Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 หัตถกคฤหบดี (อุบาสก-เอตทัคคะ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่หัวข้อนี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไข หรือตอบได้
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 29 ส.ค. 2006, 11:04 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

หัตถกคฤหบดี ชาวเมืองอาฬวี
เอตทัคคะในทางผู้สงเคราะห์บริษัทด้วยสังคหวัตถุ ๔



หัตถกอุบาสกผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของอุบาสกทั้งหลายผู้สงเคราะห์บริษัทด้วยสังคหวัตถุ ๔ ก็โดยเหตุ ๒ ประการ คือโดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ เพราะท่านแสดงให้ผู้อื่นเห็นเป็นอย่างชัดเจนในคุณข้อนี้ของท่าน และไม่เพียงเนื่องจากเหตุข้อนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นการแต่งตั้งโดยเหตุที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปดังนี้


๐ ตั้งความปรารถนาไว้ในอดีต

ได้ยินว่า หัตถกอาฬวกอุบาสกนี้ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี ต่อมา ฟังธรรมกถาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาอุบาสกผู้หนึ่ง ผู้ประกอบด้วยสังคหวัตถุ ๔ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง ครั้นสิ้นชีวิตลง ก็เวียนว่ายอยู่ใน ภพภูมิเทวดาและมนุษย์ถึงแสนกัป

Image

๐ ในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

ในพุทธุปบาทกาลนี้ถือปฏิสนธิในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าอาฬวกะ กรุงอาฬวี แคว้นอาฬวี รุ่งขึ้นก็ถูกส่งตัวไปให้อาฬวกยักษ์ พร้อมด้วยถาดอาหาร ในเรื่องนั้นมีเรื่องกล่าวตามลำดับ ดังนี้

เล่ากันว่า วันหนึ่ง พระเจ้าอาฬวกะประพาสป่าล่าเนื้อ เสด็จตามเนื้อตัวหนึ่ง ฆ่าได้แล้ว ตัดเป็น ๒ ท่อน ผูกคล้องไว้ที่ปลายธนู เสด็จกลับมา มีพระวรกายเหน็ดเหนื่อยเพราะลมและแดด จึงเสด็จเข้าไป ประทับนั่งโคนต้นไทรที่มีร่มเงาสบาย

ขณะนั้น พระราชาบรรเทาความเหน็ดเหนื่อยได้ครู่หนึ่งแล้วเสด็จออกมา อาฬวกยักษ์ที่สิงอยู่ที่ต้นไทรก็จับ พระหัตถ์พร้อมกับกล่าวว่า หยุด หยุด ท่านต้องเป็นอาหารของเรา เพราะถูกจับไว้มั่นคง ท้าวเธอก็ไม่ทรงเห็นอุบายอย่างอื่น จึงตรัสสัญญาว่า เราจักส่งถาดอาหารพร้อมกับคนหนึ่งๆ ให้แก่ท่านทุกวัน ยักษ์ก็ปล่อยพระองค์ไป

เมื่อเสด็จกลับพระนครแล้ว ตั้งแต่นั้นมา ก็ทรงส่งถาดอาหารพร้อมด้วยมนุษย์คนหนึ่ง ๆ จากเรือนจำไปสังเวยแก่ยักษ์นั้น โดยทำนองนี้แล เมื่อมนุษย์ในเรือนจำหมดแล้ว พวกคนแก่ๆ ก็ถูกจับส่งไป ความพรั่นกลัวก็เกิดขึ้นในบ้านเมือง พวก ราชบุรุษจับผู้คนเหล่านั้นไม่ได้แล้ว ก็เริ่มจับพวกเด็กอ่อน ตั้งแต่นั้นมา แม่ของเด็กและหญิงมีครรภ์ในพระนครต่างพากันไปรัฐอื่น

สมัยนั้น พระศาสดาทรงตรวจดูโลกในระหว่างใกล้รุ่ง ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งมรรคผล ๓ ของอาฬวกกุมาร ทรงพระดำริว่า กุมารผู้นี้ ตั้งความปรารถนาไว้ถึงแสนกัป จุติจากเทวโลกแล้ว บังเกิดในพระ ราชนิเวศน์ของพระเจ้าอาฬวกะ พระราชาเมื่อไม่ได้คนอื่น ก็จักจับพระกุมารไปพร้อมด้วยถาดอาหารในวันพรุ่งนี้

ดังนี้แล้ว ในเวลาเย็นจึงเสด็จปลอมพระองค์ไปยังที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ ขอร้องยักษ์ชื่อว่าคันธัพพะ ผู้เฝ้าประตูเพื่อให้เสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของยักษ์

คันธัพพยักษ์นั้นทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดเสด็จเข้าไปเถิด ส่วนที่ข้าพระองค์ไม่บอกอาฬวกยักษ์ ไม่ควรแน่ จึงได้ไปสำนักอาฬวกยักษ์ ผู้ไปสู่สมาคมยักษ์ในหิมวันตประเทศ

พระศาสดาเสด็จเข้าไปถึงที่อยู่แล้ว ก็ประทับนั่งบนบัลลังก์ที่นั่งของอาฬวกยักษ์

สมัยนั้น สาตาคิรยักษ์และเหมวตยักษ์ กำลังไปสู่สมาคมยักษ์ เหาะผ่านทางเบื้องบนที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ แต่ก็ไม่สามารถผ่านไปได้ เนื่องจากไม่มีผู้ใดที่จะสามารถเหาะผ่านเบื้องบนที่ประทับแห่งพระผู้มีพระภาคได้ ยักษ์ทั้งสองก็นึกว่า มีเหตุอะไรกันหนอ จึงเห็นพระศาสดาประทับนั่งในภพของอาฬวกยักษ์

สาตาคิรยักษ์และเหมวตยักษ์จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาถวายบังคมแล้วจึงลาพระผู้มีพระภาคไปสู่สมาคมยักษ์ ครั้นถึงแล้วจึงประกาศความยินดีแก่อาฬวกยักษ์ว่า ท่านอาฬวกะ ท่านมีลาภใหญ่แล้ว ที่พระผู้เป็นอัครบุคคลในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ประทับนั่งในที่อยู่ของท่าน จงไปฟังธรรมในสำนักพระศาสดาเสีย

อาฬวกยักษ์ฟังคำของยักษ์ทั้งสองนั้นแล้ว ก็คิดว่า ยักษ์ทั้งสองนี้พูดว่า พระสมณะโล้นรูปหนึ่ง บังอาจนั่งเหนือบัลลังก์ของเรา ก็ไม่พอใจ โกรธเกรี้ยวพูดว่า วันนี้เรากับสมณะรูปนั้น จักต้องทำสงครามกัน พวกท่านจงเป็นสหายเราในสงครามนั้น แล้วก็ยกเท้าข้างขวาเหยียบยอดเขา ระยะประมาณ ๖๐ โยชน์ ยอดเขานั้นก็แยกออกเป็นสองส่วนตั้งแต่นั้น

ก็อาฬวกยักษ์ แม้รบกับพระตถาคตด้วยอาการต่างๆ ตลอดคืนยังรุ่ง ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ จึงเข้าไปหาพระศาสดาถามปัญหา ๘ ข้อ พระศาสดาก็ทรงวิสัชนา จบเทศนา อาฬวกยักษ์ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ท่านผู้ประสงค์จะทราบเรื่องโดยพิสดารพึงอ่านในอรรถกถาอาฬวกสูตร


๐ พระกุมารถูกส่งไปให้เป็นอาหารของยักษ์

วันรุ่งขึ้น เมื่ออรุณขึ้น เวลานำถาดอาหารไป พวกราชบุรุษไม่เห็นเด็กที่ควรจะจับทั่วพระนคร จึงกราบทูลแด่พระราชา พระราชาตรัสว่า พ่อเอ๋ย เด็กมีอยู่ในที่ไม่ควรจะจับได้ มิใช่หรือ พวกเขากราบทูลว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า วันนี้มีราชโอรสประสูติในราชสกุล พระเจ้าข้า

จึงตรัสว่า พ่อจงเอาไป เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ จักได้ลูกอีก จงส่งเด็กนั้นไป พร้อมกับถาดอาหาร

เมื่อพระเทวีกันแสงคร่ำครวญอยู่ ราชบุรุษเหล่านั้น ก็พาเด็กไปถึงที่อยู่ของอาฬวกยักษ์พร้อมด้วยถาดอาหารกล่าวว่า เชิญเถิด เจ้าจงรับส่วนของเจ้าไป

อาฬวกยักษ์ฟังคำของบุรุษเหล่านั้นแล้ว ก็ รู้สึกละอาย เพราะตนเป็นพระอริยสาวกแล้ว ได้แต่นั่งก้มหน้า

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะเขาว่า อาฬวกะ บัดนี้ ท่านไม่มีกิจที่จะต้องละอาย แล้ว จงอุ้มเด็กใส่มือเรา

Image

๐ พระกุมารได้ชื่อว่าหัตถกอาฬวกะ

พวกราชบุรุษก็วางอาฬวกกุมารลงในมืออาฬวก ยักษ์ๆ ก็อุ้มเด็กวางไว้ในพระหัตถ์ของพระทศพล ส่วนพระศาสดาทรงรับ แล้ว ก็ทรงวางไว้ในมืออาฬวกยักษ์อีก อาฬวกยักษ์อุ้มเด็กวางไว้ในมือ ของเหล่าราชบุรุษ เพราะพระกุมารนั้นจากมือหนึ่งสู่อีกมือหนึ่งดังกล่าวมา นี้ จึงพากันขนานพระนามกุมารนั้นว่า หัตถกอาฬวกะ

ครั้งนั้น ราชบุรุษ เหล่านั้นดีใจ พาพระกุมารนั้นไปยังสำนักพระราชา พระราชาทอดพระเนตรเห็นพระกุมารนั้น ทรงเข้าพระหฤทัยว่า วันนี้อาฬวกยักษ์ไม่รับถาดอาหาร จึงตรัสถามว่า เหตุไรพวกเจ้าจึงพากันมาอย่างนี้เล่า พ่อ

พวกเขากราบทูลว่า ข้าแต่เทวะ ความยินดีและความจำเริญมีแก่ราชสกุลแล้ว พระศาสดาประทับนั่งในภพของอาฬวกยักษ์ ทรงทรมานอาฬวกยักษ์ ให้เขาดำรงอยู่ในภาวะเป็นอุบาสก โปรดให้อาฬวกยักษ์ให้พระกุมารแก่พวกข้าพระองค์ พระเจ้าข้า

แม้พระศาสดาก็ทรงให้อาฬวกยักษ์ถือ บาตรจีวร เสด็จบ่ายพระพักตร์สู่นครอาฬวี อาฬวกยักษ์นั้น เมื่อจะเข้าสู่พระนคร ก็รู้สึกละอาย จะถอยกลับ

พระศาสดาทรงแลดูแล้วตรัส ถามว่า ละอายหรืออาฬวกะ

เขาทูลว่า พระเจ้าข้า ชาวพระนครเหล่านั้น เป็นเพราะข้าพระองค์ที่เดียว ทั้งแม่ ทั้งลูก ทั้งเมีย จึงพากันตาย พวกเขาเห็นข้าพระองค์แล้ว จักประหารด้วยท่อนไม้บ้าง ก้อนดินบ้าง ธนูบ้าง เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงจะถอยกลับ พระเจ้าข้า

พระศาสดาตรัสปลอบว่า อาฬวกะ ไม่มีดอก เมื่อท่านไปกับเราก็สิ้นภัย ไปกันเถิด

ประทับหยุดยืนอยู่แนวป่าไม่ไกลพระนคร แม้พระเจ้าอาฬวกะก็ทรงพาชาวพระนครออกไป ต้อนรับเสด็จพระศาสดา พระศาสดาก็ทรงแสดงธรรมโปรดบริษัทที่มาถึง จบเทศนาเหล่าสัตว์ ๘๔,๐๐๐ ก็พากันดื่มน้ำอมฤต ชาวเมืองอาฬวีเหล่านั้น พากันไปที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ ณ แนวป่านั้นนั่นเอง จัดพลีกรรมกันทุกปี แม้อาฬวกยักษ์ก็สงเคราะห์ชาวเมืองด้วยการจัดรักษาอย่างเป็นธรรม


๐ หัตถกอาฬวกอุบาสกบรรลุธรรม

หัตถกอาฬวกกุมารนั้นเมื่อเจริญวัยแล้ว ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วก็แทงตลอดมรรคและผล ๓ มีอุบาสกผู้เป็นอริยสาวกคือผู้เป็นโสดาบัน สกทาคามี และอนาคามีเท่านั้น ๕๐๐ คน แวดล้อม เที่ยวไปทุกเวลา



(มีต่อ)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 26 พ.ย.2006, 12:44 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 03 ต.ค.2006, 9:52 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ ทรงแต่งตั้งเป็นเอตทัคคะผู้สงเคราะห์บริษัทด้วยสังคหวัตถุ ๔

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัคคาฬวเจดีย์ ใกล้เมืองอาฬวี ครั้งนั้นแล หัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวี มีอุบาสกประมาณ ๕๐๐ คนแวดล้อม เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีว่า ดูกรหัตถกะ บริษัทของท่านนี้ใหญ่ ก็ท่านสงเคราะห์บริษัทใหญ่นี้อย่างไร ฯ

หัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงสังคหวัตถุ ๔ ประการไว้ ข้าพระองค์สงเคราะห์บริษัทใหญ่นี้ด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการเหล่านั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

ข้าพระองค์รู้ว่าผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยทาน ข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยทาน

ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยวาจาอ่อนหวาน ข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยวาจาอ่อนหวาน

ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยการประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ ข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยการประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์

ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยการวางตัวเสมอ ข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยการวางตัวเสมอ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็โภคทรัพย์ในตระกูลของข้าพระองค์มีอยู่ ชนทั้งหลายจึงสำคัญถ้อยคำของข้าพระองค์ว่าควรฟัง ไม่เหมือนของคนจน ฯ

พระผู้มีพระภาค : ถูกแล้วๆ หัตถกะ นี้แลเป็นอุบายที่ท่านสงเคราะห์บริษัทใหญ่ ดูกรหัตถกะ จริงอยู่

ใครๆ ก็ตามที่สงเคราะห์บริษัทใหญ่ในอดีตกาล ก็ล้วนแต่สงเคราะห์ด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการนี้ และ

ใครๆ ก็ตามที่จักสงเคราะห์บริษัทในอนาคตกาล ก็ล้วนแต่จักสงเคราะห์ด้วยสังคหวัตถุ๔ ประการนี้แล

ใครๆ ก็ตามย่อมสงเคราะห์บริษัทใหญ่ในปัจจุบัน ก็ล้วนแต่สงเคราะห์ด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการนี้แล

ลำดับนั้น หัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวี อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้วลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ฯ

เรื่องที่เกิดขึ้นอย่างนี้ ต่อมาภายหลังพระศาสดาประทับ ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนาพวกอุบาสกไว้ในตำแหน่งต่างๆ จึงทรงสถาปนาหัตถกอาฬวกอุบาสกไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสก ผู้สงเคราะห์บริษัทด้วยสังคหวัตถุ ๔ แล


๐ ทรงตรัสชมเชยหัตถกอุบาสก

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัคคาฬวเจดีย์ ใกล้เมืองอาฬวี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทรงจำหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวี ว่าเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๗ ประการ คือ

เป็นผู้มีศรัทธา ๑ มีศีล ๑ มีหิริ ๑มีโอตตัปปะ ๑ เป็นพหูสูต ๑ มีจาคะ ๑ มีปัญญา ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทรงจำหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวี ว่าเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๗ ประการนี้แล

พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ครั้นได้ตรัสพระดำรัสนี้แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปสู่พระวิหาร ฯ

ครั้งนั้น เวลาเช้า ภิกษุรูปหนึ่ง นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ของหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวี ครั้นแล้ว จึงนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ลำดับนั้น หัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีเข้าไปหาภิกษุนั้น ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ภิกษุนั้นได้เล่าเรื่องที่ พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ท่านว่าเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๗ ประการนี้

หัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คฤหัสถ์ไรๆ ผู้นุ่งผ้าขาว ไม่มีในตำแหน่งที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์นี้หรือ ฯ

ภิกษุ : ดูกรอาวุโส ไม่มี ฯ

หัตถกอุบาสก : ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดีแล้ว ที่เป็นอย่างนั้น ฯ

ภิกษุนั้นเมื่อรับบิณฑบาตในนิเวศน์ของหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีแล้ว ก็ลุกจากที่นั่งแล้วกลับไป ภายหลังภัต แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคถึงเรื่องที่ตนได้กล่าวกับหัตถกอุบาสก และถ้อยคำที่หัตถกอุบาสกตอบ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ถูกแล้วๆ กุลบุตรนั้นมีความปรารถนาน้อย ไม่ปรารถนาให้คนอื่นรู้กุศลธรรมที่มีอยู่ในตน

ดูกรภิกษุ ถ้าอย่างนั้น เธอจงทรงจำหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีไว้ว่าเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมานี้ คือ ความเป็นผู้ไม่ปรารถนาให้คนอื่นรู้กุศลธรรมที่มีอยู่ในตน ฯ


๐ หัตถกอุบาสกสิ้นชีวิตแล้วไปเกิดเป็นพรหม

ไม่มีเรื่องที่ชี้ชัดลงไปว่าหัตถกอุบาสกได้สิ้นชีวิตลงเมื่อไรและอย่างไร แต่จาก หัตถกสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ติกนิบาต ได้กล่าวถึงหัตถกเทพบุตรไว้ว่าได้สิ้นชีวิตลงก่อนพระพุทธองค์ และไปบังเกิดในพรหมโลกชั้น อวิหา และได้ชื่อว่าเป็นเทวบุตรผู้เป็นธรรมกถึกองค์หนึ่ง โดยเทพยดาทั้งหลายก็มักจะมาฟังธรรมที่แสดงโดยหัตถกมหาพรหมองค์นี้เสมอ ดังเรื่องต่อไปนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไป หัตถกเทพบุตรมีรัศมีงามยิ่งนัก ทำพระเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสวเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า

“ดูกรหัตถกะ ธรรมที่เป็นไปแก่ท่านผู้เป็นมนุษย์แต่ครั้งก่อนนั้น บัดนี้ยังเป็นไปแก่ท่านอยู่บ้างหรือ”

หัตถกเทพบุตรกราบทูลว่า

“พระเจ้าข้า ธรรมที่เป็นไปแก่ข้าพระองค์เมื่อยังเป็นมนุษย์ครั้งก่อนนั้นบัดนี้ก็ยังเป็นไปแก่ข้าพระองค์อยู่ และธรรมที่มิได้เป็นไปแก่ข้าพระองค์ เมื่อยังเป็นมนุษย์ครั้งก่อนนั้น บัดนี้ก็เป็นไปอยู่

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้พระผู้มีพระภาคเกลื่อนกล่นไปด้วยภิกษุภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์สาวกของเดียรถีย์อยู่ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นพระเจ้าข้า เกลื่อนกล่นไปด้วยเทพบุตรอยู่ พวกเทพบุตรต่างมากันแม้จากที่ไกล ก็ด้วยตั้งใจว่าจักฟังธรรมในสำนักของหัตถกเทพบุตร

ข้าพระองค์ยังไม่ทันอิ่ม ยังไม่ทันเบื่อธรรม ๓ อย่างก็ได้ทำกาละเสียแล้ว”

ครั้นหัตถกเทพบุตรได้กล่าวไวยากรณภาษิตจบลงแล้ว จึงได้กล่าวคาถาประพันธ์ดังข้างล่างนี้ต่อไปอีกว่า

แน่ละ ในกาลไหนๆ จึงจักอิ่มต่อการเฝ้าพระผู้มีพระภาค
การอุปัฏฐากพระสงฆ์ และการฟังพระสัทธรรม
หัตถกอุบาสกยังศึกษาอธิศีลอยู่
ยินดีแล้วในการฟังพระสัทธรรม
ยังไม่ทันอิ่มต่อธรรม ๓ อย่าง
ก็ไปพรหมโลกชั้นอวิหาเสียแล้ว ฯ




.............................................................

คัดลอกมาจาก ::
http://www.dharma-gateway.com/
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่หัวข้อนี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไข หรือตอบได้
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง