Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 การปฏิบัติอานาปานสติ ๒ แบบ อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
montasavi
บัวพ้นดิน
บัวพ้นดิน


เข้าร่วม: 17 มิ.ย. 2007
ตอบ: 84

ตอบตอบเมื่อ: 27 ม.ค. 2008, 12:33 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

การเจริญอานาปานสติภาวนาเพื่อบรรลุ มรรค ผล นิพพาน มีรูปแบบการเจริญภาวนาที่ปรากฏในคัมภีร์บาลี ๒ แบบ คือ ๑) แบบมหาสติปัฏฐานสูตร ๒) แบบอานาปานัสสติสูตร



การเจริญอานาปานสติภาวนาในพระสูตรทั้ง ๒ นี้ มีลักษณะแตกต่างกัน ดังนี้

การเจริญมหาสติปัฏฐาน๔ โดยมีลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์หลัก มีวิธีการดังนี้
๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การใช้สติกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก คือ พิจารณาลมหายใจเข้าออก โดยการติดตามพิจารณาลักษณะของการหายใจเข้าออกอย่างใกล้ชิด คือ เมื่อหายใจเข้าหรือออกสั้นยาวอย่างไร ก็ให้รู้อย่างแน่ชัด เปรียบเหมือนนายช่างกลึง หรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ชำนาญ เมื่อเขาชักเชือกกลึงยาว ก็รู้ชัดว่าเราชักเชือกกลึงยาว เมื่อชักเชือกกลึงสั้น ก็รู้ชัดว่าเราชักเชือกกลึงสั้น

อนึ่ง การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานั้น ท่านรวมไปถึงการกำหนดอิริยาบถใหญ่และอิริยาบถย่อย นอกจากการกำหนดอาการของลมหายใจเข้าออกแล้ว ผู้ปฏิบัติยังจะต้องกำหนดรู้อาการที่ปรากฏทั้งหลายอื่นอีกด้วย เช่น อาการเคลื่อนไหวของอิริยาบถต่าง ๆ มี ยืน เดิน นั่ง นอน การแลดู การเหลียวดู การคู้อวัยวะ ฯลฯ ในทุกขณะที่เคลื่อนไหว การทำกิจประจำวันต่าง ๆ ก็ต้องกำหนดรู้อยู่ทุกขณะเช่นเดียวกัน เช่น การกิน การดื่ม การเคี้ยว การนุ่งห่ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การดู การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การสัมผัส

ส่วนอาการที่ปรากฏทางนามธรรมอันได้แก่ เวทนา จิต และธรรมนั้น ให้กำหนดได้ทันทีที่สภาวะเหล่านี้ปรากฏแก่จิตชัดเจนกว่าอาการของลมหายใจเข้าออก

อนึ่ง ขอให้สังเกตว่า การเจริญอานาปานสติตามนัยสติปัฏฐานนี้ ผู้ปฏิบัติกำหนดรู้อาการของเวทนา จิต และธรรมได้ในทันทีที่อารมณ์นั้นนั้นปรากฏชัดเจนกว่าอาการของลมหายใจ โดยไม่ต้องมุ่งเพ่งแต่ลมหายใจอย่างเดียว(จนกว่าจะได้ฌานเสียก่อน จึงจะต่อด้วยการกำหนดรู้เวทนา จิต ธรรมที่ปรากฏในองค์ฌานเพียงได้เท่านั้น ซึ่งการเจริญอานาปานสติด้วยการเพ่งลมเพียงอย่างเดียวนั้นเป็นแบบของการเจริญอานาปานสติภาวนาที่ปรากฏในอานาปานสติสูตรโดยตรง)

๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การใช้สติกำหนดรู้อาการของเวทนา คือ ขณะที่กำลังติดตามพิจารณาลมหายใจเข้าออกอย่างใกล้ชิดอยู่นั้น ถ้าเกิดมีเวทนาที่ปรากฏชัดเจนเข้าแทรกซ้อน ก็ให้กำหนดรู้ในเวทนานั้น ตามกำหนดดูอาการของสุขหรือทุกข์ที่กำลังเกิดขึ้นว่า อาการของสุขหรือทุกข์เป็นอย่างไร หรือเมื่อรู้สึกว่าไม่สุขไม่ทุกข์ก็รู้ชัดแก่ใจ หรือสุขหรือทุกข์เกิดขึ้นจากอะไรเป็นมูลเหตุ เช่น เกิดจากเห็นรูป หรือได้ยินเสียง หรือได้กลิ่น หรือได้ลิ้มรส หรือได้สัมผัส ก็รู้ชัดแจ้ง หรือเมื่อรู้สึกเจ็บหรือปวด หรือเมื่อย หรือเสียใจ แค้นใจ อิ่มใจ ฯลฯ ก็มีสติรู้กำหนดรู้ชัดว่า กำลังรู้สึกเช่นนั้นอยู่ เมื่อเวทนานั้น ๆ ดับไปด้วยอำนาจการตามกำหนดรู้นั้นแล้ว จึงกลับไปกำหนดกายานุปัสสนาอย่างเดิม

๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การใช้สติกำหนดรู้อาการที่ปรากฏทางวิญญาณขันธ์ คือ ขณะที่กำลังติดตามพิจารณาลมหายใจเข้าออกอย่างใกล้ชิดอยู่นั้น ถ้าเกิดจิตมีอาการแตกต่างไปจากปกติปรากฏอย่างชัดแก่จิตเข้ามาแทรกซ้อน ก็ให้กำหนดรู้อารมณ์นั้นในทันทีว่า มีอารมณ์อย่างไร เช่น เมื่อจิตมีราคะ โทสะ โมหะ ความหดหู่ ความฟุ้งซ่าน ความสงบ ความไม่สงบ ฯลฯ ก็รู้ชัดว่า จิตมีอารมณ์อย่างนั้น ๆ ตามความเป็นจริง เมื่อจิตนั้น ๆ ดับไปด้วยอำนาจการตามกำหนดรู้นั้นแล้ว จึงกลับไปกำหนดกายานุปัสสนาอย่างเดิม

๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การใช้สติกำหนดรู้อาการของความคิดนึก และความจำได้หมายรู้ กล่าวคือ ขณะที่กำลังติดตามพิจารณาลมหายใจเข้าออกอย่างใกล้ชิดอยู่นั้น ถ้าเกิดอาการคิดอะไรอยู่ก็ต้องกำหนดรู้อาการคิดว่า “กำลังคิดอยู่” หรือเมื่อเกิดความพอใจรักใคร่ ความพยาบาท ความหดหู่ท้อถอย ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ หรือความลังเลสงสัย ( ซึ่งเรียกว่า นิวรณ์ ) ก็ต้องกำหนดรู้ ได้ลิ้มรสหรือได้ถูกต้องสิ่งของ ก็ต้องกำหนดรู้ทันที หรือเมื่อเกิดความไม่พอใจ ความละอาย ความเมตตา ความคิด ความเห็น ความโลภ ความโกรธ ความริษยา ฯลฯ ก็กำหนดรู้เช่นเดียวกันตามความเป็นจริง เมื่ออาการของความคิดนึก และความจำได้หมายรู้นั้น ๆ ดับไปด้วยอำนาจการตามกำหนดรู้นั้นแล้ว จึงกลับไปกำหนดกายานุปัสสนาอย่างเดิม

วิธีการตามกำหนด ท่านให้กำหนดรู้อย่างจดจ่อ ต่อเนื่อง จนเห็นไปถึงเบญจขันธ์ คือรู้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นอย่างนี้ ๆ เหตุให้เกิดเบญจขันธ์เป็นอย่างนี้ ๆ และความสลายของเบญจขันธ์เป็นอย่างนี้ ๆ และให้ติดตามกำหนดรู้อาการที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามลำดับ ตลอดจนผลที่เกิดจากอาการกระทบนั้นว่า มีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรเกิดขึ้นมา

เมื่อจะกล่าวโดยสรุปแล้ว สติปัฏฐานนี้มิใช่อะไรอื่นนอกจากการใช้สติกำหนดรู้อยู่ทุกขณะว่า ในขณะหนึ่ง ๆ นั้น เรากำลังมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร หรือกำลังทำอะไรอยู่ ทั้งนี้ กำหนดกันเฉพาะในปัจจุบันเท่านั้น ไม่พิจารณาย้อนไปถึงการกระทำหรืออิริยาบถหรือความรู้สึกนึกคิดในอดีตที่ล่วงไปแล้ว ไม่ว่าจะช้านานหรือเร็วเพียงใด แม้ในวินาทีที่ล่วงไปแล้วก็ไม่ให้คำนึงถึง และไม่ให้พิจารณาล่วงหน้าถึงการกระทำ หรืออิริยาบถ หรือความรู้สึกนึกคิดในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ตามปกติมนุษย์เราไม่เคยได้ใช้สติกำหนดถึงสิ่งที่กำลังเกิดอยู่ในปัจจุบันมาก่อน แต่ชอบกำหนดสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่อาจจะเกิดขึ้น คือพิจารณาแต่อดีตและอนาคต แต่ในการชำระใจให้บริสุทธิ์นี้พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ใช้สติกำหนดถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น เพราะฉะนั้น ทฤษฎีนี้จึงได้ชื่อว่า ปัจจุบันธรรม

ในขณะกำลังเจริญสติปัฏฐาน การมัวไปคำนึง หรือเผลอคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้เราลืมนึกถึงว่า เรากำลังรู้สึกนึกคิดอะไรอยู่ หรือกำลังทำอะไรอยู่ จะส่งผลทำให้ใจเลื่อนลอยไปตามอารมณ์ที่คิด เช่น เมื่อเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความคิดของเราไม่ได้หยุดอยู่ตรงที่เห็นนั้น แต่เราจะคิดต่อไปว่า สวยหรือไม่สวย เมื่อเห็นว่าสวยก็เกิดความชอบใจขึ้น แล้วก็ทำให้อยากได้ และคิดวิธีที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งนั้น ถ้าไม่ได้ก็เกิดทุกข์ ถ้าเห็นว่าไม่สวยก็เกิดอารมณ์ไม่ชอบใจขึ้น ทำให้เป็นทุกข์เช่นเดียวกัน เพราะเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบันธรรม คือเมื่อเห็นก็หยุดอยู่เพียงนี้ คือ เพียงสักแต่ว่าเห็น ไม่ให้พิจารณาต่อไปว่า สวยหรือไม่สวย ดีหรือไม่ดี จิตจึงจะไม่เลื่อนลอยไปตามอารมณ์ มีความแน่วแน่ ไม่หวั่นไหว ซึ่งจะทำให้จิตมีสมาธิเข้มแข็งแรงกล้าขึ้นเป็นลำดับ การที่มีจิตแน่วแน่เช่นนี้เรียกว่า ได้ถึงซึ่ง จิตตวิสุทธิ คือ มีจิตหมดจดโดยลำดับ

ส่วนการเจริญอานาปานสติแบบอานาปานสติสูตร เป็นการเจริญภาวนาแบบตามลำดับขั้น มีทั้งหมด ๑๖ ขั้น คือ ผู้ปฏิบัติต้องเจริญอานาปานสติ ๔ ขั้นแรกให้ชำนาญจนเกิดเป็นวสีเสียก่อน จนเกิดเป็นสมาธิระดับอัปปนาขั้นต้นคือปฐมฌานเป็นอย่างน้อย อันประกอบด้วยองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เพราะการเจริญขั้นต่อไป คือขั้นที่ ๕ ท่านให้กำหนดรู้ปีติเป็นอารมณ์ มีพระบาลีว่า
ปีติปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ. ปีติปฏิสํเวที ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ.
เธอย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้ชัดปีติ ขณะหายใจออก เธอย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้ชัดปีติ ขณะหายใจเข้า

ฉะนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเจริญอานาปานสติขั้นที่ ๕ได้ ถ้ายังไม่ได้เจริญอานาปานสติ ๔ ขั้นแรกให้ได้ฌานก่อน อานาปานสติ ๔ ขึ้นแรกจึงเป็นการเจริญภาวนาแบบสมถล้วน ส่วนขั้นต่อไป จนถึงขึ้นที่ ๑๒ เป็นการเจริญภาวนาผสมกันระว่างสมถและวิปัสสนา อีก ๔ ขึ้นสุดท้ายเป็นการเจริญภาวนาแบบวิปัสสนาล้วน ส่วนการเจริญอานาปานสติแบบมหาสติปัฏฐานสูตร เราสามารถปฏิบัติทั้งสมถและวิปัสสนาควบควบคู่กันได้เลยตั้งแต่ขึ้นแรก และผู้ปฏิบัติสามารถเข้าถึงมรรค ผล นิพพานได้โดยการเจริญอานาปานสติเพียง ๔ ขึ้นแรกเท่านั้น แต่มีลักษณะการกำหนดอารมณ์ที่แตกต่างกัน

ลักษณะการกำหนดรู้อารมณ์ที่แตกต่างกันของพระสูตรทั้ง ๒ คือ การเจริญอานาปานสติตามนัยอานาปานสตติสูตร ใน ๔ ขั้นแรก มีลักษณะการเจริญภาวนาแบบเพ่งอารมณ์(หนักไปในทางสติและสมาธิ) คือมีสติเพ่งกำหนดรู้อยู่แต่ลมหายใจเท่านั้น โดยไม่ต้องใส่ใจต่ออารมณ์อื่นใดทั้งสิ้นจนจิตแน่วแน่ มีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว เป็นสมาธิจิตถึงขั้นอัปปนาสมาธิ เมื่อถึงขึ้นนี้จะเจริญฌานต่อไปจนถึงจตุตถฌาน(ปัญจมฌาน) หรือสมาบัติ ๘ เลยก็ได้ แล้วกลับมากำหนดรู้ที่องค์ฌานด้วยการตามเห็นพระไตรลักษณ์ของ ปีติ สุข เป็นต้น กล่าวคือ การเจริญภาวนาในอานาปานัสสติสูตรนี้เป็นการเจริญภาวนาแบบสมถปุพพังคมวิปัสสนา สมถภาวนาเป็นพื้นฐานที่จะทำให้จิตเป็นสมาธิ อันจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาปัญญา มีหลักการในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย ว่า
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหมด เพราะอาศัยปฐมฌานก็ได้ อาศัยทุติยฌานก็ได้ ตติยฌานก็ได้ จตุตถฌานก็ได้ อากาสานัญจายตนะก็ได้ วิญญาณัญจาย-ตนะก็ได้ อากิญจัญญายตนะก็ได้ เนวสัญญานาสัญญายตนะก็ได้ (สัญญาเวทยิตนิโรธ ก็ได้)

มหามาลุงกโยวาทสูตร อัฏฐกนาครสูตร และทสมสูตร บรรยายวิธีใช้ฌานสมาบัติแต่ละขั้น ๆ ในการพิจารณาให้เกิดปัญญารู้แจ้งสังขารตาความเป็นจริง (คือที่เรียกว่าเจริญวิปัสสนา) ดังตัวอย่างข้อความต่อไปในฌานสูตรข้างต้นนั้นว่า “ข้อที่เรากล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะอาศัยปฐมฌานก็ได้ดังนี้ เราอาศัยอะไรกล่าว? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้..บรรลุปฐมฌาน เธอพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลายคือ สิ่งที่เป็นรูป สิ่งที่เป็นเวทนา สิ่งที่เป็นสัญญา สิ่งที่เป็นสังขาร สิ่งที่เป็นวิญญาณอันมีอยู่ในปฐมฌานนั้นโดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์...โดยความเป็นของสูญ โดยความเป็นอนัตตา, เธอยังจิตให้ยั้งหยุดจากธรรมเหล่านั้น ครั้นแล้วเธอย่อมน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุว่านั่นสงบ นั่นประณีต กล่าวคือ..นิพพาน เธอดำรงอยู่ในปฐมฌานนั้น ย่อมบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้ายังไม่บรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะ เพราะยังมีธรรมราคะ...ก็จะเป็นโอปปาติกะ เป็นผู้ปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา (คือเป็นพระอนาคามี)

ต่อจากนี้ บรรยายการอาศัยทุติยฌาน ตติยฌาน ฯลฯ เพื่อเจริญวิปัสสนาจนบรรลุ อาสวักขัยอย่างนี้เรื่อยไปตามลำดับทีละขั้น ๆ จนถึงอากิญจัญญายตนฌาน

ในมหามาลุงกโยวาทสูตร แสดงรายละเอียดน้อยกว่า แต่ก็กล่าวถึงการพิจารณาขันธ์ ๕ ที่มีในฌานแต่ละขั้นโดยไตรลักษณ์ จนบรรลุอาสวักขัยอย่างเดียวกันนี้ ตลอดขึ้นไปถึงอากิญจัญญายตนฌานเช่นเดียวกัน ส่วนในอัฏฐกนาครสูตรและทสมสูตร มีข้อแตกต่างเล็กน้อยคือ ข้อความที่บรรยายการพิจารณาแปลกออกไปว่า “ภิกษุบรรลุปฐมฌาน เธอพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ปฐมฌานนี้เป็นของปรุงแต่ง เกิดจากความคิดสรรค์สร้าง เธอรู้ชัด(รู้เท่าทัน)ว่าสิ่งใดก็ตามเป็นของปรุงแต่ง เกิดจากความคิดสรรค์สร้าง สิ่งนั้นเป็นของไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรม เธอดำรงอยู่ในปฐมฌานนั้น ย่อมบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย...” และเพิ่มเมตตาเจโตวิมุตติ กรุณาเจโตวิมุตติ มุทิตาเจโตวิมุตติ อุเบกขาเจโตวิมุตติ เข้ามาแทรกระหว่างรูปฌาน กับอรูปฌานอีก ทำให้มีฌานสมาบัติสำหรับพิจารณาเพิ่มขึ้นอีก ๔ ขั้น อย่างไรก็ตามรวมความแล้ว พระสูตรทั้งสี่นี้ มีสาระสำคัญอย่างเดียวกัน ผิดแผกกันบ้างก็เพียงในส่วนรายละเอียดและวิธีบรรยายความเท่านั้น

พระสูตรทั้งสี่แสดงการอาศัยฌานเจริญวิปัสสนาทำอาสวักขัยตามลำดับแต่ปฐมฌานถึงอากิญจัญญายตนะแล้วก็หยุดลงทั้งหมด มีพิเศษแต่ในฌานสูตรซึ่งมีคำสรุปว่า “สมาบัติที่ประกอบด้วยสัญญามีแค่ใด การตรัสรู้หรือการบรรลุอรหัตตผลก็มีแค่นั้น” ข้อนี้ หมายความว่าในฌานตั้งแต่อากิญจัญญายตนะลงไป มีสัญญา (รวมทั้งขันธ์อื่นๆ ที่ประกอบร่วม) สำหรับให้กำหนดพิจารณาได้ จึงทำวิปัสสนาให้บรรลุอาสวักขัยได้ในฌานเหล่านั้น ส่วนเนวสัญญานาสัญญายตนะ มีสัญญาละเอียดเกินไปจนเรียกว่าเนวสัญญานาสัญญา คือ จะว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ ไม่ใช่ จึงไม่อยู่ในภาวะที่จะใช้งานในการกำหนดพิจารณาได้ ครั้นถึงสัญญาเวทยิตนิโรธก็ดับสัญญาและเวทนาเสียเลย เป็นอันไม่ต้องกล่าวถึงดังนั้นสมาบัติทั้งสองนี้จึงไม่เรียกว่าสัญญาสมาบัติ

เมื่อเป็นเช่นนี้ จะอาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนะและสัญญาเวทยิตนิโรธบรรลุถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะได้อย่างไร ตอบว่า สำหรับสมาบัติสูงสุดสองระดับนี้ ต้องออกมาก่อนจึงใช้ ปัญญาพิจารณาสังขารให้บรรลุอาสวักขัยได้ ข้อแรกคือเนวสัญญานาสัญญายตนะ ปรากฏในอนุปทสูตรดังนี้ “พระสารีบุตรก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะอยู่ เธอมีสติออกจากสมาบัตินั้น ครั้นออกจากสมาบัตินั้นอย่างมีสติแล้ว ธรรมเหล่าใดล่วงไปแล้ว ดับแล้ว แปรปรวนไปแล้ว เธอพิจารณาเห็นธรรมเหล่านั้นว่า ธรรมทั้งหลายดังได้ทราบมาก็เป็นอย่างนี้เอง ไม่มีแล้วก็มี มีแล้วก็ดับร่วงไป”

ส่วนข้อสุดท้าย คือสัญญาเวทยิตนิโรธ มีคำอธิบายทำนองเดียวกันคือ เข้าสมาบัตินี้ ครั้นออกแล้วจึงพิจารณารูปธรรมทั้งหลายที่เป็นไปในสมาบัติ หรือพิจารณาธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นไปในเนวสัญญานาสัญญายตนะ ที่ผ่านมาก่อนแล้ว (หรือจะพิจารณาสังขารธรรมทั่วไป ดังจะกล่าวข้างหน้าก็ได้)ให้ เข้าใจสภาวะที่เป็นจริง ด้วยปัญญาจนถึงความสิ้นอาสวะ

สำหรับฌานสมาบัติที่ต่ำลงมา คือตั้งแต่อากิญจัญญายตนะถึงปฐมฌาน จะออกจากฌานสมาบัตินั้น ๆ ก่อนแล้วจึงพิจารณาสังขารธรรม คือขันธ์ ๕ หรือองค์ฌานเป็นต้นที่มีในฌานสมาบัตินั้น ๆ ทำนองเดียวกับสมาบัติสูงสุดสองอย่างหลังนี้ก็ได้ แต่เท่าที่ยกหลักฐานข้างต้นนี้มาแสดงก็เพื่อให้เห็นข้อพิเศษว่า ในฌานสมาบัติเหล่านั้นสามารถเจริญวิปัสสนาภายในโดยยังไม่ออกมาก่อนก็ได้ และจะบรรลุอรหัตต์โดยใช้ฌานระดับไหนก็ได้ แต่สมาบัติสูงสุดสองอย่างคือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ และสัญญาเวทยิตนิโรธ (นิโรธสมาบัติ) ต้องออกมาก่อน จึงเจริญวิปัสสนาได้

ส่วนลักษณะการเจริญอานาปานสติตามนัยมหาสติปัฏฐานสูตร เป็นการเจริญภาวนาแบบสุทธวิปัสสนา คือเจริญวิปัสสนาล้วน ๆ หมายถึง เริ่มปฏิบัติด้วยเจริญวิปัสสนาทีเดียวโดยไม่เคยฝึกหัดเจริญสมาธิใด ๆ มาก่อนเลย แต่เมื่อเจริญวิปัสสนาคือใช้ปัญญาพิจารณาความจริงเกี่ยวกับสิ่งทั้งหลายมีลมหายใจเป็นต้นอย่างถูกทางแล้ว จิตก็จะสงบขึ้นเกิดมีสมาธิตามมาเอง

คัมภีร์อังคุตตรนากยกล่าวว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อส่งจิตไปยังอุปาทานขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณ เพื่อจะทดสอบดูว่า ‘ความยึดมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นอัตตายังมีอยู่หรือไม่ จิตของเธอย่อมไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่น้อมไปในสักกายะ แต่เมื่อมนสิการถึงความดับสักกายะ จิตของเธอจึงแล่นไป เลื่อมใส ตั้งอยู่น้อมไปในสักกายนิโรธ จิตนั้นของเธอชื่อว่าเป็นจิตดำเนินไปดีแล้ว เจริญดีแล้ว ตั้งอยู่ดีแล้ว หลุดพ้นดีแล้ว พรากออกดีแล้วจากสักกายะ เธอหลุดพ้นแล้วจากอาสวะ และความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นซึ่งเกิดขึ้นเพราะสักกายะเป็นปัจจัย เธอย่อมไม่เสวยเวทนานั้น นี้เรากล่าวว่าธาตุที่สลัดสักกายะ

ในตอนแรกสมาธิที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพียงขณิกสมาธิ คือสมาธิชั่วขณะ ซึ่งเป็นสมาธิอย่างน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเพื่อให้วิปัสสนาดำเนินต่อไปได้ ดังที่ท่านกล่าวว่า “ปราศจากขณิกสมาธิเสียแล้ว วิปัสสนาย่อมมีไม่ได้” เมื่อผู้เป็นวิปัสสนายานิกเจริญวิปัสสนาต่อ ๆ ไป สมาธิก็พลอยได้รับการฝึกอบรมไปด้วย ถึงตอนนี้อาจเจริญวิปัสสนาด้วยอุปจารสมาธิ (สมาธิจวนจะแน่วแน่หรือสมาธิจวนจะถึงฌาน) ก็ได้ จนใจที่สุดเมื่อถึงขณะที่บรรลุมรรคผล สมาธินั้นก็จะแน่วแน่สนิทเป็นอัปปนาสมาธิ อย่างน้อยถึงระดับปฐมฌาน เป็นอันสอดคล้องกับหลักที่แสดงไว้แล้วว่า ผู้บรรลุอริยภูมิจะต้องมีทั้งสมถะและวิปัสสนาครบทั้งสองทั่วกันทุกบุคคล


คัดลอกจากงานวิจัยคัมภีร์ ของ พระมหาประเสริฐ มนฺตเสวี
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Email
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง