Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 จิตที่เป็นอิสระ เพราะปล่อยวางได้ (ก.เขาสวนหลวง) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ส.ค. 2006, 7:12 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

จิตที่เป็นอิสระ เพราะปล่อยวางได้
โดย ท่าน ก.เขาสวนหลวง

สำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง จ.ราชบุรี
๒๑ เมษายน ๒๕๑๕



วันนี้จะได้มีการปรารภข้อปฏิบัติ ที่ได้ดำเนินมาเป็นลำดับ เพราะความรู้หรือสติปัญญาที่ควบคุมจิตอยู่เป็นประจำ จะเป็นเครื่องอ่านออกทั้งภายนอกภายใน ที่จะมีอะไรเกิดขึ้นมาอย่างไร ไม่ว่าเรื่องจำเรื่องคิด ที่ประกอบไปด้วยทุกข์โทษก็จะต้องรู้สึกได้ และพินิจพิจารณาปล่อยวางออกไป แล้วจิตนี่จะได้ไม่วุ่นวาย หรือเป็นกลาง วางเฉยอยู่ได้ตามปรกติ เมื่อเกิดยึดถืออะไรขึ้นมา จะได้เป็นการอ่านออกว่า มันวุ่นวายเดือดร้อนเท่าไร

ฉะนั้นเรื่องการควบคุมจิตใจด้วยสติปัญญา จึงมีคุณมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง แม้จะเผลอไปเล็กๆ น้อยๆ ก็เห็นทุกข์เห็นโทษ แล้วที่เผลอไผลไปยึดมั่นถือมั่นมากมายก็ยิ่งเป็นทุกข์เป็นโทษใหญ่ การมีสติควบคุมเอาไว้ได้เป็นปรกตินี้ ทำให้ดับทุกข์ ดับกิเลสได้ในชีวิตประจำวัน ไม่มีเรื่องปรุงแต่งทำให้เดือดเนื้อร้อนใจ เป็นการอยู่อย่างสงบ แม้จะกระทำกิจการอะไร ก็ทำด้วยความสงบของจิตที่ไม่แส่ส่าย การประพฤติปฏิบัติประจำวันเช่นนี้ จึงเป็นการดับทุกข์ดับโทษภายในตัวเองได้

แต่ก็ต้องพินิจพิจารณาสอบเข้าข้างในอีก เพราะการเป็นปรกติภายนอกนี่มันขั้นหนึ่ง แล้วก็ต้องมองเข้าไปข้างในให้รู้ว่าจิตใจยังมืดมิดอยู่กับอะไร จึงยังไม่รู้แจ้งชัดเจนภายใน นี่ก็ต้องรู้สึกได้ว่าลักษณะของโมหะที่ห่อหุ้มอยู่อย่างไร แล้วเราจะพินิจพิจารณาเข้าไปได้อย่างไร ล้วนแต่เป็นข้อคิดของตัวเองที่จะต้องมองดูให้ทั่วถึง และรู้จักลักษณะของอารมณ์ที่ปรุงแต่งดีชั่วเหล่านี้ แม้ว่าส่วนหยาบๆ มันไม่ปรุง แต่ก็เป็นการจำการคิดขึ้นมา เป็นบางครั้งบางคราว ถ้าเราไม่รู้เท่ามันก็ขยายตัวหยาบ

ฉะนั้นเรื่องการควบคุมจิตด้วยการมีสติ จะต้องพินิจพิจารณาประกอบให้แยบคายอยู่เสมอ ไม่ให้ไปหยิบฉวยอะไรขึ้นมา รู้แล้วก็ปล่อยวาง รู้แล้วก็ปล่อยวางไป จิตจะได้อยู่ในลักษณะเป็นกลางวางเฉยได้แล้วก็พิจารณาควบคุมเอาไว้ประกอบกับการเพ่งดู เพราะการเพ่งดูเข้าข้างใจเป็นของสำคัญ ที่เพิ่งเข้าไปแล้วมักจะไม่ได้เรื่อง เพราะมันมองเข้าไปไม่ได้ ความวางเฉยมีมากเกินไป คือไปเฉยๆ เมยๆ เป็นการไม่รู้อะไรเป็นอะไร จึงต้องพินิจพิจารณาประกอบให้รู้แยกคายให้ได้ ทั้งปรากฏการณ์ของความรู้สึกนึกคิดที่มันเกิดๆ ดับๆ หรือความรู้สึกที่เป็นความสุขทุกข์ก็ดี ถ้าเราไม่ไปสนใจกับมันๆ ก็ดับไปตามธรรมชาติ ทีนี้การที่จะควบคุมสติให้ติดต่อทุกอิริยาบถจำเป็นจะต้องฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้วมันไม่รู้ การฝึกสติสัมปชัญญะให้มีการทรงตัวของจิต ที่มีความปรกติเป็นพื้นอยู่แล้ว ก็จะพิจารณาได้ในการเคลื่อนไหวของความรู้สึก หรือเพ่งพินิจพิจารณา มิฉะนั้นแล้วไม่รู้ ถ้าไม่รู้เรื่องของกาย ของเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่รู้สึกเกิดดับอยู่นี่ มันเป็นของดูไม่ง่ายนัก แต่ก็ต้องพิจารณาดูให้เห็นว่ากายที่เป็นเครื่องอาศัยของเรือนร่าง ที่มันเสื่อมและชำรุดทรุดโทรมอยู่อย่างไร ต้องกินต้องถ่ายอยู่อย่างไรนี่ต้องพิจารณาอยู่เสมอ

การพิจารณาให้เห็นความเป็นธาตุของร่างกายทั้งหมด จึงต้องทำในใจให้มาก แม้ขณะที่ร่างกายเป็นปรกติ คือยังไม่เจ็บไข้ได้ป่วย แต่มันก็ยังเพลินๆ อยู่ ทีนี้เมื่อเจ็บป่วยขึ้นมาก็มีความทุกข์เกิดขึ้น แล้วมันจะมีการดิ้นรนกระวนกระวาย และคิดแก้ไขไปตามอาการของโรคที่เกิดขึ้น ข้อนี้ต้องพินิจพิจารณาประกอบเอาไว้ด้วย ทั้งๆ ที่จะต้องแก้ไขเยียวยามันไปตามหน้าที่ แต่ให้เห็นความเป็นธรรมชาติของมันว่า รูปนามหรือร่างกายทั้งหมด มีความเปลี่ยนแปลงเป็นทุกข์ไปตามเรื่องของมัน ฉะนั้นจึงต้องพิจารณาให้รู้จริง จะได้คลายจากความกอดรัดยึดถือว่า เป็นตัวเราเป็นของของเรา ที่ยังมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่นักหนา

ถ้าเราไม่หมั่นพิจารณาให้รู้แล้วมันยากเหมือนกัน เพราะมันยังยึดมั่นถือมั่นอยู่เรื่อย ถ้าเราหมั่นพิจารณาและปล่อยวางออกไปได้จะมีความรู้สึกว่า ภายในจิตมีความว่างความสงบได้ตามสมควร แม้จะมีทุกข์กายทุกข์ใจจนน้ำตานองหน้าก็ตาม แต่ความรู้สึกของจิตที่มองเห็นชัดลงไปว่า นี่มันเป็นการแสดงออกของธรรมชาติ ที่เปลี่ยนแปลงและเป็นทุกข์อยู่ในตัวของมันเอง มิวันหนึ่งวันใดก็แตกแยกทำลายกลายเป็นธาตุไปทั้งหมด ก่อนที่มันจะแตกแยกต้องพิจารณาให้รู้เรื่องว่าร่างกายทั้งหมดนี้มันไม่คงทนถาวร แล้วก็ไม่ใช่ตัวเราจริงจัง เป็นแต่เรือนร่างที่อาศัยชั่วคราวเท่านั้น แล้วพิจารณาให้เห็นทุกข์โทษที่เกิดขึ้นภายในร่างกายนี้มันมากมายนัก ทั้งๆ ที่อยู่ดีกินดี แต่มันก็ยังมีทุกข์ที่เนื่องกับกายหรือเนื่องกับจิต เพราะความยึดมั่นถือมั่น แล้วร่างกายที่มันเปลี่ยนแปลงอยู่นี้ ก็ต้องกินต้องถ่าย ยืน เดิน นั่ง นอน เปลี่ยนอิริยาบถอยู่เป็นประจำทุกวันทุกเวลา จะต้องพิจารณาดูให้ดีว่า นี่มันเรื่องอะไรกันแน่ มันเรื่องของทุกข์ทั้งนั้นใช่หรือเปล่า แต่นี่เพราะมีความประมาทเพลิดเพลินไป จนกระทั่งไม่รู้สึกว่าเรือนไฟไหม้มันลุกโพลงๆ ด้วยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ไม่รู้

เพราะฉะนั้นการอยู่ชนิดที่งมงาย หรือยึดมั่นถือมั่นจึงเป็นการอยู่ของคนโง่ ต้องพิจารณาให้รู้ขึ้นมาให้ได้แล้วจะได้มองเห็นความเป็นธรรมชาติ คือรูปก็เป็นสักแต่ว่าธาตุ จะได้ไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวเราของเราเหนียวแน่นเกินไป มันจะไม่เกิดทุกข์ซ้อนทุกข์ขึ้นมาอีก เมื่อพิจารณาอยู่เป็นประจำแล้วจิตก็จะเป็นอิสระขึ้นมาได้ เหมือนกับอาศัยอยู่ในเรือนร่างที่จะต้องอาศัยไปตามหน้าที่ แต่จิตนี่มันไม่หลงยึดมั่นถือมั่นเป็นจริงเป็นจัง มันคลายออกไปแล้ว เพราะได้พิจารณาเห็นความจริงอยู่ทุกขณะแล้วความเป็นอิสระของจิตก็เรียกว่ามันไม่มีทุกข์ แต่ขณะไหนที่มันไปยึดถืออะไรขึ้นมาก็เป็นทุกข์ขึ้นในขณะนั้น ขอให้สังเกตดูว่าขณะที่จิตเป็นปรกติว่าง วางเฉยอยู่นี่ ยังไม่มีทุกข์มีโทษอะไร

แต่ถ้าเผลอสติไปยึดมั่นถือมั่นเข้าเมื่อไร มันก็มีทุกข์มีโทษขึ้นมาทันที จึงต้องมีการสังเกตและพิจารณาว่า ชีวิตที่มีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกต้องมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมที่มองเห็นธรรมชาติ เป็นการอ่านตัวเองว่าลักษณะความทุกข์ของรูปนาม มันก็อยู่ตามเรื่องตามราวของมัน แต่จิตที่เป็นอิสระได้ ว่างได้ สงบได้ ต้องสนใจกันที่นี่ ถ้าไม่มองให้เห็นความจริงอย่างนี้แล้ว จะต้องทุกข์แล้วทุกข์อีกมากมาย แล้วมันจะออกไปยึดถือข้างนอกแผ่กว้างออกไปทุกที ทีนี้ให้มันหยุดมารู้ตัวเอง ดับความปรุงแต่งที่เคยปรุงมาสลับซับซ้อนเดี๋ยวนี้มันเลิก มันหยุด แล้วก็ไม่เอาอะไร เรียกว่าเป็นการอยู่นิ่งๆ คือว่าไม่ต้องทำอะไรมาก ไม่ต้องคิดอะไรมาก แม้จะต้องใช้ความคิดในการทำประโยชน์อะไรบ้าง ก็ใช้มันไปตามหน้าที่ แต่ความยึดมั่นภายในมันคลายออกไปมากทีเดียว ถ้ามีการพิจารณาประกอบอยู่แล้ว ล้วนแต่จะคืนคายถ่ายถอนออกไปทุกที เหมือนกับเรามีโรค เมื่อเรากินยาเข้าไป ก็ไปดับไปทำลายโรคให้เบาบางได้ แต่โรคกิเลสตัณหาภายในจิตใจมันเป็นของลึกของละเอียด จะต้องพินิจพิจารณาให้รู้แยบคาย และปล่อยวางออกไป จิตนี้จะเป็นอิสระได้ไม่ต้องไปเกี่ยวข้องยึดถืออะไร

ทั้งนี้จะเป็นข้อสังเกตของตัวเองว่า การมีชีวิตเป็นอิสระไม่ต้องวุ่นวายกับอะไรเป็นชีวิตที่ตามรอยของพระอรหันต์ ขอให้สังเกตเอาไว้ให้ดีๆ แล้วความทุกข์เดือดเนื้อร้อนใจต่างๆ นานามันลดหายไป แม้จะเผลอสติยึดถืออะไรขึ้นมาเป็นการชอบไม่ชอบเล็กๆ น้อยๆ ก็ปัดทิ้งได้เร็ว คือว่ามีสติทันท่วงที เพราะปัญญาที่พิจารณาอยู่มีความรู้เท่าทันมากขึ้น จนกระทั่งมีความเผลอความเพลินน้อยลง นี่เป็นข้อสังเกตในการปฏิบัติที่ได้ดำเนินมาแล้ว ที่จะไม่ให้เผลอเพลินนั้นมันยังไม่ได้ เพราะยังมีอาสวะอยู่ แต่ขอให้รู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ แล้วความเผลอเพลินก็จะลดน้อยลงไป

เมื่อมีสติเป็นเครื่องประกอบอยู่ทุกอิริยาบถได้ติดต่อมากขึ้น ไม่ว่าจะทำกิจการอะไรก็ต้องมีสติควบคุมอยู่เสมอ จึงจะรู้ได้ว่าทุกข์โทษที่เกิดขึ้นมันน้อยลงไปเรื่อย ถ้าควบคุมจิตให้เป็นปรกติวางเฉยได้มากๆ แล้ว จะมีชีวิตตามแนวของพระโดยไม่ต้องไปเรียนรู้อะไรให้มากมาย เรียนรู้เข้าข้างในแล้วก็ดับทุกข์ดับโทษได้ แม้จะมีสัมผัสทาตาเห็นรูป หูฟังเสียเหล่านี้ ก็จะเป็นการดับทุกข์ดับโทษได้อยู่ในตัวเอง ฉะนั้นการปฏิบัติประจำวันจะได้ผลพ้นทุกข์ทันตาเห็น คือไม่ต้องไปรอเอาอะไรข้างหน้า เพราะการทำอะไรก็จะมุ่งเอาข้างหน้ากันทั้งนั้น ส่วนผลที่จะอ่านเข้ามาในจิตในใจขณะนี้ มันต้องรู้เสียก่อนว่าจิตที่อยู่ในลักษณะไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่เพ่งเล็งในอะไร มันเป็นการพ้นทุกข์ในขณะปัจจุบันนี้ แล้วก็พิจารณาให้ซึ้งเข้าไปให้เห็นความจริงว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ปรากฏการณ์มาทางอายตนะผัสสะก็ตาม มันเป็นเหมือนเงาลวงเงาหลอกชั่วขณะแล้วก็ดับไปหมด จิตมันเป็นอิสระว่างวางเฉยอยู่ได้ ต้องเอาผลที่ตรงจิตเป็นกลางวางเฉยไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ยืนหลักนี้เอาไว้ ถ้ามันเกิดไปยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา มันจะรู้และกวาดทิ้งได้เร็ว ถ้าไม่ยืนหลักนี้ไว้ การกระทบผัสสะ มันไหวตัวง่ายเหลือเกิน

เฉพาะการควบคุมภาวะของจิต ต้องควบคุมให้เป็นปรกติสม่ำเสมอ ความทุกข์จึงจะไม่เกิดขึ้นในขณะที่จิตเป็นปรกติ เพราะว่ามันรู้จักปล่อยรู้จักวางอยู่ในตัวเอง การกระทบผัสสะก็เลยไม่ออกไปหมาย เช่นหูได้ยินเสียงมันจะดังกึกก้องเท่าไหร่ ถ้าเราไม่ไปสนใจกับมันจิตก็เป็นปรกติได้ ถึงจะไปรู้เสียงนั้นบ้างบางขณะที่เผลอสติไปรับรู้ แล้วมันก็ทิ้งก็ ปล่อย ก็วาง กลับมารู้จิตในลักษณะปรกติ เป็นความว่างของจิตได้ติดต่อ ไม่ไปปรุงไปแต่ง แต่ถ้าไม่ควบคุมอย่างนี้แล้ว เมื่อกระทบผัสสะมันจะปรุงเป็นนั่นเป็นนี่ เป็นดี เป็นชั่ว ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทั้งหมด ทีนี้ให้มันหยุดปรุงเสียงที่กระทบก็สักแต่ว่ากระทบแล้วก็ดับไป หรือตาที่กระทบรูปก็เหมือนกัน ทุกทวารก็เช่นกัน ที่พอถูกกระทบแล้วก็ดับไป ที่จำเป็นต้องใช้ก็ใช้ไปตามสมควร แต่แล้วก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น

แต่เรื่องการควบคุมจิตด้วยการมีสติ จะต้องพินิจพิจารณาประกอบอยู่ด้วยทุกขณะ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอนทั้งหมด เป็นลักษณะของจิตที่มีสติคุ้มครองอยู่ได้ แล้วความเผลอเพลินก็น้อยไปเอง เพราะหลักของสติตั้งมั่นได้ มันจึงเป็นหลักประกันอยู่ในตัวว่าการปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องรู้มาก เป็นเรื่องที่รู้เข้ามาหาจิตเท่านั้นเอง แล้วก็ปล่อยวางสิ่งที่เป็นทุกข์เป็นโทษ เหมือนกับกวาดอะไรทิ้งออกไป เหลือแต่จิตสงบ จิตว่าง หรือจิตเป็นปรกติในลักษณะอย่างเดียวกัน แล้วก็ดูให้ทั่วถึง ดูมันรู้มันอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ไม่ต้องไปดูอะไรมาก ถ้าดูมากหลายอย่างแล้วมันจะวุ่น ดูไปรู้ไปแล้วมันจะปล่อยวางออกไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านการฟังข้อความอะไรก็เหมือนกัน จะรู้จักคัดรู้จักเลือก รู้จักเปลือก รู้จักกระพี้ รู้จักแก่น ที่สอบเข้ามาในด้านจิตใจ การสอบตัวเองด้วยการมีสติปัญญาเป็นเครื่องสอบมันมีความอัศจรรย์เป็นพิเศษว่าคนเราที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้ ถ้าไม่มีการสอบตัวเองแล้ว มันก็ตกทุกข์ได้ยากอยู่ในชีวิตประจำวัน ได้อะไรมาก็ดีใจไม่ได้ก็เสียใจ ล้วนแล้วแต่ความโง่เขลาที่มันไปยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา

ทีนี้เมื่อรู้ได้ตามหลักการตามรอยของพระ ก็จะดับทุกข์โทษได้ประจำวันทั้งหมดโดยที่ไม่ต้องไปเอาผลข้างหน้า เอาผลทุกขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่นี่ที่จิตมีความว่างความสงบ ไม่มีความกังวลสนใจกับอะไร อยู่ตามแบบพระอย่างง่ายๆ มันจะน่าศึกษาน่าปฏิบัติอย่างไรก็เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ถ้าไม่ไปจำไปคิดอะไรวุ่นวายแล้วจิตนี้มันสงบได้เป็นพิเศษอยู่ในตัวของมันเอง เมื่อรู้จักอ่านจิตใจของตนเองเป็นประจำแล้ว เป็นการตามรอยของพระอรหันต์ได้ไม่ถอยหลัง เพราะยิ่งตามรอยของพระได้เท่าไร จิตก็ยิ่งบริสุทธิ์ผุดผ่องขึ้นมาได้ไม่ต้องมีทุกข์ แต่ถ้าเราไม่ตามรอยของพระกลับไปตามรอยของกิเลสหรือพระยามารมันก็รู้กันได้ทุกขณะว่า พอเผลอสติทีไรก็ยึดถือขึ้นมา มันก็ทุกข์ทุกที สอบดูทุกขณะเดี๋ยวนี้ก็ได้ ถ้าเราสอบกันตรงไปตรงมาอย่างนี้

การปฏิบัติก็มีศีลได้ในตัวเอง มีสมาธิ มีปัญญาได้ในตัวทั้งหมด ไม่ต้องไปจาระไนตามหลักตามเกณฑ์ มันอยู่ที่จิตทั้งนั้น ถ้าจิตสงบแล้วก็เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาอยู่ในตัว คือไม่มีกิเลส แต่พอมีกิเลสขึ้นมามันก็รู้ เหมือนกับไฟที่เกิดขึ้นมันก็ต้องร้อน ทีนี้มันดับมันทำลาย ศีลมีหน้าที่ละกิเลสอย่างหยาบ แล้วสมาธิก็ละกิเลสอย่างกลาง ปัญญาละกิเลสอย่างละเอียด เครื่องมือมีพร้อมอยู่ในตัว แต่เราต้องรู้ ต้องพิจารณา การประพฤติปฏิบัติมันก็ถูกต้องอยู่ในตัวเองทั้งหมด แล้วจิตนับวันแต่จะอยู่อย่างสงบเรื่อยไป เพราะที่มันเคยวิ่งไปวิ่งมาอยู่ในวงกลมของวัฏฏสงสาร เมื่อมันรู้ตัวทีนี้มันจะหยุด หยุดวิ่งหยุดปรุง หรือที่จะอยากเอาอะไรเพื่อความเอร็ดอร่อยก็หยุด เพราะรู้ได้ว่าที่วิ่งมานั้นมันเหนื่อย มันวุ่น ทีนี้ "หยุด" คำว่าหยุดคำเดียวก็พอแล้ว ต่อไปนี้พอบอกให้ หยุด คำเดียวมันก็หยุด และเป็นการหยุดได้สบาย

ขอให้ผู้ปฏิบัติสอบตัวเองให้รู้ลักษณะของจิต ที่มีความหยุดรู้ตัวเอง แล้วมันสลัดทิ้งสิ่งภายนอกออกไปที่เคยหลงใหลยึดถือเดี๋ยวนี้มันสลัดทิ้งไปหมดแล้ว ให้มีการหยุดดูหยุดรู้จิตทุกขณะปัจจุบัน เรียกว่าได้เดินตามรอยของพระอย่างถูกต้อง แล้วก็ดับทุกข์ดับโทษอยู่ในตัวเองทั้งหมด ฉะนั้นขอให้ภาวะของจิตที่มีสติปัญญารู้อยู่เห็นอยู่แล้วก็ปล่อยวางไป จิตก็เป็นอิสระ เป็นความว่างความสงบอยู่ทุกๆ ขณะเถิด



.................................................

คัดลอกมาจาก ::
http://www.dharma-gateway.com/
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง