Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 วันเข้าพรรษา (ก.เขาสวนหลวง) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ส.ค. 2006, 7:20 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

วันเข้าพรรษา
โดย ท่าน ก.เขาสวนหลวง

สำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง จ.ราชบุรี
๒๕ กรกฎาคม ๒๕๑๕



วันนี้เป็นวันเข้าพรรษา ผู้ปฏิบัติที่ได้มาประชุมกันก็เพื่อจะมาปฏิบัติในพรรษานี้ให้เป็นพิเศษ เพราะว่าเรื่องการเข้าพรรษานี้ก็มีประจำอยู่ทุกๆ ปีมาแล้ว แต่ก็จะต้องพยายามปฏิบัติให้ดีขึ้นตามลำดับ แม้ว่าจะมีการตั้งสัจจะกระทำความเพียรยิ่งขึ้นก็นับว่าเป็นการดี หือว่าจะมีการบังคับตัวเองในความประพฤติให้เคร่งครัด มัธยัสถ์ ก็ควรจะทำ เพราะต่างก็มีความตั้งใจที่จะมาเข้าพรรษาที่นี่ ก็ควรจะมีการทำอะไรให้เป็นพิเศษเสีย จะได้เป็นการก้าวหน้าของตัวเอง เพราะว่าชีวิตที่ได้ผ่านมา ก็ไม่ใช่เพื่อการกระทำอย่างอื่น ทุกวันทุกเวลาของชีวิตจะต้องประพฤติปฏิบัติให้เป็นการก้าวหน้าเรื่อยไปทีเดียว ยิ่งประกอบกับการเข้าพรรษานี้ด้วยแล้ว ก็ควรจะมีการกระทำจริงให้ครบถ้วนตลอดเวลา ในระยะเวลาสามเดือนนี้

ถ้าอยู่ชนิดที่ไม่มีการพากเพียรอะไรแล้ว มันก็สิ้นเปลืองเวลาของชีวิตไปเปล่าๆ แล้วก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ฉะนั้นก็ควรประพฤติปฏิบัติให้เต็มสติกำลังทีเดียว แต่ว่าจะต้องอบรมศีล สมาธิ ปัญญา ให้มีการเจริญยิ่งขึ้น จนกระทั่งรู้สึกได้ว่ามีความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา และจิตใจด้วย ต้องมีการสำรวมระวังให้มากอย่าได้มีการประมาทเลย เพราะว่าถ้าเป็นการกระทำให้บริสุทธิ์ครบถ้วนแล้ว ก็มีอานิสงส์ใหญ่ แต่ว่าถ้าทำให้ขาดทะลุ ด่างพร้อยในเรื่องของศีลแล้วก็มีโทษ เพราะว่ามันเป็นการทุศีลอยู่ในตัวเอง นี่เป็นความเสียหายอย่างย่อยยับทีเดียว อย่าเห็นว่าเป็นของเล็กน้อยเลย เพราะฉะนั้นจะต้องมีการสำรวมระวังให้ครบถ้วน

เฉพาะเรื่องจิตใจนี้ก็ต้องอบรม คือว่าต้องฝึกให้มีสติสัมปชัญญะอยู่ทุกเวลา ให้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการยืน เดิน นั่ง นอน ต้องทำให้มัธยัสถ์เคร่งครัดให้ได้ อย่าให้มีการย่อหย่อนอ่อนแอไปเป็นอันขาด เพราะจะได้เป็นเครื่องรู้สึกตัวเองได้ว่าจะต้องทำให้เป็นพิเศษกว่าทุกๆ พรรษาที่ผ่านมา พร้อมทั้งมีการสำรวมกาย วาจา ใจ ให้มีการคุ้มครองเอาไว้ด้วยการมีสติสัมปชัญญะให้ครบถ้วนให้จงได้ แม้จะผิดพลาดพลั้งเผลอไปบ้าง ก็ต้องสำรวมระวังต่อไปใหม่ และการสำรวมระวังทางอายตนะผัสสะนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องมีการรอบรู้อยู่ด้วย ถ้าไม่มีการสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้ว ศีลกี่ข้อๆ มันก็ไม่บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นเรื่องการรักษาอินทรีย์สังวรศีลจึงเป็นขั้นละเอียด และเป็นขั้นที่จะต้องอบรมจริงๆ จึงจะได้รับประโยชน์

ถ้าว่าเป็นการทำอย่างสะเพร่า หรือตามความชินเคยของสันดานแล้ว ก็จะเป็นคนทุศีลแล้วทุศีลอีก มีทุกข์โทษอยู่กับตัวเองมากมายนัก นอกจากนี้ก็ยังทำความเสียหายให้แก่เพื่อนร่วมปฏิบัติด้วย ฉะนั้นจึงต้องระวังกันให้เคร่งครัดในพรรษานี้ ทั้งนี้ไม่ว่าคนเก่า คนใหม่ที่เข้ามาอยู่ที่นี่ จะต้องมีการฝึก มีการปฏิบัติชนิดที่มีความเคร่งครัดมัธยัสถ์ เพราะจะต้องสำรวมระวังทวารทั้งหกนี้ให้มาก แล้วก็งดเรื่องการพูดจาอะไรที่ไม่มีประโยชน์เสีย และเรื่องเดรัจฉานกถานี้ก็ขอให้สนใจกันให้มากสักหน่อย ถ้าว่างดเว้นเรื่องเดรัจฉานกถาได้แล้ว ศีลจะบริสุทธิ์ครบถ้วนทั้ง กาย วาจา ใจ ทีเดียว แล้วก็ควรจะมัธยัสถ์เคร่งครัดกันให้มากๆ ทั้งในระยะเดือนแรก หรือว่านับแต่วันนี้ไป ถ้าว่าใครจะมีการตั้งสัจจะอะไรก็ได้ หรือว่าจะอยู่เงียบๆ ไม่ต้องมาประชุมก็ได้ แล้วแต่ว่าใครต้องการจะทำเป็นพิเศษอะไรของตัวเองก็ตั้งสัจจะมาเสีย เพื่อเป็นการประกาศให้ที่ประชุมทราบและจะได้เป็นที่เรียบร้อยกัน ถ้าตั้งใจทำจริงในสิ่งใดแล้ว มันก็จะมีประโยชน์แก่ตัวเองทั้งนั้น ดีกว่าที่จะไม่ตั้งสัจจะอะไรไว้เป็นการล้อมรั้วของตัวเองเสียเลย

เพราะว่าคนที่ไม่กล้าตั้งสัจจะนี้ เท่ากับเปิดหนทางให้แก่กิเลสนั่นเอง คือว่าถ้าตั้งสัจจะแล้วกลัวว่าจะทำตามกิเลสไม่ได้ มันก็เลยไม่ค่อยจะกล้าตั้งสัจจะ แล้วก็ปล่อยไปตามนิสัยเคยมานั่น ไม่สำรวมกาย ไม่สำรวมวาจา และไม่สำรวมกิริยามารยาทอะไร มันทำให้เสียหายทั้งแก่ตนเอง และเป็นเยี่ยงอย่างแก่คนอื่น ที่มองเห็นแล้วก็ไม่น่าจะมีศรัทธา หรือว่าไม่สมกับเป็นผู้ปฏิบัติธรรมเสียเลย เพราะว่าการที่ไม่ได้สำรวมอะไรก็เหมือนชาวบ้านไป นึกจะพูดอะไรก็พูดเพ้อเจ้อ หรือว่าการตลกคะนองเฮฮาอะไรอย่างนี้ ต้องของดให้หมด เพราะว่าจะต้องเป็นการทำจริง จะมาทำเล่นๆ มันไม่ได้ มันเสียประโยชน์แล้วก็ทำลายวันเวลาอันมีค่าของชีวิต ซึ่งไม่น่าจะทำ

ฉะนั้นเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว ถึงแม้จะผิดบ้างถูกบ้าง ก็ขอให้เลิกกันให้หมด กวาดทิ้งกันให้หมด ตั้งหน้าทำใหม่ต่อไปให้ดีให้ถูกให้ได้ เพราะมันเรื่องทำได้ ถ้าไม่เพียรพยายามทำเพื่อข้อปฏิบัติของตัวให้ก้าวหน้าแล้ว แม้ว่าอยู่วัดไปจนตายก็มีแต่ว่าจะเพิ่มทุกข์เพิ่งโทษให้ เพราะเป็นคนเหลาะแหละไม่มีการประพฤติปฏิบัติดี แล้วมันก็เป็นการเสียหายอยู่กับตัวเองทั้งนั้น ถ้าว่าทำดีทำถูก พร้อมทั้งมีการสำรวมกิริยามารยาทให้สมแก่เป็นผู้ปฏิบัติแล้วก็นั่นแหละเป็นการทำความดี หรือทำการพ้นทุกข์ พ้นโทษให้แก่ตัวเอง แล้วก็มีคุณธรรมมากมายเพิ่มขึ้นมาเอง

เพราะฉะนั้น เรื่องการกระทำข้อปฏิบัติที่มีการสอบสวนพิจารณาตัวเองให้ถูกต้องถ่องแท้แล้ว มันจะเปลี่ยนสันดานของตัวได้ คือว่าสันดานเดิมเป็นคนสะเพร่า เป็นคนกิเลสหนาปัญญาหยาบ แต่พอมีความรู้สึกตัวด้วยสติปัญญาแล้ว มันจะต้องกลับได้ กลับจากคนมีสันดานหยาบคายให้เป็นคนมีสันดานดีละเอียดลออขึ้น มีทั้งความประพฤติดีครบถ้วนตลอดกาย วาจา ใจ แม้ทำอะไรก็ทำด้วยการมีสติก็ได้ แต่ว่ามันต้องหัดเพราะว่าเราไม่ได้มีงานอะไรที่ต้องทำประจำวัน นอกจากงานที่จะต้องฝึกสติให้ติดต่อทุกอิริยาบถเท่านั้น แล้วนับว่ามีโชคดีเท่าไร ได้มีโอกาสมาฝึกอบรม ชนิดที่มีการปฏิบัติโดยเฉพาะด้านเดียวเท่านั้น

ฉะนั้น จึงเป็นการทำคุณงามความดีให้แก่ตัวเองอย่างยิ่ง เพราะว่าจะอยู่คลุกคลีเหมือนกับอยู่บ้านเรือนก็จะทำไม่ได้ เพราะได้เข้ามาอยู่ในวัดในวาแล้วนับว่าเป็นโอกาสดีมาก และถือว่าเป็นคนมีวาสนาบารมีก็ได้ที่ได้มาสร้างบารมีกันนี้ ได้ทำให้มีคุณงามความดีเป็นที่อุ่นอกอุ่นใจ หรืออิ่มอกอิ่มใจของตัวเองได้ว่าทุกวันทุกเวลานี้ได้ประพฤติคุณงามความดีครบถ้วนทั้ง กาย วาจา ใจ ก็สงบ ปราศจากทุกข์โทษทั้งหลาย แล้วนี่มันจะเป็นการรู้สึกตัวได้จริงๆ ว่า การปฏิบัติธรรมนี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่งของชีวิต แม้ว่าได้ผ่านมาแล้วแต่หนหลังที่ได้ทำผิดบ้างถูกบ้าง

แต่ว่าการปฏิบัติธรรมก็จำเป็นต้องแก้ปัญหาของตัวเองเรื่อยไป ส่วนที่เข้าใจว่าถูก เมื่อเข้ามาถึงขั้นละเอียดแล้วมันยังผิดก็มี ฉะนั้นเราก็ต้องใช้สติปัญญาพิจารณาตัวเองให้ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น การปฏิบัติจึงจะเป็นการเข้าไปทำลายอาสวะกิเลส ที่มีอยู่ในสันดานในด้านลึกได้ แม้ว่าจะมีความดีอะไรเป็นพิเศษบ้างก็อย่างเพิ่งไปตื่นเต้น ต้องพยายามพิจารณาต่อไปอีก รู้ต่อไปอีกว่าความสับปลับกลับกลอกของความรู้สึก ที่มีหลอกหลอนอยู่หลายชั้นอย่างไรแล้วตัวเองนี่จะต้องพินิจพิจารณาอย่างไร มันถึงจะเปลี่ยนจากนิสัยเดิม คือว่าความไม่รู้ความหลงงมงาย ให้มีสติปัญญาเป็นเครื่องรู้ของตัวเอง และเป็นเครื่องซักฟอกตัวเองให้ถูกต้องยิ่งขึ้น

อะไรที่มันผิดพลาด หรือเป็นของไม่ดีไม่งาม ก็จะต้องพยายามงดเว้น ละ เลิก เพิก ถอนไปทีเดียว หรือจะต้องทำความรู้สึกตัวอยู่ทุกขณะที่เปลี่ยนอิริยาบถนี่ ถ้าว่ามีสติติดต่อแล้ว ทุกข์โทษของกิเลสทั้งหลายนี่มันจะน้อยลงไป คือว่าจิตใจนี่มันจะมีความสงบมากขึ้น แล้วก็ประกอบกับการเคร่งครัดมัธยัสถ์ในการพูดน้อย และก็จะไม่คลุกคลีกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ถ้าไม่มีเรื่องจำเป็น และก็ให้ต่างคนต่างอยู่ แม้ว่าจะมีกิจการอะไรที่จะต้องทำต้องพูดบ้างก็ให้พูดกันตามสมควรเท่านั้น ต้องอยู่ในที่หลีกเร้นในที่อยู่เฉพาะคนเดียวให้มาก โดยที่ว่าการบังคับผัสสะ คือว่า ตาเห็นรูป หูฟังเสียง มันจะออกไปดูออกไปฟังเอาเรื่องเอาราวอะไร ต้องปิด ต้องควบคุม ถ้าไม่ควบคุมแล้ว ศีลนี้ก็จะไม่บริสุทธิ์ได้

เพราะฉะนั้น เรื่องการรักษาอินทรียสังวร ต้องตั้งหลักปกติให้เป็นภาคพื้นเอาไว้ทุกอิริยาบถให้ได้ ถ้าว่าฝึกได้ตลอดไปอย่างนี้ เป็นการรู้ว่าการยินดีก็ผิดแล้วการยินร้ายก็ผิดแล้ว ทีนี้ถ้าว่ามันผิดไปจากปรกติไปก็แปลว่าศีลอินทรียสังวรไม่บริสุทธิ์แล้ว แปลว่าเศร้าหมองแล้ว ทีนี้ลองพิจารณาดูกันว่า การที่จะควบคุมทางอายตนะผัสสะนี้อย่าให้มันไปยินดียินร้าย ในขณะที่ตาเห็นรูป หูฟังเสียงเหล่านี้ แล้วก็ควบคุมเอาไว้ให้ดี แม้ว่าอยู่กันสองคนก็ต้องเลิกพูดกัน จะพูดกันเท่าที่จำเป็น ถ้าไม่จำเป็นแล้วก็อย่าไปนั่งคุยกันเป็นอันขาด เพราะว่าเราจะต้องทำจริง เพียรจริง ซึ่งเป็นการทำความดับทุกข์ให้แก่ตัวเองจริงๆ

เพราะฉะนั้นจะต้องพากเพียรให้ยิ่งขึ้นเสมอ อย่าให้มันย่อหย่อนอ่อนแอไปเลย เพราะต่างคนต่างก็มีความปรารถนามาด้วยกันทั้งนั้นว่าจะมาปฏิบัติให้ดี การปฏิบัตินี้จะต้องมองด้านในให้มาก อย่าออกไปเอาเรื่องข้างนอก ต้องปิดประตูดูข้างในให้มันเงียบไปเลย อย่าให้มันหาเรื่องหาราวเข้ามายึดถือเลย ถ้าว่าเป็นการพร้อมเพรียงกันทั้งหมดสำหรับในพรรษานี้ก็อยากจะขอแนะนำผู้ปฏิบัติที่ได้มาร่วมจำพรรษาที่นี่ ขอให้ปิดประตูดูข้างในกันทุกคน แล้วควรมีเรื่องทำให้น้อยที่สุดทีเดียว แต่มีการพิจารณาเข้าด้านในให้มากที่สุด และให้เปิดเผยข้อปฏิบัติขณะที่เราได้มีการอ่านจิตใจของเราเอง ให้รู้ทุกข์ รู้โทษของกิเลสตัณหาอุปาทาน ในลักษณะอย่างไรที่มันเกิดขึ้น เมื่อเรามีสติปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเป็นเครื่องดับทำลายมันได้แล้ว ก็เห็นผลประจักษ์ว่า จิตใจนี้มันจะไม่เร่าร้อนเศร้าหมองก็จะรู้ได้ว่าชีวิตประจำวันนี้ได้เดินตามรอยของพระอรหันต์

หรือในวันหนึ่งคืนหนึ่งนี้ ทำศีลให้บริสุทธิ์ครบถ้วนแล้วจิตใจก็มีความสงบระงับและก็มีสติปัญญาที่จะพิจารณาให้รู้จริงเห็นแจ้งในความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของรูปนามขันธ์ห้านี้เป็นจุดสำคัญ เพราะการพิจารณาเพื่อจะให้รู้ความจริงในเรื่องรูปที่ประกอบไปด้วยธาตุนี้ ต้องพิจารณาอย่างซ้ำซากว่า ร่างกายทั้งหมดนี้สักแต่ว่าธาตุทั้งหมด ไม่ใช่เป็นตัวเราจริงจังหรอก ต้องแยกธาตุดูเสียอย่าไปหลงอุ้มชูมันไว้นักเลย เพราะว่าล้วนแต่ทุกข์ทั้งนั้นและในขณะที่ยังมีโอกาสนี้ก็ให้รีบพิจารณาให้รู้จริงเสีย อย่าเอาความสุข เอาสบายแค่กินๆ ถ่ายๆ นี้เลย เพราะว่ารูปนามขันธ์ห้านี้มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ บังคับบัญชาไม่ได้ แล้วก็อยู่ในวงล้อมของพวกกิเลสตัณหาอุปาทาน ทั้งภายในภายนอกทั้งหมด

ฉะนั้นต้องรู้ให้ละเอียด ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่เข้าไปทำลายอาสวกิเลสที่มีอยู่ในสันดานได้ มันก็นึกว่าเท่านี้ก็ดีแล้ว เท่านั้นก็ดีแล้ว มันมักจะบอกเสียว่ามันดีแล้วเรื่อยไป ทีนี้คำว่า “ดีแล้ว” นี่มันเป็นคำหลอกลวงของอวิชชา คือว่ามันยังไม่รู้อะไร แต่ว่าพอรู้อะไรขึ้นมาเล็กๆ น้อยๆ มันก็บอกว่าดีแล้ว มันคอยดับเอาไว้ มันคอยล้อมเอาไว้เสมอไม่ให้ออกไป ให้อยู่ในอำนาจของมัน มันก็เลยหลอกอยู่แบบนี้ เพราะฉะนั้นคนที่ถูกหลอกกันอยู่เท่าไรๆ ไม่ค่อยรู้สึกตัวกันได้ง่ายๆ ก็เพราะว่าอะไรๆ ก็นึกว่าตัวดีเสียแล้ว ปฏิบัติได้บริสุทธิ์ขั้นศีลก็ดีแล้ว ส่วนจิตใจที่มันยังไม่รู้จริงเห็นแจ้องอะไร มันยังมืดแปดด้านอยู่ มันจะดีไปได้อย่างไร ต้องสอบกับมันให้ได้รายละเอียด เพราะว่าการทำข้อปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ พ้นทุกข์แท้จริง มันไม่ได้มาดีอยู่ขั้นขั้นนี้ได้เลย

เพราะฉะนั้นจะต้องมองผ่านเลยไปทั้งหมด ต้องรู้จักลักษณะของความหลง คือว่ามิจฉาทิฏฐิที่มันเห็นผิดแล้วมีการยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราของเราเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นเรื่องจ่อหน้าจ่อตาอยู่ แต่ว่ามองกันไม่ค่อยจะเห็นไปเองว่า มิจฉาทิฏฐิ มองเห็นเป็นตัวเราตัวเขาอะไรทางผัสสะนี้ หรือว่าทางอายตนะทั้งภายในภายนอก นั่นก็เกิดดับสับสนอยู่ และก็ยังยึดมั่นถือมั่นอยู่ ดีชั่ว ตัวตนอะไรก็ล้วนแต่เป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ทั้งนั้น แม้จะไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิขั้นศีล แต่ก็มาเป็นมิจฉาทิฏฐิขั้นสมาธิ ซึ่งในขั้นปัญญาที่ยังไม่รู้จริงเห็นแจ้ง มันก็ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่เหมือนกัน

ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิแล้วจะต้องเห็นแจ้งและต้องรู้จริง เมื่อรู้จริงแล้ว ก็ต้องเบื่อหน่ายคลายกำหนัดเรื่อยไปทีเดียว ในที่สุดก็ต้องผ่านไปทั้งนั้น ไม่ว่าจะรู้เห็นอะไรทั้งหมด รวมลงว่าเห็นสภาวะคือว่ารูปธรรม นามธรรม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน “ตามรู้ ตามเห็น” อยู่อย่างนี้ ให้เป็นการชัดเจนแจ่มแจ้ง แล้วจิตนี้จะได้ไม่ไปเที่ยวยึดถือ เมื่อ “รู้” เข้ามาอย่างนี้พอมันตั้งหลัก “รู้” ได้ว่า “รู้” นี่ต้องอยู่ที่ “รู้” อย่าให้ “รู้” นี้มันออกไป “รู้” ข้างนอก

ฉะนั้น คำว่า “รู้! รู้!” นี่ต้องให้มันยืนหลักรู้เอาไว้ดู แล้วก็ดูว่าสิ่งที่มันมีลักษณะเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป ทั้งที่ตัวความรู้เองนี่ต้องเข้ามา “รู้อยู่” “เห็นอยู่” อย่างนี้ ถ้าว่ารู้ได้ในลักษณะที่มีการ “รู้อยู่” อย่างนี้ “เห็นอยู่” อย่างนี้แล้วมันก็จะไม่มีเรื่องอะไรมากเลย แม้ว่าจะมีความจำ ความคิดอะไรเกิดขึ้น มันก็ “รู้อยู่” “เห็นอยู่” ว่ามันดับไป ไม่มีอะไรเป็นจริง คือว่า มันว่างจากตัวตนทั้งนั้น ฉะนั้นความรู้ที่จะต้อง รู้อยู่ จึงเป็นหลักสำคัญมาก

ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับเป็นเสาเขื่อน ถ้าว่าไม่เป็นเสาเขื่อน มันก็เชือนแชไปเที่ยวรู้โน่นรู้นี่ไป แต่นี่ให้ “รู้เดี่ยว” เสียโดยที่ “รู้หนึ่ง” นี่ อย่าให้มันเที่ยววิ่ง “รู้” ไปอย่างอื่น ถ้าหากว่า “ยืนรู้” โดยมีสติได้แนบแน่นอยู่ทุกอิริยาบถได้แล้วนั่นแหละจะเป็นหลักเสาเขื่อนขึ้นมา แต่ถ้าว่ายังไม่ได้ทุกอิริยาบถ มันเป็นเหมือนหลักปักเลน คือว่าประเดี๋ยวมันก็เอนไปเอียงมา ที่สุดก็ล้มลงเพราะว่าขาดสติ แล้วกิเลสก็เกิดขึ้นมาได้ จึงเข้ามาเผาจิตใจให้เร่าร้อน ฉะนั้นต้องอ่านด้วยภาษาใจล้วนๆ อย่าต้องไปเอาหลักเกณฑ์เข้ามาสอบนักเลย ถ้าจะเอามาสอบก็เพียงแต่เป็นหลักเท่านั้น

โดยเฉพาะหลักแท้ๆ แล้วต้องหลัก “สติ” หลักสตินี้มันต้องมั่นคง แต่ว่าตามธรรมดาหลักของสติมันไม่มั่น พอกระทบอะไรมันก็ขาดไป ซึ่งก็สังเกตให้ทุกขณะหมดในการกระทบผัสสะทางตา ทางหู ก็ตาม ว่าหลักสติปรกติวางเฉยนี้มันมั่นคงไหม นี่ก็เป็นเรื่องสอบได้ง่ายๆ เพราะหลักใจที่มีสติกำหนดรู้ วางเฉยอยู่ “รู้อยู่” “ที่รู้อยู่” ทุกขณะนี้ แม้ว่าถ้าหลักของสติ จะยืนหลักอย่างนี้ได้แล้ว จิตใจนี่มันจะไม่วิ่งว่อนไปไหนเลย มันจะมีการ รู้อยู่ เห็นอยู่ ภายในตัวเองนี้ แล้วก็พิจารณาได้รายละเอียดมากขึ้นทีเดียว

เมื่อมองมาดูทางรูปธรรม ก็จะเห็นความเป็นธาตุ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เหล่านี้แล้วมันก็ดับ หรือ ดับ ไปเป็น ความว่าง คือไม่ยึดถือ มันเป็นธาตุก็ไม่ยึดถือ จะสมมุติเป็นอะไรก็ไม่ยึดถือทั้งนั้น เป็นแต่เพียงว่าสมมุติว่าเป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นคำสมมุติ แต่ก็ไม่ยึดถืออีก เพราะฉะนั้น เรื่องไม่ยึดถือนี่มันช่างเป็นของลึกซึ้งเสียจริง ตั้งแต่ขั้นนอกๆ เข้าไปถึงขั้นใน ก็ล้วนแต่ “ไม่ให้ยึด มั่นถือมั่น” ทั้งนั้น ถ้าว่าเป็นการอ่านทะลุได้ในเรื่องนี้แล้ว ข้อปฏิบัติจะไม่มีอะไรมาก ไม่ต้องไปเอาหลักเกณฑ์เข้ามาสอบมากมายเลย เพราะได้อ่านเอาในด้านจิตใจล้วนๆ ว่า หลัก รู้ นี้มัน รู้อยู่ อย่างไร ? หรือว่ามัน รู้ผิด ไปในลักษณะอย่างไร ? นี่เป็นเครื่องสอบได้ทุกขณะหมด ตลอดจน ยืน เดิน นั่ง นอน ต้องยืนหลักสตินี้เอาไว้ เพราะหลักสตินี่เป็นของสำคัญที่จะเป็นเครื่องคุ้มครองจิตใจให้อยู่ในลักษณะของความว่าง ความสงบ ความวางเฉยได้

แต่ทั้งนี้จะต้องอบรมทำจริงทุกอิริยาบถในการยืน เดิน นั่ง นอน ต้องมีสติติดต่อให้ได้ เพราะเป็นกิจกรรมที่สำคัญมาก ถ้าว่ายังไม่ได้อบรมทำจริงแล้ว สติจะไม่ติดต่อความรู้จริง เห็นแจ้งอะไรมันก็ยังไม่เกิด และยังไม่รู้อยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นมาตรฐานความตั้งมั่นของความรู้ต้องให้มีให้ได้ ตั้งหลักอย่างนี้ให้ได้ แล้วก็มีการประคับประคองเอาไว้ให้ได้ เพราะว่าเรื่องการที่จะรักษาหลักความรู้ที่เป็นสติอย่างแนบแน่นนั่นสำคัญที่ตรงเพียรประคับประคอง ถ้าไม่มีการเพียรประคับประคองแล้วการที่จะตั้งมั่นทรงตัวเองได้ไม่ใช่เป็นของง่าย เพราะบางทีก็จะมีการเผลอไผลล้มลงไป คือว่าตั้งหลักไม่ได้

จึงต้องสังเกตดูว่า หลักฐานภายในนี้ ที่เราเคยล้มลุกคลุกคลานกันมา ก็เป็นเครื่องสอบให้รู้อยู่ในตัวเองด้วยกันทุกคน แต่ว่าต้องตั้งใจสังเกต ถ้าไม่ตั้งใจสังเกต ไม่ตั้งใจพิจารณาตรวจสอบข้อปฏิบัติภายในแล้ว มันจะตั้งหลักฐานไม่ได้ ถ้ามันตั้งหลักไม่ได้แบบนี้ ถึงจะรู้อะไรขึ้นมาก็รู้ไปงูๆ ปลาๆ มันไม่ชัดแจ้งอะไรเลย แต่ว่าโดยมากมักจะอวดรู้ เรียกว่ารู้ก่อนเกิดเสียมากกว่า แต่ถ้ารู้จริง รู้แล้วมันนิ่ง ยิ่งนิ่งมันก็ยิ่งซึ้ง ยิ่งนิ่งมันยิ่งแจ้ง ยิ่งนิ่งมันก็ยิ่งชัด นี่ต้องสังเกตให้ดีให้ถูกให้ได้



(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ส.ค. 2006, 7:26 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เพราะว่าตามธรรมดาอารมณ์มันย่อมมีการกระทบ เช่น ตากระทบรูป หูกระทบเสียง เป็นต้น แต่ว่าความคุ้นเคยที่มีมาในสันดาน คือว่าการเผลอสติที่ออกไปมีความหมายต่อ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เสียงจึงทำให้ความรู้ไม่เป็นอิสระ เพราะเหตุนี้จึงต้องให้ควบคุมอายตนะทางผัสสะให้มากๆ แล้วก็มีการเพียงเพ่งพิจารณาเข้าด้านในคือว่าตั้งหลักให้มัน “หยุด !” หยุดคิด หยุดปรุง หยุดนึก อะไรทั้งหมดนี่เป็นมาตรฐานภายใน ที่เรียกว่าเป็น “สติ” จึงจะเป็นหลักได้

ส่วนอารมณ์ทั้งหลายนั้นก็เป็นการผ่านแล้วก็ดับไป ผ่านแล้วก็ดับไปเท่านั้น แต่มาตรฐานของความรู้หรือของ สติ ให้มั่นคงอยู่ที่เดียว ไม่ให้ออกไปมีความหมายอะไร แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ เหมือนปากพูด แต่จะต้องสังเกตและต้องพิจารณาในขณะที่เกิดการกระทบอารมณ์แล้วก็มีการเลือนรางไปอย่างไร หรือว่าเผลอสติออกไปอย่างไร ? นี่ต้องตรวจกันอย่างกระชั้นชิดให้ถึงแนวข้างในให้ได้ แม้ว่าจะยาก จะเอียดลึกซึ้งเท่าไรก็ตามก็ จะต้องพยายามสังเกต ต้องพยายามพิจารณา พยายามรอบรู้ให้ดี

ในที่สุดก็จะตั้งหลักได้ เหมือนกับเด็กครั้งแรกที่จะตั้งไข่ มันจะต้องล้มลุกๆ เสียหลายครั้งหลายหนกว่าจะตั้งหลักได้ แล้วก็ล้มอีก เพราะฉะนั้นก็ลองสังเกตดูซิว่า จิตที่จะมีสติติดต่อ หรือไม่ติดต่อ ที่มันล้มลุกคลุกคลานไปกับการเผลอสติมากมายเท่าไร เราจะตั้งหลักอย่างไร ? ให้มันมั่นคงได้ หรือมันล้มไปลักษณะอย่างไร ? ภายหลังก็จะรู้ได้ว่าเพราะลักษณะอย่างนี้ มันจึงได้ล้มไปอย่างนั้น หรือว่าเราจะไปบอกว่ามันไม่เที่ยงไม่เที่ยว เมื่อเอาไม่เที่ยงนี้เข้ามาปฏิเสธเสียแล้ว ทีนี้มันจะตั้งหลักไม่ได้เลย เพราะบอกว่าไม่เที่ยงเสียทั้งนั้น แล้วมันก็เลยตั้งหลักไม่ได้ ผลที่สุดเลยไม่ต้องตั้งหลักกันอีก

เพราะฉะนั้นในขั้นของ อุปจารสมาธิ ก็ตาม หรือขั้น อัปปนาสมาธิ ก็ตาม เป็นสมาธิที่ดับผัสสะได้ ทำไมจึงตั้งได้ เพราะขั้นอัปปนานี้เป็นขั้นดับผัสสะได้แล้วทำไมท่านตั้งได้ แต่ทำไมเรานี้เพียงขั้นอุปจารสมาธิก็ตั้งไม่ค่อยจะได้เป็นเพราะเหตุไร ทั้งนี้เพราะว่าการอบรมของเรายังไม่รู้ว่า การที่จะกำหนดจิต หรือความรู้ให้เป็นการตั้งมั่น มันยังไม่รู้วิธีการที่จะให้มีการตั้งหลักได้อย่างไร หากว่าจะมองเข้าด้านในให้ซึ้งแล้ว มันตั้งหลักได้ แต่ถ้าว่ามันออกไปรับรู้ทางผัสสะเสียแล้ว ความรู้นี่มันจะกระจายออกเป็นความฟุ้งซ่านไป

ทีนี้ มันต้อง “รวมรู้” “รวมสติ” รวมความรู้เข้ามารู้ แม้แต่ขั้นต้นๆ จะเป็นการรู้ลมหายใจก็ได้ รู้ให้ติดต่ออยู่เรื่อยทุกลมหายใจเข้าออก จนกระทั้งลมหายใจนี้เบาลง เบาลง เบาลง ก็แสดงว่าลักษณะของจิตกำลังจะเริ่มเป็นสมาธิ แต่ว่าเราจะต้องทดลองดูว่า ลมหายใจที่ละเอียดจนกระทั่งไม่รู้สึกว่ามีลมหายใจก็ตาม เราก็ทดลองถอนหายใจขึ้น ความรู้นี้ก็ยังรวมตัวอยู่ สติก็ยังรวมรู้อยู่ ยังไม่ออกไปข้างนอก นี่ขอให้สังเกตในขั้นที่กำหนดลมหายใจก็ได้ ถ้าว่ามันรวมรู้ เข้ามาอยู่สู่ลมหายใจก็จะไม่ฟุ้งซ่าน และจะมีการหยุด มีการสงบ นอกจากว่ามันจะตั้งได้นานหรือไม่นานเท่านั้น ถ้ามันตั้งได้นานก็ต้องเพียรเพ่งพิจารณาให้เป็นการเห็นแจ้งแทงตลอดได้ ถ้าว่ามันยังตั้งหลักไม่ได้มั่นคงนัก ก็ต้องประคับประคองดูไปก่อน การประคับประคองนี้เป็นของละเอียด ท่านจึงได้มีการเปรียบว่า “เหมือนบาตรที่ใส่น้ำมันเต็มเปี่ยม แล้วก็จะเดินไปอย่างไรจะไม่ให้น้ำมันในบาตรมีการกระฉอก” คือว่าจะต้องเดินประคองบาตรน้ำมันไปอย่างเชื่องช้าที่สุด แล้วก็ไม่ให้หกกระฉอก จะเดินในลักษณะอย่างไร นี่เป็นแบบที่ฝึกให้มีสติสัมปชัญญะก็ลองฝึกดูซิ

ในระยะต่อไปเมื่อฝึกให้มีสติสัมปชัญญะในอิริยาบถทั้งสี่แล้ว ก็ให้ประคับประคองความรู้ เช่นมีสติที่ตั้งมั่นอยู่ภายใน แม้จะเปลี่ยนอิริยาบถก็ต้องเพียรประคับประคองความรู้นั้น ให้ดำเนินอยู่ในความเป็นปรกติในความตั้งมั่นได้ เฉพาะ ตา นี่อย่ามองไกล หู นี่ก็อย่าเที่ยวตะแคงหูฟังไป มันต้องลดลงหมด เพราะว่าการประคับประคองข้างในทางผัสสะ ทางหู ทางตานี่ มันลดลงได้ แต่ถ้าลองไม่ประคับประคองข้างในแล้วเปิดโล่งหมด จิตใจก็หวั่นไหวออกไปรับผัสสะหมดทีเดียว ต้องสังเกตดูให้ดี ในขณะที่เราฝึกให้มีสติสัมปชัญญะทุกอิริยาบถแล้วนี้ขั้นหนึ่ง

ส่วนอีกขั้นหนึ่งที่ต้องเพียรประคับประคองเหมือนการประคองบาตรที่เต็มไปด้วยน้ำมันจะต้องพยายามเดินไปไม่ให้มันหก ถ้ามีการสังเกตอย่างใกล้ชิดได้ในเรื่องที่จะประคับประคองความรู้ภายใน ให้ดำเนินไปได้ติดต่อในระยะยาวแล้ว ก็นั่นแหละมันจะเป็นการอ่านภายในได้รายละเอียดมาก แต่ถ้ายังไม่ได้ ก็ต้องพยายามต่อไปอีก แต่ว่ามันไม่ใช่ของที่จะทำได้ง่ายๆ นัก เพราะว่าจิตนี้ขณะกระทบอารมณ์มันหวั่นไหวง่าย แม้จะรู้อะไรขึ้นมาก็ยังรู้เผินๆ เนื่องจากหลักฐานยังไม่มั่นคง ถ้าจะรู้อะไรขึ้นมาก็รู้งูๆ ปลาๆ ทั้งนั้น ฉะนั้นต้องสังเกตดูว่าความรู้อย่างนี้มันยังใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องให้ได้หลักฐานที่มั่นคง แล้วก็เพ่งพินิจพิจารณาประกอบพร้อมทั้งต้องมีการประคับประคองอยู่ด้วย แล้วก็ต้องลดทางผัสสะเสียให้หมดไม่เอาใจใส่ การที่จะรักษาหลักความรู้ภายในมันต้องสำรวมอย่างนี้ ถ้าว่ามีการสำรวมได้ติดต่อมาก โดยเฉพาะว่าต้องอยู่คนเดียวจึงจะทำได้ ถ้าว่าสองคนแล้วมันไม่ตลอดไปได้ เพราะว่าการกระทบผัสสะนี่ทำให้จิตใจออกไปรับ มันไหวออกไปรับข้างนอก ฉะนั้นที่จะรวมรู้เข้ามาดูข้างในได้นั้น ผัสสะภายนอกต้องเงียบหมด แม้ว่าจะได้ยินก็ทำเป็นไม่เอาใจใส่เสีย

แต่โดยเฉพาะว่าการยืน เดิน นั่ง นอน ถ้าอยู่คนเดียวจริงๆ จะทำได้ดี และจะทำให้มีสติติดต่อได้ ถ้าเป็นการทดลองหัดทำดูขณะที่นั่งนอนอยู่คนเดียวนี้ ก็จะสามารถพิจารณาได้รายละเอียดมากทีเดียว นอกจากเราจะไปฟุ้งซ่านเสียแล้วก็จะจำจะคิดอะไรออกไปนอกลู่นอกทางเสียเท่านั้น ถ้าว่าเป็นการฝึกจริงแล้ว หลักของสติจะมีการมั่นคงได้ และการที่จะหวั่นไหวไปกับอารมณ์ที่มากระทบนั้น ก็จะมีความรู้เท่าทันได้ หรือจะเสียหลักไปในลักษณะอย่างใดก็รู้ได้ทันที และต่อไปจะเป็นการฝึกได้ง่ายขึ้นที่จะซักซ้อมอะไรของตัวเองขณะอยู่คนเดียว เพราะหลักของสตินี้เป็นของสำคัญมากจึงต้องปิดกั้นทางทวารทั้งหก ไม่ให้มีการไหวออกไปรับการยินดียินร้าย เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เรื่องที่จะไม่ถูกปรุงด้วยของคู่ เรื่องของคู่นี้เป็นเรื่องสำคัญมากเหมือนกัน เพราะทำให้จิตไม่สงบระงับลงไปได้ เพราะฉะนั้นจะต้องรู้ว่าของคู่นี้เป็นมายาทั้งนั้น อย่าไปมีความหมายมั่น เช่น ดี ชั่ว ถูก ผิด เหล่านี้ล้วนแต่ว่ามันเป็นมายา อย่าไปเอาใจใส่ดีกว่า

ให้ดูเข้าไปในจิตล้วนๆ ในลักษณะที่เป็นสภาวะของมัน ถ้าไม่ถูกกระทบกระทั่งอะไรแล้ว ก็สงบอยู่ รู้อยู่ เห็นอยู่ ในใจนี้ ถ้าหากว่าตั้งหลักอย่างนี้ได้ก็เรียกว่าเป็น “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ด้วยธรรม” ขึ้นมา แต่ถ้าว่ามันไม่ได้เข้ามา รู้อยู่ เห็นอยู่ ในลักษณะที่จิตนี้มีการทรงตัวอยู่ แล้วก็พิจารณาให้รู้ความจริงในสิ่งที่ปรากฏการณ์ของรูปธาตุนามธาตุล้วนแต่มีลักษณะที่เสื่อมไปสิ้นไป ไม่มีอะไรที่ควรจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเลย เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องไปดูเรื่องราว ให้ดูในลักษณะที่มัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วก็ไม่มีเรื่องอะไร ดูให้มันชัด ส่วนหลักสตินี้ก็ยืนรู้อยู่ เห็นอยู่ ในลักษณะอย่างนี้ มันก็ “ว่าง” ถ้าว่าเห็นอยู่ในลักษณะอย่างนี้แล้ว มันจะมี “ตัวตน” หรือ “เป็นตัวตน” ขึ้นมาได้อย่างไร นี่ต้องดูตัวจริงกัน อย่าไปเอาเรื่องในตำรา เพราะว่าเรื่องตำรานั้นเป็นแต่เพียงแผนที่ ที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ข้อปฏิบัติเอาไว้มากมายก่ายกองนั้นก็เป็นแต่เพียงแผนที่ชี้ทางให้เท่านั้น

แต่เราต้องมาพิจารณาตัวจริง โดยเฉพาะท่านก็บอกอยู่ตรงๆ แล้วว่า ให้พิจารณาขันธ์ห้าโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ว่าเรามันไม่ได้พิจารณาให้รู้เอง มันก็เลยป้วนเปี้ยนเวียนวนไป เที่ยวอยากจะไปรู้อะไรต่ออะไรกันให้มากไปเสียหมด เพราะฉะนั้นให้เพ่งดู รู้อยู่ เห็นอยู่ ที่รูปธรรม นามธรรม ว่ามันเกิดดับเฉพาะหน้าปัจจุบันนี้ อยู่ทุกขณะนี้ มันมีจริงอยู่อย่างนี้ ว่าเกิดเท่าไรก็ดับไปหมด มันมีอะไรทีไหน ถ้าว่ามันเป็นตัวตนก็คงจะไม่มีที่เอาไว้ แต่นี่มัน ไม่มี มัน ว่างเปล่า เป็นแต่นึกคิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป แล้วก็เปลี่ยนขึ้นมาใหม่อีก เช่นนี้จะไปดูมันไหวหรือ

ฉะนั้นต้องยืนหลัก หยุดดู หยุดรู้ เสีย เพราะนั่นก็ เกิดเอง ดับเอง ไม่ต้องไปสนใจอีก ตั้งหลักสตินี้ให้มั่นคงเอาไว้ ถ้าว่าทำอย่างนี้ได้แล้วไม่ลำบากเลยเรื่องข้อปฏิบัติ รู้อะไรก็รู้ได้ แล้วก็ปล่อยไป วางไปหมด ไม่ต้องไปมีความหมาย เป็นอันว่ารู้ลักษณะของความเกิดดับ ตามความเป็นจริง แล้วก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็ว่างไป ไม่ใช่เป็นตัวเราเป็นของของเราจริงๆ นี่ต้องดูให้เห็น ต้องรู้ให้จริงๆ ว่ารูปธาตุ นามธรรม ไม่ใช่ “เป็นตัวเราเป็นของของเรา” ต้องดูให้ชัด ถ้าไม่ชัดแล้วมันก็ ยังยึดมั่นถือมั่นอยู่นั่นเอง มันหลอกลวงต่อหน้าต่อตา ถ้าไปรู้ความหลอกลวงของตัวเอง ที่มันบอกว่า “มันรู้” “มันรู้” อยู่แล้ว นั่นแหละมันจะพาหลง เพราะว่ายัง “รู้” อยู่ในความสำคัญผิด ยังเป็นการยึดถือว่า “ตัวรู้” อยู่ และที่ รู้ผิดๆ นี่ก็ ไม่รู้ เพราะว่าความรู้ผิดนั้นมันปิดบังอยู่จึงต้อง หยุดดู หยุดรู้ จึงจะรู้ว่านี่มันเป็น ความรู้ผิด ไม่ใช่รู้ถูก

ถ้าว่ารู้ถูกแล้วจะต้องรู้แจ่มแจ้งแทงตลอดไปทีเดียว แล้วก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น ทำให้จิตใจนี้ไม่มีราคี คือมีความสงบมีความสะอาดตามธรรมชาติของมัน ถ้าว่าดูตัวจริงกันในเรื่องนี้ได้ ข้อข้อปฏิบัตินี้จะไม่ยากลำบากเลย แต่ถ้าว่าไปดูเรื่องราว ดีชั่ว ถูกผิด อะไรที่เป็นของคู่แล้วมันจะยุ่งไปหมดทั้งนั้น เหมือนกับไปดูเงาฉายของภาพยนตร์ ซึ่งก็หลงดูไป เปลี่ยนชุดไป ดีชั่ว อะไรก็เปลี่ยนไป แล้วถ้าไปดูอย่างนี้มันก็ “หลง” หลงดู หลงรู้ เพราะฉะนั้นต้อง หยุดดูข้างใน ไม่ไปสนใจเรื่องราวดีชั่วอะไร ให้ดับหมด ปล่อยวางเสีย

ยืนหลักรู้ และหลักของความรู้ หรือสติมันจะได้เป็นเสาเขื่อนไม่ให้มันเชือนแชไปเอาอื่นหรือไปรู้อย่างอื่น ต้องย้ำอยู่กับหลักเสาเขื่อนให้มั่นคง จะได้ไม่หวั่นไหวไป ถ้าจะหวั่นไหวไปในลักษณะอย่างไร ก็จะได้หยุด! หยุดรู้ ให้มันมารวมกำลังให้เป็นอิสระขึ้นมาให้ได้ ควรต้องฝึก ต้องซ้อมอยู่เรื่อยไป เพราะไม่ใช่ว่าจะตั้งหลักได้มั่นคงไปทีเดียว แต่ว่ามันจะต้องล้มลุกคลุกคลานไป แล้วเราก็ต้องสังเกต รู้ไป ปล่อยไป วางไป ตั้งไป โดยเฉพาะให้รู้เรื่องนี้ เรื่องจิต เรื่องเดียว ถ้าว่ารู้อยู่ในเรื่องจิตนี้เรื่องเดียวได้แล้ว ภายนอกนี่ไม่มีความหมาย ดี ชั่ว ตัวตนอะไรก็เพิกทิ้งหมดไป ว่างหมดเลย สมมุติบัญญัติก็ไม่ต้องเอาแล้ว ถ้าว่าดูให้เห็นแจ้งแทงตลอดไปได้มันปลอดโปร่ง ว่างเปล่าหมดไปเลย แต่ถ้ายังติดเงาลวงเงาหลอกของความรู้อยู่อีก มันก็ยังหลงอยู่ มันติดอยู่อย่างนี้

เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงพื้นความรู้ภายในจิตใจล้วนๆ แล้ว ถ้าว่าเป็นการ “กำหนดดู” “กำหนดรู้” แล้วมันจะเชือนแชเป็นความปรุงไป เป็นความหมาย ความคิด ความยึดถือ ความสมมุติเรื่อยเปื่อยไปหมดเลย หลักความรู้ก็ตั้งไม่ได้ เพราะมันถูกหลอกโดยอารมณ์ที่ไม่รู้นั่นเอง เพราะฉะนั้นเราจะต้องพยายามอ่านใจของเราเองให้ชัดเจนขึ้นมาให้ได้ ว่าที่มันกลับกลอกหลอกหลอนยึดมั่นถือมั่น นี่มันเรื่องอะไร ? มันเรื่องหลงใช่ไหม ? มันหลงอยู่ในตัวรู้ของตัวเองนี่ใช่ไหม? ซักถามกันดู ที่สงบว่างๆ เฉยๆ ก็ว่าดีแล้ว ยัง อาสวะมัน ยังอยู่ต้องดูเข้าไปอีก รู้เข้าไปอีก ฟอกเข้าไปอีกจึงจะได้ ไม่ใช่ว่าจะให้คลายขาด ขาวไปได้ทีเดียวหรอก แต่ว่าให้มันพบว่าแม้แต่ “ตทังควิมุตติ” เช่นกับพิจารณาอนัตตสัญญา “ความจำหมายว่าไม่มีตัวตน” แล้วมันก็ปล่อยวางได้ขณะหนึ่ง เรียกว่า “ตทังควิมุตติ” หลุดพ้นเป็นขณะๆ เท่านั้น ต่อไปก็ลองสังเกตดูว่า การพิจารณาเห็นความจริงแล้วปล่อยวางได้ จิตก็ “ว่าง” หรือ “สงบ” อยู่ได้ “รู้” อยู่ได้ เป็นขณะๆ

แต่ว่าพอกระทบผัสสะเข้าก็หวั่นไหวโยกโคลงไปอีก ฉะนั้นก็ขอให้สังเกตดูว่า ขณะที่มันสงบลงไประงับลงไป มันควรจะต้องประคับประคองไว้อย่างไรดี เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าจะต้องมีจิตที่สงบระงับ แต่ว่ามันไหวตัวเร็วเท่านั้นเอง ลักษณะของจิตที่ไหวตัวนี่แหละ มันยังไม่รู้วิธีการ คือว่าจะประคับประคองไว้อย่างไร ? จะคุ้มครองไว้อย่างไร? จะมีการพากเพียรประคับประคองไว้อย่างไรดี ? นี่มันเป็นปัญหาเฉพาะหน้าของทุกคน ถ้ามีการอบรมจิตแล้วจะต้องมีปัญหาอย่างนี้เกิดขึ้น เพราะว่ามันล้มลุกคลุกคลานมามากมายก่ายกอง ถ้าไม่รู้จักประคับประคองแล้ว ก็ต้องรู้ว่ามันเสียหลักไปกับอะไร ? เพลิดเพลินไปกับอะไร ? ฉะนั้นจะต้องกลับมาตรวจแล้วตรวจอีก สอบแล้วสอบอีก จึงจะรู้ขึ้นมาได้ และเรื่องนี้ถ้าจะสอบกันให้เป็นหลักตายตัวก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน จะต้องมีโยนิโสมนสิการของตัวเอง ที่พูดนี้ก็พูดแนะแนวเท่านั้นเอง เพราะว่าเรื่องที่จะประคับประคองความรู้ ให้ทรงตัวได้ทุกอิริยาบถ มันเป็นของละเอียด ให้ไปทดลองทำดู แล้วมันจะต้องดับทางผัสสะได้เอง

ทีนี้เอาเฉพาะว่าอ่านความรู้ภายในล้วนๆ ที่เป็นเรื่องจิตใจล้วนๆ ทีเดียว แม้มันจะมีการเกิดดับรับอารมณ์ว่องไวอย่างไร ก็สามารถที่จะรู่ได้ไม่เหลือวิสัย แต่ว่ามันเป็นของละเอียด มันไหวตัวเร็วที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องประคับประคองได้ ทดลองเรื่อยไป พอเราสังเกตรู้แยบคาย คอยมีสติประคับประคองไว้จนกระทั่งเป็นการสังเกตดูในระยะที่มันจะออกไปรับผัสสะภายนอก แล้วก็มีการ “หยุดดู หยุดรู้” เพราะว่ายืนหลักอย่างเดียว คือว่า รู้เดี่ยว ให้มันหยุดรู้ให้ได้ อยู่ในตัวของมันเองให้ซ้ำๆ อยู่เรื่อย ยังไม่ต้องการรู้อะไรมากมาย อย่าไปอยากรู้ อย่าไปอยากเห็น แต่ว่าให้มัน “หยุดดู หยุดรู้” อยู่ในตัวเอง ให้ได้ทุกขณะเป็นการปล่อยวางอย่างนี้ เพียรประคับประคองเอาไว้ รักษาเอาไว้ให้ได้ ต้องฝึกซ้อมไปนานจนกว่ามันจะตั้งหลักได้ทีละเล็กละน้อย เป็นเรื่องภายในล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับหลักฐานแบบแผนตำราทั้งหมด เพราะว่าวิธีการอ่านจิตใจมันต้องรู้ ถ้าไม่รู้แล้วจิตนี่จะไม่มีความสงบได้เลย ไม่ว่าง มันจะว่างก็เข้าไปหมายเอาชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็เพลินไปกับความว่าง ฉะนั้นต้องอ่านจิตให้ได้ทุกขณะ จิตจะว่าง และสงบได้ตามสมควร



.................................................

คัดลอกมาจาก ::
http://www.dharma-gateway.com/
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง