Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พระลกุณฏกภัททิยเถระ (เอตทัคคะ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่หัวข้อนี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไข หรือตอบได้
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 04 ก.ย. 2006, 3:49 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระลกุณฏกภัททิยเถระ
เอตทัคคะในทางผู้มีเสียงไพเราะ


พระเถระที่ชื่อ “ภัททิยะ” นี้ ในพระบาลีปรากฏอยู่ ๓ ท่านด้วยกันคือ

๑. พระภัททิยะ หนึ่งในภิกษุปัญจวัคคีย์

๒. พระลกุณฏกภัททิยะ ผู้เป็นเอตทัคคะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกผู้มีเสียงไพเราะ และ

๓. พระภัททิยกาฬิโคธาบุตรเถระ ผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของภิกษุทั้งหลายผู้เกิดในตระกูลสูง

ประวัติของพระเถระในเรื่องนี้หมายเอาถึงพระลกุณฏกภัททิยะ ซึ่งท่านมีชื่อเช่นนั้นก็เนื่องมาจากท่านมีรูปร่างต่ำเตี้ยนั่นเองการที่พระเถระได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของภิกษุทั้งหลายผู้มีเสียงไพเราะ ก็โดยเหตุ ๒ ประการ คือโดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ เพราะท่านแสดงให้ผู้อื่นเห็นเป็นอย่างชัดเจนในคุณข้อนี้ของท่าน ไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการแต่งตั้งโดยเหตุที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปนี้


๐ บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

ในกัปที่แสนแต่ภัทรกัปนี้ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านมาเกิดเป็นบุตรเศรษฐีมีทรัพย์มาก ในพระนครหงสวดี วันหนึ่งเที่ยวเดินพักผ่อนอยู่ ก็ได้ไปถึงสังฆาราม ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเทศนา แล้วได้ทรงสถาปนาพระภิกษุผู้รูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะของเหล่าภิกษุผู้มีเสียงไพเราะ จึงปรารถนาว่า ต่อไปในอนาคตเราพึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีเสียงไพเราะ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งเหมือนภิกษุนี้

จึงนิมนต์พระศาสดาถวายมหาทานอันเจือปนด้วยรสหวาน เช่น เนยใส และน้ำตาลกรวดเป็นต้น แด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธจ้าเป็นประมุขตลอด ๗ วัน แล้วแล้วหมอบลงแทบพระบาทของพระศาสดา ตั้งความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยผลแห่งทานนี้ ข้าพระองค์มิได้หวังสมบัติอื่น แต่ในอนาคตกาล ขอข้าพระองค์พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีเสียงไพเราะในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งเถิด

พระศาสดาทรงตรวจดูอนาคตก็ทรงเห็นความปรารถนาของท่านจักสำเร็จ จึงได้ตรัสพยากรณ์ในท่ามกลางพระสงฆ์ว่า ในอนาคตกาล ท่านจักได้ฐานันดรนี้สมดังมโนรถความปรารถนา ในกัปที่แสนแต่ภัทรกัปนี้ พระศาสดามีพระนามชื่อว่าโคดม ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เศรษฐีบุตรผู้นี้ จักได้เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น เป็นโอรสอันธรรมเนรมิต เป็นสาวกของพระศาสดา มีนามชื่อว่าภัททิยะ ท่านจักเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีเสียงไพเราะในศาสนาของพระองค์ดังนี้แล้วเสด็จกลับพระวิหาร


๐ บุรพกรรมในสมัยพระผุสสพุทธเจ้า

เมื่อท่านได้รับพุทธพยากรณ์เช่นนั้นแล้ว ก็ได้กระทำกรรมดีงามอยู่ตลอดชีวิต ทำกาละในอัตภาพนั้นแล้ว เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ผุสสะ (พระอรรถกถาจารย์บางท่านกล่าวว่า ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าวิปัสสี) ท่านบังเกิดเป็นนกดุเหว่าขาวมีขนปีกอันสวยงาม อยู่ในเขมมิคทายวัน

วันหนึ่งนกดุเหว่านั้นได้ออกไปยังหิมวันตประเทศเพื่อหาอาหาร ได้พบมะม่วงอันมีรสอร่อย จึงได้เอาปากคาบผลมะม่วงหวานมาเพื่อเป็นอาหารสำหรับลูกน้อย ขณะที่บินกลับรังนั้น ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จพระราชดำเนินไปบิณฑบาต จึงทำจิตให้เลื่อมใส แล้วร้องด้วยเสียงอันไพเราะ ถวายบังคมแล้วคิดว่าในวันอื่นๆ เรามีตัวเปล่าพบพระตถาคต แต่วันนี้เรานำมะม่วงสุกผลนี้มาเพื่อฝากบุตรของเรา แต่สำหรับบุตรนั้นเราไปเอาผลอื่นมาให้ก็ได้ แต่ผลนี้เราควรถวายพระทศพลดังนี้ จึงคงบินอยู่ในอากาศ

พระศาสดาทรงทราบใจของนกจึงแลดูพระอุปัฏฐากนามว่า อโสกเถระ พระเถระจึงนำบาตรถวายพระศาสดา นกดุเหว่าจึงเอาผลมะม่วงสุกวางไว้ในบาตรของพระทศพล ใส่บาตรแล้วก็เอาปีกจบ ร้องด้วยเสียงอันไพเราะ เสนาะน่าฟังน่ายินดี เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า พระศาสดาประทับนั่งเสวยในที่นั้นนั่นแหละ นกดุเหว่ามีจิตเลื่อมใสนึกถึงพระคุณของพระทศพลเนืองๆ ถวายบังคมพระทศพลแล้วไปรังของตน ครั้งนั้นนกเหยี่ยวผู้มีใจชั่วช้าได้โฉบเอานกดุเหว่าผู้มีจิตเบิกบาน ผู้มีอัธยาศัยไปสู่ความรักในพระพุทธเจ้าฆ่าเสีย และด้วยบุญกรรมนั้นนั่นแหละทุกๆ ภพที่ท่านเกิดเป็นมนุษย์ จึงได้มีเสียงไพเราะ

ท่านจุติจากอัตภาพนั้นไปเสวยมหันตสุขในสวรรค์ชั้นดุสิต แล้วมาสู่กำเนิดมนุษย์เพราะกรรมนั้นพาไป


๐ บุรพกรรมในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสป เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานและถวายพระเพลิงแล้ว มหาชนทั้งหลายผู้เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตกลงกันที่จะสร้างพระมหาเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในการประชุมันเพื่อจะกำหนดขนาดของพระเจดีย์นั้น ชนทั้งหลายต่างพูดกันว่า เราจะสร้างขนาดเท่าไร เราสร้างขนาด ๗ โยชน์ก็จะใหญ่เกินไป ถ้าอย่างนั้นก็สร้างขนาด ๖ โยชน์ แม้ ๖ โยชน์นี้ก็ใหญ่เกินไป เราจะสร้าง ๕ โยชน์ เราจะสร้าง ๔ โยชน์... ๓ โยชน์... ๒ โยชน์ ดังนี้

ท่านภัททิยะในครั้งนั้น ได้ถือกำเนิดเป็นแม่ทัพของพระเจ้ากาสีพระนามว่า กิกิ ก็พูดขึ้นในที่ประชุมว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายการสร้างก็ควรนึกถึงการบำรุงได้ง่ายในอนาคตกาลบ้าง แล้วกล่าวกำหนดขนาดของพระมหาเจดีย์ว่า ให้มุขแต่ละมุขมีขนาดคาวุตหนึ่ง พระเจดีย์มีเส้นรอบวงยาวโยชน์หนึ่ง มีส่วนสูงโยชน์หนึ่ง เมื่อท่านพูดดังนี้ มหาชนเหล่านั้นก็เชื่อท่าน แล้วได้สร้างพระมหาเจดีย์ในขนาดแต่พอประมาณแด่พระพุทธเจ้าผู้มีพระคุณหาประมาณมิได้ ด้วยกรรมนั้นดังกล่าวมานี้ จึงเป็นผู้มีขนาดต่ำกว่าชนเหล่าอื่นในที่ที่ตนเกิดแล้ว ด้วยประการดังนี้


๐ กำเนิดเป็นภัททิยะในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

ครั้งพระศาสดาของเรา ท่านมาบังเกิดในตระกูลที่มีโภคะสมบัติมากในกรุงสาวัตถี พวกญาติขนานนามของท่านว่า ภัททิยะ ท่านเจริญวัยแล้ว แต่มีรูปร่างไม่น่าเลื่อมใส มีวรรณะไม่งาม ไม่น่าดู ค่อม วันหนึ่งเมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในเชตวันมหาวิหาร ท่านพร้อมด้วยอุบาสกไปพระวิหาร ฟังพระธรรมเทศนาแล้วเกิดศรัทธา ได้บรรพชาอุปสมบทแล้วแล้วรับกรรมฐานในสำนักของพระศาสดา เจริญวิปัสสนาบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว เป็นพหูสูต เป็นพระธรรมกถึกแสดงธรรมแก่คนเหล่านอื่นด้วยเสียงอันไพเราะ

ครั้นในวันมหรสพวันหนึ่งหญิงคณิกาคนหนึ่งไปรถกับพราหมณ์คนหนึ่ง เธอมองเห็นเห็นพระเถระเข้าจึงหัวเราะจนเห็นฟัน พระเถระถือเอานิมิตในกระดูกฟันของหญิงนั้นแล้วทำฌานให้เกิดขึ้น กระทำฌานนั้นให้เป็นบาท เจริญวิปัสสนาได้เป็นพระอนาคามี ท่านอยู่ด้วยสติเป็นไปในกายเนืองๆ


๐ พระสารีบุตรเทศน์โปรดพระเถระ

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นเหล่าภิกษุผู้เสขบุคคล ซึ่งยังไม่บรรลุพระอรหัตผล โดยมากก็จะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร ขอกัมมัฏฐานบ้าง ขอฟังธรรมเทศนาบ้าง ถามปัญหาบ้าง เพื่อมรรคเบื้องสูง ท่านพระสารีบุตร เมื่อจะทำความประสงค์ของท่านเหล่านั้นให้บริบูรณ์ จึงบอกกัมมัฏฐาน แสดงธรรม แก้ปัญหา ให้กับภิกษุเหล่านั้น เมื่อภิกษุเหล่านั้นพากเพียรพยายามอยู่ บางพวกก็บรรลุสกทาคามิผล บางพวกก็บรรลุอนาคามิผล บางพวกก็บรรลุอรหัตผล บางพวกได้วิชา ๓ บางพวกได้อภิญญา ๖ บางพวกได้ปฏิสัมภิทา ๔

ฝ่ายท่านลกุณฏกภัททิยะเห็นเหตุนั้นแล้ว เมื่อยังเป็นพระเสขบุคคล ยังไม่บรรลุพระอรหัตผล ก็รู้จักกาลที่ควร และกำหนดความที่ตนบกพร่องในทางจิต เข้าไปหาพระธรรมเสนาบดี ขอให้แสดงธรรมเทศนา ฝ่ายพระธรรมเสนาบดี ก็ได้แสดงธรรมอันเหมาะสมแก่อัธยาศัยของท่าน ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา โดยอเนกปริยาย

เมื่อท่านลกุณฏกภัททิยะพิจารณาลักษณะที่ถ่องแท้ ยังญาณให้เป็นไปตามกระแสเทศนา ท่านก็ถึงความแก่กล้าแห่งญาณตามอานุภาพเทศนาของพระเถระ และเพราะความที่สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย ในขณะที่พระธรรมเสนาบดีแสดงธรรม จิตของท่านไม่ยึดอาสวะอะไรๆ มีกามาสวะเป็นต้น หลุดพ้นโดยเด็ดขาด ตามลำดับแห่งมรรค กระทำให้แจ้งซึ่งอรหัตผล

จริงอยู่ ท่านลกุณฏกภัททิยะ นั่งอยู่ตามเดิมนั่นแหละบรรลุธรรมเครื่องสิ้นไปแห่งอาสวะ ด้วยโอวาทแรกตามวิธีดังกล่าวในสูตรแรก ฝ่ายพระธรรมเสนาบดีไม่ทราบการบรรลุพระอรหัตนั้นของท่าน โดยมิได้คำนึงถึง สำคัญว่ายังพระเสขะอยู่ตามเดิม เหมือนบุรุษผู้มีใจกว้างขวาง เขาขอน้อยก็ให้มากฉะนั้น ย่อมแสดงธรรมเพื่อสิ้นอาสวะ โดยอเนกปริยายยิ่งๆ ขึ้นไปทีเดียว ฝ่ายท่านลกุณฏกภัททิยะมิได้คิดว่า บัดนี้เราทำกิจเสร็จแล้ว จะมีประโยชน์อะไรด้วยโอวาทนี้ จึงนั่งฟังโดยเคารพอยู่เช่นเดิม เพราะความเคารพในพระสัทธรรม

พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นท่านพระสารีบุตรสำคัญว่าท่านพระลกุณฐกภัททิยะยังเป็นพระเสขะ จึงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาโดยอเนกปริยาย ให้ยิ่งขึ้นกว่าปกติต่อไปอีก ฯ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้ด้วยพุทธานุภาพแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานขึ้นในเวลานั้นว่า

บุคคลตัดวัฏฏะได้แล้ว บรรลุถึงนิพพานอันเป็นสถานที่ไม่มีตัณหา
ตัณหาที่บุคคลให้เหือดแห้งแล้วย่อมไม่ไหลไป
วัฏฏะที่บุคคลตัดได้แล้ว ย่อมไม่เป็นไป นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ



๐ ทรงแต่งตั้งพระเถระเป็นเอตทัคคะ

ต่อมาภายหลัง พระศาสดาประทับนั่งท่ามกลางพระอริยสงฆ์ทรงสถาปนาท่านไว้ในตำแหน่งผู้ยอดของเหล่าภิกษุผู้มีเสียงไพเราะ


๐ บุรพกรรมของพระเถระที่ทำให้ผิวพรรณไม่งาม

ท่านลกุณฏกภัททิยะเมื่อได้ดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว ภิกษุและสามเณรบางพวก ไม่รู้ว่าท่านได้บรรลุพระอรหัตแล้ว แกล้งดึงหูท่านเสียบ้าง จับศีรษะจับแขน หรือจับมือและเท้าเป็นต้นสั่นเล่น เบียดเบียนบ้าง พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ปรามาสท่านและ หยอกล้อแบบต่างๆ ฉุดมาบ้าง รั้งไปรอบๆ บ้าง ในที่นั้นๆ เนื่องด้วยท่านมีรูปร่างเตี้ยและกลมเหมือนดังสามเณร และมีผิวพรรณไม่งาม

วันหนึ่งเมื่อท่านถวายบังคมพระตถาคตแล้วไปที่ซุ้มประตูพระเชตวัน ภิกษุชาวชนบทประมาณ ๓๐ รูปไปยังพระเชตวันด้วยคิดว่าจักถวายบังคมพระตถาคต เห็นพระเถระที่ซุ้มวิหาร จึงพากันจับพระเถระที่ชายจีวร ที่มือ ที่ศรีษะ ที่จมูก ที่หู เขย่า ด้วยสำคัญว่าท่านเป็นสามเณร ทำด้วยคะนองมือ ครั้นภิกษุเหล่านั้นเก็บบาตรจีวรแล้วก็พากันเข้าเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วนั่ง

เมื่อพระศาสดาทรงกระทำปฏิสันถารด้วยพระดำรัสอันไพเราะแล้วจึงทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ ได้ยินว่ามีพระเถระองค์หนึ่งชื่อลกุณฏกภัททิยะเถระเป็นสาวกของพระองค์ แสดงธรรมไพเราะ เดี๋ยวนี้พระเถระรูปนั้นอยู่ที่ไหนพระเจ้าข้า

พระศาสดาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอประสงค์จะเห็นหรือ

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายใคร่จะเห็น

พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่พวกเธอเห็นที่ซุ้มประตูแล้วพวกเธอคะนองมือจับที่ชายจีวรเป็นต้นมาแล้ว ภิกษุรูปนั้นแหละคือ ลกุณฏกภัททิยะละ

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ พระสาวกผู้ถึงพร้อมด้วยอภินิหาร ได้ตั้งความปรารถนาไว้เห็นปานนี้ เพราะเหตุใดจึงมีศักดิ์น้อยเล่าพระเจ้าข้า

พระศาสดาตรัสว่า เพราะอาศัยกรรมที่ตนได้ทำไว้ ภิกษุเหล่านั้นทูลอาราธนา จึงทรงนำเรื่อง เกฬิสีลชาดก มาตรัสเล่า

ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นท้าวสักกเทวราช ในกาลนั้นใครๆ ก็ไม่อาจจะให้พระเจ้าพรหมทัตได้ทรงเห็นช้าง ม้า หรือโคที่แก่ชรา พระองค์ชอบเล่นสนุก ทอดพระเนตรเห็นสัตว์เช่นนั้นจึงรับสั่งให้พวกมนุษย์ต้อนไล่แข่งกัน เห็นเกวียนเก่าๆ ก็ให้แข่งกันจนพัง เห็นสตรีแก่รับสั่งให้เรียกมากระแทกที่ท้องให้ล้มลง แล้วจับให้ลุกขึ้น ให้ขับร้องเพลง เห็นชายแก่ๆ ก็ให้หกคะเมนตีลังกาเป็นต้น บนพื้นดิน ดุจนักเล่นกระโดด เมื่อไม่ทรงพบเห็นเอง เป็นแต่ได้สดับข่าวว่า คนแก่มีที่บ้านโน้น ก็รับสั่งให้เรียกตัวมาบังคับให้เล่น พวกมนุษย์ต่างก็ละอาย ส่งมารดาบิดาของตนไปอยู่นอกแคว้น ขาดการบำรุงมารดาบิดา พวกราชเสวกก็พอใจในการเล่นสนุก พวกที่ตายไปๆ ก็ไปบังเกิดเต็มในอบาย ๔ เทพบริษัททั้งหลายก็ลดลง

ท้าวสักกะไม่ทรงเห็นเทพบุตรเกิดใหม่ ทรงรำพึงว่า เหตุอะไรหนอ ครั้นทรงทราบเหตุนั้นแล้วดำริว่า เราจะต้องทรมานพระเจ้าพรหมทัต จึงทรงแปลงเพศเป็นคนแก่ บรรทุกตุ่มเปรียง ๒ ใบ ใส่ไปบนเกวียนเก่าๆ เทียมโคแก่ ๒ ตัว ในวันมหรสพวันหนึ่ง เมื่อพระเจ้าพรหมทัตทรงช้างพระที่นั่งตกแต่งด้วยเครื่องอลังการ เสด็จเลียบพระนคร ท้าวสักกะก็ทรงขับเกวียนนั้นตรงไปเฉพาะพระพักตร์พระราชา พระราชาทอดพระเนตรเห็นเกวียนเก่าเทียมด้วยโคแก่ จึงตรัสให้นำเกวียนนั้นมา พวกราชบริพารก็วิ่งหาข้างโน้นข้างนี้ก็ไม่เห็น กราบทูลว่า คนแก่นั้นอยู่ที่ไหน พระองค์ คนแก่นั้นอยู่ที่ไหน พระองค์ เพราะท้าวสักกะทรงอธิษฐานไว้อย่างนี้ว่าพระราชาเท่านั้นจงเห็นเรา คนอื่นอย่าได้เห็น

ด้วยเดชของท้าวสักกะ พระราชาพร้อมทั้งช้างก็เสด็จเข้าไปอยู่ใต้เกวียน เหมือนลูกโคอยู่ใต้แม่โคฉะนั้น ท้าวสักกะก็ทรงทุบตุ่มเปรียงแตกออกรดบนพระเศียรของพระราชาเปรียงก็ไหลลงเปรอะเปื้อนพระราชาตั้งแต่พระเศียร พระราชาทรงอึดอัดละอาย ขยะแขยง

ครั้นท้าวสักกะทรงทราบว่า พระราชาทรงวุ่นวายพระทัย ก็ทรงขับเกวียนหายไป เนรมิตพระองค์เป็นท้าวสักกะอย่างเดิม พระหัตถ์ทรงวชิราวุธ ประทับยืนบนอากาศ ตรัสคุกคามว่า ดูก่อน อธรรมิกราชผู้ชั่วช้า ชะรอยท่านจะไม่แก่ละหรือ ความชราจักไม่กล้ำกรายสรีระของท่านหรือไร ท่านมัวแต่เห็นแก่เล่น เบียดคนแก่มามากมาย เพราะอาศัยท่านผู้เดียวคนที่ตาย ๆ ไป เพราะทำกรรมนั้นจึงเต็มอยู่ในอบาย พวกมนุษย์ไม่ได้บำรุงมารดาบิดา หากท่านไม่งดทำกรรมนี้ เราจะทำลายศีรษะของท่านด้วยจักรเพชรนี้ ตั้งแต่นี้ท่านอย่าได้ทำกรรมนี้อีกเลย แล้วตรัสถึงคุณของมารดาบิดา ทรงชี้แจงอานิสงส์ของการอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้สูงอายุ ครั้นทรงสอนแล้วก็เสด็จกลับไปยังวิมานของพระองค์

ตั้งแต่นั้นมาพระราชาก็มิได้แม้แต่คิดที่จะทำกรรมนั้นอีกต่อไป

พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เรียกว่า “เถระ” เพราะความเป็นคนแก่ เพราะเหตุสักว่านั่งบนอาสนะพระเถระ ส่วนผู้ใด แทงตลอดสัจจะทั้งหลายแล้ว ตั้งอยู่ในความเป็นผู้ไม่เบียดเบียนมหาชน ผู้นี้ชื่อว่าเป็นเถระ” ดังนี้แล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า :

“บุคคล ไม่ชื่อว่าเป็นเถระ เพราะมีผมหงอกบนศีรษะ
ผู้มีวัยแก่รอบแล้วนั้น เราเรียกว่า “แก่เปล่า,”
(ส่วน) ผู้ใด มีสัจจะ ธรรมะ อหิงสา สัญญมะ
และทมะ ผู้นั้นมีมลทินอันคายแล้ว ผู้มีปัญญา,
เรากล่าวว่า “เป็นเถระ”


พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม ทรงประชุมชาดก เมื่อจบสัจธรรมบรรดาภิกษุเหล่านั้น บางพวกได้เป็นพระโสดาบัน บางพวกได้เป็นพระสกทาคามี บางพวกได้เป็นพระอนาคามี บางพวกได้เป็นพระอรหันต์ พระราชาในครั้งนั้นได้เป็นลกุณฏกภัททิยะ เธอได้เป็นที่เล่นล้อเลียนของผู้อื่น เพราะค่าที่ตนชอบเล่นสนุกครั้งนี้ ส่วนท้าวสักกะ คือเราตถาคตนี้แล


๐ พระเถระถูกล้อเลียนเพราะร่างเล็ก

เรื่องที่ สหธรรมิกมีสามเณรเป็นต้น ซึ่งเป็นปุถุชน เห็นพระเถระแล้ว จับที่ศีรษะบ้าง ที่หูบ้าง ที่จมูกบ้าง ล้อเลียนบ้าง แต่พระเถระก็ไม่โกรธ ไม่ประทุษร้ายในสหธรรมิกเหล่านั้นเลย เพราะเรื่องนี้ วันหนึ่งภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านจงดูเถิด สหธรรมิกมีสามเณรเป็นต้น เห็นพระลกุณฏกภัททิยเถระแล้ว ย่อมรังแกอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านไม่โกรธ ไม่ประทุษร้ายในสหธรรมิกเหล่านั้นเลย”


๐ พระขีณาสพเป็นดังศิลา

พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพูดอะไรกัน ?” เมื่อภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า “เรื่องชื่อนี้พระเจ้าข้า” จึงตรัสว่า “อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาพระขีณาสพ ย่อมไม่โกรธไม่ประทุษร้ายเลย เพราะท่านเหล่านั้นไม่หวั่นไหว ไม่สะเทือน เช่นกับศิลาแท่งทึบ” ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม ตรัสพระคาถานี้ว่า :

ภูเขาศิลาล้วน เป็นแท่งเดียว ย่อมไม่สะเทือนด้วยลม ฉันใด
บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่เอนเอียงในเพราะนินทาและสรรเสริญ ฉันนั้น



๐ พระพุทธเจ้าเปรียบพระเถระ

ความพิสดารว่า วันหนึ่งภิกษุอาคันตุกะหลายรูปด้วยกัน เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ผู้ประทับนั่ง ณ ที่ประทับกลางวัน ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ขณะนั้นพระลกุณฎกภัททิยเถระเดินผ่านไปในที่ไม่ไกลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า

พระศาสดา ทรงทราบวารจิต (คือความคิด) ของภิกษุเหล่านั้นแล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นหรือ ? ภิกษุนี้ฆ่ามารดาบิดาแล้วเป็นผู้ไม่มีทุกข์ ไปอยู่” เมื่อภิกษุเหล่านั้นมองดูหน้ากันและกันแล้วก็เกิดความสงสัยว่า “พระศาสดา ตรัสอะไรหนอแล ?” จึงกราบทูลว่า“พระองค์ตรัสคำนั่นชื่ออะไร ?” เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้นจึงตรัสพระคาถานี้ว่า :

บุคคลฆ่ามารดาบิดา ฆ่าพระราชาผู้เป็นกษัตริย์ทั้งสอง
และฆ่าแว่นแคว้น พร้อมด้วยเจ้าพนักงานเก็บส่วยแล้ว
เป็นพราหมณ์ ไม่มีทุกข์ ไปอยู่


พระธรรมข้างต้น พระอรรถกถาจารย์ได้วินิจฉัยว่า

ตัณหา ชื่อว่า มารดา เพราะให้สัตว์ทั้งหลายเกิดในภพ ๓ เพราะบาลีว่า “ตัณหายังบุรุษให้เกิด”

อัสมิมานะ ชื่อว่า บิดา เพราะอัสมิมานะอาศัยบิดาเกิดขึ้นว่า “เราเป็นราชโอรสของพระราชาชื่อโน้น หรือเป็นบุตรของมหาอำมาตย์ของพระราชาชื่อโน้น” เป็นต้น

ทิฏฐิทุกชนิด ย่อมอิง สัสสตทิฏฐิ และ อุจเฉททิฏฐิ ทั้งสอง เหมือนชาวโลกอาศัยพระราชาฉะนั้น เพราะฉะนั้น สัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิจึงชื่อว่าพระราชาผู้กษัตริย์สองพระองค์

อายตนะ ๑๒ ชื่อว่าแว่นแคว้น เพราะคล้ายคลึงกับแว่นแคว้น โดยอรรถว่า กว้างขวาง ความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดี ซึ่งอาศัยอายตนะนั้น ดุจบุรุษเก็บส่วย จัดการส่วนให้สำเร็จ ชื่อว่าเจ้าพนักงานเก็บส่วย

ในพระคาถานี้ มีอธิบายดังนี้

ผู้ชื่อว่ามีอาสวะสิ้นแล้ว เพราะกิเลสเหล่านั้น มีตัณหาเป็นต้น อันตนกำจัดได้ ด้วยดาบคืออรหัตมรรคญาณ จึงเป็นผู้ไม่มีทุกข์ไปอยู่

ในกาลจบเทศนา ภิกษุเหล่านั้นดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว



.............................................................

คัดลอกมาจาก ::
http://www.dharma-gateway.com/
http://www.manager.co.th/Dhamma/
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่หัวข้อนี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไข หรือตอบได้
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง