนเวียนรอบอุโบสถได้ และจะมีเครื่องดูดอากาศออกและดูดไอน้ำเข้าจากพื้นด้านในอุโบสถ เพื่อให้ไอน้ำกระจายในตัวอุโบสถ ทำให้เกิดความชุ่มชื่น จะเห็นได้ว่าเป็นลักษณะการสร้างที่ไม่เหมือนใคร เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของหลวงปู่โดยแท้ ทั้งนี้เป็นเพราะพรสวรรค์และบุญบารมีที่หลวงปู่ได้เพียรสั่งสมมา ทำให้สามารถสร้างอุโบสถที่ใหญ่สวยงามวิจิตรได้ ทั้งๆ ที่หลวงปู่ไม่ได้เรียนด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์มาเลย รูปทรงอุโบสถทั้งหมดเขียนแปลนออกมาจากนิมิตทั้งสิ้น สมดังนิมิตในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ที่หลวงปู่ได้เห็นหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี มาบอกว่าหลวงปู่จะได้สร้างอุโบสถใหญ่เท่าวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ นับได้ว่าเป็นบุญตาของผู้ที่ได้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง

พ.ศ. ๒๕๓๙ หลวงปู่ได้สร้างอุโบสถวัดบุปผาราม บ้านดงน้อย จังหวัดนครพนม

พ.ศ. ๒๕๔๕ หลวงปู่ได้ก่อสร้างเจดีย์สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธาตุของพระอรหันตเจ้า ณ บริเวณที่เคยเป็นโบสถ์เก่า ซึ่งอยู่ในบริเวณวัดตอนนอก (ด้านนอกรั้วเตี้ยๆ) โดยได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างและมีแบบแปลนเรียบร้อยแล้ว เจดีย์ดังกล่าวนี้กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบให้ และหลวงปู่ได้ทำการวางศิลาฤกษ์และเริ่มก่อสร้างในวันเกิดของหลวงปู่ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ ปัจจุบันได้ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว และมีงานฉลองเจดีย์เป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน

ในปีเดียวกัน หลวงปู่ได้สร้างวัดป่าโนนสวรรค์ บ้านผึ้ง ตำบลนาไหม อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี โดยได้จัดงานประกอบพิธีผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


๏ ปฏิปทา

เมื่อแรกบวชนั้น หลวงปู่ได้ตั้งใจไว้ว่าจะถวายชีวิตให้แก่เพศพรหมจรรย์และท่านได้เร่งบำเพ็ญเพียรประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างอุกฤษฏ์เพื่อกำจัดกิเลส ดังได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น จวบจนถึงวันที่ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ หลวงปู่ก็ยังคงเคร่งครัดต่อข้อวัตรปฏิบัติอยู่เสมอมามิได้ขาด ยกเว้นว่าจะอาพาธจนลุกไม่ขึ้นหรือเดินไม่ไหวเท่านั้น ธุดงควัตรที่หลวงปู่ถือปฏิบัติเป็นประจำมี ๓ ประการ คือ

๑. ปิณฑปาติกังคธุดงค์ ถือภิกขาจารออกบิณฑบาตมาฉันเป็นนิจ ยกเว้นวันที่ท่านอาพาธ และมีครั้งหนึ่ง (ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ช่วงหน้าหนาว) ท่านเจ็บขามากจึงเดินได้ระยะทางสั้นๆ แต่ท่านก็ยังออกบิณฑบาต ซึ่งก็เดินได้ระยะสั้นๆ บริเวณหน้าวัดเท่านั้น ญาติโยมส่วนใหญ่จึงมาตักบาตรหน้าวัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) เป็นเวลาหลายเดือน

๒. ปัตตปิณฑิกังคะ ถือฉันในบาตรโดยใช้ภาชนะใบเดียวตลอด

๓. เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันอาสนะเดียวตลอดมา

ธุดงควัตรนอกเหนือจากที่ได้กล่าวมานี้ หลวงปู่ได้ถือปฏิบัติเป็นประจำเฉพาะในวันพระและวันสำคัญทางศาสนา คือ เนสัชชิกธุดงค์ ถือการนั่งเป็นวัตร และ รุกขมูลิกังคธุดงค์ ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร ซึ่งคณะสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์ภายในวัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) ก็ได้ประพฤติปฏิบัติตาม

หลวงปู่เป็นพระที่มีเมตตาสูงมาก จะเห็นได้จากการที่ท่านมีเมตตาต่อสาธุชนทั่วไปอยากให้พ้นทุกข์ ท่านจึงได้ลงโบสถ์อบรมสั่งสอนและนำพาให้ประพฤติปฏิบัติธรรม ทำสมาธิภาวนา สวดมนต์ทุกเย็น ส่วนวันพระก็จะเพิ่มการเทศนาธรรมตอนเช้าด้วย เท่าที่ผู้เรียบเรียงเห็นกับตาตนเอง ก็นับตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีโบสถ์ใหม่ ซึ่งหลวงปู่ให้ประกอบศาสนกิจ อบรมสมาธิภาวนาที่ศาลายักษ์คู่ จวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ได้ย้ายมาอบรมกันที่โบสถ์ใหม่ เมื่อหลวงปู่มีอายุมากแล้ว สุขภาพร่างกายเสื่อมถอยไม่แข็งแรงดังก่อน แต่หลวงปู่ท่านก็สู้อุตส่าห์ลงโบสถ์เทศน์อบรมสั่งสอนและนำพาให้ประพฤติปฏิบัติกันให้ถูกต้อง จะได้ฝึกหัดจิตใจตัวดื้อดึงวุ่นวายนี้ให้สงบ ให้พ้นทุกข์ เว้นเสียแต่เมื่อท่านอาพาธ สังขารไม่อำนวย จึงงดภารกิจนี้

นอกจากนี้หลวงปู่ยังเปิดโอกาสให้สาธุชนทั่วไปได้เข้าพบเพื่อสนทนาธรรมหรือปรึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต ซึ่งหลวงปู่ก็ให้คำแนะนำและช่วยเหลือ ทำให้มีประชาชนขอเข้าพบหลวงปู่มาก จนทางวัดต้องจัดเวลาให้เข้าพบ เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนหลวงปู่มากเกินไปเนื่องจากหลวงปู่ชราภาพมากแล้ว

เมื่อได้มาพบหลวงปู่แล้ว ทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ที่แบกมาจากบ้านนั้นดูเหมือนว่าจะมลายหายไปกว่าครึ่ง เนื่องจากพลังแห่งความเมตตาของท่านได้ช่วยให้ผู้ที่แบกทุกข์มารู้สึกเย็นใจคลายทุกข์ และเมื่อได้รับคำแนะนำสั่งสอนแล้ว ก็รู้สึกเหมือนกับว่าทุกข์หรือปัญหาที่ว่ายิ่งใหญ่นั้นกลับเป็นเรื่องเล็กน้อยสามารถแก้ไขได้โดยง่ายดาย ผู้ที่มาปรึกษาปัญหากับหลวงปู่จึงกลับบ้านไปด้วยความเบิกบานใจ ยิ้มแย้มแจ่มใส หลวงปู่จึงเป็นที่พึ่งทางใจที่สำคัญ เป็นหลักชัยของชีวิต เป็นที่เคารพรักและศรัทธาของปวงชนทั้งหลาย ดังที่เราท่านทั้งหลายได้ประจักษ์กันอยู่ทุกวันนี้

หลวง ปู่ชนนบน้อม ศรัทธา
ปู่ เป็นพระอภิญญา เลิศล้น
ถิร จิตแผ่เมตตา สัตว์โลก สุขเอย
ฐิตธมฺโม มุ่งพ้น ผ่านห้วง โลกย์วิสัย



(มีต่อ ๑๐)
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.พ.2011, 8:10 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป)

Image
ขวามือ : พระธรรมดิลก (สมาน สุเมโธ) วัดป่าแสงอรุณ
กราบมนัสการพระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล)



๏ การอาพาธและการมรณภาพ

พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม) ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชรา ปอดอักเสบติดเชื้อ และต่อมลูกหมากอักเสบ เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ เวลา ๑๐.๓๕ น. ณ ห้องพิเศษของตึกสงฆ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ท่ามกลางความเศร้าสลดอาลัยยิ่งนักของคณะสงฆ์ และคณะศิษยานุศิษย์ชาวอุดรธานีโดยถ้วนหน้า ก่อนหน้านี้หลวงปู่ได้อาพาธกะทันหัน คณะศิษยานุศิษย์ได้นำส่งโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี และส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ตั้งแต่วันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ จนกระทั่งหลวงปู่สิ้นลมหายใจไปอย่างสงบ สิริอายุรวมได้ ๘๙ ปี ๙ เดือน ๑ วัน พรรษา ๗๐

ก่อนหน้านี้ท่านเคยป่วยเป็นโรคต่อมลูกหมากอักเสบมาก่อน แต่ก็ได้รักษาจนอาการทุเลา ต่อมาได้ป่วยเป็นไข้หวัดจนติดเชื้อที่ปอด จึงเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานีประมาณ ๓ เดือน แต่ด้วยท่านมีอายุมากแล้วจึงมีความต้านทานน้อย ทำให้โรคต่อมลูกหมากอักเสบกลับเป็นแทรกซ้อนขึ้นมาอีก ดังนั้น เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ทางคณะศิษยานุศิษย์จึงเห็นว่าควรนำหลวงปู่ย้ายไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เนื่องจากเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์การรักษามีความพร้อมมากกว่า ต่อมาอาการของหลวงปู่ทรุดลง ทางคณะแพทย์พยายามเยียวยารักษาอย่างเต็มที่ กระทั่งต่อมาถุงน้ำในปอดเกิดแตกลง คณะแพทย์ได้พยายามรักษาอาการของท่านอย่างสุดความสามารถ แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ ในที่สุดหลวงปู่ได้ถึงแก่มรณภาพลงอย่างสงบ

สำหรับงานพระราชทานเพลิงศพ “หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม” อดีตเจ้าอาวาสวัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) พระเถราจารย์สายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ เวลา ๑๖.๐๐ น. ณ วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) โดยมี พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๙ (ธรรมยุต) ที่ปรึกษามหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายจารึก ปริญญาพล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีในขณะนั้น เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในงานนี้มีพระภิกษุ สามเณร แม่ชี และประชาชนจากทั่วสารทิศ ประมาณ ๑ หมื่นคนเศษมาร่วมงานแน่นวัด

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้มีการเคลื่อนศพของหลวงปู่ถิร จากศาลาการเปรียญในวัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) มาที่เมรุ จากนั้นก็ได้มีพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ และในตอนกลางคืนได้มีการแสดงพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์ โดย พระธรรมดิลก (สมาน สุเมโธ) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพวรคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าแสงอรุณ ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เจ้าคณะภาค ๙ (ธรรมยุต) และในวันพระราชทานเพลิงศพ วันที่ ๑๗ ธันวาคม เวลา ๑๓.๓๐ น. ก็มีการแสดงพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์ โดยพระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) แล้วมีพระสงฆ์ซึ่งเป็นพระใบฎีกา ๙๐ รูปสวดมาติกาบังสุกุล นอกจากนี้ภายในวัดยังมีสาธุชนจำนวนมากได้มาตั้งโรงทานเพื่อบริการอาหารเครื่องดื่มแก่ประชาชนจำนวน ๒๐๐ โรงทาน


๏ เจดีย์บรรจุอัฐบริขารหลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม

เจดีย์บรรจุอัฐบริขารหลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม เป็นเจดีย์องค์ใหญ่ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และรูปเหมือนพระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) พร้อมทั้งเครื่องอัฐบริขาร เจดีย์นี้มีสัณฐานคล้ายทะนานที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุแต่ครั้งพุทธกาล สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ก่อนหลวงปู่ถิรมรณภาพ ทุกๆ ปีในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของหลวงปู่ จะมีการทอดกฐินประจำปีและการทำบุญฉลองอายุวัฒนมงคลให้กับหลวงปู่เป็นประจำ

Image
เจดีย์บรรจุอัฐบริขารหลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม
ณ วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี


Image
รูปเหมือนหลวงปู่ถิร ภายใน “เจดีย์บรรจุอัฐบริขารหลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม”

Image
บาตรและเครื่องใช้ของหลวงปู่ถิร ภายใน “เจดีย์บรรจุอัฐบริขารหลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม”

Image
หนังสือธรรมะต่างๆ ภายใน “เจดีย์บรรจุอัฐบริขารหลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม”

Image
อุโบสถ วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก)

Image
พระประธานในอุโบสถ วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก)



.............................................................

♥ รวบรวมและคัดลอกเนื้อหามาจาก ::
เว็บไซต์ http://www.dharma-gateway.com
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.พ.2011, 8:13 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

กระทู้ในบอร์ดใหม่

ประวัติและปฏิปทาพระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์
(หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=36233

ประมวลภาพ “หลวงปู่ถิร ฐิตธัมโม”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=21440
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง