Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ศึกษาให้รู้ของจริง (ก.เขาสวนหลวง) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ส.ค. 2006, 7:29 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ศึกษาให้รู้ของจริง
โดย ท่าน ก.เขาสวนหลวง

สำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง จ.ราชบุรี
๗ ตุลาคม ๒๕๑๕



วันนี้เป็นวันเปิดโอกาสให้ปรารภข้อปฏิบัติ เพื่อเป็นการพิจารณาตัวเอง ถ้าไม่พิจารณาให้รู้เรื่องจริงๆ แล้วมันมีเรื่องมาก เพราะมีแต่เรื่องยึดมั่นถือมั่นไปทั้งนั้น ส่วนการที่จะศึกษาให้รู้เรื่องทุกข์ หรือเรื่องเหตุเกิดทุกข์ที่มีประจำอยู่นี่เป็นของสำคัญควรพินิจพิจารณาให้รู้เรื่องจริงของตัวเองเสีย ถ้าไม่รู้เรื่องนี้แล้ว การเกิดมานี้มันจะมีแต่ความทุกข์ เรื่องที่จะรู้จักดับทุกข์นี่มันไม่รู้เพราะไม่ได้ศึกษากันนี่เอง

ทีนี้การปฏิบัติจึงเป็นการศึกษาเรื่องทุกข์โดยตรง แล้วก็รู้จักเหตุเกิดทุกข์ที่เป็นของคู่กันอยู่ เพราะถ้าไม่รู้จักเรื่องของทุกข์ มันก็ต้องทุกข์แล้วทุกข์อีก ถ้าหากว่ารู้จักทุกข์ มันก็ค้นหาเหตุได้ว่าทุกข์นี้มันมาจากอะไร เมื่อรู้จักเหตุให้เกิดทุกข์แล้วก็รู้จักดับเหตุได้ ถ้าดับเหตุได้ ความทุกข์ก็ดับไป คือว่ามันไม่ใช่เป็นทุกข์ของเรา มันจะเป็นแต่เพียงทุกข์ของสภาวะ ที่มันต้องมีขึ้นเป็นธรรมดาของรูปนามที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไปตามเรื่องตามราวของมัน ก็ต้องพิจารณาให้รู้ความจริงแล้วไม่ยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นตัวเราของเรา และรูปนามขันธ์ห้านี้มันเป็นเรือนร่างของทุกข์ หรือเป็นเรือนไฟไหม้ มันมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอมันไม่คงที่

ทั้งนี้เราจะต้องศึกษาและพิจารณาให้รู้ มันจะได้ไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวเราของเรา เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่เราจะต้องทำการศึกษาพิจารณาตัวเองให้มันรู้จริงๆ ถ้าเป็นการรู้ถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าเรื่องอะไรทั้งหมดมันจะไม่ยึดมั่นถือมั่นเลย ไม่ว่าใครก็สอบเอาเองได้ แม้ว่าเรื่องทุกข์โทษที่เกิดจากสัมผัสภายนอกก็ตาม เราจะต้องรู้สึกได้ด้วยตนเองทั้งนั้น เพราะว่าความจำผิดคิดผิดเห็นผิดเหล่านี้ มันทำให้เกิดการยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาซ้ำๆ ซากๆ แล้วก็ทุกข์แล้วทุกข์อีก

ฉะนั้นการศึกษาเรื่องทุกข์เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์นี้ มันเป็นการศึกษาเรื่องจริงทีเดียว โดยไม่ต้องไปดูอะไรที่ไหนอีกเลย ดูอยู่ในตัวเอง รู้อยู่ในตัวเองได้ ถ้าหากได้พินิจพิจารณาให้รู้แจ่มแจ้งแล้ว มันจะคืนคายถ่ายถอนความยึดมั่นถือมั่นให้คลายออกไปให้ได้ ทั้งจะเป็นการรู้สึกตัวเองได้ว่า ข้อปฏิบัติที่ได้มีการอบรมมาจะเป็นกี่เดือนกี่ปี หรือกี่พรรษาก็สุดแท้ ย่อมมีความสำคัญที่ได้รู้สึกตัวในเรื่องทุกข์เรื่องเหตุเกิดทุกข์นี้ มันมีขึ้นมากน้อยเพียงไร ถ้ายังไม่รู้เรื่องจริงก็ยังยึดมั่นถือมั่นอยู่ แต่ถ้าพิจารณาอยู่เนืองนิตย์แล้วจะต้องรู้ว่า เรื่องทุกข์หรือเรื่องเหตุเกิดทุกข์นี้มันเป็นของควบคู่กันอยู่เสมอไป

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ถ้าได้พิจารณาอยู่เนืองนิตย์แล้ว ความรู้นี่จะต้องรู้ขึ้นมาจนได้ เมื่อรู้แล้วมันจะได้คลายจากความยึดมั่นถือมั่นออกไป แม้ว่ารูปนามนี้มันจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นทุกข์ไปในลักษณะต่างๆ อย่างไรก็ตาม แต่ว่าตัวเจ้าของมันไม่มี เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น มันเป็นเรือนไฟไหม้ของเจ้าของความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนอยู่ เมื่อพิจารณาเห็นอยู่อย่างนี้แล้ว ความยึดมั่นถือมั่นมันคลายออกไปทีเดียว ถ้าหากว่ามันคลายออกไปได้ ความทุกข์ก็น้อย ถึงแม้ว่าจะยังไม่เด็ดขาดออกไปทีเดียวก็ตาม แต่มันทำให้คลายออกไปได้บ้าง เท่านี้ก็ดับทุกข์อยู่ในตัวเองได้ทุกขณะไปหมด ไม่ว่าจะมีทุกข์โทษอะไรเกิดขึ้นทางผัสสะ เช่น ตาเห็นรูป หูฟังเสียง เหล่านี้มันก็รู้อยู่ รู้ว่าสิ่งสัมผัสทั้งหลายนี้มันเป็นมายา จะดีชั่วอะไรก็เพียงแต่ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าไม่ไปยึดมั่นถือมั่นเอาจริงเอาจังกับมัน มันก็ไม่มีเรื่องอะไร

เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีการพิจารณาอ่านข้อเท็จจริง ภายในตัวของตัวเองอยู่ทุกอิริยาบถแล้ว จิตนี้มันจะไม่มีเรื่องยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาเลย แม้ว่าจะมีการทำประโยชน์อะไรบ้าง ก็ทำได้เท่าที่ควรจะทำ แต่ว่าตัวการของความยึดมั่นถือมั่นนั้น มันคลายออกไปแล้ว นี่มันเป็นเรื่องที่จะต้องอ่านตัวเองให้รู้ความจริงว่า การปฏิบัติที่ถูกต้องตามแนวทางของพระพุทธเจ้านั้นมันเป็นเรื่องเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นการรู้อย่างอื่น ถ้ารู้อย่างอื่นมากมายก่ายกองออกไปแล้ว นั่นแหละมันท่องเที่ยวอยู่ในเกลียวทุกข์ หรือว่าในเกลียวของสังขารปรุงไม่รู้จักจบจักสิ้น ทีนี้รู้แล้วมันก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นการปล่อยวางได้อยู่ในตัวเองทั้งหมด แล้วข้อปฏิบัติอย่างนี้มันทำให้ทุกข์น้อยลงเท่าไร ก็สอบดูได้ ไม่ว่าเรื่องสุขทุกข์ดีชั่วตัวตนอะไรทั้งหมด รู้แล้วมันก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น มันเป็นของชั่วคราว หรือเป็นของหลอกๆ แม้ว่าชีวิตนี้มันจะอยู่ไปได้เท่าไรก็สุดแท้ ไม่ต้องไปวิตกกังวลอะไร

แต่ข้อสำคัญก็คือว่า ให้ตามรู้ตามเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีตัวตน อยู่เรื่อยไปทีเดียว ไม่ว่าจะประจันหน้าอยู่กับเรื่องราวดีชั่วสุขทุกข์อะไรทั้งหมด ต้องรู้เห็นอยู่อย่างนี้ว่า มันเป็นของเปลี่ยนแปลงคือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ถ้าเป็นการรู้อยู่เห็นอยู่เฉพาะในเรื่องนี้แล้วในชีวิตประจำวันนี้มันจะหมดเรื่องหมดราวไปทุกทีทีเดียว เพราะไม่รู้ว่าจะไปเอาเรื่องกับมันทำไม ถ้าขืนไปเอาเรื่องกับมัน มันก็จะต้องมีเรื่องยึดมั่นถือมั่น หรือมีทุกข์เดือดร้อนขึ้นมาเปล่าๆ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปสนใจอะไรนัก เรื่องอดีตที่ผ่านมาแล้วก็กวาดทิ้งไปให้หมด ไม่ต้องไปเหลียวหลังหามันอีก แม้เรื่องอนาคตที่มันยังไม่ถึง ก็ไม่ต้องไปเอาเรื่องกับมันอีกเหมือนกัน

ทีนี้มันต้องดับปัจจุบันนี่ไม่ว่าสัญญาสังขารที่เกิดปรุงขึ้นมาเกิดๆ ดับๆ ปัจจุบันนี้ ก็ต้องปล่อยปัจจุบันนี้ และเรื่องอดีตอนาคตมันก็หมดเรื่องไปเอง เพระฉะนั้นถ้าจะดูตัวจริงกันโดยเฉพาะ คือว่ารู้ปัจจุบันเฉพาะหน้าเกิดดับ แล้วก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้ารู้อยู่อย่างนี้ได้ก็ไม่มีเรื่องอะไรมาก ฉะนั้นเราจะต้องดูตัวจริงของความรู้สึกนึกคิดที่มันเกิดดับเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ถ้าไม่รู้เท่าทันมัน มันทุกข์แล้วทุกข์อีกอยู่เท่าไร เช่นการจำการคิดนึกอะไรที่เป็นการแส่ส่ายของจิตสารพัดอย่าง นี่มันฝันเพ้อฝันเพลินเอามาเป็นเรื่องจริง หลอกตัวเองซ้ำๆ ซากๆ อยู่เท่าไร ทั้งๆ ที่มันก็ไม่มีอะไร มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป อยู่อย่างนี้เรื่อยทุกๆ อารมณ์ไปหมด แต่ว่ามันมองไม่เห็นความดับไปของอารมณ์ หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงทั้งหมด มันก็เลยไปยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา แม้ว่าเราจะเห็นความปรุงความคิดของจิตนี้มันสับสนวุ่นวายนัก จนกระทั่งอยากจะหยุดมันก็ไม่ยอมหยุด มันจะมีการปรุงการคิดอะไรสืบต่อเป็นน้ำไหลไปทีเดียว

เพราะฉะนั้นจึงต้องมีกรรมฐานเป็นเครื่องฝึก ถ้าไม่มีกรรมฐานเป็นเครื่องฝึกบ้างมันก็จะไม่มีการหยุด ส่วนกรรมฐานที่ฝึกนี้ ขณะที่มันจะปรุงจะคิดอะไรมากๆ มันก็ไม่สามารถกำหนดจดจ่ออยู่กับกรรมฐานได้ เช่นการกำหนดลมหายใจก็เหมือนกัน ถ้าเกิดฟุ้งซ่านขึ้นมามันไม่กำหนดจดจ่อ คือว่ามันไหลไปตามอารมณ์หมด ทีนี้มันจะต้องมีสติให้รู้สึกตัวจริงๆ ว่า นี่มันเป็นการฝันเพ้อฝันเพลิน แล้วก็สังเกตดูขณะที่มีสติรู้ว่านี่มันเป็นมายา ไม่มีเรื่องจริงจังมันหลอกตัวเองทั้งนั้น ถ้ามันรู้ขึ้นมาจริงๆ มันก็หยุดได้ มันระงับได้ แล้วกำหนดรู้จิตอยู่โดยเฉพาะ ไม่ไปเอาเรื่องกับความจำความคิดนั่น แต่มารู้จิตโดยเฉพาะไม่เกาะเกี่ยว รู้อยู่อย่างนี้ให้ซ้ำๆ เอาไว้ มันจะจำจะคิดเรื่องราวขึ้นมาสารพัดอย่าง ก็หยุดหมดไม่เอาใจใส่ คือว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นของหลอกลวงทั้งนั้น อย่าไปหลงเชื่อมันไม่ได้ แล้วควรพิจารณาให้รู้ว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวง มันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดดับไปตามเรื่องตามราวของมันทั้งนั้น แต่ถ้าไม่รู้แล้วมันเข้าไปยึดมั่นถือมั่นหมด

ทีนี้ถ้ามีสติควบคุมอยู่ก็หยุดได้ เป็นการระงับได้ ต้องฝึกเอาไว้ทุกอิริยาบถทีเดียว อย่าให้มันก่อเรื่องคิดนึกปรุงแต่งอะไรขึ้นมา ถ้าเกิดขึ้นมาเมื่อไรก็ต้องรู้ว่า นี่เป็นมายาทั้งนั้น เชื่อไม่ได้ ต้องปล่อยวางทีเดียว ควรกำหนดรู้จิตให้ติดต่อเอาไว้ให้มั่นคง เหมือนกับเราจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งให้เป็นเรื่องพิเศษ เราก็จะต้องจดจ่ออยู่กับเรื่องที่จะทำนั้น โดยที่การทำนี้ต้องทำอยู่ในใจ ไม่ใช่ทำงานภายนอก เราก็ต้องจดจ่ออยู่ในเรื่องที่นะทำในใจนี้ ให้รู้แยบคายภายในจิตใจของเราเองให้ได้ มันเรื่องต้องให้รู้ ไม่ใช่ให้เพลินๆ ไปเฉยๆ เช่นนั้น

เมื่อเรามีความรู้สึกอย่างนี้ขึ้นมาได้แล้ว จิตนี้มันจะหยุดได้สงบได้ มันจะเข้ามารู้ตัวเอง หยุดรู้ตัวเองได้ไม่แส่ส่ายไป แล้วก็พิจารณาให้รู้ทุกข์โทษของจิต ที่มีการแส่ส่ายคิดนึกปรุงแต่งไปในเรื่องราวดีชั่วทั้งหลาย ทั้งที่ล่วงไปแล้วและเรื่องที่ยังไม่มาถึง ล้วนแล้วแต่เป็นมายาของกิเลสตัณหาที่มันคอยปรุงจิตอยู่ทั้งนั้น เมื่อเรามีสติปัญญาอ่านมันออกก็ถูกหลอกน้อยลง

ถ้าเราไม่มีสติปัญญาเป็นเครื่องอ่าน มันก็หลอกซับหลอกซ้อนให้หลงอยู่นั่นเอง คือให้หลงรักหลงชัง หลงเกลียดหลงกลัวสารพัดอย่าง มันหลงอารมณ์ชนิดที่หลอกตัวเองซ้ำๆ ซากๆ มา จึงต้องพิจารณาให้รู้เรื่องเสียว่า เรื่องปรุงเรื่องคิดทั้งหลายที่มันแส่ส่ายไปนี้ จะไปตามมันไม่ได้ ไปเชื่อมันไม่ได้ หรือจะไปยึดถือเป็นดีเป็นชั่วเป็นจริงเป็นจังก็ไม่ได้เหมือนกัน มันเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ฉะนั้นจะต้องอ่านความไม่เที่ยงความเปลี่ยนแปลง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตนนี้ให้ละเอียด ให้เป็นการตามรู้ตามเห็นอยู่ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ นั่นแหละความรู้มันถึงจะทรงตัวได้ แล้วมันก็ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นให้เกิดทุกข์เดือดร้อนขึ้นมา แต่ถ้าเราทำในใจไม่แยบคายแล้ว พอมันเสียหลักสติไปเท่านั้น มันก็เอาเรื่องจำเรื่องคิดอะไรสารพัดอย่าง มันจะสอพลอก่อเกิดขึ้นปรุงจิตให้เดือดเนื้อร้อนใจไปทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นเรื่องการมีสติสัมปชัญญะควรต้องฝึกให้ได้ทุกอิริยาบถไม่ว่า ยืน เดิน นั่ง นอน เหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการปฏิบัติธรรม ถ้าไม่ได้ทำสติให้ติดต่อทุกอิริยาบถแล้ว จิตนี้จะไม่สงบได้ แม้ว่ามันจะสงบได้ชั่วครั้งชั่วคราวแล้วมันก็เที่ยววิ่งพล่านไปตามอารมณ์อีก ฉะนั้นการฝึกให้มีสติรู้อยู่ทุกอิริยาบถนี้ เหมือนกับเขาฝึกลึก เพราะว่าลิงนี้ถ้าไม่เอามันมาผูกไว้กับหลักแล้ว มันก็จะมีการท่องเที่ยวไปตามนิสัยป่าเถื่อนของมัน แต่เมื่อเอามันมาผูกไว้มันก็จะต้องดิ้นรน เพราะว่ามันไม่เคยผูก มันเคยวิ่งพล่านไปตามชอบใจของมัน จิตนี้ก็เหมือนกัน เมื่อเอามาผูกเข้มันจะดิ้นรนกระวนกระวายมาก ทั้งนี้ก็ต้องทนดูไปก่อน ถ้าเราจะไปตามใจมันแล้ว ก็มีแต่จะท่องเที่ยวไปไม่หยุหย่อน มันทำความเสียหายในด้านจิตใจ คือว่าเมื่อจิตใจไม่สงบแล้วมันก็ทุกข์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อจับเอามันมาผูกไว้ มันจะดิ้นรนไปอย่างไรก็ต้องดูไปก่อนทนรู้มันไปก่อน ซ้ำๆ อยู่อย่างนี้แล้วก็พิจารณาดูว่า การที่มันดิ้นรนนี้เพราะเหตุอะไร มันเกิดมีความอยากความต้องการอะไรขึ้นหรือ ? อย่างนี้ก็ต้องค้นหาเหตุ เมื่อมันมีเหตุ มันก็ทำให้เกิดความดิ้นรนขึ้นมาได้

ต้นเหตุนี้คือตัวตัณหานั่นเอง คือเป็นความอยากในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น แล้วก็จะต้องรู้ว่านี่มันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะว่ามันทำจิตใจให้ดิ้นรนกระวนกระวายเร่าร้อน ขณะที่กำลังมีความทุกข์เพราะตัณหามันเข้ามาปรุง เหตุนี้จะต้องอ่านให้มันออกด้วยว่า ลักษณะของตัณหาที่เข้ามาปรุงจิตนี้ มันดิ้นรนกระวนกระวายขึ้นมาอย่างไร และลักษณะของความดิ้นรนนี้ มันจะดิ้นรนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรอีกบ้าง อย่างนี้ต้องทนดูไปก่อน เหมือนกับเรามีความทุกข์อะไรมากๆ ความรู้สึกที่อยากจะเปลี่ยนหรืออยากจะเอาความสุขนี้ มันดิ้นรนกระวนกระวายขึ้นมาแล้ว

นี่เป็นลักษณะของตัณหา เราควรทดลองดูว่า ความดิ้นรนนี้จะทำให้มันสงบลงไปได้โดยวิธีใด ต่อจากนั้นเราก็ลองปล่อยมันดู เช่นขณะที่มีทุกข์มากๆ ก็ปล่อยให้มันทุกข์ไป จนกระทั่งถึงขีดสุดแล้วทุกนี่มันจะเสื่อมไปไหม มันก็ต้องเสื่อมอยู่ดี ไม่ว่ามันจะเสื่อมขึ้นหรือเสื่อมลงก็ตาม เสื่อมขึ้นก็หมายถึงว่ามันเพิ่มขึ้น เสื่อมลงก็หมายถึงว่ามันจางออกไป แต่ก็มีลักษณะเสื่อมอย่างเดียวกัน ทีนี้ถ้าเราทนดูทนรู้ได้ ก็เป็นการปล่อยวางได้นั่นเอง และความทุกข์อะไรที่เกิดจากตัณหานี้ มันก็สงบไปได้ แม้จะมีเพียงทุกข์ของธรรมชาติ แต่ว่ามันหมดฤทธิ์เพราะตัณหานี่ไม่ปรุงจิตให้ดิ้นรน มันก็ทำให้ทุกข์นี้น้อยลง เพราะดับตัณหาได้อย่างนี้ต้องเป็นข้อสังเกตเอาเอง ในขณะที่จิตกำลังดิ้นรนต้องการอะไรขึ้นมาก็อย่าไปตามใจมัน จะต้องทดลองฝึกกับมันดู ว่าถ้ามันดิ้นรนจะเอาอะไรก็ต้องวิ่งจี๋ไปเอาทีเดียว นั่นแหละมันเคยมันคุ้นเคย ทีหลังมันก็ยั่วมันก็แหย่ มันก็ยุยงส่งเสริมอยู่เรื่อย

เพราะฉะนั้นจะต้องหยุดในขณะที่มันอยากอะไรขึ้นมาจัดๆ นั้น “หยุด !” หยุดดู หยุดรู้มันว่า นี่เหตุเกิดทุกข์มันกำลังเกิดขึ้นมาแล้ว มันมีความต้องการอะไรขึ้นมาแล้วมันเป็นทุกข์ขึ้นมาเดี๋ยวนี้แล้ว นี่จะดับทุกข์ได้โดยวิธีใด จะต้องรวบรวมสติปัญญาเข้ามารู้ตัวเอง มาพิจารณาตัวเองให้เต็มที่ ในขณะที่มีสุขมีทุกข์อะไรก็ทดลองดูเถิด จะต้องมีเครื่องมือคือสติปัญญา มาอารักขาจิตให้เต็มที่ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วจิตนี่ก็จะระส่ำระสายที่สุดทีเดียว เพราะว่าตัณหามันเป็นตัวการสำคัญมันหลอกลวงเก่ง ถ้าไม่รู้จักดับตัณหานี้แล้ว มันจะทุกข์แล้วทุกข์อีกไม่รู้จักจบจักสิ้น ประเดี๋ยวอยากอย่างนี้ประเดี๋ยวอยากอย่างโน้น แส่ส่ายไปสารพัดอย่างแล้วก็จูงกันให้วุ่นไป

ด้วยเหตุนี้ต้องรู้เรื่องของเหตุเกิดทุกข์ คือตัณหานี้ให้ดีให้ถูกให้ได้ มันจึงจะดับทุกข์ได้ ถ้าไม่รู้เรื่องนี้แล้วชีวิตนี้ไม่มีที่จะหยุดได้เลย มันมีแต่เรื่องอยากมี อยากเป็น อยากนั่นอยากนี่ สารพัดอยาก มันก็ยุ่งยากมากแล้ว มันก็ยิ่งอยากมาก และมันคิดนึกปรุงแต่งอะไรสารพัดเรื่อง แต่ในที่สุดก็ดับหมดไม่มีเหลือ มันหลอกขึ้นมาชั่วขณะเท่านั้น คือมันเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป อยู่อย่างนี้แล้วก็หลงมันอยู่แบบนี้เรื่อย เรื่องการปฏิบัติธรรมนี้มันต้องอ่านตัวจริงในด้านจิตใจของตัวเองทั้งนั้น มันจึงจะรู้ ถ้าไม่ได้อ่านในด้านจิตใจนี้ให้ออกแล้ว ถูกหลอกตายอยู่นี่เอง แล้วก็วุ่นวายใหญ่เพลิดเพลินไปกับทางผัสสะ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จะแก้ไขเอาความสุขอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วมันก็หลงอยู่ในทุกข์นั่นเอง

นี่เรื่องการปฏิบัติธรรมจึงเป็นเรื่องอ่านข้อเท็จจริงอยู่ในตัวเอง ถ้าเป็นการอ่านด้วยสติปัญญาจริงแล้ว ความทุกข์นี่จะลดปริมาณลงไปมากทีเดียว แต่ถ้าอ่านมันไม่ออกก็ทุกข์แล้วทุกข์อีกอยู่ทั้งนั้น แล้วก็ไม่มีช่องที่จะหายใจ คือว่ามันอัดอั้นไปทั้งหมด เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาของตัวเองออกไปได้ นี่มันทุกข์แล้วทุกข์อีกกันเท่าไร มันวิ่งอยู่ในวงกลมของวัฏฏสงสารไม่มีที่สิ้นสุด แม้จะหาทางออกก็ไม่ได้ เพราะว่ามันถูกหลอกให้วิ่งหมุนอยู่ในวงกลมของความปรุงแต่งที่เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป อยู่อย่างนี้เรื่อยไปทีเดียว

เพราะฉะนั้นจะต้องหยุด หยุดดู หยุดรู้ในลักษณะที่มันดับไปไม่มีอะไรเป็นจริง มันเป็นเงาลวงเงาหลอกให้หลงเพลินไปชั่วขณะหนึ่งๆ และขณะหนึ่งนี้ก็สืบเนื่องเรื่อยไปเป็นสันตติไม่ขาดสาย เพราะฉะนั้นจะต้องหยุด ในความปรุงที่เป็นวัฏฏะนี้ขาดลงไปทุกขณะ นี่เรียกว่าเป็นตทังควิมุติ คือว่าหลุดพ้นเป็นขณะๆ ในขณะที่หยุดนั่นแหละ เป็นตทังควิมุติ หยุดได้เป็นขณะๆ เรื่อยไป เพราะฉะนั้นเรื่องที่จะให้หยุดดู หยุดรู้ หยุดพิจารณาให้มันรู้ความจริง มันต้องยืนหลักของสติให้มั่นคงเอาไว้ ระวังเรื่องแทรกแซงที่มันจะปรุงแต่งขึ้นมา ถ้าเราไม่เอาใจใส่ต่อความแทรกแซงปรุงแต่งของจิตแล้ว ยืนหลักของสติมั่น เหมือนกับการกำหนดลมหายใจตามหลักท่านก็บอกเอาไว้แล้วว่า ให้มีสติตั้งมั่นกำหนดลม แต่จิตนี้มันเหมือนลิง มันไม่อยู่กับลมได้ มันวิ่งพล่านไปกับอารมณ์ ฉะนั้นมันจึงได้ทุกข์ไปตามเรื่องตามราวของมัน

ทีนี้การฝึกนี้ต้องฝึกให้เป็นการรู้แยกคายไปก่อน คือจะไปเอาอะไรกับมันจริงจังนักก็ไม่ได้ หรือจะปล่อยปละละเลยมันก็ไม่ได้ แต่ต้องทำให้พอเหมาะพอควรไม่ใช่เป็นการบีบบังคับจนเกินไป และก็ไม่ใช่ปล่อยให้เพลิดเพลินจนเกินไป ให้อยู่ในความพอดีเป็นความเหมาะสมของจิต ที่จะพิจารณาให้เห็นทุกข์โทษของการหลงยึดมั่นถือมั่นอะไรขึ้นมา หลอกตัวเองอยู่หลายๆ อย่าง เมื่อมีการพิจารณาซ้ำๆ บ่อยๆ เข้ามันก็รู้ตัวทั่วพร้อมขึ้นมาได้ ที่เคยหลงใหลใฝ่ฝันไปกับเรื่องราวอะไรมันก็หยุดสงบได้ เหมือนกับการตื่นขึ้นมาจากหลับ

พอตื่นขึ้นมาก็รู้แล้วว่าขณะนั้นมันฝัน เรื่องราวดีชั่วอะไรก็เห็นเป็นจริงไปในขณะที่กำลังหลับ แต่พอรู้สึกตื่นขึ้นมาก็รู้ว่าเป็นความฝัน อย่างนี้ต้องสังเกตดูทุกขณะหมดทีเดียว ที่จิตนี้มันมันปรุงมันคิดไปกับอารมณ์ชนิดไหนก็ตาม แต่พอมีสติรู้สึกตัวขึ้นมา ก็เท่ากับว่าตื่นขึ้นมาแล้วทุกสิ่งก็ดับหมด เรื่องราวต่างๆ ที่เป็นความฝัน ความปรุงความคิดทั้งหลายก็ดับสลายไปต่อหน้าต่อตาทุกขณะเดี๋ยวนี้ เรียกว่ามีสติตื่นขึ้นมาเท่านั้นมันก็ล้มละลายไปหมดแล้ว เรื่องราวต่างๆ ที่ยึดถือดีชั่วสุขทุกข์สารพัดอย่าง พอตื่นขึ้นมาก็หมด กวาดทิ้งหมดทีเดียว รู้สึกทั่วพร้อมหมดเป็นความว่าง ไม่ยึดมั่นถือมั่นทันทีแล้วนี่เรียกว่าเป็น ตทังควิมุติ เอาเรื่องนี้ให้เป็นเครื่องสืบทราบ เพราะว่ามันเป็นชั่วขณะๆ หนึ่งไปก่อน และชั่วขณะๆ หนึ่งบ่อยๆ เข้ามันก็เพิ่มปริมาณของสติปัญญาที่เป็นเครื่องรู้ตัวเองได้ ความเผลอเพลินก็น้อยลง เพราะว่ามันมีสติตื่นอยู่มากกว่า ที่จะมีการเพลิดเพลินไปตามอารมณ์หรือผัสสะทั้งหลาย

เรื่องการฝึกอบรมจิตภาวนาที่อยู่ในสถานที่อำนวยให้ทุกอย่างคือ ไม่มีเรื่องราวอะไรรบกวนทางผัสสะ มีความเป็นอยู่ชนิดที่ไม่ต้องการอะไรให้มากแล้ว สตินี่มันจะดำรงได้มาก สติปัญญาก็จะเป็นเครื่องรู้ได้ชัดเจนขึ้น แล้วก็จับความเป็นมายาของตัวตน ตัวโง่ของตัวเองนี้ได้มากมายหลายอย่าง ที่มันโง่ไปยึดมั่นถือมั่นอะไรขึ้นมาทำให้เดือดเนื้อร้อนใจขึ้นมานั้นจับได้หมดเลย เหมือนการจับผู้ร้ายได้คาไม้คามือ ไม่ว่ามันจะเกิดเรื่องราวอะไรมาหลอก มาเพ่งเล็งดีชั่วอะไรจับได้คาไม้คามือหมดว่า นี่มันเป็นของหลอกๆ ลวงๆ แล้วความโง่มันไปยึดถือขึ้นมาให้ทุกข์ จึงสมน้ำหน้าของตัวเองนี้ เมื่อมันรู้เรื่องจริงแล้วก็จับความโง่เขลาของตัวเองที่มันโง่มาซ้ำๆ ซากๆ นั้น แล้วเดี๋ยวนี้มันก็รู้สึกแล้วว่าตัวมันโง่ แต่อย่าไปสำคัญว่าตัวฉลาดก็แล้วกัน มิฉะนั้นแล้วนั่นแหละมันจะโง่ใหญ่

มันต้องจับความโง่เขลางมงายของตัว ให้ถนัดชัดเจนไปทุกอารมณ์จึงจะได้ ไม่ว่าผิดถูกดีชั่วอะไรทั้งหมดนี้ต้องเป็นการรู้สึกตัวว่านี่มันโง่มันหลง แม้ว่าจะปฏิบัติมากี่ปีก็สุดแท้ แต่ถ้ามันยังหลงยึดถืออะไรต่ออะไรอยู่อย่างนี้แล้วอย่าไปนึกว่าตัวรู้ ถ้านึกว่าตัวเป็นผู้รู้นี่สิมันจะยิ่งโง่ใหญ่ มันต้องจับความเป็นมายาความโง่เขลาของตัว ให้ได้รายละเอียดยิ่งขึ้นเสมอ และความโง มันก็ค่อยคลายไปเอง เพราะว่ามันยังไม่หมดไปได้ง่ายๆ เลยตัวโง่นี่ ถ้าหมดไปเด็ดขาดก็คือพระอรหันต์เท่านั้น ที่ท่านหมดอวิชชาอาสวะแล้ว แต่อย่างเราๆ นี้มันยังมีอวิชชาอยู่ชนิดที่ยังลืมหูลืมตาไม่ค่อยจะขึ้น

ถ้ามาอวดดีว่าตัวรู้ตัวฉลาดแล้วก็นั่นแหละ มันจะเพิ่มอวิชชาเพราะความโง่ความหลงมากเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นยิ่งปฏิบัติไปๆ นี่มันไม่ได้เอาอะไรเลย มันได้ปล่อยวางไป เพราะว่ามันจับตัวโง่นี่ละเอียดเข้า รู้เรื่องทุกข์เรื่องกิเลสถูกต้องยิ่งขึ้น แล้วก็คลายจากความกอดรัดยึดถือได้เรื่อยๆ ไป เป็นเครื่องสอบตัวเองอยู่อย่างนี้ และข้อปฏิบัติจะไม่ผิดทางเป็นแน่นอน มันยิ่งจะมีการเบื่อหน่ายคลายกำหนัดไปทุกที เพราะมันไม่รู้จะไปเอาอะไรที่ไหน นี่ถ้าอ่านออกแล้วมันก็หมดเรื่องที่จะอยากมีอยากเป็น อยากเต้นอยากรำอยากเอาอะไร อยากสุขทุกข์อะไรก็สุดแท้หมด กวาดทิ้งหมด บอกว่ามันไม่มีอย่าไปเอาเลย ถ้าขืนเอาแล้วมันจะเป็นทุกข์ เพราะมันไม่ต้องการอะไรทั้งหมดแล้ว จิตนี้มันว่าง มันว่างแบบนี้มันว่างเพราะมีการพิจารณาปลงตกปล่อยวางยกเลิกไปหมดทีเดียว

ความว่างแบบนี้เป็นความว่างอย่างพิเศษ ถ้ามันว่างอยู่แบบนี้มากๆ จิตใจนี้ก็ไม่สกปรกรุงรัง เพราะไม่ไปเก็บอะไรเข้ามายึดถือ เมื่อไม่ยึดถือจิตใจมันก็สะอาดได้ ขณะจิตใจที่สะอาดๆ นี่ก็ต้องคุ้มครองเอาไว้ให้ได้อีก ตลอดจนต้องคุ้มครองขณะที่ออกมากระทบผัสสะอายตนะด้วย อย่าให้มันไปหาเรื่องยึดถือ เพ่งเล็กอะไรต่ออะไร ต้องพิจารณาให้เห็นความเป็นธาตุไปทั้งหมด มันจึงจะทำลายความยึดมั่นถือมั่นได้ ถ้ายังเห็นเป็นตัวเป็นตน เป็นเขาเป็นเราเป็นสัตว์เป็นบุคคลอยู่ นี่มันตัวหาเรื่อง มันตัวยึดถือทั้งนั้น

ฉะนั้นจะต้องมองให้เห็นความจริงว่า เป็นสักแต่ว่าธาตุ เช่น ตาสัมผัสรูป หูสัมผัสเสียงนี่ เพราะตามในหลักมีอยู่ว่า จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุนี่มันสักแต่ว่าธาตุ ตาก็สักแต่ว่าธาตุ หูก็สักแต่ว่าธาตุ และวิญญาณคือความรู้สึกรูป ก็สักแต่ว่า นามธาตุ ทวารทั้งหกนี้ก็ล้วนเป็นสักแต่ว่าธาตุ ถ้าเราไม่ได้พิจารณาให้เห็นความเป็นธาตุแล้ว นี่มันยึดมั่นถือมั่นเข้ามาเท่าไร ตาก็เป็นตาของเรา ความรู้สึกรูปที่เป็นวิญญาณมันก็เป็นเรารู้สึก หรือรูปที่เห็นนั้นก็เป็นเราเห็น ทั้งเสียงก็เหมือนกัน นี่มันหลงอยู่เท่าไร มันหลงยึดมั่นถือมั่นตามทวารทั้งหกนี่ ซึ่งที่แท้แล้วมันก็สักแต่ว่าธาตุ แต่มันไม่ได้เห็นความเป็นธาตุ มันกลับเห็นเป็นตัวเป็นตนไปหมดทีเดียว ทั้งยังมีการยึดมั่นถือมั่นแล้วก็ยังอวดรู้อีก ว่าตัวรู้ ตัวเป็นผู้รู้ นี่มันรู้แบบโง่ๆ

ถ้ามันรู้จริงแล้วมันไม่มีอะไรเลยทางผัสสะนี่ ลองพิจารณาดูว่าที่มันไม่ได้เห็นความเป็นธาตุนั้น ยึดถือเป็นตัวเป็นตนเป็นคนเป็นสัตว์ เป็นวัตถุทั้งหลายที่มีให้เห็นได้ด้วยตาฟังเสียงด้วยหูนี่ มันยึดมั่นหมด แล้วมันไม่ทุกข์แย่อยู่อย่างไรได้ ถ้าพิจารณาให้เห็นความเป็นธาตุทั้งหกทวารนี้แล้ว จะเป็นการมองอย่างพระท่าน ที่ท่านมองเห็นกันอย่างนี้ ท่านจึงไม่มีเรื่อง ทีนี้สำหรับตาของปุถุชนคนกิเลสหนาปัญญาหยาบ มันยึดมั่นถือมั่นหมด ไม่เห็นความเป็นธาตุเลย แล้วมันก็ยังอวดดีว่ารู้ ที่แท้แล้วมันโง่อยู่ตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่รู้ๆ นี่มันนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นจะต้องพิจารณาแล้วพิจารณาอีกให้มันรู้ แต่มันไม่ค่อยชอบพิจารณาซ้ำ เพราะว่าตัวโมหะที่มีอยู่ในสันดานนี้ มันจะให้เปลี่ยนเรื่องใหม่เรื่อย มันจะให้เพลินไป จะพิจารณาซ้ำซากไม่ได้ แล้วมันก็ไม่เกิดปัญญา ไม่เกิดความรู้แจ้งได้ เพราะมันชอบเปลี่ยนแปลงความปรุงแต่งไปเป็นสังขาร มีการคิดนึกปรุงไปไม่หยุดไม่หย่อน ที่ไม่หยุดนี่ซิมันอยู่ในสังสารวัฏของเกลียวหมุน

เพราะฉะนั้นจะต้องดูให้มันรู้ให้มันเห็น ให้มันหยุดให้มันสงบให้ได้ จึงจะเกิดสติปัญญาเป็นเครื่องรู้จักดับเหตุที่เกิดทุกข์ได้ แล้วก็มีการพิจารณาปล่อยวางไปได้ มันเป็นเรื่องปัจจัตตังด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องปรารภธรรมะ เพื่อเป็นการคุ้ยเขี่ยให้เกิดความรู้ความเห็นขึ้นมา ในแง่ถูกผิดเท็จจริงอะไรทั้งหมดนี้ มันจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องพูดกันให้มากในเรื่องนี้ เพราะถ้าจะพูดกันเรื่องอื่นนั้นมันกลบเกลื่อนเชือนแชไปเสีย แล้วก็หลงละเมอเพ้อไป เพราะฉะนั้นมันต้องหยุด ต้องหยุดดู หยุดรู้เรื่องจริง ภายในตัวของตัวเองทั้งหมดอยู่ในชีวิตประจำวันนี้ เรียกว่าปฏิบัติเป็นการอ่านตัวเองออกเรื่อยไป ออกจากทุกข์ออกจากกิเลสได้เรื่อยไป ไม่ว่าขั้นไหนจะต้องพยายามอ่านให้มันออกให้ได้ก่อนเจ็บก่อนตายนี้ ถ้าอ่านไม่ออกมันเกิดตายขึ้นมาเสียก่อนแล้ว มันก็โง่ต่อๆ ไปอีก แล้วใครจะมาแก้ตัวให้ ปัจจุบันเดี๋ยวนี้ก็มีโอกาสดีแล้วที่จะต้องศึกษาของจริง ถึงกระนั้นกว่ามันจะรู้จักของจริงได้ก็ไม่ใช่ของง่าย ทั้งนี้มันจะต้องพิจารณาให้รู้เสีย แล้วมันจะได้ปล่อยวางได้ทุกๆ ขณะไปทีเดียว



.................................................

คัดลอกมาจาก ::
http://www.dharma-gateway.com/
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง