Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 หยุดคิดนึกปรุงแต่ง (ก.เขาสวนหลวง) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ส.ค. 2006, 7:31 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

หยุดคิดนึกปรุงแต่ง
โดย ท่าน ก.เขาสวนหลวง

สำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง จ.ราชบุรี
๓๐ ตุลาคม ๒๕๑๕



วันนี้เป็นวันประชุมตามเคย สำหรับการปฏิบัติทีได้มีการอบรมมา นับว่าเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว ก็คงจะมีความรู้ทรงตัวได้เป็นส่วนมาก ถึงแม้ว่าจะมีการผิดพลาดพลั้งเผลอไปบ้าง ก็ยังพอจะรู้เท่าทันได้ดีขึ้น เพราะการอบรมจิตที่ได้พิจารณาตัวเองอยู่เป็นประจำนี้ มันทำให้อ่านความจริงได้ทั้งหายในภายนอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างถ้าเอาสมมุติออกเสียให้หมดแล้วมันก็ไม่มีอะไร แต่ที่มันมีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นมากมายนี้ก็เพราะว่าไปยึดถือคำสมมุตินั่นเอง เพราะคำสมมุติในโลกนี้มันมีมากมายหลายประการนัก ถ้าไปหลงติดมันแล้ว มันจะทุกข์แล้วทุกข์อีก เพราะความยึดมั่นถือมั่นทั้งนั้น

ถ้าหากว่าอ่านออกหรือเพิกสมมุติออกเสียอย่างเดียว เหลือนอกนั้นก็สักแต่ธาตุและตัวธาตุนี่ก็เป็นความว่างไป ไม่มีอะไรอีกเหมือนกัน ฉะนั้นจึงต้องอ่านมันให้ออกจะได้ไม่ยึดมั่นถือมั่น แล้วก็เป็นการดับทุกข์ดับโทษพร้อมกันไปในตัวเองเสร็จ เพราะถ้าขืนไปยึดถือแล้วมันทุกข์ ทั้งนี้ก็เป็นการสอบได้อยู่ในตัวเองทั้งหมด แต่นี่เพราะยังไม่ได้พิจารณาให้เป็นการรู้จริงเห็นแจ้งประจักษ์ชัดด้วยใจจริงเท่านั้น มันก็เลยวนเวียนอยู่ จึงเป็นการยึดถือดีชั่วตัวตนสารพัดอย่าง แล้วก็ทำให้ไม่รู้ว่าความหลอกลวงหรือความเท็จที่มันมีอยู่ต่อหน้าต่อตานี้ มันเห็นเป็นเรื่องจริงไปเสียทั้งหมด เหตุนี้มันก็เลยพากันหลงไปใหญ่ หลงพูดหลงทำ หลงคิดอะไรต่ออะไรกันมากมายก่ายกองออกไปทีเดียว

แล้วชีวิตนี้มันก็น้อยลงอยู่ในขอบเขตสั้นที่สุด แต่เมื่อยังมองไม่เห็นมันก็เลยนึกว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีก มิหนำซ้ำยังจะเอาอะไรต่ออะไรกันเรื่อยไป ไม่ว่าการพูดการทำการคิดก็ล้วนแต่มากมายก่ายกองไปทั้งนั้น เพราะว่าความหลงนี่มันไม่ใช่ของนิดหน่อยเลย มันหลงอยู่ทั้งรู้ๆ มันก็ยังหลงได้ เพราะว่ามันก็หลงไปตามประสาพวกไม่รู้ แต่พวกรู้ๆ นี้มันก็หลงไปตามพวกรู้ๆ นั่นอีกเหมือนกัน บางทียิ่งรู้มันก็ยิ่งหลง ถ้ารู้ว่าตัวหลงแล้วมันจะได้หยุดหลงเสียบ้าง ถ้าหากหลงโดยที่ไม่รู้ว่า ตัวหลงนี่สิมันจะยิ่งหลงใหญ่แล้วก็หลงไม่สร่างเสียด้วย ฉะนั้นเรื่องความหลงๆ นี่มันรู้ยากจึงเป็นกรงขังที่สำคัญที่สุด เพราะว่ามันหลงว่ามันรู้เสียเอง แล้วจะไปโทษใคร

ฉะนั้นควรต้องคิดดูต้องสอบสวนเข้ามาหาตัวที่มันยังหลงอยู่นี้ นี่มันหลงรู้อยู่ในตัวของตัวเองนี่ ทีนี้ที่รู้อยู่นี่มันรู้อยู่นิดเดียว ส่วนที่ยังหลงนั้นมันมีอยู่มากมายก่ายกองนัก มองไปข้างไหนมันก็ยังหลงเห็นเป็นดีเป็นชั่ว เป็นตัวเป็นตน เป็นข้าวเป็นของที่สมมุติๆ ขึ้นมา แล้วก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นแต่เพียงสมมุติ มันไปยึดมั่นถือมั่นเอาเป็นจริงเสียหมด ดังนั้นที่มันหลงซับหลงซ้อนอยู่ต่อหน้าต่อตา และยังหลงว่าเป็นตัวเราเป็นของของเรามากมายก่ายกองออกไปอีกนี้แล้วจะทำอย่างไรดี

โดยเฉพาะทางตา ทางหู นี่มันก็หลอกให้หลงอยู่แย่แล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าตัวหลงกลับนึกว่าตัวรู้อยู่นั่นเอง มันจึงได้สลับซับซ้อนอยู่นักหนา แล้วก็ยิ่งหลงกันใหญ่ ยิ่งเรียนรู้มากก็ยิ่งหลงมาก หลงออกไปยึดมั่นถือมั่นเสียหมด ไม่ได้พิจารณาให้เป็นการรู้เห็นด้วยปัญญาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่มี ที่มันมีนี่ก็เป็นเพียงแค่สมมุติเท่านั้นเอง ถ้าเพิกสมมุติออกเสียแล้วมันก็ไม่มีอะไร เพราะจิตนี่มันยังไม่รู้มันก็หลงไป หลงยึดมั่นถือมั่นไป กว่าจะรู้เรื่องรู้ราว และอ่านเรื่องจริงของตัวเองได้ มันจึงไม่ใช่ของง่ายๆ เลย ทั้งๆ ที่เรียนรู้อะไรต่ออะไรกันมากมายแล้วก็สำคัญว่าตัวรู้ แล้วมันก็หลงอยู่นี่ หลงอยู่ทั้งที่ไม่รู้ตัวนี่มันสลับซับซ้อนมากมายนัก ควรจะต้องพิจารณาดูให้ดีๆ

ท่านจึงเปรียบเหมือนกับพระพุทธเจ้าทรงฝึกม้าอาชาไนย ก่อนอื่นพระองค์จะต้องฝึกให้มันสวมบังเหียนเสียก่อน ถ้ายังสวมบังเหียนไม่ได้ การฝึกก็ไม่สำเร็จ ฉะนั้นจะต้องสวมบังเหียนให้ได้เสียก่อน จึงจะฝึกต่อไปได้ นี่แหละท่านเปรียบเท่ากับการฝึกจิตของบุคคล ที่มีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะละพยศร้ายในสันดานของตัวเองนี้ จำต้องเอาธรรมวินัยมาเป็นเครื่องฝึก คือว่าจะต้องฝึกแล้วฝึกอีกอย่างซ้ำซากที่จะให้มันละพยศร้ายต่างๆ เพื่อเป็นการทำลายถ่ายถอนออกไปให้ได้ ส่วนเรื่องข้อปฏิบัติที่จะต้องฝึกจิตชนิดที่มีการสวมบังเหียนนี้ ก็ลองคิดกันดูว่าจะทำอย่างไรมันจึงจะฝึกม้าตัวนี้ได้ เพราะว่ามันยังไม่ได้รับการสวมบังเหียนนี่เอง จึงยังบังคับมันไม่อยู่ เพราะจิตใจนี่มันยังไม่อยู่ในบังคับของสติปัญญา ทีนี้จะต้องฝึกมันอย่างไร ? จะต้องสวมบังเหียนมันได้อย่างไร ? นี่ล้วนแต่เป็นข้อคิดของตัวเองดูว่า จิตที่ยังไม่อยู่ในอำนาจของสติ มันเที่ยวฟุ้งซ่านเตลิดไปอย่างไร ถึงจะมีสติอยู่บ้างก็ยังไม่ลึกซึ้งอะไรนัก เป็นแต่เพียงอยู่ในระดับปรกติธรรมดาบ้าง แล้วอย่างนี้มันยังไม่ได้รับการฝึกที่ละเอียดหรือมีการข่มขี่ให้มันเป็นการลดพยศร้ายลงไป เพราะว่ามันต้องเพิ่มการฝึกขึ้นไม่ให้มันย่อหย่อนไป

เรื่องการทำกรรมฐานนี้ ก็เปรียบเหมือนกับการสวมบังเหียนเหมือนกันเพราะจะต้องบังคับให้อยู่ในกรรมฐานที่ฝึก ต้องเอามาฝึกแล้วฝึกอีก เพื่อจะให้มันรับการฝึกการสงบเสียก่อน เพราะถ้ามันไม่สงบแล้ว จะไปฝึกอย่างอื่นแล้วมันไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีกรรมฐานเป็นเครื่องฝึก เช่นกับการสวมบังเหียนเอาไว้ ทีนี้จะสวมบังเหียนมันอย่างไรมันก็ไม่ยอม คือว่ามันไม่ยอมอยู่กับกรรมฐาน มันเที่ยววิ่งพล่านไปมันจะคิดไปนึกไปสารพัดอย่าง แม้แต่ว่าลมหายใจที่จะต้องกำหนดให้รู้ในระยะสั้นหรือยาวตามปกติเท่านี้ มันก็ยังไม่อยู่ได้ง่ายๆ เลย เพราะมันเคยท่องเที่ยวไปกับอารมณ์นั่นเอง ถ้ายังฝึกให้มันสงบไม่ได้ การพิจารณาก็ไม่ละเอียด นี่ต้องสังเกตด้วยว่าจิตนี่จะต้องอยู่ในความสงบ ไม่คิดนึกฟุ้งซ่านไปอย่างอื่น แล้วก็ไม่มีการเพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์ชนิดที่เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์อะไรก็สุดแท้ จะต้องรู้ว่าลักษณะของความเพลินนี้มันเป็นลักษณะของโมหะ ที่มันเพลินอยู่ไม่รู้อะไรเป็นอะไร และนี่ก็เป็นเรื่องสำคัญนัก

เพราะการฝึกจิตนี้จะต้องรู้เรื่องของความเพลิน ความเผลอ จะต้องมีการบังคับลงไปอย่างไร มันจึงจะดำรงสติตั้งมั่นและให้ติดต่ออยู่ได้ นั่นก็ต้องเป็นการรู้ของตัวเอง ถ้าตัวสตินี้ยังไม่เป็นหลักชนิดที่เหมือนเสาเขื่อนแล้ว จิตนี้มันก็ไม่สงบแล้วมันก็ชอบวิ่งไปหาเรื่องปรุงไป คิดไปตามเรื่องราวที่ไม่มีสาระทั้งนั้น เพราะว่าการฝึกนี้ก็ยังไม่ละเอียดพอ จิตนี่มันจึงจะต้องแส่ส่ายไป เพราะฉะนั้นจะต้องฝึกโดยมีการบังคับให้มันอยู่เหมือนกับเขาบังคับในการฝึกม้า เขาก็ต้องบังคับข่มขี่โดยจะปล่อยไปตามนิสัยของมันไม่ได้ เพราะว่านิสัยป่าเถื่อนของมันยังมีอยู่เป็นปกตินิสัยจึงต้องมีการฝืนการข่มขี่ทรมานหลายๆ อย่าง แล้วก็ค่อยปราบปรามพยศร้ายในสันดานให้ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ที่มันจะมีการดื้อด้านดันทุรังไปกับอะไรก็ต้องใช้ลงไม้เรียว โดยขู่บังคับให้มันกลัว อย่าปล่อยตามใจมันให้มากนัก เพราะจิตนี้มันคุ้นเคยมาอย่างนั้น มันท่องเที่ยวมาอย่างนั้นแล้ว

ฉะนั้นการฝึกจิตเพียงแต่ให้มีสติติดต่อทุกอิริยาบถนี้ ก็ยังไม่ใช่ของง่าย แต่ก็ต้องพยายามสังเกตอยู่รอบด้าน เพราะทางผัสสะนี่เป็นของสำคัญ ทั้งอายตนะภายในภายนอกก็ตาม ล้วนแต่เป็นบ่อเกิดของพวกราคะ โทสะ โมหะ หรือกิเลสตัณหาสารพัดอย่าง มันเกิดขึ้นมาได้ทุกขณะที่มีการกระทบ ฉะนั้นการควบคุมนี่เป็นของที่ต้องกระทำอยู่ทุกขณะทีเดียว พร้อมทั้งมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่อย่างไร แล้วการเผลอเพลินมันน้อยลงไปหรือไม่ นี่ต้องเป็นเครื่องสอบ ถ้ามันยังมีการเผลอเพลินหรือฟุ้งซ่านไปแล้ว มันก็ยังไม่อยู่ในอำนาจของการฝึก เพราะว่ามันยังปล่อยให้เป็นไปตามนิสัยเดิมอยู่ พยศร้ายของมันก็ยังมีอยู่

ฉะนั้นจะต้องฝึกให้ถึงขนาดรู้ด้วยใจจริงว่า พยศร้ายต่างๆ ได้ลดลงไปแล้ว ลดความดิ้นรนลงไปเป็นลำดับแล้ว ยังอยู่แต่ในลักษณะที่มีความเพลินความเผลอเท่านี้ก็ยังเป็นของละเอียด ที่จะต้องรู้ลักษณะของการเผลอการเพลินนี้มันทำให้ไม่รู้อะไร แล้วจะต้องเพียรเพ่งพิจารณาอย่างไร มันจึงจะเป็นความรู้จริงเห็นแจ้งขึ้นมาได้ เป็นการประคับประคองไม่ให้จิตนี้ตกไปกับความเพลิน หรือในขั้นที่มีการสังวรทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอยู่ มีความรู้สึกอยู่ในระดับที่เป็นการวางเฉย หรือเป็นปกติได้เป็นพื้นๆ เอาไว้ ไม่ให้มันเที่ยวปรุงเที่ยวคิดอะไรวุ่นวายไปอย่างอื่น แล้วก็เพียรสังเกตดูว่า จิตนี้มันอยู่ในอำนาจของกรรมฐานที่ฝึกอยู่ หรือว่าเป็นการประคับประคองอยู่ในขั้นของความเป็นปกติวางเฉยได้อย่างไร เราก็ค่อยพิจารณากันดู และพยายามตั้งหลักให้ได้ อย่าให้มันมีเรื่องอะไรแทรกแซงปรุงแต่งทำให้คิดนึกไปตามเรื่องตามราวโดยไร้ประโยชน์ แล้วมันก็จะคุ้นเคยมากเข้าจนหยุดไม่ได้

เพราะฉะนั้นจะต้องหยุดให้ได้ จะต้องพยายามหยุดเพ่งดูในลักษณะของจิตที่ตั้งหลักได้ แล้วก็คอยปราบปรามพยศร้ายต่างๆ ไม่ว่าความปรุงความคิดความแส่ส่ายทุกอย่างให้ดับสลายไป คือให้เห็นว่าทุกสิ่งนี้มันเป็นมายา เป็นเครื่องปรุงจิตให้หลงใหลเพลิดเพลินไปกับเรื่องดีเรื่องชั่วสารพัดอย่างที่จะให้มันมาก่อรูปก่อเรื่องปรุงแต่งให้จิตนี้หลงละเมอไปตามมัน ฉะนั้นจะต้องเฝ้าสังเกตดูจิตใจของตัวเองให้มากเป็นพิเศษ

โดยเฉพาะการจะทำอะไรก็ตาม จะต้องทำด้วยการมีสติ และหมั่นพิจารณาดูอยู่เสมอให้เห็นความเป็นธาตุให้ได้ เพราะว่าการเห็นเป็นตัวเป็นตน เป็นดีเป็นชั่วอะไรนี่ มนคุ้นเคยมามากแล้ว ทีนี้มองให้เห็นความเป็นธาตุเสีย เพิกสมมุติออก พยายามมองดูทั้งภายในทั้งภายนอก โดยเห็นความเป็นธาตุ และเห็นเป็นความว่างจากตัวตนด้วย ให้มันมีการรู้ การเห็นจริงๆ ด้วยสติปัญญาโดยแท้ นั่นแหละมันจึงจะเป็นการปลุกให้จิตตื่นขึ้น จึงเกิดการรู้เรื่องจริงขึ้นมาได้ อย่าให้มันหลับใหลไปกับความโง่งมงาย ที่เป็นความยึดถืออารมณ์อะไรทั้งหมด เพราะเป็นความคุ้นเคยมาอย่างนั้น

ทีนี้ให้มันหยุด เพราะการที่หยุดพูดหยุดทำหยุดคิดอะไรที่มันออกนอกเรื่องนอกราวนั้นเราหยุดเสีย แล้วเรื่องที่จะอ่านเข้ามาภายในตัวเองมันจะได้รู้เรื่องจริงขึ้นมา เมื่อรู้แล้วก็ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น จะมีความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดเรื่อยไปทีเดียว ฉะนั้นจะต้องพยายามมองกันให้ซึ้ง อย่ามองแต่เพียงเพลินๆ เพราะมันจะเพลินไปประเดี๋ยวมันก็อ้างว่ารู้อย่างนั้นอยู่อย่างนี้ขึ้นมาหลอกตัวเองเปล่าๆ จะต้องยันกับความรู้อย่างนี้เอาไว้ให้ได้ ถ้ารู้จริงแล้วมันจะไม่เพลิดเพลินมันจะไม่หลงใหล แต่ว่ามันจะต้องมีการพิจารณาให้รู้ให้เห็นแจ้งด้วยสติปัญญาจริงๆ ทีเดียว เพื่อจะแก้ปัญหาของตัวเองในเรื่องนี้ ให้เป็นการอ่านมันให้ออก ถ้าเป็นความรู้จริงเห็นแจ้งขึ้นมาได้เหมือนกับเขาเปิดสวิตช์ไฟฟ้า พอเปิดขึ้นมันก็สว่างพรึ่บขึ้นมา เรียกว่าเป็นความรู้แจ้งแทงตลอดนั่นเอง

แต่ถ้าว่าโมหะมันเข้ามาครอบงำแล้วมันก็มืดแปดด้าน จะพิจารณาอะไรมันก็ไม่เห็นเพราะว่าจิตนี้มันยังไม่สงบ มันยังไม่ตั้งมั่น มันยังเที่ยวปรุง เที่ยวคิด เที่ยวแส่ เที่ยวส่ายอยู่ มันยังไม่หมดอาสวะ ฉะนั้นจึงเป็นของสำคัญยิ่ง ในการที่จะต้องฝึกดังนั้นจึงต้องเพียรเรื่อยไป ไม่ใช่เป็นการรู้อะไรขึ้นมาบางครั้งบางคราวแล้วก็เรื่อยเปื่อยไปอื่นอีก นั้นมันยังเป็นเครื่องหลอกตัวเองอยู่ จะต้องมีความรู้อย่างนี้ให้ติดต่อให้มากมันจึงจะทรงตัวได้ และจะต้องพยายามแล้วพยายามอีก อย่าไปเปลี่ยนเรื่องใหม่เพราะการเปลี่ยนใหม่นั้นมันเป็นลักษณะของตัณหา มันชอบเปลี่ยนเรื่อยเปลี่ยนราว เปลี่ยนรส เปลี่ยนชาติ

ทีนี้ตัวสติปัญญานี้จะต้องมีการพิจารณาให้รู้ให้เห็นความไม่เที่ยงหรือความเป็นมายานี่มันสกัดกั้นอยู่ทั้งหมด ถ้าจะเปลี่ยนอะไรมามันบอกว่า ไม่เที่ยงทั้งนั้น ไม่ต้องเปลี่ยนไม่ต้องเอา ของแปลกของใหม่ไม่มี มีแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้น ต้องเอาเรื่องนี้มายืนยันเอาไว้ เพราะว่านั่นมันชอบสอพลอล่อลวงหลอกหลอนมากมายหลายอย่างนัก มันจะให้เพลินทั้งนั้น เพราะว่าตัวนันทิราคะคือความกำหนัดในความเพลินนี้สำคัญมากจะต้องพยายามเพ่งดูให้ได้ เพ่งดูจิตในลักษณะที่มีการดำรงความรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไร ตัวจิตมันมีการทรงตัวรู้ตัวเองอยู่ในลักษณะอย่างไร แล้วก็คอยพิจารณาประคับประคองเอาไว้ อย่าให้มันเพลิน เรื่องของความปรุงความคิดอะไรที่มันจะเกิดแทรกแซงขึ้นมาก็ต้องเพ่งดูดับมัน ปล่อยมัน วางมันอยู่เรื่อย เพราะการเพ่งดูรู้อยู่ภายในนี้ มันไม่ใช่เอาตาไปเพ่งดู แต่เป็นการรู้ใจ เห็นใจ หรือว่าเอาจิตดูจิตก็ได้

ถ้าพูดเป็นภาษาของจิตเราก็ใช้วิธีนี้ คือจะดูลมจะดูกายก็ดูได้ เพราะว่ามันต้องมีการรู้อยู่ เห็นอยู่ ในลักษณะของรูปธรรมนามธรรมที่ปรากฏอยู่ทุกๆ ขณะ แล้วความรู้สึกนึกคิดอะไรเหล่านี้ มันต้องมีอยู่ มันต้องเกิดขึ้นอยู่เรื่อยเพราะฉะนั้นถ้าไม่หยุดดูไม่หยุดรู้แล้ว มันก็จะไม่รู้มันก็จะไม่เห็น มันก็เรื่อยเปื่อยไปอย่างนั้น ถ้าเป็นความจำความคิดอะไรเกิดขึ้นแล้วมันก็เป็นเรื่องเป็นราวไปทีเดียว เป็นสายน้ำไหลไปทีเดียว ทีนี้ต้องหยุดทันที เอาสติเป็นหลักปักลงไป กำหนดไปรู้ลงไปเอาให้อยู่ ให้ตั้งหลักให้ได้ อย่าให้มันโอนเอนไป แล้วนั่นแหละมันจึงจะเป็นการสงบ และเป็นการอ่านตัวเองออกได้ การอ่านตัวเองออกใช่ว่ามันจะตั้งอยู่ได้นานสักเท่าไร มันจะต้องมีการเคลื่อนไหวต่อไปอีก

ดังนั้นจึงต้องดูกันซ้ำๆ ซากๆ ต้องรอบรู้อยู่ในตัวเองให้มาก พอให้มันตั้งหลักได้มั่นแล้ว ต่อไปมันดูชัด มันเห็นชัดถ้ายังตั้งหลักไม่ได้มั่นคง มันก็รู้ไม่แจ้งรู้ไม่ชัด แล้วมันก็เลือนๆ ลางๆ เหลวไหลไปอีก มันหลั่งไหลไปตามอารมณ์อีก เพราะฉะนั้นการสกัดกั้นเอาไว้ได้ก็รู้ว่ามีสติเป็นเครื่องกั้นอยู่ แล้วมีปัญญาพิจารณาให้เป็นเครื่องรู้ เครื่องละ เครื่องปล่อย เครื่องวางได้ ทุกๆ อารมณ์ที่ได้ผ่านขึ้นมาอย่างไร ? เพ่งดู ให้มันรู้อยู่อย่างไร ? แล้วความแทรกแซงปรุงแต่งของจิตนั้นมันคืออะไร ? มันพวกกิเลสตัณหาประเภทไหน ? ที่ก่อเกิดขึ้นมาสอพลอหลอกให้เป็นการยึดมั่นถือมั่น ดีชั่วตัวตน อะไรสารพัดอย่าง

นี่ต้องดูมันทุกอย่างให้ตลอดไป มันล้วนแต่เป็นสัตว์ร้ายๆ ก็มีที่มันเกิดขึ้นมานี่ ถ้าเราไม่รู้หรืออ่านมันไม่ออกแล้ว ก็หลงเป็นพวกเดียวกัน เช่น พวกสัตว์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้น ก็เข้าพวกกับสัตว์ร้ายๆ ด้วยกันได้และไม่ค่อยจะรุนแรงนัก เพราะมันเข้าไปเป็นพวกกันอีก มันก็สอพลอก่อเกิดหลอกลวงให้งมงายอยู่เรื่อยทุกอารมณ์หมด ดังนั้นต้องอ่านให้มันละเอียดทีเดียวว่า ความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งทั้งหลายนี่มันล้วนแต่เป็นสัตว์ทั้งนั้น ที่มีการ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เรียกว่าเกลียวของวัฏฏสงสาร จึงเป็นการก่อเกิดของสัตว์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ในจำพวกของความโง่ทั้งนั้นไม่รู้อะไรเป็นอะไรทั้งหมด

เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยหลักธรรมวินัยของพระพุทธเจ้านำเอามาเป็นเครื่องสอบทานจึงจะรู้ เฉพาะแต่สติปัญญาของตัวเองแล้วมันยังไม่รู้ละเอียดได้เลย มันรู้ได้ก็แค่เพียงส่วนหยาบๆ ส่วนลึกส่วนละเอียดนี่มันยังมองไม่เห็น จึงต้องนำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงชี้หลักเอาไว้ในลักษณะต่างๆ โดยไม่ต้องเอามามากมายก็ได้ เพียงแต่นำมาเป็นเครื่องรู้ เครื่องฝึกดูว่า การที่จะฝึกจิตอบรมจิตนี่จะต้องให้มันอยู่ในมาตรฐานอย่างไร ? ให้มีความมั่นคงอยู่ด้วยการมีสติอย่างไร ? หรือว่ามันยังง่อนแง่นคลอนแคลนไปตามอารมณ์ ที่เรียกว่าหลงอารมณ์ โดยที่มันหลงงมงายมานับไม่ถ้วนแล้ว

ทีนี้มันจะต้องเกิดความรู้ขึ้นมาใหม่ เป็นเครื่องอ่านให้มันชัดเข้า จับได้ในลักษณะของความหลง ที่มีอยู่ในตัวเองนี้ แล้วก็ต้องพินิจพิจารณาให้เป็นการเห็นแจ้งแทงตลอดขึ้นมาให้ได้ เพราะอำนาของอาสวกิเลสที่มันครอบงำสันดานอยู่นี้มันไม่ใช่ของง่าย ฉะนั้นจะต้องดูกันจริงๆ ต้องพิจารณาให้มันเห็น ไม่ใช่รู้อยู่อะไรเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็ว่ารู้แล้ว อย่างนี้มันยังใช้ไม่ได้ยังเป็นการหลอกตัวเองอยู่ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจะต้องเพ่งดูพิจารณาดูอยู่เสมอทีเดียว มันจะมีมายาอะไรขึ้นมาหลอกมาลวงหมายดีชั่วทางอายตนะผัสสะก็มาก ซึ่งล้วนแต่สับสนอลหม่านไปทั้งนั้น และที่เกิดขึ้นมาในความจำหมายภายในก็เป็นของละเอียด มันแทรกแซงปรุงแต่งจิตอยู่ทั้งนั้น

ถ้าไม่รู้ก็ลอยละล่องท่องเที่ยวไปกับมันนั่นเอง ไปคบเข้ากับพวกสัตว์โง่ ฉะนั้นสัตว์นานาชนิดที่เกิดขึ้นภายในจิตนี้ จะต้องมีการปลดปล่อยมันเสีย เราไม่ใช่มานั่งว่า “สัพเพสัตตา” แต่ปากเท่านั้น สัตว์นานาชนิดที่เกิดขึ้นมากมายก่ายกองในมโนธาตุนี้ จะต้องมีการพิจารณาปลดปล่อยมัน เพราะว่าสัตว์หมายถึงสังขารทั้งหลาย ก็คือความปรุงความคิดความหมายความจำนั่นเอง ที่มันเห็นว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นสัตว์เป็นบุคคลนั่นแหละคือสัตว์นานาชนิด ที่มันเกิดขึ้นภายในจิต ปรุงแต่งให้จิตมีการหลงใหลใฝ่ฝันไปกับมัน เพลิดเพลินไปกับมันมากมาย

แล้วจะต้องหยุดดูหยุดรู้ให้เห็นคติต่างๆ มีปรากฏขึ้นมาในจิตในใจให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นคติของกิเลสประเภทไหน! แล้วก็มีภาพชาติอยู่อย่างไร ในขณะที่มันเปลี่ยนแปลงอยู่ สับสนอลหม่านด้วยอกุศลวิตกก็มาก แล้วที่จะเป็นเครื่องรู้เครื่องเห็นที่เรียกว่าเป็นญาณทัสนะ ซึ่งเป็นการรู้เห็นความจริงทุกๆ อย่าง ที่ปรากฏเปลี่ยนแปลงเกิดดับหลอกหลอนอยู่ในจิตในใจทั้งนั้นเลย ไม่ว่าเรื่องอะไรทั้งหมด ที่มันไปจำมาคิดมาปรุงเป็นน้ำไหลนี่ ต้องรู้ว่าเป็นสังสารวัฏ ที่เป็นการท่องเที่ยวของสัตว์ทั้งหลาย ส่วนมากก็ยังอยู่ในอำนาจของกิเลสตัณหาอุปาทานทั้งนั้น ทั้งยังท่องเที่ยวอยู่ในภพในชาติเปลี่ยนแปลง เกิดดับวุ่นวายอยู่กับเกิด แก่ เจ็บ ตาย นั่นเอง

ฉะนั้นเรื่องสังสารวัฏนี้คือเรื่องวุ่นวายปรุงแต่ง ที่มีการปรุงแต่งจิตใจ ให้หลงใหลเพลิดเพลินอยู่ในทุกข์หรือในโลกทั้งนั้น จึงไม่อาจรู้เห็นได้โดยง่ายเลย เพราะมันถูกปรุงอยู่ด้วยกิเลสตัณหาเท่าไรๆ แล้วมันก็ยังหลงละเมอว่า ตัวรู้อย่างนั้นตัวรู้อย่างนี้ ที่แท้แล้วก็ยังหลงอยู่ตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้ว่าจะรู้อะไรก็เพียงผิวเผิน เรื่องข้อปฏิบัติที่จะดำเนินไปตามหลักของพระพุทธเจ้า ที่เป็นไปในลักษณะของการประพฤติพรหมจรรย์ที่เป็นของบริสุทธิ์ เป็นโลกุตตรสุญญตาแล้วจะต้องรู้เรื่องสังสารวัฏให้ถูกต้อง ที่ถูกปรุงอยู่ทุกเวลานาทีนี้มันสังสารวัฏหรือไม่ ถ้าเพ่งดับสังสารวัฏก็เป็นนิพพาน เพราะฉะนั้นสังสารวัฏหรือนิพพานก็อย่างเดียวกันนั่นเอง

ทีนี้มันยังเป็นสังสารวัฏอยู่ มันยังหมุนอยู่ มันยังปรุงอยู่ มันยังไม่หยุด ถ้ามันหยุดได้สักขณะหนึ่งก็คงจะรู้เรื่องว่า การหยุดนี่เองมันทำให้พ้นทุกข์ได้ แล้วทีนี้การหยุดนี้มันหยุดยาก เพราะว่ามันสืบมาจากอวิชชา โมหะ และตัณหา ที่เป็นอาสวะขั้นสำคัญมาก มันพาให้ท่องเที่ยวไปในเกลียวทุกข์ของสังสารวัฏเรื่อยทีเดียว แล้วก็ยังมีความปรารถนาจะเกิดใหม่อีก เพราะตัณหานี่มันชูรส มันอยากจะให้เกิดใหม่ มันยุยงส่งเสริมอยู่ในจิตให้แส่ส่ายขยายเรื่องราวต่อไปทั้งนั้น แล้วมันก็ทนทุกข์ทรมานอยู่ในตัวของมันเอง ที่ยังยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราเป็นของของเราในรูปธาตุ นามธาตุกลุ่มนี้ มันยังมองไม่เห็นความเป็นธาตุ มันยังยึดถือว่าเป็นตัวเราเป็นของของเราอยู่ ความทุกข์ระทมขมขื่นก็ต้องมี แล้วมันก็ต้องทุกข์แล้วทุกข์อีก อยู่ในกลุ่มทุกข์ทั้งนั้น แม้จะมีการทุเลาเบาบางไป ด้วยการรักษาเยียวยาบางครั้งบางคราวก็ตามแต่เนื้อแท้ของมันแล้ว ต้องเป็นไปอย่างนั้นมันโยกโคลงอยู่ตลอดเวลา

ถ้าใครไม่รู้ก็ไปหลงจะเอาสุขกับมันให้ได้ แล้วนั่นแหละมันจะยิ่งจมลงไปในทุกข์ นอกจากนั้นยังมีการแก้ไขจะเอาความสุขให้ได้ แต่มันก็ยังไม่ได้ถึงได้มามันก็ได้ชนิดเป็นของหลอกๆ ลวงๆ ชั่วครั้งชั่วคราว แล้วเห่อเหิมเพิ่มเชื้อต่อไปอีก เพราะฉะนั้นจะต้องพิจารณาแล้วพิจารณาอีก กลั่นกรองให้มันละเอียดให้มันลึกซึ้ง มันจะได้เบื่อหน่ายคลายกำหนัดออกไป จะได้ยอมปล่อยยาอมวางเสียบ้าง อย่าให้มันยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเราของเราให้มากไปนักเลย เพราะว่ามันไม่อยู่ในอำนาจจริงๆ ก็เห็นๆ กันอยู่ แต่ว่ายังหลงกอดรัดยึดถืออยู่ มันยังเห็นไม่ชัด มันยังเห็นไม่แจ้ง ก็มีการกำหนัดรักใคร่สยบอยู่ในรูปนามนี้ว่าเป็นตัวเราเป็นของของเรานักหนา

เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับผู้ที่จะออกไปให้พ้นจากสังสารวัฏ นี่จะต้องพิจารณาให้รู้ให้เห็น ทั้งต้องมีการฝึกเป็นการให้ละความคุ้นเคยที่มีมาในสันดานแต่กาลก่อน ที่มันมีการกอดรัดยึดถือตัวเราของเราอย่างเหนียวแน่นอยู่อย่างไร จะต้องพิจารณาอยู่เรื่อย ให้มันเป็นการคืนคายถ่ายคอนออกไปให้ได้ ถ้าไม่ทำอย่านี้แล้วมันจะต้องเกิดตายอีก แล้วก็ทุกข์แล้วทุกข์อีกอยู่ร่ำไป ยิ่งหลับหูหลับตาอยู่แล้วด้วย มันก็เหมือนกับคนตาบอดที่มองไม่เห็นอะไร แม้แต่สิ่งที่ปรากฏให้รู้ให้เห็นทางสัมผัสมันก็มองไม่เห็นอีก

เพราะฉะนั้นคนที่มีโมหะครอบงำมากๆ มันจึงได้แย่อยู่ในตัวนั่นเอง แม้จะเรียนรู้อะไรจะฟังธรรมก็ไม่รู้เหตุผล เพราะว่าความโง่หรือความหลงครอบงำสันดานอยู่ ทีนี้ภาษาของธรรมะที่พระท่านรู้กัน แต่ธรรมดาสามัญชนนี้ฟังไม่รู้เรื่องมันฟังแต่เรื่องของคนหลงๆ เรื่องที่จะให้พ้นไปจากเรื่องคนเรื่องของนี่ก็ฟังไม่รู้อีก ฉะนั้นต้องมีการพิจารณาให้รู้เสียว่า ภาษาของคนกับภาษาของธรรมะตรงกันข้ามแล้วก็อย่าเอามาปนกัน ให้แยกออกไปคนละส่วน เพราะเป็นสิ่งตรงกันข้ามอยู่ทั้งนั้น เช่น “ความมีกับความไม่มี” “ความวุ่นกับความว่าง” ควรศึกษาพิจารณาให้รู้แจ้งในความว่างเปล่าจากตัวตน โดยประการทั้งปวง



.................................................

คัดลอกมาจาก ::
http://www.dharma-gateway.com/
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง