Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 เขื่อนกั้นพรหมจรรย์ (ก.เขาสวนหลวง) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ส.ค. 2006, 7:06 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

เขื่อนกั้นพรหมจรรย์
โดย ท่าน ก.เขาสวนหลวง

สำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง จ.ราชบุรี
๑๒ พฤษภาคม ๒๕๑๕



วันนี้จะได้ปรารภข้อปฏิบัติ ที่จะต้องให้มีการสำรวมอินทรีย์ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าไม่ได้ควบคุมให้ละเอียดแล้ว ศีลก็จะบริสุทธิ์ไปไม่ได้ เพราะมันเปิดรับเชื้อโรคอยู่ทั้งนั้น การที่จะอบรมพิเศษจึงจะต้องมี ถ้าได้ฝึกหัดอบรมปิดกั้นอายตนะเอาไว้ได้แล้ว จิตนี้ก็จะมีความสงบได้ ไม่ซ่านไปกับอารมณ์ทั้งหลาย ฉะนั้นตึงต้องให้มีการอยู่อินทรียสังวรพิเศษ ในระยะ ๗ วัน ๑๕ วันหรือ ๑ เดือนก็สุดแท้ เพราะจะได้รู้เรื่องว่า การสำรวมระวังอายตนะเอาไว้ได้นั้น มีคุณประโยชน์อย่างไร แล้วการที่จะปล่อยปละละเลย ไม่สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้มันเสียหายเท่าไร นี่จะต้องรู้สึกตัวให้ดีๆ ในเรื่องนี้ เพราะว่ามันไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลยทีเดียว

แม้ในการปล่อยสติไปกับ ตาเห็นรูป หูฟังเสียงเหล่านี้ โดยที่ไม่มีสติเป็นเครื่องคุ้มครองแล้ว ศีลก็ขาดแล้วขาดอีก หรือว่าด่างพร้อยไป ไม่มีความบริสุทธิ์ขึ้นมาได้ ฉะนั้นจึงต้องปิดกั้นทวารทั้งหก ด้วยการมีสติในการมอง ในการฟัง ในการได้กลิ่น ลิ้นรู้รส หรือสัมผัสกาย และธรรมารมณ์ ซึ่งจะต้องฝึกหัดอบรมเป็นพิเศษ และไม่ให้อยู่อย่างคลุกคลีกัน นั่นแหหละจึงจะเป็นการสำรวมอินทรีย์ไว้ได้ เพราะว่าการอยู่อย่าคลุกคลีนี้มันมีโทษ แม้แต่พระที่ท่านสิ้นอาสวะแล้วก็ยังรังเกียจ มันขยะแขยงต่อการอยู่อย่างคลุกคลีเลย ส่วนเรามันยังมีอาสวะกิเลสอยู่ ถ้าจะมาคลุกคลีกันโดยที่ไม่ได้ฝึกหักสำรวมอินทรีย์ ให้เป็นพิเศษเสียบ้างแล้ว มันก็ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร

ฉะนั้นเรื่องข้อปฏิบัติเมื่อได้สำรวมระวังให้ดีแล้ว ทุกข์โทษทั้งหลายก็จะได้เบาบางไป เพราะฉะนั้นการสำรวมนี้จึงมีคุณประโยชน์มากมายนัก ทำให้เกิดความรู้แจ้งตามความเป็นจริงขึ้นมาได้ ขณะที่มีสติควบคุมอยู่ และอาจจะเกิดธรรมจักษุขึ้นมาในขณะนั้นก็ได้ โดยมองเห็นความจริงภายใน เป็นการกระจ่างแจ้งขึ้นมา แต่ก็ต้องรักษาหลักให้ติดต่อเอาไว้ให้ได้

ถ้าไม่สำรวมระวังรักษาเอาไว้แล้ว แม้ว่าจะมีความรู้ขึ้นมาเป็นพิเศษบ้างก็ตาม มันก็จะเสียหลักไปในขณะที่กระทบผัสสะนั่นเอง ซึ่งจะต้องรู้ของตัวเองได้ว่า การกระทบผัสสะขณะไหน มันทำให้จิตใจไหวตัวอย่างไรบ้าง ? เกิดความพอใจไม่พอใจอย่างไรบ้าง ? แล้วมันจะน่าคุ้มครองทวารทั้งหกนี้ไว้ในลักษณะอย่างไร ? จึงจะได้ประโยชน์เต็มที่ เพราะการรักษาอินทรียสังวรศีลนี้ เป็นศีลของพระอริยเจ้าที่เป็นขั้นละเอียด ถ้ามีอยู่ครบถ้วนพร้อมกับสังวรให้บริสุทธิ์ทุกทวารแล้ว ก็เป็นการมีศีล มีสมาธิ แล้วก็มีปัญญาพร้อมเสร็จอยู่ในการสำรวมอินทรีย์นั่นเอง แม้ว่ามันจะยากลำบากแก่ผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยอยู่บ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่ายังไม่รู้ว่าวิธีที่จะสำรวมระวังอย่างไร และกิริยามารยาทที่ยังไม่เคยได้ฝึกให้มีสติทุกอิริยาบถมาก่อน แต่ก็เป็นสิ่งที่จะต้องฝืนใจทำ เพราะความคุ้นเคยมันก็อยากจะมอง มันก็อยากจะฟัง ทีนี้ถ้าคุ้มครองเอาไว้แม้ในขณะที่ยืน เดิน นั่ง นอนก็ตาม จะต้องหัดให้มีสติรู้อยู่ ควบคุมอยู่ทุกอิริยาบถให้ได้ตลอดเวลา

โดยเฉพาะเรื่องตานี้ จะต้องสำรวมให้มากกว่าทวารอื่นๆ สักหน่อย อย่ามองออกไปให้ไกลนัก เพราะว่าในระยะแรกนี้จะต้องมองในระยะใกล้เป็นการดี แม้ว่าจะอยู่ในที่ไม่มีผัสสะกระทบก็ต้องหัดเอาไว้ ให้มีการมองเฉพาะหน้าเท่าที่เท้าจะก้าวไปและการสำรวมสติในการยืน เดิน นั่ง นอน ซึ่งเป็นมารยาทของพระอริยเจ้า เราก็ควรจะฝึกหัดให้ได้รายละเอียดด้วย นั่นแหละจึงจะมีผลใหญ่มีอานิสงส์ใหญ่ ถ้าไม่ได้ทำไม่ได้ฝึกแล้ว เที่ยวลุกลี้ลุกลนไปก็จะไม่รู้อะไร

เพราะว่าการฝึกสติในขั้นต้นๆ มันก็ยังตั้งหลีกไม่ใคร่จะได้ มันเที่ยวแส่เที่ยวส่ายไป แล้วสติปัญญาที่จะรู้รายละเอียดมันก็รู้ไม่ได้ เพราะว่ามันมองออกข้างนอก มันรู้ออกข้างนอกหมด ตัณหาก็เข้ามาปรุงแต่งให้จิตใจดิ้นรนกระวนกระวายไป ไม่ยอมอยู่กับเนื้อกับตัว มันจึงเที่ยวซุกซนไป ถ้าไม่หัดดัดสันดานตัวเองแล้วใครเขาจะมาหัดให้ได้ เพราะว่านิสัยของปุถุชนที่หลุกหลิกซุกซนนี่มันสำคัญนัก ถ้าไม่ฝึกให้จริงจังเสียบ้าง มันก็จะคุ้นเคยไปทุกที มันเคยตัว เคยใจไปทั้งนั้น ฉะนั้นการทำข้อปฏิบัติชนิดที่ไม่ได้มีการอดทนต่อสู้ หรือไม่มีการข่มขี่ทรมานตัวแล้ว ให้บวชไปจนตาย อยู่วัดไปจนตาย มันก็อยู่ไปแบบนั้นเอง ไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาได้เลย

แต่ที่จะได้ประโยชน์นี่จะต้องฝึกหัด ต้องทดลองทรมานตัวเองทุกๆ อย่าง ในการที่จะต้องอยู่คนเดียวจริงๆ ไม่ให้มีเพื่อนพูดเพื่อนคุย ต้องฝึกหัดเป็นพิเศษ เพราะว่าจะมาทำตามเรื่องตามใจ ตามพวกตามหมู่อย่างนี้ ใจมันก็จะเป็นลิงไป ถ้าไม่ฝึกไม่หัดไม่ลงไม้เรียวแล้วมันจะยิ่งเอาใหญ่ ศีลจะยิ่งขาดทำลายไป แล้วก็คิดดูเอาเองว่ามันฉิบหายกับใคร ก็ลองคิดดูความฉิบหายนี่มันฉิบหายอยู่กับจิตกับใจกับเนื้อกับตัวทั้งนั้น แต่ว่ายังมองไม่เห็นทุกข์โทษเท่านั้นเอง จึงได้ปล่อยไปตามสันดานเดิมอยู่เรื่อย แล้วก็ไม่มีการฝึกหัดอดทนต่อสู้จริง ถึงจะทำบ้างก็ชั่วครั้งชั่วคราว ประเดี๋ยวก็หาเรื่องไปอีกแล้ว

การฝึกหัดทรมานตัวเองนี้ไม่ใช่ของที่จะทำได้ง่ายๆ จะต้องมีการบังคับตัวเองให้มันอยู่ในอำนาจของไม้เรียว คือใช้สติปัญญาเป็นเครื่องขู่บังคับให้ทำข้อปฏิบัติ ถ้าไม่บังคับอย่างนั้นก็ปฏิเสธข้อปฏิบัติว่ามันรู้แล้ว เพราะว่ามันต้องการทำตามใจกิเลสมากกว่า ฉะนั้นจึงเป็นความเสียหายอยู่ในตัวเองทั้งหมด เมื่อมีการพิจารณาสอบสวนเข้ามาแล้ว มันน่าจะปฏิบัติด้วยความไม่ประมาท ไม่น่าจะมีความเพลิดเพลินไปเลย เพราะวันเวลาของชีวิต ที่ได้มีการปฏิบัติมาในระยะต้นจนถึงระยะนี้ ควรจะต้องก้าวหน้าให้ดีขึ้นให้สูงขึ้นให้ได้ อย่าให้มันถอยหลังไปเลย เพราะข้อปฏิบัติที่ไม่ก้าวหน้า มันก็ต้องถอยหลังเป็นธรรมดาอยู่เอง

ฉะนั้นจะต้องแก่สติปัญญาเพื่อความก้าวหน้ายิ่งขึ้น ควรพิจารณาให้เห็นทุกข์เห็นโทษแล้วก็สำรวมระวังให้มาก ความผิดพลาดพลั้งเผลอก็จะได้ลดน้อยลงไป แล้วต้องคุ้มครองทวารทั้งหกเอาไว้ให้ได้ ส่วนที่จะเสียหายไปเพราะไม่สำรวมนั้นก็เพียงเล็กน้อย ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้ว นั่นแหละจะได้ชื่อว่าเป็นการเดินตามรอยของพระอรหันต์เรื่อยไปทีเดียว อย่าให้มีการย่อหย่อนอ่อนแอเลย เพราะว่ายิ่งพยายามที่จะพิจารณาให้รู้ข้อเท็จจริงภายในตัวเองแล้ว ยิ่งจะทำให้เห็นผลของการที่ได้พิจารณาปล่อยวางอะไรออกไปได้ แล้วก็ทำตามรอยของพระได้ มันจึงเป็นการรู้สึกด้วยใจจริง โดยเห็นคุณประโยชน์ของการดับทุกข์ดับกิเลสของตัวเองได้ อย่าได้มีการท้อถอยเลย ควรจะพยายามแล้วพยายามอีก ไปจนตลอดชีวิตทีเดียว

แต่ถ้าไม่มีความมุ่งหมายอย่างนี้แล้ว ที่แก่วันแก่คืนขึ้นมานี้มันจะแก่กิเลสหนักเข้า แล้วก็จะตกทุกข์ได้ยากอยู่ในวัฏฏสงสาร หรือว่าอยู่ในอำนาจของพญามาร คือกิเลสตัณหานั่นเอง เพราะมันคอยบังคับข่มขี่ให้ตกไปเป็นทาสของมันอย่างซ้ำซาก ก็เป็นที่รู้ด้วยกันอยู่แล้ว ส่วนการที่จะเอาชนะกิเลสตัณหา หรือจะเพียรเผากิเลสก็มีหนทางที่จะทำได้ แต่ต้องเป็นการทำจริง ไม่ใช่เล่นๆ หรือไม่ใช่ทำเพื่อเข้าหมู่กันให้เป็นการสนุกสนานเพลิดเพลินอย่างนั้นไม่ได้ ต้องทำเป็นพิเศษ ไม่ใช่ทำชนิดที่งมงาย แต่เป็นการทำด้วยความรู้สึกตัวทั่วพร้อม แล้วก็คุ้มครองทวารเอาไว้ จึงจะมีความรู้สึกพิเศษขึ้นมาได้ แล้วความรู้พิเศษนี้ก็อาจจะติดต่อได้ทุกอิริยาบถตามสมควรแก่การฝึก

สำหรับการควบคุม การพิจารณา การประคับประคองนี่ ต้องเป็นข้อสังเกตของตัวเอง แม้ว่าจะเสียหลักของสติไปในอะไร ก็จะต้องรู้เหตุผล แล้วก็กระทำให้เหมาะสมต่อไปใหม่ ถึงจะผิดพลาดพลั้งเผลอไปบ้างก็ต้องรู้สึกได้ว่า ทำอย่างนี้มันเป็นการเสียหายไม่ดี ทั้งนี้ต้องรู้จักปรับปรุงตัวเอง เพื่อให้มีชัยชนะต่อกิเลสทุกแง่ทุกมุม การปฏิบัติมีแต่จะก้าวหน้าไป โดยที่ไม่มีการถอยหลัง ไม่ต้องสงสัยว่ามันจะถูกทางหรือไม่ถูกทางตัวเองจะต้องค้นคว้าหาเหตุผลเรื่อยไป แม้ว่าจะถูกทางแล้วก็ยังเชื่อมันไม่ได้ เพราะความรู้ไม่รู้ หรือรู้ผิดเห็นผิดนี้มันยังมีอยู่ ประเดี๋ยวมันก็ชี้ไปทางโน้น เดี๋ยวมันจะปรุงมาทางนี้อีกแล้ว

เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นแนวทางที่ถูกก็ยังไว้ใจไม่ได้ จะต้องควบคุมโดยมีการพิจารณาประกอบเอาไว้ เพราะสันดานปุถุชนยังมีอาสวะ อวิชชา โมหะ หรือกิเลสตัณหาอะไรอยู่มากมาย มันก็ล้วนแต่จะคอยปรุงจิตให้ร้อนเร่าเศร้าหมองไปอย่างเดียวกัน จึงต้องรอบคอบหรือรอบรู้อยู่ในตัวเอง ตลอดจนใช้กายวาจาอะไรออกมาจะต้องมีสติควบคุม มิฉะนั้นแล้วก็เหมือนกับคนธรรมดาที่ไม่ได้ปฏิบัติ นึกจะพูดจะทำอะไรก็ทำไปตามเรื่องตามราวของตัวแล้วก็ไม่รู้ว่า นี่ควรทำหรือไม่ควรทำ นี่ควรพูดหรือไม่ควรพูดก็ไม่รู้สึกตัว

ฉะนั้นต้องมีสติเป็นเครื่องรู้ เป็นเครื่องคุ้มครองเป็นเครื่องอ่านตัวเอง แม้จะมีการผิดพลาดพลั้งเผลอไปในอะไรบ้าง ก็จะรู้สึกตัวได้และมีความละอายมีความกลัว แล้วการประพฤติปฏิบัติเช่นนี้จึงจะเอาตัวรอดได้แน่เพราะว่าไม่มีความประมาทเพลิดเพลินไปตามอารมณ์นั่นเอง โดยมีสติเป็นเครื่องกั้น มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา ทำลายถ่ายถอนหรือตัดรอนกำลังของกิเลสตัณหาอุปาทาน ที่มันเกิดขึ้นมาในลักษณะอย่างไร แล้วตัวเองจะมีอาวุธอะไรไปทำลายมัน หรือว่าได้มีการลับมันให้คมเฉียบอยู่หรือเปล่า อย่างนี้ต้องเป็นการรู้เรื่องของตัวเองให้ถูกต้อง พิจารณาให้รู้เรื่องจริงๆ ไม่ใช่ทำชนิดที่รู้บ้างไม่รู้บ้างแล้วก็เรื่อยเปื่อยไป สำหรับผู้ที่มีความมุ่งหวังต่อความพ้นทุกข์จริงๆ จะต้องมีการควบคุมทวารให้ละเอียดยิ่งขึ้น ไม่ควรดูก็อย่าไปดู ไม่ควรฟังก็อย่าไปฟัง ต้องคอยมีเครื่องห้ามเครื่องกันเอาไว้ทั้งหมด

โดยเฉพาะศีลก็เป็นเครื่องห้ามเครื่องกั้นอยู่แล้ว เมื่อไม่มีการสำรวมมันก็ขาดทะลุไปได้ง่ายๆ ยิ่งเข้าพวกเข้าหมู่กันด้วยแล้วก็ยิ่งเพ้อเจ้อกันไปใหญ่ มีแต่จูงกันออกไปหาทุกข์โทษทั้งนั้น ที่จะคอยสกัดกั้นให้เป็นอิสระแก่ตัวเองเป็นของยาก ฉะนั้นมันจึงชวนกันไปในทางหลงๆ ด้วยกัน ที่จะรู้สึกตัวก็มีเป็นส่วนน้อย ถ้าได้อบรมข้อปฏิบัติเป็นลำดับมาแล้ว ก็จะต้องมีความกล้าหาญ ในการที่จะรักษาอินทรียสังวรให้เข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้น อย่าให้มันย่อหย่อนอ่อนแอไป แล้วมันจะไม่รู้เรื่องของตัวเองโดยละเอียด ถ้ามีการรู้จริงเห็นแจ้งประจักษ์ชัดเข้าภายในความรู้ของสติปัญญาจะมีความสว่างไสวขึ้นมาได้ แล้วทำให้รู้คุณค่าของธรรมะว่า ธรรมะนี้เมื่อได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว แสงสว่างที่เป็นความรู้จริงเห็นแจ้งภายใน ก็จะต้องเกิดขึ้นมาได้ ฉะนั้นการอบรมนี้นับว่าเป็นของสำคัญถ้าไม่ควบคุมทำจริง หรือไม่มีการอดทนต่อสู้ต่อผัสสะทุกๆ ชนิด แล้วเป็นของยากเพราะว่าจิตใจนี่มันอยู่สงบไม่ได้ มันก็เที่ยวไปตามอารมณ์

ตามที่พระพุทธเจ้าทรงเปรียบอายตนะทั้ง ๖ นี้เหมือนกับสัตว์หกชนิด แล้วสัตว์แต่ละชนิดล้วนแต่มีความคุ้นเคยไปตามนิสัยของมัน ท่านจึงเปรียบเหมือนการจับงูมาผูกไว้เงื่อนหนึ่ง แล้วผูกจระเข้ไว้เงื่อนหนึ่ง ผูกนกไว้เงื่อนหนึ่ง ผูกสุนัขจิ้งจอก ผูกสุนักบ้าน ผูกลิง เอาไว้เงื่อนหนึ่งแล้วก็รวมปลายเชือกที่ผูกสัตว์หกชนิดนี้เอาไปผูกไว้กับเสาเขื่อน สัตว์ทั้งหลายนี้ที่มันจะไปตามนิสัยของมัน งูมันก็จะเลื้อยเข้าจอมปลวก จระเข้มันก็จะลงน้ำ นกมันก็จะบินขึ้นไปสู่อากาศ สุนัขจิ้งจอกมันก็จะไปกินผีที่ป่าช้า แล้วสุนัขบ้านมันก็จะวิ่งเข้าบ้าน ลิงมันก็วิ่งไปป่า ในที่สุดสัตว์เหล่านี้มันก็ยื้อแย่งกันใหญ่

ถ้าสัตว์ตัวไหนที่มีกำลังมากมันก็ดึงเอาไปทางนั้น เช่นตามันดึงไปหารูป แล้วพวกห้าอย่างนี้ก็ต้องอ่อนกำลังไป ไม่ว่าทวารหนึ่งทวารใด ที่มีความรู้สึกรุนแรงมันก็จะดึงไปทางนั้น ลองสังเกตดูซิว่า ถ้าตามันดึงไปหารูปแล้วมันเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อไปชอบรูปที่พอใจก็มีความกำหนัดรักใคร่ ถ้าไปพบรูปที่ไม่พอใจก็ขยะแขยงไม่ชอบใจ ส่วนเสียงก็เหมือนกันมันก็อยู่ในตัวเองนี่ทั้งหมด ถ้าไม่ได้สำรวจตรวจตราดู มันก็ดึงกันเรื่อยไปเป็นประจำวัน ประเดี๋ยวตาเห็นรูป ประเดี๋ยวหูได้ยินเสียง และจมูกได้กลิ่นมันก็มีความสับสน อลหม่านอยู่กับทวารทั้งหกทุกขณะก็ว่าได้ มันจะแว่วอะไรขึ้นมาเป็นไม่ได้ แล้วก็ไม่สำรวมระวังเอาไว้ มีแต่จะคอยเปิดประตูรับแขกเสียเรื่อย อย่างนี้ศีลจะอยู่ได้อย่างไร มันก็ขาดทะลุด่างพร้อยไป เป็นคนทุศีลไปเท่าไรก็ไม่รู้เรื่องรู้ราว เพราะไม่ได้มีการสังวรอินทรีย์ให้เป็นพิเศษนั่นเอง

ดังนั้นควรควบคุมให้มีสติในการมอง ในการฟัง ในการรู้สึก ที่จะต้องปิดประตูดูข้างในจึงจะรู้เรื่อง มันไม่ใช่มาสังวรนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นแล้วจะไปรู้เรื่องอะไรกัน มันต้องสังวรจริงจึงจะได้ และต้องอยู่ที่เงียบสงัด ที่ไม่มีผัสสะอะไรเป็นเครื่องรบกวน แล้วก็มีสติควบคุมอยู่ทุกอิริยาบถ มีการตรวจสอบว่าในวันหนึ่ง มีความเผลอเพลินไปกับอะไร แล้ววันที่สองควรจะเผลอเพลินน้อยกว่าวันแรก วันที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ จะต้องมีการสังวรมีข้อสังเกตได้ว่าความเผลอเพลินจะลดน้อยทุกวันทีเดียว จนกระทั่งจิตนี่มันมีความสงบอยู่ในตัวเองได้มั่นคง แล้วก็ไม่สนใจต่อผัสสะทางภายนอก ถ้าติดต่อจนกระทั่งจิตนี่ไม่ออกไปรับอารมณ์ภายนอกแล้ว จึงรู้ว่าเจ้าลิงนี่อยู่กับหลักไม่ดิ้นรนไปป่าเพราะฝึกเอาไว้ด้วยการควบคุม แล้วก็ลงไม้เรียวหัดจนกระทั่งมันยอมอยู่ในอำนาจของไม้เรียว คือสติปัญญาได้แล้วมันก็นั่งเจ่า นอนเจ่า เฝ้าอยู่กับหลักคือสตินั่นเอง

จะไปไหนก็ไม่ได้เหมือนกับเขาฝึกลิงให้รำละคร เพราะมันอยู่กับหลักมั่นคงแล้วก็ฝึกมันได้ มันพิจารณาได้มันรับรู้และเชื่อฟังแล้ว ถ้าไม่มีการฝึก ไม่มีการควบคุมอายตนะทั้งหกนี้แล้ว ก็จะทุรนทุรายไปตามนิสัยตามความชินเคยของมัน แล้วก็จะไม่รู้เรื่องอะไรเลย เพราะมันถูกดึงไปหมด ถูกดึงไปรอบด้าน อย่างนี้มันจะน่าพยายาม ที่จะต้องมีการอบรมเพื่อเป็นการทดลองฝึกหัดให้เป็นพิเศษ ถ้าไม่ทำให้รู้เรื่องจริงของตัวเอง มันเสียเวลามาก แต่ก็กถาที่จะทำด้วย ก็เลยทำวันเวลาของชีวิตให้สูญเสียไปเปล่าๆ ทั้งไม่ได้ในสิ่งที่ควรจะได้ด้วย และไม่รู้ในสิ่งควรจะรู้อีกตามที่ตนเคยอบรมมาเพื่อจะนำมาพิจารณาให้รู้จริง ทั้งนี้เพราะไม่ได้อบรมมันก็ไม่อาจจะรู้ขึ้นได้ ถ้าหากมีความเพียรพยายามในการที่จะฝึกหัดอบรมให้เต็มสติกำลังแล้ว นั่นแหละมันจึงจะได้ประโยชน์ ประโยชน์อะไรก็สู้ไม่ได้ และประโยชน์อย่างนี้แม้ว่ามันจะฝืนอำนาจของกิเลสบ้างก็ตาม

แต่ว่าถ้าอดทนสู้สักหน่อย พอมันสงบได้ก็เห็นผล เห็นผลจริงๆ ว่าการฝึกหัดอบรมข้อปฏิบัติที่มีสติปัญญาเป็นเครื่องควบคุม จิตนี้จะอยู่ในอำนาจได้ ที่มันเคยตกไปตามอำนาจของกิเลสตัณหานั้นมันจะได้หยุดเสียที มันจะได้ยอมอยู่ในอำนาจของสติปัญญาเสียบ้าง อย่าให้มันเที่ยวเตลิดเปิดเปิงไปนักเลย เพราะว่ามันมีทุกข์มีโทษมากมายมาแล้ว ทีนี้ต้องเอากับมันให้จริงๆ ต้องฝึกกับมันให้จริงๆ อย่าทำเล่นๆ หลอกๆ ไปนักเลย มันจะไม่พ้นทุกข์ของตัวเอง ทุกข์โทษทั้งหลายแหล่มันก็สุมเผาอยู่ที่จิตใจ มันก็ฉิบหายแล้วฉิบหายอีกอยู่ในจิตใจนั่นแหละ แล้วอย่างนี้มันจะน่าปฏิบัติให้รัดกุมเข้ามาหรือไม่ ควรจะมีการตัดรอนทอนกำลัง พวกสอพลอก่อกวนให้วุ่นวายไม่สงบ ประเดี๋ยวจะเอานั่นประเดี๋ยวจะเอานี่ ประเดี๋ยวจะพูดอย่างโน้นอย่างนี้ นี่ถ้าไม่รู้สึกตัวเองแล้วมันตายเปล่า ทั้งๆ ที่ได้เข้ามาประพฤติปฏิบัติในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าแต่ว่าไม่ทำจริง กลับไปทำตามกิเลสเสีย มันก็เลยเป็นตัวอย่างให้เหลวไหลและเสียหายไปด้วยกัน แทนที่จะช่วยกันชักจูงให้มีการรู้สึกตัวมันก็เลยเป็นของยาก

บางทีเมื่อเข้าใกล้เพศตรงกันข้าม ก็เข้าไปวุ่นวายและทำประจบประแจง ทั้งที่ตัวของมันก็มีเสน่ห์มารอยู่ในตัวของมันเอง และมีการแสดงออกของเรื่องรสอร่อยในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสกาย ฉะนั้นเมื่อจะเข้าที่ไหนจึงต้องสำรวมระวังให้ดีแม้แต่เพศเดียวกันก็ต้องระวังเหมือนกัน เพราะว่ามันมีความสับปรับกลับกลอกมีมายาสาไถยในกิริยาวาจาทั้งหมด ซึ่งไม่น่าดู ฉะนั้นคนที่ต้องการอะไรหลายๆ อย่างนั้นแหละมันกระวนกระวาย เพราะว่ามันชูรสชูชาติ แม้จะเกี่ยวกับธรรมะธรรมโมบ้างก็เป็นของแสลง ชนิดที่คนๆ นั้นก็ไม่รู้ว่ามันเป็นของแสลง ก็เลยอยากได้ อยากเข้าไปใกล้ มันจึงน่ากลัวมาก

สำหรับฉันเองกลัวมานานแล้ว กลัวมาตั้งแต่เด็กๆ ทีเดียว จนกระทั่งเข้าวัดเข้าวาเมื่ออายุ ๒๐ ปีกว่า ก็ไม่กล้ามองหน้าพระที่ท่านเทศน์ เพราะมีความกลัว มีความละอายต่อเพศตรงข้ามมาอย่างนี้ มันจึงเอาตัวรอดมาได้ ฉะนั้นก็อยากจะพูดเสียให้รู้สึกตัวกันว่า ให้เจียมเนื้อเจียมตัวกันสักหน่อย อย่าเข้าไปวุ่นวายกับเพศตรงกันข้ามนักเลย ถ้าไปดูธรรมวินัยคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วมันยิ่งเจียมตัวหนักเข้า ไม่กล้าเข้าไปทำความคุ้นเคยกับเพศตรงกันข้าม จึงต้องพูดให้รู้สึกตัวเสียบ้าง มิฉะนั้นแล้วจะทำลายพรหมจรรย์ให้มัวหมองไป ถ้ารู้จักกลัวก็จะเอาตัวรอดได้ คนไหนที่ไม่มีความละอายแก่ใจ มันจะพากันฉิบหาย มันไม่ได้ฉิบหายแต่ตัวเท่านั้น ยังพาเพศตรงกันข้ามให้ฉิบหายไปด้วย เพราะมันอยากอยู่อย่างนั้นมันไม่ชอบเป็นอิสระ มันอยากจะเขาไปเป็นลูกศิษย์ของพญามาร

เพราะฉะนั้น ธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ล้วนแต่เป็นเครื่องฟอก เป็นเครื่องทำจิตใจให้เป็นอิสระ เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์แท้ ให้ประพฤติห่างไกลจากกามคุณจริงๆ แม้แต่ ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ จะต้องสังวรอินทรีย์หมดทีเดียว พระที่ท่านเมตตาอาสวะเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านยังต้องสำรวมอินทรีย์เลย นับประสาอะไรกับพวกสกปรกโสมมปุถุชนนี้ มันพวกมายาสาไถยทั้งนั้น จึงพูดให้รู้ให้รับฟังเอาไว้ ส่วนใครจะสมัครอย่างไรก็สุดแท้ เพราะว่าไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาสรรเสริญเยินยอกัน มันเรื่องพูดความจริงอย่างตรงไปตรงมา เพราะไม่ได้ไปเอาอะไรที่ไหนมาพูด แต่มีความเชื่อมั่นอยู่ในคำสอนของพระศาสดา และต้องน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติอยู่ทุกเวลานาทีของชีวิตทีเดียว ไม่ต้องตื่นเต้นตามใคร เพราะว่ามันไม่ใช่กระต่ายตื่นตูม มันต้องเป็นการคิดค้นด้วยสติปัญญาแท้จึงจะเป็นอิสระได้



.................................................

คัดลอกมาจาก ::
http://www.dharma-gateway.com/
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง