Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ธรรมโอสถ (ก.เขาสวนหลวง) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ส.ค. 2006, 7:14 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ธรรมโอสถ
โดย ท่าน ก.เขาสวนหลวง

สำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง จ.ราชบุรี
๓๐ กันยายน ๒๕๑๕



วันนี้จะพูดถึงเรื่องการไหว้พระ เพราะว่าเป็นประเพณีมาแต่โบราณกาล ซึ่งถือว่าเป็นกิจวัตรสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ใช่เป็นการกระทำพอเป็นพิธีแต่ประการใดเลย แต่คนส่วนมากมักจะมองข้ามกันไปเสีย ไม่ได้เอาใจใส่ที่จะศึกษาให้รู้เรื่องจริงอันเป็นเนื้อแท้ของธรรมะที่มีอยู่ภายในบทสวดมนต์นั้นเลย ทั้งยังมีคนไม่เข้าใจก็มากมาย แม้แต่เด็กๆ อายุ ๓ ขวบก็ว่านะโมได้ แต่ว่าสำหรับคนแก่อายุตั้งแปดสิบที่ไม่เคยสนใจกับการสวดมนต์มาก่อน ก็ยังไม่รู้เรื่อง “นะโม” ว่ามีความหมายอย่างไร? เพราะบางทีสวดได้แต่ปากเท่านั้น ส่วนเนื้อแท้ยังไม่รู้อะไรเป็นอะไร ในขั้นต้นแม้ “นะโม” บทเดียวก็ยังไม่รู้แล้วบทต่อๆ ไปจะไปรู้อะไร ดังนั้นจึงมองข้ามไปหมด เพราะถือว่าสวดพอเป็นพิธีก็แล้วกัน โดยไม่เคยสนใจที่จะศึกษาพิจารณาต่อไป จึงได้พูดไปตามประสาหลงๆ ด้วยกัน

ทั้งนี้เพราะบทสวดมนต์ทุกบท มีความหมายตั้งแต่ “นะโม” เป็นขั้นต้นมาทีเดียว ที่สวดตั้งนะโมมาจนนับไม่ถ้วนแล้วมีใครรู้บ้างหรือเปล่า หรือหลับตาว่าไปอย่างนั้นเอง ไม่ว่าจะทำบุญทำทานหรือรักษาศีล และไม่ว่าจะทำอะไรทั้งหมดก็ตาม เขาจะต้องตั้ง “นะโม” กันให้ลั่นไปหมดทีเดียว เพราะเหตุนี้แม้จะเอาคำง่ายๆ ที่ขึ้นต้นด้วยเรื่องว่า “นะโม” ก็ยังไม่รู้เรื่องจริง แล้วการที่จะเข้าถึงด้วยใจจริงนั้นมันจะเข้าไปได้อย่างไร?

เฉพาะ “นะโม” บทเดียวเท่านี้ก็มีความหมายลึกซึ้งมากมาย เช่นบท “ภควา” เป็นพระกรุณาคุณ “อรหโต” เป็นพระวิสุทธิคุณ “สัมมาสัมพุทโธ” เป็นพระปัญญาคุณ เพราะว่าได้เอาพระพุทธคุณมารวมไว้ถึงสามลักษณะ จึงกินความลึกซึ้งมาก และเหตุที่ไม่ได้ทำการศึกษาพิจารณานั่นเอง จึงมองข้ามไปเสียหมด แล้วก็นึกว่าไม่สำคัญอะไร ความจริงบทสวดมนต์ทุกๆ บท ล้วนมีความหายลึกซึ้งอยู่ทั้งนั้น แต่ที่สวดๆ กันไปแล้ว เพราะไม่ได้น้อมนำเอาคำที่สวดนั้นเข้ามาพินิจพิจารณาค้นคว้า จึงไม่รู้อะไร

เพราะฉะนั้นการที่จะศึกษาพิจารณาให้รู้เรื่องนี้ จึงมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับพุทธบริษัททั้งหลาย แม้แต่ในอดีตกาลล่วงมาแล้ว ก็เห็นผลของการที่ได้ศึกษา ได้ปฏิบัติธรรมะอย่างประณีตอยู่ภายในจิตใจ ไม่ใช่เป็นการสวดไปตามธรรมเนียม เนื่องจากบทสวดมนต์แต่ละบทๆ ล้วนแต่มีอรรถรสที่อมเอาความหมายอย่างลึกซึ้งเอาไว้ทั้งสิ้น เป็นต้นว่าเพียงแต่ “นะโม” บทเดียวเท่านั้น ก็เพียบพร้อมไปด้วยพระกรุณาคุณ พระวิสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ พร้อมกันไปในตัวเสร็จแล้ว ล้วนแต่มีเนื้อหาสาระ ซึ่งรวมเป็นข้อปฏิบัติทั้งนั้น แต่คนส่วนมากไม่ค่อยสนใจ ไม่ได้ทำการศึกษาพิจารณานั่นเอง จึงได้แต่ว่า พุทธังสรณัง คัจฉามิ ซึ่งเป็นการว่าแค่ปาก โดยยังไม่ซาบซึ้งเข้าถึงจิตใจ จึงสวดกันไปพอเป็นพิธีเท่านั้นก็เป็นอันพอแล้ว

ถึงแม้ว่าพิธีการที่เขาทำมาครั้งสมัยโบราณกาลนั้น เขากระทำกันด้วยใจจริง จึงเห็นคุณเห็นประโยชน์ประจักษ์แจ้งในบทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ละเอียดลออหมดล้วนมีความหมายอย่างลึกซึ้งทั้งนั้น เพียงอรหังบทเดียวนี้ ก็มีการเปรียบไว้ว่า “จะเอาแผ่นดินหมดทั้งโลกนี้เป็นกระดาษ แล้วเอาภูเขาทั้งหมดนี้เป็นดินสอ เอานำในมหาสมุทรทั้งหมดมาเป็นน้ำหมึก” ก็ยังพรรณนาคุณของพระอรหังไม่ได้ครบถ้วนเลย เพราะความหมายอันเป็นเนื้อแท้ที่ลึกซึ้งอยู่ในบทนะดมนี้ ล้วนมีความหมายไม่ว่าบทไหน ควรนำมาคิดนึกศึกษาพิจารณาให้รู้แยบคาย

ถ้าไม่ท่องจำเอาไว้ก่อนแล้ว ถึงแม้ว่าอ่านเท่าไร ฟังเท่าไร ก็ลืมหมด การท่องจำไว้นี้จะได้เอามาคิดนึกตรึกตรองให้ได้ความลึกซึ้ง ไม่ใช่สำหรับฟังกันชั่วคราว ถ้าไม่สวดแล้วก็ไม่ต้องท่องไม่ต้องจำไม่ใช่อย่างนั้น คนฉลาดที่เขาท่องเอาไว้นั้น เขาเอาไว้สำหรับคำนึกตรึกข้อความ ไม่ใช่ท่องเอาไว้สวดอย่างเดียว มันจึงจะรู้ความหมายในคำแปลนั้นๆ หรือในเนื้อหาสาระในบทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ได้ด้วยใจจริงไปทุกตัวอักษรหมด เพราะแต่ละบทล้วนมีอรรถรสเป็นธรรมะขั้นลึกซึ้งทั้งนั้น เท่ากับเป็นการรวมเอามาเทศน์ให้ฟังกันเป็นประจำ ยิ่งพิจารณาแล้วมันจะยิ่งซาบซึ้งมากทีเดียว ไม่ใช่แค่ทำพอเป็นพิธีเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยใจจริง ยิ่งเปล่งวาจาออกมาก็ยิ่งมีความซาบซึ้งมากขึ้น

แม้แต่การสมาทานศีลก็เหมือนกัน ล้วนแต่เป็นกิจวัตรที่จะต้องทำด้วยความเชื่อและความเลื่อมใสซาบซึ้งอยู่ทั้งนั้น โดยเฉพาะผู้ที่รู้คุณของนะโมจริงๆ ซึ่งท่านเปรียบไว้เท่ากับ “เขาของโค” ที่มีอยู่ “สองเขา” ส่วนพวกที่ไม่รู้ ท่านเปรียบเหมือนกัน “ขนโค” ซึ่งมีมากกว่าเขาโค เมื่อมีความรู้จริงแล้วมันเป็นพิเศษชนิดที่เป็นคำพูดไม่ถูก ในเรื่องพระกรุณาคุณ พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณนี้จะจาระไนออกมาเป็นคำพูดไม่ถูกเลย เพราะมันเรื่องพิเศษในชีวิต ไม่มีอะไรจะพิเศษเท่า แท้จริงแล้วเป็นข้อปฏิบัติที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาพิจารณาให้เป็นประจำทีเดียว เพราะส่วนมากยังเข้าไม่ถึงธรรมะด้านใน จึงหลงอยู่แต่เปลือกนอก ไม่ได้เข้าถึงเนื้อแท้ของธรรมะอย่างแท้จริง

ฉะนั้นในขณะที่สวดมนต์จบก็ดี หรือฟังธรรมะจบก็ดี ควรจะต้องได้ข้อคิดทุกครั้งทุกคราวเสมอไป เพราะในขณะฟังก็ต้องตั้งใจฟัง ตั้งใจสวด คอยนึกคิดพิจารณาอยู่ในใจ เมื่อเลิกแล้วก็ยังซาบซึ้งอยู่ในบทนั้นบทนี้ มิใช่รู้แค่ตามตัวหนังสือ หรือมีความนิยมอยู่ชั่วคราว แล้วก็ไม่มีความจีรังยั่งยืนอะไร เหมือนสมัยก่อนไม่นานมานี้ ทางวิทยุได้ประกาศให้ไหว้พระสวดมนต์แปลตอนเช้า ทำให้ประชาชนในประเทศไทยสนใจตื่นเต้นกัน เกิดความเลื่อมใสเป็นส่วนมาก จึงต้องพิมพ์หนังสือแจกเป็นจำนวนหมื่น ก็ยังไม่พอกับความต้องการของประชาชน ครั้นแล้วก็นิยมกันเพียงชั่วคราวเท่านั้นเอง มาบัดนี้เงียบหายไปหมด เพราะความที่ไม่ได้รับอรรถรสของธรรมะด้วยใจจริงนั่นเอง จึงทำให้เบื่อง่าย เนื่องจากขาดสติปัญญาพิจารณา

สำหรับผู้ปฏิบัติแล้วจะทำอะไรก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าอะไรควรไม่ควร ไม่ใช่เชื่อตามด้วยความงมงาย ล้วนแต่ต้องใช้สติปัญญาทั้งนั้น จึงควรต้องปรึกษาหารือกัน เพื่อให้เกิดความรู้ที่ถูกต้อง แล้วจะได้จูงกันขึ้นมาในฝ่ายสูง ไม่ว่าจะทำอะไรจะต้องรู้ว่า อะไรเปลือกอะไรแก่นอะไรเป็นกระพี้ก็ต้องรู้ อะไรควรทำไม่ควรทำอย่างไร มีประโยชน์ตนหรือไม่มีประโยชน์อย่างไร ล้วนแต่เป็นข้อที่ต้องศึกษาพิจารณาตัวเองทั้งหมด โดยที่ไม่คล้อยตามใคร มันต้องเป็นความเด็ดขาดจึงจะได้ ถ้าผิดไปจากนี้แล้ว ก็จะไม่รู้ธรรมด้วยใจจริงได้ และคงไม่สามารถเข้าถึงธรรมะที่เป็นลักษณะของภายในได้เลย ก็จะหลงอยู่เฉพาะเปลือกนอก

แต่ความจริงก็ต้องอาศัยเปลือกนอกเหมือนกัน การที่จะทำอะไรก็ตาม จะต้องรู้ว่าสิ่งไหนเป็นประโยชน์สิ่งไหน ไม่เป็นประโยชน์แล้วก็ทำไปตามที่ตนเห็นประโยชน์ มันจึงจะจูงกันขึ้นที่สูงได้ ไม่ใช่ให้ว่าอะไรก็ว่าตามกัน นั่นมันเป็นการเชื่ออย่างงมงาย สำหรับคนฉลาดแล้วเขาจะต้องทำการวินิจฉันไต่ถาม เพื่อให้เข้าใจในเนื้อความของธรรมะให้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น คอยค้นคิดพิจารณาคาดคั้นแต่เรื่องด้านในให้เป็นพิเศษ จึงเข้าถึงธรรมะที่เป็นเนื้อแท้ในภายใน เพราะว่ามันรู้ยากเห็นยากสำหรับสายตาของสามัญชน แต่มันก็ไม่เหลือสติปัญญาอะไร ฉะนั้นสิ่งไหนที่จะทำด้วยน้ำพริกนำแรงของตัวเองแล้ว ต้องหมั่นค้นคว้าให้เกิดสติปัญญาของตัวเองจริงๆ จึงจะได้ แต่มันกลับไม่กล้า มันกลัว เพราะความขี้เกียจคิดนึกศึกษาคอยจะเอาง่ายๆ จึงงมงายอยู่ เหตุที่ไม่ได้ทำลายเชื้อโรคภายในจิตใจนั่นเอง

เพราะฉะนั้นเรื่องข้อปฏิบัติมันต้องเป็นความเด็ดขาดยิ่งขึ้นเสมอ ไม่ให้มีความย่อหย่อนอ่อนแอเป็นอันขาด ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์อย่างไร แต่เรื่องความรู้ภายในแล้วไม่มีการตกหล่มจมปลักเพราะว่ามันทุกข์ทั้งนั้น จะต้องเอาตัวรอดให้ได้ต้องพยายามยกสถานะของจิตให้สูงขึ้นมาให้ได้ และต้องเอาธรรมวินัยของพระศาสดามาประจำจิตอยู่เสมอ ไม่ใช่อวดเก่งเอาแต่เรื่องของตัวเอง ตัวอวดเก่งนี้มันก็ทิฏฐิมานะที่เป็นตัวก่อความฉิบหายอยู่ แล้วจะเอามาเป็นหลักได้อย่างไร

ทีนี้ต้องเอาธรรมวินัยของพระศาสดามาเป็นข้อปฏิบัติ ทั้งจะต้องเลือกแล้วคัดอีกให้เหมาะสมแก่สถานะของตัวที่จะมีชีวิตอยู่อย่างไรในการปฏิบัติธรรมนี้ แล้วจะต้องกล้าเสียสละทุกอย่างจึงจะได้ผลที่เป็นการพ้นทุกข์จริงๆ เพราะเหตุนี้จะต้องมีการซักชวนหรือส่งเสริมกัน เพื่อให้เป็นการก้าวหน้าในเรื่องการปฏิบัติจริง โดยจะต้องอาศัยหลักหลักฐานตำรับตำราบ้างก็ได้ เพื่อเป็นแนวการคิดนึกศึกษาและเลือกเอามาตามสมควรถ้าจะไม่เอาเสียเลยนั้นมันไม่ได้ เพราะไม่ใช่เป็นพระพุทธเจ้าจะมาทำอวดเก่งไม่ได้ ต้องเอาธรรมวินัยของพระศาสดา คัดเลือกเอามาประพฤติปฏิบัติ ข้อไหนมีความหมายอย่างไร ? แปลว่าอะไร ? และวิธีทำนั้นจะทำอย่างไร ? ไม่ว่าในขั้นศีล ขั้นสมาธิ ขั้นปัญญา ทั้งหมดนี้ล้วนแต่จะต้องเอามากลั่นกรองทั้งนั้น นั่นแหละมันจึงจะได้ประโยชน์

เพราะฉะนั้นเรื่องการศึกษานี้เป็นของสำคัญมาก สำหรับคนที่มีสติปัญญาแล้วเขาจะต้องมุ่มต่อการศึกษาให้รู้ให้เข้าใจในแนวทางที่จะประพฤติปฏิบัติ เพราะกิเลสตัณหาอุปาทานก็เป็นของละเอียดลึกซึ้งมาก ถ้ายิ่งไม่สนใจศึกษาด้วยแล้วมันก็ยิ่งหยาบหนักเข้า ได้แต่พูดสอนกันโครมๆ ใครก็พูดได้ ถ้ายังไม่เข้าถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยใจจริงแล้ว การที่จะพยายามต่อไปมันก็ไม่มีหนทาง เรื่องของธรรมะนี้เป็นเรื่องที่ทนต่อการพิสูจน์เพราะว่าเป็นความจริงโดยส่วนเดียว ทนให้พิสูจน์ได้ไม่เลือกกาลไม่เลือกเวลา แต่ว่าไม่ได้พิสูจน์ด้วยใจจริงเท่านั้นเอง มันก็เลยไม่ได้รับประโยชน์ สิ่งที่จะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ก็ไม่รู้ไม่เห็น หรือรู้เห็นบ้างก็เลือนๆ ลางๆ แล้วก็เลื่อนลอยไป เป็นแต่พูดเก่ง ส่วนความรู้สึกที่จะซาบซึ้งเข้าถึงธรรมะภายในมันยังมองไม่เห็น เพราะฉะนั้นก็อยากจะพูดเพื่อว่าจะได้มีแง่สะกิดอะไรขึ้นมาให้เป็นการรู้สึกตัวกันทั่วๆ ไป ทั้งนี้จะได้เกิดสติปัญญาของตัวเองออกมาเป็นเครื่องรู้เครื่องเห็น เพราะไม่มีใครเขาไปรับผิดชอบให้ได้ ทั้งนี้ต้องเป็นของเฉพาะตัวด้วยกันทั้งนั้น

ดังนั้นเหตุที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขตัวของตัวเองนี้มีมากมายหลายอย่างเหมือนกัน ในฐานะที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ด้วยกัน มันควรจะต้องจูงกันไปทางไหน และจะต้องรู้อะไร อย่างนี้มันต้องทำการศึกษาพิจารณาให้รอบคอบไปทั้งนั้น ไม่ใช่อยู่นิ่งๆ เฉยๆ ว่างๆ เพลินๆ แล้วก็เอาโน่นเอานี่วุ่นวายไปกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เพราะว่ามันยังมีเวลาที่จะต้องศึกษาได้ จะต้องพิจารณาตัวเองหลายแง่หลายมุมนัก จึงต้องพูดแล้วพูดอีก แต่ถ้าไม่ฟังให้ดีแล้วมันก็ไม่ได้รับประโยชน์ ถ้าเป็นการรับฟังด้วยสติปัญญาแล้วจะมีประโยชน์มากทีเดียว เหมือนการปรารภธรรมะจะมีประโยชน์อย่างยิ่ง แต่นี่ประโยชน์มันน้อย มันก็อ่านกันไม่ค่อยจะถูก เพราะว่าไม่ได้คิด อ่านแล้วไม่ได้เอามาคิดมานึก มาศึกษา ฟังแล้วลืมเลือนเชือนแชไปหมด แต่ถ้าฟังด้วยสติปัญญาแล้วแนวทางของการปฏิบัติก็จะมีแต่ความเจริญขึ้นเสมอ ฉะนั้นขอให้ผู้ปฏิบัติทั้งหลายจงพากเพียรพยายามกันในเรื่องนี้ ให้ยิ่งขึ้นเสมอทุกขณะทีเดียว



.................................................

คัดลอกมาจาก ::
http://www.dharma-gateway.com/
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง