Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พระเสลเถระ อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่หัวข้อนี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไข หรือตอบได้
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 04 ก.ย. 2006, 9:55 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

พระเสลเถระ


๐ บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมุตตระ พระเถระนี้บังเกิดในเรือนมีตระกูลซึ่งเป็นเจ้าของถนนอยู่ในนครหงสวดี ครั้นเติบใหญ่ขึ้นได้ทราบข่าวการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นบุญเขตอันสูงสุด เป็นผู้สมควรรับเครื่องบูชาของโลกทั้งปวง จึงได้เป็นหัวหน้าคณะ ประชุมบรรดาญาติ ชักชวนบุรุษ ๓๐๐ คน ให้สร้างโรงฉันถวายพระศาสดา เมื่อสร้างโรงฉันเสร็จแล้ว ท่านพร้อมด้วยญาติทั้งหมดนั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแทบพระบาทของพระองค์แล้ว ได้กราบทูลดังนี้ว่า ข้าแต่พระวีรมุนี บุรุษประมาณ ๓๐๐ คนนี้ ร่วมกันเป็นคณะ ขอมอบถวายโรงฉันอันสร้างอย่างสวยงามแด่พระองค์ ขอพระองค์ผู้มีจักษุ ผู้เป็นประธานของภิกษุสงฆ์ โปรดทรงรับเถิด

พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ต่อหน้าบุรุษ ๓๐๐ คนว่า บุรุษทั้ง ๓๐๐ คนและผู้เป็นหัวหน้าร่วมกันประพฤติ ท่านทั้งปวงพากันทำแล้ว จักได้เสวยสมบัติ เมื่อถึงภพหลังสุด ท่านทั้งหลายจักเห็นนิพพาน อันเป็นภาวะเย็นยอดเยี่ยม ไม่แก่ไม่ตาย เป็นแดนเกษม พระพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยมกว่าผู้รู้ธรรมทั้งปวง ทรงพยากรณ์อย่างนี้

ท่านได้ฟังพระพุทธพจน์แล้ว ได้เสวยโสมนัส เมื่อสิ้นชีวิตแล้วรื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๓ หมื่นกัลป เป็นใหญ่กว่าเทวดาทั้งหลาย เสวยรัชสมบัติอยู่ในเทวโลก ๕๐๐ กัลป ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ๑,๐๐๐ ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์โดยคณานับมิได้


๐ กำเนิดในสมัยพระศากยโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในภพอันเป็นภพสุดท้ายนี้ ท่านถือกำเนิดมาเป็นเป็นบุตรพราหมณ์ชื่อว่าวาเสฏฐะ แห่งอาปณะนิคม อังคุตราปชนบท นิคมนั้นได้ชื่อว่าอาปณะเพราะมีตลาดมาก ได้ยินว่า ที่นิคมนั้นมีตลาดใหญ่จ่ายของกันถึงสองหมื่นตลาด ผู้คนได้เดินทางมารวมกันที่นิคมแห่งรัฐของชาวอังคุตตราปะทั่วทุกทิศ ตระกูลของท่านเป็นตระกูลเศรษฐี สั่งสมสมบัติไว้ประมาณ ๘๐ โกฏิ บิดามารดาตั้งชื่อว่าเสละ ครั้นเติบใหญ่ ได้เล่าเรียนคัมภีร์ เป็นผู้รู้จบไตรเทพ พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุและคัมภีร์เกฏุกะ พร้อมทั้งประเภทอักษร มีคัมภีร์อิติหาสะเป็นที่สุด เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตนะ คัมภีร์วิตัณฑวาทศาสตร์ และตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ สอนมนต์ให้มาณพ ๓๐๐ คนผู้เคยทำบุญร่วมกันมาในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า และในชาตินี้มาเกิดเป็นศิษย์

เสลพราหมณ์ชื่อว่าเป็นผู้ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะและตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ เพราะเป็นผู้เรียนจบครบบริบูรณ์ในคัมภีร์โลกายตะและคัมภีร์วิตัณฑวาทศาสตร์ และคัมภีร์มหาปุริสลักษณศาสตร์ ๑๒,๐๐๐ อันเป็นคัมภีร์ หลักของคัมภีร์มหาปุริสลักษณะ

ในอังคุตราปชนบทนั้น ยังมีชฏิลผู้หนึ่งชื่อว่า เกณิยะอาศัยอยู่ ได้ยินมาว่า ดาบสนั้นเป็นพราหมณ์มหาศาล แต่ถือบวชเป็นดาบส เพื่อต้องการรักษาทรัพย์ ได้ถวายบรรณาการแด่พระราชา เพื่อจับจองเอาพื้นที่แห่งหนึ่งมาสร้างอาศรมอยู่ในที่นั้น และพื้นที่นั้นก็เป็นที่อาศัยของตระกูลถึง ๑,๐๐๐ ตระกูล อนึ่ง พระโบราณจารย์กล่าวว่า ที่อาศรมของดาบสนั้น มีต้นตาลต้นหนึ่ง มีลูกเป็นทองคำหล่นมาวันละผลหนึ่ง เกณิยชฎิลนั้น เวลากลางวันนุ่งห่มผ้ากาสาวะและสวมชฎา เวลากลางคืน เอิบอิ่มเพียบพร้อมบำเรอด้วยกามคุณห้าตามสบาย

เกณิยชฎิลนั้นเป็นผู้ที่เลื่อมใสในภูมิความรู้ของเสลพราหมณ์และได้ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ


๐ พระผู้มีพระภาคเสด็จเที่ยวจาริกไปในอังคุตราปชนบท

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จเที่ยวจาริกไปในอังคุตราปชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เสด็จถึงนิคมของชนชาวอังคุตราปะอันชื่อว่าอาปณะ เกณิยชฎิลได้สดับข่าวว่า พระสมณโคดมศากยบุตรเสด็จออกบวชจากศากยสกุล เสด็จจาริกมาถึงอังคุตราปชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป

สมัยนั้นกิตติศัพท์อันงามของพระผู้มีพระภาคขจรไปแล้วว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระองค์ ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของ พระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิง ท่านก็คิดว่าการได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลาย เห็นปานนั้น ย่อมเป็นความดีแล ครั้งนั้นท่านจึงได้ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า และโดยที่เกณิยชฎิลนี้ ละอายที่จะไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ามือเปล่า จึงคิดว่า น้ำสำหรับดื่ม ย่อมควรแม้แก่ผู้เว้นวิกาลโภชน์ จึงให้หาบน้ำปานะผลพุทราที่ปรุงเป็นอย่างดีมาถึง ๕๐๐ หาบ


๐ เกณิยชฎิลนิมนต์เสวยภัตตาหาร

ครั้งนั้น เกณิยชฎิลได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เกณิยชฎิลเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา ที่ประกอบด้วยอานิสงส์ แห่งการถวายน้ำปานะ เพื่อให้ เกณิยชฎิลขวนขวายสมาทานเพื่อทำบุญกุศลเช่นนั้นต่อไป และเพื่อให้เกณิยชฎิลเกิดอุตสาหะอาจหาญยิ่งขึ้น ทรงสรรเสริญให้เกณิยชฎิลร่าเริงด้วยผลวิเศษอันจะมีในภพนี้และภพหน้า

จากนั้นเกณิยชฎิลซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา แล้วได้กราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคว่า ขอพระโคดมผู้เจริญ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โปรดทรงรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้ พระเจ้าข้า เมื่อเกณิยชฎิล กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรเกณิยะ ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่มีภิกษุประมาณ ๑,๒๕๐ รูป และท่านก็เลื่อมใสในพราหมณ์ทั้งหลาย

แม้ครั้งที่ ๒ เกณิยชฎิลก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีภิกษุประมาณ ๑,๒๕๐ รูป และข้าพระองค์เลื่อมใสในพราหมณ์ทั้งหลายก็จริง ถึงกระนั้นขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โปรดทรงรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้ พระเจ้าข้าพระผู้มีพระภาคก็ตรัสปฏิเสธเช่นเดิม

จนครั้งที่ ๓ เมื่อเกณิยชฎิลก็ได้กราบทูลอาราธนาอีก พระผู้มีพระภาคจึงทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ

พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า เหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงปฏิเสธหลายครั้ง เนื่องเพราะพระผู้มีพระภาคทรงพิจารณาเห็นว่า ตัวดาบสนี้เห็นว่ามีภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป จึงได้จัดแจงภิกษาเพื่อภิกษุไว้ประมาณเท่านั้น แต่ก็ทรงทราบว่า วันรุ่งขึ้น เสลพราหมณ์จักออกบวชพร้อมกับศิษย์อีก ๓๐๐ ถ้าท่านจะส่งภิกษุนวกะทั้ง ๓๐๐ รูปนั้นไปบิณฑบาตทางอื่น แล้วทรงไปกับภิกษุ ๑,๒๕๐ รูปเหล่านี้เท่านั้น หรือว่าส่งภิกษุเหล่านี้ไปทางอื่น แล้วไปกับภิกษุนวกะทั้งหลาย ก็ไม่เป็นการควร แม้หากว่าท่านจะพาภิกษุไปทั้งหมด ภิกษาหารที่เกณิยชฎิลเตรียมไว้ก็จะไม่พอ และคนทั้งหลายจักติเตียนว่า เกณิยะนิมนต์พระสมณโคดม แต่ไม่อาจเพื่อจะถวายอาหารพอยังอัตตภาพ ให้เป็นไปได้ เกณิยะเองจักมีความเดือนร้อน

อีกประการหนึ่ง เมื่อเกณิยชฎิล เพราะเมื่อวิงวอนหลายครั้งเข้า ก็จะมีความเจริญด้วยบุญและจักตระเตรียม ให้มากยิ่งขึ้น ของที่เตรียมไว้สำหรับภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป ก็จะเพียงพอแก่ภิกษุ ๑,๕๕๐ รูปด้วยประการฉะนี้

เกณิยชฎิลทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาแล้ว จึงลุกจากที่นั่ง เข้าไปยังอาศรมของตน แล้วเรียกมิตร อำมาตย์ และญาติสาโลหิต มาบอกว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอมิตรอำมาตย์ และญาติสาโลหิตทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า ข้าพเจ้านิมนต์พระสมณโคดม พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์มาฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ ขอท่านทั้งหลายพึงกระทำความขวนขวายด้วยกำลังกายเพื่อข้าพเจ้าด้วยเถิด มิตรอำมาตย์ และญาติสาโลหิตทั้งหลาย รับคำเกณิยชฎิลแล้ว บางพวกขุดเตา บางพวกผ่าฟืน บางพวกล้างภาชนะ บางพวกตั้งหม้อน้ำ บางพวกปูลาดอาสนะ ส่วนเกณิยชฎิลตกแต่งโรงปะรำคือ มณฑปดาดเพดานขาวด้วยตนเอง


๐ เสลพราหมณ์ได้ฟังคำว่าพุทโธ

ในวันนั้น เสลพราหมณ์พร้อมด้วยมาณพ ๓๐๐ คน กำลังเดินเที่ยวไปมาเป็นการพักผ่อน ก็ได้เข้าไปทางอาศรมของเกณิยชฎิล ได้เห็นคนทั้งหลายกำลังช่วยเกณิยชฎิลทำงานอยู่กันเป็นโกลาหล จึงได้ถามเกณิยชฎิลว่า ท่านเกณิยจักมีอาวาหมงคล หรือวิวาหมงคล หรือ จักบูชามหายัญ หรือท่านทูลอัญเชิญพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพ พระเจ้าแผ่นดินมคธ พร้อมด้วย พลนิกาย มาเสวยพระกระยาหารในวันพรุ่งนี้

เกณิยชฎิลตอบว่า ข้าแต่ท่านเสละ ข้าพเจ้าจักบูชามหายัญ คือ มีพระสมณโคดมศากยบุตร เสด็จออกทรงผนวชจากศากยสกุล เสด็จจาริกมาในอังคุตราปชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีภิกษุประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เสด็จถึงอาปณนิคม ก็กิตติศัพท์อันงาม ของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์ นั้น เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ท่านพระโคดมพระองค์นั้น ข้าพเจ้าทูลนิมนต์แล้วเพื่อเสวยภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์

เสลพราหมณ์ถามว่า ดูกรท่านเกณิยะ ท่านกล่าวว่า พุทโธ ดังนี้หรือ ?

เกณิยชฎิลตอบว่า ข้าแต่ท่านเสละ ข้าพเจ้ากล่าวว่า พุทโธ

เสลพราหมณ์ถามย้ำว่า ดูกรท่านเกณิยะ ท่านกล่าวว่า พุทโธ ดังนี้หรือ ?

เกณิยชฎิลตอบว่า ข้าแต่ท่านเสละ ข้าพเจ้ากล่าวว่า พุทโธ

ครั้งนั้น เสลพราหมณ์พอได้ฟังเสียงว่า พุทธะ ก็เป็นดุจผู้ได้รับการอาบรดแล้วด้วยน้ำอมฤต ปีติอันใหญ่หลวงได้บังเกิดขึ้นแก่ท่าน และปีตินั้นไม่จับอยู่เฉพาะภายในเท่านั้น แต่ได้แผ่ซ่านออกภายนอก นั่นเป็นเพราะท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยแก่กล้าแล้ว และเมื่อประสงค์จะแสดงความที่เสียงว่าพุทธะหาได้ยากแม้ตลอดแสนกัป ท่านจึงกล่าวว่า แม้เสียงประกาศว่า พุทฺโธ นี้แลก็หาได้ยากในโลก

แต่ด้วยความที่เสลพราหมณ์มีความรู้เจนจบในเรื่องมหาปุริสลักษณะ ก็คิดว่า ในตำรามหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ที่ปรากฎในมนต์ของเราทั้งหลายกล่าวว่า พระมหาบุรุษที่ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการนั้น ย่อมมีคติเป็น ๒ เท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ ถ้าอยู่ครองเรือน จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต หรือ ถ้าเสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิต จะได้ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ก็เมื่อมีผู้กล่าวว่า บัดนี้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อุบัติแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นก็ย่อมประกอบไปด้วยพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ จึงคิดใคร่จะทดลองดูว่า ท่านผู้นั้นเป็นพระพุทธเจ้าจริง หรือเป็นพระพุทธเจ้าแต่เพียงชื่อเท่านั้น จึงได้กล่าวว่า

ดูกรท่านเกณิยะ ก็ท่านพระโคดมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เดี๋ยวนี้ประทับอยู่ที่ไหน ?


๐ เสลพราหมณ์เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

เมื่อเสลพราหมณ์กล่าวถามอย่างนี้แล้ว เกณิยชฎิลยกแขนขวาขึ้นชี้บอกเสลพราหมณ์ว่า ข้าแต่ท่านเสละ ท่านพระโคดมพระองค์นั้น เดี๋ยวนี้ประทับอยู่ทางราวป่าอันเขียวนั่น ลำดับนั้นแล เสลพราหมณ์พร้อมด้วยมาณพ ๓๐๐ คน ได้เดินเข้าไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วได้บอกมาณพเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลายจงเงียบเสียง จงเว้นระยะให้ไกลกัน จงอย่าจาม และอย่าไอ เดินเรียงลำดับกันเข้าไปสู่สำนักของพระพุทธเจ้าเถิด และเมื่อเราทูลถามปัญหาใด หรือได้ปราศรัยโต้ตอบกับท่านพระสมณโคดมอยู่ ขณะนั้น ท่าน ทั้งหลายจงเงียบเสียงหยุดนิ่งอยู่ จงอย่าพูดสอดขึ้นในระหว่างๆ ขอจงรอคอยให้จบถ้อยคำของเรา พระองค์ทรงแสดงพระสัทธรรม อันเป็นแดนเกษมเพื่อบรรลุนิพพาน ท่านทั้งหลายจงใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมนั้น เพราะการฟังสัทธรรมเป็นความงาม

ลำดับนั้น เสลพราหมณ์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนา ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้พิจารณาดูมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการในพระกายของพระผู้มี พระภาค ได้เห็นมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการในพระกายของพระผู้มีพระภาคโดยมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ คือ พระคุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก ๑ พระชิวหาใหญ่ ๑ จึงยังเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการ

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้มีพระดำริว่า เสลพราหมณ์นี้เห็นมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการของเราโดยมากเว้นอยู่ ๒ ประการ คือ คุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก ๑ ชิวหาใหญ่ ๑ จึงคงเคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคจึงทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร ให้เสลพราหมณ์ได้เห็นพระคุยหฐาน อันเร้นอยู่ในฝัก และทรงแลบพระชิวหาสอดเข้าช่องพระกรรณทั้งสองกลับไปมา สอดเข้าช่อง พระนาสิกทั้งสองกลับไปมา ทรงแผ่ปิดทั่วมณฑลพระนลาฏ


๐ เสลพราหมณ์และบริษัทได้บรรพชาอุปสมบท

ครั้งนั้นแล เสลพราหมณ์ได้มีความดำริว่า พระสมณโคดมทรงประกอบด้วย มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ บริบูรณ์ ไม่บกพร่อง แต่เรายังไม่ทราบชัดซึ่งพระองค์ว่าเป็น พระพุทธเจ้าหรือไม่ และเราได้สดับเรื่องนี้มาแต่สำนักพราหมณ์ทั้งหลายซึ่งเป็นผู้แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ เป็นอาจารย์และปาจารย์กล่าวกันว่า ท่านที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมแสดงพระองค์ให้ปรากฏ ในเมื่อผู้ใดผู้หนึ่งกล่าวพระคุณของพระองค์ มิฉะนั้น เราพึงชมเชย พระสมณโคดมเฉพาะพระพักตร์ด้วยคาถาอันสมควรเถิด

ลำดับนั้นแล เสลพราหมณ์ได้ชมเชย พระผู้มีพระภาคเฉพาะพระพักตร์ด้วยคาถาอันสมควรว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีพระกายบริบูรณ์ มีพระรัศมีรุ่งเรืองงาม มีพระชาติดี ผู้ได้เห็นแม้นานก็ไม่รู้อิ่ม มีพระฉวีวรรณดังทองคำ มีพระทาฐะขาวสะอาด มีพระวิริยภาพ มหาปุริสลักษณะ อันเป็นเครื่องแตกต่างจากสามัญชน มีอยู่ในพระกายของพระองค์ผู้เป็นนรสุชาตครบถ้วน พระองค์มีพระเนตรผ่องใส มีพระพักตร์งาม มีพระกายตรงดังกายพรหม มีสง่าในท่ามกลางหมู่สมณะ เหมือนพระอาทิตย์ไพโรจน์ฉะนั้น พระองค์เป็นภิกษุงามน่าชม มีพระตจะดังไล้ทาด้วยทองคำ พระองค์มีพระคุณสมบัติอันสูงสุดอย่างนี้ จะต้องการอะไรด้วยความเป็นสมณะ พระองค์ควรจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ประเสริฐ เป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะวิเศษ เป็นใหญ่ในชมพูทวีป กษัตริย์ทั้งหลายผู้เป็นพระราชามหาศาล จงเป็นผู้ติดตามพระองค์ ข้าแต่พระโคดม ขอเชิญพระองค์ทรง ครองราชสมบัติเป็นราชาธิราชจอมมนุษย์เถิด

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรเสลพราหมณ์ ท่านอ้อนวอนกล่าวกะเราว่า พระองค์ควรจะเป็นพระราชา ดังนี้ ขอท่านจงมีความขวนขวายน้อยในข้อนี้เถิด เราเป็นพระราชา แลเมื่อเป็นพระราชา อุปมาว่าพระราชาอื่นทรงปกครองร้อยโยชน์บ้าง พันโยชน์บ้าง แม้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิก็ทรงปกครองเพียงแผ่นดินมีมหาสมุทร ๔ เป็น ขอบเขต แต่เรามิได้มีขอบเขตจำกัดเลย คือเราเป็นพระราชาโดยธรรม ไม่มีพระราชาอื่นยิ่งกว่า ปกครองโลกธาตุอันหาประมาณมิได้ โดยส่วนขวาง ตั้งแต่ภวัคคพรหมลงมาถึงอเวจีเป็นที่สุด ก็สัตว์ทั้งหลายต่างด้วยไม่มีเท้า มีเท้า ๒ เป็นต้น มีประมาณเพียงใด เราเป็นผู้เลิศกว่าสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ไม่มีใครๆ มีส่วนเปรียบด้วยศีล ฯลฯ หรือด้วยวิมุตติญาณทัสสนะของเรา เรานั้นแหละเป็นพระราชาโดยธรรมที่ยอดเยี่ยม หมุนล้อธรรมอันต่างด้วยสติปัฏฐานสี่เป็นต้น ที่ยอดเยี่ยมจริงๆ เราได้หมุนล้ออำนาจว่า นี้ท่านจงละ นี้ท่านจงเข้าถึงอยู่ หรือหมุนล้อธรรมด้วยปริยัติธรรมเป็นต้นว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็นี้แลคือทุกขอริยสัจจ์

เสลพราหมณ์ เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์ด้วย ประการดังนี้ จึงเกิดความปีติโสมนัส เพื่อจะกระทำให้มั่นคงอีกจึงทูลถามอีกว่า

ข้าแต่พระโคดม พระองค์ทรงปฏิญาณว่าเป็นสัมพุทธะ และ ตรัสว่าเป็นธรรมราชา ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า ทรงประกาศธรรมจักร ดังนี้ ใครหนอเป็นเสนาบดีของพระองค์ท่าน เป็นสาวก ผู้อำนวยการของพระศาสดา ใครหนอประกาศธรรมจักรตามที่ พระองค์ทรงประกาศแล้วนี้ได้ ?

ก็โดยสมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรนั่งอยู่ ทางเบื้องขวาของพระผู้มี พระภาคเจ้า งามด้วยสิริดุจแท่งทอง พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงชี้พระสารีบุตรนั้น จึงตรัสว่า

ธรรมจักรอันไม่มีจักรอื่นยิ่งกว่า เป็นจักรที่เราประกาศแล้ว สารีบุตรผู้เกิดตามตถาคต ย่อมประกาศตามได้

ครั้นพยากรณ์ปัญหาว่า ใครหนอเป็นเสนาบดีอย่างนี้แล้ว เพื่อประสงค์จะให้เสลพราหมณ์สิ้นสงสัยในความเป็นสัมพุทธะ พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสเพื่อแสดงให้พราหมณ์ทราบว่า พระองค์ท่านมิได้ปฏิญาณด้วยอาการเพียงรับรู้เท่านั้น แต่ว่าพระองค์ท่านเป็นพระพุทธเจ้า เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

ดูกรพราหมณ์ สิ่งที่ควรรู้ยิ่ง เรารู้ยิ่งแล้ว สิ่งที่ควรเจริญเราเจริญแล้ว สิ่งที่ควร ละเราละได้แล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นพระพุทธเจ้า ดูกร พราหมณ์ ท่านจงกำจัดความสงสัยในเรา จงน้อมใจเชื่อเถิด การได้เห็นพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเนืองๆ เป็นการได้ยาก ความปรากฏแห่งพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเนืองๆ เป็นการหา ได้ยากในโลกแล

ดูกรพราหมณ์ เราเป็นพระสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เชือดลูกศร ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นผู้ประเสริฐ ไม่มี ใครเปรียบ ย่ำยีเสียซึ่งมารและเสนาแห่งมาร ทำข้าศึกทั้งปวง ให้อยู่ในอำนาจ ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ บันเทิงใจอยู่

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสด้วยประการดังนี้แล้ว เสลพราหมณ์เกิดความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า ในทันทีนั้น เป็นผู้มุ่งต่อบรรพชา จึงกล่าวต่อเหล่าศิษย์ว่า

ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงใคร่ครวญธรรมนี้ ตามที่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุตรัสอยู่ พระผู้มีพระภาคเป็นผู้เชือดลูกศร เป็นพระมหาวีระ ดังราชสีห์บันลืออยู่ในป่าฉะนั้น ใครเล่าแม้เกิดในสกุลต่ำ เมื่อได้เห็นพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐ แล้วจะไม่เลื่อมใส ผู้ใดปรารถนาจะบวช เชิญผู้นั้นตามเรา ส่วนผู้ใดไม่ปรารถนา เชิญผู้นั้นอยู่เถิด เราจักบวชในสำนักพระผู้มีพระภาคผู้มีพระปัญญาอันประเสริฐนี้

มาณพเหล่านั้นกล่าวว่า ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ถ้าท่านผู้เจริญชอบใจคำสั่งสอนของพระ สัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างนี้ แม้ข้าพเจ้าทั้งหลายก็จักบวชในสำนัก ของพระผู้มีพระภาคผู้มีพระปัญญาอันประเสริฐ ดังนี้แล้ว พราหมณ์ ๓๐๐ คนเหล่านั้น พากันประนมอัญชลีทูลขอบรรพชา ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหลายจักประพฤติ พรหมจรรย์ในสำนักของพระองค์

ต่อแต่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงยังมาณพเหล่านั้นทั้งหมด ให้บรรพชาเป็นเอหิภิกขุบรรพชา จึงตรัสพระคาถาว่า สฺวากฺขาตํ ดังนี้เป็นต้น เพราะเสลพราหมณ์ เคยเป็นหัวหน้าของคณะบุรุษ ๓๐๐ คนเหล่านั้นทั้งหมด ร่วมกันสร้างบริเวณกับคนเหล่านั้น กระทำบุญมีทานเป็นต้น ในศาสนาของ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ในอดีตชาติ ได้เสวยเทวสมบัติ และมนุษย์สมบัติตามลำดับอยู่ ครั้นภพสุดท้ายจึงมาบังเกิดเป็นอาจารย์ของ มาณพเหล่านั้นอีก และกรรมของคนเหล่านั้นแก่รอบแล้ว เพื่อบ่มวิมุตติและ เป็นอุปนิสสัยแห่งความเป็นเอหิภิกขุนั้น ในพระคาถานั้น

พรหมจรรย์อันเรากล่าวดีแล้ว อันผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล เป็นเหตุทำให้การบรรพชาของผู้ไม่ประมาทศึกษาอยู่นั้นไม่เป็นโมฆะ

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสอย่างนี้ แล้ว จึงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาด้วยการตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้ทรงบาตรและจีวร เหาะมาทางอากาศถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า


๐ เกณิยชฎิลถวายภัตตาหารแด่พระผู้มีพระภาค

ครั้นถึงวันรุ่งขึ้น เกณิยชฎิลสั่งให้จัดแจงขาทนียโภชนียาหารอย่างประณีตในอาศรมของตนตลอดราตรีนั้นแล้ว ใช้ให้คนไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว พระเจ้าข้า ครั้งนั้น เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาค ทรงครองอันตรวาสกแล้วทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังอาศรมของเกณิยชฎิล แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ลำดับนั้น เกณิยชฎิลได้อังคาสภิกษุสงฆ์มี พระพุทธเจ้าเป็นประมุขให้อิ่มหนำเพียงพอ ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต ด้วยมือของตน เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ละพระหัตถ์จากบาตรแล้ว เกณิยชฎิลถือเอาอาสนะต่ำแห่งหนึ่ง แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง


๐ เกณิยานุโมทนา

ครั้นเกณิยชฎิลนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาด้วยพระคาถา เหล่านี้ว่า

ยัญทั้งหลายมีการบูชาไฟเป็นประมุข
คัมภีร์สาริตติศาสตร์ เป็นประมุขแห่งคัมภีร์ฉันท์
พระราชาเป็นประมุขของมนุษย์ทั้งหลาย
สาครเป็นประมุขของแม่น้ำทั้งหลาย
ดวงจันทร์เป็นประมุขของ ดวงดาวทั้งหลาย
ดวงอาทิตย์เป็นประมุขของความร้อน
พระสงฆ์ เป็นประมุขของผู้หวังบุญบูชาอยู่


อันพระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายไว้ว่า

ยัญทั้งหลายมีการบูชาไฟเป็นประมุข เพราะพวกพราหมณ์ไม่มีการบูชาอื่น นอกจากบูชาไฟ

ฉันท์ทั้งหลาย มีสาวิตติฉันท์เป็นประมุข เพราะอันผู้สาธยายพระเวททั้งหลายต้องสาธยายก่อน

พระราชาท่านกล่าวว่า เป็นประมุข เพราะประเสริฐที่สุดกว่ามนุษย์ทั้งหลาย

สาครท่านกล่าวว่า เป็นประมุข เพราะเป็นที่รองรับและเป็นที่อาศัยของแม่น้ำทั้งหลาย

พระจันทร์เป็นประมุขของนักษัตรทั้งหลาย เพราะกระทำแสงสว่าง และมีความเยือกเย็น เพราะให้รู้ได้ว่า วันนี้ เป็นกฤติกาฤกษ์ วันนี้เป็นโรหิณีนักษัตร เพราะอาศัยพระจันทร์ขึ้น

พระอาทิตย์เป็นประมุขของความร้อน เพราะพระอาทิตย์เป็นเลิศของสิ่งที่ร้อนทั้งหลาย

พระสงฆ์แลเป็นประมุขของผู้มุ่งบุญทั้งหลาย หมายถึงพระสงฆ์มีพระ พุทธเจ้าเป็นประมุขในสมัยนั้น เพราะเป็นผู้เลิศ แห่งทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระสงฆ์เป็นประมุขแห่งความเจริญของบุญ


ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาด้วยพระคาถาเหล่านี้ แล้วเสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป


๐ พระเถระบรรลุพระอรหัต

ครั้งนั้นแล ท่านพระเสละพร้อมด้วยบริษัท หลีกออกจากหมู่เป็นไม่ประมาท มีความเพียร มีใจแน่วแน่ ในวันที่ ๘ นับแต่ได้อุปสมบท ก็ได้กระทำที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยมที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวช เป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้น แล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว สิ่งอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็ ท่านพระเสละพร้อมทั้งบริษัท ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย


๐ พระเถระเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

ครั้งนั้นแล ท่านพระเสละพร้อมทั้งบริษัท ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่งประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลด้วยคาถาว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ นับแต่วันที่ข้าพระองค์ทั้งหลาย ได้ถึงพระองค์เป็นสรณะเป็นวันที่ ๘ เข้านี่แล้ว ข้าพระองค์ ทั้งหลายเป็นผู้อันพระองค์ทรงฝึกแล้ว ในคำสั่งสอนของพระองค์ โดย ๗ ราตรี

พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระศาสดา เป็นมุนีผู้ครอบงำมาร ทรงเป็นผู้ฉลาดในอนุสัย ทรงข้ามได้เองแล้ว ทรงยังหมู่สัตว์นี้ให้ข้ามได้ด้วย พระองค์ทรงก้าวล่วงอุปธิทั้งหลายแล้ว ทรงทำลายอาสวะทั้งหลายแล้ว ไม่ทรงยึดมั่นเลย ทรงละภัยและความขลาดกลัวได้แล้ว ดุจดังราชสีห์

ภิกษุ ๓๐๐ รูปนี้ ยืนประนมอัญชลีอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ขอได้ทรงโปรดเหยียดพระยุคลบาทออกเถิด

ขอเชิญนาคทั้งหลาย ถวายบังคมพระศาสดาเถิด


๐ ศิษย์ของพระเถระ

ในพระบาลีได้กล่าวถึงพระเถระที่ได้บวชในสำนักของพระเสลเถระอยู่องค์หนึ่งคือ พระสุคันธเถระ ซึ่งเป็นผู้เกิดในเรือนของพราหมณ์ผู้สมบูรณ์ด้วยสมบัติในพระนครสาวัตถี

ด้วยผลบุญที่กระทำไว้ในสมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการอบพระคันธกุฎีด้วยจันทน์ขาว ก็ส่งผลให้ นับแต่เวลาที่พระเถระบังเกิดอยู่ในท้องมารดา สรีระของมารดาทั้งสิ้นก็หอมขจรไปทั่วทั้งเรือน ส่วนในวันที่เขาเกิด กลิ่นหอมอย่างยิ่ง ก็หอมฟุ้งไป แม้ในเรือนใกล้เคียงเป็นพิเศษทีเดียว มารดาบิดาของเขากล่าวว่า บุตรของเราตั้งชื่อของตนด้วยตนเอง มาเกิดแล้ว จึงตั้งชื่อเขาว่า สุคันธะ เหมือนกัน

เขาเจริญเติบโตขึ้นโดยลำดับ เห็นพระมหาเสลเถระ แล้วฟังธรรมในสำนักของท่าน บวชแล้ว เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตภายใน ๗ วันเท่านั้น


๐ พระเถระมีอายุยืน

ในอรรถกถาได้กล่าวถึงบรรดาสาวก สาวิกา ผู้มีอายุยืนไว้ ซึ่งรวมถึงพระเถระด้วยว่า

บรรดาคนมีอายุยืนนั้น นางวิสาขาอุบาสิกาอยู่ได้ ๑๒๐ ปี พราหมณ์โปกขรสาติ พราหมณ์พรหมายุ พราหมณ์เสละ พราหมณ์พาวริยะ พระอานนทเถระ พระมหากัสสปเถระก็เหมือนกัน



.............................................................

คัดลอกมาจาก ::
http://www.dharma-gateway.com/
http://www.manager.co.th/Dhamma/
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่หัวข้อนี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไข หรือตอบได้
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง