Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 เจ้ามหานามศากยะ (อุบาสก-เอตทัคคะ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่หัวข้อนี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไข หรือตอบได้
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 02 ก.ย. 2006, 3:23 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

เจ้ามหานามศากยะ
เอตทัคคะในทางผู้ถวายทานอันมีรสประณีต


เจ้ามหานามศากยะผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของอุบาสกทั้งหลายผู้ถวายทานอันมีรสประณีต ก็โดยเหตุ ๒ ประการ คือโดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ เพราะท่านแสดงให้ผู้อื่นเห็นเป็นอย่างชัดเจนในคุณข้อนี้ของท่าน และไม่เพียงเนื่องจากเหตุข้อนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นการแต่งตั้งโดยเหตุที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปนี้


๐ ตั้งความปรารถนาไว้ในอดีต

ดังได้สดับมา พระเจ้ามหานามศากยะนั้น ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี กำลังฟังธรรมกถาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาอุบาสกผู้หนึ่งไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสกผู้ถวายทานอันมีรสประณีต จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง ครั้นสิ้นชีวิตลง ก็เวียนว่ายอยู่ใน ภพภูมิเทวดาและมนุษย์ถึงแสนกัป


๐ ในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

ก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะอุบัติ ท่านก็มาถือปฏิสนธิเป็น พระโอรสแห่งเจ้าอมิโตทนะศากยะ * (ในเรื่องพระบิดาของท่าน มีหลักฐานหลายแห่งคัดค้านกันอยู่ เช่น อรรถกถาอังคุตตรนิกาย อรรถกถาธรรมบท อรรถกถาพุทธวงศ์ ในมหาวัสตุ และในพุทธประวัติของพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส กล่าวว่าท่านเป็นพระโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ แต่ในอรรถกถามัชฌิมนิกาย กล่าวว่า ท่านเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ) ผู้เป็นพระอนุชาแห่งพระพุทธบิดา คือพระเจ้าสุทโธทนศากยะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระนามว่า เจ้ามหานามะ เจ้ามหานามะ มีพระอนุชาคือ เจ้าอนุรุทธ ซึ่งต่อมาได้ทรงออกผนวชเป็นพระอนุรุทธเถระ เอตทัคคะผู้มีทิพยจักษุ และมีพระกนิษฐา พระนามว่า พระนางโรหิณี รวมเป็น ๓ พระองค์ด้วยกัน

ส่วนเจ้าชายสิทธัตถะก็ทรงเจริญวัยโดยลำดับ ทรงครองเรือนอยู่ ๒๙ ปี แล้วทรงเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณโดยลำดับ ทรงยับยั้งที่โพธิมัณฑสถาน ๗ สัปดาห์ ประกาศพระธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน ทรงกระทำการอนุเคราะห์โลก ครั้นเมื่อพระเจ้าสุทโธทนทรงสดับข่าวว่าพระบรมศาสดามายังกรุงราชคฤห์ จึงทรงรับสั่งให้อำมาตย์กาฬุทายี ไปนิมนต์พระบรมศาสดา อำมาตย์กาฬุทายีก็ได้บวชด้วยเอหิภิกขุบรรพชาแล้วพระกาฬุทายีเถระทูลวิงวอนให้เสด็จไปโปรดพระพุทธบิดายัง ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ในครั้งนั้นทรงทำพระธรรมเทศนาอันวิจิตรแก่พระพุทธบิดาและพระประยูรญาติ และในการเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาเพียงครั้งแรก ได้ฟังพระธรรมเทศนาก็ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผล

พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงอนุเคราะห์พระญาติแล้ว ทรงให้ราหุลกุมารบรรพชาแล้ว ไม่นานนัก ก็เสด็จจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปจาริกในมัลลรัฐแล้วเสด็จกลับมายังอนุปิยอัมพวัน


๐ ขัติยศากยกุมารออกบวชตามเสด็จ

สมัยนั้น พระเจ้าสุทโธทนมหาราช ทรงประชุมศากยะสกุลทั้งหลายตรัสให้แต่ละตระกูลในศากยราชวงศ์ส่งขัตติยกุมารออกบวชตามเสด็จ ในครั้งนั้นเล่ากันว่า ขัตติยกุมารถึงพันองค์จึงออกผนวชโดยพระดำรัสครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อขัตติยกุมารโดยมากเหล่านั้นผนวชแล้ว เหล่าพระญาติเห็นศากยะ ๖ พระองค์นี้ คือ ภัททิยราชา อนุรุทธ อานันทะ ภคุ กิมพิละ เทวทัต ยังมิได้ผนวชจึงสนทนากันว่า “พวกเรายังให้ลูกๆ ของตนบวชได้ ศากยะทั้ง ๖ นี้ มิใช่พระญาติหรือจึงมิได้ทรงผนวช”

เมื่อเป็นดังนั้นเจ้ามหานามศากยะจึงเข้าไปหาเจ้าอนุรุทธศากยะผู้เป็นน้อง และกล่าวว่า บัดนี้ ศากยะกุมารที่มีชื่อเสียงเป็นอันมากได้ออกผนวชตามเสด็จ แต่ผู้ออกบวชจากตระกูลของเรายังไม่มี น้องจักบวช หรือว่า พี่จักบวช” พระอนุรุทธราชกุมารจึงทูลถามว่า “การบวชนี้เป็นอย่างไร ?” เจ้ามหานามจึงตรัสว่า “ผู้บวช ก็ต้องโกนผมและหนวด ต้องนุ่งห่มผ้ากาสายะ ต้องนอนบนเครื่องลาดด้วยไม้ หรือบนเตียงที่ถักด้วยหวาย เที่ยวบิณฑบาตอยู่ นี้ชื่อว่าการบวช” เจ้าอนุรุทธศากยะจึงทูลว่า “เจ้าพี่ หม่อมฉันเป็นสุขุมาลชาติ หม่อมฉันจักไม่สามารถบวชได้” เจ้าอนุรุทธกุมารนั้น ทรงเป็นกษัตริย์ผู้สุขุมาล มีโภคะสมบูรณ์ แม้คำว่า “ไม่มี” ก็ไม่เคยได้ยิน จึงไม่ยินดีในการบวช

เจ้ามหานามจึงตรัสว่า “อย่างนั้น ท่านจงเรียนรู้การงานสำหรับอยู่เป็นฆราวาสเถิด ในระหว่างเราทั้งสองจะไม่บวชเลยสักคนก็เป็นเรื่องไม่ควร”

อนุรุทธกุมารผู้ซึ่งไม่รู้แม้กระทั่งว่าอาหารที่ตนบริโภคนั้นเกิดขึ้นที่ไหน ได้มาอย่างไร จะรู้จักการงานได้อย่างไร ?


๐ เจ้าศากยะทั้ง ๓ สนทนากันถึงที่เกิดแห่งข้าว

ก็วันหนึ่ง ยุวกษัตริย์ ๓ องค์ คือ เจ้ากิมพิละ เจ้าอนุรุทธ และเจ้าภัททิยะ ทรงสนทนากันด้วยเรื่องว่า “ข้าวที่เราบริโภคเกิดขึ้นที่ไหน ?” กิมพิลกุมารรับสั่งว่า “เกิดขึ้นในฉาง” ครั้งนั้นภัททิยกุมาร ตรัสค้านกิมพิลกุมารนั้นว่า “ท่านยังไม่ทราบที่เกิดแห่งข้าว ชื่อว่าข้าว ย่อมเกิดขึ้นที่หม้อข้าว” เจ้าอนุรุทธตรัสแย้งว่า “ถึงท่านทั้งสองก็ยังไม่ทรงทราบ ธรรมดาข้าว ย่อมเกิดขึ้นในถาดทองคำ”

ได้ยินว่า บรรดากษัตริย์ ๓ องค์นั้น วันหนึ่ง กิมพิลกุมาร ทรงเห็นเขาขนข้าวเปลือกลงจากฉาง ก็เข้าพระทัยว่าข้าวเปลือกเหล่านี้เกิดขึ้นในฉางนั่นเอง

ฝ่ายพระภัททิยกุมาร ทรงเห็นเขาคดข้าวออกจากหม้อข้าวก็เข้าพระทัยว่า ข้าวเกิดขึ้นในหม้อข้าวนั่นเอง

ส่วนอนุรุทธกุมาร ยังไม่เคยทรงเห็นคนซ้อมข้าว คนหุงข้าว หรือคนคดข้าว ทรงเห็นแต่ข้าวที่เขาคดแล้วตั้งไว้ เฉพาะพระพักตร์เท่านั้น ท่านจึงทรงเข้าพระทัยว่า “ภัตเกิดในถาด ในเวลาที่ต้องการบริโภค”

ยุวกษัตริย์ทั้ง ๓ พระองค์นั้น ย่อมไม่ทรงทราบแม้ที่เกิดแห่งข้าวตามเรื่องที่เล่ามาข้างต้น เพราะฉะนั้น อนุรุทธกุมารนี้จึงทูลถามว่า “การทำงานนี้เป็นอย่างไร ?” เจ้ามหานามศากยะ จึงสอนเรื่องการครองเรือนแก่อนุรุทธกุมารผู้น้องว่า ผู้อยู่ครองเรือน ชั้นต้นต้องให้ไถนา ครั้นแล้วให้หว่าน ให้ไขน้ำเข้า ครั้นไขน้ำเข้ามากเกินไป ต้องให้ระบายน้ำออก ครั้นให้ระบายน้ำออกแล้ว ต้องให้ถอนหญ้า ครั้นแล้วต้องให้เกี่ยว ให้ขน ให้ตั้งลอม ให้นวด ให้สงฟางออก ให้ฝัดข้าวลีบออก ให้โปรยละออง ให้ขนขึ้นฉาง ครั้นถึงฤดูฝนก็ต้องทำอย่างนี้อีก เป็นอย่างนี้ทุกปี

ครั้นอนุรุทธกุมารได้ทรงฟังกิจการที่ฆราวาสจะพึงทำเป็นประจำทุกปีเช่นนั้น ทรงมองไม่เห็นว่า การงานสำหรับเพศฆราวาสทั้งหลายจะมีที่สิ้นสุดเมื่อไร จึงทูลให้เจ้ามหานามทรงครองฆราวาส ส่วนตนเองจะเป็นผู้ออกบวช


๐ ทรงครองกรุงกบิลพัสดุ์สืบต่อจากพระเจ้าสุทโธทนะ

ในสมัยนั้น พระญาติพระวงศ์ชั้นสูงเกือบทั้งหมดก็ได้เสด็จออกผนวชโดยเสด็จพระบรมศาสดา คงเหลือแต่เจ้าชายมหานามะ เท่านั้นที่เป็นพระญาติมีลำดับอาวุโสสูงสุดในการสืบราชสมบัติเหลืออยู่ ดังนั้นเมื่อพระเจ้าสุทโธทนะสิ้นพระชนม์ลง เจ้าชายมหานามะจึงได้ครองราชสมบัติในกรุงกบิลพัสดุ์สืบต่อไป


๐ เหตุในการบัญญัติสิกขาบท

สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตพระนครกบิลพัสดุ์ สักกชนบท ครั้งนั้น มหานามศากยะมีเภสัชมากมาย จึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าประสงค์จะปวารณาต่อสงฆ์ด้วยปัจจัยเภสัชตลอด ๔ เดือน พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีๆ มหานาม ถ้าเช่นนั้น เธอจงปวารณาต่อสงฆ์ด้วยปัจจัยเภสัชตลอด ๔ เดือนเถิด.

ภิกษุทั้งหลายรังเกียจไม่รับปวารณา ได้กราบทูลเหตุนั้นแด่พระผู้มีพระภาค จึงทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยินดีการปวารณาด้วยปัจจัย ๔ ตลอด ๔ เดือน

ก็สมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายขอปัจจัยเภสัชต่อมหานามศากยะเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ปัจจัยเภสัชของมหานามศากยะ จึงยังคงมากมายอยู่ตามเดิมนั่นแหละ

แม้ครั้งที่สอง มหานามศากยะก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าประสงค์จะปวารณาต่อสงฆ์ด้วยปัจจัยเภสัชต่ออีก ๔ เดือน พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีๆ มหานาม ถ้าเช่นนั้น เธอจงปวารณาต่อสงฆ์ด้วยปัจจัยเภสัชต่ออีก ๔ เดือนเถิด

ภิกษุทั้งหลายรังเกียจไม่รับปวารณา ได้กราบทูลเหตุนั้นแด่พระผู้มีพระภาค จึงทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยินดีการปวารณาต่ออีกได้

ก็สมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายขอปัจจัยเภสัชต่อมหานามศากยะเพียงเล็กน้อยเท่านั้น,ปัจจัยเภสัชของมหานามศากยะจึงยังคงมากมายอยู่ตามเดิมนั่นแหละ

แม้ครั้งที่สาม มหานามศากยะก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าประสงค์จะปวารณาต่อสงฆ์ด้วยปัจจัยเภสัชตลอดชีวิต พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีๆ มหานาม ถ้าเช่นนั้น เธอจงปวารณาต่อสงฆ์ด้วยปัจจัยเภสัชตลอดชีวิตเถิด

ภิกษุทั้งหลายรังเกียจไม่รับปวารณา ได้กราบทูลเหตุนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยินดี แม้ซึ่งการปวารณาเป็นนิตย์


๐ พระฉัพพัคคีย์ถูกมหานามศากยะกล่าวตำหนิ

ครั้นสมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์นุ่งห่มผ้าไม่เรียบร้อย ไม่สมบูรณ์ด้วยมรรยาทถูกมหานามศากยะกล่าวตำหนิว่า ทำไมท่านทั้งหลายจึงนุ่งห่มผ้าไม่เรียบร้อย ไม่สมบูรณ์ด้วยมรรยาท, ธรรมเนียมบรรพชิตต้องนุ่งห่มผ้าให้เรียบร้อย ต้องสมบูรณ์ด้วยมรรยาท มิใช่หรือ ? พระฉัพพัคคีย์ผูกใจเจ็บในมหานามศากยะ ครั้นแล้วได้ปรึกษากันว่า ด้วยอุบายวิธีไหนหนอ ? เราจึงจะทำมหานามศากยะให้ได้รับความอัปยศ แล้วปรึกษากันต่อไปว่า อาวุโสทั้งหลาย มหานาม-ศากยะได้ปวารณาไว้ต่อสงฆ์ด้วยปัจจัยเภสัช พวกเราพากันไปขอเนยใสต่อมหานามศากยะเถิดแล้วเข้าไปหามหานามศากยะกล่าวคำนี้ว่า อาตมภาพทั้งหลายต้องการเนยใส ๑ ทะนาน

มหานามศากยะขอร้องว่า วันนี้ขอพระคุณเจ้าได้โปรดคอยก่อน คนทั้งหลายยังไปคอกนำเนยใสมา พระคุณเจ้าทั้งหลายจักได้รับทันกาล

แม้ครั้งที่สอง...

แม้ครั้งที่สาม พระฉัพพัคคีย์ก็ได้กล่าวว่า อาตมภาพทั้งหลายต้องการเนยใส ๑ ทะนาน

มหานามศากยะรับสั่งว่า วันนี้ขอพระคุณเจ้าทั้งหลาย ได้โปรดรอก่อน คนทั้งหลายยังไปคอกนำเนยใสมา พระคุณเจ้าจักได้รับทันกาล พระฉัพพัคคีย์ต่อว่า จะมีประโยชน์อะไรด้วยเนยใสที่ท่านไม่ประสงค์จะถวาย แต่ได้ปวารณาไว้ เพราะท่านปวารณาไว้แล้วไม่ถวาย

จึงมหานามศากยะ เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ก็เมื่อฉันขอร้องพระคุณเจ้าว่า วันนี้ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายได้โปรดคอยก่อน ดังนี้ ไฉน พระคุณเจ้าจึงรอไม่ได้เล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินมหานามศากยะ เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า พระฉัพพัคคีย์ที่มหานามศากยะ ขอร้องว่า วันนี้ ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายได้โปรดคอยอยู่ก่อน ดังนี้ ไฉนจึงคอยไม่ได้เล่า ? แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค


๐ ทรงสอบถาม

พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าพวกเธออันมหานามศากยะพูดขอร้องว่า วันนี้ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายได้โปรดคอยก่อน ดังนี้ แล้วไม่คอยจริงหรือ ?

พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า


๐ ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย พวกเธออันมหานามศากยะพูดขอร้องเช่นนั้นแล้ว ไฉนจึงคอยอยู่ไม่ได้เล่า ? การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้


๐ พระบัญญัติ

๙๖. ๗ ภิกษุมิใช่ผู้อาพาธ พึงยินดีปวารณาด้วยปัจจัยเพียงสี่เดือน เว้นไว้แต่ปวารณาอีก เว้นไว้แต่ปวารณาเป็นนิตย์ ถ้าเธอยินดียิ่งกว่านั้น เป็นปาจิตตีย์


๐ ทรงแต่งตั้งเป็นเอตทัคคะผู้ถวายทานอันมีรสประณีต

ต่อมาสมัยหนึ่ง พระศาสดาเสด็จจำพรรษา ณ เมืองเวรัญชาแล้วเสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์ โดยลำดับ ประทับ ณ นิโครธาราม พระเจ้ามหานามทรงทราบว่า พระศาสดาเสด็จมา จึงเข้าไปเฝ้า ถวายบังคมแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง กราบทูลพระศาสดาอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ได้สดับมาว่า เขาว่าภิกษุสงฆ์ลำบากด้วยการเที่ยวขออาหารในเมืองเวรัญชา ขอพระองค์โปรดประทานปฏิญญาทรงรับให้ข้าพระองค์ทะนุบำรุงภิกษุสงฆ์ตลอด ๔ เดือน เถิด ข้าพระองค์จะประจุโอชะเข้าไปในสรีระของภิกษุสงฆ์นะพระเจ้าข้า พระศาสดาทรงรับโดยดุษณีภาพ พระเจ้ามหานามะทรงทราบว่า ทรงรับแล้ว ตั้งแต่วันรุ่งขึ้น ก็บำรุงภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยโภชนะอันประณีตและของมีรสอร่อย ๔ ชนิด เป็นต้น รับปฏิญญาบำรุงอีก ๔ เดือน เป็น ๘ เดือนเต็ม แล้วรับปฏิญญาบำรุงอีก ๔ เดือน ชื่อว่า ทรงบำรุงตลอดทั้งปี พระศาสดามิได้ประทานปฏิญญารับอาราธนา เกินไปกว่านั้น ส่วนพระเจ้ามหานามะทรงทำสักการะแก่ภิกษุสงฆ์ที่มา ถึงต่อๆ มาโดยทำนองนี้นี่แล พระคุณนั้นของเจ้ามหานามะ ก็ขจรไปทั่วชมพูทวีป เรื่องเกิดขึ้นอย่างนี้นี่แล ต่อมา พระศาสดาประทับนั่ง ณ พระเชตวันวิหาร จึงทรงสถาปนาพระเจ้ามหานามศากยะไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสก ผู้ถวายทานอันมีรสประณีต แล


๐ เหตุแห่งการสิ้นศากยวงศ์

ในสมัยนั้น การถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์วันละ ๕๐๐ รูป ใน พระนครสาวัตถี ได้กระทำเป็นประจำในบ้านของท่านอนาถปิณฑิกะ บ้านของนางวิสาขา บ้านของนางสุปปวาสา และในพระราชวังของพระเจ้าปเสนทิโกศล

แม้ว่าการถวายทานในพระราชนิเวศน์นั้น เจ้าหน้าที่จะจัดถวายโภชนะอันมีรสเลิศต่างๆ โดยแท้ ถึงอย่างนั้น ไม่มีใครๆ ในพระราชวังที่จะนับได้ว่าเป็นผู้คุ้นเคยกันของภิกษุผู้ที่จะมารับบิณฑบาตเลย เหตุนั้น พวกภิกษุจึงไม่ค่อยมารับพระราชทานฉันในพระราชนิเวศน์ แต่กลับไปรับภัตยังเรือนของท่านอนาถปิณฑิกะหรือนางวิสาขา หรือมิฉะนั้นก็เรือนของคนที่คุ้นเคยกันอื่นๆ แล้วจึงฉัน

วันหนึ่งพระราชาทรงส่งบรรณาการที่คนนำมาถวายไปยังโรงฉัน สั่งเจ้าหน้าที่ว่า พวกเจ้าจงถวายแก่พวกภิกษุ ครั้นราชบุรุษกราบทูลว่า ในโรงฉันไม่มีภิกษุเลย ก็ตรัสสั่งถามว่า ท่านไปที่ไหนเสียเล่า ครั้นทรงสดับว่า พากันไปนั่งฉันที่เรือนของคนที่ตนคุ้นเคย พระเจ้าข้า ดังนั้น พอเสวยพระกระยาหารเช้าเสร็จ พระราชาจึงเสด็จไปสำนักพระศาสดาทูลถามว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขึ้นชื่อว่าโภชนะ มีอะไรเป็นยอดเยี่ยม

พระผู้มีพระภาคถวายพระพรว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร โภชนะมีความคุ้นเคยกันเป็นยอดเยี่ยม เพราะแม้ว่าจะเป็นข้าวตังที่คนคุ้นเคยกันให้ ก็ย่อมมีรสอร่อย

พระราชาทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนพวกใดเล่าที่พระภิกษุจะมีความคุ้นเคย พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคถวายพระพรว่า ขอถวายพระพร ความคุ้นเคยของพระภิกษุมีได้กับหมู่ญาติหรือกับสกุลแห่งพระภิกษุนั้น มหาบพิตร

เมื่อทรงได้ยินดังนั้น พระราชาทรงพระดำริว่า เราต้องเชิญพระธิดาแห่งพระญาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นางหนึ่งมาแต่งตั้งเป็นอัครมเหสี เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกภิกษุทั้งหลายก็จะคุ้นเคยแล้วมายังสำนักของเราเป็นนิตย์ ด้วยเห็นว่าพระราชาเป็นพระญาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เมื่อพระองค์เสด็จลุกจากอาสนะกลับไปพระนิเวศน์ของพระองค์แล้วก็ทรงส่งทูตไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์เพื่อแจ้งพระประสงค์ว่า ขอให้เจ้าศากยะจงให้ธิดาแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการความเป็นญาติกับพวกท่าน


๐ เจ้าศากยะให้ธิดานางทาสีแก่พระเจ้าปเสนทิ

เจ้าศากยะเมื่อทราบพระประสงค์แล้วแล้วก็ประชุมปรึกษากันว่า พวกเราอยู่ในถิ่นฐานอันเป็นอาณาจักรของพระเจ้าโกศล ถ้าพวกเราไม่ให้ทาริกา ภัยอย่างใหญ่หลวงจักบังเกิดแก่เรา แต่ถ้าให้เล่า ความบริสุทธิ์แห่งเชื้อสายของพวกเราที่ยึดมั่นในการที่จะไม่ร่วมวงศ์กับใครๆ ก็จะสลาย ควรจะทำอย่างไรดีเล่า

ครั้งนั้นท้าวมหานามตรัสกะพวกศากยะนั้นว่า อย่าร้อนใจกันไปเลย ธิดาของฉันชื่อ วาสภขัตติยา เกิดในท้องทาสีชื่อ นาคบุณฑา อายุได้ ๑๖ ปี มีรูปร่างเฉิดฉาย ถึงความงามเลิศ เท่ากับเป็นเผ่ากษัตริย์ ด้วยศักดิ์ของบิดา พวกเราจะส่งนางไปให้แก่พระเจ้าโกศลนั้นว่า เป็นขัตติยกัญญา

เจ้าศากยะทั้งหลายต่างรับว่าดีจริง ได้เรียกพวกทูตมากล่าวว่า เป็นการดีละ พวกข้าพเจ้าจักถวายทาริกา พวกท่านจงรับนางไปบัดนี้ทีเดียวเถิด

พวกทูตฟังคำนั้นแล้ว คิดกันว่าธรรมดาว่าศากยราชเหล่านี้ ถือตัวยิ่งนัก อาจจะกล่าวว่า นางนี้เสมอกับพวกเรา แล้วให้นางที่ไม่เสมอกันก็ได้ พวกเราจักยอมรับแต่นางที่ร่วมบริโภคกับพวกเหล่านี้เท่านั้น

ทูตเหล่านั้นพากันทูลอย่างนี้ว่า เมื่อพวกข้าพระองค์จะรับไป จักขอรับนางที่เสวยร่วมกับพระองค์ไป

เจ้าศากยะทั้งหลายจึงให้ที่พักแก่พวกทูต คิดกันว่า จักทำอย่างไรเล่า

ท้าวมหานามตรัสว่าพวกเธออย่าร้อนใจไปเลย ฉันจักทำอุบาย ในเวลาที่ฉันกำลังบริโภค พวกเธอจงตกแต่งนางวาสภขัตติยาพามา พอฉันหยิบคำข้าวเพียงคำเดียวเท่านั้น พวกเธอก็ส่งหนังสือให้ดู บอกว่า พระราชาพระองค์โน้น ทรงส่งหนังสือ เชิญดูสาส์นนี้ เสียก่อน จงทำด้วยอุบายอย่างนี้

พวกนั้นพากันรับคำว่า ดีละ ดังนั้น เมื่อท้าวมหานามกำลังเสวย ก็ตรัสว่า พวกเธอจงพาธิดาของฉันมาเถิด นางจงบริโภคร่วมกับฉันเถิด

ครั้งนั้นเจ้าศากยะ พากันตกแต่งนางให้ชักช้าอยู่หน่อยหนึ่ง แล้วพามา นางวาสภขัตติยาคิดว่า จักบริโภคร่วมกับพระบิดา จึงหย่อนหัตถ์ลงในถาดเดียวกัน ท้าวมหานามทรงถือปั้นข้าวปั้นหนึ่งร่วมกับนาง แล้วทรงเปิบด้วยพระโอฐ พอทรงเอื้อมพระหัตถ์เพื่อคำที่ ๒ พวกศากยะก็น้อมหนังสือเข้าไปถวาย แล้วทูลว่า

ขอเดชะ พระราชาพระองค์โน้นทรงส่งหนังสือมา เชิญพระองค์ทรงสดับสาส์นนี้ก่อนเถิด พระเจ้าข้า

ท้าวมหานามตรัสว่า แม่หนู เจ้าจงบริโภคเถิด

แล้วทรงวางพระหัตถ์ขวาไว้ในถาดนั้นแล ทรงรับหนังสือด้วยพระหัตถ์ซ้าย ทรงทอดพระเนตรหนังสือ เมื่อท้าวเธอกำลังทรงหนังสืออยู่นั้นเองนางก็เสวยเสร็จ เวลาที่นางบริโภคเสร็จ ท้าวเธอจึงล้างพระหัตถ์บ้วนพระโอฐษ์

พวกทูตเหล่านั้นเห็นแล้ว พากันปลงใจว่า นางนั้นเป็นพระธิดาแห่งท้าวมหานามนี้ โดยปราศจากข้อคลางแคลงทีเดียว ต่างไม่สามารถจะรู้ความนัยนั้นได้เลย

ท้าวมหานามทรงส่งพระธิดาไปด้วยบริวารขบวนใหญ่ พวกทูตเหล่านั้นก็พานางสู่นครสาวัตถีต่างกราบทูลว่า กุมารีนี้สมบูรณ์ด้วยชาติ เป็นธิดาของท้าวมหานาม

ครั้งนั้น พระราชาทรงสดับเรื่องนั้น ทรงดีพระหฤทัย ให้ตกแต่งพระนครทั้งสิ้น ให้นางสถิตเหนือกองแก้ว ทรงให้อภิเษกสถาปนาในตำแหน่งอัครมเหสี นางได้เป็นที่รักจำเริญของพระราชา


๐ พระกุมารได้พระนามว่าวิฑูฑภะ

อยู่มาไม่ช้าไม่นานนางก็ตั้งครรภ์ พระราชาได้ประทานเครื่องบริหารครรภ์ ครบกำหนดทศมาสนางประสูติพระราชบุตร มีผิวพรรณเพียงดังทอง ครั้นในวันขนานพระนามของพระกุมารนั้น พระราชาทรงส่งข่าวไปสู่สำนักของพระอัยกาของพระองค์ว่าธิดาของศากยะราชวาสภขัตติยา ประสูติพระราชบุตร จะทรงขนานนามแก่บุตรนั้นอย่างไร ก็อำมาตย์ผู้เชิญพระราชสาส์นนั้นไปค่อนข้างจะหูตึง เข้าไปถึงตำหนักนั้นแล้วกราบทูล แด่พระอัยกาของพระราชา ท้าวเธอทรงสดับพระราชสาส์นนั้นแล้ว ตรัสว่า นางวาสภขัตติยา แม้จะยังไม่คลอดพระโอรส ยังครอบงำคนทั้งหมดได้ คราวนี้ละก็นางจักเป็นที่โปรดปรานยิ่งของพระราชา (วัลลภา หมายถึง คนสนิท, ผู้ชอบพอ, คนโปรด, คนรัก)

อำมาตย์หูตึง ฟังคำว่า วัลลภา ไม่ชัดเจน ฟังเป็น วิฑูฑภะ ครั้นเมื่อเดินทางกลับมาแล้วเข้าเฝ้าพระราชาจึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ดังข้าพระพุทธเจ้าได้ยินมา ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงขนานนามพระกุมารว่า วิฑูฑภะ เถิดพระเจ้าข้า

พระราชาทรงพระดำริว่า คงเป็นชื่อที่ตระกูลให้ไว้เก่าก่อนของพวกเรา จึงได้ทรงขนานพระนามพระโอรสนั้นว่าวิฑูฑภะ


(มีต่อ)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 03 ต.ค.2006, 9:55 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๐ วิฑูฑภะเสด็จเยี่ยมศากยสกุล

ตั้งแต่นั้นพระกุมารก็จำเริญด้วยกุมารบริหาร ถึงคราวมีอายุได้ ๗ ขวบเห็นรูปช้าง และรูปม้าเป็นต้น ที่คนนำมาจากตระกูลพระเจ้ายาย ถวายแก่พระกุมารอื่นๆ ก็ถามมารดาว่า

แม่ ของบรรณาการจากตระกูลท่านตาคนนำมาให้เด็กอื่นๆ ที่ฉันไม่มีผู้ส่งอะไรมาให้เลย แม่ไม่มีพระมารดาพระบิดาหรือ

ครั้งนั้นนางกล่าวลวงเขาว่า พ่อเอ๋ย บรรดาศากยราชผู้เป็นเจ้าตาเจ้ายายของเธอนั้นอยู่ไกล เหตุนั้น ท่านเหล่านั้นจึงไม่ส่งอะไรๆ มา

ต่อมาถึงเวลามีอายุได้ ๑๖ เขากล่าวว่า แม่ฉันจะไปเยี่ยมตระกูลเจ้าตาเจ้ายาย

แม้พระนางวาสภขัตติยาจะห้ามว่า อย่าเลย พ่อเอ๋ย เจ้าจักกระทำอะไรในที่นั้น

แต่วิฑูฑภะก็คงอ้อนวอนอยู่บ่อยๆ จนกระทั่งพระนางรับคำว่า ถ้าอย่างนั้นก็ไปเถิด

เขากราบทูลลาพระบิดา แล้วออกเดินทางไปพร้อมด้วยข้าราชบริพารเป็นกระบวนใหญ่ นางวาสภขัตติยาได้ส่งหนังสือไปแจ้งพระบิดาก่อนว่า หม่อมฉันอยู่สบายดี ณ ที่นี้เจ้าข้า ข้าแต่เจ้า พระองค์โปรดอย่าทรงแสดงความนัยอะไรๆ แก่เขาพระเจ้าข้า


๐ พวกศากยะต้อนรับวิฑูฑภะ

เจ้าศากยะทั้งหลายรู้เรื่องการมาของวิฑูฑภะ คิดกันว่า พวกเราไม่สามารถจะไหว้เขาได้ ด้วยมารดาของเขาเกิดจากนางทาสี ด้วยเหตุนั้นจึงพากันส่งพระกุมารเด็ก ๆ ไปสู่ชนบท เพื่อกันมิให้พระกุมารเหล่านั้นที่เยาว์กว่าต้องไหว้วิฑูฑภะ ตามธรรมเนียมของญาติที่อ่อนอาวุโสกว่า

ครั้นเมื่อถึงกบิลพัสดุ์ พวกศากยะพากันประชุม ณ สัณฐาคาร วิฑูฑภะไปถึงสัณฐาคาร ได้หยุดยืนอยู่ ครั้งนั้น พวกเหล่านั้นพากันกล่าวแนะนำพวกพระญาติแก่เขาว่า

พ่อเอ๋ย ท่านผู้นี้ เป็นเจ้าตาของเธอ ท่านผู้นี้เป็นเจ้าลุงของเธอ

เขาต้องเที่ยวไหว้เรื่อยไปทุกคน เขาต้องไหว้เสียจนหลังขดหลังแข็ง ไม่เห็นมีผู้ที่ต้องไหว้ตนสักคนเดียว จึงถามว่า

ผู้ที่ไหว้ฉันทำไมไม่มีเลยเล่า

พวกศากยะพากันบอกว่า

พ่อเอ๋ย กุมารที่เป็นน้องๆ ของเธอ พากันไปชนบทเสีย

แล้วพวกศากยะเหล่านั้นก็ต้อนรับเขาอย่างขนานใหญ่ เมื่อเขาพักอยู่ ๒ - ๓ วันแล้วกลับไปพร้อมด้วยบริวาร


๐ มหาดเล็กของวิฑูฑภะได้ยินเรื่องราว

ครั้งนั้นทาสีนางหนึ่งด่าว่า แผ่นกระดานนี้เป็นแผ่นกระดานที่ลูกอีทาสีวาสภขัตติยามันนั่งไว้ แล้วล้างแผ่นกระดานที่เขานั่งในสัณฐาคารด้วยน้ำนม

มหาดเล็กผู้หนึ่งลืมอาวุธของตน หวนกลับจะหยิบอาวุธ ได้ยินเสียงด่าวิฑูฑภะกุมารนั้น จึงถามนางในระหว่างนั้น ทราบว่า วาสภขัตติยาเกิดในท้องของนางทาสี แห่งท้าวมหานามศากยราช ก็ไปเล่าแถลงแก่หมู่พล เกิดเกรียวกราวกันขนานใหญ่ว่า ได้ยินว่า นางวาสภขัตติยาเป็นลูกทาสี


๐ วิฑูฑภะทรงอาฆาตพวกเจ้าศากยะ

วิฑูฑภะกุมารฟังคำนั้นก็ตั้งความอาฆาตไว้ว่า ปล่อยให้พวกนี้ล้างแผ่นกระดานที่กูนั่งด้วยน้ำนมไป ก่อนเถิด คอยดูนะ พอกูเสวยราชแล้วเถอะ กูจะเอาเลือดที่คอของพวกนี้ล้างแผ่นกระดานที่กูนั่งให้ได้

เมื่อเข้ากรุงสาวัตถี พวกอำมาตย์พากันกราบทูลประพฤติเหตุทั้งปวงแด่พระราชา พระราชาทรงสดับเรื่องนั้น กริ้วเจ้าศากยะทั้งหลายว่า ให้ธิดาทาสีแก่เราได้ ทรงตัดการบริหารที่พระราชทานแก่นางวาสภขัตติยา และโอรสหมดเลย พระราชทานเพียงเท่าที่พวกทาสและทาสีจะได้รับกันเท่านั้น

จากนั้นล่วงไปได้ ๒ - ๓ วัน พระศาสดาเสด็จไปสู่พระนิเวศน์ ประทับนั่งแล้ว.พระราชาเสด็จมาถวายบังคมแล้วทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกญาติของพระองค์พากันให้ธิดานางทาสีแก่หม่อมฉันเสียได้ เหตุนั้นหม่อมฉันจำต้องตัดการบริหารของนางพร้อมทั้งลูก คงได้ให้เพียงการบริหารเท่าที่พวกทาสและทาสีจะพึงได้กันเท่านั้น

พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร พวกศากยะทำไม่สมควรเลยทีเดียว ธรรมดาว่า เมื่อจะให้ ก็ต้องให้นางที่มีชาติเสมอกัน ก็แต่ว่ามหาบพิตร อาตมาขอถวายพระพรกะบพิตร นางวาสภขัตติยาเป็นราชธิดาได้อภิเษกในพระราชวังของขัตติยราช ถึงวิฑูฑภะเล่า ก็เกิดเพราะอาศัยขัตติยราชเหมือนกัน ขึ้นชื่อว่าโคตรของมารดา จักกระทำอะไรได้ โคตรของบิดาต่างหากเป็นประมาณ บัณฑิตแต่ครั้งโบราณได้ให้ตำแหน่งอัครมเหสีแก่หญิงเข็ญใจหาฟืน แต่กุมารที่เกิดในท้องของนาง ครองราชสมบัติ ณ กรุงพาราณสี อันมีบริเวณ ๑๒ โยชน์ ทรงพระนามว่า กัฏฐหาริกราช

แล้วตรัสเล่า กัฏฐหาริกชาดกแก่พระราชา พระราชาทรงสดับธรรมกถาของพระศาสดา ทรงดีพระหฤทัยว่า โคตรของบิดาเท่านั้นเป็นประมาณ โปรดประทานการบริหารเช่นเดิมแก่มารดาและโอรสทันที

พระเจ้าปเสนทิโกศล มีพระสหายที่ร่วมเรียนวิชาที่เมืองตักกสิลาด้วยกัน ๒ พระองค์คือ พระกุมารของเจ้าลิจฉวี ในพระนครเวสาลีพระนามว่ามหาลิ และโอรสของเจ้ามัลละ ในพระนครกุสินารา พระนามว่าพันธุละ เมื่อทั้งสามพระองค์ร่ำเรียนวิชาจนจบแล้วได้กลับไปยังบ้านเมืองของตน

เมื่อกลับไปถึงเมืองของตนก็ได้แสดงวิชาที่ได้เรียนมาต่อพระชนกพระชนนี ปเสนทิกุมารแสดงวิชาเป็นที่ชื่นชมของพระเจ้ามหาโกศล และต่อมาได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าปเสนทิโกศล ส่วนเจ้าชายพันธุละ ได้เกิดขัดใจกับหมู่พระญาติเมื่อคราวที่จัดให้แสดงวิชา โดยจะแสดงการตัดมัดไม้ไผ่ ๖๐ ลำให้ขาดในการฟันครั้งเดียว แต่พระญาติได้แกล้งเอาซี่เหล็กมาสอดไว้ในไม่ไผ่นั้นทุกลำ เมื่อเจ้าพันธุละฟันมัดไม่ไผ่ ๖๐ ลำที่มีซี่เหล็กซ่อนอยู่นั้น ไม้ไผ่ทั้ง ๖๐ ลำก็ขาดกระเด็นไป แต่ก็มีเสียงดัง “กริก” ของเหล็กในไม่ไผ่ลำสุดท้ายดังขึ้น จึงทราบว่าโดนพระญาติแกล้ง จึงโกรธและทิ้งดาบ ร้องไห้พลางพูดว่า “บรรดาญาติของเรานั้นไม่มีแม้แต่คนเดียวที่รักเรา จึงไม่ยอมบอกเรื่องนี้แก่เรา ถ้าเรารู้ ก็จะฟันไม่ให้มีเสียงเหล็กเกิดขึ้นเลย” จึงอาฆาตเจ้ามัลละผู้เป็นพระญาติเหล่านี้ทั้งหมดแล้วพาพระชนกและพระชนนีไปยังกรุงสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศลที่เป็นพระสหายก็แต่งตั้งให้เป็นเสนาบดี

ฝ่ายท่านพันธุละ ก็พานางมัลลิกามาสู่นครสาวัตถี มีบุตรชายแฝด ๑๖ คู่ รวม ๓๒ คน บุตรชายทุกคนล้วนเก่งกล้า สมบูรณ์ด้วยกำลัง ต่างเรียนสำเร็จในศิลปะทุกประการ

อยู่มาวันหนึ่งท่านพันธุละก็ได้วินิจฉัยแก้คำตัดสินคดีที่ตุลาการหลวงผู้รับสินบนตัดสินไว้ผิด มหาชนพากันแซ่ซ้องสาธุการด้วยเสียงอันดัง เมื่อพระราชาทรงทราบก็ตรัสให้ถอดอำมาตย์เหล่านั้นเสียทั้งหมด มอบการวินิจฉัยให้แก่ท่านพันธุละผู้เดียว

ครั้งนั้นพวกผู้ตัดสินความเก่าๆ เมื่อไม่ได้สินบนต่างมีรายได้น้อย พากันยุแหย่พระเจ้าปเสนทิโกศลว่า พันธุละปรารถนาราชสมบัติ พระราชาทรงหลงเชื่อจึงทรงแกล้งส่งให้พันธุละพร้อมด้วยเหล่าบุตรไปปราบโจรที่กำเริบขึ้นยังชายแดน แล้วพระองค์ลอบส่งทหารอีกพวกหนึ่งให้ไปลอบฆ่าท่านพันธุละกับบุตรเสียทั้งหมด

วันนั้น นางมัลลิกาผู้เป็นภรรยาท่านพันธุละนิมนต์พระอัครสาวกกับภิกษุ ๕๐๐ รูปมารับภัตตาหารที่บ้าน ตอนเช้ามีคนนำหนังสือมาให้นางว่า สามีกับบุตรถูกทหารเหล่านั้นตัดศีรษะเสียแล้ว นางทราบเรื่องนั้นแล้ว ไม่พูดอะไรแก่ใครๆ เก็บหนังสือไว้ในชายพก คงอังคาสพระภิกษุอยู่เรื่อยไป

ครั้งนั้นพวกคนใช้ของนาง ถวายภัตตาหารแด่ภิกษุแล้ว ยกถาดเนยใสมา ก็พลาดทำถาดแตกต่อหน้าพระเถระทั้งหลาย พระธรรมเสนาบดีกล่าวว่า อุบาสิกา สิ่งที่มีความแตกเป็นธรรมดา แตกไปแล้วไม่ต้องเสียใจ นางนำหนังสือออกมาจากชายพก กราบเรียนว่า คนนำหนังสือนี้มาให้ดิฉัน พ่อกับลูก ๓๒ คนถูกตัดศีรษะเสียแล้ว ดิฉันแม้จะได้ฟังเรื่องนี้ยังไม่เสียใจเลย ก็เมื่อถาดเนยใสนี้แตกไป จะต้องเสียใจทำไมเจ้าคะ.พระธรรมเสนาบดีกล่าวคำมีอาทิว่า (ชีวิต มรณ) ไม่มีนิมิต ไม่มีใครรู้ แสดงธรรมแล้วลุกจากอาสนะไปพระวิหาร

ฝ่ายนางให้เรียกลูกสะใภ้ ๓๒ นางมาสั่งสอนว่า สามีของพวกเธอปราศจากความผิด ต่างได้รับผลแห่งกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนของตน พวกเธออย่าเศร้าโศกเลย อย่ากระทำใจประทุษร้ายในพระราชาเลย

จารบุรุษของพระราชาฟังคำนั้น พากันกราบทูลความที่คนเหล่านั้น หาโทษมิได้แก่พระราชา พระราชาทรงสลดพระทัยเสด็จไปสู่ที่อยู่ของนาง ทรงขอขมาโทษกะนางมัลลิกา และสะใภ้ของนาง นางมัลลิกาจึงขอพาเหล่าลูกสะใภ้ ๓๒ คน กลับไปยังตระกูลของตน ณ กุสินารานคร

ฝ่ายพระราชาก็พระราชทานตำแหน่งเสนาบดีแก่หลานของท่านพันธุละเสนาบดี ชื่อ ฑีฆการายนะ ซึ่งเป็นผู้ที่เห็นว่า พระราชาองค์นี้ฆ่าลุงของตนเสียโดยหาความผิดมิได้ ก็คอยหาช่องแก้แค้นแก่พระราชาอยู่เรื่อย

พระราชาตั้งแต่รับสั่งให้ฆ่าท่านพันธุละผู้ปราศจากความผิดแล้ว ก็ทรงมีแต่ความเร่าร้อนพระหฤทัย มิทรงได้รับความชื่นใจ ไม่ทรงได้ความสุขในราชสมบัติเลย

ครั้งนั้นพระศาสดาประทับอยู่ในนิคมที่ชื่อว่าเวตตนุปปันนกุละ พระราชาได้เสด็จไป ณ นิคมนั้น ทรงตั้งค่ายพักไม่ไกลพระอาราม แล้วเสด็จไปสู่พระวิหารพร้อมด้วยราชบริพารเป็นอันมาก เพราะทรงพระดำริจะถวายบังคมพระศาสดา จึงประทานเบญจราชกกุธภัณฑ์อันเป็นเครื่องหมายแห่งกษัตริย์ไว้แก่ทีฆการายนะ เสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎีลำพังพระองค์เดียวเท่านั้น

ครั้นพระองค์เสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎี ทีฆการายนะจึงมอบราชกกุธภัณฑ์เหล่านั้นให้กับวิฑูฑภะกุมาร วิฑูฑภะกุมารจึงรับเอาเครื่องราชกกุธภัณฑ์นั้นมาประดับแล้วตั้งตัวเป็นพระราชา ทิ้งม้าไว้ตัวหนึ่ง หญิงที่จะปรนนิบัติผู้หนึ่ง สำหรับพระเจ้าปเสนทิโกศล แล้วก็พาไพรพลทั้งหมดกลับไปสู่พระนครสาวัตถี

ฝ่ายพระราชาเมื่อทรงตรัสปิยกถากับพระศาสดาแล้วเสด็จออกไม่ทรงเห็นกองทหาร ตรัสถามหญิงนั้นทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว ทรงดำริว่า เราต้องไปชวนหลานเรามาจับวิฑูฑภะให้ได้ จึงเสด็จไปสู่พระนครราชคฤห์ ถึงเวลาค่ำมืด ประตูเขาปิดหมดแล้ว ไม่ทรงสามารถจะเข้าสู่พระนครได้ ทรงบรรทมในศาลาหลังนั้น ทรงกรากกรำด้วยลมและแดด ตอนกลางคืนเลยสวรรคตในศาลานั้นเอง ครั้นรุ่งสว่างแล้วฝูงคนฟังเสียงคร่ำครวญของหญิงนั้น ผู้พร่ำรำพันอยู่ว่า โอ้ พระทูลกระหม่อมจอมนรชนโกศลรัฐ บัดนี้ข้าพระองค์ไร้ที่พึ่งเสียแล้ว จึงพากันกราบทูลแด่พระราชาแห่งนครราชคฤห์ พระราชานั้นตรัสสั่งให้กระทำสรีรกิจของพระมาตุลาธิราช ด้วยสักการะอย่างใหญ่หลวง

ฝ่ายเจ้าวิฑูฑภะเมื่อได้ราชสมบัติ ก็ระลึกถึงความอาฆาตที่มีต่อพวกเจ้าศากยะ ดำริว่า กูต้องฆ่าเจ้าศากยะให้ตายให้หมดเลย จึงเสด็จยกทัพไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ด้วยแสนยานุภาพอันใหญ่โต

วันนั้นพระศาสดาทรงตรวจดูโลกในเวลาใกล้รุ่ง ทอดพระเนตรเห็นความพินาศของหมู่พระญาติ ทรงพระดำริว่า ควรจะกระทำการสงเคราะห์ญาติไว้ ทรงโปรดสัตว์ในตอนเช้า เสด็จกลับจากบิณฑบาตแล้ว ทรงสำเร็จสีหไสยาในพระคันธกุฎีเวลาเย็นเสด็จไปทางอากาศ ประทับนั่ง ณ โคนไม้อันมีเงาห่างต้นหนึ่ง ใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ ณ ที่ไม่ไกลจากตรงนั้น ในรัชสีมาแห่งเจ้าวิฑูฑภะมีต้นไทรใหญ่เงาร่มชิด

เจ้าวิฑูฑภะเห็นพระศาสดาเข้าไปเฝ้าถวายบังคมแล้ว กราบทูลว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเวลาร้อนเห็นปานนี้ เหตุไรพระองค์จึงทรงประทับนั่ง ณ โคนต้นไม้อันมีเงาห่างต้นนี้ เชิญพระองค์ประทับนั่ง ณ โคนต้นไม้มีเงาร่มชิดต้นหนึ่งเถิด พระเจ้าข้า

ครั้นมีพระดำรัสว่า ช่างเถิดมหาบพิตร ธรรมดาว่าร่มเงาของหมู่ญาติเย็นสบาย

เจ้าวิฑูฑภะได้ฟังพระดำรัสดังนั้นก็ดำริว่า พระศาสดาคงเสด็จมาเพื่อป้องกันหมู่ญาติไว้

จึงถวายบังคมพระศาสดา เสด็จกลับคืนสู่พระนครสาวัตถีทันที แม้พระศาสดาก็เสด็จเหาะไปสู่พระวิหารเชตวันดุจกัน

ต่อมาพระราชาทรงหวลระลึกถึงโทษของหมู่ศากยะขึ้นมาอีก ก็ยกพลออกแม้ครั้งที่ ๒ คงพบพระศาสดาตรงนั้นเหมือนกันเสด็จกลับเสียอีก แม้ในวาระที่ ๓ ทรงยกพลออก คงพบพระศาสดาตรงนั้นนั่นแหละต้องกลับ.

แต่ในวาระที่ ๔ เมื่อท้าวเธอยกพลออกไป พระศาสดาทรงตรวจดูบูรพกรรมของหมู่ศากยะ ทรงทราบความที่กรรมอันเป็นบาป คือการโปรยยาพิษใส่ในแม่น้ำของศากยะเหล่านั้น นั้นเป็นกรรมที่จะป้องกันมิได้ ไม่เสด็จไปในวาระที่ ๔


๐ พระเจ้าวิฑูฑภะฆ่าพวกศากยะ

พระเจ้าวิฑูฑภะรับสั่งให้ฆ่าเจ้าศากยะทั้งหมด ไม่เว้นทารกแม้ยังดื่มนม ทำแม่น้ำให้กลายเป็นสีแดงด้วย รับสั่งให้ล้างแผ่นกระดานด้วยโลหิตในลำคอของเจ้าศากยะเหล่านั้น.

ศากยวงศ์ก็สูญสิ้นลงด้วยน้ำมือของพระเจ้าวิฑูฑภะอย่างนี้.พระเจ้าวิฑูฑภะนั้น รับสั่งให้จับพระเจ้ามหานามผู้เป็นพระอัยกาไว้ แล้วจึงยกทัพเสด็จกลับพระนคร พอตกค่ำก็ทรงแวะพักทัพระหว่างทาง รุ่งเช้าในในเวลาเสวยกระยาหารเช้า ทรงมีรับสั่งให้เรียกพระเจ้าตามา แล้วมีพระดำรัสว่า “เราจักเสวยร่วมกัน”


๐ มานะกษัตริย์

แต่วิสัยกษัตริย์ทั้งหลาย ถึงจะสละชีวิต ก็ไม่ยอมเสวยร่วมกับบุตรนางทาสี เพราะฉะนั้น ท้าวมหานามทอดพระเนตรเห็นสระๆ หนึ่งจึงตรัสว่า “ร่างกายเราสกปรก พ่อ เราจักอาบน้ำ”

พระเจ้าวิฑูฑภะตรัสว่า “ดีละ พระเจ้าตา เชิญพระเจ้าตาอาบเถิด” ท้าวมหานามทรงดำริว่า “ถ้าเราไม่บริโภคร่วมสำรับเดียวกัน พระเจ้าวิฑูฑภะนี้ต้องฆ่าเราเป็นแน่ สู้เราตายเองเสียประเสริฐกว่าที่จะให้เขาฆ่า” ดังนี้แล้ว จึงทรงสยายผมขอดให้เป็นปมที่ปลายผมนั้น สอดหัวแม่เท้าเข้าไปในผม ดำลงไปในน้ำ

ด้วยเดชแห่งคุณของท้าวมหานามนั้น นาคภพก็แสดงอาการร้อน.พระยานาคใคร่ครวญดูว่เกิดเรื่องอะไรกันขึ้นหนอ ? เมื่อทราบเรื่องจึงมาสู่ปรากฏตัว ณ ที่ท้าวมหานามนั้นลงสรงอยู่ แล้วพญานาคนั้นก็ให้ท้าวมหานามประทับบนพังพาน แล้วเชิญเสด็จเข้าไปสู่นาคภพ ท้าวมหานามนั้นอยู่ในนาคภพนั้นนั่นแล สิ้น ๑๒ ปี

ฝ่ายพระเจ้าวิฑูฑภะประทับนั่งคอยอยู่เป็นเวลานาน ครั้นเห็นว่าท้าวมหานามนั้นชักช้าอยู่ จึงรับสั่งให้ค้นในสระ ตรวจดูก็ไม่พบจึงยกทัพเสด็จต่อไป


๐ พระเจ้าวิฑูฑภะถูกน้ำท่วมสวรรคต

ครั้นเมื่อพระเจ้าวิฑูฑภะนั้น เสด็จถึงแม่น้ำอจิรวดีในเวลาราตรีจึงมีรับสั่งให้ตั้งค่ายพักแรม อยู่ที่หาดทรายริมแม่น้ำใหญ่นั้น ในคืนนั้นเอง คนบางพวกที่กุศลกรรมส่งผล ก็ทำให้เกิดเป็นฝูงมดเกิดขึ้นในบริเวณที่ตนนอนอยู่ จึงลุกหนีขึ้นไปนอนอยู่บนพื้นดินริมฝั่งเหนือหาดทราย

คืนนั้นเอง มหาเมฆตั้งทะมึนขึ้นทั้ง ๔ ทิศขึ้น เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก บังเกิดเป็นน้ำป่าหลากลงมาตามลำน้ำอจิรวดี กระแสน้ำได้ซัดเอาพระเจ้าวิฑูฑภะพร้อมด้วยกองทัพของพระองค์ตายไปจนหมด เว้นไว้แต่ผู้ที่ย้ายขึ้นไปนอนอยู่บนฝั่งเท่านั้น


๐ พวกเจ้าศากยะตายสมควรแก่บุรพกรรม

พระศาสดาทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ความตายอย่างนี้ ไม่สมควรแก่เจ้าศากยะทั้งหลายในลักษณะนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้นความตายที่พวกเจ้าศากยะนั่นได้แล้ว ก็ควรแก่กรรมที่เขาทำไว้ในปางก่อน”

พวกพระภิกษุจึงทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เจ้าศากยะทั้งหลายนั่น ได้กระทำกรรมอะไรไว้ในปางก่อน พระเจ้าข้า ?”

พระศาสดา “ในปางก่อน พวกเจ้าศากยะนั่น ร่วมกันโปรยยาพิษในแม่น้ำ”


๐ เกิดร่วมสมัยกับพระโพธิสัตว์

ท่านได้เกิดร่วมชาติกับพระโพธิสัตว์เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพญาวานร โดยพระเจ้ามหานามะได้เกิดเป็นเสนกะหลานพญาวานรในสมัยนั้น ดังที่ปรากฎในตินทุกชาดก



.............................................................

คัดลอกมาจาก ::
http://www.dharma-gateway.com/
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่หัวข้อนี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไข หรือตอบได้
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง