Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 นางขุชชุตตรา (อุบาสิกา-เอตทัคคะ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่หัวข้อนี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไข หรือตอบได้
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.ย. 2006, 9:18 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

นางขุชชุตตรา
เอตทัคคะในทางผู้เป็นพหูสูต


นางขุชชุตตราอุบาสิกาผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของอุบาสิกาทั้งหลายผู้เป็นพหูสูต ก็โดยเหตุ ๒ ประการ คือโดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ เพราะท่านแสดงให้ผู้อื่นเห็นเป็นอย่างชัดเจนในคุณข้อนี้ของท่าน คือตลอดเวลาที่พระศาสดาประทับอยู่ในกรุงโกสัมพี อุบาสิกาได้ไปยังสำนักพระศาสดาตามกาลอันสมควร ได้ฟังธรรมแล้ว กลับไปภายในราชสำนักของพระเจ้าอุเทน เพื่อจะแสดงธรรมตามที่ได้ฟังมาแก่สตรีอริยสาวิกา ๕๐๐ นาง อันมีพระนางสามาวดีเป็นประมุข ในเวลาต่อมานางจึงกลายเป็นผู้ทรงจำพระไตรปิฏก

ไม่เพียงเนื่องจากเหตุข้อนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นการแต่งตั้งโดยเหตุที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาในการเป็นเอตทัคคะในเรื่องดังกล่าวไว้ตลอดแสนกัปอีกด้วย

ในอรรถกถาบางแห่งกล่าวว่า นางเป็นอัครอุบาสิกา ๑ ใน ๒ คนของพระผู้มีพระภาคเจ้า อัครอุบาสิกาอีกท่านหนึ่งก็คือคือ มารดาของนันทมาณพ ชื่อ เวฬุกัณฏกี(๑) รายละเอียดเกี่ยวกับประวัติของท่านมีตามตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปดังนี้


๐ ตั้งความปรารถนาไว้ในอดีต

ดังได้สดับมา นางขุชชุตตราอุบาสิกานี้ ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ทรงประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐ แล้วประทับอยู่ในเมืองหงสาวดี นางได้บังเกิดอยู่ในตระกูลหนึ่ง อยู่มาวันหนึ่งนางได้ไปยังอารามพร้อมกับอุบาสิกาอื่นๆ เพื่อฟังเทศนาของพระศาสดา นางเห็นพระศาสดาทรงแต่งตั้งอุบาสิกาคนหนึ่งไว้ในเอตทัคคะผู้เป็นพหูสูต จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไปเพื่อปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง ในสมัยพระพุทธเจ้าในเบื้องหน้า

ฝ่ายพระศาสดาก็ทรงพยากรณ์อุบาสิกานั้นว่า ในอนาคตกาล นางจักได้เป็นอุบาสิกา ผู้เป็นสาวิกาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าโคดม จักเป็นผู้เลิศในบรรดาอุบาสิกาผู้เป็นพหูสูตด้วยกัน นางเมื่อได้รับพุทธพยากรณ์ดังนั้น จึงหมั่นกระทำกุศลจนตลอดชีวิตแล้ว ก็ไปบังเกิดในเทวโลก ครั้นเมื่อจุติจากเทวโลกแล้ว ก็มาบังเกิดในหมู่มนุษย์อีก เมื่อนางท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลก และมนุษยโลกอย่างนี้แล ล่วงไปได้หนึ่งแสนกัป


๐ ในสมัยของพระกัสสปพุทธเจ้า

ส่วนในกาลแห่งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า นางบังเกิดเป็นธิดาของเศรษฐีในกรุงพาราณสีคนหนึ่ง เวลาบ่าย นั่งส่องกระจกแต่งตัวอยู่ ลำดับนั้น พระเถรีผู้เป็นพระขีณาสพรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้คุ้นเคยของนางได้ไปเพื่อเยี่ยมนาง จริงอยู่ นางภิกษุณี แม้เป็นพระขีณาสพก็เป็นผู้ปรารถนาเพื่อจะเห็นตระกูลอุปัฏฐากในเวลาเย็น ก็ในขณะนั้นหญิงรับใช้ไรๆ ในสำนักของธิดาเศรษฐีไม่มีเลย นางจึงกล่าวว่า “ดิฉันไหว้ เจ้าข้า โปรดหยิบกระเช้าเครื่องประดับนั่น ให้แก่ดิฉันก่อน“ พระเถรีคิดว่า “ถ้าเราจะไม่หยิบกระเช้าเครื่องประดับนี้ให้แก่นางไซร้ นางจักทำความอาฆาตในเราตายแล้วจักไปเกิดในนรก แต่ว่า ถ้าเราจักหยิบให้ นางจักเกิดเป็นหญิงรับใช้ของคนอื่น แต่ว่า เพียงความเป็นผู้รับใช้ของคนอื่น ย่อมดีกว่าความเร่าร้อนในนรกแล“ พระเถรีนั้นอาศัยความกรุณาจึงได้หยิบกระเช้าเครื่องประดับนั้นให้แก่นาง ด้วยกรรมนั้น นางได้บังเกิดเป็นทาสีของคนอื่นสิ้น ๕๐๐ ชาติ


๐ ในสมัยเมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติขึ้น

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระราชาได้นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์ให้ฉันอยู่ในพระราชวังเนืองนิตย์ โดยมีหญิง ๕๐๐ คน คอยบำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ในพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๘ พระองค์นั้น พระองค์หนึ่งได้เป็นผู้มีหลังค่อมหน่อยหนึ่ง นางขุชชุตตราซึ่งในสมัยนั้นเกิดเป็นหญิงผู้อุปัฏฐายิกาคนหนึ่ง ก็แกล้งล้อเลียน โดยห่มผ้ากัมพลแดง ถือขันทองคำ ทำเป็นคนค่อม แสดงอาการเดินไปของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น เพราะผลแห่งกรรมนั้นนางจึงเกิดมาเป็นหญิงค่อม.

อนึ่ง ในวันแรก พระราชาทรงนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ พระองค์เหล่านั้น ให้นั่งในพระราชมณเฑียร แล้วให้ราชบุรุษรับบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์มา แล้วบรรจุบาตรนั้นให้เต็มด้วยข้าวปายาสแล้วรับสั่งให้ถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายถือบาตรอันเต็มด้วยข้าวปายาสร้อน ท่านก็ต้องผลัดเปลี่ยนมือบ่อยๆ หญิงนั้นเห็นท่านทำอยู่อย่างนั้น ก็ถวายกำไลงา ๘ อัน ซึ่งเป็นของของตน กล่าวว่า “ท่านจงวางบาตรไว้บนกำไลนี้เถิด เจ้าข้า“ พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ทำอย่างนั้นแล้ว แลดูหญิงนั้น นางทราบความประสงค์ของท่านทั้งหลาย จึงกล่าวว่า “ท่านเจ้าข้า ดิฉันหามีความต้องการกำไลเหล่านี้ไม่ ดิฉันบริจาคกำไลเหล่านั้นแล้วแก่ท่านทั้งหลายนั่นแล ขอท่านจงรับไป“

พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นรับแล้ว ได้ไปยังเงื้อมเขาชื่อนันทมูลกะ แม้ทุกวันนี้ กำไลเหล่านั้นก็ยังดีๆ อยู่นั่นเอง และเพราะผลแห่งกรรมนั้น ในบัดนี้ นางจึงเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก มีปัญญามาก เพราะผลแห่งการอุปัฏฐาก ซึ่งนางทำแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย นางจึงได้บรรลุโสดาปัตติผล นี้เป็นบุรพกรรมในสมัยพุทธันดรของนาง


๐ กำเนิดเป็นนางขุชชุตตราในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

ครั้นแล้วในภัททกัปนี้ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย นางก็ได้จุติจากเทวโลกมาถือปฏิสนธิ ในท้องหญิงพี่เลี้ยงในเรือนของโฆสกเศรษฐี

ชนทั้งหลายได้ตั้งชื่อให้นางว่า อุตตรา ในเวลาที่เกิดมาแล้ว นางได้กลายเป็นหญิงค่อม เพราะเหตุนั้น จึงปรากฏชื่อว่า ขุชชุตตรา ต่อมาในเวลาที่โฆสกเศรษฐี ถวายนางสามาวดี แก่พระเจ้าอุเทน นางขุชชุตตรานั้น ก็ถูกยกให้ไปเป็นนางรับใช้ของนางสามาวดีนั้นและอยู่ภายในราชสำนักของพระเจ้าอุเทน ก็สมัยนั้น โฆสกเศรษฐี กุกกุฏเศรษฐี และปาวาริกเศรษฐี ในเมืองโกสัมพี ได้พากันสร้างวิหาร ๓ แห่ง อุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อพระตถาคตเจ้าเสด็จจาริกไปในชนบท ถึงพระนครโกสัมพี ก็ได้มอบถวายวิหารแด่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข แล้วพากันบำเพ็ญมหาทาน ประมาณเดือนหนึ่งผ่านพ้นไป

ครั้งนั้น เศรษฐีเหล่านั้นได้มีความคิด ดังนี้ว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงอนุเคราะห์โลกทั้งหมด พวกเราจักให้โอกาสแก่ประชาชนทั่วไปที่อยู่ในตัวเมืองโกสัมพีบ้าง ตั้งแต่นั้นมา พวกชาวเมืองก็ได้โอกาสในการถวายมหาทาน โดยรวมคนในถนนเดียวกันบ้าง โดยรวมกันเป็นคณะบ้าง

อยู่มาวันหนึ่ง นายมาลาการชื่อว่า สุมนะ อุปัฏฐากของเศรษฐีเหล่านั้น ได้ขอร้องต่อเศรษฐี ขอให้พระศาสดาพร้อมด้วยพระสงฆ์ให้นั่งในเรือนของตนเพื่อฉันภัตตาหาร ขณะนั้น นางขุชชุตตรา ทาสีรับใช้ของพระนางสามาวดีรับเอาเงิน ๘ กหาปณะ ได้ไปยังเรือนของนายมาลาการนั้นเพื่อซื้อดอกไม้ตามปกติที่ทำอยู่ทุกวัน

นายสุมนะมาลาการเห็นนางแล้วก็กล่าวว่า แม่อุตตรา วันนี้ ฉันไม่มีเวลาที่จะให้ดอกไม้แก่เธอ ฉันกำลังอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข แม้เธอก็จงเป็นสหายในการเลี้ยงดูหมู่พระสงฆ์เถิด และเมื่อทำอย่างนี้แล้ว เธอก็จักพ้นไปจากการเป็นผู้รับใช้ของบุคคลอื่นเสียที

ครั้งนั้น นางขุชชุตตรา ก็ได้ทำการรับใช้ พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ทั้งหลายอยู่ในโรงครัว นางได้เรียนธรรมทั้งหมดที่พระศาสดาตรัสแล้วด้วยอำนาจเป็นอุปนิสินนกถา ต่อมาได้ฟังอนุโมทนาแล้วได้บรรลุโสดาปัตติผล

ในวันอื่นๆ ทรัพย์ที่นางรับมาจากพระนางสามาวดีจำนวน ๘ กหาปณะนั้น นางได้เก็บไว้ส่วนตัวจำนวน ๔ กหาปณะ และซื้อดอกไม้เพียง ๔ กหาปณะเท่านั้นแก่นายมาลาการ แต่ในวันนั้น เพราะได้เห็นสัจจะ นางไม่ยังจิตให้เกิดในสิ่งของของบุคคลอื่น จึงได้ซื้อดอกไม้หมดทั้ง ๘ กหาปณะจากนายมาลาการแล้วได้รับเอาดอกไม้ไปยังสำนักของนางสามาวดี

ลำดับนั้น พระนางสามาวดีนั้นได้ถามนางว่า แม่อุตตรา ในวันอื่นๆ เธอนำดอกไม้มาให้ไม่มาก แต่วันนี้นำมาให้มาก พระราชาของเราทั้งหลายทรงเลื่อมใสมากขึ้นหรือ ? นางจึงได้ทูลเรื่องทั้งหมดไม่ปกปิดเรื่องที่ตนได้ทำไปแล้ว เพราะไม่สามารถจะกล่าวเท็จได้ และเมื่อนางถูกถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นเพราะเหตุไร วันนี้จึงนำดอกไม้มามาก ก็ทูลตอบว่า วันนี้หม่อมฉันได้ฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วได้ทำให้แจ้งซึ่งอมตะ เพราะเหตุนั้นหม่อมฉันจึงลวงพระองค์ท่านไม่ได้

พระนางสามาวดี ทรงสดับคำนั้นแล้วก็มิได้ทรงขู่ตะคอกว่า เฮ้ยนางทาสีผู้ชั่วร้าย แกจงคืนกหาปณะที่แก ยักยอกเอาไปตลอดเวลานี้มา ด้วยกุศลของพระนางที่ทำไว้ในกาลก่อนมาส่งผลที่จะให้พระนางได้ฟังพระธรรม จึงทำให้พระนางได้ตรัสว่า แม่ ขอแม่จงให้พวกเราได้ดื่มน้ำอมฤตที่แม่ได้ดื่มแล้วบ้างเถิด เมื่อนางขุชชุตตราทูลว่า ถ้าอย่างนั้น จงทรงพระกรุณาให้หม่อมฉันอาบน้ำก่อน ก็ทรงให้นางอาบน้ำด้วยน้ำหอม ๑๖ หม้อ แล้วรับสั่งให้ประทานผ้าเนื้อเกลี้ยง ๒ ผืน

นางขุชชุตตรานั้น นุ่งผืนหนึ่ง อีกผืนหนึ่งเอาห่มเฉวียงบ่าแล้วปูลาดอาสนะนั่งบนอาสนะถือพัดอันวิจิตร ร้องทักมาตุคามทั้ง ๕๐๐ นางซึ่งนั่งอยู่บนอาสนะที่ต่ำกว่า ดำรงอยู่ในเสกขปฏิสัมภิทา แสดงธรรมแก่หญิงเหล่านั้นตามนิยามที่พระศาสดาทรงแสดงแล้วนั่นแล เวลาจบเทศนา หญิงทั้งหลายนั้นได้บรรลุโสดาปัตติผล

หญิงทั้งหมดนั้นไหว้นางขุชชุตตราพลางกล่าวว่าข้าแต่แม่เจ้า ตั้งแต่วันนี้ไป ขอแม่เจ้าอย่าได้ทำงานอันต่ำต้อยอีกต่อไปเลย ขอแม่เจ้าจงดำรงอยู่ในฐานะเป็นมารดา ในฐานะเป็นอาจารย์ของเราทั้งหลายเถิด ดังนี้แล้ว ได้ตั้งนางไว้ในฐานะเป็นที่เคารพ

ต่อมา สตรี ๕๐๐ นางซึ่งมีพระนางสามาวดีเป็นประมุข ได้กล่าวกะนางว่า ข้าแต่แม่ ขอแม่จงไปยังสำนักของพระศาสดาทุกวัน สดับธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว (มา) แสดงแก่เราบ้าง นางได้ทำตามนั้นในเวลาต่อมาจึงกลายเป็นผู้ทรงจำพระไตรปิฏก


๐ ทรงแต่งตั้งอุบาสิกาเป็นเอตทัคคะผู้เป็นพหูสุต

ภายหลัง พระศาสดาประทับนั่ง ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนา พวกอุบาสิกาไว้ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนานางขุชชุตตราอุบาสิกาไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกา ผู้เป็นพหูสูต แล


๐ เกิดร่วมสมัยกับพระโพธิสัตว์

ท่านได้เกิดร่วมชาติกับพระโพธิสัตว์อยู่หลายชาติ ดังที่ปรากฎในชาดกต่างๆ เช่น

เกิดเป็นทาสี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพราหมณ์ ใน อุรคชาดก

เกิดเป็นทาสี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น พี่ ในหมู่ พี่น้องทั้งเจ็ด ใน ภีสกชาดก

เกิดเป็นพระพี่เลี้ยง พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าสุตโสม ใน จุลลสุตโสมชาดก

เกิดเป็นนางค่อม พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้ากุสราช ใน กุสชาดก


[ (๑) อรรถกถาเล่มที่ ๔๑ อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต ]



.............................................................

คัดลอกมาจาก ::
http://www.dharma-gateway.com/
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่หัวข้อนี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไข หรือตอบได้
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง